Friday, 17 May 2024
ประเพณีไทย

ครม. รับทราบ 9 แนวทาง สืบสานสงกรานต์วิถีไทย พร้อมผลักดัน สู่มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

ครม.รับทราบ ‘สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจ สู่สากล’ 9 แนวทาง ย้ำ รัฐบาลผลักดัน มรดกวัฒนธรรมจับต้องไม่ได้

(28มี.ค.66) ผู้สื่อข่าวรายงบานว่า คณะรัฐมนตรี ( ครม.) รับทราบแนวทางรณรงค์เพื่อสืบสานคุณค่าทางวัฒนธรรม เนื่องในประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช 2566 ภายใต้แนวคิด ‘สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจ สู่สากล’ ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม เสนอ เพื่อกำหนดแนวทางรณรงค์เพื่อสืบสานประเพณีสงกรานต์ และแนวทางการประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ประเพณีสงกรานต์ในโอกาสที่ไทยเสนอเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก รวมทั้งการดูแลทรัพย์สิน สุขอนามัย และความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งเป็นประเด็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญเพื่อให้ประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติได้รับความสุข จากประเพณีสงกรานต์นี้

ชวนเที่ยว ‘งานตักบาตรขนมครก’ 22 ก.ย.นี้ สืบสานประเพณีเก่าแก่ มีเพียงแห่งเดียวที่วัดแก่นจันทร์เจริญ อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม

สมุทรสงคราม แห่งเดียวของไทย อบจ.แม่กลอง ชวนเที่ยวงานตักบาตรขนมครก ‘ขนมคู่รักกัน’ 22 ก.ย. นี้ เพื่อสืบสานประเพณีเก่าแก่เกือบร้อยปี

เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 66 น.ส.กาญจน์สุดา ปานะสุทธะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ) สมุทรสงคราม เปิดเผยว่า ประเพณีตักบาตรขนมครก เป็นประเพณีที่เก่าแก่ของจังหวัดสมุทรสงคราม ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ปี 2473 ปัจจุบันมีเพียงแห่งเดียวที่วัดแก่นจันทร์เจริญ ตำบลบางพรม อำเภอบางคนที

โดยจัดกันในวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี โดยเลียนแบบการจัดงานมาจากขนมเบื้องของพระราชพิธีในวัง ที่สืบทอดกันมาจนถึงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี

โดยญาติโยมที่มาร่วมทำบุญ จะซื้อขนมครก และน้ำตาลทราย จากพ่อค้าแม่ค้าที่พายเรือมาขายหน้าวัดแก่นจันทร์เจริญ ถวายพระสงฆ์ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ชาวบ้านจึงเกรงว่าประเพณีตักบาตรขนมครกจะสูญหายไปด้วย

จึงได้ช่วยกันลงแรงและร่วมกันบริจาคเงินซื้อข้าวสารมาหมักค้างคืนไว้ พอเช้าตรู่ของวันใหม่ก็ไปรวมตัวกันที่วัดแก่นจันทร์เจริญ ช่วยกันโม่แป้ง คั้นกะทิ ทำขนมครก เพื่อนำไปตักบาตรถวายพระสงฆ์ พร้อมกับน้ำตาลทรายถวายคู่กัน เนื่องจากพระบางรูปชอบหวาน จึงมีน้ำตาลทรายให้มาด้วย

นายก อบจ.สมุทรสงคราม กล่าวว่า ตามตำนานบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่เล่าว่า ประเพณีตักบาตรขนมครกนั้น เกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีชายหญิงคู่หนึ่งชอบพอกัน ฝ่ายชายชื่อ ‘กะทิ’ ส่วนฝ่ายหญิงชื่อ ‘แป้ง’ แต่พ่อของแป้ง ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านไม่ชอบกะทิ จึงหาทางขัดขวางไม่ให้มายุ่งเกี่ยวกับลูกสาว และยังยกลูกสาวให้แต่งงานกับปลัดอำเภอหนุ่มจากกรุงเทพฯ

เมื่อพ่อของแป้ง รู้ว่ากะทิ จะมาขัดขวางงานแต่งงานลูกสาว จึงขุดหลุมพรางไว้เพื่อดักฝังกะทิทั้งเป็น จนกลางคืนกะทิกับแป้งได้นัดพบกัน และเกิดพลัดตกลงไปในหลุมพรางของพ่อแป้งทั้งคู่ ลูกน้องของผู้ใหญ่บ้านนึกว่ากะทิตกหลุมพรางคนเดียว จึงนำดินมาฝังกลบทั้งคู่จนตายทั้งเป็น รุ่งเช้าผู้ใหญ่บ้านรู้เข้าจึงเกิดความเศร้าโศกเสียใจ จึงสร้างเจดีย์ไว้เป็นอนุสรณ์แด่คนทั้งสอง

ต่อมาชาวบ้านรู้ข่าวจึงเห็นใจในชะตาชีวิตของหนุ่มสาวคู่นี้ จึงนำขนมที่ทำจากกะทิและแป้ง และเรียกว่า ‘ขนมคู่รักกัน’ มาเซ่นไหว้ ต่อมาได้มีผู้เห็นว่าชื่อเรียกยาก จึงตัดเอาตัวอักษรแต่ละคำคือเอาตัว ค.ควาย, ร.เรือ และ ก.ไก่ มารวมกันจึงอ่านว่า ‘ครก’ หรือ ‘ขนมครก’ นั่นเอง

และเพื่ออนุรักษ์ประเพณีตักบาตรขนมครก ที่สืบทอดกันมานานเกือบ 100 ปี อบจ.สมุทรสงคราม จึงร่วมกับ จ.สมุทรสงคราม, อบต.บางพรม, ททท.สำนักงานสมุทรสงคราม, สำนักงานวัฒนธรรม จ.สมุทรสงคราม และชาวตำบลบางพรม จัดงานตักบาตรขนมครกขึ้นที่วัดแก่นจันทร์เจริญ ในวันขึ้น 8 ค่ำเดือน 10 ซึ่งปีนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ 22 กันยายน 2566

โดยจะมีเตาขนมครกซึ่งส่วนใหญ่เป็นเตาถ่านกว่า 20 เตา มีการสาธิตการขูดมะพร้าวจากกระต่ายแบบโบราณ การโม่แป้งด้วยโม่หินแบบโบราณ การหยอดและการแคะขนมครกจากเด็กนักเรียนโรงเรียนวัดแก่นจันทร์เจริญ เริ่มงานตั้งแต่เวลา 07.00 น.เป็นต้นไป

โดยเวลา 09.30 น. มีพิธีเปิดงานโดยนายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม จากนั้นเป็นการตักบาตรขนมครก โดยมีพระสงฆ์วัดแก่นจันทร์ทุกรูปมารับบาตร

ส่วนขนมครกที่เหลือจากพระฉันแล้ว ทางวัดจะแจกจ่ายให้นักท่องเที่ยวและชาวบ้านนำกลับบ้านฝากญาติพี่น้องรับประทาน เพื่อความเป็นสิริมงคล จึงขอเชิญนักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจไปร่วมงานดังกล่าวได้ที่วัดแก่นจันทร์เจริญ ตามวันและเวลาดังกล่าว

‘โรงเรียนนานาชาติรีเจ้นท์กรุงเทพฯ’ จัดพิธีไหว้ครูประจำปี 66 แม้สอนโดยครูชาวต่างชาติ แต่ไม่ละทิ้งวัฒนธรรมอันดีของไทย

โรงเรียนนานาชาติรีเจ้นท์กรุงเทพฯ ได้จัดพิธีไหว้ครูประจำปีการศึกษาในวันที่ 14 กันยายน 2566 ภายใต้ธีม ปลูกฝังจิตสำนึกความกตัญญูในการศึกษาแบบโรงเรียนนานาชาติที่สอนโดยครูชาวต่างชาติ

การจัดงานวันไหว้ครู ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณครูและนักเรียนทุกคนให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมไทยซึ่งได้มีการจัดขึ้นในทุกๆ ปี

โดย มร.แอนดี้ เอ็ดมอนด์ ครูใหญ่ ให้เกียรติกล่าวต้อนรับคุณครู นักเรียนที่เข้าร่วมงานครั้งนี้ ตลอดจนกล่าวถึงความสำคัญของพิธีไหว้ครู เนื่องจากรีเจ้นท์เป็นโรงเรียนนานาชาติ ที่มีนักเรียนชาวต่างชาติจำนวนมากที่เดินทางมาจากทั่วโลกเพื่อศึกษาจนจบระดับชั้น Year 13 นอกจากชาวไทยแล้วเรายังมีนักเรียนชาวอังกฤษ อเมริกัน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อาร์มีเนีย จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และชาติอื่นๆ

ปัจจุบันผู้ปกครองไทยนิยมส่งลูกเรียนโรงเรียนนานาชาติมากขึ้น คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ เด็กๆ จะยังคงธำรงวัฒนธรรมไทยอันดีงามอยู่หรือไม่ โดยเฉพาะความเคารพและกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ

วันนี้จะพาไปดูโรงเรียนนานาชาติรีเจ้นท์ที่มีความห่วงใยถึงเรื่องการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย ความกตัญญู ซึ่งนักเรียนจะได้เรียนรู้ถึงขนบธรรมเนียมประเพณีไทยที่งดงาม จากการจัดพิธีไหว้ครู มอบพานดอกไม้ พวงมาลัย เพื่อแสดงถึงความเคารพนอบน้อมด้วยความรักที่มีต่อคุณครูทุกท่าน

ชมภาพบรรยากาศภายในงานที่เต็มไปด้วยความอบอุ่น เเละความซาบซึ้งใจต่อพระคุณครู ได้ที่ >>> https://youtu.be/nU9hMfZBAKU?si=w1hwlK6m6ONLs1rI

‘Brighton College Bangkok’ จัดพิธีไหว้ครู รักษาประเพณีไทย แม้เป็นโรงเรียนนานาชาติหลักสูตรอังกฤษ แต่ไม่ละทิ้งความดีงาม

เมื่อไม่นานนี้ ‘Brighton College Bangkok’ หรือ ‘โรงเรียนนานาชาติ ไบรท์ตัน คอลเลจ กรุงเทพฯ’ ซึ่งเป็นโรงเรียนหลักสูตรอังกฤษในประเทศไทย ได้จัดพิธีไหว้ครูตามประเพณีเก่าแก่ของเมืองไทย

โดยทางเพจเฟซบุ๊กของโรงเรียน ได้แชร์ภาพบรรยากาศความประทับใจในงานพิธีไหว้ครู พร้อมโพสต์ข้อความ ระบุว่า…

“Today, our pupils participated in the traditional Wai Kru (Teacher's Day) celebration, demonstrating respect for their teachers and pledging to work hard and exhibit good behaviour throughout the year. It was a joyous celebration for all involved!

วันนี้นักเรียนของเราได้เข้าร่วมพิธีไหว้ครูตามประเพณี เพื่อแสดงความเคารพต่อครู และให้คำมั่นสัญญาว่าจะตั้งใจเรียนหนังสือและเป็นเด็กดีในปีนี้”

‘พี่คนดี’ ร่ายกลอน!! คุณค่าประเพณีดีงามไทยต้องควรคงไว้ ชี้!! อย่าหลงลมหัวก้าวหน้า ที่ร้องเลิกเพียงเพื่อสร้างประเด็น

(27 พ.ย.66) เพจเฟซบุ๊ก ‘P.khondee (พี่คนดี กวีสมัครเล่น)’ ได้โพสต์ข้อความพร้อมบทกลอนเรื่อง ‘ประเพณีลอยกระทง’ ระบุว่า... 

ถึงวันลอยกระทงทีไร ก็มีคนเอามุมเรื่องขยะ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ขึ้นมาชู แล้วรณรงค์ให้ ยกเลิกประเพณี กันทุกที ถ้าเราจะมองแต่มุมเสียก็คงต้องยกเลิกทุกอย่างกระมัง

ปีใหม่จุดพลุ ตรุษจีนจุดธูปเผากระดาษ ก็จะว่า ‘ไม่อนุรักษ์อากาศ’ เล่นสงกรานต์เอาน้ำมาสาดเล่น ก็จะว่า ‘ไม่อนุรักษ์น้ำ’ ว่ากันตามจริงทุกเทศกาลมันก็ก่อให้เกิดขยะกองโตทั้งนั้น ต้องยกเลิกไปให้หมดหรือเปล่า แล้วมุมที่คนออกมาจับจ่ายใช้สอย ชาวต่างชาติที่มาท่องเที่ยว เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่มองกันบ้างเหรอ ไม่พูดเรื่อง Soft Power กันบ้างหรือไร?

ขยะในวันลอยกระทง อีกวันเขาก็มาเก็บไปหมด ไม่ได้ถูกปล่อยไว้ หรือไม่ได้เก็บยากเย็นเหมือนขยะในทะเล มารณรงค์สร้างความตระหนักว่า หลังจากขอขมาพระแม่คงคาแล้ว ก็ไม่ควรทิ้งขยะกันในวันอื่น ๆ กันดีกว่าไหม เพราะวันอื่น ๆ ไม่มีใครมาตามเก็บให้ทันที เหมือนหลังวันลอยกระทง

กระทงใบตองแบบเดิม ๆ เก็บทิ้งได้ไม่ยากหรอก คนโบราณเขาคิดมาไว้ดีแล้ว แต่ พวกกระทงขนมปัง ที่อ้างว่ารักษ์โลก ไม่ควรใช้อย่างยิ่ง เพราะจะมีปัญหามากกว่า เมื่อปลากินไม่หมด และเก็บไม่ทันมันก็ละลายผสมลงในน้ำทำให้ น้ำค่าบีโอดีสูง จุลินทรีย์มากินจนเติบโต แล้วน้ำก็จะเน่า กระทงโฟมก็มีปัญหากำจัดยาก ไม่ควรใช้ เหมือนกับที่ไม่ควรใช้ใส่อาหารกันพร่ำเพรื่อนั่นแหละ

คนส่วนใหญ่ลอยกระทงกันตอนเด็กหรือวัยรุ่น โตขึ้นมาก็ไม่ลอยกันแล้วโดยอัตโนมัติ เหมือนกับเรื่องเล่นสงกรานต์ หลายครั้งเราอาจจะลืมไปแล้วว่าตอนเด็ก ๆ เราก็เคยสนุกกับมัน พอเราโตแล้ว เราเริ่มรู้สึกว่ามันไม่มีสาระสักเท่าไร เลยจะไปยกเลิกมันเหรอ ให้เด็ก ๆ เขาสนุกกันบ้างเถอะ ส่วนใหญ่เดี๋ยวนี้ก็ลอยในแหล่งน้ำปิด ถึงลอยในแม่น้ำ ก็มีคนมากั้นและ เก็บในไม่ช้า

เรื่อง ซานตาคลอส ที่เด็กฝรั่งตื่นเต้นตั้งตารอ แต่โตมาก็รู้ว่ามันไม่จริง แต่ฝรั่งเขาก็ไม่ได้รณรงค์ให้ยกเลิก นี่นา หรือ งานเคาท์ดาวน์ปีใหม่ที่ ไทม์สแควร์ ก็มีการโปรยเศษกระดาษชิ้นเล็ก ๆ ลงมา พออีกวันมันก็คือขยะที่ต้องลำบากเก็บเหมือนกัน บ้านเขาไม่เห็นมีใครไปรณรงค์ให้ยกเลิก นี่นา เออถ้ามันสร้างความเดือดร้อนจนเห็นชัดอย่าง โคมลอย ที่ไปตกบ้านคนอื่นแล้วไฟไหม้ก็ว่าไปอย่าง

เห็นเพื่อน ๆ หลายคนหงุดหงิดกับขยะวันลอยกระทง ผมก็เคยรู้สึกอย่างนั้นเหมือนกันครับ แต่ก็เห็น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงร่วมกิจกรรมนี้ด้วยตลอดทุกปี แม้ตอนที่ท่านประทับที่ รพ. ก็เลยมาฉุกคิดในอีกด้าน

ส่วนตัวผมมองว่า ประเพณีนี้ยัง สมควรได้ไปต่อครับ เพื่อนคนใดไม่อยากลอยก็ไม่ต้องลอยเป็นสิทธิ์ของท่านเลย ผมเองก็ไม่ได้ลอยมาหลายปีแล้ว แต่ถ้าใครเขายังอยากลอยก็อย่าไปว่าเค้าเลยนะครับ จะว่าไป มันเช่นเดียวกับหลาย ๆ เรื่อง ที่ถกเถียงกันนั่นแหละ

อย่าไปหลงลมพวกหัวก้าวหน้าบ้าฝรั่ง ที่ประเพณีอะไรของไทยก็อยากจะยกเลิก ทุกวันเทศกาลงานประเพณีแทนที่จะไปรื่นเริง ก็มาสร้างประเด็น แซะพระโค แซะกระทง แซะพานไหว้ครู แซะแปรอักษร เรื่อยไปไม่หยุดหย่อน คนพวกนี้ จะมีความสุขเหมือนคนอื่นเขาบ้างไหม 

สุขสันต์วันเทศกาลนะครับ

434/2023 ประเพณีไทยก็มีมาตั้งนาน

ตรงไหนแย่ เราก็แค่ คิดแก้ไข
ชวน ‘ยกเลิก’ มันถูกไหม ลองไขขาน
ประเพณี ไทยก็มี มาตั้งนาน
ลองมองดู หลายหลายด้าน อย่าต้านเลย

บางอย่างมัน ไม่ได้แย่ จนแน่ชัด
ไม่อยากจัด ไม่อยากแคร์ ก็แค่เฉย
ความตื่นตา น่าภิรมย์ น่าชมเชย
ทุกคนเคย ยอมรับ อินกับมัน

พอโตมา เริ่มมองว่า ไร้สาระ
มีคนเอา เรื่องขยะ มาปลุกปั่น
ให้ยกเลิก เทศกาล ในวานวัน
ทั้งที่ตอน วัยเด็กนั้น ว่าบันเทิง

อ้างว่ามัน ไม่ก้าวหน้า ล้าสมัย
ไม่เอาไหน ใฝ่กระทุ้ง ให้ยุ่งเหยิง
ไยต่อต้าน เทศกาล งานรื่นเริง
ที่ดำเกิง ดำรงมา กว่าร้อยปี

นัยแห่งสยาม!! ไม่มีลอยกระทง ไม่มีนางนพมาศ ในสมัยสุโขทัย แต่เพราะบ้านเมืองเราดี ถึงมีประเพณีขอขมาแม่น้ำอันดีงามนี้เกิดขึ้น

‘นางนพมาศ’ หรือ ‘ท้าวศรีจุฬาลักษณ์’ ที่เชื่อกันว่า เป็นพระสนมของพระร่วง และได้คิดประดิษฐ์กระทงขึ้นมาเป็นครั้งแรก ตั้งแต่สมัยสุโขทัยนั้น เชื่อว่าหลายท่านคงทราบ อาจจะเคยได้ยิน และหลายท่านก็อาจจะไม่เคยรู้ถึงที่มาที่ไปมาก่อน

จากข้อมูลหลักฐานต่าง ๆ รวมไปถึงนักวิชาการ และกรมศิลปากรได้ยืนยันว่า นี่เป็นเรื่องที่ถูกแต่งขึ้นมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓  

‘ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือนางนพมาศ’ สมมติให้ฉากของเรื่อง เกิดขึ้นในยุคพระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัย ซึ่งตำราดังกล่าวได้พูดถึงนางนพมาศ ว่าเป็นพระสนมเอกของพระร่วง ที่ได้คิดประดิษฐ์กระทงใบตองเป็นรูปดอกบัวขึ้น ดังนั้น นางนพมาศจึงเป็นเพียง ‘นางในวรรณคดี’ ไม่ได้มีตัวตนอยู่จริง

โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงพระนิพนธ์คำนำหนังสือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ เมื่อปี ๒๔๕๗ ว่า 

“ว่าโดยทางโวหาร ใคร ๆ อ่านหนังสือเรื่องนี้ด้วยความสังเกตจะแลเห็นได้โดยง่าย ว่าเปนหนังสือแต่งในครั้งกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง แต่งในระหว่างรัชกาลที่ ๒ กับที่ ๓ ไม่ก่อนนั้นขึ้นไป ไม่ทีหลังนั้นลงมาเปนแน่ ถ้าจะหาพยาน จงเอาสำนวนหนังสือเรื่องนี้ไปเทียบกับสำนวนหนังสือจาฤกครั้งศุโขไทยหรือหนังสือที่เชื่อว่าแต่งครั้งศุโขไทย เช่น หนังสือไตรภูมิพระร่วงเปนต้น หรือแม้ที่สุดจะเอาไปเทียบกับหนังสือที่แต่งเพียงในชั้นกรุงเก่า ก็จะเห็นได้แน่นอนว่า สำนวนหนังสือเรื่องนางนพมาศเปนหนังสือแต่งใหม่เปนแน่”

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นอะไร ?

การแต่งหนังสือขึ้นมาเพื่อแสดงถึงเรื่องราวประเพณีอันสุดจินตนาการนี้ เพราะบ้านเมืองของเราดี มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยน้ำท่า เมื่อมีความอุดมสมบูรณ์ ก็ต้องมีการหลอมรวมจิตใจ การสร้างความปึกแผ่นและการมีส่วนร่วมของคนในชาติ การสร้างกุศโลบายโดยตัวหนังสือและการบอกเล่าจึงเป็นเครื่องมือเพื่อโน้มนำการณ์ดังกล่าว การสร้างประเพณีใหม่บนพื้นฐานพระราชพิธีเดิมจึงได้เกิดเป็นเรื่องราวของการลอยกระทงขึ้น 

สำหรับสุโขทัยแม้ว่า ‘ลอยกระทง’ จะไม่ได้เกิดขึ้นในยุคนั้น แต่ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ก็ปรากฏคำที่เกี่ยวข้องกับการเผาเทียนเล่นไฟ โดยระบุไว้ว่า “เมืองสุโขทัยนี้มีสี่ปากประตูหลวง เที้ยรย่อมคนเสียดเข้ามาดูท่านเผาเทียนเล่นไฟ” (อันนี้ไม่ขอถกเถียงเรื่องของที่มา ที่ไปของหลักศิลาจารึกนะครับ) ซึ่งก็นับเป็นประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกันได้ 

ซึ่งคำว่า ‘เที้ยร’ หมายถึง ‘เทียนบูชา’ และการขอขมาพระแม่คงคา ส่วนคำว่า ‘เล่น’ หมายถึงการทำอะไรให้เป็นที่สนุกเพลิดเพลิน ผนวกกับคำว่า ‘ไฟ’ จึงหมายถึงการทำอะไรให้สนุกสนานเพลิดเพลินด้วยไฟ ซึ่งมีความหมายกว้าง ๆ ว่า ทำบุญไหว้พระก็ได้ เพียงแต่เป็นพิธีใหญ่แตกต่างจากงานปกติ ซึ่งผมอนุมานเอาแบบนี้นะครับ

มาที่ราชพิธีบ้าง ผมว่าหลายท่านคงได้เห็นพระราชพิธี ‘จองเปรียง’ ผ่านละคร ‘พรหมลิขิต’ ไปกันบ้างแล้ว

จากพระราชนิพนธ์ พระราชพิธีสิบสองเดือนของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ระบุว่า พระราชพิธีเหล่านี้เป็นพระราชพิธีสําหรับปฏิบัติในพระนครซึ่งมีมาตั้งแต่อดีต 

พระราชพิธีเหล่านี้เกิดขึ้นจากความเชื่อในด้านไสยศาสตร์ที่มีการนับถือ พระเจ้าต่าง ๆ ในศาสนา พราหมณ์ และส่วนหนึ่งเกิด จากความเชื่อความศรัทธา ในพุทธศาสนาควบคู่กัน ดังนั้นในพระราชพิธีบางอย่าง จึงเป็นการผสมผสานระหว่างพราหมณ์และพุทธ

ในพระราชกําหนดกฎมณเฑียรบาลครั้งกรุงศรีอยุธยา ได้กล่าวถึงพระราชพิธีประจําเดือนทั้ง ๑๒ เดือนไว้ว่า เป็น ‘กิจซึ่งพระเจ้าแผ่นดินทรงทําเพื่อเป็นมงคลสําหรับพระนคร ทุกปีมิได้ขาด’

โดยระบุไว้ว่าในเดือน ๑๒ มี ‘พิธีจองเปรียงลดชุดลอยโคม’ โดยแยกเป็น ๒ กิจกรรมที่กระทำในคราวเดียวกันคือ กิจกรรมที่ ๑ จองเปรียงลดชุด ซึ่งทำบนบก และกิจกรรมที่ ๒ ลอยโคม ซึ่งลอยลงน้ำ

สมัยอยุธยา ทั้งเอกสารและวรรณคดีก็ระบุไว้ถึงการ ‘ชักโคม ลอยโคม และแขวนโคม’ ในจดหมายเหตุลาลูแบร์ก็มีบันทึกไว้ดังนี้ 

“ประชาชนพลเมืองจะแสดงความขอบคุณแม่น้ำ (พระแม่คงคา) ด้วยการตามประทีปโคมไฟขนาดใหญ่ (กลางแม่น้ำ) อยู่หลายคืน…เราจะเห็นทั้งลำแม่น้ำเต็มไปด้วยดวงประทีปลอยน้ำ…ไปตามกระแสธาร มีขนาดใหญ่ย่อมต่างกันตามศรัทธาปสาทะของแต่ละคน…โดยนัยเดียวกัน เพื่อแสดงความขอบคุณต่อแม่พระธรณี ที่อนุเคราะห์ให้เก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ธัญญาหารได้อย่างอุดมสมบูรณ์ในวันต้นๆ ของปีใหม่ชาวสยามก็จะตามประทีปโคมไฟขึ้นอย่างมโหฬารอีกครั้งหนึ่ง” 

“สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต อุกาสะ ขะมามิ ภันเต” 

คำกราบขอขมาแม่พระคงคาต่อความผิดพลั้ง สร้างสิ่งไม่ดีต่อแม่น้ำพร้อมตั้งจิตลอยเคราะห์กรรมไปกับแม่น้ำ แต่ไม่ใช่การล้างบาปที่เรากระทำนะครับ เดี๋ยวจะกลายเป็นว่าลอยกระทงก็จะช่วยล้างบาปไปได้ แต่สิ่งที่ได้จากการขอขมานี้คือการสร้างสำนึกรู้ต่องการกระทำของเราที่ส่งผลต่อสายน้ำ ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการลอยกระทง ลอยประทีป หรือลอยโคมของเรา ย่อมกระทบต่อทุกสิ่งรอบตัว

ไม่ว่า ‘ลอยกระทง’ จะเกิดขึ้นในยุคสมัยไหน สิ่งที่สำคัญที่ควรรู้ก็คือประเพณีนี้เกิดขึ้นเมื่อยุคบ้านเมืองดี เป็นกุศโลบายเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีของคนในครอบครัว ในบ้านเมือง และเพื่อให้รู้จักบุญคุณของแม่น้ำ เพื่อช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม รักษาทรัพยากรของประเทศไทยเรา ให้อยู่ต่อไปสืบลูก สืบหลาน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top