Sunday, 5 May 2024
COLUMNIST

พระแก้วมรกต ถูกอัญเชิญออกจากที่ประดิษฐานกี่ครั้ง ครั้นสมัยรัตนโกสินทร์ และด้วยเหตุอันใด

ในช่วงสักเดือนกว่า ๆ มานี้ ผมได้พูดคุยและสัมภาษณ์นักวิชาการหลายต่อหลายท่านในเรื่อง ‘เมืองมรดกโลกเมืองศรีเทพ’ จังหวัดเพชรบูรณ์ แต่ในระหว่างที่พูดคุยผมก็เกิดนึกถึงเรื่องอื่น ๆ ของจังหวัดเพชรบูรณ์ไปด้วย โดยเฉพาะเรื่องของการตั้งนครบาลเพชรบูรณ์เป็นเมืองหลวงใหม่เพื่อหนีสงคราม และเรื่องการขนทรัพย์สินอันมีค่าหลาย ๆ อย่างของชาติไปเตรียมไว้ ณ ถ้ำฤาษีสมบัติ ซึ่งทรัพย์สินมีค่านั้น มี ‘พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร’ หรือ ‘พระแก้วมรกต’ รวมอยู่ด้วย 

การอัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐาน ณ สถานที่ต่าง ๆ เคยเกิดขึ้นนับเนื่องเป็นร้อย ๆ ปีแล้ว ผมไม่ขอเล่าซ้ำ แต่ถ้าจำเพาะมาในยุครัตนโกสินทร์ของเรานี้ ‘พระแก้วมรกต’ เคยถูกอัญเชิญออกจากที่ประดิษฐานภายในพระอุโบสถ ‘วัดพระศรีรัตนศาสดาราม’ สักกี่ครั้ง? เคยถูกอัญเชิญออกจากพระบรมมหาราชวังสักกี่ครา? เรื่องนี้แหละ ที่ผมกำลังจะเล่าให้อ่านเพลิน ๆ กัน 

ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ‘พระแก้วมรกต’ นั้นแกะสลักมาจากแท่งหินหยกทั้งก้อน ซึ่งไม่ได้มีแต่เพียงองค์พระที่เราเห็นเพียงอย่างเดียว แต่ด้านล่างขององค์พระที่ไม่ได้แกะสลักนั้น เป็นแท่งหินขนาดกว้างใกล้เคียงกับองค์พระคือประมาณ ๔๘ เซนติเมตร ลึกลงไปประมาณ ๒๙ เซนติเมตร สวมลงไปในฐานกลีบบัวคว่ำบัวหงายที่มีทองคำหุ้มอยู่ ถ้าจะอัญเชิญไปไหนก็ต้องเป็นการเฉพาะ เพราะไม่สามารถนำไปตั้งบนพื้นเรียบ ๆ ได้เลย 

การอัญเชิญ ‘พระแก้วมรกต’ ออกจากที่ประดิษฐานภายในพระอุโบสถแต่ไม่ได้นำออกจากพระบรมมหาราชวังนั้นเกิดขึ้นทั้งสิ้น ๕ ครั้ง ดังนี้...

ครั้งแรก ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มความสูงของบุษบกโดยนำพระแท่นเบญจาสามชั้นหุ้มด้วยทองคำ ที่เคยใช้ประดิษฐานรองรับพระบรมโกศ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ มาถวายเป็นพุทธบูชา เสริมหนุนองค์บุษบกที่ทรงพระแก้วมรกตให้สูงขึ้นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

ครั้งที่สอง ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง ‘พระพุทธปรางค์ปราสาท’ เพื่อประดิษฐานพระแก้วมรกตในปีพ.ศ. ๒๓๙๘ ครั้นก่อสร้างแล้วเสร็จในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระองค์มีพระบรมราชวินิจฉัยว่าปราสาทแห่งนี้มีขนาดเล็กไม่เพียงพอแก่การพระราชพิธีต่าง ๆ จึงนำไปประดิษฐานไว้ภายในพระอุโบสถตามเดิม พระพุทธปรางค์ปราสาทนี้คือ ‘ปราสาทพระเทพบิดร’ นั่นเอง 

ครั้งที่สาม ในปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ คือในปี พ.ศ. ๒๔๔๖ เกิดไฟไหม้พระพุทธปรางค์ปราสาทลุกลามไฟโหม เกรงไฟจะไหม้พระอุโบสถวัดพระแก้วไปด้วย จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐาน ณ พระมหามณเฑียร ชั่วคราว 

ครั้งที่สี่ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ในโอกาสครบ ๑๕๐ ปีแห่งการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ในปีพ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งเป็นครั้งที่ ๓ ตามรอบการบูรณะคือ ๕๐ ปี จะบูรณะใหญ่ ๑ ครั้ง จึงได้มีการอัญเชิญพระแก้วมรกตออกจากที่ประดิษฐานและทำการถ่ายภาพองค์พระแก้วมรกตเป็นครั้งแรก 

ครั้งที่ห้า ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ในคราวบูรณะวัดพระแก้วครบ ๒๐๐ ปี ในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ มาแล้วเสร็จ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ซึ่งเป็นการบูรณะซ่อมแซมโครงสร้างบุษบก ซึ่งทรุดตามพื้นอุโบสถจึงต้องอัญเชิญองค์พระแก้วมรกตลงจากบุษบก โดย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นแม่กองบูรณปฏิสังขรณ์ใหญ่ในครั้งนั้น 

ส่วนการอัญเชิญ ‘พระแก้วมรกต’ ออกจากที่ประดิษฐานสู่ภายนอกนั้นมีสองเหตุการณ์ที่พอจะเล่าให้อ่านกันได้ ดังนี้...

เหตุการณ์แรก เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๖๓ ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ บ้านเมืองของเราได้เกิด “โรคห่า”ระบาด ผู้คนล้มตายไปกว่า ๓๐,๐๐๐ คน วัดต่างๆ มีซากศพของผู้ป่วยโรคห่าทับถมเหมือนกองฟืน ถนนเงียบไร้คนเดิน แม่น้ำก็ไม่สามารถดื่มกินเนื่องจากปนเปื้อน เพราะสมัยนั้นยังไม่รู้วิธีป้องกันหรือกำจัดโรคอย่างเป็นรูปธรรม 

รัชกาลที่ ๒ จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบ ‘พระราชพิธีอาพาธพินาศ’ เพื่อปลอบประโลมจิตใจราษฎรและเป็นการปัดรังควานแก่พระนคร ด้วยความเชื่อที่ว่า ‘ห่า’ คือผีร้ายที่ทำให้เกิดโรคระบาด ซึ่งพิธีดังกล่าวประกอบด้วย การยิงปืนใหญ่รอบพระนครตลอดคืนยันฟ้าสาง การอัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบรมสารีริกธาตุธาตุออกแห่ไปรอบพระนคร พระภิกษุทรงสมณศักดิ์ร่วมเจริญพระพุทธมนต์ โปรยทราย ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ทั้งทางบกและทางเรือ ในหลวงรัชกาลที่ ๒ ทรงรักษาศีล ทรงไถ่ชีวิตสัตว์ ทรงปล่อยนักโทษ ห้ามประชาชนฆ่าสัตว์ตัดชีวิตและให้อยู่แต่ในบ้าน ลดการติดต่อ เว้นระยะห่าง จนเชื้อลดลงและหายไปในที่สุด 

เหตุการณ์ที่สอง ซึ่งเล่ากันว่าเกิดขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ตรงกับช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ ‘พระแก้วมรกต’ ไม่ได้ถูกอัญเชิญออกจากที่ประดิษฐานโดยพระมหากษัตริย์ แต่ถูกอัญเชิญตามคำสั่งลับของนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งต้องการย้ายเมืองหลวงไปยังนครบาลเพชรบูรณ์เพื่อหนีสงคราม 

คำสั่งลับ ‘ปฏิบัติการทองคำ’ ระบุให้ ขนทรัพย์สินของชาติ ทองคำ และ ‘พระแก้วมรกต’ เพื่อหนีสงคราม ปฏิบัติการนี้ไม่มีการบันทึกหรือออกข่าวเป็นทางการ แต่กลับมีพบเห็นเหตุการณ์และบันทึกเรื่องราวที่สามารถปะติดปะต่อกันเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่การขนทรัพย์สินออกจากหัวลำโพงโดยทางรถไฟ จนกระทั่งไปถึงเพชรบูรณ์จึงต่อรถ และขนขึ้นเขาโดยเท้า ไปยัง ถ้ำฤาษี ต.บุ่งน้ำเต้า อ.หล่มสัก โดยอัญเชิญพระแก้วมรกต ใส่ลังไม้สักเดินทอง ขนาดกว้าง ๑ เมตร ยาว ๑.๕๐ เมตร 

ส่วนการอัญเชิญ ‘พระแก้วมรกต’ กลับกรุงเทพฯ เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ โดยเป็นเรื่องเล่าจากความทรงจำของ ‘พระอุดมญาณโมลี’ (หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป) ซึ่งท่านได้รับพระบัญชาจาก สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ให้ไปเป็นสักขีพยานอัญเชิญพระแก้วมรกตจากถ้ำแห่งหนึ่งที่เมืองเพชรบูรณ์กลับไปยังกรุงเทพมหานคร โดยท่านเล่าถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า...

“…การอัญเชิญพระแก้วมรกตในครั้งนี้มีทรัพย์สินอย่างอื่นด้วย คือ ทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ และสมบัติอื่น ๆ อันมีค่าของชาติ โดยมีพิธีการอัญเชิญ มีทหารยืนเข้าแถวเป็นระเบียบ ตั้งแถวเป็นแนวยาวรอรับ มีนายทหาร มีทหารฝรั่งต่างชาติด้วย และมีทหารผิวดำคล้าย ๆ ทหารจากแอฟริการ่วมในพิธีด้วย โดยการอัญเชิญกลับในครั้งนั้น บรรทุกเดินทางโดยขบวนรถยนต์ของทางการทหารกลับกรุงเทพฯ ซึ่งหลวงพ่อก็ไม่ได้กลับพร้อมขบวนรถนั้น โดยในระหว่างนั้นหลวงพ่อได้ไปพักที่วัดมหาธาตุ ในตัวเมืองเพชรบูรณ์ พักอยู่เป็นเวลาประมาณ ๗ วัน…” 

แม้ว่าหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรของเหตุการณ์ในครั้งนั้นไม่ได้มีบันทึกอยู่อย่างเป็นทางการ มีเพียงหนังสือแจ้งราชการทางทหารของ พันเอก หาญ อุดมสรยุทธ์ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการพื้นที่ จากพยานแวดล้อมที่เป็นชาวบ้าน ตอกย้ำด้วยคำบอกเล่าของพระเถระสายวิปัสสนากรรมฐานหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ก็น่าจะช่วยอนุมานเหตุการณ์ในครั้งนั้นได้พอสังเขป 

แต่อย่างไรก็ดี เราอาจจะต้องให้ความเป็นธรรมในเหตุการณ์ครั้งหลังสุด เพราะถือว่าเป็นเพียงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและประวัติศาสตร์กระซิบ ที่ยังคงต้องหาหลักฐานประกอบให้เกิดความเชื่อมากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อความกระจ่างชัดสมบูรณ์มากขึ้นต่อไป

หยุดอวดเครดิตทางสังคมด้วย ‘การสร้างหนี้’ เพราะ ศก.ยุคนี้ ‘ไม่มีหนี้ = ลาภอันประเสริฐ’

ความเชื่อที่กล่าวว่า การเป็นหนี้ เป็นการแสดงถึงการมีเครดิตที่ดี อาจใช้ไม่ได้กับสภาพเศรษฐกิจ และสังคมในยุคปัจจุบัน

เดือนมิถุนายน 2566 มีข้อมูลจาก บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ระบุว่าหนี้ครัวเรือนของไทย มีจำนวนสูงถึง 15.96 ล้านล้านบาท

สำหรับการกู้ยืมเงินระหว่างบุคคลกับบุคคล หรือ บุคคลกับสถาบันการเงิน อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน โดยการกู้ยืมเงินกันเกินกว่า 2,000 บาท หากมิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อผู้ยืมภายหลัง หากมีการผิดนัดชำระหนี้ เจ้าหนี้จะฟ้องร้องบังคับคดีกันไม่ได้

แต่หากมีการ ส่งข้อความทางแอปพลิเคชันต่าง ๆ มีข้อความการพูดคุย ยืมเงินกัน และสามารถระบุตัวตน ผู้ยืมได้ โดยเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีลักษณะ เข้าถึงได้ นำกลับมาใช้ได้ และความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ก็สามารถนำมาฟ้องร้องกันได้ 

ดอกเบี้ยในการกู้ยืมเงินกัน ห้ามคิดเกินร้อยละ 15 ต่อปี หรือร้อยละ 1.25 ต่อเดือน แต่หากเป็นสถาบันการเงิน อาจจะสามารถคิดดอกเบี้ยได้เกินกว่านี้

ในส่วนของ ‘หนี้นอกระบบ’ คือ หนี้ที่เจ้าหนี้ไม่ใช่สถาบันการเงิน อาจมีการคิดดอกเบี้ยเป็นรายวันมากถึงร้อยละ 20 และมีการทวงหนี้กันแบบรุนแรง 

ทว่า การทวงหนี้มีกฎหมายควบคุม ต้องทวงกับตัวลูกหนี้เท่านั้น วันธรรมดาทวงได้ตั้งแต่แปดโมงเช้าถึงสองทุ่ม วันเสาร์และอาทิตย์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ ทวงได้ตั้งแต่แปดโมงเช้าถึงหกโมงเย็น ห้ามข่มขู่ ห้ามใช้ความรุนแรงหรือดูหมิ่น จดหมายทวงหนี้ห้ามเป็นไปรษณียบัตรหรือเป็นจดหมายเปิดผนึก และห้ามทวงหนี้เกินวันละ 1 ครั้ง

การทวงหนี้ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย มีโทษจำคุก ตั้งแต่ไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกินหนึ่งแสน หรือสูงสุดจำคุกไม่เกินห้าปี ปรับไม่เกินห้าแสน หรือทั้งจำทั้งปรับ

ความจำเป็นในการใช้ชีวิต อาจเป็นเหตุผลสำคัญให้เราต้องยินยอมเป็นหนี้ อย่างไรก็ตามหากเราสามารถบริหารจัดการความจำเป็นให้พอดีกับการใช้ชีวิตได้ เราจะพบว่า การไม่เป็นหนี้นั้น เป็นลาภอันประเสริฐอย่างยิ่ง

นัยแห่งสยาม!! ไม่มีลอยกระทง ไม่มีนางนพมาศ ในสมัยสุโขทัย แต่เพราะบ้านเมืองเราดี ถึงมีประเพณีขอขมาแม่น้ำอันดีงามนี้เกิดขึ้น

‘นางนพมาศ’ หรือ ‘ท้าวศรีจุฬาลักษณ์’ ที่เชื่อกันว่า เป็นพระสนมของพระร่วง และได้คิดประดิษฐ์กระทงขึ้นมาเป็นครั้งแรก ตั้งแต่สมัยสุโขทัยนั้น เชื่อว่าหลายท่านคงทราบ อาจจะเคยได้ยิน และหลายท่านก็อาจจะไม่เคยรู้ถึงที่มาที่ไปมาก่อน

จากข้อมูลหลักฐานต่าง ๆ รวมไปถึงนักวิชาการ และกรมศิลปากรได้ยืนยันว่า นี่เป็นเรื่องที่ถูกแต่งขึ้นมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓  

‘ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือนางนพมาศ’ สมมติให้ฉากของเรื่อง เกิดขึ้นในยุคพระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัย ซึ่งตำราดังกล่าวได้พูดถึงนางนพมาศ ว่าเป็นพระสนมเอกของพระร่วง ที่ได้คิดประดิษฐ์กระทงใบตองเป็นรูปดอกบัวขึ้น ดังนั้น นางนพมาศจึงเป็นเพียง ‘นางในวรรณคดี’ ไม่ได้มีตัวตนอยู่จริง

โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงพระนิพนธ์คำนำหนังสือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ เมื่อปี ๒๔๕๗ ว่า 

“ว่าโดยทางโวหาร ใคร ๆ อ่านหนังสือเรื่องนี้ด้วยความสังเกตจะแลเห็นได้โดยง่าย ว่าเปนหนังสือแต่งในครั้งกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง แต่งในระหว่างรัชกาลที่ ๒ กับที่ ๓ ไม่ก่อนนั้นขึ้นไป ไม่ทีหลังนั้นลงมาเปนแน่ ถ้าจะหาพยาน จงเอาสำนวนหนังสือเรื่องนี้ไปเทียบกับสำนวนหนังสือจาฤกครั้งศุโขไทยหรือหนังสือที่เชื่อว่าแต่งครั้งศุโขไทย เช่น หนังสือไตรภูมิพระร่วงเปนต้น หรือแม้ที่สุดจะเอาไปเทียบกับหนังสือที่แต่งเพียงในชั้นกรุงเก่า ก็จะเห็นได้แน่นอนว่า สำนวนหนังสือเรื่องนางนพมาศเปนหนังสือแต่งใหม่เปนแน่”

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นอะไร ?

การแต่งหนังสือขึ้นมาเพื่อแสดงถึงเรื่องราวประเพณีอันสุดจินตนาการนี้ เพราะบ้านเมืองของเราดี มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยน้ำท่า เมื่อมีความอุดมสมบูรณ์ ก็ต้องมีการหลอมรวมจิตใจ การสร้างความปึกแผ่นและการมีส่วนร่วมของคนในชาติ การสร้างกุศโลบายโดยตัวหนังสือและการบอกเล่าจึงเป็นเครื่องมือเพื่อโน้มนำการณ์ดังกล่าว การสร้างประเพณีใหม่บนพื้นฐานพระราชพิธีเดิมจึงได้เกิดเป็นเรื่องราวของการลอยกระทงขึ้น 

สำหรับสุโขทัยแม้ว่า ‘ลอยกระทง’ จะไม่ได้เกิดขึ้นในยุคนั้น แต่ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ก็ปรากฏคำที่เกี่ยวข้องกับการเผาเทียนเล่นไฟ โดยระบุไว้ว่า “เมืองสุโขทัยนี้มีสี่ปากประตูหลวง เที้ยรย่อมคนเสียดเข้ามาดูท่านเผาเทียนเล่นไฟ” (อันนี้ไม่ขอถกเถียงเรื่องของที่มา ที่ไปของหลักศิลาจารึกนะครับ) ซึ่งก็นับเป็นประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกันได้ 

ซึ่งคำว่า ‘เที้ยร’ หมายถึง ‘เทียนบูชา’ และการขอขมาพระแม่คงคา ส่วนคำว่า ‘เล่น’ หมายถึงการทำอะไรให้เป็นที่สนุกเพลิดเพลิน ผนวกกับคำว่า ‘ไฟ’ จึงหมายถึงการทำอะไรให้สนุกสนานเพลิดเพลินด้วยไฟ ซึ่งมีความหมายกว้าง ๆ ว่า ทำบุญไหว้พระก็ได้ เพียงแต่เป็นพิธีใหญ่แตกต่างจากงานปกติ ซึ่งผมอนุมานเอาแบบนี้นะครับ

มาที่ราชพิธีบ้าง ผมว่าหลายท่านคงได้เห็นพระราชพิธี ‘จองเปรียง’ ผ่านละคร ‘พรหมลิขิต’ ไปกันบ้างแล้ว

จากพระราชนิพนธ์ พระราชพิธีสิบสองเดือนของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ระบุว่า พระราชพิธีเหล่านี้เป็นพระราชพิธีสําหรับปฏิบัติในพระนครซึ่งมีมาตั้งแต่อดีต 

พระราชพิธีเหล่านี้เกิดขึ้นจากความเชื่อในด้านไสยศาสตร์ที่มีการนับถือ พระเจ้าต่าง ๆ ในศาสนา พราหมณ์ และส่วนหนึ่งเกิด จากความเชื่อความศรัทธา ในพุทธศาสนาควบคู่กัน ดังนั้นในพระราชพิธีบางอย่าง จึงเป็นการผสมผสานระหว่างพราหมณ์และพุทธ

ในพระราชกําหนดกฎมณเฑียรบาลครั้งกรุงศรีอยุธยา ได้กล่าวถึงพระราชพิธีประจําเดือนทั้ง ๑๒ เดือนไว้ว่า เป็น ‘กิจซึ่งพระเจ้าแผ่นดินทรงทําเพื่อเป็นมงคลสําหรับพระนคร ทุกปีมิได้ขาด’

โดยระบุไว้ว่าในเดือน ๑๒ มี ‘พิธีจองเปรียงลดชุดลอยโคม’ โดยแยกเป็น ๒ กิจกรรมที่กระทำในคราวเดียวกันคือ กิจกรรมที่ ๑ จองเปรียงลดชุด ซึ่งทำบนบก และกิจกรรมที่ ๒ ลอยโคม ซึ่งลอยลงน้ำ

สมัยอยุธยา ทั้งเอกสารและวรรณคดีก็ระบุไว้ถึงการ ‘ชักโคม ลอยโคม และแขวนโคม’ ในจดหมายเหตุลาลูแบร์ก็มีบันทึกไว้ดังนี้ 

“ประชาชนพลเมืองจะแสดงความขอบคุณแม่น้ำ (พระแม่คงคา) ด้วยการตามประทีปโคมไฟขนาดใหญ่ (กลางแม่น้ำ) อยู่หลายคืน…เราจะเห็นทั้งลำแม่น้ำเต็มไปด้วยดวงประทีปลอยน้ำ…ไปตามกระแสธาร มีขนาดใหญ่ย่อมต่างกันตามศรัทธาปสาทะของแต่ละคน…โดยนัยเดียวกัน เพื่อแสดงความขอบคุณต่อแม่พระธรณี ที่อนุเคราะห์ให้เก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ธัญญาหารได้อย่างอุดมสมบูรณ์ในวันต้นๆ ของปีใหม่ชาวสยามก็จะตามประทีปโคมไฟขึ้นอย่างมโหฬารอีกครั้งหนึ่ง” 

“สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต อุกาสะ ขะมามิ ภันเต” 

คำกราบขอขมาแม่พระคงคาต่อความผิดพลั้ง สร้างสิ่งไม่ดีต่อแม่น้ำพร้อมตั้งจิตลอยเคราะห์กรรมไปกับแม่น้ำ แต่ไม่ใช่การล้างบาปที่เรากระทำนะครับ เดี๋ยวจะกลายเป็นว่าลอยกระทงก็จะช่วยล้างบาปไปได้ แต่สิ่งที่ได้จากการขอขมานี้คือการสร้างสำนึกรู้ต่องการกระทำของเราที่ส่งผลต่อสายน้ำ ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการลอยกระทง ลอยประทีป หรือลอยโคมของเรา ย่อมกระทบต่อทุกสิ่งรอบตัว

ไม่ว่า ‘ลอยกระทง’ จะเกิดขึ้นในยุคสมัยไหน สิ่งที่สำคัญที่ควรรู้ก็คือประเพณีนี้เกิดขึ้นเมื่อยุคบ้านเมืองดี เป็นกุศโลบายเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีของคนในครอบครัว ในบ้านเมือง และเพื่อให้รู้จักบุญคุณของแม่น้ำ เพื่อช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม รักษาทรัพยากรของประเทศไทยเรา ให้อยู่ต่อไปสืบลูก สืบหลาน

การทารุณกรรมและย่ำยี ‘สตรีญี่ปุ่น’ ของ ทหารสหรัฐฯ-ออสเตรเลีย โศกนาฏกรรมและความอัปยศอดสูบนแผ่นดินญี่ปุ่น ที่ถูก ‘ห้ามกล่าวถึง’

หลังจากฮิโรชิมาและนางาซากิ : โศกนาฏกรรมและความอัปยศอดสู
การทารุณกรรมสตรีญี่ปุ่นของทหารสหรัฐฯ และออสเตรเลีย บนแผ่นดินญี่ปุ่น

พฤติการณ์และพฤติกรรมของทหารสังกัดกองกำลังสัมพันธมิตร ในระหว่างการยึดครองญี่ปุ่นโดยกองทัพสหรัฐฯ และสัมพันธมิตร หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ได้แตกต่างไปจากทหารสังกัดกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เลย ด้านมืดของการยึดครองญี่ปุ่นอันเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึง ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกาหรือชาติอื่น ๆ ก็ตาม เมื่อญี่ปุ่นยอมจำนนในเดือนสิงหาคม 1945 ก็เริ่มเกิดการข่มขืนหมู่โดยทหารของกองกำลังยึดครอง (แม้จะมีซ่องโสเภณีมากมายก็ตาม) อาชญากรรมดังกล่าวยังคงเป็นเรื่องปกติ และหลายคดีโหดร้ายเป็นอย่างยิ่ง จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต โดยศาสตราจารย์ทางรัฐศาสตร์ ‘Eiji Takemae’ ได้เขียนเล่าเกี่ยวกับพฤติกรรมของทหารอเมริกันในขณะที่ยึดครองญี่ปุ่นว่า…

“เรา… กองทหารรวมตัวกันเหมือนผู้พิชิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสัปดาห์และเดือนแรก ๆ ของการยึดครอง พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมมีตั้งแต่การลักลอบค้าขายสินค้าในตลาดมืด การลักเล็กขโมยน้อย การขับรถโดยประมาท พฤติกรรมที่ไม่มีวินัย ไปจนถึงการทำลายทรัพย์สิน การทำร้ายร่างกาย การลอบวางเพลิง การฆาตกรรม และการข่มขืน ความรุนแรงส่วนใหญ่มุ่งเป้าไปที่สตรีญี่ปุ่น

เหตุการณ์ครั้งแรกเกิดขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากมีการยกพลขึ้นบกของกองกำลังสัมพันธมิตร ในเมืองโยโกฮามา และประเทศจีน รวมถึงที่อื่น ๆ ทหารสัมพันธมิตรทั้งทหารบกและทหารเรือฝ่าฝืนกฎหมายโดยไม่ต้องรับโทษ และเกิดเหตุการณ์การปล้น การข่มขืน และการฆาตกรรม หลายครั้งหลายคราวก็มีการรายงานอย่างกว้างขวางในสื่อ (ซึ่งยังไม่ได้เซ็นเซอร์โดยกองทัพอเมริกัน) เมื่อพลร่มของสหรัฐฯ เข้าพื้นที่เมืองซัปโปโร เกิดการปล้นสะดม การข่มขืน และการทะเลาะวิวาทกันอย่างมากมายขึ้น”

พลโท ‘Robert L. Eichelberger’

การข่มขืนหมู่และการทารุณกรรมทางเพศอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นนั้น ศาลทหารของกองทัพสัมพันธมิตรได้ลงโทษทหารที่ถูกจับกุมเพียงแค่ไม่กี่ราย ซึ่งล้วนแล้วแต่ถูกตัดสินลงโทษสถานเบา และแทบจะไม่มีการชดใช้ค่าเสียหายให้กับบรรดาเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายเลย

ความพยายามของชาวญี่ปุ่นในการป้องกันตัวเองนั้นจะถูกลงโทษอย่างรุนแรง เช่น กรณีที่พลโท ‘Robert L. Eichelberger’ บันทึกไว้ในบทบันทึกความทรงจำของเขาว่า “เมื่อชาวบ้านญี่ปุ่นในท้องถิ่นจัดตั้งกลุ่มศาลเตี้ย และตอบโต้ต่อทหารอเมริกัน กองทัพที่แปดจึงสั่งการให้หน่วยรถถังทำการปิดถนนและจับกุมหัวโจกผู้นำ ซึ่งต่อมาได้รับโทษจำคุกอย่างยาวนาน”

กองทัพอเมริกันและออสเตรเลียไม่ได้รักษาหลักนิติธรรมเลย เมื่อมีการละเมิดผู้หญิงญี่ปุ่นด้วยฝีมือทหารสังกัดกองกำลังของตนเอง อีกทั้งประชากรญี่ปุ่นเองก็ไม่ได้รับอนุญาตต่อสู้ปกป้องตัวเองด้วย แต่กองกำลังยึดครองกลับสามารถปล้นสะดมและข่มขืนหญิงสาวชาวญี่ปุ่นได้ตามต้องการ โดยทำตัวอยู่เหนือกฎหมาย

หนึ่งในเหตุการณ์ดังกล่าว ได้แก่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน 1946 เมื่อทหารอเมริกันราว 50 นายเดินทางด้วยรถบรรทุก 3 คัน บุกเข้าไปยังโรงพยาบาลนากามูระ ในเขตโอโมริ และได้ข่มขืนผู้ป่วยหญิงกว่า 40 คน รวมทั้งเจ้าหน้าที่หญิงอีก 37 คน มีหญิงคนหนึ่งถูกข่มขืนทั้งที่เพิ่งคลอดบุตรได้เพียง 2 วัน และลูกของเธอถูกโยนลงบนพื้นจนเสียชีวิต ผู้ป่วยชายที่พยายามปกป้องผู้หญิงก็ถูกสังหารด้วย สัปดาห์ต่อมา ทหารสหรัฐฯ หลายสิบคนได้ตัดสายโทรศัพท์ไปที่ตึกหนึ่งในเมืองนาโกย่า และข่มขืนผู้หญิงทุกคนที่พวกเขาสามารถจับได้ที่นั่น ซึ่งมีทั้งเด็กผู้หญิงอายุไม่เกิน 10 ขวบ ตลอดจนถึงผู้หญิงที่มีอายุไม่เกิน 55 ปี

กองกำลังออสเตรเลียในญี่ปุ่น

พฤติกรรมดังกล่าวไม่ได้มีลักษณะเฉพาะสำหรับทหารอเมริกัน แม้แต่กองกำลังออสเตรเลียก็ปฏิบัติตนในลักษณะเดียวกัน ในระหว่างที่ประจำการในญี่ปุ่น ดังที่พยานชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งได้ให้การไว้ว่า “ทันทีที่กองทหารออสเตรเลียมาถึงคูเระ ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งในจังหวัดฮิโรชิมะ เมื่อต้นปี 1946 พวกเขาได้ลากหญิงสาวขึ้นรถจี๊ปไปบนภูเขา และทำการข่มขืน ฉันได้ยินพวกเธอกรีดร้องขอความช่วยเหลือเกือบทุกคืน” พฤติกรรมดังกล่าวเป็นเรื่องปกติ แต่ข่าวอาชญากรรมจากกองกำลังยึดครองก็ถูกระงับการเผยแพร่อย่างรวดเร็ว

‘Allan Clifton’ นายทหารออสเตรเลียได้เล่าถึงประสบการณ์ของเขา เกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศโดยทหารออสเตรเลียที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นว่า “ผมยืนอยู่ข้างเตียงในโรงพยาบาล บนเตียงนั้นมีหญิงสาวคนหนึ่งนอนสลบอยู่ ผมยาวสีดำพันอยู่ในหมอนอย่างยุ่งเหยิง แพทย์และพยาบาลสองคนกำลังทำงานเพื่อช่วยชีวิตเธอ หนึ่งชั่วโมงก่อนที่เธอจะถูกทหารออสเตรเลีย 20 นาย รุมข่มขืน เราพบเธอในที่ที่พวกเขาทิ้งเธอไว้บนผืนดินรกร้าง โรงพยาบาลอยู่ในฮิโรชิมา ผู้หญิงคนนั้นเป็นคนญี่ปุ่น ทหารเป็นพวกออสเตรเลีย เสียงครวญครางและคร่ำครวญได้หยุดลงแล้ว และตอนนี้เสียงเธอก็เงียบลงแล้ว ความตึงเครียดอันทรมานบนใบหน้าของเธอคลี่คลายลง และผิวสีน้ำตาลอ่อนที่เรียบเนียนไร้ริ้วรอย เปื้อนไปด้วยคราบน้ำตา ราวกับใบหน้าของเด็กน้อยที่ร้องไห้จนหลับไป เมื่อมีการตรวจสอบก็พบว่า ทหารออสเตรเลียที่ก่ออาชญากรรมดังกล่าวในญี่ปุ่น จะได้รับโทษจำคุกในสถานเบามาก และต่อมาทหารเหล่านี้ส่วนใหญ่มักได้รับการบรรเทาโทษหรืออภัยโทษ โดยศาลออสเตรเลียในภายหลัง”

Clifton ได้เล่าถึงเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยตัวของเขาเองว่า เมื่อศาลออสเตรเลียยกเลิกคำตัดสินของศาลทหาร โดยอ้างว่า “หลักฐานไม่เพียงพอ” แม้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะมีพยานหลายคนก็ตาม เห็นได้ชัดว่าศาลที่ดูแลกองกำลังยึดครองของฝั่งตะวันตก ได้ใช้มาตรการเพื่อปกป้องตนเองจากอาชญากรรมที่กระทำต่อชาวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นอาชญากรรมที่ผู้ยึดครองชาวตะวันตกส่วนใหญ่ มองว่าเป็นเพียงการเข้าถึง ‘ความเสียหายของสงคราม’ ในขณะนั้น

เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในช่วงสงคราม โดยมีการรายงานการข่มขืนในยามสงบน้อยเกินไป เนื่องจากผู้ที่เกี่ยวข้องรู้สึกความอับอายต่อสังคมดั้งเดิม รวมถึงการไม่ทำอะไรเลยของเจ้าหน้าที่ (การข่มขืนในทั้ง 2 กรณีเกิดขึ้น เมื่อกองทัพสัมพันธมิตรมีอำนาจ) จึงทำให้ตัวเลขดังกล่าวลดลงอย่างมาก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรู้สึกไม่สบายต่ออาชีพของตนมากขึ้น กองทัพสหรัฐฯ จึงดำเนินการเซ็นเซอร์สื่ออย่างเข้มงวด ส่งผลให้การกล่าวถึงอาชญากรรมที่ทหารสัมพันธมิตรกระทำต่อพลเรือนญี่ปุ่น ถือเป็นเรื่องต้องห้ามโดยเด็ดขาด

‘ทหาร Gurkha’ แห่งกองทัพอังกฤษในกองกำลังยึดครองญี่ปุ่น

กองกำลังยึดครอง ออกสื่อและรหัสล่วงหน้า เซ็นเซอร์ห้ามการตีพิมพ์รายงานและสถิติทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่า “ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการยึดครอง” ไม่กี่สัปดาห์แรกในการยึดครอง สื่อมวลชนญี่ปุ่นกล่าวถึงการข่มขืน และการปล้นสะดมอย่างกว้างขวางโดยทหารอเมริกัน กองกำลังที่ยึดครองตอบสนองอย่างรวดเร็วด้วยการเซ็นเซอร์สื่อทั้งหมด และใช้นโยบายต่อต้านการรายงานอาชญากรรมดังกล่าวเป็นศูนย์ ไม่เพียงแต่อาชญากรรมที่กระทำโดยกองกำลังตะวันตกเท่านั้น แม้แต่การวิพากษ์วิจารณ์ประเทศสัมพันธมิตรฝั่งตะวันตกใด ๆ ก็ตาม ถือเป็นสิ่งต้องห้ามอย่างเคร่งครัดในช่วงการยึดครองเป็นเวลานานกว่าหกปี

สิ่งนี้ทำให้กองทัพสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศ ลอยตัวอยู่เหนือความรับผิดชอบในหัวข้อต่าง ๆ เช่น การจัดตั้งสถานีอำนวยความสะดวก และการสนับสนุนผู้หญิงกลุ่มเปราะบางให้เข้าสู่การค้าบริการทางเพศ การวิเคราะห์เชิงวิพากษ์เกี่ยวกับตลาดมืด ปริมาณแคลอรี่ที่ได้รับกับความอดอยากของประชากร หรือแม้แต่การอ้างอิงถึงผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ต่อเศรษฐกิจตะวันตก การต่อต้านลัทธิล่าอาณานิคมทั่วเอเชีย และความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในสงครามเย็น ล้วนถูกห้ามเผยแพร่ทั้งสิ้น

หลังจากอ่านบทความทั้งหมดแล้ว
นักแปลอาวุโสจะแปลเรื่องที่ต้องเซ็นเซอร์เป็นภาษาอังกฤษและส่งต่อ

สิ่งที่น่าสังเกตเป็นพิเศษเกี่ยวกับการเซ็นเซอร์ที่กำหนดขึ้น ภายใต้การยึดครองของอเมริกัน คือ มันมีวัตถุประสงค์เพื่อปกปิดการดำรงอยู่ของมันเอง ซึ่งหมายความว่าไม่เพียงแต่บางเรื่องจะถูกจำกัดอย่างเข้มงวดเท่านั้น แต่ยังห้ามกล่าวถึงการเซ็นเซอร์อีกด้วย

ดังที่ศาสตราจารย์ ‘Donald Keene’ แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ตั้งข้อสังเกตว่า “การเซ็นเซอร์ของกองทัพอเมริกันระหว่างการยึดครองนั้น น่าหงุดหงิดยิ่งกว่าการเซ็นเซอร์ของกองทัพญี่ปุ่นเสียอีก เพราะเป็นการยืนยันว่า มีการปกปิดร่องรอยของการเซ็นเซอร์ทั้งหมด” ซึ่งหมายความว่า บทความจะต้องเขียนใหม่ทั้งหมด แทนที่จะส่ง XXs สำหรับวลีที่ไม่เหมาะสมเท่านั้น

สำหรับกองทัพอเมริกันไม่เพียงแต่จะต้องควบคุมข้อมูลเท่านั้น แต่ยังต้องสร้าง ‘ภาพลวงตา’ ของสื่อเสรี เมื่อมีสื่ออยู่ด้วย ในความเป็นจริง มีข้อจำกัดมากกว่าที่เคยเป็นในช่วงสงครามภายใต้การปกครองของจักรวรรดิ

การเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ของกองเซ็นเซอร์พลเรือน (Civil Censorship Detachment : CCD) 

การก้าวไปอีกขั้นหนึ่งในการเซ็นเซอร์ แม้กระทั่งการกล่าวถึงการเซ็นเซอร์ สหรัฐฯ สามารถอ้างสิทธิ์ในการยืนหยัดเพื่อเสรีภาพในการทำสื่อและเสรีภาพในการแสดงออก ด้วยการ ‘ควบคุมสื่อ’ กองทัพอเมริกันสามารถพยายามส่งเสริมไมตรีจิตในหมู่ชาวญี่ปุ่น ในขณะเดียวกันการก่ออาชญากรรมโดยทหารอเมริกันและพันธมิตร ก็กลายเป็นเหตุการณ์ที่ถูกโดดเดี่ยว ละเลย จนเลือนหายไปในที่สุด

แม้ว่า ความโหดร้ายของกองทัพอเมริกันและออสเตรเลียต่อพลเรือนญี่ปุ่น จะเห็นได้อย่างชัดเจนในระหว่างการยึดครองญี่ปุ่น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และเกิดผลที่ตามมาในทันที โดยเฉพาะในโอกินาวา ที่มีคดีฆ่า-ข่มขืน โดยทหารสัมพันธมิตร 76 รายใน 5 ปีแรก หลังจากการถูกยึดครอง แต่ก็ไม่ได้จบลงแค่หลังจากการยกเลิกการยึดครองเท่านั้น ตัวเลขประมาณการว่า ตั้งแต่ปี 1945 เป็นต้นมา มีหญิงสาวชาวโอกินาวาถูกข่มขืนไม่ต่ำกว่า 10,000 ราย

และด้วยทุกวันนี้สหรัฐฯ ยังคงมีบทบาททางทหารในญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา และอาชญากรรมต่าง ๆ รวมถึงความรุนแรงทางเพศ ตลอดจนการฆาตกรรมพลเรือนชาวญี่ปุ่นโดยทหารอเมริกัน ก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่ต่อไป จนกว่าในที่สุดจะไม่มีฐานทัพอเมริกันในญี่ปุ่นเหลืออยู่อีกเลย

https://worldhistoryandevents.blogspot.com/2023/10/after-hiroshima-and-nagasaki-tragedy.html?m=1 และ https://en.wikipedia.org/wiki/Rape_during_the_occupation_of_Japan

กบฏ ร.ศ.๑๓๐ คณะก่อการจากนายทหารหนุ่มหัวก้าวหน้า ผู้ไม่ได้อยากเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็น 'ระบอบประชาธิปไตย'

กบฏ ร.ศ.๑๓๐ คณะก่อการผู้ไม่ได้อยากเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็น ‘ระบอบประชาธิปไตย’

เดือนพฤศจิกายนมีเหตุการณ์สำคัญ ๆ หลายเหตุการณ์ หนึ่งในนั้นคือ ‘การพระราชทานอภัยโทษ’ กบฏ ร.ศ.๑๓๐ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงครองสิริราชสมบัติมาถึงปีที่ ๑๕ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๗ ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวเป็นอิสระทุกคน รวมเวลาที่ถูกคุมขังจริงรวม ๑๓ ปี

จากเดิมที่มีบทลงโทษ โดยคณะตุลาการศาลทหารตัดสินลงโทษให้จำคุกและประหารชีวิต โดยมี โทษประหารชีวิตหัวหน้าผู้ก่อการจำนวน ๓ คน คือ ร้อยเอก เหล็ง ศรีจันทร์, ร้อยโท จรูญ ณ บางช้าง และ ร้อยตรี เจือ ศิลาอาสน์ และโทษจำคุกแบ่งเป็นตลอดชีวิต ๒๐ คน จำคุกยี่สิบปี ๓๒ คน จำคุกสิบสองปี ๓๐ คน และจำคุกสิบห้าปี ๖ คน แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้มีพระบรมราชวินิจฉัย และได้มีพระบรมราชโองการพระราชทาน ‘อภัยโทษ ละเว้นโทษประหารชีวิต ด้วยทรงเห็นว่า ทรงไม่มีจิตพยาบาทต่อผู้คิดประทุษร้ายแก่พระองค์’

เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไป จากคำบอกเล่าและบันทึกของผู้ก่อการว่า กบฏ ร.ศ.๑๓๐ เป็นการรวมตัวกันของนายทหารหนุ่มหัวก้าวหน้า ที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่มาถูกจับได้เสียก่อน จึงกลายเป็น ‘กบฏ’ ตรงนี้ให้สังเกตตรงความต้องการเปลี่ยนแปลงไปสู่ ‘ระบอบประชาธิปไตย’ นะครับ

การรวมตัวกันของคณะนายทหารหนุ่มนี้นำโดย ร้อยเอก ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) และคณะอีกหลายต่อหลายท่าน โดยมีเหตุเริ่มต้นตามบันทึกจากข้อเขียนใน ‘หมอเหล็งรําลึก ภาคปฏิวัติครั้งแรกของไทย ร.ศ.๑๓๐’ อนุสรณ์ในงานศพ ร.อ. ขุนทวยหาญพิทักษ์ (นายแพทย์เหล็ง ศรีจันทร์) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม เมื่อวันอังคารที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๐๓ โดยพุ่งเป้าไปที่รัชกาลที่ ๖ ขณะเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สรุปความว่า 

“ในปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีนายทหารต้องถูกเฆี่ยนหลังด้วยเหตุไม่สมควรประกอบด้วย ร้อยเอก โสม พร้อมด้วยนายร้อย นายดาบ และ นายสิบพลทหาร รวม ๕ คน กลางสนามหญ้าภายในกระทรวงกลาโหม เนื่องจากไปมีเหตุวิวาทเรื่องผู้หญิงกับมหาดเล็กของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ซึ่งการเฆี่ยนตามจารีตนครบาลนั้นได้ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงไม่ยอม ทูลฯ ฟ้องในหลวงรัชกาลที่ ๕ เพื่อให้ลงโทษให้ได้ จนเกิดเป็นวาทกรรมที่ว่า ‘สมเด็จพระยุพราชทรงยืนกรานจะให้เฆี่ยนหลังเพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่าง’” 

แต่เชื่อไหมครับว่าความเป็นจริงที่ถูกบันทึกไว้อย่างเป็นทางการมันช่างขัดแย้งกับบันทึกนี้!!! 

ความขัดประการแรกขัดกับ ‘ประกาศกระแสพระราชดําริห์ในเรื่อง เป็นลูกผู้ชาย’ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศไว้เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ร.ศ.๑๒๘ โดยมีความตอนหนึ่งระบุว่า “การที่จะลงพระราชอาญาด้วยอาการใดๆ มีตีและขังเป็นต้น ก็ทรงพระราชดําริห์ว่าน่าจะไม่เป็นประโยชน์ เพราะลูกผู้ดีไม่ใช่สัตว์เดียรฉานที่จะบังคับบัญชาได้ด้วยอาญา” ซึ่งความตอนนี้ก็สอดคล้องกับที่ทรงพระราชบันทึกไว้ใน ‘ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖’

ความขัดแย้งประการต่อมาจาก ‘หนังสือยุทธโกษ’ ซึ่งเป็นหนังสือของทหาร และ ‘ประกาศถอดยศนายทหาร ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา’ ทั้งสองฉบับนี้ต่างระบุตรงกันว่า ‘ทหาร’ เป็นฝ่ายทำร้ายมหาดเล็ก ไม่ใช่มหาดเล็กทำร้ายทหารตามที่คณะกบฏ ร.ศ.๑๓๐ อ้าง 

ข้อขัดแย้งต่อมาคือ ผู้ที่ทูลฯ ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตการ ‘เฆี่ยน’ นั้นไม่ใช่ ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ’ (รัชกาลที่๖) แต่เป็น ‘พลเอก พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช’ ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ โดยเป็นการลงโทษตาม ‘กฎว่าด้วยอํานาจลงอาญาทหารบก’ ที่มีโทษอยู่ ๗ ประการคือ 

๑.โบย 
๒.จําขัง 
๓.กักขัง 
๔.ยังมืด 
๕.กักยาม 
๖.ทัณฑกรรม 
๗.ภาคทัณฑ์ 

เพราะทหารเหล่านั้นมีความผิดฐานออกนอกกรมกองในเวลาวิกาล แล้วไปวิวาทกับบุคคลพลเรือน เป็นเรื่องผิดวินัยอย่างร้ายแรง จนเมื่อรัชกาลที่ ๖ ทรงครองราชย์ กฎการโบยนี้ได้ถูกยกเลิกเพราะพระองค์ทรงไม่เห็นด้วยกับการโบยตีทหาร 

แต่แค่เริ่มต้นด้วยการเสียศักดิ์ศรีเพราะการ ‘เฆี่ยน’ หรือ ‘โบย’ นั้นมันน่าจะยังไม่เพียงพอ เราก็มาพออีกบันทึกหนึ่งเพื่อยืนยันความชอบธรรมในการจะเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะกบฎ ร.ศ.๑๓๐ มาจากบทความ ‘ว่าด้วยความเสื่อมซามและความเจรีญของประเทศ’ (สะกดตามต้นฉบับ) เขียนโดย ร้อยเอก ขุนทวยหาญพิทักษ์ (นายแพทย์เหล็ง ศรีจันทร์) นายทหารหัวหน้าคณะผู้ก่อการกบฏ ร.ศ.๑๓๐ ซึ่งใส่ร้ายและยัดเยียดการปกครองโดยกษัตริย์ให้เป็นสิ่งชั่วร้าย ดังระบุว่า

“… การปกครองประเทศตามวิธีนี้ เป็นวิธีที่ร้ายแรงมาก เพราะกระษัตริย์มีอำนาจเต็มที่ โดยอยู่เหนือกฎหมาย กระษัตริย์กระทำการชั่วร้ายอย่างหนึ่งอย่างใดก็ทำได้ เพราะไม่มีใครขัดขวาง ...ราษฎรที่ไม่มีความผิด กระษัตริย์จะเอามาเฆี่ยนตีหรือฆ่าฟันและจองจำได้ตามความพอใจ ทรัพย์สมบัติแลที่ดินของราษฎรนั้น กระษัตริย์จะเบียดเบียนมาแลกเป็นผลประโยชน์ส่วนตัวได้โดยไม่มีขีดขั้น อย่างไล่ที่ทำวังเป็นต้น …” 

รวมไปถึงการโจมตีในหลวงรัชกาลที่ ๖ ในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านของการจัดการราชการ เรื่องเสือป่า เรื่องข้าราชบริพารส่วนพระองค์ จนสุดท้ายนอกจากความคิดเพื่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง กลายมาเป็นการ ‘ลอบสังหาร’ ในหลวงรัชกาลที่ ๖ เพื่อเปลี่ยนกษัตริย์ใหม่ โดยมือสังหารมีที่มาจากการ ‘จับสลาก’

ไหน? ว่าจะเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบใหม่ ? 

จากคำให้การของคณะกบฏ ร.ศ.๑๓๐ พวกเขาอยากจะเปลี่ยนแปลงทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีข้อสรุปเลยว่าจะเปลี่ยนเป็นระบอบไหน จะเป็นแบบญี่ปุ่นที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญโดยมีการทหารนำ หรือจะเป็นแบบสาธารณรัฐ แบบฝรั่งเศส แต่ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ นอกจากประโยชน์ที่จะเกิดกับตัวพวกคณะเอง

เนื้อหาในการประชุมที่มักจะมีแต่จะยกใครขึ้นเป็นกษัตริย์หรือเป็นประธานาธิบดี เช่น ถ้าเปลี่ยนกษัตริย์ ก็จะทูลเกล้าฯ ถวายราชบัลลังก์แก่ ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ’ เพราะพระองค์เป็นทหารสามารถสร้างความเข้มแข็งที่นำโดยทหารได้แน่ (ประชาธิปไตยแบบไหน?) แต่ถ้าเป็นสาธารณรัฐ ประธานาธิบดีก็ต้องเป็น ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์’ หรือจะเอายังไง ? ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปเพราะวนอยู่เท่านี้ 

แต่ในมุมกลับกัน เรื่องการปรับเปลี่ยนการปกครองนั้น ในหลวงรัชกาลที่ ๖ ได้โปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงศึกษาธิการ เร่งรัดจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๔๕๖ ซึ่งมีการจัดแผนการศึกษาแห่งชาติเป็นระดับประถม มัธยม และอุดมศึกษา แล้วได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาไพศาลศิลปศาสตร์ (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ให้ไปสร้างโรงเรียนประชาบาลให้ครบทุกตำบลภายใน ๑๕ ปี นับแต่ทรงครองราชย์ เพื่อที่จะให้การศึกษา ให้ความรู้ด้านการปกครอง อันจะเป็นจุดเริ่มต้นในการพระราชทานการปกครองท้องถิ่นให้กับราษฎร อันเป็นรากฐานไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาที่พระองค์เรียกว่า ‘คอนสติตูชั่น’

ในหลวงรัชกาลที่ ๖ ท่านทรงเข้าพระทัยดีในเรื่องของรูปแบบการปกครองสมัยใหม่ ดังที่ปรากฎในพระราชบันทึกเรื่อง ‘คอนสติตูชั่น’ และ ‘โสเชียลิสม์’ ที่ในปี พ.ศ. ๒๔๕๔ หนึ่งปีก่อนจะเกิดกบฏ ร.ศ. ๑๓๐ โดยความตอนหนึ่งระบุว่า 

‘คอนสติตูชั่น’ ว่า “ถ้ามีผู้ต้องการ ‘คอนสติตูชั่น’ จริงๆ และเปนไปได้จริง จะเปนคุณอย่างใดฤาไม่ แต่ถ้าแม้ต่างว่ามีคนจำพวก ๑ ซึ่งตั้งใจดีจริง มีความมุ่งดีต่อชาติจริง จะมาร้องฎีกาขึ้นโดยตรง ๆ ขอให้มีคอนสติตูชั่น เราเองจะไม่มีความแค้นเคืองเลย ตรงกันข้าม เราจะยอมพิจารณาดูว่า จะสมควรยอมตามคำขอร้องของคนนั้นฤาไม่ ถ้ามีคอนสติตูชั่นได้จะยิ่งดี...” 

นอกจากนั้นพระองค์ก็เข้าใจลักษณะการปกครองที่มีรัฐธรรมนูญดังข้อความที่ว่า 

“..คุณแห่งลักษณปกครอง โดยมี ‘คอนสติตูชั่น’..นั้นเปนการตัดความไม่แน่นอนไปได้มาก เพราะอำนาจไม่ได้อยู่ในมือคนๆเดียว ซึ่งแม้ว่าจะดีฤาชั่วปานใดก็เปลี่ยนไม่ได้ ประชาชนได้เสียงในการปกครองชาติบ้านเมืองของตนเอง ...และถ้าแม้จะกล่าวไปแต่โดยทางว่าเปนแบบแผนดีฤาไม่คงไม่มีใครเถียงเลย คงต้องยอมรับว่าดีทั้งนั้น” 

ถ้าคุณอ่านถึงตรงนี้คุณจะเห็นภาพการดำเนินการอย่างต่อเนื่องในเรื่องของการปรับเปลี่ยนการปกครองของพระมหากษัตริย์ของเรา จากรัชกาลที่ ๕ มารัชกาลที่ ๖ ไปสู่รัชกาลที่ ๗ จนเกิดการยึดอำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ทุกพระองค์จะมุ่งเน้นให้เกิดการศึกษาและสร้างรากฐานเสียก่อน เพื่อไม่ให้การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นนั้น ‘เสียของ’ แต่บรรดาผู้อยากเปลี่ยนแปลงไม่เคยมองมุมนี้กันเลย คิดแต่ว่า ‘ยึดอำนาจ’ ก่อน แล้วค่อยคิดทีหลังเสมอ ๆ 

มาถึงตรงนี้ กบฏ ร.ศ. ๑๓๐ เราจะเห็นม่านเทา ๆ จากความไม่ชัดเจนในการก่อการ และการมีข้อมูลที่ช่างย้อนแย้ง เอาแน่เอานอนไม่ได้ จนกลายเป็นหอกทิ่มแทงคณะผู้ก่อการกันเอง แต่เผอิญว่าหอกมันทิ่มมาเร็วกว่าคณะราษฎร ๒๔๗๕ เลยกลายเป็นกบฏ 

แต่ที่พอจะยืนยันได้ กบฏ ร.ศ. ๑๓๐ ไม่ได้อยากเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็น ‘ระบอบประชาธิปไตย’ จริง ๆ หรอก 

ธุรกิจสถานบริการ แหล่งสร้างความสุข ด้วยอบายมุข  คู่สังคมไทยแบบไร้กฎหมายคุม ก็แหล่งมั่วสุมดีๆ นี่เอง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเม็ดเงินที่หมุนเวียนอยู่ในธุรกิจสถานบริการนั้น มีมูลค่าเป็นจำนวนมหาศาล และมีความสำคัญกับธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหลอดเลือดใหญ่ของระบบธุรกิจไทย 

เนื่องจากมีการประกอบธุรกิจสถานบริการหลายประเภท ที่อาจมีผลกระทบกับศีลธรรม ความสงบเรียบร้อย หากไม่มีกฎหมายควบคุมจะทำให้เป็นแหล่งอาชญากรรมหรือแหล่งมั่วสุม 

ตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509 สถานบริการ หมายถึง สถานที่ที่ตั้งขึ้นเพื่อให้บริการ โดยหวังผลประโยชน์ทางการค้า แบ่งเป็นหลายประเภท...

(1) สถานเต้นรำ รำวง หรือรองเง็ง เป็นปกติธุระประเภทที่มีและประเภทที่ไม่มีคู่บริการ เช่น ไนต์คลับ ผับ สถานที่ที่มีฟอร์เต้นรำ 

(2) สถานที่ที่มีอาหาร สุรา น้ำชา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่ายและบริการ โดยมีผู้บำเรอสำหรับปรนนิบัติลูกค้า เช่น โรงน้ำชา 

(3) สถานอาบน้ำ นวด หรืออบตัว ซึ่งมีผู้บริการให้แก่ลูกค้า เช่น อาบอบนวด แต่ไม่รวมถึงสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล หรือ สถานประกอบการเพื่อสุขภาพตามกฎหมายว่าด้วยสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ  

(4) สถานที่ที่มีอาหาร สุรา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่ายหรือให้บริการ โดยมีรูปแบบอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้... 
(ก) มีดนตรี การแสดงดนตรี หรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิงและยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้นักร้อง นักแสดง หรือพนักงานอื่นใดนั่งกับลูกค้า 
(ข) มีการจัดอุปกรณ์การร้องเพลงประกอบดนตรีให้แก่ลูกค้า โดยจัดให้มีผู้บริการขับร้องเพลงกับลูกค้า หรือยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้พนักงานอื่นใดนั่งกับลูกค้า 
(ค) มีการเต้นหรือยินยอมให้มีการเต้น หรือจัดให้มีการแสดงเต้น เช่น การเต้นบนเวทีหรือการเต้นบริเวณโต๊ะอาหารหรือเครื่องดื่ม 
(ง) มีลักษณะของสถานที่ การจัดแสงหรือเสียง 

(5) สถานที่ที่มีอาหาร สุรา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่าย โดยจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง ซึ่งปิดทำการหลังเวลา 24.00 นาฬิกา 

สถานประกอบการที่คล้ายสถานบริการ ตามคำสั่ง คสช ที่ 22 /2558 และ 46/2559 หมายถึง “...สถานประกอบการที่ไม่ครบองค์ประกอบการเป็นสถานบริการ ตามพระราชบัญญัติสถานบริการฯ แต่มีลักษณะการให้บริการที่เห็นได้ว่าเป็นการรวมกลุ่ม หรือเป็นแหล่งมั่วสุมอันอาจจะก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ด้วย...”

สถานบริการ ต้องไม่ตั้งอยู่ใกล้ วัด โรงเรียน สถานพยาบาล ในขนาดที่ว่าจะไม่ก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่สถานที่ดังกล่าว

ผู้มีอำนาจออกใบอนุญาตตั้งสถานบริการ ในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในต่างจังหวัด ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด

ในสถานบริการห้ามมิให้อายุต่ำกว่า 20 ที่ไม่ได้ทำงานในสถานบริการเข้าไปในสถานบริการนั้น ห้ามพกอาวุธ ห้ามขายสุราให้บุคคลที่เมาจนครองสติไม่อยู่ ห้ามปล่อยปละละเลยให้มีการขายหรือใช้ยาเสพติด 

ผู้ที่ตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกินหกหมื่นบาท

แม้ธุรกิจสถานบริการ จะมีลักษณะธุรกิจ เกือบจะตรงข้ามกับความเชื่อของพุทธศาสนิกชนในประเทศไทย แต่หากเราเคารพและปฏิบัติตามกฎหมาย และเดินทางสายกลางเพื่อให้ธุรกิจและความเชื่อสามารถเดินคู่กันได้ อย่างสงบเรียบร้อย เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติของเรา

'เกาหลีเหนือ' ชักดาบ!! สั่งซื้อรถวอลโว่ 144 พันคัน แล้วไม่จ่าย 'สวีเดน' ได้แต่กลุ้ม!! เพราะเรียกเก็บหนี้ทุกปี แต่ยังไม่มีแววได้เงิน


เมื่อเกาหลีเหนือสั่งซื้อรถยนต์วอลโว่ 144 จากสวีเดน 1,000 คัน แล้วชักดาบ

สถานทูตสวีเดน ณ กรุงเปียงยาง

 

'สวีเดน' เป็นประเทศตะวันตกประเทศแรกที่เปิดสถานทูตในกรุงเปียงยางในปี ค.ศ. 1975 และยังคงเป็นประเทศเดียวที่ยังคงรักษาสถานเอกอัครราชทูตในกรุงเปียงยางไว้เป็นเวลา 26 ปี และเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศตะวันตกที่ยังคงมีสถานทูตในกรุงเปียงยาง 

ปัจจุบันสวีเดนเป็นตัวแทนผลประโยชน์ด้านกงสุลของออสเตรเลีย แคนาดา อิตาลี กลุ่มประเทศนอร์ดิก และสหรัฐอเมริกาในเกาหลีเหนือ โดยสวีเดนมักทำหน้าที่เป็นตัวกลาง ในการเจรจาระหว่างเกาหลีเหนือและประเทศตะวันตก และมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ในการปรับปรุงความสัมพันธ์ของเกาหลีเหนือและสหรัฐอเมริกา

สถานทูตเกาหลีเหนือ ณ กรุงสต็อกโฮล์ม

ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษ 1970 สวีเดนเริ่มมองว่า เกาหลีเหนือเป็นตลาดที่มั่งคั่ง บริษัทสวีเดน เช่น Volvo, ASEA, Kockums, Atlas Copco และ Alfa Laval ต่างต้องการส่งออกผลิตภัณฑ์ของตนไปยังประเทศเกาหลีเหนือ และได้จัดนิทรรศการอุตสาหกรรมในกรุงเปียงยาง 

ทำให้ในช่วงทศวรรษนั้น เกาหลีเหนือนำเข้าสิ่งของต่าง ๆ รวมถึงรถยนต์วอลโว่ 144 ประมาณ 1,000 คันที่สวีเดนไม่เคยได้รับเงินค่ารถเหล่านั้นเลย 

จึงเป็นที่มาว่าทำไมนักการทูตโซเวียตเรียกสิ่งนี้ว่า "การโจรกรรมรถยนต์ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์" 

รถวอลโว่เหล่านี้พบเห็นได้ทั่วไปในกรุงเปียงยางจนถึงปี 2010 และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมารถเหล่านี้ก็มีปัญหาใหญ่ในด้านการบำรุงรักษาไว้

รถยนต์วอลโว่ 144 คันหนึ่งที่วิ่งในกรุงเปียงยาง ซึ่งเกาหลีเหนือไม่ได้ชำระเงินค่ารถจนทุกวันนี้

ทุกวันนี้เกาหลีเหนือยังคงเป็นหนี้สวีเดนอยู่จำนวน 2.2 พันล้านโครนสวีเดน อันเป็นเงินค้างจ่ายสวีเดนจากการนำเข้ารถยนต์เหล่านี้

ในบรรดาประเทศเจ้าหนี้ทั้งหมด เกาหลีเหนือเป็นหนี้สวีเดนมากที่สุด ตามมาด้วยอิรักซึ่งมีหนี้น้อยกว่าหนึ่งพันล้านโครน 

เกาหลีเหนือสั่งซื้อรถยนต์จำนวนดังกล่าวจากสวีเดน เพื่อตอบสนองต่อเศรษฐกิจของเกาหลีเหนือที่กำลังเติบโต แต่จนถึงปัจจุบันเกาหลีเหนือไม่เคยสนใจที่จะจ่ายเงิน และเพิกเฉยต่อใบแจ้งหนี้จากรัฐบาลสวีเดน ทำให้บิลดังกล่าวยังคงอยู่ในสถานภาพ 'ค้างชำระ'

รถยนต์วอลโว่ 144 คันหนึ่งที่ใช้ในกรุงเปียงยาง ซึ่งเกาหลีเหนือไม่ได้ชำระเงินค่ารถจนทุกวันนี้

รัฐบาลสวีเดนมีบทบาทสำคัญในการทำธุรกรรมนี้ ในช่วงกลางทศวรรษ 1970 ผู้ส่งออกในสวีเดนหลายรายได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตของเกาหลีเหนือและความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียตอย่างต่อเนื่อง เพราะมองเห็นศักยภาพของประเทศในแถบเอเชีย และรัฐบาลสวีเดนตระหนักถึงโอกาสนี้ จึงตกลงที่จะส่งเครื่องจักรกลหนักมูลค่ากว่า 70 ล้านดอลลาร์ พร้อมด้วยรถยนต์ Volvo 144 จำนวน 1,000 คัน 

การเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงธุรกรรมทางธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นการขับเคลื่อนทางการทูตอีกด้วย และอีกหนึ่งปีต่อมา สวีเดนก็กลายเป็นประเทศตะวันตกประเทศแรกที่เปิดสถานทูตในกรุงเปียงยาง ซึ่งในขณะนั้นเกาหลีเหนือ ก็ไม่ได้แย่ถึงขนาดนี้” 

Jonathan D. Pollack นักวิชาการอาวุโสของสถาบัน Brookings อธิบายว่า “หลังสงครามเกาหลี เศรษฐกิจของพวกเขาได้รับการสร้างขึ้นมาใหม่ กลายเป็นรัฐอุตสาหกรรมที่ใช้งานได้ และยังต้องพึ่งพาความช่วยเหลืออย่างมาก แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ก็ดูเหมือนจะไม่ใช่การเดิมพันที่เลวร้ายเช่นนี้”

รถยนต์วอลโว่ 144 คันหนึ่งที่วิ่งในกรุงเปียงยาง ซึ่งเกาหลีเหนือไม่ได้ชำระเงินค่ารถจนทุกวันนี้

รถยนต์วอลโว่ 144 ที่แข็งแกร่งและบึกบึน ถูกใช้โดยชนชั้นสูงของเกาหลีเหนือ และใช้วิ่งเป็นรถแท็กซี่ในกรุงเปียงยาง เมืองหลวงของเกาหลีเหนือ และแม้ว่าทุกวันนี้ยังมีรถวอลโว่บางคันยังคงใช้วิ่งเป็นรถแท็กซี่อยู่ แต่ว่าไม่มีทีท่าว่ารัฐบาลเกาหลีเหนือจะจ่ายเงินคืนรัฐบาลสวีเดน

การได้พบเห็น ‘รถยนต์วอลโว่’ บนท้องถนนในกรุงเปียงยางเป็นเวลาหลายปี ทำให้ได้รับฉายาว่า 'ผีสีฟ้า' 

แม้เศรษฐกิจในประเทศเกาหลีเหนือจะถดถอยและเกิดการคว่ำบาตรระหว่างประเทศอย่างรุนแรง แต่ก็ยังมีรถหรูนำเข้าจากสหภาพโซเวียตและยุโรป และรถเลียนแบบที่เกาหลีเหนือผลิตเองบนถนนสายกว้างของกรุงเปียงยางปะปนกัน นับตั้งแต่มีการสั่งซื้อมาเกือบ 50 ปี 

จำนวนเงินที่ค้างชำระสำหรับรถวอลโว่ 1,000 คันได้เกินขีดจำกัดที่กำหนดแล้ว และดูเหมือนว่าโอกาสที่จะได้รับการชำระเงินนั้นแทบจะเป็นศูนย์ แม้ว่าทางการสวีเดนยังคงส่งใบเรียกเก็บเงินไปยังเกาหลีเหนือปีละ 2 ครั้ง โดยค่าธรรมเนียมดังกล่าวเพิ่มขึ้นพร้อมดอกเบี้ยและภาษีอื่น ๆ ดอกเบี้ยและค่าปรับสำหรับหนี้รถยนต์ได้เพิ่มขึ้นเป็น 322 ล้านดอลลาร์ในช่วง 48 ปีที่ผ่านมาจนปัจจุบัน 

แม้ว่ารัฐบาลสวีเดนจะจ่ายเงินให้กับบริษัท Volvo ผู้ผลิตรถยนต์เต็มจำนวนด้วยเงินจากกองทุนสาธารณะแล้ว แต่รัฐบาลยังคงเป็นเจ้าหนี้เกาหลีเหนือสำหรับสินค้าของสวีเดนที่ส่งออกไปยังเกาหลีเหนือ ผลกระทบทางการเงินของข้อตกลงนี้น่าตกใจ และเกาหลีเหนือไม่มีทีท่าว่าจะชำระหนี้ที่ค้างชำระสวีเดนมาเป็นเวลานานแล้วแต่อย่างใด

 

เมื่อใต้ร่มไม้ใหญ่-ผืนป่า-ลำธาร ก่อกำเนิด 'ชีวิต-ทอแสงส่องให้ทั่วหล้า' แล้วเหตุไฉน จึงมีผู้ชี้นำว่า 'ความมืดมิด' คิดว่าเกิดจากร่มไม้ใหญ่

“ถูกปลูกฝังว่าเราควรอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่ จนสุดท้ายเรามองไม่เห็นแสงเลย #แล้วเมื่อไหร่เราจะเติบโตสักที” คำคมจากศิลปินท่านหนึ่ง ที่กลายเป็นข้อถกเถียงกันพอสมควรว่าหมายถึงอะไร ศิลปินท่านนั้นหิวแสง หรือกำลังพูดถึงการเติบโตแบบไหน 

ที่ผมเกริ่นมาข้างต้นนั้นช่างมันเถอะ คำคมของศิลปินท่านนั้นก็ช่างมันเถอะ!!!

สำหรับผมต้นไม้ใหญ่เป็นสิ่งสำคัญ ร่มไม้ที่มีอยู่คือความร่มเย็น การอยู่ใต้ร่มไม้เราก็เห็นแสงได้ ซึ่งข้อนี้คงขัดกับสิ่งที่ศิลปินท่านนั้นแสดงความคมแบบทื่อ ๆ ไว้

ความสำคัญของต้นไม้ใหญ่ที่ปกคลุมช่วยทำให้พืชพรรณเบื้องล่างชุ่มชื้นไม่โดนแสงแดดแผดเผา ประเทศไทยเราต้องการต้นไม้ใหญ่จำนวนมากเพื่อช่วยฟอกอากาศ ช่วยเก็บกักความชุ่มชื้นไว้ในผืนดิน ช่วยอุ้มชูต้นไม้เล็กให้ค่อย ๆ โตเป็นต้นไม้ใหญ่ 

ร่มไม้ใหญ่ที่ผมนึกถึงและอยากเล่าเรื่องราวคงจะเป็นเมื่อครั้งที่ได้ไปทำฝายทดน้ำที่เรียกว่า ‘ฝายแม้ว’ ที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อถวายแก่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ในปี ๒๕๔๙ 

ครั้งนั้นผมเริ่มต้นด้วยการสำรวจที่พื้นที่ป่าตามเส้นทางชมธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติศรีลานนา ซึ่งในวันนั้นผมได้มีโอกาสสัมผัส ‘ป่า’ ที่อุดมไปด้วยต้นไม้สูงใหญ่ โดยการนำทางของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ เส้นทางธรรมชาติที่คุณห้ามออกนอกทางเป็นอันขาดไม่งั้นหลงป่าแน่นอน 

เราเดินกันมาได้ราว ๆ ครึ่งชั่วโมง เดินพูดคุยกันแบบสบาย ๆ แม้จะเส้นทางจะมีความลำบากอยู่บ้าง เพราะเป็นทางขึ้น ๆ ลง ๆ แคบบ้าง กว้างบ้าง แต่ไม่มีความรู้สึกว่าร้อนเกินไป หรือเย็นเกินไป ด้วยร่มไม้จากป่าที่ปกคลุม พร้อมกับการได้รู้จักพันธุ์ต้นไม้ไม่คุ้นหู อย่าง น้ำเต้าพระฤาษี แต่ที่สำคัญกว่าผมได้พบกับความจริงที่สำคัญอย่างนึง

เจ้าหน้าที่อุทยานถามผมขณะเดินว่าสังเกตเห็นอะไรในป่าบ้างไหม ? คุณเห็นต้นไม้ที่หนาแน่นมีลักษณะยังไงบ้าง ? ผมนี่งงเลย มันก็ป่า มีต้นไม้แน่น แล้วมันยังไง ? 

ต้นไม้ที่หนาแน่นนั้น หากสังเกตดี ๆ มันมีความเป็นระเบียบเป็นบางส่วน คำว่า ‘บางส่วน’ ที่ว่ามันกินพื้นที่ ‘บางส่วน’ ของภูเขาที่ผมกำลังมองเห็นไม่ใช่บางส่วนเล็ก ๆ แต่มันเป็นบางส่วนที่ค่อนข้างกว้าง ป่าที่เห็นรวม ๆ จะเป็นป่าไม้เต็ง ส่วนที่เป็นระเบียบแทรกอยู่เป็นต้น ‘สัก’ ซึ่งก็มีอยู่ไม่น้อยโดยเฉพาะแถวๆ ริมห้วย

ป่าไม้ ‘สัก’ ที่เห็นเป็นระเบียบแต่ปกคลุมไปอย่างกว้างขวางนั้น เจ้าหน้าที่บอกผมว่าแต่เดิมมันเคยเป็นที่ ‘หัวโล้น’ เป็นวง ๆ อยู่ท่ามกลางภูเขา เพราะเกิดจากแผ้วถางทำไร่เลื่อนลอย ลักลอบตัดไม้ และน่าจะขยายวงไปมากกว่านี้ แต่พื้นที่ ‘หัวโล้น’ เหล่านี้ค่อย ๆ หายไปเพราะได้รับการปลูกป่าทดแทน จากการสังเกตของบุคคลผู้หนึ่งที่ได้นั่งเฮลิคอปเตอร์ผ่านไปเมื่อประมาณสัก ๑๐ กว่าปีก่อน

ป่าที่ถูกปลูกขึ้นเพื่อทดแทนป่าที่หายไป โดยเป็นการปลูกพันธุ์ไม้ที่ไม่ได้รบกวนระบบนิเวศเดิม ช่วยรักษาความชุ่มชื้นหน้าดิน และตลอดทางที่เดินผ่านจะเห็นทางน้ำขนาบไปด้วย แม้จะไม่มีน้ำแต่ก็มีความชุ่มน้ำอย่างเห็นได้ชัด

บางส่วนที่มีลำน้ำไหลผ่านผมก็จะเห็นฝายแม้วที่ทำขึ้นจากไม้ไผ่และก้อนหิน ขนาบสองฝั่งลำน้ำเล็กๆ ด้วยต้นไม้ใหญ่ปกคลุม 

‘ในหลวงรัชกาลที่๙’ คือบุคคลผู้นั่งเฮลิคอปเตอร์ผ่านไปในวันนั้น พระองค์ทรงสังเกตเห็นความแหว่งของป่า สีของป่าที่ดูเหมือนคนป่วย พระราชดำริในการปลูกป่าในภาคเหนือเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผสมกับการสร้างฝายแม้วเพื่อชะลอและกักเก็บน้ำให้เกิดประโยชน์ต่อการเกษตร เจ้าหน้าที่ท่านนั้นบอกกับผม 

นอกจาก ‘ป่าไม้’ จริง ๆ ที่พระองค์ทรงปลูกแล้ว พระองค์ยังทรง ‘ปลูกป่าในใจ’ ให้เกิดขึ้นใจของปวงชนด้วย ผมก็เป็นหนึ่งคนที่จดจำความร่มเย็นจากป่าที่พระองค์ทรงปลูกไว้ได้อย่างเต็มหัวจิตหัวใจ ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งของพระองค์ที่ว่า

“…ควรจะปลูกต้นไม้ในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็จะพากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดินและรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง...” 

เรื่องออกจากร่มไม้ใหญ่หรือเรื่องการเติบโต หากยังไม่รู้จัก และจะออกจากร่มไม้ก็ช่างมันเถอะนะครับ ส่วนเจ้าหน้าที่ท่านนั้นก็ได้พูดคุยกับผมมาอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นเพื่อนกัน และส่งข่าวคราวหากันอยู่บ่อย ๆ และเราเห็นตรงกันครับว่า...

บ้านเราต้องมีต้นไม้ มีป่า มีน้ำ แล้วเราถึงจะมี ‘ชีวิต’ ครับ

รู้จัก พ.ร.บ. 2546 กฎหมายของเด็ก ที่ไม่ใช่เรื่องเด็กๆ หากยังไม่เกิน 18 ต้องระแวดระวังและเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม

ในปี พ.ศ. 2566 มีจำนวนสถิติเด็กนักเรียนในประเทศประมาณ 6.5 ล้านคน 

ในกระแสแห่งโลกดิจิทัล เด็กสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างง่ายดาย ทั้งสะดวก และมีราคาถูก ซึ่งมีทั้งด้านดีและด้านมืด การสอดส่อง ดูแล คอยให้คำปรึกษาของพ่อแม่ ผู้ปกครอง จึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้เด็กไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดี และทำให้เด็กสามารถเจริญเติบโต เป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในภายหน้า 

พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 เป็นกฎหมายที่ส่งเสริม คุ้มครอง และป้องกัน การปฏิบัติต่อเด็ก เพื่อเป็นหลักประกันว่าเด็กจะได้รับการอุปการะเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน และมีพัฒนาการที่เหมาะสม

โดยกำหนดให้ เด็ก หมายถึง บุคคลที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี เว้นแต่ผู้ที่บรรลุนิติภาวะโดยการสมรส ให้มีคณะกรรมการคุ้มครองเด็กในระดับชาติและในระดับจังหวัด การปฏิบัติต่อเด็กไม่ว่ากรณีใด ต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ มีข้อกำหนดการให้ความช่วยเหลือ วิธีการสงเคราะห์เด็ก เพื่อพัฒนาและฟื้นฟูต่อไป

เด็กที่ได้รับการทารุณกรรม ต้องได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก มีการแยกตัวเด็กจากผู้กระทำ และต้องได้รับเยียวยาทั้งทางร่างกายและจิตใจเด็กอย่างเร่งด่วน

มีข้อกำหนดห้ามมิให้กระทำการใด ๆ กับเด็ก ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม เช่น การทารุณกรรมเด็ก การละเลยไม่ให้สิ่งจำเป็นแก่การดำรงชีพ การบังคับขู่เข็ญให้เด็กไปเป็นขอทาน การแสวงหาประโยชน์ทางการค้าจากเด็ก การยินยอมให้เด็กเล่นการพนัน เข้าไปในสถานที่ต้องห้าม หรือการขายสุราหรือบุหรี่ให้แก่เด็ก หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน ปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มีข้อกำหนดสำหรับผู้ปกครอง เช่น ห้ามทอดทิ้งเด็กไว้ในสถานรับเลี้ยงโดยมีเจตนาทิ้งเด็ก ต้องดูและให้สิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต ห้ามปฏิบัติต่อเด็กที่เป็นการขัดขวางการเจริญเติบโต

โลกในอนาคตข้างหน้า เป็นโลกของเด็กในยุคนี้ หากเด็กได้รับการดูแล อบรม ให้การศึกษา ปลูกฝังการรู้จักหน้าที่และเคารพในสิทธิของบุคคลอื่น เพื่อให้เด็กได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สังคมของโลกยุคหน้าย่อมเป็นสังคมที่ดี ผู้คนจะดำรงชีวิตอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขแน่นอน

‘Desmond Doss’ พลทหารแห่งกองทัพบกสหรัฐฯ ผู้ปฏิเสธการจับปืน สู่...วีรบุรุษผู้สร้างปาฏิหาริย์ ณ สมรภูมิ Okinawa ในสงครามโลกครั้งที่ 2

สิบโท ‘Desmond Doss’ วีรบุรุษ… ผู้ปฏิเสธการจับปืนแห่งสมรภูมิ Okinawa

เมื่อ 2 อาทิตย์ก่อนได้เล่าถึงความเหี้ยมโหดของทหารของกองทัพบกอเมริกันในสงครามเวียดนาม อาทิตย์นี้ขอเล่าถึงวีรบุรุษสงครามทหารบกอเมริกันเช่นเดียวกัน ความแตกต่างระหว่างสองเรื่องนี้คือ ทหารนายนี้เป็นผู้ได้รับเหรียญกล้าหาญสูงสุดของรัฐสภาอเมริกัน โดยไม่ได้จับปืนหรือยิงปืนเลยแม้แต่นัดเดียว ด้วยเขาเป็นคริสต์ศาสนิกชนผู้ที่มีศรัทธาอย่างมากมาย และปฏิเสธการจับปืนโดยเด็ดขาด
วันที่ 1 เมษายน 1942 ‘Desmond Doss’ เข้าร่วมกองทัพสหรัฐฯ เขาไม่รู้เลยว่าในเวลาอีก 3 ปีครึ่งต่อมา เขาจะได้มี โอกาสมายืนอยู่บนสนามหญ้าของทำเนียบขาว และรับรางวัลสูงสุดของประเทศสำหรับความกล้าหาญ

เหรียญเกียรติยศแห่งรัฐสภาสหรัฐฯ (สำหรับทหารบก)

จากจำนวนชายชาวอเมริกันในเครื่องแบบ 16 ล้านคน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีเพียง 431 คนเท่านั้น ที่ได้รับเหรียญเกียรติยศแห่งรัฐสภาสหรัฐฯ (Congressional medal of merit) หนึ่งในนั้นถูกวางไว้บนคอของชายหนุ่มผู้มีศรัทธามั่นในคริสต์ศาสนานิกาย ‘Seventh-day Adventist’ โดยในระหว่างการสู้รบเขาไม่ได้สังหารทหารฝ่ายศัตรูเลยแม้แต่คนเดียว เนื่องด้วยอันที่จริงแล้วเขาปฏิเสธที่จะจับปืน อาวุธเพียงอย่างเดียวของเขาคือ ‘พระคัมภีร์และความศรัทธาอย่างยิ่งในพระเจ้า’

ประธานาธิบดี ‘Harry S. Truman’ จับมือสิบโท Desmond Thomas Doss อย่างอบอุ่น แล้วชูมือนั้นตลอดเวลาที่มีการอ่านออกเสียงคำพูดของเขาให้ผู้คนที่มารวมตัวกันนอกทำเนียบขาว เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 1945 “ผมภูมิใจในตัวคุณ” ประธานาธิบดี Truman กล่าว “คุณสมควรได้รับสิ่งนี้จริง ๆ ผมถือว่านี่เป็นเกียรติมากกว่าการเป็นประธานาธิบดีด้วยซ้ำ”

ประธานาธิบดี ‘Harry S. Truman’ มอบเหรียญเกียรติยศแห่งรัฐสภาสหรัฐฯ
ให้กับสิบโท ‘Desmond Thomas Doss’

การเดินทางที่ทำให้หนุ่ม Desmond มาจนถึงจุดสูงนี้ถือเป็นการเดินทางที่ท้าทายอย่างยิ่ง เมื่อฐานทัพสหรัฐฯ ที่อ่าว Pearl ถูกโจมตี เขากำลังทำงานอยู่ที่อู่ต่อเรือของกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่เมือง Newport News ซึ่งสามารถเลื่อนการเกณฑ์ทหารของเขาออกไปได้ แต่เขาต้องการเป็นทหารเพื่อประเทศชาติของเขา โดยเต็มใจเสี่ยงชีวิตในแนวหน้า

แต่เมื่อเขาเข้าร่วมกองทัพ Desmond ถูกสันนิษฐานด้วยการจัดประเภทว่า ‘เป็นผู้ต่อต้านที่รู้สติ’ ซึ่งไม่ต้องการที่จะจับต้องอาวุธปืน เขาอยากเป็นทหารเสนารักษ์ โชคดีที่เขาได้รับมอบหมายให้ทำงานในกองร้อยทหารราบ การที่เขาปฏิเสธที่จะจับปืนทำให้เกิดปัญหามากมายกับบรรดาเพื่อนทหารของเขา เหล่าเพื่อนทหารมองเขาอย่างหมางเมิน และเรียกเขาว่า ‘เป็นบุคคลที่ไม่เหมาะที่จะเป็นทหาร’

ทหารนายหนึ่งในค่ายถึงกับออกปากเตือนเขาว่า “Doss ทันทีที่เราเข้าสู่การสู้รบ ฉันจะทำให้มั่นใจว่า แกจะไม่กลับมามีชีวิตอีก” เพราะแม้แต่ผู้บังคับบัญชาของเขาเองก็ยังต้องการกำจัดชายหนุ่มชาว Virginia ร่างผอมที่พูดจาด้วยท่าทางที่อ่อนโยน พวกเขามองว่า Doss เป็นภาระ ไม่มีใครเชื่อว่า ‘ทหารที่ไม่ยอมจับอาวุธ’ จะเหมาะต่อการเป็นทหาร พวกเขาพยายามข่มขู่ ดุด่า ทั้งยังมอบหมายหน้าที่ที่ยากเป็นพิเศษให้เขา และประกาศว่าเขามีสภาพจิตใจไม่เหมาะกับการเป็นทหารในกองทัพ

จากนั้นพวกเขาก็พยายามนำ Doss ขึ้นศาลทหาร เพราะปฏิเสธคำสั่งโดยตรงที่ให้ถือปืน แต่พวกเขาหาทางกำจัด Doss ออกไปไม่ได้ และ Doss เองก็ปฏิเสธที่จะลาออกจากกองทัพเอง เขาเชื่อว่าหน้าที่ของเขาคือ การเชื่อฟังพระเจ้าและรับใช้ประเทศชาติของเขา แต่ทุกอย่างก็ต้องเป็นไปตามลำดับขั้นตอนนั้น และความเชื่อมั่นอันแน่วแน่ของเขานั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

ภาพวาดของ ‘Cain’ ที่ถือท่อนไม้ยืนอยู่เหนือร่างของ ‘Abel’ น้องชายของเขาที่เสียชีวิตไปแล้ว

Desmond ได้รับการเลี้ยงดูมาด้วยความเชื่ออย่างแรงกล้าในพระคัมภีร์ เมื่อพูดถึงบัญญัติสิบประการ Desmond ได้นำมาประยุกต์ใช้เป็นการส่วนตัว

ในช่วงวัยเด็ก พ่อของเขาซื้อภาพใส่กรอบขนาดใหญ่จากการประมูล เป็นภาพบัญญัติสิบประการพร้อมภาพประกอบสีสันสดใส ถัดจากคำว่า “เจ้าอย่าฆ่า” เป็นภาพวาดของ Cain ถือท่อนไม้ยืนอยู่เหนือร่างของ Abel น้องชายของเขาที่เสียชีวิตไปแล้ว Desmond ตัวน้อยจะมองดูภาพนั้นแล้วถามว่า “ทำไม Cain ถึงฆ่า Abel ทำไมพี่ชายถึงทำแบบนั้นได้” พระเจ้าตรัสในใจของ Desmond ตอบว่า “ถ้าเธอรักเขา เธอจะไม่ฆ่าเขา” ด้วยภาพนั้นเองที่ฝังแน่นอยู่ในใจของเขา เขาตัดสินใจว่าตลอดชีวิตนี้เขาจะไม่มีวันฆ่าใคร

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อทางศาสนาของเขารวมถึงการเข้าร่วมโบสถ์ทุกสัปดาห์ ทำให้บรรดาผู้บังคับบัญชาของเขาต่างก็รู้สึกไม่พอใจมาก เขาขอบัตรผ่านทุกสัปดาห์เพื่อจะได้ไปโบสถ์ทุกวันเสาร์ นั่นหมายถึงว่าเขามีวันหยุดสัปดาห์ละสองครั้ง เพื่อนทหารของเขาเห็นว่าเขาอ่านพระคัมภีร์อย่างเคร่งครัด ซึ่งไม่สอดคล้องกับทหารนายอื่น ๆ โดยสิ้นเชิง บรรดาเพื่อนทหารจึงรังเกียจเขา รังแกเขา เรียกเขาด้วยชื่อที่ดูถูก กระทั่งสาปแช่งเขาต่าง ๆ นานา โดยที่ผู้บังคับบัญชาของ Desmond ก็ทำให้ชีวิตของเขาต้องลำบากเช่นกัน

ทว่าสิ่งต่าง ๆ เริ่มพลิกผันเมื่อมีผู้ค้นพบว่า เสนารักษ์ผู้เงียบขรึมคนนี้มีวิธีรักษาแผลพุพองบนเท้าที่บอบช้ำและเหนื่อยล้าจากการเดินขบวน และหากมีใครเป็นลมเพราะลมแดด เสนารักษ์คนนี้ก็อยู่เคียงข้างเขาและเสนอเสบียงอาหารของตัวเองให้ด้วย Desmond ไม่เคยมีความแค้น ปฏิบัติต่อเพื่อนทหารด้วยความกรุณาและความสุภาพอ่อนโยน

‘เนินสูง Maeda’ ซึ่งเป็นเนินหินสูงตระหง่าน (Hacksaw Ridge)

Desmond ทำหน้าที่ในสมรภูมิบนเกาะ Guam, Leyte และ Okinawa ในการปฏิบัติการทางทหารแต่ละครั้ง เขาได้แสดงความทุ่มเทเป็นพิเศษต่อเพื่อนทหารของเขา ในขณะที่คนอื่นกำลังพยายามเข่นฆ่าเอาชีวิต เขาก็ยุ่งอยู่กับการช่วยชีวิต เมื่อมีเสียงร้องเรียกหา “เสนารักษ์” ดังขึ้นในสนามรบ เขาไม่เคยคำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเองเลย เขาวิ่งเข้าสู่การสู้รบอันดุเดือดซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อรักษาเพื่อนทหารที่บาดเจ็บ และพากลับสู่ที่ปลอดภัย

ทั้งหมดนี้ ในขณะที่กระสุนของศัตรูพุ่งผ่านมาและกระสุนปืนครกก็ระเบิดรอบตัวเขา หลายครั้งขณะรักษาทหารที่ได้รับบาดเจ็บ Desmond ต้องอยู่ใกล้กับแนวข้าศึกมากจนเขาได้ยินเสียงพูดคุยของทหารญี่ปุ่น ในเดือนพฤษภาคม 1945 ขณะที่กองทัพเยอรมันยอมจำนนในอีกซีกโลกหนึ่ง กองทัพญี่ปุ่นก็ปกป้องพื้นที่ของตนอย่างดุเดือดจนทหารคนสุดท้าย ซึ่งเกาะ Okinawa ที่มีเนินสูงข่ม Maeda เป็นแนวป้องกันเพียงแห่งเดียวที่เหลืออยู่ต่อการบุกของฝ่ายสัมพันธมิตรในบ้านเกิดของพวกเขา ทหารในกองพลของ Desmond ถูกสั่งซ้ำแล้วซ้ำอีกให้พยายามยึดเนินสูงข่ม Maeda ให้ได้

เนินดังกล่าวเป็นเนินหินสูงตระหง่าน (Hacksaw Ridge) ที่กองทหารอเมริกันต้องเผชิญ หลังจากที่กองกำลังอเมริกันยึดยอดหน้าผาได้แล้ว ทหารอเมริกันก็ต้องตกตะลึง เมื่อกองกำลังญี่ปุ่นโผล่จากที่ซ่อนออกมาโจมตีตอบโต้อย่างดุเดือด ทหารอเมริกันถูกสั่งให้ถอยทันที ทหารทั้งหมดรีบเร่งปีนกลับลงมาตามหน้าผาสูงชัน ยกเว้นหนึ่งนาย คือ Desmond ทหารอเมริกันจำนวนน้อยกว่า 1 ใน 3 ของทั้งหมดกลับลงมาได้ ส่วนที่เหลือนอนบาดเจ็บ กระจัดกระจายไปทั่วดินแดนของศัตรูโดยถูกทิ้งและปล่อยให้ตาย แต่ Desmond เป็นทหารเพียงนายเดียวที่ฝ่าฝืนคำสั่งและพุ่งกลับเข้าไปในสนามรบ เพื่อช่วยชีวิตเพื่อนทหารของเขาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก่อนที่พวกเขาเหล่านั้นจะล้มลงหรือเสียชีวิต ด้วยความมุ่งมั่นอันแรงกล้าและความกล้าหาญอันแน่วแน่ของเขา ส่งผลให้มีผู้รอดชีวิตอย่างน้อย 75 นาย ในวันนั้นเป็นวันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม 1945 ซึ่งวันเสาร์ถือเป็น ‘วันสะบาโต’ (Sabbath Day) หรือ ‘วันพระ’ ตามคริสตจักรนิกาย Seventh-day Adventist

‘Hacksaw Ridge’ ภาพยนตร์ซึ่งสร้างจากเรื่องของสิบโท Desmond Thomas Doss

ในที่สุด ทหารอเมริกันก็เข้ายึด Hacksaw Ridge จนได้ Okinawa ถูกทหารอเมริกันค่อย ๆ ยึดรุกคืบได้ทีละเล็กทีละน้อยด้วยการสู้รบที่นองเลือด หลายวันต่อมาระหว่างการโจมตีในตอนกลางคืน Desmond ได้รับบาดเจ็บสาหัส เมื่อระเบิดมือญี่ปุ่นตกลงมาใกล้เท้าของเขา ขณะกำลังหลบซ่อนตัวอยู่ในหลุมกระสุนปืนใหญ่พร้อมกับเพื่อนทหารราบอีก 2 นาย แรงระเบิดทำให้เขากระเด็น สะเก็ดระเบิดฉีกเข้าที่ขาขึ้นไปจนถึงสะโพก Desmond พยายามรักษาบาดแผลของตัวเองอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ขณะพยายามเข้าให้ถึงที่ปลอดภัย แต่เขาก็ถูกกระสุนปืนจากสไนเปอร์ทหารญี่ปุ่นยิงจนแขนของเขาหักอีก การกระทำที่กล้าหาญของเขาในฐานะเสนารักษ์

แม้การสู้รบจะเสร็จสิ้นแล้ว แต่มิใช่สำหรับ Desmond เขายืนกรานให้หามพาทหารที่บาดเจ็บคนอื่น ๆ ไปก่อน ก่อนที่จะช่วยเหลือเขา แม้จะมีอาการบาดเจ็บ ทนทุกข์ทรมานด้วยความเจ็บปวดและการเสียเลือด แต่เขาก็ยังคงให้ความสำคัญกับทหารนายอื่น ๆ ก่อนความปลอดภัยของตนเอง เขาพร้อมเลือกที่จะตายเพื่อให้เพื่อนทหารอีกคนมีชีวิตรอดอยู่ต่อไปได้

‘Desmond Doss’ สนทนากับประธานาธิบดี ‘President John F. Kennedy’
ในโอกาส 100 ปี ของเหรียญเกียรติยศแห่งรัฐสภาสหรัฐฯ

นอกเหนือจากเหรียญเกียรติยศแห่งรัฐสภาสหรัฐฯแล้ว Desmond Doss ยังได้รับเหรียญ ‘Bronze Star’ สำหรับความกล้าหาญด้วย Oak Leaf cluster 1 ใบ (แสดงว่าได้รับเหรียญ Bronze Star 2 เหรียญ) เหรียญ ‘Purple Hearts’ ที่มีกลุ่ม Oak Leaf cluster 2 ใบ (แสดงว่าได้รับเหรียญ Purple Hearts 3 เหรียญ) เหรียญ ‘Asiatic-Pacific Campaign’ พร้อมเหรียญ ‘Beachhead arrowhead’ (แสดงว่าได้ทำหน้าที่ในการรบ 4 ครั้ง รวมถึงการยกพลขึ้นบกภายใต้การสู้รบ) เหรียญความประพฤติดี, เหรียญ ‘American Defense Campaign’ และที่ไม่ธรรมดาคือ เหรียญซึ่งประธานาธิบดีเป็นผู้มอบให้กับกองพันที่ 1, กรมทหารราบที่ 30, กองทหารราบที่ 77 จากการยึดและรักษาเนินสูง Maeda เอาไว้ได้ ‘เหรียญเกียรติยศแห่งรัฐสภาสหรัฐฯ’ สร้างขึ้นในช่วงสงครามกลางเมืองภายใต้ประธานาธิบดี ‘Abraham Lincoln’ ในปี 1862 ในวันครบรอบ 100 ปี ในปี 1962 ผู้รับรางวัลคนอื่น ๆ ได้เลือกให้ Desmond Doss เป็นตัวแทนในพิธีที่ทำเนียบขาว ซึ่งเขามีโอกาสได้สนทนากับประธานาธิบดี ‘President John F. Kennedy’ ด้วย

ก่อนที่จะถูกปลดประจำจากกองทัพบกสหรัฐฯ ในปี 1946 Desmond เป็นวัณโรค เขาต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในโรงพยาบาลนานถึง 6 ปีหลังจากนั้น เนื่องจากเมื่อช่วงสงคราม ในค่ำคืนที่หนาวเย็น ตัวเขาเปียกปอนจนทำให้นอนไม่หลับ เขาตัวสั่นในโพรงจิ้งจอกที่เต็มไปด้วยโคลนบนเกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งนั่นส่งผลเสียต่อสุขภาพเขา เมื่ออาการป่วยรุนแรงขึ้น ปอดซ้ายของ Desmond ต้องได้รับการผ่าตัดออกพร้อมกับกระดูกซี่โครงอีก 5 ซี่ เขารอดชีวิตมาได้ด้วยปอดข้างเดียวตลอดชีวิตที่เหลืออยู่ จนกระทั่งปอดของเขาล้มเหลวเมื่ออายุได้ 87 ปี

สิบโท ‘Desmond Thomas Doss’ เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2006 หลังจากเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการหายใจติดขัด ร่างของเขาถูกฝังอยู่ในสุสานแห่งชาติ เมือง Chattanooga มลรัฐ Tennessee


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top