Sunday, 6 July 2025
COLUMNIST

บทบาท ‘ทรัพยากรเชิงชาติพันธุ์’ ของชาวไทยเชื้อสายจีน เบื้องหลัง!! ความสัมพันธ์เศรษฐกิจ ‘จีน – ไทย’

(26 เม.ย. 68) แม้ว่าประเทศไทยและจีนจะมีความสัมพันธ์อันดีในหลายมิติ แต่เมื่อพูดถึงคำว่า 'พี่น้องไทย - จีน' แล้ว ที่มาและความหมายที่แท้จริงของคำนี้คือความเป็นพี่น้องทางสายเลือดจริง ๆ ซึ่งถ้าใครอยู่ในวงการความสัมพันธ์ไทย-จีนนั้น ก็น่าจะเคยได้ยินฝ่ายจีนใช้คำว่า '血脉相连 - เสว่ ม่าย เซียง เหลียน' ซึ่งแปลว่า 'เชื่อมต่อกันทางสายเลือด' โดยหมายถึงชาวไทยเชื้อสายจีน หรือชาวจีนที่เกิดในประเทศไทยและเป็นเชื้อสายของผู้อพยพชาวจีน หรือชาวจีนโพ้นทะเล ที่มีอยู่ประมาณ 10 ล้านคนในประเทศไทย คิดเป็น 11–14% ของจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศ ที่จำนวนมากเติบโตและประสบความสำเร็จด้านการค้าขาย เป็นผู้นำองค์กร เป็นผู้ถือครองทรัพย์สินจำนวนมาก บ้างก็มีตำแหน่งสำคัญในราชการ 

นายกรัฐมนตรีไทยจำนวน 19 จาก 31 คน ล้วนมีเชื้อสายจีนทั้งสิ้น

แม้ว่าคนไทยเชื้อสายจีนจำนวนมากจะถูกกลืนกินทางวัฒนธรรมจนกลายเป็นคนไทยโดยสมบูรณ์แล้ว แต่ก็ยังมีเครือข่ายสายสัมพันธ์กับคนจีนจากแผ่นดินใหญ่ ซึ่งได้กลายมาเป็น 'ทรัพยากรเชิงชาติพันธุ์' และกลายเป็น 'สะพาน' ในการเชื่อมสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย-จีน อย่างมีนัยยะสำคัญมาโดยตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา

ในยุคที่จีนดำเนินนโยบายตามกรอบแนวคิดริเริ่ม 'หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง' (Belt and Road Initiative - BRI - 一带一路) และยุทธศาสตร์ 'เดินออกไปข้างนอก' (Going Out Strategy - 走出去战略) ของรัฐบาลจีน ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 2000 มีเป้าหมายในการผลักดันบริษัทจีนออกไปลงทุนในต่างประเทศ ขยายเครือข่ายธุรกิจ และสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระดับโลก

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนจีนไม่ได้พิจารณาเพียงปัจจัยทางเศรษฐกิจหรือสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเท่านั้น หากยังได้รับอิทธิพลจากเครือข่ายทางสังคมและวัฒนธรรม โดยเฉพาะชุมชนชาวจีนโพ้นทะเล ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงระหว่างจีนและประเทศเป้าหมายในระดับพื้นที่ ซึ่งกลายเป็น 'ทรัพยากรเชิงชาติพันธุ์' ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญตามทฤษฎีเศรษฐกิจเชิงชาติพันธุ์ (Ethnic Economy)

ประเด็นนี้เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย ที่การเข้ามาของ FDI นั้น มักต้องอาศัยพันธมิตรในท้องถิ่น ความรู้เชิงบริบท และการเข้าถึงระบบราชการ ซึ่งทำให้นักลงทุนต่างชาติต้องพึ่งพา 'กลุ่มตัวกลาง' ในท้องถิ่น ในการอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ ตามทฤษฎีการตัดสินใจของ FDI ในตลาดเกิดใหม่ (FDI Decision-making in Emerging Markets) รวมถึงทฤษฎีเครือข่ายทางสังคม (Social Network Theory) ที่มองว่าความสัมพันธ์ทางสังคมมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในบริบทที่มีความไม่แน่นอนสูง เช่น การลงทุนข้ามชาติในประเทศเกิดใหม่ ประเทศที่การเมืองไม่มั่นคง หรือประเทศที่มีอัตราการคอร์รัปชันสูงในระดับท้องถิ่น

ทั้งนี้ บทบาทของชาวไทยเชื้อสายจีนตามกรอบแนวคิดและทฤษฎีข้างต้นนี้ โดยหลักแล้วถือว่าเป็น 'ตัวกลางทางเครือข่าย' รวมถึงเป็น 'กลุ่มผลประโยชน์' และ 'พันธมิตรสนับสนุน' (advocacy coalition) ความร่วมมือในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะบทบาทการเชื่อมโยงนักลงทุนและรัฐบาลท้องถิ่น ทั้งการสนับสนุนด้านข้อมูลทางกฎหมาย นโยบาย การทลายกำแพงด้านภาษาและวัฒนธรรม รวมถึงการสร้างอำนาจต่อรอง บริหารและจัดสรรผลประโยชน์ของทุกฝ่ายบนหน้าฉากก็ดี... หลังฉากก็ดี... (กรณีนี้คือว่ากันตามหลักการ ในความเป็นจริงอาจมีประเด็นผลประโยชน์ส่วนตัวและการคอร์รัปชัน ที่เป็นต้นตอของปัญหาเรื่องทุนต่างชาติสีเทาในปัจจุบัน)

ในรูปธรรมของการก่อตัวเป็นกลุ่มผลประโยชน์ของคนไทยเชื้อสายจีนนั้น สามารถเห็นได้จากการตั้งองค์กรในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ สมาคมการค้า หอการค้า สภาธุรกิจ หรือมูลนิธิอาสา ซึ่งกลายเป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่จัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น จัดงานเลี้ยง งานประชุม งานอาสาต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งการสร้างชุมชน China town ซึ่งเป็นศูนย์กลางของชาวจีนโพ้นทะเลในท้องถิ่นต่าง ๆ เพิ่มโอกาสในการพบปะทางสังคม และมีบทบาทในการสร้างเครือข่ายผลประโยชน์ ส่งต่อกันแบบรุ่นสู่รุ่น ไม่ว่าจะในระดับประเทศ หรือระดับท้องถิ่น เป็นพื้นที่ที่นักลงทุนทั้งสองฝ่ายรู้สึก 'ปลอดภัย' และ 'เข้าถึงง่าย' ช่วยให้สามารถเข้าถึงตลาด ทำให้นักธุรกิจจีนเกิดความรู้สึก 'เหมือนอยู่บ้าน'

ในทางกลับกัน ฝ่ายรัฐบาลท้องถิ่นที่ต้องการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากภายนอกนั้น ก็สามารถดำเนินการประสานด้านข้อมูลและใช้เครือข่ายขององค์กรสมาคมการค้าและมูลนิธิต่าง ๆ เหล่านี้ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนจีนเช่นกัน

องค์กรรูปแบบนี้สามารถพบเห็นได้ในแทบจะทุกจังหวัดของประเทศไทย จะมีมากและเข้มแข็งเป็นพิเศษในเมืองยุทธศาสตร์สำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น กรุงเทพฯ, สมุทรปราการ หาดใหญ่, เชียงใหม่, ภูเก็ต, กลุ่มจังหวัดโซน EEC และหลายจังหวัดในภาคอีสาน (ที่อาจเป็นทางผ่านของรถไฟความเร็วสูง)

ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า นัยยะสำคัญของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับจีนไม่ได้ขึ้นอยู่แค่กับข้อตกลงหรือเอกสารทางการต่าง ๆ เท่านั้น แต่มาจากความสัมพันธ์ของผู้คน ความเชื่อใจ ความใกล้ชิด และเครือข่ายที่ยึดโยงกันข้ามรุ่น จากบทบาทของคนไทยเชื้อสายจีนในฐานะ 'ตัวกลาง' ที่เข้าใจทั้งสองฝั่งอย่างลึกซึ้ง

ไม่เพียงแค่ไทยเท่านั้น ชาวจีนโพ้นทะเลจำนวนมากที่กระจายอยู่ทั่วโลกก็กำลังมีบทบาทเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศในกลุ่ม ASEAN ที่มีชุมชนชาวจีนโพ้นทะเลที่ค่อนข้างเข้มแข็งและมีบทบาทต่อเศรษฐกิจ

ด้วยเหตุเช่นนี้ การ 'เดินออกไปข้างนอก' ตามยุทธศาสตร์ Going Out Strategy นั้น จึงเป็นการ 'เดินออกไปข้างนอกแต่ก็ยังเจอเพื่อน' ที่จะช่วยแนะนำที่ทางในการค้าขาย และเป็น 'กันชนทางวัฒนธรรม' ที่ทำหน้าที่ลด culture shock และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง 'เจ้าบ้าน' และ 'แขกหน้าใหม่' พร้อมสร้างความร่วมมือที่ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นวัฒนธรรมและระบบ เกิดความยั่งยืนจากการส่งต่อแบบรุ่นสู่รุ่น

พระราชไมตรีระหว่าง ‘ไทย - ภูฏาน’ ท่ามกลางระเบียบโลก ที่เปลี่ยนแปลง สองประเทศเล็ก ที่เชื่อมั่นในความพอเพียง จะก้าวเดินร่วมกัน โดยไม่หวั่นไหว

กลางหุบเขาสูงเสียดฟ้าแห่งราชอาณาจักรภูฏาน ภาพแห่งมิตรภาพที่งดงามได้บังเกิดขึ้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จเยือนราชอาณาจักรภูฏานอย่างเป็นทางการ ตามคำทูลเชิญของ สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก พร้อมด้วยการต้อนรับที่เปี่ยมด้วยไมตรีจิตและวัฒนธรรมอันงดงาม

กิจกรรมที่สะท้อนสายสัมพันธ์แน่นแฟ้น

ตั้งแต่การเสด็จฯ ถึงสนามบินพาโรที่ยากที่สุดในโลก
การตรวจแถวกองเกียรติยศ ณ ป้อมทาชิโช
การร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ณ พระพุทธรูปดอร์เดนมา
ทอดพระเนตรโครงการหลวงเดเชนโชลิง และนิทรรศการผลิตภัณฑ์ชุมชน
เยี่ยมชมศิลปวัฒนธรรมภูฏาน การยิงธนู และหัตถกรรมท้องถิ่น
ตลอดจนการพบหารือกับผู้นำรัฐบาลภูฏาน

ทุกกิจกรรมไม่ได้เป็นเพียงพิธีการ แต่เป็นการถักทอสายใยแห่งพระราชไมตรีอย่างแท้จริง — สัมผัสได้ถึงความอบอุ่น เสมือนพี่น้องที่เข้าใจหัวใจกันโดยไม่ต้องเอื้อนเอ่ยถ้อยคำมากนัก

จับมือกัน... ท่ามกลางโลกที่สั่นไหว

ในห้วงเวลาที่ระเบียบโลกเก่ากำลังสั่นคลอน — เมื่อมหาอำนาจแข่งขันกันอย่างรุนแรง ทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง และเทคโนโลยี ประเทศเล็กและกลางต้องเลือกระหว่าง การไหลตามกระแส หรือ การวางรากฐานให้มั่นคงด้วยตนเอง

ไทยและภูฏานต่างเลือกหนทางที่คล้ายกัน คือ การพึ่งตนเองอย่างพอเพียง ไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใด และสร้างภูมิคุ้มกันผ่านการพัฒนาจากภายใน ไม่ใช่การไขว่คว้าตัวเลข GDP ที่ว่างเปล่า

การเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้จึงเป็นมากกว่าการเยือน แต่คือ การประกาศเจตจำนงเงียบ ๆ ว่า ไทยและภูฏานจะไม่เป็นแค่เบี้ยตัวหนึ่งในเกมโลก แต่จะยืนหยัดอย่างมีศักดิ์ศรี โดยจับมือกันไว้ เดินไปด้วยกัน บนเส้นทางที่มั่นคงจากภายในสู่ภายนอก

บทเพลงที่พูดแทนใจสองชาติ

การที่ชาวภูฏานเลือกเพลง 'จับมือไว้' ของไทย มาใช้ในการแสดงต้อนรับเสด็จ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หากคือสัญญะสำคัญ — ว่าในวันที่โลกวุ่นวายที่สุด มนุษย์สองประเทศเล็กกลางหุบเขา ก็ยังสามารถ จับมือกันไว้ ด้วยหัวใจที่เชื่อมั่นในสันติ ความพอเพียง และการก้าวเดินร่วมกันอย่างไม่หวั่นไหว

บทสรุป
ในวันที่ความขัดแย้งและความโลภฉุดกระชากโลกให้ปั่นป่วน
สองราชอาณาจักรเล็ก ๆ อย่างไทยและภูฏาน เลือกจะไม่แย่งชิงบทบาท
แต่เลือกที่จะยืนยัน — ด้วยรอยยิ้ม ด้วยมิตรภาพ และด้วยเศรษฐกิจพอเพียง — ว่าความมั่นคงที่แท้จริงนั้น ไม่ได้วัดด้วยขนาดหรืออำนาจ แต่ด้วยรากฐานของหัวใจที่ไม่หวั่นไหว

"จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน" จึงไม่ใช่แค่ทำนองเพลง แต่คือพันธสัญญาร่วมกันในโลกที่กำลังเปลี่ยน"

จากความหลากหลายสู่ภัยความมั่นคงทางศีลธรรม กับวาทกรรมต่อต้าน LGBT ในยุทธศาสตร์อำนาจของรัสเซีย

(24 เม.ย. 68) ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สหพันธรัฐรัสเซียได้ผลักดันนโยบายและวาทกรรมทางการเมืองที่แสดงออกถึงการต่อต้านขบวนการ LGBT อย่างชัดเจน ไม่เพียงแต่ในเชิงวัฒนธรรมและสังคม หากแต่ยังกลายเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ โดยมีการจัดให้ "ขบวนการ LGBT" เป็นภัยคุกคามต่ออัตลักษณ์ของชาติ ศีลธรรมดั้งเดิม และความมั่นคงของรัฐ ความเคลื่อนไหวล่าสุดในการขึ้นบัญชี LGBT movement เป็น “องค์กรหัวรุนแรง” หรือแม้แต่ “องค์กรก่อการร้าย” สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของวาทกรรมอำนาจ ซึ่งมุ่งเน้นการผูกโยง “ความหลากหลาย” เข้ากับ “ความเสี่ยงทางความมั่นคง” โดยจะอธิบายผ่านบริบททางการเมืองและสังคมของรัสเซียต่อประเด็น LGBT ดังนี้

ในสมัยสหภาพโซเวียต ความสัมพันธ์แบบรักร่วมเพศถือเป็น “พฤติกรรมเบี่ยงเบน” และถูกทำให้เป็นอาชญากรรมภายใต้ประมวลกฎหมายอาญาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1934 ตามนโยบายของโจเซฟ สตาลิน ซึ่งมาตรา 121 ของกฎหมายอาญาโซเวียตระบุว่าการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน (เฉพาะในผู้ชาย) มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 5 ปี แนวคิดของโซเวียตสะท้อนการมองว่า LGBT เป็นภัยต่อโครงสร้างครอบครัวแบบสังคมนิยม และถูกเชื่อมโยงกับ “ความเสื่อมทรามของทุนนิยมตะวันตก” แม้ในยุคหลังสงครามเย็นภายใต้การปกครองของประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน แม้รัสเซียจะยกเลิกมาตราดังกล่าวในปี ค.ศ. 1993 แต่อคติทางสังคมและการตีตราก็ยังคงอยู่ในระดับสูง

กฎหมายปี ค.ศ. 2013 หรือที่รู้จักในชื่อ “กฎหมายต่อต้านการโฆษณาเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเพศที่ไม่เหมาะสมกับเยาวชน” (Law on the Propaganda of Non-Traditional Sexual Relationships to Minors) มีสาระสำคัญคือการห้ามเผยแพร่เนื้อหาที่ “ส่งเสริมความสัมพันธ์รักร่วมเพศ” ต่อเด็กและเยาวชน โดยมีบทลงโทษทั้งทางแพ่งและอาญา เช่น ปรับเงิน หรือจำกัดสิทธิ์ทางสื่อสารมวลชน ต่อมาในปี ค.ศ. 2022 กฎหมายดังกล่าวได้ถูกขยายขอบเขตให้ครอบคลุม “การโฆษณา LGBT ในที่สาธารณะ” ทั้งหมดไม่จำกัดเฉพาะต่อผู้เยาว์ ซึ่งหมายความว่าการพูดถึงความหลากหลายทางเพศในเชิงบวก การจัดกิจกรรม หรือสื่อที่เกี่ยวข้องสามารถถูกปรับโทษตามกฎหมายได้อย่างกว้างขวาง นี่เป็นพัฒนาการสำคัญที่รัฐรัสเซียได้บูรณาการวาทกรรมต่อต้าน LGBT เข้าสู่กลไกของกฎหมายอย่างเป็นทางการ

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2023 ศาลฎีกาของรัสเซียได้มีคำวินิจฉัยให้ “ขบวนการ LGBT International Public Movement” เป็น “องค์กรสุดโต่ง” «экстремистская организация» ตามคำร้องจากสำนักงานอัยการสูงสุด โดยให้เหตุผลว่ากลุ่มดังกล่าว “ทำลายคุณค่าดั้งเดิมของชาติและเป็นภัยต่อศีลธรรม” ต่อมาในปี ค.ศ. 2024 มีการประกาศโดยทางการบางระดับว่าการแสดงออกเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศอาจเข้าข่าย “การก่อการร้ายทางวัฒนธรรม” (cultural terrorism) หรือ “ภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางอารยธรรมของรัสเซีย” นี่ไม่ใช่แค่การกำหนดให้ LGBT movement เป็นกลุ่มผิดกฎหมายเท่านั้น แต่ยังเป็นการยกระดับการต่อต้าน LGBT ไปสู่ระดับความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งสะท้อนการเปลี่ยนแปลงจาก “วาทกรรมทางศีลธรรม” ไปสู่วาทกรรมความมั่นคงและรัฐนิยม

เมื่อเราวิเคราะห์ในมิติของวาทกรรมความมั่นคง (Security Discourse) และทฤษฎีวาทกรรม (Discourse Theory) ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของมิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) โอเล่ วีเวอร์ (Ole Wæver) และสจ๊วต ฮอลล์ (Stuart Hall) โดยเฉพาะเมื่อรัฐใช้วาทกรรมในการกำหนดว่า “อะไรคือภัยคุกคาม” และ “ใครคือศัตรูของชาติ” พบว่าในทศวรรษที่ผ่านมารัฐรัสเซียได้ใช้วาทกรรมที่ร้อยเรียง LGBT เข้ากับภาพของ “ภัยต่อความมั่นคงทางศีลธรรม” ตัวอย่างวลีสำคัญที่ปรากฏในสื่อและกฎหมายรัฐ ได้แก่

1) “ภัยต่อเด็ก”: โดยเฉพาะในกฎหมายปี ค.ศ.2013 ที่เน้นการปกป้องเยาวชนจาก “โฆษณา” ความหลากหลายทางเพศ กรอบนี้ทำให้รัฐสามารถนำเสนอการต่อต้าน LGBT ในฐานะการปกป้องเด็กแทนที่จะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
2) “สงครามอารยธรรม”: รัฐบาลและสื่อกระแสหลักใช้แนวคิดว่าค่านิยมตะวันตกที่ยอมรับ LGBT คือการรุกรานทางวัฒนธรรม (Cultural Aggression) และรัสเซียต้องยืนหยัดต่อสู้เพื่อปกป้องอัตลักษณ์ดั้งเดิม
3) “ภัยจากตะวันตก”: LGBT ถูกโยงเข้ากับภาพลักษณ์ของ “ตะวันตกที่เสื่อมทราม” ที่ต้องการแทรกแซงและทำลายโครงสร้างครอบครัวของรัสเซีย

วาทกรรมเหล่านี้ทำหน้าที่ จัดระเบียบความคิดของประชาชน และสร้างความชอบธรรมในการปราบปรามภายใต้กรอบของ “การปกป้องชาติ”

การวิเคราะห์แนวนี้สามารถวางอยู่บนฐานความคิดของซามูเอล ฮันติงตัน (Samuel Huntington) 
ซึ่งมองว่าโลกหลังสงครามเย็นจะเข้าสู่การขัดแย้งระหว่าง “อารยธรรม” แทนอุดมการณ์ รัสเซียได้หยิบยืมกรอบนี้มาใช้ในเชิงวาทกรรมเพื่อวาดภาพความขัดแย้งระหว่างอารยธรรมรัสเซีย (ที่เน้นความเป็นครอบครัว, ศีลธรรม, ศาสนาออร์โธดอกซ์) กับอารยธรรมตะวันตกที่เสื่อมทราม (ที่ยอมรับเสรีภาพทางเพศ) ดังน้น LGBT จึงถูกนำเสนอในฐานะเครื่องมือหรือผลพวงของลัทธิฝรั่งนิยม (Westernism) ที่คุกคามคุณค่าของโลกสลาฟ เป็นส่วนหนึ่งของ “การรุกรานด้วยซอฟต์พาวเวอร์” (soft power invasion) ที่มุ่งทำลายอัตลักษณ์ของรัสเซียจากภายใน

ในเชิงทฤษฎีอัตลักษณ์ (Identity Politics) และวาทกรรมของเออร์เนสโต้ ลาคลาวและชองทัล มูฟเฟ (Ernesto Laclau & Chantal Mouffe) ซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญในสาย post-Marxist ที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อการวิเคราะห์การเมืองแบบวาทกรรม โดยเฉพาะในประเด็นอัตลักษณ์ ความขัดแย้ง และอำนาจของรัฐ 
พวกเขาปฏิเสธแนวคิดที่มองวาทกรรมเป็นเพียงการใช้ภาษาหรือการสื่อสารทั่วไป แต่เสนอว่า “วาทกรรมคือโครงสร้างของความหมาย” ที่มีผลต่อการจัดระเบียบโลกความจริง (social reality) โดยวาทกรรมคือกลไกที่ สร้างความจริง มากกว่าที่จะสะท้อนความจริง การผลิตอัตลักษณ์ของชาติรัสเซียยุคปูตินอาศัยการสร้าง “คู่ตรงข้าม” อย่างเข้มข้น โดย“เรา” คือประชาชนรัสเซียที่ยึดมั่นในคุณค่าดั้งเดิมของชาติ ศาสนา ครอบครัว ในขณะที่ “พวกเขา” คือกลุ่มเคลื่อนไหว LGBT, นักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน, ตะวันตก และ NGO ต่างชาติ ซึ่งการกำหนดว่าใคร “ไม่ใช่พวกเรา” คือกลไกสำคัญในการรวมพลังชาติผ่านศัตรูร่วม ซึ่งในกรณีนี้ LGBT ถูกทำให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการคุกคามความมั่นคงทางวัฒนธรรมทั้งในด้านศีลธรรม ครอบครัว และอธิปไตย

เมื่อเราพิจารณา “LGBT ในฐานะศัตรูที่ผลิตได้” ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นร่วมสมัยที่สำคัญในรัฐศาสตร์เชิงวิพากษ์และทฤษฎีอำนาจ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาผ่านแนวคิดของมิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) จิออจิโอ อากัมเบน (Giorgio Agamben) และฌาคส์ เดอริดา (Jacques Derrida) ที่มองว่ารัฐสามารถ “ผลิตความจริง” และ “กำหนดศัตรู” เพื่อควบคุมสังคมได้ เราพบว่า รัฐรัสเซียได้ใช้ประเด็น LGBT มาจัดระเบียบทางศีลธรรม (Moral Ordering of Society) ของสังคม รัฐชาติในยุคหลังสมัยใหม่โดยเฉพาะรัฐที่มีแนวโน้มอำนาจนิยมแบบอนุรักษนิยม มักใช้อำนาจทางวาทกรรมในการกำหนดขอบเขตของ "ศีลธรรมที่ถูกต้อง" ซึ่งเชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ชาติ เช่น ศีลธรรมแห่งครอบครัว (Familial Morality) ศาสนาออร์โธดอกซ์ และเพศตามกำเนิดและบทบาททางเพศที่ชัดเจน กลุ่ม LGBT จึงถูกจัดให้อยู่นอกกรอบนี้และถูกใช้เป็น “คนอื่น” (Other) ที่รัฐสามารถจัดความหมายว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงทางวัฒนธรรมและจริยธรรม เช่นเดียวกับการที่รัฐเคยจัด “กลุ่มศัตรูของชนชั้น” หรือ “กลุ่มแปลกแยกทางอุดมการณ์” ในยุคสงครามเย็น วาทกรรมแบบนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงนโยบายทางเพศแต่เป็นการควบคุมความจริงในระดับอัตลักษณ์ของประชาชน

นอกจากนี้ LGBT ยังถูกกำหนดให้อยู่ในฐานะเป้าเบี่ยงเบนความสนใจจากวิกฤตเศรษฐกิจหรือสงครามซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่รัฐใช้อธิบายและควบคุมความไม่พอใจจากประชาชนคือ “การผลิตศัตรูภายใน” เพื่อเบี่ยงประเด็นจากความล้มเหลวของรัฐในด้านอื่น เช่น ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจากการคว่ำบาตรระหว่างประเทศ ความสูญเสียในสงครามหรือความไม่พอใจของสาธารณะในบริบทการเมืองระหว่างประเทศ ในกรณีรัสเซียตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ.2022 เป็นต้นมา กลุ่ม LGBT ถูกนำเสนอผ่านสื่อรัฐในฐานะสัญลักษณ์ของความเสื่อมทรามที่รุกรานจากตะวันตก และเป็น “เป้าหมายที่ง่าย” ต่อการโจมตีได้โดยไม่ต้องเผชิญแรงต้านจากผู้มีอำนาจหรือกลุ่มทุน แนวทางนี้คล้ายกับกลไกของ “แพะรับบาป” (scapegoating) ที่ใช้ในระบอบอำนาจนิยมหลายแห่ง เช่น การต่อต้านยิวของเยอรมนียุคนาซี 

การสร้างศัตรูภายในยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการรวมศูนย์อำนาจให้กับวลาดิมีร์ ปูตินผู้นำ ลดทอนการถ่วงดุลจากฝ่ายค้านหรือภาคประชาสังคม รวมถึงกำหนดกรอบของ “ความรักชาติ” ให้หมายถึง “การปกป้องค่านิยมต่อต้าน LGBT” ผู้นำสามารถ “ผูกขาดคุณค่าทางศีลธรรม” ได้ภายใต้กรอบว่าเป็น “ผู้พิทักษ์ชาติจากภัยเสื่อมทราม” วาทกรรมนี้ยังส่งเสริมการสนับสนุนจากกลุ่มอนุรักษนิยม ศาสนา และชนชั้นแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโดยให้ความรู้สึกมีส่วนร่วมกับการปกป้องชาติ โดยไม่ต้องเข้าใจนโยบายเศรษฐกิจหรือการเมืองระหว่างประเทศ

เมื่อเราพิจารณาในระดับนานาชาติ รัสเซียไม่ได้เป็นรัฐเดียวที่ใช้วาทกรรมต่อต้าน LGBT เพื่อยืนยัน “อัตลักษณ์ของรัฐ” หรือ “ปกป้องศีลธรรม” ยังมีอีกหลายประเทศที่ใช้วาทกรรมการต่อต้าน LGBT ยกตัวอย่างเช่นฮังการี ภายใต้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีวิกเตอร์ ออร์บาน ฮังการีได้ผ่านกฎหมายห้ามเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ LGBT ในสื่อที่เด็กเข้าถึงได้ในปี ค.ศ. 2021 วาทกรรมเน้นว่า LGBT เป็นภัยคุกคามต่อครอบครัวแบบดั้งเดิมและค่านิยมของชาติ รัฐบาลออร์บานยังอ้างว่า ยุโรปตะวันตกพยายาม “บังคับ” ค่านิยมเสรีนิยมเข้าสู่ประเทศยุโรปตะวันออก ในขณะที่อิหร่าน การมีเพศสัมพันธ์เพศเดียวกันยังคงผิดกฎหมายและมีโทษถึงขั้นประหารชีวิต กลุ่ม LGBT ต้องดำรงชีวิตใน “พื้นที่เงา” โดยไม่มีการคุ้มครองจากรัฐ และถูกกีดกันจากการศึกษา การทำงาน และบริการสาธารณะ รัฐมักใช้ศาสนาและกฎหมายชารีอะห์เป็นเครื่องมือในการควบคุมอัตลักษณ์และศีลธรรม เมื่อเปรียบเทียบกับรัสเซีย รัสเซียตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างฮังการี (แนวอำนาจนิยมแบบเลือกตั้ง) และอิหร่าน (รัฐศาสนา) รัฐใช้ “ศีลธรรมรัสเซียดั้งเดิม” เป็นกรอบการจัดระเบียบทางอุดมการณ์ โดยนำเสนอ LGBT เป็นภัยต่ออารยธรรมสลาฟ-ออร์โธดอกซ์ และ “ภัยจากตะวันตก”

ดังนั้นวาทกรรมต่อต้าน LGBT ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ระดับสัญลักษณ์ทางการเมือง แต่มีผลกระทบที่ชัดเจนต่อการดำรงชีวิต กฎหมาย “ต่อต้านโฆษณา LGBT” (ในปี ค.ศ. 2013 และขยายในปี ค.ศ. 2022) ทำให้กิจกรรมทางวัฒนธรรม การให้ข้อมูล และการแสดงออกทางอัตลักษณ์ถูกตีความว่า “ผิดกฎหมาย” ปี ค.ศ. 2023-2024 กลุ่ม LGBT ถูกจัดเป็น “องค์กรสุดโต่ง” ส่งผลให้องค์กรช่วยเหลือและพื้นที่ปลอดภัยต้องปิดตัว มีรายงานว่ากลุ่ม LGBT ถูกตำรวจตรวจสอบอย่างเข้มข้นในโรงเรียน มหาวิทยาลัย และสถานที่ทำงาน กลุ่มอนุรักษนิยมที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐมักใช้ความรุนแรงกับกลุ่ม LGBT โดยไม่มีการลงโทษทางกฎหมายพื้นที่ออนไลน์ที่กลุ่ม LGBT เคยใช้เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือช่วยเหลือกัน กำลังถูกตรวจสอบและแบนอย่างเป็นระบบ

องค์กรสิทธิมนุษยชน อย่างเช่น Human Rights Watch และ Amnesty International ได้ออกแถลงการณ์ประณามรัสเซียหลายครั้งว่า “ล้มเหลวในการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน” มีการรวบรวมข้อมูลและจัดทำรายงานเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของ LGBT ในรัสเซีย ซึ่งถูกใช้ในการนำเสนอในเวทีสหประชาชาติ ในขณะที่ประชาคมระหว่างประเทศ สหภาพยุโรป (EU) ได้แสดงท่าทีประณามและกำหนดมาตรการจำกัดความร่วมมือทางวัฒนธรรมบางด้าน UN Human Rights Council ตั้งข้อสังเกตว่า รัสเซียมีแนวโน้มละเมิดหลักการ “non-discrimination” ตามพันธกรณีของกติการะหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ประเทศพันธมิตรของรัสเซียบางแห่ง เช่น เบลารุส, อิหร่าน, ซาอุดีอาระเบีย กลับสนับสนุนท่าทีดังกล่าวของรัสเซีย โดยอ้างเรื่อง “อธิปไตยทางวัฒนธรรม”

บทสรุป ในยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านของระเบียบโลก รัสเซียได้ใช้ LGBT ไม่เพียงในฐานะกลุ่มประชากร แต่ในฐานะ “วาทกรรมทางการเมือง” ที่สามารถจัดระเบียบอุดมการณ์ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและประชาชน ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับโลกภายนอก ภายใต้ยุทธศาสตร์ของอำนาจแบบอนุรักษนิยม รัฐบาลรัสเซียได้ลดทอน “ความหลากหลายทางอัตลักษณ์” ให้กลายเป็น “ภัยความมั่นคงของชาติ” ผ่านการสร้างศัตรูภายใน การควบคุมทางศีลธรรม และการประกาศใช้กฎหมายที่มีลักษณะกดทับพื้นที่ของกลุ่มเพศหลากหลาย กลไกของรัฐอาศัย วาทกรรมความมั่นคง (securitization discourse) โดยผูกโยง LGBT เข้ากับแนวคิด “ภัยจากตะวันตก”, “ภัยต่อเด็ก”, และ “สงครามอารยธรรม” เพื่อทำให้ประชาชนยอมรับมาตรการที่จำกัดสิทธิเสรีภาพได้ภายใต้ข้ออ้างเพื่อความมั่นคงและศีลธรรมของชาติ การสร้าง “เรา–พวกเขา” (us–them) ดังกล่าวยังทำหน้าที่ผลิต “ศัตรูที่จัดการได้” (manageable enemy) เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ การคว่ำบาตร หรือภาวะสงคราม อย่างไรก็ตามแนวโน้มในอนาคตชี้ให้เห็นว่า การเมืองอัตลักษณ์ (identity politics) กำลังกลายเป็นสนามต่อสู้สำคัญในการกำหนดทิศทางของระเบียบโลกใหม่ รัฐต่าง ๆ โดยเฉพาะอำนาจที่ต่อต้านเสรีนิยมตะวันตกอาจหันมาใช้วาทกรรมแบบเดียวกันนี้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับรูปแบบอำนาจที่รวมศูนย์และต่อต้านสิทธิมนุษยชน ในบริบทนี้ LGBT ไม่ได้เป็นเพียงกลุ่มเปราะบางทางสังคม แต่กลายเป็นจุดตัดของอุดมการณ์ อำนาจ และภูมิรัฐศาสตร์ ที่ควรถูกทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งและรอบด้าน

‘ซูรับ เซเรเตลี’ กับการเมืองของรัสเซีย ในบทบาทผู้สร้างสัญลักษณ์แห่งชาติ

ในโลกที่การเมืองและศิลปะมักถูกเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออกซูรับ เซเรเตลี (Zurab Tsereteli) «Зураб Константинович Церетели» ศิลปินชาวจอร์เจีย-รัสเซียผู้ยิ่งใหญ่ยุคหลังโซเวียตได้สร้างผลงานที่สะท้อนถึงอำนาจรัฐและอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างชัดเจน ด้วยประติมากรรมขนาดใหญ่ที่ออกแบบมาเพื่อยกย่องความยิ่งใหญ่ของรัฐและสัญลักษณ์แห่งอำนาจของผู้นำ เช่น อนุสาวรีย์พระเจ้าปีเตอร์มหาราช (Peter the Great) ที่แสดงถึงอำนาจและอุดมการณ์ของรัฐได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และการยืนยันความมั่นคงของรัฐบาลรัสเซียภายใต้การนำของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน

การเสียชีวิตของซูรับ เซเรเตลีในวันนี้จึงไม่เพียงแค่การสูญเสียศิลปินผู้ยิ่งใหญ่เท่านั้นหากแต่ยังเป็นการสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในรัสเซียภายใต้สภาพแวดล้อมที่ศิลปะและการเมืองถูกเชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่น ผลงานของเขาสะท้อนถึงการใช้งานศิลปะในฐานะเครื่องมือของรัฐในการเสริมสร้างอำนาจและการสร้างภาพลักษณ์แห่งชาติในการช่วงชิงอำนาจและยืนยันสถานะของรัสเซียในเวทีโลก บทความนี้จะนำเสนอบทบาทของซูรับ เซเรเตลีในการสร้างสัญลักษณ์ทางการเมืองและการใช้งานศิลปะในฐานะเครื่องมือของรัฐในการเสริมสร้างอำนาจ พร้อมทั้งพิจารณาถึงการสะท้อนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในรัสเซียและการใช้ศิลปะเพื่อสร้างสรรค์อัตลักษณ์แห่งชาติในยุคหลังโซเวียต

ซูรับ เซเรเตลีเกิดเมื่อปี ค.ศ. 1934 ณ กรุงทบิลิซี ประเทศจอร์เจีย เริ่มต้นชีวิตทางศิลปะด้วยความมุ่งมั่นตั้งแต่วัยเยาว์และก้าวเข้าสู่เวทีศิลปะระดับชาติอย่างมั่นคงในช่วงทศวรรษ 1960s–1980s กลายเป็นหนึ่งในศิลปินชั้นนำของสหภาพโซเวียต ผลงานของเขามีลักษณะเฉพาะที่สะท้อนการรวมอำนาจของรัฐ ความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ชาติ และการแสดงออกทางการเมืองที่เด่นชัด ผ่านรูปแบบศิลปะขนาดใหญ่ในพื้นที่สาธารณะ หนึ่งในผลงานที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ อนุสาวรีย์ “พระเจ้าปีเตอร์มหาราช” (Peter the Great) ที่ตั้งตระหง่านอยู่ริมแม่น้ำมอสโก เป็นประติมากรรมขนาดมหึมาที่ไม่เพียงแสดงถึงบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์รัสเซีย แต่ยังสะท้อนนัยทางอำนาจ ความทันสมัย และการสร้างชาติในบริบทร่วมสมัย รูปปั้นดังกล่าวกลายเป็นทั้งจุดสนใจของประชาชนและเป็นเครื่องยืนยันบทบาทของศิลปะในฐานะสื่อแห่งอุดมการณ์ ซูรับ เซเรเตลียังมีผลงานอื่นที่สอดรับกับวาระแห่งรัฐ เช่น อนุสาวรีย์แห่งชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่สอง อนุสรณ์แห่งความภาคภูมิใจในความเป็นชาติรัสเซีย และ "ระฆังแห่งสันติภาพ" (The Bell of Peace) 

ซึ่งสะท้อนแนวคิดการสร้างสันติภาพระหว่างประเทศ นอกจากนี้เขายังมีผลงานศิลปะในต่างประเทศหลายแห่ง เช่น อิตาลี สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้ แสดงให้เห็นถึงการเผยแพร่อุดมการณ์ผ่านเครือข่ายศิลปะระดับนานาชาติ ในทางการเมืองซูรับ เซเรเตลีมีบทบาทที่โดดเด่นในรัสเซียโดยเฉพาะในฐานะประธาน Russian Academy of Arts ที่ส่งผลต่อทิศทางของศิลปะและวัฒนธรรมของประเทศอย่างลึกซึ้ง เขาเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนนโยบายวัฒนธรรมในยุคหลังโซเวียตโดยเฉพาะในยุคของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ซึ่งเน้นการใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการรวมชาติและยืนยันอัตลักษณ์รัสเซียในเวทีโลก ศิลปะของซูรับ เซเรเตลีจึงไม่ใช่เพียงการประดับเมืองแต่คือ “สัญลักษณ์ทางการเมือง” ที่ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างความภาคภูมิใจ ความสามัคคี และการยืนยันสถานะของรัฐ บ่อยครั้งที่ผลงานของเขามีขนาดใหญ่โต โอ่อ่า สื่อถึงความยิ่งใหญ่และอำนาจที่อยู่เหนือปัจเจก ซึ่งสอดรับกับแนวโน้มของรัฐรัสเซียในการสร้าง "ความมั่นคงเชิงวัฒนธรรม" และ "การปกครองผ่านความทรงจำ" (governing through memory) ในบริบทดังกล่าว ซูรับ เซเรเตลีจึงเป็นมากกว่าศิลปินหากแต่เป็น “ผู้สร้างวาทกรรม” ผ่านประติมากรรมที่มีชีวิต และมีพลังในการหล่อหลอมอุดมการณ์ของชาติอย่างลึกซึ้งและยาวนาน

ซูรับ เซเรเตลี เคยกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า “การสร้างสรรค์งานศิลปะที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์และอำนาจของรัฐจะช่วยเสริมสร้างความภาคภูมิใจของชาติ และช่วยให้ประชาชนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ร่วม” คำกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นบทบาทของศิลปะในฐานะกลไกทางอุดมการณ์ (ideological apparatus) ที่มิได้จำกัดอยู่แค่การถ่ายทอดความงามในเชิงสุนทรียะเท่านั้น หากแต่ยังทำหน้าที่ “สถาปนา” ความชอบธรรมให้แก่รัฐผ่านการสร้างสัญลักษณ์ที่ทรงพลัง หนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนคือ อนุสาวรีย์ “พระเจ้าปีเตอร์มหาราช” (Peter the Great) ใจกลางกรุงมอสโก ประติมากรรมขนาดมหึมาสูงกว่า 90 เมตร แสดงให้เห็นพระเจ้าปีเตอร์ทรงยืนอยู่บนเรือรบ ซึ่งสื่อถึงการปฏิรูปรัสเซียในศตวรรษที่ 18 และการเปิดประเทศสู่โลกภายนอก สัญลักษณ์นี้ไม่เพียงแค่ย้อนรำลึกถึงอดีต แต่ยังถูกนำมาใช้ซ้ำเพื่อเน้นย้ำแนวคิดเรื่อง “ความต่อเนื่องของอำนาจ” (continuity of power) โดยเฉพาะในยุคของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ที่พยายามสานต่อความยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์เข้ากับอัตลักษณ์ของรัฐร่วมสมัย ในเชิงทฤษฎีบทบาทของศิลปะในลักษณะนี้สามารถวิเคราะห์ผ่านกรอบแนวคิดของ มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) โดยเฉพาะแนวคิดเกี่ยวกับ อำนาจอธิปไตย (sovereign power) และ ชีวการเมือง (biopolitics) ดังนี้

1) อำนาจอธิปไตย (Sovereign Power)
ตามแนวคิดของฟูโกต์ อำนาจอธิปไตยคืออำนาจที่ควบคุม “ชีวิตและความตาย” ของปัจเจก รัฐที่สร้างอนุสาวรีย์ขนาดใหญ่ซึ่งสะท้อนถึงความยิ่งใหญ่ของอดีตนั้น กำลังสถาปนาอำนาจของตนผ่านการเชื่อมโยงกับบุคคลในประวัติศาสตร์ที่ได้รับการยกย่อง อนุสาวรีย์ในลักษณะนี้จึงเป็นมากกว่าการรำลึก หากแต่คือ “การสร้างร่างชาติ” (body politic) ใหม่ภายใต้การนำของผู้นำ เซเรเตลีจึงไม่ใช่เพียงศิลปิน หากแต่เป็น “ช่างหล่อความชอบธรรม” (legitimacy sculptor) ให้กับรัฐ และในบางกรณีอาจนับได้ว่าเป็น “ช่างหล่ออำนาจ” (power sculptor) โดยปริยาย ผ่านผลงานที่สื่อถึงความมั่นคง ความยิ่งใหญ่ และความเป็นนิรันดร์ของรัฐ

2) ชีวการเมือง (Biopolitics)
ในขณะที่อำนาจอธิปไตยควบคุมชีวิตจากเบื้องบน ชีวการเมืองเป็นอำนาจที่จัดการกับชีวิตประชากรในเชิงระบบและกลไก อนุสาวรีย์และศิลปะในพื้นที่สาธารณะจึงเป็นส่วนหนึ่งของ “เครื่องมือชีวการเมือง” ที่รัฐใช้ในการควบคุมความคิด ความเชื่อ และพฤติกรรมของประชาชน ผ่านงานศิลปะเหล่านี้ รัฐสามารถ “ปลูกฝัง” ความภาคภูมิใจในชาติ ความยิ่งใหญ่ในอดีตหรือแนวคิดชาตินิยม ซึ่งจะก่อเกิดเป็นทุนทางอารมณ์ (emotional capital) ที่รัฐสามารถนำมาใช้เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากปัญหาภายใน เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ การจำกัดเสรีภาพ หรือการรวมศูนย์อำนาจ อนุสาวรีย์ในบริบทของรัสเซียจึงมิใช่เพียงสัญลักษณ์ของอดีต แต่เป็นองค์ประกอบสำคัญของวาทกรรมทางอำนาจ (discourse of power) ที่รัฐร่วมสมัยใช้ในการนิยามความเป็นชาติและความยิ่งใหญ่ของผู้นำ ผ่านการควบคุมความทรงจำร่วมและอารมณ์ร่วมของสังคม

แนวคิดของเบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน (Benedict Anderson) ว่าด้วย “ชาติ” ในฐานะชุมชนจินตกรรม (imagined community) ช่วยอธิบายบทบาทของศิลปะและอนุสาวรีย์ในฐานะเครื่องมือทางอุดมการณ์ได้อย่างลุ่มลึก แอนเดอร์สันเสนอว่า แม้สมาชิกของชาติมิได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัวแต่ก็สามารถรู้สึกถึงความเป็นส่วนหนึ่งร่วมกันได้ผ่าน “สัญลักษณ์ร่วม” อาทิ ภาษา วรรณกรรม ธงชาติ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สื่อวัฒนธรรมอย่างศิลปะและอนุสาวรีย์ ในบริบทนี้ผลงานของซูรับ เซเรเตลีโดยเฉพาะอนุสาวรีย์ Peter the Great และประติมากรรมขนาดใหญ่อื่น ๆ ที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของรัสเซียทำหน้าที่เสมือน “เครื่องจักรผลิตความทรงจำ” (memory-making machinery) ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างและหล่อหลอมจินตนาการแห่งชาติให้กลายเป็นสิ่งที่ “จับต้องได้” ในพื้นที่สาธารณะศิลปะเชิงสัญลักษณ์เหล่านี้เป็นกระบวนการ “ทำให้ชาติปรากฏขึ้น” (making the nation visible) ในจินตนาการของประชาชน ผ่านรูปธรรมที่สามารถมองเห็น สัมผัสและระลึกถึงได้ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของปิแอร์ โนรา (Pierre Nora) เรื่อง “สถานที่แห่งความทรงจำ” (Lieux de Mémoire) โดยโนราเสนอว่าในยุคที่ “ความทรงจำตามธรรมชาติ” เริ่มเลือนหายไปจากชีวิตประจำวัน สังคมจึงจำเป็นต้อง “บรรจุ” ความทรงจำเหล่านั้นไว้ในรูปของวัตถุ พิธีกรรม หรือสถานที่ เช่น อนุสาวรีย์ พิพิธภัณฑ์ หรือสถานที่รำลึก ในแง่นี้อนุสาวรีย์ที่รัฐสร้างขึ้น เช่น อนุสาวรีย์เฉลิมฉลองชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่สอง (WWII) จึงมิใช่เพียงการรำลึกถึงเหตุการณ์ในอดีต หากแต่เป็นการจัดระเบียบความทรงจำ (organized remembering) ของสังคม โดยเน้นคุณค่าเฉพาะ เช่น ความกล้าหาญ ความเสียสละ และความชอบธรรมของอำนาจรัฐ ซึ่งเป็นกระบวนการคัดเลือกความทรงจำ (selective memory) ที่ทำให้บางเรื่องราวถูกจดจำอย่างมีเกียรติ ขณะที่เรื่องอื่นถูกละเลยหรือถูกลืมไปโดยเจตนา

ด้วยเหตุนี้ศิลปะของรัฐจึงกลายเป็น “พื้นที่” แห่งความทรงจำที่รัฐใช้ควบคุม “การจำได้–ลืมไป” (remembering and forgetting) ของประชาชน ทั้งเพื่อสร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชาติและเพื่อรักษาอำนาจผ่านการควบคุมการนิยามอดีตในแบบที่รัฐต้องการ เมื่อพิจารณาจากมุมมองทางความคิดของรัสเซียจะพบว่าวิสัยทัศน์ในการใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือทางการเมืองนั้นมีรากฐานลึกซึ้งในแนวคิดเรื่อง “อุดมการณ์รัสเซีย” (Russian Idea – «Идея русской духовности») ซึ่งปรากฏชัดในผลงานของนักปรัชญาคลาสสิกอย่างฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี้ (Fyodor Dostoevsky) นิโคไล เบอร์เดียเยฟ (Nikolai Berdyaev) และ วลาดีมีร์ โซโลเวียฟ (Vladimir Solovyov) ที่ล้วนมองว่าภารกิจทางประวัติศาสตร์ของรัสเซียคือการผสมผสานศาสนา ศีลธรรม และจิตวิญญาณเข้ากับพันธกิจทางการเมืองและวัฒนธรรม 

โดยศิลปะและวรรณกรรมถูกมองว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ของชาติ และปกป้องความยิ่งใหญ่ของรัสเซียในกระแสประวัติศาสตร์ แนวคิดนี้สะท้อนอย่างเด่นชัดในงานของยูริ ลอตมัน (Yuri Lotman) ซึ่งวิเคราะห์วัฒนธรรมรัสเซียผ่านกรอบสัญญะวิทยา (semiotics) โดยเสนอว่า "พื้นที่ทางวัฒนธรรม" (semiosphere) คือสนามของการต่อสู้เชิงอุดมการณ์ที่ซึ่งอนุสาวรีย์และงานศิลปะสาธารณะทำหน้าที่จัดระเบียบความคิด ความทรงจำ และโครงสร้างของอำนาจอย่างแยบยล ในทำนองเดียวกัน เลฟ กูมิเลฟ «Лев Гумилёв» ได้เสนอแนวคิด “ความหลงใหลแห่งชาติ” (passionarnost’) เพื่ออธิบายพลวัตของชาติพันธุ์ โดยรัฐสามารถใช้ผลงานศิลปะโดยเฉพาะอนุสาวรีย์ขนาดใหญ่เป็นเครื่องมือสะท้อนพลังทางจิตวิญญาณของชาติ เพื่อรวมศูนย์พลังทางสังคมและความภาคภูมิใจในช่วงวิกฤต ในขณะที่อเล็กเซย์ โลเซฟ «Алексей Лосев» เสนอให้มอง “สัญลักษณ์” และ “ตำนาน” ในฐานะพลังเชิงอภิปรัชญา (metaphysical) ที่หล่อหลอมรัฐ ศาสนา และศิลปะให้เป็นหนึ่งเดียว การสร้างอนุสาวรีย์ เช่น Peter the Great โดยศิลปินอย่างซูรับ เซเรเตลีจึงไม่ใช่เพียงการรำลึกถึงอดีต หากแต่เป็นการสร้าง “ตำนานทางการเมือง” ที่ยังดำรงอยู่เพื่อยืนยันอำนาจและความต่อเนื่องของชาติในปัจจุบัน ดังนั้นการสร้างผลงานศิลปะของซูรับ เซเรเตลีจึงไม่อาจแยกออกจากยุทธศาสตร์การเมืองของรัฐรัสเซียได้โดยเฉพาะในยุคของปูตินซึ่งรัฐให้ความสำคัญกับการฟื้นฟู "ความยิ่งใหญ่ของชาติ" (Russian greatness) ทั้งในเชิงประวัติศาสตร์และภูมิรัฐศาสตร์ งานของเขาทำหน้าที่ผลิตและสถาปนาความทรงจำร่วม (collective memory) ที่เอื้อต่ออัตลักษณ์แบบอนุรักษนิยมและชาตินิยม

ในบริบทของรัฐที่เน้นความเข้มแข็งของชาติ ความต่อเนื่องของประวัติศาสตร์และความชอบธรรมของอำนาจ ศิลปะจึงไม่ใช่เพียงเครื่องมือของการแสดงออกส่วนบุคคล แต่กลายเป็นกลไกของรัฐที่ใช้ผลิตซ้ำอุดมการณ์สร้าง “ภาพแทน” ของความเป็นชาติ และปลูกฝังอารมณ์ร่วมแห่งความภาคภูมิใจในหมู่ประชาชนศิลปะจึงอยู่ในฐานะการสร้างสัญลักษณ์ทางการเมืองและชาติพันธุ์ ดังนี้

1) การสร้างภาพลักษณ์แห่งชาติผ่านงานศิลปะ
รัฐรัสเซียในยุคหลังโซเวียตโดยเฉพาะภายใต้การนำของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ที่ให้ความสำคัญกับการรื้อฟื้นอัตลักษณ์แห่งชาติผ่านภาพจำทางศิลปะที่เชื่อมโยงอดีตกับปัจจุบัน เช่น อนุสาวรีย์ต่าง ๆ ที่ยกย่องบุคคลในประวัติศาสตร์เช่น พระเจ้าปีเตอร์มหาราช, พระนางเจ้าแคทเธอรีน หรือแม่ของชาติถูกใช้เป็นสื่อกลางในการส่งผ่านนัยแห่งความต่อเนื่อง ความเข้มแข็ง และเกียรติภูมิของรัสเซีย ในทางหนึ่งสิ่งเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์เชิงอุดมการณ์ที่บอกแก่ประชาชนว่า "ชาติ" คือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ มีรากเหง้า และควรภาคภูมิใจ ทั้งยังเป็นการตอบโต้กระแสโลกาภิวัตน์ที่ถูกมองว่าอาจกัดกร่อนอัตลักษณ์รัสเซียได้

2) ศิลปะและการยกย่องผู้นำ: ความชอบธรรมในนามของประวัติศาสตร์
ในรัสเซียงานศิลปะจำนวนมากมีหน้าที่สร้างภาพลักษณ์เชิงบวกให้แก่ผู้นำโดยผ่านการเปรียบเปรยกับบุคคลในประวัติศาสตร์ การสร้างอนุสาวรีย์ การจัดนิทรรศการ และพิธีเฉลิมฉลองในวาระทางการเมืองล้วนมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความชอบธรรมของผู้นำปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อผู้นำเหล่านั้นถูกวางไว้ในสายธารประวัติศาสตร์ของ "ผู้กอบกู้ชาติ" งานของซูรับ เซเรเตลี เช่น อนุสาวรีย์แห่งมิตรภาพกับสหรัฐฯ (มอบให้หลังเหตุการณ์ 9/11), อนุสาวรีย์พระเจ้าปีเตอร์, และงานแสดงความยินดีในวาระทางการเมืองล้วนมีนัยของ การผลิตซ้ำความภักดีและยกย่องรัฐโดยใช้รูปแบบศิลปะอันโอ่อ่าและยิ่งใหญ่

3) การเสริมสร้างรัฐในเชิงอุดมการณ์
ในระบอบที่มุ่งเน้นการควบคุมทางวัฒนธรรมและการเมือง ศิลปะทำหน้าที่เป็นหนึ่งใน “แนวป้องกันทางอุดมการณ์” (ideological defense line) ของรัฐ รัฐอาจไม่ได้ใช้อำนาจกดขี่แบบเผด็จการแบบเดิมเสมอไป แต่ใช้กลไกทางวัฒนธรรม เช่น ศิลปะ, พิธีกรรมรัฐ, และสื่อมวลชน เพื่อจัดระเบียบความคิด ความรู้สึก และจินตนาการของพลเมืองให้เป็นไปตาม “มาตรฐานชาติ” การสร้างศิลปะที่ สะท้อนอัตลักษณ์รัสเซียในฐานะชาติที่ยิ่งใหญ่ กล้าหาญ เคร่งศีลธรรม และต่อต้านตะวันตก คือการปลูกฝังอารมณ์ร่วมที่รัฐสามารถเรียกใช้งานในช่วงเวลาวิกฤต ไม่ว่าจะเพื่อเสริมอำนาจทางการเมือง หรือเพื่อสร้างความสามัคคีในเวลาสงคราม

บทสรุป การจากไปของซูรับ เซเรเตลีมิได้เป็นเพียงการสูญเสียของแวดวงศิลปะ หากแต่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สะท้อนถึงการสิ้นสุดของยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์ศิลปะร่วมสมัยของรัสเซีย ยุคที่ศิลปะมิได้ทำหน้าที่เพียงในเชิงสุนทรียศาสตร์ หากแต่เป็น “เครื่องมือของรัฐ” ในการกำหนดอัตลักษณ์ทางการเมือง วัฒนธรรม และอุดมการณ์ของชาติ เซเรเตลีไม่ได้เป็นเพียงประติมากรผู้สร้างผลงานขนาดยักษ์ที่ตระหง่านอยู่ในพื้นที่สาธารณะ หากแต่เป็น “ผู้สื่อสารอุดมการณ์ของรัฐ” ผ่านงานศิลปะที่มีลักษณะของการเป็นทั้งสัญลักษณ์แห่งความทรงจำ และเครื่องกลไกทางอำนาจ ผลงานของเขาสะท้อนให้เห็นกระบวนการของ “การปกครองผ่านความทรงจำ” (governance through memory) ซึ่งรัฐใช้ในการกำหนดกรอบการรับรู้ของประชาชนต่อชาติ ผู้นำและอดีต เมื่อพิจารณาผลงานของเซเรเตลีผ่านกรอบแนวคิดของนักคิดอย่าง เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน มิเชล ฟูโกต์ และ ยูริ ลอตมันเราจะเห็นว่าอนุสาวรีย์เหล่านี้มิใช่เพียงโครงสร้างทางกายภาพ หากแต่เป็น สนามความหมาย (semantic field) ที่เชื่อมโยงอำนาจ วาทกรรม และความทรงจำเข้าด้วยกันอย่างแนบแน่น

ในบริบทของรัสเซียร่วมสมัย มรดกของซูรับ เซเรเตลีจะยังคงส่งอิทธิพลต่อไป ไม่ว่าจะในฐานะเครื่องเตือนใจถึงสายสัมพันธ์ระหว่างศิลปินกับอำนาจรัฐ หรือในฐานะจุดตั้งต้นของการทบทวนบทบาทของศิลปะต่อการเมืองในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ศิลปะในที่นี้จึงมิใช่เพียงภาพสะท้อนของสังคม หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของกลไกในการจัดระเบียบสังคมผ่านความทรงจำ ประวัติศาสตร์ และอุดมการณ์ที่รัฐเลือกจะจารึกไว้

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#14 พันธมิตรเวียตนามเหนือ จากหลายชาติคอมมิวนิสต์

“เเชโกสโลวาเกีย” สาธารณรัฐสังคมนิยมเชโกสโลวาเกีย (ปัจจุบันแยกเป็น 2 ประเทศแล้วคือ เช็ก และ สโลวัก) เป็นสมาชิกของสนธิสัญญาวอร์ซอว์ (องค์การพันธมิตรทางทหารของฝ่ายคอมมิวนิสต์ในยุคสงครามเย็น (Cold War)) และตลอดสงครามเวียตนามได้จัดส่งความช่วยเหลือไปยังเวียตนามเหนือมากมายทั้งปืนเล็กยาวหลายหมื่นกระบอก รวมถึงปืนค.และปืนใหญ่ อาวุธยุทโธปกรณ์ที่เชโกสโลวาเกียส่งให้เวียตนามเหนือได้แก่ ปืนพกกล VZ 61 ŠKORPION และปืนเล็กยาวจู่โจม VZ 58 ความร่วมมือกับเชโกสโลวาเกียทำให้มีการพัฒนาความสามารถทางอากาศของเวียตนามเหนือตั้งแต่ปี 1956 ครูการบินขาวเชโกสโลวาเกียได้ทำการฝึกให้นักบินชองกองทัพอากาศเวียตนามเหนือ (VPAF) ในประเทศจีน และช่วยในการพัฒนากองทัพอากาศเวียตนามที่ทันสมัยด้วยเครื่องบินรบแบบ Aero Ae-45, Aero L-29 Delfín และ Zlín Z 26ที่สร้างโดยเชโกสโลวาเกียเอง ตลอดสงครามระหว่างปี 1966 ถึง 1972 มีนักบินเวียตนามเหนือทั้งหมด 17 นายสามารถยิงเครื่องบินรบสหรัฐฯ ตกตั้งแต่ 5 ลำขึ้นไป และตัดเป็น “เสืออากาศ (ACE)”

นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างสองประเทศเริ่มขึ้นในปี 1956 ด้วยโครงการระยะสั้น โดยเด็กนักเรียนชาวเวียดนามเหนือประมาณ 100 คนถูกส่งไปยังเมือง Chrastava ในภูมิภาค Liberec เด็กส่วนใหญ่กลับเวียตนามเหนือหลังจากโครงการสี่ปีสิ้นสุดลง แต่มีเพียงไม่กี่คนที่ยังคงศึกษาต่อและก่อตั้งชุมชนเวียตนามที่ยังคงอยู่ในเมือง Chrastava จนถึงทุกวันนี้ ความร่วมมืออย่างเป็นทางการมากขึ้นระหว่างสองประเทศเริ่มขึ้นในอีกสิบปีต่อมา เชโกสโลวาเกียและเวียตนามเหนือลงนามในสนธิสัญญาสองฉบับในปี 1967 อนุญาตให้ชาวเวียตนามเหนือทำงานหรือศึกษาในเชโกสโลวาเกีย ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานในอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรและสิ่งทอ 

“เกาหลีเหนือ” ผลมาจากการตัดสินใจของพรรคแรงงานเกาหลีในเดือนตุลาคม 1966 เกาหลีเหนือ (สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี) ได้ส่งฝูงบินเครื่องบินขับไล่ที่ 921 และ 923 ของกองทัพอากาศเกาหลีเหนือไปยังเวียตนามเหนือเพื่อสนับสนุนเวียตนามเหนือในต้นปี 1967 มีนักบินเกาหลีเหนือ 200 นาย และหน่วยปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานของเกาหลีเหนือ 2 หน่วยประจำการในเวียตนามเหนือ ในช่วงสงครามเวียตนาม เกาหลีเหนือยังส่งอาวุธกระสุนและเครื่องแบบสองล้านชุดให้กับสหายของพวกเขาในเวียดนามเหนือ Kim Il Sung ผู้นำเกาหลีเหนือในขณะนั้นได้บอกกับนักบินของเขาว่า "ให้สู้รบในสงครามเหมือนกับว่าท้องฟ้าเวียตนามเป็นของพวกเขาเอง" เกาหลีเหนือให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและการทหารแก่เวียตนามเหนือเป็นจำนวนมาก ในปี 1968 นักเรียนเวียตนามเหนือประมาณ 2,000 คนได้รับการศึกษาในเกาหลีเหนือโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตามจากปี 1968 ความสัมพันธ์ระหว่างเปียงยางและฮานอยเริ่มเสื่อมลงด้วยเหตุผลหลายประการ อาทิ การที่เกาหลีเหนือไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของเวียตนามเหนือที่จะเข้าร่วมการเจรจาสันติภาพกับสหรัฐอเมริกาและตอบสนองต่อข้อตกลงสันติภาพปารีส  ในช่วงสงครามกลางเมืองกัมพูชาเกาหลีเหนือได้เข้าร่วมแผนการจีนในการสร้าง "แนวร่วมของอาณาจักรทั้งห้าในเอเชีย" (จีน เกาหลีเหนือ เวียดนาม ลาว และกัมพูชา) ในขณะที่เวียตนามเหนือปฏิเสธ เมื่อสงครามเวียตนามสิ้นสุดลงในปี 1975 รัฐบาลเวียตนามเหนือประสบความสำเร็จในการรวมประเทศซึ่งแตกต่างจากเกาหลีเหนือ ในช่วงสงครามกัมพูชา – เวียดนาม ผู้นำเกาหลีเหนือได้ประณามการรุกรานของกองกำลังเวียดนามในกัมพูชา และให้การสนับสนุนเขมรแดง (Khmer Rouge)  อีกทั้งยังสนับสนุนจีนในช่วงสงครามชิโน-เวียดนาม เวียดนามมาไม่พอใจสิ่งที่เห็นว่าเป็นพฤติกรรมที่เห็นแก่ตัวของเกาหลีเหนือ และ 2 ชาติคอมมิวนิสต์นี้กลายเป็นคู่แข่งมากกว่ามิตรประเทศ ในช่วงเวลาเดียวกัน Pol Pot เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาและผู้นำเขมรแดงได้ไปเยือนเกาหลีเหนือซึ่งเป็นเพียงหนึ่งในสองประเทศ Pol Pot ได้ไปเยือน

“คิวบา” การมีส่วนร่วมในเวียตนามเหนือของสาธารณรัฐคิวบาภายใต้ Fidel Castro นั้น ทั้งเวียดนามและคิวบาไม่ได้เปิดเผยข้อมูลใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้มากนัก จึงไม่ทราบว่า ในช่วงสงครามมีที่ปรึกษาทางทหารของคิวบาจำนวนมากในเวียตนามเหนือ มีรายงานหลายฉบับระบุว่า นักบินคิวบาได้บินเครื่องบินขับไล่ในการรบทางอากาศกับนักบินอเมริกันเหนือเวียตนามเหนือ ที่ปรึกษาชาวอเมริกันคนหนึ่งที่อยู่ในเฮลิคอปเตอร์แบบ Sikorsky H-34 ได้ใช้เครื่องยิงลูกระเบิดแบบ M-79 ยิงเครื่องบินลำเลียง An-2 ซึ่งบินนักบินชาวคิวบาในภาคเหนือของลาว ซึ่งเป็นเครื่องบินชนิดที่ถูกใช้ในการโจมตี Lima 85 ฐานลับสุดยอดของสหรัฐฯ ในลาว เชื่อว่าบินโดยนักบินชาวคิวบาเช่นกัน (Lima 85 ทำหน้าที่ชี้เป้าให้เครื่องบินอเมริกันในการทิ้งระเบิดเวียตนามเหนือ) มีข้อกล่าวหามากมายจากอดีตเชลยศึกของสหรัฐฯ ที่ถูกชาวคิวบาทำทารุณกรรมในเรือนจำของเวียตนามเหนือในช่วงสงคราม ซึ่งถูกเรียกว่า "โปรแกรมคิวบา" (ซึ่งเวียตนามเหนืออ้างว่า เป็นการศึกษาทางจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยฮานอย) พยานในเรื่องนี้รวมถึง จอห์น แมคเคน วุฒิสมาชิก และผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯในปี 2008 ผู้เคยเป็นเชลยศึกในเวียตนามเหนือ

ในบรรดาที่ปรึกษาทางทหารชาวคิวบาเหล่านี้หลายพันคนที่เรียกกันว่า "Giron Brigade" ทำหน้าที่รักษาเส้นทางหมายเลขเก้า หรือ เส้นทางโฮจิมินห์ที่เริ่มจากเวียตนามเหนือผ่านลาวและกัมพูชาไปยังเวียตนามใต้ มีทหารอเมริกันจำนวนมากที่ปฏิบัติหน้าที่ทั้งในเวียตนามและลาวถูกจับหรือถูกฆ่าตายตามเส้นทางโฮจิมินห์ โดยทุกครั้งมักจะมีปรึกษาทางทหารชาวคิวบาหลายคนร่วมอยู่ด้วยเสมอ รายงานฉบับหนึ่งของสหรัฐฯ ระบุว่า เชลยศึอเมริกัน 18 นายถูกควบคุมตัวที่ค่าย Phom Thong ในลาวโดยมีปรึกษาทางทหารจากโซเวียตและคิวบาสอบสวนอย่างใกล้ชิด โดยมีทหารเวียตนามเหนือรักษาการณ์ภายนอก

“เยอรมนีตะวันออก” สงครามเวียดนามเป็นโอกาสที่จะปรับปรุงการดำเนินนโยบายต่างประเทศของตนเองภายใต้สหภาพโซเวียต และมีโอกาสเผชิญหน้ากับ "จักรวรรดินิยมอเมริกัน...ผู้รุกราน" โดยกระทรวงความมั่นคงสาธารณะของเวียตนามเหนือ (BộCông an) มีความสนใจเป็นพิเศษที่จะรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานความมั่นคงแห่งรัฐ (STASI) ของเยอรมนีตะวันออกในการจัดตั้งหน่วยข่าวกรองและอุปกรณ์รักษาความปลอดภัย ด้วย STASI ได้รับการยกย่องว่ามี "เทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีสไตล์ในการทำงานที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์" กระทรวงความมั่นคงสาธารณะเวียตนามได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยข่าวกรองโซเวียตและเยอรมันตะวันออกจนได้รับการจัดอันดับว่ามีความสำคัญที่สุดในกลุ่มสังคมนิยม เยอรมนีตะวันออกได้ให้ความช่วยเหลือเป็นจำนวนมากเพื่อช่วยให้เวียตนามเหนือ อาทิ การจัดทำ "Green Dragon" บัตรประจำตัวนักรบเวียตนามเหนือที่แฝงตัวในเวียตนามใต้ซึ่งยากที่จะปลอมแปลงหรือทำซ้ำ 

การมีส่วนร่วมของเยอรมนีตะวันออกในสงครามเวียตนามนั้นกว้างขวางและมากมายหลากหลายมิติ ความช่วยเหลือที่จับต้องได้เช่น การฝึกอบรมงานด้านข่าวกรองให้เจ้าหน้าที่เวียตนามเหนือ และในปี 1967 ได้เพิ่มงบประมาณเพื่อส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ เสบียง เวชภัณฑ์ ไปยังเวียตนามเหนือ รวมไปถึงความช่วยเหลือทางการเงิน ความช่วยเหลือด้านการแพทย์และมนุษยธรรม การศึกษาและการฝึกอบรมเฉพาะด้าน และการศึกษาสำหรับกลุ่มชาวเวียตนามเหนือในเยอรมนีตะวันออก การรณรงค์ที่สำคัญในเยอรมนีตะวันออกที่ประสบความสำเร็จ อาทิ "Blood for Vietnam" ในปี 1968 ซึ่งสมาชิกสหภาพการค้าของเยอรมนีตะวันออก 50,000 คนได้ร่วมกันบริจาคเลือดให้กับเวียตนามเหนือ 

หลังจากการรวมชาติของสองเวียตนามประสบความสำเร็จในปี 1975 ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างเยอรมนีตะวันออกและเวียดนามยังคงดำเนินต่อไป เนื่องจากการขาดแคลนแรงงานในเยอรมนีตะวันออกอย่างรุนแรง เยอรมนีตะวันออกและเวียดนามได้ลงนามในสัญญาในเดือนเมษายน 1980 สำหรับการจัดส่งพนักงานรับเชิญชาวเวียดนาม 200,000 คนไปทำงานในเยอรมนีตะวันออก ในทางกลับกันเยอรมนีตะวันออกให้ความช่วยเหลือเวียดนามในการพัฒนาด้านต่าง ๆ และนำเข้าสินค้าเช่น กาแฟ ชา ยาง และพริกไทย จากเวียดนาม ปัจจุบัน ชาวเวียดนามเป็นชนกลุ่มน้อยชาวเอเชียที่มีจำนงนมากที่สุดในเยอรมนี

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน 
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518

ไทย–จีน ความสัมพันธ์บนเส้นทางไมตรี กับตำนานใช้ลูกผูกใจของ ‘สังข์ พัธโนทัย’

(24 เม.ย. 68) ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 โลกทั้งใบกำลังอยู่ในห้วงแห่งการสั่นสะเทือน ประเทศมหาอำนาจล้วนแบ่งขั้วกันอย่างชัดเจนระหว่างโลกเสรีและกลุ่มคอมมิวนิสต์ เวลานั้นประเทศไทยภายใต้การนำของจอมพลปพิบูลสงครามได้เข้าร่วมกับฝ่ายอักษะทำสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยในเวลานั้นมีความสัมพันธ์กับจีนที่เบาบางมากเนื่องจากไม่ลงรอยกัน

จนกระทั่งในที่สุดวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1945) ญี่ปุ่นลงนามยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ถือเป็นการสิ้นสุดของสงครามโลกอย่างเป็นทางการ สำหรับประเทศไทย แม้จะเคยประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2485 (ค.ศ. 1942) แต่ภายหลังได้ประกาศว่าการประกาศสงครามนั้นเป็นโมฆะ เนื่องจากขัดต่อรัฐธรรมนูญและไม่ใช่เจตจำนงของประชาชนชาวไทย

ก่อนหน้านั้น พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 ขณะมีพระชนมพรรษาเพียง 9 พรรษา โดยประทับอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และมีคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน

พระองค์เสด็จนิวัติพระนครครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 ก่อนจะเสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อ ดังนั้นการตัดสินใจเข้าร่วมสงครามในปี 2485 ภายใต้การนำของจอมพลป.ถึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับรัชกาลที่ 8 นั่นเอง

รัชกาลที่ 8 นั้นเสด็จนิวัติอีกครั้งเป็นครั้งที่สองเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488 หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 การเสด็จกลับครั้งนี้ไม่เพียงเป็นการกลับมาขององค์พระประมุขผู้ทรงบรรลุนิติภาวะ หากแต่ยังเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการฟื้นฟูศักดิ์ศรีของชาติไทยในสายตาประชาคมโลก หลังการยุติสงครามและการถูกครอบงำโดยญี่ปุ่น

แม้จะยังทรงพระเยาว์ แต่รัชกาลที่ 8 ทรงสามารถเอาชนะใจประชาชนได้อย่างรวดเร็ว พระราชกรณียกิจที่เป็นที่กล่าวถึงมากคือ การเสด็จเยือนย่านสำเพ็งเพื่อสมานรอยร้าวระหว่างชาวไทยกับชาวจีนหลังสงคราม นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงรับเสด็จ ลอร์ด หลุยส์ เมานต์แบตเทน ผู้บัญชาการทหารฝ่ายสัมพันธมิตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการตรวจพลสวนสนามที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2489 โดยทรงฉลองพระองค์จอมทัพไทยอย่างสง่างาม เป็นการแสดงออกว่าประเทศไทยไม่ได้ตกเป็นเมืองขึ้นหรืออยู่ในสถานะพ่ายแพ้สงคราม

เหตุการณ์นี้ได้เปลี่ยนทัศนคติของประชาชนชาวไทยที่มีต่อสงครามและต่อสถานะของชาติอย่างมาก นับเป็นช่วงเวลาที่รัชกาลที่ 8 ทรงมีบทบาทในเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองและการทูตระหว่างประเทศอย่างแท้จริง

ขณะเดียวกัน จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงสงคราม ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1945) ในข้อหาเป็นอาชญากรสงคราม เนื่องจากบทบาทของเขาในการนำประเทศไทยเข้าสู่สงครามเคียงข้างญี่ปุ่น เขาถูกควบคุมตัว ณ เรือนจำศาลาแดง ร่วมกับผู้ใกล้ชิดทางการเมืองคนสำคัญ — สังข์ พัธโนทัย ที่ปรึกษาและนักโฆษณาชวนเชื่อผู้ทรงอิทธิพล

ทั้งสองอยู่ในห้องขังด้วยกันราว 6 เดือน ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งปล่อยตัวในช่วงต้นปี พ.ศ. 2489 โดยเห็นว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอ และคำประกาศสงครามของไทยในยุคสงครามนั้นเป็นโมฆะตามรัฐธรรมนูญ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ตามมาหลังสงคราม และการเสด็จกลับของรัชกาลที่ 8 เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บรรยากาศของความขัดแย้งในประเทศผ่อนคลายลง

หลังจากนั้น สังข์ พัธโนทัย กลับมาทำงานด้านสื่อและกลายเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมสัมพันธ์กับจีน เขาไม่ได้มีตำแหน่งทางการทูต แต่กลายเป็นผู้นำเสนอแนวทาง "การทูตสองหน้า" เพื่อเปิดประตูไปยังจีนโดยไม่ขัดกับท่าทีที่ไทยใกล้ชิดกับสหรัฐ

ในปี พ.ศ. 2499 (ค.ศ. 1956) สังข์ทำสิ่งที่โลกในเวลานั้นแทบไม่เข้าใจ — เขาส่ง ลูกชายและลูกสาว ไปอยู่ภายใต้การอุปการะของ โจว เอินไหล นายกรัฐมนตรีจีน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของ “มิตรภาพที่ฝากทั้งชีวิตไว้ได้”

สิรินทร์ พัธโนทัย วัย 8 ขวบในขณะนั้น เป็นหนึ่งในเด็กสองคนนั้น เธอเติบโตอยู่ในประเทศจีน 14 ปี และได้รับความรักเฉกเช่นสมาชิกในครอบครัวของโจว เธอให้สัมภาษณ์ในภายหลังว่า “ได้รับความรักและความเมตตาอย่างแท้จริงจากโจวเอินไหล” ปัจจุบันเธอยังพูดภาษาจีนได้คล่อง และถ่ายทอดภาษานั้นไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน

สายสัมพันธ์นี้เป็นมากกว่าการทูต — มันคือความไว้วางใจที่ลงลึกในระดับครอบครัว

ในเวลาเดียวกัน สังข์พยายามอย่างเงียบ ๆ ที่จะฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างอดีตคณะราษฎรสองสาย — จอมพล ป. พิบูลสงคราม กับ ปรีดี พนมยงค์ ให้กลับมาจับมือกันอีกครั้ง โดยหวังว่าความร่วมมือของทั้งสองอาจเปลี่ยนอนาคตของประเทศได้

ทั้งสองเริ่มติดต่อกันผ่านรหัสลับ พูดถึงการกลับมาดื่มไวน์ด้วยกันที่กรุงเทพฯ เหมือนเมื่อครั้งยังเรียนอยู่ที่ปารีส

แต่...วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2507 (ค.ศ. 1964) จอมพล ป. เสียชีวิตกะทันหันด้วยโรคหัวใจ สะพานที่สังข์ปูไว้จึงจบลงก่อนที่ใครจะทันข้าม

ต่อมาในปี พ.ศ. 2518 (ค.ศ. 1975) ความพยายามเหล่านั้นได้ออกดอกผล เมื่อ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีของไทย ลงนามสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนอย่างเป็นทางการ และจีน...คือฝ่ายที่จำได้ดีว่า คนไทยคนแรกที่กล้าไว้ใจเขาคือใคร

สังข์ พัธโนทัย ไม่ได้มีชื่ออยู่ในรายนามเอกอัครราชทูต หรือรัฐมนตรีต่างประเทศ แต่ชื่อของเขา คือไม้แผ่นแรกของสะพานที่ทุกคนเดินตามในภายหลัง

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#13 'จีน' พันธมิตรสำคัญของเวียตนามเหนือ

สงครามเวียตนามเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลต่อทิศทางของโลกในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 แม้ว่าจะเป็นความขัดแย้งระดับภูมิภาคที่เกิดขึ้นในคาบสมุทรอินโดจีน แต่ก็ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ของสาธารณรัฐประชาชนจีน สหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจเหล่านี้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 'จีน' ซึ่งมีบทบาทสำคัญในสงครามเวียตนาม โดยจีนให้การสนับสนุนทางการทหารแก่เวียตนามเหนือในการสู้รบกับเวียตนามใต้และสหรัฐฯ ในสงครามเวียตนาม

เดือนตุลาคม 1949 สาธารณรัฐประชาชนจีน (PRC) ได้ก่อตั้งขึ้น และเดือนมกราคม 1950 สาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียตนาม (DRV) ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการโดยสาธารณรัฐประชาชนจีน สิ่งนี้เปลี่ยนสถานการณ์ในสงครามอินโดจีนครั้งที่หนึ่งกับเวียตมินห์ และส่งผลโดยตรงต่อสงครามเวียตนามในเวลาต่อมา รัฐบาลจีนภายใต้การบริหารของเหมาเจ๋อตุงมีบทบาทสำคัญในสงครามอินโดจีนครั้งที่หนึ่ง ในเดือนเมษายน 1950 เวียตมินห์ได้ร้องขอความช่วยเหลือทางทหารจากจีนอย่างเป็นทางการรวมทั้งอุปกรณ์ที่ปรึกษาและการฝึกอบรม จีนเริ่มส่งที่ปรึกษาของตนและต่อมาได้จัดตั้งคณะที่ปรึกษาทางทหารของจีน (CMAG) เพื่อช่วยเหลือเวียตมินห์ ซึ่งนำโดยนายพลเว่ยกัวชิง กับพลเอกอาวุโสเฉินเกิง นี่คือจุดเริ่มต้นของความช่วยเหลือของจีน

ตลอดช่วงทศวรรษ 1950 และช่วงส่วนใหญ่ของทศวรรษ 1960 เหมาเจ๋อตุงเหมาถือว่าสหรัฐอเมริกาเป็นภัยคุกคามหลักต่อความมั่นคงและการปฏิวัติของจีน และอินโดจีนถือเป็นหนึ่งในสามแนวรบ (อีกสองแนวรบคือ เกาหลี และไต้หวัน) ซึ่งเหมาเจ๋อตุงมองว่า เสี่ยงต่อการรุกรานโดยประเทศจักรวรรดินิยม  ดังนั้นการสนับสนุนโฮจิมินห์ของเหมาเจ๋อตุง จึงเริ่มต้นด้วยความกังวลด้านความมั่นคงของจีน ในช่วงปลายทศวรรษ 1960 และต้นทศวรรษ 1970 เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหภาพโซเวียตเสื่อมถอยลงในปี 1968 สภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ของจีนเปลี่ยนไปเนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหภาพโซเวียตเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากความขัดแย้งชายแดนจีน-โซเวียตในเดือนมีนาคม 1969 เหมาเจ๋อตุงได้กล่าวว่า สหภาพโซเวียตเป็นภัยคุกคามหลักต่อความมั่นคงแห่งชาติของจีน จากนั้นได้เริ่มปรับนโยบายของจีนให้เข้ากับสหรัฐฯ และสนับสนุนให้เวียตนามเหนือบรรลุข้อตกลงสันติภาพ อย่างเด็ดขาด เมื่อจีนพยายามสร้างความสัมพันธ์อันดีกับอเมริกา “เวียดนามเหนือยังคงต้องต่อสู้ดิ้นรนอย่างสิ้นหวังกับอเมริกา” ซึ่งส่งผลกระทบร้ายแรงต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี และ ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและเวียตนามเหนือ และทำให้จีนลดความช่วยเหลือทางทหารต่อเวียดนามเหนือลงตั้งแต่ช่วงปี 1969-1970 เป็นต้นมา

การสนับสนุนของจีนสำหรับเวียตนามเหนือเมื่อสหรัฐฯ เริ่มเข้าแทรกแซงในเวียตนาม รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน และบทบาทในการสนับสนุนการฝึกอบรมบุคลากรทางทหารหลายแสนคน ฤดูร้อนปี 1962 เหมาเจ๋อตงได้ตกลงที่จะจัดหาอาวุธปืนจำนวน 90,000 กระบอกให้กับเวียตนามเหนือโดยเป็นการให้เปล่า ต่อมาในปี 1965 จีนส่งหน่วยต่อสู้อากาศยานและกองพันวิศวกรรมไปยังเวียตนามเหนือเพื่อซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดจากการทิ้งระเบิดของสหรัฐฯ ทหารจีนสร้างถนนและทางรถไฟขึ้นมาเพื่อสนับสนุนกองทัพเวียตนามเหนือสำหรับการสู้รบในเวียตนามใต้ จีนส่งกองกำลัง 320,000 นาย และส่งอาวุธยุทโธปกรณ์มูลค่าปีละ 180 ล้านดอลลาร์ ระหว่างปี 1964 ถึง 1975 จีนได้มอบความช่วยเหลือทางทหารให้กับเวียดนามเหนือประกอบด้วย อาวุธปืนเล็ก 1,922,897 กระบอก ปืนใหญ่ 64,529 กระบอก กระสุนปืนเล็ก 1,048,207,000 นัด กระสุนปืนใหญ่ 17,074,000 นัด เครื่องรับ-ส่งวิทยุ 30,808 เครื่อง โทรศัพท์สนาม 48,922 เครื่อง รถถัง 560 คัน เครื่องบินรบ 164 ลำ ยานยนต์ 15,771 คัน กองกำลังจีนชุดสุดท้ายถอนตัวออกจากเวียตนามเหนือในเดือนสิงหาคม 1973 โดยทหารจีน 1,100 นายเสียชีวิต และบาดเจ็บอีก 4,200 นาย

ทั้งนี้กองทัพปลดแอกประชาชนจีนได้อ้างว่า ระหว่างสงครามเวียตนามกองกำลังต่อสู้อากาศยานของจีนสามารถสร้างความสูญเสียแก่กองกำลังทางอากาศของสหรัฐฯ มากถึง 38% ในปี 1967 รัฐบาลจีนได้เปิดตัวโครงการลับทางทหาร "โครงการ 523" ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อหาทางรักษาโรคมาลาเรียเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่กองกำลังเวียตนามเหนือ (PAVN) ซึ่งได้รับความทุกข์ทรมานจากโรคมาลาเรีย เป็นผลให้ Tu Youyou นักวิทยาศาสตร์ชาวจีนและทีมงานค้นพบ Artemisinin TU สำหรับการรักษาโรคมาลาเรีย จนได้รับรางวัลโนเบลในปี 2015 นอกจากเวียตนามเหนือแล้ว จีนยังได้ให้การสนับสนุนเขมรแดงเพื่อเป็นการถ่วงดุลกับเวียตนามเหนือ โดย จีนได้มอบอาวุธยุทโธปกรณ์และให้การฝึกฝนทางทหารแก่เขมรแดงในช่วงสงครามกลางเมือง และยังคงช่วยเหลือต่อเนื่องมาอีกเป็นเวลาหลายปีหลังจากนั้น เขมรแดงได้เปิดฉากโจมตีเวียตนามอย่างดุเดือดในปี 1975-1978 และเมื่อเวียตนามตอบโต้ด้วยการบุกโค่นรัฐบาลเขมรแดง จีนก็ได้เปิดตัวบุกเวียตนามในปี 1979

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#12 พันธมิตรของเวียตนามเหนือ : ลาว-เขมรแดง -สหภาพโซเวียต

ในขณะที่สหรัฐอเมริกาทุ่มเท กำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ และงบประมาณมากมายมหาศาลเข้าสู่เวียตนามใต้ สหภาพโซเวียตก็มีทั้งบทบาทและส่วนร่วมในเวียตนามเหนือเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ในฐานะที่เป็นอำนาจคอมมิวนิสต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก สหภาพโซเวียตขณะที่ยังไม่ขัดแย้งแตกคอกับสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ให้สนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากไปยังเวียตนามเหนือ ทั้งมอสโกและปักกิ่งหวังที่จะรวมและขยายคอมมิวนิสต์ในเอเชีย ไม่เพียงแต่การเติบโตขึ้นของลัทธิคอมมิวนิสต์ในเอเชียจะช่วยให้สร้างสมดุลกับตะวันตกในสงครามเย็นเท่านั้น แต่ยังเกิดผลประโยชน์ต่อทั้งรัสเซียและจีน การสนับสนุนของโซเวียตและจีนมีความสำคัญต่อฮานอยและมีส่วนทำให้เวียตนามเหนือประสบชัยชนะในที่สุด

ปารีส ในปี 1920 โฮจินมินห์ได้กลายเป็นหนึ่งในสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส สามปีต่อมาเขาเดินทางไปมอสโก ซึ่งเขาได้ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับทฤษฎีคอมมิวนิสต์และการเคลื่อนไหวระหว่างประเทศ นอกจากนี้เขายังเป็นตัวแทนของเวียตนามประสานงานกับองค์การคอมมิวนิสต์สากล (Communist International : Comintern) ซึ่งเป็นองค์การที่ทำหน้าที่เผยแพร่แนวความคิดปฏิวัติ ล้มล้างนายทุนและจักรวรรดินิยมตามแบบการปฏิวัติของบอลเชวิก จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าโฮจิมินห์มีอุดมการณ์คอมมิวนิสต์เต็มตัว

หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง สหภาพโซเวียตให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวของคอมมิวนิสต์ในเวียตนามเพียงเล็กน้อย เพราะ โจเซฟ “สตาลิน” พยายามที่จะรักษาสัมพันธภาพที่ดีกับพันธมิตรสงครามฝ่ายตะวันตกอย่างน้อยเป็นการชั่วคราว และเลือกที่จะไม่เป็นปฏิปักษ์พวกเขาด้วยการสนับสนุนเวียตมินห์ ในปี 1946-47 “สตาลิน” ยังคงไม่ไว้วางใจในกลุ่มคอมมิวนิสต์ของเอเชีย โดยมองว่าอ่อนแอ ไม่มีวินัย และชื่อเสียงไม่ดี อันเนื่องมาจากผลประโยชน์ของตนเองและความเป็นชาตินิยม ปลายปี 1949 สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน ความตึงเครียดของสหรัฐอเมริกา-โซเวียตเพิ่มขึ้น และชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์นำโดย “เหมาเจ๋อตง” ในจีน (ตุลาคม 1949) เป็นพัฒนาการที่มีความรุนแรงที่สุดในยุคสงครามเย็น มกราคมปี 1950 มอสโกได้ให้การยอมรับ “โฮจิมินห์และเวียดมินห์” ในฐานะ ‘ผู้ปกครอง’ และ 'เจ้าหน้าที่' ของเวียตนาม โฮจิมินห์ได้เดินทางไปมอสโกและแสวงหาการสนับสนุนทางทหารจากสหภาพโซเวียตเพื่อสงครามอิสรภาพกับฝรั่งเศส แต่ “สตาลิน” ซึ่งยังมีความสนใจอยู่ในยุโรปได้ปฏิเสธการพูดคุยเจรจา โดยสนับสนุนให้ “เหมาเจ๋อตง” เป็นพันธมิตรคอมมิวนิสต์สนับสนุนเวียคมินห์แทน

ในเบื้องต้นจีนให้การสนับสนุนทั้งเงินและอาวุธยุทโธปกรณ์ แต่ปัญหาระหว่างเวียตนามเหนือและจากความพยายามที่จะครอบงำของจีน ทำให้ในที่สุดก็ทำให้เวียตนามเหนือหันไปหาสหภาพโซเวียตเพื่อขอความช่วยเหลือ ก่อนปี 1967 สหภาพโซเวียตให้ความช่วยเหลือทางทหารโดยการฝึกอบรมบุคลากรกองทัพอากาศเวียตนามเหนือ ต่อมาสหภาพโซเวียตได้จัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็น รถถัง เครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ ปืนใหญ่, ขีปนาวุธต่อต้านอากาศยาน เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางทหารอื่น ๆ ให้เวียตนามเหนือ กล่าวกันว่า ทีมงานชาวโซเวียตรัสเซียเป็นผู้ยิงเครื่องบินรบไอพ่นแบบ F-4 Phantoms ของสหรัฐฯ ตกที่เมือง Thanh Hóa ในปี 1965 ภายหลังจากการสลายตัวของสหภาพโซเวียตในปี 1991 เจ้าหน้าที่ของสหพันธรัฐรัสเซียยอมรับว่า ในช่วงสงครามเวียตนาม สหภาพโซเวียตได้ส่งทหารราว 3,300 นายประจำการในเวียตนามเหนือ

นอกจากนี้เรือหาข่าวของสหภาพโซเวียตในทะเลจีนใต้ได้ส่งคำเตือนล่วงหน้าแก่เวียตนามเหนือ โดยทำการตรวจหาเครื่องบินทิ้งระเบิด B-52 อเมริกันที่บินจากเกาะโอกินาวาและเกาะกวม เครื่องบินและทิศทางจะถูกบันทึกไว้แล้วส่งไปทำการวิเคราะห์ละคำนวณเป้าหมายการทิ้งระเบิด เพื่อแจ้งเตือนให้ย้ายอาวุธยุทโธปกรณ์สำคัญ คำเตือนล่วงหน้าเหล่านี้ทำให้เวียตนามเหนือมีเวลาพอที่จะย้ายอาวุธยุทโธปกรณ์สำคัญต่าง ๆ ให้ปลอดภัยจากเครื่องบินทิ้งระเบิด และในขณะที่มีการทิ้งระเบิดซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ปี 1968-1970 ด้วยการแจ้งเตือนทำให้เวียตนามเหนือไม่สูญเสียผู้นำทหารหรือพลเรือนเลยแม้แต่คนเดียว นอกจากนี้ยังมีการขยายความช่วยเหลือเพิ่มเติมเพื่อช่วยให้เวียตนามเหนือพัฒนาวิธีโฆษณาชวนเชื่อในการต่อต้านสหรัฐฯ

ระหว่างปี 1953 ถึง 1991 สหภาพโซเวียตส่งมอบอาวุธยุทโธปกร์ให้เวียตนามเหนือประกอบด้วยรถถัง 2,000 คัน รถหุ้มเกราะลำเลียงพล 1,700 คัน ปืนใหญ่ 7,000 กระบอก ปืนต่อสู้อากาศยานมากกว่า 5,000 กระบอก ขีปนาวุธพื้นสู่อากาศ 158 ระบบ และเฮลิคอปเตอร์ 120 ลำ ในช่วงสงครามสหภาพโซเวียตส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้เวียตนามเหนือมูลค่าปีละ 450 ล้านเหรียญสหรัฐ โรงเรียนทหารและสถาบันการศึกษาของโซเวียตได้ฝึกบุคลากรทางทหารของเวียตนามเหนือมากกว่า 10,000 คน ในปี 1964 นักบินเครื่องบินขับไล่เวียตนามเหนือและพลปืนต่อต้านอากาศยานได้รับการฝึกฝนในสหภาพโซเวียต โดยมีที่ปรึกษาโซเวียตยังถูกส่งไปประจำการในเวียตนามเหนือ ในช่วงต้น ๆ เมื่อกองทหารเวียตนามเหนือยังคงไม่คุ้นเคยกับอาวุธต่อสู้อากาศยานของสหภาพโซเวียต ทีมอาวุธต่อสู้อากาศยานของโซเวียตได้เข้าจัดการระบบปืนด้วยตัวเองและทีมงานได้ยิงเครื่องบินรบของสหรัฐฯ ตกด้วย มีรายงานว่า ทีมอาวุธต่อสู้อากาศยานของโซเวียตทีมหนึ่งสามารถยิงเครื่องบินรบของสหรัฐฯ ตกถึง 6 ลำ

KGB ยังช่วยพัฒนาความสามารถของ Signals Intelligence (SIGINT) ของเวียตนามเหนือผ่านการดำเนินการที่รู้จักกันใน “โปรแกรม Vostok” ซึ่งเป็นโปรแกรมข่าวกรองและการจารกรรม โปรแกรมเหล่านี้เป็นหัวใจสำคัญในการตรวจจับและเอาชนะทีมคอมมานโดของสหรัฐฯ และเวียตนามใต้ที่ส่งไปยังเวียตนามเหนือ โซเวียตยังช่วยกระทรวงความมั่นคงสาธารณะเวียตนามเหนือรับสมัครชาวต่างชาติในวงการทูตระดับสูงในหมู่พันธมิตรตะวันตกของสหรัฐฯ ภายใต้โครงการลับ "B12, MM" ซึ่งสามารถจัดทำเอกสารความลับระดับสูงนานเกือบทศวรรษหลายพันรายการ รวมถึงเป้าหมายของการทิ้งระเบิดของเครื่องบิน B-52 ในปี 1975 SIGINT ได้ทำลายข้อมูลจากพันธมิตรตะวันตกของสหรัฐฯ ในช่วงสงครามแม้ว่าทหารและเจ้าหน้าที่ของสหภาพโซเวียตจะถูกระบุให้เป็น“ ผู้เชี่ยวชาญทางทหารของโซเวียต” เนื่องจากสหภาพโซเวียตอ้างว่าไม่มี “ทหาร” ในสงครามเวียตนาม แต่ก็สูญเสียเจ้าหน้าที่ไป 16 นาย แม้การมีส่วนร่วมของสหภาพโซเวียตนั้นจะไม่มากเท่ากับกรณีสหรัฐฯ กับเวียตนามใต้ แต่สำหรับเวียตนามเหนือแล้ว ถือเป็นความช่วยเหลือที่ทรงคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง สำหรับสหภาพโซเวียตได้ถือโอกาสนี้ในการทดสอบทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์และยุทธวิธีการรบที่ดำเนินการในสถานการณ์จริง

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518

ภาษีคือภาษี ความผิดคือความผิด เสียงสะท้อนถึง…พี่ชาย ‘ดร. พอล แชมเบอร์ส’ ปมขอให้สหรัฐฯ กดดันไทย

(22 เม.ย. 68) จากกรณีที่ คิท แชมเบอร์ส (Kit Chambers) พี่ชายของ ดร. พอล แชมเบอร์ส (Dr. Paul Chambers) นักวิชาการชาวอเมริกันซึ่งกำลังเผชิญคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ฯ ในประเทศไทย ได้เผยแพร่บทความผ่าน The Oklahoman สื่อท้องถิ่นของรัฐโอคลาโฮมา เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ระงับการเจรจาการค้าด้านภาษีกับไทยจนกว่า “น้องชายของเขาจะได้กลับบ้าน”

ในบทความดังกล่าว คิท แชมเบอร์ส กล่าวหาว่าการกักขังน้องชายของตนนั้น “ไม่เป็นธรรม” และยืนกรานว่านี่ไม่ใช่ปัญหาทางการค้า แต่คือ “เรื่องสิทธิมนุษยชน”

ล่าสุด “ปราชญ์ สามสี” ได้ออกมาโพสต์แสดงความเห็นถึงกรณีนี้ว่า

คำถามคือ — แล้วการกระทำผิดกฎหมายในประเทศหนึ่ง สามารถกลายเป็น "ของต่อรอง" ได้จริงหรือ?

ถ้าคนไทยสักคนเดินทางไปสหรัฐฯ แล้วไปละเมิดกฎหมายของอเมริกา เช่น ละเมิดสัญลักษณ์ทางการเมือง ข่มขู่บุคคลสาธารณะ หรือทำผิดทางไซเบอร์ ประเทศไทยควรจะ "ขู่ขึ้นภาษีสินค้าอเมริกัน" เพื่อให้สหรัฐฯ ยอมปล่อยตัวกลับบ้านหรือไม่?

การใช้ข้อเรียกร้องทางอารมณ์ มาแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของรัฐอื่น นอกจากจะบ่อนทำลายหลักนิติธรรมแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจในอธิปไตยของแต่ละประเทศอย่างร้ายแรง

ไทยไม่ได้กักขังพอลเพราะเขาเป็นอเมริกัน แต่เพราะเขาทำผิดกฎหมายไทย และกระบวนการที่เกิดขึ้น ก็อยู่ภายใต้สิทธิในการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม ไม่ต่างจากประชาชนไทยทั่วไป

การเจรจาภาษีควรเดินหน้าอย่างอิสระ เพราะเศรษฐกิจคือผลประโยชน์ของคนทั้งชาติ ไม่ใช่เวทีต่อรองเพื่อปล่อยตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่ง อย่าเอาน้ำหนักของ “สายเลือด” ไปทับถม “หลักนิติธรรม” ที่ประเทศอื่นพยายามรักษาไว้ด้วยความยากลำบาก

โลกจะอยู่ไม่ได้ หากอำนาจทางการค้าใหญ่กว่าหลักแห่งความยุติธรรม

เมื่อ ‘เวลา’ กลายเป็นของขวัญที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ก่อเกิดเมล็ดพันธุ์แห่งน้ำใจที่มนุษย์จะมอบให้แก่กัน

ในโลกยุคที่ผู้คนต่างเร่งรีบแข่งขันกันกับเวลา 'เวลา' กลายเป็นสิ่งล้ำค่าที่มักไม่มีใครเหลือให้กันมากนัก แต่ในประเทศเล็ก ๆ กลางเทือกเขาแอลป์อย่างสวิตเซอร์แลนด์ กลับมีแนวคิดหนึ่งที่เปลี่ยนความหมายของคำว่า 'เวลา' ไปอย่างสิ้นเชิง นั่นคือ 'ธนาคารเวลา' ครับ 

ธนาคารเวลา ไม่ใช่สถานที่ที่เก็บเงินทอง หรือดอกเบี้ยทางการเงิน แต่เป็นระบบที่ให้ผู้คน "ฝากเวลาแห่งการช่วยเหลือ" เอาไว้ แล้วถอนคืนมาใช้เมื่อถึงวันที่ตนเองต้องการความช่วยเหลือ แนวคิดเรียบง่ายนี้กลับมีพลังมหาศาลครับ เพราะมันทำให้เราเห็นว่า แม้ไม่มีเงินทอง เราก็สามารถดูแลกันและกันได้ด้วยความตั้งใจและการลงมือทำ

เรื่องราวของชายชราคนหนึ่งในเมือง St. Gallen สร้างความประทับใจให้คนทั้งประเทศ หลังเกษียณ เขาใช้เวลาว่างไปช่วยดูแลผู้สูงวัยในชุมชน พาไปหาหมอ ทำอาหารให้ หรือแค่นั่งฟังพวกเขาเล่าเรื่องชีวิตเก่า ๆ เขาบันทึกทุกชั่วโมงแห่งความเมตตานั้นไว้ในระบบธนาคารเวลา  

หลายปีผ่านไป เขาเองก็เริ่มอ่อนแรง เดินไม่ไหวเหมือนเดิม และนั่นคือวันที่ 'เวลา' ที่เขาเคยมอบให้ผู้อื่น กลับมาดูแลเขาในแบบเดียวกัน เด็กหนุ่มสาวในวัย 20 กว่ามาหาเขาทุกเย็น ช่วยทำอาหาร นั่งคุย และพาไปเดินเล่นริมทะเลสาบ แม้จะไม่ใช่ลูกหลานแท้ ๆ แต่เขาก็ได้กล่าวไว้ว่า “หัวใจฉันอบอุ่นกว่าเดิมทุกครั้งที่เขามาเยี่ยม เหมือนฉันไม่เคยแก่เกินไปสำหรับใครเลย”

ธนาคารเวลาไม่เพียงแค่เป็นระบบการแลกเปลี่ยนบริการ แต่เป็นการปลูกเมล็ดพันธุ์ของน้ำใจ ความห่วงใย และการไม่ทอดทิ้งกันในสังคม มันทำให้เรารู้ว่า แม้วันหนึ่งเราจะอ่อนแอ แต่สิ่งที่เราเคยหยิบยื่นให้คนอื่น จะย้อนกลับมาดูแลเราในวันที่เราต้องการมากที่สุด

และบางที ของขวัญที่ยิ่งใหญ่ที่สุด อาจไม่ใช่เงินทอง หรือทรัพย์สมบัติใด ๆ แต่อาจเป็นเพียงสิ่งที่เรียบง่ายที่สุดอย่าง "หนึ่งชั่วโมงแห่งน้ำใจ" ที่เรามอบให้กันเท่านั้น

หากจะอธิบายระบบการทำงานให้เข้าใจอย่างง่าย ๆ 'ธนาคารเวลา' (Time Bank) ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นแนวคิดที่น่าสนใจมากครับ แนวคิดนี้เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนบริการโดยใช้ 'เวลา' เป็นสกุลเงินแทนเงินตรา และแนวคิดนี้มีการนำมาใช้จริงในหลายๆพื้นที่เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในชุมชน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุหรือการดูแลซึ่งกันและกันในสังคม

หลักการและแนวคิดของธนาคารเวลาในสวิตเซอร์แลนด์นั้นแสนจะเรียบง่ายดังนี้ครับ 

1. การแลกเปลี่ยนบริการด้วยเวลา
ผู้คนจะ 'ฝากเวลา' โดยให้บริการกับผู้อื่น เช่น ดูแลผู้สูงอายุ, ช่วยทำความสะอาดบ้าน, สอนภาษา ฯลฯ และจะได้รับ 'เครดิตเวลา' ที่สามารถนำไปใช้ขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นในอนาคต

2. ส่งเสริมสังคมแห่งการดูแล
แนวคิดนี้ถูกใช้ในโครงการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อให้คนวัยเกษียณมีคุณค่าและรู้สึกมีส่วนร่วมในสังคม ขณะเดียวกันยังได้รับการดูแลเมื่อพวกเขาต้องการในภายหลัง

3. ดำเนินการโดยองค์กรหรือภาครัฐ
ในบางเขต เช่น เมือง St. Gallen รัฐบาลท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการจัดตั้งระบบธนาคารเวลานี้ โดยใช้ระบบบันทึกชั่วโมงผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์

4. ไม่มีการวัดมูลค่าตามทักษะ
ทุกคนมีค่าเท่ากันในแง่เวลา นั่นหมายความว่า 1 ชั่วโมงของการทำสวน = 1 ชั่วโมงของการช่วยสอนหนังสือ เป็นต้น

กล่าวโดยสรุปสิ่งที่ธนาคารเวลาได้มอบให้กับผู้คนก็คือ
- สร้างความสัมพันธ์ในชุมชน
- สนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน
- ลดภาระของรัฐในด้านสวัสดิการ
- ส่งเสริมความเท่าเทียม

ในท้ายที่สุด ธนาคารเวลาอาจไม่ได้เปลี่ยนโลกทั้งใบในชั่วข้ามคืนครับ แต่สิ่งที่มันทำได้คือการเปลี่ยน 'หัวใจของผู้คน' ให้กลับมาเห็นค่าของกันและกันอีกครั้ง มันเตือนเราว่า บางครั้งสิ่งที่คนเราต้องการไม่ใช่เงิน หรือสิ่งของราคาแพง หากแต่เป็น "เวลา" เวลาที่เราตั้งใจมอบให้กันด้วยความเข้าใจและเมตตา และหากสังคมของเรามีพื้นที่แบบนี้มากขึ้น มนุษย์เราอาจจะเห็นได้ว่า แท้จริงแล้วว่าผู้คนอาจไม่ต้องการสิ่งใดมากไปกว่า หนึ่งชั่วโมงแห่งความห่วงใย ที่ไม่มีดอกเบี้ยใดๆแต่เต็มไปด้วยความหมายและความเอื้ออาทรที่มนุษย์เรามอบให้กันในวันที่อีกฝ่ายต้องการมากที่สุด 

เท่านี้ก็พอครับ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top