Saturday, 3 May 2025
ECONBIZ NEWS

‘เอกนัฏ’ ล่องใต้ ดันวิสาหกิจชุมชนสู่ Soft Power หนุนผู้ประกอบการร่วมสร้างอุตสาหกรรมยั่งยืน

“เอกนัฏ” ล่องใต้ สุราษฎร์-สงขลา ดันวิสาหกิจชุมชนสู่ Soft Power หนุนผู้ประกอบการ สร้างความยั่งยืนให้ภาคอุตสาหกรรมไทย

(18 ก.พ. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจราชการและประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่1/2568 ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 16-18 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อติดตามการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการในพื้นที่  

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า คณะฯ ได้ลงตรวจเยี่ยมสถานประกอบการในจังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1) กลุ่มวิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมจักสานกระจูดบ้านห้วยลึก ตั้งอยู่ที่ ต.ท่าสะท้อน อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ผู้ประกอบการผลิตสินค้าหัตถกรรมจักสานจากต้นกระจูดด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น และเป็นสินค้า OTOP ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้รับคัดสรรเป็นสินค้าหัตถกรรมคุณภาพ และได้รับมาตรฐานสินค้า OTOP ระดับประเทศ มีผลิตภัณฑ์ เช่น เสื่อ ตะกร้า กระเป๋าจากกระจูด ซึ่งปัจจุบันกลุ่มฯ ได้พัฒนารูปแบบของสินค้าหัตถกรรมให้มีความหลากหลาย ทันสมัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามสมัยนิยม เช่น กระเป๋าเดินทางแบบมีล้อ กระเป๋าแฟชั่นแบบตัดเย็บ กระเป๋าเอกสาร หมอน แฟ้มเอกสาร ปกเมนูร้านอาหาร กล่องบรรจุภัณฑ์ 

แผ่นรองจาน เป็นต้น กระทรวงอุตสาหกรรมโดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 (ศภ.10) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเข้ามาให้การสนับสนุน ด้านการจัดหลักสูตรฝึกอบรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ และการนำเครื่องรีดเส้นกระจูดไปประยุกต์ใช้กับกิจการ รวมถึงการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของพื้นที่แหล่งวัตถุดิบที่ได้รับผลกระทบจากคุณภาพน้ำ พร้อมทั้งส่งเสริมการปลูกพืชกระจูด เพื่อเพิ่มปริมาณวัตถุดิบ รวมถึงสร้างเครือข่ายแหล่งวัตถุดิบในการรองรับคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น 

แห่งที่ 2 ลงพื้นที่บริษัท ซีพีแรม จำกัด (สุราษฎร์ธานี) ตั้งอยู่ที่ ต.เขาหัวควาย อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ผู้ดำเนินการผลิตและจัดจำหน่ายอาหารพร้อมรับประทาน และเบเกอรี่อบสด ที่มีหน่วยงานวิจัยและพัฒนาเป็นของตนเอง โดยผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทาน แช่เยือกแข็งและแช่เย็น ผ่านกรรมวิธีเพื่อคงคุณภาพความสดใหม่และคุณค่าทางอาหาร โดยส่งออกและจำหน่ายในประเทศ 2. กลุ่มผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ ที่ผ่านการควบคุม ตั้งแต่การวิจัยพัฒนาคัดสรรสูตร และคัดเลือกส่วนผสม มีกรรมวิธีการผลิตที่ควบคุมคุณภาพทุกขั้นตอน ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงในการยกระดับสถานประกอบการจนได้รับรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น ประเภทการเพิ่มผลผลิต ประจำปี พ.ศ. 2567 และได้รับการสนับสนุนจากสถาบันอาหาร (สอห.) ในการพัฒนามาตรฐานโรงคัดบรรจุผักที่ได้มาตรฐาน อย. ในส่วนของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) สนับสนุนเรื่องการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากกากอุตสาหกรรม และเข้าร่วมกิจกรรมการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคนิคการบริหารจัดการโลจิสติกส์ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ด้วย 

“พื้นที่ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยนับเป็นอีกหนึ่งพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งการลงพื้นที่พบปะผู้ประกอบการตั้งแต่วิสาหกิจชุมชนที่มีการผลิตสินค้าท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ และมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับสมัยนิยมเป็นที่สนใจของคนไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งสามารถผลักดันให้เป็น Soft Power ได้ จนถึงผู้ประกอบการโรงงานก็เป็นส่วนสำคัญที่ใช้วัตถุดิบการผลิตจากในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง อีกทั้งยังเกิดการจ้างงาน และการหมุนเวียนการใช้จ่ายในชุมชนรอบโรงงาน สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของกระทรวงอุตสาหกรรมในการพัฒนาเศรษฐกิจ ส่งเสริมผู้ประกอบการและดูแลสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับภาคอุตสาหกรรมไทย” รัฐมนตรีฯ เอกนัฏ กล่าวทิ้งท้าย 

ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีจะร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่1/2568 ณ ห้องคอนเวนชั่น ฮอลล์ ศูนย์การประชุมนานาชาติ ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ต.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568 

EA ถูกจัดอันดับอยู่ในกลุ่มบริษัท Top 10% ของโลก ตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน ESG กลุ่มพลังงานไฟฟ้า

(17 ก.พ. 68) - บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในธุรกิจพลังงานทดแทนชั้นนำของประเทศ ประกาศในวันนี้ว่า บริษัทถูกจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่มบริษัท 10% ที่ดีที่สุดของโลกจากการประเมินด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (ESG) ในกลุ่มสาธารณูปโภคไฟฟ้าในปี 2568  จาก S&P Global Corporate Sustainability Assessment องค์กรชั้นนำด้านการประเมิน ESG ผู้จัดทำดัชนี Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) โดยมีผู้เข้ารับการประเมิน 7,690 บริษัทจาก 62 อุตสาหกรรมทั่วโลก 

นายฉัตรพล ศรีประทุม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การได้รับความยอมรับในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าของ EA ในเรื่องความเป็นเลิศทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลหรือธรรมาภิบาล (ESG) ตอกย้ำจุดยืนของ EA ในฐานะผู้นำในธุรกิจพลังงานสะอาด ซึ่งทั้งหมดนี้ยืนยันถึงเจตนารมณ์ของบริษัทที่มุ่งสร้างสรรค์พลังงานสะอาดและการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม”

นายฉัตรพลกว่าเพิ่มเติมว่า "เราภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งในบริษัทระดับท๊อปของโลกในเรื่องของความยั่งยืน และเป็นเพียงหนึ่งใน 2 บริษัทจากประเทศไทยที่คว้ารางวัลในกลุ่มสาธารณูปโภคไฟฟ้า รางวัลนี้ไม่ได้เป็นเพียงความภาคภูมิใจของเราเท่านั้น แต่ยังเป็นความภูมิใจของประเทศที่แสดงถึงศักยภาพของคนไทยที่ก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนในระดับโลก เราจะยังคงเดินหน้าในการพัฒนาแหล่งพลังงานทดแทนและการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยจะมุ่งมั่นและยึดถือเป็นค่านิยมหลักของบริษัทต่อไป"

ในฐานะผู้นำนวัตกรรมพลังงานสะอาด EA เดินหน้าผลักดันการใช้พลังงานทดแทน ยานยนต์ไฟฟ้า และเทคโนโลยี Battery Energy Storage System เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของโลกไปสู่อนาคตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (low-carbon) โดยบริษัทมีการดำเนินโครงการพลังงานแสงอาทิตย์และลมขนาดใหญ่ การติดตั้งระบบจัดเก็บพลังงานแบตเตอรี่ และการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งล้วนมีบทบาทสำคัญในการสร้างโลกที่ยั่งยืนและมีใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้วยความมุ่งมั่นภายใต้แนวคิด “Energy Absolute, Energy for the Future” EA จะยังคงเป็นผู้นำนวัตกรรมที่ยั่งยืนเพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทยและการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับโลกต่อไป

การดำเนินงานของกลุ่มบริษัทฯ EA ครอบคลุมตั้งแต่การผลิตเชื้อเพลิงจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น เชื้อเพลิงชีวภาพ การผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานลม, โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ การจัดหาผลิตภัณฑ์ และระบบที่ใช้ในการกักเก็บและจำหน่ายไฟฟ้า เช่น ธุรกิจพัฒนาและผลิตแบตเตอรี่ ธุรกิจสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า และรวมถึงธุรกิจประกอบยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ เช่น รถบรรทุกไฟฟ้า รสบัสไฟฟ้า และเรือไฟฟ้า

‘คงกระพัน’ ติดท็อป 100 ซีอีโอชั้นนำของโลก ด้าน ปตท.ครองอันดับแบรนด์มูลค่าสูงสุดไทย

‘คงกระพัน’ ติดอันดับ 1 ใน 100 ซีอีโอชั้นนำของโลก และ ปตท. เป็นบริษัทเดียวในไทยที่ติดอันดับมูลค่าแบรนด์สูงสุดใน Brand Finance Global 500 ปี 2568

(17 ก.พ. 68) ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.)  ได้รับการจัดอันดับที่ 66 จาก 100 CEO ชั้นนำของโลก และอยู่ในอันดับที่ 4 ของผู้นำในกลุ่มธุรกิจน้ำมันและก๊าซ ที่ส่งเสริมการสร้างมูลค่าแบรนด์องค์กรจาก Brand Guardianship Index 2025 โดย Brand Finance ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และการประเมินมูลค่าแบรนด์ชั้นนำของโลก โดยได้รับคะแนน 76.4 จาก 100 คะแนน ในดัชนี Brand Guardianship Index  ผลการจัดอันดับสะท้อนถึงคุณลักษณะที่สำคัญของ CEO ในด้านต่างๆ ได้แก่ 1) ใส่ใจพนักงานอย่างแท้จริง 2) เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก 3) มีความน่าเชื่อถือ 4) เข้าใจความต้องการของลูกค้า 5) เป็นผู้นำด้านความยั่งยืน 6) มุ่งเน้นคุณค่าในระยะยาว 7) มีกลยุทธ์และวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน 8) เข้าใจความสำคัญของแบรนด์และชื่อเสียงองค์กร และ 9) มีไหวพริบทางธุรกิจ

นอกจากนี้ CEO ปตท.  ยังได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 2 ของโลกด้านการรับรู้เรื่องความยั่งยืน ตามผลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างประมาณ 5,000 คน ในกว่า 30 ประเทศ ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการเป็นผู้นำที่บริหารธุรกิจอย่างยั่งยืนในระดับโลก  

โดยในปีนี้ ปตท. ยังคงได้รับการจัดอันดับให้เป็นบริษัทเดียวในประเทศไทยที่ติดหนึ่งใน 500 แบรนด์แรกของโลกที่มีมูลค่าแบรนด์องค์กรสูงสุด โดยอยู่ในอันดับที่ 249 สูงขึ้นจากอันดับ 267  ในปี 2567 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังได้รับการประเมินมูลค่าแบรนด์สูงกว่าเก้าพันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเติบโตกว่าร้อยละ 11 ซึ่งมีเกณฑ์ในการพิจารณา อาทิ ผลการดำเนินงาน ความแข็งแกร่งของแบรนด์ และความยึดมั่นในแบรนด์ที่ตอกย้ำการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในทุกมิติ 

Mr. Alex Haigh, Managing Director – Asia Pacific of Brand Finance กล่าวว่า ดร.คงกระพัน แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ และการขับเคลื่อนแบรนด์ด้วยเป้าหมายที่ชัดเจน โดยความมุ่งมั่นในการสร้างคุณค่าระยะยาว การพัฒนาอย่างยั่งยืน และความเป็นเลิศทางธุรกิจ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันให้ ปตท. เป็นแบรนด์ไทยเพียงหนึ่งเดียวที่ติดอันดับ Brand Finance Global 500 และมีชื่อเสียงระดับสากลในการขับเคลื่อนนวัตกรรมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภาคพลังงาน

ดร.คงกระพัน กล่าวเพิ่มเติมว่า การได้รับการจัดอันดับบริษัทที่มีมูลค่าแบรนด์สูงสุดของโลกเป็นผลเนื่องมาจากพันธกิจขององค์กรที่ชัดเจนในการมุ่งมั่นรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่องบนหลัก “ความยั่งยืนอย่างสมดุล” ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมถึงการกำกับดูแลกิจการที่ดี ภายใต้วิสัยทัศน์ “ปตท. แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน” ตลอดจนการสนับสนุนจากคนไทยทุกภาคส่วนที่ให้ความเชื่อมั่นในการดำเนินงานของ ปตท.

นอกเหนือไปจากการดูแลรักษาเสถียรภาพทางด้านพลังงานแล้ว ปตท. ยังคงดูแลสังคม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย และพร้อมช่วยเหลือประเทศชาติในยามที่เกิดภาวะวิกฤติ และดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างสมดุล ทั้งนี้ เพื่อเติบโตและมุ่งสู่การเป็นขององค์กรในระดับโลกอย่างยั่งยืน และสร้างมูลค่าแบรนด์ที่แข็งแกร่งยกระดับขีดความสามารถขององค์กรสู่ระดับสากล

สภาพัฒน์คาดปี 2568 โตในช่วง 2.3 - 3.3% เร่งเครื่องเศรษฐกิจผ่านลงทุนและการส่งออก

(17 ก.พ. 68) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ได้แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 ว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.2% เมื่อปรับผลฤดูกาลออกแล้ว โดยมีการขยายตัวจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 ที่ 0.4%

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.5% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ขยายตัว 2%. การขยายตัวนี้ได้รับปัจจัยหนุนจากการบริโภคภาคเอกชนที่เติบโต 4.4%, การอุปโภคภาครัฐที่ขยายตัว 2.5%, การลงทุนภาครัฐที่เติบโต 4.8%, และการส่งออกที่ขยายตัว 5.8% (ในรูปดอลลาร์สหรัฐ) ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 0.4% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.3% ของ GDP

สภาพัฒน์ยังคงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะขยายตัวในช่วง 2.3-3.3% โดยค่ากลางอยู่ที่ 2.8%. การคาดการณ์นี้สะท้อนถึงการขยายตัวของการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะเติบโต 3.3% และ 3.2% ตามลำดับ รวมถึงการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัว 3.5% โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยจะอยู่ในช่วง 0.5-1.5% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.5% ของ GDP

ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปี 2568 รวมถึงการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุน, การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน, การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว, การปรับตัวของการลงทุนภาคเอกชน, และการขยายตัวของการส่งออกสินค้า

สภาพัฒน์ได้ให้ความสำคัญกับแนวทางการเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของประเทศคู่ค้า และการส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทยที่มีศักยภาพ รวมถึงการเร่งรัดการลงทุนภาคเอกชน และการเพิ่มผลิตภาพการผลิตผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง นอกจากนี้ยังมีการขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ (PM 2.5) ควบคู่กับการรักษามาตรฐานความปลอดภัยในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

ดุสิตธานี เกียวโต คว้า 4 ดาว Forbes Travel Guide ตอกย้ำความหรูหราในปีแรกหลังเปิดให้บริการ

(18 ก.พ. 68) โรงแรมดุสิตธานี เกียวโต หนึ่งในไอคอนแห่งการพักผ่อนระดับหรูในเมืองเกียวโต ภายใต้การบริหารของกลุ่มดุสิตธานี ผู้นำด้านธุรกิจโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ของไทย ประกาศความสำเร็จอีกขั้นด้วยการคว้ารางวัล Four-Star Award จาก Forbes Travel Guide ประจำปี 2568 เพียงหนึ่งปีหลังเปิดให้บริการ

ความสำเร็จครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากโรงแรมเพิ่งได้รับรางวัล "One Michelin Key" จาก Michelin Guide 2024 ยกระดับสถานะเป็นโรงแรมระดับพรีเมียมที่โดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งในเกียวโต การคว้ารางวัลจากทั้งสองสถาบันระดับโลกสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการมอบประสบการณ์การพักผ่อนที่เหนือระดับ ผสมผสานการบริการที่อบอุ่นแบบไทยเข้ากับเสน่ห์ของวัฒนธรรมญี่ปุ่น

มร. มาโกโตะ ยามาชิตะ ผู้จัดการทั่วไปของโรงแรมดุสิตธานี เกียวโต กล่าวว่า “การได้รับรางวัล Four-Star Award จาก Forbes Travel Guide ในเวลาอันสั้น เป็นข้อพิสูจน์ถึงความทุ่มเทของทีมงานที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์บริการที่น่าประทับใจ เราจะเดินหน้าต่อยอดความสำเร็จเพื่อยกระดับมาตรฐานสู่ความเป็นเลิศอย่างต่อเนื่อง”

Forbes Travel Guide ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2501 และเป็นมาตรฐานการประเมินโรงแรมระดับโลกที่ได้รับความเชื่อถือ โดยใช้เกณฑ์การประเมินกว่า 900 ข้อในการตรวจสอบโรงแรมอย่างเข้มงวดผ่านผู้ตรวจสอบที่ไม่เปิดเผยตัวตน โรงแรมดุสิตธานี เกียวโต ผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับสูง ด้วยบริการที่พิถีพิถันและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวระดับไฮเอนด์

โรงแรมดุสิตธานี เกียวโต เปิดให้บริการเมื่อเดือนกันยายน 2566 ตั้งอยู่ในย่านฮันกันจิ มอนเซนมาจิ ห่างจากสถานีรถไฟเกียวโตเพียง 900 เมตร โรงแรมออกแบบให้สะท้อนถึงความงดงามของสองวัฒนธรรมผ่านห้องพัก 147 ห้อง พร้อมประสบการณ์การรับประทานอาหารสุดพิเศษ เช่น ห้องอาหารโคโย (Kōyō) ที่นำเสนอเมนูโอมากาเสะตามฤดูกาล และห้องอาหารอายตนะ (Ayatana) ที่นำเสนออาหารไทยไฟน์ไดนิ่ง ด้วยวัตถุดิบสดใหม่จาก Dusit Farm และไร่ชาออร์แกนิกในเกียวโต

นอกจากนี้ โรงแรมยังมีพื้นที่จัดงานหรูหรารองรับแขกได้ถึง 240 คน และศูนย์เวลเนส “เทวารัณย์” ที่ผสมผสานศาสตร์การนวดไทยโบราณกับพิธีกรรมญี่ปุ่น เพื่อมอบประสบการณ์ผ่อนคลายที่ไม่เหมือนใคร

การคว้ารางวัล Four-Star Award จาก Forbes Travel Guide ในปีนี้ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของโรงแรมดุสิตธานี เกียวโต ในการสร้างชื่อเสียงให้กับโรงแรมไทยบนเวทีโลก พร้อมทั้งเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อนักท่องเที่ยวที่แสวงหาประสบการณ์การพักผ่อนที่สมบูรณ์แบบในหัวใจเมืองประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น

ด้วยความมุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศและการใส่ใจในรายละเอียด โรงแรมดุสิตธานี เกียวโต ยังคงยกระดับมาตรฐานการให้บริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สมกับการเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่หรูหราและน่าจดจำที่สุดในภูมิภาคเอเชีย

รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (13) : การใช้ ‘NET METERING’ ไม่ได้สร้างความเป็นธรรม - เท่าเทียมให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าโดยรวม

(17 ก.พ. 68) หนึ่งในเรื่องกล่าวอ้างของ  นักวิชาการ และ NGO บางคน กับสื่อบางสำนัก ซึ่งบอกว่า “หากรัฐยอมให้มีการใช้ระบบ ‘NET METERING’” จะทำให้ประชาชนชาวไทยผู้ใช้ไฟฟ้าที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์จ่าย ‘ค่าไฟฟ้า’ ถูกลง แต่กลับไม่ได้สร้างความเป็นธรรมและความเท่าเทียมให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าโดยรวม ข้อเท็จจริงเรื่องนี้เป็นอย่างไร ขอเล่าอธิบายในบทความนี้ 

ก่อนที่จะอธิบายขยายความเรื่องนี้ ขอบอกข้อมูลเรื่องราวของ ‘NET METERING’ ก่อน ระบบนี้เป็นการวัดไฟฟ้าแบบสุทธิ โดยระบบจะคำนวณค่าไฟฟ้าแบบหักลบหน่วยไฟฟ้าระหว่างหน่วยไฟฟ้าที่ซื้อจากการไฟฟ้าฯ กับหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้เองจากโซลาร์เซลล์ โดยนำจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ ลบออกจากจำนวนไฟฟ้าที่ผลิตได้เอง เครดิตหรือหน่วยเก็บสะสมไฟฟ้าที่ผลิตได้เกินจึงอยู่ในรูปแบบของ “หน่วยไฟฟ้า” โดยสามารถหักกลบลบหน่วยได้ทันที ซึ่งทำให้ไฟฟ้าที่ผลิตได้แม้ว่าจะไม่ได้ใช้งาน ณ เวลานั้น มูลค่าของไฟฟ้าก็ยังจะมีค่าเทียบเท่ากับราคาไฟฟ้าที่ซื้อจากการไฟฟ้าฯ จึงเป็นระบบที่ช่วยให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม สามารถส่งไฟฟ้าที่ผลิตเกินความต้องการของตนเองเข้าสู่ระบบไฟฟ้าสาธารณะ และแลกเป็นเครดิตหรือส่วนลดค่าไฟฟ้าในรอบบิลถัดไป ระบบหักลบกลบหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ตามจริงจากการผลิตไฟฟ้าที่ได้จากโซลาร์เซลล์หักลบกับไฟที่ใช้จากการไฟฟ้าฯ ซึ่งผู้ใช้ไฟจะจ่ายค่าไฟตามจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่หักลบกันแล้ว

หลักการทำงานของ ‘NET METERING’
1.ผู้ใช้ไฟฟ้าติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น แผงโซลาร์เซลล์
2.เมื่อระบบผลิตไฟฟ้ามากกว่าที่ใช้ ไฟฟ้าส่วนเกินจะถูกส่งเข้าสู่ระบบไฟฟ้าสาธารณะ
3.มิเตอร์ไฟฟ้าแบบสุทธิจะวัดปริมาณไฟฟ้าที่ส่งเข้าและออกจากระบบ
4.ผู้ใช้ไฟฟ้าจะได้รับเครดิตหรือส่วนลดค่าไฟฟ้าตามปริมาณไฟฟ้าที่ส่งเข้าระบบ

ข้อดีของ ‘NET METERING’
1.ประหยัดค่าไฟฟ้า ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถลดค่าไฟฟ้าได้ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากกว่าที่ใช้
2.ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน Net Metering ช่วยกระตุ้นให้ผู้ใช้ไฟฟ้าหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น

ข้อจำกัดของ Net Metering
1.อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ผู้ใช้ไฟฟ้าอาจต้องจ่ายค่าติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าแบบสุทธิ และค่าธรรมเนียมการเชื่อมต่อระบบ
2.มีข้อจำกัดด้านปริมาณไฟฟ้า ผู้ใช้ไฟฟ้าอาจไม่สามารถส่งไฟฟ้าเข้าระบบได้เกินกว่าปริมาณที่ใช้   
3.นโยบาย ‘NET METERING’ ยังไม่มีความชัดเจนและแน่นอน อาจเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต

การที่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจาก ‘พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy)’ แล้วขายส่วนเกินให้กับการไฟฟ้าฯ นั้น สร้างประโยชน์แต่เฉพาะ ‘กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจาก ‘พลังงานหมุนเวียน’ เท่านั้น ทั้งนี้เพราะในเวลากลางวันของประเทศไทยความต้องการใช้ไฟฟ้าไม่ใช่ช่วงเวลาที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของแต่ละวันแต่อย่างใด โดยช่วงเวลาที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak time) ของแต่ละวันนั้นจะอยู่ที่ช่วงเวลา 18.30 - 21.30 น. แต่เฉพาะฤดูร้อนช่วงดือนมีนาคม - พฤษภาคม ของทุกปี เนื่องมาจากสภาวะอากาศที่ร้อนจัด ทำให้กลางวันช่วงเวลาที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak time) จะอยู่ที่ช่วงเวลา 13.00 – 15.00 น. 

ดังที่ได้เล่าใน “รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (12) : จริงหรือ? ที่ ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ เพราะผลิตไฟฟ้าจาก ‘พลังงานหมุนเวียน’ น้อยไป” แล้วว่า “ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใช้ โดยเฉพาะโซลาร์เซลล์ได้เฉพาะเวลากลางวันเท่านั้น หากจะเก็บกักไว้ใช้ในเวลากลางคืนต้องลงทุนระบบแบตเตอรี่ ในปัจจุบันเทคโนโลยีแบตเตอรี่ขนาดใหญ่นั้นยังไม่สามารถตอบสนองต่อความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจได้ และเมื่อเทียบกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิล เพราะไฟฟ้าจากแหล่งหมุนเวียนเมื่อผลิตแล้วต้องนำมาใช้เลย ดังนั้น “การใช้ ‘NET METERING’” จึงไม่ได้แก้ปัญหา ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ เลย แทนที่ ‘กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจาก ‘โซลาร์เซลล์’ จะใช้ระบบนี้ ควรจะลงทุนในระบบแบตเตอรี่เพื่อเก็บกัก ‘ไฟฟ้า’ ในเวลาที่ ‘โซลาร์เซลล์’ ไม่ทำงาน น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า ทั้งนี้มีนักวิชาการ และ NGO บางคน กับสื่อบางสำนัก ซึ่งได้ให้ข้อมูลกับสังคมว่า “การใช้ ‘NET METERING’” นั้น การไฟฟ้าฯ สามารถเก็บพลังไฟฟ้าจาก ‘ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจาก ‘โซลาร์เซลล์’ ในระบบสายส่งไฟฟ้าได้ ซึ่งไม่ได้เป็นความจริงเลย เพราะการเก็บกัก ‘พลังงานไฟฟ้า’ สามารถทำได้ด้วยการเก็บพลังไฟฟ้าด้วยแบตเตอรี่เท่านั้น 

สำหรับ ระบบส่ง/ระบบจำหน่าย/ระบบค้าปลีก (Transmission/Distribution/Retail) สามารถนำระบบกักเก็บพลังงานมาให้บริการเสริมความมั่นคงในโครงข่ายไฟฟ้า (Ancillary Services) และการบริการด้านระบบโครงข่ายไฟฟ้า (T&D Services) ในรูปแบบดังต่อไปนี้เท่านั้น
-Fast Frequency Response : การรักษาความถี่ของระบบไฟฟ้า
-Primary & Secondary Reserve : การใช้งานเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองปฐมภูมิ และทุติยภูมิ
-Operation Reserve : การใช้งานเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองด้านปฏิบัติการ
-Transmission & Distribution Investment Deferral : การเลื่อน/ลด ความจำเป็นในการลงทุนขยายระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้า
-Transmission Congestion Relief : การลดข้อจำกัดในระบบส่งไฟฟ้า
-Voltage Support : การควบคุมแรงดันไฟฟ้า
*ข้อมูลจาก สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน

ซึ่งเทคโนโลยีของไทยในปัจจุบันยังไม่ปรากฏว่า ‘ระบบส่ง/ระบบจำหน่าย/ระบบค้าปลีก’ สามารถเก็บกัก ‘พลังงานไฟฟ้า’ ได้เช่นเดียวกับแบตเตอรี่แต่อย่างใด นอกจากนั้นการซื้อ-ขายไฟฟ้าไม่สามารถทำได้ด้วยระบบหักลบกลบหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ตามจริงจากการผลิตไฟฟ้าที่ได้จากโซลาร์เซลล์หักลบกับไฟฟ้าที่ใช้จากการไฟฟ้าฯ ซึ่งผู้ใช้ไฟจะจ่ายค่าไฟฟ้าในยอดตามจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่หักลบกันแล้ว ทั้งนี้เป็นเพราะการซื้อและการขายไฟฟ้าจะต้องมีการชำระภาษีซื้อและภาษีขายตามกฎหมายและระเบียบปฏิบัติของกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง

‘กองทุนน้ำมัน’ จ่ายหนี้เงินกู้ขั้นบันได เม.ย. จ่ายเฉียด!! 2,000 ล้านบาท

(15 ก.พ. 68) จากข้อมูลฐานะเงินกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุดยังคงติดลบกว่า 70,438 ล้านบาท โดยราคาน้ำมันโลกทรงตัวระดับไม่สูงมากนักประมาณ 77 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่งผลให้กองทุนฯ สามารถเรียกเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันทุกชนิดได้มากขึ้นถึงเดือนละกว่า 6,700 ล้านบาท

โดยเฉพาะผู้ใช้แก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 ถูกเรียกเก็บเงินถึง 4.60 บาทต่อลิตร และถูกเรียกเก็บค่าการตลาดจากผู้ค้าน้ำมันประมาณ 3 บาทต่อลิตร ส่งผลราคาขายปลีกแก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ระดับ 35.35 บาทต่อลิตร และ แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ระดับ 34.98 บาทต่อลิตร   

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้ประกาศสถานะเงินกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุด ณ วันที่ 9 ม.ค. 2568 ที่ราคาน้ำมันตลาดโลกยังคงมีรายรับเข้ามาและทำให้วงเงินกองทุนฯ ติดลบน้อยลงอย่างต่อเนื่องเหลือ 70,438 ล้านบาท โดยยังคงเป็นยอดการติดลบที่น้อยที่สุดในรอบ 2 ปี ซึ่งมาจากบัญชีน้ำมันติดลบรวม 23,966 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม (LPG) ติดลบรวม 46,472 ล้านบาท

ทั้งนี้ รายรับที่ได้ส่วนใหญ่มาจากการเรียกเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันทุกประเภทส่งเข้ากองทุนฯ ดังนี้ ผู้ใช้น้ำมันเบนซิน ออกเทน 95 ส่งเข้ากองทุนฯ 10.68 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 ส่งเข้าถึง 4.60 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 ส่งเข้า 2.61 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 ส่งเข้า 1.16 บาทต่อลิตร, น้ำมันดีเซลและดีเซล B20 ส่งเข้า 1.05 บาทต่อลิตร และดีเซลเกรดพรีเมียม เรียกเก็บ 2.55 บาทต่อลิตร

ส่งผลให้กองทุนฯ มีเงินไหลเข้า 224.55 ล้านบาท หรือประมาณ 6,700 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งมาจากผู้ใช้น้ำมันรวม 213.39 ล้านบาท และมาจากการเรียกเก็บเงินผู้ใช้และผู้ผลิต LPG รวม 11.16 ล้านบาท ส่วนภาระหนี้เงินกู้โดยรวมยังเหลืออยู่อีก 104,083 ล้านบาท

"ช่วงนี้กองทุนน้ำมันต้องจ่ายหนี้เงินกู้เฉลี่ยเดือนละกว่า 1,000 ล้านบาท โดยเป็นเงินต้นประมาณ 800 ล้านบาท ส่วนดอกเบี้ยอยู่ระดับ 230 ล้านบาท ซึ่งการจ่ายเงินต้นจะทยอยปรับขึ้นตามการกู้เงินที่เพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าเดือนเม.ย. 2568 จะต้องจ่ายเงินต้นเกือบ 2,000 ล้านบาท" 

อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าผู้ใช้น้ำมันกลุ่มแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 ยังคงถูกเรียกเก็บเงินสูงสุดกว่าผู้ใช้น้ำมันชนิดอื่นถึง 4.60 บาทต่อลิตร นอกจากนี้เมื่อพิจารณาค่าการตลาดน้ำมันที่ผู้ค้าน้ำมันเก็บจากผู้ใช้ จะพบว่ากลุ่มน้ำมันแก๊สโซฮอล์ถูกเรียกเก็บกว่า 3 บาทต่อลิตร

โดยค่าการตลาดผู้ค้าน้ำมัน ที่รายงานโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ณ วันที่ 11 ก.พ. 2568 เปลี่ยนแปลงดังนี้ ค่าการตลาดกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ยังคงทรงตัวระดับสูง โดยน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ถูกเรียกเก็บค่าการตลาด 4.09 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 มีค่าการตลาดที่ 3.04 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 3.12 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 อยู่ที่ 3.75 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 อยู่ที่ 6.88 บาทต่อลิตร, ดีเซล อยู่ที่ 1.88 บาทต่อลิตร  โดยเฉลี่ยค่าการตลาดระหว่าง 1-11 ก.พ. 2568 อยู่ที่ 2.54 บาทต่อลิตร (จากค่าการตลาดที่เหมาะสมที่ 1.5-2 บาทต่อลิตร)

ส่งผลให้ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 35.35 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 34.98 บาทต่อลิตร ขณะที่น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 อยู่ที่ 33.14 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์  E85 อยู่ที่ 32.09 บาทต่อลิตร ขณะที่ราคาดีเซลอยู่ที่ 32.94 บาทต่อลิตร

‘พระจอมเกล้าธนบุรี’ พลิกขยะเกษตรสู่ลิกนิน นวัตกรรม!! เปลี่ยนเศรษฐกิจไทยให้ยั่งยืน

(15 ก.พ. 68) ในโลกปัจจุบันปัญหาขยะชีวมวลกำลังกลายเป็นวิกฤตสำคัญ โดยเฉพาะในประเทศไทยที่เศรษฐกิจพึ่งพาภาคการเกษตรเป็นอย่างมาก ชีวมวลจากชานอ้อย ฟางข้าว ปาล์มน้ำมัน และเศษวัสดุทางการเกษตรจำนวนมหาศาลถูกเผาทำลายหรือทิ้งไปโดยไร้ประโยชน์ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง

เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงเป็นที่มาของโครงการ การพัฒนากระบวนการบำบัดชีวมวล เพื่อแยกส่วนและตกตะกอนลิกนินบริสุทธิ์ เป็นผลงานวิจัยร่วมระหว่าง ศ.ดร. นวดล เหล่าศิริพจน์ อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ ดร.ชญานนท์ โชติรสสุคนธ์ นักวิจัยกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรี่และชีวภาพ (IBBG) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 

“ชีวมวลไม่ใช่ของเสีย แต่คือทรัพยากรสำคัญที่สามารถแปรรูปให้เกิดประโยชน์สูงสุด เราต้องการสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม” ศ.ดร. นวดล เหล่าศิริพจน์ ในฐานะหัวหน้าโครงการ กล่าว

ปัจจุบันชีวมวลถูกนำมาใช้ประโยชน์ในหลากหลายรูปแบบ เช่น การแปรรูปเป็นพลังงาน หรือการสกัดองค์ประกอบสำคัญอย่างเซลลูโลสเพื่อนำไปผลิตเยื่อกระดาษ อย่างไรก็ตาม ชีวมวลยังมีองค์ประกอบอื่น ๆ ที่ถูกมองข้าม หนึ่งในนั้นคือลิกนิน (Lignin) ซึ่งมีอยู่มากถึง 20% ของชีวมวล และมีศักยภาพสูงในการนำไปใช้ประโยชน์ 

“ลิกนินเป็นองค์ประกอบสำคัญในชีวมวลลิกโนเซลลูโลส มีคุณสมบัติพิเศษ เช่น การดูดกลืนรังสียูวีและการต้านอนุมูลอิสระ แต่ด้วยโครงสร้างทางเคมีที่ซับซ้อน ทำให้กระบวนการสกัดแบบเดิมต้องใช้สารเคมีที่รุนแรง ซึ่งนอกจากจะทำลายคุณสมบัติสำคัญของลิกนินแล้ว ยังทำให้ลิกนินถูกจัดเป็นของเสียที่ยากต่อการนำไปพัฒนาต่อยอด ทีมวิจัยจึงได้พัฒนากระบวนการใหม่ โดยใช้ ตัวทำละลายอินทรีย์ ที่สามารถสกัดลิกนินออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งนำตัวทำละลายกลับมาใช้ซ้ำ กระบวนการนี้เป็นระบบกึ่งไร้ของเสีย (Semi-Zero Waste) ช่วยให้ได้ลิกนินที่มีความบริสุทธิ์สูงและยังคงคุณสมบัติสำคัญไว้อย่างครบถ้วน” ดร.ชญานนท์ กล่าว

จากการวิจัยร่วมกันโดยใช้ห้องปฏิบัติการร่วมด้านพลังงานและเคมีชีวภาพ (BIOTEC-JGSEE Integrative Biorefinery Laboratory) ได้ค้นพบศักยภาพของลิกนินในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น การพัฒนาพลาสติกผสมลินินที่สามารถกันรังสียูวีได้โดยไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี และผลิตเป็น 'กรีนแพ็กเกจจิ้ง' ด้วยการผสมลิกนินเข้ากับพลาสติกชีวภาพ เช่น PLA (พลาสติกย่อยสลายได้) และ พลาสติก Up-cyling rPET (พลาสติกทนความร้อนและยืดหยุ่นสูง) เพื่อพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ทนต่อรังสียูวี ลดการเสื่อมสภาพ และตอบโจทย์ความยั่งยืน เหมาะสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ต้องการคุณภาพและความปลอดภัยจากแสงยูวี ลิกนินยังถูกนำไปผสมในยางธรรมชาติ เพื่อเพิ่มความทนทานและลดการเสื่อมสภาพจากความชื้นและออกซิเจน ลิกนินยังสามารถแทนที่สารเคมีต้านอนุมูลอิสระได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้เกิดยางที่มาจากธรรมชาติ 100% ซึ่งเหมาะสำหรับการผลิตยางรถยนต์และผลิตภัณฑ์ยางชนิดพิเศษต่าง ๆ นอกจากนี้ ลิกนินยังถูกใช้ในอุตสาหกรรมความงาม เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์รองพื้น (Foundation) ด้วยโทนสีน้ำตาลธรรมชาติและคุณสมบัติป้องกันรังสียูวี โดยมีค่า SPF สูงถึง 36 โดยไม่ต้องใช้สารเคมีเพิ่มเติม ทั้งยังมีศักยภาพในการต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งอาจช่วยชะลอวัย ทีมวิจัยกำลังดำเนินการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผลลัพธ์ในเชิงลึก ทั้งหมดถือเป็นการนำของเหลือจากชีวมวลมาต่อยอดเป็นนวัตกรรมที่มีมูลค่าสูงได้

นอกจากการเพิ่มมูลค่าให้กับชีวมวลแล้ว ทีมวิจัยยังมุ่งมั่นลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชีวมวลที่ถูกทิ้งหรือเผาทำลายมักปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น มีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กระบวนการแปรรูปลิกนินไม่เพียงช่วยลดการปล่อยก๊าซเหล่านี้ แต่ยังสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรจากการขายเศษเหลือการเกษตรในราคาที่สูงขึ้นด้วย

ในอนาคต ทีมวิจัยวางแผนขยายขอบเขตงานวิจัยเพื่อสนับสนุนเป้าหมาย "Zero Emission" และเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยการใช้ชีวมวลให้เกิดประโยชน์สูงสุด ช่วยลดของเสีย และเพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมต่าง ๆ นอกจากนี้ทีมวิจัยยังเล็งเห็นว่าแนวทางนี้สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างเศรษฐกิจ พร้อมทั้งสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว

“ลิกนินเป็นตัวอย่างของการแปรรูปชีวมวลที่ไม่ได้ช่วยแค่ลดขยะ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ให้กับอุตสาหกรรมไทย ทั้งด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม” ศ.ดร. นวดล กล่าวทิ้งท้าย

‘ไทยออยล์’ ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 4 ปี 2567 มีกำไรสุทธิ 2,767 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น!! จากไตรมาสก่อน

(15 ก.พ. 68) นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยว่า “ในไตรมาส 4/2567 กลุ่มไทยออยล์มีกำไรสุทธิ 2,767 ล้านบาทปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยได้รับแรงหนุนจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะส่วนต่างราคาน้ำมันอากาศยานและน้ำมันดีเซลกับราคาน้ำมันดิบดูไบจากกิจกรรมการท่องเที่ยวที่สูงขึ้นในช่วงสิ้นปี ประกอบกับความต้องการใช้น้ำมันสำหรับผลิตความร้อนในช่วงฤดูหนาว แม้ว่า Crude Premium จะปรับเพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้จากความกังวลต่อความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลางก็ตาม สำหรับกำไรขั้นต้นจากธุรกิจอะโรเมติกส์ปรับลดลงจากส่วนต่างราคาสารพาราไซลีนกับราคาน้ำมันเบนซิน 95 ที่ลดลง เนื่องจากอุปสงค์เสื้อผ้าและสิ่งทอไม่เป็นไปตามคาดการณ์ ประกอบกับกำไรของธุรกิจปลายน้ำ เช่น สารพีทีเอ ที่ยังถูกกดดันรวมถึงส่วนต่างราคาสารเบนซีนกับราคาน้ำมันเบนซิน 95 ที่ปรับลดลงจากปริมาณสารเบนซีนคงคลังของจีนที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี ตลอดจนการกลับมาดำเนินการผลิตของโรงผลิตสารเบนซีนหลังปิดซ่อมบำรุงในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่ กำไรขั้นต้นจากธุรกิจผลิตสารตั้งต้นสำหรับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนอุปสงค์ที่ฟื้นตัวหลังสิ้นสุดฤดูมรสุม เช่นเดียวกับ กำไรขั้นต้นจากธุรกิจผลิตน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานที่ปรับเพิ่มขึ้น จากความต้องการใช้ที่ฟื้นตัวหลังผ่านฤดูฝนและอุปทานที่ตึงตัวอย่างต่อเนื่องจากการปิดซ่อมบำรุงตามแผนของโรงผลิตน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานกลุ่มที่ 1 ในเกาหลีใต้ ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบในไตรมาส 4/2567 ปรับตัวลดลงจากไตรมาส 3/2567 เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันลดลงตามเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว ส่งผลให้กลุ่มไทยออยล์ขาดทุนจากสต็อกน้ำมัน 2,010 ล้านบาท     

สำหรับภาพรวมปี 2567 กลุ่มไทยออยล์มีรายได้จากการขายที่ 455,857 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 9,959 ล้านบาท กำไรลดลงจากปีก่อนหน้า สาเหตุหลักจากกำไรขั้นต้นจากการกลั่นปรับลดเนื่องจากส่วนต่างราคาน้ำมันเบนซิน น้ำมันอากาศยาน น้ำมันดีเซลกับราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวลดลง จากอุปทานที่เพิ่มขึ้น เนื่องจาก โรงกลั่นใหม่เริ่มดำเนินการ ขณะที่ด้านราคาน้ำมันดิบในปี 2567 เทียบกับปี 2566 ปรับลดลง จากความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ส่งผลให้กลุ่มไทยออยล์รับรู้ขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน 5,913 ล้านบาท

ทั้งนี้ กลุ่มไทยออยล์ยังคงให้ความสำคัญกับการดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี ตามหลักการ ESG (Environment, Social, and Governance) อย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้จากการได้รับรางวัลด้านความยั่งยืน จำนวน 9 รางวัล และได้รับการรับรองเป็นสมาชิก DJSI ต่อเนื่องเป็นปีที่ 12  

นายบัณฑิตฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “สำหรับภาพรวมธุรกิจกลุ่มไทยออยล์ในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 คาดว่าตลาดน้ำมันจะอ่อนตัวลงเนื่องจากอุปทานน้ำมันสำเร็จรูปมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจากการทยอยเปิดดำเนินการของโรงกลั่นขนาดใหญ่ในจีน เม็กซิโก ไนจีเรีย และโอมาน ถึงแม้ว่าตลาดจะได้รับแรงหนุนจากอุปทานที่ลดลงจากสภาพอากาศหนาวเย็นในสหรัฐฯ ส่งผลให้โรงกลั่นหลายแห่งต้องหยุดดำเนินการ ขณะที่ธุรกิจอะโรเมติกส์ มีแนวโน้มฟื้นตัวโดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ของพาราไซลีนที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากคำสั่งซื้อโพลิเอสเตอร์ในจีนหลังเทศกาลตรุษจีนมีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงความต้องการขวดบรรจุภัณฑ์ (PET) ที่จะปรับสูงขึ้นในช่วงฤดูร้อน อย่างไรก็ตาม ตลาดน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานมีแนวโน้มอ่อนตัวลง จากแรงกดดันของอุปทานใหม่ที่เข้าสู่ตลาดจากโรงผลิตน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานกลุ่มที่ 2 และกลุ่มที่ 3 ในอินเดีย”

ไทยออยล์ยังคงติดตามสถานการณ์ตลาดอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความผันผวนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงแสวงหาโอกาสสร้างรายได้เพื่อให้มีผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ที่วางไว้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันโครงการพลังงานสะอาดให้เดินหน้าต่อไปให้ดีที่สุด ตลอดจนแสวงหาโอกาสในธุรกิจใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ เมกะเทรนด์เพื่อมุ่งเติบโตเป็นองค์กร 100 ปี อย่างมั่นคง ภายใต้วิสัยทัศน์ สร้างสรรค์คุณภาพชีวิต ด้วยพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน”

‘พีระพันธุ์’ แจงละเอียดยิบภารกิจดูแลพลังงานเพื่อคนไทย คืบหน้าร่าง กม.กํากับน้ำมัน-ก๊าซ วิธีลดค่าไฟฟ้าต่ำกว่า 4 บาท

‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ เผยแจงความคืบหน้าร่างกฎหมายกํากับกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ เผยวิธีลดค่าไฟฟ้าให้ต่ำกว่า 4 บาท  เตรียมเร่งผลิตระบบโซลาร์ราคาถูกวางจำหน่ายในปีนี้ 10,000 เครื่อง

เมื่อวันที่ (13 ก.พ.68) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์พิเศษโดยเปิดเผยถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับร่างกฎหมายกํากับการประกอบกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซว่า ภาพรวมเป็นไปด้วยดี แต่ก็มีข้อท้วงติงจากผู้เชี่ยวชาญว่าอาจมีช่องโหว่ในเรื่องของการกำหนดราคาก๊าซ เพราะกฎหมายฉบับนี้จะดูแลประชาชนไปถึงเรื่องของก๊าซด้วย นั่นคือ กรณีของก๊าซหุงต้ม LPG และก๊าซที่ใช้สำหรับรถยนต์ ตนจึงได้มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน รวมทั้งผู้ชำนาญการช่วยกันทบทวนเพื่อปรับปรุงร่างกฎหมายในส่วนของก๊าซ เพื่อดูแลการกำหนดราคาให้ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งขณะนี้ก็ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว

ส่วนร่างกฎหมายเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกในการติดตั้งโซลาร์เซลล์นั้น นายพีระพันธุ์เปิดเผยว่า ทางพรรครวมไทยสร้างชาติได้ยื่นร่างกฎหมายนี้เข้าสภาฯไปแล้วก่อนหน้านี้ ขณะที่ทางรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานก็จะเสนอร่างกฎหมายส่งเสริมการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์เข้าสู่สภาฯ ในเร็ว ๆ นี้ โดยขณะนี้กำลังรอให้ทางสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบร่างฯ ของกระทรวงพลังงานแล้วเสร็จ และจะเร่งนำเข้าสู่กระบวนการทำประชาพิจารณ์โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 15-20 วัน ก่อนนำส่งเข้าสภาฯ เพื่อพิจารณาประกอบกับร่างฯ ที่เสนอจากพรรคการเมือง

ในส่วนของการปรับลดค่าไฟนั้น นายพีระพันธุ์กล่าวว่า ตนได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อหาแนวทางปรับลดค่าไฟมาตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2567 ที่ผ่านมา เพื่อหาทางปรับลดค่าไฟให้ได้ต่ำกว่า 4 บาทต่อหน่วย และมีแนวโน้มว่าจะทำได้ แต่ต้องปรับปรุงแก้ไขโครงสร้างและหลักเกณฑ์หลายอย่าง โดยเฉพาะการปรับระบบ Pool Gas แต่เผอิญว่าต้นปี 2568 มีประเด็นเพิ่มเติมเรื่องจะให้ลดค่าไฟลงมาเหลือ 3.70 บาทต่อหน่วย และสํานักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ซึ่งกำกับดูแลเรื่องค่าไฟ ก็ออกมาบอกว่าสามารถลดได้ ซึ่งสำหรับตนถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะตลอดปี 2567 ที่ผ่านมา ตนในฐานะรัฐมนตรีพลังงานต้องพยายามบริหารจัดการอย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้มีการขึ้นค่าไฟทุก 4 เดือน  จนสามารถตรึงค่าไฟไว้ได้ที่ 4.18 บาทต่อหน่วยไว้ได้ตลอดปี แต่อย่างไรก็ดี ข้อเสนอล่าสุดของ กกพ. ก็มีประเด็นที่อาจทำไม่ได้

“ทุก 4 เดือน ผมต้องพยายามบริหารจัดการเพื่อไม่ให้มีการขึ้นค่าไฟ เพราะถ้าลดยังไม่ได้ ก็อย่าขึ้น เพราะฉะนั้นปี 67 ทั้งปีเราได้ที่ 4 บาท 18 สตางค์มาตลอด ส่วนงวดปัจจุบันนี้ คือตั้งแต่ มกราคม-เมษายน 68 ผมก็ดําเนินการปรับลงมาที่ 4 บาท 15 สตางค์ แต่ก็ยังมีดราม่าบอกลดอะไร 3 สตางค์ ความจริงถ้าผมไม่ดําเนินการวันนั้น เขาบอกเขาจะขึ้นไป 5 บาทกว่า หรือไม่ก็ 4 บาทปลาย ๆ แต่อีกไม่กี่เดือนก็ต้องเหนื่อยต่อแล้ว เพราะค่าไฟงวดที่ 2 (พฤษภาคม-สิงหาคม 68) จะมาแล้ว ทุกทีผมต้องเป็นคนไปขอให้ลด แต่อย่างน้อยคราวนี้ ทาง กกพ. บอกว่าลดได้ ผมก็ใจชื้น แต่ประเด็นคือ เขาบอกว่าการลดนี้ให้เป็นนโยบายรัฐบาล ให้ไปเลิกสัญญา Adder กับสัญญาที่เป็นปัญหา ที่เราเรียกว่า สัญญาชั่วนิรันดร์ คือสัญญาไม่มีวันหมด ผมในฐานะรัฐมนตรีพลังงานก็ได้พยายามศึกษาแก้ปัญหาเรื่องนี้ เพราะไปเซ็นสัญญากันไว้ตั้งแต่ยุคไหนว่า สัญญานี้ต่ออายุไปเรื่อย ๆ ทุกห้าปี ไม่มีวันหมด แล้วก็ราคาก็สูงเกินปกติ เพราะฉะนั้นมันทําไม่ได้ ที่บอกให้ไปลด 17 สตางค์ได้โดยวิธีเลิกสัญญา ถ้าเลิกก็โดนฟ้องนะครับ ตอนนี้เรากําลังศึกษาว่ามีวิธีการอะไรที่จะแก้ไขสัญญาทั้งสองแบบนี้อยู่เพราะประเด็นที่เสนอโดย กกพ.นั้น มันทําไม่ได้” นายพีระพันธุ์กล่าว

อย่างไรก็ดี นายพีระพันธุ์ได้มองเห็นทางออกในอีกมุมว่า การปรับลดค่าไฟสามารถทำได้จากการบริหารจัดการเชื้อเพลิง เพราะปัจจุบัน ประเทศไทยใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟอยู่ 3 แหล่งใหญ่ ๆ คือ อ่าวไทย เมียนมา และจากต่างประเทศ โดยเฉพาะตะวันออกกลางที่นำเข้ามาเป็นก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG  ซึ่งมีราคาแพง และอิงราคาตลาดโลกที่ผันผวนตลอดเวลา  แต่ถ้าหากสามารถปรับพอร์ต Pool Gas ให้เป็นสัดส่วนชัดเจน ระหว่างการนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าและการนำไปใช้ในอุตสาหกรรม ก็น่าจะทำให้ค่าไฟลดลงได้อีกถึงเกือบ 40 สตางค์ โดยตนจะเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อให้ทันค่าไฟงวดต่อไป

“ปัญหาเรื่องค่าไฟต่างกับปัญหาเรื่องน้ำมันเยอะมากและมีประเด็นต่าง ๆ ที่ต้องเข้ามาแก้ไขเยอะมาก น้ำมันคือน้ำมัน แต่ค่าไฟ มันไม่ใช่แค่ค่าไฟ มันคือค่าแก๊ส ค่าถ่านหิน ค่าขนส่ง ค่าอะไรต่าง ๆ ที่บวกไว้ในสัญญา ค่าบริหารจัดการเงินกู้ของผู้ประกอบการ และที่สําคัญ ผมคิดว่าทํายังไงจะให้ กฟผ. กลับมาแข็งแรงแล้วก็เป็นหลักให้กับประชาชนในเรื่องของการผลิตไฟฟ้า แล้วกําหนดค่าไฟที่ถูกต้องเป็นธรรมมากขึ้น” นายพีระพันธุ์กล่าว

สำหรับกรณีที่มีกระแสว่าการทำงานของ รมว.พลังงาน จะไปขัดผลประโยชน์และสร้างความไม่พอใจให้แก่กลุ่มทุนนั้น นายพีระพันธุ์กล่าวว่า ตนทำในสิ่งที่ต้องทำ ไม่ได้ทําเพื่อจะไปเป็นศัตรูกับใคร แต่ต้องทําในสิ่งที่ประชาชนได้ประโยชน์ ประเทศชาติได้ประโยชน์สูงสุด


“เราไม่ได้เจตนาไปทําอะไรใคร คนเขาพูดไปเอง สื่อก็พูดไปเรื่อยนะครับ จริง ๆ ผมก็ทํางานในสิ่งที่ต้องทํา เมื่อมาเห็นอะไรต้องปรับปรุงก็ต้องทํา และที่สําคัญก็คือว่ามันไม่ใช่เราคนเดียว มันเป็นนโยบายรัฐบาล และถ้าหากจําได้นะครับ ท่านนายกรัฐมนตรีได้ไปประกาศที่ NBT เรื่องของการปรับลดค่าไฟฟ้า ค่าพลังงาน และท่านก็มอบหมายให้ผมเป็นคนทํา เพราะฉะนั้นมันก็เป็นหน้าที่ที่ผมต้องทํา ทั้งนโยบายส่วนตัว ทั้งนโยบายของพรรคของผมรวมถึงนโยบายรัฐบาลมันตรงกันในเรื่องตรงนี้ เพราะฉะนั้นเมื่อเรามาทํา เราก็ต้องทํานะครับ เราไม่ได้ทําเพราะว่า มันจะกระทบใคร หรือจะเกิดอะไร แต่ต้องทําในสิ่งที่ประชาชนได้ประโยชน์ ประเทศชาติได้ประโยชน์สูงสุด และผมพูดเสมอว่านายทุนหลักคือประชาชน” นายพีระพันธุ์กล่าว

นอกจากนี้ นายพีระพันธุ์ยังได้กล่าวถึงความคืบหน้าของการพัฒนาเครื่อง Inverter สำหรับติดตั้งกับระบบโซลาร์เซลล์สิทธิบัตรของคนไทย ซึ่งกระทรวงพลังงานมีแผนจะนำออกจำหน่ายในราคาถูกให้กับประชาชนในปีนี้ว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างการทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยในขั้นตอนที่ 2 และ 3 หลังจากผ่านการทดสอบขั้นตอนแรกของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ( สวทช.) โดยทางผู้ออกแบบกำลังนำอุปกรณ์ต้นแบบไปทดสอบที่ห้องแล็บในประเทศจีนภายใต้การรับรองของ สวทช. ทั้งนี้เพื่อความรวดเร็วและความสะดวกในการปรับปรุงอุปกรณ์ และเมื่อผ่านการทดสอบแล้วก็จะเข้าสู่กระบวนการผลิต ซึ่งทางกระทรวงพลังงานจะร่วมกับบริษัทในเครือของ กฟผ. และ ปตท. ในการผลิตและจําหน่ายให้ประชาชนในราคาถูก โดยจะเตรียมการผลิตเบื้องต้นประมาณ 10,000 เครื่อง และคาดว่าจะทำให้ประชาชนสามารถติดตั้งระบบโซลาร์ได้ในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดประมาณ 60% อีกทั้งยังมีการจัดหาเงินทุนสนับสนุนในเรื่องของการติดตั้งและการลดหย่อนภาษีด้วย

“ผมได้คุยกับท่านรัฐมนตรีอุตสาหกรรม ท่านดูแลเอสเอ็มอีแบงค์ ก็จะให้ทางเอสเอ็มอีแบงค์มาช่วย สําหรับคนที่ไม่มีเงินทุนพอ ก็จะสามารถไปกู้ยืมเงินจากเอสเอ็มอี แล้วผมก็จะสนับสนุนอีกบางส่วนจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานเพื่อช่วยเหลือเรื่องดอกเบี้ย และส่วนที่กระทรวงพลังงานเดินหน้าไปแล้วก็คือ ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะให้กระทรวงการคลังช่วยหักลดหย่อนภาษีด้วย” นายพีระพันธุ์กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top