BLC แต่งตัวเข้าตลาดฯ ผงาดรุกต่างประเทศ หนุนรายได้แตะ 2,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี

สำนักข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ ภก.สุวิทย์ งามภูพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด (มหาชน) หรือ BLC ซึ่งได้นำพาองค์กรผู้ผลิตยาของคนไทยโลดแล่นสู่ตลาดหลักทรัพย์เป็นบริษัทมหาชนเป็นที่เรียบร้อย สร้างความภาคภูมิใจในแวดวงอุตสาหกรรมยาเป็นอย่างมาก

โดย ภก.สุวิทย์ กล่าวในภาพรวมว่า อุตสาหกรรมยาในปัจจุบันยังเป็นเรื่องน่าสนใจ เนื่องจากเป็นเรื่องความมั่นคงทางด้านสุขภาพ โดยอุตสาหกรรมยาเมืองไทยในปัจจุบัน มีมูลค่าเกือบ 2 แสนล้านบาท โดยมากกว่าครึ่งเป็นบริษัทยาข้ามชาติ ที่เหลือเป็นบริษัทยาไทย

ทั้งนี้สัดส่วนทางการตลาดสามารถแบ่งได้ดังนี้ 60% เป็นตลาดของโรงพยาบาลรัฐ / 20% เป็นตลาดของโรงพยาบาลเอกชน และอีก 20% เป็นตลาดของร้านขายยา โดยปัจจุบันมีการทำตลาด Modern Trade รวมถึง e-Commerce มากขึ้น จนส่งผลให้อุตสาหกรรมนี้มีศักยภาพสูงและมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก

นอกจากนี้ หากลงไปในรายละเอียด จะพบว่า ยาแผนปัจจุบัน กลุ่มยาสามัญประจำบ้าน เช่น พาราเซตามอล มีการแข่งขันสูง รองลงมาคือ ตลาดยาใหม่ ได้แก่ ยาที่บริษัทข้ามชาติจะหมดสิทธิบัตร ซึ่งหากใครสามารถพัฒนายาใหม่เหล่านี้ได้ ก็สามารถครองตลาดได้ไม่ยากนัก 

ส่วนกลุ่มยาสามัญใหม่ก็มีมูลค่าการตลาดค่อนข้างสูง เช่น ยาเบาหวาน ซึ่งบริษัทข้ามชาติมีการพัฒนายาตัวใหม่ หรือที่เรียกว่า ยา Original ซึ่งจะมีราคาแพง ขณะที่บริษัทยาในประเทศส่วนใหญ่นั้น หากหมดสิทธิบัตรเมื่อไหร่ แล้วสามารถพัฒนาได้ก็จะกลายเป็นผู้นำตลาดได้เช่นกัน ซึ่ง BLC มองเห็นประเด็นนี้เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว จึงตั้งศูนย์วิจัยขึ้นมาเพื่อพัฒนา ยา Original โดยปัจจุบันสามารถผลิตได้ 2-3 ผลิตภัณฑ์ เนื่องจาก BLC มีความพร้อมทุกด้านอยู่แล้ว แต่ถ้ามีเงินทุนเข้ามามากขึ้น ก็สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ได้มากถึงปีละ 10 ผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะกลุ่มยาสมุนไพรนวัตกรรมมีโอกาสเติบโตสูงมาก

สำหรับส่วนแบ่งการตลาดของบริษัทยา ทาง BLC มองว่าเป็นเรื่องที่แปลก เพราะยังไม่มีใครเป็นเจ้าตลาด ซึ่ง BLC เอง มียอดขายในปี พ.ศ. 2565 อยู่ที่ประมาณ 1,300 ล้านบาท ซึ่งถือว่ายังน้อยมากในตลาดภาพรวม โดย BLC มีความชำนาญอย่างมากในด้านการผลิตยากลุ่มกระดูกและข้อ และกลุ่มยาผิวหนัง 

ส่วนทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมยา BLC มองว่า มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่อาจโตไม่มากนัก ประมาณ 7% 

"เรามองการเติบโตเป็นช่วงๆ อย่างในยุคแรก ช่วงปี ค.ศ. 1990-2000 เรามองในเรื่องระบบคุณภาพ ว่าทำอย่างไรให้โรงงานยาเป็นที่ยอมรับ มีมาตรฐานสูงสุด ส่วน 10 ปีต่อมา เรามองว่า BLC จะเป็นบริษัทยาที่แข่งขันกับบริษัทข้ามชาติได้อย่างไร โดยมีมุมมองในรูปแบบของ Business Model สร้างความเชี่ยวชาญตอบรับกลุ่มลูกค้า ซึ่งเป็นโมเดลที่ทำให้ BLC เจริญเติบโตมาถึงปัจจุบัน ส่วนอีก 10 ปีต่อมา BLC เราเน้นเรื่องการพัฒนานวัตกรรม มีการตั้งศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนายาต้นแบบ ซึ่งเรานำงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยต่างๆ มาศึกษาพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีการผลิตยาแผนปัจจุบัน ไปพัฒนายาจากสมุนไพร ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ยาที่พัฒนามาจากสมุนไพร เทียบเท่ายาแผนปัจจุบัน และมีการส่งออกไปต่างประเทศมากมาย ส่วนปัจจุบัน BLC เรามองเรื่องสร้างการเจริญเติบอย่างยั่งยืนอย่างไร โดยเน้นสร้างพันธมิตรธุรกิจยาระหว่างประเทศมากขึ้น" ภก.สุวิทย์ กล่าว

เมื่อถามถึง BLC กับเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้วจะมีกลยุทธ์อย่างไร? ภก.สุวิทย์ กล่าวว่า ธุรกิจยาเป็นธุรกิจกระแสหลักของโลก BLC มีกลยุทธ์ดังนี้...

1. สร้างโรงงาน 2. พัฒนาสินค้าใหม่ 3. หาพันธมิตรทางการค้า จากต่างประเทศ และสร้าง Business Model ที่สร้างการเจริญเติบโตได้ พร้อมผลิตยาให้กับบริษัทยาจากต่างประเทศได้

"ตอนนี้ประเทศไทยเรายังไม่สามารถผลิตตัวยาสำคัญได้ เราควรที่จะมียาของตนเอง โดยการนำสมุนไพรมาพัฒนา ส่วนเคมีคอลจะทำอย่างไรให้เมืองไทยผลิตตัวยาสำคัญได้ หรือผลิตวัตถุดิบหลักทางยาได้ ภาครัฐควรให้การสนับสนุน และสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศมากขึ้น โดยเราให้ความสำคัญ Trusted Solutions for Lifelong Well-Being หมายถึง การดำเนินธุรกิจเริ่มตั้งแต่วัตถุดิบหลัก ผลิต พัฒนาและวิจัย แล้วทำการตลาดให้แพทย์และเภสัชกรเป็นที่รู้จัก" ภก.สุวิทย์ เสริม

ด้านการทำตลาดของ BLC หลังเข้าตลาดฯ ได้วางแผนไว้ 2 ระยะ คือ ระยะแรก จะขยายช่องทางจำหน่ายไปยังต่างประเทศ โดยวางเป้าหมายการเติบโตปีหนึ่งมากกว่า 200 ล้านบาท ส่วนระยะต่อมาจะมีการสร้างโรงงานที่ทันสมัยที่สุดในประเทศ เพื่อให้ผลิตยาที่มีคุณภาพในต้นทุนที่ถูก ซึ่งขณะนี้โรงงานได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เพื่อให้เกิดการแข่งขันในอุตสาหกรรมยาในไทย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับบริษัทต่างชาติได้แล้ว

สำหรับยอดขายของ BLC ในปัจจุบันนั้น 60% -70% เป็นกลุ่มยา รองลงมาคือกลุ่มเวชสำอาง และผลิตภัณฑ์สมุนไพร อาหารเสริมตามลำดับ ซึ่งในส่วนของ BLC มีการทำตลาดด้านเวชสำอาง อาหารเสริม ที่มีความแตกต่างไม่เหมือนใคร เนื่องจากนำสมุนไพรที่มีการจดสิทธิบัตรของบริษัทฯ มีงานวิจัยรองรับ มาพัฒนาและผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ ทำให้เกิดความแตกต่างและมีประสิทธิภาพสูงด้วยนวัตกรรม

ส่วนเป้าหมายของ BLC ต่อจากนี้ ภก.สุวิทย์ เชื่อว่า จะโตอย่างน้อยเฉลี่ย 10% ภายใน 3 ปีนี้ เป็น Organic Growth และจากนั้นก็จะเป็น New S-Curve หลังจากโรงงานเราเสร็จ คาดยอดขายแตะ 2,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี คิดเป็นกำไรเติบโต 10-20%

ท้ายสุด ภก.สุวิทย์ กล่าวว่า "ในฐานะที่จบเภสัชกรมาก็อยากสร้างแรงบันดาลใจให้น้องๆ เภสัชกร ว่าเราสามารถทำอย่างไรให้ยาของเมืองไทย เป็นที่ยอมรับอย่างน้อยก็ใน CLMV ระดับอาเซียน หรือระดับสากล โดยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน BLC เป็นที่ฝึกงานของน้อง ๆ เภสัชกร กว่า 15 สถาบัน มาร่วม 20 ปีแล้ว เนื่องจากโรงงานผลิตยาในเมืองไทยมีไม่มาก และ BLC เห็นความสำคัญตรงนี้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมยาของไทยอย่างยั่งยืนต่อไป"


เรื่อง: วสันต์ มนต์ประเสริฐ