Thursday, 25 April 2024
ECONBIZ NEWS

‘รมว.ปุ้ย’ ยก!! ความสัมพันธ์ ‘ไทย-จีน’ มั่งคง เหตุผลสำคัญผลักดันเศรษฐกิจระหว่างกัน

(23 เม.ย.67) น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม ร่วมกล่าวสุนทรพจน์ในงานสัมมนา ‘Nanning City Investment Environment Promotion and Economic and Trade Cooperation Exchange Event (Thailand)’ โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์, นายหนง เซิงเหวิน เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ประจำนครหนานหนิง, นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน, นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมมงคล ประธานหอการค้าไทย-จีน และนายจาง เซียว-เซียว ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ร่วมงาน ณ หอประชุมกวางหวาถัง หอการค้าไทย-จีน ชั้น 9 อาคารไทย ซีซี ถนนสาทรใต้ เขตสาทร กรุงเทพฯ

น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า จีนและไทยเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีมาอย่างยาวนาน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การค้า และการลงทุน ที่ผ่านมาไทยกับจีนพัฒนาความสัมพันธ์ให้มีความก้าวหน้าอย่างเด่นชัด สู่การเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ ‘นโยบายจีนเดียว’ มีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน เคารพซึ่งกันและกัน และผลประโยชน์ร่วมกัน รวมทั้งการมีวิสัยทัศน์ร่วมกันต่อสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และการพัฒนาอย่างยั่งยืน จีนถือเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย เป็นเวลา 12 ปี ติดต่อกัน

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้วางนโยบายการพัฒนาเพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมและสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ จึงได้ผลักดันนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งได้ขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมการใช้และการผลิตยานยนต์ไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปี 66 ไทยขึ้นเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคที่มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสูงสุด และมีผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ รัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรมยังให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมอื่น เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ รวมทั้งอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่มีศักยภาพสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ อาทิ อุตสาหกรรมฮาลาล รวมถึงยา เครื่องสำอาง และสปาฮาลาล ตลอดจนการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบอุตสาหกรรมตามนโยบาย รัฐบาลดิจิทัล และการกำกับดูแลการประกอบอุตสาหกรรมให้เป็นไปตามหลักธรรมภิบาล รวมทั้งการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพให้สามารถดำรงอยู่ได้ภายใต้ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และตระหนักถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น

“ดิฉันเชื่อมั่นว่าการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวจะส่งผลให้เศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยมีทิศทางที่ดีขึ้น นำไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว และเดินหน้าสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต การสัมมนาในวันนี้เป็นการพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือของไทยและจีน กระชับความร่วมมือกับนครหนานหนิง ซึ่งได้วางเป้าหมายให้เป็นเมืองหลวงของโลจิสติกส์ ศูนย์กลางการกระจายสินค้าและเป็นประตูการค้าของจีนสู่อาเซียนรวมถึงประเทศไทย อีกทั้งนครหนานหนิงยังเร่งดำเนินนโยบายการยกระดับศักยภาพการสร้างสรรค์นวัตกรรม และให้ความสำคัญกับสตาร์ทอัพอย่างต่อเนื่อง มีการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการสร้างความเข้มแข็งและเติบโตผ่านโครงการบ่มเพาะ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ และอาจมีความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมไทยต่อไป” รมว.อุตสาหกรรม กล่าว

รฟท. เคาะ!! สร้างรถไฟความเร็วสูง เฟส 2 'นครราชสีมา-หนองคาย' ระยะทาง 357 กม. คาดเริ่มก่อสร้างปี 68 เปิดบริการปี 74

(23 เม.ย.67) นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า รฟท.จะเสนอโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย) ระยะทาง 357.12 กม. รวมมูลค่าลงทุน 341,351.42 ล้านบาท หลังคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ได้มีมติอนุมัติเมื่อสัปดาห์ก่อน ให้กระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติภายในปี 2567 คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างงานโยธา 48 เดือน (หรือ 4 ปี) ก่อสร้างงานระบบรถไฟฟ้า 66 เดือน (หรือ 5 ปีครึ่ง) กำหนดเปิดให้บริการปี 2574

ปัจจุบัน โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟส 2 ช่วง นครราชสีมา-หนองคาย มีการออกแบบงานโยธาเสร็จเรียบร้อย โดยรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เตรียมเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) อนุมัติ

สำหรับ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟส 2 ช่วง นครราชสีมา-หนองคาย แบ่งงานเป็น 2 ส่วน คือ

1.งานรถไฟความเร็วสูง วงเงินลงทุน 335,665.21 ล้านบาท ได้แก่ ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยทรัพย์สิน วงเงิน 10,310.10 ล้านบาท, ค่าก่อสร้างงานโยธา วงเงิน235,129.40 ล้านบาท, ค่าลงทุนระบบราง วงเงิน 30,663.75 ล้านบาท, ค่าระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล วงเงิน 29,007.08 ล้านบาท, ค่าจัดหาขบวนรถไฟ วงเงิน 17,874.35 ล้านบาท ค่าจัดหาขบวนรถซ่อมบำรุงทาง วงเงิน 2,620.43 ล้านบาท, ค่าที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างงานโยธา วงเงิน 6,466.06 ล้านบาท, ค่าที่ปรึกษาบริหารโครงการและที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างงานระบบรถไฟ วงเงิน 2,792.38 ล้านบาท และค่าที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ วงเงิน 801.66 ล้านบาท

2.งานศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา วงเงินลงทุน 5,686.21 ล้านบาท ได้แก่ ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยทรัพย์สิน วงเงิน 2,108.51 ล้านบาท ,ค่าก่อสร้างงานโยธา วงเงิน 2,325.46 ล้านบาท ,ค่าลงทุนระบบราง วงเงิน 418.76 ล้านบาทค่าระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล วงเงิน 89.44 ล้านบาท, ค่าเครื่องมือ/อุปกรณ์ยกขนในศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าฯ 429.24 ล้านบาท, ค่าจัดหารถจักรในศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าฯ 210.00 ล้านบาท, ค่าที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างงานโยธา วงเงิน 63.95 ล้านบาท, ค่าที่ปรึกษาบริหารโครงการและที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างงานระบบรถไฟ วงเงิน 29.38 ล้านบาท และค่าที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ วงเงิน 11.47 ล้านบาท

โครงการรถไฟไทย-จีน เฟส 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย แบ่งเป็นทางวิ่งยกระดับ (Elevated Structure) ระยะทาง 202.48 กม. ทางวิ่งระดับดิน 154.64 กม. (แบบคันทาง 138.93 กม. เป็นสะพานรถไฟ 15.71 กม.) มี 5 สถานี ได้แก่ สถานีบัวใหญ่,สถานีบ้านไผ่, สถานีขอนแก่น, สถานีอุดรธานี, สถานีหนองคายมีหน่วยซ่อมบำรุงทาง 4 แห่ง ได้แก่ หน่วยซ่อมบำรุงบ้านมะค่า , หน่วยซ่อมบำรุงหนองเม็ก, หน่วยซ่อมบำรุงโนนสะอาด , หน่วยซ่อมบำรุงนาทา มีศูนย์ซ่อมบำรุง 2 แห่ง คือ ศูนย์ซ่อมบำรุงนาทา และศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย และมีย่านกองเก็บตู้สินค้าและย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้า 1 แห่ง ที่นาทา

นายนิรุฒ กล่าวว่า เบื้องต้นการก่อสร้างงานโยธาทั้งโครงการมูลค่าการลงทุน 341,351.42 ล้านบาท จะแบ่งงานออกเป็น 13 สัญญา โดยในส่วนของการก่อสร้างแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 357.12 กม. วงเงิน 235,129.40 ล้านบาท แบ่งงานโยธาเป็น 11 สัญญา เฉลี่ยมูลค่าสัญญาละประมาณ 20,000 ล้านบาท ทั้งนี้เพื่อให้ได้ผู้รับจ้างก่อสร้างที่มีคุณภาพ และการเข้าร่วมประมูลไม่มากราย หรือไม่น้อยรายจนเกินไป นอกจากนี้ ยังมีงาน ศูนย์ซ่อมบำรุงนาทา 1 สัญญา และศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย 1 สัญญา โดยจะใช้วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e - bidding) ตามระเบียบกรมบัญชีกลาง

นอกจากนี้ บอร์ดรฟท.ยังเห็นชอบผลการศึกษาโครงการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้าเพื่อรองรับการขนส่งทางราง จังหวัดหนองคาย (ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าฯนาทา) ตามมาตรา 22 แห่งพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ซึ่งเห็นว่าควรแยกการลงทุนออกมาดำเนินการในรูปแบบ PPP โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อโครงการที่ช่วยขยายขีดความสามารถทางการขนส่งของจังหวัดหนองคาย ให้สามารถเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างประเทศไทย-ลาว-จีน

โดยหลังจาก บอร์ดรฟท. ให้ความเห็นชอบ จะนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ด PPP) เห็นชอบหลักการและเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาอนุมัติเพื่อดำเนินการคัดลือกเอกชนร่วมลงทุน ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2571

สำหรับโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา และย่านกองเก็บตู้สินค้า เพื่อรองรับการขนส่งทางราง จ.หนองคาย ขนาดเนื้อที่ ใช้รูปแบบ PPP Net Cost มูลค่าการร่วมลงทุน 7,211.94 ล้านบาท (การรถไฟฯลงทุน 6,560.03 ล้านบาท หรือ 90.96% เอกชนลงทุน 651.91 ล้านบาท หรือ 9.04%) ระยะเวลาร่วมลงทุน 20 ปี ประเมินค่าสัมปทานที่การรถไฟฯ ได้รับตลอดอายุโครงการ ที่4,457.07 ล้านบาท โดย การรถไฟฯ มีผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) 5.87% เอกชน 15.09% มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) รฟท. ที่ 941 ล้านบาท เอกชน 32 ล้านบาท

'เศรษฐา' เล่นบทขุนคลัง กล่อม 4 แบงก์ใหญ่ ลดดอกเบี้ย  หวังช่วยกลุ่มเปราะบาง ไม่จี้ตีกรอบเวลาให้คำตอบ

(23 เม.ย.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยก่อนเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ได้เชิญธนาคารพาณิชย์ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ เข้ามาพูดคุยปัญหาเศรษฐกิจ สถาบันการเงินแข็งแกร่งมากจากผลประกอบการที่ออกมา ตนจึงได้ขอร้องให้ลดดอกเบี้ย ซึ่งธนาคารทั้ง 4 แห่งรับปากจะไปพูดคุยกัน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นเอสเอ็มอี รายย่อย ที่มีปัญหาเรื่องดอกเบี้ยสูง

“รัฐบาลเห็นความเดือดร้อนของประชาชนเรื่องดอกเบี้ย จึงได้เชิญไปตั้งแต่สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่เพิ่งได้คิวพร้อมกันวันนี้ ก็อยากจะพูดพร้อมกันให้มีความเสมอภาคเท่าเทียม ไม่ใช่เป็นเรื่องการแข่งขันทางธุรกิจ ชิงดีชิงเด่นกัน ใครลดมากลดน้อยไม่ใช่ ผมอยากให้ทุกท่านน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ดูว่าจะช่วยกันได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งก็คงจะมีอะไรออกมาหลังจากนี้ ไม่ได้กำหนดเวลา ให้เกียรติกัน มองตาก็รู้ใจ ทำได้แค่ไหนแค่นั้น ผมก็ได้มีการขอร้อง พูดคุย แบบคนที่เคยรู้จักกันมา 10-20 ปี ก็ขอร้องให้ท่านช่วยดูแลเรื่องดอกเบี้ยบ้าง ท่านก็รับปากว่าจะไปพูดคุยกัน” นายเศรษฐา กล่าว

รู้จัก ‘คงกระพัน อินทรแจ้ง’ CEO คนที่ 11 ของ ‘ปตท.

นับถอยหลัง ต้อนรับ ‘นายคงกระพัน อินทรแจ้ง’ สู่ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่จะมาแทนคุณอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ซึ่งจะครบวาระในเดือนพฤษภาคมนี้ 

บมจ.ปตท. (PTT) ถือเป็นผู้นำทางด้านธุรกิจพลังงานยักษ์ใหญ่ของประเทศไทย โดยมีกลุ่มธุรกิจที่ครอบคลุมด้านพลังงานตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำและถือเป็นหุ้นที่ผู้ลงทุนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ขณะที่ปัจจุบันมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) เป็นอันดับ 2 ของตลาดหุ้นไทยราว 971,141 ล้านบาท ซึ่งเป็นรองเพียงแค่ บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) (DELTA) เท่านั้น 

แน่นอนว่า ผู้บริหารสูงสุด ก็เป็นอีกหนึ่งความน่าสนใจ หากมีการปรับเปรียบเสมอ โดยก่อนหน้านี้ มติบอร์ด ปตท. เห็นชอบตั้ง ‘นายคงกระพัน อินทรแจ้ง’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ขึ้นมานั่งเก้าอี้ซีอีโอ ปตท. คนที่ 11 ต่อจาก ‘อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์’ ที่จะครบวาระ 4 ปี ภายในเดือน พ.ค.นี้

สำหรับ นายคงกระพัน อินทรแจ้ง เป็นใคร? มีประวัติ หรือผลงานเด่นเรื่องไหนบ้าง เชิญติดตาม…

>> เปิดประวัติ คงกระพัน อินทรแจ้ง
สำหรับ ประวัติ นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ชื่อเล่น เอ้ ปัจจุบันอายุ 55 ปี สถานะ โสด เป็นกรรมการ (กรรมการที่เป็นผู้บริหาร), เลขานุการคณะกรรมการ, กรรมการบริหารความเสี่ยง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่

>> คุณวุฒิการศึกษา / ประวัติการอบรม
- Doctor of Philosophy (Ph.D.) in Chemical Engineering, University of Houston, U.S.A.
- วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วิศวกรรมเคมี) (เกียรตินิยมอันดับสอง), จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- หลักสูตรการพัฒนาผู้บริหารระดับสูง, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)
- หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 30 (วตท. 30), สถาบันวิทยาการตลาดทุน
- หลักสูตร Leadership Development Program (LDP 3) รุ่นที่ 4, สถาบันพัฒนาผู้นำและการเรียนรู้ กลุ่ม ปตท. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านวิทยาการพลังงาน รุ่นที่ 14 (วพน. 14), สถาบันวิทยาการพลังงาน
- หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (ปริญญาบัตร วปอ.) รุ่นที่ 60, วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ
- หลักสูตร Breakthrough Program for Senior Executives, IMD Business Schoolการอบรมหลักสูตรกรรมการ
- หลักสูตร Role of the Chairman Program (RCP) รุ่น 21/2009 สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)
- หลักสูตร Director Certification Program (DCP) รุ่น 119/2009 สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)

ส่วนคุณวุฒิการศึกษาและปรัชญาดุษฎีบัณฑิตสาขาวิศวกรรมเคมี มีประสบการณ์มากกว่า 25 ปี ในการบริหารบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และการกลั่นปิโตรเลียมแบบครบวงจร รวมถึงมีความเชี่ยวชาญในด้านการกำหนดกลยุทธ์องค์กร การพัฒนาธุรกิจ การเงินและนักลงทุนสัมพันธ์ การวิจัยและพัฒนา (R&D) การพัฒนาโครงการลงทุนที่สำคัญ การควบรวมกิจการระหว่างประเทศ และการบริหารจัดการกิจการร่วมค้า

มีประสบการณ์ที่หลากหลายในการบริหารจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ และเคยดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของ Emery Oleochemicals Group และกรรมการของบริษัทย่อยในต่างประเทศ ได้แก่ Emery Oleochemicals Group ในประเทศมาเลเซีย Vencorex Holding ในประเทศฝรั่งเศส และ NatureWorks LLC ในประเทศสหรัฐอเมริกา

ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ดำรงตำแหน่งประธานร่วม France-Thailand Business Forum โดยมีบทบาทหน้าที่ในการเป็นผู้นำและส่งเสริมในเรื่องเศรษฐกิจความร่วมมือกัน (Economic Collaboration) รวมทั้งการลงทุนและการค้าทั้งสองทาง (Two-way trade and investment) ระหว่างประเทศไทยและฝรั่งเศส

ดำรงตำแหน่งสมาชิกของ United Nations Global Compact (UNGC) และสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (WBCSD) รวมทั้งกรรมการขององค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) โดยได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นต้นแบบที่ดีในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนและความรับผิดชอบในด้าน ESG เพื่อเสริมสร้างคุณค่าการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาวให้กับธุรกิจ ทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก

>> การดำรงตำแหน่งกรรมการ / ผู้บริหารในบริษัท
ส่วนการดำรงตำแหน่งกรรมการ / ผู้บริหารในกิจการที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประกอบด้วย…

- 21 ต.ค. 2563 - ปัจจุบัน ประธานกรรมการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน)
- 1 ต.ค. 2562 - ปัจจุบัน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ประจำประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
- 1 ต.ค. 2562 - ปัจจุบัน กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการ, กรรมการบริหารความเสี่ยง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
- 15 ส.ค. 2562 - ปัจจุบัน กรรมการ และกรรมการบริหารความเสี่ยง บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)
การดำรงตำแหน่งกรรมการ / ผู้บริหารในกิจการที่ไม่ใช่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
- 29 ธ.ค. 2564 - ปัจจุบัน ประธานคณะที่ปรึกษา บริษัท PTTGC International (Netherlands) B.V. สำหรับเรื่องธุรกิจและการลงทุนในบริษัท Allnex
- 8 ธ.ค. 2564 - ปัจจุบัน ประธานกรรมการ บริษัท PTTGC International (Netherlands) B.V.
- 1 ก.ย. 2563 - ปัจจุบัน ประธานกรรมการ บริษัท PTTGC International Private Limited

>> การดำรงตำแหน่งในองค์กรอื่น / กิจกรรมพิเศษที่สำคัญ
- 8 พ.ค. 2566 - ปัจจุบัน กรรมการอำนวยการ สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
- 23 ม.ค. 2566 - ปัจจุบัน กรรมการบริหาร ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
- 25 ก.ค. 2565 - ปัจจุบัน ที่ปรึกษา คณะกรรมการสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม อุตสาหกรรมการผลิต (SMI) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
- 14 มิ.ย. 2564 - ปัจจุบัน กรรมการและกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย
- 22 ต.ค. 2563 - ปัจจุบัน กรรมการ สมาคมนักศึกษาสถาบันวิทยาการตลาดทุน
- 30 ก.ย. 2563 - ปัจจุบัน กรรมการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
- 11 มี.ค. 2563 - ปัจจุบัน อุปนายก (ด้านสนับสนุน) สมาคมกีฬาว่ายน้ำแห่งประเทศไทย
- 30 ม.ค. 2563 - ปัจจุบัน กรรมการ สภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันวิทยสิริเมธี
- 30 ต.ค. 2562 - ปัจจุบัน กรรมการอำนวยการ สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย
- 3 ต.ค. 2562 - ปัจจุบัน กรรมการ องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
- 1 ต.ค. 2562 - ปัจจุบัน กรรมการบริหาร สถาบันวิทยาการพลังงาน
- 15 ส.ค. 2562 - ปัจจุบัน กรรมการ โรงเรียนกำเนิดวิทย์
- เดือน ก.ค. 2560 - ปัจจุบัน ประธานร่วม France-Thailand Business Forum

>> ประสบการณ์การทำงาน (5 ปีย้อนหลัง)
- 1 ต.ค. 2563 - 31 มี.ค. 2565 ที่ปรึกษาในสายงานสมาชิกสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
- 1 ก.ย. 2563 - 15 ก.พ. 2565 ประธานกรรมการ บริษัท GC International Corporation
- 1 ก.ค. 2558 - 15 ก.พ. 2565 ประธานกรรมการ บริษัท PTTGC America Corporation
- 1 ก.ค. 2558 - 15 ก.พ. 2565 ประธานกรรมการ บริษัท PTTGC America LLC
- 24 ส.ค. 2563 - 25 มี.ค. 2564 กรรมการ มูลนิธิพลังที่ยั่งยืน
- 6 พ.ย. 2562 - 20 ต.ค. 2563 กรรมการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน)
- พ.ย. 2562 - ก.ย. 2563 กรรมการ มูลนิธิพลังสร้างสรรค์นวัตกรรม
- ต.ค. 2562 - ก.ย. 2563 กรรมการ มูลนิธิพลังแห่งการเรียนรู้
- 31 ต.ค. 2562 - 31 ส.ค. 2563 กรรมการ บริษัท GC International Corporation
- 9 ก.ย. 2551 - 31 ส.ค. 2563 กรรมการ บริษัท PTTGC International Private Limited
- พ.ค. 2560 - ม.ค. 2563 กรรมการ บริษัท ไทยแท้งค์เทอร์มินัล จำกัด
- ก.ค. 2558 - ก.ย. 2562 กรรมการ และ President & CEO บริษัท PTTGC America Corporation
- เม.ย. 2558 - ก.ย. 2562 กรรมการ บริษัท PTTGC Innovation America Corporation
- ก.พ. 2558 - ก.ย. 2562 กรรมการ บริษัท PTTGC International (Netherlands) B.V.
- ม.ค. 2558 - ก.ย. 2562 กรรมการ บริษัท Vencorex Holding
- พ.ย. 2551 - ก.ย. 2562 กรรมการ บริษัท Emery Oleochemicals (M) Sdn. Bhd.
- พ.ย. 2551 - ก.ย. 2562 กรรมการ บริษัท Emery Specialty Chemicals Sdn. Bhd.
- ก.ย. 2557 - ธ.ค. 2561 กรรมการ และ Vice President บริษัท GC International Corporation (เดิมบริษัท PTTGC International (USA) Inc.)
- ก.ย. 2557 - ธ.ค. 2561 กรรมการ บริษัท NatureWorks LLC
- ต.ค. 2557 - มี.ค. 2560 รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงาน International Business Operations บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
- เม.ย. 2560 - 30 ก.ย. 2562 ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีขั้นต้น บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

‘ดร.ธรณ์’ ห่วง!! อากาศเลวร้าย ทำ ‘ทะเลเดือด’ รับ!! แก้ตอนนี้ไม่ทันแล้ว สะสมมานานเกินไป

(22 เม.ย.67) ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กว่า…

สวัสดีวัน Earth day ด้วยความร้อน 43 องศา ทะเลร้อนเกิน 32 องศาตั้งแต่ 7 โมงเช้า ไม่รักโลกตอนนี้ ก็ไม่มีเวลาเหลือให้รักแล้วครับ

โดยก่อนหน้านี้ ผศ.ดร.ธรณ์ ได้ให้สัมภาษณ์ เอาไว้ว่า เวลานี้ หลายสิ่งอย่างในธรรมชาติ โดยเฉพาะในท้องทะเลเริ่มมีอาการผิดปกติ เรียกว่าทะเลเดือดก็ไม่ผิด เพราะตอนนี้อุณหภูมิในอ่าวไทย สูงถึง 32 องศาเซลเซียสกว่า ๆ อาจจะถึง 32.5 องศาเซลเซียส สูงกว่าปีที่แล้ว ประมาณ 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่ง 1.5 องศาที่เพิ่มขึ้นมานั้น ถือว่าสูงมาก เน้นว่าสูงมาก ๆ เพราะแม้กระทั่งช่วงเวลาตี 1 ถึงตี 3 ซึ่งปกติช่วงเวลานี้อุณหภูมิของน้ำทะเลจะลดลงแล้ว แต่เวลานี้ ตี 3 อุณหภูมิยัง 32 องศาเซลเซียสอยู่เลย ทั้งที่ช่วงเวลาเดียวกันนี้ของปีที่ผ่าน ๆ มา อุณหภูมิจะอยู่ที่ 30 องศาเซลเซียสเท่านั้น ถือว่าผิดปกติมาก ๆ

“ซึ่งการที่อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้นมามากขนาดนี้ จะมีผลปรากฏการณ์อื่น ๆ ตามมาอีกหลายอย่าง เช่น ปรากฏการณ์แพลงตอนบลูม น้ำทะเลสีเขียว โดยเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา ที่ จ.ตรัง ก็เกิดปรากฏการณ์แพลงตอนบลูมนี้ โดยเมื่อมีแพลงตอนเยอะเมื่อไหร่ ก็จะมีแมงกะพรุนเข้ามากิน เพราะแมงกะพรุนนั้นกินแพลงตอนเป็นอาหาร อีกทั้งเมื่อน้ำร้อน ปลาทะเลก็จะว่ายหนีน้ำร้อนไปออกทะเลลึก หรือส่วนที่มีน้ำเย็นกว่า ผลก็คือ ชาวประมงจับปลาไม่ได้ หรือต้องออกเรือไปไกล ๆ กว่าเดิมเพื่อให้ได้ปลามา” ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าว

ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวว่า ที่สำคัญคือ หากอุณหภูมิของน้ำทะเลยังสูงต่อไปเรื่อย ๆ แบบนี้อีก 2-3 สัปดาห์จะเกิดปัญหาปะการังฟอกขาวอย่างแน่นอน ซึ่งตอนนี้ได้รับรายงานว่า บางแห่งเริ่มมีความซีดเล็ก ๆ แล้ว

เมื่อถามว่า เรามีวิธีแก้ปัญหาทะเลเดือด ทะเลร้อนไหม ผศ.ดร.ธรณ์กล่าวว่า แก้ตอนนี้ไม่ได้แล้ว ไม่มีวิธีแก้ เพราะมันสะสมมานานเกินไป ต่อให้นักวิทยาศาสตร์ 10 รางวัลโนเบลล์ก็ไม่มีใครแก้ได้ แต่ก็ชะลอไม่ให้เกิดไปมากกว่านี้ได้ นั่นคือ ลดปริมาณการสะสมของก๊าซเรือนกระจก และต้องปรับตัวเอง เช่น ถ้าเป็นชาวประมงก็ให้ไปประกอบอาชีพอื่น เพราะน้ำทะเลร้อนอย่างนี้ ทำการประมงไม่รุ่งแน่นอน

“อย่างไรก็ตาม เวลานี้ ทางกรมทะเล กับทางคณะประมง ก็กำลังช่วยกันแก้ปัญหาเรื่องปะการังฟอกขาวโดยเก็บพ่อแม่พันธุ์ไว้ให้มากที่สุด เอาไปปลูกในพื้นที่ที่เย็นกว่าที่เกิด รวมทั้งหาดีเอ็นเอของปะการังที่ทนร้อนมาขยายพันธุ์ปลูกเพิ่มด้วย เรื่องอื่น ๆ ต้องทำใจกันเอาเอง” ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าว

โดยในวันที่ 22 เมษายน ซึ่งตรงกับวันคุ้มครองโลก หรือ Earth Day ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2513 ก่อตั้งขึ้นโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งองค์การสหประชาชาติ United Nations Environment Program (UNEP) โดยผู้ที่ริเริ่มแนวคิดนี้เป็นคนแรกคือ เกย์ลอร์ด เนลสัน สมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐอเมริกา

จุดเริ่มต้นนั้นมาจากในปี พ.ศ.2505 เนลสันได้ขอให้ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ หยิบยกเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งประธานาธิบดีเห็นด้วยและได้ออกทัวร์ทั่วประเทศเป็นเวลา 5 วัน 11 รัฐในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ.2506 ต่อมาเนลสันได้ผลักดันให้มีการชุมนุม แสดงความคิดเห็นเรื่องสิ่งแวดล้อมในระดับประชาชนทั่วประเทศ ทำให้เกิดเป็นกระแสตื่นตัวเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปทั่วสหรัฐอเมริกา จากนั้นในวันที่ 22 เมษายน ประชาชนชาวอเมริกันกว่า 20 ล้านคน ได้พร้อมใจกันชุมนุม เพื่อประท้วงการเพิ่มขึ้นของมลภาวะ และการทำลายทรัพยากรธรรมชาติบนพื้นโลก

ซึ่งผลจากการชุมนุมก่อให้เกิดการออกพระราชบัญญัติแก้ไขมลพิษในอากาศของสหรัฐอเมริกา และมีการจัดตั้งสำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อมแห่งชาติขึ้น จนในที่สุดกำหนดให้วันที่ 22 เมษายนของทุกปีเป็น ‘วันคุ้มครองโลก’ (Earth Day)

‘รมว.ปุ้ย’ สั่งเข้ม!! ให้ดูแล ปชช. เหตุไฟไหม้โรงงานเก็บสารเคมี โดยรอบเต็มที่

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงกรณีเกิดเหตุไฟไหม้โรงงานเก็บสารเคมีของบริษัท วิน โพรเสส จำกัด บ้านหนองพะวา อ.บ้านค่าย จ.ระยอง เอาไว้ว่า…

"เรื่องนี้ส่งผลกระทบกับประชาชนในวงกว้าง ดิฉันได้สั่งการให้มีการสอบสวนหาข้อเท็จจริง และสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ในครั้งนี้อย่างเร่งด่วนแล้ว พร้อมย้ำให้ดูแลประชาชนบริเวณโดยรอบให้เรียบร้อยด้วย"

‘รมว.ปุ้ย’ มอบรางวัลแด่ ‘เกษตรกรชาวไร่อ้อย-ผู้ประกอบโรงงาน’ สอดรับนโยบาย ‘สร้างอุตสาหกรรมดี อยู่คู่ชุมชนอย่างยั่งยืน’

(22 เม.ย. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานมอบรางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่นและโรงงานน้ำตาลดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2566 ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดงานมอบรางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่นและโรงงานน้ำตาลดีเด่น เพื่อประกาศเกียรติคุณและเชิดชูเกียรติเกษตรกรชาวไร่อ้อย ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลที่มีความเป็นเลิศในแต่ละด้านรางวัลที่กำหนด เพื่อส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและก้าวสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ใช้ศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มที่ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ไปพร้อมๆ กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล ภายใต้นโยบาย ‘สร้างอุตสาหกรรมดี อยู่คู่ชุมชนอย่างยั่งยืน’

โดยในวันนี้ได้มีการมอบรางวัลให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยและผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล รวม 74 รางวัล ซึ่งต้องขอแสดงความยินดีและชื่นชมกับความสำเร็จของทุกท่านที่ถือได้ว่าเป็นบุคคลและองค์กรต้นแบบและเชื่อมั่นว่างานในวันนี้จะเป็นอีกก้าวสำคัญและเป็นพลังในการสร้างสรรค์และพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลกต่อไป

สำหรับรางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่นและโรงงานน้ำตาลดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2566 มีจำนวน 9 ประเภทรางวัล ประกอบด้วย…

>> 1. รางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่น แบ่งเป็น 5 ประเภท รวม 47 รางวัล

1) รางวัลแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงตามศาสตร์พระราชา
2) รางวัลการบริหารจัดการปัจจัยการผลิตที่มีประสิทธิภาพ
3) รางวัลการบริหารจัดการไร่อ้อยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
4) รางวัลชาวไร่อ้อยตัวอย่าง
5) รางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่นของสถาบันชาวไร่อ้อย

>> 2. รางวัลโรงงานน้ำตาลดีเด่น แบ่งเป็น 4 ประเภท รวม 27 รางวัล

1) รางวัลโรงงานน้ำตาลยอดเยี่ยม เป็นรางวัลพิเศษมอบให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลโรงงานน้ำตาลดีเด่น ลำดับที่ 1 ด้านการส่งเสริมและพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตเป็นระยะเวลา 3 ปี ติดต่อกัน ตั้งแต่ปี 2564 - 2566 ได้แก่ โรงงานรวมเกษตรกรอุตสาหกรรม
2) รางวัลอ้อยรักษ์โลก
3) รางวัลการส่งเสริมและพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต
4) รางวัลการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบ

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ฤดูการผลิตปี 2566/67 ที่ได้ปิดหีบอ้อยไปแล้ว มีตัวเลขอ้อยเข้าหีบตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 17 เมษายน 2567 เป็นระยะเวลา 130 วัน รวม 82.16 ล้านตัน แบ่งเป็น อ้อยสด 57.81 ล้านตัน คิดเป็น 70.36% และอ้อยไฟไหม้ 24.35 ล้านตัน คิดเป็น 29.64% ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (Yield) โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 106.76 กิโลกรัมต่อตันอ้อย และมีค่าความหวานอ้อยเฉลี่ยอยู่ที่ 12.35 C.C.S. ผลผลิตอ้อยรวมลดลงจากปีก่อน 11.73 ล้านตัน คิดเป็น 12.49% ทั้งนี้ ก่อนเปิดหีบสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) คาดการณ์แนวโน้มจะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบอยู่ที่ 82.40 ล้านตัน ปัจจัยที่ทำให้ผลผลิตตกต่ำจากปีก่อน ๆ เนื่องจากปัญหาภัยแล้ง และราคาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ขอบคุณ 4 องค์กรชาวไร่อ้อยที่มีความตั้งใจและให้ความร่วมมือในการลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ในฤดูการผลิตปี 2566/67 ยังคงมีปริมาณอ้อยไฟไหม้อยู่ในระดับที่สูง ในฤดูการผลิตปีต่อไป กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้วางแนวทางบริหารจัดการแก้ไขปัญหาลดการเผาอ้อยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อาทิ เช่น…

1) การนำระบบ AI มาจำแนกอ้อยเผาและอ้อยสดก่อนเข้าหีบ
2) การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยกู้ เพื่อซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรใช้ในไร่อ้อยและเก็บเกี่ยวอ้อยสด
3) จัดหาเครื่องสางใบอ้อย
4) มาตรการทางกฎหมาย
5) ปรับปรุงการคำนวณราคาอ้อยให้เป็นตามเกณฑ์คุณภาพการผลิตอ้อย
6) ส่งเสริมการรับซื้อใบอ้อยเพื่อเพิ่มรายได้และลดการเผาใบอ้อย
7) บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการลดการเผาอ้อยในพื้นที่ที่มีการเผาซ้ำซาก

“ข้อมูลจาก สอน. คาดว่าฤดูการผลิตปีต่อไป จะมีปริมาณอ้อยสดในทิศทางที่เพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยสูงขึ้น สามารถสร้างรายได้ให้แก่พี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยมากกว่า 240,000 ราย และโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้นด้วย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวปิดท้าย

เปิดวิสัยทัศน์ ‘เทพรัตน์ เทพพิทักษ์’ ผู้ว่ากฟผ.คนใหม่ ชู 5 ภารกิจสำคัญ สร้างความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้าไทย

เมื่อไม่นานมานี้ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมพูดคุยกับสื่อมวลชนถึงทิศทางการดำเนินงานของ กฟผ. และแนวทางการบริหารงานหลังเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 16 เมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา ณ อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ จ.นนทบุรี

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า ระยะเวลา 1 ปี 4 เดือน ในฐานะผู้ว่าการ กฟผ. พร้อมเร่งเดินหน้า 5 ภารกิจสำคัญ คือ การรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้า ซึ่งต้องเผชิญความท้าทายทั้งจากการบริหารจัดการพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีความผันผวนสูง รวมถึงปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า ทำให้ กฟผ. จำเป็นต้องเร่งพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) เพื่อรองรับการบริหารจัดการปริมาณไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าหลัก อาทิ ปรับปรุงโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ให้มีความยืดหยุ่น (Flexible Power Plant) การพัฒนาศูนย์การพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Forecast Center) และศูนย์ควบคุมการตอบสนองด้านโหลด (Demand Response Control Center) เพื่อลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้าที่สมัครใจในช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเพื่อสร้างความสมดุลให้ระบบไฟฟ้า และเตรียมพร้อมต่อยอดสู่โรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plant) ในการบริหารจัดการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนได้อย่างต่อเนื่อง

บริหารจัดการค่าไฟฟ้าให้เป็นธรรมและแข่งขันได้ โดยเร่งรัดการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติทั้งในประเทศและพื้นที่ทับซ้อนมาใช้ประโยชน์โดยเร็ว พิจารณาการนำเข้า LNG เพื่อให้ได้ต้นทุนต่ำที่สุด สนับสนุนการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าให้เป็นธรรมตามนโยบายกระทรวงพลังงาน พร้อมขับเคลื่อนนโยบาย No Net Metering Support Net Billing เพราะผู้ที่ได้รับประโยชน์ควรจ่ายค่าไฟฟ้ามากกว่า ส่วนประชาชนที่เสียประโยชน์ควรได้รับการชดเชย นอกจากนี้ กฟผ. ยังสนับสนุนนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำของ สปป.ลาว เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกกลุ่มได้รับความเป็นธรรม สามารถเข้าถึงราคาค่าไฟฟ้าได้

ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวต่อไปว่า กฟผ. ยังให้ความสำคัญในการออกแบบระบบไฟฟ้าของประเทศเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมาย Carbon Neutrality ของประเทศ ทั้งการเดินหน้าพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดในเขื่อนของ กฟผ. และศึกษาพัฒนาเชื้อเพลิงทางเลือกอื่น ๆ โดยเฉพาะไฮโดรเจนซึ่งเป็นได้ทั้งเชื้อเพลิงเผาไหม้เหมือนก๊าซธรรมชาติ และเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) รวมถึงมีแนวโน้มราคาที่ถูกลง โดยในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดยังสามารถนำไฮโดรเจนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วมในโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ที่มีอยู่เดิมโดยไม่ต้องปรับปรุงโรงไฟฟ้า รวมถึงศึกษาและนำเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอนมาใช้ด้วย

สำหรับกรณีนโยบายแยกศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (System Operator) ให้โปร่งใส เป็นธรรม กฟผ. ในฐานะหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงานต้องดำเนินการตามนโยบายภาครัฐ ในเบื้องต้นจำเป็นต้องพัฒนาปรับปรุงการควบคุมระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคง ทันสมัย พร้อมรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน สามารถควบคุมสั่งการระบบผลิต ระบบส่ง ให้ตอบสนองความผันผวนและเหตุสุดวิสัยแบบอัตโนมัติและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่วนการจัดทำระบบเปิดเผยข้อมูลศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าให้มีความเป็นธรรม ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และการจัดทำสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า (Internal PPA) ให้ครอบคลุมโรงไฟฟ้าทุกประเภท สามารถดำเนินการได้ทันที

ทั้งนี้ กฟผ. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เป็นเครื่องมือในการดำเนินธุรกิจแทนรัฐ จำเป็นต้องมีกำไรเพื่อให้เป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐ สำหรับนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศและรักษาเสถียรภาพด้านการเงินการคลังของประเทศ โดยควบคุมผลตอบแทนการลงทุน (Return of Invested Capital : ROIC) ของ กฟผ. ให้เพียงพอต่อการดำเนินกิจการและการลงทุนพัฒนาระบบไฟฟ้าของประเทศให้มีความมั่นคง

“กฟผ. เป็นกลไกของรัฐเพื่อดำเนินนโยบายด้านพลังงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในการพัฒนาประเทศ โดยในช่วงที่ประเทศไทยเดินหน้าเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดด้วยการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ระบบไฟฟ้าต้องมีประสิทธิภาพและความมั่นคงสูง พร้อมส่งต่อไฟฟ้าที่มีคุณภาพไฟไม่ตก ไม่ดับ ควบคู่กับการดูแลค่าไฟฟ้าให้สามารถแข่งขันได้และเป็นธรรม เพื่อเป็นปัจจัยดึงดูดนักลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ”

‘สนพ.’ เตรียมเปิดรับฟังความเห็น ‘5 แผนพลังงานชาติ’ คาด!! แล้วเสร็จ-พร้อมยื่น ครม.พิจารณาภายใน ก.ย.นี้

‘แผนพลังงานแห่งชาติ’ เป็นหมุดหมายสำคัญที่จะกำหนดทิศทางว่า ประเทศไทยจะขับเคลื่อนการพัฒนา และวางนโยบายด้านพลังงานไปในทิศทางใด โดยเฉพาะเมื่อโลกให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ซึ่ง ‘พลังงานสะอาด’ เป็นกุญแจสำคัญที่พาประเทศไทยมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)

รวมทั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ตามเป้าหมายที่วางไว้ ควบคู่กับการเสริมศักยภาพเศรษฐกิจ ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ จึงเป็นที่จับตามองว่า แผนพลังงานที่จะออกมาในเดือนกันยายนนี้ จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

>> 1 แผนหลัก 5 แผนรอง

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็น ‘แผนพลังงานชาติ’ (National Energy Plan 2024) ซึ่งประกอบไปด้วย 5 แผน ดังนี้ 1.แผนพัฒนากำลังผลิตพลังไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) 2.แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) 3.แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) 4.แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan)

และ 5.แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) ซึ่งประเมินว่า จะเปิดรับฟังความคิดเห็นภายในเดือนเมษายน จากนั้นจะมีกระบวนการปรับปรุงแผน คาดว่าจะแล้วเสร็จและพร้อมยื่นให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ภายในกันยายน 2567

>> PDP 2024 เพิ่มพลังงานสะอาด

สำหรับแผน PDP ฉบับใหม่จะพิจารณาถึง 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1.ความมั่นคงของระบบ 2.ราคาที่ประชาชนเข้าถึงได้ และ 3.สิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้จึงได้ปรับโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าให้มีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนอยู่ประมาณ 50% ของกำลังการผลิตไฟทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้น 30% จากสัดส่วนเดิมของแผน PDP 2018 เพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดของประเทศไทย

โดยพลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานโซลาร์จะมีสัดส่วนเยอะที่สุด ตามด้วยพลังงานลม พลังงานน้ำและพลังงานชีวมวล รวมถึงจะบรรจุเรื่องการใช้เทคโนโลยี อย่างการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture Utilization and Storage)

ด้าน นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการ สนพ. กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการพูดคุยกับทางสมาคมพลังงานลมบ้าง ถึงการเพิ่มสัดส่วนพลังงานลมในแผน PDP 2024 จากเดิมที่ระบุไว้ในแผน PDP 2018 ที่มีประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันก็จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว 1,500 เมกะวัตต์ และกำลังรอเปิดเพิ่มอีกที่เหลือจนครบ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องระยะความปลอดภัยที่ต้องหารือกัน

นอกจากนี้ แผน PDP ฉบับล่าสุดยังเพิ่มพลังงานทางเลือกใหม่อีก 5% อาทิ พลังงานไฮโดรเจนที่กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาความคุ้มค่า หรือแม้แต่พลังงานนิวเคลียร์ที่หายไปจากแผน PDP 2018 ก็กลับมาอีกครั้งในรูปแบบ Small Modular Reactor (SMR) ซึ่งตั้งกำลังผลิตไว้ประมาณ 70 เมกะวัตต์ พร้อมบรรจุเป้าหมายของโรงไฟฟ้าชุมชนไว้ในแผนฉบับใหม่นี้ด้วย

>> รักษาระดับไฟฟ้า Base Load

แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟที่เพิ่มขึ้น โดยข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน ณ วันที่ 8 เมษายน 2567 พบว่า ค่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (ไฟพีก) ของปี 2567 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2567 เวลา 20.54 น. มีค่าเท่ากับ 34,656.4 เมกะวัตต์ ซึ่งใกล้เคียงกับไฟพีกระบบที่เกิดขึ้นเมื่อปีก่อน มีค่าเท่ากับ 34,826.5 เมกะวัตต์ แต่ทาง สนพ.คาดว่า มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นไปถึง 35,000-36,000 เมกะวัตต์

ดังนั้นกำลังผลิตของพลังงานฟอสซิลที่เป็นโรงไฟฟ้า Base Load ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยรักษาความมั่นคงของระบบ รวมถึงรองรับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนไปจากในช่วงกลางวันเป็นช่วงกลางคืนมากขึ้น โดยปรับลดสัดส่วนกำลังผลิตลงเหลือประมาณ 30%

“เรายังไม่สามารถระบุกำลังผลิตทั้งหมดของพลังงานหมุนเวียน เพราะไฟฟ้าที่อยู่ในระบบกับไฟฟ้าที่สามารถผลิตได้จริงต่างกัน ประเมินว่า สามารถผลิตไฟฟ้าได้จริง 1 ใน 3 ของไฟฟ้าที่อยู่ในระบบ ซึ่งเราต้องผลิตให้พอดีกับความต้องการใช้ไฟให้ได้ ถ้าสมมุติว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 10,000 เมกะวัตต์ ก็ต้องทำไฟฟ้าในระบบให้ได้ 30,000 เมกะวัตต์เป็นอย่างน้อย

เนื่องจากพลังงานหมุนเวียนมีข้อจำกัดหลายอย่าง โดยเฉพาะพลังงานโซลาร์ที่ไม่สามารถผลิตไฟได้ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงต้องอาศัยปัจจัยดินฟ้าอากาศ ทำให้เราต้องมาประเมินว่า ไฟฟ้าที่เราสามารถพึ่งพาได้จากพลังงานหมุนเวียนมีเท่าไหร่” นายวีรพัฒน์ กล่าว

>> จ่อเพิ่มสัดส่วน RE อีก 40%

รายงานสถิติพลังงานประเทศไทย 2566 ระบุสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชนิดต่าง ๆ ปี 2565 ว่า เชื้อเพลิงที่นำมาใช้ผลิตไฟฟ้ามากที่สุด ได้แก่ 1.ก๊าซธรรมชาติ 114,637 จิกะวัตต์ต่อชั่วโมง หรือคิดเป็น 53% 2.ลิกไนต์/ถ่านหิน 35,523 จิกะวัตต์ต่อชั่วโมง หรือประมาณ 17% 3.การนำเข้า 35,472 จิกะวัตต์ต่อชั่วโมง หรือคิดเป็น 16%

4.พลังงานหมุนเวียน 21,876 จิกะวัตต์ต่อชั่วโมง หรือประมาณ 10% 5.พลังงานน้ำ 6,599 จิกะวัตต์ต่อชั่วโมง ซึ่งคิดเป็น 3% และ 6.น้ำมัน 1,731 จิกะวัตต์ต่อชั่วโมง หรือ 0.8% โดยประมาณ

โดยสามารถแยกแหล่งที่มาพลังงานหมุนเวียนในระบบของการไฟฟ้าปี 2565 ดังนี้ ไฟฟ้าจากพลังงานก๊าซ มีกำลังผลิตรวมอยู่ที่ 338.73 เมกะวัตต์

ขณะที่ไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวลอยู่ที่ 2,077.71 เมกะวัตต์ ส่วนไฟฟ้าพลังงานน้ำจากในประเทศอยู่ที่ 123.80 เมกะวัตต์ โดยมีแผนติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ (Floating Solar) ควบคู่กันไปด้วย ซึ่งบรรจุไว้ในแผน PDP 2018 กำลังผลิตอยู่ที่ 2,725 เมกะวัตต์ ปัจจุบันติดตั้งสำเร็จแล้วที่เขื่อนสิรินธร กำลังผลิตรวม 45 เมกะวัตต์ ส่วนการนำเข้าพลังงานน้ำอยู่ที่ 4,461.903 เมกะวัตต์ อีกทั้งยังมีไฟฟ้าจากพลังงานลมมีกำลังผลิตรวม 1,502.31 เมกะวัตต์ และไฟฟ้าจากพลังงานโซลาร์อยู่ที่ 2,917.33 เมกะวัตต์

>> ส่องพลังงานหมุนเวียนรายภาค

จากข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พบว่า สัดส่วนการผลิตพลังงานหมุนเวียนในปี 2565 รายภูมิภาค มีความแตกต่างกันตามศักยภาพการผลิตและวัตถุดิบที่จะใช้ในการผลิต

โดยสามารถแยกได้ดังนี้ ภาคเหนือมีกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนรวม 1,101.80 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นพลังงานโซลาร์ 48% พลังงานชีวมวล 41% พลังงานลม 5% พลังงานน้ำ 5% และพลังงานก๊าซ 1%

ส่วนภาคกลางและภาคตะวันตก มีกำลังผลิตรวม 2,614.87 เมกะวัตต์ ซึ่ง 72% ของกำลังผลิตรวมมาจากพลังงานโซลาร์ ส่วนพลังงานชีวมวลอยู่ที่ 23% ตามด้วยพลังงานก๊าซ 3% และพลังงานน้ำ 2%

สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีกำลังผลิตรวม 2,575.68 เมกะวัตต์ โดยมีพลังงานลมคิดเป็นสัดส่วน 50% ตามมาด้วยพลังงานชีวมวล 27% พลังงานโซลาร์ 18% พลังงานก๊าซ 4% และพลังงานน้ำ 1%

และสุดท้ายภาคใต้ มีกำลังผลิตรวมอยู่ที่ 661.53 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นพลังงานชีวมวล 48% พลังงานลม 22% พลังงานก๊าซ 22% พลังงานโซลาร์ 6% และพลังงานน้ำ 2%

ดังนั้น หากแผน PDP 2024 ต้องการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 50% ภายในปี 2580 นั่นหมายความว่า ต้องเพิ่มสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอีก 40% นับเป็นความท้าทายของภาคพลังงานไทยครั้งใหญ่ที่จะเดินหน้าตามเป้าหมายที่วางไว้ และนี่จะเป็นจุดเปลี่ยนของการลงทุนผลิตพลังงานหมุนเวียนในแต่ละภูมิภาคด้วย

‘การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ’ หนุนสองล้อไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อธุรกิจ ใต้โครงการแข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงครั้งที่ 3

สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย จับมือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี พร้อมเดินหน้าจัดงานแข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อธุรกิจแห่งอนาคต ครั้งที่ 3 พร้อมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อการผลิตและพัฒนาสมรรถนะกำลังคน ด้านยานยนต์ไฟฟ้า และการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า ระหว่างสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย และมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี

ไม่นานมานี้ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) นำโดย นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมฯ พร้อมด้วย นายชัยวุฒิ หลักเมือง ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เเละอาจารย์สมมาตร ทองคำ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี จัดงานเเถลงข่าวโครงการแข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อธุรกิจแห่งอนาคต ครั้งที่ 3 และ พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อการผลิตและพัฒนาสมรรถนะกำลังคนด้านยานยนต์ไฟฟ้า และการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า ระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี กับ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารสปอร์ตคอมแพล็ค มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี

นายชัยวุฒิ หลักเมือง ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า “ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีความรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดแข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อธุรกิจแห่งอนาคต ร่วมกับทาง สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย และ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี โดยในปีนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้สนับสนุนมาเป็นปีที่ 3 แล้ว ซึ่งการจัดเเข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดเเปลงเเห่งอนาคตในครั้งนี้ เล็งเห็นว่าเป็นโอกาสที่จะช่วยสร้างบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้แสดงออกถึงศักยภาพการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ที่สามารถต่อยอดในการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต เพื่อผลักดันเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อสอดรับกับภารกิจมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนตามนโยบายภาครัฐ”

นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) กล่าวว่า “สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ในปีนี้รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับความร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเเห่งประเทศไทย เเละ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ซึ่งในวันนี้เราได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลง ด้านความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อการผลิตและพัฒนาสมรรถนะกำลังคนด้านยานยนต์ไฟฟ้า กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ภายใต้การสนับสนุนบุคลากรหรือผู้เชี่ยวชาญ ที่จะมาร่วมแลกเปลี่ยน องค์ความรู้ วางรากฐาน และแนวทางในการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าในมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี นอกจากนี้ทางสมาคมฯยังได้รับความร่วมมือจากทั้ง 2 ฝ่าย ในการจัดงานการแข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อธุรกิจแห่งอนาคต ที่ทางสมาคมฯ ได้ดำเนินการจัดการเเข่งขันขึ้นเป็น ครั้งที่ 3 เเล้ว โดยจะใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เป็นสถานที่จัดงานการเเข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดเเปลง ซึ่งในปีนี้ได้รับความสนใจจากหลายทีมสมัครเข้าร่วมการเเข่งขัน โดยจะมีขึ้นในวันที่ 26 - 27 เมษายน นี้ ณ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ซึ่งการจัดงานเเข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดเเปลงเเห่งอนาคตในครั้งนี้ทางสมาคมฯ มีความมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะผลักดันการปลูกฝังเเละผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า ป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังมีการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีสมัยใหม่ สอดรับกับเป้าหมายของรัฐบาลไทยที่ต้องการให้ประเทศเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าป้อนสู่ตลาดโลก”

โดยในบันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นการลงนามระหว่าง 2 ฝ่าย ได้เเก่ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ร่วมกับ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ซึ่งเป็นการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการผลิตและพัฒนาสมรรถนะกำลังคนด้านยานยนต์ไฟฟ้า ภายใต้วัตถุประสงค์…

1. เพื่อการร่วมมือกันในการร่างหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่ ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
2. เพื่อร่วมมือกันพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อพัฒนาสมรรถนะ กำลังคนให้ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
3. เพื่อการร่วมมือกันแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ วางรากฐานและแนวทางในการ

ส่วนกรอบระยะเวลาดำเนินการนั้น ตามกรอบบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการดังกล่าวนี้ มีระยะเวลา 3 ปี มีผลนับตั้งแต่วันลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการนี้

เกี่ยวกับ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (Electric Vehicle Association of Thailand) เป็นสมาคมที่ไม่เเสวงหาผลกำไร โดยแนวทางของสมาคมมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนการเเลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ยังรวมไปถึงการให้คำปรึกษาข้อบังคับมาตรฐาน และการดำเนินงานในการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ในปัจจุบันสมาคมมี คุณกฤษฎา อุตตโมทย์ ทำหน้าที่นายกสมาคม และมีสมาชิกที่มาจากภาคเอกชน สถาบันศึกษา รัฐวิสาหกิจ และบุคคลทั่วไปรวมทั้งสิ้นกว่า 379 รายโดยทางสมาคมมีการกำหนดการจัดการประชุม ในทุกๆ เดือน และมีการเเบ่งคณะทำงานในด้านต่างๆ เพื่อสนับสนุน และส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ที่ www.evat.or.th 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top