'รมว.เอกนัฏ' ลุยงานเชิงรุก สางปม 'กาก-น้ำ-อากาศพิษ' กระทบประชาชนเตรียมยกเครื่องจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งระบบอย่างเป็นรูปธรรม

(11 ก.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลุยงานเชิงรุก ลงพื้นที่บริษัท วินโพรเสส จำกัด อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง รับฟังข้อมูล เพื่อวางแนวทางการแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมทั้งระบบ โดยมี ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วม

นายเอกนัฏ กล่าวว่า จากปัญหาการลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรมออกสู่สิ่งแวดล้อมและพื้นที่สาธารณะ นำไปสู่การรั่วไหลแพร่กระจายของสารมลพิษเป็นพื้นที่ปนเปื้อนในหลายพื้นที่ ก่อให้เกิดความเสียหายและส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชนเป็นวงกว้าง ซึ่งตนได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านและติดตามสถานการณ์มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกรณีของ บริษัท วินโพรเสส จำกัด อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ที่เกิดเหตุเพลิงไหม้อาคารโรงงานที่มีการลักลอบเก็บกากของเสียและสารอันตรายจำนวนมาก ทำให้สารเคมีและสารมลพิษเกิดการแพร่กระจายและชะล้างออกสู่พื้นที่ภายนอก สร้างปัญหาและความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านข้างเคียง 

"วันนี้ ได้ลงพื้นที่ร่วมกับคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อรับฟังข้อมูลข้อเท็จจริงและผลกระทบจากการแพร่กระจายของมลพิษ ตลอดจนแนวทางและการดำเนินการแก้ปัญหาด้วยตนเอง เพื่อวางแนวทางการจัดการกากอุตสาหกรรมตกค้างอย่างเข้มงวด พร้อมยกระดับการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งระบบอย่างเป็นรูปธรรม"

นอกจากนี้ รมว.อุตสาหกรรม ยังเตรียมที่จะรื้อปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งกองทุนเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรมแบบครบวงจร พร้อมผสานความร่วมมือกับภาคประชาชน เอกชน ท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการงานให้สำเร็จตามเป้าหมายภายในระยะเวลาที่ชัดเจน ยกระดับความปลอดภัยในพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม และสร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบ ต่อไป

ด้าน ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรณีของ บริษัท วินโพรเสส จำกัด อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง กระทรวงอุตสาหกรรมได้ฟ้องร้องต่อศาลจังหวัดระยองและเร่งรัดให้บริษัทฯ ทำการบำบัดกำจัดกากของเสียและสารอันตรายในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเกิดเหตุเพลิงไหม้ในช่วงเช้าของวันที่ 22 เมษายน 2567 ทำให้สารเคมีและสารมลพิษเกิดการแพร่กระจายและชะล้างออกสู่พื้นที่ของชาวบ้านข้างเคียง โดยในระยะเร่งด่วน กระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งดำเนินการ ดังนี้...

1)  ทำการเบี่ยงทางน้ำป้องกันปริมาณน้ำฝนไม่ให้ไหลกัดเซาะบ่อกักเก็บน้ำเสียและชะล้างสารเคมีหรือกากอุตสาหกรรมไหลปนเปื้อนออกสู่พื้นที่ของชาวบ้านข้างเคียง ซึ่งปัจจุบันดำเนินการติดตั้งระบบไฟฟ้า เครื่องสูบน้ำและวางระบบท่อพร้อมใช้งาน โดยได้รับการสนับสนุนจากภาคอุตสาหกรรมผ่านกิจกรรม 'อุตสาหกรรมรวมใจ' เช่น บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด กลุ่มบริษัทในเครือเอสซีจี บริษัท อูเบะ เคมิคอลส์ (เอเชีย) จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) 

2) เร่งทำการบำบัดกำจัดตะกรันอะลูมิเนียมโดยใช้งบประมาณ 4 ล้านบาท จากเงินที่วางไว้ต่อศาลจังหวัดระยอง 

และ 3) เร่งทำการบำบัดน้ำเสียในพื้นที่เพื่อลดการปนเปื้อนและรั่วซึมไปสู่พื้นที่ของชาวบ้าน นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะเร่งทำการกำจัดของเสียทั้งหมดที่อยู่ภายในอาคารโรงงานและพื้นที่โดยรอบอาคาร และจะทำการบำบัดกำจัดของเสียที่อยู่ใต้ดิน ตลอดจนทำการฟื้นฟูพื้นที่ในระยะต่อไป เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านโดยเร็วที่สุด 

"ผมจะต่อสู้กับปัญหาขยะพิษที่ทำร้ายชีวิตประชาชน ไม่อ่อนข้อให้ผลประโยชน์ ไม่เกรงกลัวต่ออิทธิพล เดินหน้า เร่งคืนน้ำที่สะอาด และอากาศที่บริสุทธิ์ให้คนไทย" รมว.เอกนัฏ กล่าวทิ้งท้าย