Friday, 4 July 2025
Hard News Team

ครม. เห็นชอบจัดหาวัคซีนซิโนแวคเพิ่ม 12 ล้านโดส รองรับการฉีดวัคซีนสูตรผสม ร่นระยะเวลาฉีดสร้างภูมิคุ้มกันหมู่เร็วขึ้น 

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 ก.ย. มีมติเห็นชอบอนุมัติกรอบวงเงิน 4,254.36 ล้านบาท สำหรับจัดหาวัคซีนซิโนแวคเพิ่มเติม จำนวน 12 ล้านโดส เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแก่ประชาชน ใน 4 กลุ่มเป้าหมาย ดังนี้ 

1.) กลุ่มประชาชนที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง (ปอดอุดกั้น หอบหืด) โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรังระยะที่ 5 (ไตวายเรื้อรัง) โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งทุกชนิดที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัด รังสีบำบัดและภูมิคุ้มกันบำบัด โรคเบาหวาน และโรคอ้วน (BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 35 น้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม) 

2.) ประชาชนอายุ 60 ปีขึ้นไป

3.) เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโควิด-19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย เช่น ด่านควบคุมโรคตามชายแดน สถานกักกันโรค ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่เก็บขยะติดเชื้อเป็นต้น 

4.) ประชาชนทั่วไปที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย

การจัดหาวัคซีนซิโนแวคจำนวน 12 ล้านโดสนี้ เพื่อให้เป็นไปตามแผนการจัดหาวัคซีนให้แก่ประชาชน เพราะเป็นวัคซีนที่ผลิตแล้ว ทำให้สามารถส่งมอบได้ในช่วงเดือนก.ย.-ต.ค. และยังเป็นการรองรับการฉีดวัคซีนสูตรผสมและเพิ่มความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนแก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศที่รวดเร็วยิ่งขึ้น 

"ณัฐชา" ดักคอ อย่ายื้อเลือกตั้ง กทม.-พัทยา เบี่ยงกระแสหลังอภิปรายไม่ไว้วางใจ ชี้ ควรเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับให้เร็วที่สุดแก้ปัญหาโรคระบาด พร้อมปลดล็อกระเบียบข้อบังคับส่วนกลาง ให้เกียรติผู้แทนปชช.

นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวถึงมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบเฉพาะการจัดเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในส่วนองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ขณะที่การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและนายกเทศมนตรีเมืองพัทยาที่ประชุมยังไม่พิจารณาโดยคาดว่าจะมีขึ้นในปีหน้า ว่า สถานการณ์ประเทศไทยในขณะนี้ควรมีการจัดการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นอย่างเร่งด่วน เพราะปัญหาการจัดการโรคระบาดหลายพื้นที่มีความจำเป็นต้องใช้อำนาจท้องถิ่นในการจัดการ หากรัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาของประชาชนจริง เร่งจัดการเลือกตั้งอบต.ให้เร็วที่สุดเพราะมีความจำเป็นอย่างมาก และหากรัฐบาลต้องการแสดงความจริงใจไม่เบี่ยงประเด็นความบอบช้ำหลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ต้องเดินหน้ากำหนดวันเลือกตั้งอย่างตรงไปตรงมาเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในขณะนี้ 

"โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ กทม. ที่อยู่ภายในการบริหารงานของผู้ว่าฯ และสมาชิกกรุงเทพฯ ที่แต่งตั้งมานานกว่า 7 ปี อยู่ในตำแหน่งโดยกินเงินเดือนที่มาจากภาษีประชาชน แต่ประชาชนแทบไม่รู้ว่าทำอะไรไปเพื่อประชาชนบ้าง ดังนั้นการเดินหน้าประกาศให้มีการเลือกตั้งให้เร็วที่สุดคือทางออกวิกฤตในขณะนี้" นายณัฐชา กล่าว

นายณัฐชา กล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่รัฐบาลต้องตระหนักคือการมีตัวแทนประชาชนที่ไม่สะท้อนความต้องการของประชาชนเช่นนี้ ถือเป็นการซ้ำเติมปัญหา จึงควรเดินหน้าให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับ เพราะมีความใกล้ชิด รู้และเข้าใจปัญหาให้พื้นที่ตัวเองดี ระเบียบข้อบังคับหรืออะไรต่างๆ ที่ล็อกไว้จากส่วนกลางก็ต้องคลายล็อก เป็นการทำงานอย่างให้เกียรติและไว้ใจตัวแทนของประชาชน ไม่ใช่แค่หาประเด็นเบี่ยงกระแสหลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพื่อให้สื่อมีเรื่องใหม่ไปตีข่าวแล้วก็ยื้อต่อไปในปีหน้า แต่ที่ต้องทำเช่นนี้คงเพราะรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายแม้จะรอดทั้งคณะ แต่เชื่อว่าในใจท่านรู้ดีว่ามือที่ยกให้นั่นไม่ใช่ความไว้ใจของประชาชนอย่างแน่นอน

ราเมศ เผย ที่ประชุมพรรค มีมติ เห็นชอบ วาระสาม ร่าง รธน. ลุยผลักดัน ร่างกฎหมายป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงผลการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2564 ว่า

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธาน ส.ส.พรรค ได้ให้นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ ส.ส.จังหวัดนครศรีธรรมราช ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ที่เป็นผู้รับผิดชอบหลักได้รายงานความคืบหน้าเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่จะมีการพิจารณาวาระสามในวันศุกร์ที่จะถึงนี้ และที่ประชุม ส.ส.ได้มีมติเห็นชอบในวาระที่สาม ที่ประชุมไม่ได้มีความกังวลใดๆ และเชื่อว่าสมาชิกรัฐสภาจะให้ความเห็นชอบผ่านวาระสามไปได้อย่างแน่นอน พรรคผลักดันเรื่องนี้อย่างเต็มที่ 
 
ในส่วนร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ที่มีนายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นผู้เสนอ ไว้ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2563 ซึ่งเป็นร่างที่ได้บรรจุไว้ในระเบียบวาระการประชุมแล้ว ทางพรรคก็จะผลักดันให้มีการเลื่อนระเบียบวาระขึ้นมาพิจารณาก่อน เพื่อจะได้พิจารณาทันก่อนปิดสมัยประชุม เพราะเมื่อรับหลักการในวาระแรก ในวาระที่สองในชั้นกรรมาธิการก็สามารถพิจารณาในช่วงปิดสมัยประชุมได้ 

นายราเมศกล่าวต่อว่า ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวทางพรรคได้ให้ความสำคัญ ที่ผ่านมาได้เชิญภาคประชาชนที่ร่วมผลักดันเรื่องนี้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในที่ประชุมพรรค เห็นตรงกันว่า ควรมีกฎหมายเพื่อป้องกันการกระทำหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมที่ป้องกันการกระทำที่ทำให้บุคคลสูญหายซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นกฎหมายที่จะมุ่งคุ้มครองสิทธิมนุษยชนซึ่งสอดคล้องกับหลักเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และหากเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาในวาระที่สองพรรคก็จะได้เชิญภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งนายชินวรณ์ บุญยเกียรติ จะได้นำไปหารือกันในวิปรัฐบาลต่อไป

สหรัฐฯ ตรวจพบ โควิด-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์ 'มิว' ครบทุกรัฐ ขณะยอดติดเชื้อในประเทศทะลุ 40 ล้านคน

โควิด-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ “Mu” ตรวจพบเกือบครบทุกรัฐในสหรัฐฯ แล้ว และพบในกรุงวอชิงตันดีซี เมืองหลวงด้วย ล่าสุด จำนวนผู้ติดเชื้อ Mu ในสหรัฐฯ พบกว่า 2,200 คน แซงหน้าโคลอมเบีย ประเทศต้นตอ “Mu” และเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ติดเชื้อ Mu ที่พบทั่วโลก ขณะยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมในสหรัฐฯ ทะลุ 40 ล้านคน

Newsweek รายงานว่า สหรัฐฯ ตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ “Mu” ใน 49 รัฐ และพบในกรุงวอชิงตันดีซี เมืองหลวงสหรัฐฯ ด้วย เหลือเพียงรัฐเดียวที่ยังรอดจาก Mu คือ รัฐเนแบรสกา

ทั้งนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อ Mu ที่พบในสหรัฐฯ ล่าสุด มากกว่า 2,200 คนแล้ว แซงหน้าโคลอมเบีย ประเทศต้นกำเนิดสายพันธุ์ Mu ที่พบผู้ติดเชื้อราว 900 คน และคิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ติดเชื้อ Mu ทั่วโลกกว่า 5,000 คน ในอย่างน้อย 39 ประเทศทั่วโลก 

รัฐแคลิฟอร์เนียพบผู้ติดเชื้อ Mu มากที่สุด 384 คน เฉพาะในเขตปกครองลอสแองเจลิส พบ 167 คน

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก หรือ WHO เพิ่งยกระดับ Mu เป็นโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ที่ “ควรสนใจ” และเตือนว่า Mu อาจสามารถหลบเลี่ยงวัคซีนต้านโควิดได้ และอาจติดต่อได้ง่ายกว่าโควิดกลายพันธุ์ตัวอื่น ๆ ด้วย

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ หรือ CDC ยังไม่ได้ยกระดับอันตรายของ Mu ในสหรัฐฯ ให้เท่ากับ WHO และเมื่อสัปดาห์ก่อน นายแพทย์แอนโทนี เฟาซี หัวหน้าที่ปรึกษาด้านการแพทย์ของรัฐบาลสหรัฐฯ ยืนยันว่า ขณะนี้ Mu ยังไม่เป็นภัยคุกคามสหรัฐฯ ในเวลาอันใกล้ และยังไม่เข้าใกล้การเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดหลักในสหรัฐฯ แต่สหรัฐฯ กำลังจับตา Mu อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ สายพันธุ์ที่ระบาดหลักในสหรัฐฯ ยังคงเป็น “Delta”

สหรัฐฯ ได้รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อ Mu สูงสุดในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่หลังจากนั้น ปรากฏว่า ผู้ติดเชื้อ Mu ในสหรัฐฯ กลับลดลง เป็นสัญญาณว่า Mu อาจกำลังอ่อนแอลงก็เป็นได้ และยังไม่เป็นปัญหาในตอนนี้ แต่อาจเป็นปัญหาในอนาคตได้

ทั้งนี้ โควิดกลายพันธุ์ Mu พบครั้งแรกที่โคลอมเบียเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา และได้ระบาดในทวีปอเมริกาใต้ สหรัฐฯ และยุโรป

ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสหรัฐฯ ล่าสุด ทะลุ 40 ล้านคนแล้วเมื่อวานนี้ (6 กันยายน) อยู่ที่ 40,865,794 คน ส่วนยอดผู้เสียชีวิตล่าสุดอยู่ที่ 666,559 คน สหรัฐฯ ยังครองอันดับ 1 ของโลก เป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตและติดเชื้อโควิด-19 สูงที่สุดในโลก ผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนกว่า 18% ของผู้ติดเชื้อทั่วโลก ส่วนผู้เสียชีวิตคิดเป็นเกือบ 14% ของผู้เสียชีวิตทั่วโลก

สาเหตุจากกลายพันธุ์ “Delta” ยังคงทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น ติดเชื้อเพิ่มขึ้น และอาการทรุดต้องเข้าโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น 

ขณะ 5 รัฐที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในสหรัฐฯ อันดับ 1 คือ แคลิฟอร์เนีย ผู้ติดเชื้อสะสม 4,421,247 คน, อันดับ 2 เทกซัส 3,706,980 คน, อันดับ 3 ฟลอริดา 3,352,451 คน, อันดับ 4 นิวยอร์ก 2,304,955 คน และอันดับ 5 อิลลินอยส์ มากกว่า 1.5 ล้านคน และมีอีก 8 รัฐที่มีผู้ติดเชื้อสะสมเกิน 1 ล้านคน คือ จอร์เจีย, เพนซิลเวเนีย, โอไฮโอ, นอร์ธแคโรไลนา, นิวเจอร์ซีย์, เทนเนสซี, มิชิแกน และแอริโซนา


ที่มา : https://www.facebook.com/351495409269379/posts/520543789031206/

ส.อ.ท. ดันสินค้า Made in Thailand ขายภาครัฐ เผย 6 เดือน สร้างมูลค่า 6.8 หมื่นล้านบาท

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นำผู้ประกอบการไทยฝ่าวิกฤตโควิด-19 เดินหน้าโครงการ Made in Thailand โดยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาสามารถผลักดันสินค้า Made in Thailand : MiT เข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้แล้วกว่า 68,000 ล้านบาท คาดสิ้นปี 64 จะมีมูลค่าการค้าทะลุ 100,000 ล้านบาท พร้อมทั้งจับมือเครือเซ็นทรัลกรุ๊ป นำผู้ประกอบการในเครือข่ายขึ้นทะเบียนเพิ่ม และต่อยอดส่งออก นำร่องเจรจาการค้ากับบาห์เรน จีน อินเดีย ขยายตลาดต่างประเทศ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในภาวการณ์  แพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรง และการออกมาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐ ทำให้กำลังซื้อภายในประเทศลดลงเป็นอย่างมาก ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับภาคธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่พึ่งพาตลาดภายในประเทศ ดังนั้นจึงมีเพียงตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเท่านั้นที่มีกำลังซื้อเพียงพอที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ผ่านสภาวะที่ยากลำบาก 

โดยแนวทางที่สำคัญในการเจาะตลาดภาครัฐของเอกชน คือ โครงการ Made in Thailand ที่ ส.อ.ท. ได้ผลักดันร่วมกับภาครัฐในการปรับกฎระเบียบเอื้อประโยชน์กับผู้ประกอบการในประเทศไทย ที่เข้ามาขึ้นทะเบียนสินค้า Made in Thailand : MiT ได้มากขึ้น เพื่อเข้าถึงเม็ดเงินการจัดจ้างภาครัฐมีมากกว่า 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี โดยในช่วง 6 เดือน ที่ผ่านมา ส.อ.ท. ได้เร่งดำเนินการขึ้นทะเบียนสินค้า Made in Thailand ให้กับผู้ประกอบการแล้วกว่า 2,000 ราย 

โดยล่าสุดข้อมูลจากกรมบัญชีกลางพบว่ามีผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกว่าร้อยละ 52 สามารถยื่นเสนองานต่อภาครัฐได้แล้วคิดเป็นมูลค่ากว่า 68,000 ล้านบาท ซึ่งครอบคลุมสินค้าหลากหลายทั้งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่รวมไปถึงผู้ประกอบการ SMEs

ทั้งนี้คาดว่าสิ้นปี 2564 จะมีผู้ประกอบการเข้ามาลงทะเบียนกว่า 5,000 ราย มีจำนวนสินค้ากว่า 50,000 รายการ โดยที่ผ่านมามีสินค้าที่มาขึ้นทะเบียนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 

1.) อุปกรณ์งานก่อสร้าง
2.) ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 
3.) เครื่องปรับอากาศ 
4.) สินค้าและอุปกรณ์ทางการแพทย์ 
และ 5.) สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม

“จากการดำเนินโครงการ Made in Thailand ได้รับการตอบรับที่ดีมากจากหน่วยราชการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมที่ผู้บริหารต่างผลักดันนโยบายร่วมกัน หรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่สอบถามเพื่อสืบค้นส่วนของที่หน่วยงานมีความต้องการในฐานของ MiT เข้ามาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ท่าอากาศยาน, กรมทางหลวง, สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล, กรมที่ดิน, กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น, โรงพยาบาล และหน่วยงานอื่น ๆ ซึ่งต้องขอขอบคุณแทนผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก ถือว่าทุกภาคส่วนได้ร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังยากลำบากจากสถานการณ์โควิด-19 ให้สามารถเดินต่อไปได้” นายสุพันธุ์ กล่าว

นางพิมพ์ใจ ลี้อิสระนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและประธานสายงานมาตรฐานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบงาน Made in Thailand ของสภาอุตสาหกรรมฯ กล่าวว่า นอกจากหน่วยงานภาครัฐที่เป็นคู่ค้าสำคัญที่ตอบรับสินค้า Made in Thailand เป็นอย่างดีแล้ว โอกาสทางการตลาดอื่น ๆ ของสินค้า Made in Thailand ก็มีมากเช่นเดียวกัน โดย ส.อ.ท. ได้หารือร่วมกับหน่วยงานเอกชนในส่วนของการขายปลีกและขายส่ง ซึ่งในปัจจุบันได้มีพันธมิตรภาคเอกชนรายใหญ่ให้การสนับสนุน อาทิ กลุ่มเซ็นทรัลกรุ๊ป ที่กำลังผลักดันผู้ค้าในเครือข่ายมาขึ้นทะเบียน Made in Thailand โดยกลุ่มบริษัทในเครือเซ็นทรัลกรุ๊ป เช่น ไทวัสดุ บีทูเอส และ ออฟฟิศเมท ได้เข้ามาเจรจาธุรกิจกับเอสเอ็มอี ที่ขึ้นทะเบียน Made in Thailand เพิ่มเติมด้วย และหลังจากนี้ ส.อ.ท. จะหารือกับภาคเอกชนรายอื่น ๆ ให้ช่วยสนับสนุนเพิ่มเติม เช่น สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย, สมาคมค้าปลีกไทย คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีไทยในภาวะที่ยากลำบาก 

นอกจากตลาดในประเทศแล้ว ส.อ.ท. ยังร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สร้างโอกาสทางการค้าในต่างประเทศ โดยนำร่องกลุ่ม SMEs เจรจาธุรกิจที่ตลาดบาห์เรน, ตลาดอินเดียและตลาดจีน ที่นิยมสินค้าไทยอยู่ระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งหากสินค้าได้รับการรับรอง Made in Thailand ก็ยังจะสร้างความน่าเชื่อถือและมั่นใจให้กับคู่ค้าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรอง Made in Thailand ก็จะได้เปรียบคู่แข่งขันรายอื่น ๆ โดยหลังจากนี้ ส.อ.ท. จะมีการผลักดันโอกาสทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการให้มาขึ้นทะเบียน เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจในอนาคต

กระทรวงมหาดไทย เผย ขึ้นเงินเดือน 'พนักงานเก็บขยะท้องถิ่น' สูงสุดเดือนละ 2 หมื่นบาท

มีผลแล้ว! ขึ้นเงินเดือน “พนักงานเก็บขยะท้องถิ่น” กลุ่มเสี่ยงเชื้อโรค เฉพาะ “อบจ. เทศบาล และ อบต.” สูงสุดเดือนละ 2 หมื่น เพิ่มเดือนละไม่เกิน 2,500 บาท หลากหลายกลุ่มงาน ส่วน “พนักงานกวาดขยะ” ได้เพิ่มเดือนละไม่เกิน 1,500 บาท

รายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า คณะกรรมการกลางข้าราชการองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น 3 ระดับ ออกประกาศคณะกรรมการกลาง 3 ฉบับ

ลงนามโดยพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการกลางข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด ประกาศคณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล และประกาศคณะกรรมการกลางพนักงานส่วนตำบล

โดยทั้ง 3 ฉบับว่าด้วย เรื่อง มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับเงินเพิ่มสำหรับพนักงานจ้างผู้ปฏิบัติงานที่มีลักษณะเป็นการเสี่ยงภัยต่อสุขภาพ พ.ศ. 2564 มีหลักการเพื่อให้ “พนักงานจ้าง” เช่น พนักงานจ้างทั่วไป และพนักงานจ้างตามภารกิจผู้ปฏิบัติงานที่มีลักษณะเป็นการเสี่ยงภัยต่อสุขภาพมีสิทธิได้รับเงินเพิ่ม

สำหรับอัตราการจ่ายเงินเพิ่ม ที่ผ่านความเห็นชอบให้พนักงานจ้างสำหรับ อบจ. เทศบาล และ อบต. แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ตามลักษณะความเสี่ยงภัยต่อสุขภาพ ประกอบด้วย

พนักงานจ้าง กลุ่มงานขุดลอกท่อระบายนํ้า ขับรถบรรทุกสูบ ดูดหรือขนถ่ายสิ่งปฏิกูล มูลฝอยติดเชื้อ งานประจำรถสิ่งปฏิกูล อัตราเดือนละไม่เกิน 2,500 บาท

พนักงานจ้าง กลุ่มงานขับรถบรรทุกเก็บขยะมูลฝอย เรือบรรทุกเก็บขยะมูลฝอย หรือรถตักขยะมูลฝอย และคนงานประจำรถและเรือขยะบรรทุกเก็บขยะมูลฝอย อัตราเดือนละไม่เกิน 2,000 บาท

พนักงานจ้าง กลุ่มงานจัดเก็บ และกวาดขยะมูลฝอย รวมถึงผู้ปฏิบัติหน้าที่ประจำศูนย์หรือหน่วยกำจัด ขยะมูลฝอยอัตราเดือนละไม่เกิน 1,500 บาท

ทั้งนี้ วิธีการจ่ายเงินเพิ่ม ให้จ่ายตามระยะเวลาการปฏิบัติงานจริงที่สัญญาจ้างกำหนด และหากในเดือนใดมีวันที่ปฏิบัติงานไม่เป็นไปตามสัญญาก็ให้จ่ายเงินเพิ่มตามสัดส่วนจำนวนวันของเดือนนั้น

ปัจจุบันพนักงานจ้างทั่วไป และพนักงานจ้างตามภารกิจ ในกลุ่มงานดังกล่าว เฉพาะ อปท. มีอัตราเงินเดือนระหว่าง 9,000 - 18,000 บาท และมีสวัสดิการเทียบเท่า “พนักงานจ้าง”

โดยอัตราดังกล่าว เป็นคนละส่วนกับลูกจ้างชั่วคราว กทม. หรือ ลูกจ้างของภาคเอกชน ที่ได้รับสัมปทานในการจัดเก็บขยะสิ่งปฏิกูลของ อปท.


ที่มา : https://mgronline.com/politics/detail/9640000087564

ญี่ปุ่นปิดดีล 'Novavax' 150 ล้านโดส พร้อมขอเป็นตัวแทนผลิตเพื่อกระจายสู่ภูมิภาค

ญี่ปุ่นกลายเป็นเสือปืนไวไปแล้ว หลังจากที่เคยเป็นประเทศที่เปิดตัวโครงการวัคซีนอย่างเชื่องช้าตามหลังกลุ่มประเทศชั้นนำอย่างมาก จนตอนนี้สามารถเร่งสปีดระดมฉีดวัคซีน Covid-19 ได้ครบโดสทั่วประเทศ ครอบคลุมแล้วเกิน 48% ของประชากรไปแล้ว 

และล่าสุดญี่ปุ่นได้ปิดดีลจัดซื้อวัคซีน Novavax ตัวใหม่ล่าสุดจากอเมริกาจำนวนกว่า 150 ล้านโดส คาดว่าจะสามารถฉีดได้ไม่เกินต้นปี 2022 นี้ 

Novavax เป็นวัคซีนที่พัฒนาโดยบริษัทยาโนวาแว็กซ์ ในรัฐแมรี่แลนด์ สหรัฐอเมริกา ที่หลายประเทศจับตามอง เนื่องจากมีการระบุประสิทธิภาพจากการทดสอบว่าสามารถป้องกันเชื้อไวรัส Covid-19 สายพันธุ์ดั้งเดิมได้เกิน 90% และยังมีประสิทธิภาพต้านไวรัสสายพันธุ์ใหม่อย่างอัลฟาได้ 86% และ เบตาได้ 55% ส่วนสายพันธุ์อื่น ๆ อย่างเดลตา และแกมมา กำลังอยู่ในขั้นตอนการประเมินผล 

ถึงแม้ว่า Novavax จะไม่ใช่วัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดอย่าง mRNA แต่ใช้โปรตีนส่วนหนี่งของเชื้อไวรัสพัฒนาเป็นวัคซีน ที่เรียกว่า Protein Subunit Vaccine ที่เป็นเทคโนโลยีที่เคยใช้พัฒนาวัคซีนมาแล้วหลายชนิด อาทิ วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี หรือ ไวรัสป้องกันมะเร็งปากมดลูก แต่ด้วยผลประสิทธิภาพในการต้านไวรัสโคโรนาที่ออกมาน่าพอใจมาก สามารถเก็บได้ในตู้แช่ทั่วไป และมีราคาถูกกว่าวัคซีน mRNA ทำให้หลายประเทศสนใจลองวัคซีนตัวใหม่นี้ แม้ในตอนนี้จะยังไม่ได้รับการรับรองให้ใช้อย่างเป็นทางการในสหรัฐอเมริกา หรือ องค์การอนามัยโลกก็ตาม

รวมถึงญี่ปุ่น ที่ได้ตัดสินใจสั่งซื้อวัคซีน Novavax ล่วงหน้าแล้วถึง 150 ล้านโดส โดยความร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่น และ Takeda Pharmaceutical Co. บริษัทยายักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นที่เป็นผู้จัดหน่ายวัคซีน Moderna ในญี่ปุ่นเช่นกัน และนอกจากจะสั่งซื้อวัคซีนแล้ว ยังขอเป็นตัวแทนผลิตวัคซีน Novavax ในประเทศญี่ปุ่น โดยจะผลิตวัคซีนจำนวน 250 ล้านโดส เพื่อใช้ในประเทศ และ 100 ล้านโดสจะกระจายไปสู่ประเทศอื่นในภูมิภาคนี้  

และไม่ใช่มีแค่ญี่ปุ่นที่ได้จองซื้อวัคซีนตัวใหม่ล่าสุดแม้ยังไม่เห็นผลลัพธ์การทดสอบในขั้นสุดท้าย คณะกรรมการแห่งสหภาพยุโรปก็ได้เซ็นข้อตกลงสั่งซื้อวัคซีน Novavax ล่วงหน้าแล้วถึง 200 ล้านโดส 

สำหรับการใช้วัคซีน Novavax ยังคงต้องฉีด 2 เข็ม ระยะเวลาห่างกัน 21 วัน โดยราคาวัคซีนจัดจำหน่ายที่ 16 - 20 ดอลลาร์ต่อเข็ม ขึ้นอยู่กับข้อตกลงในแต่ละประเทศ ซึ่งมีราคาถูกกว่าวัคซีนประเภท mRNA เล็กน้อยที่จำหน่ายอยู่ที่ 20 ดอลลาร์ขึ้นไปต่อเข็ม ส่วนวัคซีนราคาประหยัดเพื่อชาวโลกอย่าง AstraZeneca จำหน่ายที่เข็มละ 2-3 ดอลลาร์ 

และถึงแม้ว่ากลุ่มประเทศชั้นนำในซีกโลกตะวันตก ทั้งในยุโรป และอเมริกาต่างเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนไปแล้วมากกว่าครึ่ง แต่ความต้องการวัคซีนยังคงสูง เนื่องจากหลายประเทศกำลังเริ่มเดินหน้าโครงการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ดังนั้นปริมาณวัคซีน Covid-19 ที่ผลิตได้ในโลกส่วนใหญ่ก็ยังคงป้อนสู่ตลาดประเทศที่พัฒนาแล้วจนถึงปีหน้า 2022  

ประเทศไหนไว ทุนสำรองถึง จึงมีสิทธิ์เอื้อมถึงวัคซีนได้ก่อน แต่สำหรับประเทศไหนที่ยังลังเล เพราะยังไม่เห็นของ ก็สามารถรอวัคซีน Novavax ผ่านโครงการ COVAX ขององค์การอนามัยโลกได้ เพียงแต่ไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะถึงมือเมื่อไหร่นั่นเอง


เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์
อ้างอิง: Reuters / Japan Times

กนอ. ดึงความเชื่อมั่นเอกชน 'สมาร์ทปาร์ค' เกิดแน่ปี 67 พร้อมเดินหน้าดูดนักลงทุน ชี้ EEC มาแรง เกิด 4 นิคมใหม่

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ดึงความเชื่อมั่นเอกชน คาดปี 67 'สมาร์ทปาร์ค' (Smart Park) พร้อมเดินหน้าดึงดูดนักลงทุน เผยโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เฟส 3 ดำเนินการตามแผน ชี้!! EEC ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญ เนื้อหอม!! ปี 64 มีนิคมอุตสาหกรรมใหม่จัดตั้งในพื้นที่ 4 แห่ง

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า การลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC (อีอีซี) ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวทั้งในระยะสั้นและระยะยาว กนอ.ได้เร่งเดินหน้าโครงการสำคัญ ๆ อาทิ โครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค (Smart Park) ที่คาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการได้ในปี 2567 ตามแผนที่วางไว้ เพื่อดึงดูดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-Curve) แบ่งพื้นที่รองรับการลงทุน ดังนี้... 

>> อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ 301.70 ไร่
>> อุตสาหกรรมการแพทย์ 182.84 ไร่
>> อุตสาหกรรมดิจิทัล 163.93 ไร่ 
>> และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ 75.17 ไร่ 

โดยผลประโยชน์ทางตรงที่จะคาดว่าเกิดขึ้นหลังเริ่มมีการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค (Smart Park) คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจสามารถสร้างมูลค่าของจีดีพีในประเทศต่อปีอยู่ที่ 53,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน ในระยะก่อสร้างประมาณ 200 คน ส่งผลให้เกิดเงินหมุนเวียนในชุมชนประมาณ 24 ล้านบาทต่อปี ในระยะดำเนินการคาดว่าจะมีการจ้างงานประมาณ 7,500 คน ส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ประมาณ 1,400 ล้านบาทต่อปี

ขณะเดียวกัน กนอ. ยังได้เดินหน้าโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ที่มีการสัมมนาทดสอบความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding) เมื่อเดือน ส.ค.2564 ที่ผ่านมา และจะเปิดดำเนินการตามแผนในปี 2569

โดยโครงการดังกล่าวจะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่ง และโลจิสติกส์ทางน้ำของอาเซียนสู่เศรษฐกิจนานาชาติ เพื่อเป็นประตูการค้าเชื่อมโยงกับภูมิภาค และสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมหลักของประเทศ มีความสามารถในการรองรับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่และท้องถิ่น เกิดการจ้างงาน สร้างเศรษฐกิจชุมชน และเพิ่มรายได้แก่ประชาชนในพื้นที่

นายวีริศ กล่าวด้วยว่า ในปี 2564 มีนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานแห่งใหม่ที่จะจัดตั้งในพื้นที่อีอีซีทั้งสิ้น 4 แห่ง ได้แก่... 

1.) นิคมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยอง จ.ระยอง พื้นที่ 621 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาโครงการ 

2.) นิคมอุตสาหกรรมโรจนะหนองใหญ่ จ.ชลบุรี พื้นที่ 1,987 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาโครงการ

3.) นิคมอุตสาหกรรมเอเพ็กซ์กรีน อินดัสเตรียล เอสเตท จ.ฉะเชิงเทรา พื้นที่ 2,191 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญาร่วมดำเนินงานกับ กนอ.

และ 4.) นิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทคซิตี้ จ.ฉะเชิงเทรา พื้นที่ 1,181 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญาร่วมดำเนินงานกับ กนอ. 

โดยนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่จะดึงดูดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วน เหล็กและโลหะภัณฑ์ อิเล็กทรอนิกส์ และ ปิโตรเคมี เป็นต้น

“การลงทุนในพื้นที่อีอีซี จะทำให้เกิดเม็ดเงินลงทุนที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และเกิดการจ้างงานตามมาจำนวนมาก โดยปัจจุบันมีนิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อีอีซีทั้ง 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา 40 แห่ง มีเม็ดเงินลงทุนในพื้นที่กว่า 2.04 ล้านล้านบาท ขณะเดียวกัน กนอ.ได้เตรียมความพร้อมด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานไว้รองรับการขยายตัวด้วยเช่นเดียวกัน เพื่อให้การเติบโตด้านอุตสาหกรรมอยู่คู่กับชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน” นายวีริศ กล่าวปิดท้าย

นายจ้าง-ลูกจ้าง ม.33 เฮ ได้เยียวยาเพิ่มอีก 1 เดือน พร้อมโอนภายในเดือนกันยายนนี้

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้อนุมัติให้สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปลี่ยนแปลงรายละเอียด โครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ใน 9 กิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด เพื่อให้ครอบคลุมผู้ประกอบการและแรงงานในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ดังนี้

ขยายกรอบวงเงินจาก 17,050.4 ล้านบาท เป็น 17,912.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 862.2 ล้านบาท จากการปรับปรุงจำนวนนายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในพื้นที่ 29 จังหวัด โดยมีนายจ้างจำนวน 226,394 ราย เพิ่มขึ้น 18,900 ราย และผู้ประกันตน ม. 33 จำนวน 3,877,936 ราย เพิ่มขึ้น 400,375 ราย ซึ่งเป็นผลจากการขยายเวลาให้นายจ้างในพื้นที่ 3 จังหวัดและ 16 จังหวัด สามารถขึ้นทะเบียนประกันสังคมรายใหม่ได้ภายในวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ทั้งนี้ ยังขยายระยะเวลาในการเบิกจ่ายและดำเนินโครงการฯ ถึงวันที่ 31 ธันวาคมนี้

อนุมัติเงิน 16,103.3 ล้านบาท ช่วยเหลือนายจ้างและผู้ประกันตน ม.33 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด เพิ่มเติม 1 เดือน (สิงหาคม) แบ่งเป็น 

1.) ช่วยเหลือนายจ้างจำนวน 194,660 ราย โดยจ่ายให้ 3,000 บาท ต่อจำนวนลูกจ้างไม่เกิน 200 คน เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 7,257 ล้านบาท 

2.) ช่วยเหลือผู้ประกันตนตาม ม. 33 สัญชาติไทย จำนวน 3,538,530 คน โดยจะจ่ายให้ 2,500 บาท/คน/เดือน เป็นจำนวนเงิน 8,846.3 ล้านบาท โดยจะเริ่มโอนเงินเยียวยาภายในเดือนกันยายน 2564 นี้

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังกล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้เป็นการอนุมัติวงเงินเพิ่มเติมจำนวน 16,965.5 ล้านบาท เดิมที่อนุมัติไปแล้ว (เมื่อวันที่ 10 ส.ค.) จำนวน 17,050.4 ล้านบาท ทำให้โครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตน มาตรา 33 ใน 9 กิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด ที่ประกอบด้วยการให้ความช่วยเหลือนายจ้างและผู้ประกันตน ม. 33 ในพื้นที่ 13 จังหวัดในระยะเวลา 2 เดือน (ก.ค.- ส.ค.) และในพื้นที่ 16 จังหวัด ระยะเวลา 1 เดือน (ส.ค.) มีกรอบวงเงินรวมทั้งสิ้น 34,015.9 ล้านบาท

“ที่ประชุมคณะรัฐมนตรียังห่วงใยกลุ่มผู้ขับแท็กซี่และกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้าง โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมจัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อช่วยเหลือเยียวยา กลุ่มผู้ขับแท็กซี่ และกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ที่ไม่สามารถสมัครเป็นผู้ประกันมาตรา 40 เนื่องจากมีคุณสมบัติอายุเกินที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดไว้ เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างครอบคลุมด้วย” นายธนกรฯ กล่าว

เวียดนามสั่งจำคุกชายวัย 28 ปี ฐานละเมิดกฎการกักตัว แพร่กระจายเชื้อโควิดทำให้ผู้อื่นถึงแก่ชีวิต

เมื่อวันจันทร์ (6 ก.ย.) เวียดนาม ได้สั่งจำคุกชายคนหนึ่งเป็นเวลา 5 ปี โทษฐานละเมิดกฎระเบียบกักโรคโควิด-19 แล้วแพร่กระจายเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่สู่คนอื่น ๆ ตามรายงานของสื่อมวลชนแห่งรัฐ

รายงานของเวียดนาม นิวส์ เอเจนซี (VNA) ระบุว่า นายเล วัน ตรี อายุ 28 ปี ถูกพิพากษาว่ามีความผิดฐาน "แพร่กระจายโรคติดเชื้ออันตราย" ระหว่างการพิจารณาคดี 1 วันของศาลประชาชนแห่งจังหวัดก่าเมา ทางใต้ของเวียดนาม

เวียดนามเคยเป็นหนึ่งในประเทศที่เคยประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ผลจากการตรวจเชื้อหมู่แบบเล็งเป้าหมาย การติดตามหาผู้สัมผัสใกล้ชิดเชิงรุก มาตรการชายแดนและกักโรคอันเข้มข้น อย่างไรก็ตาม คลัสเตอร์ใหม่ ๆ ที่ผุดขึ้นนับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทำให้ประวัติของพวกเขาต้องมัวหมอง

"เขาเดินทางจากเมืองโฮจิมินห์กลับไปยังก่าเมา และละเมิดกฎระเบียบกักโรคเป็นเวลา 21 วัน" เวียดนาม นิวส์ เอเจนซีระบุ "เขาแพร่เชื้อสู่คนอื่น ๆ 8 ราย หนึ่งในนั้นเสียชีวิตจากไวรัส หลังรักษาตัวนาน 1 เดือน"

ก่าเมา จังหวัดทางใต้สุดของเวียดนาม รายงานพบผู้ติดเชื้อเพียง 191 ราย และเสียชีวิต 2 คนนับตั้งแต่โรคระบาดใหญ่เริ่มต้นขึ้น ผิดกับโฮจิมินห์ ศูนย์กลางการแพร่ระบาดของประเทศ ที่พบมีผู้ติดเชื้อแล้วเกือบ 260,000 ราย และเสียชีวิต 10,658 คน

เวียดนาม กำลังต่อสู้กับสถานการณ์การแพร่ระบาดเลวร้ายลงเรื่อย ๆ ในขณะที่ไวรัสแพร่กระจายเชื้อติดประชาชนไปแล้วมากกว่า 536,000 ราย และคร่าชีวิต 13,385 คน ในนั้นส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ศาลเวียดนามเคยพิพากษาจำคุกบุคคล 2 ราย 18 เดือน และ 2 ปี ในข้อหาเดียวกัน แต่โทษให้รอลงอาญาไว้ก่อน


(ที่มา : รอยเตอร์)
https://mgronline.com/around/detail/9640000088410


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top