รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (13) : การใช้ ‘NET METERING’ ไม่ได้สร้างความเป็นธรรม - เท่าเทียมให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าโดยรวม
(17 ก.พ. 68) หนึ่งในเรื่องกล่าวอ้างของ นักวิชาการ และ NGO บางคน กับสื่อบางสำนัก ซึ่งบอกว่า “หากรัฐยอมให้มีการใช้ระบบ ‘NET METERING’” จะทำให้ประชาชนชาวไทยผู้ใช้ไฟฟ้าที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์จ่าย ‘ค่าไฟฟ้า’ ถูกลง แต่กลับไม่ได้สร้างความเป็นธรรมและความเท่าเทียมให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าโดยรวม ข้อเท็จจริงเรื่องนี้เป็นอย่างไร ขอเล่าอธิบายในบทความนี้
ก่อนที่จะอธิบายขยายความเรื่องนี้ ขอบอกข้อมูลเรื่องราวของ ‘NET METERING’ ก่อน ระบบนี้เป็นการวัดไฟฟ้าแบบสุทธิ โดยระบบจะคำนวณค่าไฟฟ้าแบบหักลบหน่วยไฟฟ้าระหว่างหน่วยไฟฟ้าที่ซื้อจากการไฟฟ้าฯ กับหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้เองจากโซลาร์เซลล์ โดยนำจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ ลบออกจากจำนวนไฟฟ้าที่ผลิตได้เอง เครดิตหรือหน่วยเก็บสะสมไฟฟ้าที่ผลิตได้เกินจึงอยู่ในรูปแบบของ “หน่วยไฟฟ้า” โดยสามารถหักกลบลบหน่วยได้ทันที ซึ่งทำให้ไฟฟ้าที่ผลิตได้แม้ว่าจะไม่ได้ใช้งาน ณ เวลานั้น มูลค่าของไฟฟ้าก็ยังจะมีค่าเทียบเท่ากับราคาไฟฟ้าที่ซื้อจากการไฟฟ้าฯ จึงเป็นระบบที่ช่วยให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม สามารถส่งไฟฟ้าที่ผลิตเกินความต้องการของตนเองเข้าสู่ระบบไฟฟ้าสาธารณะ และแลกเป็นเครดิตหรือส่วนลดค่าไฟฟ้าในรอบบิลถัดไป ระบบหักลบกลบหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ตามจริงจากการผลิตไฟฟ้าที่ได้จากโซลาร์เซลล์หักลบกับไฟที่ใช้จากการไฟฟ้าฯ ซึ่งผู้ใช้ไฟจะจ่ายค่าไฟตามจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่หักลบกันแล้ว
หลักการทำงานของ ‘NET METERING’
1.ผู้ใช้ไฟฟ้าติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น แผงโซลาร์เซลล์
2.เมื่อระบบผลิตไฟฟ้ามากกว่าที่ใช้ ไฟฟ้าส่วนเกินจะถูกส่งเข้าสู่ระบบไฟฟ้าสาธารณะ
3.มิเตอร์ไฟฟ้าแบบสุทธิจะวัดปริมาณไฟฟ้าที่ส่งเข้าและออกจากระบบ
4.ผู้ใช้ไฟฟ้าจะได้รับเครดิตหรือส่วนลดค่าไฟฟ้าตามปริมาณไฟฟ้าที่ส่งเข้าระบบ
ข้อดีของ ‘NET METERING’
1.ประหยัดค่าไฟฟ้า ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถลดค่าไฟฟ้าได้ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากกว่าที่ใช้
2.ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน Net Metering ช่วยกระตุ้นให้ผู้ใช้ไฟฟ้าหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น
ข้อจำกัดของ Net Metering
1.อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ผู้ใช้ไฟฟ้าอาจต้องจ่ายค่าติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าแบบสุทธิ และค่าธรรมเนียมการเชื่อมต่อระบบ
2.มีข้อจำกัดด้านปริมาณไฟฟ้า ผู้ใช้ไฟฟ้าอาจไม่สามารถส่งไฟฟ้าเข้าระบบได้เกินกว่าปริมาณที่ใช้
3.นโยบาย ‘NET METERING’ ยังไม่มีความชัดเจนและแน่นอน อาจเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต
การที่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจาก ‘พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy)’ แล้วขายส่วนเกินให้กับการไฟฟ้าฯ นั้น สร้างประโยชน์แต่เฉพาะ ‘กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจาก ‘พลังงานหมุนเวียน’ เท่านั้น ทั้งนี้เพราะในเวลากลางวันของประเทศไทยความต้องการใช้ไฟฟ้าไม่ใช่ช่วงเวลาที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของแต่ละวันแต่อย่างใด โดยช่วงเวลาที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak time) ของแต่ละวันนั้นจะอยู่ที่ช่วงเวลา 18.30 - 21.30 น. แต่เฉพาะฤดูร้อนช่วงดือนมีนาคม - พฤษภาคม ของทุกปี เนื่องมาจากสภาวะอากาศที่ร้อนจัด ทำให้กลางวันช่วงเวลาที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak time) จะอยู่ที่ช่วงเวลา 13.00 – 15.00 น.
ดังที่ได้เล่าใน “รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (12) : จริงหรือ? ที่ ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ เพราะผลิตไฟฟ้าจาก ‘พลังงานหมุนเวียน’ น้อยไป” แล้วว่า “ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใช้ โดยเฉพาะโซลาร์เซลล์ได้เฉพาะเวลากลางวันเท่านั้น หากจะเก็บกักไว้ใช้ในเวลากลางคืนต้องลงทุนระบบแบตเตอรี่ ในปัจจุบันเทคโนโลยีแบตเตอรี่ขนาดใหญ่นั้นยังไม่สามารถตอบสนองต่อความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจได้ และเมื่อเทียบกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิล เพราะไฟฟ้าจากแหล่งหมุนเวียนเมื่อผลิตแล้วต้องนำมาใช้เลย ดังนั้น “การใช้ ‘NET METERING’” จึงไม่ได้แก้ปัญหา ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ เลย แทนที่ ‘กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจาก ‘โซลาร์เซลล์’ จะใช้ระบบนี้ ควรจะลงทุนในระบบแบตเตอรี่เพื่อเก็บกัก ‘ไฟฟ้า’ ในเวลาที่ ‘โซลาร์เซลล์’ ไม่ทำงาน น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า ทั้งนี้มีนักวิชาการ และ NGO บางคน กับสื่อบางสำนัก ซึ่งได้ให้ข้อมูลกับสังคมว่า “การใช้ ‘NET METERING’” นั้น การไฟฟ้าฯ สามารถเก็บพลังไฟฟ้าจาก ‘ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจาก ‘โซลาร์เซลล์’ ในระบบสายส่งไฟฟ้าได้ ซึ่งไม่ได้เป็นความจริงเลย เพราะการเก็บกัก ‘พลังงานไฟฟ้า’ สามารถทำได้ด้วยการเก็บพลังไฟฟ้าด้วยแบตเตอรี่เท่านั้น
สำหรับ ระบบส่ง/ระบบจำหน่าย/ระบบค้าปลีก (Transmission/Distribution/Retail) สามารถนำระบบกักเก็บพลังงานมาให้บริการเสริมความมั่นคงในโครงข่ายไฟฟ้า (Ancillary Services) และการบริการด้านระบบโครงข่ายไฟฟ้า (T&D Services) ในรูปแบบดังต่อไปนี้เท่านั้น
-Fast Frequency Response : การรักษาความถี่ของระบบไฟฟ้า
-Primary & Secondary Reserve : การใช้งานเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองปฐมภูมิ และทุติยภูมิ
-Operation Reserve : การใช้งานเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองด้านปฏิบัติการ
-Transmission & Distribution Investment Deferral : การเลื่อน/ลด ความจำเป็นในการลงทุนขยายระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้า
-Transmission Congestion Relief : การลดข้อจำกัดในระบบส่งไฟฟ้า
-Voltage Support : การควบคุมแรงดันไฟฟ้า
*ข้อมูลจาก สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน
ซึ่งเทคโนโลยีของไทยในปัจจุบันยังไม่ปรากฏว่า ‘ระบบส่ง/ระบบจำหน่าย/ระบบค้าปลีก’ สามารถเก็บกัก ‘พลังงานไฟฟ้า’ ได้เช่นเดียวกับแบตเตอรี่แต่อย่างใด นอกจากนั้นการซื้อ-ขายไฟฟ้าไม่สามารถทำได้ด้วยระบบหักลบกลบหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ตามจริงจากการผลิตไฟฟ้าที่ได้จากโซลาร์เซลล์หักลบกับไฟฟ้าที่ใช้จากการไฟฟ้าฯ ซึ่งผู้ใช้ไฟจะจ่ายค่าไฟฟ้าในยอดตามจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่หักลบกันแล้ว ทั้งนี้เป็นเพราะการซื้อและการขายไฟฟ้าจะต้องมีการชำระภาษีซื้อและภาษีขายตามกฎหมายและระเบียบปฏิบัติของกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง
เรื่อง : บทบรรณาธิการข่าว THE STATES TIMES