Saturday, 3 May 2025
THE STATES TIMES TEAM

ตำรวจ ปส. สกัดแก๊งค้ายาบ้า ขณะขนยาบ้าล็อตใหญ่ 3.2 ล้านเม็ด ส่งแก๊งค้ายาบ้าภาคกลาง

ตามนโยบายการมุ่งเน้นแก้ไขปัญหายาเสพติดในทุกมิติของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ในการปราบปรามผู้ผลิตและผู้ค้ายาเสพติด โดยใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างจริงจังและเด็ดขาด รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการสกัดกั้นการลำเลียงยาเสพติดตามแนวชายแดน หรือใช้ประเทศไทยเป็นเส้นทางผ่าน และใช้มาตรการยึดทรัพย์เพื่อตัดวงจรการค้ายาเสพติด ตามนโยบายการแก้ปัญหายาเสพติดของรัฐบาล ภายใต้การอำนวยการโดย พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้ช่วย ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สรายุทธ สงวนโภคัย ผบช.ปส., พล.ต.ต.จิระวัฒน์ พยุงธรรม พล.ต.ต.พรพิทักษ์ รู้ยืนยงพล.ต.ต.บรรพต มุ่งขอบกลาง รอง ผบช.ปส., พล.ต.ต.ธนรัชน์  สอนกล้า ผบก.ปส.2 ตำรวจ ปส. สามารถจับกุมแก๊งค้ายาบ้า ขณะขนยาบ้าล็อตใหญ่ 3,200,000 เม็ด ส่งแก๊งค้ายาบ้าใน จ.พระนครศรีอยุธยา

โดยเมื่อวันที่ 15 ต.ค.66 เวลาประมาณ 22.10 น. ตำรวจ ปส.2 ได้สกัดกั้นการลำเลียงยาเสพติด ทางภาคอีสาน จับกุมผู้ต้องหา 2 คน คือ นายทศพล  หรือ อ๊อฟ อายุ 36 ปี(คนขับรถขนยาเสพติด) และนายสุริยา อายุ 38 ปี (นั่งข้างคนขับ) พร้อมของกลาง ยาบ้า 8 กระสอบ ประมาณ 3,200,000 เม็ด โดยขณะที่นายทศพล ขับขี่รถกระบะยี่ห้ออีซูซุ สีเทา ติดแผ่นป้ายทะเบียน xx 2235 ร้อยเอ็ด ไปถึงบริเวณสี่แยกไฟแดง ถ.สุขเกษม ต.ดงมะไฟ อำเภอเมือง จ.สกลนคร ตำรวจ ปส.2 ได้แสดงตนเข้าตรวจค้น พบยาบ้า 3,200,000 ล้านเม็ดในรถคันดังกล่าว จึงยึดเป็นของกลางและแจ้งข้อกล่าวหาจับกุมผู้ต้องหาทั้งสอง นำตัวส่งพนักงานสอบสวน ปส.2 ดำเนินคดีและขยายผลจับกุมผู้ร่วมขบวนการและยึดทรัพย์ผู้เกี่ยวข้องต่อไป เบื้องต้นผู้ต้องหาให้การ รับสารภาพว่า รับจ้างขนยาเสพติดเข้ามาจากจังหวัดติดแนวชายแดนทางภาคอีสาน เพื่อนำไปส่งลูกค้าที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ต่อไป

ตำรวจไซเบอร์จับ 2 บัญชีม้าขบวนการอ้างพัสดุผิดกฎหมาย แต่งชุดตำรวจวิดีโอคอลหลอกโอนเงิน สูญกว่า 2.6 ล้าน

สืบเนื่องจาก เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 66 ที่ผ่านมา ได้มีมิจฉาชีพโทรหาผู้เสียหาย อ้างว่าเป็นพนักงานส่งพัสดุของแบรนด์ดัง แจ้งว่ามีพัสดุส่งจาก จ.ตาก ไป จ.อุบลราชธานี โดยมีชื่อผู้ส่งเป็นชื่อผู้เสียหาย โดยหลอกว่าในกล่องพัสดุมีสมุดบัญชีธนาคารของผู้เสียหาย จำนวน 3 เล่ม และมีหนังสือเดินทางของชาวจีนอีกจำนวน 15 เล่ม  ต่อมา ผู้เสียหายหลงเชื่อ มิจฉาชีพจึงโอนสายให้ คุยกับตำรวจปลอม อ้างสังกัด สภ.เมืองตาก แล้วขอภาพถ่ายบัตรประชาชนจากผู้เสียหายไป นอกจากนี้ มิจฉาชีพยังได้ขอแอดไลน์และวิดีโอพูดคุยในชุดเครื่องแบบตำรวจติดยศระดับพันตำรวจเอกอ้างว่าเป็นผู้กำกับ เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ และพูดจาข่มขู่ให้ผู้เสียหายรู้สึกกลัว แล้วหลอกให้ผู้เสียหายโอนเงินไปให้ทำการตรวจสอบ ผู้เสียหายหลงเชื่อ จึงโอนเงินไปทั้งสิ้น จำนวน 9 ครั้ง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,661,529.45 บาท สุดท้าย เมื่อรู้ตัวว่าโดนหลอก จึงเข้าแจ้งความกับตำรวจไซเบอร์

ต่อมา พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. จึงสั่งการให้ บก.สอท.3 เร่งสืบสวนหาตัวผู้เกี่ยวข้องมาดำเนินคดี จนสามารถรวบรวมพยานหลักฐานขออำนาจศาลออกหมายจับผู้เกี่ยวข้องได้หลายราย

กก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สอท.3  ได้ทำการสืบสวนจนทราบว่า มีผู้ต้องหาที่ทำหน้าที่เปิดบัญชีธนาคารให้ขบวนการดังกล่าวใช้เป็นเครื่องมือ กบดานอยู่ในพื้นที่ จ. เพชรบุรี จำนวน 2 ราย จึงได้ร่วมกันลงพื้นที่และวางแผนเข้าจับกุม

ต่อมา วันที่ 16 ต.ค.2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถเข้าควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้ง 2 ได้ โดยสามารถจับกุม นายธีรนพ อายุ 21 ปี และ นายไพบูลย์ อายุ 24 ปี ชาวเพชรบุรี ตามหมายจับศาลจังหวัดขอนแก่น ในข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน”  โดยสามารถควบคุมตัวได้ในพื้นที่ ต.ช่องสะแก และ ต.ท่าราบ อ.เมืองเพชรบุรี จ.เพชรบุรี จึงนำส่งพนักงานสอบสวน กก.3 บก.สอท.3 ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.วรวัฒน์  วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท.3 พ.ต.อ.พงศ์นรินทร์ เหล่าเขตกิจ ผกก.วิเคราะข่าวฯ บก.สอท.3 ได้ดำเนินการสั่งให้เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม นำโดย พ.ต.ท.ภาคภูมิ บุญเจริญพานิช รอง ผกก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สอท.3, พ.ต.ท.เลอศักดิ์ พิเชษฐไพบูลย์, พ.ต.ต.รุ่งเรือง มีสติ, พ.ต.ต.ธวัช ทุเครือ สว.กก.วิเคราะห์ข่าวฯ และ ชุดสืบสวน ร่วมกันดำเนินการจับกุม

ก.แรงงาน รับแรงงานชุดที่ 5 จากอิสราเอลกลับถึงไทยแล้ว พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ตั้งโต๊ะอำนวยความสะดวกรับสิทธิประโยชน์จากกองทุนฯ

วันที่ 16 ตุลาคม 2566 นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน รับแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในอิสราเอลกลับถึงประเทศไทย จำนวน 244 คน โดยมี ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศที่ได้มาตั้งโต๊ะอำนวยความสะดวกให้คำแนะนำการยื่นคำร้องขอรับสิทธิประโยชน์จากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ ณ บริเวณชั้น 2 ประตู 10 อาคารผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ท่านพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มีความห่วงใยแรงงานไทยทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบในอิสราเอลในครั้งนี้และท่านได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด ในวันนี้ผมจึงได้มอบหมายให้ นายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ไปรับแรงงานไทย จำนวน 244 คน ที่เดินทางกลับมาด้วยสายการบินอิสราเอลแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ LY 085 โดยแรงงานไทยกลุ่มนี้ถือเป็นแรงงานชุดที่ 5 ที่ได้แจ้งความประสงค์ไว้กับสถานทูตฯ และเดินทางถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเมื่อเวลา 21.15 น.ของวันนี้ ทันทีที่มาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ กระทรวงแรงงานได้จัดเจ้าหน้าที่ตั้งโต๊ะให้บริการคำแนะนำเกี่ยวกับการยื่นคำร้องขอรับสิทธิประโยชน์จากกองทุนเพื่อช่วยเหลือแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ เพื่อให้แรงงานไทยได้รับเงินสิทธิประโยชน์ดังกล่าวโดยเร็วที่สุด

“แรงงานไทยที่เป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ และอยู่ในความคุ้มครอง มั่นใจได้เลยว่าเบื้องต้นมีสิทธิ์รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนฯ กรณีประสบปัญหาต้องเดินทางกลับประเทศไทยเนื่องจากภัยสงคราม รายละ 15,000 บาท อย่างแน่นอน หรือกรณีที่มีการรับรองจากแพทย์ว่าทุพพลภาพ จะได้รับการสงเคราะห์  เป็นจำนวน 30,000 บาท หรือกรณีเสียชีวิตในต่างประเทศ จะสงเคราะห์จำนวน 40,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการจัดการศพในต่าง ประเทศเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 40,000 บาทด้วย นอกจากนี้ประเทศอิสราเอลยังมีสวัสดิการตามกฎหมาย (ประกันการทำงาน + นายจ้างจ่าย) กรณีบาดเจ็บ/ พิการตามการรับรองของแพทย์ แบ่งเป็น บาดเจ็บ 10-19% ได้รับเงินก้อนเดียว ประมาณ 1,440,000 บาท บาดเจ็บเกิน 20% ได้รับเงินเดือนทุกเดือน จนกว่าจะเสียชีวิต โดยประเมินจากความสูญเสีย กรณีเสียชีวิต ภรรยาและบุตร ได้รับเงินเดือนทุกเดือน จนกว่าภรรยาจะแต่งงานใหม่ และบุตรอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ (ภรรยาเป็นเงิน 34,560 บาทต่อเดือน /บุตร เป็นเงิน 5,760-11,520 บาทต่อเดือน)” ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว 

ด้าน นายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าสถานการณ์
การให้ความช่วยเหลือพี่น้องแรงงานไทยในประเทศอิสราเอล เพิ่มเติมว่า ล่าสุดได้รับรายงานว่ามี แรงงานไทยที่ถูกจับไปเป็นตัวประกัน จำนวน 17 ราย เสียชีวิต จำนวน 29 ราย (รอยืนยัน) บาดเจ็บ 16 ราย (ยังไม่สามารถระบุชื่อได้ 1 ราย) มีผู้ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เดินทางกลับประเทศไทยกับทางสถานทูตฯ จำนวน 7,696 ราย จำแนกเป็น ผู้ที่ขอเดินทางกลับประเทศไทย จำนวน 7,596 ราย และ ไม่ประสงค์กลับ จำนวน 100 ราย ขณะนี้ เดินทางกลับถึงประเทศไทยแล้วกว่า 500 ราย

ตำรวจไซเบอร์ เตือนประชาชน CF สินค้าผ่านไลฟ์สดเฟซบุ๊ก ระวังถูกเพจปลอมสวมรอยหลอกให้โอนเงิน

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวว่า ได้รับรายงานจากศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่าที่ผ่านมายังคงมีผู้เสียหายหลายรายตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ จากการถูกหลอกลวงขายสินค้าผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปแบบของการซื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้า เนื่องจากผู้เสียหายถูกมิจฉาชีพใช้เพจร้านค้าปลอมที่สร้างเลียนแบบเพจร้านค้าจริงติดต่อมาหลังจากที่ผู้เสียหายได้ทำการสั่งซื้อสินค้าในระหว่างการไลฟ์สดของเพจร้านค้าต่างๆ โดยผู้เสียหายจะพิมพ์รหัสสินค้าที่ต้องการจะจองสั่งซื้อ (CF, Confirm) หากผู้เสียหายเป็นผู้ได้รับสิทธิในการซื้อสินค้าดังกล่าว จะมีข้อความจากระบบตอบรับอัตโนมัติของเพจจริงแจ้งมายังกล่องข้อความ (Inbox) บัญชีเฟซบุ๊กของผู้เสียหาย เพื่อยืนยันคำสั่งซื้อสินค้า แจ้งรหัสการสั่งซื้อ ราคา และช่องทางการชำระเงิน ซึ่งก่อนหน้านี้มิจฉาชีพได้แฝงตัวอยู่ในเพจจริงดังกล่าว เมื่อเห็นผู้เสียหายสั่งซื้อสินค้าแล้วจะฉวยโอกาสใช้เพจปลอมติดต่อไปยังบัญชีเฟซบุ๊กผู้เสียหาย โดยแอบอ้างเป็นร้านค้าจริง ส่งหมายเลขบัญชีธนาคาร (บัญชีม้า) ที่เตรียมไว้ให้ผู้เสียหายทำการโอนเงิน เมื่อผู้เสียหายไม่ได้ระมัดระวัง เพราะเห็นว่าเป็นชื่อเพจ รูปโปรไฟล์เพจใกล้เคียงหรือเหมือนกับเพจจริง จึงทำให้หลงเชื่อว่าเป็นเพจร้านค้าจริง จึงทำการโอนเงินชำระค่าสินค้าไปให้มิจฉาชีพ กระทั่งภายหลังทราบว่าถูกหลอกลวงและได้รับความเสียหาย

ทั้งนี้ จากสถิติศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.65 - วันที่ 14 ต.ค.66 พบว่า การหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ มีผู้เสียหายแจ้งความออนไลน์กว่า 137,719 เรื่อง หรือคิดเป็น 40.12% จากเรื่องการรับแจ้งความทั้งหมด สูงเป็นลำดับที่ 1 โดยมีมูลค่าความเสียหายกว่า 2,000 ล้านบาท สูงเป็นลำดับที่ 4 ของมูลค่าความเสียหายทั้งหมด รองลงมาจากการหลอกลวงให้ลงทุน การข่มขู่ทางโทรศัพท์ (Call Center) และการหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงาน

บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้เร่งรัดขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. โดยกำชับการขับเคลื่อนนโยบายในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในทุกรูปแบบ รวมถึงการสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงขายสินค้าหรือบริการผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ

โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า การหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว มิจฉาชีพมักจะมองหาเพจขายสินค้าที่มีชื่อเสียง หรือมีผู้ติดตามจำนวนมาก แล้วคัดลอกภาพโปรไฟล์ ตั้งชื่อเลียนแบบ หรือตั้งชื่อคล้ายกับเพจจริง เพื่อหลอกลวงประชาชน ที่ผ่านมา บช.สอท. ได้เร่งปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดในลักษณะดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง มีคดีสำคัญๆ หลายคดี สามารถทำการจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับได้หลายราย ตรวจยึดของกลางได้เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ถึงแม้จะมีข้อดีหลายๆ ประการ แต่ก็เป็นช่องทางหนึ่งให้มิจฉาชีพฉวยโอกาสเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ หลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชนโดยมิชอบ

จึงขอฝากประชาสัมพันธ์ พร้อมแนวทางการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ดังนี้

1.พึงระมัดระวังการซื้อสินค้าผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ หลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าที่ไม่มีหน้าร้าน ควรติดต่อซื้อจากบริษัท หรือตัวแทนจำหน่ายโดยตรง
2.ระวังการได้รับแจ้งว่าเป็นผู้โชคดี ได้รับสิทธิพิเศษ หรือได้รับรางวัลต่างๆ แต่มีการให้โอนเงินไปก่อนถึงจะได้รับสินค้า โดยมีการอ้างว่าเป็นค่าภาษี ค่าธรรมเนียม ฯลฯ อย่าได้โอนเงินเด็ดขาด
3.ระวังช่องทางขายสินค้าปลอม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพจเฟซบุ๊กปลอม หรือเพจลอกเลียนแบบเพจจริง โดยเพจจริงควรจะมีผู้ติดตามสูง มีการสร้างขึ้นมานานแล้ว มีรายละเอียดการติดต่อร้านชัดเจนสามารถโทรศัพท์ไปสอบถามได้
4.หากต้องการซื้อสินค้ากับเพจเฟซบุ๊กใด ให้ไปที่ความโปร่งใสของเพจ เพื่อตรวจสอบก่อนว่าเพจนั้นมีการเปลี่ยนชื่อมาก่อนหรือไม่ มีผู้จัดการเพจ หรือผู้ดูแลอยู่ในประเทศหรือไม่
5.เมื่อสนใจต้องการซื้อสินค้ากับเพจใดๆ ควรจะส่งข้อความไปยังเพจจริงนั้นก่อน ระหว่างหรือหลังการไลฟ์สดหากมีเพจใดๆ ติดต่อมาแล้วไม่มีประวัติการสนทนา เชื่อได้ว่าเป็นเพจปลอมของมิจฉาชีพอย่างแน่นอน
6.ทุกครั้งก่อนโอนชำระเงินค่าสินค้า ให้ตรวจสอบประวัติของร้าน และชื่อหมายเลขบัญชีธนาคารที่รับโอนเงิน ว่าเป็นช่องทางการรับเงินจริงหรือไม่ มีประวัติไม่ดีหรือไม่ โดยตรวจสอบผ่านเว็บไซต์ค้นหาทั่วไป เช่น Google, Blacklistseller เป็นต้น
7.กดรายงานบัญชี หรือเพจในเฟซบุ๊กปลอม เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นหลงเชื่อ และตกเป็นเหยื่อ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำหนดจัดพิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำ ตร. เพื่อเสริมสร้างสิริมงคล เนื่องในโอกาส “วันตำรวจ” ประจำปี 2566

วันที่ 17 ต.ค.66 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำหนดจัดงานวันตำรวจ ประจำปี 2566 เนื่องในโอกาสวันครบรอบวันสถาปนาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมี พล.ต.อ.ต่อศักดิ์  สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยคุณ นิภาพรรณ  สุขวิมล นายกสมาคมแม่บ้านตำรวจ และ
คณะผู้บังคับบัญชาระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมประกอบพิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และพิธีสงฆ์ เพื่อเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลแก่ข้าราชการตำรวจ ซึ่งมีรายละเอียดการจัดงาน  ดังนี้

• เวลา 07.00 น. พิธีบูชาพระภูมิ พระพุทธโสธร พระนิรันตราย และพระนารายณ์ ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 
• เวลา 08.00 น. พิธีสักการะรูปจำลอง พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ณ ชั้น 3 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 
• เวลา 08.20 น. พิธีสักการะพระบรมรูปหล่อ รัชกาลที่ 9 ณ ห้องโถง ชั้น 1 อาคาร 1 
• เวลา 08.35 น. พิธีวางพานประดับพุ่มดอกไม้ถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ 
รัชกาลที่ 4 ณ ด้านหน้าอาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 
• เวลา 09.00 น. พิธีสงฆ์ (บำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทานและเจริญพระพุทธมนต์ ณ ห้องสารสิน ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 
• เวลา 10.15 น. ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมคณะสมาคมแม่บ้าน คณะผู้บังคับบัญชาระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่ผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวน 149 ราย ณ ห้องศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 

สำนักงานตำรวจแห่งชาติโดได้แบ่งประเภทของผู้ที่ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ ดังนี้

1. ผู้บริจาคเงินและสิ่งของ จำนวน 9 ราย
2. พลเมืองดีที่ช่วยเหลืองานตำรวจ จำนวน 9 ราย
3. หน่วยงานและข้าราชการตำรวจที่ประพฤติปฏิบัติดีเยี่ยมตามประมวลจริยธรรม 
และจรรยาบรรณของตำรวจ จำนวน 6 ราย
4. ศูนยรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 191 ดีเด่น จำนวน 11 ราย
5. โครงการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันอาชญากรรมระดับตำบล (Strong Together) จำนวน 6 ราย
6. การแข่งขันการประชาสัมพันธ์คลิปวิดีโอผ่านทางโซเซียล TikTok ในหัวข้อ 
“รู้ทัน 18 กลโกง อาชญากรรมทางเทคโนโลยี” จำนวน 10 ราย

7. สถานีตำรวจที่มีชุดปฏิบัติการ RTP Cyber Village ดีเด่น จำนวน 10 ราย
8. สถานีตำรวจที่ชนะเลิศการฝึก จำนวน 12 ราย
9. ข้าราชการตำรวจที่ทำหน้าที่พนักงานสอบสวนดีเด่น จำนวน 15 ราย
10. ข้าราชการตำรวจที่ทำหน้าที่จราจรดีเด่น จำนวน 9 ราย
11. ข้าราชการตำรวจที่ทำหน้าที่ป้องกันยาเสพติดดีเด่น จำนวน 14 ราย
12. ข้าราชการตำรวจที่ทำหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดดีเด่น จำนวน 13 ราย
13. ข้าราชการตำรวจผู้ปฏิบัติงานในสายป้องกันปราบปรามดีเด่น จำนวน 11 ราย
14. ข้าราชการตำรวจผู้ปฏิบัติงานในสายงานสืบสวนดีเด่น จำนวน 14 ราย

หลังจาก เมื่อเสร็จสิ้นพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณฯ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมคณะเดินทางเพื่อไปตรวจเยี่ยมและมอบขวัญกำลังใจแก่ข้าราชการตตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ณ หอผู้ป่วยข้าราชการตำรวจ ชั้น 11 อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา โรงพยาบาลตำรวจ จำนวน 4 ราย 

ภัยออนไลน์รุกหนัก นักวาดการ์ตูนไทย จับมือกับมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ(มสส.)และสสส.ประชุมร่วมหาทางปกป้องเด็กและเยาวชน แฉเว็บพนันออนไลน์ขยายตัวกว่า 100 %

จากช่วงโควิดเป็นความอำมหิตเงียบ ผู้ทรงคุณวุฒิสสส.เสนอนายกฯคุยแบงค์ชาติให้ธนาคารพาณิชย์คุมกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ตัดแขนขาเว็บพนัน สื่อการ์ตูนเสนอสร้างการรู้เท่าทัน พร้อมให้ข้อมูลกับสังคม

มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ(มสส.) ร่วมกับ สมาคมการ์ตูนไทย   เครือข่ายการ์ตูนไทยสร้างสรรค์สังคม โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมเสวนาเรื่อง "รวมพลังการ์ตูนไทย ต้านภัยออนไลน์ " เมื่อวันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม  2566 ณ ห้องการะเกด โรงแรมแมนดาริน สามย่าน  กรุงเทพ มีนักวาดการ์ตูนจากหนังสือพิมพ์และสื่อสำนักต่างๆเข้าร่วม โดยมี นายพิธพงษ์ จตุรพิธพร ผู้ประกาศ ข่าวเด็ด 7 สี สถานีโทรทัศน์ช่อง 7 HD เป็นผู้ดำเนินรายการ ​นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน​ กล่าวว่า การพนันออนไลน์ยังขยายตัวไม่หยุด จำนวนเว็บพนันขยายตัวมากกว่า 100% นับจากช่วงโควิด ขณะที่จำนวนผู้เข้าพนันที่ตกเป็นเหยื่อ เล่นพนันจนเกิดปัญหามีมากกว่าล้านคน 10%เป็นเด็กและเยาวชน สิ่งที่สังคมต้องตระหนักคือพนันออนไลน์และพนันออนไซต์ มีอิทธิฤทธิ์ที่ต่างกัน พนันออนไลน์ร้อยทั้งร้อยเป็นพนันอย่างเข้มที่เข้าถึงง่าย รู้ผลแพ้ชนะเร็ว เมื่อเสียแล้วแก้มือได้ทันที จึงยิ่งเล่นยิ่งหัวร้อน เล่นแล้วหยุดยาก ต่างกับพนันออนไซต์ที่ยังพอจะมีช่วงให้เว้นวรรค หรือมีความถี่ต่ำกว่า การพนันออนไลน์จึงอาจมีฤทธิ์ในการทำลายล้างมากกว่ากันหลายสิบเท่า ถ้าเทียบเป็นยักษ์อาจกล่าวได้ว่ายักษ์พนันออนไลน์ใหญ่กว่ายักษ์พนันออนไซต์หลายสิบเท่า

​เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวต่อว่าเว็บพนันออนไลน์ถือเป็นความอำมหิตเงียบ เพราะได้ทำลายชีวิตเหยื่อไปจำนวนมาก ไม่ใช่เพียงแค่การสูญเสียเงินทอง  แต่เป็นกระบวนการที่นำมาสู่การเจ็บไข้ได้ป่วย เมื่อเล่นพนันจนเสียหนัก ผู้เล่นส่วนมากจะพยายามทำทุกอย่างให้ได้เงินมาเล่นอีก และเริ่มกระทำผิดต่อคนใกล้ตัว โกหก หยิบยืมเงิน ลักขโมย จนถึงขั้นมีการกระทำรุนแรงกับคนในบ้าน  ขณะเดียวกันก็รู้สึกเครียด รู้สึกผิด รู้สึกแย่กับตัวเอง ความรู้สึกจะดิ่งลงเรื่อย ๆ  และอาจนำมาสู่การเสียสุขภาพจิตได้สองอาการ หนึ่ง คือ การเสพติดพนันจนไม่อาจจะเลิกได้ สอง คือ เกิดภาวะซึมเศร้า  ทั้งสองอาการล้วนต้องการความช่วยเหลือในการบำบัดรักษา ฉะนั้น ผู้ที่คิดจะให้พนันออนไลน์เป็นสิ่งถูกกฎหมาย โดยไม่คิดถึงการควบคุมให้รอบคอบและเป็นจริง อาจกลายเป็นการปล่อยยักษ์ใหญ่ที่เราคุมไม่ได้ให้ออกมาจากตะเกียง และสร้างความเสียหายต่อชีวิตประชาชนเป็นล้านคน    

​นายวิเชษฐ์  พิชัยรัตน์ ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ( สสส.)ในฐานะสื่ออาวุโส กล่าวว่าภัยออนไลน์กำลังเป็นปัญหาที่รุนแรง กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติระบุว่าคนไทยเป็นเหยื่ออาชญากรรมออนไลน์มากสุดคือการหลอกลวงซื้อขายสินค้า ตามมาด้วยหลอกให้โอนเงินเพื่อทำงานและหลอกให้กู้เงิน ส่วนการพนันออนไลน์ยังคงรุนแรง ดังนั้นสื่อมวลชนต้องช่วยกันชี้ให้เห็นว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมายจะถูกดำเนินคดีตามพ.ร.บ.การพนัน ข้อมูลส่วนตัวที่ทุกคนไปสมัครเป็นสมาชิกจะถูกเว็บพนันนำไปใช้หาประโยชน์โดยที่เราไม่รู้ตัว นอกจากจะเสียเงินค่าสมัครแล้วหลายครั้งจะไม่ได้รับเงินจริงและสุดท้ายอาจถูกยึดทรัพย์ตามความผิดฐานฟอกเงินเนื่องจากประวัติการเงินจะถูกระบุว่าไปเกี่ยวข้องกับเว็บพนัน การพนันออนไลน์รุนแรงมากไม่เฉพาะในกทม.แต่ได้แพร่หลายไปสู่จังหวัดใหญ่ๆ ช่วงหลังมีการจับกุมเครือข่ายพนันออนไลน์เพิ่มมากขึ้น และเป็นที่รู้ กันว่ากลุ่มเป้าหมายหลักของพนันออนไลน์คือเด็ก เยาวชนและผู้สูงอายุ เพราะรูปแบบการพนันนอกจากสล็อตและบิงโกแล้ว ในแต่ละเว็บพนันจะมีรูปแบบของเกมต่างๆไว้หลอกล่อไม่ต่ำกว่า 300 เกม

ผู้ทรงคุณวุฒิจากสสส.เสนอว่าการแก้ปัญหาพนันออนไลน์ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังทั้งการปิดเว็บพนัน การยึดอายัดทรัพย์สินของเจ้าของเว็บและเครือข่ายชักชวนให้เล่นพนัน รวมทั้งการลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐที่รับประโยชน์หรือเป็นเจ้าของเว็บพนันอย่างเด็ดขาด ที่น่าสนใจคือนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายแก่ผู้บริหารสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)  เมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมาว่าปัจจุบันธุรกิจสีเทารวมทั้งการทำธุรกรรมการเงินเป็นองค์ประกอบใหญ่ที่ทำให้ เครือข่ายยาเสพติดและพนันออนไลน์ขยายได้อย่างรวดเร็ว ปปง. จึงเป็นองค์กรสำคัญในการกำกับดูแลโดยเฉพาะการยึดทรัพย์ที่จะทำลายต้นตอของปัญหาหลายอย่าง จึงอยากจะเรียกร้องให้นายกฯได้หารือกับ ธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารพาณิชย์ต่างๆแก้ปัญหาเว็บพนันพนันออนไลน์ใช้ระบบการฝากถอนเงินสดและเครดิตในการเล่นพนันผ่านธนาคารพาณิชย์ของไทยโดยใช้ อี-วอลเล็ต หรือ กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ ถ้าแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้ก็เหมือนตัดแขนตัดขาเว็บพนันออนไลน์นั่นเอง    

​ขณะที่ รศ.ดร.ณัฐนันท์ ศิริเจริญ เลขาธิการมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.)  กล่าวว่าเคยทำงานวิจัยด้านพนันออนไลน์  พบว่าการพนันออนไลน์มีกลวิธีบิดเบือนโดยใช้นักโฆษณาชวนเชื่อเช่น การส่งเสริมแนวทางปฏิบัติในการเล่นเกมอย่างมีความรับผิดชอบ ส่วนแนวป้องกันคือการส่งเสริมให้บุคคลฝึกฝนการตระหนักรู้ในตนเองและการควบคุมตนเองสามารถลดความเสี่ยงของการเล่นการพนันมากเกินไปได้ นอกจากนี้ การสร้างทรัพยากรที่เข้าถึงได้ เช่น บริการให้คำปรึกษา สายด่วน และกลุ่ม สนับสนุน ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการช่วยเหลือผู้ที่ดิ้นรนกับการเสพติดจากเกมการพนันที่ซ่อนอยู่ การสนับสนุนให้มีกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นและการกำกับดูแลแพลตฟอร์มเกมออนไลน์และโฆษณารวมทั้ง การสนับสนุนบริษัทเกมให้นำแนวทางการโฆษณาที่มีความรับผิดชอบมาใช้ นอกจากนี้ควรส่งเสริมให้ผู้ปกครองมีส่วนในการควบคุมรวมทั้งการจำกัดอายุควรเพื่อปกป้องบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเข้าถึงเกมที่อันตรายเหล่านี้ และสุดท้ายคือการสนับสนุนการวิจัยเพื่อทำความเข้าใจผลกระทบของเกมการพนัน และประสิทธิภาพของกลยุทธ์การป้องกันพนันออนไลน์ต่างๆให้ดีขึ้น

ด้านนักวาดการ์ตูน ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นว่า ควรจะสร้างการรู้เท่าทันการหลอกลวงทางออนไลน์ให้กับเด็ก เยาวชน ผู้ปกครองและผู้สูงอายุด้วยการจัดอบรมให้ความรู้เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อ เพราะสังคมปัจจุบันทุกคนใช้โทรศัพท์มือถือและเข้าถึงอินเตอร์เน็ตกันหมดแล้ว การประชุมครั้งนี้มีประโยชน์มากมีข้อมูลหลายอย่างที่สามารถนำไปสื่อสารต่อได้ และเห็นด้วยว่าหน่วยงานภาครัฐควรจะบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง รวมทั้งมีนโยบายปกป้องเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์และพนันออนไลน์  

นายอภิวัชร์ เกตุทัต ประธานมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ ได้กล่าวปิดการประชุมว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นการดำเนินงานตามโครงการ เสริมพลังสื่อมวลชนไทย สร้างเครือข่าย ร่วมขับเคลื่อน สังคมสุขภาวะ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นักวาดการ์ตูนถือเป็นสื่อมวลชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในการทำงานของมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะและสสส.อีกกลุ่มหนึ่ง หวังว่าข้อมูลที่ได้รับรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในกันวันนี้ จะนำไปสู่ความเข้าใจและสื่อสารสาธารณะในรูปแบบต่างๆผ่านช่องทางที่หลากหลายเพื่อให้ผู้ปกครอง เด็กและเยาวชนได้เห็นพิษภัยของพนันออนไลน์เพื่อปกป้องสังคมร่วมกัน

บินด่วน ‘ทวี’ รมต.กระทรวงยุติธรรม เร่งมอบเงิน หลังชาวบ้านโวย รับเงินเยียวยาล่าช้า

วันที่ 14 ตุลาคม 2566 เวลา 10.30 น. พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และคณะ นาย กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส เขต 5 นราธิวาส ประธานกรรมาธิการกฎหมายฯ นายกูเฮง ยาวอหะซัน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม บินด่วน ออกเดินทางจากสนามบิน ดอนเมือง ไฟลท์บินแอร์เอเชีย เที่ยวบินที่ FD3130 ไปยังท่าอากาศยานนราธิวาส เพื่อมอบเงินเยียวยาให้กับผู้ประสบเหตุ กรณีโกดังพลุระเบิด ที่ตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส หลังมีชาวบ้านออกมา ขอความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เพราะเดือนพฤศจิกายน –มกราคมจะเป็นฤดูฝน และ ตำบลมูโนะก็เป็นจุดที่เกิดอุทกภัย น้ำท่วมหนักทุกปี

การมอบเงินเยียวยาแก่ผู้เสียหายในคดีอาญา กรณีโกดังพลุระเบิด ตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 11 ราย และได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 389 ราย และอนุภาพยังทำลายอาคารบ้านเรือนในเขตพื้นที่โดยรอบรัศมีประมาณ 3 กิโลเมตร จนทำให้ทั้งครัวเรือนและร้านค้า เสียหายกว่า 683 หลังคาเรือนและได้รับผลกระทบ 2,513 คน โรงเรียนเสียหาย 3 แห่ง รถยนต์เสียหาย 41 คัน รถจักรยานยนต์ 25 คัน รวมถึงทรัพย์สินอีกจำนวนมาก ( ข้อมูล 3 ส.ค 2566 )

วันที่ 14 ตุลาคม 2566 เวลา 13.45 -14.30 น. พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและคณะ นาย กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส นราธิวาส ประธานกรรมาธิการกฎหมายฯ นาย กูเฮง ยาวอหะซัน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นางสาวเอมอร เสียงใหญ่ ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม (คณะรัฐมนตรีมีมติดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ) นาย ยู่สิน จินตภากรผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม โดย นาย ปรีชา นวลน้อย รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ได้รอต้อนรับ รัฐมนตรี และคณะ พร้อม ชาวบ้าน กว่า 300 รายที่ได้รับความเดือดร้อน ต่างมานั่งรอ เพื่ออยากบอกถึงสิ่งที่ได้รับความเดือดร้อนมากในขณะนี้  ทันทีที่มาถึง พ.ต.ท. ทวี ได้ทักทายแบบภาษามลายู (สลามัตดาตัง)ยินดี.. จนทำให้ชาวบ้านชื่นชม และมีรอยยิ้มกันถ้วนหน้า จากนั้นก็ได้เข้าไป พบปะชาวบ้าน และพูดคุย อย่างเป็นกันเอง พร้อมมอบเงินเยียวยา จำนวน 345 ราย เสียชีวิต 11 รายรวม 356 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,241,888 ( สองล้านสองแสนสี่หมื่นหนึ่งพันแปดร้อยแปดสิบแปดบาท) พร้อมทำความเข้าใจถึงความคืบหน้า ในการช่วยเหลือของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง และรับเรื่องร้องทุกข์กับประชาชน กรณีโกดังพลุระเบิด ณ. โรงเรียน บ้านมูโนะ ตำบลบ้านมูโนะ อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส

กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพ ได้ดำเนินการลงพื้นที่มอบเงินช่วยเหลือเยียวยา กรณีโกดังพลุระเบิดในบริเวณบ้านมูโนะ ภายใต้กิจกรรม “ คุ้มครองคน คุ้มครองสิทธิ “ เพี่อสร้างวิถีชีวิตแห่งความเป็นธรรม ครั้งที่2 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ 2567 เพื่อเป็นการชี้แนะช่องทางให้บริการภารกิจคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของกระทรวงยุติธรรม และให้ความช่วยเหลือ ไปทั้ง 76 จังหวัด ให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่าง สะดวก รวดเร็วและเป็นธรรม

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง จัดพิธีอัญเชิญกิ้วอ๊วงฮุกโจว เปิดมณฑลพิธีภายในศาลเจ้าไต้ฮงกง เนื่องในงานเทศกาลกินเจ ประจำปี 2566 พร้อมจัดบริการอาหารเจแก่สาธุชนฟรี ตั้งแต่วันนี้ - 23 ตุลาคม 66 ณ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง พลับพลาไชย กรุงเทพฯ

วันนี้ (วันที่ 14 ตุลาคม 66 เวลา 12.45 น.) มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นำโดย ดร.สุทัศน์ เตชะวิบูลย์ รองประธานกรรมการ เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นายวิชิต ชินวงศ์วรกุล รองประธานกรรมการ นายสุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร กรรมการและรองเลขาธิการ นายจารุรัตน์ คุณัตถานนท์ กรรมการและเหรัญญิก คณะกรรมการ ผู้ช่วยกรรมการ ผู้บริหาร ศิษยานุศิษย์ และสาธุชน ร่วมในพิธีอัญเชิญกิ้วอ๊วงฮุกโจว (เทพเจ้า 9 องค์ หรือนัยหนึ่ง คือ ดาวพระเคราะห์ทั้ง 9 ดวง) เปิดมณฑลพิธีงานเทศกาลกินเจ ประจำปี 2566 โดยคณะสงฆ์อนัมนิกาย วัดอุทัยราชบำรุง ณ ภายในศาลเจ้าไต้ฮงกง มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง พลับพลาไชย กรุงเทพฯ

เทศกาลกินเจ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ในปีนี้จะตรงกับวันที่  14 - 24 ตุลาคม 2566 มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ขอเชิญชวนศิษยานุศิษย์และสาธุชนทุกท่าน ร่วมถือศีลกินผัก ละเว้นเนื้อสัตว์ เนื่องในเทศกาลกินเจ ประจำปี 2566 พร้อมสักการะหลวงปู่ไต้ฮง เพื่อความเป็นสิริมงคล และขอพรให้คุ้มครอง แคล้วคลาดปลอดภัย ทำบุญประทีปโคมไฟ (เต็งลั้ง) ถวายหลวงปู่ไต้ฮงเพื่อความเจริญรุ่งเรือง  ณ ศาลเจ้าไต้ฮงกง มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง พลับพลาไชย กรุงเทพฯ 

ในช่วงวันที่ 14-23 ตุลาคม 2566 มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง จัดให้มีบริการอาหารเจ [ในรูปแบบบรรจุกล่องกลับบ้าน] แก่ประชาชนฟรี วันละ 3 มื้อ (เช้า กลางวัน และเย็น) โดยเริ่มบริการตั้งแต่มื้อเที่ยงของวันที่ 14 ตุลาคม 2566  เป็นต้นไป นอกจากนี้ ระหว่างวันที่ 13 - 24 ตุลาคม 66 ขอเชิญชวนประชาชนชมอุปรากรจีน (งิ้ว) ที่คณะลูกศิษย์หลวงปู่ไต้ฮงจัดถวายรวม 12 คืน ณ บริเวณฝั่งสำนักงาน มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง  พลับพลาไชย กรุงเทพฯ

และในวันเสาร์ที่ 21 ตุลาคม 2566 เวลา 18.00 น. มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง กำหนดจัดพิธีเวียนธูปศักดิ์สิทธิ์รอบนอกศาลเจ้าไต้ฮงกง ตั้งจิตอธิษฐาน  ขอพรจากเทพเจ้า เพื่อเป็นสิริมงคล โดยเชื่อว่าเมื่อรับพรจากเทพเจ้าแล้ว จะทำให้จิตใจเบิกบาน ผ่องแผ้ว มีแต่ความสุขความเจริญรุ่งเรือง  จึงขอเชิญชวนสาธุชน ร่วมพิธีในวันและเวลาดังกล่าว

ติดตามข่าวสาร และกิจกรรมของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้ที่ เว็บไซต์ www.pohtecktung.org และ
เฟซบุ๊ก แฟนเพจ www.facebook.com/atpohtecktung 

#มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ช่วยชีวิต รักษาชีวิต สร้างชีวิต”
#แอปพลิเคชัน และ #สายด่วน ป่อเต็กตึ๊ง1418
#ช่วยจริงอุ่นใจแม้ในนาทีฉุกเฉิน

นราธิวาส-ชาวนราธิวาส 300 คน ต้อนรับคณะ รมว.ยุติธรรมในโอกาส เยือน นราธิวาสครั้งแรกหลังรับตำแหน่ง รมว.ยุติธรรม - ว่าทีเลขาศอ.บต.ร่วมคณะ

บรรยากาศ บริเวณ ท่าอากาศยานนราธิวาส บ้านทอน ตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ประชาชน จากจังหวัดนราธิวาส  กว่า 300 คน ต้อนรับ พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมกล่าวต้อนรับเป็นภาษามลายู สือลามัตดาตัง ( ยินดีต้อน) อีกทั้งยัง มีเสียง ชื่นชมที่ไม่เคยลืมชาวนราธิวาส  

ในโอกาสนี้ มีคณะผู้ติดตาม รมว.ยุติธรรม ประกอบด้วย นายกูเฮง ยาวอหะชัน เลขานุการ รมว.ยุติธรรม นายยู่สิน จินตภากร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม นางสาวเอมอร เสียงใหญ่ ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม พล.ต.ต.ปิยะวัฒน์ เฉลิมศรี รองผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 9 พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน (ว่าทีเลขาธิการ ศอ.บต.) นายเสกสรร สุขแสง ผู้ตรวจการราชการกระทรวงยุติธรรม รักษาราชการแทน อธิบดีกรมบังคับคดี นายเกิดโชค เกษมวงศ์จิตรรองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ นายเฉลิมชัย บัวจันอัด หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมบังคับคดี นายธวัช เอียดพิมพ์ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางสงขลา ประธานเขต 9 แทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายรัชพล ปาละกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 9 แทนเลขาธิการปปส. นายจีระพันธุ์ มาชาวป่า นักนิติวิทยาศาสตร์ปฏิบัติการ นิติวิทยาศาสตร์จังหวัดชายแดนใต้ (สนว. แทนผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ร่วมเดินทางลงพื้นที่ จังหวัดนราธิวาส จากนั้นรมว.ยุติธรรม ได้นำคณะเดินทางไป มอบเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายในคดีอาญา กรณีโกดังพลุระเบิด อำเภอมูโนะ จังหวัดนราธิวาส  ภายใต้กิจกรรม คุ้มครองคน คุ้มครองสิทธิ เพื่อสร้างวิถีชีวิตแห่งความเป็นธรรม จำนวน 346 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,241,888 บาท 

นอกจากนี้ ยังมี ข้าราชการ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงจาก ศอ.บต. ร่วมให้การต้อนรับ คณะรมว.ยุติธรรมและ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน (ว่าทีเลขาธิการ ศอ.บต.) ในฐานนะเยือนพื้นที่เป็นครั้งแรก

ตำรวจไซเบอร์ เตือนภัยผู้สูงอายุระวังถูกมิจฉาชีพใช้คำหวานหลอกลวงให้ลงทุน ฝากบุตรหลานช่วยสอดส่องการใช้เงินที่ผิดปกติ

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ กรณีบุตรชายพาผู้เสียหายซึ่งเป็นมารดา อายุ 75 ปี เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน หลังจากถูกมิจฉาชีพหลอกลวงชักชวนให้ร่วมลงทุนในทองคำ ความเสียหายกว่า 18 ล้านบาท นั้น

การหลอกลวงในรูปแบบดังกล่าวเป็นการหลอกลวงในรูปแบบเดิมๆ มิจฉาชีพจะเริ่มจากการมองหาเหยื่อที่ค่อนข้างมีอายุ หรือมีฐานะการงานดี ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Facebook Instagram รวมถึงแอปพลิเคชันหาคู่รักต่างๆ สร้างบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ปลอมเป็นบุคคลเพศตรงข้ามหน้าตาดี แล้วติดต่อขอเป็นเพื่อนกับเหยื่อ หรือขอเป็นเพื่อนกับเพื่อนของเหยื่อก่อน เมื่อเหยื่อไม่ทันระวังตัวรับมิจฉาชีพเป็นเพื่อน เนื่องจากเห็นว่ามีเพื่อนร่วมกันหลายท่าน จะเริ่มติดต่อทักทายเหยื่อ เพื่อพูดคุยเรื่องทั่วไป สอบถามกิจวัตรประจำวัน หรือถ่ายภาพทำกิจกรรมต่างๆ ส่งมาให้ ต่อมาก็จะขอพูดคุยกับเหยื่อผ่านทางแอปพลิเคชันไลน์ เมื่อเริ่มสนิทสนมกับเหยื่อ หรือเหยื่อไว้ใจมากขึ้นแล้ว จะบอกเหยื่อว่าตนมีรายได้จากการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เช่น เงินดิจิทัล เงินสกุลต่างประเทศ ทองคำ หุ้น เป็นต้น หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน หวังดีอยากให้เหยื่อมีรายได้เพิ่ม จากนั้นจะชักชวนให้ลองลงทุนผ่านเว็บไซต์ หรือเเพลตฟอร์มการลงทุนปลอมที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นมา ซึ่งในช่วงเเรกๆ ที่เหยื่อลงทุนในจำนวนเงินที่ไม่มาก เหยื่อมักจะได้รับผลตอบเเทนจริงเสมอ เเต่เมื่อเหยื่อใช้เงินลงทุนที่มากขึ้นเรื่อยๆ จะไม่สามารถถอนเงิน หรือถอนกำไรออกมาใช้ได้ โดยมิจฉาชีพจะอ้างเหตุผลต่างๆ เช่น แจ้งว่าอย่าเพิ่งถอนเงินรอจังหวะที่เหมาะสมก่อน และหลอกลวงให้เหยื่อเพิ่มเงินลงทุนอย่างต่อเนื่อง หรือหากจะถอนเงินดังกล่าวจะต้องโอนเงินค่าภาษี ค่าค้ำประกันต่างๆ เป็นต้น กระทั่งเมื่อเหยื่อรู้ตัวว่าถูกหลอกก็จะปิดช่องทางการติดต่อแล้วหลบหนีไป

จากสถิติศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.65 - วันที่ 30 ก.ย.66 พบว่า การหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มีผู้เสียหายแจ้งความออนไลน์กว่า 27,509 เรื่อง หรือคิดเป็น 8.20% จากเรื่องการรับแจ้งความทั้งหมด สูงเป็นลำดับที่ 4 รองจากการหลอกลวงซื้อขายสินค้าออนไลน์ หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน และหลอกให้กู้เงิน โดยมีมูลค่าความเสียหายกว่า 13,952 ล้านบาท สูงเป็นลำดับที่ 1 ของมูลค่าความเสียหายทั้งหมด

การกระทำลักษณะดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดฐาน “ ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น และร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวงนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่ง ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ” หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ในด้านการป้องกันปราบปราม และแก้ไขปัญหาอาชญาทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงประชาชนให้ลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ โดยได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งวางมาตรการในการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง รวมถึงสร้างความตระหนักให้แก่ประชาชนรู้เท่าทันภัยที่แฝงมากับเทคโนโลยี

ที่ผ่านมา บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

โฆษก บช.สอท. กล่าวต่ออีกว่า กรณีการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว แม้ว่าจะมีผู้เสียหายในจำนวนที่น้อยกว่าการหลอกลวงในรูปแบบอื่นๆ แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นยังคงสูงเป็นอันดับแรกเสมอ ฝากไปยังประชาชนให้พึงระมัดระวังการรับเพื่อนทางสื่อสังคมออนไลน์ หากไม่ได้รู้จักผู้นั้นจริงอย่าได้รับเป็นเพื่อน หรือติดต่อพูดคุยเป็นอันขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นบุคคลเพศตกข้ามติดต่อมาพูดคุยตีสนิท แล้วชักชวนให้นำเงินมาลงทุน โดยมิจฉาชีพเหล่านี้มักใช้คำหวานเพื่อหลอกลวงเหยื่อ ใช้ประโยคสนทนาในการพูดคุยที่ผิดปกติ เหมือนมีการใช้โปรแกรมแปลภาษามาก่อน และมิจฉาชีพจะไม่ยอมเปิดกล้องเพื่อให้เห็นใบหน้าแต่อย่างใด รวมถึงอย่าหลงเชื่อการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนสูงในเวลาอันรวดเร็ว นอกจากนี้แล้วฝากบุตรหลานช่วยสอดส่องบุคคลในครอบครัวว่ามีการใช้จ่ายเงินที่ผิดปกติหรือไม่ เพื่อป้องกันและยับยั้งความการสูญเสียที่จะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามหากท่านตกเป็นเหยื่อจากการถูกหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว สามารถยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิ โดยการแสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ได้ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย 66 ถึงวันที่ 13 ธ.ค. 66 เวลา 08.30 - 16.30 น. ยกเว้นวันหยุดราชการ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เพื่อเฉลี่ยทรัพย์คืนให้แก่ผู้เสียหายรวมกว่า 600 ล้านบาท


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top