บทบาท ‘ทรัพยากรเชิงชาติพันธุ์’ ของชาวไทยเชื้อสายจีน เบื้องหลัง!! ความสัมพันธ์เศรษฐกิจ ‘จีน – ไทย’

(26 เม.ย. 68) แม้ว่าประเทศไทยและจีนจะมีความสัมพันธ์อันดีในหลายมิติ แต่เมื่อพูดถึงคำว่า 'พี่น้องไทย - จีน' แล้ว ที่มาและความหมายที่แท้จริงของคำนี้คือความเป็นพี่น้องทางสายเลือดจริง ๆ ซึ่งถ้าใครอยู่ในวงการความสัมพันธ์ไทย-จีนนั้น ก็น่าจะเคยได้ยินฝ่ายจีนใช้คำว่า '血脉相连 - เสว่ ม่าย เซียง เหลียน' ซึ่งแปลว่า 'เชื่อมต่อกันทางสายเลือด' โดยหมายถึงชาวไทยเชื้อสายจีน หรือชาวจีนที่เกิดในประเทศไทยและเป็นเชื้อสายของผู้อพยพชาวจีน หรือชาวจีนโพ้นทะเล ที่มีอยู่ประมาณ 10 ล้านคนในประเทศไทย คิดเป็น 11–14% ของจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศ ที่จำนวนมากเติบโตและประสบความสำเร็จด้านการค้าขาย เป็นผู้นำองค์กร เป็นผู้ถือครองทรัพย์สินจำนวนมาก บ้างก็มีตำแหน่งสำคัญในราชการ 

นายกรัฐมนตรีไทยจำนวน 19 จาก 31 คน ล้วนมีเชื้อสายจีนทั้งสิ้น

แม้ว่าคนไทยเชื้อสายจีนจำนวนมากจะถูกกลืนกินทางวัฒนธรรมจนกลายเป็นคนไทยโดยสมบูรณ์แล้ว แต่ก็ยังมีเครือข่ายสายสัมพันธ์กับคนจีนจากแผ่นดินใหญ่ ซึ่งได้กลายมาเป็น 'ทรัพยากรเชิงชาติพันธุ์' และกลายเป็น 'สะพาน' ในการเชื่อมสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย-จีน อย่างมีนัยยะสำคัญมาโดยตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา

ในยุคที่จีนดำเนินนโยบายตามกรอบแนวคิดริเริ่ม 'หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง' (Belt and Road Initiative - BRI - 一带一路) และยุทธศาสตร์ 'เดินออกไปข้างนอก' (Going Out Strategy - 走出去战略) ของรัฐบาลจีน ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 2000 มีเป้าหมายในการผลักดันบริษัทจีนออกไปลงทุนในต่างประเทศ ขยายเครือข่ายธุรกิจ และสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระดับโลก

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนจีนไม่ได้พิจารณาเพียงปัจจัยทางเศรษฐกิจหรือสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเท่านั้น หากยังได้รับอิทธิพลจากเครือข่ายทางสังคมและวัฒนธรรม โดยเฉพาะชุมชนชาวจีนโพ้นทะเล ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงระหว่างจีนและประเทศเป้าหมายในระดับพื้นที่ ซึ่งกลายเป็น 'ทรัพยากรเชิงชาติพันธุ์' ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญตามทฤษฎีเศรษฐกิจเชิงชาติพันธุ์ (Ethnic Economy)

ประเด็นนี้เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย ที่การเข้ามาของ FDI นั้น มักต้องอาศัยพันธมิตรในท้องถิ่น ความรู้เชิงบริบท และการเข้าถึงระบบราชการ ซึ่งทำให้นักลงทุนต่างชาติต้องพึ่งพา 'กลุ่มตัวกลาง' ในท้องถิ่น ในการอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ ตามทฤษฎีการตัดสินใจของ FDI ในตลาดเกิดใหม่ (FDI Decision-making in Emerging Markets) รวมถึงทฤษฎีเครือข่ายทางสังคม (Social Network Theory) ที่มองว่าความสัมพันธ์ทางสังคมมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในบริบทที่มีความไม่แน่นอนสูง เช่น การลงทุนข้ามชาติในประเทศเกิดใหม่ ประเทศที่การเมืองไม่มั่นคง หรือประเทศที่มีอัตราการคอร์รัปชันสูงในระดับท้องถิ่น

ทั้งนี้ บทบาทของชาวไทยเชื้อสายจีนตามกรอบแนวคิดและทฤษฎีข้างต้นนี้ โดยหลักแล้วถือว่าเป็น 'ตัวกลางทางเครือข่าย' รวมถึงเป็น 'กลุ่มผลประโยชน์' และ 'พันธมิตรสนับสนุน' (advocacy coalition) ความร่วมมือในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะบทบาทการเชื่อมโยงนักลงทุนและรัฐบาลท้องถิ่น ทั้งการสนับสนุนด้านข้อมูลทางกฎหมาย นโยบาย การทลายกำแพงด้านภาษาและวัฒนธรรม รวมถึงการสร้างอำนาจต่อรอง บริหารและจัดสรรผลประโยชน์ของทุกฝ่ายบนหน้าฉากก็ดี... หลังฉากก็ดี... (กรณีนี้คือว่ากันตามหลักการ ในความเป็นจริงอาจมีประเด็นผลประโยชน์ส่วนตัวและการคอร์รัปชัน ที่เป็นต้นตอของปัญหาเรื่องทุนต่างชาติสีเทาในปัจจุบัน)

ในรูปธรรมของการก่อตัวเป็นกลุ่มผลประโยชน์ของคนไทยเชื้อสายจีนนั้น สามารถเห็นได้จากการตั้งองค์กรในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ สมาคมการค้า หอการค้า สภาธุรกิจ หรือมูลนิธิอาสา ซึ่งกลายเป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่จัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น จัดงานเลี้ยง งานประชุม งานอาสาต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งการสร้างชุมชน China town ซึ่งเป็นศูนย์กลางของชาวจีนโพ้นทะเลในท้องถิ่นต่าง ๆ เพิ่มโอกาสในการพบปะทางสังคม และมีบทบาทในการสร้างเครือข่ายผลประโยชน์ ส่งต่อกันแบบรุ่นสู่รุ่น ไม่ว่าจะในระดับประเทศ หรือระดับท้องถิ่น เป็นพื้นที่ที่นักลงทุนทั้งสองฝ่ายรู้สึก 'ปลอดภัย' และ 'เข้าถึงง่าย' ช่วยให้สามารถเข้าถึงตลาด ทำให้นักธุรกิจจีนเกิดความรู้สึก 'เหมือนอยู่บ้าน'

ในทางกลับกัน ฝ่ายรัฐบาลท้องถิ่นที่ต้องการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากภายนอกนั้น ก็สามารถดำเนินการประสานด้านข้อมูลและใช้เครือข่ายขององค์กรสมาคมการค้าและมูลนิธิต่าง ๆ เหล่านี้ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนจีนเช่นกัน

องค์กรรูปแบบนี้สามารถพบเห็นได้ในแทบจะทุกจังหวัดของประเทศไทย จะมีมากและเข้มแข็งเป็นพิเศษในเมืองยุทธศาสตร์สำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น กรุงเทพฯ, สมุทรปราการ หาดใหญ่, เชียงใหม่, ภูเก็ต, กลุ่มจังหวัดโซน EEC และหลายจังหวัดในภาคอีสาน (ที่อาจเป็นทางผ่านของรถไฟความเร็วสูง)

ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า นัยยะสำคัญของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับจีนไม่ได้ขึ้นอยู่แค่กับข้อตกลงหรือเอกสารทางการต่าง ๆ เท่านั้น แต่มาจากความสัมพันธ์ของผู้คน ความเชื่อใจ ความใกล้ชิด และเครือข่ายที่ยึดโยงกันข้ามรุ่น จากบทบาทของคนไทยเชื้อสายจีนในฐานะ 'ตัวกลาง' ที่เข้าใจทั้งสองฝั่งอย่างลึกซึ้ง

ไม่เพียงแค่ไทยเท่านั้น ชาวจีนโพ้นทะเลจำนวนมากที่กระจายอยู่ทั่วโลกก็กำลังมีบทบาทเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศในกลุ่ม ASEAN ที่มีชุมชนชาวจีนโพ้นทะเลที่ค่อนข้างเข้มแข็งและมีบทบาทต่อเศรษฐกิจ

ด้วยเหตุเช่นนี้ การ 'เดินออกไปข้างนอก' ตามยุทธศาสตร์ Going Out Strategy นั้น จึงเป็นการ 'เดินออกไปข้างนอกแต่ก็ยังเจอเพื่อน' ที่จะช่วยแนะนำที่ทางในการค้าขาย และเป็น 'กันชนทางวัฒนธรรม' ที่ทำหน้าที่ลด culture shock และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง 'เจ้าบ้าน' และ 'แขกหน้าใหม่' พร้อมสร้างความร่วมมือที่ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นวัฒนธรรมและระบบ เกิดความยั่งยืนจากการส่งต่อแบบรุ่นสู่รุ่น


เรื่อง : สรวง สิทธิสมาน