หยุดอวดเครดิตทางสังคมด้วย ‘การสร้างหนี้’ เพราะ ศก.ยุคนี้ ‘ไม่มีหนี้ = ลาภอันประเสริฐ’

ความเชื่อที่กล่าวว่า การเป็นหนี้ เป็นการแสดงถึงการมีเครดิตที่ดี อาจใช้ไม่ได้กับสภาพเศรษฐกิจ และสังคมในยุคปัจจุบัน

เดือนมิถุนายน 2566 มีข้อมูลจาก บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ระบุว่าหนี้ครัวเรือนของไทย มีจำนวนสูงถึง 15.96 ล้านล้านบาท

สำหรับการกู้ยืมเงินระหว่างบุคคลกับบุคคล หรือ บุคคลกับสถาบันการเงิน อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน โดยการกู้ยืมเงินกันเกินกว่า 2,000 บาท หากมิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อผู้ยืมภายหลัง หากมีการผิดนัดชำระหนี้ เจ้าหนี้จะฟ้องร้องบังคับคดีกันไม่ได้

แต่หากมีการ ส่งข้อความทางแอปพลิเคชันต่าง ๆ มีข้อความการพูดคุย ยืมเงินกัน และสามารถระบุตัวตน ผู้ยืมได้ โดยเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีลักษณะ เข้าถึงได้ นำกลับมาใช้ได้ และความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ก็สามารถนำมาฟ้องร้องกันได้ 

ดอกเบี้ยในการกู้ยืมเงินกัน ห้ามคิดเกินร้อยละ 15 ต่อปี หรือร้อยละ 1.25 ต่อเดือน แต่หากเป็นสถาบันการเงิน อาจจะสามารถคิดดอกเบี้ยได้เกินกว่านี้

ในส่วนของ ‘หนี้นอกระบบ’ คือ หนี้ที่เจ้าหนี้ไม่ใช่สถาบันการเงิน อาจมีการคิดดอกเบี้ยเป็นรายวันมากถึงร้อยละ 20 และมีการทวงหนี้กันแบบรุนแรง 

ทว่า การทวงหนี้มีกฎหมายควบคุม ต้องทวงกับตัวลูกหนี้เท่านั้น วันธรรมดาทวงได้ตั้งแต่แปดโมงเช้าถึงสองทุ่ม วันเสาร์และอาทิตย์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ ทวงได้ตั้งแต่แปดโมงเช้าถึงหกโมงเย็น ห้ามข่มขู่ ห้ามใช้ความรุนแรงหรือดูหมิ่น จดหมายทวงหนี้ห้ามเป็นไปรษณียบัตรหรือเป็นจดหมายเปิดผนึก และห้ามทวงหนี้เกินวันละ 1 ครั้ง

การทวงหนี้ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย มีโทษจำคุก ตั้งแต่ไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกินหนึ่งแสน หรือสูงสุดจำคุกไม่เกินห้าปี ปรับไม่เกินห้าแสน หรือทั้งจำทั้งปรับ

ความจำเป็นในการใช้ชีวิต อาจเป็นเหตุผลสำคัญให้เราต้องยินยอมเป็นหนี้ อย่างไรก็ตามหากเราสามารถบริหารจัดการความจำเป็นให้พอดีกับการใช้ชีวิตได้ เราจะพบว่า การไม่เป็นหนี้นั้น เป็นลาภอันประเสริฐอย่างยิ่ง


เรื่อง: ธีระวุฒิ วชิรมโนวาทย์