Wednesday, 19 March 2025
ECONBIZ NEWS

‘กองทุนน้ำมัน’ จ่ายหนี้เงินกู้ขั้นบันได เม.ย. จ่ายเฉียด!! 2,000 ล้านบาท

(15 ก.พ. 68) จากข้อมูลฐานะเงินกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุดยังคงติดลบกว่า 70,438 ล้านบาท โดยราคาน้ำมันโลกทรงตัวระดับไม่สูงมากนักประมาณ 77 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่งผลให้กองทุนฯ สามารถเรียกเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันทุกชนิดได้มากขึ้นถึงเดือนละกว่า 6,700 ล้านบาท

โดยเฉพาะผู้ใช้แก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 ถูกเรียกเก็บเงินถึง 4.60 บาทต่อลิตร และถูกเรียกเก็บค่าการตลาดจากผู้ค้าน้ำมันประมาณ 3 บาทต่อลิตร ส่งผลราคาขายปลีกแก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ระดับ 35.35 บาทต่อลิตร และ แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ระดับ 34.98 บาทต่อลิตร   

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้ประกาศสถานะเงินกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุด ณ วันที่ 9 ม.ค. 2568 ที่ราคาน้ำมันตลาดโลกยังคงมีรายรับเข้ามาและทำให้วงเงินกองทุนฯ ติดลบน้อยลงอย่างต่อเนื่องเหลือ 70,438 ล้านบาท โดยยังคงเป็นยอดการติดลบที่น้อยที่สุดในรอบ 2 ปี ซึ่งมาจากบัญชีน้ำมันติดลบรวม 23,966 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม (LPG) ติดลบรวม 46,472 ล้านบาท

ทั้งนี้ รายรับที่ได้ส่วนใหญ่มาจากการเรียกเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันทุกประเภทส่งเข้ากองทุนฯ ดังนี้ ผู้ใช้น้ำมันเบนซิน ออกเทน 95 ส่งเข้ากองทุนฯ 10.68 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 ส่งเข้าถึง 4.60 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 ส่งเข้า 2.61 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 ส่งเข้า 1.16 บาทต่อลิตร, น้ำมันดีเซลและดีเซล B20 ส่งเข้า 1.05 บาทต่อลิตร และดีเซลเกรดพรีเมียม เรียกเก็บ 2.55 บาทต่อลิตร

ส่งผลให้กองทุนฯ มีเงินไหลเข้า 224.55 ล้านบาท หรือประมาณ 6,700 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งมาจากผู้ใช้น้ำมันรวม 213.39 ล้านบาท และมาจากการเรียกเก็บเงินผู้ใช้และผู้ผลิต LPG รวม 11.16 ล้านบาท ส่วนภาระหนี้เงินกู้โดยรวมยังเหลืออยู่อีก 104,083 ล้านบาท

"ช่วงนี้กองทุนน้ำมันต้องจ่ายหนี้เงินกู้เฉลี่ยเดือนละกว่า 1,000 ล้านบาท โดยเป็นเงินต้นประมาณ 800 ล้านบาท ส่วนดอกเบี้ยอยู่ระดับ 230 ล้านบาท ซึ่งการจ่ายเงินต้นจะทยอยปรับขึ้นตามการกู้เงินที่เพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าเดือนเม.ย. 2568 จะต้องจ่ายเงินต้นเกือบ 2,000 ล้านบาท" 

อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าผู้ใช้น้ำมันกลุ่มแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 ยังคงถูกเรียกเก็บเงินสูงสุดกว่าผู้ใช้น้ำมันชนิดอื่นถึง 4.60 บาทต่อลิตร นอกจากนี้เมื่อพิจารณาค่าการตลาดน้ำมันที่ผู้ค้าน้ำมันเก็บจากผู้ใช้ จะพบว่ากลุ่มน้ำมันแก๊สโซฮอล์ถูกเรียกเก็บกว่า 3 บาทต่อลิตร

โดยค่าการตลาดผู้ค้าน้ำมัน ที่รายงานโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ณ วันที่ 11 ก.พ. 2568 เปลี่ยนแปลงดังนี้ ค่าการตลาดกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ยังคงทรงตัวระดับสูง โดยน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ถูกเรียกเก็บค่าการตลาด 4.09 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 มีค่าการตลาดที่ 3.04 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 3.12 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 อยู่ที่ 3.75 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 อยู่ที่ 6.88 บาทต่อลิตร, ดีเซล อยู่ที่ 1.88 บาทต่อลิตร  โดยเฉลี่ยค่าการตลาดระหว่าง 1-11 ก.พ. 2568 อยู่ที่ 2.54 บาทต่อลิตร (จากค่าการตลาดที่เหมาะสมที่ 1.5-2 บาทต่อลิตร)

ส่งผลให้ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 35.35 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 34.98 บาทต่อลิตร ขณะที่น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 อยู่ที่ 33.14 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์  E85 อยู่ที่ 32.09 บาทต่อลิตร ขณะที่ราคาดีเซลอยู่ที่ 32.94 บาทต่อลิตร

‘พระจอมเกล้าธนบุรี’ พลิกขยะเกษตรสู่ลิกนิน นวัตกรรม!! เปลี่ยนเศรษฐกิจไทยให้ยั่งยืน

(15 ก.พ. 68) ในโลกปัจจุบันปัญหาขยะชีวมวลกำลังกลายเป็นวิกฤตสำคัญ โดยเฉพาะในประเทศไทยที่เศรษฐกิจพึ่งพาภาคการเกษตรเป็นอย่างมาก ชีวมวลจากชานอ้อย ฟางข้าว ปาล์มน้ำมัน และเศษวัสดุทางการเกษตรจำนวนมหาศาลถูกเผาทำลายหรือทิ้งไปโดยไร้ประโยชน์ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง

เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงเป็นที่มาของโครงการ การพัฒนากระบวนการบำบัดชีวมวล เพื่อแยกส่วนและตกตะกอนลิกนินบริสุทธิ์ เป็นผลงานวิจัยร่วมระหว่าง ศ.ดร. นวดล เหล่าศิริพจน์ อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ ดร.ชญานนท์ โชติรสสุคนธ์ นักวิจัยกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรี่และชีวภาพ (IBBG) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 

“ชีวมวลไม่ใช่ของเสีย แต่คือทรัพยากรสำคัญที่สามารถแปรรูปให้เกิดประโยชน์สูงสุด เราต้องการสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม” ศ.ดร. นวดล เหล่าศิริพจน์ ในฐานะหัวหน้าโครงการ กล่าว

ปัจจุบันชีวมวลถูกนำมาใช้ประโยชน์ในหลากหลายรูปแบบ เช่น การแปรรูปเป็นพลังงาน หรือการสกัดองค์ประกอบสำคัญอย่างเซลลูโลสเพื่อนำไปผลิตเยื่อกระดาษ อย่างไรก็ตาม ชีวมวลยังมีองค์ประกอบอื่น ๆ ที่ถูกมองข้าม หนึ่งในนั้นคือลิกนิน (Lignin) ซึ่งมีอยู่มากถึง 20% ของชีวมวล และมีศักยภาพสูงในการนำไปใช้ประโยชน์ 

“ลิกนินเป็นองค์ประกอบสำคัญในชีวมวลลิกโนเซลลูโลส มีคุณสมบัติพิเศษ เช่น การดูดกลืนรังสียูวีและการต้านอนุมูลอิสระ แต่ด้วยโครงสร้างทางเคมีที่ซับซ้อน ทำให้กระบวนการสกัดแบบเดิมต้องใช้สารเคมีที่รุนแรง ซึ่งนอกจากจะทำลายคุณสมบัติสำคัญของลิกนินแล้ว ยังทำให้ลิกนินถูกจัดเป็นของเสียที่ยากต่อการนำไปพัฒนาต่อยอด ทีมวิจัยจึงได้พัฒนากระบวนการใหม่ โดยใช้ ตัวทำละลายอินทรีย์ ที่สามารถสกัดลิกนินออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งนำตัวทำละลายกลับมาใช้ซ้ำ กระบวนการนี้เป็นระบบกึ่งไร้ของเสีย (Semi-Zero Waste) ช่วยให้ได้ลิกนินที่มีความบริสุทธิ์สูงและยังคงคุณสมบัติสำคัญไว้อย่างครบถ้วน” ดร.ชญานนท์ กล่าว

จากการวิจัยร่วมกันโดยใช้ห้องปฏิบัติการร่วมด้านพลังงานและเคมีชีวภาพ (BIOTEC-JGSEE Integrative Biorefinery Laboratory) ได้ค้นพบศักยภาพของลิกนินในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น การพัฒนาพลาสติกผสมลินินที่สามารถกันรังสียูวีได้โดยไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี และผลิตเป็น 'กรีนแพ็กเกจจิ้ง' ด้วยการผสมลิกนินเข้ากับพลาสติกชีวภาพ เช่น PLA (พลาสติกย่อยสลายได้) และ พลาสติก Up-cyling rPET (พลาสติกทนความร้อนและยืดหยุ่นสูง) เพื่อพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ทนต่อรังสียูวี ลดการเสื่อมสภาพ และตอบโจทย์ความยั่งยืน เหมาะสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ต้องการคุณภาพและความปลอดภัยจากแสงยูวี ลิกนินยังถูกนำไปผสมในยางธรรมชาติ เพื่อเพิ่มความทนทานและลดการเสื่อมสภาพจากความชื้นและออกซิเจน ลิกนินยังสามารถแทนที่สารเคมีต้านอนุมูลอิสระได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้เกิดยางที่มาจากธรรมชาติ 100% ซึ่งเหมาะสำหรับการผลิตยางรถยนต์และผลิตภัณฑ์ยางชนิดพิเศษต่าง ๆ นอกจากนี้ ลิกนินยังถูกใช้ในอุตสาหกรรมความงาม เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์รองพื้น (Foundation) ด้วยโทนสีน้ำตาลธรรมชาติและคุณสมบัติป้องกันรังสียูวี โดยมีค่า SPF สูงถึง 36 โดยไม่ต้องใช้สารเคมีเพิ่มเติม ทั้งยังมีศักยภาพในการต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งอาจช่วยชะลอวัย ทีมวิจัยกำลังดำเนินการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผลลัพธ์ในเชิงลึก ทั้งหมดถือเป็นการนำของเหลือจากชีวมวลมาต่อยอดเป็นนวัตกรรมที่มีมูลค่าสูงได้

นอกจากการเพิ่มมูลค่าให้กับชีวมวลแล้ว ทีมวิจัยยังมุ่งมั่นลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชีวมวลที่ถูกทิ้งหรือเผาทำลายมักปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น มีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กระบวนการแปรรูปลิกนินไม่เพียงช่วยลดการปล่อยก๊าซเหล่านี้ แต่ยังสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรจากการขายเศษเหลือการเกษตรในราคาที่สูงขึ้นด้วย

ในอนาคต ทีมวิจัยวางแผนขยายขอบเขตงานวิจัยเพื่อสนับสนุนเป้าหมาย "Zero Emission" และเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยการใช้ชีวมวลให้เกิดประโยชน์สูงสุด ช่วยลดของเสีย และเพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมต่าง ๆ นอกจากนี้ทีมวิจัยยังเล็งเห็นว่าแนวทางนี้สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างเศรษฐกิจ พร้อมทั้งสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว

“ลิกนินเป็นตัวอย่างของการแปรรูปชีวมวลที่ไม่ได้ช่วยแค่ลดขยะ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ให้กับอุตสาหกรรมไทย ทั้งด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม” ศ.ดร. นวดล กล่าวทิ้งท้าย

‘ไทยออยล์’ ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 4 ปี 2567 มีกำไรสุทธิ 2,767 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น!! จากไตรมาสก่อน

(15 ก.พ. 68) นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยว่า “ในไตรมาส 4/2567 กลุ่มไทยออยล์มีกำไรสุทธิ 2,767 ล้านบาทปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยได้รับแรงหนุนจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะส่วนต่างราคาน้ำมันอากาศยานและน้ำมันดีเซลกับราคาน้ำมันดิบดูไบจากกิจกรรมการท่องเที่ยวที่สูงขึ้นในช่วงสิ้นปี ประกอบกับความต้องการใช้น้ำมันสำหรับผลิตความร้อนในช่วงฤดูหนาว แม้ว่า Crude Premium จะปรับเพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้จากความกังวลต่อความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลางก็ตาม สำหรับกำไรขั้นต้นจากธุรกิจอะโรเมติกส์ปรับลดลงจากส่วนต่างราคาสารพาราไซลีนกับราคาน้ำมันเบนซิน 95 ที่ลดลง เนื่องจากอุปสงค์เสื้อผ้าและสิ่งทอไม่เป็นไปตามคาดการณ์ ประกอบกับกำไรของธุรกิจปลายน้ำ เช่น สารพีทีเอ ที่ยังถูกกดดันรวมถึงส่วนต่างราคาสารเบนซีนกับราคาน้ำมันเบนซิน 95 ที่ปรับลดลงจากปริมาณสารเบนซีนคงคลังของจีนที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี ตลอดจนการกลับมาดำเนินการผลิตของโรงผลิตสารเบนซีนหลังปิดซ่อมบำรุงในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่ กำไรขั้นต้นจากธุรกิจผลิตสารตั้งต้นสำหรับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนอุปสงค์ที่ฟื้นตัวหลังสิ้นสุดฤดูมรสุม เช่นเดียวกับ กำไรขั้นต้นจากธุรกิจผลิตน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานที่ปรับเพิ่มขึ้น จากความต้องการใช้ที่ฟื้นตัวหลังผ่านฤดูฝนและอุปทานที่ตึงตัวอย่างต่อเนื่องจากการปิดซ่อมบำรุงตามแผนของโรงผลิตน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานกลุ่มที่ 1 ในเกาหลีใต้ ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบในไตรมาส 4/2567 ปรับตัวลดลงจากไตรมาส 3/2567 เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันลดลงตามเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว ส่งผลให้กลุ่มไทยออยล์ขาดทุนจากสต็อกน้ำมัน 2,010 ล้านบาท     

สำหรับภาพรวมปี 2567 กลุ่มไทยออยล์มีรายได้จากการขายที่ 455,857 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 9,959 ล้านบาท กำไรลดลงจากปีก่อนหน้า สาเหตุหลักจากกำไรขั้นต้นจากการกลั่นปรับลดเนื่องจากส่วนต่างราคาน้ำมันเบนซิน น้ำมันอากาศยาน น้ำมันดีเซลกับราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวลดลง จากอุปทานที่เพิ่มขึ้น เนื่องจาก โรงกลั่นใหม่เริ่มดำเนินการ ขณะที่ด้านราคาน้ำมันดิบในปี 2567 เทียบกับปี 2566 ปรับลดลง จากความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ส่งผลให้กลุ่มไทยออยล์รับรู้ขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน 5,913 ล้านบาท

ทั้งนี้ กลุ่มไทยออยล์ยังคงให้ความสำคัญกับการดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี ตามหลักการ ESG (Environment, Social, and Governance) อย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้จากการได้รับรางวัลด้านความยั่งยืน จำนวน 9 รางวัล และได้รับการรับรองเป็นสมาชิก DJSI ต่อเนื่องเป็นปีที่ 12  

นายบัณฑิตฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “สำหรับภาพรวมธุรกิจกลุ่มไทยออยล์ในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 คาดว่าตลาดน้ำมันจะอ่อนตัวลงเนื่องจากอุปทานน้ำมันสำเร็จรูปมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจากการทยอยเปิดดำเนินการของโรงกลั่นขนาดใหญ่ในจีน เม็กซิโก ไนจีเรีย และโอมาน ถึงแม้ว่าตลาดจะได้รับแรงหนุนจากอุปทานที่ลดลงจากสภาพอากาศหนาวเย็นในสหรัฐฯ ส่งผลให้โรงกลั่นหลายแห่งต้องหยุดดำเนินการ ขณะที่ธุรกิจอะโรเมติกส์ มีแนวโน้มฟื้นตัวโดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ของพาราไซลีนที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากคำสั่งซื้อโพลิเอสเตอร์ในจีนหลังเทศกาลตรุษจีนมีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงความต้องการขวดบรรจุภัณฑ์ (PET) ที่จะปรับสูงขึ้นในช่วงฤดูร้อน อย่างไรก็ตาม ตลาดน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานมีแนวโน้มอ่อนตัวลง จากแรงกดดันของอุปทานใหม่ที่เข้าสู่ตลาดจากโรงผลิตน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานกลุ่มที่ 2 และกลุ่มที่ 3 ในอินเดีย”

ไทยออยล์ยังคงติดตามสถานการณ์ตลาดอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความผันผวนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงแสวงหาโอกาสสร้างรายได้เพื่อให้มีผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ที่วางไว้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันโครงการพลังงานสะอาดให้เดินหน้าต่อไปให้ดีที่สุด ตลอดจนแสวงหาโอกาสในธุรกิจใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ เมกะเทรนด์เพื่อมุ่งเติบโตเป็นองค์กร 100 ปี อย่างมั่นคง ภายใต้วิสัยทัศน์ สร้างสรรค์คุณภาพชีวิต ด้วยพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน”

‘พีระพันธุ์’ แจงละเอียดยิบภารกิจดูแลพลังงานเพื่อคนไทย คืบหน้าร่าง กม.กํากับน้ำมัน-ก๊าซ วิธีลดค่าไฟฟ้าต่ำกว่า 4 บาท

‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ เผยแจงความคืบหน้าร่างกฎหมายกํากับกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ เผยวิธีลดค่าไฟฟ้าให้ต่ำกว่า 4 บาท  เตรียมเร่งผลิตระบบโซลาร์ราคาถูกวางจำหน่ายในปีนี้ 10,000 เครื่อง

เมื่อวันที่ (13 ก.พ.68) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์พิเศษโดยเปิดเผยถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับร่างกฎหมายกํากับการประกอบกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซว่า ภาพรวมเป็นไปด้วยดี แต่ก็มีข้อท้วงติงจากผู้เชี่ยวชาญว่าอาจมีช่องโหว่ในเรื่องของการกำหนดราคาก๊าซ เพราะกฎหมายฉบับนี้จะดูแลประชาชนไปถึงเรื่องของก๊าซด้วย นั่นคือ กรณีของก๊าซหุงต้ม LPG และก๊าซที่ใช้สำหรับรถยนต์ ตนจึงได้มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน รวมทั้งผู้ชำนาญการช่วยกันทบทวนเพื่อปรับปรุงร่างกฎหมายในส่วนของก๊าซ เพื่อดูแลการกำหนดราคาให้ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งขณะนี้ก็ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว

ส่วนร่างกฎหมายเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกในการติดตั้งโซลาร์เซลล์นั้น นายพีระพันธุ์เปิดเผยว่า ทางพรรครวมไทยสร้างชาติได้ยื่นร่างกฎหมายนี้เข้าสภาฯไปแล้วก่อนหน้านี้ ขณะที่ทางรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานก็จะเสนอร่างกฎหมายส่งเสริมการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์เข้าสู่สภาฯ ในเร็ว ๆ นี้ โดยขณะนี้กำลังรอให้ทางสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบร่างฯ ของกระทรวงพลังงานแล้วเสร็จ และจะเร่งนำเข้าสู่กระบวนการทำประชาพิจารณ์โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 15-20 วัน ก่อนนำส่งเข้าสภาฯ เพื่อพิจารณาประกอบกับร่างฯ ที่เสนอจากพรรคการเมือง

ในส่วนของการปรับลดค่าไฟนั้น นายพีระพันธุ์กล่าวว่า ตนได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อหาแนวทางปรับลดค่าไฟมาตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2567 ที่ผ่านมา เพื่อหาทางปรับลดค่าไฟให้ได้ต่ำกว่า 4 บาทต่อหน่วย และมีแนวโน้มว่าจะทำได้ แต่ต้องปรับปรุงแก้ไขโครงสร้างและหลักเกณฑ์หลายอย่าง โดยเฉพาะการปรับระบบ Pool Gas แต่เผอิญว่าต้นปี 2568 มีประเด็นเพิ่มเติมเรื่องจะให้ลดค่าไฟลงมาเหลือ 3.70 บาทต่อหน่วย และสํานักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ซึ่งกำกับดูแลเรื่องค่าไฟ ก็ออกมาบอกว่าสามารถลดได้ ซึ่งสำหรับตนถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะตลอดปี 2567 ที่ผ่านมา ตนในฐานะรัฐมนตรีพลังงานต้องพยายามบริหารจัดการอย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้มีการขึ้นค่าไฟทุก 4 เดือน  จนสามารถตรึงค่าไฟไว้ได้ที่ 4.18 บาทต่อหน่วยไว้ได้ตลอดปี แต่อย่างไรก็ดี ข้อเสนอล่าสุดของ กกพ. ก็มีประเด็นที่อาจทำไม่ได้

“ทุก 4 เดือน ผมต้องพยายามบริหารจัดการเพื่อไม่ให้มีการขึ้นค่าไฟ เพราะถ้าลดยังไม่ได้ ก็อย่าขึ้น เพราะฉะนั้นปี 67 ทั้งปีเราได้ที่ 4 บาท 18 สตางค์มาตลอด ส่วนงวดปัจจุบันนี้ คือตั้งแต่ มกราคม-เมษายน 68 ผมก็ดําเนินการปรับลงมาที่ 4 บาท 15 สตางค์ แต่ก็ยังมีดราม่าบอกลดอะไร 3 สตางค์ ความจริงถ้าผมไม่ดําเนินการวันนั้น เขาบอกเขาจะขึ้นไป 5 บาทกว่า หรือไม่ก็ 4 บาทปลาย ๆ แต่อีกไม่กี่เดือนก็ต้องเหนื่อยต่อแล้ว เพราะค่าไฟงวดที่ 2 (พฤษภาคม-สิงหาคม 68) จะมาแล้ว ทุกทีผมต้องเป็นคนไปขอให้ลด แต่อย่างน้อยคราวนี้ ทาง กกพ. บอกว่าลดได้ ผมก็ใจชื้น แต่ประเด็นคือ เขาบอกว่าการลดนี้ให้เป็นนโยบายรัฐบาล ให้ไปเลิกสัญญา Adder กับสัญญาที่เป็นปัญหา ที่เราเรียกว่า สัญญาชั่วนิรันดร์ คือสัญญาไม่มีวันหมด ผมในฐานะรัฐมนตรีพลังงานก็ได้พยายามศึกษาแก้ปัญหาเรื่องนี้ เพราะไปเซ็นสัญญากันไว้ตั้งแต่ยุคไหนว่า สัญญานี้ต่ออายุไปเรื่อย ๆ ทุกห้าปี ไม่มีวันหมด แล้วก็ราคาก็สูงเกินปกติ เพราะฉะนั้นมันทําไม่ได้ ที่บอกให้ไปลด 17 สตางค์ได้โดยวิธีเลิกสัญญา ถ้าเลิกก็โดนฟ้องนะครับ ตอนนี้เรากําลังศึกษาว่ามีวิธีการอะไรที่จะแก้ไขสัญญาทั้งสองแบบนี้อยู่เพราะประเด็นที่เสนอโดย กกพ.นั้น มันทําไม่ได้” นายพีระพันธุ์กล่าว

อย่างไรก็ดี นายพีระพันธุ์ได้มองเห็นทางออกในอีกมุมว่า การปรับลดค่าไฟสามารถทำได้จากการบริหารจัดการเชื้อเพลิง เพราะปัจจุบัน ประเทศไทยใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟอยู่ 3 แหล่งใหญ่ ๆ คือ อ่าวไทย เมียนมา และจากต่างประเทศ โดยเฉพาะตะวันออกกลางที่นำเข้ามาเป็นก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG  ซึ่งมีราคาแพง และอิงราคาตลาดโลกที่ผันผวนตลอดเวลา  แต่ถ้าหากสามารถปรับพอร์ต Pool Gas ให้เป็นสัดส่วนชัดเจน ระหว่างการนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าและการนำไปใช้ในอุตสาหกรรม ก็น่าจะทำให้ค่าไฟลดลงได้อีกถึงเกือบ 40 สตางค์ โดยตนจะเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อให้ทันค่าไฟงวดต่อไป

“ปัญหาเรื่องค่าไฟต่างกับปัญหาเรื่องน้ำมันเยอะมากและมีประเด็นต่าง ๆ ที่ต้องเข้ามาแก้ไขเยอะมาก น้ำมันคือน้ำมัน แต่ค่าไฟ มันไม่ใช่แค่ค่าไฟ มันคือค่าแก๊ส ค่าถ่านหิน ค่าขนส่ง ค่าอะไรต่าง ๆ ที่บวกไว้ในสัญญา ค่าบริหารจัดการเงินกู้ของผู้ประกอบการ และที่สําคัญ ผมคิดว่าทํายังไงจะให้ กฟผ. กลับมาแข็งแรงแล้วก็เป็นหลักให้กับประชาชนในเรื่องของการผลิตไฟฟ้า แล้วกําหนดค่าไฟที่ถูกต้องเป็นธรรมมากขึ้น” นายพีระพันธุ์กล่าว

สำหรับกรณีที่มีกระแสว่าการทำงานของ รมว.พลังงาน จะไปขัดผลประโยชน์และสร้างความไม่พอใจให้แก่กลุ่มทุนนั้น นายพีระพันธุ์กล่าวว่า ตนทำในสิ่งที่ต้องทำ ไม่ได้ทําเพื่อจะไปเป็นศัตรูกับใคร แต่ต้องทําในสิ่งที่ประชาชนได้ประโยชน์ ประเทศชาติได้ประโยชน์สูงสุด


“เราไม่ได้เจตนาไปทําอะไรใคร คนเขาพูดไปเอง สื่อก็พูดไปเรื่อยนะครับ จริง ๆ ผมก็ทํางานในสิ่งที่ต้องทํา เมื่อมาเห็นอะไรต้องปรับปรุงก็ต้องทํา และที่สําคัญก็คือว่ามันไม่ใช่เราคนเดียว มันเป็นนโยบายรัฐบาล และถ้าหากจําได้นะครับ ท่านนายกรัฐมนตรีได้ไปประกาศที่ NBT เรื่องของการปรับลดค่าไฟฟ้า ค่าพลังงาน และท่านก็มอบหมายให้ผมเป็นคนทํา เพราะฉะนั้นมันก็เป็นหน้าที่ที่ผมต้องทํา ทั้งนโยบายส่วนตัว ทั้งนโยบายของพรรคของผมรวมถึงนโยบายรัฐบาลมันตรงกันในเรื่องตรงนี้ เพราะฉะนั้นเมื่อเรามาทํา เราก็ต้องทํานะครับ เราไม่ได้ทําเพราะว่า มันจะกระทบใคร หรือจะเกิดอะไร แต่ต้องทําในสิ่งที่ประชาชนได้ประโยชน์ ประเทศชาติได้ประโยชน์สูงสุด และผมพูดเสมอว่านายทุนหลักคือประชาชน” นายพีระพันธุ์กล่าว

นอกจากนี้ นายพีระพันธุ์ยังได้กล่าวถึงความคืบหน้าของการพัฒนาเครื่อง Inverter สำหรับติดตั้งกับระบบโซลาร์เซลล์สิทธิบัตรของคนไทย ซึ่งกระทรวงพลังงานมีแผนจะนำออกจำหน่ายในราคาถูกให้กับประชาชนในปีนี้ว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างการทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยในขั้นตอนที่ 2 และ 3 หลังจากผ่านการทดสอบขั้นตอนแรกของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ( สวทช.) โดยทางผู้ออกแบบกำลังนำอุปกรณ์ต้นแบบไปทดสอบที่ห้องแล็บในประเทศจีนภายใต้การรับรองของ สวทช. ทั้งนี้เพื่อความรวดเร็วและความสะดวกในการปรับปรุงอุปกรณ์ และเมื่อผ่านการทดสอบแล้วก็จะเข้าสู่กระบวนการผลิต ซึ่งทางกระทรวงพลังงานจะร่วมกับบริษัทในเครือของ กฟผ. และ ปตท. ในการผลิตและจําหน่ายให้ประชาชนในราคาถูก โดยจะเตรียมการผลิตเบื้องต้นประมาณ 10,000 เครื่อง และคาดว่าจะทำให้ประชาชนสามารถติดตั้งระบบโซลาร์ได้ในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดประมาณ 60% อีกทั้งยังมีการจัดหาเงินทุนสนับสนุนในเรื่องของการติดตั้งและการลดหย่อนภาษีด้วย

“ผมได้คุยกับท่านรัฐมนตรีอุตสาหกรรม ท่านดูแลเอสเอ็มอีแบงค์ ก็จะให้ทางเอสเอ็มอีแบงค์มาช่วย สําหรับคนที่ไม่มีเงินทุนพอ ก็จะสามารถไปกู้ยืมเงินจากเอสเอ็มอี แล้วผมก็จะสนับสนุนอีกบางส่วนจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานเพื่อช่วยเหลือเรื่องดอกเบี้ย และส่วนที่กระทรวงพลังงานเดินหน้าไปแล้วก็คือ ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะให้กระทรวงการคลังช่วยหักลดหย่อนภาษีด้วย” นายพีระพันธุ์กล่าว

คาดเศรษฐกิจไทยปี 68 เวิลด์แบงก์เชื่อจีดีพีโต 2.9% แม้หนี้ครัวเรือนพุ่ง-ส่งออกชะลอตัว

(14 ก.พ.68) ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะเติบโต 2.9% เพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากการลงทุนภาครัฐ ขณะที่การท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนโควิด-19 ภายในกลางปี นอกจากนี้ นโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ส่งผลให้ระดับความยากจนลดลง 8.29% ในปี 2567 อย่างไรก็ตาม จีดีพีของไทยยังคงต่ำ และยังต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก 

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า รายงาน *Thailand Economic Monitor* ฉบับล่าสุด คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตจาก 2.6% ในปี 2567 เป็น 2.9% ในปี 2568  

การลงทุนที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะภาครัฐ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการเบิกจ่ายงบประมาณที่เพิ่มขึ้น และการเดินหน้าโครงการโครงสร้างพื้นฐาน เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน การบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวยังมีบทบาทสำคัญ โดยคาดว่าภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในกลางปี 2568  

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก โดยนวัตกรรม ผู้ประกอบการ และธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีความยืดหยุ่นและพลวัตสูง จะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืน  

"ประเทศไทยมีกรรมเก่า คือ หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง แต่ก็ยังมีบุญเก่า คือ เสถียรภาพเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในระดับดี โดยดุลบัญชีเดินสะพัดปีนี้กลับมาเป็นบวกจากการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวที่แข็งแกร่ง ขณะที่เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ต่ำกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด" นายเกียรติพงศ์กล่าว พร้อมเสริมว่า แม้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะดีกว่าที่คาด แต่จีดีพีของไทยยังคงต่ำกว่าระดับศักยภาพ โดยคาดการณ์ว่าในปี 2569 จีดีพีจะเติบโตที่ 2.7%  

ความท้าทายสำคัญที่ไทยต้องเผชิญ ได้แก่ การลดระดับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง การกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน และการสร้างความยั่งยืนทางการคลัง ท่ามกลางความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สังคมผู้สูงอายุ สงครามการค้า และความผันผวนของเศรษฐกิจโลก  

ธนาคารโลกระบุว่า ประเทศไทยควรเสริมสร้างความยืดหยุ่นทางการคลังผ่านการปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ การใช้งบประมาณอย่างมีกลยุทธ์ การขยายฐานภาษี และการให้ความสำคัญกับการลงทุนที่กระตุ้นการเติบโตในภาคโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อความยั่งยืนระยะยาว  

นางเมลินดา กูด ผู้อำนวยการธนาคารโลก ประจำประเทศไทยและเมียนมา เปิดเผยว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และโครงการแจกเงิน 10,000 บาทของรัฐบาล ส่งผลให้อัตราความยากจนลดลงจาก 8.5% ในปี 2566 เหลือ 8.29% ในปี 2567  

“ประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างโดดเด่นตลอด 5 ทศวรรษที่ผ่านมา การปลดล็อกศักยภาพการเติบโตในอนาคต จำเป็นต้องมีการตัดสินใจที่กล้าหาญ ควบคู่ไปกับการลงทุนในระบบนิเวศนวัตกรรม การพัฒนาทักษะสำหรับอนาคต และการปรับปรุงกฎระเบียบที่เอื้อต่อการเติบโต ซึ่งจะช่วยให้คนไทยสามารถปรับตัวต่อความท้าทายระดับโลกและเติบโตได้อย่างมั่นคงในอนาคต” นางเมลินดากล่าว

รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (12) : จริงหรือ? ที่ ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ เพราะผลิตไฟฟ้าจาก ‘พลังงานหมุนเวียน’ น้อยไป

“ถ้าประเทศไทยผลิตและใช้ไฟฟ้าจาก ‘พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy)’ มากกว่านี้ จะทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยผู้ใช้ไฟฟ้าจ่ายค่าไฟฟ้าถูกลง” เป็นคำกล่าวอ้างของ  นักวิชาการ และ NGO บางคน กับสื่อบางสำนัก ซึ่งระบุว่า หากเพิ่มการใช้ ‘พลังงานหมุนเวียน’ ในการผลิตไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น ย่อมจะทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลงอย่างแน่นอน แต่ความเป็นจริงแล้ว มิได้เป็นเช่นนั้นเลย เพราะ ‘พลังงานหมุนเวียน’ แม้จะมีข้อดี แต่ก็มีจุดอ่อนและข้อด้อยอยู่เยอะแยะมากมาย

ปัจจุบันมีพลังงานทางเลือกอยู่ 7 ประเภทได้แก่ :
1. พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานหมุนเวียนประเภทเดียวที่แต่ละครัวเรือนสามารถติดตั้งและใช้งานผลิตไฟฟ้าได้เองตามสถานที่ที่มีอยู่ บ้านสำนักงาน อาคาร โรงงาน ฯลฯ
2. พลังงานลม เพื่อใช้ประโยชน์จากลมแรง จำเป็นต้องสร้างกังหันลมขนาดใหญ่ในพื้นที่ที่มีลมแรง 
3. พลังงานน้ำ มีเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกับพลังงานลม ยกเว้นพลังที่ใช้งานคือน้ำแทนที่จะเป็นอากาศ แม้การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อาจมีราคาแพง แต่จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ในปริมาณมาก
4. พลังงานความร้อนใต้พิภพ เป็นพลังงานสะอาดและหมุนเวียนอีกชนิดหนึ่งที่ถือเป็นแหล่งพลังงานที่ยั่งยืนได้ ด้วยการนำความร้อนภายในโลกที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ แต่ทำได้ในเพียงบางพื้นที่
5. พลังงานชีวมวลคือความร้อนที่ได้รับจากขยะอินทรีย์ด้วยการเผา ถือเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนเนื่องจากมนุษย์สร้างวัสดุอินทรีย์ขึ้นมาใหม่เสมอ โดยส่วนใหญ่เป็นพืช
6. พลังงานน้ำขึ้นน้ำลงหรือพลังงานจากมหาสมุทรคือพลังงานน้ำที่สามารถได้รับจากน้ำขึ้นน้ำลง พลังงานนี้บางครั้งจะถูกจัดอยู่ในประเภทของพลังงานน้ำ ไม่ใช่ประเภทอื่น
7. ไฮโดรเจนเป็นธาตุที่พบมากที่สุดในโลกใบนี้ โดยน้ำมีอยู่ถึงสองในสาม ธาตุนี้สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงคาร์บอนเป็นศูนย์ได้หากสามารถแยกออกจากกันได้

ข้อดีของพลังงานหมุนเวียน
1. แหล่งพลังงานหมุนเวียนจะไม่หมดลง แหล่งพลังงานหมุนเวียนเป็นพลังงานที่ยั่งยืน ซึ่งหมายความว่าจะไม่หมดลงในเร็ว ๆ นี้ เช่น การคาดว่าดวงอาทิตย์จะส่องแสงเป็นเวลาอย่างน้อย 4.5 - 5.5 พันล้านปี 
2. สามารถควบคุมแหล่งพลังงานหมุนเวียนได้โดยง่ายดาย ไม่มีปัญหาใด ๆ ยกเว้นปัญหาจากสภาพอากาศ
3. พลังงานหมุนเวียนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยวิธีการผลิตไฟฟ้าจากธรรมชาติ ดังนั้นจึงถือว่าสะอาด แม้ว่าเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนอาจทำให้เกิดการปล่อยมลพิษได้บ้าง แต่โดยรวมแล้ว คาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกจะถูกปล่อยออกมาสู่สิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด จึงเป็นส่วนสำคัญในการปกป้องคุณภาพชีวิตของประชาชน ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสารมลพิษอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของพลโลกทุกคนดีขึ้น 
4. เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนนอกจากลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนยังเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจด้วยการสร้างตำแหน่งงานมากมาย
5. เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนมีต้นทุนการบำรุงรักษาที่น้อยกว่าพลังงานที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
6. พลังงานหมุนเวียนสามารถป้องกันความผันผวนวุ่นวายของราคาพลังงานได้ สามารถเพิ่มอิสรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศได้ ด้วยการลดการพึ่งพานำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิล

แต่ข้อเสียของพลังงานหมุนเวียนก็มีอยู่ไม่น้อยเลยเช่นกัน ซึ่งทำให้พลังงานหมุนเวียนกลายเป็นเรื่องยาก
1. พลังงานหมุนเวียนไม่สามารถใช้ได้ตลอดเวลา พลังงานธรรมชาติขึ้นอยู่กับสภาพอากาศเป็นอย่างมาก เมื่อสภาพอากาศเลวร้าย เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน อาทิ เซลล์แสงอาทิตย์จะใช้ประโยชน์ได้น้อยลง
2. ประสิทธิภาพของเทคโนโลยีหมุนเวียนยังคงต่ำ เมื่อเทียบกับอุปกรณ์ผลิตพลังงานไฟฟ้าแบบดั้งเดิม
3. ต้นทุนเริ่มต้นของพลังงานหมุนเวียนนั้นยังคงมีราคาค่อนข้างสูง และบางครั้งอาจไม่สามารถจ่ายได้ 
4. แหล่งพลังงานหมุนเวียนต้องการพื้นที่จำนวนมากเพื่อใช้ประโยชน์จากพลังงานธรรมชาติเมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าแบบเดิมแล้ว จำเป็นต้องใช้พื้นที่มากขึ้นในการสร้างฟาร์มพลังงานหมุนเวียนมากกว่า
5. อุปกรณ์พลังงานหมุนเวียนต้องได้รับการรีไซเคิล แม้การผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนก่อให้เกิดมลพิษในระดับที่ต่ำมาก แต่อุปกรณ์ผลิตพลังงานหมุนเวียนที่ยังมีข้อกังวลจากการผลิตและกระบวนการกำจัดอุปกรณ์ที่หมดอายุอาจก่อให้เกิดมลพิษขึ้นได้
6. ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใช้ โดยเฉพาะโซลาร์เซลล์ได้เฉพาะเวลากลางวันเท่านั้น หากจะเก็บกักไว้ใช้ในเวลากลางคืนต้องลงทุนระบบแบตเตอรี่ ในปัจจุบันยังมีราคาที่แพงมาก

แม้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าจะมีประโยชน์ มีข้อดี และมีความสำคัญมากมาย แต่ในปัจจุบันต้นทุนเริ่มต้นในการสร้างเครือข่ายเทคโนโลยีหมุนเวียนเพื่อพลังงานไฟฟ้ายังคงสูงมาก โดยเฉพาะระบบแบตเตอรี่ที่ใช้ในการเก็บกักไฟฟ้า จนทำให้การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนยังคงไม่สามารถถึงจุดคุ้มค่าต่อการลงทุนในระยะเวลาอันสั้น อีกทั้งอัตราการสึกหรอและเสื่อมสภาพของอุปกรณ์ผลิตและเก็บกักไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนยังคงสูง ความจริงอีกประการหนึ่งที่ผู้คนยังไม่รู้คือ เมื่อเพิ่มระบบแบตเตอรี่ก็ต้องเพิ่มระบบผลิตไฟฟ้าอีก ซึ่งจะต้องใช้โซลาร์เซลล์มากกว่าที่เป็นอยู่อย่างน้อยสามเท่าในการผลิตไฟฟ้าเพื่อให้สามารถเก็บกักได้พอใช้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง อีกทั้งยังจะต้องมีการเพิ่ม ‘ไฟฟ้าสำรอง’ มากขึ้นด้วยเพื่อให้ ‘ระบบไฟฟ้า’โดยรวมมีความเสถียรมากพอเพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงด้านพลังงานไฟฟ้าด้วย และที่สุดจะส่งผลกระทบทำให้ค่าไฟฟ้าต้องแพงขึ้นโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้อย่างแน่นอน

‘นายกฯ’ เปิด FTI EXPO 2025 งานยิ่งใหญ่แห่งปี หนุนเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการสู่ตลาดโลกอย่างยั่งยืน

นายกฯ ‘แพทองธาร’ ประธานเปิดงาน FTI EXPO 2025: “EMPOWERING THAI INDUSTRY, ELEVATING THAILAND’S FUTURE เสริมพลังอุตสาหกรรมไทย เพื่ออนาคตไทย ที่ยั่งยืน” ซึ่งจัดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับพันธมิตรองค์กรชั้นนำ จัดขึ้นระหว่าง 12-15 ก.พ. นี้ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ด้วยแนวทาง 4GO ครอบคลุม ทั้งดิจิทัล นวัตกรรม การขยายตลาดต่างประเทศ และการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน  

(13 ก.พ. 68) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน FTI EXPO 2025 งานรวมสุดยอดอุตสาหกรรมไทยที่จัดขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์ “EMPOWERING THAI INDUSTRY, ELEVATING THAILAND’S FUTURE เสริมพลังอุตสาหกรรมไทย เพื่ออนาคตไทย ที่ยั่งยืน” ซึ่งเป็นงานมหกรรมด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีภาคอุตสาหกรรมไทยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปีที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความก้าวหน้าของภาคอุตสาหกรรมไทยที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จัดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้แสดงปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “จุดประกายอุตสาหกรรมไทย สร้างเศรษฐกิจใหม่ นำประเทศสู่ความยั่งยืน” ซึ่งเน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยจากอุตสาหกรรมเดิมไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งเป็นเป้าหมายของประเทศ โดยต้องมีการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งภาคอุตสาหกรรม ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

“การจัดงานในครั้งนี้ เป็นการจับมือองค์กรพันธมิตรชั้นนำ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจในการทำงานระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยกันขับเคลื่อนประเทศไทย เพื่อให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ เศรษฐกิจมีความมั่นคง ประชาชนทุกภาคส่วนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและสร้างรายได้ให้กับประเทศ

ความร่วมมือดังกล่าว จะนำไปสู่การดำเนินงานที่เชื่อมโยงกันทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ไปจนถึงปลายทาง ไม่ว่าจะเป็นการผลิต การแปรรูป การใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์และสินค้า การบริหารจัดการด้านการตลาด ตลอดจนการตอบสนองต่อกระแสด้านสิ่งแวดล้อม โดยรัฐบาลได้ให้ความสำคัญและตระหนักถึงการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาและยกระดับต่อยอดการพัฒนาในทุกมิติ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเวทีระดับโลก

ประเทศไทยจะกลายเป็นยานยนต์แห่งอนาคตที่สามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างเต็มกำลัง ความมุ่งหมายของรัฐบาลมีสิ่งเดียว ซึ่งเหมือนกับพี่น้องประชาชนทุกคน นั่นคือ การได้เห็นบ้านเมืองเจริญก้าวหน้า ประชาชนอยู่ดีกินดี สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ และดิฉันเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าไทยเราทำได้อย่างแน่นอน หากเราทุกคนจับมือแล้วก้าวไปพร้อมกัน ซึ่งความร่วมมือระหว่างภาครัฐและ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จะสามารถนำพาภาคอุตสาหกรรมไทยไปสู่การพัฒนาอย่างมั่นคงและยั่งยืน”

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัจจุบัน ท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ ตอกย้ำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ที่มีความผันผวนและซับซ้อนมากขึ้น ภาคอุตสาหกรรมจึงต้องมีการพัฒนาและปรับตัวให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้าและเทคโนโลยี ตลอดจนผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่คาดการณ์ได้ยากและมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นทุกปี ทั้งหมดนี้ คือ ความท้าทายที่ประเทศไทยจะต้องรวมพลังกัน พลิกความท้าทายให้เป็นโอกาสในการพัฒนาประเทศ เร่งเดินหน้าปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ต่อยอดการพัฒนาของภาคการผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการไทย ขณะเดียวกันต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษา เพื่อสร้างกำลังคนรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต พร้อมทั้งวางยุทธศาสตร์ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอุตสาหกรรมในภูมิภาคนี้

เพื่อเป็นการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ และเพื่อแสดงให้ทั่วโลกเห็นถึงศักยภาพและความก้าวหน้าของภาคอุตสาหกรรมไทย จึงทำให้การจัดงาน FTI EXPO 2025 เกิดขึ้น โดยรวมพลังความร่วมมือจากกลุ่ม 47 กลุ่มอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด สถาบันภายใต้การกำกับดูแลของ ส.อ.ท. หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานระหว่างประเทศ และสถาบันการศึกษา ภายใต้นโยบาย ONE FTI (ONE Vision, ONE Team, ONE Goal) ในการวางรากฐานและขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย รวมทั้งยกระดับ SMEs ไปสู่ Smart SMEs ด้วยแนวทาง 4GO ซึ่งประกอบด้วย GO Digital & AI, GO Innovation, GO Global และ GO Green ที่ครอบคลุมในเรื่องของดิจิทัล นวัตกรรม การขยายตลาดต่างประเทศ และการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน 

งาน FTI EXPO 2025 ในครั้งนี้ จะเป็นเวทีในการขยายช่องทางการตลาดของสินค้า บริการและนวัตกรรมฝีมือคนไทยผ่านสินค้าที่ได้รับการรับรอง Made in Thailand (MiT) ผลักดันให้เกิดการค้า การลงทุนเพื่อเชื่อมโยงสู่ตลาดสากล ซึ่งจะทำให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

“FTI EXPO 2025 ภายใต้ธีม “EMPOWERING THAI INDUSTRY, ELEVATING THAILAND’S FUTURE เสริมพลังอุตสาหกรรมไทยเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน” จะเป็นโอกาสครั้งสำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะได้ขยายช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ เชื่อมเครือข่ายธุรกิจจากทั่วโลก เปิดมุมมองใหม่ๆ กับนวัตกรรมและเทคโนโลยีล้ำสมัย แลกเปลี่ยนความรู้ที่เป็นประโยชน์กับเวทีเสวนาโดยกูรูทั้งระดับประเทศและระดับโลกที่มากด้วยคุณวุฒิและประสบการณ์ในด้านต่างๆ รวมถึงโซน FTI OUTLET ที่ให้ผู้เข้าร่วมได้มีโอกาสซื้อผลิตภัณฑ์คุณภาพจากสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยทั่วประเทศในราคาสุดพิเศษ ทั้งหมดจะมีพร้อมในงานนี้บนพื้นที่การจัดงานกว่า 20,000 ตารางเมตร” 

“อีกหนึ่งไฮไลต์ของงานนี้ที่พลาดไม่ได้ คือ ทุกท่านจะได้พบกับการสาธิตการบินโดรนโดยสาร (Passenger Drone) รุ่น Sliver Hawk ซึ่งเป็นโดรนโดยสารจากผู้ประกอบการไทยรายแรก ที่สร้าง Passenger Drone ได้สำเร็จ และได้รับการรับรอง MiT (Made in Thailand) โดรนโดยสาร นับเป็นเทคโนโลยีการขนส่งแห่งอนาคตที่จะขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยต่อไป และทุกท่านจะได้เห็นกันในงานนี้ เราจะมีการสาธิตการบินโดรนทุกวัน ตั้งแต่วันที่ 12-15 กุมภาพันธ์ 2568 วันละ 1 รอบ เวลา 14.00-15.00 น. ที่ลานพระสรัสวดี ประตู 2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และสวนเบญจกิติ” นายเกรียงไกร กล่าวทิ้งท้าย

งาน FTI EXPO 2025 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-15 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 10.00-19.00 น. ณ Hall 5-8 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยคาดว่า ปีนี้จะมีผู้เข้าร่วมชมงานไม่น้อยกว่า 70,000 ราย และสร้างโอกาสทางการค้าได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท

บางจากฯ ได้รับการประเมินระดับสูงสุด Top1% พุ่งขึ้นอันดับหนึ่งทำเนียบธุรกิจยั่งยืนระดับโลก

(13 ก.พ.68) บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้รับการประเมินด้านความยั่งยืนระดับสูงสุด Top 1%ของกลุ่มอุตสาหกรรม Oil & Gas Refinery and Marketing ในทำเนียบ 'The Sustainability Yearbook 2025' จากการประเมินของ S&P Global Corporate Sustainability Assessment (CSA) ประจำปี 2024 

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “บางจากฯ ได้รับการประเมินด้านความยั่งยืนอันดับสูงสุดของโลก(Top1%) ของกลุ่มอุตสาหกรรม Oil & Gas Refinery and Marketing ในรายงานประจำปี “The Sustainability Yearbook 2025” โดยจากการประเมินในปี 2024 บางจากฯ มีคะแนนรวม 85 คะแนน (จาก 100 คะแนน) และมีคะแนนสูงสุด (Best Dimension) ใน 2 มิติ  คือมิติการกำกับดูแล (Governance) และมิติสิ่งแวดล้อม (Environment) พร้อมได้รับการยกย่องให้เป็น Industry Mover หรือองค์กรที่มีพัฒนาการด้านความยั่งยืนโดดเด่นที่สุดจาก 43 บริษัททั่วโลกที่เข้ารับการประเมินจากอุตสาหกรรมดังกล่าว”

นอกเหนือจากความเป็นเลิศด้านธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและการตลาดแล้ว บางจากฯ ยังได้รับการประเมินด้าน สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (ESG) สูงสุดในระดับโลกจาก S&P Global CSA ผู้จัดทำรายงาน The Sustainability Yearbook ซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำด้านการประเมิน ESG และเป็นผู้จัดทำดัชนี Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) โดยในปี 2024 มีผู้เข้ารับการประเมิน 7,690 บริษัทจาก 62 อุตสาหกรรมทั่วโลก และบางจากฯ เข้ารับการประเมิน S&P Global CSA ต่อเนื่องมาเป็นเวลา 10 ปี ตอกย้ำถึงความเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนในระดับสากล

“ความสำเร็จในครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญในระดับโลกของบางจากฯ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ในการบูรณาการหลักการด้าน ESG เข้าสู่ทุกมิติของการดำเนินงาน เพื่อสร้างคุณค่าร่วมให้กับทุกภาคส่วน เราภูมิใจที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล และจะยังคงเดินหน้าสร้างอนาคตพลังงานที่สมดุลและยั่งยืน เพื่อโลกและสังคม พร้อมก้าวสู่ทศวรรษที่ 5 อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน” นายชัยวัฒน์กล่าวทิ้งท้าย

‘สุริยะ’ ยัน รถไฟฟ้า 20 บาททุกสีทุกสาย มาแน่ คาดสามารถประกาศใช้เดือนกันยายน นี้

‘สุริยะ’ ยืนยัน นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาททุกสีทุกสาย ประกาศใช้ในเดือน ก.ย. นี้ ชี้ รถไฟฟ้า 20 บาท ดันผู้ใช้บริการ สายสีม่วง-สายสีแดง โต 10.86%

(13 ก.พ. 68) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ที่ในปัจจุบันได้ดำเนินการมาแล้วกว่า 1 ปี 2 เดือนในโครงการรถไฟฟ้า 2 เส้นทาง ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - คลองบางไผ่ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ - รังสิต และช่วงบางซื่อ - ตลิ่งชัน ได้ผลตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี สะท้อนได้จากข้อมูลในช่วงที่ผ่านมาที่มีสถิติการมีผู้ใช้บริการสูงที่สุด (นิวไฮ) ตั้งแต่เปิดให้บริการ โดยทั้ง 2 สายดังกล่าว มีปริมาณผู้โดยสารรวม 3,054,439 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.86 และรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.28 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ นายสุริยะ ยืนยันจะประกาศใช้นโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายในโครงการรถไฟฟ้าทุกสี ทุกสาย และทุกเส้นทางภายในเดือนกันยายน 2568 ตามที่เคยกำหนดไว้ ภายใต้การขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. …. ผ่านการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม ที่ในขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการ คาดว่า จะประกาศราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ในช่วงกลางปี 2568 และเสนอประกาศกฎหมายลำดับรองภายในเดือนกันยายน 2568

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า เมื่อนโยบายนี้ ครอบคลุมในทุกเส้นทาง จะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างแน่นอน นอกจากนี้ เมื่อมีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้นแล้ว คาดว่า รถไฟฟ้าสายสีม่วง และรถไฟฟ้าสายสีแดง จะมีรายได้เท่ากับหรือมากกว่าช่วงก่อนเริ่มนโยบายภายในปี 2568 หรือเร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ จากเดิมที่คาดว่าภายในระยะ 2 ปี 7 เดือนหลังจากเริ่มนโยบาย ซึ่งส่งผลให้ภาครัฐอาจจะไม่ต้องชดเชยส่วนต่างรายได้ให้กับทั้ง 2 โครงการดังกล่าวแล้ว

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า จากแนวโน้มปริมาณผู้โดยสารที่ตอบรับนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้น ถือว่า เป็นสัญญาณที่ดีที่รัฐบาล และกระทรวงคมนาคมได้ช่วยลดภาระค่าครองชีพในการเดินทางให้กับพี่น้องประชาชน อีกทั้งยังจูงใจให้หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งเป็นอีก 1 ปัจจัยในการช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 และสร้างโอกาสในการเดินทางอย่างเท่าเทียมของคนทุกกลุ่มด้วย

มาสด้าทุ่ม 5,000 ล้าน!! ดันไทยขึ้นแท่นฐานผลิต B-SUV Mild Hybrid เตรียมผลิต 1 แสนคันต่อปี ส่งออกญี่ปุ่น-อาเซียน-ตลาดโลก

(13 ก.พ.68) นายมาซาฮิโร โมโร (Masahiro Moro) ประธานและซีอีโอของบริษัท มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีของไทยเพื่อหารือเกี่ยวกับแผนการขยายการลงทุนในประเทศไทย โดยมาสด้าเตรียมทุ่มงบกว่า 5,000 ล้านบาท เพื่อใช้ไทยเป็นฐานการผลิตหลักของรถยนต์อเนกประสงค์ B-SUV แบบ Mild Hybrid (MHEV) ตั้งเป้าการผลิตที่ 100,000 คันต่อปี เพื่อส่งออกไปยังตลาดทั่วโลก

แผนการลงทุนครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากมาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือบอร์ดอีวี ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เห็นชอบไปเมื่อเดือนธันวาคม 2567 โดยมาตรการดังกล่าวรวมถึงการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์ Hybrid (HEV) และ Mild Hybrid (MHEV) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 7 ปี ตั้งแต่ปี 2569 ถึง 2575 นอกจากนี้ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ยังได้ออกมาตรการส่งเสริมเพื่อกระตุ้นการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ผลิตที่นำเทคโนโลยีอัตโนมัติและระบบหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต

นายมาซาฮิโร โมโร เปิดเผยว่า มาสด้ามีประวัติการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมายาวนานกว่า 70 ปี และได้ลงทุนสร้างฐานการผลิตมาอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากโรงงาน AutoAlliance (AAT) ในจังหวัดระยองเมื่อปี 2538 เพื่อผลิตรถยนต์นั่งและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และโรงงาน Mazda Powertrain Manufacturing Thailand (MPMT) ในจังหวัดชลบุรี เมื่อปี 2558 สำหรับการผลิตเครื่องยนต์และเกียร์อัตโนมัติ โรงงานเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตของมาสด้าและซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้อง

สำหรับการลงทุนครั้งล่าสุด มาสด้ามุ่งมั่นผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์พลังงานทางเลือก (xEV) โดยเพิ่มงบลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาทเพื่อผลิต B-SUV Mild Hybrid ซึ่งเป็นรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเพื่อลดการใช้เชื้อเพลิง ลดมลภาวะ และเพิ่มความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล รถยนต์รุ่นนี้จะถูกผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศและส่งออกไปยังญี่ปุ่น กลุ่มประเทศอาเซียน และตลาดโลก การลงทุนดังกล่าวยังครอบคลุมถึงการผลิตชิ้นส่วนสำคัญ เช่น เครื่องยนต์ เกียร์ และแบตเตอรี่ โดยตั้งเป้าที่จะเริ่มกระบวนการผลิตภายในปี 2570

นอกจากการขยายฐานการผลิต มาสด้ายังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเครือข่ายซัพพลายเชนในประเทศเพื่อรองรับเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ โดยการลงทุนนี้ถือเป็นก้าวสำคัญภายใต้แนวทาง Multi-Solution ของมาสด้า ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความร่วมมืออันยาวนานระหว่างบริษัทกับประเทศไทย พร้อมทั้งมีส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์และเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top