Sunday, 6 July 2025
COLUMNIST

‘ปราชญ์ สามสี’ โต้ ‘เจมส์ โรบินสัน’ ชี้ชัด ‘กองทัพไทย’ คือผู้ร่วมพิทักษ์ชะตากรรมของชาติ ในห้วงวิกฤต มิเพียง “เข้าแทรกแซง” หากแต่พยายาม “แสวงหาความมั่นคง” เพื่อรักษาอธิปไตยของชาติ

ในการวิเคราะห์ของ ศ.เจมส์ เอ. โรบินสัน นักเศรษฐศาสตร์ผู้ร่วมเขียน Why Nations Fail กองทัพไทยถูกมองว่าเป็นกลไกหนึ่งที่ขัดขวางการพัฒนาทางประชาธิปไตย อันเป็นหนึ่งในลักษณะของ 'สถาบันแบบแสวงหาผลประโยชน์' หรือ extractive institutions ทว่า มุมมองเช่นนี้แม้จะมีจุดยืนในทางทฤษฎี แต่เมื่อมองจากรากฐานทางประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมการเมืองของไทย กลับอาจไม่สะท้อนภาพความจริงในบริบทไทยอย่างถูกต้องครบถ้วน

รู้หรือไม่ว่า ประเทศไทยคือรัฐที่ไม่เคยตกเป็นอาณานิคม ...จุดนี้คือหัวใจสำคัญที่ทำให้โครงสร้างอำนาจของไทยแตกต่างจากประเทศอื่นในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม ลาว อินโดนีเซีย หรือแม้แต่เกาหลีใต้ — ประเทศเหล่านั้นล้วนเคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของชาติตะวันตกหรือมหาอำนาจต่างชาติ ทำให้การจัดวางบทบาทของกองทัพในภายหลัง ถูกจำกัดให้อยู่ในกรอบของ 'พลเรือนเป็นใหญ่' เพื่อลดปัจจัยที่เคยนำไปสู่การล่าอาณานิคม

ในทางตรงกันข้าม กองทัพไทยไม่ได้ถูกสถาปนาเพื่อรับใช้กลุ่มชนชั้นนำ หรือรัฐอาณานิคม หากแต่เป็นผลผลิตของการปกป้องเอกราชและอธิปไตยของชาติด้วยมือของคนไทยเอง กองทัพไม่ได้ถูกสร้างเพื่อ 'ควบคุมประชาชน' หากแต่ถูกหล่อหลอมในฐานะ 'ผู้ร่วมหุ้นชะตากรรมของแผ่นดิน' ที่ร่วมผ่านศึก ผ่านภาวะเปลี่ยนแปลง และพิทักษ์มาตุภูมิมาโดยตลอด

กรณีของเกาหลีใต้ ยิ่งตอกย้ำความต่างนี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เกาหลีเคยตกเป็นประเทศราชของจีนในช่วงราชวงศ์โชซอน ก่อนจะถูกญี่ปุ่นผนวกเป็นอาณานิคมเต็มรูปแบบตั้งแต่ปี 1910 ถึง 1945 กว่า 35 ปีของการสูญเสียอธิปไตยและการล้มล้างโครงสร้างทางสังคม ทำให้เกาหลีหลังสงครามโลกจำเป็นต้องรับ 'รัฐที่สร้างใหม่' จากอิทธิพลของสหรัฐฯ ในฝั่งใต้ และโซเวียตในฝั่งเหนือ ความเป็นอิสระของรัฐเกาหลีใต้จึงถือกำเนิดใหม่บนฐานของสงครามเย็นและการแทรกแซงของอภิมหาอำนาจ ซึ่งต่างจากไทยที่รักษาเอกราชไว้ได้ด้วยตนเอง

ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบกัน กองทัพเกาหลีใต้ไม่ได้เติบโตมาพร้อมกับการเป็น “เจ้าของบ้าน” เช่นเดียวกับกองทัพไทย หากแต่เป็น “ลูกหลานของระบบรัฐที่ถูกออกแบบใหม่หลังอาณานิคม” กรอบความชอบธรรมของกองทัพทั้งสองชาติจึงไม่เหมือนกันโดยสิ้นเชิง

การวิเคราะห์บทบาทกองทัพในฐานะ 'อุปสรรคต่อประชาธิปไตย' จึงอาจไม่ครอบคลุมความจริงทั้งหมดในบริบทไทย เพราะในช่วงเวลาวิกฤต — ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 วิกฤตการณ์คอมมิวนิสต์ หรือวิกฤตการเมืองปี 2535, 2553 หรือ 2557 — กองทัพมิได้เพียง 'เข้าแทรกแซง' หากแต่พยายาม 'แสวงหาความมั่นคง' เพื่อรักษาอธิปไตย เสถียรภาพ และความเป็นราชอาณาจักรที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ในทางหลักการ รัฐธรรมนูญไทยไม่เคยให้อำนาจเบ็ดเสร็จแก่กองทัพ แต่กองทัพก็ไม่เคยละทิ้งหน้าที่ที่จะยืนเคียงข้างชาติยามเผชิญวิกฤต ความสัมพันธ์เชิงประวัติศาสตร์นี้ก่อให้เกิดความเข้าใจเฉพาะของสังคมไทยว่า 'ทหารคือส่วนหนึ่งของชาติ' 

กองทัพไทยไม่ได้เกิดจากกลไกของรัฐอาณานิคมหรือสงครามเย็น แต่เกิดจากประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อปกป้องชาติบ้านเมือง และสืบสานแนวคิดของรัฐที่มีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางมาโดยตลอด กองทัพจึงไม่เคยอยู่ในสถานะ 'ผู้รับคำสั่งจากต่างชาติ' หากแต่คือ 'ผู้ร่วมหุ้นชะตากรรม' ในการรักษาเอกราช รัฐธรรมนูญ และความเป็นราชอาณาจักรไทย

เมื่อเกิดวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นภัยคุกคามจากภายนอกหรือความขัดแย้งภายใน กองทัพไทยจึงมักจะมีบทบาทเป็น 'ผู้กำหนดทางออก' — ไม่ใช่ในฐานะผู้ถืออำนาจถาวร แต่ในฐานะผู้รักษาเสถียรภาพของบ้านเมือง และรักษาระบบราชอาณาจักรภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

การเปรียบเทียบบทบาทกองทัพไทยกับกองทัพในประเทศที่มีประวัติศาสตร์การสูญเสียอธิปไตยจึงต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง เพราะเมื่อรากเหง้าการเกิดรัฐแตกต่างกัน ย่อมไม่อาจวัดผลได้ด้วยมาตรวัดชุดเดียวกัน

ทั้งนี้ ศ.เจมส์ เอ. โรบินสัน ผู้ร่วมเขียนหนังสือ Why Nations Fail และผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปี 2024 ให้สัมภาษณ์กับทาง BBC Thai โดยชี้ว่า เหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้เกาหลีใต้ ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศร่ำรวยได้ ทั้งที่ในอดีตเคยอยู่ในระดับการพัฒนาที่ใกล้กับไทย เนื่องจากเกาหลีใต้สามารถเปลี่ยนผ่านให้กองทัพออกจากการเมือง และสร้างสังคมที่ครอบคลุมและเป็นประชาธิปไตยขึ้นมาได้ในที่สุด

ความเหนื่อยล้าทางการเมือง กรณีคนรุ่นใหม่ฮ่องกงเลือก “อยู่กับจีน” เพื่อชีวิตที่ดีกว่า

ช่วงเร็ว ๆ มานี้ ระหว่างที่ผมใช้ชีวิตเป็นนักศึกษาอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ ผมได้เห็นสิ่งที่น่าสนใจในชีวิตประจำวันมากมายที่สอดคล้องกับประเด็นการเมืองที่เป็นเนื้อหาในชั้นเรียน ทำให้ได้ขบคิด ค้นคว้า และสนทนา เพื่ออัปเดตข้อมูลใหม่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านการเมืองจีนและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุคปัจจุบัน

ประเด็นที่ผมนำมาเล่าในบทความนี้ เกิดจากการที่ผมได้มีพบกับเพื่อนนักศึกษาจากฮ่องกงและไต้หวันที่เดินทางมาเรียนต่อระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ซึ่งบางคนเป็น classmate ของผมด้วย ความน่าสนใจของเรื่องนี้คือ คนฮ่องกงทุกคนที่ผมรู้จักที่นี่ อายุประมาณ 19 -23 แต่มีแนวคิด ‘Pro-China’ คือหนุนแนวคิดให้ฮ่องกงเข้าร่วมกับจีน หรือบางคนก็เป็นไม่ได้ถึงขั้นนั้น แต่ก็ไม่มีท่าทีต่อต้านหรือไม่เห็นด้วยกับแนวคิด One China ของจีน

ผมต้องกลับมา reset มุมมองเรื่องคนรุ่นใหม่ในฮ่องกงทั้งหมดอีกครั้ง เนื่องจากเดิมทีผมคิดว่าคนรุ่นใหม่ในฮ่องกงจะต้องมีแนวคิดต่อต้านจีน แต่พอได้สนทนากับเพื่อนในคลาสและนอกคลาสแล้ว ก็พบว่ามีหลายสิ่งที่เปลี่ยนไป...

ในตอนนี้ ใครที่ยังคิดว่าคนรุ่นใหม่ในฮ่องกงน่าจะนิยมตะวันตก และอยากแยกประเทศมากกว่ารวมเข้ากับจีน อันนี้เริ่มเก่าแล้ว เดี๋ยวเรามา update patch กันครับนะครับ

ช่วงปี 2014 - 2019 เป็นช่วงเวลาที่คนรุ่นใหม่ในฮ่องกงตื่นตัวทางการเมืองอย่างมาก เห็นได้ movement ต่าง ๆ ทั้งการออกมารวมตัวกันประท้วง และการแสดงความคิดเห็นทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วม Umbrella Movement ปี 2014 หรือการประท้วงต่อต้านกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนในปี 2019 จนเป็นข่าวใหญ่ที่ขบวนการประชาธิปไตยทั่วโลกต้องติดตามและคอยสนับสนุน

อย่างไรก็ตาม หลังจากการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในปี 2020 สถานการณ์เปลี่ยนไปอย่างมาก นักเคลื่อนไหวจำนวนมากถูกจับกุม องค์กรภาคประชาชนถูกสลาย สื่ออิสระถูกปิดตัว การเมืองกลายเป็นพื้นที่ที่อันตราย และข้อพิสูจน์ที่ชี้ว่าการเคลื่อนไหวไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มทางความคิดของคนรุ่นใหม่ จาก “การตื่นตัวทางการเมือง” สู่การ “ถอนตัวทางการเมือง” หลายคนเลือกที่จะ "ไม่พูด ไม่ยุ่ง ไม่เสี่ยง" กับประเด็นทางการเมืองอีกต่อไป โดยผลสำรวจจากสถาบันวิจัยเอเชียแปซิฟิก มหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง (CUHK) ในปี 2023 พบว่า 62.9% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าตนเองไม่ค่อยสนใจหรือไม่สนใจการเมืองเลย โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2022 ถึง 7.4% ในขณะที่การศึกษาของ Hong Kong Federation of Youth Groups (HKFYG) ในปี 2019 พบว่า 41.7% ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษารู้สึกเครียดอย่างมาก และ 24% รู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับบรรยากาศทางสังคมที่ตึงเครียด ซึ่งอาจส่งผลต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพวกเขา

การไม่ต้องการยุ่งกับการเมืองนั้นอาจไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเท่า ประเด็นที่น่าสนใจในตอนนี้คือการที่คนรุ่นใหม่ในฮ่องกงจำนวนมากกำลังแสวงหาโอกาสนอกบ้านเกิด บ้างเลือกไปเรียนต่อต่างประเทศ บ้างย้ายไปอยู่ประเทศตะวันตก หรือแม้บางคนก็ย้ายไปอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่

โดยเฉพาะกรณีของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เลือกมาเรียนหรือทำงานในจีนแผ่นดินใหญ่ อย่างเช่นเพื่อนของผม 3 คนที่ได้ทุนรัฐบาลจีนมาเรียนที่ฟู่ตั้น มีคนหนึ่งได้ทุนทั้ง ป.ตรี และ ป.โท ติดต่อกันเลย อีก 2 คนบอกกับผมว่าจะเข้ารับราชการหลังเรียนจบ ซึ่งการรับราชการที่ฮ่องกงนั้น จริง ๆ แล้วแทบจะเป็นการเลือกข้างไปแล้วกราย ๆ แล้วครับ

สำหรับหลายปีก่อน การเป็นคนรุ่นใหม่แล้วเข้ารับราชการนั้นจะเป็นภาพลักษณ์ที่ค่อนข้างแย่ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ด้วยกัน เพราะต้องทำงานภายใต้รัฐบาลกลาง ภายใต้นโยบาย One China ซึ่งทำให้เรื่องนี้น่าสนใจครับ เพราะในปัจจุบันคนรุ่นใหม่บางคนไม่ได้เลือกที่จะต่อต้านจีน หรือหนีจากจีนเท่านั้น แต่กลับเลือกที่จะ "อยู่กับจีน" โดยมีเหตุผลที่น่าสำรวจในเชิงลึกอยู่หลายประเด็น

คำถามที่น่าศึกษาหาคำตอบคือ กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางความคิดเกิดขึ้นได้อย่างไร ? เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือเกิดจากความตั้งใจของใคร?

แน่นอนว่าแทบจะทุกการเปลี่ยนแปลงทางความคิดในเชิงระบบล้วนเริ่มต้นจากบริบททางเศรษฐกิจและสังคมที่กดดัน โดยเฉพาะในฮ่องกง หนึ่งในแรงขับสำคัญที่ผลักดันคนรุ่นใหม่ในฮ่องกงให้เปลี่ยนแนวทางชีวิต คือความยากลำบากทางเศรษฐกิจ ค่าครองชีพที่สูงลิ่วของฮ่องกงที่อยู่ในระดับท็อปของโลก โดยเฉพาะราคาบ้านและที่อยู่อาศัยที่สูงจนคนวัยทำงานทั่วไปไม่มีทางเป็นเจ้าของบ้านได้ โดยดัชนีค่าครองชีพ (Cost of Living Index) ของฮ่องกงที่วัดโดย Numbeo Index 2024 นั้นอยู่ที่ 76.6 ในขณะที่ เซินเจิ้น, กว่างโจว และจูไห่นั้นอยู่ที่ 42.1, 39.5 และ 37.0 ตามลำดับ

รวมถึงตลาดแรงงานที่ตึงตัวในยุคหลังโควิด โอกาสการจ้างงานสำหรับคนรุ่นใหม่ยิ่งลดลง อัตราว่างงานของคนอายุ 20–29 ปี อยู่ที่ 6.1% ซึ่งสูงกว่าอัตราการว่างงานเฉลี่ยของประชากรทั้งหมดที่อยู่ที่ 3.2% ในช่วงเวลาเดียวกัน

รวมถึงแรงกดดันจากสังคมในด้านอื่น ๆ ที่มีการแข่งขันสูง ทั้งความเครียดในระบบการศึกษา แรงกดดันจากครอบครัว เมื่อรวมทั้งหมดนี้เข้าด้วยกันแล้ว ความคิดเห็นทางการเมืองเห็นจะเป็นแค่สิ่งที่เพิ่มความวุ่นวายให้ชีวิต

ในขณะที่ความหวังในการสร้างชีวิตในฮ่องกงลดลงเรื่อย ๆ ทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยเริ่มพิจารณาทางเลือกอื่นในการสร้างอนาคต

โอกาสใหม่จากจีนแผ่นดินใหญ่

ในทางกลับกัน จีนแผ่นดินใหญ่ โดยเฉพาะเมืองในเขตเศรษฐกิจอย่าง Greater Bay Area (GBA) เช่น เซินเจิ้น กว่างโจว และจูไห่ ที่อยู่ใกล้กับฮ่องกงนั้น กลายเป็นพื้นที่แห่งโอกาสสำหรับคนรุ่นใหม่ในฮ่องกง โดยเฉพาะการเปิดพรมแดนและระบบรถไฟความเร็วสูงในเขต GBA ที่ทำให้การเดินทางระหว่างฮ่องกง–เซินเจิ้น–กว่างโจวง่ายและรวดเร็วมาก สามารถเดินทางจากฮ่องกงข้ามไปแผ่นดินใหญ่ได้ภายใน 30-45 นาที (เท่ากับเวลาที่ผมเดินทางไปเรียนตอนเช้า หรือขับรถไปทำงานตอนอยู่ไทย) เอื้อต่อการไปทำงาน เรียน หรือแม้แต่ใช้ชีวิตในจีน ขณะยังมีบ้านอยู่ในฮ่องกง ก็ยังสามารถทำงานในจีนแต่กลับมานอนที่บ้านในฮ่องกงได้

ในขณะเดียวกัน เมืองอย่างเซินเจิ้นหรือกว่างโจวซึ่งอยู่ใกล้ฮ่องกง มีค่าครองชีพต่ำกว่ามาก ทั้งค่าเช่าบ้าน อาหาร การเดินทาง ฯลฯ คนรุ่นใหม่บางส่วนเลือกไปทำงานหรือใช้ชีวิตในจีน เพราะเงินเดือนที่ใกล้เคียงกัน แต่ใช้จ่ายน้อยกว่า ทำให้สามารถซื้อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

สำหรับคนรุ่นใหม่ที่เป็นหัวกะทิด้านเทคโนโลยี ที่มีความสามารถทางเทคนิคหรือธุรกิจที่เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานจีน กลับเริ่มมองว่าการเข้าไปอยู่ในแผ่นดินใหญ่ เป็นโอกาสในการเติบโตในอาชีพที่ดีกว่า โดยเฉพาะในบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของจีนจำนวนมากตั้งอยู่ใน GBA ที่เปิดรับคนรุ่นใหม่มือดีจากฮ่องกง

ทั้งนี้ นโยบายสนับสนุนจากรัฐจีนก็มีผลอย่างมาก สำหรับมุมมองต่อจีนของคนรุ่นใหม่ในฮ่องกง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแจกทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนฮ่องกงให้เข้ามาเรียนในแผ่นดินใหญ่ จัดสรรทุนการศึกษาและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อดึงดูดนักเรียนฮ่องกงให้มาศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยของจีนแผ่นดินใหญ่ โดยมีโครงการสนับสนุนที่มอบเงินช่วยเหลือต่อปีการศึกษาตั้งแต่ HK$5,900 ถึง HK$19,400 ซึ่งมีนักเรียนฮ่องกงได้รับประโยชน์จากโครงการนี้แล้วกว่า 20,000 คน (เพื่อนผม 3 คนเป็นหนึ่งในกลุ่มนี้)

นอกจากนี้ ยังมีโครงการจ้างงานสำหรับเยาวชนฮ่องกงในหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจจีน ทุนเปิดธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการจากฮ่องกง เช่น โครงการ Greater Bay Area Youth Employment Scheme (GBA YES) ที่รัฐบาลฮ่องกงอุดหนุนเยาวชนฮ่องกงที่มีอายุไม่เกิน 29 ปี และมีวุฒิการศึกษาระดับอนุปริญญาขึ้นไป จำนวนกว่า 1,000 คน โดยให้เงินอุดหนุนสูงสุด 60% ของเงินเดือนรายเดือนของผู้เข้าร่วมโครงการ เป็นระยะเวลาสูงสุด 18 เดือน งบประมาณรวมโดยประมาณ 216 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง

หรือจะเป็นโครงการ Funding Scheme for Youth Entrepreneurship in the Guangdong-Hong Kong-Macao Greater Bay Area โดย Youth Development Commission (YDC) ของฮ่องกง ที่สนับสนุนเยาวชนฮ่องกงที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจในเมืองต่าง ๆ ในเขต GBA โดยมียอดงบประมาณที่ได้รับการอนุมัติรวมทั้งสิ้น 900 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง ให้บริการสนับสนุนและบ่มเพาะธุรกิจแก่เยาวชนมากกว่า 4,000 คน โดนมีทีมสตาร์ตอัปจากโครงการนี้ที่ได้ขยายธุรกิจไปยังเมืองต่าง ๆ ในจีนแผ่นดินใหญ่มากกว่า 70 ทีม

ภายใต้บริบทนี้ ไม่น่าแปลกใจที่นักเรียนฮ่องกงจำนวนมากเลือกเรียนต่อหรือทำงานในจีนแผ่นดินใหญ่

ในมุมมองเชิงอัตลักษณ์นั้น คนรุ่นใหม่ในฮ่องกงที่เติบโตขึ้นภายใต้ระบบการศึกษาที่รัฐบาลจีนส่งอิทธิพลมากขึ้นหลังปี 1997 และการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มจีน เช่น Xiaohongshu หรือ Bilibili ทำให้เยาวชนฮ่องกงบางส่วนรู้สึกใกล้ชิดกับวัฒนธรรมจีนมากขึ้น อย่าง classmate ชาวฮ่องกงของผม พูดใน class discussion ชัดเจน ว่าเขาเป็นคนจีน เพราะคนฮ่องกงก็คือคนจีน และแสดงออกอย่างเปิดเผยในห้องเรียนว่าเขาเคยต่อต้านจีนมาก่อน แต่ตอนนี้เปลี่ยนมาต่อต้านอุดมการณ์แบบ woke ในจีนและในฮ่องกงแทน เขาพูดในขณะที่ใส่เสื้อยืดที่มีธงชาติจีนแปะอยู่บนหน้าอกซ้าย และตัวอักษรคำว่า CHINA ตัวใหญ่แปะอยู่ด้านหลัง ซึ่งชายคนนี้ครั้งหนึ่งเคยพูดเกินเลยไปถึงขั้นว่าหลังเรียนจบจะสอบเข้ารับราชการเป็นตำรวจ ถ้ามีม็อบในฮ่องกงจะได้เป็นคนไปปราบ ตอนที่เขาพูดเรื่องนี้ ผมสังเกตเห็นเพื่อนหลายคนในห้องเริ่ม “มองบน” กัน เพราะอาจจะฟังดูก้าวร้าวโดยไม่จำเป็น

กลับเข้าเรื่อง เมื่อผมไปค้นคว้าเพิ่มเติม ก็พบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของคนรุ่นใหม่ในฮ่องกงจริง ซึ่งก็คือการ Depoliticization หรือการเกิดความเฉยชาทางการเมือง หรือการที่บุคคลหรือสังคมค่อย ๆ เลิกสนใจ/เลิกมีส่วนร่วมทางการเมือง จนกลายเป็นกลุ่ม "ไม่แยแสทางการเมือง" (Political apathy) หรือแม้แต่ “ต่อต้านการเมือง” (anti-political) เป็นแนวคิดที่มองว่า “ไม่สามารถเปลี่ยนอะไรได้” หรือการมองว่า “พูดเรื่องการเมือง จะมีปัญหา อย่าไปยุ่งดีกว่า” หรือในบางกรณีคือเปลี่ยนฝ่ายทางการเมืองไปเลยแบบเพื่อนผม

ซึ่งตรงข้ามกับการ Politicization ที่มักจะอธิบายทุกปัญหาอย่างมีจิตสำนึกทางการเมือง และพยายามเสนอการแก้ปัญหาในเชิงระบบ แต่ก็เป็นแนวคิดที่นำมาซึ่งบรรยากาศการถกเถียง และความขัดแย้งจากฝ่ายต่าง ๆ ที่มีความเห็นต่างทางการเมือง

ประเด็นนี้ เพื่อนชาวฮ่องกงอีกคน (ที่ไม่ใช่ตัวตึง)​ ของผมเล่าให้ฟังว่าเขาเบื่อที่จะต้องตอบคำถามกับเพื่อนเก่าหลายคนที่ชอบมาถามว่า “ทำไมถึงไปเรียนที่จีน ?” เพราะรู้เจตนาที่แท้จริงของคำถามแบบนี้ที่มักจะเป็นการ “แซะ” ยิ่งทำให้ไม่กล้าบอกเพื่อนว่าหลังเรียนจบแล้วจะเข้ารับราชการต่อ เพราะกลัวว่าจะมีปัญหาขัดแย้งกับเพื่อนบางคน ขอเรียนจบและทำงานอยู่เงียบ ๆ ดีกว่า เพราะไม่ต้องการให้มีเรื่อง toxic ในชีวิตมากเกินไป ส่วนเหตุผลที่ทำให้อยากเข้ารับราชการนั้น เพื่อนผมบอกว่า เงินเดือนค่อนข้างดี มีสวัสดิการ ทำให้มีชีวิตที่มั่นคงได้ แต่การรับราชการก็ต้องระวังเรื่องแนวคิดทางการเมืองเช่นกัน เพราะถ้ามีแนวคิดขัดกับรัฐบาลกลาง ก็อาจทำให้มีปัญหา เขาจึงมองว่าการไม่ต้องมีแนวคิดทางการเมืองเลยคือทางเลือกที่ดีต่อชีวิตและสุขภาพจิตที่สุด ไม่ต้องขัดแย้งกับกลุ่มเพื่อน ไม่ต้องมีปัญหากับที่ทำงาน

สิ่งที่ทำให้สำนึกทางการเมืองค่อย ๆ จางหายไปจากสังคมฮ่องกงนั้น สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีพื้นฐานทางสังคมศาสตร์และเศรษฐศาสตร์อย่าง “ทฤษฎีทางเลือกอย่างมีเหตุผล” (Rational Choice Theory) ที่เสนอว่า “มนุษย์ตัดสินใจบนพื้นฐานของการคำนวณผลประโยชน์–ต้นทุน เพื่อเลือกสิ่งที่ให้ผลลัพธ์ดีที่สุดต่อชีวิตตนเอง” ซึ่งการตัดสินใจต่าง ๆ อาจไม่ "ถูกต้องในเชิงศีลธรรม" หรือ "สอดคล้องกับอุดมการณ์" เสมอไป แต่บางครั้ง มนุษย์ก็เลือกสิ่งที่เป็นประโยชน์กับตนเองในสถานการณ์และความเป็นจริง (pragmatic)

สำหรับกรณีของฮ่องกงนั้น ในอดีต คนรุ่นใหม่ในฮ่องกงอาจเลือก "ต่อต้านจีน" ด้วยความเชื่อในประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ ซึ่งเป็นการตัดสินใจทางอุดมคติ  (ideological decision) แต่ภายหลังปี 2020 ที่การเมืองถูกปราบปราม การเคลื่อนไหวมีความเสี่ยงสูงมาก เช่น การถูกจับ ถูกแบนอาชีพ หรือถูกคุมขัง ประกอบกับความกดดันทางสังคมในฮ่องกง ทำให้คนฮ่องกงเริ่มมองหาโอกาสจากภายนอก ซึ่งจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีความใกล้ชิดทางดินแดน รากวัฒนธรรมและภาษา รวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาทางเทคโนโลยี ทำให้จีนตอบโจทย์ในการเป็นดินแดนแห่งโอกาสสำหรับคนรุ่นใหม่ในฮ่องกง ส่งผลต่อการตัดสินใจของคนฮ่องกงในการ “ประเมินต้นทุน/ความเสี่ยง - ผลตอบแทน” ของการเคลื่อนไหวทางการเมือง

โจทย์ในการเลือกนั้นมีอยู่ 2 โจทย์หลัก ๆ คือ

การเลือกว่าจะ “แสดงออกทางการเมืองต่อต้านจีน” หรือ “ไม่แสดงออกทางการเมืองต่อต้านจีน”
ถ้าเลือกไม่แสดงออกทางการเมือง จะเลือก “อยู่กับจีน” หรือ “ไม่อยู่กับจีน”

ต้นทุนของการ “เคลื่อนไหวทางการเมืองต่อต้านจีน” คือเสี่ยงติดคุก เสี่ยงตกงาน เสี่ยงไม่มีอนาคต ชีวิตวุ่นวาย ในขณะที่ผลลัพธ์ไม่แน่นอน ไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนได้จริงหรือไม่

ในขณะที่การ “ไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองต่อต้านจีน” อาจไม่มีต้นทุนอะไร ส่วนประโยชน์คือความสงบ การไม่เสี่ยงติดคุก และไม่ต้องเสียอนาคต

ส่วนการเลือกว่าจะ “อยู่กับจีน” นั้น อาจมีต้นทุนทางสังคมที่ต้องเสียบ้าง แต่ก็อาจได้ประโยชน์ทางอาชีพการงาน/การศึกษา และความมั่นคงของชีวิต

ดังนั้นทาง “เลือกที่ที่สมเหตุสมผลในเชิงปฏิบัติ” (pracmatic decision) หรือทางเลือกที่คุ้มที่สุดในเชิงมูลค่าที่จับต้องได้ของกรณีนี้นั้น คือการ “เลือกไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง และอยู่กับจีน” แม้อาจไม่สอดคล้องกับความดีงามทางอุดมการณ์

ผมเชื่อว่าคนรุ่นใหม่ในฮ่องกงส่วนใหญ่ ลึก ๆ แล้วยังมีความเชื่อทางการเมืองในใจ แต่เลือกเก็บไว้กับตัวเองเพื่อความปลอดภัย เพราะเห็นว่าต้นทุนสูง และโอกาสสำเร็จต่ำ ทำให้เข้าสู่ “ภาวะความเหนื่อยล้าทางการเมือง” (Political Burnout) สิ้นหวัง หลบเลี่ยง ถอนตัว ยอมจำนนต่อความเป็นจริง และแสวงหาหนทางใหม่ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต

ในขณะเดียวกัน การที่คนรุ่นใหม่บางคนเลือก "อยู่กับจีน" ก็ไม่ใช่เพราะพวกเขาสนับสนุนรัฐบาลจีนโดยอุดมการณ์ หากแต่เป็นเพราะพวกเขา แสวงหาทางอยู่ได้ความมั่นคงในชีวิต มีคุณภาพชีวิตที่ดี ภายใต้บริบทที่มีทางเลือกไม่มากนัก โดยเฉพาะในสังคมที่แข่งขันสูงและกดดันอย่างฮ่องกง ความต้องการความมั่นคงของชีวิตพุ่งสูงขึ้นกว่าที่เคย

ความเข้าใจแบบนี้ไม่เพียงช่วยอธิบายพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ฮ่องกงเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงแนวโน้มของเยาวชนในบริบทสังคมอื่น ๆ ที่เผชิญกับภาวะกดดันคล้ายคลึงกันทั่วโลกในยุคหลังวิกฤตการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ

ซึ่งเมื่อขยายมุมมองนี้ไปสู่ประเทศหรือเมืองอื่น ๆ เกี่ยวกับแนวคิดทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ก็น่าสนใจเช่นกัน ทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก คลื่นฝ่ายขวารุ่นใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกสามารถอธิบายด้วยตรรกะเดียวกันนี้ได้หรือไม่ คงต้องศึกษากันต่อไป

สองคำถามสำคัญที่น่านำมาคุยกันต่อจากนี้

ข้อแรก การเปลี่ยนแปลงทางความคิดของคนรุ่นใหม่ในฮ่องกงจะส่งผลอย่างไรต่อความสัมพันธ์ระหว่างฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่ ? และสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ เกิดขึ้นจากความตั้งใจในการใช้กลยุทธ์ Soft Power ของฝั่งจีนหรือไม่ ?

ในประเด็นนี้ ข้อสังเกตสำคัญที่น่าจับตาคือบทบาทของ GBA ที่เข้ามาที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ในการดูดคนรุ่นใหม่ฮ่องกงเข้ามาในจีน และเป็น “สะพาน” ที่เชื่อมต่อระหว่าง “ต้นทางที่สิ้นหวัง” กับ “ปลายทางที่สดใส” และ “ความเหนื่อยล้าทางการเมือง” กับ “ความมั่นคงและโอกาส” สิ่งนี้เกิดขึ้นจากความตั้งใจหรือไม่ ?

ข้อสอง ในบริบทของไทย ปรากฏการณ์ทำนองนี้ จะเกิดขึ้นหรือไม่ ? หรือเกิดขึ้นแล้ว ? หรือจะไม่มีวันเกิดขึ้น ?

ส่วนตัวผมเห็นคนไทยจำนวนมากมีอาการ Political Burnout ก็จริง แต่ยังไม่เห็นภาพของโอกาสใหม่ ๆ ให้เลือก แบบที่เพื่อนฮ่องกง 3 คนของผมเลือกไป “อยู่กับจีน”

‘อังกฤษ’ หั่นสัมพันธ์การค้า ตอบโต้ปฏิบัติการกาซา คว่ำบาตรผู้นำนิคมเวสต์แบงก์–เรียกทูตอิสราเอลพบด่วน

(21 พ.ค. 68) เพจเฟซบุ๊ก ปราชญ์ สามสี โพสต์ข้อความว่า…อังกฤษฟาดแรง! ระงับเจรจาการค้าอิสราเอล-คว่ำบาตรผู้นำตั้งถิ่นฐาน ตอบโต้ความโหดร้ายในกาซา

รัฐบาลสหราชอาณาจักรประกาศระงับการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับอิสราเอล พร้อมเรียกเอกอัครราชทูตอิสราเอลเข้าพบ เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อการปฏิบัติการทางทหารที่รุนแรงในฉนวนกาซา และการปิดกั้นความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ยืดเยื้อกว่า 11 สัปดาห์

นายเดวิด แลมมี รัฐมนตรีต่างประเทศของสหราชอาณาจักร กล่าวในรัฐสภาว่า การกระทำของรัฐบาลอิสราเอลในกาซาและเวสต์แบงก์นั้น 'ไม่สามารถยอมรับได้' และ 'ขัดต่อค่านิยมของประชาชนชาวอังกฤษ'

พร้อมกันนี้ สหราชอาณาจักรได้ประกาศคว่ำบาตรบุคคลและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงของผู้ตั้งถิ่นฐานชาวอิสราเอลในเวสต์แบงก์ รวมถึงอดีตนายกเทศมนตรีของนิคม Kedumim และองค์กรที่สนับสนุนการตั้งถิ่นฐานใหม่ในพื้นที่พิพาท

นายกรัฐมนตรีเคียร์ สตาร์เมอร์ กล่าวเสริมว่า "ระดับความทุกข์ทรมานของเด็กๆ ในกาซานั้นไม่สามารถยอมรับได้" และเรียกร้องให้มีการหยุดยิงทันที รวมถึงการเปิดทางให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าสู่พื้นที่

ทางด้านกระทรวงการต่างประเทศของอิสราเอลตอบโต้โดยระบุว่า "แรงกดดันจากภายนอกจะไม่ทำให้อิสราเอลเปลี่ยนเส้นทางในการต่อสู้เพื่อดำรงอยู่และความมั่นคงของตนจากศัตรูที่พยายามทำลายล้าง"

สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรและอิสราเอล ท่ามกลางวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่รุนแรงในฉนวนกาซา

‘วลาดิมีร์ เมดินสกี’ หนึ่งในขุนพลข้างกาย ‘ปูติน’ นักประวัติศาสตร์ผู้กำหนดอัตลักษณ์แห่งรัสเซีย

เมื่อกล่าวถึงการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หนึ่งในชื่อที่ปรากฏอย่างเด่นชัดบนโต๊ะเจรจาคือ วลาดิมีร์ เมดินสกี นักการเมือง นักประวัติศาสตร์และที่ปรึกษาประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินผู้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายรัสเซียในหลายเวทีสำคัญ รวมถึงการเจรจา ณ กรุงอิสตันบูล

วลาดิมีร์ โรสตีสลาวิช เมดินสกี (Владимир Ростиславович Мединский) เกิดเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ค.ศ. 1970 ที่เมืองสเมล่า (Smela) ในเขตสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครน (ปัจจุบันอยู่ในยูเครนกลาง) ครอบครัวของเขาย้ายมาอยู่ในกรุงมอสโกตั้งแต่ยังเด็ก โดยมีพื้นฐานชีวิตในกลุ่มชนชั้นกลางสายเทคนิค (technical intelligentsia) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างยิ่งในยุคโซเวียต เส้นทางวิชาการของเมดินสกีเริ่มต้นอย่างจริงจังที่ Moscow State Institute of International Relations (MGIMO) สถาบันซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น “โรงเรียนเตรียมผู้นำของรัสเซีย” หรือ “Harvard แห่งมอสโก” ที่ผลิตบุคลากรสำหรับการทูตและนโยบายระหว่างประเทศของสหภาพโซเวียตและต่อมาในยุครัสเซียหลังโซเวียต เมดินสกีศึกษาด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 

แต่ในช่วงเวลานั้นเองเขาเริ่มให้ความสนใจพิเศษกับมิติของ “อัตลักษณ์ทางประวัติศาสตร์” และบทบาทของการรับรู้ทางจิตวิทยาในระดับมหภาค (mass psychology) หลังจบการศึกษาในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ในช่วงรัสเซียเผชิญภาวะสลายตัวทางอุดมการณ์หลังการล่มสลายของโซเวียต เมดินสกีกลับมาใช้เวลาในโลกวิชาการโดยเขียนวิทยานิพนธ์ระดับดุษฎีบัณฑิตในหัวข้อที่สะท้อนตัวตนทางอุดมการณ์อย่างชัดเจน ในหัวข้อ “คุณลักษณะของภาพลักษณ์ของรัสเซียในต่างประเทศ: กลยุทธ์ของรัฐในการจัดการการรับรู้ทางประวัติศาสตร์” งานวิทยานิพนธ์ของเขามุ่งไปที่การวิเคราะห์ภาพลักษณ์ของรัสเซียในตะวันตกและเสนอว่า รัสเซียจำเป็นต้องสร้างกลไกเชิงรัฐเพื่อ “ควบคุมการรับรู้” ทั้งในและนอกประเทศ 

นับจากนั้นเมดินสกีได้ผลิตงานเขียนทางประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์จำนวนมาก โดยมีเป้าหมายไม่ใช่แค่การศึกษาอดีตแต่คือการ “จัดระเบียบอดีตเพื่อควบคุมอนาคต” แนวทางที่สะท้อนโลกทัศน์แบบรัฐนิยมอนุรักษนิยมอย่างชัดเจน ตัวอย่างผลงานของเขา เช่น “Война. Мифы СССР. 1939–1945” (สงคราม: ตำนานแห่งโซเวียต) มีสาระสำคัญเกี่ยวกับความพยายามลบล้างการตีความตะวันตกเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 และ“О правде истории” (ว่าด้วยความจริงของประวัติศาสตร์) ที่เสนอว่าประวัติศาสตร์ไม่ควรถูกทิ้งให้เป็นพื้นที่เสรีทางปัญญาแต่ควรถูกควบคุมโดยรัฐเพื่อรักษาอำนาจและความสามัคคี เมดินสกีมีลักษณะเฉพาะที่หาได้ยากในหมู่นักวิชากา คือความสามารถในการแปลงทฤษฎีเชิงวิเคราะห์ให้กลายเป็นนโยบายสาธารณะที่จับต้องได้ เขาไม่ได้เขียนงานเพื่อโต้วาทีกับนักวิชาการตะวันตกเพียงอย่างเดียวแต่เพื่อ “แปลงอดีตให้กลายเป็นเครื่องมือของรัฐ” ทำให้เขากลายเป็นหนึ่งใน “นักประวัติศาสตร์เชิงรัฐ” (state-aligned historian) ที่ทรงอิทธิพลที่สุดของรัสเซียร่วมสมัย

วลาดิมีร์ เมดินสกี เป็นนักคิดที่ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ชาติอย่างลึกซึ้งโดยมีความเชื่อชัดเจนว่า “ประวัติศาสตร์ไม่ใช่ข้อเท็จจริงนิ่งเฉยแต่สามารถถูกเล่าใหม่เพื่อประโยชน์ของรัฐ” ความเชื่อนี้นำไปสู่การสร้างงานเขียนเชิง “ประวัติศาสตร์ปกป้องตนเอง” (Defensive History) ซึ่งมีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างความชอบธรรมและปกป้องภาพลักษณ์ของรัสเซียบนเวทีระหว่างประเทศ เมดินสกีไม่ปฏิเสธว่าประวัติศาสตร์ควรเป็นเครื่องมือของรัฐในการรักษาอำนาจและความมั่นคง เขายืนยันว่าวิธีเล่าอดีตของชาติต้องสนับสนุนเป้าหมายในปัจจุบันไม่ใช่บ่อนทำลายศรัทธาหรือเปิดทางให้แนวคิดเสรีนิยมแบบตะวันตกเข้ามาแทรกแซง 

จากฐานคิดเชิงอุดมการณ์นี้เมดินสกีเดินหน้าสู่วงการเมืองอย่างมั่นคงด้วยตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมแห่งรัสเซีย (2012–2020) ซึ่งแม้จะดูเหมือนตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ไม่สูงมาก แต่สำหรับเขานี่คือสนามรบอันแท้จริงของสงครามอัตลักษณ์ชาติ เมดินสกีเปลี่ยนกระทรวงวัฒนธรรมให้กลายเป็นแนวหน้าในการต่อสู้เชิงวาทกรรมและอุดมการณ์ ตลอดช่วงดำรงตำแหน่งเขาใช้กระทรวงเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันแนวคิด Russian cultural exceptionalism หรือความเชื่อว่ารัสเซียมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่สูงส่งกว่าตะวันตก จึงต้องได้รับการปกป้อง ฟื้นฟูและเผยแพร่อย่างเข้มข้น วาทกรรมนี้ไม่เพียงสะท้อนผ่านวรรณกรรมและภาพยนตร์เท่านั้น แต่แทรกซึมเข้าไปในระบบการศึกษา พิพิธภัณฑ์ กิจกรรมรัฐพิธีและกองทุนสนับสนุนงานศิลปะ โดยมีเงื่อนไขว่าเนื้อหาต้อง “ไม่บ่อนทำลายศีลธรรมชาติหรือเกียรติภูมิของรัสเซีย” ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่เมดินสกีเรียกว่า “วัฒนธรรมคือสมรภูมิ” เขาส่งเสริมภาพยนตร์รักชาติ เช่น 28 Panfilov Guardsmen และสารคดีเชิงโฆษณาชวนเชื่อที่พยายามสร้างภาพของรัสเซียในอดีตที่กล้าหาญและศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงการรื้อฟื้น “วันแห่งความทรงจำประจำชาติ” เพื่อเน้นย้ำบทบาทอันศักดิ์สิทธิ์ของรัสเซียในชัยชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งกลายเป็นศูนย์กลางความชอบธรรมเชิงประวัติศาสตร์ในยุคปูติน

ภายใต้การนำของเมดินสกีรัฐบาลรัสเซียเดินหน้าโครงการสร้าง “ความทรงจำของชาติ” (national memory construction) ในทุกมิติของสังคมเพื่อปลูกฝังแนวคิดชาตินิยมแบบอนุรักษ์นิยมอย่างเข้มแข็ง หลังพ้นตำแหน่งรัฐมนตรี เขาไม่ได้ลดบทบาทลงกลับกลายเป็นที่ปรึกษาประธานาธิบดีด้านนโยบายประวัติศาสตร์และอุดมการณ์ของรัฐซึ่งเปรียบเสมือน “เสนาบดีเงา” ของวลาดิมีร์ ปูติน ในการกำหนดกรอบวาทกรรมรัฐ เมดินสกีเป็นหนึ่งในแกนนำทีมใกล้ชิดเครมลินที่วางกรอบวาทกรรมความสัมพันธ์รัสเซีย–ยูเครน และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังบทความสำคัญของปูติน ปี ค.ศ. 2021 เรื่อง On the Historical Unity of Russians and Ukrainians ที่ยืนยันว่ายูเครนไม่มีตัวตนทางประวัติศาสตร์เป็นรัฐแยกต่างหาก กรอบคิดนี้กลายเป็นพื้นฐานอุดมการณ์รองรับการรุกรานทางทหาร

บทบาทของเมดินสกียิ่งชัดเจนขึ้นเมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะเจรจารัสเซีย ในการประชุมอิสตันบูลปี ค.ศ. 2022 แม้ไม่ใช่ทหารหรือเจ้าหน้าที่ข่าวกรองแต่การส่งนักประวัติศาสตร์ในฐานะตัวแทนเจรจาส่งสัญญาณชัดเจนว่าสงครามครั้งนี้ไม่ใช่แค่สนามรบทางกายภาพหากแต่ยังเป็นสงครามแห่งความหมายและความชอบธรรมทางประวัติศาสตร์ เมดินสกีทำหน้าที่เสมือน “นักบวชแห่งชาติ” ที่ประกาศว่ารัสเซียมีสิทธิเหนือยูเครน ไม่ใช่ด้วยพละกำลังแต่ด้วยประวัติศาสตร์ที่ถูกเล่าใหม่ บทบาทนี้สะท้อนชัดว่าเมดินสกีไม่ใช่แค่นักวิชาการอีกต่อไป แต่คือนักอุดมการณ์ของรัฐที่เป็น “สะพานเชื่อม” ระหว่างโลกปัญญาชนและอำนาจรัฐ เขาไม่ได้เพียงวิเคราะห์รัฐหากแต่กำหนดบทบาทและทิศทางของรัฐผ่านการเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ที่หล่อหลอมโลกทัศน์ทางการเมืองยุครัสเซียปูตินให้มีรากฐานบนประวัติศาสตร์ร่วม อัตลักษณ์รัสเซียแท้และความชอบธรรมแบบจักรวรรดิอย่างแนบแน่น

ในยุคที่โลกาภิวัตน์และกระแสเสรีนิยมแบบตะวันตกทะลักเข้ามาทั่วทุกมุมโลก รัสเซียภายใต้การนำของเมดินสกีตระหนักดีว่าการต่อสู้เพื่อ “อธิปไตยทางวัฒนธรรม” คือสนามรบที่สำคัญไม่แพ้การเผชิญหน้าทางทหารและการเมือง อธิปไตยทางวัฒนธรรมในความหมายของเมดินสกีไม่ได้หมายถึงเพียงการอนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิมเท่านั้นแต่หมายถึงการควบคุมและกำหนดขอบเขตของ “ความจริง” และ “ความหมาย” ที่ประชาชนรัสเซียจะรับรู้และเชื่อถือ เมดินสกีและทีมงานรัฐบาลมองว่ากระแสวัฒนธรรมเสรีนิยมตะวันตก — ทั้งในรูปแบบแนวคิดประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน เสรีภาพของสื่อ และค่านิยมเรื่องเพศ สิทธิชนกลุ่มน้อย — เป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงต่อความมั่นคงของรัฐและเอกลักษณ์ของชาติ รัฐบาลรัสเซียจึงประกาศ “สงครามทางวัฒนธรรม” อย่างเปิดเผย เพื่อปกป้อง “จิตวิญญาณรัสเซีย” จากการถูกกลืนกลายและล้มละลายโดยวัฒนธรรมโลกาภิวัตน์และลัทธิเสรีนิยมตะวันตก ยุทธศาสตร์ของเมดินสกีจึงมุ่งเน้นการผลักดันวาทกรรมที่ว่ารัสเซียเป็น “อารยธรรมที่แตกต่าง” และ “สูงส่งกว่าตะวันตก” โดยย้ำว่ารัสเซียต้องเป็นผู้กำหนดนิยามของตนเอง ไม่ใช่ยอมเป็น “ลูกไล่” หรือ “ผู้รับวัฒนธรรม” จากโลกตะวันตก 

กระบวนการนี้ไม่ใช่เพียงแค่การส่งเสริมงานศิลปะหรือวรรณกรรมรักชาติเท่านั้นแต่คือการสร้าง “เกราะทางความคิด” ให้กับสังคมรัสเซีย ผ่านการควบคุมสื่อ การตั้งกฎเกณฑ์เข้มงวดต่อสื่อสังคมออนไลน์และการรณรงค์ส่งเสริมค่านิยมแบบอนุรักษ์นิยมอย่างเข้มข้น การต่อต้านค่านิยมตะวันตกในแง่นี้ยังสะท้อนในนโยบายทางการศึกษาที่บังคับให้โรงเรียนและมหาวิทยาลัยต้องปลูกฝังหลักสูตรที่สนับสนุนอุดมการณ์รัฐโดยเฉพาะการเน้นย้ำบทบาทของประวัติศาสตร์รัสเซียในฐานะ “ผู้พิทักษ์ศีลธรรมโลก” และการแสดงออกถึงความเป็น “อารยธรรมออร์โธดอกซ์” ที่แตกต่างจากโลกเสรีนิยมตะวันตกอย่างสิ้นเชิง ยุทธศาสตร์ “อธิปไตยทางวัฒนธรรม” นี้มีความหมายในเชิงลึกเพราะมันกำหนดความชอบธรรมของอำนาจรัฐในยุคปูตินและวางรากฐานให้เกิดความเป็นเอกภาพทางสังคมที่มีอุดมการณ์เป็นศูนย์กลาง 

ความพยายามของเมดินสกีในการขับเคลื่อนวัฒนธรรมให้เป็นเครื่องมือทางอุดมการณ์ทำให้รัสเซียสามารถใช้ “วัฒนธรรม” เป็นดาบสองคมทั้งปกป้องความมั่นคงภายในและขยายอิทธิพลเชิงนิ่มนวล (soft power) ไปยังโลกภายนอก ด้วยเหตุนี้ “อธิปไตยทางวัฒนธรรม” จึงไม่ใช่เพียงแค่นโยบายทางวัฒนธรรมธรรมดาแต่คือหัวใจของสงครามความหมายและการประกาศอิสรภาพทางอุดมการณ์ของรัสเซียในโลกที่สื่อสารข้ามพรมแดนอย่างเสรี การควบคุมวัฒนธรรมจึงกลายเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดของรัฐในการต้านทานกระแสโลกาภิวัตน์และรักษาอำนาจอธิปไตยของชาติเอาไว้ได้อย่างยั่งยืน

ในยุทธศาสตร์วาทกรรมของรัสเซียยุคปูติน เมดินสกีคือผู้วางกรอบและขับเคลื่อนแนวคิด “รัสเซียผู้ยิ่งใหญ่” (Great Russia) ให้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองและอุดมการณ์สำคัญที่หล่อหลอมความชอบธรรมของรัฐในการดำเนินนโยบายทั้งในและนอกประเทศโดยเฉพาะในบริบทของสงครามกับยูเครน “รัสเซียผู้ยิ่งใหญ่” ไม่ใช่แค่คำขวัญหรือความภาคภูมิใจทางชาติพันธุ์หากแต่เป็นวาทกรรมที่ยืนยันสถานะ “จักรวรรดิที่กลับมาผงาด” (resurgent empire) ที่มีภารกิจและชะตากรรมพิเศษในการรวมดินแดนและผู้คนที่มีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์เดียวกันกลับคืนสู่ร่มเงาอำนาจมอสโก วาทกรรมนี้ทำหน้าที่สร้างภาพของรัสเซียในฐานะมหาอำนาจที่ “มีสิทธิและหน้าที่” ในการปกป้องและเรียกคืนดินแดนที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซียและสหภาพโซเวียต ไม่ว่าจะเป็นดินแดนในยูเครน เบลารุส หรือประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ เมดินสกีและกลุ่มอุดมการณ์ของเครมลินได้ยกย่องบทบาทประวัติศาสตร์ของรัสเซียในฐานะ “ผู้พิทักษ์ความสงบเรียบร้อยและอารยธรรม” 

ซึ่งถูกคุกคามโดย “ลัทธิชาตินิยมยูเครน” และ “อิทธิพลลัทธิเสรีนิยมตะวันตก” ที่พยายามทำลายเอกลักษณ์และความมั่นคงของชาติรัสเซีย วาทกรรมนี้สร้างความชอบธรรมเชิงประวัติศาสตร์และจริยธรรมให้กับการ “แทรกแซง” และ “ปกป้อง” ประชากรรัสเซียในดินแดนยูเครนผ่าน “ภารกิจศักดิ์สิทธิ์” ที่เกินกว่าการรุกรานทางทหารธรรมดา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในบทความ “On the Historical Unity of Russians and Ukrainians” ที่เขียนโดยประธานาธิบดีปูตินในปี ค.ศ. 2021 เมดินสกีมีบทบาทสำคัญในการวางกรอบวาทกรรมที่ปฏิเสธความเป็นตัวตนของรัฐยูเครนอย่างแท้จริงและนิยามว่า “ยูเครนและรัสเซียเป็นส่วนหนึ่งของชาติพันธุ์เดียวกัน” ซึ่งเป็นพื้นฐานความคิดที่เครมลินใช้สนับสนุนความชอบธรรมในการผนวกและควบคุมยูเครน การใช้วาทกรรม “รัสเซียผู้ยิ่งใหญ่” ในการรุกรานยูเครนจึงเป็นการเล่นเกมทางการเมืองที่ใช้

ประวัติศาสตร์เป็นอาวุธ เมดินสกีและฝ่ายอุดมการณ์พยายามสร้างภาพว่า รัสเซียไม่ใช่ผู้รุกรานแต่เป็นผู้คืนความยิ่งใหญ่และปกป้องชาติพันธุ์ของตนเองจากการล่าอาณานิคมแบบใหม่ของโลกตะวันตก ซึ่งนำไปสู่การตีความสงครามเป็น “สงครามศักดิ์สิทธิ์” ที่มีเป้าหมายทางอุดมการณ์และประวัติศาสตร์ที่ลึกซึ้งกว่าความขัดแย้งทางดินแดนทั่วไป อย่างไรก็ตามวาทกรรมนี้ไม่ได้หยุดเพียงแค่การชี้แจงความชอบธรรมแต่ยังเป็นเครื่องมือสร้างแรงจูงใจให้กับประชาชนและกองกำลังทหารเพื่อกระตุ้นให้เห็นว่าการปกป้องและขยายอิทธิพลของรัสเซียในยูเครนคือภารกิจแห่งความรุ่งโรจน์และเกียรติภูมิของชาติ การทำสงครามจึงถูกนำเสนอในรูปแบบของ “หน้าที่ศักดิ์สิทธิ์” ที่เหนือกว่าการเมืองหรือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแบบโลกีย์ ในที่สุดวาทกรรม “รัสเซียผู้ยิ่งใหญ่” ภายใต้การขับเคลื่อนของเมดินสกีได้กลายเป็นฟันเฟืองหลักในเครื่องจักรสงครามของรัสเซีย เป็นทั้งโล่ป้องกันและดาบที่กรีดกรายเพื่อรักษาอำนาจของเครมลินและขยายอิทธิพลในเวทีโลก โดยเฉพาะในบริบทของความขัดแย้งกับโลกเสรีนิยมตะวันตกที่พยายามจำกัดบทบาทของรัสเซียในภูมิภาคยุโรป-ยูเรเชีย

ดังนั้นการที่วลาดิมีร์ เมดินสกีนักประวัติศาสตร์ที่กลายเป็นนักอุดมการณ์รัฐและนักเจรจาผู้ทรงอิทธิพลถูกส่งมายังเวทีอิสตันบูลในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาของรัสเซียในช่วงปี ค.ศ. 2025 เพื่อเป็นตัวแทนในการเจรจาสงครามยูเครนที่ซับซ้อนและเต็มไปด้วยความตึงเครียด นี่ไม่ใช่แค่การเจรจาทางการเมืองธรรมดา แต่นี่คือสนามรบของ “สงครามความหมาย” ที่เมดินสกีใช้ประวัติศาสตร์และวาทกรรมเป็นอาวุธในการขับเคลื่อนผลประโยชน์รัฐ บทบาทของเมดินสกีในอิสตันบูลสะท้อนความเชื่อมั่นอย่างลึกซึ้งของเครมลินว่า “สงครามไม่ได้จบลงที่สนามรบ” แต่เป็นการต่อสู้เพื่อชิงความชอบธรรมและอำนาจทางความคิด เมดินสกีไม่ได้ถูกส่งมาเป็นนักการทูตหรือทหาร แต่เป็น “นักบวชแห่งประวัติศาสตร์” ที่จะประกาศว่า รัสเซียมี “สิทธิ์เหนือยูเครน” ไม่ใช่เพียงด้วยกำลังอาวุธ 

แต่ด้วยความชอบธรรมทางประวัติศาสตร์ที่ขับเคลื่อนโดยวาทกรรมของเขาเอง ในเวทีอิสตันบูลเมดินสกีพยายามวางกรอบการเจรจาให้สอดคล้องกับแนวคิดของรัฐรัสเซียผ่านการย้ำเตือนเรื่อง “รากเหง้าทางประวัติศาสตร์ร่วม” และ “ภัยคุกคามจากตะวันตก” ซึ่งใช้เป็นข้ออ้างสำคัญในการรักษาผลประโยชน์ของเครมลินและกดดันฝ่ายตรงข้ามให้ยอมรับเงื่อนไขที่รุนแรงและไม่เป็นธรรม เมดินสกียังใช้ประสบการณ์ด้านวาทกรรมเพื่อ “บรรจุหีบ” การเจรจาในรูปแบบที่ทำให้รัสเซียดูเหมือนเป็นฝ่ายที่มีเหตุผล และพร้อมเปิดทางสู่สันติภาพแต่ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธข้อเรียกร้องหลักของยูเครนอย่างเด็ดขาด เป็นการเล่นเกมเจรจาที่เน้นการสร้าง “ข้อเท็จจริงเชิงวาทกรรม” ก่อนที่จะยอมความในบางจุดเพื่อรักษาภาพลักษณ์และอำนาจ นอกจากนี้ เมดินสกียังเป็นตัวแทนของรัฐที่ใช้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเป็น “อาวุธทางอุดมการณ์” ในการเจรจา เพื่อสกัดกั้นแรงกดดันจากชาติตะวันตกและป้องกันไม่ให้เงื่อนไขการเจรจานำไปสู่การลดทอนอำนาจหรือสถานะของรัสเซียในภูมิภาค ดังนั้นบทบาทของเมดินสกีในอิสตันบูลจึงเป็นการผสมผสานระหว่าง “นักประวัติศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่” กับ “นักการทูตสงครามความหมาย” ที่มีภารกิจสำคัญในการรักษา “ความชอบธรรม” ของรัสเซียบนเวทีโลกผ่านการเจรจาในสนามการทูต โดยไม่ลดละเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของรัฐปูติน

บทสรุป วลาดิมีร์ เมดินสกีคือภาพสะท้อนชัดเจนของการเปลี่ยนผ่านจากนักวิชาการที่ใช้ประวัติศาสตร์เป็นเครื่องมือในการสร้างอัตลักษณ์ชาติไปสู่ตัวแทนรัฐผู้ขับเคลื่อนวาทกรรมทางการเมืองและสงครามความหมายในระดับสูงสุดของเครมลิน เขาไม่ได้เป็นเพียงผู้บันทึกอดีตแต่กลายเป็นผู้แต่ง “บทประวัติศาสตร์” ให้กับรัฐรัสเซียยุคปูตินด้วยความเชื่อที่หนักแน่นว่าประวัติศาสตร์ต้องถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อปกป้องและเสริมสร้างอำนาจรัฐไม่ใช่แค่สะท้อนความจริงที่เป็นกลาง ในฐานะรัฐมนตรีวัฒนธรรมเมดินสกีเปลี่ยนกระทรวงที่ดูเหมือนไม่สำคัญให้กลายเป็นแนวหน้าของสงครามอุดมการณ์และวัฒนธรรมที่ซึ่งเขาผลักดันแนวคิด “Russian cultural exceptionalism” เพื่อปิดกั้นและต่อต้านค่านิยมเสรีนิยมตะวันตก สร้างรากฐานทางวัฒนธรรมสำหรับนโยบายภูมิรัฐศาสตร์และความชอบธรรมทางประวัติศาสตร์ของรัสเซีย เมื่อเข้าสู่บทบาทสำคัญในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาที่อิสตันบูล ในปีค.ศ. 2025 เมดินสกีไม่ได้มาเพียงเพื่อเจรจาสงครามเท่านั้นแต่เป็นตัวแทนของ “สงครามความหมาย” ที่รัสเซียใช้ประวัติศาสตร์และวาทกรรมปกป้องอธิปไตยและอำนาจในภูมิภาค ด้วยบทบาทนี้เขากลายเป็นสะพานเชื่อมระหว่างโลกของปัญญาชนและอำนาจรัฐ ประสานความคิดและนโยบายให้ไปในทิศทางเดียวกันอย่างแนบเนียนและมีประสิทธิภาพ โดยรวมแล้วเมดินสกีไม่ใช่แค่รัฐมนตรีวัฒนธรรมหรือนักประวัติศาสตร์ทั่วไปแต่คือเครื่องจักรอุดมการณ์ของรัฐรัสเซียที่ผสมผสานความรู้เชิงวิชาการเข้ากับอำนาจทางการเมืองและการทูตเพื่อรักษาและขยายอิทธิพลของรัสเซียในศตวรรษที่ 21 ผ่านสงครามทั้งที่มองเห็นและที่อยู่ในเงามืดของวาทกรรม

รัสเซียเดือด! ตะเพิด ‘แอมเนสตี้’ พ้นแผ่นดิน ชี้เป็นหอกข้างแคร่ของรัฐและความมั่นคง

(21 พ.ค. 68) เพจเฟซบุ๊ก ปราชญ์ สามสี รายงานว่า รัสเซียประกาศลั่นกลางแดนหมีขาว สั่งแบน 'แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล' ให้พ้นแผ่นดิน! ระบุชัดเป็น 'องค์กรไม่พึงปรารถนา' พร้อมห้ามตั้งสำนักงานหรือขยับเขยื้อนทำกิจกรรมใด ๆ ในประเทศโดยเด็ดขาด!

กระทรวงยุติธรรมรัสเซียเผยแบบไม่ไว้หน้า ว่าแอมเนสตี้ไม่ได้มาเพื่อสิทธิมนุษยชนอย่างเดียว แต่แอบแฝงเจตนา 'ปั่นป่วน-ยั่วยุ' สนับสนุนยูเครนในสงคราม พร้อมกล่าวหาแรงถึงขั้นว่าเป็น 'เครื่องมือของฝ่ายนีโอนาซี' ที่ตั้งใจซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้าย

ไม่ใช่แค่ห้ามอยู่ห้ามทำงานเท่านั้น แต่คนรัสเซียคนไหนเกี่ยวข้องกับองค์กรนี้ก็เสี่ยงคุกสูงสุดถึง 5 ปี กลายเป็นการปิดฉากเสียงสะท้อนด้านสิทธิมนุษยชนแบบสิ้นเชิง!

แม้แอมเนสตี้จะเป็นองค์กรเก่าแก่ระดับโลก ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1961 และเคยรณรงค์เพื่อสิทธิของผู้ถูกกดขี่ทั่วโลก แต่ในสายตารัสเซียวันนี้กลับถูกมองเป็น 'ภัยคุกคามความมั่นคง'

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัสเซียใช้ไม้แข็ง ก่อนหน้านี้ก็เคยซัด 'WWF' ให้เป็น 'ตัวแทนต่างชาติ' และถีบ 'Greenpeace' ออกจากประเทศไปแล้ว คราวนี้ถึงคิวแอมเนสตี้ที่โดนเล่นแรงกว่าทุกองค์กร!

โลกกำลังจับตามองว่า มาตรการเด็ดขาดนี้จะพารัสเซียห่างไกลจากความเข้าใจของประชาคมโลกไปอีกไกลแค่ไหน หรืออาจเป็นเพียงบทเริ่มต้นของการปิดปากสังคมให้เงียบกริบอย่างถาวร

‘ปราชญ์ สามสี’ ผู้เขียนบท ‘2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิบัติ’ ย้ำชัด ขอยืนหยัดตีแผ่ร่องรอยแห่งประวัติศาสตร์ด้วยข้อเท็จจริง หวังคนรุ่นหลังได้ตื่นรู้

(20 พ.ค. 68) ณ วันที่ ข้าพเจ้านั่งลงเขียนเกี่ยวกับหนังสือและภาพยนตร์ '2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ' สิ่งที่ข้าพเจ้ารู้สึกไม่ใช่แค่การเขียนคำนำธรรมดา ๆ หากแต่เป็นการถ่ายทอดข้อเท็จจริงที่ต้องการฝากไว้ให้กับคนรุ่นหลัง ผู้ที่เฝ้ามองและตั้งคำถามกับอดีตและอนาคตของสังคม

ตลอดเวลาที่ข้าพเจ้าได้ศึกษาและลงมือเขียนบท ข้าพเจ้าได้ค้นพบว่าประวัติศาสตร์ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องราวในอดีต แต่เป็นบทเรียนที่ทิ้งร่องรอยไว้ให้เราได้หยิบขึ้นมาเรียนรู้และทบทวนในทุกยุคสมัย สิ่งที่เห็นชัดเจนคือ ปัญหาที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่ข้อเท็จจริงเพราะ ความจริงมันปรากฎอยู่บนหนังสือมาตั้งแต่แรกแล้ว แต่อยู่ที่การยอมรับและการไม่ปล่อยให้อคติและโทสะบดบังสายตาแห่งความจริง

การเขียนหนังสือเล่มนี้ เหมือนกับการยืนหยัดในท่ามกลางพายุแห่งการบิดเบือนและการตั้งคำถาม ซึ่ง ข้าพเจ้าได้รับทั้งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ การกดดัน และคำท้าทายจากผู้ที่ไม่ต้องการให้ความจริงถูกเปิดเผย แต่ข้าพเจ้ากลับเห็นว่าสิ่งเหล่านี้คือแรงผลักดันที่ทำให้เรายืนหยัดมั่นคงยิ่งขึ้น

ในท้ายที่สุดแล้ว ข้าพเจ้ารู้สึกว่าการเขียนครั้งนี้คือการประกาศถึงสัจธรรมอันเป็นนิรันดร์ว่า 'ความจริง แม้จะขมขื่น แต่มันก็ยังคงเป็นความจริง' ดังที่ เพลโต (Plato) ได้กล่าวไว้ 'ไม่มีใครถูกเกลียดมากไปกว่าผู้ที่พูดความจริง' และในวันนี้ ข้าพเจ้ายังคงยืนหยัดในคำพูดนั้นเช่นเดิม

ท้ายนี้ ข้าพเจ้าอยากฝากถึงผู้อ่านทุกคนว่า จงอย่าเพียงแค่จ้องมองอดีตผ่านกระจกขุ่นมัว แต่จงหยิบยกบทเรียนจากประวัติศาสตร์มาเป็นคบไฟส่องทางในปัจจุบันและอนาคต หากท่านสนใจและต้องการสนับสนุน สามารถเยี่ยมชมเว็บไซต์ 2475 Animation หรือหาซื้อหนังสือและสื่ออื่น ๆ ได้ที่ Shopee โดยจะมีลิงก์ให้นะครับ
https://www.facebook.com/share/1AKLpE3mrB/
https://th.shp.ee/nyAER28

อย่าให้แผ่นดินนี้กลายเป็นยูเครนหรือไต้หวัน บทเรียนจากสงครามและการต่อรองที่ต้องจดจำ

(19 พ.ค. 68) ช่วงนี้โลกเรามันก็วุ่นวายเหลือเกินนะ แค่เปิดทีวีหรือเข้าโซเชียลก็เจอแต่ข่าวสงคราม ความขัดแย้ง และความสูญเสีย ดูอย่างยูเครนสิ เมื่อก่อนก็เป็นประเทศที่เต็มไปด้วยความหวังและความฝัน แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นซากปรักหักพัง ชีวิตผู้คนถูกทำลาย ทรัพย์สินโดนยึดไปอย่างน่าสลดใจ

เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ออกมาพูดด้วยน้ำตาคลอเบ้า “สหรัฐฯ และยุโรปเก็บเกี่ยวยูเครนมาเป็นเวลาสามปี เหมือนกับต้นหอม” คำพูดนี้มันสะท้อนถึงความจริงที่โหดร้ายสุด ๆ ที่ยูเครนต้องเผชิญ ถูกใช้เหมือนเครื่องมือ พอหมดประโยชน์ก็ถูกทิ้งแบบไม่ใยดี

ตอนนี้คนยูเครนต้องเดินเท้า 5 กิโลเมตรเพื่อหาน้ำดื่ม ในเมืองคาร์คิฟ โรงไฟฟ้าถูกทำลายไป 65% เหลือแต่ซาก กองทัพก็กลายเป็นทาสหนี้ให้กับพ่อค้าอาวุธจากสหรัฐฯ คนละ 150,000 ดอลลาร์ นี่มันราคาของ ‘พันธมิตร’ หรือ ‘ทาสยุคใหม่’ กันแน่?

ที่เจ็บแสบที่สุดคือ ข้อตกลงแร่ธาตุที่สหรัฐฯ ผลักดันให้ยูเครนเปิดพื้นที่เหมืองแร่หายาก 18 แห่ง เพื่อแลกกับการล้างหนี้ แต่สหรัฐฯ ไม่คิดช่วยเหลือทางทหารสักเหรียญเดียว! คือแบบนี้มันแฟร์เหรอ? เหมือนมัดมือชกกันชัด ๆ

ที่สหภาพยุโรปก็ไม่ต่างกันเลย พวกเขาจัดให้ “ปัญหาความมั่นคงของยูเครน” อยู่อันดับที่ 27 ในการประชุมที่บรัสเซลส์ รองจากการปรับปรุงอาหารกลางวันในโรงเรียน! ชีวิตคนทั้งชาติ โดนจัดให้อยู่ท้ายแถวในวาระการประชุม แบบนี้มันไม่ใช่แค่โดนทิ้งนะ แต่มันคือการโดนหักหลัง!

คิสซิงเจอร์เคยพูดไว้ว่า “การเป็นศัตรูของสหรัฐฯ เป็นเรื่องอันตราย แต่การเป็นเพื่อนกับสหรัฐฯ น่ากลัวยิ่งกว่า” คำพูดนี้มันเหมือนพยากรณ์ถึงชะตากรรมของไต้หวันเลยนะ

ไต้หวันเองก็เหมือนกับยูเครนในหลายแง่มุม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไต้หวันกลายเป็นสนามประลองของอำนาจมหาอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นจีนหรือสหรัฐฯ แต่สิ่งที่น่าเศร้าคือ ในขณะที่ไต้หวันทุ่มเงินจำนวนมหาศาลไปกับการซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ กลับไม่มีสิ่งใดกลับมานอกจากหนี้สินและคำสัญญาที่ว่างเปล่า

ก่อนที่สงครามในช่องแคบไต้หวันจะปะทุขึ้น สหรัฐฯ ได้ยึดเอา TSMC บริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ยักษ์ใหญ่ของไต้หวันไปใช้เป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจและการเมือง ไม่ต่างจากที่เขาเคยทำกับแหล่งแร่ธาตุของยูเครน และตอนนี้ไต้หวันก็ต้องแบกรับหนี้สินจากการซื้ออาวุธในระดับที่หนักหน่วง โดยที่นักการเมืองในไต้หวันก็ทำได้เพียงแค่ก้มหน้ายอมรับสภาพ

แย่กว่านั้น ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันยังต้องเดินทางไปสหรัฐฯ เพื่อเข้าพบและขอการยอมรับ ไม่ต่างจากการ ‘แสวงบุญ’ ที่ต้องผ่านการสัมภาษณ์และการพิจารณาจากผู้นำต่างชาติอย่างน่าหดหู่ เหมือนกับว่าอนาคตของประเทศไม่ได้อยู่ในมือประชาชนตัวเอง แต่อยู่ในมือของมหาอำนาจที่อยู่อีกซีกโลก

คนไทยเราเห็นแล้วก็ต้องคิดบ้าง อย่าให้ใครมายุยงปลุกปั่นให้เราแตกแยก อย่าให้ใครเอาผลประโยชน์หรืออำนาจมาล่อลวง เราต้องรักและหวงแหนแผ่นดินของเราเอง อย่าให้แผ่นดินนี้ต้องกลายเป็น ‘ยูเครนเวอร์ชั่น 2’ หรือ ‘ไต้หวันเวอร์ชั่น 2’ เพราะสุดท้ายแล้ว คนที่จ่ายราคาแพงที่สุด ก็คือพวกเราคนไทยเอง

ประเทศไทย... พึงตระหนัก!

KazanForum เมื่อรัสเซียหันหน้าเข้าสู่ ‘โลกมุสลิม’ เพื่อปักหมุดภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ ในโลกยุคหลายขั้ว

(18 พ.ค. 68) ในขณะที่โลกยังคงหมุนวนท่ามกลางความปั่นป่วนของอำนาจและการแย่งชิงผลประโยชน์ รัสเซียเดินหน้าด้วยความเด็ดขาดและไม่ลังเลที่จะ “หันหน้า” เข้าหาโลกมุสลิม — กลุ่มประเทศที่มีพลานุภาพมหาศาลทางเศรษฐกิจ มีวัฒนธรรมและอุดมการณ์ KazanForum จึงไม่ใช่แค่เวทีเจรจาธรรมดาแต่มันคือการประกาศศักดาอันดุเดือดของรัสเซียในการปักหมุดภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ของโลกยุคหลายขั้ว นี่คือการท้าทายอำนาจเก่าที่มองข้ามหรือพยายามกดขี่โลกมุสลิมมาเนิ่นนาน รัสเซียไม่ใช่แค่ผู้เล่นรายหนึ่งในเวทีการเมืองระหว่างประเทศแต่คือ “เสาหลัก” ที่โลกมุสลิมจะจับมือเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และอุดมการณ์ใหม่ที่ไม่ยอมจำนนต่อระบบโลกเดิม ดังนั้น KazanForum คือสนามรบทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เต็มไปด้วยพลังความมั่นคงและพันธมิตรที่ไม่อาจมองข้าม เมื่อโลกถูกบังคับให้ต้องเลือกระหว่างอำนาจที่สั่นคลอนและอนาคตที่ไม่แน่นอน KazanForum คือคำตอบของพันธมิตรใหม่ที่ทรงพลังที่สุดในยุคนี้ที่จะปั้นโลกให้เป็นเวทีของความหลากหลาย ศรัทธาและอิทธิพลที่รัสเซียและโลกมุสลิมพร้อมยืนหยัดเคียงข้างกันอย่างไม่หวั่นไหว

จากดอนบาสถึงคาซาน

เมื่อรัสเซียเผชิญแรงกดดันจากมาตรการคว่ำบาตรระลอกแล้วระลอกเล่า การประชุมทางเลือกนอกโลกตะวันตกจึงกลายเป็นเวทีสำคัญในยุทธศาสตร์ต่างประเทศของเครมลินและหนึ่งในนั้นคือ Russia–Islamic World: KazanForum ซึ่งจัดขึ้นที่สาธารณรัฐตาตาร์สถาน ดินแดนที่มีทั้งอัตลักษณ์มุสลิมและเชื้อชาติเตอร์กผสมผสานอยู่ในโครงสร้างของรัฐรัสเซียอย่างแนบแน่น KazanForum ที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2025 ดึงดูดผู้แทนจากกว่า 80 ประเทศมุสลิมโดยเฉพาะกลุ่ม OIC ทั้งในตะวันออกกลาง เอเชียกลาง แอฟริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้การรวมตัวกันในระดับนี้ ไม่ใช่เรื่องเล็กในโลกที่แตกขั้วอย่างเข้มข้นขึ้นทุกวัน โดย KazanForum มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 – 18 พฤษภาคม ค.ศ. 2025  ณ เมืองคาซาน สาธารณรัฐตาตาร์สถาน ประเทศสหพันธรัฐรัสเซีย มีตัวแทนจากกว่า 87 ประเทศ รวมถึงประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) และ 87 ภูมิภาคของรัสเซียเข้าร่วมงาน หัวข้อและกิจกรรมเด่นประกอบไปด้วย 
1) การประชุมเชิงธุรกิจและเศรษฐกิจ มีการจัดการประชุมกว่า 150 เซสชัน ครอบคลุมหัวข้อต่าง ๆ เช่น การเงินอิสลาม การลงทุน เทคโนโลยี การศึกษาและการท่องเที่ยว รวมถึงมีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือกว่า 120 ฉบับระหว่างภาครัฐและเอกชน 2) การประชุมกลุ่มวิสัยทัศน์ยุทธศาสตร์ "รัสเซีย–โลกอิสลาม" เป็นเวทีสำคัญที่มีผู้แทนระดับสูงจากประเทศต่าง ๆ เช่น เติร์กเมนิสถาน แอลจีเรีย บังกลาเทศ โมร็อกโกและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เข้าร่วม 3) การประชุมด้านการเงินอิสลาม (AAOIFI Conference) จัดขึ้นครั้งแรกในรัสเซีย โดยเน้นการปรับใช้การเงินอิสลามภายใต้กฎหมายรัสเซีย 4) นิทรรศการ Halal Expo แสดงผลิตภัณฑ์ฮาลาล
หลากหลายประเภท เช่น อาหาร เครื่องแต่งกาย การเงินและการท่องเที่ยว halaltimes.com 5) การประชุมระดับรัฐมนตรีรวมถึงการประชุมรัฐมนตรีวัฒนธรรมของประเทศสมาชิก OIC และการประชุมเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจและการลงทุน การประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมระดับสูงหลายท่าน เช่น นายกุร์บันกูลี เบอร์ดีมูฮาเมโดว์อดีตประธานาธิบดีเติร์กเมนิสถาน นายอันวาร์ อิบราฮิมนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ฯพณฯ อาลี อับดุลลาห์ ธานี จัสซิม อัล ธานี มาชิกราชวงศ์กาตาร์ รวมถึงรัฐมนตรีจากปากีสถาน ลิเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

แม้ภาพลักษณ์ของ KazanForum จะถูกห่อหุ้มด้วยวาทกรรมเศรษฐกิจ การลงทุนและความร่วมมือวัฒนธรรมแต่สิ่งที่อยู่เบื้องหลังคือบทสนทนาเรื่อง "ความมั่นคงทางเลือก" ที่ไร้เงาของ NATO หรือ EU หลายประเทศมุสลิมมองรัสเซียในฐานะ “รัฐที่เข้มแข็ง” ที่กล้าท้าทายอำนาจอเมริกาและพร้อมจะจัดระเบียบความมั่นคงร่วมในรูปแบบใหม่ที่ไม่พึ่งพาโลกตะวันตก เช่น การร่วมมือด้านข่าวกรอง การพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศหรือแม้แต่การสนับสนุนการรักษาเสถียรภาพในภูมิภาคที่เปราะบางอย่างซาเฮลหรือคอเคซัส  สิ่งนี้สะท้อนว่า KazanForum ไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่สร้างเครือข่ายเศรษฐกิจแต่มันเริ่มกลายเป็น “แหล่งรวมแนวร่วมของความมั่นคงเชิงภูมิวัฒนธรรม” ที่ตั้งอยู่บนฐานของอัตลักษณ์อิสลามและการต่อต้านภาวะอาณานิคมใหม่ 

หากมอสโกคือจุดศูนย์กลางของอำนาจรัฐ คาซานก็คือ “เวทีทดลอง” สำหรับยุทธศาสตร์ทางวัฒนธรรมที่รัสเซียต้องการเสนอออกสู่โลกการเลือกจัด KazanForum ในตาตาร์สถานไม่ใช่เรื่องบังเอิญเพราะดินแดนนี้เปรียบได้กับ "สะพาน" ระหว่างจักรวรรดิรัสเซียดั้งเดิมกับโลกมุสลิมที่แผ่ขยายจากเอเชียกลางสู่ตะวันออกกลาง การใช้ความเป็นมุสลิมของชาวตาตาร์ในการสื่อสารเชิงสัญลักษณ์ทำให้รัสเซียสามารถ "แสดงบทบาท" ของรัฐพหุวัฒนธรรมได้อย่างแนบเนียน ภูมิรัฐศาสตร์แบบใหม่ของรัสเซียจึงไม่ได้พึ่งแต่กองทัพหรือพลังงานอีกต่อไปแต่ยังพยายามสร้าง "Soft Eurasianism" ผ่านความเชื่อมโยงทางศาสนา ประวัติศาสตร์ และการต่อต้านอำนาจเดิมของโลกตะวันตก

นอกจากวาทกรรมทางความมั่นคงและอัตลักษณ์ KazanForum ยังเป็นเวทีที่รัสเซียพยายามเสนอภาพตนเองในฐานะพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่ไว้ใจได้ โดยเฉพาะกับกลุ่มประเทศมุสลิมที่ต้องการความหลากหลายในการค้าระหว่างประเทศจากระบบการเงินอิสลาม (Islamic Finance) ไปจนถึงเครือข่ายการค้าฮาลาล รัสเซียเร่งเจาะตลาดใหม่เพื่อชดเชยการสูญเสียการค้ากับยุโรป ในฟอรั่มปีนี้มีการลงนาม MOU หลายฉบับทั้งการส่งออกอาหารฮาลาล การร่วมทุนโลจิสติกส์และการเชื่อมโยงท่าเรือทะเลสาบแคสเปียนเข้าสู่เส้นทางซัพพลายเชนใหม่ กล่าวได้ว่า KazanForum กำลังทำหน้าที่คล้ายกับ Belt and Road Forum ของจีนในเวอร์ชันมุสลิม—ต่างกันแค่แทนที่จะมี “มังกร” เป็นผู้ชี้ทางที่นี่มี “หมีขาว” สวมชุดมุสลิมเป็นผู้เปิดเกม 

โลกมุสลิมตอบรับ KazanForum ในแง่บวกอย่างชัดเจนโดยมองว่าเวทีนี้เป็นโอกาสสำคัญในการสร้างพันธมิตรกับรัสเซียในหลากหลายมิติโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและการเมืองซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการสร้างความสัมพันธ์ใหม่ ๆ นอกเหนือจากการพึ่งพาตะวันตก เช่น การร่วมมือในด้านการเงินอิสลาม ฮาลาล เทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานหลายประเทศมุสลิมมองว่ารัสเซียเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งในเวทีโลกหลายขั้ว ที่สามารถเป็นทางเลือกแทนตะวันตกที่มักมีความขัดแย้งกับโลกมุสลิม นอกจากนี้ KazanForum ยังถูกมองว่าเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ประเทศมุสลิมนำเสนอวัฒนธรรมและศักยภาพของตนเองในระดับสากลภายใต้กรอบความร่วมมือที่มีความเคารพซึ่งกันและกัน

เยกอร์ อาเลเยฟ (Yegor Aleyev) นักวิเคราะห์ชื่อดังของสำนักข่าว TASS ของรัสเซียชี้ชัดว่า KazanForum เป็นการแสดงพลังของรัสเซียในการเป็นศูนย์กลางความร่วมมือระหว่างรัสเซียกับโลกมุสลิมซึ่งไม่ได้จำกัดแค่ในด้านเศรษฐกิจเท่านั้นแต่ยังครอบคลุมถึงความมั่นคงและการเมืองระดับภูมิภาคและระดับโลก อาเลเยฟเน้นว่า "รัสเซียกำลังสร้าง ‘เวทีใหม่’ ที่โลกมุสลิมสามารถแสดงบทบาทและศักยภาพของตนได้อย่างเต็มที่ภายใต้การสนับสนุนและความร่วมมือที่เท่าเทียมและเคารพซึ่งกันและกัน ซึ่งแตกต่างจากความสัมพันธ์แบบเก่าที่มีเงื่อนไขหรือการครอบงำจากมหาอำนาจตะวันตก" อาเลเยฟมองว่าเวทีนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้รัสเซียและโลกมุสลิมสามารถรับมือกับความท้าทายร่วมกัน เช่น การกดดันทางการเมืองจากโลกตะวันตก การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรวมถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์และการก่อการร้าย เขายังชี้ว่าความสัมพันธ์นี้จะไม่ใช่แค่ในระยะสั้นแต่มีศักยภาพที่จะพัฒนาไปสู่พันธมิตรยุทธศาสตร์ที่ยั่งยืนและทรงพลังที่สุดในศตวรรษนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของโลกที่กำลังเคลื่อนเข้าสู่ยุค “โลกหลายขั้ว” ที่มีอำนาจทางภูมิรัฐศาสตร์กระจายตัวมากขึ้น 

ในขณะที่อเล็กเซย์ วาซิลิเยฟ (Alexei Vasiliev) นักประวัติศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางของรัสเซียเน้นย้ำถึงบทบาทของรัสเซียในการสร้างความร่วมมือกับโลกอิสลามโดยเฉพาะในบริบทของการเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์โลก เขาเห็นว่า Kazan Forum เป็นเวทีสำคัญที่รัสเซียใช้ในการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับประเทศมุสลิมและเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การสร้างโลกหลายขั้วที่รัสเซียผลักดัน

อันเดรย์ โคโรตาเยฟ (Andrey Korotayev) นักมานุษยวิทยาและนักสังคมวิทยาชาวรัสเซียผู้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับโลกอิสลามในบริบทของความมั่นคงและวัฒนธรรม เขาชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการเข้าใจโครงสร้างสังคมและวัฒนธรรมของประเทศมุสลิมในการสร้างความร่วมมือที่ยั่งยืน และ KazanForum เป็นเวทีที่ช่วยส่งเสริมความเข้าใจและความร่วมมือดังกล่าว

รุสลาน เคอร์บานอฟ (Ruslan Kurbanov) นักวิชาการและนักกิจกรรมทางสังคมจากดาเกสถาน
เน้นย้ำถึงบทบาทของรัสเซียในการสนับสนุนและส่งเสริมชุมชนมุสลิมภายในประเทศและการใช้ KazanForum เป็นเวทีในการแสดงออกถึงความเป็นพหุวัฒนธรรมของรัสเซีย รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับประเทศมุสลิมอื่น ๆ

ตามทฤษฎี Clash of Civilizations ของ ซามูเอล ฮันติงตัน (Samuel P. Huntington) โลกถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มอารยธรรมที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม ศาสนา และค่านิยม ซึ่งมักนำไปสู่ความขัดแย้งและการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ ในบริบทนี้ KazanForum จึงไม่ได้เป็นเพียงงานประชุมเศรษฐกิจหรือวัฒนธรรมทั่วไปแต่เป็นเวทีที่รัสเซียกำลังสร้าง “สะพาน” เชื่อมโยงระหว่างโลกอิสลามกับอารยธรรมตะวันตก-รัสเซีย ผ่านการแสดงออกถึงอำนาจทางภูมิรัฐศาสตร์ในรูปแบบใหม่ ได้แก่ 1) ภูมิรัฐศาสตร์หลายขั้วโดยรัสเซียใช้ KazanForum เป็นเครื่องมือผลักดันยุทธศาสตร์หลายขั้วที่ท้าทายอิทธิพลของสหรัฐและตะวันตกในโลกมุสลิม 2) การสร้างอัตลักษณ์ร่วม KazanForum เสริมสร้างภาพลักษณ์ของ “โลกอิสลาม” ที่มีความเป็นเอกภาพและมีพันธมิตรที่แข็งแกร่งในรัสเซีย ซึ่งอาจเป็นการตอบโต้แนวคิดของตะวันตกที่มองโลกมุสลิมเป็น “อื่น” หรือศัตรู 3) การแข่งขันทางวัฒนธรรมและความมั่นคง โดยการสร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจและความมั่นคงผ่าน KazanForum คือการต่อสู้ในสมรภูมิทางวัฒนธรรม ที่ไม่ใช่แค่เรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่เป็นการต่อสู้เพื่อความชอบธรรมและการกำหนดอนาคตของอารยธรรม

สรุป KazanForum มิใช่เพียงงานประชุมหากคือการเคลื่อนไหวทางภูมิรัฐศาสตร์ที่แหลมคมและแยบยล รัสเซียกำลังสลักหมุดใหม่บนแผนที่โลก ไม่ใช่ด้วยกำลังทหารแต่ด้วยการสร้างพันธมิตรในนามของศรัทธา เศรษฐกิจและอารยธรรม ท่ามกลางระเบียบโลกเก่าที่เปราะบางและกำลังล่มสลายต่อหน้าต่อตารัสเซียและโลกมุสลิมกำลังรวมตัวกันอย่างเงียบเชียบแต่ทรงพลังเพื่อวางรากฐานใหม่ของอำนาจที่ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากตะวันตกอีกต่อไป เวทีสัมมนาอย่าง KazanForum กลายเป็นอาวุธเชิงยุทธศาสตร์ในยุคที่ “คำพูดสามารถโค่นกองทัพ” และ “การสร้างภาพจำสามารถล้มอารยธรรม” รัสเซียไม่เพียงปรับยุทธศาสตร์แต่กำลังสร้างสนามใหม่ที่คู่แข่งไม่ถนัดและไม่อาจคุมเกมได้ โลกมุสลิมตอบรับด้วยความกระตือรือร้นเพราะนี่คือพื้นที่ที่ให้เกียรติให้โอกาสและให้อนาคต ในท้ายที่สุด คำถามที่โลกต้องเผชิญไม่ใช่ว่า "รัสเซียกับโลกมุสลิมจะทำอะไรต่อไป?" แต่คือ "จะมีใครกล้าต้านทานพันธมิตรแห่งศรัทธา อำนาจ และภูมิปัญญาใหม่นี้ได้หรือไม่?"

‘NailName’ ขอโทษ!! ‘สนธิ’ กรณีจุดเริ่มต้น สงครามเหลืองแดง หลังออก!! คลิป YouTube บิดเบือนข้อเท็จจริง โดยไม่ตรวจสอบ

(17 พ.ค. 68) รายการ 'แฮชแท็ก' จากช่อง YouTube NailName ออกมาแสดงความรับผิดชอบและกล่าวคำขอโทษอย่างเป็นทางการต่อ คุณสนธิ ลิ้มทองกุล หลังจากที่คลิปวิดีโอตอน '#สนธิ vs ทักษิณ: ตำนานเพื่อนรักไม่ให้ยืมเงิน จุดเริ่มต้นสงครามเหลืองแดง' ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในโลกออนไลน์

คลิปดังกล่าวพยายามอธิบายเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในอดีต โดยมีเนื้อหาที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง และทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับบทบาทของ สนธิ ลิ้มทองกุล ในการเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อเหลือง-เสื้อแดง

ในคลิปขอโทษล่าสุด เนม – รติศา วิเชียรพิทยา ผู้ดำเนินรายการ ได้กล่าวยอมรับความผิดพลาดในการนำเสนอข้อมูลและขอโทษต่อ คุณสนธิ ลิ้มทองกุล อย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดก่อนการเผยแพร่ เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือของรายการและเคารพต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในคลิปนั้นมีใจความว่า …

"ตามที่ข้าพเจ้า เนม รติศา วิเชียรพิทยา หรือ nailname เผยแพร่คลิปวิดีโอ ชื่อหัวข้อ #สนธิ vs ทักษิณ ตำนานเพื่อนรักไม่ให้ยืมเงิน จุดเริ่มต้นสงครามเหลืองแดง เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2566 เผยแพร่ใน YouTube ช่อง NailName ซึ่งเนื้อหาในคลิปวิดีโอดังกล่าว ข้าพเจ้าขอยอมรับว่าไม่เป็นความจริง ข้าพเจ้าได้ตรวจสอบแล้วไม่พบหลักฐานหรือข่าวใด ๆ ที่ยืนยันได้ว่า คุณสนธิไปยืมเงินคุณทักษิณ โดยปรากฏข่าวว่าคุณสนธิปฏิเสธว่าไม่ใช่เพื่อนรักกับคุณทักษิณ และมีบุคคลอื่น เคยขอโทษคุณสนธิเกี่ยวกับเรื่องนี้ ดังที่ปรากฏข้อมูลไว้ในคลิปวิดีโอดังกล่าว โดยเนื้อหาในคลิปวิดีโอ ทำให้คุณสนธิได้รับความเสียหาย ต่อชื่อเสียง ข้าพเจ้ารับทราบแล้วจึงขออภัยและขอโทษมาด้วยความจริงใจ ต่อคุณสนธิ ลิ้มทองกุล และขอบคุณคุณสนธิยินดีที่จะไกล่เกลี่ยและไม่เอาความ มา ณ โอกาสนี้"

เหตุการณ์นี้สะท้อนถึงบทเรียนสำคัญในวงการสื่อออนไลน์ ที่ความผิดพลาดเพียงเล็กน้อย อาจสร้างผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของบุคคลและองค์กรได้อย่างมาก

รู้จัก ‘Alcatraz’ คุกบนเกาะกลางอ่าวซานฟรานซิสโก ที่ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ เตรียมใช้คุมขังนักโทษร้ายแรงอีกครั้ง

โลกใบนี้มีเรือนจำบนเกาะอยู่มากมายหลายแห่ง โดยเกาะเหล่านี้แยกตัวออกมาอยู่กลางทะเลตามธรรมชาติ จึงทำให้นักโทษไม่สามารถหลบหนีได้ The Rock สมญานามของเกาะ Alcatraz เกาะเล็ก ๆ กลางอ่าวซานฟรานซิสโก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เกาะนี้ในอดีตเคยเป็นสถานที่ตั้งประภาคาร ป้อมปราการของกองทัพสหรัฐฯ และยังเป็นเรือนจำสำหรับคุมขังนักโทษ แต่ในปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเรือนจำแห่งนี้ รวมถึงเปิดให้เข้าชมพื้นที่ห้องขังจริง ๆ และจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้จริงของนักโทษ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 พฤษภาคม 2025 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้กล่าวว่า เขาจะสั่งการทำการปรับปรุงเรือนจำบนเกาะ Alcatraz เพื่อเปิดใช้งานใหม่ โดยประธานาธิบดีทรัมป์ได้สั่งให้มีการประเมินในทุกส่วนที่ยังไม่ได้รับการประเมินเพื่อกำหนดความต้องการและขั้นตอนต่อไปในการปรับปรุงเรือนจำรัฐบาลกลาง Alcatraz ซึ่งมีประวัติศาสตร์อันยาวนานเพื่อเป็นการฟื้นฟูสัญลักษณ์อันทรงพลังของกฎหมาย ความสงบเรียบร้อย และความยุติธรรม ของสหรัฐฯและรัฐบาลกลางของประเทศอื่น ๆ ที่เป็นพันธมิตร

เกาะแห่งนี้มีพืชพรรณเพียงเล็กน้อยและเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนกทะเลเมื่อได้รับการสำรวจในปี 1775 โดยร้อยโท Juan Manuel de Ayala ซึ่งตั้งชื่อเกาะนี้ว่า Isla de los Alcatraces ('เกาะแห่งนกกระทุง') ต่อมาในปี 1849 ถูกขายให้กับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เกาะนี้ไม่เหมาะที่จะอยู่อาศัย เนื่องจากกระแสน้ำทะเล พืชผักที่มีปริมาณน้อยมาก และพื้นดินที่แห้งแล้ง เนื่องจากเกาะแห่งนี้ตั้งอยู่โดดเดี่ยวกลางอ่าวตามธรรมชาติ ล้อมรอบด้วยน้ำที่มีอุณหภูมิเยือกแข็งและคลื่นลมแรง กองทัพสหรัฐฯ สร้างป้อมปราการบนเกาะ Alcatraz ขึ้นในปี 1850 มีการติดตั้งปืนใหญ่เพื่อป้องกันอ่าวจากการรุกรานจากศัตรูต่างชาติอันเนื่องมาจากการเติบโตของสหรัฐฯ ในมหาสมุทรแปซิฟิก

นอกจากนี้ยังใช้เพื่อปกป้องนคร San Francisco จากการบุกรุกในช่วงสงครามกลางเมือง ไม่นานหลังจากนั้นมันก็ได้รับการพิจารณาให้ใช้เป็นที่คุมขังนักโทษ มีการสร้างประภาคารแห่งแรก และต่อมามีการสร้างอาคารอื่น ๆ บนเกาะ และกองทหารประจำการชุดแรกได้ตั้งกองทหารรักษาการณ์ในปี 1859 ในปี 1861 เกาะนี้ถูกกำหนดให้เป็นที่กักขังบรรดาผู้กระทำความผิดทางทหาร ต่อมามีนักโทษรวมถึง ชาวอินเดียแดงเผ่านโฮปี 19 คน จากมลรัฐแอริโซนาซึ่งต่อต้านความพยายามของรัฐบาลที่จะกลืนกลายพวกเขา ในปี 1861 เกาะนี้ได้เป็นที่รองรับนักโทษจากสงครามกลางเมืองจากรัฐต่าง ๆ และผลพวงจากสงครามสเปน-อเมริกัน ในปี 1898 ทำให้จำนวนนักโทษเพิ่มขึ้นจาก 26 คน เป็น 450 คน และในปี 1900 กักขังทหารอเมริกันที่ต่อสู้ในฟิลิปปินส์แต่แปรพักตร์เข้าร่วมกับฝ่ายฟิลิปปินส์ ในปี 1907 เกาะนี้ถูกกำหนดให้เป็นสาขาแปซิฟิกของเรือนจำทหารสหรัฐอเมริกา จากนั้นในปี 1906 ได้เกิดแผ่นดินไหวในนครซานฟานซิสโก (ซึ่งทำลายเมืองนี้อย่างรุนแรง) บรรดานักโทษจึงถูกย้ายไปบนเกาะเพื่อความปลอดภัย ในปี 1912 มีการก่อสร้างคุกขนาดใหญ่ที่ใจกลางเกาะ และในปลายทศวรรษ 1920 อาคารสามชั้นนี้ก็เสร็จสมบูรณ์

กองทัพสหรัฐฯ เป็นดูแลผู้รับผิดชอบเกาะแห่งนี้มามากว่า 80 ปี จากปี 1850 จนถึงปี 1933 แล้วเกาะนี้ได้ย้ายไปอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงยุติธรรมเพื่อใช้เป็นที่คุมขังนักโทษ รัฐบาลกลางได้ใช้เป็นสถานที่กักขังที่มีระบบรักษาความปลอดภัยสูงสุด โดยผู้ต้องขังปราศจากสิทธิพิเศษใด ๆ เพื่อจัดการกับบรรดานักโทษ และแสดงถึงประสิทธิภาพทางกฎหมายที่รัฐบาลต้องการลดคดีอาชญากรรมที่มีมากมาย ในช่วงปี 1920 และปี 1930 ตั้งแต่ปี 1934 ถึง 1963 เรือนจำแห่งนี้ทำหน้าที่เป็นเรือนจำของรัฐบาลกลางสำหรับนักโทษพลเรือนที่อันตรายที่สุดบางคนนักโทษที่ มีชื่อเสียง ได้แก่ อัล คาโปน จอร์จ เคลลี และโรเบิร์ต สตรูด มนุษย์นกแห่งเกาะ Alcatraz ('Birdman of Alcatraz') ผู้ซึ่งเลี้ยงนกและทำการวิจัยเกี่ยวกับนกขณะอยู่ในเรือนจำ” แม้ว่าเรือนจำ Alcatraz จะสามารถขังนักโทษได้ 450 คนในห้องขังที่มีขนาดประมาณ 10 x 4.5 ฟุต (3 x 1.5 เมตร) แต่ความเป็นจริงแล้วในแต่ละครั้งจะมีการขังนักโทษโดยเฉลี่ยประมาณคือ 260-275 คน (จำนวนนักโทษนี้ยังไม่ถึงปริมาณที่รองรับได้สูงสุด 336 คน ซึ่งนับได้ว่าจำนวนนักโทษของเกาะมีสัดส่วนน้อยกว่า 1% ของจำนวนนักโทษทั่วประเทศ) โดยที่นักโทษมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีกว่านักโทษที่อื่น (ตัวอย่างเช่น นักโทษหนึ่งคนต่อหนึ่งห้องขัง) ซึ่งมีนักโทษหลายคนได้ขอย้ายไปอยู่ที่เรือนจำบนเกาะเกาะ Alcatraz ความพยายามในการหลบหนีจากเรือนจำบนเกาะแห่งนี้นั้นยากมาก ๆ แต่ก็มีผู้ต้องขังเพียงไม่กี่คนที่หลบหนีออกจากเกาะได้ แต่ที่สุดไม่รู้ว่าพวกเขารอดชีวิตจากกระแสน้ำเย็นในอ่าวได้หรือไม่ การหลบหนีจากเกาะแห่งนี้ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง Escape from Alcatraz (1979)

ในที่สุด ความยากลำบากในการขนน้ำจืดและของเสียออกจากเกาะได้ส่งผลทำให้เรือนจำบนเกาะ Alcatraz ก็ถูกปิดตัวลงในปี 1963 เนื่องจากขาดงบประมาณในการบริหารจัดการ ในเดือนมีนาคม 1964 กลุ่มชนพื้นเมืองอเมริกันได้อ้างสิทธิ์บนเกาะนี้โดยอ้างถึงสนธิสัญญาปี 1868 อนุญาตให้ชาวอินเดียนจากเขตสงวนอ้างสิทธิ์ใน "ดินแดนของรัฐบาลที่ไม่มีผู้อยู่อาศัย" อย่างไรก็ตาม พวกเขายึดครอง Alcatraz ได้เพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น ในเดือนพฤศจิกายน 1969 นักเคลื่อนไหวชาวอินเดียนรวมถึงสมาชิกของขบวนการอินเดียนอเมริกันได้ทำการยึดครองเกาะนี้อีกครั้ง โดยเรียกร้องกรรมสิทธิ์ในเกาะและปฏิเสธที่จะออกไป จนกระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจของรัฐบาลกลางบังคับให้ออกไปในเดือนมิถุนายน 1971 และเกาะ Alcatraz ก็ถูกโอนย้ายไปอยู่ในการดูแลของสำนักอุทยานแห่งชาติในปี 1972 หลังจากนั้นจึงมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ แล้วเปลี่ยนสภาพจากเรือนจำไปเป็นพิพิธภัณฑ์ และเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวต้อนรับผู้เข้าชมประมาณ 1.2 ล้านคนต่อปีมาจนถึงปัจจุบัน เกาะ Alcatraz อยู่ในเขตพื้นที่สันทนาการแห่งชาติโกลเดนเกต (Golden Gate National Recreation Area) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่บริเวณชายฝั่งตะวันตกรอบ ๆ ปากอ่าวซานฟรานซิสโกกว่า 82,116 เอเคอร์ เกาะ Alcatraz ซึ่งเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ นักท่องเที่ยวสามารถไปเยี่ยมชมได้โดยขึ้นเรือเฟอร์รี่ที่ท่าเรือ Pier 33 จากชายฝั่งนครซานฟรานซิสโก ใช้เวลาเดินทาง 4 กิโลเมตรไปยังเกาะประมาณ 20-30 นาที นอกจากนี้ เกาะ Alcatraz ยังเป็นฉากถ่ายทำภาพยนตร์ฮอลลีวูดหลายเรื่อง และยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติในปี 1986 อีกด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top