Saturday, 27 April 2024
ECONBIZ NEWS

BLC แต่งตัวเข้าตลาดฯ ผงาดรุกต่างประเทศ หนุนรายได้แตะ 2,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี

สำนักข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ ภก.สุวิทย์ งามภูพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด (มหาชน) หรือ BLC ซึ่งได้นำพาองค์กรผู้ผลิตยาของคนไทยโลดแล่นสู่ตลาดหลักทรัพย์เป็นบริษัทมหาชนเป็นที่เรียบร้อย สร้างความภาคภูมิใจในแวดวงอุตสาหกรรมยาเป็นอย่างมาก

โดย ภก.สุวิทย์ กล่าวในภาพรวมว่า อุตสาหกรรมยาในปัจจุบันยังเป็นเรื่องน่าสนใจ เนื่องจากเป็นเรื่องความมั่นคงทางด้านสุขภาพ โดยอุตสาหกรรมยาเมืองไทยในปัจจุบัน มีมูลค่าเกือบ 2 แสนล้านบาท โดยมากกว่าครึ่งเป็นบริษัทยาข้ามชาติ ที่เหลือเป็นบริษัทยาไทย

ทั้งนี้สัดส่วนทางการตลาดสามารถแบ่งได้ดังนี้ 60% เป็นตลาดของโรงพยาบาลรัฐ / 20% เป็นตลาดของโรงพยาบาลเอกชน และอีก 20% เป็นตลาดของร้านขายยา โดยปัจจุบันมีการทำตลาด Modern Trade รวมถึง e-Commerce มากขึ้น จนส่งผลให้อุตสาหกรรมนี้มีศักยภาพสูงและมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก

นอกจากนี้ หากลงไปในรายละเอียด จะพบว่า ยาแผนปัจจุบัน กลุ่มยาสามัญประจำบ้าน เช่น พาราเซตามอล มีการแข่งขันสูง รองลงมาคือ ตลาดยาใหม่ ได้แก่ ยาที่บริษัทข้ามชาติจะหมดสิทธิบัตร ซึ่งหากใครสามารถพัฒนายาใหม่เหล่านี้ได้ ก็สามารถครองตลาดได้ไม่ยากนัก 

ส่วนกลุ่มยาสามัญใหม่ก็มีมูลค่าการตลาดค่อนข้างสูง เช่น ยาเบาหวาน ซึ่งบริษัทข้ามชาติมีการพัฒนายาตัวใหม่ หรือที่เรียกว่า ยา Original ซึ่งจะมีราคาแพง ขณะที่บริษัทยาในประเทศส่วนใหญ่นั้น หากหมดสิทธิบัตรเมื่อไหร่ แล้วสามารถพัฒนาได้ก็จะกลายเป็นผู้นำตลาดได้เช่นกัน ซึ่ง BLC มองเห็นประเด็นนี้เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว จึงตั้งศูนย์วิจัยขึ้นมาเพื่อพัฒนา ยา Original โดยปัจจุบันสามารถผลิตได้ 2-3 ผลิตภัณฑ์ เนื่องจาก BLC มีความพร้อมทุกด้านอยู่แล้ว แต่ถ้ามีเงินทุนเข้ามามากขึ้น ก็สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ได้มากถึงปีละ 10 ผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะกลุ่มยาสมุนไพรนวัตกรรมมีโอกาสเติบโตสูงมาก

สำหรับส่วนแบ่งการตลาดของบริษัทยา ทาง BLC มองว่าเป็นเรื่องที่แปลก เพราะยังไม่มีใครเป็นเจ้าตลาด ซึ่ง BLC เอง มียอดขายในปี พ.ศ. 2565 อยู่ที่ประมาณ 1,300 ล้านบาท ซึ่งถือว่ายังน้อยมากในตลาดภาพรวม โดย BLC มีความชำนาญอย่างมากในด้านการผลิตยากลุ่มกระดูกและข้อ และกลุ่มยาผิวหนัง 

ส่วนทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมยา BLC มองว่า มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่อาจโตไม่มากนัก ประมาณ 7% 

"เรามองการเติบโตเป็นช่วงๆ อย่างในยุคแรก ช่วงปี ค.ศ. 1990-2000 เรามองในเรื่องระบบคุณภาพ ว่าทำอย่างไรให้โรงงานยาเป็นที่ยอมรับ มีมาตรฐานสูงสุด ส่วน 10 ปีต่อมา เรามองว่า BLC จะเป็นบริษัทยาที่แข่งขันกับบริษัทข้ามชาติได้อย่างไร โดยมีมุมมองในรูปแบบของ Business Model สร้างความเชี่ยวชาญตอบรับกลุ่มลูกค้า ซึ่งเป็นโมเดลที่ทำให้ BLC เจริญเติบโตมาถึงปัจจุบัน ส่วนอีก 10 ปีต่อมา BLC เราเน้นเรื่องการพัฒนานวัตกรรม มีการตั้งศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนายาต้นแบบ ซึ่งเรานำงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยต่างๆ มาศึกษาพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีการผลิตยาแผนปัจจุบัน ไปพัฒนายาจากสมุนไพร ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ยาที่พัฒนามาจากสมุนไพร เทียบเท่ายาแผนปัจจุบัน และมีการส่งออกไปต่างประเทศมากมาย ส่วนปัจจุบัน BLC เรามองเรื่องสร้างการเจริญเติบอย่างยั่งยืนอย่างไร โดยเน้นสร้างพันธมิตรธุรกิจยาระหว่างประเทศมากขึ้น" ภก.สุวิทย์ กล่าว

เมื่อถามถึง BLC กับเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้วจะมีกลยุทธ์อย่างไร? ภก.สุวิทย์ กล่าวว่า ธุรกิจยาเป็นธุรกิจกระแสหลักของโลก BLC มีกลยุทธ์ดังนี้...

1. สร้างโรงงาน 2. พัฒนาสินค้าใหม่ 3. หาพันธมิตรทางการค้า จากต่างประเทศ และสร้าง Business Model ที่สร้างการเจริญเติบโตได้ พร้อมผลิตยาให้กับบริษัทยาจากต่างประเทศได้

"ตอนนี้ประเทศไทยเรายังไม่สามารถผลิตตัวยาสำคัญได้ เราควรที่จะมียาของตนเอง โดยการนำสมุนไพรมาพัฒนา ส่วนเคมีคอลจะทำอย่างไรให้เมืองไทยผลิตตัวยาสำคัญได้ หรือผลิตวัตถุดิบหลักทางยาได้ ภาครัฐควรให้การสนับสนุน และสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศมากขึ้น โดยเราให้ความสำคัญ Trusted Solutions for Lifelong Well-Being หมายถึง การดำเนินธุรกิจเริ่มตั้งแต่วัตถุดิบหลัก ผลิต พัฒนาและวิจัย แล้วทำการตลาดให้แพทย์และเภสัชกรเป็นที่รู้จัก" ภก.สุวิทย์ เสริม

ด้านการทำตลาดของ BLC หลังเข้าตลาดฯ ได้วางแผนไว้ 2 ระยะ คือ ระยะแรก จะขยายช่องทางจำหน่ายไปยังต่างประเทศ โดยวางเป้าหมายการเติบโตปีหนึ่งมากกว่า 200 ล้านบาท ส่วนระยะต่อมาจะมีการสร้างโรงงานที่ทันสมัยที่สุดในประเทศ เพื่อให้ผลิตยาที่มีคุณภาพในต้นทุนที่ถูก ซึ่งขณะนี้โรงงานได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เพื่อให้เกิดการแข่งขันในอุตสาหกรรมยาในไทย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับบริษัทต่างชาติได้แล้ว

สำหรับยอดขายของ BLC ในปัจจุบันนั้น 60% -70% เป็นกลุ่มยา รองลงมาคือกลุ่มเวชสำอาง และผลิตภัณฑ์สมุนไพร อาหารเสริมตามลำดับ ซึ่งในส่วนของ BLC มีการทำตลาดด้านเวชสำอาง อาหารเสริม ที่มีความแตกต่างไม่เหมือนใคร เนื่องจากนำสมุนไพรที่มีการจดสิทธิบัตรของบริษัทฯ มีงานวิจัยรองรับ มาพัฒนาและผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ ทำให้เกิดความแตกต่างและมีประสิทธิภาพสูงด้วยนวัตกรรม

ส่วนเป้าหมายของ BLC ต่อจากนี้ ภก.สุวิทย์ เชื่อว่า จะโตอย่างน้อยเฉลี่ย 10% ภายใน 3 ปีนี้ เป็น Organic Growth และจากนั้นก็จะเป็น New S-Curve หลังจากโรงงานเราเสร็จ คาดยอดขายแตะ 2,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี คิดเป็นกำไรเติบโต 10-20%

ท้ายสุด ภก.สุวิทย์ กล่าวว่า "ในฐานะที่จบเภสัชกรมาก็อยากสร้างแรงบันดาลใจให้น้องๆ เภสัชกร ว่าเราสามารถทำอย่างไรให้ยาของเมืองไทย เป็นที่ยอมรับอย่างน้อยก็ใน CLMV ระดับอาเซียน หรือระดับสากล โดยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน BLC เป็นที่ฝึกงานของน้อง ๆ เภสัชกร กว่า 15 สถาบัน มาร่วม 20 ปีแล้ว เนื่องจากโรงงานผลิตยาในเมืองไทยมีไม่มาก และ BLC เห็นความสำคัญตรงนี้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมยาของไทยอย่างยั่งยืนต่อไป"

‘De-BUGs’ สารกำจัดแมลงจากเปลือกไข่ ไร้อันตรายต่อเด็ก คว้า ‘เหรียญทอง’ จากงานประกวดนวัตกรรมที่ญี่ปุ่น

เป็นหน้าเป็นตาอีกแล้วกับผลงานนวัตกรรมของคนไทยอย่าง ‘De-BUGs’ นวัตกรรมสารกำจัดแมลงอินทรีย์แปรรูปจากเปลือกไข่ ซึ่งคณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับทุนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อแปรรูปและเพิ่มมูลค่าของเสียจากภาคอุตสาหกรรมให้เป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมรักษ์โลก ภายใต้แนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG 

โดยการเปลี่ยนโปรตีนเยื่อเปลือกไข่ให้เป็นสารออกฤทธิ์กำจัดแมลงศัตรูพืชประสิทธิภาพสูงด้วยกระบวนการผลิตที่ไม่สร้างของเสีย (Zero-waste Process) เป็นสารอินทรีย์ 100% นอกจากจะทำหน้าที่กำจัดศัตรูพืชแล้ว De-BUGs สลายตัวตามธรรมชาติกลายเป็นแคลเซียม ธาตุอาหารรองสำหรับพืชทุกชนิด เป็นนวัตกรรมเพื่อเกษตรอินทรีย์ ที่มีประสิทธิภาพป้องกันและกำจัดเพลี้ย ไล่มดและหอยทาก 

ใช้ได้กับผักสวนครัว ไม้ดอก ไม้ประดับ ผลไม้ และ พืชไร่ ไม่ต้องกังวลเรื่องการตกค้างและอันตรายจากสารเคมีสำหรับเด็กและสัตว์เลี้ยง เนื่องจากการฉีดพ่นสารแขวนลอย De-BUGs ความเข้มข้น 0.5% สามารถสร้างความเสียหายแก่ protective wax ของเพลี้ยแป้งภายในเวลา 15 นาที และทำให้เพลี้ยแป้งเป็นอัมพาตภายใน 60 นาที หลังจากนั้น 1 วัน เพลี้ยแป้งที่สัมผัส De-BUGs  จะตายทั้งหมด 

คณะนักวิจัยมีความพร้อมเผยแพร่นวัตกรรมนี้สู่การใช้งานจริงกับเกษตรกรและผู้รักสุขภาพที่ปลูกผักปลอดสารพิษ พร้อมกันนี้ นักวิจัยได้ออกแบบระบบการผลิตแบบ Nano-Factory สำหรับการผลิต De-BUGs จากเปลือกไข่ใช้เองในครัวเรือน โดยใช้อุปกรณ์ในห้องครัวเป็นเครื่องมือผลิต นวัตกรรมนี้ได้รับรางวัลเหรียญทอง (Gold Medal) และ WIIPA Special Award สาขาการเกษตร ในงานประกวดและแสดงนวัตกรรมระดับนานาชาติ JDIE 2023 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

จุดหมายที่ใครก็อยากมา!! ไทย ติดอันดับ 6 ต่างชาติอยากย้ายมาทำงานมากสุด ชี้ ที่พักไม่แพง - อาหารถูกใจ แต่กังวลด้านสิ่งแวดล้อม

รายงาน Expat Insider 2023 จัดให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าอยู่และเหมาะให้ชาวต่างชาติมาทำงานมากที่สุดในโลก โดยประเทศไทยจัดอยู่ในลำดับที่ 6 ขยับขึ้นมาจากปีที่แล้ว ที่อยู่ในอันดับ 8 จากทั้งหมด 53 ประเทศ

สำหรับ 10 จุดหมายปลายทางน่าอยู่และเหมาะทำงานมากที่สุดในโลก ในปี 2023 ได้แก่
1.เม็กซิโก
2.สเปน
3.ปานามา
4.มาเลเซีย
5.ไต้หวัน
6.ไทย
7.คอสตาริกา
8.ฟิลิปปินส์
9.บาห์เรน
10.โปรตุเกส

เกณฑ์การจัดลำดับของ Expat Insider 2023 จะพิจารณาจาก 5 ดัชนี ได้แก่ ดัชนีคุณภาพชีวิต ดัชนีความสะดวกในการย้ายถิ่นฐาน ดัชนีการทำงานในต่างประเทศ ดัชนีการเงินส่วนบุคคล และดัชนีสิ่งที่จำเป็นสำหรับชาวต่างชาติ ซึ่งครอบคลุมเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย การติดต่อราชการ ภาษา และชีวิตดิจิทัล

สำหรับประเทศไทย Expat Insider ระบุว่า ดัชนีคุณภาพชีวิตของไทยอยู่ลำดับที่ 37 ดัชนีความสะดวกสบายในการเข้าพักอยู่ลำดับที่ 11 ดัชนีการทำงานในต่างประเทศอยู่ลำดับที่ 39 ดัชนีการเงินส่วนบุคคลอยู่ลำดับที่ 4 และดัชนีสิ่งที่จำเป็นสำหรับชาวต่างชาติอยู่ลำดับที่ 18

หวั่นซ้ำรอย STARK!! ตลท. ขอให้ ‘NUSA’ แจงงบการเงิน Q1/66 หลังผู้สอบบัญชีพบข้อสังเกตการซื้อโรงแรมในเยอรมนี

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ขอให้ บมจ.ณุศาศิริ (NUSA) ชี้แจงข้อมูลในงบการเงินไตรมาสที่ 1/66 ซึ่งผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นแบบมีเงื่อนไขและมีข้อสังเกต เนื่องจากความซับซ้อนของการจัดโครงสร้างของผู้ขายโรงแรม รวมถึงสิทธิเครื่องหมายทางการค้าและใบอนุญาตต่าง ๆ ในประเทศเยอรมนี ภายใน 25 ก.ค. 66 ทั้งนี้ผู้ตรวจสอบบัญชีได้ตั้งข้อสังเกตดังกล่าวตั้งแต่งบการเงินปี 64

▪️ ประเด็นที่ตลาดหลักทรัพย์ ต้องการให้ NUSA ชี้แจงมีดังต่อไปนี้

1. NUSA แจ้งรายการเข้าซื้อโรงแรมที่เยอรมนี เดือน ม.ค. 64 ซึ่งอยู่ระหว่างขอใบอนุญาต ต่อมาในงบการเงินไตรมาสที่ 3/65 ได้เปลี่ยนเป็นการซื้อหุ้นแทน โดยจ่ายเงินมัดจำให้ผู้ขายแล้ว 624 ล้านบาท (84% ของราคาซื้อ) การก่อสร้างให้แล้วเสร็จเลื่อนจากปี 66 เป็นปี 67

2. ให้ NUSA ชี้แจงเหตุผล การขยายเวลาคืนเงินเพิ่มทุนและเงินมัดจำ มาตรการดำเนินการเพื่อให้ได้รับคืนเงินดังกล่าวเมื่อครบกำหนดเวลาที่ขยาย รวมทั้งผลกระทบต่อสภาพคล่องของกลุ่มบริษัท จากกรณีการลงทุนในบริษัท มอร์ มันนี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มอร์ มันนี่) 30% (ผู้ถือหุ้นอีก 50% คือ บริษัทย่อยของบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) (MORE)) เพราะได้วางเงินมัดจำให้แก่มอร์มันนี่ ต่อมาบริษัทได้ยกเลิกการร่วมลงทุน และขายหุ้นมอร์มันนี่ โดยได้โอนกรรมสิทธิในหุ้นดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อแล้ว แต่ยังไม่ได้รับชำระค่าขายรวม 57.5 ล้านบาท ออกไปอีก 90 วัน 

3. ความสามารถของกลุ่มบริษัทในการดำเนินงาน เนื่องจากขาดทุนต่อเนื่องมาหลายปีผู้สอบบัญชีได้ให้ข้อสังเกต ณ สิ้นไตรมาสที่ 1/66 กลุ่มบริษัทมีหนี้สินสำคัญ คือ เจ้าหนี้ค่างานก่อสร้างของบริษัท ณุศา เลเจนด์ สยาม จำกัด (ณุศา เลเจนด์) รวม 1,723 ล้านบาท ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ชี้แจงความคืบหน้าของข้อพิพาทดังกล่าว รวมถึงผลกระทบต่อเหตุผิดนัดในมูลหนี้อื่นของบริษัท เช่น หนี้หุ้นกู้ เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน เป็นต้น

‘นักธุรกิจไทย’ โกยยอดขาย ‘ตลาดนัดกลางคืน’ ในไหหลำ ปักหมุดแลนด์มาร์กแห่งใหม่ สวรรค์ของนักท่องเที่ยวขาชอป

เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 66 สำนักข่าวซินหัว, ไห่โข่ว รายงานว่า ยามย่ำสู่ค่ำคืนหลังอาทิตย์ลาลับขอบฟ้า ตลาดนัดวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ ‘ไป๋ซา เหมิน’ ในนครไห่โข่ว เมืองเอกของมณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ทางตอนใต้ของจีน กลับมีบรรยากาศคึกคักด้วยทัพนักท่องเที่ยวเดินจับจ่ายซื้อของกันอย่างเพลิดเพลิน

ตลาดนัดกลางคืนไป๋ซาเหมินตั้งอยู่บนพื้นที่ราว 60,000 ตารางเมตร เพิ่งเปิดต้อนรับผู้คนเมื่อราวหนึ่งเดือนก่อนด้วยแผงขายของกินและงานฝีมือทางวัฒนธรรมมากกว่า 600 แผง ซึ่งจากแผงขายของกินทั้งหมด 300 แผง เป็นของพ่อค้าแม่ขายชาวไทยมากกว่า 160 แผง

บรรดาคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวทยอยเดินทางมาเยือนตลาดนัดกลางคืนแห่งนี้ ที่กลายเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมแห่งใหม่ของไห่โข่วกันอย่างไม่ขาดสาย โดยมีนักท่องเที่ยวตบเท้าเข้าเดินซื้อของสูงถึงราว 800,000 คน ในช่วง 20 วันแรกของการเปิดตลาด

อริณธารัตน์ เทพวรรณ เจ้าของแผงขายอาหารไทยอย่างผัดไท ต้มยำกุ้ง และหมูกรอบ จำนวน 4 แผง สาละวนอยู่กับการทักทายลูกค้ามากหน้าหลายตา โดยเขาเผยว่า ยอดขายเฉลี่ยอยู่ที่ราว 1,000-2,000 หยวน (ราว 5,000-10,000 บาท) ต่อวันต่อแผง

เดิมที อริณธารัตน์ทำธุรกิจคลินิกเสริมความงามในไทย และธุรกิจนำเข้าสินค้าจากจีนมานานกว่า 18 ปี จนกระทั่งราวสามเดือนก่อน เขาได้ยินข่าวว่า ไห่หนานจะเปิดตลาดนานาชาติสำหรับนักท่องเที่ยวจีนและต่างชาติ ซึ่งทำให้เขาสนใจและเริ่มพูดคุยกับเพื่อนในไทย

อริณธารัตน์บอกว่า พอรู้จักตลาดจีนมีขนาดใหญ่และคิดว่าเป็นโอกาสดีทางธุรกิจ จึงตัดสินใจมาเปิดแผงขายอาหารที่นี่ โดยแม้เขาไม่มีความรู้เกี่ยวกับไห่หนาน แต่เคยเดินทางไปหลายเมืองของจีน เช่น กว่างโจว เซี่ยเหมิน เซี่ยงไฮ้ และปักกิ่ง เลยคิดว่าไห่หนานน่าจะเหมือนและเป็นตลาดใหญ่เช่นกัน

“ผมได้ยินว่า ไห่หนานเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวจากจีนและประเทศอื่น ๆ และวันแรกที่มาถึงที่นี่ ผมรู้สึกว่าเหมือนอยู่กรุงเทพฯ เลย ทำให้คิดว่าเลือกถูกแล้ว” อริณธารัตน์กล่าว พร้อมแสดงความหวังว่าตลาดแห่งนี้จะโด่งดังในจีน และทั่วโลกจนกลายเป็นแลนด์มาร์กห้ามพลาด

ด้าน อภิญญา ฉัติทิวาพร วัย 27 ปี ซึ่งทำธุรกิจเบเกอรีในไทย เจ้าของแผงขายชาไทยหลากหลายเมนูที่ตลาดนัดกลางคืนไป๋ซาเหมิน เผยว่าเธอตั้งใจมาสั่งสมประสบการณ์และเสาะหาโอกาสใหม่ในตลาดแห่งนี้ที่มีขนาดใหญ่มาก ทิวทัศน์สวยงาม ผู้คนเป็นมิตร และอากาศดี

กิตติศักดิ์ โอสถานันต์กุล ผู้จัดการกลุ่มผู้ค้าชาวไทยของตลาดนัดกลางคืนไป๋ซาเหมิน เปิดแผงขายอาหารของตัวเอง พร้อมกับช่วยเหลือผู้ค้าชาวไทยคนอื่นๆ ตั้งแต่งานเอกสาร การขอวีซ่า จนถึงหาที่พักอาศัย โดยเขามองว่าการทำธุรกิจที่ตลาดแห่งนี้เป็นโอกาสใหม่ในการบุกตลาดจีน

แม้การท่องเที่ยวของไห่หนานจะผันผวนตามฤดูกาล แต่กิตติศักดิ์ยังคงมองเชิงบวกและเฝ้ารอฤดูท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวจะแห่แหนกันมาที่นี่ รวมถึงวาดหวังขยับขยายธุรกิจไปยังการเปิดร้านนวดแผนไทยหรือร้านอาหารไทยในอนาคตข้างหน้าด้วย

เจิ้งซือซือ นักท่องเที่ยวจากมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ทางตอนใต้ของจีน กล่าวว่าอาหารไทยที่ตลาดนัดแห่งนี้มีรสชาติเหมือนต้นตำรับ พอเจอคนขายที่พูดภาษาไทยก็เหมือนอยู่ประเทศไทย ที่นี่มอบประสบการณ์ยอดเยี่ยม และเดินเที่ยวเล่นได้อย่างสนุก

'วิชัย ทองแตง' ปั้นภาคีเครือข่าย 'รัฐ-เอกชน' ดึงกว่า 50 องค์กร ร่วมใจพลิกเชียงใหม่ไร้ฝุ่น PM 2.5

'หยุดเผา เรารับซื้อ' หนึ่งในยุทธศาสตร์ที่ 'ภาคีเครือข่ายเชียงใหม่ ร่วมใจขจัด PM 2.5 และลดโลกร้อน' ผ่านการร่วมกันคิดและทำให้สำเร็จ ด้วยการรับซื้อซังข้าวโพดจากเกษตรกร สกัดการเผาทำลายซังข้าวโพด อันเป็นสาเหตุสำคัญที่เกิด PM 2.5 โดยนำมาแปรรูปเป็นชีวมวลอัดแท่งส่งไปสู่ระบบคาร์บอนเครดิต ด้วยมาตรฐานระดับโลกที่โรงงานต่าง ๆ ทั่วโลก ที่พร้อมจะรับซื้อต่อไปได้

(12 ก.ค.66) ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ นายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า “ผมได้ร่วมหารือกับทุกภาคส่วนและกำหนดเป็นวาระเร่งด่วน สำคัญที่สุดในอันที่จะแก้ปัญหานี้ให้ได้ เพื่อปลดเปลื้องความทุกข์ร้อนของพี่น้อง ลูกหลานเราโชคดีเหลือเกินที่เรามีภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง เกิดการร่วมแรงร่วมใจที่ทรงพลังอย่างยิ่ง อย่างที่ไม่เคยปรากฏเหมือนที่ใดมาก่อนเหมือนในวันนี้”

นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า “พวกเราประจักษ์รู้ในความเป็นจริงกันทุกคนว่าแท้จริงแล้ว มันเกิดจากฝีมือมนุษย์เราเอง การเผาป่า เรือกสวน กิ่งไม้ ไร่นา เพื่อพลิกฟื้นผืนดินทำกินของพวกเรากันเอง นั้นเกิดประโยชน์มหึมาแต่ก็เกิดโทษมหาศาล ทางอบจ.เราเองได้จัดงบลงไปปีละหลายสิบล้าน เพื่อแก้ไขปัญหา PM 2.5 บรรเทาทุกข์ให้กับชาวเชียงใหม่ ในวันนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่ชาวเชียงใหม่จัดตั้งเป็นภาคีเครือข่าย ซึ่งถือเป็นการแสดงครั้งสำคัญของพวกเรา” 

ด้าน คุณวิชัย ทองแตง นักธุรกิจผู้มีแรงบันดาลใจที่มุ่งหวังให้ จ.เชียงใหม่และภาคเหนือปลอด PM 2.5 ได้กล่าวว่า “ภาคีเครือข่ายนี้ถือเป็นการแสดงพลังของชาวเชียงใหม่ พวกเราต้องเป็นแกนนำผลักดันการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของเชียงใหม่และของประเทศไทย อยู่ที่ทุกท่านร่วมมือร่วมใจกันเดินหน้าไปพร้อมกันในวันนี้ และถือเป็นครั้งแรกที่วันนี้ได้มารวมตัวกัน แม้ผมจะเป็นผู้ริเริ่มแต่การผลักดันให้สำเร็จก็อยู่ที่ท่านทุกคน และผลของความสำเร็จก็จะตกอยู่ที่ชาวเชียงใหม่และประเทศชาติของเรา”

ด้าน ผศ.วีระชัย ลิ้มพรชัยเจริญ ที่ปรึกษาโครงการบริษัท ชีวมวลอัดเม็ด จอมทอง จำกัด กล่าวว่า “ผมเล็งเห็นว่าการที่เกิดปัญหา PM 2.5 เยอะขนาดนี้ แสดงว่าชีวมวลก็เยอะเช่นกัน ทีมงานจึงได้ลงสำรวจพื้นที่ในการแก้ปัญหาเพื่อเสริมแหล่งผลิตชีวมวล ในการรักษาสภาพแวดล้อม โดยเริ่มต้นที่ อ.จอมทอง เพื่อเปลี่ยนเศษซากทางการเกษตร พร้อมขยายเพิ่มอีก 3 จุดในภาคเหนือ โดยนำไปใช้ในอุตสหกรรม เพื่อพลังงานทดแทนสะอาด เป็นชีวมวลอัดเม็ดพร้อมคาดหวังให้ประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีรายได้กระจายสู่ชุมชน ถือเป็นความพยายามของภาคเอกชนโดย บริษัท ชีวมวลอัดเม็ด จอมทอง จำกัด ยินดีให้ความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายเชียงใหม่เพื่อลดปัญหา PM 2.5 ให้ได้อย่างยั่งยืน”

ดร.ก้องเกียรติ สุริเย ผู้เชี่ยวชาญด้านคาร์บอนเครดิต กล่าวว่า “ผมพร้อมเชื่อมโยงธุรกิจคาร์บอนเครดิตมาช่วยจังหวัดเชียงใหม่ แก้ปัญหา PM 2.5 เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน นับเป็นอีกช่องทางสนับสนุนโดยนำธุรกิจเข้ามาสร้างเม็ดเงินสู่ภาครัฐและภาคประชาชนให้มีรายได้เพียงพอที่จะสามารถกลับมาคิดพร้อมพัฒนาช่วยเรื่องของสิ่งแวดล้อมในเชียงใหม่ได้ ซึ่งประเด็นในเรื่องของคาร์บอนเครดิต ที่เกิดมาจากสภาวะโลกร้อน คือการที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากเกินไป โชคดีที่ประเทศไทยตระหนักในเรื่องของคาร์บอนเครดิตมีการพัฒนากันอย่างต่อเนื่อง ส่วนนี้จึงเป็นที่มาของการเอาคาร์บอนเครดิตมาช่วยสร้างธุรกิจ และเอาธุรกิจนั้นมาสร้างเม็ดเงินป้อนกลับมาสู่จังหวัดเชียงใหม่ แล้วทำให้จังหวัดเชียงใหม่นั้นมีรายได้มากขึ้น เพื่อนำเม็ดเงินนั้นไปพัฒนาสิ่งแวดล้อมแก้ปัญหา PM 2.5 นั้นให้ดีขึ้น โดยสิ่งที่ทางภาคีเครือข่ายต้องโฟกัสคือการจัดการขยะทางการเกษตร และการดูแลรักษาป่าเพื่อธุรกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”

หลังจากนั้นได้มีการเสวนาในหัวข้อ เราจะร่วมใจกันอย่างไรให้เชียงใหม่หมด PM 2.5 โดยมีผู้เข้าร่วมได้แก่ คุณชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ , คุณพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ , คุณพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ กรรมการ บริษัท แอทเซส เวิล์ด คอเปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อดีตอธิบดีกรมสรรพสามิต , คุณอนุชา มีเกียรติชัยกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ , ดร.ณรงค์ชัย ชลภาพ หัวหน้าฝ่ายธุรกิจคาร์บอน องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ , คุณชนนิกานต์ สุพิทยาพร นางสาวไทย ประจำปี 2566 , ผศ.วีระชัย ลิ้มพรชัยเจริญ ที่ปรึกษาโครงการบริษัท ชีวมวลอัดเม็ด จอมทอง จำกัด พร้อมฟังความคิดเห็นจากภาคีเครือข่าย นับเป็นการแสดงพลังครั้งยิ่งใหญ่ของภาคีเครือข่ายที่น่าประทับใจ และพร้อมที่จะพลักดัน หยุดเผา เรารับซื้อ ให้สัมฤทธิ์ผลเป็นลำดับต่อไป

สนใจนำเศษซาก ตอซังข้าวโพด เข้าร่วมโครงการ หยุดเผา เรารับซื้อ ของบริษัท ชีวมวลอัดเม็ด จอมทอง จำกัด สอบถามรายละเอียดได้ที่ 0934165953

‘ซาอุดีอาระเบีย’ ตั้งเป้าพัฒนา ‘ไฮโดรเจนสีเขียว’ ทุ่ม 2.5 แสนล้าน ดัน ‘ไทย’ สู่ศูนย์กลางการพัฒนา

(12 ก.ค. 66) ช่องยูทูบ ‘ถามอีก กับอิก TAM-EIG’ โพสต์วิดีโอชื่อ ‘ซาอุฯ ทุ่ม! 2.5 แสนล้าน ดันไทยเป็นศูนย์กลางไฮโดรเจนสีเขียว’ พร้อมได้อธิบายความในวิดีโอไว้ว่า…

ซาอุดีอาระเบีย เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของตะวันออกกลาง จากข้อมูลของธนาคารโลก World Bank ระบุว่า GDP ภายในประเทศซาอุฯ มีขนาดประมาณ 9.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าประเทศไทย 1 เท่าตัว โดยมีบริษัทเรือธงที่เดินหน้าลงทุนในต่างประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วยก็คือ ‘Saudi Aramco’

Saudi Aramco เป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของซาอุดีอาระเบีย ก่อตั้งเมื่อปี 1933 โดยประกอบธุรกิจปิโตรเลียมแบบครบวงจร และได้มีการเซ็นสัญญา MOU ว่าจะเข้ามาทำธุรกิจด้านพลังงานหลากหลายด้านในประเทศไทย เช่น ธุรกิจจัดหาน้ำมันดิบ ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและก๊าซ LNG ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ธุรกิจสำรวจพลังงานไฮโดรเจนสีเขียวและสีฟ้าด้วย ทั้งนี้ปัจจุบันประเทศไทยซื้อน้ำมันดิบจากซาอุดีอาระเบียมากเป็นอันดับ 2 อยู่ที่ร้อยละ 18 (เป็นรองแค่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) หมายความว่าความเรื่องระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบียในรอบนี้ จะช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้ไทยในระยะยาวด้วย

และล่าสุด ไทยและซาอุดีอาระเบียได้ประกาศลงทุนพัฒนา ‘ไฮโดรเจนสีเขียว’ ด้วยเม็ดเงินการลงทุนกว่า 7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 2.5 แสนล้านบาท

>>หลายคนคงสงสัยว่า ‘ไฮโดรเจนสีเขียว’ คืออะไร?
ต้องบอกก่อนว่า ไฮโรเจนเป็นธาตุที่เบาที่สุด และถูกพบมากที่สุดในเอกภพ รวมถึงเป็นองค์ประกอบของน้ำ เป็นสารประกอบที่มีมากที่สุดในโลก ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ติดไฟง่าย มีการเผาไหม้ที่สะอาด ไม่เป็นพิษ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

ด้วยความพิเศษนี้ จึงเกิดแนวคิดที่ว่า จะสกัดไฮโดรเจนจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ก๊าซธรรมชาติ และน้ำ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย จากนั้นก็ทำมาป้อนกับเซลล์เชื้อเพลิง หรือใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วมกับเชื้อเพลิงต่าง ๆ เพื่อเป็นการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งจะให้ค่าพลังงานสูงกว่าเชื้อเพลิงทั่วไป 2-4 เท่า และถ้ามีการใช้พลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ เช่น แสงอาทิตย์ ลม น้ำ และพลังงานความร้อนใต้พิภพ ซึ่งไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ผลลัพธ์ที่ได้คือ ‘ไฮโรเจนสีเขียว’

>> แล้วทำไมซาอุดีอาระเบีย ถึงสนใจพัฒนา ‘ไฮโดรเจนสีเขียว’ อย่างมาก?
ความมุ่งมั่นในครั้งนี้เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศ โดยมีชื่อว่า ข้อริเริ่มซาอุดีอาระเบียสีเขียว (Saudi Green Initiative) เพื่อความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศ เพราะซาอุดีอาระเบียเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลก และกำลังประสบปัญหามลพิษ สิ่งแวดล้อม และที่แย่คือเริ่มส่งผลกระทบต่อประชาชนแล้ว

สิ่งที่ซาอุดีอาระเบียวางแผนจะทำมี 4 ด้าน ได้แก่...
- ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนร้อยละ 4 หรือประมาณ 130 ล้านตัน 
- ปลูกต้นไม้จำนวน 1 หมื่นล้านตัวทั่วประเทศ
- เพิ่มอาณาเขตอนุรักษ์ธรรมชาติ รวมถึงรักษาระบบนิเวศทั้งบนบกและทะเล ให้ครอบคลุมพื้นที่ประเทศมากกว่า ร้อยละ 30 
- ใช้พลังงานทดแทนเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า ร้อยละ 50 ภายในปี 2573 ซึ่งถือเป็นไฮไลต์หลักที่น่าสนใจ เพราะปัจจุบันใช้พลังงานทดแทนเพียงร้อยละ 1-2 เท่านั้น หากจะบรรลุเป้าหมาย ซาอุดีอาระเบียต้องลงแรงอีกเยอะ และเป็นเหตุผลในการทุ่มทุนมหาศาลเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีนี้ประเทศไทย

>> ประโยชน์ของ ‘ไฮโดรเจนสีเขียว’
- การกลั่นน้ำมัน การกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ที่นำไปใช้ปรับปรุงคุณภาพของน้ำมันดิบ 
- เซลล์เชื้อเพลิง ใช้สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า 
- อุตสาหกรรมอาหาร สามารถเปลี่ยนโครงสร้างกรดไขมันไม่อิ่มตัวในไขมันสัตว์และน้ำมันพืช ให้กลายเป็นกรดไขมันอิ่มตัวได้
- เภสัชภัณฑ์ ใช้เป็นสารตั้งต้นสำหรับผลิตเครื่องสำอางและสารตึงผิว
- อุตสาหกรรม การเชื่อมโลหะ หรือการตัดโลหะ 
- การบินและอวกาศ สามารถเป็นพลังงานทางเลือกสำหรับเป็นเซลล์เชื้อเพลิง เนื่องจากมีน้ำหนักเบา

ซึ่งในปัจจุบันมีหลาย ๆ ประเทศในเอเชียเริ่มใช้ ‘ไฮโดรเจนสีเขียว’ กันบ้างแล้ว แต่ส่วนใหญ่อยู่ในวงการยานยนต์ เช่น ญี่ปุ่น, เกาหลี, จีน โดยสัดส่วนความต้องการในปัจจุบันยังไม่มาก แต่ในอนาคต ปี 2050 อาจมีมูลค่ามากถึง 2 ล้านล้านบาท

จะเห็นได้ว่าหากความร่วมมือระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบียประสบความสำเร็จ ก็จะเป็นการสร้าง New S-Curve ให้ประเทศในระยะยาวได้ และยังมีปัจจัยบวกด้านอื่น ๆ อีก เช่น นิคมอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การส่งออก ก็จะได้รับประโยชน์จากการร่วมมือนี้ด้วย

‘อัญยา เมดิเทค’ ประกาศเดินหน้าธุรกิจ - ขยายตลาด พร้อมขึ้นแท่นผู้นำศูนย์บริการด้านสุขภาพเพื่อการนอนหลับ

อัญยา เมดิเทค มั่นใจพร้อมขึ้นแท่นผู้นำศูนย์บริการด้านสุขภาพ เพื่อการนอนหลับอย่างมีคุณภาพ หลังดึงวรวุฒิ อุ่นใจ นักธุรกิจมือฉมัง ระดับแถวหน้าของประเทศร่วมลงทุน และให้คำปรึกษาในการบริหารจัดการ พร้อมผุดกลยุทธ์ขยายตลาด Healthcare เพิ่ม Co-Investors ทั่วประเทศ ครอบคลุมทุกภูมิภาค ปรับโครงสร้างราคาเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้ารับการบริการได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ปักธงขยายบริการให้ครอบคลุมทั้งในส่วนเรื่องการนอนและการป้องกันโรคโดยเน้น เวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ 

(11 ก.ค. 66) คุณทักษอร (อุ้ม) คงคาประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อัญยา เมดิเทค จำกัด เปิดเผยว่า “ปัญหาการนอนไม่มีคุณภาพ เป็นภัยเงียบใกล้ตัว และคือหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โรคเรื้อรังไม่ติดต่อ เช่น เบาหวานความดัน หัวใจ อัลไซเมอร์ และโรคภัยต่างๆ อีกมากมาย การนอนไม่มีคุณภาพเป็นปัญหาที่ทุกคนไม่ควรนิ่งนอนใจและไม่สามารถเพิกเฉยได้ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OBSTRUCTIVE SLEEP APNEA: OSA) มีการกล่าวถึงกันมากในปัจจุบัน เนื่องจากพบสถิติตัวเลขอุบัติการณ์ที่เป็นกันมากขึ้น คือ มีตัวเลขประชากรเกือบ 20% ที่อาจมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นนี้ รวมทั้งข้อมูลจากต่างประเทศพบว่า ประชากรทั้งโลกป่วยเป็นภาวะนี้ประมาณ 1 พันล้านคน หรือประมาณ 14% ของประชากรทั้งโลก ซึ่งจำนวนผู้ป่วยที่เป็นมากขึ้นในปัจจุบันทำให้เราต้องให้เกิดการ screening และ monitoring มากขึ้น

อัญยา เมดิเทค เรามุ่งเน้นการรักษาเชิง Preventive care ซึ่งเป็นศาสตร์ป้องกันโรค ตั้งแต่เรื่องการนอน จนถึงการดูแลรักษาที่เน้นความร่วมมือกับทีมบริษัทที่มีนวัตกรรมทางการแพทย์ ซึ่งในวันนี้เรามีความพร้อมที่จะที่จะขยายตลาด และฐานลูกค้าให้กว้างมากขึ้น โดยเราได้เริ่มดำเนินการมีแผนการขยายสาขาเปิดรับ Co-Investors ทั้งในประเทศ ครอบคลุมทุกภูมิภาคและต่างประเทศ ภายในสิ้นปีนี้เราตั้งใจว่าจะขยายไปยังเมืองใหญ่ต่าง ๆ ทั่วภูมิภาค โดยประเดิม Co investor ที่หาดใหญ่ จังหวัดสงขลาเป็นแห่งแรก ซึ่งกลุ่มลูกค้าจะเป็นคนในพื้นที่ รวมไปถึงนักท่องเที่ยวจากประเทศมาเลเซีย ประกอบกับกลยุทธ์ในการปรับโครงสร้างราคา ยิ่งทำให้เรามั่นใจว่าทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น 

โดยในช่วงที่ผ่านมาอัตราการเติบโตของยอดจำหน่าย และการเข้ารับรักษานั้นเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิมถึง 30% และคาดว่าจะยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่องอีกแน่นอนค่ะ”

นายวรวุฒิ อุ่นใจ หนึ่งในผู้ถือหุ้น กุนซือใหญ่ บริษัท อัญยา เมดิเทค ได้กล่าวถึงการเข้ามาร่วมลงทุนในธุรกิจนี้ว่า “หลังวิกฤติโควิด-19 คลี่คลาย จนนำมาซึ่งการเปิดประเทศ ทำให้ผู้คนให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพกันมากขึ้นจนกลายเป็นเทรนด์สุขภาพ ในปี 2566 ดังนั้น จึงเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยที่จะเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาประเทศไทยแลนด์ 4.0 ที่ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายกลุ่ม New S-curve ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต โดยการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนาเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ตามความก้าวหน้าทางการแพทย์ ระบบสาธารณสุข และเทคโนโลยีของโลกที่มีการเติบโตขึ้น ซึ่งความก้าวหน้าของบริการทางการแพทย์เหล่านี้จะสร้างรายได้ให้กับอุตสาหกรรมการแพทย์ นั่นจึงเป็นที่มาของการมาร่วมลงทุนดำเนินธุรกิจกับ อัญยา เมดิเทค ในครั้งนี้จะเพื่อเปิดประตูสู่การขยายธุรกิจ และเพื่อปูทางสู่การผลักดันการแพทย์ใหม่ๆ และนั่นทำให้ผมมั่นใจครับว่า การเข้ามาถือหุ้น และ ทำธุรกิจ อัญยา เมดิเทค นั้นมีโอกาสการเติบโตทางธุรกิจที่สูงมาก และเชื่อว่า เราจะทำให้คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาได้ง่ายมากยิ่งขึ้นจากการปรับโครงสร้างราคาและการรุกตลาดตามแผนที่บริษัทฯ ได้วางไว้”

‘ซีพีเอฟ’ ประเดิม 3 เมนูให้นักบินปลายปี 66 กระเพราไก่จานแรก ส่วนอีก 2 เมนูรอพัฒนา

นำร่อง ‘ไก่ไทย’ สู่อวกาศปลายปี 66 ซีพีเอฟประเดิม 3 เมนู ส่งกระเพราไก่จานแรก ส่วนอีก 2 เมนูอยู่ระหว่างการพัฒนา หลังเป็นสินค้าแบรนด์แรกของโลกที่ได้รับการยอมรับจากองค์การนาซาให้ส่งสินค้าให้นักบินรับประทาน

(11 ก.ค. 66) นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ‘ซีพีเอฟ’ (CPF) เปิดเผยว่า ซีพีเอฟจะเริ่มส่งอาหารให้กับองค์การนาซา สำหรับให้นักบินอวกาศรับประทานประมาณปลายปี 66

ทั้งนี้ เบื้องต้นจะเริ่มนำร่องส่ง ‘ไก่ไทย’ ด้วย 3 เมนู ได้แก่ กะเพราไก่ และอีก 2 เมนูอยู่ระหว่างการพัฒนา จากปกตินักบินอวกาศจะรับประทานอาหารเม็ด แคปซูล ที่ทางองค์การนาซาเป็นผู้ผลิตให้เท่านั้น

“ซีพีเอฟถือเป็นสินค้าแบรนด์แรกของโลกที่ได้รับการยอมรับจากองค์การนาซา ให้ส่งอาหารขึ้นไปให้กับนักบินอวกาศรับประทานด้วยเมนูไก่แปรรูป”

สำหรับการนำอาหารขึ้นไปบนอวกาศนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะนักบินอวกาศต้องการอาหารที่มีความปลอดภัยสูงสุด ผ่านการคัดเลือกอย่างถี่ถ้วนทุกขั้นตอน การนำไก่ไทยขึ้นไปสู่อวกาศได้ ถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับอนาคตอาหารของประเทศไทย

รวมถึงเป็นจุดแข็งของคนไทยเรื่องการผลิตอาหารที่มีคุณภาพสูงให้คนทั่วโลก ดังนั้นการส่งอาหารขึ้นไปบนอวกาศจะทำให้ทั่วโลกได้รับทราบว่าอาหารของซีพีเอฟ มีมาตรฐานและความปลอดภัยสูง โดยช่วยแรกบริษัทได้รับมาตรฐานด้านไก่ สดที่ไม่มีสารปนเปื้อน การเลี้ยงที่ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ ขั้นตอนต่อไปอยู่ระหว่างขอมาตรฐานอาหารแปรรูป

ปัจจุบันไก่เป็น 1 ในสินค้าส่งออกของไทยมากถึงปีละกว่า 1 แสนล้านบาท มากเป็นอันดับ 4 ของโลก โดยที่ซีพีเอฟส่งออกปีละประมาณ 25,000-30,000 ล้านบาท สัดส่วน 25% ของรายได้ทั้งหมด ซึ่งเป็นกลุ่มอาหารแปรรูป 50% ส่วนใหญ่ส่งออกไปอังกฤษ ญี่ปุ่น และเยอรมนี

ขณะที่ปีนี้จะเน้นสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าไก่ ให้เข้ากับแต่ละประเทศและการขยายโรงงานในประเทศฟิลิปปินส์ ที่เป็นธุรกิจไก่ หมู กุ้ง ไข่ เพิ่มเพื่อรองรับความต้องการที่ขยายตัว คาดว่าปีนี้มีรายได้รวม 660,000 ล้านบาท

‘บีโอไอ’ ชี้!! ยอดลงทุน 6 เดือน พุ่ง 3.6 แสนล้าน ‘พริงเกิลส์-โลตัส บิสคอฟ’ ขยายฐานการผลิตในไทยต่อ

(11 ก.ค. 66) นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ ‘บีโอไอ’ เปิดเผยสถิติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุน 6 เดือน (มกราคม – มิถุนายน) ปี 2566 มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมรวมทั้งสิ้น 891 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 และมีมูลค่าเงินลงทุน 364,420 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 

สำหรับคำขอรับการส่งเสริมในอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีจำนวน 464 โครงการ มูลค่ารวม 286,930 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 79 ของมูลค่าขอรับการส่งเสริมทั้งสิ้น ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ตามลำดับ

นอกจากการขยายการลงทุนของผู้ประกอบการรายเดิมทั้งไทยและต่างชาติแล้ว ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ได้มีบริษัทระดับโลกหลายรายตัดสินใจขยายฐานผลิตมาที่ประเทศไทย เช่น บริษัท พริงเกิลส์ ผู้ผลิตมันฝรั่งแผ่นจากสหรัฐอเมริกา และบริษัท โลตัส บิสคอฟ ผู้ผลิตบิสกิตชื่อดังแบรนด์ ‘Lotus Biscoff’ สัญชาติเบลเยี่ยม เป็นต้น 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top