Saturday, 22 March 2025
ECONBIZ NEWS

คาดเศรษฐกิจไทยปี 68 เวิลด์แบงก์เชื่อจีดีพีโต 2.9% แม้หนี้ครัวเรือนพุ่ง-ส่งออกชะลอตัว

(14 ก.พ.68) ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะเติบโต 2.9% เพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากการลงทุนภาครัฐ ขณะที่การท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนโควิด-19 ภายในกลางปี นอกจากนี้ นโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ส่งผลให้ระดับความยากจนลดลง 8.29% ในปี 2567 อย่างไรก็ตาม จีดีพีของไทยยังคงต่ำ และยังต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก 

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า รายงาน *Thailand Economic Monitor* ฉบับล่าสุด คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตจาก 2.6% ในปี 2567 เป็น 2.9% ในปี 2568  

การลงทุนที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะภาครัฐ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการเบิกจ่ายงบประมาณที่เพิ่มขึ้น และการเดินหน้าโครงการโครงสร้างพื้นฐาน เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน การบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวยังมีบทบาทสำคัญ โดยคาดว่าภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในกลางปี 2568  

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก โดยนวัตกรรม ผู้ประกอบการ และธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีความยืดหยุ่นและพลวัตสูง จะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืน  

"ประเทศไทยมีกรรมเก่า คือ หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง แต่ก็ยังมีบุญเก่า คือ เสถียรภาพเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในระดับดี โดยดุลบัญชีเดินสะพัดปีนี้กลับมาเป็นบวกจากการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวที่แข็งแกร่ง ขณะที่เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ต่ำกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด" นายเกียรติพงศ์กล่าว พร้อมเสริมว่า แม้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะดีกว่าที่คาด แต่จีดีพีของไทยยังคงต่ำกว่าระดับศักยภาพ โดยคาดการณ์ว่าในปี 2569 จีดีพีจะเติบโตที่ 2.7%  

ความท้าทายสำคัญที่ไทยต้องเผชิญ ได้แก่ การลดระดับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง การกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน และการสร้างความยั่งยืนทางการคลัง ท่ามกลางความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สังคมผู้สูงอายุ สงครามการค้า และความผันผวนของเศรษฐกิจโลก  

ธนาคารโลกระบุว่า ประเทศไทยควรเสริมสร้างความยืดหยุ่นทางการคลังผ่านการปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ การใช้งบประมาณอย่างมีกลยุทธ์ การขยายฐานภาษี และการให้ความสำคัญกับการลงทุนที่กระตุ้นการเติบโตในภาคโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อความยั่งยืนระยะยาว  

นางเมลินดา กูด ผู้อำนวยการธนาคารโลก ประจำประเทศไทยและเมียนมา เปิดเผยว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และโครงการแจกเงิน 10,000 บาทของรัฐบาล ส่งผลให้อัตราความยากจนลดลงจาก 8.5% ในปี 2566 เหลือ 8.29% ในปี 2567  

“ประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างโดดเด่นตลอด 5 ทศวรรษที่ผ่านมา การปลดล็อกศักยภาพการเติบโตในอนาคต จำเป็นต้องมีการตัดสินใจที่กล้าหาญ ควบคู่ไปกับการลงทุนในระบบนิเวศนวัตกรรม การพัฒนาทักษะสำหรับอนาคต และการปรับปรุงกฎระเบียบที่เอื้อต่อการเติบโต ซึ่งจะช่วยให้คนไทยสามารถปรับตัวต่อความท้าทายระดับโลกและเติบโตได้อย่างมั่นคงในอนาคต” นางเมลินดากล่าว

รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (12) : จริงหรือ? ที่ ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ เพราะผลิตไฟฟ้าจาก ‘พลังงานหมุนเวียน’ น้อยไป

“ถ้าประเทศไทยผลิตและใช้ไฟฟ้าจาก ‘พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy)’ มากกว่านี้ จะทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยผู้ใช้ไฟฟ้าจ่ายค่าไฟฟ้าถูกลง” เป็นคำกล่าวอ้างของ  นักวิชาการ และ NGO บางคน กับสื่อบางสำนัก ซึ่งระบุว่า หากเพิ่มการใช้ ‘พลังงานหมุนเวียน’ ในการผลิตไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น ย่อมจะทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลงอย่างแน่นอน แต่ความเป็นจริงแล้ว มิได้เป็นเช่นนั้นเลย เพราะ ‘พลังงานหมุนเวียน’ แม้จะมีข้อดี แต่ก็มีจุดอ่อนและข้อด้อยอยู่เยอะแยะมากมาย

ปัจจุบันมีพลังงานทางเลือกอยู่ 7 ประเภทได้แก่ :
1. พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานหมุนเวียนประเภทเดียวที่แต่ละครัวเรือนสามารถติดตั้งและใช้งานผลิตไฟฟ้าได้เองตามสถานที่ที่มีอยู่ บ้านสำนักงาน อาคาร โรงงาน ฯลฯ
2. พลังงานลม เพื่อใช้ประโยชน์จากลมแรง จำเป็นต้องสร้างกังหันลมขนาดใหญ่ในพื้นที่ที่มีลมแรง 
3. พลังงานน้ำ มีเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกับพลังงานลม ยกเว้นพลังที่ใช้งานคือน้ำแทนที่จะเป็นอากาศ แม้การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อาจมีราคาแพง แต่จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ในปริมาณมาก
4. พลังงานความร้อนใต้พิภพ เป็นพลังงานสะอาดและหมุนเวียนอีกชนิดหนึ่งที่ถือเป็นแหล่งพลังงานที่ยั่งยืนได้ ด้วยการนำความร้อนภายในโลกที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ แต่ทำได้ในเพียงบางพื้นที่
5. พลังงานชีวมวลคือความร้อนที่ได้รับจากขยะอินทรีย์ด้วยการเผา ถือเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนเนื่องจากมนุษย์สร้างวัสดุอินทรีย์ขึ้นมาใหม่เสมอ โดยส่วนใหญ่เป็นพืช
6. พลังงานน้ำขึ้นน้ำลงหรือพลังงานจากมหาสมุทรคือพลังงานน้ำที่สามารถได้รับจากน้ำขึ้นน้ำลง พลังงานนี้บางครั้งจะถูกจัดอยู่ในประเภทของพลังงานน้ำ ไม่ใช่ประเภทอื่น
7. ไฮโดรเจนเป็นธาตุที่พบมากที่สุดในโลกใบนี้ โดยน้ำมีอยู่ถึงสองในสาม ธาตุนี้สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงคาร์บอนเป็นศูนย์ได้หากสามารถแยกออกจากกันได้

ข้อดีของพลังงานหมุนเวียน
1. แหล่งพลังงานหมุนเวียนจะไม่หมดลง แหล่งพลังงานหมุนเวียนเป็นพลังงานที่ยั่งยืน ซึ่งหมายความว่าจะไม่หมดลงในเร็ว ๆ นี้ เช่น การคาดว่าดวงอาทิตย์จะส่องแสงเป็นเวลาอย่างน้อย 4.5 - 5.5 พันล้านปี 
2. สามารถควบคุมแหล่งพลังงานหมุนเวียนได้โดยง่ายดาย ไม่มีปัญหาใด ๆ ยกเว้นปัญหาจากสภาพอากาศ
3. พลังงานหมุนเวียนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยวิธีการผลิตไฟฟ้าจากธรรมชาติ ดังนั้นจึงถือว่าสะอาด แม้ว่าเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนอาจทำให้เกิดการปล่อยมลพิษได้บ้าง แต่โดยรวมแล้ว คาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกจะถูกปล่อยออกมาสู่สิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด จึงเป็นส่วนสำคัญในการปกป้องคุณภาพชีวิตของประชาชน ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสารมลพิษอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของพลโลกทุกคนดีขึ้น 
4. เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนนอกจากลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนยังเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจด้วยการสร้างตำแหน่งงานมากมาย
5. เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนมีต้นทุนการบำรุงรักษาที่น้อยกว่าพลังงานที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
6. พลังงานหมุนเวียนสามารถป้องกันความผันผวนวุ่นวายของราคาพลังงานได้ สามารถเพิ่มอิสรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศได้ ด้วยการลดการพึ่งพานำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิล

แต่ข้อเสียของพลังงานหมุนเวียนก็มีอยู่ไม่น้อยเลยเช่นกัน ซึ่งทำให้พลังงานหมุนเวียนกลายเป็นเรื่องยาก
1. พลังงานหมุนเวียนไม่สามารถใช้ได้ตลอดเวลา พลังงานธรรมชาติขึ้นอยู่กับสภาพอากาศเป็นอย่างมาก เมื่อสภาพอากาศเลวร้าย เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน อาทิ เซลล์แสงอาทิตย์จะใช้ประโยชน์ได้น้อยลง
2. ประสิทธิภาพของเทคโนโลยีหมุนเวียนยังคงต่ำ เมื่อเทียบกับอุปกรณ์ผลิตพลังงานไฟฟ้าแบบดั้งเดิม
3. ต้นทุนเริ่มต้นของพลังงานหมุนเวียนนั้นยังคงมีราคาค่อนข้างสูง และบางครั้งอาจไม่สามารถจ่ายได้ 
4. แหล่งพลังงานหมุนเวียนต้องการพื้นที่จำนวนมากเพื่อใช้ประโยชน์จากพลังงานธรรมชาติเมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าแบบเดิมแล้ว จำเป็นต้องใช้พื้นที่มากขึ้นในการสร้างฟาร์มพลังงานหมุนเวียนมากกว่า
5. อุปกรณ์พลังงานหมุนเวียนต้องได้รับการรีไซเคิล แม้การผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนก่อให้เกิดมลพิษในระดับที่ต่ำมาก แต่อุปกรณ์ผลิตพลังงานหมุนเวียนที่ยังมีข้อกังวลจากการผลิตและกระบวนการกำจัดอุปกรณ์ที่หมดอายุอาจก่อให้เกิดมลพิษขึ้นได้
6. ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใช้ โดยเฉพาะโซลาร์เซลล์ได้เฉพาะเวลากลางวันเท่านั้น หากจะเก็บกักไว้ใช้ในเวลากลางคืนต้องลงทุนระบบแบตเตอรี่ ในปัจจุบันยังมีราคาที่แพงมาก

แม้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าจะมีประโยชน์ มีข้อดี และมีความสำคัญมากมาย แต่ในปัจจุบันต้นทุนเริ่มต้นในการสร้างเครือข่ายเทคโนโลยีหมุนเวียนเพื่อพลังงานไฟฟ้ายังคงสูงมาก โดยเฉพาะระบบแบตเตอรี่ที่ใช้ในการเก็บกักไฟฟ้า จนทำให้การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนยังคงไม่สามารถถึงจุดคุ้มค่าต่อการลงทุนในระยะเวลาอันสั้น อีกทั้งอัตราการสึกหรอและเสื่อมสภาพของอุปกรณ์ผลิตและเก็บกักไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนยังคงสูง ความจริงอีกประการหนึ่งที่ผู้คนยังไม่รู้คือ เมื่อเพิ่มระบบแบตเตอรี่ก็ต้องเพิ่มระบบผลิตไฟฟ้าอีก ซึ่งจะต้องใช้โซลาร์เซลล์มากกว่าที่เป็นอยู่อย่างน้อยสามเท่าในการผลิตไฟฟ้าเพื่อให้สามารถเก็บกักได้พอใช้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง อีกทั้งยังจะต้องมีการเพิ่ม ‘ไฟฟ้าสำรอง’ มากขึ้นด้วยเพื่อให้ ‘ระบบไฟฟ้า’โดยรวมมีความเสถียรมากพอเพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงด้านพลังงานไฟฟ้าด้วย และที่สุดจะส่งผลกระทบทำให้ค่าไฟฟ้าต้องแพงขึ้นโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้อย่างแน่นอน

‘นายกฯ’ เปิด FTI EXPO 2025 งานยิ่งใหญ่แห่งปี หนุนเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการสู่ตลาดโลกอย่างยั่งยืน

นายกฯ ‘แพทองธาร’ ประธานเปิดงาน FTI EXPO 2025: “EMPOWERING THAI INDUSTRY, ELEVATING THAILAND’S FUTURE เสริมพลังอุตสาหกรรมไทย เพื่ออนาคตไทย ที่ยั่งยืน” ซึ่งจัดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับพันธมิตรองค์กรชั้นนำ จัดขึ้นระหว่าง 12-15 ก.พ. นี้ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ด้วยแนวทาง 4GO ครอบคลุม ทั้งดิจิทัล นวัตกรรม การขยายตลาดต่างประเทศ และการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน  

(13 ก.พ. 68) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน FTI EXPO 2025 งานรวมสุดยอดอุตสาหกรรมไทยที่จัดขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์ “EMPOWERING THAI INDUSTRY, ELEVATING THAILAND’S FUTURE เสริมพลังอุตสาหกรรมไทย เพื่ออนาคตไทย ที่ยั่งยืน” ซึ่งเป็นงานมหกรรมด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีภาคอุตสาหกรรมไทยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปีที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความก้าวหน้าของภาคอุตสาหกรรมไทยที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จัดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้แสดงปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “จุดประกายอุตสาหกรรมไทย สร้างเศรษฐกิจใหม่ นำประเทศสู่ความยั่งยืน” ซึ่งเน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยจากอุตสาหกรรมเดิมไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งเป็นเป้าหมายของประเทศ โดยต้องมีการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งภาคอุตสาหกรรม ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

“การจัดงานในครั้งนี้ เป็นการจับมือองค์กรพันธมิตรชั้นนำ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจในการทำงานระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยกันขับเคลื่อนประเทศไทย เพื่อให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ เศรษฐกิจมีความมั่นคง ประชาชนทุกภาคส่วนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและสร้างรายได้ให้กับประเทศ

ความร่วมมือดังกล่าว จะนำไปสู่การดำเนินงานที่เชื่อมโยงกันทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ไปจนถึงปลายทาง ไม่ว่าจะเป็นการผลิต การแปรรูป การใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์และสินค้า การบริหารจัดการด้านการตลาด ตลอดจนการตอบสนองต่อกระแสด้านสิ่งแวดล้อม โดยรัฐบาลได้ให้ความสำคัญและตระหนักถึงการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาและยกระดับต่อยอดการพัฒนาในทุกมิติ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเวทีระดับโลก

ประเทศไทยจะกลายเป็นยานยนต์แห่งอนาคตที่สามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างเต็มกำลัง ความมุ่งหมายของรัฐบาลมีสิ่งเดียว ซึ่งเหมือนกับพี่น้องประชาชนทุกคน นั่นคือ การได้เห็นบ้านเมืองเจริญก้าวหน้า ประชาชนอยู่ดีกินดี สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ และดิฉันเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าไทยเราทำได้อย่างแน่นอน หากเราทุกคนจับมือแล้วก้าวไปพร้อมกัน ซึ่งความร่วมมือระหว่างภาครัฐและ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จะสามารถนำพาภาคอุตสาหกรรมไทยไปสู่การพัฒนาอย่างมั่นคงและยั่งยืน”

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัจจุบัน ท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ ตอกย้ำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ที่มีความผันผวนและซับซ้อนมากขึ้น ภาคอุตสาหกรรมจึงต้องมีการพัฒนาและปรับตัวให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้าและเทคโนโลยี ตลอดจนผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่คาดการณ์ได้ยากและมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นทุกปี ทั้งหมดนี้ คือ ความท้าทายที่ประเทศไทยจะต้องรวมพลังกัน พลิกความท้าทายให้เป็นโอกาสในการพัฒนาประเทศ เร่งเดินหน้าปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ต่อยอดการพัฒนาของภาคการผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการไทย ขณะเดียวกันต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษา เพื่อสร้างกำลังคนรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต พร้อมทั้งวางยุทธศาสตร์ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอุตสาหกรรมในภูมิภาคนี้

เพื่อเป็นการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ และเพื่อแสดงให้ทั่วโลกเห็นถึงศักยภาพและความก้าวหน้าของภาคอุตสาหกรรมไทย จึงทำให้การจัดงาน FTI EXPO 2025 เกิดขึ้น โดยรวมพลังความร่วมมือจากกลุ่ม 47 กลุ่มอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด สถาบันภายใต้การกำกับดูแลของ ส.อ.ท. หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานระหว่างประเทศ และสถาบันการศึกษา ภายใต้นโยบาย ONE FTI (ONE Vision, ONE Team, ONE Goal) ในการวางรากฐานและขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย รวมทั้งยกระดับ SMEs ไปสู่ Smart SMEs ด้วยแนวทาง 4GO ซึ่งประกอบด้วย GO Digital & AI, GO Innovation, GO Global และ GO Green ที่ครอบคลุมในเรื่องของดิจิทัล นวัตกรรม การขยายตลาดต่างประเทศ และการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน 

งาน FTI EXPO 2025 ในครั้งนี้ จะเป็นเวทีในการขยายช่องทางการตลาดของสินค้า บริการและนวัตกรรมฝีมือคนไทยผ่านสินค้าที่ได้รับการรับรอง Made in Thailand (MiT) ผลักดันให้เกิดการค้า การลงทุนเพื่อเชื่อมโยงสู่ตลาดสากล ซึ่งจะทำให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

“FTI EXPO 2025 ภายใต้ธีม “EMPOWERING THAI INDUSTRY, ELEVATING THAILAND’S FUTURE เสริมพลังอุตสาหกรรมไทยเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน” จะเป็นโอกาสครั้งสำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะได้ขยายช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ เชื่อมเครือข่ายธุรกิจจากทั่วโลก เปิดมุมมองใหม่ๆ กับนวัตกรรมและเทคโนโลยีล้ำสมัย แลกเปลี่ยนความรู้ที่เป็นประโยชน์กับเวทีเสวนาโดยกูรูทั้งระดับประเทศและระดับโลกที่มากด้วยคุณวุฒิและประสบการณ์ในด้านต่างๆ รวมถึงโซน FTI OUTLET ที่ให้ผู้เข้าร่วมได้มีโอกาสซื้อผลิตภัณฑ์คุณภาพจากสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยทั่วประเทศในราคาสุดพิเศษ ทั้งหมดจะมีพร้อมในงานนี้บนพื้นที่การจัดงานกว่า 20,000 ตารางเมตร” 

“อีกหนึ่งไฮไลต์ของงานนี้ที่พลาดไม่ได้ คือ ทุกท่านจะได้พบกับการสาธิตการบินโดรนโดยสาร (Passenger Drone) รุ่น Sliver Hawk ซึ่งเป็นโดรนโดยสารจากผู้ประกอบการไทยรายแรก ที่สร้าง Passenger Drone ได้สำเร็จ และได้รับการรับรอง MiT (Made in Thailand) โดรนโดยสาร นับเป็นเทคโนโลยีการขนส่งแห่งอนาคตที่จะขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยต่อไป และทุกท่านจะได้เห็นกันในงานนี้ เราจะมีการสาธิตการบินโดรนทุกวัน ตั้งแต่วันที่ 12-15 กุมภาพันธ์ 2568 วันละ 1 รอบ เวลา 14.00-15.00 น. ที่ลานพระสรัสวดี ประตู 2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และสวนเบญจกิติ” นายเกรียงไกร กล่าวทิ้งท้าย

งาน FTI EXPO 2025 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-15 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 10.00-19.00 น. ณ Hall 5-8 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยคาดว่า ปีนี้จะมีผู้เข้าร่วมชมงานไม่น้อยกว่า 70,000 ราย และสร้างโอกาสทางการค้าได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท

บางจากฯ ได้รับการประเมินระดับสูงสุด Top1% พุ่งขึ้นอันดับหนึ่งทำเนียบธุรกิจยั่งยืนระดับโลก

(13 ก.พ.68) บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้รับการประเมินด้านความยั่งยืนระดับสูงสุด Top 1%ของกลุ่มอุตสาหกรรม Oil & Gas Refinery and Marketing ในทำเนียบ 'The Sustainability Yearbook 2025' จากการประเมินของ S&P Global Corporate Sustainability Assessment (CSA) ประจำปี 2024 

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “บางจากฯ ได้รับการประเมินด้านความยั่งยืนอันดับสูงสุดของโลก(Top1%) ของกลุ่มอุตสาหกรรม Oil & Gas Refinery and Marketing ในรายงานประจำปี “The Sustainability Yearbook 2025” โดยจากการประเมินในปี 2024 บางจากฯ มีคะแนนรวม 85 คะแนน (จาก 100 คะแนน) และมีคะแนนสูงสุด (Best Dimension) ใน 2 มิติ  คือมิติการกำกับดูแล (Governance) และมิติสิ่งแวดล้อม (Environment) พร้อมได้รับการยกย่องให้เป็น Industry Mover หรือองค์กรที่มีพัฒนาการด้านความยั่งยืนโดดเด่นที่สุดจาก 43 บริษัททั่วโลกที่เข้ารับการประเมินจากอุตสาหกรรมดังกล่าว”

นอกเหนือจากความเป็นเลิศด้านธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและการตลาดแล้ว บางจากฯ ยังได้รับการประเมินด้าน สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (ESG) สูงสุดในระดับโลกจาก S&P Global CSA ผู้จัดทำรายงาน The Sustainability Yearbook ซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำด้านการประเมิน ESG และเป็นผู้จัดทำดัชนี Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) โดยในปี 2024 มีผู้เข้ารับการประเมิน 7,690 บริษัทจาก 62 อุตสาหกรรมทั่วโลก และบางจากฯ เข้ารับการประเมิน S&P Global CSA ต่อเนื่องมาเป็นเวลา 10 ปี ตอกย้ำถึงความเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนในระดับสากล

“ความสำเร็จในครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญในระดับโลกของบางจากฯ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ในการบูรณาการหลักการด้าน ESG เข้าสู่ทุกมิติของการดำเนินงาน เพื่อสร้างคุณค่าร่วมให้กับทุกภาคส่วน เราภูมิใจที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล และจะยังคงเดินหน้าสร้างอนาคตพลังงานที่สมดุลและยั่งยืน เพื่อโลกและสังคม พร้อมก้าวสู่ทศวรรษที่ 5 อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน” นายชัยวัฒน์กล่าวทิ้งท้าย

‘สุริยะ’ ยัน รถไฟฟ้า 20 บาททุกสีทุกสาย มาแน่ คาดสามารถประกาศใช้เดือนกันยายน นี้

‘สุริยะ’ ยืนยัน นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาททุกสีทุกสาย ประกาศใช้ในเดือน ก.ย. นี้ ชี้ รถไฟฟ้า 20 บาท ดันผู้ใช้บริการ สายสีม่วง-สายสีแดง โต 10.86%

(13 ก.พ. 68) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ที่ในปัจจุบันได้ดำเนินการมาแล้วกว่า 1 ปี 2 เดือนในโครงการรถไฟฟ้า 2 เส้นทาง ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - คลองบางไผ่ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ - รังสิต และช่วงบางซื่อ - ตลิ่งชัน ได้ผลตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี สะท้อนได้จากข้อมูลในช่วงที่ผ่านมาที่มีสถิติการมีผู้ใช้บริการสูงที่สุด (นิวไฮ) ตั้งแต่เปิดให้บริการ โดยทั้ง 2 สายดังกล่าว มีปริมาณผู้โดยสารรวม 3,054,439 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.86 และรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.28 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ นายสุริยะ ยืนยันจะประกาศใช้นโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายในโครงการรถไฟฟ้าทุกสี ทุกสาย และทุกเส้นทางภายในเดือนกันยายน 2568 ตามที่เคยกำหนดไว้ ภายใต้การขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. …. ผ่านการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม ที่ในขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการ คาดว่า จะประกาศราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ในช่วงกลางปี 2568 และเสนอประกาศกฎหมายลำดับรองภายในเดือนกันยายน 2568

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า เมื่อนโยบายนี้ ครอบคลุมในทุกเส้นทาง จะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างแน่นอน นอกจากนี้ เมื่อมีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้นแล้ว คาดว่า รถไฟฟ้าสายสีม่วง และรถไฟฟ้าสายสีแดง จะมีรายได้เท่ากับหรือมากกว่าช่วงก่อนเริ่มนโยบายภายในปี 2568 หรือเร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ จากเดิมที่คาดว่าภายในระยะ 2 ปี 7 เดือนหลังจากเริ่มนโยบาย ซึ่งส่งผลให้ภาครัฐอาจจะไม่ต้องชดเชยส่วนต่างรายได้ให้กับทั้ง 2 โครงการดังกล่าวแล้ว

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า จากแนวโน้มปริมาณผู้โดยสารที่ตอบรับนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้น ถือว่า เป็นสัญญาณที่ดีที่รัฐบาล และกระทรวงคมนาคมได้ช่วยลดภาระค่าครองชีพในการเดินทางให้กับพี่น้องประชาชน อีกทั้งยังจูงใจให้หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งเป็นอีก 1 ปัจจัยในการช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 และสร้างโอกาสในการเดินทางอย่างเท่าเทียมของคนทุกกลุ่มด้วย

มาสด้าทุ่ม 5,000 ล้าน!! ดันไทยขึ้นแท่นฐานผลิต B-SUV Mild Hybrid เตรียมผลิต 1 แสนคันต่อปี ส่งออกญี่ปุ่น-อาเซียน-ตลาดโลก

(13 ก.พ.68) นายมาซาฮิโร โมโร (Masahiro Moro) ประธานและซีอีโอของบริษัท มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีของไทยเพื่อหารือเกี่ยวกับแผนการขยายการลงทุนในประเทศไทย โดยมาสด้าเตรียมทุ่มงบกว่า 5,000 ล้านบาท เพื่อใช้ไทยเป็นฐานการผลิตหลักของรถยนต์อเนกประสงค์ B-SUV แบบ Mild Hybrid (MHEV) ตั้งเป้าการผลิตที่ 100,000 คันต่อปี เพื่อส่งออกไปยังตลาดทั่วโลก

แผนการลงทุนครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากมาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือบอร์ดอีวี ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เห็นชอบไปเมื่อเดือนธันวาคม 2567 โดยมาตรการดังกล่าวรวมถึงการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์ Hybrid (HEV) และ Mild Hybrid (MHEV) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 7 ปี ตั้งแต่ปี 2569 ถึง 2575 นอกจากนี้ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ยังได้ออกมาตรการส่งเสริมเพื่อกระตุ้นการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ผลิตที่นำเทคโนโลยีอัตโนมัติและระบบหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต

นายมาซาฮิโร โมโร เปิดเผยว่า มาสด้ามีประวัติการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมายาวนานกว่า 70 ปี และได้ลงทุนสร้างฐานการผลิตมาอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากโรงงาน AutoAlliance (AAT) ในจังหวัดระยองเมื่อปี 2538 เพื่อผลิตรถยนต์นั่งและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และโรงงาน Mazda Powertrain Manufacturing Thailand (MPMT) ในจังหวัดชลบุรี เมื่อปี 2558 สำหรับการผลิตเครื่องยนต์และเกียร์อัตโนมัติ โรงงานเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตของมาสด้าและซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้อง

สำหรับการลงทุนครั้งล่าสุด มาสด้ามุ่งมั่นผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์พลังงานทางเลือก (xEV) โดยเพิ่มงบลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาทเพื่อผลิต B-SUV Mild Hybrid ซึ่งเป็นรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเพื่อลดการใช้เชื้อเพลิง ลดมลภาวะ และเพิ่มความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล รถยนต์รุ่นนี้จะถูกผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศและส่งออกไปยังญี่ปุ่น กลุ่มประเทศอาเซียน และตลาดโลก การลงทุนดังกล่าวยังครอบคลุมถึงการผลิตชิ้นส่วนสำคัญ เช่น เครื่องยนต์ เกียร์ และแบตเตอรี่ โดยตั้งเป้าที่จะเริ่มกระบวนการผลิตภายในปี 2570

นอกจากการขยายฐานการผลิต มาสด้ายังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเครือข่ายซัพพลายเชนในประเทศเพื่อรองรับเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ โดยการลงทุนนี้ถือเป็นก้าวสำคัญภายใต้แนวทาง Multi-Solution ของมาสด้า ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความร่วมมืออันยาวนานระหว่างบริษัทกับประเทศไทย พร้อมทั้งมีส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์และเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (11) : ‘ไฟฟ้าสำรอง’ ใช่...สาเหตุของ ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ หรือไม่?

นักวิชาการ NGO และสื่อบางสำนักมักหยิบยกเอาเรื่องของ “การมี ‘ไฟฟ้าสำรอง’ มากจนเกินความต้องการ จนทำให้ ‘ค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment หรือ ค่า AP)’ อันเป็นต้นทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฯ จ่ายให้กับโรงไฟฟ้าเอกชนเป็นค่าความพร้อมในการเดินเครื่องเพื่อจ่ายไฟฟ้า ไม่ว่าโรงไฟฟ้าจะผลิตหรือไม่ ก็ตาม สูงมาก” ว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้ ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ ซึ่ง TST ได้อธิบายถึงข้อเท็จในส่วนที่เกี่ยวข้องใน “รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (7) : ‘ไฟฟ้าสำรอง’ ปริมาณ เหตุผล และความจำเป็น” แล้ว สำหรับตอนนี้จะได้ขยายความข้อเท็จจริงให้ท่านผู้อ่านได้รู้และเข้าใจได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ทำไม? นักวิชาการ NGO และสื่อบางสำนักจึงอ้างว่า ‘ไฟฟ้าสำรอง’ ของไทยนั้นมากถึง 50% แต่ขณะที่โฆษกกระทรวงพลังงานได้อธิบายชี้แจงโดยระบุว่า ‘ไฟฟ้าสำรอง’ ในปัจจุบันอยู่ที่ 25.5% เท่านั้น แล้วทำไมตัวเลข ‘ไฟฟ้าสำรอง’ ของนักวิชาการ NGO และสื่อบางสำนัก จึงมากกว่าตัวเลขปริมาณ ‘ไฟฟ้าสำรอง’ ที่โฆษกกระทรวงพลังงานได้ระบุไว้ถึงหนึ่งเท่าตัว นั่นก็เป็นเพราะวิธีการคำนวณตัวเลขปริมาณ ‘ไฟฟ้าสำรอง’ ของ 2 ฝ่ายแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง จึงขออธิบายหลักการคำนวณปริมาณ ‘ไฟฟ้าสำรอง’ ของ 2 ฝ่ายเป็นข้อมูลพอสังเขปดังนี้  

กระทรวงพลังงานใช้วิธีการคำนวณ ‘ไฟฟ้าสำรอง’ จากปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak Load) ของปี ซึ่งวันที่ใช้ไฟฟ้ามากที่สุดของปี พ.ศ. 2567 คือ วันที่ 29 เมษายน 2567 เวลา 20.56 น. มีค่าเท่ากับ 36,477.80 เมกะวัตต์ และหักด้วยปริมาณไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานทดแทนหรือพลังงานหมุนเวียน อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวมวล จึงไม่สามารถนำมานับรวมในปริมาณพลังงานไฟฟ้า 100% ได้ อันเนื่องมาจากพลังไฟฟ้ากลุ่มนี้ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอดเวลา ไม่สามารถพึ่งพาได้ตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยปัจจัยช่วงเวลา (พลังงานแสงอาทิตย์ผลิตได้เพียงวันละ 6-8 ชั่วโมง) ฤดูกาล (ฤดูฝนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์) จึงทำให้ไม่สามารถนำปริมาณไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานทดแทนหรือพลังงานหมุนเวียนมาคำนวณเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองที่แท้จริงได้

ในขณะที่ตัวเลขปริมาณ ‘ไฟฟ้าสำรอง’ ที่นักวิชาการ NGO ซึ่งสื่อบางสำนักอ้างว่ามากถึง 50% นั้น ใช้วิธีคำนวณจากปริมาณการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยทั้งปี โดยคิดรวมเอาปริมาณไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานทดแทนหรือพลังงานหมุนเวียนเข้าไปด้วย ซึ่งข้อเท็จจริงในการคำนวณตัวเลขปริมาณ ‘ไฟฟ้าสำรอง’ หากต้องการคิดรวมเอาปริมาณไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานทดแทนหรือพลังงานหมุนเวียนเข้าไป นั่นหมายความว่า ต้องสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนหรือพลังงานหมุนเวียนได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือมีการเก็บกักพลังงานไฟฟ้าด้วยแบตเตอรี่เพื่อให้สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่มีผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้ารายใดสามารถทำได้เลย แม้แต่ กฟผ. เองก็ตาม

นอกจากนี้ นักวิชาการ NGO และสื่อบางสำนักยังได้อ้างว่า การจัดทำ ‘แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (แผน PDP)’ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ จึงทำให้ ‘ไฟฟ้าสำรอง’ มากจนเกินความต้องการ นั่นคือความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง เพราะในการจัดทำ ‘แผน PDP’ คณะทำงานที่รับผิดชอบจัดทำการพยากรณ์ประมาณการความต้องการใช้ไฟฟ้าที่จะเกิดขั้นในอนาคตนั้น จะต้องใช้ข้อมูลจากการพยากรณ์ประมาณการตัวเลข ‘ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product หรือ GDP) ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้คำนวณออกมาเป็น ‘ตัวเลข’ ประมาณการไว้แล้วเป็นหลัก 

แต่ ในปี พ.ศ. 2563 เศรษฐกิจไทยหดตัวอย่างต่อเนื่อง จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ติดลบถึง 6.1% นั่นหมายถึง ความต้องการการใช้พลังงานไฟฟ้าก็ติดลบในอัตราที่ใกล้เคียงเช่นเดียวกัน จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้ามากเกินความต้องการ และกลายเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมากำลังผลิตไฟฟ้าอยู่ในระดับสูง อันเนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าว จนทำให้ตัวเลข ‘ไฟฟ้าสำรอง’ มากเกินต่อความจำเป็น และเกินกว่าอัตรามาตรฐานปริมาณของกระแสไฟฟ้าที่ควรสำรอง แต่มีผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาที่ทำไว้กับกฟผ. ได้มีการลงทุนสร้างและเดินเครื่องโรงงานผลิตไฟฟ้าขึ้นมาแล้ว ดังนั้นจึงต้องมีการจ่าย ‘ค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment หรือ ค่า AP)’ ซึ่งเป็นค่าความพร้อมเดินเครื่องเพื่อจ่ายไฟฟ้าให้แก่ผู้ผลิตไฟฟ้า ไม่ว่าจะมีการใช้ไฟฟ้านั้นหรือไม่ก็ตาม ซึ่งเป็นไปตามโครงสร้างของรูปแบบข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนและเอกชน (Power Purchasing Agreement หรือ PPA) แต่ในปัจจุบันมีบริหารจัดการจนกระทั่ง ‘ไฟฟ้าสำรอง’ อยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว

การกล่าวอ้างและกล่าวหาว่า หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำ ‘แผน PDP’ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นได้จงใจจัดทำ ‘แผน PDP’ ให้เอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ โดยนักวิชาการ NGO และสื่อบางสำนัก ได้มีนักการเมืองผู้หนึ่งรวบรวมข้อมูลหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการอ้างถึงความไม่ถูกต้องชอบธรรมของพฤติการณ์และพฤติกรรมดังกล่าว ยื่นฟ้องร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบแล้ว ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการดำเนินคดี หลังจากกระบวนการยุติธรรมเสร็จสิ้นลง คำตัดสินในคดีนี้ก็จะเป็นการสร้างความชอบธรรมเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง และแสดงให้สังคมไทยได้เห็นว่า เรื่องนี้มีความไม่ชอบมาพากลและความไม่ถูกต้องเป็นไปตามที่มีกล่าวอ้างและกล่าวหาหรือไม่ ซึ่งกระบวนการยุติธรรมจะเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดที่จะพิสูจน์ได้ว่า สิ่งที่มีการฟ้องร้องนั้นจริงหรือเท็จ ถูกหรือผิด และควรเป็นไปอย่างไร แต่เท่าที่ผ่านมาจนทุกวันนี้ ยังไม่เคยปรากฏว่า มีหน่วยงานภาครัฐหน่วยงานใดแพ้คดีที่มีการฟ้องร้องลักษณะเช่นนี้มาก่อนเลย

เอกนัฏ’ ชื่นชม!! ‘ชาวไร่อ้อย - โรงงานน้ำตาล’ ชี้!! ฮีโร่ช่วยลดฝุ่น PM2.5 หลังอ้อยเผาเหลือ 9% ดันแปรรูปสู่พลาสติกชีวภาพ ดึงเงินลงทุน 2 หมื่นล้าน

(12 ก.พ. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากที่ตนได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ขอความร่วมมือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด งดเผาอ้อยก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว และขอความร่วมมือโรงงานน้ำตาลให้รับเฉพาะอ้อยสดเข้าหีบ โดยชะลอ ระงับ ยับยั้ง และยุติการเผาไร่อ้อย พร้อมทั้งยุติการรับอ้อยเผาเข้าหีบ ตามแนวทางมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ฝุ่นละออง PM 2.5) ของรัฐบาลและมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 จากสถิติการรับอ้อยเข้าหีบของโรงงานน้ำตาล 58 แห่งทั่วประเทศ พบว่า ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลให้ความร่วมมือในการตัดและรับอ้อยเผาเข้าหีบต่ำสุดในประวัติศาสตร์ ที่ระดับ 9% ดันอ้อยสดพุ่งกว่า 91% ส่งผลให้ฝุ่นพิษ PM2.5 ลดลง และมีส่วนช่วยให้ประชาชนได้รับอากาศบริสุทธิ์ ใช้ชีวิตประจำวันและทำกิจกรรมกลางแจ้งตามปกติ

นายเอกนัฏ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา ตนได้พบหารือกับนายโรเจอร์ มาร์คิโอนี่ ผู้อำนวยการธุรกิจทวีปเอเชีย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท Braskem Siam บริษัท Braskem S.A. ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกในอุตสากรรมการพลาสติกชีวภาพ มีความสนใจที่จะมาลงทุนในประเทศไทย โดยมีแผนจัดตั้งโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพ ซึ่งต้องการเฉพาะวัตถุดิบเอทานอลที่ผลิตจากอ้อยที่ปลูกโดยไม่ก่อมลพิษ และปัญหาสิ่งแวดล้อม คือ จะต้องผลิตจากอ้อยตัดสดไม่เผาแปลงเท่านั้น โดยมีด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท กำลังการผลิต 2 แสนตันต่อปี โดยจะต้องใช้เอทานอล 500 ล้านลิตรต่อปี ถือเป็นโอกาสทองของประเทศไทยที่จะมีอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงในประเทศ เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อยกระดับทักษะการทำงานแรงงานไทยให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังได้แลกเปลี่ยนและหารือแนวทางทางการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการปลูกและเก็บเกี่ยวอ้อยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการเผาอ้อย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายภาครัฐในการลดมลพิษทางอากาศและส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืน

“ผมขอชื่นชมและขอขอบคุณเกษตรกรชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล ซึ่งเป็นฮีโร่ของคนไทยช่วยลดฝุ่น PM2.5 จากการร่วมมือร่วมใจผลักดันการตัดอ้อยสด ลดการเผาอ้อย ช่วยให้คนไทยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี อากาศบริสุทธิ์ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว และเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมชีวภาพในภูมิภาคอาเซียน การพัฒนาอ้อยสดไม่เผาให้เป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับพลาสติกชีวภาพจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกรไทย ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล และผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกอย่างยั่งยืน” นายเอกนัฏ กล่าวทิ้งท้าย

รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (10) : ‘การปล่อยให้เอกชนผลิตไฟฟ้ามากขึ้น’ ทำให้ ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ จริงหรือไม่!!!

(11 ก.พ. 68) “การปล่อยให้การผลิตไฟฟ้าไปอยู่ในมือของภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ” เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ นักวิชาการ NGO และสื่อบางสำนัก มักหยิบยกมากล่าวอ้างว่า มีส่วนสำคัญที่ทำให้ ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ ซึ่งกลับกลายเป็นความย้อนแย้งกับการเรียกร้องให้ “เพิ่มการใช้กลไกตลาดเข้าไปในระบบไฟฟ้า เพื่อทำให้เกิด ‘ตลาดซื้อขายไฟฟ้า’ อย่างเสรี” ขึ้นในประเทศไทย เพราะ ‘ตลาดซื้อขายไฟฟ้า’ อย่างเสรี ย่อมหมายถึงผู้ประกอบการเอกชนสามารถที่จะเข้ามามีบทบาทใน ‘กิจการไฟฟ้า’ มากขึ้นทั้งระบบตั้งแต่ ‘ต้นน้ำ’ ไปจนกระทั่งถึง ‘ปลายน้ำ’ 

โดยที่ มาตรา 56 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ได้ระบุเอาไว้ว่า “รัฐต้องจัดหรือดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึง ตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามรัฐธรรมนูญ และในวรรคสอง ได้ระบุว่า “โครงสร้างหรือโครงข่ายพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐ อันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ โดยความมั่นคงของรัฐนั้นจะให้เอกชนเป็นเจ้าของเกิน 51 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้” ดังนั้น แม้ว่า เอกชนจะเข้ามามีบทบาทในกิจการไฟฟ้า โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น แต่คงอยู่ในกรอบกติกาภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งมีการวางแผนและกำหนดนโยบายโดย กพช. และกำกับดูแลการประกอบกิจการโดย กกพ. มี กฟผ. ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารจัดการในส่วนของการซื้อและขายไฟฟ้า จากข้อมูล ณ เดือนธันวาคม พ.ศ. 2567 กำลังผลิตตามสัญญาของระบบที่กฟผ. รับผิดชอบดูแลบริหารจัดการคือ 51,414.30 เมกะวัตต์ โดยแบ่งเป็นของ กฟผ. 31.62% เอกชนรายใหญ่ (IPP) 38.12% เอกชนรายเล็ก (IPP) 18.13% และนำเข้าจากต่างประเทศอีก 12.13% (ในส่วนของเอกชนรายใหญ่ (IPP) รายหนึ่งคือ RATCH มีกฟผ. เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับที่หนึ่ง (45%)

การที่ผู้ประกอบการเอกชนเข้ามามีส่วนในการผลิตไฟฟ้าเกิดจากรัฐบาลในปี พ.ศ. 2533 ได้ให้การส่งเสริมเอกชนได้เข้ามามีบทบาทในการผลิตไฟฟ้า เพื่อจะเป็นการเพิ่มการแข่งขันในกิจการพลังงานไฟฟ้า ทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและผู้บริโภคมีพลังงานไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอในราคาที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังจะเป็นการลดภาระการลงทุนของรัฐและลดภาระหนี้สินของประเทศ ส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น กรณีของโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ซึ่งใช้ระบบพลังงานความร้อนร่วม เป็นต้น ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้รับบริการและคุณภาพไฟฟ้าที่ดีขึ้น เป็นการสนับสนุนให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนากิจการด้านพลังงานของประเทศ และเป็นส่วนในการช่วยพัฒนาตลาดทุนของประเทศอีกด้วย

ด้วย นโยบายลดภาระการลงทุนภาครัฐ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าของรัฐบาลในปี พ.ศ. 2535 ทำให้มีมติ ครม. เห็นชอบเรื่องแนวทางในการดำเนินงานในอนาคตของ กฟผ. โดยกำหนดขั้นตอนและแนวทางให้เอกชนมีบทบาทมากขึ้นในกิจการไฟฟ้าของไทย ให้มีการลงทุนจากภาคเอกชนในการผลิตไฟฟ้ารูปแบบของผู้ผลิตไฟฟ้าฟ้าอิสระหรือรายใหญ่ (IPP) ต้องขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. เท่านั้น และให้ออกระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก (SPP) ซึ่งใช้พลังงานนอกรูปแบบ เป็นการแบ่งเบาภาระทางด้านการลงทุนของรัฐในระบบการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าด้วย โดย กฟผ. ได้ประกาศรับซื้อไฟจากเอกชนรายใหญ่เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2537 ซึ่งปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจะอยู่ภายใต้มติเห็นชอบของ ‘คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)’ มาจนถึงปัจจุบัน และ ‘คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)’ ทำหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงาน อันหมายถึง กิจการไฟฟ้า กิจการก๊าซธรรมชาติ และกิจการระบบโครงข่ายพลังงาน

สภาพการณ์ที่เป็นอยู่ของ ‘กิจการไฟฟ้า’ ทั้งระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ น่าจะมีความเหมาะสมที่สุดกับบริบทของประเทศไทยแล้ว ด้วย ‘กิจการไฟฟ้า’ ยังคงอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐ ด้วยความเป็นกิจการรัฐวิสาหกิจจึงคงวัตถุประสงค์และความมุ่งหมายในการเป็นกิจการที่ดำเนินงานเพื่อบริการสาธารณะสำหรับประชาชนคนไทย ในอีกมิติหนึ่งที่มีความสำคัญคือ ความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งปรากฏให้เห็นในหลาย ๆ ประเทศ อาทิ ประเทศเพื่อนบ้านด้านตะวันตก ซึ่งมีปัญหาไฟฟ้าดับเป็นประจำ จนกิจการธุรกิจต่าง ๆ ต้องมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไว้ใช้เอง หรือหลาย ๆ ประเทศในละตินอเมริกา ซึ่งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจนปัจจุบัน ทั้งนี้ จากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการที่จำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น ความต้องการไฟฟ้าในภูมิภาคอเมริกากลางและใต้จึงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และส่งผลให้เกิดความขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าไปทั่วทั้งภูมิภาค ตั้งแต่บราซิลที่ขาดแคลนทรัพยากรไปจนถึงเวเนซุเอลาซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันเอง ท่ามกลางความต้องการพลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ภูมิภาคนี้ต้องดิ้นรนกับปัญหาต่าง ๆ มากมายในการสร้างกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ บราซิลและชิลีได้ชะลอแผนการสร้างเขื่อนพลังงานน้ำแห่งใหม่เมื่อไม่นานนี้ อันเนื่องจากปัญหาสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม จนทำให้ทั้งสองประเทศต้องมองหาแหล่งพลังงานอื่นเพื่อตอบสนองความต้องการที่คาดการณ์ไว้ ในโคลอมเบียการก่อการร้ายภายในประเทศส่งผลให้โครงสร้างพื้นฐานการส่งและจำหน่ายไฟฟ้าในเขตชนบทหลายแห่งต้องถูกทำลายลง ภูมิภาคนี้โดยรวมจึงมีความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าที่สูงมาก 

ในตอนต่อไปจะได้อธิบายถึงข้อเท็จจริงในรายละเอียดให้ผู้อ่าน TST ได้พอรู้และเข้าใจในเรื่องของ “การมี ‘ไฟฟ้าสำรอง’ มากจนเกินความต้องการ จนทำให้ ‘ค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment หรือ ค่า AP)’ อันเป็นต้นทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่กฟผ. ต้องจ่ายให้กับโรงไฟฟ้าเอกชน เป็นค่าความพร้อมในการเดินเครื่องเพื่อจ่ายไฟฟ้า ไม่ว่าโรงไฟฟ้าจะผลิตหรือไม่ก็ตาม ซึ่งถือเป็นเป้าหลักที่สำคัญและใหญ่ที่สุดที่นักวิชาการ NGO และสื่อบางสำนัก ได้ระบุเอาไว้ว่า เป็นสาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้ ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ ว่าเป็นจริงดังที่มีการนำมาหยิบยกกล่าวอ้างหรือไม่ 

‘อัครเดช’ ประสานความร่วมมือทูตพาณิชย์รัสเซีย เร่งดัน FTA ไทย-รัสเซีย เชื่อสร้างประโยชน์การค้า 2 ประเทศ

(11 ก.พ. 68) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี เขต 4 และโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า จากการที่ตนได้หารือกับนาย Yuri Lyzhin ทูตพาณิชย์ของกระทรวงพาณิชย์รัสเซีย และตัวแทนผู้ประกอบการของรัสเซีย เช่น นาย Ivan D. Ignatov จากบริษัท RUSAL และนาย Artem Asatur จากบริษัท Aluminium Association ที่ฝ่ายรัสเซียมีข้อเสนอในการจัดทำเขตการค้าเสรี(Free Trade Area) กับทางรัฐบาลไทย เพื่อส่งเสริมและยกระดับเศรษฐกิจ การค้าการลงทุนในไทยของนักธุรกิจชาวรัสเซียให้มากขึ้น เนื่องด้วยเล็งเห็นถึงศักยภาพและโอกาสในการเติบโตของประเทศไทย ซึ่งตนเห็นด้วยและได้ตอบรับกับแนวคิดดังกล่าว พร้อมตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด เพื่อศึกษาร่างกฎระเบียบและข้อตกลง FTA ไทย-รัสเซียด้านอุตสาหกรรมโลหะโดยเฉพาะอลูมิเนียมเพื่อยกระดับการค้าการลงทุนของทั้ง 2 ประเทศโดยนำเสนอรัฐบาลผ่านสภาผู้แทนราษฎร

“ในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ไทยกับรัสเซียจะร่วมกันเจรจาผลักดัน FTA ไทย-รัสเซีย ให้ประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรม หลังทั้งคู่เคยพยายามผลักดันร่วมกันมาตั้งแต่ 6 ปีที่แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้จนถึงปัจจุบัน โดยในครั้งนี้ตนในฐานะประธานคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรมสภาผู้แทนราษฎรจะเข้ามาร่วมสนับสนุน เพื่อดำเนินการจัดทำข้อตกลง FTA ไทย-รัสเซีย ให้รัฐบาลพิจารณาดำเนินการ อันจะช่วยยกระดับเศรษฐกิจและสร้างผลประโยชน์อันมหาศาลให้กับทุกภาคส่วนในประเทศไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการและภาคแรงงาน เพราะถ้า FTA ดำเนินการแล้วเสร็จจนมีผลบังคับใช้ ตนเชื่อว่ารัสเซียจะเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นอย่างแน่นอน ในทางเดียวกันผู้ประกอบการไทยก็จะสามารถส่งสินค้าไปขายในรัสเซียได้ปริมาณมากขึ้น เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับไทยได้มากยิ่งขึ้นเช่นกัน” นายอัครเดช กล่าวทิ้งท้าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top