Friday, 26 April 2024
ECONBIZ NEWS

‘รัฐบาล’ เร่งยกระดับ ‘ท่าเรือแหลมฉบัง’ สู่ท่าเรือสีเขียว ดันเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเลของเอเชียแบบไร้มลพิษ

(17 ก.ค. 66) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามความคืบหน้าของการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังมาโดยตลอด โดยตั้งเป้าให้แหลมฉบังเป็นศูนย์กลางทางการขนส่ง สร้างท่าเรือสีเขียว ลดมลพิษจากการขนส่งพร้อมสร้างโอกาสให้กับธุรกิจของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องหลักพันล้านบาทต่อปี รวมทั้งได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเลระดับเอเชีย

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการดำเนินการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ให้สอดคล้องกับแนวทางท่าเรือสีเขียวจะสามารถช่วยลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในท่าเรือได้อย่างมีนัยสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 

1. การใช้รถบรรทุกไฟฟ้าและการพัฒนาเทคโนโลยีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swapping) โดยหากท่าเรือแหลมฉบังเปลี่ยนไปใช้รถบรรทุกไฟฟ้าราว 10% หรือประมาณ 1,000 คันต่อวัน จะช่วยลดการสิ้นเปลืองของน้ำมันดีเซลสูงถึง 50 ล้านลิตรต่อปี ประหยัดค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงราว 800 ล้านบาทต่อปี และช่วยลดการปล่อยก๊าซ CO2 มากถึง 4.8 หมื่นตัน CO2e ต่อปี  

2. การใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ของท่าเรือแหลมฉบังระยะ 3 จะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 11.1% CAGR ในปี 2579 ซึ่งจะใช้เงินลงทุนในการพัฒนาราว 600 ล้านบาท และสามารถลดก๊าซ CO2 เฉลี่ยปีละ 4.9 พันตัน CO2e  

3. การเปลี่ยนระบบการขนส่งตู้สินค้าเป็นทางรถไฟ โดยท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 มีแผนจะพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (Single Rail Transfer Operator: SRTO) เพิ่มความสามารถในการรองรับตู้สินค้าเป็น 6 ล้าน TEU ต่อปี ทำให้แหลมฉบังมีความสามารถในการรองรับปริมาณตู้สินค้าถึง 5.3 ล้าน TEU ต่อปี ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งราว 1.2 พันล้านบาท และลดการปล่อยก๊าซ CO2 มากถึง 0.79 ล้านตัน CO2e ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมายจากการพัฒนาการขนส่งทางรางของท่าเรือแหลมฉบังของภาครัฐ 

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ทางศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทยได้วิเคราะห์ว่า แนวทางการพัฒนาท่าเรือสีเขียว ของท่าเรือแหลมฉบังในระยะที่ 3 สามารถช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการในธุรกิจผลิตรถบรรทุกไฟฟ้าและชิ้นส่วน รวมถึงธุรกิจผลิตแบตเตอรี่อย่างน้อยราว 1.8 หมื่นล้านบาท และเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมแผงเซลล์แสงอาทิตย์ เช่น ธุรกิจรับจ้างติดตั้งและก่อสร้างระบบเซลล์แสงอาทิตย์ โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ประมาณ 600 ล้านบาท และในช่วงปี 2567-2578 ส่วนการเปลี่ยนระบบการขนส่งเป็นทางรถไฟมากขึ้น จะช่วยทำให้ธุรกิจผลิตหัวรถจักรไฟฟ้าได้รับประโยชน์จากการพัฒนาในส่วนนี้ 

น.ส.รัชดา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ผลักดันการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเป็นท่าเรือสีเขียว เพื่อให้รองรับการเติบโตเศรษฐกิจไทย และก้าวขึ้นสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเลของเอเชีย รองรับการเติบโตของเศรษฐกิจในพื้นที่ EEC ประเทศไทย และประเทศในภูมิภาค พร้อมทั้งส่งเสริมการพัฒนาท่าเรือสีเขียวตามแนวทางของเศรษฐกิจบีซีจี (BCG) เพื่อเปิดโอกาสให้ธุรกิจประเภทใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ รองรับความท้าทายในโลก ผลักดันการพัฒนาอย่างยั่งยืนและรอบด้าน

ไทย ขึ้นแท่นส่งออกปลากระป๋องเบอร์ 2 ของโลก หลัง 5 เดือนแรกปี 66 มูลค่าพุ่ง 1,145 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยส่งออกสินค้าปลากระป๋องและแปรรูป ไปตลาดคู่เจรจา FTA ช่วง 5 เดือนปี 66 มีมูลค่าสูงถึง 1,145.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 15.7% ขึ้นแท่นอันดับ 2 ของโลก เป็นรองแค่จีนเท่านั้น

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้ติดตามสถานการณ์สินค้าปลากระป๋องและแปรรูป พบว่าเป็นสินค้าที่มีศักยภาพของไทย โดยปัจจุบันไทยส่งออกเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน และอันดับ 1 ของอาเซียน และในช่วง 5 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-พ.ค.) ไทยส่งออกปลากระป๋องและแปรรูปไปตลาดโลกแล้วมูลค่า 1,145.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการส่งออกไปตลาดคู่ FTA มูลค่า 351.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.7% ตลาดคู่ FTA ที่ขยายตัวต่อเนื่อง เช่น ญี่ปุ่น เพิ่ม 22.7% ชิลี เพิ่ม 96.7% เปรู เพิ่ม 183.1% จีน เพิ่ม 25.7% กัมพูชา เพิ่ม 11.9% และฟิลิปปินส์ เพิ่ม 138.1%

ทั้งนี้ เมื่อเจาะลึกการส่งออกสินค้าปลากระป๋องและแปรรูปไปตลาดคู่ FTA พบว่า ปลาทูน่ากระป๋อง เพิ่ม 17.2% คิดเป็นสัดส่วน 51.6% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดไปตลาดคู่ FTA ปลาแปรรูป เช่น ปลาทูน่าที่ทำให้สุกแล้ว คาร์เวียร์ ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน และปลาแมคเคอเรล เพิ่ม 18.2% สัดส่วน 32.6% ปลาซาร์ดีนกระป๋อง เพิ่ม 8.4% สัดส่วน 4.6% และปลากระป๋องอื่นๆ เพิ่ม 6.2% สัดส่วน 11.1%

ส่วนในปี 2565 ที่ผ่านมา ไทยส่งออกปลากระป๋องและแปรรูปไปตลาดคู่ FTA มูลค่า 931.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 4.6% ตลาดส่งออกสำคัญ เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ชิลี และเกาหลีใต้ เป็นต้น

ปัจจุบันไทยมี FTA กับคู่ค้า 18 ประเทศ โดยคู่ค้า 15 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู และฮ่องกง ได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าปลากระป๋องและแปรรูปจากไทยทุกรายการแล้ว เหลือเพียง 3 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ที่ลดภาษีนำเข้าสินค้าปลากระป๋องและแปรรูปบางส่วนให้ไทย เช่น ญี่ปุ่น เก็บภาษีนำเข้าปลาซาร์ดีน แมคเคอเรลกระป๋อง และไข่ของปลาค็อด อัตรา 5% เกาหลีใต้ เก็บภาษีนำเข้าปลาซาร์ดีนกระป๋อง อัตรา 16% ทูน่ากระป๋อง ทั้งแบบในน้ำมันและต้มสุกแล้ว อัตรา 20% ปลาไหลแปรรูป และฟิชเพสต์ อัตรา 5% และอินเดีย เก็บภาษีนำเข้าทูน่าทุกประเภท และคาร์เวียร์ อัตรา 30% และภายใต้ความตกลง RCEP เกาหลีใต้ จะทยอยลดภาษีนำเข้าทูน่าต้มสุกในกระป๋องให้ไทยจนเหลือศูนย์ในปี 2579

“ไทยมีศักยภาพการผลิตปลากระป๋องและแปรรูปเป็นยอมรับจากทั่วโลก จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่มีความต้องการสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น และไทยมี FTA จึงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การส่งออกสินค้าปลากระป๋องและแปรรูปของไทยขยายตัวต่อเนื่อง ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรใช้ประโยชน์จาก FTA เป็นเครื่องมือสร้างแต้มต่อขยายส่งออกสินค้าไปตลาดต่างประเทศ” นางอรมนกล่าว

‘Bitkub’ ร่วมประชุม ‘World Economic Forum 2023 ครั้งที่ 14’ แลกเปลี่ยนแนวคิดธุรกิจ พา ‘สตาร์ตอัปไทย’ ก้าวไกลสู่เวทีโลก

(16 ก.ค. 66) เป็นความภาคภูมิใจของวงการสตาร์ตอัปไทยอีกครั้ง เมื่อ Bitkub, Wisesight และ a-commerce ได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก ‘World Economic Forum 2023’ หรือ Summer Davos Forum ครั้งที่ 14 ณ เมืองเทียนจิน สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 27-29 มิถุนายน 2566 อย่างเป็นทางการ โดยคุณท๊อป จิรายุส ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ได้ขึ้นเวทีแสดงวิสัยทัศน์เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจร่วมกับผู้นำระดับโลกด้วย

การประชุม ‘World Economic Forum 2023’ หรือ Summer Davos Forum ครั้งที่ 14 ณ เมืองเทียนจิน สาธารณรัฐประชาชนจีนในครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้ธีม “ผู้ประกอบการยุคใหม่กับพลวัตในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมทั้งระดับผู้นำภาคการเมืองของแต่ละประเทศ ผู้บริหารระดับสูงจากภาคธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ องค์การระหว่างประเทศ นักวิชาการจากทั่วโลก และภาคประชาสังคม จำนวนกว่า 1,500 คนทั่วโลก เพื่อหารือแนวทางหรือจุดยืนในการกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาในระดับระหว่างประเทศ ตลอดจนเสนอแนะแนวทางให้กับผู้ประกอบการในสายงานต่าง ๆ รวมไปถึงการสำรวจแนวทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนและเอเชียอย่างยั่งยืน

Bitkub ซึ่งเป็นสมาชิกสมาคม Thai Startup ในฐานะหนึ่งในสมาชิก World Economic Forum ด้วยจึงได้รับสิทธิ์ในการเชิญบริษัทสตาร์ตอัปไทยชั้นนำ เข้าร่วมการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก ‘World Economic Forum 2023’ หรือ Summer Davos Forum ครั้งที่ 14 ที่ผ่านมา จึงได้ประสานกับสมาคม Thai Startup เพื่อร่วมกันสนับสนุนสตาร์ตอัปไทยสู่เวทีโลก โดยรอบนี้ได้เชิญคุณกล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) (Wisesight) และคุณวีระพงษ์ ศรีวรกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท เอคอมเมิร์ซ จำกัด (มหาชน) (ACOM) เพื่อพบปะพูดคุยกับ ผู้นำภาคการเมืองของแต่ละประเทศ ผู้บริหารระดับสูงจากภาคธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ องค์การระหว่างประเทศ นักวิชาการจากทั่วโลก และภาคประชาสังคม  เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหารือร่วมกันถึงมุมมองของอนาคตทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ภายในงาน ‘ท๊อป จิรายุส’ ในฐานะนักธุรกิจจากประเทศไทยและผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจดิจิทัล และหนึ่งในสมาชิกสมาคม Thai Startup ยังได้ขึ้นแสดงวิสัยทัศน์ในหัวข้อ ‘Education Disrupt-Ed’ และ ‘Beyond the Hype: Non-Fungible Tokens for Business’ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากนานาชาติ ซึ่งการเข้าร่วมงานในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญที่สตาร์ตอัปจากประเทศไทยได้ขึ้นแสดงวิสัยทัศน์บนเวทีระดับโลก

‘รถไฟฟ้าสายสีชมพู’ เตรียมเปิดให้บริการ 32 สถานี ปลายปีนี้ ขึ้นแท่นโมโนเรลที่มีระยะทางยาวเป็นอันดับ 2 ของโลก!!

(16 ก.ค. 66) รถไฟฟ้า MRT สายสีชมพู เป็นรถไฟ Monorail อีกสายหนึ่งที่กำลังจะเปิดให้บริการในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งความรู้สึกในการโดยสารก็คงไม่ต่างจาก รถไฟเหาะสายสีเหลืองมากนัก แต่ด้วยความที่สายสีชมพูมีเส้นทางที่ยาวมาก ตลอดสายมีสถานีทั้งหมด 30 สถานี มีเส้นทางแยกเข้าเมืองทองธานีอีก 2 สถานี รวมเป็น 32 สถานี ระยะทางรวมทั้งสายประมาณ 34.5 กิโลเมตร ซึ่งหากเปิดให้บริการเมื่อไหร่ สายสีชมพูจะครองตำแหน่ง ‘รถไฟรางเดี่ยว (Monorail) ที่มีระยะทางยาวเป็นอันดับ 2 ของโลก’ ทันที เป็นรองแค่ Chongqing Monorail Line 3 ที่มีระยะทาง 66 กิโลเมตรเท่านั้น พี่จะเป็นโมโนเรลที่ ‘ยาว ไป ไหน’

‘อ.พงษ์ภาณุ’ ฟันธง!! ไทยควรถึงเวลาปฏิรูปภาษี ขยายฐานภาษีเงินได้นิติบุคคล-เก็บภาษีปล่อยคาร์บอน

(16 ก.ค. 66) ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ ‘Easy Econ’ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็นการปฏิรูปการคลัง (Fiscal Reform) ของไทยในปัจจุบันเป็นอย่างไร

โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า นโยบายการคลัง คือนโยบายที่ว่าด้วยการใช้จ่ายเงินภาครัฐที่มาจากการเก็บภาษีอากร และการก่อหนี้สาธารณะหากเก็บรายได้ได้ไม่เพียงพอ นโยบายการคลังอยู่ในอำนาจของฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะเชื่อว่าความต้องการของประชาชนได้รับการสะท้อนผ่านการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย

จึงไม่น่าแปลกใจว่าภาวะการคลังของเกือบทุกประเทศทั่วโลกอยู่ในฐานะขาดดุล เพราะฝ่ายการเมืองชอบที่จะใช้จ่ายมากกว่าหารายได้ โดยเฉพาะหลังจากสถานการณ์โควิด 19 ทุกประเทศรวมทั้งไทย ที่มีฐานะการคลังที่อ่อนแอลงอย่างมาก รัฐบาลไทยขาดดุลการคลังปีละ 5-6% ของ GDP และมีหนี้สาธารณะที่ระดับ 62% ของ GDP ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในประวัติศาสตร์การคลังไทย

ในสถานการณ์ปกติ ฐานะการคลังดังกล่าวถือว่าบริหารจัดการได้ แต่ในภาวะที่ดอกเบี้ยอยู่ระดับสูง สังคมสูงอายุ ความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายด้านการทหารและลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับมาตรการลดภาวะโลกร้อน ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยความเสี่ยงทางการคลังที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงเป็นจังหวะเหมาะสมที่จะทำการปฏิรูปการคลังอย่างจริงจัง

ในด้านรายได้ ถึงเวลาที่จะต้องทำการปฏิรูปภาษีอากรครั้งใหญ่ หลังจากที่ทำครั้งสุดท้ายเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว รายได้ภาษีอากรมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับเพียง 13% ของ GDP เพราะฐานภาษีสึกกร่อนจากการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิตอล (Digitalization) แนวโน้มดังกล่าวยังความจำเป็นต้องเพิ่มรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม (โดยปรับอัตรา) ขยายฐานภาษีเงินได้นิติบุคคล ยกเลิกการยกเว้นลดหย่อนภาษี เพื่อส่งเสริมการลงทุน และเก็บภาษีจากการปล่อยคาร์บอน

ในด้านรายจ่าย มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องปรับโครงสร้างการใช้จ่ายเพื่อดูแลสังคมสูงอายุทั้งในด้านความเพียงพอ ตรงเป้า และยั่งยืน การลงทุนภาครัฐ ซึ่งมีความล่าช้าและการรั่วไหลในการดำเนินการและการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ ก็จะต้องมีการรื้อกฎระเบียบเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ รวมทั้งการสนับสนุนให้มีการร่วมลงทุนในลักษณะ PPP (Public Private. Partnership) มากขึ้น

โดยสรุปแล้ว นโยบายการคลังด้านภาษีมีความสำคัญในการปรับโครงสร้าง เพื่อให้ภาครัฐมีรายได้สอดคล้องกับนโยบายในการบริหารประเทศที่ต้องนำไปพัฒนาในด้านต่างๆ ต่อไป 

BLC แต่งตัวเข้าตลาดฯ ผงาดรุกต่างประเทศ หนุนรายได้แตะ 2,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี

สำนักข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ ภก.สุวิทย์ งามภูพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด (มหาชน) หรือ BLC ซึ่งได้นำพาองค์กรผู้ผลิตยาของคนไทยโลดแล่นสู่ตลาดหลักทรัพย์เป็นบริษัทมหาชนเป็นที่เรียบร้อย สร้างความภาคภูมิใจในแวดวงอุตสาหกรรมยาเป็นอย่างมาก

โดย ภก.สุวิทย์ กล่าวในภาพรวมว่า อุตสาหกรรมยาในปัจจุบันยังเป็นเรื่องน่าสนใจ เนื่องจากเป็นเรื่องความมั่นคงทางด้านสุขภาพ โดยอุตสาหกรรมยาเมืองไทยในปัจจุบัน มีมูลค่าเกือบ 2 แสนล้านบาท โดยมากกว่าครึ่งเป็นบริษัทยาข้ามชาติ ที่เหลือเป็นบริษัทยาไทย

ทั้งนี้สัดส่วนทางการตลาดสามารถแบ่งได้ดังนี้ 60% เป็นตลาดของโรงพยาบาลรัฐ / 20% เป็นตลาดของโรงพยาบาลเอกชน และอีก 20% เป็นตลาดของร้านขายยา โดยปัจจุบันมีการทำตลาด Modern Trade รวมถึง e-Commerce มากขึ้น จนส่งผลให้อุตสาหกรรมนี้มีศักยภาพสูงและมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก

นอกจากนี้ หากลงไปในรายละเอียด จะพบว่า ยาแผนปัจจุบัน กลุ่มยาสามัญประจำบ้าน เช่น พาราเซตามอล มีการแข่งขันสูง รองลงมาคือ ตลาดยาใหม่ ได้แก่ ยาที่บริษัทข้ามชาติจะหมดสิทธิบัตร ซึ่งหากใครสามารถพัฒนายาใหม่เหล่านี้ได้ ก็สามารถครองตลาดได้ไม่ยากนัก 

ส่วนกลุ่มยาสามัญใหม่ก็มีมูลค่าการตลาดค่อนข้างสูง เช่น ยาเบาหวาน ซึ่งบริษัทข้ามชาติมีการพัฒนายาตัวใหม่ หรือที่เรียกว่า ยา Original ซึ่งจะมีราคาแพง ขณะที่บริษัทยาในประเทศส่วนใหญ่นั้น หากหมดสิทธิบัตรเมื่อไหร่ แล้วสามารถพัฒนาได้ก็จะกลายเป็นผู้นำตลาดได้เช่นกัน ซึ่ง BLC มองเห็นประเด็นนี้เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว จึงตั้งศูนย์วิจัยขึ้นมาเพื่อพัฒนา ยา Original โดยปัจจุบันสามารถผลิตได้ 2-3 ผลิตภัณฑ์ เนื่องจาก BLC มีความพร้อมทุกด้านอยู่แล้ว แต่ถ้ามีเงินทุนเข้ามามากขึ้น ก็สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ได้มากถึงปีละ 10 ผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะกลุ่มยาสมุนไพรนวัตกรรมมีโอกาสเติบโตสูงมาก

สำหรับส่วนแบ่งการตลาดของบริษัทยา ทาง BLC มองว่าเป็นเรื่องที่แปลก เพราะยังไม่มีใครเป็นเจ้าตลาด ซึ่ง BLC เอง มียอดขายในปี พ.ศ. 2565 อยู่ที่ประมาณ 1,300 ล้านบาท ซึ่งถือว่ายังน้อยมากในตลาดภาพรวม โดย BLC มีความชำนาญอย่างมากในด้านการผลิตยากลุ่มกระดูกและข้อ และกลุ่มยาผิวหนัง 

ส่วนทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมยา BLC มองว่า มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่อาจโตไม่มากนัก ประมาณ 7% 

"เรามองการเติบโตเป็นช่วงๆ อย่างในยุคแรก ช่วงปี ค.ศ. 1990-2000 เรามองในเรื่องระบบคุณภาพ ว่าทำอย่างไรให้โรงงานยาเป็นที่ยอมรับ มีมาตรฐานสูงสุด ส่วน 10 ปีต่อมา เรามองว่า BLC จะเป็นบริษัทยาที่แข่งขันกับบริษัทข้ามชาติได้อย่างไร โดยมีมุมมองในรูปแบบของ Business Model สร้างความเชี่ยวชาญตอบรับกลุ่มลูกค้า ซึ่งเป็นโมเดลที่ทำให้ BLC เจริญเติบโตมาถึงปัจจุบัน ส่วนอีก 10 ปีต่อมา BLC เราเน้นเรื่องการพัฒนานวัตกรรม มีการตั้งศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนายาต้นแบบ ซึ่งเรานำงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยต่างๆ มาศึกษาพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีการผลิตยาแผนปัจจุบัน ไปพัฒนายาจากสมุนไพร ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ยาที่พัฒนามาจากสมุนไพร เทียบเท่ายาแผนปัจจุบัน และมีการส่งออกไปต่างประเทศมากมาย ส่วนปัจจุบัน BLC เรามองเรื่องสร้างการเจริญเติบอย่างยั่งยืนอย่างไร โดยเน้นสร้างพันธมิตรธุรกิจยาระหว่างประเทศมากขึ้น" ภก.สุวิทย์ กล่าว

เมื่อถามถึง BLC กับเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้วจะมีกลยุทธ์อย่างไร? ภก.สุวิทย์ กล่าวว่า ธุรกิจยาเป็นธุรกิจกระแสหลักของโลก BLC มีกลยุทธ์ดังนี้...

1. สร้างโรงงาน 2. พัฒนาสินค้าใหม่ 3. หาพันธมิตรทางการค้า จากต่างประเทศ และสร้าง Business Model ที่สร้างการเจริญเติบโตได้ พร้อมผลิตยาให้กับบริษัทยาจากต่างประเทศได้

"ตอนนี้ประเทศไทยเรายังไม่สามารถผลิตตัวยาสำคัญได้ เราควรที่จะมียาของตนเอง โดยการนำสมุนไพรมาพัฒนา ส่วนเคมีคอลจะทำอย่างไรให้เมืองไทยผลิตตัวยาสำคัญได้ หรือผลิตวัตถุดิบหลักทางยาได้ ภาครัฐควรให้การสนับสนุน และสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศมากขึ้น โดยเราให้ความสำคัญ Trusted Solutions for Lifelong Well-Being หมายถึง การดำเนินธุรกิจเริ่มตั้งแต่วัตถุดิบหลัก ผลิต พัฒนาและวิจัย แล้วทำการตลาดให้แพทย์และเภสัชกรเป็นที่รู้จัก" ภก.สุวิทย์ เสริม

ด้านการทำตลาดของ BLC หลังเข้าตลาดฯ ได้วางแผนไว้ 2 ระยะ คือ ระยะแรก จะขยายช่องทางจำหน่ายไปยังต่างประเทศ โดยวางเป้าหมายการเติบโตปีหนึ่งมากกว่า 200 ล้านบาท ส่วนระยะต่อมาจะมีการสร้างโรงงานที่ทันสมัยที่สุดในประเทศ เพื่อให้ผลิตยาที่มีคุณภาพในต้นทุนที่ถูก ซึ่งขณะนี้โรงงานได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เพื่อให้เกิดการแข่งขันในอุตสาหกรรมยาในไทย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับบริษัทต่างชาติได้แล้ว

สำหรับยอดขายของ BLC ในปัจจุบันนั้น 60% -70% เป็นกลุ่มยา รองลงมาคือกลุ่มเวชสำอาง และผลิตภัณฑ์สมุนไพร อาหารเสริมตามลำดับ ซึ่งในส่วนของ BLC มีการทำตลาดด้านเวชสำอาง อาหารเสริม ที่มีความแตกต่างไม่เหมือนใคร เนื่องจากนำสมุนไพรที่มีการจดสิทธิบัตรของบริษัทฯ มีงานวิจัยรองรับ มาพัฒนาและผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ ทำให้เกิดความแตกต่างและมีประสิทธิภาพสูงด้วยนวัตกรรม

ส่วนเป้าหมายของ BLC ต่อจากนี้ ภก.สุวิทย์ เชื่อว่า จะโตอย่างน้อยเฉลี่ย 10% ภายใน 3 ปีนี้ เป็น Organic Growth และจากนั้นก็จะเป็น New S-Curve หลังจากโรงงานเราเสร็จ คาดยอดขายแตะ 2,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี คิดเป็นกำไรเติบโต 10-20%

ท้ายสุด ภก.สุวิทย์ กล่าวว่า "ในฐานะที่จบเภสัชกรมาก็อยากสร้างแรงบันดาลใจให้น้องๆ เภสัชกร ว่าเราสามารถทำอย่างไรให้ยาของเมืองไทย เป็นที่ยอมรับอย่างน้อยก็ใน CLMV ระดับอาเซียน หรือระดับสากล โดยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน BLC เป็นที่ฝึกงานของน้อง ๆ เภสัชกร กว่า 15 สถาบัน มาร่วม 20 ปีแล้ว เนื่องจากโรงงานผลิตยาในเมืองไทยมีไม่มาก และ BLC เห็นความสำคัญตรงนี้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมยาของไทยอย่างยั่งยืนต่อไป"

‘De-BUGs’ สารกำจัดแมลงจากเปลือกไข่ ไร้อันตรายต่อเด็ก คว้า ‘เหรียญทอง’ จากงานประกวดนวัตกรรมที่ญี่ปุ่น

เป็นหน้าเป็นตาอีกแล้วกับผลงานนวัตกรรมของคนไทยอย่าง ‘De-BUGs’ นวัตกรรมสารกำจัดแมลงอินทรีย์แปรรูปจากเปลือกไข่ ซึ่งคณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับทุนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อแปรรูปและเพิ่มมูลค่าของเสียจากภาคอุตสาหกรรมให้เป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมรักษ์โลก ภายใต้แนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG 

โดยการเปลี่ยนโปรตีนเยื่อเปลือกไข่ให้เป็นสารออกฤทธิ์กำจัดแมลงศัตรูพืชประสิทธิภาพสูงด้วยกระบวนการผลิตที่ไม่สร้างของเสีย (Zero-waste Process) เป็นสารอินทรีย์ 100% นอกจากจะทำหน้าที่กำจัดศัตรูพืชแล้ว De-BUGs สลายตัวตามธรรมชาติกลายเป็นแคลเซียม ธาตุอาหารรองสำหรับพืชทุกชนิด เป็นนวัตกรรมเพื่อเกษตรอินทรีย์ ที่มีประสิทธิภาพป้องกันและกำจัดเพลี้ย ไล่มดและหอยทาก 

ใช้ได้กับผักสวนครัว ไม้ดอก ไม้ประดับ ผลไม้ และ พืชไร่ ไม่ต้องกังวลเรื่องการตกค้างและอันตรายจากสารเคมีสำหรับเด็กและสัตว์เลี้ยง เนื่องจากการฉีดพ่นสารแขวนลอย De-BUGs ความเข้มข้น 0.5% สามารถสร้างความเสียหายแก่ protective wax ของเพลี้ยแป้งภายในเวลา 15 นาที และทำให้เพลี้ยแป้งเป็นอัมพาตภายใน 60 นาที หลังจากนั้น 1 วัน เพลี้ยแป้งที่สัมผัส De-BUGs  จะตายทั้งหมด 

คณะนักวิจัยมีความพร้อมเผยแพร่นวัตกรรมนี้สู่การใช้งานจริงกับเกษตรกรและผู้รักสุขภาพที่ปลูกผักปลอดสารพิษ พร้อมกันนี้ นักวิจัยได้ออกแบบระบบการผลิตแบบ Nano-Factory สำหรับการผลิต De-BUGs จากเปลือกไข่ใช้เองในครัวเรือน โดยใช้อุปกรณ์ในห้องครัวเป็นเครื่องมือผลิต นวัตกรรมนี้ได้รับรางวัลเหรียญทอง (Gold Medal) และ WIIPA Special Award สาขาการเกษตร ในงานประกวดและแสดงนวัตกรรมระดับนานาชาติ JDIE 2023 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

จุดหมายที่ใครก็อยากมา!! ไทย ติดอันดับ 6 ต่างชาติอยากย้ายมาทำงานมากสุด ชี้ ที่พักไม่แพง - อาหารถูกใจ แต่กังวลด้านสิ่งแวดล้อม

รายงาน Expat Insider 2023 จัดให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าอยู่และเหมาะให้ชาวต่างชาติมาทำงานมากที่สุดในโลก โดยประเทศไทยจัดอยู่ในลำดับที่ 6 ขยับขึ้นมาจากปีที่แล้ว ที่อยู่ในอันดับ 8 จากทั้งหมด 53 ประเทศ

สำหรับ 10 จุดหมายปลายทางน่าอยู่และเหมาะทำงานมากที่สุดในโลก ในปี 2023 ได้แก่
1.เม็กซิโก
2.สเปน
3.ปานามา
4.มาเลเซีย
5.ไต้หวัน
6.ไทย
7.คอสตาริกา
8.ฟิลิปปินส์
9.บาห์เรน
10.โปรตุเกส

เกณฑ์การจัดลำดับของ Expat Insider 2023 จะพิจารณาจาก 5 ดัชนี ได้แก่ ดัชนีคุณภาพชีวิต ดัชนีความสะดวกในการย้ายถิ่นฐาน ดัชนีการทำงานในต่างประเทศ ดัชนีการเงินส่วนบุคคล และดัชนีสิ่งที่จำเป็นสำหรับชาวต่างชาติ ซึ่งครอบคลุมเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย การติดต่อราชการ ภาษา และชีวิตดิจิทัล

สำหรับประเทศไทย Expat Insider ระบุว่า ดัชนีคุณภาพชีวิตของไทยอยู่ลำดับที่ 37 ดัชนีความสะดวกสบายในการเข้าพักอยู่ลำดับที่ 11 ดัชนีการทำงานในต่างประเทศอยู่ลำดับที่ 39 ดัชนีการเงินส่วนบุคคลอยู่ลำดับที่ 4 และดัชนีสิ่งที่จำเป็นสำหรับชาวต่างชาติอยู่ลำดับที่ 18

หวั่นซ้ำรอย STARK!! ตลท. ขอให้ ‘NUSA’ แจงงบการเงิน Q1/66 หลังผู้สอบบัญชีพบข้อสังเกตการซื้อโรงแรมในเยอรมนี

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ขอให้ บมจ.ณุศาศิริ (NUSA) ชี้แจงข้อมูลในงบการเงินไตรมาสที่ 1/66 ซึ่งผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นแบบมีเงื่อนไขและมีข้อสังเกต เนื่องจากความซับซ้อนของการจัดโครงสร้างของผู้ขายโรงแรม รวมถึงสิทธิเครื่องหมายทางการค้าและใบอนุญาตต่าง ๆ ในประเทศเยอรมนี ภายใน 25 ก.ค. 66 ทั้งนี้ผู้ตรวจสอบบัญชีได้ตั้งข้อสังเกตดังกล่าวตั้งแต่งบการเงินปี 64

▪️ ประเด็นที่ตลาดหลักทรัพย์ ต้องการให้ NUSA ชี้แจงมีดังต่อไปนี้

1. NUSA แจ้งรายการเข้าซื้อโรงแรมที่เยอรมนี เดือน ม.ค. 64 ซึ่งอยู่ระหว่างขอใบอนุญาต ต่อมาในงบการเงินไตรมาสที่ 3/65 ได้เปลี่ยนเป็นการซื้อหุ้นแทน โดยจ่ายเงินมัดจำให้ผู้ขายแล้ว 624 ล้านบาท (84% ของราคาซื้อ) การก่อสร้างให้แล้วเสร็จเลื่อนจากปี 66 เป็นปี 67

2. ให้ NUSA ชี้แจงเหตุผล การขยายเวลาคืนเงินเพิ่มทุนและเงินมัดจำ มาตรการดำเนินการเพื่อให้ได้รับคืนเงินดังกล่าวเมื่อครบกำหนดเวลาที่ขยาย รวมทั้งผลกระทบต่อสภาพคล่องของกลุ่มบริษัท จากกรณีการลงทุนในบริษัท มอร์ มันนี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มอร์ มันนี่) 30% (ผู้ถือหุ้นอีก 50% คือ บริษัทย่อยของบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) (MORE)) เพราะได้วางเงินมัดจำให้แก่มอร์มันนี่ ต่อมาบริษัทได้ยกเลิกการร่วมลงทุน และขายหุ้นมอร์มันนี่ โดยได้โอนกรรมสิทธิในหุ้นดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อแล้ว แต่ยังไม่ได้รับชำระค่าขายรวม 57.5 ล้านบาท ออกไปอีก 90 วัน 

3. ความสามารถของกลุ่มบริษัทในการดำเนินงาน เนื่องจากขาดทุนต่อเนื่องมาหลายปีผู้สอบบัญชีได้ให้ข้อสังเกต ณ สิ้นไตรมาสที่ 1/66 กลุ่มบริษัทมีหนี้สินสำคัญ คือ เจ้าหนี้ค่างานก่อสร้างของบริษัท ณุศา เลเจนด์ สยาม จำกัด (ณุศา เลเจนด์) รวม 1,723 ล้านบาท ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ชี้แจงความคืบหน้าของข้อพิพาทดังกล่าว รวมถึงผลกระทบต่อเหตุผิดนัดในมูลหนี้อื่นของบริษัท เช่น หนี้หุ้นกู้ เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน เป็นต้น

‘นักธุรกิจไทย’ โกยยอดขาย ‘ตลาดนัดกลางคืน’ ในไหหลำ ปักหมุดแลนด์มาร์กแห่งใหม่ สวรรค์ของนักท่องเที่ยวขาชอป

เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 66 สำนักข่าวซินหัว, ไห่โข่ว รายงานว่า ยามย่ำสู่ค่ำคืนหลังอาทิตย์ลาลับขอบฟ้า ตลาดนัดวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ ‘ไป๋ซา เหมิน’ ในนครไห่โข่ว เมืองเอกของมณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ทางตอนใต้ของจีน กลับมีบรรยากาศคึกคักด้วยทัพนักท่องเที่ยวเดินจับจ่ายซื้อของกันอย่างเพลิดเพลิน

ตลาดนัดกลางคืนไป๋ซาเหมินตั้งอยู่บนพื้นที่ราว 60,000 ตารางเมตร เพิ่งเปิดต้อนรับผู้คนเมื่อราวหนึ่งเดือนก่อนด้วยแผงขายของกินและงานฝีมือทางวัฒนธรรมมากกว่า 600 แผง ซึ่งจากแผงขายของกินทั้งหมด 300 แผง เป็นของพ่อค้าแม่ขายชาวไทยมากกว่า 160 แผง

บรรดาคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวทยอยเดินทางมาเยือนตลาดนัดกลางคืนแห่งนี้ ที่กลายเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมแห่งใหม่ของไห่โข่วกันอย่างไม่ขาดสาย โดยมีนักท่องเที่ยวตบเท้าเข้าเดินซื้อของสูงถึงราว 800,000 คน ในช่วง 20 วันแรกของการเปิดตลาด

อริณธารัตน์ เทพวรรณ เจ้าของแผงขายอาหารไทยอย่างผัดไท ต้มยำกุ้ง และหมูกรอบ จำนวน 4 แผง สาละวนอยู่กับการทักทายลูกค้ามากหน้าหลายตา โดยเขาเผยว่า ยอดขายเฉลี่ยอยู่ที่ราว 1,000-2,000 หยวน (ราว 5,000-10,000 บาท) ต่อวันต่อแผง

เดิมที อริณธารัตน์ทำธุรกิจคลินิกเสริมความงามในไทย และธุรกิจนำเข้าสินค้าจากจีนมานานกว่า 18 ปี จนกระทั่งราวสามเดือนก่อน เขาได้ยินข่าวว่า ไห่หนานจะเปิดตลาดนานาชาติสำหรับนักท่องเที่ยวจีนและต่างชาติ ซึ่งทำให้เขาสนใจและเริ่มพูดคุยกับเพื่อนในไทย

อริณธารัตน์บอกว่า พอรู้จักตลาดจีนมีขนาดใหญ่และคิดว่าเป็นโอกาสดีทางธุรกิจ จึงตัดสินใจมาเปิดแผงขายอาหารที่นี่ โดยแม้เขาไม่มีความรู้เกี่ยวกับไห่หนาน แต่เคยเดินทางไปหลายเมืองของจีน เช่น กว่างโจว เซี่ยเหมิน เซี่ยงไฮ้ และปักกิ่ง เลยคิดว่าไห่หนานน่าจะเหมือนและเป็นตลาดใหญ่เช่นกัน

“ผมได้ยินว่า ไห่หนานเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวจากจีนและประเทศอื่น ๆ และวันแรกที่มาถึงที่นี่ ผมรู้สึกว่าเหมือนอยู่กรุงเทพฯ เลย ทำให้คิดว่าเลือกถูกแล้ว” อริณธารัตน์กล่าว พร้อมแสดงความหวังว่าตลาดแห่งนี้จะโด่งดังในจีน และทั่วโลกจนกลายเป็นแลนด์มาร์กห้ามพลาด

ด้าน อภิญญา ฉัติทิวาพร วัย 27 ปี ซึ่งทำธุรกิจเบเกอรีในไทย เจ้าของแผงขายชาไทยหลากหลายเมนูที่ตลาดนัดกลางคืนไป๋ซาเหมิน เผยว่าเธอตั้งใจมาสั่งสมประสบการณ์และเสาะหาโอกาสใหม่ในตลาดแห่งนี้ที่มีขนาดใหญ่มาก ทิวทัศน์สวยงาม ผู้คนเป็นมิตร และอากาศดี

กิตติศักดิ์ โอสถานันต์กุล ผู้จัดการกลุ่มผู้ค้าชาวไทยของตลาดนัดกลางคืนไป๋ซาเหมิน เปิดแผงขายอาหารของตัวเอง พร้อมกับช่วยเหลือผู้ค้าชาวไทยคนอื่นๆ ตั้งแต่งานเอกสาร การขอวีซ่า จนถึงหาที่พักอาศัย โดยเขามองว่าการทำธุรกิจที่ตลาดแห่งนี้เป็นโอกาสใหม่ในการบุกตลาดจีน

แม้การท่องเที่ยวของไห่หนานจะผันผวนตามฤดูกาล แต่กิตติศักดิ์ยังคงมองเชิงบวกและเฝ้ารอฤดูท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวจะแห่แหนกันมาที่นี่ รวมถึงวาดหวังขยับขยายธุรกิจไปยังการเปิดร้านนวดแผนไทยหรือร้านอาหารไทยในอนาคตข้างหน้าด้วย

เจิ้งซือซือ นักท่องเที่ยวจากมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ทางตอนใต้ของจีน กล่าวว่าอาหารไทยที่ตลาดนัดแห่งนี้มีรสชาติเหมือนต้นตำรับ พอเจอคนขายที่พูดภาษาไทยก็เหมือนอยู่ประเทศไทย ที่นี่มอบประสบการณ์ยอดเยี่ยม และเดินเที่ยวเล่นได้อย่างสนุก


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top