Thursday, 24 April 2025
ECONBIZ NEWS

ททท. ผนึก สตาร์ดรีมครูซ นำเรือสำราญ ‘Star Voyager’ ปักหมุดให้บริการขึ้นลงที่ไทยเป็นครั้งแรก

เมื่อวานนี้ ​(22 เม.ย.68) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับ StarDream Cruises ส่งเสริมตลาดนักท่องเที่ยวโดยเรือสำราญ ซึ่งถือเป็นตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพ และมีศักยภาพในการใช้จ่ายสูง นำเรือสำราญ Star Voyager ซึ่งมีความจุผู้โดยสารราว 1,940 คน มาให้บริการ โดยเลือกประเทศไทยเป็นจุดขึ้นลง (Home Port) เป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ 22 เมษายน-12 พฤษภาคม 2568 โดยให้บริการในเส้นทางท่าเรือแหลมฉบัง-เกาะสมุย-สิงคโปร์-แหลมฉบัง 2 ครั้ง (Calls) ในวันที่ 22-27 เมษายน และ 7-12 พฤษภาคม 2568

นางสาวภัทรอนงค์ ณ เชียงใหม่ รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ ททท. เปิดเผยว่า การที่แบรนด์เรือสำราญ StarDream Cruises ได้ตกลงนำเรือเข้ามาให้บริการขึ้นลงที่ประเทศไทยครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของความร่วมมือระหว่าง ททท. และผู้ประกอบการท่องเที่ยวเรือสำราญแบรนด์ระดับโลก ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเรือสำราญในประเทศไทย ตอบสนองนโยบายของรัฐบาล สะท้อนถึงการทำงานร่วมกันอย่างเหนียวแน่นของพันธมิตรทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดกิจกรรมต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เข้าร่วมรับประสบการณ์พิเศษไปกับเรือ Star Voyager ในวันนี้ ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีในการที่จะนำเสนอศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางสำคัญของนักท่องเที่ยวโดยเรือสำราญในภูมิภาค และสร้างความประทับใจให้นักท่องเที่ยวผ่านการนำเสนอเสน่ห์วัฒนธรรมไทย แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม และการต้อนรับด้วยอัธยาศัยไมตรีของคนไทย

นายไมเคิล โก๊ะ ประธานบริษัท StarDream Cruises กล่าวว่า มีความยินดีและตื่นเต้นอย่างมากกับการนำเรือสำราญ Star Voyager มาขึ้นลงที่ Home port ของประเทศไทยในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นการเปิดตัวแบรนด์ใหม่ของ Star Cruises ที่กรุงเทพฯ ภายใต้ชื่อ StarDream Cruises ด้วย และการเปิดตัวครั้งนี้ ยังถือเป็นก้าวสำคัญของความมุ่งมั่นที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวเรือสำราญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะเป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เติบโตต่อไป

นอกจากนี้ ในวันที่ 22 เมษายน 2568 ททท. ยังได้ร่วมจัดกิจกรรมต้อนรับนักท่องเที่ยวในเที่ยวแรก ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี นำเสนอสีสันความสนุกสนานแบบไทย เช่น การแสดงกลองยาว และการแสดงจาก Alcazar Cabaret Show และมอบของที่ระลึกสุดพิเศษเฉพาะสำหรับนักท่องเที่ยว รวมถึงยังมีการจัดกิจกรรมสาธิตเพื่อสร้างการรับรู้เสน่ห์ไทย ให้นักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วมทำกิจกรรมบนเรือ เช่น การสาธิตระบายลวดลายบนร่มบ่อสร้างอย่างประณีต การทำบุหงาร่ำหรือถุงหอมสมุนไพรที่เคยใช้ในราชสำนักไทย และการแสดงฟ้อนรำไทยอันอ่อนช้อยที่สะท้อนรากเหง้าศิลปะชั้นสูงของไทย โดยกิจกรรมทั้งหมดจัดขึ้นภายใต้แนวคิด '5 Must Do in Thailand' ประกอบด้วย Must Taste, Must Try, Must Buy, Must Seek และ Must See ซึ่งมุ่งสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ทรงคุณค่าในประเทศไทยให้แก่นักท่องเที่ยวเรือสำราญในโอกาสปี Amazing Thailand Grand Tourism and Sports Year 2025 เพื่อให้นักท่องเที่ยวกลับมาเยือนประเทศไทยอีกครั้ง

สำหรับ StarCruises ถือเป็นแบรนด์เรือสำราญที่มีประสบการณ์ให้บริการการท่องเที่ยวโดยเรือสำราญเชื่อมโยงในภูมิภาคเอเชียมากว่า 30 ปี ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน อินเดีย ไต้หวันและฮ่องกง ปัจจุบันได้รีแบรนด์ภายใต้ชื่อใหม่คือ StarDream Cruises และเปิดตัวแบรนด์อีกครั้งด้วยการนำเรือ Star Voyager ให้บริการเที่ยวปฐมฤกษ์แก่นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ ขึ้นลงที่ไทยเป็นครั้งแรก ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เส้นทางแหลมฉบัง-เกาะสมุย-สิงคโปร์-แหลมฉบัง ระยะเวลา 6 วัน 5 คืน โดยจะให้บริการ 2 เที่ยว (Calls) คือวันที่ 22-27 เมษายน และ 7-12 พฤษภาคม 2568 ภายในเรือมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน การให้บริการแบบพรีเมียมตลอด 24 ชั่วโมง มีกิจกรรมที่สร้างประสบการณ์ความสนุกสนานและท้าทาย เช่น การปีนผา ซิปไลน์ รวมถึงการแสดงที่น่าตื่นตาตื่นใจ ซึ่งในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจาก ททท. นำการแสดงจาก Alcazar Cabaret Show จากพัทยา ชลบุรี มาสร้างสีสันในการต้อนรับนักท่องเที่ยว และสร้างความสนุกสนานบนเรือ เพื่อนำเสนอไฮไลต์การท่องเที่ยวของจังหวัดชลบุรีด้วย   

ประเทศไทยถือเป็นจุดหมายปลายทางหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวโดยเรือสำราญอย่างมาก เนื่องจากความหลากหลายของสินค้าและบริการการท่องเที่ยว จากข้อมูลสถิติของศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) พบว่า ในปี 2567 ที่ผ่านมา ประเทศไทยต้อนรับเรือสำราญถึง 162 เที่ยว มีผู้โดยสารทั้งหมด 379,036 คน และลูกเรือ 163,331 คน สร้างรายได้เข้าไทยถึง 1.89 พันล้านบาท มีการเติบโตมากกว่าปี 2566 ร้อยละ 6.9 และมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อเนื่อง โดยในปัจจุบัน ท่าเรือที่รองรับเรือสำราญมากที่สุดตามลำดับ ได้แก่ 1) อ่าวป่าตอง จังหวัดภูเก็ต 2) ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี 3) เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี 4) ท่าเรือน้ำลึก จังหวัดภูเก็ต และ 5) ท่าเรือศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยนักท่องเที่ยวที่มากับเรือสำราญส่วนใหญ่มาจากประเทศสิงคโปร์ สหราชอาณาจักร มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี ตามลำดับ

สนพ. แจงการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียว 5,200 MW ไม่ทำให้ค่าไฟแพง ชี้ชัด กลับช่วยลดค่าไฟ - หนุนอนาคตพลังงานสะอาดของประเทศ

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ชี้แจงถึงข้อเท็จจริงในประเด็นที่มีกระแสข่าวและความกังวลเกี่ยวกับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (RE Big Lot) จำนวน 5,200 เมกะวัตต์ (MW) ว่าอาจทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นและสร้างภาระงบประมาณแผ่นดินเป็นหลักแสนล้านบาท ดังนี้

1. การยกเลิกการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 5,200 MW
นายวัฒนพงษ์ฯ ระบุว่า การรับซื้อไฟฟ้าปริมาณ 5,203 เมกะวัตต์ RE Big Lot เป็นการดำเนินการจากมติ กพช. ในการประชุมเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 และได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ครบถ้วนไปก่อนแล้ว ปัจจุบันมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) แล้วเป็นส่วนใหญ่และบางโครงการได้มีการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว การยกเลิกสัญญาของ RE Big Lot ที่ลงนามไปแล้วจึงไม่อาจจะทำได้ และหากจะมีการยกเลิกโครงการที่ไม่ลงนามในสัญญาส่วนที่เหลือกว่าสิบสัญญา จะทำให้เกิดข้อขัดแย้งกับสัญญาที่ลงนามไปแล้ว และเป็นการดำเนินการแบบ 2 มาตรฐานระหว่างกลุ่มโครงการที่ได้มีการลงนามในสัญญาแล้ว และโครงการที่ยังไม่ได้ลงนามในสัญญา

2. การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 5,200 MW จะทำให้ค่าไฟฟ้าแพงหรือไม่?
นายวัฒนพงษ์ฯ กล่าวว่า การรับซื้อไฟฟ้า RE Big Lot มีต้นทุนรับซื้อไฟฟ้าเฉลี่ยประมาณ 2.7 บาทต่อหน่วย (พลังงานแสงอาทิตย์มีอัตรา 2.16 บาทต่อหน่วย พลังงานลมมีอัตรา 3.10 บาทต่อหน่วย พลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับ BESS (ระบบเดินไฟในแบตเตอรี่) มีอัตรา 2.83 บาทต่อหน่วย) ซึ่งมีราคาที่ต่ำกว่าค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ย(Grid Parity) ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) โดย ณ เดือน มีนาคม 2568 มีค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ยประมาณ 3.18 บาทต่อหน่วย ดังนั้น การรับซื้อไฟฟ้า RE Big Lot จะไม่ทำให้ราคาค่าไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น แต่ในทางตรงกันข้ามการรับซื้อไฟฟ้า RE Big Lot จะทำให้ค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ยลดลง เนื่องจากมีราคารับซื้อไฟฟ้าต่ำกว่าค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ย โดยการรับซื้อไฟฟ้าจาก RE Big Lot จะช่วยให้ค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ยลดลงประมาณ 4,574 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ การรับซื้อไฟฟ้าจาก RE Big Lot จะช่วยให้ประเทศไม่เสียโอกาสในการลงทุนในพัฒนาพลังงานหมุนเวียนซึ่งเป็นเชื้อเพลิงพลังงานสะอาดที่มีอัตรารับซื้อในระดับที่เหมาะสมและสามารถแข่งขันได้ ไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าในภาพรวม และช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพทางด้านราคาค่าไฟฟ้าของประเทศได้ในระยะยาว

3. สนับสนุนเป้าหมายลดคาร์บอน และตอบโจทย์อนาคตพลังงานสะอาดของประเทศ
นายวัฒนพงษ์ฯ เน้นว่าการรับซื้อไฟฟ้า RE Big Lot เป็นการช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้า และจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยให้สามารถบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกตามการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC) ร้อยละ 30 – 40 ภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) และบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Carbon Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608) 

อีกทั้งการเพิ่มการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพของประเทศไทยในการรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดของผู้ประกอบการภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะธุรกิจส่งออกที่มีความจำเป็นต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ และเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศด้วยการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

ททท. จับมือ สโมสรเลสเตอร์ซิตี้ ส่ง ‘มวยและอาหารไทย’ บุก ‘คิงเพาเวอร์ สเตเดียม’ โชว์ความเป็นไทยสู่สายตาชาวโลก

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ซิตี้ (Leicester City Football Club หรือ LCFC) เดินหน้าขยายโอกาสประชาสัมพันธ์เสน่ห์ไทยสู่สายตาชาวโลก ด้วยการจัดกิจกรรมนำเสนอศิลปวัฒนธรรมมวยไทยและอาหารไทยในช่วงระหว่างการแข่งขันฟุตบอลนัดสำคัญ ระหว่างทีมเลสเตอร์ซิตี้และทีมลิเวอร์พูล ในวันที่ 20 เมษายน 2568 ณ คิงเพาเวอร์ สเตเดียม ณ เมืองเลสเตอร์ สหราชอาณาจักร มุ่งเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบกีฬาของตลาดยุโรป คาดสร้างการรับรู้รวมไม่ต่ำกว่า 5,000,000 คน-ครั้ง 

นายนิธี สีแพร รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด ททท. กล่าวว่า ททท. และสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ซิตี้ ร่วมกันส่งเสริมประชาสัมพันธ์ประเทศไทยผ่านพลังของกีฬา และสร้างโอกาสในการเผยแพร่ Soft Power ของไทยสู่ระดับโลกภายใต้แนวคิด '5 MUST DO IN THAILAND' โดย ททท. ได้จัดเตรียมกิจกรรมที่สะท้อนเสน่ห์อัตลักษณ์ไทย ได้แก่ Must Try - มวยไทย และ Must Taste - อาหารไทย เพื่อนำเสนอประสบการณ์ท่องเที่ยวที่น่าประทับใจในแมตช์ฟุตบอลสำคัญของโลกระหว่างทีมเลสเตอร์ซิตี้และทีมลิเวอร์พูล ณ คิงเพาเวอร์ สเตเดียม ณ เมืองเลสเตอร์ สหราชอาณาจักร ให้แก่ผู้เข้าร่วมชมฟุตบอลในสนามและผู้ติดตามทั่วโลก 

โดยกิจกรรมประชาสัมพันธ์แบบ On Ground Activity ในครั้งนี้ เป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศไทยในระดับนานาชาติ ผ่านการบูรณาการการท่องเที่ยวและกีฬา (Tourism and Sports) โดยมุ่งขยายผลของแคมเปญ 'Amazing Thailand Grand Tourism and Sports Year 2025' ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในตลาดยุโรป ซึ่งถือเป็นหนึ่งในตลาดที่มีศักยภาพสูง ททท. มุ่งมั่นที่จะใช้พลังของกีฬาเป็นเครื่องมือเชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยว พร้อมสร้างการรับรู้ในวงกว้าง เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพ โดยเฉพาะกลุ่ม Sport and Entertainment ให้เลือกประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางในการเดินทางมาท่องเที่ยวพักผ่อนในประเทศไทย 

สำหรับกิจกรรมไฮไลต์ที่ ททท. จัดขึ้น บริเวณด้านหน้าคิงเพาเวอร์ สเตเดียม สหราชอาณาจักร ได้แก่ Must Try: การแสดงศิลปะวัฒนธรรมไทย โดยเฉพาะ 'มวยไทย' ศิลปะการต่อสู้ประจำชาติที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยนำเสนอผ่านการแสดงรำไหว้ครูมวยไทยโชว์ในรูปแบบร่วมสมัย ผสานความแข็งแกร่งและความงดงามของท่วงท่าการต่อสู้แบบดั้งเดิม ซึ่งได้นำนักมวยชื่อดัง ได้แก่ ชาโด้ สิงห์มาวิน และ อเล็กซ์ สิงห์มาวิน มาร่วมแสดง พร้อมถ่ายทอดเสน่ห์และจิตวิญญาณของมวยไทยสู่สายตาชาวต่างชาติ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ทดลองการรำไหว้ครูมวยไทยเพื่อลุ้นรับเสื้อพร้อมลายเซ็นนักฟุตบอลของสโมสรฯ และกางเกงช้างจาก ททท. Must Taste: โดยการนำเสนอ 'ข้าวแต๋น' ขนมพื้นบ้านของไทยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ด้วยกรรมวิธีการทำแบบดั้งเดิมที่ผสมผสานรสชาติกรุบกรอบของข้าวพองกับความหวานหอมของน้ำตาลอ้อยและน้ำแตงโม โดยผู้เข้าร่วมงานจะได้ทดลองชิมขนมไทยแท้ และเรียนรู้เรื่องราววัฒนธรรมอาหารท้องถิ่นของไทย 

ทั้งนี้ ททท. ได้ร่วมมือกับสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ซิตี้ หนึ่งในสโมสรฟุตบอลระดับพรีเมียร์ลีกของประเทศอังกฤษที่ได้รับความนิยมสูงและมีผู้ติดตามชมการแข่งขันจำนวนมากในระดับโลก ซึ่งเป็นพันธมิตรที่ ททท. ได้ดำเนินกิจกรรมประชาสัมพันธ์ประเทศไทยร่วมกันมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ยังได้มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โฆษณา Amazing Thailand Grand Tourism and Sports Year 2025 ผ่านสื่อของสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ซิตี้ ทั้งบริเวณหน้าจอ LED ภายในสนามคิงเพาเวอร์ สเตเดียม และช่องทางออนไลน์ อาทิ Lcfc.com และช่องทาง Facebook หรือ X ของเลสเตอร์ซิตี้ ซึ่งมีผู้ติดตามรวมจำนวนกว่า 10 ล้านคน รวมถึงที่ผ่านมา ททท. ได้จัดทำคลิปประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับเทศกาลสงกรานต์ พร้อมให้แฟนฟุตบอลชาวสหราชอาณาจักร ร่วมตอบคำถามเพื่อลุ้นรับบัตรเข้าชมฟุตบอลนัดสำคัญนี้ จำนวนกว่า 10 ที่นั่ง โดยการแข่งขันฟุตบอลของทั้งสองทีมพรีเมียร์ลีกครั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้เข้าชมการแข่งขันในสนามจำนวนกว่า 30,000 คน และผู้สนใจติดตามชมการแข่งขันหลายพันล้านคนทั่วโลก

ครูแหม่ม เจ้าของโรงเรียนเลิศคณิต สมาทเซ็นเตอร์ กล่าวถึงกรณีที่มีคนออกมาโจมตี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

(22 เม.ย. 68) นางอุไรวรรณ เอกพันธ์ (ครูแหม่ม) เจ้าของโรงเรียนเลิศคณิต สมาทเซ็นเตอร์ จ.สงขลา โพสต์คลิป Tiktok ผ่านบัญชี lertkanitschool99 ถึงกรณีที่มีคนออกมาโจมตีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในระยะหลังอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเด็นเห็นด้วยกับเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ โดยตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใดคนที่ทำงานเพื่อชาติบ้านเมืองอย่างคุณพีระพันธุ์จึงมีคนโจมตีและเกลียดชัง

โดยระบุว่า ทําไมจึงเกลียดชังและโกรธคนดี อย่างท่านพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ทั้ง ๆ ที่ท่านก็เป็นรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน และท่านก็ทําหน้าที่ของท่านอย่างเต็มที่ โดยไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะเสร็จ แต่พอทำไม่ถูกใจ ก็ถูกมองว่าทำผิดไปหมด

ทั้งที่ตลอดเวลากว่า 50 ปี การแก้ปัญหาโครงสร้างพลังงานไม่มีใครทําเลย และหากไม่มีคุณพีระพันธุ์ จะมีใครทำ อีกทั้ง ประโยชน์ที่จะได้จากความสําเร็จของการแก้ไขปัญหาด้านพลังงาน จะมีมหาศาลขนาดไหน เพราะคนไทยทุกวันนี้ ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่แพงขึ้นทุกวันทั้งค่าไฟฟ้า ค่าแก๊ส และค่าน้ำมัน เรียกได้ว่าเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า กระทั่งท่านพีระพันธุ์ ได้เข้ามาช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ช่วยให้ประชาชนจ่ายน้อยลงไปเยอะ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนมีประโยชน์กับประชาชนคนไทยทั้งประเทศ

ครูแหม่ม ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า เหตุใดกรณีเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ จึงถูกหยิบยกมาโจมตีเฉพาะคุณพีระพันธุ์คนเดียวเท่านั้น ทั้งที่ยังมีกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แต่กลับไม่ถูกโจมตี ทั้งนี้ อาจเป็นไปได้ว่า คนที่ออกมาโจมตีนั้นกำลังพุ่งเป้าโจมตีและทำให้คนจงเกลียดจงชังคุณพีระพันธุ์ ซึ่งเป็นเจ้ากระทรวงพลังงานคนเดียวเท่านั้น ในส่วนนี้คนที่ออกมาโจมตีนั้นต้องตอบคำถามให้ได้ว่า การกระทำเช่นนั้นหวังผลอะไรกันแน่

‘เอกนัฏ’ ซัด สังคมไม่ได้คำตอบอะไรจากการแถลงซินเคอหยวน ชี้รอไปตอบดีเอสไอดีกว่า

จากกรณี บริษัท ซินเคอหยวน สตีล ได้ว่าจ้างทีมทนายจากสำนักงานทนายความเจ้าพระยา แถลงข่าวชี้แจงเหล็กของบริษัทฯ ถูกตรวจสอบตกคุณภาพ หลังจากนั้นไม่นาน นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม ได้โพสต์เฟซบุ๊กในชื่อ เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ (ขิง) แสดงความเห็นหลังจากฟังตัวแทนบริษัท ซินเคอหยวน สตีล แถลงข่าว ว่า...

สังคมไม่ได้อะไรจากคำตอบของซินเคอหยวน?
ตรรกะมันอยู่ตรงไหน?
“ตึกถล่มอาจเพราะสาเหตุอื่น”
- ถ้ามีสาเหตุอื่นด้วย มันก็ไม่ได้แปลว่าเหล็กคุณได้มาตรฐาน

“เคยได้ BOI เคยได้ มอก.”
- ก็ใช่ครับแต่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ก็ถึงถูกถอน BOI ถูกปิดโรงงาน ผลิตของตกมาตรฐาน ตรวจไป 2 ครั้งก็ยังสอบตก

“สถาบันเหล็กไม่มีความสามารถในการตรวจเหล็ก”
- ย้อนแย้งกับข้อเท็จจริง คือตอนตรวจผ่านรับได้ พอตรวจไม่ผ่านกลับโทษคนตรวจ

ผมไม่เคยแบ่งแยกว่าเป็นคนชาติใด ใครทำผิดกฎหมาย ก็ดำเนินคดีหมด 
เท่าที่ฟังดูแล้ว.. สังคมไม่ได้อะไรจากคำตอบของคุณ 
- เหล็กตกมาตรฐานคุณกระจายไปไหนบ้าง?  
- “ฝุ่น” กากอุตสาหกรรมอันตรายที่มีอยู่เลี่ยงไม่ตอบ 
- กระบวนการควบคุมมาตรฐานก็ไม่ตอบ  

ถ้างั้นผมว่า.. เตรียมไปตอบในคำให้การ DSI เถอะครับ มีอีกหลายคดี ที่ต้องตอบให้ได้

‘เอกนัฏ’ เดินหน้าพิจารณายกเลิกเหล็ก IF ลั่น พร้อมจัดการอุตสาหกรรมศูนย์เหรียญให้สิ้นซาก

‘เอกนัฏ’ สั่งเดินหน้าพิจารณาทบทวนยกเลิกการรับรองมาตรฐานเหล็ก IF ชี้เป็นเทคโนโลยีที่ก่อมลภาวะ และควบคุมคุณภาพให้สม่ำเสมอทำได้ยาก ตัวอย่างเช่นเหล็กตกคุณภาพซิน เคอ หยวน สตีล (SKY) พร้อมเดินหน้าจัดการอุตสาหกรรมศูนย์เหรียญอื่น ๆ ให้สิ้นซาก

(21 เม.ย. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เรื่องเหล็กตกคุณภาพที่ผลิตโดย บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด (SKY) ซึ่งโรงงานได้ถูกปิดไปเมื่อเดือนธันวาคม 2567 พบข้อพิรุธหลายประเด็นในการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะเรื่อง “ฝุ่นแดง” ซึ่งได้มีการขยายผลไปสู่การเพิกถอนสิทธิประโยชน์ BOI  และการสืบสวนร่วมกับดีเอสไอ โดยขอหมายศาลเข้าเก็บหลักฐานเพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อไป 

ส่วนอีกประเด็นที่มีความสำคัญต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมเหล็ก คือการทบทวนให้ยกเลิกการรับรองมาตรฐานเหล็กที่ผลิตโดยกระบวนการใช้เตาอินดักชั่น Induction Furnace (IF) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ดึงสิ่งสกปรกออกจากน้ำเหล็กได้ยาก รวมทั้งเป็นเตาแบบระบบเปิด สร้างมลภาวะฝุ่นและก๊าซพิษจากการผลิตเหล็กที่มากกว่า ถึงแม้ในทางทฤษฎีจะสามารถผลิตเหล็กที่มีคุณภาพได้ แต่ในกระบวนการผลิตจริง การควบคุมคุณภาพให้สม่ำเสมอนั้นทำได้ยาก ผู้ประกอบการจะต้องใส่ใจและเข้มงวดในการใช้วัตถุดิบคุณภาพดี มีกระบวนการปรับปรุงควบคุมคุณภาพอย่างละเอียด 

นายเอกนัฏ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยออก มาตรฐานอุตสาหกรรม หรือ มอก.เหล็กข้ออ้อย มารับรอง IF ตั้งแต่ปี 2559 ผู้ผลิตอย่าง SKY ได้รับ มอก.ตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งนับตั้งแต่ตนเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีฯ ได้ให้นโยบายชุดปฏิบัติการตรวจสุดซอย นำโดยนางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบ ระงับการผลิตและจำหน่าย รวมทั้งอายัดเหล็กจากหลายบริษัทที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งทั้งหมดพบว่าเป็นเหล็ก IF รวมถึงทาง SKY ด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการที่ผลิตเหล็กจากเตา IF ไม่สามารถควบคุมคุณภาพวัตถุดิบให้มีคุณภาพที่ดีได้ โดยปัจจุบันเทคโนโลยีที่ผลิตเหล็กด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า Electric Arc Furnace (EAF) ที่ใช้ไฟฟ้าในการหลอมเหล็ก จะสามารถดึงสิ่งสกปรกออกจากน้ำเหล็กได้ดีกว่าเตา IF และเป็นเตาแบบระบบปิด สร้างมลภาวะฝุ่นและก๊าซพิษน้อยกว่า ควบคุมคุณภาพได้ง่ายและสมํ่าเสมอกว่า 

สำหรับการหารือกับสมาคมผู้ผลิตเหล็กและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ทราบว่าปี 2567 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีกำลังการผลิตเหล็กด้วย EAF ถึง 4.3 ล้านตัน เพียงพอต่อความต้องการเหล็กเส้นในประเทศ 2.8 ล้านตัน จึงเห็นตรงกันว่า ถึงเวลาแล้วที่เราควรจะพิจารณายกเลิกเหล็กที่ผลิตแบบ IF ซึ่งตามกฎหมาย พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) หากมีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อยับยั้งไม่ให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนหรือระบบเศรษฐกิจ คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) สามารถพิจารณาและมีมติ ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมสามารถออกประกาศกระทรวงปรับแก้ไขยกเลิกการรับรองมาตรฐานเหล็ก IF ได้ โดยดำเนินการตามกรอบกฎหมายต่อไป 

"ผมได้ลงนามในหนังสือ ขอให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะประธาน กมอ. บรรจุวาระเพื่อพิจารณาทบทวนยกเลิก IF แล้ว และจนกว่าจะยกเลิก IF ก็คงจะต้องออกสำรวจตรวจจับ เสมือนแมวจับหนู สู้แก้ปัญหาแบบถอนราก จะได้ไปจัดการอุตสาหกรรมศูนย์เหรียญอื่น ๆ ให้สิ้นซากต่อไป" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าว 

‘กรรมการ ททท.’ ชี้!! ‘รัฐ - เอกชน’ ต้องช่วยกันสร้างความเชื่อมั่น ดึงดูด!! นักท่องเที่ยว ทั้งกลุ่ม ‘ตลาดยุโรป – จีน – มาเลเซีย – เกาหลีใต้ – ญี่ปุ่น – ไต้หวัน’ โกยเงินเข้าประเทศ

(20 เม.ย. 68) นายกิตติ พรศิวะกิจ กรรมการ ททท. ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า …

ท่องเที่ยวไทยกับโลก 2 ใบ

โลกใบแรก 
กลุ่มนักท่องเที่ยวที่ึคนไทยคุ้นเคย จีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ซึ่งติด Top 10 ในปีก่อนๆ 2 เดือนนี้ ติดลบ 30-50% อาการหนัก โดนทุบซ้ำๆ ทั้งจาก เรื่องความปลอดภัย แผ่นดินไหว กำแพงภาษี และคู่แข่ง

โลกใบที่สอง 
ตลาดยุโรป ทั้ง Russia UK Germany France US ตะวันออกกลาง ไปจนถึง เอเชียกลาง (คาซัคสถาน ) เอเซียใต้ ( อินเดีย ) ปีก่อนต่างก็ทำ New High + 100% เทียบกับปี 2019 และยังบวกต่อเนื่องในปีนี้

ถ้าเรามองตัวเลขนักท่องเที่ยว Weekend แรกหลังสงกรานต์ ในวันพฤหัสบดี-เสาร์ ที่ 17-19 เม.ย. 2568
17/4 82,926 คน
18/4 94,827 คน
19/4 80,996 คน

จะเห็นว่าจำนวนนักท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ไวกว่าที่คาด และผลกระทบจากแผ่นดินไหว กับนักท่องเที่ยวกลุ่ม Hi-Spending และ Long Hual แทบจะไม่มีผลเลย

โจทย์ที่ทั้งรัฐและเอกชนต้องช่วยกันคือ การสร้างความเชื่อมั่นและแรงดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนและเกาหลีใต้ ที่กำลังหันไปเที่ยวญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น ทั้งจากเรื่องความปลอดภัย ค่าเงินเยน และงาน Expo 2025 ที่ Osaka ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ 13 เมษายน - 13 ตุลาคม 2025 ที่คาดว่าจะมีผู้เข้าเยี่ยมชมกว่า 28 ล้านคน

‘GWM’ ดัน!! ‘ไทย’ สู่ศูนย์กลางการผลิตระดับโลก วางแผนเติบโต ในระยะยาว เพิ่มกำลังการผลิต!! ขยายตลาด เร่งส่งออก ‘อาเซียน – ลาตินอเมริกา - ออสเตรเลีย’

(19 เม.ย. 68) GWM (Thailand) ยกระดับสู่การเป็นแบรนด์รถยนต์ที่มีผลิตภัณฑ์ครอบคลุมทุกประเภทพลังงานที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานทั่วทุกมุมโลก ด้วยแนวคิด “ครอบคลุมทุกการใช้งาน (All Scenarios) ด้วยผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมทุกพลังงาน (All Powertrains) สู่การตอบสนองทุกกลุ่มผู้ใช้งานอย่างแท้จริง (All Users)” 

ล่าสุด เดินหน้าขับเคลื่อนแผนการผลิตรถยนต์หลากหลายรุ่นครอบคลุมทุกประเภทพลังงานจากโรงงานอัจฉริยะ (GWM Smart Factory) ในจังหวัดระยอง เพื่อขยายการส่งออกสู่ตลาดโลก โดยในไตรมาสที่ 2 ปี 2568 นี้ GWM (Thailand) เตรียมเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อส่งออกไปยังกลุ่มประเทศต่าง ๆ ทั้งในอาเซียน ออสเตรเลีย และลาตินอเมริกา โดยจะส่งรถยนต์เอสยูวีระดับพรีเมียม GWM TANK 500 HEV ไปยังประเทศมาเลเซีย ในขณะที่จะยังคงส่งออกรถยนต์ GWM TANK 300 HEV สู่ประเทศอินโดนีเซีย และ GWM HAVAL H6 HEV รวมถึงเจ้าสิงโตอารมณ์ดี GWM HAVAL JOLION HEV ไปรุกตลาดในประเทศเวียดนามอย่างต่อเนื่อง 

ยิ่งไปกว่านั้น ในเดือนเมษายนนี้ GWM (Thailand) เตรียมส่งออกเจ้าเหมียวไฟฟ้า NEW GWM ORA Good Cat รถยนต์ไฟฟ้า 100% รุ่นแรกที่ผลิตในประเทศไทยสู่ตลาดโลกเป็นครั้งแรก โดยจะส่งออกไปยังประเทศบราซิล ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์อีกด้วย ก่อนหน้านี้ GWM (Thailand) ได้มีการส่งออกรถยนต์เอสยูวีไปยังประเทศอินโดนีเซียและเวียดนามมาแล้ว โดยได้ส่งออกรถยนต์รุ่น GWM TANK 300 HEV, GWM TANK 500 HEV และ GWM HAVAL H6 HEV ไปยังประเทศอินโดนีเซีย ในขณะที่ประเทศเวียดนาม ได้ส่งออกรถยนต์ทั้งหมด 2 รุ่น ได้แก่ GWM HAVAL H6 HEV และ GWM HAVAL JOLION HEV ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากประเทศดังกล่าว ทั้งหมดนี้ คือ การสะท้อนความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจของ GWM (Thailand) ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการผลิตและส่งออกรถยนต์ที่ครอบคลุมทุกพลังงานสู่ตลาดโลก สร้างงาน สร้างรายได้ และนำความภาคภูมิใจกลับมาสู่คนไทย ด้วยการผลิตรถยนต์คุณภาพที่เปี่ยมด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าที่ผลิตในประเทศไทย โดยคนไทย สู่การมอบประสบการณ์เพื่อการเดินทางที่ 'เหนือกว่า' ให้แก่ผู้ใช้งานทั่วทุกมุมโลก ผ่านกลยุทธ์ 'GWM Go With More'

เจมส์ หยาง รองประธาน GWM ตลาดต่างประเทศ กล่าวว่า “GWM และทีมงานชาวไทยทุกคนล้วนภูมิใจในการเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ร่วมสร้างการเติบโตให้แก่เศรษฐกิจประเทศไทยด้วยการผลิตและส่งออกรถยนต์ GWM หลากหลายรุ่น ครอบคลุมทุกประเภทพลังงานสู่ผู้ใช้งานทั่วโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย และลาตินอเมริกา ตอกย้ำศักยภาพของประเทศไทยในฐานะที่เป็นฐานการผลิตประจำภูมิภาคอาเซียน โดยการส่งออกรถยนต์ GWM ในไตรมาส 2/2568 นี้ สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพการผลิตและมาตรฐานระดับโลกของโรงงานของเราที่จังหวัดระยอง โดยผลิตภัณฑ์ภายใต้ GWM TANK ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภคในประเทศอินโดนีเซีย ส่วน GWM HAVAL ก็ได้รับการสนับสนุนที่ดีจากประเทศเวียดนาม ที่สำคัญในปีนี้จะเป็นครั้งแรกที่เราจะส่งออก NEW GWM ORA Good Cat ซึ่งถือเป็นโอกาสในการสร้างการเติบโตทางธุรกิจจากโรงงานผลิตขนาดใหญ่ของเรา โดยโรงงานที่จังหวัดระยองถือเป็นโรงงานการผลิตเต็มรูปแบบแห่งที่ 2 ของ GWM นอกประเทศจีน (ถัดจากประเทศรัสเซีย) ทั้งนี้ GWM จะมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องในประเทศไทยเพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกรถยนต์ระดับโลกของ GWM เราพร้อมเติบโตไปในระยะยาวกับลูกค้ารวมถึงพาร์ทเนอร์ชาวไทย และสังคมไทยอย่างยั่งยืน”

ปัจจุบัน โรงงานอัจฉริยะของ GWM ในจังหวัดระยองสามารถรองรับกำลังการผลิตสูงสุดถึง 80,000 คันต่อปี โดย GWM (Thailand) ได้เพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับการจำหน่ายในประเทศและการส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยรถยนต์ทุกรุ่นและทุกคันที่จำหน่ายในประเทศไทยล้วนผลิตจากโรงงานในประเทศไทยโดยฝีมือคนไทยทั้งสิ้น (ยกเว้นรุ่น GWM ORA 07 ที่นำเข้าจากประเทศจีน) โดยล่าสุด ALL NEW GWM HAVAL H6 ทั้งรุ่นไฮบริด และปลั๊กอิน-ไฮบริด และ NEW GWM TANK 300 DIESEL ที่เพิ่งเปิดตัวที่งานมอเตอร์โชว์ 2025 เมื่อปลายเดือนมีนาคม ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามจากแฟน ๆ ชาวไทยและเริ่มส่งมอบให้กับลูกค้าชาวไทยไปแล้วนั้น ก็ผลิตจากสายการผลิตที่โรงงาน GWM จังหวัดระยองเช่นเดียวกัน โดยมีพนักงานผู้มีความเชี่ยวชาญกว่า 1,100 คน ซึ่งปฏิบัติงานภายใต้มาตรฐานการผลิตระดับสากล พร้อมทั้งใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ (Local Content) ในสัดส่วนประมาณ 45 – 50% 

ซึ่งในอนาคต GWM (Thailand) ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศให้มากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการบริหารจัดการซัพพลายเชน รวมถึงการบริหารจัดการอะไหล่สำหรับการบริการหลังการขายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้ลูกค้าทั่วทุกมุมโลกได้สามารถเข้าถึงยนตรกรรมอัจฉริยะในทุกรูปแบบพลังงานของ GWM ได้ง่ายขึ้น คุ้มค่ามากยิ่งขึ้น พร้อมรับประสบการณ์การเดินทางที่เหนือกว่าในทุกด้านอย่างแท้จริง GWM (Thailand) เดินหน้าอย่างมั่นคงและต่อเนื่องในการผลิตรถยนต์ที่ครอบคลุมทุกพลังงานในหลากหลายเซกเมนต์จากหลากหลายตระกูล ครอบคลุม GWM TANK, GWM HAVAL และ GWM ORA เพื่อจำหน่ายในประเทศไทยและส่งออกสู่ตลาดโลก และจะยังคงมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมยานยนต์อย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านดีไซน์ สมรรถนะ และระบบขับเคลื่อนที่หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทั่วโลก และส่งมอบประสบการณ์การขับขี่ที่เหนือกว่า เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสู่เวทีระดับโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ

‘ทีดีอาร์ไอ’ หนุนแนวคิด ‘พีระพันธุ์’ ปฏิรูปกองทุนน้ำมันฯ สู่ระบบ SPR ยกเลิกอุดหนุน แก้ปัญหาน้ำมันแพงอย่างยั่งยืน

(18 เม.ย. 68) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ออกโรงสนับสนุนนโยบายของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ผลักดันแนวคิดเปลี่ยนระบบสำรองน้ำมันจากรูปแบบการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มาเป็นการจัดเก็บน้ำมันจริงในรูปแบบ "คลังสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์" หรือ SPR (Strategic Petroleum Reserve)

ดร.อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์ นักวิชาการนโยบายพลังงาน ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยว่า ระบบ SPR มีข้อได้เปรียบเหนือกว่ากองทุนน้ำมันฯ แบบเดิมที่ใช้กลไกการอุดหนุนราคาน้ำมัน เพราะช่วยให้รัฐบาลบริหารจัดการราคาขายปลีกน้ำมันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยอิงต้นทุนจริง ไม่ต้องแทรกแซงหรือใช้งบประมาณจำนวนมากเหมือนในอดีต ทั้งยังสามารถรับมือกับวิกฤตพลังงานจากเหตุการณ์ไม่คาดคิด เช่น สงครามหรือภัยธรรมชาติ

“วัตถุประสงค์หลัก คือ รองรับวิกฤตด้านพลังงานจากเหตุการณ์ไม่คาดคิด เช่น สงคราม การปิดเส้นทางขนส่ง หรือภัยธรรมชาติ เพื่อให้ประเทศมีน้ำมันเพียงพอในภาวะฉุกเฉิน”

จากข้อมูลปี 2567 พบว่าคลังน้ำมันของไทยมีความจุรวม 16,545 ล้านลิตร แบ่งเป็นน้ำมันดิบ 7,500 ล้านลิตร และน้ำมันสำเร็จรูป 9,000 ล้านลิตร ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการสำรองในระดับ 90 วันตามมาตรฐานของระบบ SPR ที่ต้องการสำรอง 14,000 ล้านลิตร (น้ำมันดิบ 12,000 ล้านลิตร และน้ำมันสำเร็จรูป 2,000 ล้านลิตร)

ทั้งนี้ ทีดีอาร์ไอแนะให้รัฐเริ่มต้นจากการสำรองน้ำมันขั้นต่ำ 30 วัน และค่อย ๆ ขยับเพิ่มเป็น 60-90 วัน เพื่อไม่ให้เกิดภาระต้นทุนสูงเกินไปกับภาคเอกชน และสามารถทยอยปรับโครงสร้างพื้นฐานได้อย่างเหมาะสม

“ภาครัฐควรจัดทำแผนเป็นลำดับขั้น เริ่มจากการตั้งเป้าสำรองขั้นต่ำที่ 30 วันของปริมาณการใช้น้ำมันต่อวันในประเทศ และขยายเป็น 60-90 วัน ในระยะกลางและระยะยาว”

แนวทางสำคัญในการสร้าง SPR คือการเปลี่ยนการเก็บค่าภาคหลวงจากเงินสดเป็นน้ำมันจริง โดยอาศัยกฎหมายปิโตรเลียมที่เปิดช่องให้ผู้รับสัมปทานสามารถชำระค่าภาคหลวงเป็นน้ำมันได้ ซึ่งหากจัดเก็บในอัตรา 12.5% จากปริมาณส่งออกปิโตรเลียมเฉลี่ย 19 ล้านลิตรต่อวัน จะได้น้ำมันสำรองราว 2.4 ล้านลิตรต่อวัน

อีกทางเลือกคือการนำส่วนอุดหนุนที่เคยเก็บเข้ากองทุนน้ำมันฯ และภาษีบางส่วน มาใช้จัดซื้อและบริหารน้ำมันสำรอง โดยให้เอกชนเป็นผู้รับภาระแทนรัฐ ซึ่งต้องมีการชดเชยที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้ราคาน้ำมันขยับขึ้นมากในระยะยาว

นายพีระพันธุ์ ระบุว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานได้จัดทำร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับระบบ SPR เสร็จเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการตรวจสอบความถูกต้องและรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดว่าหากดำเนินการได้สำเร็จ จะเป็นการวางรากฐานสำคัญในการบริหารจัดการน้ำมันของประเทศอย่างมีเสถียรภาพ และลดความผันผวนของราคาน้ำมันในอนาคต

‘วินท์ สุธีรชัย‘ ชี้ สัญญารับซื้อไฟสีเขียวบางส่วนทำก่อน ’พีระพันธุ์‘ คุมพลังงาน เชื่อมั่น ปัญหาพลังงานจะถูกแก้ไขอย่างเต็มที่ตามกฎหมายให้อำนาจ

(18 เม.ย. 68) จากกรณีที่นายศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน จึงตั้งกระทู้ถามสดถึงแนวทางการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจำนวน 5,200 เมกะวัตต์ ที่กำลังจะเซ็นสัญญาเร็วๆ นี้ ว่าเหตุใดจึงไม่ยกเลิกโครงการเหมือนกับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรอบสองจำนวน 3,600 เมกะวัตต์ที่ถูกเบรกโครงการไว้ เนื่องจากมองว่ามีปัญหาเรื่องความโปร่งใสและไม่คุ้มค่าเหมือน ๆ กัน  

ล่าสุดนายวินท์ สุธีรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะ สตีล จำกัด (มหาชน) และกรรมการปรับปรุงและยกร่างกฎหมาย กระทรวงพลังงาน ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีดังกล่าว ว่า นั่งฟังที่ พี่ตุ๋ย (ท่าน พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน) ตอบกระทู้สดในสภาเรื่องเกี่ยวกับสัญญาซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาด เข้าใจได้ว่า: 

กฎหมายที่เกี่ยวกับประชาชน (เช่น กฎหมายอาญา) และ กฎหมายที่เกี่ยวกับหน่วยงานของรัฐ (เช่น กฎหมายมหาชน) จะมีความแตกต่างกัน โดยกฎหมายที่เกี่ยวกับประชาชนจะระบุสิ่งที่ห้ามทำ เช่น ทิ้งขยะผิดกฎหมาย ดังนั้นอะไรที่ไม่ได้ระบุไว้ในกฎหมายเกี่ยวกับประชาชน ประชาชนสามารถทำได้ แต่กฎหมายที่เกี่ยวกับหน่วยงานรัฐ หากไม่ได้ให้อำนาจไว้ หน่วยงานรัฐไม่สามารถใช้อำนาจเกินที่กฎหมายระบุไว้ได้เพราะถือว่ามีความผิด 

ดังนั้นการที่กฎหมายให้อำนาจองค์กรอิสระในการจัดซื้อจัดจ้างพลังงานสะอาด แต่ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในการกำกับพลังงานไฟฟ้าไว้เพียงน้อยนิด จึงทำให้การแก้ปัญหาพลังงานไฟฟ้าเป็นไปได้ด้วยความยากลำบาก (อาจจะเป็นเพราะในอดีตเคยมีแผนจะทำให้ กฟผ. กฟภ. และ กฟน. กลายเป็นเอกชนและเข้าตลาดหลักทรัพย์ จึงมีการลดอำนาจการกำกับพลังงานไฟฟ้าของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานลง) 

อย่างไรก็ดี พี่ตุ๋ย รู้ถึงความน่าสงสัยในการจัดซื้อจัดจ้างพลังงานสะอาดที่เกิดขึ้นโดยการเซ็นสัญญาจากองค์กรอิสระซึ่งเกิดก่อนท่านจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และได้พยายามแก้ปัญหาอย่างเต็มที่เท่าที่ทำได้ตามที่กฎหมายมอบอำนาจไว้ให้: 

1. แก้ปัญหาระยะสั้น ได้ระงับการจัดซื้อจัดจ้างพลังงานสะอาด 2,100 เมกะวัตต์ ที่ัยังไม่ได้มีการเซ็นสัญญา ผ่านการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)  

2. แก้ปัญหาระยะกลาง ทางกฤษฎีกามีความเห็นไม่ให้ระงับการจัดซื้อจัดจ้างพลังงานสะอาด 5,203 เมกะวัตต์ เนื่องจากในส่วนที่ไม่ใช่ชีวมวลเซ็นต์สัญญาเสร็จสิ้นไปแล้ว 83 สัญญา เหลือเพียง 19 สัญญา ที่ยังไม่ได้เซ็น ดังนั้น รมว.พลังงาน จึงต้องหาทางระงับสัญญาด้วยวิธีอื่นโดยใช้วิธีตรวจสอบหาข้อผิดกฎหมายในสัญญาซึ่งจะทำให้สัญญาทั้งหมด ทั้งที่เซ็นไปแล้วและยังไม่ได้เซ็นเป็นโมฆะไปตามกฎหมาย 

3. แก้ปัญหาระยะยาว ปัญหาหลักๆ อยู่ที่กฎหมายซึ่งเขียนในช่วงที่มีแผนจะนำ สามการไฟฟ้า(กฟผ. กฟภ. และ กฟน.) เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์กลายเป็นเอกชน ดังนั้นการแก้ปัญหาจึงต้องมีการแก้กฎหมายใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะปัจจุบันที่ หน่วยงานต่างๆยังเป็นของรัฐไทย เพื่อให้รัฐบาลสามารถเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าจากธุรกิจของเอกชนกลายมาเป็นความมั่นคงของรัฐไทยและให้ประชาชนมีพลังงานในราคาต่ำที่สุดใช้ ไม่ใช่เพื่อให้เอกชนไม่กี่รายสร้างกำไรให้กับตนเอง 

ขอเป็นกำลังใจให้พี่ตุ๋ยในการทลายทุนผูกขาดพลังงานไฟฟ้า(ซึ่งทำให้ท่านถูกโจมตีจากทุกทิศทาง) และเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าจากธุรกิจเอกชนให้กลับมาเป็นความมั่นคงของรัฐไทยและประชาชนให้ได้นะครับ 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top