Saturday, 17 May 2025
THE STATES TIMES TEAM

‘กระทรวงแรงงาน’ มอบเตียงและชุดเครื่องนอนแก่โรงพยาบาลสนาม รักษาผู้ป่วยโควิด จ.เพชรบุรี

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดเพชรบุรี เพื่อขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวงแรงงาน

ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ณ ห้องประชุมสำนักงานประกันสังคมจังหวัดเพชรบุรี จากนั้นในช่วงบ่าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ส่งมอบเตียง 2 ชั้น จำนวน 40 เตียง ที่นอนและหมอน จำนวน 142 ชุด รวมเป็นเงินมูลค่า 169,660 บาท สำหรับโรงพยาบาลสนามหนองชุมพล อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี โดยมี นางวันเพ็ญ มังศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี นายบุญลาภ ทิพย์จันทร์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี นายประเสริฐ ปลอดโปร่ง สาธารณสุขอำเภอเขาย้อย เป็นผู้รับมอบ พร้อมด้วย จัดหางานจังหวัดและสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเพชรบุรี เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย

นางธิวัลรัตน์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ท่านนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และท่านรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งท่านกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้มีความห่วงใยพี่น้องผู้ใช้แรงงานและประชาชนทั่วไปจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 และกำหนดให้การฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาตินั้น เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดและเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ให้ในกลุ่มแรงงาน เช่นเดียวกับจังหวัดเพชรบุรีที่มีสถานประกอบการเป็นจำนวนมาก หลายหน่วยงานจึงร่วมมือกันในการบูรณาการความช่วยเหลือ โดยเฉพาะสิ่งของที่จำเป็นในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามสำหรับรองรับผู้ป่วยโควิด-19

“ในวันนี้ กระทรวงแรงงาน ภายใต้การนำของท่านสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ได้เห็นความยากลำบากและความเดือดร้อนของพี่น้องผู้ใช้แรงงานจากผลกระทบโควิด-19 จึงมอบหมายให้ดิฉันลงพื้นที่ผนึกกำลังกับผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งเดินเคียงข้างสังคมให้รอดพ้นสถานการณ์นี้ไปด้วยกัน สนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคได้โดยเร็ว ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” นางธิวัลรัตน์ กล่าวในท้ายสุด

กองเรือยุทธการ จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 89 พรรษา 12 สิงหาคม 2564

พล.ร.อ.สุทธินันท์  สมานรักษ์ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ นำคณะผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองเรือยุทธการ ประกอบพิธีถวายเครื่องราชสักการะ , ถวายราชสดุดี , ถวายพระพรชัยมงคล, ถวายความเคารพพระบรมฉายาลักษณ์ และลงนามถวายพระพร เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 89 พรรษา 12 สิงหาคม 2564 ณ ตึกกองบัญชาการ กองเรือยุทธการ เป็นไปตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างเคร่งครัด

การประกอบพิธีเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดี และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ล้นเกล้าล้นกระหม่อมหาที่สุดมิได้ ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีต่อประเทศชาติ ตลอดจนกองทัพเรือ ด้วยพระเมตตาอย่างแท้จริง


ภาพ/ข่าว  สมนึก เชื้อสนุก

"หม่อมเจ้าอุทัยกัญญา ภาณุพันธุ์ " ทรงกรุณาประทาน ชุด PPE - หน้ากากอนามัย - เจลแอลกอฮร์ ให้กับภาครัฐ (อุบลราชธานี) เพื่อสนับสนุน ‘ศูนย์พักคอยผู้ป่วยโควิด-19’

วันที่ 11 สิงหาคม 2564 "หม่อมเจ้าอุทัยกัญญา ภาณุพันธุ์" พระราชปนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงกรุณา ให้  “ดร.พนธ์พันธ์ เลิศจันทรางกูร” ผู้ช่วยเลขานุการในองค์ฯ นำเชิญชุดอุปกรณ์ป้องเชื้อโรค Pertonat prolective Eguuipment (PPE) จำนวน 50 ชุด / หน้ากากอนามัย จำนวน 200 กล่อง / เจลแอลกอฮอล์ จำนวน 200 ลิตร ประทานให้ "ดร.ณัฐณิชาช์ เพิ่มทองอินทร์ " นายกเทศมนตรีตำบลคำขวาง อ.วารินชำราบจ.อุบลราชธานี และ "ร.ต.ต.วีระวัฒน์ วิชาสวัสดิ์" นายกเทศมนตรีตำบลเมืองศรีไค อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี นำไปสนับสนุนเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ถาครัฐ อาสาสมัคร ใน "ศูนย์พักคอย" ซึ่งทางเทศบาลทั้ง 2 แห่งได้ดำเนินการจัดเตรียมไว้เพื่อรองรับให้การช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยเชื้อไวรัส covid- 19 พร้อมทั้งให้บุคลากรทุกภาคส่วนได้มีเครื่องไม้ เครื่องมือ ในการป้องกันตนเองขณะปฏิบัติหน้าที่ให้รอดปลอดภัยจากเชื้อไวรัสไปได้ด้วยดี

ในการนี้ "ดร.พนธ์พันธ์ เลิศจันทรางกูร" ผู้ช่วยเลขานุการในองค์ฯ ยังได้กล่าว "ขอร่วมเป็นขวัญกำลังใจ ให้กับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ บุคลากรทางการแพทย์ และจิตอาสา รวมถึงประชาชนคนไทย ร่วมแรงร่วมใจกันต่อสู้กับภัยร้ายของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด- 19 นี้ และขอเชิญชวนพี่น้องประชาชน เจ้าของกิจการ ห้าง ร้าน ภาคเอกชน หากมี ความประสงค์ที่จะสนับสนุน "ศูนย์พักคอย" ทั้ง 2 แห่งนี้ สามารถมาร่วมบริจาคสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภค หรืออื่น ๆ ตามอัตภาพ ได้ด้วยเช่นกัน เราคนไทยต้องรอดไปด้วยกัน ขอขอบคุณครับ"

“อำนวย บุญริ้ว” นายกเทศมนตรี ตั้งศูนย์พักคอย 4 ชั้น กว่า 174 เตียง พร้อมรองรับผู้ป่วยโควิด-19

ที่ภายในซอยหมู่บ้านเพชรงาม ต.แพรกษาใหม่ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ได้มีการเปิดศูนย์พักคอยของทางเทศบาลเมืองแพรกษาใหม่ โดยนาย วันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ได้ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดศูนย์พักคอยของทางเทศบาลเมืองแพรกษาใหม่ พร้อมเดินตรวจเยี่ยมระบบการให้บริหารประชาชนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เข้าพักรักษาตัวภายในศูนย์พักคอยรอเตียงแห่งนี้

โดย การเปิดศูนย์พักคอยรอเตียงในวันนี้  มีหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเปิดศูนย์พักคอย และเดินตรวจเยี่ยมห้องพักภายในศูนย์พักคอย ซึ่งตั้งอยู่ที่ ม.5 ต.แพรกษาใหม่  อ.เมือง  จ.สมุทรปราการ ไว้สำหรับรองรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัส โควิด-19 โดยเป็นอาคารสูง 4 ชั้น มีห้องพักผู้ป่วย จำนวน 87 ห้อง สามารถรองรับผู้ป่วยได้ จำนวน 174 เตียง 

โดยการนำของนายอำนวย บุญริ้ว นายกเทศมนตรีเมืองแพรกษาใหม่ ที่ได้ให้ความสำคัญกับประชาชนในเขตพื้นที่แพรกษาใหม่ อีกทั้ง ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการให้ความช่วยเหลือประชาชน จึงได้ดำเนินการมอบหมายให้ทางด้าน นายณัฐพล บุญริ้ว ,นายบุญธรรม อินทรแย้ม, นางสาวศิริพร ทับคล้าย รองนายกเทศมนตรีเมืองแพรกษาใหม่ ได้ดำเนินการวางแผนงานในการทำงาน ด้านการจัดหาอาคารจัดสรรเพื่อจัดตั้งศูนย์พักคอยไว้รองรับผู้ป่วย ซึ่งได้สถานที่ ที่เหมาะสมมากที่สุด โดยเป็นอาคารสูง 4 ชั้น ตั้งอยู่ภายในซอย โรงเรียนปทุมคงคา ต.แพรกษาใหม่ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ  มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วย โดยการดูแลของ พ.จ.อ.พิรภพ แสงเพชร ผอ.กองป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เทศบาลเมืองแพรกษาใหม่ 

สำหรับ ศูนย์พักคอยแห่งนี้ นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมในการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับผู้ป่วยในเขตพื้นที่ นับว่าเป็นศูนย์พักคอยอีกแห่งหนึ่งที่มีความเป็นมาตรฐาน และพร้อมรองรับผู้ป่วยได้ 100 % สามารถรองรับการกักตัวการเข้ารับการรักษาอาการ โดยเน้นเป็นผู้ป่วยสีเขียวและสีเหลือง ตลอดจนเซ็นเตอร์ด้านความปลอดภัย

อีกทั้ง นายอำนวย บุญริ้ว นายกเทศมนตรีเมืองแพรกษาใหม่ ได้จัดเตรียมความพร้อมอย่างครบวงจร และพร้อมทำการเปิดรับผู้ป่วยได้ในทันที และยังได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่บุคลากรของทางเทศบาลเมืองแพรกษาใหม่ ตลอดจนเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและโรงพยาบาลสมุทรปราการ มาคอยรองรับการช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้ารับการรักษาตัวยังศูนย์พักคอยแห่งนี้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ยังได้มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนในเขตพื้นที่เทศบาลเมืองแพรกษาใหม่ และผู้ที่มีความเสี่ยงสูงตลอดจนผู้ที่กักตัว รวมถึงผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และได้นำคณะผู้บริหารของทางเทศบาลเมืองแพรกษาใหม่ ลงพื้นที่ดูแลเยียวยาและการให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด


ภาพ/ข่าว  คิว-ข่าวสมุทรปราการ รายงาน

“จุรินทร์ - เฉลิมชัย” ขอบคุณคนไทยไม่ทิ้งกันช่วยซื้อมังคุดกว่า 2 หมื่นตัน ดันราคาเกินเป้า สั่ง “ฟรุ้ทบอร์ด” เดินหน้าช่วยลำไย-เงาะ-ลองกอง ต่อเนื่องจนสิ้นฤดูกาลผลิตลำไยเหนือผลไม้ใต้ปี 64

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แถลงวันนี้ (11ส.ค. 64) ว่า ภายใต้นโยบายยกระดับราคาผลไม้ฤดูกาลผลิตปี 2564 ของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้(Fruit Board) โดยการขับเคลื่อนของคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้(Fruit Board) ได้ออกมาตรการเชิงรุกทุกแพลตฟอร์มตามแผนบริหารจัดการผลไม้ประจำปีการผลิต2564 รวมทั้งการปรับกลยุทธ์ใหม่เน้นการบริโภคภายในประเทศทดแทนการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการโควิด-19 จนสามารถดึงมังคุดออกจากแหล่งผลิตจนถึงวันนี้ได้กว่า 20,000 ตัน ทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 13-15 บาท สำหรับมังคุดเกรดคละและมังคุดเกรดคุณภาพ ราคาใกล้แตะที่กิโลกรัมละ 50 บาท

ตามรายงานล่าสุดของกรมการค้าภายในแม้จะเป็นช่วงพีคที่มีผลผลิตมังคุดออกมามากที่สุดถึง 60,000 ตัน ภายในเดือนสิงหาคม จากยอดรวมผลผลิตมังคุดภาคใต้รวมทั้งฤดูกาล 1.5 แสนตัน แต่เราก็สามารถยกระดับราคาได้เกินเป้าหมายจากมาตรการหลักมาตรการเสริมใหม่ ๆ และการแก้ไขปัญหาไปพร้อม ๆ กัน

“การแก้ไขปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ส่งออกขาดแคลน การแก้ปัญหาโลจิสติกส์และการแก้ไขปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานและล้งจากภาคตะวันออกลงใต้ จนคลี่คลายระดับหนึ่งจากการทำงานร่วมกันของรัฐมนตรีเกษตร รัฐมนตรีพาณิชย์ และผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธาน(คพจ.) ทำให้ราคามังคุดเพิ่มขึ้น เช่น กรณีจังหวัดนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นฮับมังคุดภาคใต้ ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมมีเพียง 46 ล้ง แต่เมื่อมีการแก้ปัญหาและผ่อนปรนมาตรการอย่างรวดเร็วทำให้ปัจจุบันมีล้งเพิ่มเป็นกว่า 200 ราย และแผงรับซื้อผลไม้กว่า 400 แผง ที่เข้าไปรับซื้อในพื้นที่และการกลับมาเปิดบริการของบริษัทขนส่งเช่นไปรษณีย์ไทย เคอรี่ส่งผลให้กลไกและระบบการค้าฟื้นกลับมา”

นายอลงกรณ์กล่าวต่อไปว่า ผลการดำเนินงานดังกล่าว มาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐภาคเอกชนและภาคเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นมาตรการการเชื่อมโยงและกระจายมังคุดออกนอกแหล่งผลิต โดยสนับสนุนค่าบริหารจัดการแก่ศูนย์กระจายในจังหวัดแหล่งผลิต กก.ละ 3 บาท เพื่อกระจายมังคุดจำนวน 16,950 ตัน ออกนอกแหล่งผลิตโดยเร็ว มาตรการสนับสนุนค่าขนส่งและค่ากล่องโดยกรมการค้าภายในร่วมกับบริษัทไปรษณีย์ไทยสนับสนุนกล่องบรรจุภัณฑ์ที่มีสติกเกอร์ติดกล่องทั้งกล่องฟรีและส่งฟรีผลไม้ทั่วประเทศจำนวน 200,000 กล่อง กล่องละ 10 กก. เพื่อช่วยกระจายผลไม้ 2 ล้านกิโลกรัม มาตรการการกระจายมังคุดผ่านระบบร้านค้าส่ง-ค้าปลีก ร้านธงฟ้า และเครือข่ายบริษัมน้ำมันเช่นบริษัท พีทีจี เอนเนอยี จำกัด (มหาชน) บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) เครือข่ายทายาทร้านค้าส่ง-ค้าปลีก (YTS) กว่า 100 สาขาทั่วประเทศบริษัทสยามแม็คโคร โลตัส เซ็นทรัล เดอะมอลล์ บิ๊กซี ซีพีออลล์ มากกว่า 1 ล้านกิโลกรัม ขณะเดียวกันสถานีบริการน้ำมันพีทีที สเตชั่น และสถานีการน้ำมันบางจาก ยังมีการแจกมังคุดให้ผู้บริการเติมน้ำมันในเขตกรุงเทพฯ

รวมทั้งกลยุทธ์ล่าสุดคือโครงการ ”เกษตรกรแฮปปี้” ภายใต้แนวคิด ”คนกินยิ้มได้ เกษตรกรไทยแฮปปี้” บนความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตร กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดีอี กระทรวงมหาดไทย(คพจ.) บริษัทไปรษณีย์ไทย บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด (ท็อปส์ มาร์เก็ต และ เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์) บริษัท แกร็บ ประเทศไทย เครือข่ายร้านธงฟ้า คณะอนุกรรมการอีคอมเมิร์ซ และคณะอนุกรรมการธุรกิจเกษตรของกระทรวงเกษตรฯ.สามารถระบายขายมังคุดเกรดคละได้กว่า 100 ตัน ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ โดยไม่ได้ใช้งบประมาณภาครัฐ ทั้งนี้ยังมีโครงการระบายมังคุดผ่านระบบสหกรณ์อีกหลายร้อยตันทั้งรูปแบบการซื้อขายและแลกเปลี่ยนมังคุดกับสินค้าเกษตร ระหว่างสหกรณ์ตลอดจนโครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์กับททบ.5 กองทัพบก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยและโครงการกระจายผลไม้ผ่านหน่วยงานรัฐและรัฐสภา ฯลฯ เราพยายามอย่างที่สุดเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรอาจมีบางส่วนบางพื้นที่ที่ยังมีปัญหาด้านการขายและราคาก็พร้อมจะเข้าไปดูแลทันทีเช่นกรณีมังคุดภูเขา ”คีรีวง” ของนครศรีธรรมราชมีปัญหาพอแจ้งมาเราก็ส่งทีมเกษตร-พาณิชย์ลงไปดูแลทันทีภายใน 24 ชั่วโมง

นายอลงกรณ์ พลบุตร ในฐานะหัวหน้าทีมบริหารจัดการผลไม้เฉพาะกิจของฟรุ้ทบอร์ดยังกล่าวต่อไปว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ Fruit boardและนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีพาณิชย์ ได้สั่งการให้ฟรุ้ทบอร์ดเร่งช่วยเหลือชาวสวนลำไยและเงาะที่มีราคาลดลงในช่วงกลางฤดูผลิตและลองกองอีกกว่า 4 หมื่นตัน ที่กำลังจะออกมาเป็นการล่วงหน้าโดยด่วนพร้อมกันนี้ยังได้ขอบคุณและเชิญชวนทุกภาคส่วนช่วยกันสนับสนุนซื้อผลไม้ไทยเพื่อช่วยชาวสวนให้ได้ราคาที่เป็นธรรมมีรายได้เพิ่มขึ้นจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูกาลผลไม้ปี 2564

นอกจากนี้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้(Fruit Board) ยังได้มอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ.เช่นกรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เร่งพัฒนาคุณภาพมาตรฐานผลไม้ และระบบตรวจสอบย้อนกลับ(Traceability) รวมทั้งมาตรการป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19(COVID Free)ตามยุทธศาสตร์เกษตรปลอดภัยและให้จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจภายใต้ฟรุ้ทบอร์ดจัดทำแผนปฏิรูปการบริหารจัดการผลไม้เชิงโครงสร้างทั้งระบบทั้งระยะสั้นและระยะยาวภายใน 90 วัน โดยฟรุ้ทบอร์ดมอบที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ.เป็นประธานเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซากทุกปีโดยเฉพาะให้สร้างกลไกที่พร้อมปฏิบัติการฉุกเฉินได้ทันทีเมื่อเกิดปัญหาเฉพาะหน้าเช่นกรณีปัญหาการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในปีนี้ที่ต้องปรับกลยุทธ์และปรับแผนแม้จะทำได้รวดเร็วก็ตามแต่ยังเป็นมาตรการเฉพาะกิจบางครั้งต้องมีการประชุมทำให้เกิดปัญหาขั้นตอนราชการกว่าจะอนุมัติมาตรการใหม่ๆก็ต้องใช้เวลาไม่ทันการแก้ปัญหาแบบเร่งด่วน เหตุการณ์ปีนี้คือบทเรียน

ทั้งนี้ จากรายงานของกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่าในเดือนมิถุนายนปีนี้การส่งออกผลไม้เพิ่มขึ้น 185% และมังคุดส่งออกขยายตัวกว่า 400% แต่พอถึงเดือนกรกฎาคมเกิดการการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศที่รุนแรงมากขึ้นทำให้มีการออกมาตรการล็อคดาวน์เพิ่มขึ้นขณะเดียวกันประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่สุดของผลไม้ไทยรวมทั้งเวียดนามและลาวที่เป็นเส้นทางการขนส่งได้ยกระดับมาตรการป้องกันโควิด-19 เข้มข้นมากขึ้น ทำให้ตู้คอนเทนเนอร์หมุนกลับมาไม่ทันล้งเคลื่อนย้ายไปภาคใต้ได้น้อยมากส่งผลกระทบต่อระบบโลจิสติกส์ กลไกการค้าและราคาผลไม้จะเห็นว่าในสถานการณ์โควิด-19 มีโอกาสเกิดปัญหาที่ไม่คาดคิดได้ตลอดเวลา จึงต้องปรับการบริหารและโครงสร้างใหม่เพื่อรับมือกับวันข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายอลงกรณ์กล่าวว่า ทางด้านกระทรวงพาณิชย์ทำงานเชิงรุกตลอดเวลาเช่นกัน ล่าสุด นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้เร่งรัดการเปิดตลาดใหม่ด้วยโครงการจับคู่ธุรกิจเพื่อเจรจาการค้าผ่านระบบออนไลน์ในตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง แอฟริกา และลาตินอเมริกาซึ่งผู้เข้าร่วมเจรจาธุรกิจเป็นผู้ส่งออกไทยจำนวน 123 บริษัท และมีผู้ซื้อ ผู้นำเข้าสมัครเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น จำนวน 74 ราย เกิดการจับคู่ธุรกิจได้จำนวน 123 คู่ ก็เป็นอีกมาตรการเพื่อขยายตลาดส่งออกโดยเฉพาะผลไม้และผลิตภัณฑ์ผลไม้ของไทย

นครนายก – อีกหนึ่งตัวอย่างของความสำเร็จ! กองทัพบก โดยผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ได้มอบทุนการศึกษา ให้กับนายธนากร ทองหนูนุ้ย เยาวชนคนเก่งที่สามารถสอบคักเลือกเข้าเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร และเลือกเหล่ากองทัพบก

ที่กองบัญชาการ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เขาชะโงก อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก กองทัพบก โดยพลโทจิรเดช กมลเพ็ชร ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ได้มอบทุนการศึกษา เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ ในการศึกษาเล่าเรียนแก่นายธรากร ทองหนูนุ้ย เยาวชนคนเก่งที่สามารถสอบคัดเลือกเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหาร ได้ที่ 1 เกือบทั้ง 4 เหล่า และตัดสินใจเลือกเหล่ากองทัพบก เป็นนักเรียนที่มีความตั้งใจ อดทน มีความพากเพียรถึงแม้จะขาดแคลนทุนทรัพย์ ครอบครัวค่อนข้างยากจน แต่ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคทั้งปวง

 

เพื่อให้เยาวชนได้เห็นเป็นตัวอย่างที่ดีในความพยายามดังกล่าว ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพบกทั้งอดีตและปัจจุบัน ให้ความกรุณาส่งเสริม สนับสนุนให้ความช่วยเหลือเพื่อเป็นกำลังใจในความพากเพียรและอุตสาหะ ดังกล่าว อนึ่งในโอกาสที่นายธรากร ทองหนูนุ้ยจะเข้ารับการศึกษา ณ โรงเรียนเตรียมทหาร ในวันที่ 10 สิงหาคม 2564 กองทัพบก โดยพลโทจิรเดช กมลเพ็ชร ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ได้มอบทุนการศึกษา เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ ในการศึกษาเล่าเรียนต่อไป


ภาพ/ข่าว  สมบัติ เนินใหม่ / รัชชานนท์ เนินใหม่ / ผู้สื่อข่าวจังหวัดนครนายก

ขอนแก่น - รพ.ศรีนครินทร์ มข. เพิ่มเตียงผู้ป่วยโควิด รับมือทุกกลุ่มอาการเป็น 400 เตียง รับขอนแก่นกลับบ้าน ปรับหอผู้ป่วยหลัก 3 จุดเป็นหอผู้ป่วยโควิดโดยเฉพาะ ขณะที่ล่าสุดพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น เร่งจับตาคลัสเตอร์ใหม่เชื่อมโยงตลาดศรีเมือทอง

เมื่อเวลา  09.00 น.วันที่ 11 ส.ค.2564  ที่ รพ.ศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. นพ.สมชายโชติ  ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุข จ.ขอนแก่น พร้อมด้วย รศ.นพ.อภิชาติ  จิระวุฒิพงศ์ คณะบดีคณะแพทยศาสตร์ มข. และ รศ.นพ.ทรงศักดิ์  เกียรติชูสกุล ผอ.รพ.ศรีนครินทร์ ตรวจติดตามความคืบหน้าการปรับปรุงอาคารรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ตามกรอบความร่วมมือร่วมระหว่าง สสจ.ขอนแก่น และ มข. ในการให้การรักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดยเฉพาะ

รศ.นพ.ทรงศักดิ์ เกียรติชูสกุล ผอ.รพ.ศรีนครินทร์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น คณะแพทยศาสตร์ มข. จึงได้มีการพิจารณาปรับเปลี่ยนหอผู้ป่วย 3 แห่ง ซึ่งประกอบด้วย หอผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉิน หรือ AE 1,2,3 หอผู้ป่วยไฟไหม้น้ำร้อนลวก หรือ Burn Unit และ ICU ศัลยกรรม มาเป็นหอผู้ป่วยรวมสำหรับการให้บริการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดยเฉพาะ โดยมีการแยกส่วนเฉพาะหอผู้ป่วยดังกล่าวชั้น 2 ของ รพ. เป็นเขตพื้นที่ควบคุม ดูแลรับผู้ป่วยโควิด ในโซนตะวันตกของจังหวัดขอนแก่น เพื่อแบ่งเบาภาระของ รพ.ขอนแก่น ในการดูแลผู้ป่วยที่จะต้องรับส่งต่อซึ่งจากแผนการปรับปรุงดังกล่าวหากนับรวม รพ.สนามขอนแก่น แห่งที่ 1 ที่หอพัก 26 ที่ดำเนินการอยู่จะให้ศักยภาพของ รพ.ศรีนครินทร์จะสามารถให้บริการทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ได้มากถึง 300 เตียง

“แผนการดำเนินงานดังกล่าวขณะนี้มีความคืบหน้าอย่างมาก โดยคาดว่ายในเดือน ส.ค.นี้การรับหอผู้ป่วยเดิมเป็นหอผู้ป่วยโควิดโดยเฉพาะจะสามารถดำเนินการได้ทั้งระบบ ตามสัดส่วนการบริหารจัดการเหตุการณ์ในความรับผิดชอบของ รพ.ศรีนครินทร์ ประกอบด้วย ที่ รพ.สนามขอนแก่น แห่งที่ 1 หอพัก 26 มข. ที่รองรับการรักษาได้ 256 เตียง , ที่ รพ.ศรีนครินทร์ จะรองรับผู้ป่วยในกลุ่มอาการสีเขียว เป็น 100 เตียง,สีเหลือ 30 เตียง ,สีส้ม 16 เตียงและสีแดง 22 เตียง โดยได้ประสานการทำงานร่วมกันกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในการรับผู้ป่วยในเขตอำเภอทางตะวันตกและกลุ่มผู้ป่วยในเขต อ.เมือง ตามแผนการดำเนินงานร่วมระหว่างหน่วยงานที่ได้กำหนดไว้”

ขณะที่ นพ.สมชายโชติ  ปิยวัชร์เวลา นยแพทย์สาธารณสุข จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ยอดผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีการรายงานยืนยันล่าสุดวันนี้ อยู่ที่ 264 รายในจำนวนนี้แยกเป็นกลุ่มคลัสเตอร์เรือนจำ 145 ราย ที่เหลือคือกลุ่มที่เดินทางกลับมาจากต่างจังหวัดที่เข้ารับการรักษาตัวตามระบบการส่งต่อทางการแพทย์ ทำให้ขณะนี้ยอดผู้ป่วยสะสมของจังหวัดอยู่ที่ 6,680 ราย กำลังรักษา 5,480 ราย และมีผู้เสียชีวิตสะสม 25 ราย ขณะที่การเพิ่มจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยตามบริหารจัดการทางการแพทย์ ซึ่งวันนี้ข่าวดีจาก รพศรีนครินทร์ ที่มีความคืบหน้าในการสร้างหอพักผู้ป่วยโควิดโดยเฉพาะซึ่งแม้ว่า รพ.ศรีนครินทร์ จะเป็นโรงเรียนแพทย์ที่มีภารกิจหลัก คือ การเรียนการสอน แต่ในสภาวะการระบาดของโควิด-19 ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมแรงร่วมใจ จนนำมาสู่การดำเนินงานของ รพ.ฯและการจัดระบบรับส่งต่อจากรพ. ชุมแพ, ภูผาม่าน ,สีชมพู, เวียงเก่า, หนองนาคำ ,ภูเวียง ,หนองเรือ  และ อ.บ้านฝาง  ซึ่งแม้จะไม่สามารถรับได้ทั้งหมด แต่ได้เปิดรับในการให้การดูแล และให้คำปรึกษา ในการสร้างความร่วมมือ สร้างความเข้มแข็ง ในระบบบริการสาธารณสุข ได้อย่างดีเยี่ยม

อย่างไรก็ตามขณะนี้คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อยังได้จับตาคลัสเตอร์ตลาดหนองหม่น เขต ต.บ้านเป็ด อ.เมืองขอนแก่น ที่เชื่อมโยงกับคลัสเตอร์ตลาดศรีเมืองทอง หลังพบพ่อค้า-แม่ค้า ป่วยติดเชื้อแล้ว 12 รายและมีผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงและมารายงานตัวแล้กว่า 800 ราย ทำให้การตรวจคัดกรองเชิงรุกจึงดำเนินการต่อเนื่องทุกวันควบคู่กับการควบคุมสถานการณ์ของตลาดดังกล่าวไว้ในวงที่จำกัดอย่างรวดเร็ว

พังงา - รมช.มหาดไทย 'นิพนธ์ บุญญามณี' เดินสายตรวจความพร้อมการรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อเตรยมรับการท่องเที่ยว

ที่บริเวณด่านหน้า รพ.สต.บ้านเตรียม อ.คุระบุรี จังหวัดพังงา 'นายนิพนธ์ บุญญามณี' รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เดินทางจากจังหวัดระนอง เพื่อตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ ด่านตรวจป้องกันโควิด-19 จังหวัดพังงา ฝั่งรอยต่อจังหวัดระนอง ก่อนมอบ เสื้อกั๊ก “บำบัดทุก บำรุงสุข” ให้กับ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เนื่องในวันกำนันผู้ใหญ่บ้าน และเดินทางต่อไป จ.กระบี่

โดยพบว่า จังหวัดพังงาเป็นจังหวัดต้น ๆ ของประเทศไทย ที่สามารถบริหารจัดการ และรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี และถือเป็นจังหวัดที่มีความพร้อม ในการนำร่องเปิดโมเดลอันดามันแซนด์บ๊อก ต่อจากภูเก็ตแซนด์บ๊อก ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน ควบคู่กับการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส

ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จังหวัดพังงา พบว่า ในระลอกแรก พบผู้ติดเชื้อ 2 ราย ระลอกที่2 ไม่พบผู้ติดเชื้อ ส่วนระลอก3 ข้อมูลล่าสุดพบ 806 ราย โดยจังหวัดพังงายังคงใช้มาตรการ SEAL พื้นที่ชุมชนที่เกิดการระบาด SCAN ตรวจหาผู้ป่วย และ CLEAN พร้อมกับมาตรการ รักษา เยียวยา ฟื้นฟูผู้ติดเชื้อ

ส่วนการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ด้วยการฉีดวัคซีน คาดว่าในช่วยปลายปี จะครบตามจำนวนที่วางแผนเอาไว้


ภาพ/ข่าว  อโนทัย​ งานดี / พังงา​

กาฬสินธุ์ – นำจิตอาสาร่วมกิจกรรมพัฒนาชุมชน ทำความดี ด้วยหัวใจ ร่วมกิจกรรม จิตอาสาพัฒนาชุมชนเอามื้อสามัคคี สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต บ้านโจด หมู่ที่ 10 ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ นายทรงพล  ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทานจังหวัดกาฬสินธุ์ นำจิตอาสาพระราชทาน จ.กาฬสินธุ์ ถวายราชสักการะพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในกิจกรรม จิตอาสาพัฒนาชุมชนเอามื้อสามัคคี ที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (CLM) ระดับตำบล ของนางอุไลย์ ทบวัน  ซึ่งเป็นไปตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ 'โคก หนอง นา โมเดล'

โดยจิตอาสาพระราชทานได้ร่วมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ได้พระราชทานโครงการจิตอาสา เราทำความดีด้วยหัวใจ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้มีส่วนร่วมในการทำประโยชน์แก่สังคม ชุมชนและประเทศชาติ ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนได้น้อมนำแนวทางจิตอาสาพระราชทานนี้ มาจัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาชุมชนเอามื้อสามัคคี เพื่อเป็นการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ และสร้างจิตสำนึกในการเกื้อกูลแบ่ง อันเป็นวัฒนธรรมอันที่ทรงคุณค่าและดีงามของประเทศไทย โดยมีนายสนั่น พงษ์อักษร รองผวจ.กาฬสินธุ์ พ.อ.เรืองพงษ์ วงศรีสุข รอง ผอ.รมน.กาฬสินธุ์ นายอุทัย สิงห์ทอง พัฒนาการ จ.กาฬสินธุ์ นายสัมฤทธิ์ กิตติโชติสุขสงค์ นายอำเภอกมลาไสย พร้อมด้วยจิตอาสาพระราชทาน จ.กาฬสินธุ์เข้าร่วมกิจกรรม

นอกจากนี้นายทรงพล  ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์พร้อมด้วยจิตอาสาพระราชทาน จ.กาฬสินธุ์ ได้ร่วมกันปลูกต้นไม้รอบแปลงศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบฯ พร้อมทั้งได้ร่วมกันปล่อยปลาตะเพียนจำนวน 30,000 ตัว และเยี่ยมชมแปลงสาธิต โคก หนอง นา โมเดล ซึ่งมีพื้นที่ 15 ไร่ ได้ทำการปั้นโคก ขุดหนอง และทำนา พร้อมทั้งเตรียมเพาะปลูกพืชบนคันนา เป็นคันนาทองคำ ปลูกไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และเยี่ยมชมแปลงเพาะต้นกล้าสมุนไพร ประกอบด้วย  ฟ้าทะลายโจร ว่านหางจระเข้ ว่านไฟ และพืชผักสวนครัว ทั้งนี้ศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (CLM) ระดับตำบล บ้านโจด มีประชาชน ผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้และสอบถามเกี่ยวกับการทำโคก หนอง นา โมเดล อย่างต่อเนื่อง


ภาพ/ข่าว ณัฐพงษ์  ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

ปทุมธานี - อบจ.ปทุมธานี จับมือกรมชล ร่วมพัฒนาแหล่งน้ำพร้อมถนนคอนกรีตเพื่อประชาชน

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564 เวลา 08:30 น. ที่คลองระบายน้ำลาดผักขวง ต.ศาลาครุ อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี , นายสุริยา ธรรมธารา สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี เขต 1หนองเสือปทุมธานี , นายอนันต์ รุ่งแสง นายก อบต.ศาลาครุ ได้ตรวจดูการดำเนินงานของ กรมชลประทาน ที่ได้ดำเนินการขุดลอกคลองระบายน้ำลาดผักขวง ระยะทาง 4 กิโลเมตร พร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อรองรับปริมาณน้ำช่วงหน้าฝน และให้เกษตรกรกว่า 10,000 ไร่ได้ใช้ประโยชน์

พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี กล่าวว่า ต้องขอบคุณกรมชลประทานที่ได้งบประมานมาขุดลอกคลอง โดยได้จัดสรรจากจังหวัดปทุมธานี เป็นจำนวนเงินล้านกว่าบาท เพื่อขุดลอกคลองระยะทาง 4 กิโลเมตร คาดว่าใช้ระยะเวลาไม่ถึง 10 วัน หลังจากที่เมื่อดำเนินการเสร็จแล้ว จะต้องมีการดูแลรักษาเพื่อไม่ให้วัชพืชขึ้นเต็มคลองอย่างที่เคยเป็นมา จะต้องไม่ให้มีขึ้นอีก ขอบคุณกรมชลประทานจริง ๆ ที่เห็นความสำคัญของพี่น้องชาวเกษตรกรในการใช้น้ำ เมื่อดำเนินการพัฒนาคลองดีแล้วก็จะทำถนนเลียบคลองจากบริเวณประตูทางระบายน้ำ นี้ไปออกเส้นทางคลองสิบสี่หลังวัดปทุมนายก เป็นการย่นระยะทางการสัญจรของประชาชนได้ในระดับหนึ่ง เมื่อกรมชลประทานมีงบประมานมาทำถนน เลียบคลองทั้งสองฝั่ง ซึ่งก็พอจะทราบในการจัดสรรงบของกรมชลประทาน เป็นถนนลูกรัง ทาง อบจ.ก็จะสามารถสนับสนุนใช้งบประมานสร้างถนนคอนกรีต เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนให้มากที่สุด

นายสมบูรณ์ เจิมไทย วิศวกรชลประทานชำนาญการ กรมชลประทาน กล่าวว่า คลองแห่งนี้เป็นคลองที่เชื่อมระวังคลองสิบสามและคลองสิบสี่ ในการดำเนินลอกคูคลองครั้งนี้มีเกษตรกรได้รับประโยชน์จากการใช้น้ำถึง 10,000 ไร่ นอกจากนี้ยังช่วยในเรื่องของการระบายน้ำ ซึ่งโครงการระยะยาวจะมีการสร้างประตูระบายน้ำและขยายคลอง อาจจะมีการสร้างถนนเลียบตลอดทั้งคลอง โดยได้รับการประสานทางจาก พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี ในการเสริมคอนกรีตถนน เป็นเรื่องการทำงานร่วมกันระหว่าง กรมชลประทานและ อบจ.ปทุมธานี


ภาพ/ข่าว ประภาพรรณ ขาวขำ/รายงาน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top