Monday, 6 May 2024
COLUMNIST

พันตรี ‘Deeksha C. Mududevan’ นายทหารหญิงสุดแกร่ง ฝ่าฟันอุปสรรค กลายเป็น ‘นักรบพิเศษหญิง’ คนแรกแห่งกองทัพบกอินเดีย

การเป็นทหารหญิงในกองทัพอินเดียถือเป็นความยากลำบากมากมายแล้ว แต่การสมัครเข้ารับการทดสอบเพื่อคัดเลือกเข้าฝึกในหลักสูตรนักรบพิเศษ (Balidan) ของกองทัพบกอินเดียถือเป็นความยากลำบากที่มากกว่าปกติธรรมดามากมายหลายเท่า เมื่อภาพของพันตรี ‘Deeksha’ นายทหารหญิงแห่งกองทัพบกอินเดียประดับเครื่องหมาย Balidan อันทรงเกียรติในระหว่างขบวนพาเหรดวันสาธารณรัฐปี 2024 เผยแพร่บนอินเทอร์เน็ตจึงเป็นที่ฮือฮาในสังคมอินเดียเป็นอันมาก เพราะเกียรติยศที่หาได้ยากนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความทุ่มเทและการทำงานหนักของเธอในกองทัพ อันแสดงถึงความสามารถ ความเข้มแข็ง และความอดทนเพื่อให้การผ่านการคัดเลือกและฝึกฝนอันโหดทรหดที่สุดของกองทัพบกอินเดียเพื่อที่จะเป็น ‘นักรบพิเศษ’ 

เรื่องราวของพันตรี Deeksha เป็นมากกว่าความสำเร็จของเธอ ด้วยความปรารถนาของเธอที่จะมุ่งมั่นที่จะตอบแทนประเทศชาติ ภาพของเธอที่เผยแพร่บนอินเทอร์เน็ตกลายเป็นแรงจูงใจและกระตุ้นให้ชาวอินเดียในการเข้าร่วมกับกองทัพเป็นจำนวนมาก ผู้พวกเขาประกอบอาชีพในกองทัพ ทั้งนี้ พันตรี Deeksha มาจากเมือง Davangere รัฐ Karnataka เริ่มต้นจากการฝึกฝนอบรมใน National Cadet Corps (NCC) เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรขั้นพื้นฐานสำหรับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ (MOBC) ที่ Army Medical Corps Center ในเมืองลัคเนา ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตทหารอันน่าทึ่งของเธอ ต่อมาเข้าฝึกฝนอบรมในหลักสูตร CDS Exam OTA Online Coaching ในฐานะเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ในกองทัพบกอินเดีย 

ในที่สุดร้อยเอก Deeksha (ยศขณะนั้น) ก็ได้ประจำการในกองพันทหารพลร่ม (กองกำลังรบพิเศษ) บทบาทของเธอมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเธอได้ฝึกฝนร่วมกับกองกำลังรบพิเศษ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างปฏิบัติการพิเศษ ความท้าทายหลักประการแรกของร้อยเอก Deeksha คือความพยายามของเธอในการเข้าร่วมกรมทหารพลร่ม แม้ว่าในตอนแรกจะถูกปฏิเสธสองครั้งเนื่องจากข้อจำกัดทางกายภาพและการบาดเจ็บระหว่างความพยายามในครั้งที่สอง แต่ความมุ่งมั่นของเธอก็ไม่เคยสั่นคลอน ด้วยแรงบันดาลใจจากผู้บังคับบัญชาของเธอ พันเอก Shivesh Singh ทำให้เธออดทนอย่างหนัก และในที่สุดก็ประสบความสำเร็จในการได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกของหน่วยพลร่ม และต่อมาเป็นกองกำลังพิเศษในเดือนธันวาคม 2022 หลังจากได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลสนาม 303 ในเมือง Tangtse ของเขต Leh

พิธีมอบรางวัล Best in Physical training 
(หลักสูตรขั้นพื้นฐานสำหรับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ MOBC)

ร้อยเอก Deeksha ต้องเผชิญและเอาชนะอุปสรรคมากมาย ความยืดหยุ่นและความมุ่งมั่นตั้งใจของเธอเป็นข้อพิสูจน์ถึงลักษณะนิสัยและความทุ่มเทของเธอในการรับใช้ประเทศชาติ ในความสำเร็จอันน่าทึ่งของเธอ ผู้ที่สนับสนุนและให้คำปรึกษาของเธอเป็นพิเศษคือ พันเอก Bindu Nair ซึ่งมีส่วนสำคัญในความสำเร็จของเธอ เนื่องจากการชี้แนะและการสนับสนุนของเขาทำให้เธอได้รับรางวัล Best in Physical training (หลักสูตรขั้นพื้นฐานสำหรับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ MOBC) 

เรื่องราวของพันตรี Deeksha เป็นมากกว่าความสำเร็จของเธอ ด้วยปณิธานของเธอที่จะเข้าร่วมกองทัพอินเดียและรับใช้ชาติ เครื่องหมาย Balidan ที่เธอประดับไม่ได้เป็นเพียงความสำเร็จส่วนตัวเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของความมุ่งมั่นของเธอและความเป็นไปได้ที่รออยู่ข้างหน้าสำหรับสตรีในกองทัพอินเดีย เมื่อเรื่องราวของเธอแพร่กระจายไปทั่วอินเทอร์เน็ต พันตรี Deeksha จึงถือเป็นแบบอย่างของสตรีอินเดียที่ทรงพลัง โดยแสดงให้เห็นว่าด้วยความอุตสาหะและความทุ่มเทของเธอ จนสามารถทำลายอุปสรรคและบรรลุสิ่งพิเศษได้ และได้รับการเลื่อนยศเป็นพันตรี และความสำเร็จของเธอในการประดับเครื่องหมาย Balidan ถือเป็นแรงบันดาลใจให้กับชาวอินเดียทุกคนที่มีความปรารถนาที่จะรับใช้ประเทศชาติอีกด้วย

โดยเครื่องหมาย Balidan ถือเป็นเครื่องหมายประดับที่มีเกียรติและมีความโดดเด่นสูงสุดของกองทัพอินเดีย โดยเฉพาะในกองกำลังพิเศษของกรมทหารพลร่ม เครื่องหมาย Balidan ถือเป็นตำแหน่งที่สำคัญในฐานะสัญลักษณ์แห่งความเสียสละขั้นสูงสุดและความกล้าหาญที่ปราศจากความย่อท้อ ต้นกำเนิดของเครื่องหมาย Balidan สามารถสืบย้อนไปถึงกองกำลังพิเศษชั้นยอดของกองทัพอินเดียที่รู้จักในชื่อ Parachute Regiment (กรมทหารพลร่ม) ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านทักษะการต่อสู้ที่ยอดเยี่ยม การเคลื่อนกำลังที่รวดเร็ว และความมุ่งมั่นอันแน่วแน่ แนวคิดเบื้องหลังเครื่องหมาย Balidan เกิดขึ้นเพื่อเป็นการให้เกียรติและยกย่องความเสียสละอันสูงสุดของทหารแห่งกองทัพอินเดียในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งคำว่า ‘Balidan’ มาจากภาษาสันสกฤต โดย ‘Bali’ หมายถึงการเสียสละ และ ‘Dan’ หมายถึงเครื่องบูชา ดังนั้น เครื่องหมาย Balidan จึงสื่อถึงการกระทำอย่างไม่เห็นแก่ตัวในการสละชีวิตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ แสดงถึงความกล้าหาญ และการอุทิศตนของทหารที่ทุ่มเทอย่างเต็มที่เพื่อปกป้องอธิปไตยของอินเดีย การออกแบบและรูปลักษณ์ เครื่องหมาย Balidan ประกอบด้วยกริชคอมมานโดชี้ลง พร้อมด้วยปีกที่ยื่นขึ้นไปจากใบมีด นอกจากนี้ยังมีม้วนหนังสือวางทับอยู่บนใบมีด โดยแสดงคำจารึกว่า ‘Balidan’ ด้วยอักษรเทวนาครี

เครื่องหมาย Balidan ถือเป็นเครื่องหมายเกียรติยศสูงสุดของกองทัพอินเดีย ซึ่งสวมใส่โดยสมาชิกของกองกำลังพิเศษของกรมทหารพลร่มเท่านั้น ทหารพลร่มอินเดียทั้งหมดเป็นอาสาสมัคร โดยบางคนเข้าร่วมกับกรมทหารพลร่มโดยตรงหลังจากการสมัคร ในขณะที่อีกหลาย ๆ คนย้ายจากหน่วยอื่น ๆ ทั่วไป ในการเป็นสมาชิกกองกำลังพิเศษ จะต้องผ่านกระบวนการคัดเลือกที่เข้มงวด ในขั้นต้นทุกคนจะต้องมีคุณสมบัติเป็นพลร่มก่อนจึงจะสามารถเลือกเข้าสู่การคัดเลือกเป็นสมาชิกของกองกำลังพิเศษได้ การคัดเลือกจะดำเนินการปีละสองครั้งในฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง และมีชื่อเสียงว่าเป็นหนึ่งในการฝึกอบรมที่ท้าทายและยาวนานที่สุดในโลก ซึ่งผู้สมัครจะต้องอดนอน อดทนต่อ ความอัปยศอดสู ความเหนื่อยล้า และความท้าทายที่รุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ มีการรายงานการเสียชีวิตในระหว่างกระบวนการคัดเลือกและอัตราการลาออกสูงมาก โดยการคัดเลือกจะไม่เกิน 10% ของผู้สมัคร แม้ว่าจะผ่านกระบวนการคัดเลือกได้สำเร็จ แค่พวกเขาจะยังไม่ถือว่าเป็นสมาชิกกองกำลังพิเศษ กว่าพวกเขาจะสำเร็จ ‘หลักสูตร Balidan’ ระยะเวลาหนึ่งปี หากสามารถฝึกฝนจนผ่านพ้นจากช่วงเวลาที่ท้าทายนี้ พวกเขาจะได้รับเครื่องหมาย Balidan และได้รับแต่งตั้งเข้าสู่กรมทหารพลร่มอย่างเป็นทางการ 

การประดับเครื่องหมาย Balidan เป็นข้อพิสูจน์ถึงความกล้าหาญที่ไม่ธรรมดาและความมุ่งมั่นอันแน่วแน่ของเหล่าทหาร และทำหน้าที่เป็นเครื่องเตือนใจถึงการเสียสละของพวกเขา ทั้งยังเป็นวิธีในการทำให้ความทรงจำของพวกเขาคงอยู่ตลอดไป โดยทั่วไปตราจะติดไว้ที่กระเป๋าหน้าอกด้านขวาของเครื่องแบบ ใกล้กับหัวใจ ซึ่งบ่งบอกถึงความเชื่อมโยงชั่วนิรันดร์ระหว่างชาติและทหารพลร่ม อีกทั้ง เครื่องหมาย Balidan มีความสำคัญต่อความรู้สึกสำหรับครอบครัวของหน่วยรบพิเศษเป็นอย่างมาก ด้วยเครื่องหมาย Balidan ทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจและการปลอบโยน โดยเป็นสัญลักษณ์ที่จับต้องได้เพื่อเป็นเกียรติแก่การเสียสละของผู้เป็นที่รัก และเครื่องหมาย Balidan แสดงถึงความกตัญญูของประเทศชาติและเป็นสิ่งเตือนใจอยู่เสมอว่าหน้าที่และความเสียสละของพวกเขาจะไม่มีวันลืม เครื่องหมาย Balidan สัญลักษณ์แห่งความเสียสละ ความกล้าหาญ และการอุทิศตนที่ยั่งยืนในกองทัพอินเดีย เป็นสัญลักษณ์ของจิตวิญญาณอันเสียสละของทหารที่พร้อมเสียสละเพื่อชาติอย่างสูงสุด ด้วยการให้เกียรติในความทรงจำและรับทราบถึงความกล้าหาญของพวกเขา เครื่องหมาย Balidan จะรับประกันว่า มรดกของพวกเขาจะคงอยู่ต่อไป โดยสร้างแรงบันดาลใจให้กับทหารรุ่นต่อ ๆ ในการรับใช้ประเทศชาติด้วยเกียรติยศและความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างแน่วแน่

สำหรับบ้านเราแล้ว พลร่มหญิงรุ่นแรกถือกำเนิดในปี พ.ศ. 2507 ครบ 60 ปีพอดี โดยสังกัดศูนย์สงครามพิเศษหรือหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษในปัจจุบัน ทุกวันนี้นักรบหญิงไทยสังกัดกองกำลังทหารพรานแห่งกองทัพบกและกองกำลังทหารพรานนาวิกโยธินแห่งกองทัพเรือได้ปฏิบัติหน้าที่เยี่ยงนักรบชายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้และพื้นที่ชายแดนทั่วประเทศไทย น่าเสียดายที่เหล่าทัพต่าง ๆ ห่วงใยนักรบหญิงมากจนเกินไป ทำให้ทหารหญิงของไทยส่วนใหญ่แล้วได้ปฏิบัติหน้าที่เพียงแต่งานธุรการและสนับสนุนการรบ อาทิ แพทย์ พยาบาล ในโลกยุคปัจจุบันเหล่าทัพต่าง ๆ ของไทยควรที่จะได้เปลี่ยนวิธีคิด โดยสนับสนุนให้ทหารหญิงมีบทบาทหน้าที่ในภารกิจหลักของกองทัพให้มากยิ่งขึ้นเพื่อให้เกิดความทัดเทียมและความเสมอภาคเฉกเช่นเดียวกับหลาย ๆ ประเทศ อันจะเป็นการสร้างเสริมความแข็งแกร่งให้กับหญิงไทยและสังคมไทยในภาพรวมต่อไป

เรื่อง : ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล
ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ อาจารย์พิเศษหลักสูตรปริญญาโทและเอก นักเล่าเรื่องมากมายในหลากหลายมิติ เป็นผู้ที่ชื่นชมสนใจในประวัติศาสตร์สงครามสมัยใหม่ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ

รู้จัก ‘เกาเหลา’ วาระแห่งสยาม เมื่อถึงงานเลี้ยงตรุษจีน จริงจังมากถึงขั้นต้องมี ‘เจ้ากรมเกาเหลาจีน’ ดูแลเฉพาะ

เนื่องในเทศกาลตรุษจีน ผมก็เลยอยากจะเล่าเรื่องที่เกี่ยวกับตรุษจีนสักหน่อย แต่เรื่องของงานฉลอง ความเป็นมา การกราบไหว้บรรพบุรุษ เทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์คงมีคนเขียนเล่าถึงกันเยอะแล้ว ผมเลยอยากจะขอเล่าเรื่องประกอบเทศกาลที่คนนึกไม่ค่อยถึงอย่างเรื่องของอาหาร โดยเฉพาะเรื่องของ ‘เกาเหลา’ ที่เมื่อกว่าร้อยปีก่อนเคยมี ‘กรมเกาเหลาจีน’ ซึ่งมีเจ้ากรมระดับท่านขุนเลยทีเดียว รวมไปถึงคำว่า ‘เหลา’ ที่เป็นขั้นสุดของอาหารหรูมันมีความเป็นมายังไง 

ย้อนกลับไปในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เมื่อถึงเทศกาลตรุษจีน กลุ่มเจ้าภาษีนายอากร หรือผู้มั่งมีชาวจีนในกรุงเทพฯ ต่างนำสิ่งของมาทูลเกล้าฯ ถวาย อาทิ ของสด หมู เป็ด ไก่ เป็นจำนวนมาก ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๓ ทรงมีพระราชปรารภว่า สิ่งของเหล่านี้ ควรจะได้เป็นไปในทางการกุศล จึงโปรดให้มีงานพระราชกุศลขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว โดยให้มีการเลี้ยงพระสงฆ์ที่พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยวันละ ๓๐ รูป 

นอกจากนี้สิ่งของที่บรรดาชาวจีนนำมาถวายในเทศกาลตรุษจีนแล้ว ยังโปรดให้บรรดาเจ้านายพระราชวงศ์ ท้าวนางในราชสำนัก จัดมาร่วมในเทศกาลตรุษจีนด้วย สิ่งนั้น คือ ‘ขนมจีน’ เนื่องจากชื่อเป็นไปในทางจีน โดยให้จัดมาเป็นเรือขนมจีนเพื่อถวายพระสงฆ์ เมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จแล้วก็ได้เลี้ยงข้าราชการต่อไป

เทศกาลตรุษจีน จึงได้เข้าสู่ราชสำนักนับตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ เป็นต้นมา จนเป็นธรรมเนียมที่จะมีการถวายภัตตาหารและเลี้ยงขนมจีนเรื่อยมา 

ครั้นมาถึงสมัยรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยและทรงรับสั่งว่า “การที่ทำบุญตรุษจีนเลี้ยงขนมจีนนั้นไม่ใช่ของจีน เป็นแต่สักว่าชื่อเป็นจีน ให้ทำ ‘เกาเหลา’ ที่โรงเรือนยกเข้ามาเลี้ยงพระสงฆ์แทนขนมจีน เป็นของหัวป่าก์ชาวเครื่องทำ...” 

ซึ่งการทำ ‘เกาเหลา’ น่าจะเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับชาววัง ณ ขณะนั้น เนื่องจากห้องพระเครื่องต้นในวังนั้นมีแต่แม่ครัวอาหารไทย ไม่มีผู้ใดที่สามารถปรุงอาหารอย่างจีนได้ ทั้งเกาเหลาในสมัยนั้นก็ประกอบไปด้วย ‘เครื่องในสัตว์’ ซึ่งถ้าไม่รู้วิธีทำก็จะไม่สะอาดและเหม็นคาว จึงจำเป็นต้องใช้ ‘กุ๊กชาวจีน’ ผู้สันทัดในการนี้ 

ความสำคัญของ ‘เกาเหลา’ ในครั้งนั้น ทำให้เกิดตำแหน่งราชการใหม่ขึ้นในครั้งนั้นคือ ‘เจ้ากรมเกาเหลาจีน’ ซึ่งมีหลักฐานในราชกิจจานุเบกษาครั้งรัชกาลที่ ๔ ว่า...

“...ให้ตั้ง จีนเอ้ง เป็น ขุนราชภัตการ จางวางจีนช่างเกาเหลา พระราชทานให้ถือศักดินา ๕๐๐ ทำราชการตั้งแต่ ณ วันจันทร์ เดือนแปด บุรพาสารทแรมสิบค่ำ ปีมะเมียสัมฤทธิศก...” 

ขุนราชภัตการคนนี้ ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็น ‘หลวงราชภัตการ’ โดยมีธิดาคนหนึ่งของคุณหลวงท่านนี้ชื่อ ‘เพ็ง’ ได้ถวายตัวทำราชการฝ่ายในเป็นเจ้าจอมอยู่งานในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งต่อมาได้เป็นเจ้าจอมมารดาเนื่องจากมีพระราชธิดาคือ ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้านงคราญอุดมดี’ 

สำหรับคำว่า ‘เกาเหลา’ ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้ให้ความหมายไว้ว่า…

เกาเหลา [-เหฺลา] น. แกงมีลักษณะอย่างแกงจืด. (จ.). จากหนังสือ ‘วันก่อนคืนเก่า’ โดย ส.พลายน้อย ได้อธิบายไว้อย่างน่าสนใจคือ ตามความหมายเดิมของคำว่า ‘เกาเหลา’ (เกาโหลว) แปลว่า ‘ตึกสูง’ คนไทยเราเห็นอาหารชนิดนี้ทำขายในร้านอาหารจีนที่เรียกว่า ‘เหลา’ หรือ ‘เกาเหลา’ จึงได้เรียกแกงจืดที่ทำขายบนเหลาว่า ‘เกาเหลา’ เกาเหลาในยุคเก่าจึงเป็นชื่อเรียกแกงจืดอย่างจีนที่ปรุงด้วยเครื่องในและขายอยู่บน ‘เหลา’ 

ส่วนคำว่า ‘เหลา’ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้ให้ความหมายไว้ว่า เหลา [เหฺลา] น. ภัตตาคาร. (จ.). และจากหนังสือ ‘วันก่อนคืนเก่า’ โดย ส.พลายน้อย ก็ได้อธิบายไว้ให้เข้าใจง่าย ๆ คือ หอหรือตึก โดยทั่วไปหมายถึงสถานที่จำหน่ายอาหาร พ้องกับความหมายตามพจนานุกรม ในสมัยก่อนก็มักจะได้ยินคนทั่วไปเวลาจะไปหาอาหารหรู ๆ แพง ๆ ทาน ก็มักจะพูดว่า ‘ไปขึ้นเหลา’ หรือ ‘ไปกินเหลา’ ที่พูดแบบนี้เนื่องจากคำว่า ‘ภัตตาคาร’ นั้นยังไม่ปรากฏในช่วงเวลานั้น (สันนิษฐานว่าคำว่า ‘ภัตตาคาร’ น่าจะเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๗ นี้เอง) และร้านค้าที่จำหน่ายอาหารหรู ๆ นั้น ถ้าไม่ใช่ร้านในโรงแรมก็มักจะเป็นร้านอาหารจีนย่านสำเพ็ง, สะพานหัน หรือย่านเยาวราชนั่นเอง ซึ่งน่าตั้งกันมาตั้งแต่สมัยในหลวงรัชกาลที่ ๓ ที่มีชาวจีนทำการค้าขายอยู่ในไทยจำนวนมาก 

โดยมากคนที่ไปขึ้น ‘เหลา’ ก็มักจะเป็นพ่อค้าชาวจีนเพราะชาวไทยในสมัยก่อนไม่นิยม เนื่องจาก ‘อาหารเหลา’ มีราคาค่อนข้างสูงและรสชาติอาจจะไม่ถูกปากมากนัก ซึ่งการ ‘ไปขึ้นเหลา’ ของคนไทยก็เพิ่งจะมานิยมในช่วงหลัง ๆ ไม่ถึงร้อยปีล่วงมานี่เอง แถมถ้าสังเกตให้ดีร้านอาหารจีนเหล่านี้ก็มักจะลงท้ายด้วยคำว่า ‘เหลา’ เช่น ห้อยเทียนเหลา (หยาดฟ้าภัตตาคาร), ก๋ำจั่นเหลา, กี่จั่นเหลา, ปักจันเหลา เป็นต้น หรือถ้าไม่ลงท้ายด้วย ‘เหลา’ ก็มักจะเป็นชื่อแบบจีนไปเลย เช่น พงหลี, โว่วกี่, เม่งฮวด เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม ‘เจ้ากรมเกาเหลาจีน’ นั้น ก็ได้ถูกลดบทบาทไปในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เนื่องจากได้มีคำร้องขอให้จัด ‘เรือขนมจีน’ เหมือนอย่างสมัยรัชกาลที่ ๓ ส่วนผู้ประกอบอาหาร ‘เกาเหลา’ นั้น ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ ได้ทรงเล่าไว้สั้น ๆ ว่า “...แล้วผู้ทำก็ล้มตายหายจาก กร่อย ๆ ลงก็เลยละลายหายไปเอง...” ซึ่งสันนิษฐานว่า กรมเกาเหลาจีน คงจะค่อย ๆ หมดบทบาทไปในช่วงนี้นี่เอง 

ส่วน ‘เหลา’ นั่นยังคงมีอยู่ถึงปัจจุบันตามที่เราทราบ ๆ กัน และมีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยไปอย่างไม่หยุดยั้ง ส่วน ‘เกาเหลา’ ก็กลายเป็นอาหารที่ไม่มีเส้นดังที่เรารู้จักกันปัจจุบัน แถมยังถูกนำไปเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ถูกกันซะอย่างนั้น

ซินเจิ้งหรูอี้ ซินเหนียนฟาไฉ (新正如意 新年发财) คิดหวังสิ่งใดขอให้สมหวัง สมปรารถนาในปีใหม่นี้ มีแต่ความสุขมั่งคั่ง โชคดีร่ำรวยตลอดปีมังกรนะครับ 

สุขสันต์วันตรุษจีน 2567 

‘แผ่นดินของเรา’ (Alexandra) บทเพลงแห่งความรัก โอบอุ้มหัวใจคนไทยให้กลับมารักและโอบกอดประเทศของเรา

เดือนกุมภาพันธ์ เดือนแห่งความรัก เป็นเดือนที่ผมมักจะหลับตาแล้วเห็นสีชมพูหรือไม่ก็สีฟ้าน้ำทะเล สำคัญที่สุดคือจะเป็นเดือนที่มีเสียงเพลงดังในหูและก้องในใจ อย่างไพเราะตลอดทั้งเดือน พร้อม ๆ ไปกับเพลงสำคัญที่ผมมักจะนึกถึงขั้นมาในบัดดล เพราะปลื้มและหลงรักมากเพลงหนึ่งในชีวิตเลยทีเดียว 

อ้อ!! ขอบอกก่อนว่า เพลงนี้ยังเป็นบทเพลงที่ทำให้ตัวผมรู้สึกรักในแผ่นดินไทยของเรามากที่สุดด้วยครับ...ว่าแล้วผมก็ขอนำมาเขียนเล่าให้ท่านๆ ได้อ่านกันเพลิน ๆ 

เพลงสำคัญที่ผมรักมากเพลงนี้ คือเพลง ‘แผ่นดินของเรา’ หรือ ‘Alexandra’ เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 34 ของในหลวงรัชกาลที่ 9 หรือ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้ทรงพระราชนิพนธ์เพลงนี้ขึ้น เนื่องในโอกาสที่เจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเคนต์ สหราชอาณาจักร เสด็จเยือนประเทศไทยในฐานะพระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ในปี พ.ศ. 2502 

เพลงพระราชนิพนธ์เพลงนี้มีความอัศจรรย์ในหลาย ๆ ด้าน อาทิ ช่วงเวลาแห่งการประพันธ์เพลง ท่วงทำนองที่เกิดขึ้น พร้อมด้วยเนื้อหาทั้งไทยและอังกฤษ เมื่อทุกความอัศจรรย์มาประกอบกัน ทำให้เพลงนี้มีเสน่ห์ ไพเราะ ลึกซึ้ง เหนือกาลเวลา 

สำหรับผมเพลงพระราชนิพนธ์เพลงนี้ เป็นเพลงที่ผมตกหลุมรักและฟังได้ไม้รู้จักเบื่อตั้งแต่โน้ตตัวแรกไปจนถึงตัวสุดท้าย  

ทีนี้ขอมาเริ่มต้นความอัศจรรย์ของเพลงนี้ ด้วยเรื่องราวของ ช่วง ‘เวลา’ ของการประพันธ์เพลง ซึ่งหลายๆ ท่านคงได้ทราบกันแล้วว่าเพลงพระราชนิพนธ์เพลงนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาแห่งการ ‘รอเครื่องบินลง’ โดยเมื่อครั้งในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จฯ ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อไปรับเจ้าหญิงอเล็กซานดราด้วยพระองค์เองนั้น ในช่วงเวลาที่ทรงรอเครื่องบินลงจอดที่ท่าอากาศยานราวๆ 10 นาที (อาจจะหย่อนไปกว่านี้เล็กน้อย) ทำนองเพลงจำนวน 16 ห้องเพื่อใช้ต้อนรับพระราชอาคันตุกะอันลุ่มลึกเพลงนี้ก็เกิดขึ้น...ซึ่งนี่คือเรื่องน่าเหลือเชื่อลำดับแรกของเพลงนี้ 

ความอัศจรรย์ต่อมาคือ ท่วงทำนองของบทเพลง โดยส่วนตัวผมไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในทางดนตรีอะไรนักหนา แต่ด้วยความเป็นนักฟัง ซึ่งพอจะมีความรู้ที่เกิดจากการฟังเป็นใหญ่ เมื่อฟังแล้วจึงรู้สึกได้ว่าคอร์ดตั้งต้นนั้นช่างดูง่าย ฟังง่าย แต่พอฟังลึก ๆ แล้ว จะมีความยากของการเดินคอร์ดอยู่ค่อนข้างมาก 

เอาจริง ๆ !! ใครเป็นนักดนตรีต้องทำการบ้านกับเพลงนี้ค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะฮาร์โมนีของคอร์ด ซึ่งเป็นโน้ตที่ยาก เพราะบางครั้งห่างกันแค่ครึ่งเสียง บางครั้งห่างกันแค่นิดเดียวแบบนิดเดียวจริง ๆ 

‘แผ่นดินของเรา’ หรือ ‘Alexandra’ ไม่ใช่เพลงที่มีความหนัก เบา แบบขาดจากกัน แต่มีความเกาะเกี่ยวยึดโยงในแต่ละโน้ต เพื่อให้เพลงพาผู้ฟังไปในหลาย ๆ มิติ ไม่ใช่เพลงที่แค่แต่งมาแล้ว ‘เพราะ’ เฉย ๆ แต่เป็นเพลงที่ ‘เพราะจนถึงอารมณ์’ ซึ่งแสดงถึงความสามารถของคนแต่ง ที่ต้องบอกว่าเก่งแบบสุด ๆ นี่แหละพระอัจฉริยภาพทางด้านดนตรีของในหลวงรัชกาลที่ 9 

ต่อกันที่ อัศจรรย์แห่งเนื้อเพลง เมื่อในหลวง ร.9 ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลง ‘แผ่นดินของเรา’ หรือ ‘Alexandra’ ตามทำนองที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ 16 ห้องเพลง เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษ 

มรว.เสนีย์ ปราโมช ขึ้นชื่อว่าเป็นบุคคลที่เก่งในเรื่องภาษา สามารถแต่งโคลงกลอนได้คล่องแคล่วทั้งภาษาอังกฤษและไทยได้รับสนองพระบรมราชโองการ ด้วยการเขียนเนื้อเพลงเบื้องต้นทูลเกล้าฯ ถวาย ก่อนที่เครื่องบินพระที่นั่งของเจ้าหญิง จะลงจอดได้อย่างเหลือเชื่อเช่นเดียวกัน โดยเนื้อเพลงภาษาอังกฤษมีดังนี้... 

Alexandra
Welcome to thee
Here in this land of sunshine and of flowers.
May ye be blessed by the blessing.
That has made our country happy.

แปลโดยรวมก็คือ “เราขอต้อนรับเจ้าหญิงอเล็กซานดราสู่เมืองไทย แผ่นดินแห่งแส่งพระอาทิตย์อันอบอุ่นและเต็มไปด้วยดอกไม้อันสวยงาม เมื่อมาถึง ณ ที่แห่งนี้แล้วก็ขอให้ทุกพรอันประเสริฐจงมีแด่ท่าน ซึ่งนั่นทำให้ประเทศของพวกเรามีความสุข (แปลโดยผู้เขียน) ซึ่งก็เป็นเนื้อเพลงสั้น ๆ แต่เปี่ยมไปด้วยมิตรไมตรี ทั้งยังแสดงถึงความเป็นประเทศไทยที่มีรอยยิ้มไว้ต้อนรับมิตรจากต่างแดนอย่างอบอุ่นราวกับแสงพระอาทิตย์ยามเช้า เพราะนี่คือประเทศไทยดินแดนแห่งความสุขของคนไทย”

ทีนี้มาถึงเนื้อเพลงไทยกันบ้าง แต่ผมต้องขอเล่าย้อนก่อนว่า เนื้อเพลงเวอร์ชันภาษาไทยนั้นเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2516 ซึ่งสภาพแวดล้อมทางการเมืองทั้งในและนอกประเทศไทยนั้นเต็มไปด้วยความหวาดระแวง ในประเทศก็กลัวในเรื่องของเผด็จการ เรื่องของคอมมิวนิสต์ ประหัตประหารกัน ภายนอกประเทศก็ระแวดระวังภัยจากสงครามความเชื่อจากรอบด้าน ทั้งยังมีบางส่วนที่เข้ามาประชิดติดชายแดนไทย ด้วยเหตุนี้ การสร้างขวัญ กำลังใจและความสามัคคีให้เกิดขึ้นกับคนในชาติ ซึ่งการใช้บทเพลงที่มีเนื้อหาหลอมรวมใจให้คนไทยได้ภูมิใจและรักแผ่นดินของตนเองจึงเป็นเครื่องมือที่มีนัยยะสำคัญเป็นอย่างยิ่ง 

จากเหตุดังกล่าว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระราชดำริว่า ท่วงทำนองเพลงพระราชนิพนธ์ Alexandra ไพเราะ และน่าจะใส่คำร้องภาษาไทยได้ จึงได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระบรมราชานุญาตให้ท่านผู้หญิง มณีรัตน์ บุนนาค ประพันธ์คำร้องภาษาไทย ซึ่งในหลวง ร.9 ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต ทั้งยังทรงพระราชนิพนธ์เพิ่มเติมจากเดิมที่มีเพียง 16 ห้องเพลง โดยเพิ่มท่อนกลาง และท่อนท้าย จนครบ 32 ห้องเพลง 

อนึ่ง ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค เป็นอีกหนึ่งท่านที่มีความสามารถในเชิงการประพันธ์ค่อนข้างสูง โดยท่านได้ประพันธ์คำร้องภาษาไทยของเพลงพระราชนิพนธ์ไว้หลายบทเพลง อาทิ ความฝันอันสูงสุด เกาะในฝัน ไร้เดือน และเพลงแผ่นดินของเรานี้ ท่านก็สะท้อนภาพบ้านเมืองของเราออกมาได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งยังไม่ทิ้งเนื้อในเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ ทั้งยังนำมาขยายความได้อย่างสวยงาม ดังนี้...

ถึงอยู่แคว้นใด ไม่สุขสำราญ เหมือนอยู่บ้านเรา ชื่นฉ่ำค่ำเช้าสุขทวี
ทรัพย์จากผืนดิน สินจากนที มีสิทธิ์เสรี สันติครองเมือง
เรามีป่าไม้อยู่สมบูรณ์ ไร่นาสดใสใต้ฟ้าเรือง
โบราณสถานส่งนามประเทือง เกียรติเมืองไทยขจรไปทั่วแดนไกล
รักชาติของเรา ไว้เถิดผองไทย ผืนแผ่นแหลมทอง รวมพี่รวมน้องด้วยกัน
รักเกียรติรักวงศ์ เสริมส่งสัมพันธ์ ทูนเทิดเมืองไทยนั้น ให้ยืนยง

ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ท่านได้เขียนเรื่องราวของเพลงนี้ไว้ใน www.rspg.org ความว่า...

“กี่ปีมาแล้วที่ความนึกคิดนี้ถ่ายทอดออกมาเป็นบทกลอน ข้าพเจ้าอยากระบายความรู้สึกให้เป็นที่รู้กันว่า ความบันดาลใจในเรื่องนี้มีที่มาจากการสังเกตของข้าพเจ้า ได้รู้เห็นพระราชอัธยาศัย พระราชจริยาวัตร ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประพฤติปฏิบัติ อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันไม่เสื่อมคลาย”

“สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โปรดให้พิมพ์บทกลอนนี้ลงในกระดาษการ์ดแผ่นเล็ก ๆ พระราชทานข้าราชการ ทหาร พลเรือน และผู้ทำงานเพื่อประเทศชาติ เตือนสติมิให้ท้อถอยในการทำความดี เพราะบ้านเมืองขณะนั้นยุ่งอลเวง น่าเป็นห่วงอนาคตของประเทศชาติ” 

มาถึงวันนี้ในห้วงเดือนแห่งความรัก เพลง ‘แผ่นดินของเรา’ หรือ ‘Alexandra’ ช่วยเติมเต็มความรักของคนไทยอย่างผมให้นึกถึงความงดงามและน่าภาคภูมิใจของประเทศไทยของเรา จึงไม่แปลกใจที่ใครต่อใครก็อยากจะเข้ามาเยี่ยมเยียนประเทศของเรา ไม่แปลกใจที่คนที่จากบ้านเกิดเมืองนอนไปไกลหลายต่อหลายคนก็อยากกลับมาแผ่นดินแห่งนี้ 

ผมอยากชวนให้เรามากอดประเทศไทยด้วยความรัก พร้อมกับฟังเพลงพระราชนิพนธ์ที่ผมรักมากๆ เพลงนี้ มาภูมิใจที่เราได้เกิดและอยู่ในประเทศไทย แผ่นดินที่งดงามและอุดมสมบูรณ์ไม่แพ้แผ่นดินไหนๆ แผ่นดินที่มีพระมหากษัตริย์ที่ทรงรักและเมตตาประชาชนของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง 

แผ่นดินที่เราเรียกว่าบ้าน ‘แผ่นดินของเรา’ ครับ

‘ดร. Vivien Thomas’ สุดยอดนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ผิวสี จบเพียงระดับมัธยม ฮึดสู้!! เอาชนะความจน-การเหยียดเชื้อชาติ

ชายอัจฉริยะผู้นี้เกิดและเติบโตในยุคที่สังคมอเมริกันยังคงมีการแบ่งแยกเชื้อชาติระหว่างคนผิวขาวและผิวสีอย่างรุนแรง โดยชีวิตของ ‘Vivien Thomas’ ได้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่เหล่าบรรดานักบุกเบิกชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันในการเอาชนะอุปสรรคที่กำหนดโดยสังคมที่แบ่งแยกอย่างรุนแรงในยุคนั้น โดยที่เขาไม่เคยได้รับการศึกษาหรือการฝึกอบรมทางการแพทย์อย่างเป็นทางการ แต่สามารถพัฒนาเทคนิคและเครื่องมือที่นำมาสู่การผ่าตัดหัวใจสมัยใหม่ในปัจจุบันได้สำเร็จ

‘Vivien Theodore Thomas’ เกิดที่เมือง Lake Providence มลรัฐ Louisiana เมื่อ 29 สิงหาคม 1910 บิดาเป็นช่างไม้ และบรรพบุรุษของเขา (รุ่นปู่-ตา) เคยเป็นทาส ต่อมาครอบครัวนี้ได้ย้ายไปอยู่ที่เมือง Nashville มลรัฐ Tennessee ตอน Thomas อายุเพียง 2 ขวบ ซึ่งเข้าเรียนที่ Pearl High School ในเมือง Nashville ในช่วงทศวรรษปี 1920 และสำเร็จการศึกษาในปี 1929 ซึ่งบิดาของ Thomas ได้ถ่ายทอดความเชี่ยวชาญด้านช่างไม้ของเขาให้กับลูกชายของเขา โดย Thomas ทำงานร่วมกับบิดาและน้องชายทุกวันหลังเลิกเรียนและวันเสาร์ เขาทำงานช่างไม้ด้านต่าง ๆ อาทิ วัด เลื่อย และตอกตะปู ประสบการณ์นี้เป็นประโยชน์ต่อ Thomas มากในเวลาต่อมา หลังจากสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนในระดับมัธยมปลาย Thomas หวังที่จะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นแพทย์ แต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทำให้แผนการของเขาต้องหยุดลง Thomas ตั้งใจจะทำงานหนัก เพื่อเก็บเงิน และเข้าศึกษาต่อในระดับสูงโดยเร็วที่สุดเท่าที่เขาสามารถจ่ายได้ โดยเขาได้สมัครเป็นนักศึกษาเตรียมแพทย์ที่วิทยาลัยเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมแห่งมลรัฐ Tennessee แต่การล้มละลายของธนาคารที่เขาฝากเงินในปีนั้นทำให้เงินออมของเขาหมดไป จนทำให้เขาต้องออกจากวิทยาลัย

ด้วยความมุ่งมั่นที่จะขยายขอบเขตทักษะของเขา ในปี 1930 เขาจึงติดต่อกับเพื่อนสมัยเด็ก Charles Manlove ซึ่งในขณะนั้นทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัย Vanderbilt เพื่อถามว่ามีงานว่างหรือไม่ Manlove จึงได้บอกเขาว่า แพทย์คนหนึ่งชื่อ Alfred Blalock (ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งการผ่าตัดหัวใจสมัยใหม่) ต้องการจ้างผู้ช่วยทำงานในห้องปฏิบัติการร่วมกับ แต่ก็เตือนว่า นพ. Blalock ค่อนข้างเอาแต่ใจ ด้วยความต้องการงาน Thomas จึงคว้าโอกาสนี้ และในที่สุดก็ได้รับการว่าจ้างให้เข้าทำงานในมหาวิทยาลัย Vanderbilt ในตำแหน่งผู้ช่วยในห้องปฏิบัติการ และในวันแรกของการทำงานเขาก็ได้ช่วย นพ. Blalock ทดลองผ่าตัดสุนัข ด้วยการเรียนรู้วิชากายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยาจาก นพ. Blalock ทำให้ Thomas มีความเชี่ยวชาญเทคนิคการผ่าตัดและวิธีการวิจัยที่ซับซ้อนอย่างรวดเร็ว 

แต่ในยุคที่การเหยียดเชื้อชาติในสถาบันการศึกษาเป็นเรื่องปกติ ตำแหน่งงานของ Thomas จึงถูกจำแนกและจ่ายเงินให้เป็นเพียงแค่ภารโรงเท่านั้น แม้ว่าในช่วงกลางทศวรรษ 1930 งานของเขาอยู่ในระดับนักวิจัยหลังปริญญาเอกในห้องทดลองของนพ. Blalock ก็ตาม เขาและนพ. Blalock ร่วมกันทำการวิจัยที่ก้าวล้ำเกี่ยวกับสาเหตุของอาการเลือดออกและอาการช็อคจากบาดแผลทางจิตใจ ต่อมาผลงานนี้ได้พัฒนาเป็นงานวิจัยเกี่ยวกับกลุ่มอาการครัช และช่วยชีวิตทหารหลายพันคนในสนามรบของสงครามโลกครั้งที่สอง งานที่นพ. Blalock ทำร่วมกับ Thomas ทำให้นพ. Blalock กลายเป็นศัลยแพทย์แถวหน้าของสหรัฐอเมริกา

ต่อมาเมื่อ นพ. Blalock ได้รับการเสนองานให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกศัลยกรรมที่มหาวิทยาลัย Johns Hopkins โรงเรียนเก่าของเขาในปี 1941 เขาได้ขอให้ Thomas ไป Johns Hopkins กับเขาด้วย ในยุคนั้นโรค ‘Blue Baby Syndrome’ เป็นโรคที่คร่าชีวิตเด็กเป็นจำนวนมากเพราะไม่มีวิธีการรักษา ปี 1944 ด้วยความร่วมมือระหว่าง พญ. Helen Taussig แพทย์โรคหัวใจเด็ก นพ. Alfred Blalock ศัลยแพทย์ และ Vivien Thomas เจ้าหน้าที่เทคนิคการผ่าตัด จึงมีการพัฒนาวิธีการผ่าตัดแบบ ‘Blalock-Thomas-Taussig shunt’ ขึ้น จากความพยายามของทั้ง 3 ในการต่อหลอดเลือดแดงใต้กระดูกไหปลาร้าเข้ากับหลอดเลือดแดงปอด เพื่อบรรเทาอาการตัวเขียวในเด็ก ในปี 1944 นพ. Blalock โดยมี Thomas ยืนประกบเพื่อคอยให้คำแนะนำสามารถผ่าตัดรักษา Eileen Saxon ทารกวัย 15 เดือนที่ป่วยด้วยอาการ Blue Baby Syndrome ได้สำเร็จ การผ่าตัดดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสารสมาคมการแพทย์อเมริกันในปี 1945 และทำให้สามารถรักษาเด็กที่ป่วยด้วยโรค Blue Baby Syndrome ทั่วโลกได้สำเร็จ

**Blue Baby Syndrome หรือที่เรียกว่าเมทฮีโมโกลบินในทารก (infant methemoglobinemia) เป็นกลุ่มอาการซึ่งทำให้ผิวของทารกเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน ทารกบางคนเกิดมาพร้อมกับสภาพที่บางคนมีแนวโน้มที่จะพัฒนา ภาวะนี้ทำให้ผิวหนังมีสีม่วงหรือสีน้ำเงิน (ตัวเขียว) ด้วยเฮโมโกลบินซึ่งเป็นโปรตีนในเลือดมีหน้าที่ในการขนส่งออกซิเจนไปทั่วร่างกาย ในกรณีที่เลือดไม่สามารถนำออกซิเจนไปได้จะทำให้ผิวหนังของทารกขาดออกซิเจนและเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินหรือสีฟ้าจะมองเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นในส่วนที่มีผิวหนังบาง ๆ เช่นริมฝีปากเล็บและติ่งหู

**วิธีการผ่าตัดแบบ Blalock-Thomas-Taussig shunt เป็นวิธีการผ่าตัดเพื่อต่อเส้นเลือดลัดวงจรเทียมระหว่างหลอดเลือดแดงใหญ่ที่ไปเลี้ยงร่างกายและหลอดเลือดดำที่ไปปอดเพื่อเพิ่มเลือดไปฟอกที่ปอดให้มากขึ้น เป็นการผ่าตัดแบบประคับประคองอาการสำหรับโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดเขียว (การเปลี่ยนสีผิวหนังออกเขียวคล้ำ) ซึ่งมีเลือดวิ่งไปปอดน้อย ทำให้เลือดที่ถูกสูบฉีดไปเลี้ยงร่างกายมีปริมาณออกซิเจนต่ำ จนเป็นผลให้ผิวหนังมีสีเขียวคล้ำ อาการอื่น ๆ ได้แก่ อาการหายใจไม่สะดวกและถี่ น้ำหนักขึ้นน้อย และหงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย เด็กที่ป่วยด้วยอาการ Blue Baby Syndrome ได้รับการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ สามารถช่วยให้มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

ทั้งนี้ นพ. Blalock และ Thomas ทั้ง 2 ได้ทำงานร่วมกันจนถึงปี 1964 เมื่อนพ. Blalock เกษียณและเสียชีวิตหลังจากนั้นเพียงไม่นาน แม้ว่า Thomas จะมีวุฒิการศึกษาอย่างเป็นทางการเพียงมัธยมปลาย แต่เขาก็ดำรงตำแหน่งหัวหน้าห้องปฏิบัติการศัลยกรรมที่มหาวิทยาลัย Johns Hopkins เป็นเวลา 35 ปี และได้รับการยอมรับให้เป็นสมาชิกของโรงเรียนแพทย์แห่งนี้ตั้งแต่ปี 1976 ถึงปี 1985 ทั้งยังได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัย Johns Hopkins ในปี 1976 ปัจจุบันในห้องผ่าตัดทั่วโลกมีศัลยแพทย์หัวใจมากมายที่ทำการผ่าตัดช่วยชีวิตโดยขั้นตอนที่ได้รับการฝึกอบรมตามแนวทางของดร. Vivien Thomas ความสำเร็จของเขาเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงพลังของการวิจัย การค้นพบ และความพากเพียรที่จะปรับปรุงสุขภาพของคนรุ่นต่อ ๆ ไป 

โดยมหาวิทยาลัย Johns Hopkins ได้ให้เกียรติแก่เขาด้วยการนำชื่อของเขามาตั้งชื่อกองทุนพัฒนาความคิดริเริ่มทางวิชาการ Vivien Thomas Scholars Initiative (VTSI) เพื่อจัดการกับการด้อยโอกาสทางประวัติศาสตร์ของโปรแกรม STEM โครงการนำร่องมูลค่า 150 ล้านดอลลาร์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก Bloomberg Philanthropies มอบเงินทุนถาวรเพื่อเพิ่มกลุ่มที่ยั่งยืนของช่องทางใหม่ ๆ ประมาณ 100 ช่องที่หลากหลายสำหรับนักศึกษาปริญญาเอกในโปรแกรม STEM มากกว่า 30 หลักสูตรของมหาวิทยาลัย Johns Hopkins ในฐานะนักศึกษาปริญญาเอกที่ได้รับทุน Vivien Thomas จะได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการและการเงินที่จำเป็นเพื่อความสำเร็จของพวกเขา รวมถึงการสนับสนุนค่าเล่าเรียนเต็มจำนวนสูงสุด 6 ปี ค่าตอบแทน ประกันสุขภาพ และผลประโยชน์อื่น ๆ พร้อมด้วยการให้คำปรึกษา การวิจัย และวิชาการที่สำคัญ เพื่อส่งเสริมโอกาสในการพัฒนาและการสร้างชุมชนทางวิชาการต่อไป

นอกจากนี้ เรื่องราวของดร. Vivien Thomas ได้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์โทรทัศน์ของ PBS เป็นสารคดีเรื่อง ‘Partners of the Heart’ และภาพยนตร์โทรทัศน์ของ HBO เรื่อง ‘Something the Lord Made’ อีกด้วย

เรื่อง : ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล
ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ อาจารย์พิเศษหลักสูตรปริญญาโทและเอก นักเล่าเรื่องมากมายในหลากหลายมิติ เป็นผู้ที่ชื่นชมสนใจในประวัติศาสตร์สงครามสมัยใหม่ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ

‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ ผู้นำหน่วยรบพิเศษแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้านายนอกพระราชวงศ์ เบื้องหลังพิชิตศึกสงคราม 9 ทัพ

‘ผู้นำหน่วยรบพิเศษ, หน่วยจารชน, หน่วยทะลวงฟัน, หน่วยนินจา, หน่วยเสือหมอบแมวเซา, หน่วยทหารกองโจร’

คำเหล่านี้เปรียบเสมือน Key Word ของเจ้านายพระองค์หนึ่ง นาม ‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ ‘ซึ่งเป็นพระโอรสของ ‘พระเจ้าขุนรามณรงค์’ พระเชษฐาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

แม้ว่าจะมีชาติกำเนิดเป็นสามัญชน เนื่องจากเกิดแต่อนุภรรยา และนับว่าเป็นเจ้านายนอกราชวงศ์จักรี แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา ‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ ขึ้นเป็นเจ้านายในพระราชวงศ์จักรีในชั้นพระองค์เจ้า เนื่องจากทรงพระเมตตาและทรงเล็งเห็นว่า เจ้านายพระองค์นี้จะเป็นกำลังสำคัญต่อกองทัพของกรุงรัตนโกสินทร์เป็นแน่ 

‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ ที่ผมกำลังจะเล่าให้ฟังนี้ หากเราจะค้นหาพระประวัติของพระองค์อย่างละเอียดนั้น บอกได้เลยว่า ‘ยากมาก’ เหมือนค้นหาประวัติของสายลับที่ถูกซ่อนไว้ในชั้นความลับ จะพบก็แต่เพียงร่องรอยที่ประทับและบันทึกการรบของพระองค์เท่านั้น

หากแต่ก็พอมีประวัติของประทับ ‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ อยู่บ้าง นั่นก็คือ ‘วังบ้านปูน’ วังที่ ณ วันนี้ หลงเหลือเรื่องราวให้ติดตามน้อยพอดู รู้แต่เพียงว่าในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกนั้น เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เพื่อปกป้องบ้านเมืองในภาวะที่ยังไม่ปลอดจากสงคราม รัชกาลที่ ๑ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายเสด็จไปประทับในพื้นที่บริเวณตั้งแต่ปากคลองบางกอกน้อยไล่ลงไปทางทิศใต้จนถึงวัดระฆัง อันได้แก่ วังสวนลิ้นจี่, วังสวนมังคุด และวังบ้านปูน

สำหรับ ‘วังบ้านปูน’ นั้น มีประวัติที่ระบุเพียงพระนาม ‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ ไปประทับเพียงองค์เดียว ไม่ปรากฏเชื้อสายของพระองค์ และมีเพียงซากของกำแพงเก่าที่ไม่น่าจะระบุอะไรได้ชัดเจนนัก หรือถ้าจะมีบันทึก ก็มีเพียงสั้นๆ จากพระนิพนธ์เรื่อง ‘ตำนานวังเก่า’ ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในปี พ.ศ.๒๔๖๕ ที่ระบุว่า…

“วังบ้านปูน อยู่ระหว่างวังสวนมังคุดกับวัดระฆัง ซึ่งในเวลานั้นมีทางเดินเป็นตรอกเรียกว่า ‘ตรอกเจ้าขุนเณร’ และปัจจุบันเชื่อกันว่า พื้นที่ของ ‘วังบ้านปูน’ ได้กลายเป็นโรงเรียนสุภัทรา และ ภัทราวดีเธียเตอร์ ไปแล้ว”

>> จากที่ประทับ ก็มาสู่เรื่องของภารกิจการรบของพระองค์ที่พอจะมีบันทึกกันอยู่บ้างดีกว่า...

เริ่มจากคราวสงคราม ๙ ทัพ ที่เป็นสงครามใหญ่กับฝั่งพม่าครั้งสุดท้าย ครานั้น ‘พระเจ้าปดุง’ พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์โก้นบอง (ราชวงศ์สุดท้ายของพม่า) ได้ส่งไพร่พลจำนวนกว่า ๑๕๐,๐๐๐ นาย มาบุกกรุงรัตนโกสินทร์ถึง ๙ กองทัพ ได้มุ่งเข้าตีตั้งแต่เหนือจรดใต้ 

- ทัพที่ ๑ ตีเมืองปักษ์ใต้ ตั้งแต่ชุมพรลงไปจนถึงเมืองถลาง 
- ทัพที่ ๒ ตีหัวเมืองตะวันตกทางด่านบ้องตี้ ตีเมืองราชบุรี, เพชรบุรี เพื่อไปบรรจบทัพที่ ๑ ที่เมืองชุมพร 
- ทัพที่ ๓ ตีหัวเมืองเหนือจากเชียงแสน, ลำปาง ไล่ลงมาเพื่อมาบรรจบที่กรุงเทพฯ 
- ทัพที่ ๔ ตีหัวเมืองเหนือจาก เมืองตาก, กำแพงเพชร ลงมาบรรจบที่กรุงเทพฯ
- ส่วนทัพที่ ๕, ๖, ๗, ๘, ๙ ซึ่งมีทัพหลวงของพระเจ้าปดุงรวมอยู่ด้วย โดยยั้งรอกองทัพอื่นๆ เพื่อที่จะรุกเข้าสู่สยามทางด่านพระเจดีย์สามองค์

เกริ่นทัพของพม่าไปแล้ว ก็ขอวนมาที่ ‘กองทัพสยาม’ ซึ่งก็ต้องแจ้งให้ทราบชัดว่า เรามีคนน้อยกว่าเขาเยอะ โดยเฉพาะทัพหลัก ๕ กองทัพ ที่เราต้องต้านไว้ก่อนที่พม่าจะรุกเข้ามาในเขตปะทะ…

โดยจอมทัพสยามในขณะนั้นคือ ‘สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท’ ได้มีพระบัณฑูรมอบหมายภารกิจให้ ‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ พร้อมหน่วยรบพิเศษที่พระองค์เข้าพื้นที่ก่อนที่ทัพหลักจะเดินทางไปถึง เพื่อไปสกัดทัพหน้าของพม่า คอยดูลาดเลา สืบราชการลับ และรวบรวมไพร่พลที่พอจะเป็นกำลังรบได้ ซึ่งในบริเวณนั้นก็จะมี ชาวไทย, มอญ, ข่า, ละว้า และกะเหรี่ยง ตั้งค่ายเฉพาะกิจอยู่ที่ท่ากระดาน อันเป็นยุทธการสำคัญและเสี่ยงตายมากๆ 

(ปัจจุบันพื้นที่ตรงนี้ถูกน้ำท่วมไปหมดแล้ว ที่เคยปรากฏชื่อก็จะมี ‘บ้านเจ้าเณร’ หรือชื่อเดิมของเขื่อนศรีนครินทร์ที่เรียกว่า ‘เขื่อนเจ้าเณร’ ให้ได้นึกตาม)

ภารกิจต่อมาเมื่อทัพหลวงของวังหน้า (สยาม) มาถึงแล้ว ก็ได้เริ่มยุทธวิธี ‘การรบแบบกองโจร’ โดยใช้ไพร่พลเพียง ๑,๘๐๐ คน อ้อมไปตีค่ายพม่าจากด้านหลัง คอยปล้นเสบียงและยุทโธปกรณ์ของพม่า ทั้งช้าง ทั้งม้า ที่ยกมาจากเมืองเมาะตะมะ ทวาย และตะนาวศรีไม่ให้ถึงกองทัพหลักของพม่าที่ตั้งประชิดอยู่ในชายแดนไทย เรียกว่าทำยังไงก็ได้ให้ทัพพม่าเกิด ‘ห่วงหน้า-พะวงหลัง’ ขาดแคลนเสบียง เสียขวัญ ดังพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ระบุว่า... 

“พระเจ้าปดุง (พม่า) ทราบว่ากองทัพหน้ามาถึงประชิดอยู่กับไทย ได้แบ่งเสบียงในกองทัพหลวงส่งมายังกองทัพหน้าก็ถูกไทยตีชิงเอาไปเสียเนืองๆ ครั้งหนึ่งใช้เอาเสบียงบรรทุกช้าง ๖๐ เชือก มีกองลำเลียงเสบียง คุมมา ๕๐๐ คน กองโจรของไทยไปซุ่มอยู่ก็ตีเอาไปได้หมด ทีหลังจึงส่งเสบียงกันไม่ได้”

เมื่อเหตุการณ์เป็นอย่างนี้อยู่ราวๆ ๒ เดือนเศษ ‘สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท’ ทรงเห็นว่ากองทัพพม่ามีใจที่ฮึกเหิมน้อยลง อดอยากปากแห้ง หนีทัพไปก็มาก จึงได้รุกระดมตีค่ายพม่าพร้อมกันทุกค่ายจนทัพพม่าแตกพ่ายหนีตายกลับไปจนสิ้นทัพ ซึ่งการที่จะเป็นเช่นนั้นได้ ล้วนเกิดจากยุทธวิธีแทรกซึม เพื่อทำลายล้างหลังบ้านของกองทัพพม่า จนไม่เป็นอันทำการรบ จากความฉกาจของหน่วยรบพิเศษ ‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ นั่นเอง 

อย่างไรก็ตาม หลังจากสงคราม ๙ ทัพ ก็เหมือนว่าเรื่องของ ‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ ดูจะเงียบหายไป จนกระทั่งมาเกิดเหตุการณ์ศึกใหญ่อีกครั้งทางฝั่งลาวในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ จากบันทึก ‘อานามสยามยุทธ’ ถึงเรื่องกบฏของเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ 

โดยพระองค์ได้รับภารกิจพิเศษจาก ‘สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ’ ในการรบแบบกองโจร โดยใช้ ‘ทหารไทย+ทวาย’ ที่เป็นคนโทษประมาณ ๕๐๐ คน ร่วมกับทหารในสังกัดของพระณรงค์สงคราม แห่งเมืองนครราชสีมาอีก ๕๐๐ คน เข้ารบแบบกองโจร ปล้นเผาค่าย ด้วยวิธีแบบจารชนคือ จับทหารลาวมาได้ ๗ คน ซึ่งยอมสวามิภักดิ์ต่อ พระองค์เจ้าขุนเณร (ซึ่งกำลังหาเสบียงกินกันเอง...นับว่าลำบากน่าดู) แล้ววางแผนดำเนินการแทรกซึมโดยใช้ทหารลาว ๑ คนผสมกับทหารไทยอีก ๖ คน แต่งกายเป็นลาวทำทีกลับเข้าค่ายลาวที่ทุ่งส้มป่อย โดยพระองค์เจ้าขุนเณรได้ตรัสสั่งแผนว่า...

“ถ้าเข้าค่ายลาวได้ ให้ไล่ฆ่าฟันลาวในค่ายคลุกคลีตีลาวไปอย่าให้ลาวทันตั้งตัวหาอาวุธได้ ให้นำคบเพลิงเผาค่ายลาวขึ้นด้วย”

เหตุการณ์เป็นไปตามแผนไฟลุกโหมเผาค่ายทุ่งส้มป่อยไปทั้งค่าย ทหารลาวที่บ้างก็นอนหลับ บ้างก็นั่งดื่ม บ้างก็ไม่พร้อมจะรบ ก็ถูกกำลังกองอาทมาต ๕๐๐ คน ซึ่งนำโดยพระองค์ลอบเข้าค่าย ฆ่าฟันทหารลาวเป็นจำนวนมาก จนเมื่อทัพหลวงของไทยมองเห็นค่ายของลาวเกิดไฟไหม้ จึงได้ยกทัพใหญ่บุกเข้าไปสมทบ ไล่รุกจนทัพลาวแตกกระเจิงไป

เรื่องน่าทึ่งของ ‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ ก็คือหากนับจากเหตุสงคราม ๙ ทัพที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๒๘ คงมีพระชนม์ไม่น่าต่ำกว่า ๒๐ ชันษา มาจนถึงสงครามกับเจ้าอนุวงศ์ในปี พ.ศ. ๒๓๖๙ ที่ห่างกันถึง ๔๑ ปี พระชันษาของพระองค์ก็น่าจะประมาณ ๖๑ เมื่อมาเป็นหัวหน้าหน่วยรบพิเศษในครั้งหลัง แสดงว่าพระองค์ยังคงรักษาความเก่งกล้า ความเชี่ยวชาญ และร่างกายที่มีสมรรถภาพไม่แพ้วัยหนุ่ม

การรบการแบบกองโจรของ ‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ ในพื้นที่การรบ ทำให้การรบของทัพหลวงได้รับชัยชนะรวดเร็วขึ้น แก้ไขสถานการณ์ที่เพลี่ยงพล้ำแก่ข้าศึก ให้กลายเป็นได้เปรียบอย่างคาดไม่ถึง กลยุทธ์ที่เสี่ยงแก่ชีวิต แต่รู้การแพ้ชนะในเวลาอันสั้น ใช้การลวง การจู่โจม ด้วยความเด็ดขาด กล้าหาญ รุนแรง รวดเร็ว เป็นแนวทางของการรบแบบกองโจรที่สืบต่อมาจนสมัยนี้

ที่ผมยกเรื่องของ ‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ มาเล่านี้ นอกจากจะเป็นการหยิบเกร็ดประวัติศาสตร์มาเผยแพร่แล้ว อีกส่วนสำคัญก็เพื่อให้เราได้ตระหนักรู้ถึงการเสียสละภายใต้วีรกรรมอันเก่งกล้าของบรรพบุรุษไทย อย่าง ‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ ที่แลดูเหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง ในการนำพระนามของพระองค์ท่านไปตั้งเป็นชื่อ ‘ค่ายขุนเณร’ กรมรบพิเศษที่ ๕ ตำบลแม่สา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ 

เพราะนี่คือ สิ่งยึดเหนี่ยวสำคัญที่จะช่วยเตือนใจแก่เหล่า กำลังรบพิเศษแห่งสยาม ให้ฮึกเหิม เติมไฟด้วยเกียรติวีรกรรมของ ‘พระองค์เจ้าขุนเณร’ ไว้เป็นหมุดหมายแห่งความมุ่งมั่น เพื่อปกป้องอธิปไตยชาติไทยของเราสืบต่อไป...

‘โครงการหงส์ดำ’ หนึ่งในการค้นพบ ‘สมบัติ’ มูลค่ามหาศาล ใต้ท้องทะเล ก่อน ’Odyssey‘ บริษัทที่กู้พ่ายแพ้คดี จำยอมส่งคืน ‘สเปน’ เจ้าของตัวจริง

เรื่องราวของการค้นหาสมบัติในทะเลซึ่งมีการทำเป็นเรื่องเป็นราวอย่างจริงจังในหลายมหาสมุทรบนโลกใบนี้ และ ‘โครงการหงส์ดำ’ ก็เป็นหนึ่งในการค้นพบและการกู้สมบัติ ที่มีมูลค่าราว 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้สำเร็จ แต่ผู้ที่กู้ได้ก็พ่ายแพ้ในการต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม และต้องส่งคืนสมบัติเหล่านั้นสู่เจ้าของเดิม

(เรือรบสเปน Nuestra Señora de las Mercedes จมลงนอกชายฝั่งโปรตุเกสในปี 1804)

‘โครงการหงส์ดำ’ เป็นชื่อโครงการของบริษัท ‘Odyssey Marine Exploration’ ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจค้นหาทรัพยากรใต้น้ำ การทำเหมืองแร่ในทะเล การค้นหาและกู้สมบัติใต้ทะเล โดยมีสำนักงานอยู่ในมลรัฐฟลอริดา สหรัฐฯ ทั้งนี้ จากการค้นพบและการกู้เหรียญเงินและเหรียญทองมูลค่าประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (314 ล้านปอนด์) จากพื้นมหาสมุทร โดยในขั้นต้น Odyssey เก็บเรื่องสมบัตินี้ไว้เป็นความลับ ต่อมาสมบัติเหล่านี้ได้รับการพิสูจน์ในห้องทดลองว่า สินค้าที่กู้ได้ถูกขนส่งโดยเรือรบสเปน Nuestra Señora de las Mercedes ซึ่งจมลงนอกชายฝั่งโปรตุเกสในปี 1804 

เมื่อเรื่องเกี่ยวกับการกู้สมบัติครั้งนี้เผยแพร่สู่สาธารณะเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2007 เมื่อ Odyssey ได้ขนส่งสมบัติน้ำหนัก 17 ตัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเหรียญเงินจาก Gibraltar ไปยังสถานที่ปลอดภัยซึ่งไม่ปรากฏที่อยู่ในมลรัฐฟลอริดา ซึ่ง Odyssey ไม่ได้เปิดตัวประเภท วันเวลา หรือสัญชาติของเหรียญในขณะที่มีข่าวลือว่า สมบัติเหล่านั้นเป็นของเรือ Merchant Royal ซึ่งจมลงใกล้ชายฝั่งในปี 1641 โดยในเวลานั้น Odyssey กล่าวว่า มีแผนที่จะกลับไปที่จุดค้นพบเพื่อทำการค้นหาด้วยคาดว่า จะค้นพบเหรียญมากขึ้นรวมทั้งสมบัติอื่น ๆ อย่างไรก็ตามต่อมา Odyssey ถูกรัฐบาลสเปนฟ้องในศาลสหรัฐฯ ซึ่งในที่สุดศาลฯ ก็มีคำสั่ง Odyssey ให้ส่งคืนสมบัติให้สเปน Odyssey ดำเนินการตามช่องทางกฎหมายทั้งหมด แม้กระทั่งการฟ้องร้องต่อศาลฎีกาของสหรัฐอเมริกาแต่ในที่สุดก็แพ้คดี เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2012 สมบัติเหล่านั้นจึงถูกส่งกลับไปยังสเปน ซึ่งขณะนี้เหรียญและสิ่งประดิษฐ์อื่น ๆ จากซากเรืออับปางอยู่ในพิพิธภัณฑ์โบราณคดี Subaquatic แห่งชาติใน Cartagena (Murcia) และในปี 2015 ศาลแขวงสหรัฐได้สั่งให้ Odyssey จ่ายเงิน 1 ล้านดอลลาร์ให้แก่รัฐบาลสเปนในข้อหา “ดำเนินงานอย่างไม่สุจริตและไม่เหมาะสม”
 

Odyssey ระบุเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2007 ว่า เหรียญและสมบัติที่กู้ได้ส่วนใหญ่เชื่อว่ามาจากเรืออับปางโดยเฉพาะ แต่มีแนวโน้มว่าจะมีการผสมวัตถุจากซากเรืออื่น ๆ เข้าด้วยกันและได้รับการกู้คืน ซึ่ง Odyssey กล่าวว่าเนื่องจากตำแหน่งของเรือในพื้นที่ที่ทราบกันดีว่ามีซากเรืออับปางในยุคอาณานิคมจำนวนมาก จึงไม่อาจเปิดเผยอัตลักษณ์ตัวตนของเรือระหว่างที่ทำการตรวจสอบเหรียญและโบราณวัตถุเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังคิดว่า สมบัติเหล่านี้อาจมาจากเรือที่ Odyssey ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐบาลกลางเพื่อขออนุญาตกู้ซาก ซึ่งตั้งอยู่นอกชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของสหราชอาณาจักร ภายในรัศมี 5 ไมล์ (8 กิโลเมตร) จาก 49 ° 25′N 6 ° 0′W

(เรือสินค้าอังกฤษ Merchant Royal)

ในตอนแรก มีการคาดการณ์ว่า สมบัติอาจมาจากซากเรือสินค้าอังกฤษ Merchant Royal ซึ่งจมลงในวันที่ 23 กันยายน 1641 ขณะเดินทางกลับลอนดอน เรือลำนั้นจมลงในสภาพอากาศที่เลวร้ายเมื่อเครื่องสูบน้ำไม่สามารถทำงานได้ทันกับน้ำที่รั่วไหลผ่านแผ่นกระดานของตัวเรือ ลูกเรือกว่าครึ่งรวมทั้งกัปตัน John Limbrey ได้สละเรือ และได้รับการช่วยเหลือจากเรือ  Dover Merchant เรือซึ่งมาพร้อมกับ Merchant Royal จากกาดิซไปลอนดอน ผู้รอดชีวิตได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าที่สูญหายโดยอธิบายไว้ในปี 1641 ว่า "เงิน 300,000 ปอนด์ ทองคำ 100,000 ปอนด์ และอัญมณีอีกจำนวนหนึ่ง" รวมทั้งพิกัดที่ใกล้กับ Isles of Scilly ประมาณ  ‘21 ลีก’ (ประมาณ 35 ถึง 40 ไมล์) จากชายฝั่ง

ในปี 2003 Greg Stemm ผู้ร่วมก่อตั้ง Odyssey Marine ได้ยอมรับกับ Richard Larn ผู้เชี่ยวชาญด้านการซากเรือของอังกฤษว่า บริษัทของเขากำลังค้นหา Merchant Royal เรือค้นหาด้วยโซนาร์ของ Odyssey Marine ได้เข้าสำรวจพื้นที่อย่างกว้างขวางในปี 2005 จนถึง 2006 บ่อยครั้งที่ลูกเรือต้องเดินทางไปเมือง Falmouth เพื่อพักผ่อน ลูกเรือของ Odyssey ยังคงค้นหาเรือดังกล่าวในรายการโทรทัศน์ Treasure Quest ของ Discovery Channel 2009 (ถ่ายทำในปี 2008) ภาพของเหรียญที่ค้นพบโดย Odyssey ถูกปิดบังเครื่องหมายเพื่อป้องกันการระบุอัตลักษณ์ อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบขอบของเหรียญปรากฏว่า มาจากกลางศตวรรษที่ 18 จึงไม่น่าที่จะมาจากเรือ Merchant Royal 

ทั้งนี้ Nick Bruyer ผู้เชี่ยวชาญด้านเหรียญหายาก ผู้ผ่านการตรวจสอบตัวอย่างกว่า 6,000 เหรียญจากซากเรือกล่าวถึงการค้นพบว่า "สำหรับยุคอาณานิคมนี้ผมคิดว่า (สิ่งที่พบ) เป็นประวัติการณ์ ... ผมไม่รู้ว่ามีอะไรที่เท่าเทียมหรือเทียบได้กับ " นอกจากนี้เขายังเชื่อว่า เหรียญจำนวนมากหรือทั้งหมดยังไม่เคยมีการใช้หมุนเวียน สิ่งที่พบถูกส่งด้วยเครื่องบินเช่าเหมาลำไปยังสถานที่ที่ไม่เปิดเผยในสหรัฐอเมริกาเพื่อทำการตรวจสอบ Odyssey กล่าวว่า พวกเขาคาดว่าซากเรือจะกลายเป็นหนึ่งใน ‘เรื่องโด่งดังมากที่สุดในประวัติศาสตร์’ การดำเนินการทั้งหมดต้อง

ใช้เวลาหลายปี และมีค่าใช้จ่ายหลายล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การยื่นข้อเรียกร้องเพื่อที่จะสร้างข้อเรียกร้องทางกฎหมายสำหรับสมบัติที่กู้ Odyssey ได้ยื่นฟ้องต่อศาลสหรัฐฯ เพื่ออายัดสินค้าเมื่อ 4 เมษายน 2007 และเผยแพร่ประกาศการอายัดครั้งนั้นเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2007 ต่อมาในวันที่ 31 พฤษภาคม 2007 รัฐบาลสเปนตามประกาศการอายัดได้ยื่นคำร้องต่อสมบัติที่กู้ได้ โดยอ้างว่าเงินและเหรียญทองที่ Odyssey กู้มาจากเรือสเปนที่ชื่อ Nuestra Señora de las Mercedes ซึ่งเป็นเรือรบสเปนติดปืน 36 กระบอกแล่นออกนอกชายฝั่งโปรตุเกสระหว่างเส้นทางจากมอนเตวิเดโอไปยังกาดิซ เรือรบ Nuestra Señora de las Mercedes ซึ่งจมลงโดยเรือรบของราชนาวีอังกฤษในเดือนตุลาคม 1804 และเป็นที่ทราบกันดีว่า เรือรบลำดังกล่าวบรรทุกเหรียญเงินมากกว่าหนึ่งล้านดอลลาร์ ในเดือนมกราคม 2008 ศาลของรัฐบาลกลางสหรัฐในเมืองแทมปา มลรัฐฟลอริดามีคำสั่งให้ Odyssey เปิดเผยรายละเอียดของจุดที่เรือรบ Nuestra Señora de las Mercedes อับปางต่อรัฐบาลสเปน และให้ทั้งคู่กลับขึ้นศาลในเดือนมีนาคม ในระหว่างการดำเนินการดังกล่าว Odyssey ระบุว่าสมบัติของ Black Swan ได้ถูกกู้ในมหาสมุทรแอตแลนติกทางตะวันตกของโปรตุเกสประมาณ 180 ไมล์ (290 กม.) สถานที่นั้นดูเหมือนจะออกจาก Merchant Royal (ซึ่งจมลงไปทางเหนือมากในมหาสมุทรแอตแลนติก) และ Mercedes (ซึ่งจมอยู่ห่างจากชายฝั่งโปรตุเกสประมาณ 30 ไมล์ทะเล (56 กม.)) และเรือหลวง Sussex (ซึ่งจมลงในช่องแคบของ Gibraltar) สมบัติที่พบแล้วส่วนใหญ่เป็นเหรียญเงิน มีเหรียญทองและแท่งทองแดงบางส่วน แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า มาจากเรือของสเปนในยุคอาณานิคมที่จมลงขณะขนส่งเงินที่เพิ่งทำใหม่จากอเมริกาใต้ไปยังสเปน 

กฎหมายกู้สมบัติในน่านน้ำสากลซึ่งเป็นที่ยอมรับของบางประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ บริษัทที่กู้ได้สามารถรับมอบสมบัติที่กู้ได้ถึง 90% แต่สเปนอ้างสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของซากเรือและสมบัติทั้งหมดโดยประกาศว่าจะไม่จ่ายรางวัลใด ๆ เลยสำหรับการกู้ดังกล่าว เนื่องจากสมบัติของเรือ Mercedes จะได้รับการคุ้มครองโดยเอกสิทธิทางอธิปไตยซึ่งมีผลเหนือกฎหมายใด ๆ ทางทะเล เนื่องจากบางส่วนของเหรียญที่กู้ได้ถูกสร้างขึ้นใน Lima รัฐบาลเปรูก็อ้างสิทธิ์ในสมบัติเช่นกัน ในปี 2008 Jose Jimenez เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงวัฒนธรรมสเปนระบุว่า สเปนยินดีที่จะแบ่งปันสมบัติ 'จากความรู้สึกของมรดกทางวัฒนธรรมร่วมกัน' อย่างไรก็ตามเปรูรวมถึงทายาทของพ่อค้าที่ส่งเหรียญ ซึ่งเป็นสินค้าไปกับเรือ Mercedes ได้โต้แย้งสิทธิ์ของสเปนในสมบัติพร้อมกับ Odyssey ในคดีระหว่างดำเนินการในศาลด้วยเช่นกัน วันที่ 26 กรกฎาคม 2007 Odyssey Marine Exploration ได้มีการเคลื่อนไหวสองสามครั้งเพื่อขอขยายเวลาในการยื่นคำตอบต่อคำสั่ง Motions for More Definite ของสเปนในการจับกุมเรือสามครั้ง ซึ่งขณะนั้น 

Odyssey ต้องอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลแขวงสหรัฐ เพื่อการพิสูจน์ว่า เขตอำนาจศาลอยู่เหนือพิกัดที่เรืออับปาง วันที่ 16 ตุลาคม 2007 สเปนได้ยึดเรืออีกลำหนึ่งคือ Odyssey Explorer ซึ่งเป็นของ Odyssey Marine Exploration ในขณะที่แล่นออกจากท่าเรือจากดินแดนโพ้นทะเลของอังกฤษใน Gibraltar กัปตัน Sterling Vorus ของ Odyssey Explorer อ้างว่าอยู่ในน่านน้ำสากล แต่ถูกบังคับให้เทียบท่าที่ Algeciras เมื่ออยู่ในท่าเรือในที่สุด Vorus ก็ถูกจับเนื่องจากขัดขวางการจับกุมหลังจากปฏิเสธการตรวจสอบเรือโดยไม่ได้รับการอนุมัติจากสถานะสัญชาติของ Odyssey Explorer ซึ่งเป็นจดทะเบียนในเครือจักรภพแห่งบาฮามาสก่อน ในขณะที่ถูกจับมีนักข่าวและช่างภาพประมาณหนึ่งโหล ซึ่งทุกคนมี เครื่องบันทึกเทปวิดีโอ เครื่องบันทึกเทป และอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล หน่วยความจำคอมพิวเตอร์ที่ถูกเจ้าหน้าที่สเปนยึดไว้ เพื่อเป็นการลดข้อพิพาท ในวันรุ่งขึ้นทางการสเปนตัดสินใจคืนหนังสือเดินทางและเอกสารทางการให้กับลูกเรือ และปล่อยตัว โดยเรือสำรวจของ Odyssey ได้รับอนุญาตให้เดินทางออกไป หลังจาก Spanish Civil Guard ทำการตรวจสอบแล้ว เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2007 โดยสเปนระบุว่า ถือเป็นกระทำในน่านน้ำของตนเอง แต่สหราชอาณาจักรได้โต้แย้งว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในน่านน้ำสากล ดังนั้นจึงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตามสเปนกล่าวอ้างด้วยวาจาเหนือน่านน้ำว่า ไม่รับรองน่านน้ำของ Gibraltar ยกเว้นท่าเรือ Gibraltar และน่านน้ำทั้งหมดที่อยู่ห่างจากชายฝั่งไม่ถึง 12 ไมล์ (19 กม.) จึงถือเป็นน่านน้ำของสเปน


เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2552 ผู้พิพากษาสหรัฐฯในเมืองแทมปา มลรัฐฟลอริดา (ศาลแขวงสหรัฐสำหรับเขตมิดเดิลฟลอริดา) ได้ตัดสินว่า สมบัติดังกล่าวมาจากเรือรบของสเปนชื่อ ‘Nuestra Senora de las Mercedes’ และประกาศว่า ศาลไม่มีเขตอำนาจในการดำเนินการกับคดีนี้ จึงได้ตัดสินให้สเปนตามอ้างว่ามี ความคุ้มกันอธิปไตย Odyssey และอุทธรณ์คำตัดสินดังกล่าว เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2009 ผู้พิพากษาเขตของสหรัฐอเมริกาได้ตรวจสอบรายงานและคำแนะนำของผู้พิพากษา แต่ยังคงสั่งให้ส่งสมบัติคืนให้สเปนจนกว่า กระบวนการอุทธรณ์จะเสร็จสิ้น “ความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ในกรณีนี้คือ Nuestra Señora de las Mercedes เป็นเรือของสเปน และซากเรือ สินค้าที่เรือลำนี้บรรทุกมา รวมถึงศพ เป็นสิทธิและความเชื่อตามกฎหมายของสเปน” ผู้พิพากษากล่าวในคำสั่งของเขา ในเดือนมกราคม 2011 Odyssey อ้างถึงข่าวในวงการทูตที่รั่วไหลแสดงให้เห็นว่า กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเจรจาเพื่อช่วยให้รัฐบาลสเปนได้รับสมบัติคืน เพื่อแลกกับการคืนงานศิลปะที่ถูกกล่าวหาว่า ถูกขโมย

ไปให้กับพลเมืองของสหรัฐฯ แต่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ปฏิเสธเรื่องนี้ ขณะที่สเปนปฏิเสธข้อเรียกร้องของ Odyssey ต่อมาสำนักงานผู้ตรวจการกระทรวงการต่างประเทศได้สอบสวนข้อกล่าวหาตามคำร้องขอของ Kathy Castor สส.แห่งมลรัฐฟลอริดา ในเดือนมีนาคม 2011 ระบุว่า ไม่พบหลักฐานความเชื่อมโยงระหว่างคดีหงส์ดำและการเจรจาขอคืนภาพวาดของพิสซาร์โรซึ่งเป็นผลงานศิลปะที่เป็นปัญหา 

ในเดือนกันยายน 2011 ศาลอุทธรณ์ (คณะที่ 11) ได้เห็นพ้องกับคำตัดสินของศาลชั้นต้นว่า เรือที่ไม่ปรากฏชื่อเป็นเรือ ‘Nuestra Senora de las Mercedes’ จริง และตัดสินว่า Odyssey Marine Exploration ต้องคืนเหรียญเงิน 17 ตัน และสมบัติที่กู้ได้อื่น ๆ ให้กับรัฐบาลสเปน คำตัดสินสามารถค้นได้โดยการค้นหาฐานข้อมูลความคิดเห็นของศาลอุทธรณ์สำหรับกรณีที่ไม่มีคำตัดสินของศาลส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการตีความกฎหมาย Foreign Sovereign Immunities Act (FSIA) และหลักการของการได้มา ซึ่งกล่าวว่า "ไม่สามารถครอบครอง (สมบัติ) ที่กู้มาได้ ในท้ายที่สุดแล้วต้องเป็นทรัพย์สินของสเปน ด้วยเป็นเพียงแค่ความคุ้มกันของอำนาจอธิปไตยที่เกิดจากเหตุที่เรือ Nuestra Senora de las Mercedes อับปาง และยังใช้กับสินค้าที่เรือลำดังกล่าวบรรทุกขณะที่จมลงด้วย" วันที่ 31 มกราคม 2012 ศาลอุทธรณ์สหรัฐฯ (คณะที่ 11) ในนครแอตแลนตา มลรัฐจอร์เจีย ปฏิเสธคำร้องจาก Odyssey Marine Exploration, Inc. ให้คงคำตัดสินของศาลเดิมในเดือนพฤศจิกายนที่สั่งให้ บริษัท เปลี่ยนการถือครองสมบัติ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2555 ศาลฎีกาของสหรัฐฯปฏิเสธที่จะรับคำร้องฉุกเฉินสำหรับการถือครองที่ยื่นโดย Odyssey ซึ่งระบุว่า ต้องการคงไว้ซึ่งการครอบครองเหรียญทองและเหรียญเงินมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์จนกว่าจะมีการตัดสินคดีในขั้นสุดท้ายว่า ใครมีกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของ ผู้พิพากษา  Clarence Thomas ซึ่งมีเขตอำนาจเหนือมลรัฐฟลอริดาปฏิเสธโดยไม่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการการฟ้องร้องระหว่าง Odyssey Marine Exploration Inc. กับ Kingdom of Spain โดย Odyssey Marine Exploration ได้ยื่นอุทธรณ์ฉุกเฉินต่อศาลสูงในความพยายามที่จะระงับคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ส่งสมบัติกลับไปยังสเปน 

ข้อสรุป วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2012 มีรายงานว่า  Mark Pizzo ผู้พิพากษาสหรัฐฯ มีคำสั่งให้ Odyssey คืนเหรียญดังกล่าวให้กับสเปนภายในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2012 โดยจะแยกย้ายไปยังพิพิธภัณฑ์ (ซึ่งไม่ใช่ทายาท) ศาลฎีกาปฏิเสธที่เปลี่ยนแปลงคำสั่งนี้ และ Odyssey ต้องปฏิบัติตามคำตัดสิน วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2012 เครื่องบินลำเลียงแบบ C-130 Hercules 2 ลำของกองทัพอากาศสเปนได้ลำเลียงสมบัติดังกล่าวจากมลรัฐฟลอริดาและขนไปยังสเปน Odyssey ได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อพิจารณาประเด็นในคดีนี้ใหม่ แต่ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2012 ศาลปฏิเสธที่จะรับคำอุทธรณ์ ด้วยเหรียญดังกล่าวถูกส่งคืนไปยังสเปนแล้ว และโดยกฎหมายของสเปนกำหนดว่า จะไม่สามารถนำออกจำหน่ายให้กับประชาชนได้ วันที่ 2 ธันวาคม 2012 รัฐบาลสเปนได้นำเหรียญทองและเงินจำนวน 14.5 ตันที่กู้ได้ไปตั้งแสดงในพิพิธภัณฑ์โบราณคดีแห่งชาติ Subaquatic ในเมือง Cartagena (Murcia) เพื่อทำการศึกษาและจัดแสดงถาวร ในปี 2015 ศาลแขวงสหรัฐได้สั่งให้ Odyssey จ่ายเงินให้สเปน 1 ล้านดอลลาร์ สำหรับ “การดำเนินการอย่างไม่สุจริตและการดำเนินการโดยมิชอบ’ ผู้พิพากษาได้ตั้งข้อสังเกตว่า ตลอดการดำเนินคดี Odyssey รู้อยู่ตลอดเวลาว่า สเปนมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการระบุอัตลักษณ์ตัวตนของเหรียญดังกล่าวโดยตลอด มีข้อมูลทางประวัติศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญที่สามารถระบุได้ทันทีว่า ซากที่เป็นปัญหานั้นเป็นเรือของสเปนหรือไม่" และ "ข้อเท็จจริง ที่ Odyssey ไม่เคยขอความช่วยเหลือจากสเปนในการระบุตัวเรือแสดงให้เห็นถึง แรงจูงใจและวัตถุประสงค์ของ Odyssey" ตั้งแต่ปี 2014 สมบัติส่วนหนึ่งถูกจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์สาธารณะของสเปนหลายแห่ง โดยเป็นส่วนหนึ่งของการจัดแสดงการเดินทางที่เกี่ยวข้องกับการอับปางของเรือ และการกู้สมบัติ

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2017 จากการติดตามโครงการ กองทัพเรือสเปนได้กู้ปืนใหญ่ 2 กระบอก ชื่อ ‘Santa Barbara’ และ ‘Santa Rufina’ โดยแต่ละกระบอกมีน้ำหนักมากกว่า 2 ตัน หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์และประทับตราโดยโรงหลอม Bernardino de Tejeda (เซบียา, สเปน - ลิมา, เปรู) สร้างขึ้นในปี 1596 ซึ่งพบที่ Minor Basilica และ Convent of San Agustin ในเขต Old Lima ได้รับการปรับปรุงใหม่ในปี 1942 โดยทายาทชาวเปรูโดยตรงของ Tejeda ได้แก่ Carlos PérezCánepa Jimenez (Lima 1918-85) และ Javier Pérez de Cuéllar (Lima 1920-2020) ตามที่ระบุไว้ในภายหลังในหน้า 19 ของหนังสือ Memorias ของเขา, ซึ่งเผยแพร่โดย Aguilar ในปี 2012 มีหนังสือการ์ตูนที่สร้างจากโครงการ The Treasure of the Black Swan เขียนโดยนักการทูตชาวสเปนซึ่งมีส่วนร่วมในการต่อสู้ทางกฎหมาย Guillermo Corral และ Paco Roca นักเขียนนิยายภาพชาวสเปน ตีพิมพ์ในปี 2018

สำหรับบ้านเรา งานโบราณคดีใต้น้ำประเทศไทยเริ่มต้น เมื่อ พ.ศ. 2517 ที่อ่าวสัตหีบ จังหวัดชลบุรี สาเหตุที่กรมศิลปากรเริ่มทำงานวิชาการด้านนี้อย่างจริงจังและกะทันหัน โดยที่กรมศิลปากรยังไม่มีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏิบัติงานในทะเล และไม่มีอุปกรณ์ปฏิบัติงานใต้น้ำ เนื่องจากมีชาวประมงพบซากเรื่อจมโบราณมีโบราณวัตถุประเภทเครื่องสังคโลกจำนวนมากในร่องน้ำลึกใกล้เกาะคราม และมีนักล่าสมบัติ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้าไปงมเครื่องถ้วยสังคโลกขึ้นมาขาย โดยไม่หวั่นกลัวต่อกฎหมาย ทำให้หลักฐานทางวิชาการและมรดกทางวัฒนธรรมของชาติถูกทำลายไปมากมาย ในการปฏิบัติงานโบราณคดีใต้น้ำระยะเริ่มต้นกรมศิลปากรได้ขอความร่วมมือจากกองทัพเรือ จัดส่งเรื่องอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการใต้น้ำมาช่วยดำเนินงานกู้โบราณวัตถุเครื่องถ้วยในแหล่งเรือจมโบราณใกล้เกาะครามได้เป็นผลสำเร็จ ในปี พ.ศ. 2518 กรมศิลปากรได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลประเทศเดนมาร์กส่งผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดีใต้น้ำมาช่วยแนะนำการปฏิบัติงาน และร่วมการปฏิบัติงาน ให้ทุนฝึกอบรมและศึกษาดูงานในประเทศเดนมาร์ก นับตั้งแต่ปีนั้นมาคนไทยและนานาชาติก็รู้จักโบราณคดีใต้น้ำในประเทศไทย และในปี พ.ศ. 2520 รัฐบาลไทยจึงอนุมัติให้กรมศิลปากร จัดตั้งโครงการโบราณคดีใต้น้ำ และได้บรรจุโครงการฯ เข้าไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520 - 2524) ต่อมาภายหลังได้มีการปรับเปลี่ยนยกระดับจากโครงการโบราณคดีใต้น้ำมาเป็นงานโบราณคดีใต้น้ำ ฝ่ายวิชาการ กองโบราณคดีจนสุดท้ายมาเป็น กองโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ในปัจจุบัน

‘คูดักรถถัง’ ยุทธศาสตร์ที่ ‘กองทัพไทย’ ผุด!! หวังป้องลัทธิคอมมิวนิสต์ ปัจจุบันพัฒนาเป็นแหล่งกักเก็บน้ำตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา


ส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์อันสำคัญของชาติไทยและมีส่วนช่วยให้คนไทยรอดพ้นจากภัยของลัทธิคอมมิวนิสต์ ก็คือ ‘คูคลองยุทธศาสตร์’ (ชายแดนไทย-กัมพูชา) และต่อมาได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำหรับพี่น้องคนไทยที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาจนทุกวันนี้ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อ 40 ปีก่อน เป็นหนึ่งเรื่องสำคัญในประวัติศาสตร์ที่คนไทยที่โตและเกิดไม่ทันยุคที่กองทัพไทยต้องเผชิญหน้ากับกองทัพเวียดนามในกัมพูชา ภายหลังจากพรรคคอมมิวนิสต์ของเวียดนาม ลาว และกัมพูชาเรืองอำนาจโดยสามารถเอาชนะรัฐบาลที่สหรัฐอเมริกาสนับสนุนได้ และแสดงท่าทีที่ชัดเจนในการรคุกคามต่ออธิปไตยของไทย เป็นเรื่องราวที่ตอกย้ำให้เห็นความจำเป็นของไทยที่จะต้องมีกองทัพแห่งชาติที่เข้มแข็งและมีอาวุธยุทโธปกรณ์อันทันสมัยในการป้องกันเอกราชและอธิปไตยของชาติ 


ที่มาของ ‘คูคลองยุทธศาสตร์’ เกิดจากเหตุปะทะชายแดนไทย-เวียดนาม เมื่อกำลังทหารเวียดนามบุกเข้ากัมพูชาในวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2521 เพื่อล้มล้างระบอบเขมรแดง กำลังทหารกัมพูชาส่วนใหญ่ได้อพยพมาอยู่ทางด้านตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศที่ติดกับชายแดนไทย โดยมีกลุ่มชาวกัมพูชาที่ต่อต้านการยึดครองของเวียดนามอยู่ 3 กลุ่ม ได้แก่ 

1.) กลุ่มกัมพูชาประชาธิปไตย (Democratic Kampuchea) หรือกลุ่มเขมรแดงของ พล พต และเขียว สัมพันธ์ มีสมาชิกประมาณ 40,000 คน มีฐานที่ตั้งอยู่บริเวณพนมกระวันและบริเวณตะวันตกของจังหวัดพระตะบอง
2.) กลุ่มแนวร่วมปลดแอกแห่งชาติของประชาชนเขมร (Khmer People’s National Liberation Front - KPNLE) ภายใต้การนำของซอนซาน มีสมาชิกประมาณ 4,000 คน 
3.) กลุ่มแนวร่วมแห่งชาติเพื่อเอกราช ความเป็นกลาง และสันติภาพในกัมพูชา (Front d"union national pour un Cambodge independant, pacifiaue et cooperatif - FUNCINPEC) ภายใต้การนำของสมเด็จนโรดม สีหนุ 


การที่กลุ่มต่อต้านทั้ง 3 กลุ่มนี้มีฐานกองกำลังใกล้กับชายแดนไทยเพื่อเป็นง่ายต่อการหลบหนีเมื่อกำลังเวียดนามบุกเข้ามา กำลังกัมพูชาก็หลบหลีกเข้าสู่ดินแดนไทย ในการนี้เวียดนามเห็นว่า ไทยนั้นยินยอมให้กัมพูชาฝ่ายต่อต้านใช้พื้นที่เป็นที่หลบหนีและคุ้มกันการโจมตีของกำลังเวียดนามและกำลังของเฮงสัมริน


โดยปฏิบัติการที่สำคัญเกิดขึ้นระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพเวียดนาม มีดังนี้

- การโจมตีบ้านโนนหมากมุ่น อำเภอตาพระยา จังหวัดปราจีนบุรี ในวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2523 เวียดนามได้ส่งกองกำลังมากกว่า 2 กองร้อยล้ำเข้ามาในดินแดนไทยเข้าโจมตี การปะทะกันดังกล่าวก่อให้เกิดการบาดเจ็บและล้มตายทังสองฝ่าย
- ช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2524 กองทัพเวียดนามและกำลังของของเฮง สัมริน ล่วงเข้าดินแดนไทยลึก 500 เมตร ที่หมู่บ้านสะแดง อำเภอตราพระยา จังหวัดปราจีนบุรี และได้ปะทะกับทหารไทย ทำให้ทหารไทยเสียชีวิต 2 นาย บาดเจ็บ 1 นาย และเมื่อวันที่ 3 มกราคม มีการยิงกระสุนอาวุธหนักเข้ามาในเขตไทย ทำให้เจ้าหน้าที่และราษฎรของไทยเสียชีวิตรวม 10 คน
- กองทัพเวียดนามและกองกำลังของเฮง สัมริน ได้บุกเข้ามาในเขนไทยที่บ้านซับสารี ตำบลปะดง อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี ในวันที่ 17 กุมพาพันธ์ พ.ศ. 2525 และได้ปะทะกับตำรวจตระเวนชายแดน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 นาย และตลอดทั้งปีได้มีการลุกล้ำเข้ามาในเขตอธิปไตยของไทยหลายครั้ง
- เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2526 เวียดนามได้ส่งกำลังโจมตีค่ายอพยพชาวกัมพูชาที่ตรงข้ามบ้านหนองจาน อำเภอตราพระยา จังหวัดปราจีนบุรี โดยได้เผาทำลายที่พักอาศัยและโรงพยาบาลจนหมดสิ้น มีชาวกัมพูชาบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ชาวกัมพูชาประมาณ 23, 000 คน ได้หลบหนีเข้ามาในอธิปไตยของไทย เวียดนามยังได้ยิงกระสุนปืนใหญ่เข้ามาตกในดินแดนไทยหลายสิบนัด เป็นผลให้ราษฎรไทยเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง และบ้านเรือนได้รับความเสียหาย
- ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม - 2 เมษายน พ.ศ. 2526 กำลังทหารเวียดนาม 1 กองพล สนับสนุนด้วยปืนใหญ่และรถถัง ได้เข้าโจมตีชาวกัมพูชาที่จังกาโก เขาพนมฉัตร และค่ายผู้อพยพตรงข้ามบ้านโคกทหาร ทำให้ชาวกัมพูชาเสียชีวิตหลายคน ที่พักและโรงพยาบาลถูกเผา และมีชาวกัมพูชาประมาณ 20,000 คน อพยพเข้าสู่เขตไทย


- วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2527 เวียดนามได้ส่งกองกำลังเข้าโจมตีค่ายผู้อพยพของกัมพูชา ตรงข้ามกับหมู่บ้านสำโรงเกียรติ อำเภอขุนหาร จังหวัดศรีสะเกษ ทำให้ชาวกำพูชาหลายหมื่นคนได้อพยพเข้าสู่ดินแดนไทย และกองกำลังเวียดนาม 1 กองพันได้บุกรุกเข้าสู่ดินแดนไทยทางช่องเขาพระพะลัยและได้ปะทะกับทหารไทย ทำให้มีผู้เสียชีวิต 7 คน และบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง
- ช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2527 เวียดนามได้ส่งกองกำลังพร้อมด้วยปืนใหญ่ และรถถังเข้าโจมตีค่ายอพยพกัมพูชาที่หมู่บ้านตาตูม ค่ายผู้อพยพอัมปิล และค่ายผู้อพยพบ้านสุขสันต์ ทำให้มีชาวกัมพูชาประมาณ 80,000 คน อพยพเข้าสู่เขตไทย
- ช่วงปลายปี 2527 ถึงต้นปี 2528 ทหารเวียดนามได้เข้าโจมตีชุมนุมต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฝ่ายซอนซานตลอดแนวชายแดนไทย โดยสามารถยึดชุมนุมเหล่านี้ได้หมด ทำให้ชาวกัมพูชาได้อพยพเข้ามาในเขตไทยรวม 160,000 คน
- วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2528 ทหารเวียดนามได้เข้าโจมตีที่ตั้งหมวดตำรวจตระเวนชายแดนที่ 239 บ้านตระเวง อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ ทำให้เจ้าหน้าไทยเสียชีวิต 18 นาย บาดเจ็บ 34 นาย
- ในปีเดียวกัน ทหารของเวียดนามได้โจมตีค่ายอพยพที่บ้านหนองจาน และมีการปะทะกันทางทหารรัฐบาลผสม 3 ฝ่าย ติดต่อกันหลายวัน ทำให้ผู้อพยพชาวกัมพูชาได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์รวม 62 คน เสียชีวิต 6 คน ค่ายผู่อพยพถูกทำลายเสียหาย และส่งผลให้ผู้อพยพจำนวน 22,262 คน ได้อพยพเข้ามาในเขตไทย
- ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 ทหารเวียดนามได้ระดมกำลังโจมตีชุมนุมชาวกัมพูชาซึ่งเป็นกลุ่มเขมรแดง ทำให้ชาวกัมพูชาประมาณ 60,000 คน ได้หลบหนีเข้ามายังเขตไทยในช่วงเดือนกุมพาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคม เวียดนามได้ปฏิบัติการอย่างรุนแรงที่สุด โดยในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ทหารเวียดนามได้ยิงปืนใหญ่เข้ามายังเขตไทยที่เนิน 347 อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ทำให้ทหารไทยเสียชีวิต 3 นาย บาดเจ็บเป็นจำนวนมาก
- วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2528 กองทัพเวียดนามได้โจมตีฐานที่มันของไทยที่เนิน 361, 400 และ 427 โดยยึดพื้นที่บางส่วนของเนิน 361 ทหารไทยเสียชีวิต 7 นาย บาดเจ็บ 34 นาย และสูญหาย 3 นาย โดยก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน กองกำลังเวียดนามประมาณ 100 คนได้ลุกล้ำเขตเขตไทยที่อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ห่างจากชายแดนไทย-กัมพูชา 10 กิโลเมตร และจับกุมราษฎรไทย 62 คน ฆ่าตาย 11 คน และทหารไทยที่ส่งไปช่วยราษฎรดังกล่าวได้ปะทะกับกองกำลังเวียดนามทำให้ทหารไทยเสียชีวิต 5 นาย
- ช่วงระหว่างวันที่ 5-10 มีนาคม พ.ศ. 2528 กองกำลังเวียดนามได้ยิงปืนใหญ่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง และรุกล้ำดินแดนไทย ในพื้นที่อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ทำให้ราษฎรไทยกว่า 7,500 คน ต้องหลบภัยไปยังพื้นที่ปลอดภัยมีราษฎรเสียชีวิต 3 คน บ้านเรือนเสียหาย 40 หลัง และโรงเรียนเสียหาย 1 แห่ง
- วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2528 กองกำลังเวียดนามได้เข้าโจมตีฐานของเจ้านโรดม สีหนุในเขตกัมพูชา และรุกล้ำเข้ามาในเขตไทยในอำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ มีการปะทะกับทหารไทย ทำให้ทหารไทยเสียชีวิต 11 นาย บาดเจ็บ 68 นาย สูญหาย 3 นาย
- ช่วงปลายปี พ.ศ. 2528 ถึง พ.ศ. 2529 ทหารเวียดนามได้เข้ามาวางระเบิดในเขตไทยหลายครั้ง ซึ่งเป็นผลให้ทหารและราษฎรไทยบาดเจ็บและเสียชีวิต นอกจากนี้ก็ยังมีการรุกล้ำเข้ามายังเขตไทยหลายครั้ง


เมื่อเปรียบเทียบกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์แล้ว ขณะนั้นถือได้ว่ากองทัพไทยเมื่อเปรียบเทียบกับเวียดนามแล้วนั้นถือได้ว่าเทียบกันไม่ติด เนื่องจากกองกำลังทางทหารของฝ่ายไทยไม่เคยผ่านการรบในลักษณะเต็มรูปแบบมาก่อน นอกจากการบภายในประเทศกับกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พ.ค.ท.) ซึ่งมีลักษณะเป็นการรบแบบจรยุทธ์หรือสงครามกองโจร หรือถ้าผ่านการรบก็เป็นการรบแบบสมัยใหม่มีแนวปฏิบัติในการรบแบบสหรัฐอเมริกา แตกต่างกับเวียดนาม โดยกองกำลังของเวียดนามมีทักษะในการรบที่ดีกว่า ทั้งการทำสงครามเต็มรูปแบบและวิธีการรบแบบกองโจร นอกจากนี้ทหารของเวียดนามก็ยังมีประสบการณ์รบจากสงครามเวียดนามอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ขณะที่เวียดนามบุกกัมพูชานั้นกองกำลังทางทหารของเวียดนามมีจำนวนราว 900,000 นาย โดยที่ยังไม่รวมกำลังทหารของฝ่ายเฮงสัมรินที่ไม่ทราบจำนวนที่แน่นอน ด้วยการรบแบบกองโจรและการรบตามแบบสมัยใหม่ ขณะที่ฝ่ายไทยนั้นมีประสบการณ์เพียงเรื่องการรบในการปราบปรามผู้ก่อการร้าย และมีทหารบางหน่วยที่ผ่านสงครามในลาวและเวียดนาม ซึ่งชำนาญการรบตามหลักนิยมของสหรัฐอเมริกา ต้องอาศัยอำนาจการยิงที่เหนือกว่าจึงจะทำการรบได้ นอกจากนี้เวียดนามยังมีอาวุธของสหรัฐอเมริกาที่เหลือจากสงครามเวียดนามอยู่มาก รวมทั้งในระหว่างปี พ.ศ. 2521 - 2531 เวียดนามได้รับความช่วยเหลือทางทหารจากสหภาพโซเวียตอีกเป็นจำนวนมหาศาล เพื่อพัฒนากองทัพให้ทันสมัย และเพื่อการปราบปรามฝ่ายต่อต้านในการกัมพูชา กล่าวได้ว่า ไทยมีขีดความสามารถที่ด้อยกว่าเวียดนามอยู่มาก โดยนักวิชาการด้านการทหารตะวันตกประเมินว่า ขณะนั้นกองทัพเวียดนามน่าจะมีขีดสมรรถะทางทหารอยู่ในอันดับที่ 3-4 ของโลก ในขณะที่กองทัพไทยในขณะนั้นยังไม่ติด 20 อันดับแรกเลย ซ้ำร้ายยังถูกสหรัฐอเมริกาซึ่งเคยเชื่อว่าเป็นมหามิตรตัดความช่วยเหลือทางทหาร แม้กระทั่งอาวุธยุทโธปกรณ์เหลือใช้จากสงครามเวียดนามจำนวนมากก็ไม่ยอมให้กองทัพไทยใช้ และได้ทำการขนย้ายไปเก็บยังฐานทัพอเมริกันในประเทศอื่น ๆ แทน 

(รถถังเวียดนามแบบ T-54 ในกรุงพนมเปญ)

หลังจากที่กองกำลังผสมเวียดนามและเขมรเฮงสัมรินรบชนะกองทัพกัมพูชาสามารถบุกยึดกรุงพนมเปญ และดินแดนที่เขมรแดง (ซึ่งได้ฆ่าล้างเผ่าพันธ์ชาวกัมพูชานับล้าน) ไว้ได้เกือบทั้งหมด และมีความมุ่งหมายที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของไทย โดยเคลื่อนกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ โดยเฉพาะรถถังจำนวนมากมาประชิดชายแดนไทยด้านตะวันออก ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นป่าโปร่ง จึงทำให้กองทัพไทยต้องขุดคันคูยุทธศาสตร์ หรือ คูดักรถถัง ตลอดแนวชายแดน ไทย-กัมพูชา เพื่อป้องกันกำลังทหารเวียดนามและเฮงสัมรินด้วย หากไม่มีคูดักรถถังแล้วเมื่อเจอกำลังรถถังเวียดนามแบบ T-54 จากสหภาพโซเวียต ซึ่งมีสมรรถนะเหนือกว่าและมีจำนวนมากกว่ารถถังของกองทัพไทยทุกแบบที่มีอยู่รวมกันในขณะนั้น และมีแนวโน้มที่จะบุกข้ามชายแดนไทยในฤดูแล้งในปี พ.ศ. 2524 


ช่วงที่เกิดการสู้รบระหว่างทหารไทยกับทหารเวียดนามและทหารเวียดนามกับทหารกัมพูชากลุ่มต่าง ๆ ในพื้นที่แนวชายแดน กองทัพไทยได้ส่งกำลังทหารหลายกองพันไปตั้งรับยันกำลังทหารเขมรเฮงสังรินกับทหารเวียดนามไว้ตลอดแนวชายแดนไทย-เขมร โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนแถบอำเภอตาพระยากับอำเภออรัญประเทศ ซึ่งขณะนั้นยังอยู่ในเขตจังหวัดปราจีนบุรี เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบป่าโปร่งขนาดใหญ่ที่เรียกว่า ‘ที่ราบฉนวนไทย’ ซึ่งมีความยาวต่อเนื่องมาตั้งแต่จังหวัดนครนายก ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี จนถึง สระแก้ว (ในปัจจุบัน) มีคำกล่าวโดยนายทหารระดับสูงของกองทัพเวียดนามว่า ถ้าหากทหารเวียดนามและทหารเขมรเฮงสัมรินสามารถยกทัพข้ามชายแดนไทยมาได้ จะใช้เวลาเพียง 48 ชั่วโมงเท่านั้นก็มาถึงบริเวณชานเมืองของกรุงเทพฯ ได้อย่างสบาย 


(แนวคันคูยุทธศาสตร์หรือคูดักรถถังบางส่วนในปัจจุบัน)

ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงได้ขุดคันคูยุทธศาสตร์ หรือ คูดักรถถัง ยาวเหยียดตั้งแต่อำเภอตาพระยามาจนถึงอำเภออรัญประเทศ และแนวชายแดนในเขตจังหวัดจันทบุรีและตราดด้วย และมีการประจำการปืนใหญ่กับกำลังทหารไว้ตลอดแนวชายแดนของสองอำเภอนี้ ซึ่งจาก FB ของคุณ Sawat Boonmun ได้กรุณาให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรูปแบบของคันคูยุทธศาสตร์หรือคูดักรถถังว่า สิ่งกีดขวางแนวต้านทาน มี 3 ขั้น ขั้นแรกอยู่ติดเส้นเขตแดน ขั้นสองหน้าแนวคันคู และขั้น สามแนวคือคูเหลด โดยมีการบีบให้เข้าสู่พื้นปฏิบัติการ (สังหาร) ด้วย 


(แนวคันคูยุทธศาสตร์หรือคูดักรถถังบางส่วนในปัจจุบันได้รับการปรับปรุงให้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำ
สำหรับพี่น้องประชาชนชาวไทยตามแนวชายแดน)

การเผชิญหน้าระหว่างกองทัพไทยกับกองกำลังผสมเวียดนามและเขมรเฮงสัมรินดำเนินต่อเนื่องเกือบสิบปีจนสิ้นสุดใน ปี พ.ศ. 2532 ด้วยกองกำลังผสมเวียดนามและเขมรเฮงสัมรินไม่สามารถเอาชนะกองกำลังต่อต้านกลุ่มต่าง ๆ ในกัมพูชาเอง ทั้งยังถูกกดดันจากนานาประเทศ จนกระทั่งรัฐบาลเวียดนามได้ลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพเมื่อ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2534 และยอมถอนกำลังทหารทั้งหมดออกจากกัมพูชา และส่วนหนึ่งก็ด้วยนโยบาย ‘เปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า’ ของพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ปัจจุบันแนวคันคูยุทธศาสตร์หรือคูดักรถถังที่มีอยู่บางส่วนก็ตื้นเขิน บางส่วนก็ได้รับการปรับปรุงให้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำหรับพี่น้องประชาชนชาวไทยตามแนวชายแดนเพื่อใช้ในการเกษตร อุปโภค และบริโภค จนทุกวันนี้

'หากิน' ด้วยการปั้นผีลวง ไว้ลวงหลอก 'ถูกหากิน' เพราะ 'อุปาทาน' ในใจตนหลอกตัว

เรื่องของ 'ผี' เป็นความเชื่อกันมาเป็นปกติทั่วโลก แต่ใครเห็นกัน จริง ๆ เห็นกัน จะ ๆ บ้าง ผมว่าคงนับได้เลย แต่ถ้าผีในใจผมว่าเรื่องนี้เล่ากันได้เยอะ

ครั้งนึงเมื่อหลายปีก่อน ผมได้อุปสมบทเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ร่วมกับอีกหลายบุคคล ณ วัดป่าศรัทธารวม จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งวัดแห่งนี้เดิมเป็นป่าช้าแห่งที่ ๒ ของจังหวัดนครราชสีมา และเป็นสถานที่สำหรับเผาศพผู้ที่ตายด้วยโรคติดต่อ เช่น อหิวาตกโรค, กาฬโรค เป็นต้น 

ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๗๕ ณ ที่แห่งนี้ได้มีปักหมุดหมายในการสร้างวัดสำหรับการปฏิบัติภาวนาให้แก่ประชาชนให้เกิดขึ้นอีก ๑ แห่งในจังหวัดนครราชสีมา นอกเหนือไปจากวัดป่าสาละวัน ซึ่งมีพระกรรมฐานคณะแรกมาจำพรรษา ณ วัดป่าแห่งนี้อันประกอบด้วย ๑.พระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล ๒.พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี ๓.พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ๔.พระอาจารย์หลุย จันทสาโร ๕.พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ ๖.พระอาจารย์ภุมมี ฐิตธัมโม และสามเณรอีก ๔ รูป รวมเป็น ๑๐ รูป 

นั่นคือจุดเริ่มต้นของวัดป่าแห่งนี้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวัดป่าสำคัญที่มีพระอาจารย์นักปฏิบัติมาจำพรรษาหรือภาวนาด้วยความวิเวก ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังร่มรื่น สงบ สมกับเป็นวัดป่า แม้จะผ่านเหตุการณ์ที่น่าเศร้าใจอย่าง 'จ่าคลั่ง' กราดยิงมาเมื่อไม่นานมานี้ 

กลับมาที่เรื่องผีกันต่อ ตามที่ว่ากันว่า ณ วัดแห่งนี้เป็นป่าช้าเก่า มีที่เผาศพแบบเปิดโล่งไม่ใช่เมรุที่วัดทั่วไปมี เวลาเผาศพก็จะมีกลิ่นล่องลอยไปในชุมชนให้ได้ปลงสังเวชกัน และแน่นอนย่อมมีเรื่องเล่าที่เกี่ยวข้องกับผีสาง 

เรื่องที่เล่ากันมากก็มักจะเป็นการเห็นเงาคนมานั่งอยู่ใกล้ ๆ กับที่เผาศพ บ้างก็ว่าเห็นเงาคนมาเดินรอบเมรุกลางแจ้ง โดยเฉพาะเล่าว่า พระในวัดได้มาปฏิบัติเดินจงกรมอยู่ ณ บริเวณหน้าเมรุแล้วปรากฏว่ามีคนมาเดินจงกรมตามหลังแล้วภาวนาว่า 'พุทโธ' ตามที่พระรูปนั้นกำลังภาวนาอยู่ เรื่องนี้ถูกยกมาเล่าตอนที่ผมบวชอยู่และกำลังจะไปภาวนาในช่วงหลังทำวัตรเย็นแล้ว 

หรืออีกเรื่องก็เล่ากันว่าในป่าช้าเดิมซึ่งอยู่ทางหลังวัดเวลาที่มีพระไปนั่งสมาธิภาวนาอยู่หน้าองค์พระขาว พระพุทธรูปปางประทานพร ซึ่งเดิมเป็นอุโบสถ โดยขณะนั่งสมาธิไปก็ได้ยินเสียงโหยหวนลอยมาตามลมบ้าง ได้ยินเสียงคนจำนวนมากพูดซุบซิบกันบ้าง ได้ยินเสียงเท้าหนัก ๆ เดินอยู่ใกล้ ๆ บ้าง หรือพระบางรูปเดินจงกรมภาวนาก็รู้สึกว่ามีคนจ้องมอง หรือมีคนนั่งอยู่ใกล้ๆ ที่เดินจงกรมบ้าง เอาเข้าจริงๆ ก็ยังไม่มีคนที่พบจริงๆ มาเล่าให้ฟังนะ มีแต่เรื่องเล่า เพื่อมาเล่าต่อ...

อย่างเรื่องที่มีผู้มาเล่าให้ผมฟังตอนอุปสมบท ก็คือเรื่องจากผู้ที่อุปสมบทพร้อมผมได้พบเจอ 'ผี' ที่กุฏิของเขา โดยท่านผู้นั้นเล่าว่าท่านกำลังจำวัดอยู่แล้วได้ยินเสียงกุกกัก ๆ ก็เลยจะลุกขึ้นไปดู ก็ปรากฏว่าลุกไม่ขึ้นพยายามเท่าไหร่ก็ลุกไม่ขึ้น ด้วยอาการที่เรา ๆ ท่าน ๆ รู้จักกันดีว่า 'ผีอำ' แต่พอกลั้นใจหลับตาภาวนา ท่านผู้นั้นก็ค่อย ๆ ลืมตาแล้วก็เห็นเงาขนาดใหญ่นั่งอยู่บนร่างของท่าน เมื่อกลั้นใจภาวนาอีกครั้งเงานั้นก็หายไป และสามารถลุกขึ้นมาได้แล้วท่านก็เดินลงจากกฏิด้วยความรู้สึกหวาด ๆ 

พอลงจากกุฏิ ก็ได้พบเห็นเหมือนร่างคนกำลังเดินออกจากกุฏิไปแบบเลื่อนตัวไป หรือไปแบบลอย ๆ จนค่อย ๆ หายไป นี่คือเรื่องราวของพระนวกะที่ได้อุปสมบทพร้อมผมมาเล่าในวงสนทนาก่อนที่เราจะแยกย้ายกันไปภาวนา 

พอฟังเรื่องเล่าเรื่องนี้ คุณเชื่อไหม? ผมรู้สึกอย่างเดียวว่าท่านผู้นั้นมาบวชอย่างไร? ถึงเจอผี ทั้ง ๆ ที่คณะของท่านช่างเสียงดัง เจี๊ยวจ๊าว ราวกับการมาอุปสมบทคือการมาเข้าค่าย ไม่น่าจะเจออะไรเพราะเสียงมันช่างดังเหลือเกิน อ้อ!! ผมลืมบอกไปว่าการอุปสมบทครั้งนั้นคือ การอุปสมบทหมู่ ถ้าอยากปลีกวิเวกต้องหาที่ทางและช่วงเวลาเอาเอง เพราะความไม่สงบมีอยู่สูง 

กลับมาที่เรื่องผีที่พระร่วมรุ่นของผมเล่าว่าเจอ ผมคิดเอาเองในฐานที่ปกติผมมักจะปฏิบัติภาวนาแบบเอกา เรื่องผีสางผมก็กลัว แต่การอุปสมบทครั้งนั้นมีความหมายเนื่องจากเป็นการอุปสมบทระยะสั้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ จึงอยากตั้งใจปฏิบัติภาวนา ซึ่งสถานที่ ที่ 'เขาเล่าว่า' ผมก็ล้วนไปปฏิบัติ ทั้งเดินจงกรม ทั้งนั่งสมาธิวิปัสสนา ปรากฏว่าผมไม่เจอ 'ผี' แต่สิ่งที่ผมเจอและสัมผัสได้จากวัดป่าแห่งนี้ กลับกลายเป็นการที่เราสามารถเข้าสู่สมาธิได้อย่างรวดเร็ว สมกับที่เป็นวัดป่าที่พ่อแม่ครูอาจารย์ท่านมาปฏิบัติไว้ดีแล้ว ชอบแล้ว 

ผมบอกตรง ๆ เลยว่าผมไม่เคยเจอผี หรือผมอาจจะเจอ แต่ผมไม่ได้สนใจก็ได้ เพราะสิ่งที่สำคัญของการจะเจอหรือไม่เจอมันสำคัญที่ 'ใจ' เมื่อ 'ใจ' เป็นใหญ่เราก็สามารถควบคุมการ พบ เจอ นิมิต หรือการสัมผัสใดๆ ได้ คำว่า 'ใจ' เป็นใหญ่หรือใช้ 'ใจนำ' นี้ อาจารย์ใหญ่ของพระป่า 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ท่านได้เคยกล่าวไว้แล้ว และเมื่อเราอุปสมบทในร่มเงาวัดป่า เราจึงต้องนำมาใช้ให้เห็นจริงใช้ 'ใจ' ควบคุมให้จิตไม่โลดแล่นไปอยากเจออะไร ไปสนใจอะไรภายนอก 'จิตใจ'

ฉะนั้น 'ผี' ที่พระท่านนั้นเจอ ผมจึงคิดว่ามันเกิดขึ้นจาก 'อุปาทาน' ที่เกิดจากการฟังแล้วคิดตามว่ามันมี มันต้องมี มันควรมี พอคิดตามนี้ 'ผี' ในใจก็ปรากฏได้เพราะเราไม่ควบคุมมัน สุดท้ายมันก็มาปรากฏกับสังขารของเรา ด้วยความเหนื่อยจากการคิด พูด ฟัง กลายเป็น 'ผีอำ' หรือการเป็น 'ผีเลื่อน' / 'ผีลอย' ผมคิดว่ายังงั้นนะ 

เช่นเดียวกันกับเรื่องราวในสังคมยุคนี้ที่ชอบยกเอาเรื่องที่ไม่จริง สิ่งที่ไม่มี โกหกตนเองจนเชื่อว่ามันเป็นอย่างนั้น มันเป็นอย่างนี้ ทำให้ความหลอกลวงถูกยกเป็นเรื่องจริงในใจตนเอง และเอาความจริงที่หลอกลวงตนเองเหล่านั้นไป หลอกเด็ก หลอกเยาวชน หลอกคนที่เชื่อให้หลงไปกับ 'ผี' ในใจที่มันไม่มีอยู่จริง อาทิ จดหมายของผู้นำปฏิวัติ ๒๔๗๕ ที่ไม่มีจริง การใช้วาทกรรมที่ล่วงละเมิดผู้อื่น ๆ ทั้ง ๆ ที่มันไม่ใช่เรื่องจริง การอวดอุตริในตนที่ไม่มีอยู่จริงตามสำนักทรงหรือสำนักลงนะทั้งหลาย หรือแม้กระทั่งตัวแทนประชาชนที่นำเอาข้อมูลอันไม่มีอยู่จริงมาอภิปรายกันในสภา หรือแม้กระทั่งการสัญญาของผู้บริหารประเทศที่ไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นจริงได้หรือไม่  

สิ่งเหล่านี้คือ 'ผี' จริง ๆ 'ผี' ในใจของคนบางคนที่ถูกนำไปหลอกให้กลายเป็น 'ผี' ในใจของสังคมโดยรวม จากเรื่องของผีในวัด เรื่องของพระที่โดนผีหลอก มาสู่เรื่องของ 'คน' เรื่องของ 'อุปาทาน' ที่ทำให้สิ่งที่ไม่มีอยู่จริงกลายเป็นสิ่งที่ปรากฏขึ้นจนเป็นตัวตน แล้วคุณจะยินดีให้ 'ผี' แบบนี้มาหลอกคุณอยู่ทุกวันไปทำไม

มรดก 'สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ' ถึง 'กรมหมื่นเทพพิพิธ' สำเนียงเหน่อเฉพาะตัว ที่ฉีกจากสำเนียงสไตล์อีสาน

ในฐานะลูกหลานคนโคราช ที่มักมีคนถามผมว่าผมพูดโคราชหรือพูดอีสาน ผมบอกว่าผมฟังโคราชได้แปลออก ส่วนอีสานผมพูดได้ ฟังออกแต่สำเนียงค่อนข้างจะทองแดงไม่ใช่อีสานแท้ๆ หลายคนก็งงว่าทำไม? 

หลายคนก็ถามว่าจริงๆ โคราชก็เว้าอีสาน แต่ไม่ใช่ลาวหรือ? เออ !!! งงไปอีก ผมบอกไม่ใช่ เพราะโคราชมีแต่เจ้านายลาวมารบด้วย แต่ไม่เคยตั้งรกราก ก็ไม่น่าจะพูดอีสานเหมือนชาวบ้านเขา เอ้า !!! งงอีกที นี่แหละที่ทำให้ผมต้องหาคำตอบเพื่อให้ความงงของผมลดลงไปบ้าง

 

โดยคำตอบแรกต้องนับเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๐๐๐ กรุงศรีอยุธยาสถาปนาเมืองนครราชสีมา และสร้างกำแพงอิฐ กว่าจะสำเร็จมั่นคงลงหลักปักฐานต้องมีกำลังคนของอยุธยาจำนวนไม่น้อยถูกเกณฑ์ให้เคลื่อนย้ายมาตั้งหลักแหล่งที่แม้จะต่างชาติพันธุ์ เช่น มอญ, เขมร, มลายู 

ซึ่งคนเหล่านี้จำเป็นต้องสื่อสารด้วยภาษาไทย (ในตระกูลภาษาไทย-ลาว) ที่มีสำเนียงต่างจากคนไทยใช้พูดทุกวันนี้ ได้แก่สำเนียงสองฝั่งโขง ซึ่งแพร่กระจายอยู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามาก่อนนานแล้ว ที่ปัจจุบันเรียก สำเนียงเหน่อ จนเกิดการผสมผสานเป็นรูปแบบเฉพาะ ตรงนี้ถือว่าว่าเป็นมรดกที่มีมาตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถที่ได้สร้างให้เมืองนครราชสีมากลายเป็นเมืองพระยามหานครขอบขัณฑสีมา

ภาษาอีสานสำเนียงโคราช จึงน่าจะมีรากเหง้าเค้าต้นจากสำเนียงหลวงกรุงศรีอยุธยาของคนต้นอยุธยาที่พูดสำเนียงเหน่อ 'สุพรรณ' ซึ่งเป็นสำเนียงหลวงอยุธยา พยานสำคัญได้แก่ เจรจาโขนด้วยลีลายานคางสำเนียงเหน่อ 

แต่เกิดการ Cross ด้านภาษากับลาวฝั่งไทย ซึ่งเมืองนครรราชสีมามีอาณาเขตครอบคลุมถึงและแลกเปลี่ยน ค้าขายกันอย่างเป็นปกติ ดังนั้นการพูดอีสานของคนโคราชจึงไม่เหมือนสำเนียงของใครในอีสาน “พูดอีสานแต่สำเนียงและคำบางคำไม่เหมือนอีสานที่อื่น” 

ส่วนภาษาโคราชที่เหน่อมากๆ และเป็นภาษาเฉพาะมาจากไหน? ถ้าเราจำเรื่องของ 'กรมหมื่นเทพพิพิธ' หรือ 'เจ้าพิมาย' แมวเก้าชีวิตสมัยอยุธยาได้ เรื่องสำเนียงและภาษาโคราชก็ถือว่าเป็นมรดกจากท่านนี่แหละ  

โดยก่อนกรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ ไม่น้อยกว่า ๓ - ๔ เดือน 'กรมหมื่นเทพพิพิธ' พระโอรสของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศซึ่งต้องโทษเนรเทศไปอยู่ลังกาได้ระหกระเหินหนีมาจนถึงเมืองจันทบุรี แล้วก็ชักชวนชาวเมืองชายทะเลทางตะวันออกยกเป็นกองทัพหลายพัน เพื่อหวังจะมารบพม่าเพื่อแก้ไขกรุงศรีอยุธยา แต่แผนแตกเสียก่อน พม่ายกกองทัพมาตีจนแตกพ่าย ต้องหนีไปเมืองนครราชสีมาซึ่งเป็นพระยามหานครขอบขัณฑสีมาแห่งกรุงศรีอยุธยา 

กรมหมื่นเทพพิพิธเมื่อมาถึงเมืองนครราชสีมาก็ประสบชะตากรรมเกือบถูกฆ่า แต่ก็รอดและได้รับสถาปนาเป็นเจ้าครองอาณาเขต เป็นพระเจ้าแผ่นดิน สืบพระวงศ์พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีฯ ซึ่งเรียกกันว่า 'เจ้าพิมาย'

นอกจากกำลังพลจากหัวเมืองชายทะเลตะวันออกแล้วนั้น ยังมี 'ข้าเก่า' ของ 'เจ้าพิมาย' จากกรุงศรีอยุธยาหนีพม่าขึ้นไปตั้งหลักแหล่งเพิ่มเติมอยู่ด้วยอีกมาก ชาวอยุธยาก็ได้เคลื่อนย้ายมาเป็นเจ้านายขุนนาง, ข้าราชการ, พลไพร่ และผสมผสานกลุ่มคนดั้งเดิมที่อยู่มาก่อนกรุงแตกมานานอยู่พอสมควรแล้ว 

สำเนียงภาษาโคราชก็เป็นการผสมระหว่างการพูดเหน่อของสำเนียงหลวงอยุธยาตามข้างต้นผสมกับสำเนียงของชาวหัวเมืองทะเลตะวันออกของชาวระยองและชาวจันทบุรี ที่ได้มาเป็นกองกำลังให้กับ 'เจ้าพิมาย' ซึ่งมีจำนวนไม่น้อย 

เพราะเมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียกทัพมาปราบ 'ก๊กเจ้าพิมาย' แล้ว ก็ไม่ได้กวาดต้อนผู้คนชาวหัวเมืองตะวันออกเหล่านี้ลงมากรุงธนบุรี อีกทั้งคนพวกนี้ก็ได้ลงหลักปักฐานอยู่ที่เมืองนครราชสีมาแล้ว สุดท้ายก็กลายเป็น 'คนโคราช' แล้วก็เกิดประเพณีใหม่กลายเป็น 'วัฒนธรรมโคราช' ที่โคตรเฉพาะตัวอย่างเช่น สําเนียงโคราช ที่กระเดียดไปทางสําเนียงชายทะเลตะวันออกแถบระยองและจันทบุรี ผสมสำเนียงเขมร แม้ผู้คนแถวปราจีนบุรีและนครนายกเมื่อสัก ๕๐ ปีมาแล้วก็พูดสําเนียงเก่าแบบ 'ยานคาง' ไม่ต่างจากสําเนียงโคราชนัก

ปัจจุบันภาษาและสำเนียงโคราชที่เป็นเฉพาะก็มีอยู่หลายอำเภอแต่ก็ไม่ทั้งหมด เพราะหลายอำเภอก็พูดอีสานแต่ทว่า 'ภาษาและสำเนียงโคราชมีความคล้ายความเหน่อของคนภาคตะวันออกแต่ภาษาแตกต่างออกไป'

ตัวอย่างที่ชัดก็คือ 'เพลงโคราช' ก็มีฉันทลักษณ์และลีลาเดียวกับเพลงพาดควาย, เพลงฉ่อย (ไม่ใช่ลําตัดที่เพิ่งเกิดสมัยรัชกาลที่ ๕) ของลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลาง แต่ต่างตรงอัตลักษณ์ด้านภาษาและสำเนียงที่แปร่งไป

นอกจากนี้ 'คนโคราช' ยังมีประเพณีอื่นๆ ที่เหมือนกับคนลุ่มเจ้าพระยาอยุธยาภาคกลาง เช่น กินข้าวจา, เคียวหมาก, ตัดผมเกรียน, นุ่งโจงกระเบน แม้กระทั่งศิลปวัฒนธรรมทางด้านสถาปัตยกรรม วัดวาอาราม ที่ไม่เหมือนกับคนอีสานอื่นๆ เอาซะเลย 

นี่แหละถึงบอกว่าคนโคราชไม่ใช่ลาว และคนโคราชพูดบางอำเภอพูดโคราช บางอำเภอพูดอีสานแต่ก็เป็นอีสานที่เหน่อเป็นเฉพาะตนที่เรียกกันว่า 'เหน่อแบบโคราช' และวัฒนธรรมอื่นๆ ที่แตกต่างเฉพาะตน 

‘White Hands’ ธุรกิจ ‘บริการทางเพศ’ สุดเหลือเชื่อของญี่ปุ่น มุ่งสนองความต้องการ ‘ผู้พิการ’ ที่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้

จากหนังสือ Sex Volunteers (2004) แต่งโดย Kawai Kaori นักข่าวสาวชาวญี่ปุ่นของ Shukan Post ซึ่งบรรยายถึงเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับ ‘อาสาสมัครทางเพศ (Sex Volunteers)’ ในญี่ปุ่น อันมีตั้งแต่กิจกรรมต่าง ๆ  มากมาย ตั้งแต่ผู้ที่เพียงเต็มใจให้บริการขนส่งไปยังสถานที่ให้บริการทางเพศ ไปจนถึงผู้ที่มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงที่สามารถมีเพศสัมพันธ์ด้วย หรือให้บริการทางเพศในรูปแบบอื่นสำหรับชายและหญิงที่มีความพิการ แม้จะเรียกชื่อโดยรวมว่า ‘อาสาสมัคร’ ผู้ให้บริการก็รวมทั้งผู้ที่รับเงินค่าจ้าง และผู้ที่ไม่ได้รับค่าจ้าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์

Sex Volunteers (2004) เป็นหนังสือที่บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับการที่ผู้พิการได้รับการ ‘บริการ’ ทางเพศโดยอาสาสมัครทางเพศที่มีชื่อเดียวกันนี้ อันเนื่องมาจากการขาดคู่รักทางเพศของผู้พิการ สิ่งนี้จุดประกายให้เกิดประเด็นในระดับชาติเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำระหว่างความพิการและเรื่องเพศ และหนังสือชื่ออื้อฉาวอีกมากมาย อาทิ ‘ฉันเป็นคนขายบริการทางเพศสำหรับผู้พิการ (I Was a Sex Worker for People with Disabilities)’ ความตื่นตระหนกทางศีลธรรมที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดความกังวลอย่างมากมายต่อความพิการและครอบครัว ประชาธิปไตยและความรับผิดชอบต่อสังคม และอนาคตของระบบการดูแลสุขภาพของประเทศ จากประสบการณ์ของ Kawai ในการติดตามผู้ป่วย ผู้พิการ ฯลฯ อาทิ ชายอายุ 72 ปี ที่ต้องพึ่งถังออกซิเจนหลังการผ่าตัด ขณะที่เขาไปที่สถานที่ให้บริการทางเพศพร้อมกับผู้ดูแล โดย Kawai มองว่า แม้เพศสัมพันธ์จะเสี่ยงต่อชีวิตของชายผู้นั้นเป็นอย่างมาก แต่พฤติกรรมของชายคนนั้นแสดงให้เห็นว่าเซ็กซ์ยังคงเป็นหนึ่งในข้อกำหนดพื้นฐานของชีวิต 

ซึ่งในอีกด้านหนึ่ง เธอได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงคนหนึ่งที่มี ‘สะโพกเคลื่อนแต่กำเนิด (Congenital dislocation of the hip)’ ซึ่งจ้างพนักงานชายจากบาร์โฮสต์ให้มาที่บ้านของครอบครัวของเธอเป็นประจำทุกสัปดาห์ ด้วยความเต็มใจของพ่อแม่ของเธอ พนักงานจะอาบน้ำให้เธอ แล้วอุ้มเธอไปที่เตียงซึ่งเขาจะมีกิจกรรมทางเพศกับเธอ โดย Kawai บอกว่า หญิงคนนี้ใช้เวลารอคอยทั้งสัปดาห์เพื่อให้คนโปรดของเธอมาให้บริการ ตัวอย่างที่สองนี้ ทำให้หญิงพิการที่มีแนวคิดสตรีนิยมโกรธเคือง เช่น Asaka Yūho (2009) ได้โต้แย้งว่า หญิง (และชาย) ที่มีความพิการจำเป็นต้องเอาชนะความเห็นแก่ตัวและความเฉื่อยชาของตนเอง และต้องรับผิดชอบเรื่องเพศของตนเองด้วยการหาคู่รักที่จริงใจ และต้องยอมรับในอย่างที่เป็นและมีเพศสัมพันธ์ด้วยความเต็มใจ ไม่ใช่เพื่อเงินหรือด้วยความสงสาร 

‘White Hands’ เป็นองค์กรเอกชนของญี่ปุ่น ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 30 มิถุนายน 2008 โดยมีสำนักงานอยู่ที่จังหวัด Niigata ทางภาคเหนือของญี่ปุ่น อันเป็นที่อยู่ของ ‘Sakatsume Shingo’ ผู้ก่อตั้ง บริการที่ White Hands เสนอแก่ผู้พิการคือ ‘ความช่วยเหลือในเรื่องของการหลั่ง’ สำหรับชายที่มีความพิการที่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้เนื่องจากอัมพาต กล้ามเนื้อลีบ ป่วยด้วยโรคที่รักษาไม่หาย หรือมีความพิการทางสมอง ซึ่ง 80% ของผู้รับบริการเป็นชาย ไม่ว่าจะเป็นคนโสดที่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้เนื่องจากเป็นอัมพาต หรือแต่งงานแล้วและไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ โดยไม่ได้รับความช่วยเหลือด้วยเหตุผลเดียวกัน โดย White Hands ใช้เว็บไซต์ในการโฆษณาเรื่องของ ‘อาสาสมัครทางเพศ’ บนอินเทอร์เน็ต เช่นเดียวกับหลาย ๆ องค์กรธุรกิจในลักษณะเดียวกัน ซึ่งไม่สามารถแยกความแตกต่างจากบริการทางโทรศัพท์ในการจัดส่งหญิงเพื่อบริการสุขภาพได้ ตัวอย่างเช่น อาสาสมัครทางเพศ (SV) Sakura No Kai อธิบายตัวเองว่า เป็นองค์กร ‘ที่ช่วยให้ผู้พิการช่วยตัวเอง’ และมีรายการราคาสำหรับ ‘อาสาสมัคร’ หญิง ซึ่งอยู่ระหว่าง 6,000 ถึง 7,500 เยน สำหรับบริการ ‘การดูแล’ ครั้งเดียวในพื้นที่กรุง Tokyo และนคร Osaka สามารถให้บริการดูแลได้ในห้องน้ำสำหรับผู้พิการของสถานีรถไฟ หากลูกค้าไม่มีพื้นที่ส่วนตัวที่บ้าน ทั้งยังรับรองว่าการให้บริการต่าง ๆ มีไว้สำหรับผู้ที่มีความพิการทางร่างกายเท่านั้น (ส่วนใหญ่เป็นโรคสมองพิการ) และไม่มีการให้บริการสำหรับบุคคลที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาหรือจิตเวช White Hands เน้นการให้บริการด้านสวัสดิการสังคม ทั้งยังโฆษณาว่า พวกเขากำลังสร้าง ‘ความเป็นสาธารณะทางเพศในรูปแบบใหม่’ พวกเขาเสนอทั้งความช่วยเหลือในการช่วยตัวเองและสิ่งที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่ในอเมริกาเรียกว่า การตั้งครรภ์แทนทางเพศ (การอุ้มบุญแทนผู้แปลงเพศ) และการให้คำปรึกษาด้านการบำบัดทางเพศ White Hands ยังเผยแพร่เอกสารบทความเกี่ยวกับความต้องการทางเพศของผู้ที่มีความพิการ (ทางร่างกาย) และคู่มือสำหรับผู้ให้บริการรายอื่น ๆ เกี่ยวกับวิธีการที่เหมาะสมในการให้บริการช่วยตัวเองสำหรับผู้พิการ 

โดยมีวิธีการดังนี้ : “หญิงสาวคนหนึ่งสวมถุงมือแบบใช้แล้วทิ้ง เธอถอดกางเกงและชุดชั้นในของชายคนนั้นออกแล้วคลุมด้วยผ้าเช็ดตัว เธอจุ่มผ้าลงในน้ำอุ่นแล้วถูร่างเขา เธอสวมถุงยางอนามัยให้เขา หญิงคนนั้นไม่ได้ถอดเสื้อผ้า ไม่มีเพศสัมพันธ์อย่างอื่น ไม่ใช้ DVD หรือหนังสือโป๊ และขั้นตอนทั้งหมดโดยเฉลี่ยใช้เวลาประมาณ 5 ถึง 10 นาที”

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2012 Kawai ได้เดินทางไปพบปะและพูดคุยกับ Sakatsume Shingo ประธานและผู้ก่อตั้ง White Hands ซึ่งสรุปได้ว่า เดิมทีเขาได้รับแรงบันดาลใจให้ศึกษาเรื่องเพศเมื่อตอนที่เขาเป็นนักศึกษาวิทยาลัยที่มหาวิทยาลัยแห่งโตเกียว ได้ศึกษากับ Ueno Chizuko นักวิชาการสตรีนิยมผู้มีชื่อเสียง โดยได้รับแรงบันดาลใจจากการสัมมนาครั้งหนึ่งของเธอ เขาเริ่มค้นคว้าเกี่ยวกับสภาพของผู้ขายบริการทางเพศ และพบว่าหลายคนต้องทนทุกข์ทรมานจากการเลือกปฏิบัติทางสังคม Sakatsume คิดว่าเขาอาจจะเปลี่ยนทัศนคติของสังคมที่มีต่องานบริการทางเพศได้ด้วยการเน้นย้ำถึงผลประโยชน์ทางสังคมของงานบริการนั้น เมื่อนึกถึงวิธีผสมผสานประเด็นเรื่องเพศและสวัสดิการสังคมที่ไม่เข้ากัน เขาจึงได้เกิดแนวคิดในการสร้างสถานที่ที่ผู้ขายบริการทางเพศสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ทุพพลภาพได้ 

ในการให้สัมภาษณ์กับนิตยสารฉบับหนึ่ง Sakatsume ตั้งข้อสังเกตไว้ดังนี้…ปัญหาทางเพศมี 3 แง่มุม : 1.) การแสดงความรัก 2.) ความพึงพอใจทางเพศ และ 3.) ปรากฏการณ์ทางสรีรวิทยา การสัมมนาระดับชาติส่วนใหญ่เกี่ยวกับปัญหาความช่วยเหลือทางเพศมักทำให้ทั้ง 3 ประเด็นเกิดความสับสน เขากล่าวว่า “เซ็กซ์ ก็เหมือนกับการทานอาหาร การนอนหลับ หรือการขับถ่าย ถือเป็นการทำงานพื้นฐานของร่างกาย” เมื่อ Kawai ถาม Sakatsume เกี่ยวกับพนักงานและสภาพการทำงานของพวกเขา เขาตอบว่า อายุเฉลี่ยของพวกเขาคือ 40 ปี เป็นผู้หญิงทั้งหมด และเขาให้ความสำคัญกับผู้ที่มีใบรับรอง Home Helper ระดับ 2 หรือพยาบาลวิชาชีพก่อน เขาดำเนินการภายใต้โมเดลสุขภาพหลังการคลอดบุตร โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่บ้านพ่อแม่ของเขาในเมือง Niigata และเขาติดต่อกับลูกค้าทางโทรศัพท์และส่งไปยังลูกค้าทั่วประเทศญี่ปุ่น ภายใต้กฎหมายญี่ปุ่น ได้รับการจดทะเบียนเป็นธุรกิจการค้าประเวณีเพื่อสุขภาพด้วยบริการจัดส่ง ซึ่งเป็นประเภทที่ทำให้ค่อนข้างลำบาก เนื่องจากทำให้ยากลำบากในการโฆษณาหาลูกค้าและรับสมัครพนักงานใหม่ วิธีแก้ปัญหาหลักประการหนึ่งของเขาคือ การจัดบรรยายสาธารณะและการเสวนาในหลักสูตรสังคมสงเคราะห์ การพยาบาล และการศึกษาด้านความพิการของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ  ทั้งได้ตีพิมพ์หนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับการกระตุ้นทางเพศสำหรับคนพิการโดยผู้ดูแล 

ทั้งนี้ ลูกค้าประจำรายหนึ่ง Akio Sudo วัย 54 ปี อาศัยอยู่ที่เขต Joetsu จังหวัด Niigata เขาเป็นลูกคนสุดท้องในบรรดาลูกแปดคน ไม่เคยไปโรงเรียนเลย พ่อของเขาไปล่าหมีโดยมีเด็กพิการผูกไว้ด้านหลัง เขาอายุ 20 ปีเมื่อพ่อของเขาเสียชีวิต ต้องไปอาศัยอยู่ในบ้านพักผู้พิการ เขาสาบานว่าสักวันหนึ่งจะออกจากบ้านพักผู้พิการ และใช้ชีวิตอย่างอิสระ เขาใช้เวลา 20 ปีในการพัฒนาทักษะและความมั่นใจ การนั่งรถเข็นดูเหมือนจะทำให้เขาอึดอัดไม่ได้ เขาเดินทางด้วยรถไฟบ่อยครั้งจาก Joetsu ไปยังกรุง Tokyo เพื่อใช้บริการทางเพศที่นั่น นี่คือก่อนยุคแห่งความสะดวกสบายที่ไร้อุปสรรค หากรถเข็นของเขาติดหรือพลิกคว่ำ การสังเกตปฏิกิริยาตอบสนองต่อเขาของผู้คนกลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของความสนุกสนานไป ด้วยทัศนคติเช่นนั้นก็ทำให้เขารู้สึกยิ่งแย่ ต่อมาโรคของเขากำเริบ อาการอัมพาตมากขึ้น ดังนั้นเขาจึงหันไปใช้อินเทอร์เน็ตและค้นพบ White Hands ที่มีค่าบริการ 3,500 เยนต่อ 15 นาที 5,500 เยนต่อ 30 นาที 9,500 เยนต่อชั่วโมง รวมค่าเดินทาง 

แม้ว่า Sakatsume จะรู้สึกสงสัยอยู่เสมอและบอกกับ Kawai ว่า เหตุใดทั้งลูกค้าและผู้ให้บริการจึงดูรู้สึกผิดกับสิ่งที่พวกเขาทำอยู่ เขาไม่แน่ใจว่าเขาต้องการทำอะไรกับชีวิตของเขา แต่ยังคงมีความคิดที่ว่าคนพิการยังมีความต้องการทางเพศ ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในประเทศตะวันตกเท่านั้น การพัฒนาบริการต่าง ๆ ในญี่ปุ่นสำหรับคนพิการ เช่น อาสาสมัครทางเพศ ผู้ช่วยทางเพศ และสถานที่บริการทางเพศที่ปราศจากสิ่งกีดขวาง ได้ท้าทายแนวคิดเรื่องความไม่รู้เรื่องเพศของคนพิการ และก่อให้เกิดประเด็นในการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับความพิการและเรื่องเพศเพิ่มขึ้นอีกด้วย สำหรับบ้านเราแล้วเรื่องราวเช่นนี้ไม่ค่อยจะปรากฏเป็นข่าวมากนัก ทั้งนี้ด้วยเหตุที่สังคมไทยจะประสบพบเห็นการใช้ชีวิตคู่ของผู้พิการด้วยกันหรือระหว่างผู้พิการกับคนปกติอยู่ทั่วไป ทั้งเรื่องราวที่เกี่ยวกับเพศแม้ปัจจุบันจะปรากฏอยู่แพร่หลายทั่วไปโดยเฉพาะบนอินเทอร์เน็ต แต่คนในสังคมส่วนไทยส่วนใหญ่มาก ๆ แล้วสามารถครองตัวและครองตนในขอบเขตและกรอบของศีลธรรมได้ ทั้งความเชื่อในพุทธศาสนาเกี่ยวกับเรื่องกฎแห่งกรรม จึงทำให้นานมาก ๆ จะมีเรื่องราวเช่นนี้เกิดขึ้นสักครั้งหนึ่ง หรือเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกนำมากล่าวถึงในสังคมไทย

เรื่อง : ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล
ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ อาจารย์พิเศษหลักสูตรปริญญาโทและเอก นักเล่าเรื่องมากมายในหลากหลายมิติ เป็นผู้ที่ชื่นชมสนใจในประวัติศาสตร์สงครามสมัยใหม่ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top