Tuesday, 14 May 2024
ECONBIZ NEWS

ครม.ไฟเขียว เห็นชอบร่างประกาศสลากฯ 3 ฉบับ คาด!! เริ่มจำหน่ายสลาก 3 หลักต้นปี 2567

(18 ก.ค. 66) พ.ท.หนุน ศันสนาคม ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 66 เห็นชอบร่างกฎกระทรวงและร่างประกาศ รวม 3 ฉบับ ประกอบด้วย 

1.ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการสมทบเงินรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล ตัวเลข 3 หลัก (N3) พ.ศ. ….  
2.ร่างประกาศสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เรื่อง กำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาล 6 หลัก (L6) 
และ 3.ร่างประกาศสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เรื่อง กำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาลตัวเลข 3 หลัก (N3)

ตามมติ ครม. ที่เห็นชอบในหลักการการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ สลากกินแบ่งรัฐบาล 6 หลัก และสลากกินแบ่งรัฐบาล ตัวเลข 3 หลัก ไปเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 66

สำหรับขั้นตอนภายหลังจากที่ ครม. มีมติเห็นชอบแล้ว สำนักงานสลากฯ เตรียมนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการสลากฯ เพื่อให้ ประธานกรรมการสลากรับทราบ และ ลงนามในประกาศ ให้มีผลบังคับใช้ โดยคาดว่าสลากกินแบ่งรัฐบาล 6 หลัก จะสามารถดำเนินการได้ภายในปี 2566 ขณะที่สลากกินแบ่งรัฐบาลตัวเลข 3 หลัก คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในปี 2567 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอน จัดเตรียมแนวทางดำเนินการให้มีความพร้อมมากที่สุด

“ที่ประชุม ครม. ไม่ได้มีความเห็นเพิ่มเติมจากร่างกฎกระทรวงและร่างประกาศ เนื่องจากมีการสอบถามรายละเอียดเกือบทั้งหมดแล้ว ในคราวที่เห็นชอบเมื่อ วันที่ 14 มี.ค. 66 แต่ก็ได้เน้นย้ำให้ทำการสื่อสารกับสาธารณะให้ดี โดยเฉพาะสลากกินแบ่งรัฐบาลตัวเลข 3 หลัก ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์แบบใหม่” พ.ท.หนุน กล่าว

พ.ท.หนุน กล่าวว่า การกำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาล 6 หลัก (L6) วิธีการจำหน่ายและการซื้อสลากยังเป็นรูปแบบเดิม ผู้ซื้อและตัวแทนจำหน่ายสลากเดิม จะไม่ได้รับผลกระทบ เพียงแต่เป็นการปรับกระบวนการทำงานให้คล่องตัวมากขึ้น เพื่อรองรับการจำหน่ายสลากดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นในระยะต่อไป อีกทั้งไม่ต้องพิมพ์สลากเป็นแบบใบเพื่อมาสแกนเข้าระบบก่อน สามารถจำหน่ายสลากดิจิทัลได้ทันทีในจำนวนที่เหมาะสม โดยไม่มีกรอบดำเนินการ 100 ล้านใบเป็นตัวกำหนด เช่น ปัจจุบันขายสลากรูปแบบใบ 80.4 ล้านฉบับ และ ดิจิทัล 19.6 ล้านฉบับ ก็สามารถเพิ่มสลากดิจิทัลอีกได้ โดยไม่ต้องไปรอลดสัดส่วนสลากแบบใบอีกต่อไป

สำหรับการจำหน่ายสลากดิจิทัลจำหน่ายบนแอปพลิเคชันเป๋าตังในปี 2566 ยังเป็นไปตามแนวทางที่ประชุมคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 66 ที่มีนายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะประธานกรรมการสลากฯ เป็นประธาน โดยคาดว่าจะจำหน่ายได้ไม่น้อยกว่า 25-30 ล้านใบต่องวด จากปัจจุบันอยู่ที่ 19.6 ล้านฉบับ ซึ่งจะพิจารณาให้สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของผู้ซื้อ และความต้องการขายให้เหมาะสม

‘สมโภชน์ อาหุนัย’ แห่ง EA คว้ารางวัล ‘นักบริหารดีเด่นแห่งปี 2566’ ควบรางวัล ‘นวัตกรรมยอดเยี่ยม’ จากผลิตภัณฑ์ MINE Mobility MT30

(18 ก.ค. 66) บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA คว้า 2 รางวัล จากมูลนิธิเพื่อสังคมไทย มอบโล่เชิดชูเกียรติ ‘สมโภชน์ อาหุนัย’ ในฐานะนักบริหารดีเด่นแห่งปี 2566 สาขาบริหารและพัฒนาองค์กร พร้อมมอบรางวัลนวัตกรรมยอดเยี่ยม จากผลงานผลิตภัณฑ์ MINE Mobility MT30 สำหรับองค์กรที่มีนวัตกรรมที่โดดเด่น สร้างความรับผิดชอบต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืน

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ได้รับโล่เชิดชูเกียรติ นักบริหารดีเด่นแห่งปี 2566 สาขาบริหารและพัฒนาองค์กร จาก พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานในพิธีมอบโล่เชิดชูเกียรติ โครงการหนึ่งล้านกล้าความดีตอบแทนคุณแผ่นดิน

จากผลงานโดดเด่นของ นายสมโภชน์ อาหุนัย ผู้ก่อตั้ง บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นธุรกิจจากผู้ผลิตพลังงานทดแทน เมื่อปี 2549 และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2556 พลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA มีการเติบโตต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลา กว่า 15 ปี ที่ EA มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจ ‘Green Product’ ขยายธุรกิจไบโอดีเซล, ธุรกิจโรงไฟฟ้า, ธุรกิจผลิตแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้า, ธุรกิจสถานีอัดประจุไฟฟ้า สามารถขับเคลื่อนนวัตกรรมพลังงานสะอาดให้เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและระดับสากล ทำให้องค์กรให้เติบโตควบคู่ไปกับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ภายใต้แนวคิด ‘MISSION NO EMISSION’

ด้วยการบริหารตามแนวคิด วางแผนอย่างรอบคอบ วิเคราะห์ให้ลึก สร้างโอกาสทุกการเปลี่ยนแปลง จึงนำพาให้สามารถบริหารและพัฒนาองค์กร ให้เดินหน้าเป็น New Generation Company แม้เผชิญวิกฤตก็สามารถพลิกเป็นโอกาส พร้อมส่งเสริมให้พนักงานมีความมุ่งมั่น ท้าทายความสามารถและศักยภาพในทุกๆ สถานการณ์ สู่การสร้างแบรนด์คนไทยที่ภาคภูมิใจ และพัฒนาประเทศชาติที่ยั่งยืนในทุกมิติ

ขณะเดียวกัน EA ยังได้คว้ารางวัลในประเภทนวัตกรรมยอดเยี่ยม จากความสำเร็จของ นวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า EV Pick-up Truck MINE Mobility MT30 โดยมี นางสาววิมลมาศ วงศ์มกรพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไมน์ โมบิลิตี รีเสิร์ช จำกัด บริษัทในกลุ่มพลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA รับรางวัลอันทรงเกียรติ จากท่าน พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบโล่เชิดชูเกียรติ เช่นเดียวกัน

ผลงานโดดเด่นของนวัตกรรม EV Pick-up Truck MINE Mobility MT30 รถกระบะไฟฟ้า 100% รุ่นแรกฝีมือไทย สามารถขับเคลื่อนได้ระยะทางกว่า 100 กิโลเมตร/การชาร์จ 1 ครั้ง ใช้เวลาชาร์จเพียง 15 นาที ด้วยเทคโนโลยี Ultra-fast Charge พร้อมแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนขนาด (Li-Ion Battery) 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง ผ่านมาตรฐานทดสอบความปลอดภัย UN R100 และมาตรฐานกันน้ำ IP67  มาพร้อมการออกแบบให้พื้นที่กระบะบรรทุกขนาดใหญ่พิเศษ พื้นเรียบเปิดได้ 3 ด้าน ยาว 2.5 เมตร ยาวกว่ากระบะตอนเดียวทั่วไป 18 ซม. ทำให้วางไม้กระดานได้เต็มแผ่น สามารถรองรับการบรรทุกได้ดี ช่วยประหยัดพลังงานและลดต้นทุนในภาคขนส่งเชิงพาณิชย์ ด้วยการออกแบบภายใต้แนวคิด Respect Environment ตามกลยุทธ์ 5E ได้แก่

• Environment ตอบโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อม พร้อมเป็นส่วนหนึ่งที่จะพาธุรกิจมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero
• Energy Saving เป็น EV Truck พลังงานบริสุทธิ์ ช่วยให้ธุรกิจบรรลุเป้าหมาย และตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์

• Electric EV Truck ฝีมือคนไทย 100%
• Ease สะดวกในการบำรุงรักษาด้วยศูนย์บริการชั้นนำอย่าง Cockpit ที่มีจุดบริการกว่า 90 สาขาครอบคลุมทั่วประเทศ

• Experience เปิดประสบการณ์ใหม่ด้วยรถกระบะพลังงานไฟฟ้าที่ใช้งานได้จริง เหมาะกับทุกธุรกิจและไลฟ์สไตล์ ซึ่งเป็นก้าวสำคัญของการพลิกโฉมอุตสาหกรรมใหม่ (New S Cuve) ด้านยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย ที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม 

‘นิพนธ์’ พร้อมดัน ‘สงขลา’ สู่ศูนย์กลางปลูกทุเรียนในไทย ควบคู่แลกเปลี่ยนความรู้แก่เกษตรกร ช่วยให้ผลผลิตมีคุณภาพ

เมื่อวานนี้ (17 ก.ค. 66) นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการ ‘การทำทุเรียนฉบับขั้นเทพ’ โดยมีอาจารย์ ไพโรจน์ ทางธรรม ผู้จัดการพัฒนาตลาดและผลิตภัณฑ์ นายไพบูลย์ แก้วกันหา ผู้จัดการสื่อการตลาด และเจ้าหน้าที่บริษัทเทพวัฒนา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตำบลท่าช้าง สมาชิกสหกรณ์การเกษตรบางกล่ำ และเกษตรกรชาวสวนทุเรียนเข้าร่วมประชุม ณ ศูนย์การเรียนรู้สหกรณ์การเกษตร ตำบลท่าช้าง อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา

เนื่องด้วยปัจจุบันทุเรียนเป็นพืชตัวหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนทุเรียนอย่างมากจากการจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ ในปัจจุบันมีการขยายพื้นที่การปลูกมากขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดสงขลา มีการขยายตัวอย่างมาก

บริษัท เทพวัฒนา จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรร่วมกับร้านตัวแทนจำหน่ายคือร้านชูพันธ์เกษตรฟาร์มและพันธมิตรได้แก่ บริษัทไฮโดรไทย (ปุ๋ยเรือใบไข่มุก) บริษัท แอดวานส์ เฟอร์ติไลเซอร์ต้องการใช้โอกาสนี้ในการให้ความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องการจัดการ การใช้ปุ๋ยใช้ยาในการปลูกทุเรียนให้ได้ผลผลิต ที่ดีมีคุณภาพจึงได้เชิญวิทยากรจากบริษัทเทพวัฒนาคือ อาจารย์ ไพโรจน์ ทางธรรม มาบรรยายให้ความรู้ ในครั้งนี้ เพื่อเกษตรกรจะได้ต้นทุเรียนที่สวยงดงาม และให้ผลผลิตแก่เกษตรกร ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ และสร้างมูลค่าให้กับเกษตรกร

นายนิพนธ์ กล่าวช่วงหนึ่งว่า วันนี้ได้เห็นกลุ่มเกษตรกรชาวสวนทุเรียนที่มีความตั้งใจที่จะหาความรู้ในเชิงวิชาการ การทำทุเรียนตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงการเก็บเกี่ยวที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่พี่น้องเกษตรกรชาวสวนทุเรีบนได้มองเห็นโอกาสร่วมกัน ซึ่งเห็นบรรยากาศแล้ว ผมเชื่อว่าการเดินหน้าให้สงขลาเป็นเมืองทุเรียนไม่ใช่เป็นเรื่องเพ้อฝัน จากความตั้งใจของพี่น้อง และความสนใจของพี่น้องเกษตรกร เชื่อว่าสงขลามีศักยภาพในการที่จะทำให้สงขลาเป็นเมืองทุเรียน เพราะสงขลาเรามีพื้นที่ค่อนข้างจะมาก ซึ่งเดิมสงขลาเราปลูกยางพารา และถือเป็นลำดับต้น ๆ ของประเทศไทย

วันหนึ่งเราเห็นว่าพืชทุเรียนเป็นพืชที่มีโอกาสทางเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศไทย ขณะนี้เราส่งทุเรียนไปจำหน่ายต่างประเทศ เฉพาะประเทศจีนประเทศเดียวปีที่แล้วแสนกว่าล้าน นั่นคือคนจีนยังทานทุเรียนไม่ถึง 10% ของพลเมืองประเทศจีน ประเทศจีนมีประชากรประมาณ 1400 ล้านคน ขณะที่คนทานทุเรียนยังไม่ถึง 100 ล้าน ซึ่งผมได้มีโอกาสไปพบกับผู้ใหญ่ที่ดูแลธุรกิจในประเทศไทยคือท่านธนินทร์ เจียรวานนท์ ท่านเจ้าสัวซีพี ให้ข้อมูลกับผมว่าพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่สงขลาลงไป เป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการปลูกทุเรียน

ซึ่งทุเรียนเป็นพืชที่ชอบน้ำแต่ไม่ชอบน้ำขัง แต่พืชทุเรียนขาดน้ำไม่ได้ ซึ่งธุรกิจทุเรียนถือเป็นธุกิจแสนล้านหรือสองแสนล้านได้ในอนาคต แต่จุดอ่อนของบ้านเราท่านบอกว่า ที่ผ่านมาเราไม่สามารถแก้ปัญหาในเรื่องตัวหนอนในเมล็ดทุเรียนได้ ท่านจึงส่งเจ้าหน้าที่ของซีพีมากับมูลนิธิปิดทองหลังพระ ลงมาเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดยะลา เพื่อปิดจุดอ่อนในเรื่องของปัญหาตัวหนอนในเมล็ดได้ แล้วทำให้จังหวัดยะลา เป็นฮับทุเรียน ตั้งแต่วันนั้นมาผมจึงเริ่มสนใจการปลูกทุเรียนมากขึ้น เพราะท่านเป็นผู้ชี้แนะอะไรหลายอย่าง และท่านพูดแล้วก็ไม่ต้องไปศึกษาตำราที่ไหน ผมเชื่อว่าความคิดของท่านที่บอกว่า ในประเทศนี้ธุรกิจที่น่าทำคือพลังงาน แต่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าพลังงานคือน้ำมัน นั่นคือพลังงานเครื่องจักร แต่ท่านบอกว่าคงลืมไปว่าพลังงานของคนคืออาหาร ตราบใดที่มีคนหก เจ็ดพันล้านคนในโลกนี้ตราบนั้นคนต้องกินอาหารเพื่อใช้เป็นพลังงาน จากคำพูดนั้นนั่นก็คือเป็นสิ่งที่ทำไมซีพีจึงผลิตอาหารเลี้ยงคน

ดังนั้นวันนี้อนาคตของประเทศไทยคือทุเรียน และพื้นที่ภาคใต้ก็เป็นพื้นที่ที่มีโอกาส ทำอย่างไรเราจะปิดช่องว่างจุดอ่อนของทุเรียนภาคใต้ นั่นคือการแก้ไม่ให้แมลงเข้าไปวางไข่ในทุเรียน อย่าให้มีหนอนในเมล็ดทุเรียนได้ แล้วอนาคตก็จะดี ดังนั้นการให้ความรู้จึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด วันนี้การทำเกษตรบ้านเราจะทำตามยถากรรมย่อมไม่ได้ การทำการเกษตรต้องมีหลักวิชา และเชื่อว่าเราจะสร้างอาชีพใหม่ได้แน่นอน ถ้าเกษตรกรคนใดมีสองอย่างคือทั้งยางพาราและสวนทุเรียน ซึ่งยางพารานั้นเก็บรายได้ทุกวัน เก็บเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน แต่ถ้าท่านปลูกทุเรียนไปด้วยทุเรียนจะถือเป็นโบนัสประจำปี สามารถสร้างกำไรเลี้ยงครอบครัวได้ ซึ่งถ้าเรามีโอกาสดีมีทั้งสวนยางพาราและสวนทุเรียนไว้บ้าง แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้คือองค์ความรู้ ผมเชื่อว่าคงไม่มีใครรู้เรื่องของ ทุเรียนดีซะทุกอย่าง การรวมกลุ่มแลกเปลี่ยนประสบการณ์ นี่คือสุดยอดวิชา ใครมีปัญหาก็พูดคุยกัน และไม่ให้ปัญหาเหล่านั้นเกิดกับคนอื่นอีก หรือไม่เกิดขึ้นซ้ำอีก ซึ่งก็จะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น

และนี่คือสิ่งที่ทุกคนจะประสบความสำเร็จในเรื่องของการปลูกทุเรียนได้ จึงอยากเห็นเกษตรกรได้ทำสิ่งเหล่านี้ และตั้งใจในการที่จะเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ วิชาการถือเป็นสิ่งจำเป็นในการเกษตรโดยเฉพาะเกษตรแปลงใหญ่ ฉะนั้นจากทฤษฎีทั้งหลายที่เราดำเนินการอยู่นี้ ทั้งในส่วนของกระทรวงเกษตร และกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งผมได้มีโอกาสในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา เข้าไปเป็นคณะรัฐมนตรี และพรรคประชาธิปัตย์ได้เข้าไปดูแลในกระทรวงเกษตร ผมจึงมีความเข้าใจการสร้างมาตรฐาน หรือมาตรฐานต่างๆที่กระทรวงเกษตรกำหนด หรือแม้แต่ที่กระทรวงพาณิชย์ส่งสินค้าไปขาย

ต่อไปนี้ไม่ใช่ใครมีสินค้าทำอย่างไรก็ได้ การใช้ยาเคมีใช้อย่างไรให้พอดี ใช้ปุ๋ยอย่างไรใช้ให้พอดี เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นในเชิงวิชาการทั้งสิ้น และหลักวิชาการเหล่านี้จะทำให้เราประสบความสำเร็จในอาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องทุเรียนเป็นพืชเกษตรตัวใหม่ของประเทศไทย และสงขลายังไม่สายเกินไปที่จะปรับขบวนการเหล่านี้ และร้อยเรียงทำอย่างไรที่จะทำให้ทุเรียนสงขลาเป็นทุเรียนที่มีคุณภาพ เราต้องช่วยกัน สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลกังวลอย่างยิ่ง และรัฐบาลจีนไม่ยอมให้เกิดขึ้นนั่นคือ การส่งทุเรียนที่ไม่ได้คุณภาพเข้าประเทศจีน ดังนั้นสิ่งนี้พวกเราต้องระลึกอยู่เสมอว่าต้องไม่ทำลายตัวเราเอง เพราะการที่เราจะทำให้ทุเรียนของเราไม่มีคุณภาพ จะเป็นการตัดราคาตัดโอกาสของเกษตรกร ดังนั้นการทำให้ทุเรียนไม่มีราคา ถ้าเราลองนั่งคำนวณดูจะเห็นว่าไม่มีผลไม้ชนิดไหนแล้วในปัจจุบัน ที่จะส่งออกได้ดีกว่าทุเรียน ดังนั้นเราต้องทำให้สินค้าทุเรียนสงขลาเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ซึ่งมันไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้

‘ก.อุตฯ’ นิคม ‘สมาร์ท ปาร์ค’ คืบหน้ากว่า 60.70%  จีนแห่ลงทุน ‘EV’ ส่วนยุโรปจ่อพัฒนาโลจิสติกส์

(17 ก.ค. 66) นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างโครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) ระยอง ว่า ปัจจุบันมีผู้สนใจเข้าร่วมลงทุนจากหลายประเทศหลังจากที่มีการโรดโชว์ โดยเป็นเอกชนจากประเทศจีนที่ต้องการพื้นที่ในการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในซัพพลายเชน และมีนักลงทุนจากยุโรปที่ต้องการพื้นที่ในการพัฒนาอุตสาหกรรมโลจิสติกส์

ทั้งนี้ การก่อสร้างโครงการสมาร์ท ปาร์ค นั้น การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ประกาศเจตนารมณ์ให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนนั้น

นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังให้ความสำคัญต่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเป็นโครงการฯ จะเกิดการกระตุ้นและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย เพื่อการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงในอนาคต

ด้าน นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่าโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค เมื่อดำเนินการสำเร็จลุล่วงจะก่อให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่มากมาย ทั้งการเป็นพื้นที่รองรับการลงทุนอุตสาหกรรมของประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย (เอส-เคิร์ฟ) การพัฒนาพื้นที่และท้องถิ่น ทำให้เกิดการจ้างงาน สร้างเศรษฐกิจชุมชน เพิ่มรายได้แก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้อย่างดี โดยความก้าวหน้างานก่อสร้างสะสมจนถึง 25 มิ.ย. 2566 คืบหน้าไป 60.70% ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ตามแผนที่วางไว้ในปี 2567

อย่างไรก็ตาม โครงการสมาร์ท ปาร์ค ในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งมีพื้นที่โครงการ 1,383.71 ไร่ ถือเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ที่จะก้าวข้ามการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นฐานเดิม เพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เสริมสร้างความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่ทันสมัย ปลอดภัย ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ ภายใต้แนวคิดนิคมอุตสาหกรรมที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ตามนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้ต้องบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2593

‘บิ๊กตู่’ ปลื้ม!! เทศกาลภาพยนตร์ไทย-มาเลเซีย 2023 คึกคัก พร้อมดันกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางด้านภาพยนตร์ของอาเซียน

(17 ก.ค. 66) สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มุ่งผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ ใช้มิติวัฒนธรรมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ และสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย โดยรับทราบผลสำเร็จของงานเทศกาลภาพยนตร์ไทยในมาเลเซียประจำปี 2566 ภายใต้ธีม ‘Bridging Thainess to International Audience’ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่  13 - 16 กรกฎาคม 2566 ที่โรงภาพยนตร์ GSC Mid Vally โดยมีแขกผู้มีเกียรติจากกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย กระทรวงการท่องเที่ยว ศิลปะและวัฒนธรรมมาเลเซีย คณะกรรมการพัฒนาภาพยนตร์แห่งมาเลเซีย (FINAS) คณะทูตานุทูตต่างประเทศ พร้อมทั้งสื่อมวลชนมาเลเซีย นักเรียน นักศึกษามาเลเซียและไทย คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำในมาเลเซีย และแฟนคลับชาวไทยและมาเลเซีย เข้าร่วมกันอย่างคึกคัก

ซึ่งนอกจากจะเป็นการส่งเสริมมิตรภาพ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแล้ว ในเชิงสังคมและวัฒนธรรม ยังเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และความร่วมมือในอนาคตระหว่างอุตสาหกรรมภาพยนตร์และบันเทิงของทั้งสองประเทศ เปิดโอกาสทางด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาความสำเร็จของประเทศไทยสามารถดึงดูดคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศเข้ามาถ่ายทำในไทย ทำให้สถิติ 7 ปี (2559 - 2565) สร้างรายได้เข้าประเทศแล้วกว่า 2.6 หมื่นล้านบาท 

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ครม.พล.อ.ประยุทธ์ได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยเพิ่มเติมเพื่อดึงดูดคณะถ่ายทำภาพยนตร์จากต่างประเทศ  ทำให้มั่นใจว่าจะผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางด้านภาพยนตร์ของอาเซียนได้ตามเป้าหมาย

สำหรับการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์ไทยในมาเลเซีย ประจำปี 2566 ภายใต้ธีม ‘เชื่อมความเป็นไทยสู่สากล’ นำภาพยนตร์ไทย 5 เรื่องจากเครือภาพยนตร์ไทยที่มีชื่อเสียงมาฉายสู่สายตามิตรชาวมาเลเซีย ได้แก่ แอน (Faces of Anne) เทอมสองสยองขวัญ (Haunted Universities 2nd Semester) บุพเพสันนิวาส 2 (Love Destiny the Movie) Fast & Feel Love เร็วโหด..เหมือนโกรธเธอ และหนังรักคลาสสิคตลอดกาล Friend Zone ระวัง...สิ้นสุดทางเพื่อน โดยจัดฉายในโรงภาพยนตร์ในเครือ Golden Screen Cinemas (GSC) 4 แห่งใน กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองปูตราจายา และรัฐสลังงอร์ ได้แก่ GSC Mid Valley GSC 1 Utama GSC MyTown และ GSC IOI City Mall โดย ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

‘รัฐบาล’ เร่งยกระดับ ‘ท่าเรือแหลมฉบัง’ สู่ท่าเรือสีเขียว ดันเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเลของเอเชียแบบไร้มลพิษ

(17 ก.ค. 66) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามความคืบหน้าของการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังมาโดยตลอด โดยตั้งเป้าให้แหลมฉบังเป็นศูนย์กลางทางการขนส่ง สร้างท่าเรือสีเขียว ลดมลพิษจากการขนส่งพร้อมสร้างโอกาสให้กับธุรกิจของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องหลักพันล้านบาทต่อปี รวมทั้งได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเลระดับเอเชีย

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการดำเนินการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ให้สอดคล้องกับแนวทางท่าเรือสีเขียวจะสามารถช่วยลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในท่าเรือได้อย่างมีนัยสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 

1. การใช้รถบรรทุกไฟฟ้าและการพัฒนาเทคโนโลยีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swapping) โดยหากท่าเรือแหลมฉบังเปลี่ยนไปใช้รถบรรทุกไฟฟ้าราว 10% หรือประมาณ 1,000 คันต่อวัน จะช่วยลดการสิ้นเปลืองของน้ำมันดีเซลสูงถึง 50 ล้านลิตรต่อปี ประหยัดค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงราว 800 ล้านบาทต่อปี และช่วยลดการปล่อยก๊าซ CO2 มากถึง 4.8 หมื่นตัน CO2e ต่อปี  

2. การใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ของท่าเรือแหลมฉบังระยะ 3 จะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 11.1% CAGR ในปี 2579 ซึ่งจะใช้เงินลงทุนในการพัฒนาราว 600 ล้านบาท และสามารถลดก๊าซ CO2 เฉลี่ยปีละ 4.9 พันตัน CO2e  

3. การเปลี่ยนระบบการขนส่งตู้สินค้าเป็นทางรถไฟ โดยท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 มีแผนจะพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (Single Rail Transfer Operator: SRTO) เพิ่มความสามารถในการรองรับตู้สินค้าเป็น 6 ล้าน TEU ต่อปี ทำให้แหลมฉบังมีความสามารถในการรองรับปริมาณตู้สินค้าถึง 5.3 ล้าน TEU ต่อปี ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งราว 1.2 พันล้านบาท และลดการปล่อยก๊าซ CO2 มากถึง 0.79 ล้านตัน CO2e ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมายจากการพัฒนาการขนส่งทางรางของท่าเรือแหลมฉบังของภาครัฐ 

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ทางศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทยได้วิเคราะห์ว่า แนวทางการพัฒนาท่าเรือสีเขียว ของท่าเรือแหลมฉบังในระยะที่ 3 สามารถช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการในธุรกิจผลิตรถบรรทุกไฟฟ้าและชิ้นส่วน รวมถึงธุรกิจผลิตแบตเตอรี่อย่างน้อยราว 1.8 หมื่นล้านบาท และเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมแผงเซลล์แสงอาทิตย์ เช่น ธุรกิจรับจ้างติดตั้งและก่อสร้างระบบเซลล์แสงอาทิตย์ โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ประมาณ 600 ล้านบาท และในช่วงปี 2567-2578 ส่วนการเปลี่ยนระบบการขนส่งเป็นทางรถไฟมากขึ้น จะช่วยทำให้ธุรกิจผลิตหัวรถจักรไฟฟ้าได้รับประโยชน์จากการพัฒนาในส่วนนี้ 

น.ส.รัชดา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ผลักดันการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเป็นท่าเรือสีเขียว เพื่อให้รองรับการเติบโตเศรษฐกิจไทย และก้าวขึ้นสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเลของเอเชีย รองรับการเติบโตของเศรษฐกิจในพื้นที่ EEC ประเทศไทย และประเทศในภูมิภาค พร้อมทั้งส่งเสริมการพัฒนาท่าเรือสีเขียวตามแนวทางของเศรษฐกิจบีซีจี (BCG) เพื่อเปิดโอกาสให้ธุรกิจประเภทใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ รองรับความท้าทายในโลก ผลักดันการพัฒนาอย่างยั่งยืนและรอบด้าน

ไทย ขึ้นแท่นส่งออกปลากระป๋องเบอร์ 2 ของโลก หลัง 5 เดือนแรกปี 66 มูลค่าพุ่ง 1,145 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยส่งออกสินค้าปลากระป๋องและแปรรูป ไปตลาดคู่เจรจา FTA ช่วง 5 เดือนปี 66 มีมูลค่าสูงถึง 1,145.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 15.7% ขึ้นแท่นอันดับ 2 ของโลก เป็นรองแค่จีนเท่านั้น

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้ติดตามสถานการณ์สินค้าปลากระป๋องและแปรรูป พบว่าเป็นสินค้าที่มีศักยภาพของไทย โดยปัจจุบันไทยส่งออกเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน และอันดับ 1 ของอาเซียน และในช่วง 5 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-พ.ค.) ไทยส่งออกปลากระป๋องและแปรรูปไปตลาดโลกแล้วมูลค่า 1,145.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการส่งออกไปตลาดคู่ FTA มูลค่า 351.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.7% ตลาดคู่ FTA ที่ขยายตัวต่อเนื่อง เช่น ญี่ปุ่น เพิ่ม 22.7% ชิลี เพิ่ม 96.7% เปรู เพิ่ม 183.1% จีน เพิ่ม 25.7% กัมพูชา เพิ่ม 11.9% และฟิลิปปินส์ เพิ่ม 138.1%

ทั้งนี้ เมื่อเจาะลึกการส่งออกสินค้าปลากระป๋องและแปรรูปไปตลาดคู่ FTA พบว่า ปลาทูน่ากระป๋อง เพิ่ม 17.2% คิดเป็นสัดส่วน 51.6% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดไปตลาดคู่ FTA ปลาแปรรูป เช่น ปลาทูน่าที่ทำให้สุกแล้ว คาร์เวียร์ ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน และปลาแมคเคอเรล เพิ่ม 18.2% สัดส่วน 32.6% ปลาซาร์ดีนกระป๋อง เพิ่ม 8.4% สัดส่วน 4.6% และปลากระป๋องอื่นๆ เพิ่ม 6.2% สัดส่วน 11.1%

ส่วนในปี 2565 ที่ผ่านมา ไทยส่งออกปลากระป๋องและแปรรูปไปตลาดคู่ FTA มูลค่า 931.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 4.6% ตลาดส่งออกสำคัญ เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ชิลี และเกาหลีใต้ เป็นต้น

ปัจจุบันไทยมี FTA กับคู่ค้า 18 ประเทศ โดยคู่ค้า 15 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู และฮ่องกง ได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าปลากระป๋องและแปรรูปจากไทยทุกรายการแล้ว เหลือเพียง 3 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ที่ลดภาษีนำเข้าสินค้าปลากระป๋องและแปรรูปบางส่วนให้ไทย เช่น ญี่ปุ่น เก็บภาษีนำเข้าปลาซาร์ดีน แมคเคอเรลกระป๋อง และไข่ของปลาค็อด อัตรา 5% เกาหลีใต้ เก็บภาษีนำเข้าปลาซาร์ดีนกระป๋อง อัตรา 16% ทูน่ากระป๋อง ทั้งแบบในน้ำมันและต้มสุกแล้ว อัตรา 20% ปลาไหลแปรรูป และฟิชเพสต์ อัตรา 5% และอินเดีย เก็บภาษีนำเข้าทูน่าทุกประเภท และคาร์เวียร์ อัตรา 30% และภายใต้ความตกลง RCEP เกาหลีใต้ จะทยอยลดภาษีนำเข้าทูน่าต้มสุกในกระป๋องให้ไทยจนเหลือศูนย์ในปี 2579

“ไทยมีศักยภาพการผลิตปลากระป๋องและแปรรูปเป็นยอมรับจากทั่วโลก จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่มีความต้องการสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น และไทยมี FTA จึงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การส่งออกสินค้าปลากระป๋องและแปรรูปของไทยขยายตัวต่อเนื่อง ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรใช้ประโยชน์จาก FTA เป็นเครื่องมือสร้างแต้มต่อขยายส่งออกสินค้าไปตลาดต่างประเทศ” นางอรมนกล่าว

‘Bitkub’ ร่วมประชุม ‘World Economic Forum 2023 ครั้งที่ 14’ แลกเปลี่ยนแนวคิดธุรกิจ พา ‘สตาร์ตอัปไทย’ ก้าวไกลสู่เวทีโลก

(16 ก.ค. 66) เป็นความภาคภูมิใจของวงการสตาร์ตอัปไทยอีกครั้ง เมื่อ Bitkub, Wisesight และ a-commerce ได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก ‘World Economic Forum 2023’ หรือ Summer Davos Forum ครั้งที่ 14 ณ เมืองเทียนจิน สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 27-29 มิถุนายน 2566 อย่างเป็นทางการ โดยคุณท๊อป จิรายุส ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ได้ขึ้นเวทีแสดงวิสัยทัศน์เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจร่วมกับผู้นำระดับโลกด้วย

การประชุม ‘World Economic Forum 2023’ หรือ Summer Davos Forum ครั้งที่ 14 ณ เมืองเทียนจิน สาธารณรัฐประชาชนจีนในครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้ธีม “ผู้ประกอบการยุคใหม่กับพลวัตในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมทั้งระดับผู้นำภาคการเมืองของแต่ละประเทศ ผู้บริหารระดับสูงจากภาคธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ องค์การระหว่างประเทศ นักวิชาการจากทั่วโลก และภาคประชาสังคม จำนวนกว่า 1,500 คนทั่วโลก เพื่อหารือแนวทางหรือจุดยืนในการกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาในระดับระหว่างประเทศ ตลอดจนเสนอแนะแนวทางให้กับผู้ประกอบการในสายงานต่าง ๆ รวมไปถึงการสำรวจแนวทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนและเอเชียอย่างยั่งยืน

Bitkub ซึ่งเป็นสมาชิกสมาคม Thai Startup ในฐานะหนึ่งในสมาชิก World Economic Forum ด้วยจึงได้รับสิทธิ์ในการเชิญบริษัทสตาร์ตอัปไทยชั้นนำ เข้าร่วมการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก ‘World Economic Forum 2023’ หรือ Summer Davos Forum ครั้งที่ 14 ที่ผ่านมา จึงได้ประสานกับสมาคม Thai Startup เพื่อร่วมกันสนับสนุนสตาร์ตอัปไทยสู่เวทีโลก โดยรอบนี้ได้เชิญคุณกล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) (Wisesight) และคุณวีระพงษ์ ศรีวรกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท เอคอมเมิร์ซ จำกัด (มหาชน) (ACOM) เพื่อพบปะพูดคุยกับ ผู้นำภาคการเมืองของแต่ละประเทศ ผู้บริหารระดับสูงจากภาคธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ องค์การระหว่างประเทศ นักวิชาการจากทั่วโลก และภาคประชาสังคม  เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหารือร่วมกันถึงมุมมองของอนาคตทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ภายในงาน ‘ท๊อป จิรายุส’ ในฐานะนักธุรกิจจากประเทศไทยและผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจดิจิทัล และหนึ่งในสมาชิกสมาคม Thai Startup ยังได้ขึ้นแสดงวิสัยทัศน์ในหัวข้อ ‘Education Disrupt-Ed’ และ ‘Beyond the Hype: Non-Fungible Tokens for Business’ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากนานาชาติ ซึ่งการเข้าร่วมงานในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญที่สตาร์ตอัปจากประเทศไทยได้ขึ้นแสดงวิสัยทัศน์บนเวทีระดับโลก

‘รถไฟฟ้าสายสีชมพู’ เตรียมเปิดให้บริการ 32 สถานี ปลายปีนี้ ขึ้นแท่นโมโนเรลที่มีระยะทางยาวเป็นอันดับ 2 ของโลก!!

(16 ก.ค. 66) รถไฟฟ้า MRT สายสีชมพู เป็นรถไฟ Monorail อีกสายหนึ่งที่กำลังจะเปิดให้บริการในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งความรู้สึกในการโดยสารก็คงไม่ต่างจาก รถไฟเหาะสายสีเหลืองมากนัก แต่ด้วยความที่สายสีชมพูมีเส้นทางที่ยาวมาก ตลอดสายมีสถานีทั้งหมด 30 สถานี มีเส้นทางแยกเข้าเมืองทองธานีอีก 2 สถานี รวมเป็น 32 สถานี ระยะทางรวมทั้งสายประมาณ 34.5 กิโลเมตร ซึ่งหากเปิดให้บริการเมื่อไหร่ สายสีชมพูจะครองตำแหน่ง ‘รถไฟรางเดี่ยว (Monorail) ที่มีระยะทางยาวเป็นอันดับ 2 ของโลก’ ทันที เป็นรองแค่ Chongqing Monorail Line 3 ที่มีระยะทาง 66 กิโลเมตรเท่านั้น พี่จะเป็นโมโนเรลที่ ‘ยาว ไป ไหน’

‘อ.พงษ์ภาณุ’ ฟันธง!! ไทยควรถึงเวลาปฏิรูปภาษี ขยายฐานภาษีเงินได้นิติบุคคล-เก็บภาษีปล่อยคาร์บอน

(16 ก.ค. 66) ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ ‘Easy Econ’ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็นการปฏิรูปการคลัง (Fiscal Reform) ของไทยในปัจจุบันเป็นอย่างไร

โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า นโยบายการคลัง คือนโยบายที่ว่าด้วยการใช้จ่ายเงินภาครัฐที่มาจากการเก็บภาษีอากร และการก่อหนี้สาธารณะหากเก็บรายได้ได้ไม่เพียงพอ นโยบายการคลังอยู่ในอำนาจของฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะเชื่อว่าความต้องการของประชาชนได้รับการสะท้อนผ่านการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย

จึงไม่น่าแปลกใจว่าภาวะการคลังของเกือบทุกประเทศทั่วโลกอยู่ในฐานะขาดดุล เพราะฝ่ายการเมืองชอบที่จะใช้จ่ายมากกว่าหารายได้ โดยเฉพาะหลังจากสถานการณ์โควิด 19 ทุกประเทศรวมทั้งไทย ที่มีฐานะการคลังที่อ่อนแอลงอย่างมาก รัฐบาลไทยขาดดุลการคลังปีละ 5-6% ของ GDP และมีหนี้สาธารณะที่ระดับ 62% ของ GDP ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในประวัติศาสตร์การคลังไทย

ในสถานการณ์ปกติ ฐานะการคลังดังกล่าวถือว่าบริหารจัดการได้ แต่ในภาวะที่ดอกเบี้ยอยู่ระดับสูง สังคมสูงอายุ ความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายด้านการทหารและลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับมาตรการลดภาวะโลกร้อน ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยความเสี่ยงทางการคลังที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงเป็นจังหวะเหมาะสมที่จะทำการปฏิรูปการคลังอย่างจริงจัง

ในด้านรายได้ ถึงเวลาที่จะต้องทำการปฏิรูปภาษีอากรครั้งใหญ่ หลังจากที่ทำครั้งสุดท้ายเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว รายได้ภาษีอากรมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับเพียง 13% ของ GDP เพราะฐานภาษีสึกกร่อนจากการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิตอล (Digitalization) แนวโน้มดังกล่าวยังความจำเป็นต้องเพิ่มรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม (โดยปรับอัตรา) ขยายฐานภาษีเงินได้นิติบุคคล ยกเลิกการยกเว้นลดหย่อนภาษี เพื่อส่งเสริมการลงทุน และเก็บภาษีจากการปล่อยคาร์บอน

ในด้านรายจ่าย มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องปรับโครงสร้างการใช้จ่ายเพื่อดูแลสังคมสูงอายุทั้งในด้านความเพียงพอ ตรงเป้า และยั่งยืน การลงทุนภาครัฐ ซึ่งมีความล่าช้าและการรั่วไหลในการดำเนินการและการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ ก็จะต้องมีการรื้อกฎระเบียบเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ รวมทั้งการสนับสนุนให้มีการร่วมลงทุนในลักษณะ PPP (Public Private. Partnership) มากขึ้น

โดยสรุปแล้ว นโยบายการคลังด้านภาษีมีความสำคัญในการปรับโครงสร้าง เพื่อให้ภาครัฐมีรายได้สอดคล้องกับนโยบายในการบริหารประเทศที่ต้องนำไปพัฒนาในด้านต่างๆ ต่อไป 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top