มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#13 'จีน' พันธมิตรสำคัญของเวียตนามเหนือ

สงครามเวียตนามเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลต่อทิศทางของโลกในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 แม้ว่าจะเป็นความขัดแย้งระดับภูมิภาคที่เกิดขึ้นในคาบสมุทรอินโดจีน แต่ก็ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ของสาธารณรัฐประชาชนจีน สหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจเหล่านี้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 'จีน' ซึ่งมีบทบาทสำคัญในสงครามเวียตนาม โดยจีนให้การสนับสนุนทางการทหารแก่เวียตนามเหนือในการสู้รบกับเวียตนามใต้และสหรัฐฯ ในสงครามเวียตนาม

เดือนตุลาคม 1949 สาธารณรัฐประชาชนจีน (PRC) ได้ก่อตั้งขึ้น และเดือนมกราคม 1950 สาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียตนาม (DRV) ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการโดยสาธารณรัฐประชาชนจีน สิ่งนี้เปลี่ยนสถานการณ์ในสงครามอินโดจีนครั้งที่หนึ่งกับเวียตมินห์ และส่งผลโดยตรงต่อสงครามเวียตนามในเวลาต่อมา รัฐบาลจีนภายใต้การบริหารของเหมาเจ๋อตุงมีบทบาทสำคัญในสงครามอินโดจีนครั้งที่หนึ่ง ในเดือนเมษายน 1950 เวียตมินห์ได้ร้องขอความช่วยเหลือทางทหารจากจีนอย่างเป็นทางการรวมทั้งอุปกรณ์ที่ปรึกษาและการฝึกอบรม จีนเริ่มส่งที่ปรึกษาของตนและต่อมาได้จัดตั้งคณะที่ปรึกษาทางทหารของจีน (CMAG) เพื่อช่วยเหลือเวียตมินห์ ซึ่งนำโดยนายพลเว่ยกัวชิง กับพลเอกอาวุโสเฉินเกิง นี่คือจุดเริ่มต้นของความช่วยเหลือของจีน

ตลอดช่วงทศวรรษ 1950 และช่วงส่วนใหญ่ของทศวรรษ 1960 เหมาเจ๋อตุงเหมาถือว่าสหรัฐอเมริกาเป็นภัยคุกคามหลักต่อความมั่นคงและการปฏิวัติของจีน และอินโดจีนถือเป็นหนึ่งในสามแนวรบ (อีกสองแนวรบคือ เกาหลี และไต้หวัน) ซึ่งเหมาเจ๋อตุงมองว่า เสี่ยงต่อการรุกรานโดยประเทศจักรวรรดินิยม  ดังนั้นการสนับสนุนโฮจิมินห์ของเหมาเจ๋อตุง จึงเริ่มต้นด้วยความกังวลด้านความมั่นคงของจีน ในช่วงปลายทศวรรษ 1960 และต้นทศวรรษ 1970 เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหภาพโซเวียตเสื่อมถอยลงในปี 1968 สภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ของจีนเปลี่ยนไปเนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหภาพโซเวียตเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากความขัดแย้งชายแดนจีน-โซเวียตในเดือนมีนาคม 1969 เหมาเจ๋อตุงได้กล่าวว่า สหภาพโซเวียตเป็นภัยคุกคามหลักต่อความมั่นคงแห่งชาติของจีน จากนั้นได้เริ่มปรับนโยบายของจีนให้เข้ากับสหรัฐฯ และสนับสนุนให้เวียตนามเหนือบรรลุข้อตกลงสันติภาพ อย่างเด็ดขาด เมื่อจีนพยายามสร้างความสัมพันธ์อันดีกับอเมริกา “เวียดนามเหนือยังคงต้องต่อสู้ดิ้นรนอย่างสิ้นหวังกับอเมริกา” ซึ่งส่งผลกระทบร้ายแรงต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี และ ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและเวียตนามเหนือ และทำให้จีนลดความช่วยเหลือทางทหารต่อเวียดนามเหนือลงตั้งแต่ช่วงปี 1969-1970 เป็นต้นมา

การสนับสนุนของจีนสำหรับเวียตนามเหนือเมื่อสหรัฐฯ เริ่มเข้าแทรกแซงในเวียตนาม รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน และบทบาทในการสนับสนุนการฝึกอบรมบุคลากรทางทหารหลายแสนคน ฤดูร้อนปี 1962 เหมาเจ๋อตงได้ตกลงที่จะจัดหาอาวุธปืนจำนวน 90,000 กระบอกให้กับเวียตนามเหนือโดยเป็นการให้เปล่า ต่อมาในปี 1965 จีนส่งหน่วยต่อสู้อากาศยานและกองพันวิศวกรรมไปยังเวียตนามเหนือเพื่อซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดจากการทิ้งระเบิดของสหรัฐฯ ทหารจีนสร้างถนนและทางรถไฟขึ้นมาเพื่อสนับสนุนกองทัพเวียตนามเหนือสำหรับการสู้รบในเวียตนามใต้ จีนส่งกองกำลัง 320,000 นาย และส่งอาวุธยุทโธปกรณ์มูลค่าปีละ 180 ล้านดอลลาร์ ระหว่างปี 1964 ถึง 1975 จีนได้มอบความช่วยเหลือทางทหารให้กับเวียดนามเหนือประกอบด้วย อาวุธปืนเล็ก 1,922,897 กระบอก ปืนใหญ่ 64,529 กระบอก กระสุนปืนเล็ก 1,048,207,000 นัด กระสุนปืนใหญ่ 17,074,000 นัด เครื่องรับ-ส่งวิทยุ 30,808 เครื่อง โทรศัพท์สนาม 48,922 เครื่อง รถถัง 560 คัน เครื่องบินรบ 164 ลำ ยานยนต์ 15,771 คัน กองกำลังจีนชุดสุดท้ายถอนตัวออกจากเวียตนามเหนือในเดือนสิงหาคม 1973 โดยทหารจีน 1,100 นายเสียชีวิต และบาดเจ็บอีก 4,200 นาย

ทั้งนี้กองทัพปลดแอกประชาชนจีนได้อ้างว่า ระหว่างสงครามเวียตนามกองกำลังต่อสู้อากาศยานของจีนสามารถสร้างความสูญเสียแก่กองกำลังทางอากาศของสหรัฐฯ มากถึง 38% ในปี 1967 รัฐบาลจีนได้เปิดตัวโครงการลับทางทหาร "โครงการ 523" ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อหาทางรักษาโรคมาลาเรียเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่กองกำลังเวียตนามเหนือ (PAVN) ซึ่งได้รับความทุกข์ทรมานจากโรคมาลาเรีย เป็นผลให้ Tu Youyou นักวิทยาศาสตร์ชาวจีนและทีมงานค้นพบ Artemisinin TU สำหรับการรักษาโรคมาลาเรีย จนได้รับรางวัลโนเบลในปี 2015 นอกจากเวียตนามเหนือแล้ว จีนยังได้ให้การสนับสนุนเขมรแดงเพื่อเป็นการถ่วงดุลกับเวียตนามเหนือ โดย จีนได้มอบอาวุธยุทโธปกรณ์และให้การฝึกฝนทางทหารแก่เขมรแดงในช่วงสงครามกลางเมือง และยังคงช่วยเหลือต่อเนื่องมาอีกเป็นเวลาหลายปีหลังจากนั้น เขมรแดงได้เปิดฉากโจมตีเวียตนามอย่างดุเดือดในปี 1975-1978 และเมื่อเวียตนามตอบโต้ด้วยการบุกโค่นรัฐบาลเขมรแดง จีนก็ได้เปิดตัวบุกเวียตนามในปี 1979

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518


เรื่อง : ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล 

👍 ติดตามผลงาน อาจารย์ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.ปุณกฤษ%20ลลิตธนมงคล