‘De-BUGs’ สารกำจัดแมลงจากเปลือกไข่ ไร้อันตรายต่อเด็ก คว้า ‘เหรียญทอง’ จากงานประกวดนวัตกรรมที่ญี่ปุ่น

เป็นหน้าเป็นตาอีกแล้วกับผลงานนวัตกรรมของคนไทยอย่าง ‘De-BUGs’ นวัตกรรมสารกำจัดแมลงอินทรีย์แปรรูปจากเปลือกไข่ ซึ่งคณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับทุนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อแปรรูปและเพิ่มมูลค่าของเสียจากภาคอุตสาหกรรมให้เป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมรักษ์โลก ภายใต้แนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG 

โดยการเปลี่ยนโปรตีนเยื่อเปลือกไข่ให้เป็นสารออกฤทธิ์กำจัดแมลงศัตรูพืชประสิทธิภาพสูงด้วยกระบวนการผลิตที่ไม่สร้างของเสีย (Zero-waste Process) เป็นสารอินทรีย์ 100% นอกจากจะทำหน้าที่กำจัดศัตรูพืชแล้ว De-BUGs สลายตัวตามธรรมชาติกลายเป็นแคลเซียม ธาตุอาหารรองสำหรับพืชทุกชนิด เป็นนวัตกรรมเพื่อเกษตรอินทรีย์ ที่มีประสิทธิภาพป้องกันและกำจัดเพลี้ย ไล่มดและหอยทาก 

ใช้ได้กับผักสวนครัว ไม้ดอก ไม้ประดับ ผลไม้ และ พืชไร่ ไม่ต้องกังวลเรื่องการตกค้างและอันตรายจากสารเคมีสำหรับเด็กและสัตว์เลี้ยง เนื่องจากการฉีดพ่นสารแขวนลอย De-BUGs ความเข้มข้น 0.5% สามารถสร้างความเสียหายแก่ protective wax ของเพลี้ยแป้งภายในเวลา 15 นาที และทำให้เพลี้ยแป้งเป็นอัมพาตภายใน 60 นาที หลังจากนั้น 1 วัน เพลี้ยแป้งที่สัมผัส De-BUGs  จะตายทั้งหมด 

คณะนักวิจัยมีความพร้อมเผยแพร่นวัตกรรมนี้สู่การใช้งานจริงกับเกษตรกรและผู้รักสุขภาพที่ปลูกผักปลอดสารพิษ พร้อมกันนี้ นักวิจัยได้ออกแบบระบบการผลิตแบบ Nano-Factory สำหรับการผลิต De-BUGs จากเปลือกไข่ใช้เองในครัวเรือน โดยใช้อุปกรณ์ในห้องครัวเป็นเครื่องมือผลิต นวัตกรรมนี้ได้รับรางวัลเหรียญทอง (Gold Medal) และ WIIPA Special Award สาขาการเกษตร ในงานประกวดและแสดงนวัตกรรมระดับนานาชาติ JDIE 2023 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น