Saturday, 3 May 2025
ECONBIZ NEWS

‘เอกนัฏ’ ปิดเกมเร็ว ‘มหากาพย์ วิน โพรเสส’ หลังเรื้อรังกว่า 15 ปี เร่งขนย้ายสารพิษอลูมิเนียมดรอสเสร็จใน 46 วัน เซฟงบประมาณอื้อ

‘เอกนัฏ’ ชม ขรก. - เอกชน ร่วมใจขนย้ายอลูมิเนียมดรอส ‘วิน โพรเสส’ จบภารกิจใน 46 วัน ปิดจ็อบมหากาพย์เรื้อรังกว่า 15 ปี พร้อมวางแนวป้องกันรัดกุม ตัดตอนน้ำปนเปื้อนสารเคมีช่วงหน้าฝน ลั่นเดินหน้าสุดซอยเคลียร์ทุกพื้นที่-ปัญหา

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังจากลงพื้นที่ตรวจสอบความเรียบร้อยของการขนย้ายตะกรันอลูมิเนียม หรืออลูมิเนียมดรอส ที่ตรวจพบลักลอบกักเก็บสะสมในพื้นที่โรงงานของ บริษัท วิน โพรเสส จำกัด อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ว่าภายหลังจากที่ตนเข้ารับตำแหน่งได้เร่งสะสางปัญหา บริษัท วิน โพรเสส จำกัด อย่างต่อเนื่อง จนเห็นผลภายในระยะเวลา 5 เดือน ล่าสุดได้ทำการขนย้ายอลูมิเนียมดรอสที่เป็นกากของเสียอันตรายออกจากพื้นที่จนแล้วเสร็จ แม้เดิมทีจะติดปัญหาในส่วนตัวเลขค่าใช้จ่ายการบำบัดกำจัด รวมค่าขนส่ง ซึ่งสูงถึงประมาณ 1 หมื่นบาทต่อตัน หรือต้องมีค่าใช้จ่ายทั้งหมดอย่างน้อย 70 ล้านบาท จึงได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมแถลงต่อศาลจังหวัดระยอง ขอเบิกเงินที่ บริษัท วิน โพรเสส จำกัด วางไว้ต่อศาล จำนวน 4.94 ล้านบาท มาใช้ในการบำบัดกำจัดอลูมิเนียมดรอสราว 7,000 ตัน เป็นลำดับแรก อีกทั้งยังได้ผนึกกำลังภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และได้รับความร่วมมือจาก บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ผ่านกิจกรรม ‘อุตสาหกรรมรวมใจ’ ทำการขนย้ายอลูมิเนียมดรอสไปบำบัดกำจัด ด้วยงบประมาณเพียง 4 ล้านบาทเท่านั้น

นายเอกนัฏ เปิดเผยด้วยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้เริ่มปล่อยรถขนย้ายคันแรกออกจาก บริษัท วิน โพรเสส จำกัด เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2568 โดยกำชับให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมคุมเข้มการขนย้ายอย่างระมัดระวัง รัดกุม เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุดในทุกขั้นตอน พร้อมเร่งรัดเดินรถขนย้ายเต็มกำลัง กระทั่งสามารถขนย้ายอลูมิเนียมดรอสทั้งหมดแล้วเสร็จ 100% ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม-1 มีนาคม 2568 รวมระยะเวลาเพียง 46 วัน ด้วยรถขนย้าย 225 เที่ยว จำนวนกว่า 5,400 ตัน เร็วกว่ากำหนดเดิมที่คาดการณ์ไว้ 60 วัน

‘กรณี วิน โพรเสส ถือเป็นปัญหาที่สะสมมานานกว่า 15 ปี จนเรามาเร่งสะสาง และเห็นผลใน 5 เดือนที่เข้ารับตำแหน่ง ซึ่งก็ต้องชื่นชมและขอบคุณข้าราชการและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่ร่วมแรงร่วมใจจนสามารถขนย้ายกากของเสียอันตราย บรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ก่อนจะเข้าสู่ฤดูฝนในปีนี้ ที่สำคัญยังใช้งบประมาณในการขนย้ายและบำบัดกำจัดสุดคุ้มเพียง 3.09 ล้านบาท สามารถลดการใช้งบประมาณของภาครัฐลงได้กว่า 67 ล้านบาท’ นายเอกนัฏ กล่าว

รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยด้วยว่า นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้เตรียมมาตรการรับมือช่วงฤดูฝน โดยบูรณาการความร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนตำบลบางบุตร กำหนดแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ชุมชนบ้านหนองพะวา ในการบล็อกน้ำฝนเพื่อเบี่ยงเบนทางน้ำไม่ให้ไหลหลากผ่านพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนสารเคมี รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่ซีลคันดินบ่อที่กักเก็บน้ำเสียปนเปื้อน ป้องกันไม่ให้ของเหลวซึมรั่วไหลออกมา ตลอดจนสำรวจและแก้ไขจุดรั่วไหลที่ตรวจพบ ด้วยการนำหินมาเสริมความแข็งแรงแนวคันดิน และนำดินมากลบทับอุดจุดที่รั่วเพื่อเสริมแนวป้องกันการรั่วซึม พร้อมสั่งการให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

“ผมจะไม่หยุดแค่พื้นที่นี้ จะเดินหน้าเคลียร์ทุกพื้นที่ ทุกปัญหา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยจะนำทีมเฉพาะกิจของกระทรวงอุตสาหกรรม ‘ตรวจสุดซอย’ เฝ้าระวังการประกอบการที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หากตรวจพบจะสั่งการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดและผู้ที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดอย่างเด็ดขาด เพื่อปั้นภาคอุตสาหกรรมตามนโยบาย ‘สู้ เซฟ สร้าง ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย’ MIND ใช้หัวและใจปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน” นายเอกนัฏ ระบุ

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งหาวิธีจัดการและผู้รับบำบัดกำจัดที่มีศักยภาพในการดำเนินการกับกากของเสียที่เหลือทั้งหมดให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อลดการเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนให้น้อยที่สุด โดยจะใช้บทเรียนการทำงานจากโมเดลการจัดการกากของเสียตกค้างในพื้นที่กรณี บริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี รวมถึงโกดัง อำเภอภาชี และบริษัท เอกอุทัย จำกัด ตำบลสามบัณฑิต อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มาเป็นต้นแบบการจัดการกากของเสียที่ตกค้างอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้าน นายพรยศ กลั่นกรอง อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะเร่งบำบัดกำจัดกากของเสียที่เหลือในพื้นที่บริษัทฯ ให้เร็วที่สุด ขณะนี้อยู่ระหว่างรองบกลาง ปี 2568 จำนวน 40 ล้านบาท ที่จะใช้บำบัดของเสียเคมีวัตถุและเศษซากของเสียที่ถูกไฟไหม้ ประมาณ 4,000 ตัน โดยเฉพาะสารเคมีที่บรรจุอยู่ในถัง IBC และถุงบิ๊กแบ็กที่อยู่นอกอาคารปริมาณ 2,600 ตัน รวมถึงวัตถุอันตรายในบ่อซีเมนต์อีกกว่า 1,400 ตัน ส่วนในปี 2569 อยู่ระหว่างขอรับการจัดสรรงบ EEC วงเงินงบประมาณ 459 ล้านบาท สำหรับบำบัดของเสียที่เหลือทั้งหมดอีกกว่า 24,300 ตัน โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ หากประชาชนพบปัญหาอุตสาหกรรม โรงงานเถื่อน โรงงานที่ทำให้เดือดร้อน สามารถแจ้งเรื่องได้ที่แอปพลิเคชันไลน์ ‘แจ้งอุต’ ภายใต้ Traffy Fondue (https://landing.traffy.in.th/?key=gmyeYDBV) เปิดรับเรื่องทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง

ILINK เผยผลประกอบการปี 67 มีกำไร 744 ลบ. เพิ่มขึ้น 4.43% ตั้งเป้าปี 68 รายได้รวม 7,120 ลบ. เน้นเติบโตแบบคุณภาพทุกกลุ่มธุรกิจ

ILINK เผยผลประกอบการปี 2567 มีกำไร 744 ลบ. กวาดรายได้รวม 6,772 ลบ. มั่นใจปี 2568 ขับเคลื่อนทุกกลุ่มธุรกิจ ด้วยปัจจัยเชิงกลยุทธ์ เน้นเติบโตแบบมีคุณภาพ 'Quality Growth'

เมื่อวันที่ (28 ก.พ.68) นายสมบัติ อนันตรัมพร ประธานกรรมการ บมจ.อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น หรือ ILINK เปิดเผยถึงผลประกาศผลประกอบการประจำปี 2567 ว่า บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 744 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.43% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้รวมทั้งปี 6,772 ล้านบาท แม้รายได้รวมจะลดลงเล็กน้อย 2.77% แต่กำไรสุทธิยังคงเติบโตได้ดี สะท้อนถึงการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและกลยุทธ์ 'Quality Growth' หรือการเติบโตอย่างมีคุณภาพ 

สำหรับปี 2568 ILINK ตั้งเป้ารายได้รวม 7,120 ล้านบาท และกำไรสุทธิไม่ต่ำกว่า 9% ของรายได้ โดยจะมุ่งเน้นการเติบโตใน 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ, ธุรกิจวิศวกรรมโครงการ, และธุรกิจโทรคมนาคมและดาต้าเซ็นเตอร์ โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตในปี 2568 ที่จะส่งผลให้เติบโตจาก Technology  Advancement และ  Hyper Scale  Data Center Investment อีกทั้งนโยบายรัฐบาลที่สนับสนุน Green Energy & Solar Roof Policy และ Recovery of Tourists

โดยธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ ทำรายได้รวม 3,108 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.9% กำไรสุทธิ 362 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.66% ตั้งเป้ารายได้ปี 2568 ที่ 3,420 ล้านบาท

ธุรกิจวิศวกรรมโครงการ ทำรายได้รวม 953 ล้านบาท ลดลง 28.28% กำไรสุทธิ 58 ล้านบาท ลดลง 45.48% คาดว่าจะมีงานโครงการใหม่ในปี 2568 มูลค่า 2,271.71 ล้านบาท

ธุรกิจโทรคมนาคมและดาต้าเซ็นเตอร์: ทำรายได้รวม 2,711 ล้านบาท ลดลง 1.6% กำไรสุทธิ 324 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.55%

ILINK มั่นใจว่าจะสามารถรักษาการเติบโต และทำกำไรอย่างต่อเนื่องในปี 2568 โดยเน้น "การเติบโตอย่างมีคุณภาพ 'Quality Growth' " และคาดว่าจะมีการจ่ายเงินปันผลในอัตราที่สูง New High อีกด้วย

‘พีทีที สเตชั่น’ ร่วมโครงการ 'หัวจ่ายเชื้อเพลิงมาตรฐาน' พร้อมผ่านการรับรองระดับสีเงิน 105 ปั๊ม มากที่สุดในประเทศ

พีทีที สเตชั่น ทุกสถานีทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการ 'หัวจ่ายเชื้อเพลิงมาตรฐาน' ของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นโครงการเสริมจากมาตรการทางกฎหมาย ผ่านการรับรองระดับสีเงิน 105 สถานี ถือเป็นแบรนด์สถานีบริการที่ได้รับการรับรองระดับสีเงินจำนวนมากที่สุด และมี พีทีที สเตชั่น ที่ผ่านการรับรองหัวจ่ายมาตรฐานแล้ว 2,167 สถานี ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการและรออนุมัติ พิสูจน์ความมุ่งมั่นในการส่งมอบสินค้าและบริการที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานสูงสุดให้กับผู้บริโภค

(28 ก.พ. 68) นายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า โครงการ 'หัวจ่ายเชื้อเพลิงมาตรฐาน' เป็นการประสานความร่วมมือระหว่าง กรมการค้าภายใน ร่วมกับ บริษัทผู้ค้าน้ำมันทั้ง 10 บริษัท โดยให้สถานีที่เข้าร่วมโครงการฯ จะต้องส่งรายงานผลการทดสอบน้ำมันของตน ให้กับกรมการค้าภายใน เดือนละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 6 เดือน  และหลังจากนั้นให้ส่งรายงานผลการทดสอบน้ำมันให้กรมเดือนละครั้ง ทุกเดือน หากสถานีใดดำเนินการได้ถูกต้อง ครบถ้วน จะได้การยกระดับป้ายสัญลักษณ์เป็นสีเงิน (Silver) และหากปฏิบัติตามเงื่อนไขถูกต้องจนครบ 2 ปี จะได้รับการยกระดับป้ายสัญลักษณ์เป็นสีทอง (Gold) ตามลำดับ เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนที่ใช้บริการจากสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศว่าจะได้ปริมาณถูกต้องครบถ้วนอย่างแน่นอน ปัจจุบันนี้มีสถานีที่สมัครและเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 6,793 สถานี และได้รับการอนุมัติเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 5,788 สถานี และมีสถานีที่ได้รับป้ายสีเงินแล้วทั้งสิ้น 211 สถานี   

หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวว่า การเข้าร่วม 'โครงการหัวจ่ายเชื้อเพลิงมาตรฐาน' ของกรมการค้าภายใน สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานและความตั้งใจของ OR ที่ให้ความสำคัญกับการรักษามาตรฐานการให้บริการของ พีทีที สเตชั่น มาอย่างต่อเนื่องให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น และเป็นตัวอย่างที่สำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและความมุ่งมั่นของ OR ในการส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุด และตอกย้ำความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคว่าจะได้รับปริมาณน้ำมันเป็นไปตามมาตรฐานทุกหัวจ่ายตามที่กรมการค้าภายในกำหนด โดยปัจจุบัน สถานีบริการ พีทีที สเตชั่น ทุกแห่งทั่วประเทศจำนวน 2,340 สถานี ได้สมัครเข้าร่วมโครงการครบถ้วนทั้งหมด 100% แล้ว โดยมีสถานีบริการ พีทีที สเตชั่น ที่ได้รับการอนุมัติให้ผ่านการรับรองแล้ว 2,167 สถานี ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการและรออนุมัติ และยังมีสถานีบริการ พีทีที สเตชั่น ที่ได้รับการรับรองระดับสีเงิน ซึ่งเป็นสถานีบริการที่รักษามาตรฐานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 6 เดือน จำนวน 105 แห่ง จากจำนวนสถานีบริการทุกแบรนด์ที่ได้รับการรับรองระดับเงินทั้งหมดทั่วประเทศ จำนวน 211 แห่ง ซึ่งถือเป็นแบรนด์สถานีบริการน้ำมันที่ได้รับมาตรฐานในระดับนี้จำนวนมากที่สุดในประเทศ และอยู่ระหว่างการมุ่งสู่การรับรองระดับสูงสุดคือระดับสีทองที่ต้องรักษามาตรฐานต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปี อีกด้วย 

ทั้งนี้ OR มีหน่วยงานตรวจสอบมาตรฐานการให้บริการของสถานีบริการ พีทีที สเตชั่น ทั่วประเทศ (Mobile Unit) อย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าผู้บริโภคจะได้รับทั้งสินค้าและบริการที่ได้มาตรฐานสูงสุด และที่ผ่านมา OR ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์กำหนดอย่างเคร่งครัด โดยตรวจสอบหัวจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงที่สถานีบริการ พีทีที สเตชั่น และนำส่งรายงานการตรวจสอบให้กองชั่งตวงวัด กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เป็นประจำทุกเดือน และหากพบว่ามีค่าที่ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดจะปิดการจำหน่ายหัวจ่ายนั้น ๆ ทันที และประสานงานแจ้งเจ้าหน้าที่ชั่งตวงวัด เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบ และให้คำรับรองมาตรวัดปริมาตรน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่ก่อนที่จะเปิดจำหน่ายอีกครั้ง

EEC จับมือ HSBC ดึง FDI 5 แสนล้านบาท ปั้นไทยสู่ศูนย์กลาง 5 อุตสาหกรรมอนาคต

(27 ก.พ.68) ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และนายจอร์โจ กัมบา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและหัวหน้ากลุ่มลูกค้าธุรกิจ ธนาคาร HSBC ประเทศไทย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อเสริมศักยภาพการลงทุนในพื้นที่ EEC และยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมมูลค่าสูงระดับโลก

ข้อตกลงนี้มีเป้าหมายเพื่อดึงดูดนักลงทุนระดับนานาชาติ โดยอาศัยเครือข่ายของ HSBC ที่ครอบคลุม 58 ประเทศและเขตดินแดน เชื่อมโยงโอกาสการลงทุนจากจีน ยุโรป เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกกลาง อินเดีย ไต้หวัน และญี่ปุ่น พร้อมสนับสนุนโซลูชันทางการเงินและคำปรึกษาครบวงจร เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการลงทุนใน EEC

ความร่วมมือนี้ตั้งเป้าดึงดูดเม็ดเงินลงทุนรวม 5 แสนล้านบาทภายใน 5 ปี โดยเน้น 5 อุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่, อุตสาหกรรมดิจิทัล, อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ, อุตสาหกรรมสีเขียว BCG และภาคอุตสาหกรรมบริการ

ดร.จุฬา กล่าวว่า "EEC เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ความร่วมมือกับ HSBC ซึ่งมีเครือข่ายและความเชี่ยวชาญระดับโลก จะช่วยเชื่อมโยง EEC เข้ากับองค์กรชั้นนำระดับนานาชาติ กระตุ้นการลงทุนที่มีมูลค่าสูง และสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจในพื้นที่และชุมชน"

HSBC หนุนโรดโชว์ ดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก

HSBC จะสนับสนุนกิจกรรมโรดโชว์ในปี 2568 เพื่อประชาสัมพันธ์โอกาสการลงทุนใน EEC ไปยังจีน สิงคโปร์ ยุโรป ไต้หวัน และญี่ปุ่น ตอกย้ำบทบาทของ EEC ในฐานะจุดหมายสำคัญของการลงทุนระดับโลก

นายจอร์โจ กัมบา ระบุว่า "ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) โดยเฉพาะใน EEC ซึ่งคิดเป็น 78% ของมูลค่าการลงทุนโดยตรงทั้งหมดในปีที่ผ่านมา ความร่วมมือนี้จะช่วยเร่งการเติบโตของอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ และเชื่อมโยงประเทศไทยเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานโลกอย่างแข็งแกร่ง"

ข้อมูลจาก HSBC ชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจจากจีนสนใจขยายการลงทุนในอาเซียนมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งมีเม็ดเงินลงทุนสะสมในไทยตั้งแต่ปี 2561 จนถึงไตรมาส 3 ปี 2567 สูงถึง 2.75 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ยังได้รับความสนใจอย่างมาก เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่มั่นคงและเศรษฐกิจดิจิทัลที่เติบโตเร็วเป็นอันดับสองในอาเซียน

ดุสิตธานีพลิกกำไร 310 ล้าน ไตรมาส 4 ปี 67 รายได้รวม 6.1 พันล้าน เป้าธุรกิจโรงแรม-อาหารโต 15-25% ปี 68

(26 ก.พ. 68) นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DUSIT เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาสที่ 4 (ตุลาคมถึงธันวาคม) ปี 2567 ของกลุ่มดุสิตธานี บริษัทฯ มีรายได้รวมที่ 6,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 224% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดยรายได้ก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ที่ 1,089 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 310 ล้านบาท พลิกจากที่เคยขาดทุนในงวดเดียวกันของปีก่อนที่ 146 ล้านบาท (YoY) และจากที่เคยขาดทุนในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ที่ 538 ล้านบาท (QoQ)

สำหรับผลประกอบการงวด 1 ปี (มกราคมถึงธันวาคม) ปี 2567 บริษัทฯ มีรายได้รวม 11,204 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 74.8% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2566 โดย EBITDA อยู่ที่ 1,650 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 91.4%  และมีผลขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 237 ล้านบาท ลดลงจากผลขาดทุน 570 ล้านบาทในปีก่อน

“ผลประกอบการในไตรมาสที่ 4 ของกลุ่มดุสิตธานีเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยเราสามารถพลิกผลขาดทุนให้กลับมาเป็นกำไรสุทธิได้ ซึ่งปัจจัยหลักมาจากรายได้จากการส่งมอบงานก่อสร้างพื้นที่อาคารค้าปลีก (Bare Shell) ของโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค รายได้จากช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจโรงแรมที่มีลูกค้าทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงรายได้จากโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ที่รับรู้รายได้เต็มไตรมาส หลังจากเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2567 ขณะที่รายได้จากธุรกิจอาหารเติบโตได้อย่างน่าพอใจ จากการขยายตลาดและการเพิ่มลูกค้าใหม่ของบริษัท เอ็บเพอคิวร์ เคเทอริ่ง จำกัด (Epicure) และบองชู เบเกอรี่ (Bonjour Bakery)” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.ดุสิตธานีกล่าว

ทั้งนี้ การฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญของผลประกอบการในปี 2567 ตอกย้ำให้เห็นถึงความสำเร็จของแผนยุทธศาสตร์ด้านการลงทุน 3 ประการของกลุ่มดุสิตธานี ได้แก่ สร้างสมดุล สร้างการเติบโต และกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ ทั้งธุรกิจอาหาร รวมถึงธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักของดุสิตธานี ทำให้บริษัทฯ มองเห็นโอกาสในการใช้ประสบการณ์และความสามารถจากธุรกิจหลักในการกระจายความเสี่ยงจากการลงทุน ลดการพึ่งพิงรายได้จากธุรกิจโรงแรม และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับกลุ่มดุสิตธานี

สำหรับปี 2568 ซึ่งเป็นช่วงเวลาปลดล็อคมูลค่าลงทุน ตามแผนกลยุทธ์เพื่อการสร้างความเติบโตในระยะยาว บริษัทฯ จะเดินหน้าพลิกฟื้นธุรกิจให้แข็งแกร่ง โดยมีรายได้เพิ่มขึ้นจากทุกกลุ่มธุรกิจ แม้ว่า จะยังมีภาระดอกเบี้ยจากการลงทุนในโครงการลงทุนขนาดใหญ่เป็นปัจจัยหน่วงที่มีนัยสำคัญก็ตาม ซึ่งในส่วนของธุรกิจโรงแรมนั้น คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตของรายได้ประมาณ 15-18% จากปี 2567 (ไม่รวมรายได้จากโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ)  โดยจะเน้นการขยายพอร์ตโรงแรมในรูปแบบรับจ้างบริหารจัดการ (Asset-light) เป็นโรงแรมเปิดใหม่ 5-7 แห่ง และคาดว่าจะมีการเซ็นสัญญาบริหารเพิ่ม 12-14 แห่ง

ส่วนธุรกิจอาหารซึ่งยังเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตดี บริษัทฯ ประมาณการการเติบโตของรายได้ธุรกิจอาหารในปีนี้ไว้ที่ 20-25% โดยมีแผนขยายแฟรนไชส์บองชูเบเกอรี่ เพิ่ม 12-15 สาขา รวมถึงร่วมมือกับพันธมิตรญี่ปุ่น Green House เพื่อขยายตลาด พร้อมกันนี้ ยังมีการเตรียมความพร้อมเพื่อที่จะนำธุรกิจอาหารเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกด้วย ขณะที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คาดว่า จะสามารถขับเคลื่อนมูลค่า โครงการ ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค จากการเปิดให้บริการในส่วนของอาคารสำนักงานและศูนย์การค้าได้ในครึ่งหลังของปี 2568 และเริ่มทยอยโอนโครงการพักอาศัยดุสิต เรสซิเดนเซส และ ดุสิต พาร์คไซด์ ในช่วงปลายปีนี้ โดยตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 95% ของพื้นที่ขาย

“ปี 2568 เป็นช่วงสุดท้ายของแผนกลยุทธ์เพื่อการสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืน ที่เราแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลา ตั้งแต่ปี 2559-2568 ซึ่งตลอดระยะทาง 9 ปีของแผนที่เราวางไว้ เราต้องเจอกับเรื่องไม่คาดคิด รวมถึงปัจจัยท้าทายต่างๆ มากมาย แต่ด้วยความมุ่งมั่นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ผู้บริหาร พนักงาน ผู้ถือหุ้น รวมถึงความไว้วางใจจากลูกค้าและคู่ค้าของดุสิตธานี ที่พร้อมการให้สนับสนุนเราเสมอ ทำให้วันนี้เราจะสามารถพลิกฟื้นธุรกิจของกลุ่มให้กลับมาเติบโตได้อย่างน่าพอใจ ในช่วงเวลาหลังจากนี้ที่เราเรียกว่า เป็นช่วงปลดล็อคมูลค่าลงทุน กลุ่มดุสิตธานีจะเดินหน้าสร้างสมดุลของรายได้ระยะสั้นและรายได้ระยะยาวตามแผน เพื่อตอกย้ำความมั่นคงและต่อยอดไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต พร้อมๆ กับการเดินหน้าขยายแบรนด์ 'ดุสิตธานี' ในอีกหลายๆ พื้นที่ทั่วโลกที่เป็นหมุดหมายใหม่ของเรา” นางศุภจีกล่าว

‘โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี’ นำร่องโมเดล ‘หนอนแม่โจ้’ ช่วยจัดการขยะอินทรีย์ – ลดการฝังกลบ 20 ตัน/ปี

โรงไฟฟ้าบีแอลซีพีสร้างปรากฏการณ์ นำนวัตกรรมการเลี้ยง 'หนอนแม่โจ้' (Black Soldier Fly - BSF) มาใช้จัดการขยะอินทรีย์จากโรงอาหาร โดยหนอนแม่โจ้สามารถย่อยสลายขยะได้ภายใน 12 ชั่วโมง ทำให้ในปี 2024 ลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปฝังกลบได้มากถึง 20 ตันต่อปี โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นต้นแบบให้องค์กรอื่น ๆ หันมาจัดการขยะอินทรีย์อย่างยั่งยืน

ระบบครบวงจร เปลี่ยนขยะเป็นโปรตีน
โครงการเริ่มต้นในปี 2024 ด้วยการคัดแยกขยะจากโรงอาหาร นำขยะอินทรีย์มาเพาะเลี้ยงหนอนแม่โจ้ในระบบปิด ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่เลี้ยงตัวอ่อนและพื้นที่สำหรับแมลงวันตัวเต็มวัยวางไข่ ระบบนี้ได้รับการออกแบบให้เหมาะสม ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อม หนอนแม่โจ้มีประสิทธิภาพสูงกว่าไส้เดือนถึง 5 เท่า ย่อยสลายขยะอินทรีย์ได้ถึง 70% และตัวหนอนมีโปรตีนสูง สามารถนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ ช่วยลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์ได้ถึง 50% และทำให้สัตว์เติบโตได้ดีขึ้น

มุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนและเป้าหมาย SDGs
โครงการนี้ไม่เพียงแต่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และสร้างจิตสำนึกให้พนักงานมีส่วนร่วมในการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ผู้บริหารโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีกล่าวว่า "โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นของเราในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เราหวังว่าจะเป็นต้นแบบให้กับองค์กรอื่น ๆ ในการจัดการขยะอินทรีย์อย่างครบวงจร"

หนอนแม่โจ้ ผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อม
หนอนแม่โจ้ หรือ Black Soldier Fly (BSF) เป็นแมลงที่มีบทบาทสำคัญในการย่อยสลายขยะอินทรีย์ ด้วยความสามารถในการกินและย่อยสลายเศษอาหารและขยะอินทรีย์ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้หนอนแม่โจ้กลายเป็นตัวช่วยสำคัญในการจัดการขยะอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ หนอนแม่โจ้ยังมีโปรตีนสูง จึงสามารถนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ ลดการพึ่งพาอาหารสัตว์สำเร็จรูปที่มีต้นทุนสูง และส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

อนาคตที่ยั่งยืนด้วยนวัตกรรม
โครงการของโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการนำนวัตกรรมมาใช้ในการจัดการขยะอย่างยั่งยืน ด้วยการใช้หนอนแม่โจ้ในการย่อยสลายขยะอินทรีย์ ไม่เพียงแต่ช่วยลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปฝังกลบ แต่ยังสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะ โดยการนำหนอนแม่โจ้ไปใช้เป็นอาหารสัตว์ โครงการนี้แสดงให้เห็นว่า การจัดการขยะอย่างยั่งยืนสามารถทำได้จริง และเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน

บีโอไอ ผนึก Omoda & Jaecoo จับคู่ธุรกิจผู้ผลิตชิ้นส่วนไทย ยกระดับฐานการผลิต EV สร้างมูลค่าซื้อขายกว่า 2 พันล้านบาท

(26 ก.พ. 68) บีโอไอจับมือ โอโมดา แอนด์ เจคู ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ในเครือ Chery Automobile จากจีน จัดงาน “OMODA & JAECOO Sourcing Day” เชื่อมโยงผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยเข้าสู่ซัพพลายเชนของ EV และยกระดับไทยก้าวสู่ฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าระดับโลก เผยยอดเจรจาธุรกิจ 50 บริษัท คาดเกิดมูลค่าซื้อขายชิ้นส่วนในประเทศกว่า 2,100 ล้านบาท 

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 บีโอไอ ร่วมกับ โอโมดา แอนด์ เจคู (ประเทศไทย) บริษัทในเครือของ Chery Automobile ผู้นำด้านยานยนต์พลังงานใหม่ระดับโลกจากประเทศจีน และธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) ร่วมจัดงาน “OMODA & JAECOO Sourcing Day” ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ เพื่อจัดหาชิ้นส่วนยานยนต์จากผู้ผลิตในประเทศ สำหรับสายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) หลังจากที่กลุ่ม Chery Automobile เลือกไทยเป็นฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชนิดพวงมาลัยขวา เพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปยังภูมิภาคอาเซียน ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง 

Chery เป็นหนึ่งในบริษัทรถยนต์พลังงานใหม่ที่มีการเติบโตของยอดขายและยอดส่งออกสูงที่สุดจากประเทศจีน มีผู้ใช้งานกว่า 14 ล้านคน ในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก สำหรับแผนธุรกิจในประเทศไทย จะดำเนินการภายใต้บริษัท โอโมดา แอนด์ เจคู (ประเทศไทย) จำกัด โดยได้ตัดสินใจใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตหลักสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV พวงมาลัยขวาแห่งเดียวในอาเซียน เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าทั้งในประเทศไทยและเป็นฐานในการส่งออก ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมติดตั้งสายการผลิตที่โรงงานในจังหวัดระยอง โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มผลิตได้ในเดือนสิงหาคม 2568 ด้วยกำลังการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV สูงสุดในเฟสแรก 50,000 คันต่อปี และมีแผนจะลงทุนผลิตแบตเตอรี่ในขั้น Pack Assembly ในประเทศไทยในอนาคตอันใกล้ด้วย 

โอโมดา แอนด์ เจคู มีความตั้งใจที่จะช่วยสร้างซัพพลายเชนในไทยให้มีความพร้อมรองรับการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ของบริษัทอย่างครบวงจร โดยตั้งเป้าใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศร้อยละ 45-50 ภายในปีนี้ และเพิ่มเป็นร้อยละ 70 - 80 ภายใน 5 ปีข้างหน้า การจัดงาน “OMODA & JAECOO Sourcing Day” ในครั้งนี้ บริษัทได้ตั้งเป้าจัดซื้อชิ้นส่วนรถยนต์จำนวนมากจากผู้ผลิตในประเทศ โดยเฉพาะใน 6 กลุ่มชิ้นส่วนสำคัญ ได้แก่ Interior, Exterior, Electrical, Chassis, New Energy และ Powertrain โดยมีผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศเข้าร่วมงาน 370 คน จาก 200 บริษัท และมีการเจรจาจับคู่ธุรกิจเป็นรายบริษัทกับผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ จำนวน 50 บริษัท คาดว่าจะเกิดมูลค่าซื้อขายชิ้นส่วนกว่า 2,100 ล้านบาท

“กิจกรรม Sourcing Day เป็นงานที่บีโอไอให้ความสำคัญ เพื่อผลักดันการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ ผ่านการเชื่อมโยงผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยกับบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าถึงซัพพลายเชนระดับโลก และเกิดการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการผลิต การจัดการ การถ่ายทอดเทคโนโลยี และอาจนำไปสู่การเป็นพันธมิตรทางธุรกิจหรือการร่วมทุนกันในอนาคต การร่วมมือกับบริษัทระดับโลกอย่าง Chery Automobile (OMODA & JAECOO) ในวันนี้ จึงเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทย และช่วยยกระดับผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก” นายนฤตม์ กล่าว

นายฉี เจี๋ย ประธานบริษัท โอโมดา แอนด์ เจคู (ประเทศไทย) กล่าวว่า “OMODA & JAECOO รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้จัดงาน Sourcing day ร่วมกับบีโอไอในครั้งนี้ เรามุ่งมั่นที่จะสร้างพันธมิตรทางธุรกิจที่แข็งแกร่งผ่านการเจรจาธุรกิจในงาน Sourcing Day นี้ เนื่องจากเราเห็นว่าผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศไทยมีศักยภาพและนวัตกรรม ทำให้เรามองเห็นโอกาสอันยิ่งใหญ่ในการร่วมงานกับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนของไทย เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ทั้งตลาดภายในประเทศและระดับสากล ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้ความสำคัญกับงานนี้ และเราหวังว่าวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้ก้าวไกลสู่ระดับสากล”

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บีโอไอได้จัดกิจกรรม Sourcing Day ร่วมกับผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าแล้ว 6 ราย ได้แก่ BYD, NETA, MG, CHANGAN, GAC AION และ Foton คาดว่าจะเกิดมูลค่าซื้อขายชิ้นส่วนในประเทศกว่า 48,000 ล้านบาท สำหรับปี 2568 นี้ บีโอไอมีแผนจัดกิจกรรมดังกล่าวให้กับกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนอีกหลายราย เช่น ZF AUTOMOTIVE และ PACCAR เป็นต้น

‘ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด’ มอง ‘ริยาดห์’ ของซาอุฯ มาแรง ชี้ อีเว้นต์ใหญ่เพียบ ทั้ง World Expo 2030 - ฟุตบอลโลก 2034

(26 ก.พ. 68) นายจิรวัฒน์ เดชาเสถียร ผู้เชี่ยวชาญด้านการขาย การตลาดและการจัดการค้าปลีกค้าส่งในภูมิภาคอาเซียน โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงผู้ประกอบการไทยควรมุ่งเจาะตลาดซาอุดีอาระเบียต่อเนื่อง ในตอนที่ 2 ว่า หลังจากที่คุยกับ รศ.ดร นิสิต หัวหน้าศูนย์อาเซียนศึกษาเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา อยากเขียนเรื่องเมีย เมียที่ว่าคือ MEA หรือ Middle East Africa โดยมีซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

สำหรับ ซาอุฯนั้นโซนสำคัญคือโซนเมืองศาสนาทางตะวันตก ประกอบด้วยเจดดาห์ มักกะห์ เมดนะห์ โชนนี้มีศาสนสถานของมุสลิมอยู่และเป็นจุดที่ทำให้เกิดการเดินทางแสวงบุญ ท่องเที่ยว อีก 4 วันจะถึงช่วงรามาฎอน แน่นหนาแน่นอนสำหรับโซนนี้ ปีก่อนมีนักเดินทางไปซาอุทางเครื่องบินถึง 128 ล้านคน ซึ่งมีจำนวนเยอะกว่าเมืองไทยอีก ขณะที่ซาอุฯ มีคน 35 ล้านคน 

“ผมพูดถึงโซนตะวันตกที่ติดทะเลแดง เมื่อก่อนเราส่งสินค้าไปเจดดาห์ ที่นั่นมี สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ไทยอยู่ด้วย เดี๋ยวนี้หาเรือไปเส้นทางนี้ลำบากขึ้น เพราะการไปทะเลแดงต้องผ่านโซมาเลียที่มีโจรสลัด ดังนั้นจึงมีสายเรือน้อยและไม่มีเรื่องประกันภัย ถ้ามีเบี้ยก็จะแพง ในขณะการค้าขายถูกเปลี่ยนผ่านไปโซนตะวันออกที่ Ad Damman ตรงนั้นเลยดูไบ ใกล้กาตาร์ อยู่ในอ่าวเปอร์เซีย ที่โซนตะวันออกจึงยืดหยุ่นมากกว่า และมีต่างชาติเริ่มไปที่นั่นมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่ดามมานใกล้ริยาดห์ครับ ห่างกันโดยขับรถประมาณ 4 ชั่วโมง ในขณะที่การขับรถจากริยาดห์ไปเจดดาห์ใช้เวลาถึง 10 ชั่วโมงทีเดียว”

สรุปสั้น ๆ ทำการค้า ไปทางตะวันออกน่าจะรุ่งกว่าในตอนนี้ โครงการยักษ์ ทั้งหลายเกิดที่ตะวันออกนี่หละ ไล่เรียง Timeline ดูครับ งานสำคัญๆ จะเกิดที่ซาอุตั้งแต่ Olympic e-sport ฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย ต่อด้วย World Expo 2030 ที่ริยาดห์ และต่อด้วยฟุตบอลโลก 2034 งานดึง tourist ไปที่นั่นนี่ชัดเจน

รัฐบาลริยาดห์ บอกว่า ธุรกิจตนจะพึ่งพาพลังงานอย่างเดียวไม่ได้ เลยพยายามกระจายการหารายได้ออกจากพลังงาน และท่องเที่ยวนี่แหละคือคำตอบ คนซาอุ โดยเฉพาะสตรีได้สิทธิเสรีมากขึ้น จำนวนผู้หญิงที่รัฐตั้งเป้าว่าปี 2030 จะมีผู้หญิงเข้ามามีบทบาทการทำงานให้ได้ถึง 30% ปรากฏว่าวันนี้สิ้นปี 2024 ผู้หญิงออกมาทำงานแล้ว 35% ทำให้การขับเคลื่อนธุรกิจภาคท่องเทียวเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม เขายังต้องการคนไทยไปทำภาค services ที่นั่นมากครับ เราปั้นเด็กๆ จบมหาวิทยาลัยแล้วต้องชี้ช่องให้เด็กๆ ด้วย ไม่งั้นตัวเลขคนตกงาน 4 แสนคนในเมืองไทย ลดลงยากครับ ถ้ารัฐมัวแต่เชียร์แขกไปเก็บผลไม้ที่หลายประเทศ คนของเราจะขาดโอกาสใน Tourist sector และ Entertainment ดันให้ถูกตัว คั่วให้ถูกคนครับ ช่างเชื่อมที่ต้องการมากในอิสราเอล ถูกนำไปซ่อมรถถังทั้งนั้น ท้ายสุดเรื่องความปลอดภัยก็ดูแลยาก

รทสช. ผลักดันเต็มที่ ‘กฎหมายโซลาร์เซลล์เสรี’ ขณะที่ ‘พีระพันธุ์’ เล็งใช้กลไกกองทุนฯ หนุนผ่อนจ่ายปลอดดอกเบี้ย

รทสช. เผย กฎหมายโซลาร์เซลล์เสรีอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นประชาชน สัญญาเร่งติดตามอย่างใกล้ชิด ไม่ต้องขออนุญาต 4 หน่วยงาน ข่าวดี! ‘พีระพันธุ์’ เตรียมใช้กองทุนอนุรักษ์พลังงาน อุดหนุนให้ผ่อนจ่ายโซลาร์เซลล์-โซลาร์รูฟ ปลอดดอกเบี้ย

(25 ก.พ. 68) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี เขต 4 พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ เปิดเผยภายหลังการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรครวมไทยสร้างชาติ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรระหว่างวันที่ 25-27 กุมภาพันธ์ 2568 ว่า 

การประชุมในวันนี้นำโดย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ และนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยมีรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติต่างเข้าร่วมการประชุมอย่างพร้อมเพรียง 

สำหรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์นี้มีกฎหมายสำคัญที่จะเข้าสู่การพิจารณา ได้แก่ การพิจารณาในวาระที่ 2 และที่ 3 ของร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ. .... ซึ่งทางพรรครวมไทยสร้างชาติมีมติเห็นชอบในทั้งสองวาระ

และการพิจารณาในวาระที่ 1 ของร่างพระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนกลาโหม พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....  ซึ่งเสนอโดยคณะรัฐมนตรี ทางพรรครวมไทยสร้างชาติมีมติ รับหลักการในวาระที่ 1 ของกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ

ทั้งนี้ในการประชุมได้มีบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้สอบถามถึงความคืบหน้าของร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ฉบับที่ ... พ.ศ. ... หรือกฎหมายโซลาร์เซลล์-โซลาร์รูฟเสรี ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายที่สำคัญของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน 

ซึ่งขณะนี้กฎหมายฉบับนี้ได้บรรจุในระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเรียบร้อยแล้ว แต่ทางเจ้าหน้าที่รัฐสภามีความเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายการเงินจึงจะต้องได้รับการรับรองจากนายกรัฐมนตรีก่อนที่จะมีการพิจารณา ซึ่งนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยืนยันว่าจะติดตามอย่างใกล้ชิด และคาดว่าจะไม่มีปัญหาใด ๆ เนื่องจากเป็นการส่งเสริมพลังงานสะอาด ส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าราคาถูก และอำนวยความสะดวกในการติดตั้งโซลาร์เซลล์-โซลาร์รูฟเป็นหนึ่งในนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลรวมถึงนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว 

สำหรับกฎหมายฉบับนี้จะช่วยให้ประชาชนไม่ต้องขออนุญาตสำหรับการติดตั้งโซลาร์เซลล์-โซลาร์รูฟ กับ 4 หน่วยงาน อันได้แก่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.), กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.),องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.), และการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) - การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) อีกต่อไป โดยเปลี่ยนเป็นการแจ้งเพื่อทราบ ซึ่งในอดีตการขออนุญาตจากหลายหน่วยงานทำให้เกิดความล่าช้าในการติดตั้งโซลาร์เซลล์-โซลาร์รูฟของประชาชน และมีค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น

นอกจากนี้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังได้เตรียมกองทุนอนุรักษ์พลังงานเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงโซลาร์เซลล์-โซลาร์รูฟได้ง่ายขึ้นผ่านการผ่อนจ่ายโดยไม่มีดอกเบี้ย โดยกองทุนอนุรักษ์พลังงานจะสนับสนุนในส่วนของดอกเบี้ยดังกล่าว 

และการผลักดันการติดตั้งโซลาร์เซลล์-โซลาร์รูฟจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากขาดกระทรวงอุตสาหกรรมภายใต้การนำของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ที่ได้ผลักดันให้ที่ประชุม ครม. วันที่ 17 ธันวาคม 2567 มีมติอนุมัติร่างกฎกระทรวงอุตสาหกรรม ยกเว้นให้การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาหรือโซลาร์รูฟท็อปทุกกำลังการผลิตไม่เข้าข่ายเป็นโรงงาน และไม่ต้องขออนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม 

การแก้ไขให้ไม่ต้องขออนุญาตจากหน่วยงานราชการทั้ง 4 หน่วยงานของกฎหมายโซลาร์เซลล์-โซลาร์รูฟเสรี จะทำให้ต่อจากนี้ประชาชนไม่ต้องขออนุญาตเพื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์-โซลาร์รูฟเสรี ซึ่งทางพรรครวมไทยสร้างชาติยืนยันว่าจะเร่งรัดและผลักดันเพื่อให้กฎหมายฉบับนี้ผ่านสภาผู้แทนราษฎร ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว เพื่อให้พี่น้องประชาชนสามารถเข้าถึงไฟฟ้าสะอาดในราคาถูกลงได้

‘เอกนัฏ’ เล็งขุดรากถอนโคนขนขยะอันตรายเข้าประเทศ เตรียมชงเคส รง.ไฟไหม้ สมุทรสาคร ให้ DSI รับช่วงจัดการต่อ

(25 ก.พ. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายพรยศ กลั่นกรอง อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายนริศ นิรามัยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วยตำรวจสอบสวนกลางและคณะ ได้ลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครเพื่อติดตามความคืบหน้าในคดีเหตุโกดังเก็บพลาสติกรีไซเคิลของบริษัท เถิงต๋า พลาสติก แอนด์ เมทเทิล จำกัด มีนายฟูควน ลัว เป็นผู้เช่าอาคารโกดังต่อจากเจ้าของคนไทย ซึ่งเกิดเหตุเพลิงไหม้เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2568 

จากการตรวจสอบพบว่า ผู้เช่าและผู้ให้เช่ามีการกระทำความผิดกฎหมายและฝ่าฝืนคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ในหลายกรณี อาทิ มีการก่อสร้างต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต มีการลักลอบประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพโดยไม่ได้รับอนุญาต ลักลอบตั้งโรงงานในพื้นที่ขัดผังเมืองและมีการประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต อีกทั้ง ยังมีการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จำพวกสายไฟเก่าโดยไม่ได้รับอนุญาต เพื่อนำมาทำการคัดแยกโลหะมีค่าและบดบ่อยเป็นเม็ดพลาสติกก่อนที่จะทำการจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มอก. และความผิดอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่ผิดกฎหมายทั้งหมด พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด และได้ทำการยึดอายัดของกลางประกอบด้วย เศษสายไฟฟ้าและเศษพลาสติกที่บดย่อยแล้ว ปริมาณกว่า 6,900 ตัน ไว้ ณ ที่เกิดเหตุ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป  

นายเอกนัฏ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจะผนึกกำลังร่วมกับจังหวัดสมุทรสาคร ผลักดัน ‘สมุทรสาครโมเดล’ ยกระดับมาตรการการตรวจกำกับโรงงานอย่างเข้มข้น ตั้งแต่ต้นทางกระบวนการอนุญาต โดยจะจัดให้มีคณะทำงานกลั่นกรองร่วมระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเพื่อร่วมกันให้ความเห็นประกอบการพิจารณาออกใบอนุญาตโรงงานกลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่น โรงงานหล่อหลอมโลหะ โรงงานคัดแยกหรือรีไซเคิลวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว เป็นต้น นอกจากนี้ จะมีการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.โรงงานฯ เพิ่มเติมให้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองของจังหวัดสมุทรสาครเพื่อร่วมกันเสริมกำลังให้กับชุดทำงานเฉพาะกิจเพื่อตรวจตราและเฝ้าระวังการประกอบการที่ผิดกฎหมาย ตลอดจนการเฝ้าดูแลและบริหารจัดการของกลางที่ได้ทำการยึดอายัดเอาไว้ ควบคู่ไปกับที่กระทรวงอุตสาหกรรมใช้เครื่องมือ ‘แจ้งอุต’ ให้ประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตาเผ้าระวังการประกอบการที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีทีมตรวจการสุดซอยลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างเข้มข้นและรวดเร็ว 

นายเอกนัฏ กล่าวต่อว่า กระทรวงอุตสาหกรรม จะได้เตรียมหารือร่วมกับทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI เพื่อส่งต่อคดีนี้ให้ไปอยู่ในความดูแลเพราะถือเป็นคดีสำคัญระดับประเทศ และเชื่อว่ามีผู้ร่วมขบวนการเป็นเครือข่ายใหญ่ ซึ่งจะต้องดำเนินการผู้ที่เกี่ยวข้องที่เข้ามายึดพื้นที่ในจังหวัดสมุทรสาคร ในการลักลอบนำเข้าวัตถุอันตรายและประกอบกิจการที่ไม่ได้รับอนุญาต ไร้มาตรฐานสินค้าไทย และยังนำออกจำหน่ายสินค้าไม่ได้มาตรฐานสู่ผู้บริโภค ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้น มูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท

หากประชาชนพบเห็นปัญหาหรือเหตุต้องสงสัยเกี่ยวกับการประกอบการอุตสาหกรรมที่ไม่ถูกต้องหรือสินค้าที่ไม่ผ่านมาตรฐาน มอก. สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนผ่าน ‘แจ้งอุต’ https://landing.traffy.in.th?key=wTmGfkav หรือไลน์ไอดี ‘traffyfondue’ เพื่อกระทรวงฯ จะเร่งส่งทีมสุดซอยลงพื้นที่จัดการกับปัญหาให้ประชาชนในทันที’ นายเอกนัฏกล่าวทิ้งท้าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top