‘ปิยสวัสดิ์’ เผยสถานะ ‘การบินไทย’ จ่อยื่นขอพ้นแผนฟื้นฟูกิจการ ในปี 68 ย้ำ!! ไม่กลับเป็น ‘รัฐวิสาหกิจ’ อีก มุ่งบริหารแบบคล่องตัว-ไร้การแทรกแซง

(13 ก.ย. 67) สำนักข่าว ‘กรุงเทพธุรกิจ’ ได้เผยแพร่บทความบทสัมภาษณ์ของ ‘นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ถึงทิศทางดำเนินงานหลังออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ โดยระบุว่า เป็นเวลา 4 ปี ที่เข้าสู่การฟื้นฟูกิจการนับตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย. 63 ก่อนที่ศาลล้มละลายกลางจะเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 65

ปัจจุบันการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูแล้วเสร็จต่อเนื่องทั้งการปรับโครงสร้างองค์กร คุมรายจ่าย ปรับลดพนักงานจาก 30,000 คน เหลือ 15,000 คน และปัจจุบันปรับเพิ่มมาอยู่ที่ 17,000 คน ซึ่งเป็นอัตราที่เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจภายใต้จำนวนเครื่องบินที่มี 79 ลำในปี 2567 และจะเพิ่มต่อเนื่องถึง 100 ลำ

ขณะเดียวกันการบินไทยทำตามเงื่อนไขเพื่อขอออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ โดยกำหนดผลสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการที่ต้องแล้วเสร็จรวม 4 เงื่อนไข ได้แก่ 

1.การเพิ่มทุนจดทะเบียน โดยต้องดำเนินการจดทะเบียนเพิ่มทุน และได้รับสินเชื่อใหม่ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในแผน และมีจำนวนที่เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ

2.ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ไม่ผิดนัดชำระหนี้ได้ติดต่อกัน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วย 

3.มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จากการดำเนินงานหลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าซื้อเครื่องบิน เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี ใน 2 ปีก่อนจะรายงานผลสำเร็จของแผนฟื้นฟู

4.การแต่งตั้งคณะกรรมการใหม่ ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น

“ผลการดำเนินงานขณะนี้กลับมาเป็นบวก กำไรปีก่อนดีที่สุดเท่าที่เคยดำเนินธุรกิจมา และเงื่อนไข EBITDA ไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาท ก็ทำได้แล้ว เหลือเพียงการทำให้ส่วนทุนเป็นบวก ซึ่งเตรียมออกหุ้นกู้ แปลงหนี้เป็นทุน ถ้าทำได้เรียบร้อยจะทำให้ได้เงิน 8 หมื่นล้านบาท และส่วนทุนกลับมาเป็นบวก”

>>เตรียมยื่นไฟลิ่งเข้าซื้อขายตลาดหุ้น

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า การดำเนินงานที่เป็นบวกต่อเนื่องและทำให้บรรลุเงื่อนไข EBITDA ไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาท ขณะนี้การบินไทยอยู่ช่วงฟื้นฟูกิจการขั้นสุดท้ายที่ต้องทำให้ส่วนทุนเป็นบวก 

โดยเตรียมยื่นแบบแสดงรายงานข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) ให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ภายใน 30 ก.ย.นี้

หลังจากนั้นภายในเดือนพ.ย.2567 จะเริ่มกระบวนการใช้สิทธิ และแจ้งเจตนาแปลงหนี้เป็นทุนของเจ้าหนี้แต่ละกลุ่ม และภายในเดือนธ.ค.2567 จะเข้าสู่กระบวนการเสนอขาย และจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน สำหรับผู้ถือหุ้นก่อนบริษัท เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ พนักงานบริษัท และนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง (Private Placement : PP)

รวมทั้งหลังเริ่มกระบวนการปรับโครงสร้างทุน ซึ่งจะทำให้การบินไทยมีส่วนทุนเป็นบวกนั้น อาจต้องใช้เวลา 2 เดือน เพื่อตรวจสอบงบการเงิน และประกาศงบการเงินงวดปี 2567 ในช่วงเดือนก.พ.2568 หลังจากนั้นจะเริ่มยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ และหุ้นของบริษัท กลับเข้าซื้อขายใน ตลท.ภายในไตรมาส 2 ปี 2568

>>การบินไทยเดินหน้าแปลงหนี้เป็นทุน

สำหรับการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการแบ่งเป็น การแปลงหนี้เป็นทุน ด้วยราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น โดยมาจากเงินต้นเจ้าหน้าที่ตามแผนแปลงหนี้เป็นทุน ซึ่งกลุ่มนี้ประกอบด้วย เจ้าหนี้กลุ่มกระทรวงการคลัง แปลงหนี้สัดส่วน 100% ของมูลหนี้เป็นทุน

เจ้าหนี้กลุ่ม 5 (สถาบันการเงินที่มีสิทธิตามสัญญาโอนสิทธิในการรับเงินจากการขายเครื่องบิน), เจ้าหนี้กลุ่ม 6 (สถาบันการเงินไม่มีประกัน) และเจ้าหนี้กลุ่มที่ 18-31 (เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้) แปลงหนี้สัดส่วน 24.50% ของมูลหนี้เป็นทุน และส่วนเจ้าหนี้กลุ่ม 5-6 และเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ ยังแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมคิดเป็นไม่เกิน 75.50%

ขณะเดียวกันกรณีเจ้าหนี้ใช้สิทธิตามข้อ 2 ไม่ครบ การบินไทยจะเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนด้วยราคาเสนอขายเป็นไปตามที่ผู้บริหารแผนกำหนด โดยไม่ต่ำกว่า 2.5452 บาทต่อหุ้น มีจำนวน 9,822 ล้านหุ้น บวกกับจำนวนหุ้นที่เหลือจากสิทธิตามข้อ 2 โดยเสนอขายเป็นตามลำดับ ประกอบด้วย ผู้ถือหุ้นเดิมก่อนการปรับโครงสร้างทุน หลังจากนั้นเสนอขายส่วนที่เหลือให้พนักงานการบินไทย และส่วนที่เหลือเสนอขายให้นักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง รวมจำนวนหุ้นจากการปรับโครงสร้างทุนไม่เกิน 31,500 ล้านหุ้น

>>ไม่ควรกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจ

ทั้งนี้ หลังปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการจะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังลดจาก 48% เหลือ 30-40% แน่นอนว่าสถานะการบินไทยจะไม่กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจอีก ซึ่งจะทำให้บริหารธุรกิจคล่องตัว ทำงานเต็มที่ และไม่มีการแทรกแซงจากภายนอก

นอกจากนี้แม้กระทรวงการคลังจะซื้อหุ้นเพิ่มเติมหลังกลับเข้าซื้อขายใน ตลท.ได้ แต่ไม่ควรทำเช่นนั้นเพราะจะทำให้กลับไปเป็นแบบเดิม บริษัทต้องบริหารงานภายใต้การให้ความสำคัญข้อกฎหมาย และกฎระเบียบรัฐที่ใช้เวลาเกิน 50% ของการประชุมต้องพิจารณากฎระเบียบ ขณะที่ปัจจุบันเวลาส่วนใหญ่กว่า 95% พิจารณาประเด็นธุรกิจ ดังนั้นสถานะปัจจุบันจึงคล่องตัวมากกว่า

อีกทั้งเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ต้องการให้การบินไทยอยู่สถานะบริษัทเอกชน เพราะต้องการให้บริหารงานแบบที่เป็นอยู่เพื่อสร้างรายได้ต่อเนื่อง และมีความสามารถ ในการจ่ายคืนหนี้ อีกทั้งเพื่อทำให้การบินไทยมีผู้ถือหุ้นหลากหลายและมีความเชี่ยวชาญทางธุรกิจมากขึ้น

“การเปิดขายหุ้นให้กลุ่ม PP เป็นแนวทางที่จะทำให้การบินไทยมีผู้ลงทุนหน้าใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องดีเพราะจะมีผู้ถือหุ้นที่เชี่ยวชาญด้านการบินเข้ามา เพราะไม่อยากเห็นการบินไทยเป็นแบบเดิม คิดแบบราชการ การแต่งตั้งโยกย้ายเป็นไปด้วยการวิ่งเต้น ถ้าได้ผู้ถือหุ้นมีความรู้ด้านการบินนับเป็นเรื่องที่ดีกว่า”

ทั้งนี้ การบินไทยเริ่มเจรจาหาพันธมิตรเข้ามาซื้อหุ้นในกลุ่มที่จะเสนอขายให้นักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง ซึ่งเป็นทุนต่างชาติ และอยู่ในธุรกิจสายการบิน เพราะปัจจุบันในไทยไม่มีสายการบินใดที่บริหารกิจการ และทำรายได้ดีกว่าการบินไทย ดังนั้นต้องหาพันธมิตรจากต่างประเทศ คาดว่าได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ แต่จะซื้อหุ้นในสัดส่วนเท่าไรต้องรอดูจำนวนหุ้นที่เหลือจากการแปลงหนี้เป็นทุน

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า บทเรียนความผิดพลาดที่การบินไทยจะไม่กลับไปดำเนินการอีก ประเด็นสำคัญคือ เรื่องคน การเอาคนมาบริหารองค์กรต้องเป็นคนที่ทำงานได้ เพราะหากผู้บริหารไม่เก่ง ได้ตำแหน่งมาจากการวิ่งเต้น และการแทรกแซง ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตจะกลับไปเป็นการบินไทยแบบเดิม ดังนั้นต้องดูเรื่องนี้ให้ดี เพราะไม่อยากให้การบินไทยกลับไปซ้ำรอยเดิม


ที่มา: Bangkokbiznews