นัยแห่งสยาม!! ไม่มีลอยกระทง ไม่มีนางนพมาศ ในสมัยสุโขทัย แต่เพราะบ้านเมืองเราดี ถึงมีประเพณีขอขมาแม่น้ำอันดีงามนี้เกิดขึ้น

‘นางนพมาศ’ หรือ ‘ท้าวศรีจุฬาลักษณ์’ ที่เชื่อกันว่า เป็นพระสนมของพระร่วง และได้คิดประดิษฐ์กระทงขึ้นมาเป็นครั้งแรก ตั้งแต่สมัยสุโขทัยนั้น เชื่อว่าหลายท่านคงทราบ อาจจะเคยได้ยิน และหลายท่านก็อาจจะไม่เคยรู้ถึงที่มาที่ไปมาก่อน

จากข้อมูลหลักฐานต่าง ๆ รวมไปถึงนักวิชาการ และกรมศิลปากรได้ยืนยันว่า นี่เป็นเรื่องที่ถูกแต่งขึ้นมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓  

‘ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือนางนพมาศ’ สมมติให้ฉากของเรื่อง เกิดขึ้นในยุคพระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัย ซึ่งตำราดังกล่าวได้พูดถึงนางนพมาศ ว่าเป็นพระสนมเอกของพระร่วง ที่ได้คิดประดิษฐ์กระทงใบตองเป็นรูปดอกบัวขึ้น ดังนั้น นางนพมาศจึงเป็นเพียง ‘นางในวรรณคดี’ ไม่ได้มีตัวตนอยู่จริง

โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงพระนิพนธ์คำนำหนังสือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ เมื่อปี ๒๔๕๗ ว่า 

“ว่าโดยทางโวหาร ใคร ๆ อ่านหนังสือเรื่องนี้ด้วยความสังเกตจะแลเห็นได้โดยง่าย ว่าเปนหนังสือแต่งในครั้งกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง แต่งในระหว่างรัชกาลที่ ๒ กับที่ ๓ ไม่ก่อนนั้นขึ้นไป ไม่ทีหลังนั้นลงมาเปนแน่ ถ้าจะหาพยาน จงเอาสำนวนหนังสือเรื่องนี้ไปเทียบกับสำนวนหนังสือจาฤกครั้งศุโขไทยหรือหนังสือที่เชื่อว่าแต่งครั้งศุโขไทย เช่น หนังสือไตรภูมิพระร่วงเปนต้น หรือแม้ที่สุดจะเอาไปเทียบกับหนังสือที่แต่งเพียงในชั้นกรุงเก่า ก็จะเห็นได้แน่นอนว่า สำนวนหนังสือเรื่องนางนพมาศเปนหนังสือแต่งใหม่เปนแน่”

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นอะไร ?

การแต่งหนังสือขึ้นมาเพื่อแสดงถึงเรื่องราวประเพณีอันสุดจินตนาการนี้ เพราะบ้านเมืองของเราดี มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยน้ำท่า เมื่อมีความอุดมสมบูรณ์ ก็ต้องมีการหลอมรวมจิตใจ การสร้างความปึกแผ่นและการมีส่วนร่วมของคนในชาติ การสร้างกุศโลบายโดยตัวหนังสือและการบอกเล่าจึงเป็นเครื่องมือเพื่อโน้มนำการณ์ดังกล่าว การสร้างประเพณีใหม่บนพื้นฐานพระราชพิธีเดิมจึงได้เกิดเป็นเรื่องราวของการลอยกระทงขึ้น 

สำหรับสุโขทัยแม้ว่า ‘ลอยกระทง’ จะไม่ได้เกิดขึ้นในยุคนั้น แต่ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ก็ปรากฏคำที่เกี่ยวข้องกับการเผาเทียนเล่นไฟ โดยระบุไว้ว่า “เมืองสุโขทัยนี้มีสี่ปากประตูหลวง เที้ยรย่อมคนเสียดเข้ามาดูท่านเผาเทียนเล่นไฟ” (อันนี้ไม่ขอถกเถียงเรื่องของที่มา ที่ไปของหลักศิลาจารึกนะครับ) ซึ่งก็นับเป็นประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกันได้ 

ซึ่งคำว่า ‘เที้ยร’ หมายถึง ‘เทียนบูชา’ และการขอขมาพระแม่คงคา ส่วนคำว่า ‘เล่น’ หมายถึงการทำอะไรให้เป็นที่สนุกเพลิดเพลิน ผนวกกับคำว่า ‘ไฟ’ จึงหมายถึงการทำอะไรให้สนุกสนานเพลิดเพลินด้วยไฟ ซึ่งมีความหมายกว้าง ๆ ว่า ทำบุญไหว้พระก็ได้ เพียงแต่เป็นพิธีใหญ่แตกต่างจากงานปกติ ซึ่งผมอนุมานเอาแบบนี้นะครับ

มาที่ราชพิธีบ้าง ผมว่าหลายท่านคงได้เห็นพระราชพิธี ‘จองเปรียง’ ผ่านละคร ‘พรหมลิขิต’ ไปกันบ้างแล้ว

จากพระราชนิพนธ์ พระราชพิธีสิบสองเดือนของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ระบุว่า พระราชพิธีเหล่านี้เป็นพระราชพิธีสําหรับปฏิบัติในพระนครซึ่งมีมาตั้งแต่อดีต 

พระราชพิธีเหล่านี้เกิดขึ้นจากความเชื่อในด้านไสยศาสตร์ที่มีการนับถือ พระเจ้าต่าง ๆ ในศาสนา พราหมณ์ และส่วนหนึ่งเกิด จากความเชื่อความศรัทธา ในพุทธศาสนาควบคู่กัน ดังนั้นในพระราชพิธีบางอย่าง จึงเป็นการผสมผสานระหว่างพราหมณ์และพุทธ

ในพระราชกําหนดกฎมณเฑียรบาลครั้งกรุงศรีอยุธยา ได้กล่าวถึงพระราชพิธีประจําเดือนทั้ง ๑๒ เดือนไว้ว่า เป็น ‘กิจซึ่งพระเจ้าแผ่นดินทรงทําเพื่อเป็นมงคลสําหรับพระนคร ทุกปีมิได้ขาด’

โดยระบุไว้ว่าในเดือน ๑๒ มี ‘พิธีจองเปรียงลดชุดลอยโคม’ โดยแยกเป็น ๒ กิจกรรมที่กระทำในคราวเดียวกันคือ กิจกรรมที่ ๑ จองเปรียงลดชุด ซึ่งทำบนบก และกิจกรรมที่ ๒ ลอยโคม ซึ่งลอยลงน้ำ

สมัยอยุธยา ทั้งเอกสารและวรรณคดีก็ระบุไว้ถึงการ ‘ชักโคม ลอยโคม และแขวนโคม’ ในจดหมายเหตุลาลูแบร์ก็มีบันทึกไว้ดังนี้ 

“ประชาชนพลเมืองจะแสดงความขอบคุณแม่น้ำ (พระแม่คงคา) ด้วยการตามประทีปโคมไฟขนาดใหญ่ (กลางแม่น้ำ) อยู่หลายคืน…เราจะเห็นทั้งลำแม่น้ำเต็มไปด้วยดวงประทีปลอยน้ำ…ไปตามกระแสธาร มีขนาดใหญ่ย่อมต่างกันตามศรัทธาปสาทะของแต่ละคน…โดยนัยเดียวกัน เพื่อแสดงความขอบคุณต่อแม่พระธรณี ที่อนุเคราะห์ให้เก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ธัญญาหารได้อย่างอุดมสมบูรณ์ในวันต้นๆ ของปีใหม่ชาวสยามก็จะตามประทีปโคมไฟขึ้นอย่างมโหฬารอีกครั้งหนึ่ง” 

“สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต อุกาสะ ขะมามิ ภันเต” 

คำกราบขอขมาแม่พระคงคาต่อความผิดพลั้ง สร้างสิ่งไม่ดีต่อแม่น้ำพร้อมตั้งจิตลอยเคราะห์กรรมไปกับแม่น้ำ แต่ไม่ใช่การล้างบาปที่เรากระทำนะครับ เดี๋ยวจะกลายเป็นว่าลอยกระทงก็จะช่วยล้างบาปไปได้ แต่สิ่งที่ได้จากการขอขมานี้คือการสร้างสำนึกรู้ต่องการกระทำของเราที่ส่งผลต่อสายน้ำ ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการลอยกระทง ลอยประทีป หรือลอยโคมของเรา ย่อมกระทบต่อทุกสิ่งรอบตัว

ไม่ว่า ‘ลอยกระทง’ จะเกิดขึ้นในยุคสมัยไหน สิ่งที่สำคัญที่ควรรู้ก็คือประเพณีนี้เกิดขึ้นเมื่อยุคบ้านเมืองดี เป็นกุศโลบายเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีของคนในครอบครัว ในบ้านเมือง และเพื่อให้รู้จักบุญคุณของแม่น้ำ เพื่อช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม รักษาทรัพยากรของประเทศไทยเรา ให้อยู่ต่อไปสืบลูก สืบหลาน


เรื่อง: สถาพร บุญนาจเสวี Content Manager