1 ปี ‘กระทรวงพาณิชย์’ ใต้บังเหียน ‘ภูมิธรรม เวชยชัย’ ช่วย ‘เพิ่มรายได้-ลดรายจ่าย-สร้างโอกาส’ แก่ ‘คนตัวเล็ก’
ผ่านไปแล้ว 1 ปี กับบทบาทบนเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ของนายภูมิธรรม เวชยชัย ก่อนจะลุกไปครองเก้าอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายภูมิธรรม ก็ได้สร้างภาพจำไว้ได้ไม่น้อย
แน่นอนว่า หากมองในภาพโดยผิวเผิน ก็อาจพบเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนในเรื่องของราคาสินค้ากันพอสมควร แต่หากได้พิจารณาถึงการแถลงผลงานครบรอบ 1 ปี ซึ่งถือเป็นภารกิจสุดท้าย ในฐานะเจ้ากระทรวงฯ ของ ‘ภูมิธรรม’ โดยมี 2 รัฐมนตรีช่วยว่าการอย่าง นภินทร ศรีสรรพางค์ และ สุชาติ ชมกลิ่น คณะผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ตลอดจนถึง พาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศและทูตพาณิชย์ที่ร่วมรับฟัง จะพบว่า นโยบายในการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ที่ตั้งไว้ 7 ด้าน มีความคืบหน้าที่น่าสนใจพอสมควร ไม่ว่าจะเป็น…
1.ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส 2.บริหารให้เกิดความสมดุลระหว่างผู้บริโภค เกษตรกร ผู้ประกอบการ 3.ทำงานเชิงรุกระหว่างพาณิชย์จังหวัดและทูตพาณิชย์ 4.แก้ไขข้อจำกัดของกฎหมายหรือปรับปรุงกฎหมายที่เก่าล้าสมัย 5.ร่วมขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัล วอลเล็ต 6.เร่งผลักดันส่งออกจากติดลบให้เป็นบวก และ 7.ผลักดันการใช้ประโยชน์จาก FTA
โดยผลงานทั้ง 7 ด้าน สามารถดูแลรากฐานของระบบเศรษฐกิจไทย ตั้งแต่เกษตรกร ที่เป็นคนฐานรากของประเทศ อีกทั้งยังสามารถดูแลประชาชนผู้บริโภคให้มีภาระค่าครองชีพลดลง ยิ่งไปกว่านั้น การดูแลผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SME ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันและช่วยเพิ่มรายได้ ก็ดูจะได้รับความพึงพอใจต่อภาคผู้ประกอบการไม่น้อย ภายหลังจาก ‘ทีมพาณิชย์’ ซึ่งมีบทบาทบูรณาการการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ 9 คณะขับเคลื่อนทุกภารกิจให้เดินหน้าไปพร้อมกัน ได้แก่...
1. ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเกษตรกรเพื่อการพาณิชย์
2. ส่งเสริมและยกระดับ SMEs ไทย
3. ส่งเสริมและขับเคลื่อนการค้าและเศรษฐกิจเชิงรุกไทย-จีน-อาเซียน
4. ขับเคลื่อนการทำงานเพื่อบูรณาการตามยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์
5. ขับเคลื่อนนโยบายโลจิสติกส์ทางการค้า
6. พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ Big data และอินฟลูเอนเซอร์เพื่อการค้า
7. พัฒนากฎหมายกระทรวงพาณิชย์
8. พัฒนาการค้าตามระเบียบการค้าโลกใหม่
และ 9. สร้างการรับรู้และภาพลักษณ์กระทรวงพาณิชย์
นอกจากนี้ ยังเน้นการทำงานเชิงรุก โดยพาณิชย์จังหวัดและทูตพาณิชย์ต้องรู้จักสินค้า เข้าใจความต้องการตลาด เข้าถึงช่องทางการค้ายุคใหม่ บริหารจัดการประโยชน์ของทุกกลุ่มทุกภาคส่วนให้มีความสมดุล ทั้งเกษตรกร ผู้ผลิต ผู้ประกอบการรายเล็ก รายกลาง รายใหญ่ และ ผู้บริโภค
นี่คือภาพโดยรวม…
แต่ถ้าแยกย่อยลงไปตาม นโยบาย เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาส จะพบรายละเอียดที่ดูเป็นรูปธรรมอย่างมาก…
>> นโยบายเพิ่มรายได้
สามารถเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรเพิ่มขึ้นเกือบ 2 แสนล้านบาท จากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาพืชผลทางการเกษตร โดยพืชหลัก ได้แก่ ข้าว, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, มัน, ปาล์ม, ยางพารา / ช่วยเหลือเกษตรกรได้เกือบ 8 ล้านครัวเรือน / ดูแลปริมาณผลผลิตเกือบ 90 ล้านตัน / สร้างสถิติราคาซื้อขายข้าวเปลือกเจ้าได้สูงสุดในรอบ 20 ปี
ส่วน พืชรอง ได้แก่ ผลไม้ พืช 3 หัว และผัก ช่วยเหลือเกษตรกรเกือบ 1.5 ล้านครัวเรือน ดูแลปริมาณผลผลิตกว่า 8 ล้านตัน สร้างสถิติราคาซื้อขายสับปะรด, กระเทียม, หอมแดง สูงสุดเป็นประวัติศาสตร์
ขณะเดียวกัน ยังช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ผู้ประกอบการชุมชน และ SME โดยผลักดันการค้า e-Commerce ทั้งในและต่างประเทศ เกิดมูลค่าการซื้อขาย 2,347.70 ล้านบาท อาทิ ทำ MOU กับ Rakuten ญี่ปุ่น เพื่อจำหน่ายสินค้าไทย / ร่วมมือกับ Amazon ขายออนไลน์ / นำสินค้าไทยขายบน Shopee มียอดขาย 71.44 ล้านบาท / เชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับตลาดต้องชม 251 แห่ง เพิ่มรายได้ 1,987 ล้านบาท / พัฒนาหมู่บ้านทำมาค้าขาย เพิ่มรายได้ 185 ล้านบาท / ผลักดันเพิ่มมูลค่าสินค้า GI สร้างรายได้ 71,000 ล้านบาทต่อปี / ใช้ร้านอาหาร Thai SELECT ในต่างประเทศเป็นโชว์รูม เพื่อเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการและผลักดัน Soft Power ทั้งอาหาร ดนตรี / เชื่อมโยงร้านอาหาร Thai SELECT กับการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มรายได้ และเพิ่มรายได้ให้ร้านธงฟ้า / จัดไปรษณีย์@ธงฟ้า อำนวยความสะดวกผู้ค้าออนไลน์ และประชาชน ให้บริการ Drop Off ให้บริการรับพัสดุแล้วกว่า 1 แสนชิ้น
นอกจากนี้ ยังได้จัดกิจกรรมฟื้นฟูเศรษฐกิจ ผ่านการจัดตลาดพาณิชย์ทั่วประเทศ โดยประสานพื้นที่จำหน่ายสินค้าให้ผู้ประกอบการรายเล็ก ในช่วง 1 ส.ค. - 30 ส.ค. จำนวน 318 ครั้ง มีผู้ประกอบการเข้าร่วม 4,683 ราย สร้างรายได้ 373 ล้านบาท / ตั้งเป้าจัดตลาดพาณิชย์ 935 ครั้ง ในช่วง ส.ค.-พ.ย.67 คาดว่าจะช่วยเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้เป็นจำนวนมาก และยังเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการจากการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า อาทิ HoReCa 2024, THAIFEX - Anuga Asia 2024 และ STYLE Bangkok 2024 สร้างมูลค่าซื้อขายกว่า 1 แสนล้านบาท / จัด Thailand SME Synergy Expo 2024 สร้างมูลค่าการค้ากว่า 200 ล้านบาท
>> นโยบายลดรายจ่าย
จัดโครงการ ‘พาณิชย์สั่งลุย...ลดราคา’ ลดราคาสินค้าจำเป็น ช่วงเทศกาลสำคัญ ปีใหม่ ตรุษจีน กินเจ ก่อนเปิดภาคเรียน ลดสูงสุด 60-85% รวม 8 กิจกรรม ลดค่าครองชีพได้ 8,060 ล้านบาท และกระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 13,400 ล้านบาท / จัด ‘โครงการธงฟ้าราคาประหยัด ลดค่าครองชีพประชาชน’ จำหน่ายสินค้าจำเป็นราคาต่ำกว่าท้องตลาด 20-40% รวม 1,134 ครั้ง ลดค่าครองชีพ 130 ล้านบาท / จัดจำหน่ายสินค้าผ่านรถโมบายในแหล่งชุมชน 450 จุด ลดค่าครองชีพ 122.09 ล้านบาท / จัดโครงการร้านอาหารธงฟ้า มีจำนวน 5,607 ร้าน ลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชนประมาณวันละ 2.63 ล้านบาท หรือ 960 ล้านบาท
จัดพาณิชย์สั่งลุยราคาปุ๋ย ลดต้นทุนให้เกษตรกร 102 ล้านบาท ลดต้นทุนให้ร้านค้า ผู้ประกอบการ 14,000 ราย มูลค่า 53 ล้านบาท ด้วยการงดจัดเก็บค่าเช่าพื้นที่ในกระทรวง และขอความร่วมมือตลาดในสังกัด กทม.ไม่เก็บด้วย / งดการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ให้ผู้ประกอบการใช้เพลงที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง ฟรี 3 เดือน ตั้งแต่ ธ.ค.66 - มี.ค.67 และมอบส่วนลดค่าลิขสิทธิ์เพลง 50–55% ต่อเนื่องอีก 1 ปี ลดต้นทุนผู้ประกอบการ SME ที่ใช้งานเพลง 400,000 ราย มูลค่า 3,300 ล้านบาท และขอฝากกรมการค้ารวบรวมร้านค้า เพื่อเข้าสู่โครงการดิจิทัลวอลเล็ต
>> นโยบายสร้างโอกาส
สำหรับการขยายโอกาสทางการค้า ได้เดินหน้าเจาะตลาดหลัก โดยจีน นำเข้าผู้ประกอบการเข้าร่วมงาน CAEXPO สหรัฐฯ / นำเอกชนลงนาม MOU ซื้อขายข้าวและอาหาร ญี่ปุ่น / ผลักดันอาหาร ผลไม้ ผ้าไทย ผ่านซีรีส์วายในงาน Thai Festival Tokyo ฝรั่งเศส / นำเอกชนเข้าร่วมงาน Cannes Film Festival 2024 คาดมูลค่าเจรจาการค้ากว่า 11,000 ล้านบาท / ใช้แคมเปญ Think Thailand Next Leve ในการบุกตลาดอินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เกาหลีใต้ ซาอุดีอาระเบีย และแอฟริกาใต้
นอกจากนี้ ยังได้ผลักดันการค้าชายแดน และแก้ไขอุปสรรคทางการค้า โดยเฉพาะการเจรจาเปิดด่าน เพื่อรองรับฤดูกาลผลไม้ไทย / การลงนาม FTA ไทย-ศรีลังกา ผลักดันการเจรจา FTA ไทย-EFTA ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2567 / เปิดเจรจา FTA ใหม่ อาทิ ไทย-เกาหลีใต้ ไทย-ภูฏาน และไทย-บังกลาเทศ / การรุกตลาดเมืองรอง โดยต่อยอด MOU ที่ลงนามไปแล้ว สร้างมูลค่าการค้ากว่า 5,500 ล้านบาท อาทิ ความร่วมมือกับมณฑลกานซู่ ปูซาน โคฟุ เป็นต้น
ทั้งนี้ จุดที่ชวนให้สนใจในกระทรวงพาณิชย์ชุดนี้ คือ การเพิ่มโอกาสทางการค้าผ่านกลยุทธ์ตลาดแนวใหม่ ยกตัวอย่าง การใช้ซีรีส์วาย ซีรีส์ยูริ ดึงมาย-อาโป ฟรีน-เบ็คกี้ เพื่อยกระดับสินค้าชุมชน อาทิ สมุนไพร สุราชุมชน ขนมขบเคี้ยว Tie-in เข้าสู่ตลาดโลกผ่านซีรีส์ / การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่ฮ่องกง เวียดนาม ฝรั่งเศส เกิดการจับคู่ธุรกิจ 756 คู่ มูลค่า 4,102 ล้านบาท รวมถึงการใช้เครือข่าย KOL จีนไลฟ์สดขายสินค้าและบริการไทย เพื่อสร้างรายได้ให้คนตัวเล็ก ที่กำหนดวันจัดไว้ที่ 25-29 ก.ย.67 คาดการณ์มูลค่า 1,500 ล้านบาท
ไม่เพียงเท่านี้ ยังได้จัดทำ MOU กับ Sinopec ด้วยการนำสินค้าไทยไปจำหน่ายใน Easy Joy ร้านสะดวกซื้อในปั๊มน้ำมัน คาดการณ์มูลค่า 1,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี / การเจรจาธุรกิจออนไลน์ (OBM) เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ฮาลาล สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น คาดการณ์มูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาท และยังทำงานเชิงรุกทูตพาณิชย์และพาณิชย์จังหวัด ขายกล้วยหอมเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่น ขายลำไยเข้าสู่ตลาดจีน ขายมังคุดไปจีนและญี่ปุ่น และเปิดตลาดผ้าไทยในญี่ปุ่น เป็นต้น รวมไปถึงการช่วยสร้างโอกาสทางการค้า จากการใช้ประโยชน์จาก Big Data คิดค้า.com เพื่อให้เกษตรกร ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์ มีสินค้าเกษตร 13 ชนิด เศรษฐกิจการค้ารายจังหวัด และเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น มีผู้ใช้งานกว่า 220,000 คน เฉลี่ย 22,000 คนต่อเดือน
ที่กล่าวมานี้ คือ รากฐานใหม่ ที่ถือเป็นการคิดแบบนอกกรอบ เพื่อสร้างสรรค์งานเศรษฐกิจไทยในเชิงรุก มุ่งเน้นเข้าไปเหลือ ‘คนตัวเล็ก’ ให้ได้ประโยชน์เสียมาก ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าทิศทางการทำงานของกระทรวงพาณิชย์แบบนี้ อาจจะดูเป็นเรื่องใหม่ในสายตาคนไทย แต่หากมันทัชใจตลาด โอกาสเก็บกินในระยะยาว ก็มีสูง...
เรื่อง: กองบรรณาธิการ THE STATES TIMES