กบฏ ร.ศ.๑๓๐ คณะก่อการจากนายทหารหนุ่มหัวก้าวหน้า ผู้ไม่ได้อยากเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็น 'ระบอบประชาธิปไตย'

กบฏ ร.ศ.๑๓๐ คณะก่อการผู้ไม่ได้อยากเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็น ‘ระบอบประชาธิปไตย’

เดือนพฤศจิกายนมีเหตุการณ์สำคัญ ๆ หลายเหตุการณ์ หนึ่งในนั้นคือ ‘การพระราชทานอภัยโทษ’ กบฏ ร.ศ.๑๓๐ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงครองสิริราชสมบัติมาถึงปีที่ ๑๕ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๗ ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวเป็นอิสระทุกคน รวมเวลาที่ถูกคุมขังจริงรวม ๑๓ ปี

จากเดิมที่มีบทลงโทษ โดยคณะตุลาการศาลทหารตัดสินลงโทษให้จำคุกและประหารชีวิต โดยมี โทษประหารชีวิตหัวหน้าผู้ก่อการจำนวน ๓ คน คือ ร้อยเอก เหล็ง ศรีจันทร์, ร้อยโท จรูญ ณ บางช้าง และ ร้อยตรี เจือ ศิลาอาสน์ และโทษจำคุกแบ่งเป็นตลอดชีวิต ๒๐ คน จำคุกยี่สิบปี ๓๒ คน จำคุกสิบสองปี ๓๐ คน และจำคุกสิบห้าปี ๖ คน แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้มีพระบรมราชวินิจฉัย และได้มีพระบรมราชโองการพระราชทาน ‘อภัยโทษ ละเว้นโทษประหารชีวิต ด้วยทรงเห็นว่า ทรงไม่มีจิตพยาบาทต่อผู้คิดประทุษร้ายแก่พระองค์’

เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไป จากคำบอกเล่าและบันทึกของผู้ก่อการว่า กบฏ ร.ศ.๑๓๐ เป็นการรวมตัวกันของนายทหารหนุ่มหัวก้าวหน้า ที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่มาถูกจับได้เสียก่อน จึงกลายเป็น ‘กบฏ’ ตรงนี้ให้สังเกตตรงความต้องการเปลี่ยนแปลงไปสู่ ‘ระบอบประชาธิปไตย’ นะครับ

การรวมตัวกันของคณะนายทหารหนุ่มนี้นำโดย ร้อยเอก ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) และคณะอีกหลายต่อหลายท่าน โดยมีเหตุเริ่มต้นตามบันทึกจากข้อเขียนใน ‘หมอเหล็งรําลึก ภาคปฏิวัติครั้งแรกของไทย ร.ศ.๑๓๐’ อนุสรณ์ในงานศพ ร.อ. ขุนทวยหาญพิทักษ์ (นายแพทย์เหล็ง ศรีจันทร์) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม เมื่อวันอังคารที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๐๓ โดยพุ่งเป้าไปที่รัชกาลที่ ๖ ขณะเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สรุปความว่า 

“ในปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีนายทหารต้องถูกเฆี่ยนหลังด้วยเหตุไม่สมควรประกอบด้วย ร้อยเอก โสม พร้อมด้วยนายร้อย นายดาบ และ นายสิบพลทหาร รวม ๕ คน กลางสนามหญ้าภายในกระทรวงกลาโหม เนื่องจากไปมีเหตุวิวาทเรื่องผู้หญิงกับมหาดเล็กของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ซึ่งการเฆี่ยนตามจารีตนครบาลนั้นได้ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงไม่ยอม ทูลฯ ฟ้องในหลวงรัชกาลที่ ๕ เพื่อให้ลงโทษให้ได้ จนเกิดเป็นวาทกรรมที่ว่า ‘สมเด็จพระยุพราชทรงยืนกรานจะให้เฆี่ยนหลังเพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่าง’” 

แต่เชื่อไหมครับว่าความเป็นจริงที่ถูกบันทึกไว้อย่างเป็นทางการมันช่างขัดแย้งกับบันทึกนี้!!! 

ความขัดประการแรกขัดกับ ‘ประกาศกระแสพระราชดําริห์ในเรื่อง เป็นลูกผู้ชาย’ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศไว้เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ร.ศ.๑๒๘ โดยมีความตอนหนึ่งระบุว่า “การที่จะลงพระราชอาญาด้วยอาการใดๆ มีตีและขังเป็นต้น ก็ทรงพระราชดําริห์ว่าน่าจะไม่เป็นประโยชน์ เพราะลูกผู้ดีไม่ใช่สัตว์เดียรฉานที่จะบังคับบัญชาได้ด้วยอาญา” ซึ่งความตอนนี้ก็สอดคล้องกับที่ทรงพระราชบันทึกไว้ใน ‘ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖’

ความขัดแย้งประการต่อมาจาก ‘หนังสือยุทธโกษ’ ซึ่งเป็นหนังสือของทหาร และ ‘ประกาศถอดยศนายทหาร ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา’ ทั้งสองฉบับนี้ต่างระบุตรงกันว่า ‘ทหาร’ เป็นฝ่ายทำร้ายมหาดเล็ก ไม่ใช่มหาดเล็กทำร้ายทหารตามที่คณะกบฏ ร.ศ.๑๓๐ อ้าง 

ข้อขัดแย้งต่อมาคือ ผู้ที่ทูลฯ ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตการ ‘เฆี่ยน’ นั้นไม่ใช่ ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ’ (รัชกาลที่๖) แต่เป็น ‘พลเอก พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช’ ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ โดยเป็นการลงโทษตาม ‘กฎว่าด้วยอํานาจลงอาญาทหารบก’ ที่มีโทษอยู่ ๗ ประการคือ 

๑.โบย 
๒.จําขัง 
๓.กักขัง 
๔.ยังมืด 
๕.กักยาม 
๖.ทัณฑกรรม 
๗.ภาคทัณฑ์ 

เพราะทหารเหล่านั้นมีความผิดฐานออกนอกกรมกองในเวลาวิกาล แล้วไปวิวาทกับบุคคลพลเรือน เป็นเรื่องผิดวินัยอย่างร้ายแรง จนเมื่อรัชกาลที่ ๖ ทรงครองราชย์ กฎการโบยนี้ได้ถูกยกเลิกเพราะพระองค์ทรงไม่เห็นด้วยกับการโบยตีทหาร 

แต่แค่เริ่มต้นด้วยการเสียศักดิ์ศรีเพราะการ ‘เฆี่ยน’ หรือ ‘โบย’ นั้นมันน่าจะยังไม่เพียงพอ เราก็มาพออีกบันทึกหนึ่งเพื่อยืนยันความชอบธรรมในการจะเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะกบฎ ร.ศ.๑๓๐ มาจากบทความ ‘ว่าด้วยความเสื่อมซามและความเจรีญของประเทศ’ (สะกดตามต้นฉบับ) เขียนโดย ร้อยเอก ขุนทวยหาญพิทักษ์ (นายแพทย์เหล็ง ศรีจันทร์) นายทหารหัวหน้าคณะผู้ก่อการกบฏ ร.ศ.๑๓๐ ซึ่งใส่ร้ายและยัดเยียดการปกครองโดยกษัตริย์ให้เป็นสิ่งชั่วร้าย ดังระบุว่า

“… การปกครองประเทศตามวิธีนี้ เป็นวิธีที่ร้ายแรงมาก เพราะกระษัตริย์มีอำนาจเต็มที่ โดยอยู่เหนือกฎหมาย กระษัตริย์กระทำการชั่วร้ายอย่างหนึ่งอย่างใดก็ทำได้ เพราะไม่มีใครขัดขวาง ...ราษฎรที่ไม่มีความผิด กระษัตริย์จะเอามาเฆี่ยนตีหรือฆ่าฟันและจองจำได้ตามความพอใจ ทรัพย์สมบัติแลที่ดินของราษฎรนั้น กระษัตริย์จะเบียดเบียนมาแลกเป็นผลประโยชน์ส่วนตัวได้โดยไม่มีขีดขั้น อย่างไล่ที่ทำวังเป็นต้น …” 

รวมไปถึงการโจมตีในหลวงรัชกาลที่ ๖ ในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านของการจัดการราชการ เรื่องเสือป่า เรื่องข้าราชบริพารส่วนพระองค์ จนสุดท้ายนอกจากความคิดเพื่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง กลายมาเป็นการ ‘ลอบสังหาร’ ในหลวงรัชกาลที่ ๖ เพื่อเปลี่ยนกษัตริย์ใหม่ โดยมือสังหารมีที่มาจากการ ‘จับสลาก’

ไหน? ว่าจะเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบใหม่ ? 

จากคำให้การของคณะกบฏ ร.ศ.๑๓๐ พวกเขาอยากจะเปลี่ยนแปลงทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีข้อสรุปเลยว่าจะเปลี่ยนเป็นระบอบไหน จะเป็นแบบญี่ปุ่นที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญโดยมีการทหารนำ หรือจะเป็นแบบสาธารณรัฐ แบบฝรั่งเศส แต่ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ นอกจากประโยชน์ที่จะเกิดกับตัวพวกคณะเอง

เนื้อหาในการประชุมที่มักจะมีแต่จะยกใครขึ้นเป็นกษัตริย์หรือเป็นประธานาธิบดี เช่น ถ้าเปลี่ยนกษัตริย์ ก็จะทูลเกล้าฯ ถวายราชบัลลังก์แก่ ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ’ เพราะพระองค์เป็นทหารสามารถสร้างความเข้มแข็งที่นำโดยทหารได้แน่ (ประชาธิปไตยแบบไหน?) แต่ถ้าเป็นสาธารณรัฐ ประธานาธิบดีก็ต้องเป็น ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์’ หรือจะเอายังไง ? ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปเพราะวนอยู่เท่านี้ 

แต่ในมุมกลับกัน เรื่องการปรับเปลี่ยนการปกครองนั้น ในหลวงรัชกาลที่ ๖ ได้โปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงศึกษาธิการ เร่งรัดจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๔๕๖ ซึ่งมีการจัดแผนการศึกษาแห่งชาติเป็นระดับประถม มัธยม และอุดมศึกษา แล้วได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาไพศาลศิลปศาสตร์ (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ให้ไปสร้างโรงเรียนประชาบาลให้ครบทุกตำบลภายใน ๑๕ ปี นับแต่ทรงครองราชย์ เพื่อที่จะให้การศึกษา ให้ความรู้ด้านการปกครอง อันจะเป็นจุดเริ่มต้นในการพระราชทานการปกครองท้องถิ่นให้กับราษฎร อันเป็นรากฐานไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาที่พระองค์เรียกว่า ‘คอนสติตูชั่น’

ในหลวงรัชกาลที่ ๖ ท่านทรงเข้าพระทัยดีในเรื่องของรูปแบบการปกครองสมัยใหม่ ดังที่ปรากฎในพระราชบันทึกเรื่อง ‘คอนสติตูชั่น’ และ ‘โสเชียลิสม์’ ที่ในปี พ.ศ. ๒๔๕๔ หนึ่งปีก่อนจะเกิดกบฏ ร.ศ. ๑๓๐ โดยความตอนหนึ่งระบุว่า 

‘คอนสติตูชั่น’ ว่า “ถ้ามีผู้ต้องการ ‘คอนสติตูชั่น’ จริงๆ และเปนไปได้จริง จะเปนคุณอย่างใดฤาไม่ แต่ถ้าแม้ต่างว่ามีคนจำพวก ๑ ซึ่งตั้งใจดีจริง มีความมุ่งดีต่อชาติจริง จะมาร้องฎีกาขึ้นโดยตรง ๆ ขอให้มีคอนสติตูชั่น เราเองจะไม่มีความแค้นเคืองเลย ตรงกันข้าม เราจะยอมพิจารณาดูว่า จะสมควรยอมตามคำขอร้องของคนนั้นฤาไม่ ถ้ามีคอนสติตูชั่นได้จะยิ่งดี...” 

นอกจากนั้นพระองค์ก็เข้าใจลักษณะการปกครองที่มีรัฐธรรมนูญดังข้อความที่ว่า 

“..คุณแห่งลักษณปกครอง โดยมี ‘คอนสติตูชั่น’..นั้นเปนการตัดความไม่แน่นอนไปได้มาก เพราะอำนาจไม่ได้อยู่ในมือคนๆเดียว ซึ่งแม้ว่าจะดีฤาชั่วปานใดก็เปลี่ยนไม่ได้ ประชาชนได้เสียงในการปกครองชาติบ้านเมืองของตนเอง ...และถ้าแม้จะกล่าวไปแต่โดยทางว่าเปนแบบแผนดีฤาไม่คงไม่มีใครเถียงเลย คงต้องยอมรับว่าดีทั้งนั้น” 

ถ้าคุณอ่านถึงตรงนี้คุณจะเห็นภาพการดำเนินการอย่างต่อเนื่องในเรื่องของการปรับเปลี่ยนการปกครองของพระมหากษัตริย์ของเรา จากรัชกาลที่ ๕ มารัชกาลที่ ๖ ไปสู่รัชกาลที่ ๗ จนเกิดการยึดอำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ทุกพระองค์จะมุ่งเน้นให้เกิดการศึกษาและสร้างรากฐานเสียก่อน เพื่อไม่ให้การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นนั้น ‘เสียของ’ แต่บรรดาผู้อยากเปลี่ยนแปลงไม่เคยมองมุมนี้กันเลย คิดแต่ว่า ‘ยึดอำนาจ’ ก่อน แล้วค่อยคิดทีหลังเสมอ ๆ 

มาถึงตรงนี้ กบฏ ร.ศ. ๑๓๐ เราจะเห็นม่านเทา ๆ จากความไม่ชัดเจนในการก่อการ และการมีข้อมูลที่ช่างย้อนแย้ง เอาแน่เอานอนไม่ได้ จนกลายเป็นหอกทิ่มแทงคณะผู้ก่อการกันเอง แต่เผอิญว่าหอกมันทิ่มมาเร็วกว่าคณะราษฎร ๒๔๗๕ เลยกลายเป็นกบฏ 

แต่ที่พอจะยืนยันได้ กบฏ ร.ศ. ๑๓๐ ไม่ได้อยากเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็น ‘ระบอบประชาธิปไตย’ จริง ๆ หรอก 


เรื่อง: สถาพร บุญนาจเสวี Content Manager