Saturday, 17 May 2025
THE STATES TIMES TEAM

ชลบุรี – คนพัทยานับพันชีวิต นำลอตเตอรี่เก่าเข้าร่วมโครงการแจกข้าวสาร 1,999 ถุง แน่นแหลมบาลีฮาย

เมื่อเวลา 17.30 น. วันที่ 9 สิงหาคม 2564 เจ้าหน้าที่เทศกิจเมืองพัทยาได้ปฏิบัติงานดูแลและอำนวยความสะดวก พร้อมควบคุมมาตรการดูแลและป้องกันโรคติดต่อให้กับประชาชนเมืองพัทยานับพันคนที่ทยอยเดินทางมาร่วมโครงการแจกข้าวสาร 1,999 ถุง ถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวันแม่แห่งชาติ 12 สิงหามหาราชินี ประจำปี 2564

โครงการแจกข้าวสาร 1,999 ถุง ถวายเป็นพระราชกุศลฯ เป็นหนึ่งกิจกรรมที่ภาคเอกชน โดย MTC หรือ บจก. Moji Tree Connection และ บจก.โคลเวอร์ โกลฟว์ เจ้าของผลิตภัณฑ์ Clover Kit ได้ร่วมกันแสดงออกเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

โดยมี พ.ต.ท.สมบูรณ์ เอื้อสมานไมตรี สว.ส.ทท.4 กก.2 บก.ทท.1 นำคณะจิตอาสา ช่วยกันแจกจ่ายข้าวสารและสิ่งของบริจาคให้กับประชาชน ในครั้งนี้ ยังได้รับเกียรติจากนายวัฒนา จันทนวรานนท์ ที่ปรึกษานายกเมืองพัทยา พร้อมครอบครัวได้นำอาหารชุดและข้าวสารอาหารแห้งมาร่วมช่วยเหลือประชาชนกว่า 800 รายการด้วย

นายจิรวุฒิ พงพินิท กรรมการผู้จัดการ MTC ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ครั้งนี้ได้ร่วมกับนายก้องภพ กันตถาวร เจ้าของ Clover Kit และนายเอกปัญญา หอมตระกูลขจร ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บจก.โคลเวอร์ โกลฟว์ ร่วมกันช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งหลังจากได้รับแลกสลากกินแบ่งรัฐบาลเก่าที่ประชาชนนำมาแลกข้าวสารแล้ว จะได้นำไปจัดทำเป็นดอกไม้จันทน์และพวงหรีดมอบให้กับผู้เสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 ตามความเหมาะสมต่อไป

ทั้งนี้ เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่ทุเลาเบาบาง ทาง MTC ได้มีแนวคิดในการช่วยเหลือสังคมแบ่งเบาภาระของบุคคลากรทางการแพทย์ ด้วนการจัดกิจกรรมรับตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วย Clover Kit ให้กับประชาชนที่มีความประสงคจำนวน 1,000 ราย และจะได้ร่วมกับสมาคมนักข่าวพัทยาในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้กลุ่มสมาชิกนักข่าวที่ออกปฏิบัติงานด่านหน้าในเร็ว ๆ นี้ด้วยเช่นกัน


ภาพ/ข่าว  อนันต์ สุขวัฒนะ / เอกชัย สุขวัฒนะ ผู้สื่อข่าวภูมิภาค พัทยา จ.ชลบุรี

สุโขทัย – คณะสงฆ์จังหวัดสุโขทัย ช่วยเหลือบุคลากรและประชาชน ที่ได้ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 10 ส.ค.64 พระมหากายสิทธิ์ สิทธาภิภู รองเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย เจ้าอาวาสวัดบึงครอบศรัทธาราม พร้อมด้วยคณะสงฆ์อำเภอทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย โดยพระมหาสุธีร์ อิสฺสโร เจ้าคณะอำเภอทุ่งเสลี่ยม พระครูชัยรัตนบรรพต รองเจ้าคณะอำเภอทุ่งเสลี่ยม คณะกรรมการกลุ่มงานสาธารณะสงเคราะห์อำเภอทุ่งเสลี่ยม กองงานเลขานุการเจ้าคณะอำเภอทุ่งเสลี่ยม ได้เดินทางไปมอบอาหาร น้ำดื่ม ให้กับเจ้าหน้าที่และผู้ป่วยที่โรงพยาบาลทุ่งเสลี่ยม และศูนย์พักคอยตำบลกลางดง วัดเชิงผา และศูนย์พักคอยตำบลทุ่งเสลี่ยม วัดป่าเด่นดีหมี

ด้านพระมหาสุธีร์ อิสฺสโร เจ้าคณะอำเภอทุ่งเสลี่ยม กล่าวว่าในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 ในขณะนี้ทางคณะสงฆ์สุโขทัย โดยพระมหากายสิทธิ์ สิทธาภิภู รองเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย ได้นำอาหาร น้ำดื่ม มามอบให้กับทางโรงพยาบาลทุ่งเสลี่ยม และศูนย์พักคอยตำบลกลางดง วัดเชิงผา และศูนย์พักคอยตำบลทุ่งเสลี่ยม วัดป่าเด่นดีหมีเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่คุณหมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ฝ่ายปกครอง บุคลากรด่านหน้า และเจ้าหน้าที่กู้ภัยทุกท่าน ที่ทุ่มเทการทำงานให้กับประชาชน และผู้ป่วย และผู้กักตัวในพื้นที่และที่เดินทางกลับมารักษาตัวยังพื้นที่อำเภอทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้

 

ระยอง - ประมงจังหวัดระยอง มอบพันธุ์ปลาตะเพียน จำนวน 250,000 ตัว ให้ อปท. ปล่อยลงแหล่งน้ำสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

เมื่อวันที่ 10 ส.ค.2564 ที่ห้องโถงชั้น 1(มุขหน้า) ศาลากลางจังหวัดระยอง ต.เนินพระ อ.เมือง จ.ระยอง นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เป็นประธานในการกิจกรรมมอบพันธุ์ปลาตะเพียนขาว ตะเพียนทอง จำนวน 250,000 ตัว ให้แก่นายฉลาด มีลาภ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลชากโดน อ.แกลง มีนายเสรี เรือนหล้า ประมงจังหวัดระยอง นายพิสัณห์ เนื่องจำนงค์ คลังจังหวัดระยอง นายพิศ นันทพูลพิพัฒน์ พัฒนาการจังหวัดระยอง และนายกุมพล ชวนชม ประชาสัมพันธ์จังหวัดระยอง ร่วมกิจกรรมฯ เพื่อนำไปแจกจ่ายให้ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนในพื้นที่ปล่อยลงแหล่งน้ำสาธารณะ จำนวน 7 แหล่งน้ำในพื้นที่

นายเสรี เรือนหล้า ประมงจังหวัดระยอง กล่าวว่า กิจกรรมมอบพันธุ์ปลาดังกล่าวจัดขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 12 สิงหาคม 2564 นี้ รวมทั้งเป็นการเพิ่มทรัพยากรสัตว์น้ำในแหล่งน้ำสาธารณะที่เป็นแหล่งอาหารโปรตีนของประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นี้ ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในพื้นที่อีกด้วย


ภาพ/ข่าว  วฐิต กลางนอก / ธีรวัฒน์ อินธิพันธ์ รายงาน

‘สส.ยงยุทธ’ จับมือ ‘อรัญญา’ นายกเทศมนตรีตำบลแพรกษา มอบถุงยังชีพศูนย์พักคอย จัดตั้งทีมเร่งช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเขตพื้นที่

ที่บริเวณลานอเนกประสงค์ ศูนย์พักคอยรอการส่งต่อ เทศบาลตำบลแพรกษา ดร.ยงยุทธ สุวรรณบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 2 จังหวัดสมุทรปราการ พรรคพลังประชารัฐ  พร้อมด้วย นางอรัญญา สุวรรณบุตร นายกเทศมนตรีตำบลแพรกษา ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนประชาชนภายในศูนย์พักคอยเทศบาลตำบลแพรกษา พร้อมกับมอบถุงยังชีพจำนวนกว่า 40 ชุด นำไปมอบให้กับประชาชนที่พักรักษาตัวภายในศูนย์พักคอยของทางเทศบาลตำบลแพรกษา จังหวัดสมุทรปราการ

โดยทางด้าน ดร.ยงยุทธสุวรรณบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 2 จังหวัดสมุทรปราการ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ในวันนี้ ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมด้วย นางอรัญญา สุวรรณบุตร นายกเทศมนตรีตำบลแพรกษา มีความห่วงใยประชาขนผู้ติดเชื้อโควิด-19 จึงนำคณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ ร่วมลงพื้นที่มอบถุงยังชีพให้กับประชาชนที่พักรักษาตัวภายในศูนย์พักคอยรอการส่งต่อของทางเทศบาลตำบลแพรกษา

เพื่อเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจประชาชนผู้ติดเชื้อโควิด-19 อีกทั้ง ยังเป็นการแสดงออกถึงความห่วงใยต่อประชาชนที่พักรักษาตัวภายในศูนย์พักคอยรอการส่งต่อแห่งนี้อีกด้วย อีกทั้ง ขณะนี้ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ ได้ประสานความร่วมมือกับทางเทศบาลตำบลแพรกษา โดยนางอรัญญา สุวรรณบุตร นายกเทศมนตรีตำบลแพรกษา ได้จัดทีมเจ้าหน้าที่คอยดูแลพี่น้องประชาชนผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ในเขตพื้นที่เทศบาลตำบลแพรกษา จำนวน 7 ทีม แบ่งทีมปฎิบัติหน้าที่ในการดูแลประชาชน ยกตัวอย่างเช่น ทีมตรวจสอบข้อมูลของประชาชน ทีมดูแลรถพยาบาลคอยรับส่งผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ทีมดูแลพื้นที่ในเขตเทศบาลตำบลแพรกษา ทีมเข้าทำความสะอาดพ่นยาฆ่าเชื้อ ทีมตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจประชาชน 

เพื่อให้ประชาชนในเขตพื้นที่คลายความกังวลว่าทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้นิ่งนอนใจในการให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ติดเชื้อ  และไม่เคยทอดทิ้งประชาชนซึ่งทางเทศบาลตำบลแพรกษาก็ได้ให้ความสำคัญมาโดยตลอด และในส่วนการทำงานของทางศูนย์พักคอยของทางเทศบาลตำบลแพรกษา ก็ได้มีการจัดทีมเจ้าหน้าที่ รพ.สต. คอยดูแลประชาชนที่พักรักษาตัวภายในศูนย์พักคอยแห่งนี้ มีการวางแผนบริหารจัดการเรื่องยาให้กับประชาชนผู้ติดเชื้อภายในศูนย์พักคอย นับว่าเป็นการบริหารจัดการที่ดีที่ทางเทศบาลตำบลแพรกษาได้ดำเนินการอยู่ในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการจัดตั้งกลุ่ม LINE เพื่อประสานข้อมูลการให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ติดเชื้อ  โควิด-19 และหากประชาชนท่านใดมีข้อสงสัยหรือต้องการประสานแจ้งข้อมูลผู้ป่วยผู้ติดเชื้อ ในเขตพื้นที่เทศบาลตำบลแพรกษา สามารถโทรเข้ามาสอบถามข้อมูลกับทางเจ้าหน้าที่เทศบาลแพรกษาได้ทันที สามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 02-342–9723 กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมเทศบาลตำบลแพรกษา / 082-619-2639  ผู้ใหญ่ลิขิต แพหมอ / 062-959-8265  นายกิตติ์รวี พรสินจุรีย์ และผอ.รพ.สต.แพรกษา


ภาพ/ข่าว  คิว-ข่าวสมุทรปราการ รายงาน

ลำปาง - ครูอัตราจ้างอำเภอแม่เมาะ ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ ลำปาง เร่งพิจารณาจัดหาผู้แทนในส่วนภาครัฐ (คพรฟ.)เนื่องจากไม่ได้รับเงินเดือนมากว่า 11 เดือนแล้ว!!

เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 ที่ จ.ลำปาง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะครูอัตราจ้างอำเภอแม่เมาะ จ.ลำปาง นำโดย น.ส.ปวีณา เนียมประยูร ประธานครูอัตราจ้างอำเภอแม่เมาะ  พร้อมพวกจำนวนกว่า 100 คน ได้เดินทางมายื่นหนังสือต่อนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากรผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เพื่อขอความอนุเคราะห์เร่งพิจารณาจัดหาผู้แทนในส่วนภาครัฐ (คพรฟ.)เนื่องผู้ว่าฯลำปางติดราชการจึงมอบหมายให้ นายจำลักษ์  กันเพ็ชร์ และนายศรัณยู มีทองคำ รองผู้ว่าฯลำปาง และนางศุกลรัตน์ จันทร์มณี ผอ.ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดลำปาง มารับหนังสือแทน

ตามที่ได้รับหนังสือตอบรับการขอติดตามและเร่งรัดการดำเนินการอนุมัติการจัดสรรและสนับสนุนงบประมาณตามโครงการครูอัตราจ้างอำเภอแม่เมาะ ซึ่งได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง จากสำนักงานจังหวัดลำปาง โดยปัจจุบันได้ดำเนินการมาถึงขั้นตอนของการแต่งตั้งคณะกรรมการหรือผู้แทนในส่วนของภาครัฐแล้ว ผลปรากฎว่ามีผู้แทนที่ไม่ผ่านเกณฑ์ขาดคุณสมบัติ ตามที่ กกพ.ได้กำหนดไว้ จำนวน 2 คน จาก 6 คน ซึ่งอาจจะต้องมีการคัดเลือกจัดหาผู้แทนใหม่อีกครั้ง ซึ่งเกรงว่าจะส่งผลให้เกิดความสาข้าต่อการพิจารณาอนุบัติโครงการดังกล่าวตามขั้นตอนการดำเนินการตามระเบียบที่ กกพ. ได้ตั้งไว้จนสิ้นปีงบประมาณในเดือน ก.ย. 2564 โดยจะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของครูอัตราจ้าง จำนวนทั้งสิ้น 52 อัตรา ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียนที่สังกัดและรอผลอนุมัติโครงการดังกล่าวเพื่อรับค่าตอบแทนที่ล่วงเลยมาเป็นระยะเวลาถึง 10 เดือน

ดังนั้น ในนามตัวแทนของครูอัตราจ้างตามโครงการครูอัตราจ้างอำเภอแม่เมาะ จึงขอความอนุเคราะห์ ได้ดำเนินการเร่งพิจารณาการคัดเลือกจัดหาผู้แทนในส่วนของภาครัฐที่มี คุณสมบัติครบตรงตามเกณฑ์หรือระเบียบตามที่ กกพ. กำหนด เพื่อจะได้เร่งดำเนินการพิจารณาตามขั้นตอน หลักเกณฑ์วิธีการและระเบียบของกองทุนฯ ในการอนุมัติโครงการโดยเร็ว และเพื่อให้ทันต่อการอนุมัติจัดสรรโครงการก่อนสิ้นปีงบประมาณในเดือน ก.ย.2564 นี้

ทางคณะครูอัตราจ้างอำเภอแม่เมาะ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเคยมายื่นหนังสือเรียกร้องเมื่อเดือน ก.ค. 2564 จำนวน 2 ครั้ง และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แต่ยังไม่มีความคืบหน้าและในเดือน ก.ย. 2564 นี้ ก็จะสิ้นปีงบประมาณแล้ว ครูอัตราจ้างจาก 20 โรงเรียน จำนว 52 คน และ สาธารณสุขอีก 36 คนไม่ได้รับเงินมากว่า 11 เดือนแล้ว รวมเงินกว่า 9 ล้านบาท จึงขอความเห็นใจท่านผู้ว่าฯลำปาง ทุกคนต้องกินต้องใช้ มีภาระค่าใช้จ่ายเหมือนกันหมด

ทางด้านนายศรัณยู หลังได้รับหนังสือดังกล่าวรับปาก พร้อมกับรับจะดำเนินการเรื่องดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ ก่อนที่จะพากันเดินทางกลับ


ภาพ/ข่าว  วินัย / ลำปาง  รายงาน

 

เทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา เริ่มฉีดวัคซีนชิโนฟาร์มเข็มแรกให้แก่ประชาชน จำนวน 11,800 โดส ตั้งแต่วันที่ 9 -23 สิงหาคม

วันที่ 9 สิงหาคม 2564 นายกลยุทธ ฉายแสง นายกเทศมนตรีเมืองฉะเชิงเทรา / นายพงษ์ศักดิ์ ร่มโพธิ์ทอง รองนายกเทศมนตรี / นายบุญทวี สุขรัตน์อมรกุล คณะผู้บริหาร สมาชิกสภาเทศบาล พร้อมเจ้าหน้าที่จากเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา

ลงพื้นที่โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ฉะเชิงเทรา เพื่อร่วมอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการฉีดวัคซีน ชิโนฟาร์ม เข็มแรกสำหรับประชาชนที่ไม่เคยได้รับวัคซีนโควิด-19 มาก่อน สำหรับวัคซีนชิโนฟาร์มรอบแรกที่เทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา ได้รับจัดสรรมาจำนวน 5,900 คน หรือ 11,800 โดส จะเริ่มฉีดให้กับประชาชนตั้งแต่วันที่ 9 -23 ส.ค. 64 จำนวนวันละ 600 คน มีการนัดเป็นรอบเวลาเพื่อป้องกันการแออัด และลดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด ซึ่งมีประชาชนที่ลงทะเบียนไว้กับเทศบาล ได้เดินทางมาเข้ารับการฉีดวัตซีนตามนัด โดยเทศบาลและโรงพยาบาลได้จัดให้มีจุดคัดกรองเบื้องต้น จุดลงทะเบียน และจุดรอรับการฉีดวัคซีนอย่างเหมาะสมตามมาตรการสาธารณสุข

กองทัพอากาศ สนับสนุนอากาศยานในการขนส่งผลผลิตทางการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

เมื่อวันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม 2564 นาวาอากาศเอก ภูศิษฏ์ ทิมเกิด ผู้บังคับการกองบิน 41 พร้อมด้วยนายสำเริง ไชยแสน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่, นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมรับมอบผลผลิตมังคุดจำนวน 4 ตัน จากกลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์การเกษตร จังหวัดสุราษฎร์ธานี และส่งมอบลำไย จำนวน 4 ตัน จากกลุ่มแปลงใหญ่ลำไยขัวมุง และกลุ่มแปลงใหญ่ลำไยท่ากว้าง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูน ตามโครงการแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตรมอบให้แก่จังหวัดสุราฏร์ธานี โดยมี นาวาอากาศเอก พุทธพงศ์ ผลชีวิน ผู้บังคับการกองบิน 7 เป็นผู้รับมอบ ณ ท่าอากาศยานทหาร กองบิน 41

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ได้มีการขยายตัวเป็นวงกว้าง และมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ประกอบกับราคาผลผลิตทางการเกษตรล้นตลาดและมีราคาตกต่ำ เนื่องจากไม่สามารถขนส่งไปยังพื้นที่ปลายทางได้ ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนผลไม้ และผู้ประกอบการ ได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก

กองทัพอากาศ จึงสนับสนุนปฏิบัติภารกิจการเลียงทางอากาศ เพื่อขนส่งผลผลิตทางการเกษตรของจังหวัดสุราษฎร์ธานี นำมาแลกเปลี่ยนกับผลผลิตทางการเกษตรของจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน เพื่อกระจายและแลกปลี่ยนผลิตผลระหว่างกัน โดยจะทำการลำเลียงแลกเปลี่ยน ระหว่างวันที่ 9-10 สิงหาคม 2564 นี้


ภาพ/ข่าว  นภาพร / เชียงใหม่

"ไทยไม่ทน” จัดกิจกรรมคาร์ม็อบแรลลี่ ขับไล่นายกรัฐมนตรี ร้องตรวจสอบจรรยาบรรณสื่อบางราย ระบุบ้านเมืองถึงขั้นวิกฤติ ประชาชนตายรายวันเศรษฐกิจพินาศ ชี้!! “ประยุทธ” ต้องลาออกสถานเดียว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเวลา 13.00 น.วันนี้ (8 ส.ค.) นายวันเฉลิม กุนเสน เลขาธิการคณะกรรม การประชาชนขับไล่เผด็จการแห่งชาติ เป็นแกนนำนัดหมายกลุ่มคนพัทยารักประชาธิปไตย และคณะไทยไม่ทน รวมตัวกันที่บริเวณหน้าที่ทำการอำเภอบางละมุง จ.ชลบุรี ริมถนนสายสุขุมวิทขาเข้า จ.ชลบุรี เพื่อร่วมขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ในรูปแบบ “คาร์ม็อบแรลลี่” ปิดป้ายประกาศ โบกธงและบีบแตรโดยมีวัตถุประสงค์ในการขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นขบวนรถและกลุ่มที่ร่วมเรียกร้องเข้าร่วมกว่า 500 คน อย่างไรก็ตามได้มีกำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่จากเมืองพัทยา และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางละมุง จำนวนกว่า 50 นาย เข้ามาควบคุมสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมและป้องกันโรคติดต่อของรัฐ

ในการนี้ พ.ต.อ.ศักดิ์ชาย สุวรรณนุกูล ผกก.สภ.บางละมุง ได้อ่านประกาศคำสั่งไม่ให้มีการชุมนุม หรือรวมกลุ่มของผู้คนตามแนวทางของคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดชลบุรี ที่ลงนามโดย นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี พร้อมระบุว่า จ.ชลบุรี ได้ประกาศให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด และพื้นที่เฝ้าระวังที่ห้ามไม่ให้มีการชุมนุม การทำกิจการที่จะก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 โดยผู้ฝ่าฝืนจะมีความผิดตามมาตรา 18 แห่ง พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงขอให้เลิกการชุมชน รวมถึงการจัดกิจกรรมภายใน 30 นาที

โดย นายวันเฉลิม กุนเสน เลขาธิการคณะกรรม การประชาชนขับไล่เผด็จการแห่งชาติ ได้รับฟัง พร้อมกล่าวว่าคณะรัฐบาลชุดนี้มาอย่างไม่ถูกต้อง ดังนั้น พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน จึงเป็นกฎหมายที่ไม่สามารถรับฟังได้และจะไม่ขอปฏิบัติตาม พร้อมกันนี้ได้อ่านแถลงการณ์ว่าการรวมตัวดังกล่าวเกิดขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศเพื่อโจมตีการบริหารงานของรัฐบาลที่ทำให้บ้านเมืองเกิดวิกฤตอย่างหนัก ทั้งสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ส่งผลให้มีประชาชนป่วยตายรายวัน ขณะที่กรณีเรื่องของวัคซีนก็ไม่มีความชัดเจน สิ่งสำคัญคือปัญหาเศรษฐกิจที่ทรุดอย่างหนัก ประชาชนยากไร้ ตกงาน โดยรัฐบาลไร้ศักยภาพในการบริหาร จึงได้ร่วมกับทุกองค์กรจัดกิจกรรมพร้อมกันทั่วประเทศ และจะมีการยกระดับเพิ่มมากขึ้นในหลายภูมิภาค ซึ่งมีจุดหมายเดียวคือ “พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีต้องลาออกจากตำแหน่งทันที

พร้อมกันนี้นายวันเฉลิม ได้ยื่นหนังสือต่อนายอัมพร แสงแก้ว นายกสมาคมนักข่าวพัทยา กรณีที่ให้ตรวจสอบจรรยาบรรณของผู้สื่อข่าวบางราย ที่กระทำหน้าที่และใช้วาจาอย่างไม่เหมาะสมลงในโลกโซเชียลเน๊ตเวิร์ค อีกทั้งยังเข้าร่วมการทำงานกับพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ซึ่งขัดต่อหลักการทำงานในสายวิชาชีพสื่อสารมวลชน โดยทางนายกสมาคมนักข่าวพัทยา ได้รับเรื่องไว้พร้อมรับปากว่าจะทำการตรวจสอบต่อไป

เชียงราย – วอนเร่งรัดกระบวนให้สัญชาติผู้เฒ่า เสียชีวิตก่อนได้บัตรประชาชนแล้ว 2 “ครูแดง” เผยอยู่ไทยมานานกว่า 40 ปี สร้างคุณประโยชน์มากมาย ยุคโควิดยิ่งลำบากไม่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการรัฐ

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564 นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการผู้ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) และอดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า การแก้ปัญหาผู้เฒ่าไร้สัญชาติ กรณีแปลงสัญชาติชนกลุ่มน้อย ผู้สูงอายุชาติพันธุ์อาข่า บ้านป่าคาสุขใจ ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการของกรมการปกครองแล้ว จำนวน 15 ราย และได้ส่งรายชื่อไปยังคณะกรรมการของกระทรวงมหาดไทยเพื่อพิจารณา และเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย  ซึ่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พศ.2508 ระบุว่าเมื่อรัฐมนตรีเห็นสมควรอนุญาตให้นำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต 

นางเตือนใจกล่าวว่า ผู้เฒ่าไร้สัญชาติจำนวน 15 รายนี้ อยู่ในกลุ่มที่มีการยื่นคำร้องเป็นกรณีศึกษาชุดแรก จำนวน 23 ราย ซึ่งการพิจารณาเป็นไปตามหนังสือสั่งการที่ลงนามโดยปลัดกระทรวงมหาดไทย (นายฉัตรชัย พรมเลิศ) เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 เรื่องการปรับปรุงแนวทางประกอบการพิจารณาให้สัญชาติไทยแก่ชนกลุ่มน้อย โดยการแปลงสัญชาติตามมาตรา10 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 

“สำหรับความคืบหน้าในครั้งนี้ ถือว่ามาไกล นับตั้งแต่มีการขับเคลื่อนแก้ปัญหาผู้เฒ่าไร้สัญชาติ ซึ่งมีความละเอียดและขั้นตอนที่ซับซ้อน ใช้เวลายาวนาน ผู้เฒ่ากลุ่มนี้ มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยมากกว่า 40 ปี กลมกลืนกับสังคมไทย และมีลูกหลานเป็นคนสัญชาติไทย ที่สำคัญคือเป็นกลุ่มที่ได้ทำคุณประโยชน์ ใช้ภูมิปัญญาในการรักษาป่าต้นน้ำ เป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูและปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ 5,000 ไร่ ตั้งแต่ปี พศ.2538 จนเป็นป่าต้นน้ำที่สำคัญแห่งหนึ่ง อย่างไรก็ตามตั้งแต่ยื่นคำร้องขอแปลงสัญชาติที่สำนักทะเบียนอำเภอ  และส่งเข้าสู่คณะกรรมการระดับจังหวัด ในกลุ่มนี้มีผู้เฒ่าเสียชีวิตไปแล้ว  2 ราย และบางรายกำลังป่วยหนัก หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญกับงานแก้ปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ตามที่อธิบดีกรมการปกครอง (นายธนาคม จงจิระ) กำหนดเป็น 1 ใน 10 เป้าหมายหลัก จะต้องมีการพัฒนาประสิทธิภาพของระบบ พัฒนากลไก บุคคลากร และทรัพยากร ของสำนักทะเบียนจากระดับอำเภอ จังหวัด ถึงระดับกรม เพื่อให้คำมั่นทั้ง 7 ข้อในการแก้ปัญหาคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ที่ผู้แทนรัฐไทยได้แถลงในที่ประชุมผู้บริหารผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ณ นครเจนีวา ตามมติคณะรัฐมนตรี 1 ตุลาคม 2562 บรรลุเป้าหมายได้จริง โดยเฉพาะข้อ 5 การแก้ปัญหาผู้สูงอายุไร้รัฐไร้สัญชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุด” นางเตือนใจ กล่าว

ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ พชภ.กล่าวว่า สำหรับผู้เฒ่าไร้สัญชาติ การล่าช้าหมายถึงเวลาในชีวิตที่หมดไปทุกวัน เสียโอกาสในการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการ ยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 พบว่าผู้เฒ่าไร้สัญชาติไม่สามารถเข้าถึงการชดเชยเยียวยาใดๆ ทั้งๆ ที่ท่านเป็นบุพการีของคนสัญชาติไทย โดยข้อมูลของกรมการปกครองระบุว่ามีจำนวนผู้เฒ่าไร้สัญชาติมากถึง 77,000 กว่ารายทั่วประเทศ 

ทั้งนี้ หนังสือสั่งการของปลัดกระทรวงมหาดไทยมีสาระสำคัญส่วนหนึ่งว่า สำหรับผู้ขอแปลงสัญชาติที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป คุณสมบัติเรื่องการมีความประพฤติดี ให้ยกเว้นการตรวจสอบพฤติการณ์ทางการเมือง ฯลฯ โดยใช้การสอบพยานบุคคลที่น่าเชื่อถือไม่น้อยกว่า 3 คน คุณสมบัติเรื่องการมีอาชีพเป็นหลักฐาน ให้พิจารณาจากอาชีพที่ผู้สูงอายุสามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการรวมกลุ่มอาชีพ หรืออาชีพส่วนบุคคล โดยให้นายอำเภอ หรือผู้อำนวยการเขตท้องที่ เป็นผู้ออกหนังสือรับรองการประกอบอาชีพ และยกเว้นเกณฑ์รายได้  คุณสมบัติเรื่องการมีความรู้ภาษาไทย ให้พิจารณาการใช้ภาษาไทยกลาง หรือภาษาถิ่นที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในพื้นที่จังหวัดที่เป็นภูมิลำเนา และว่าการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องสัญชาติของชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงกลุ่มผู้เฒ่าไร้สัญชาติที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ขอให้กำชับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกระดับเร่งรัดดำเนินการอย่างจริงจังและเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาด้านสัญชาติให้แก่บุคคลกลุ่มดังกล่าว เพื่อให้ได้รับสิทธิที่พึงมีพึงได้ตามกฎหมายและนโยบายของรัฐและห้ามมิให้มีการแสวงหาหรือเรียกรับผลประโยชน์หรือสิ่งตอบแทนใด ๆ 

นายอาทู่ เบียงแลกู่ อายุ 72 ปี และนางพิซุง เบียงแลกู่ อายุ 73 ปีคู่สามีภรรยา กล่าวว่าพวกตนอยู่ประเทศไทยมา 45 ปี แต่ยังไม่มีบัตรประชาชน ที่อยากได้เพราะต้องการสิทธิในการรักษาพยาบาล เพราะหากไม่มีบัตรต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง “ไม่รู้หรอกว่าหากได้บัตรประชาชนแล้วจะได้สวัสดิการอะไรบ้าง ไม่รู้ด้วยว่าจะได้รับการรักษาพยาบาลฟรี เพราะไม่เคยป่วย แต่อยากได้บัตรประชาชนไทย เพราะเป็นความภูมิใจในชีวิตที่อยู่บนแผ่นดินไทยมายาวนาน และจะได้นอนตายตาหลับ” พ่อเฒ่าแม่เฒ่าไร้สัญชาติ กล่าว

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ มูลนิธิพชภ. ได้รับการร้องเรียนและติดตามปัญหาของชาวบ้านบนพื้นที่สูงโดยเฉพาะบนดอยแม่สลอง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ซึ่งพบว่ามีผู้เฒ่ากลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ กำลังประสบความยากลำบากในชีวิตเนื่องจากไม่มีบัตรประชาชนแม้ว่าจะอาศัยอยู่ในประเทศไทยมานาน 40-50 ปี บางส่วนเกิดในไทยแต่ขาดหลักฐานเอกสารยืนยัน บางส่วนไม่ได้เกิดในไทยแต่อยู่มานานจนกลมกลืนกับสังคมไทยแล้ว ทั้งนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พชภ.ได้พาผู้เฒ่าไร้สัญชาติเหล่านี้เดินทางมายื่นคำร้องขอแปลงสัญชาติเป็นไทย แต่พบว่ามีข้อติดขัดหลายประการ โดยเฉพาะกระบวนการที่ซับซ้อน ทำให้เรื่องการแปลงสัญชาติของผู้เฒ่ากลุ่มนี้ยืดเยื้อมานาน อย่างกรณีของบ้านป่าคาสุขใจ อ.แม่ฟ้าหลวง บนดอยแม่สลอง ซึ่งมีคนเฒ่าไร้สัญชาติ ยื่นคำร้องจำนวน 27 ราย ซึ่งมีอายุตั้งแต่อายุ 65-98 ปี แต่กระบวนการที่ล่าช้า ทำให้มีผู้เฒ่าเสียชีวิตไปแล้วในระหว่างรอจำนวน 3-4 ราย

เชียงใหม่ - ม.แม่โจ้ MOU ร่วมเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกัญชงอินทรีย์ภาคเหนือ ปลูกกัญชงอินทรีย์-สร้างผลิตภัณฑ์ต่อยอดเชิงพาณิชย์-บันทึกข้อมูลระบบ Cloud เพื่อประโยชน์แก่เกษตรกร

วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม 2564 มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกัญชงอินทรีย์ภาคเหนือ (Northern organic Hemp: NOH) ซึ่งประกอบไปด้วยวิสาหกิจชุมชนจากจังหวัด เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา และลำพูน จำนวน 16  วิสาหกิจชุมชน ในโครงการปลูกกัญชงสายพันธุ์ที่ให้สารสำคัญสูง เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตในภาคเหนือของประเทศไทย ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพและจัดทำเป็นฐานข้อมูลสะดวกใช้ในระบบ Cloud 

โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ นายสุชาติ  อินต๊ะเขียว ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกกัญชงอินทรีย์ภาคเหนือ เป็นผู้แทนลงนามทั้งสองฝ่าย โอกาสนี้ นายนเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี(ปฏิบัติงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) และ ดร.ธนสาร  ธรรมสอน ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวแสดงความยินดีและให้กำลังใจ (ผ่านระบบออนไลน์) แก่เกษตรกรในเครือข่ายที่ได้ร่วมโครงการกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้  ทั้งนี้ มีคณะผู้บริหารของทางสองหน่วยงานร่วมเป็นสักขีพยายาน ณ สำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้

โครงการปลูกกัญชงสายพันธุ์ที่ให้สารสำคัญสูง เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตในภาคเหนือของประเทศไทย ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพและจัดทำเป็นฐานข้อมูลสะดวกใช้ในระบบ Cloud  เป็นโครงการที่ทั้งสองฝ่ายมีเจตนารมณ์ร่วมกันในการขอรับอนุญาตผลิต (ปลูก)กัญชง ผลิตผลิตภัณฑ์จากพืชกัญชงและนำผลผลิตและผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์  โดยร่วมกันสนับสนุนองค์ความรู้ และนวัตกรรมในเกษตรกรเพาะปลูกกัญชงระบบเกษตรอินทรีย์  ร่วมกันทดลองสายพันธุ์กัญชงที่มีเสถียรภาพ ผลผลิตต่อไร่สูง ให้สารสำคัญ CBD สูง มี THC ต่ำตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด และเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของภาคเหนือ และยังดำเนินการรวบรวมและพัฒนาข้อมูลการปลูกกัญชงอินทรีย์ทั้งกระบวนการ แล้วจัดเก็บฐานข้อมูลในระบบคลาวด์ เพื่อให้สะดวกต่อการใช้งานและเป็นต้นแบบให้แก่เกษตรกร และประชาชนที่สนใจต่อไปในอนาคต  

ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันแต่งตั้งคณะทำงานและนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญมาร่วมพัฒนาและมอบหมายให้ผู้แทนของแต่ละฝ่ายได้ตกลงกันในรายละเอียดภายใต้วัตถุประสงค์และขอบเขตความร่วมมือ หน้าที่และความรับผิดชอบตามที่กำหนด โดยบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ มีกำหนดระยะเวลา 5 ปี


ภาพ/ข่าว  วิภาดา


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top