Friday, 24 January 2025
Hard News Team

ผู้ว่า ธปท. ยอมรับวิกฤตโควิด-19 ‘งานยาก งานยาว’ และความหวังเดียวที่จะฟื้นเศรษฐกิจไทย คือ วัคซีนโควิด เท่านั้น ห่วงภาระหนี้รายย่อย กลุ่มแรงงาน ภาคท่องเที่ยว ผลกระทบหนักสุด

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้มุมมองต่อวิกฤตเศรษฐกิจท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ผ่านรายการกาแฟดำ โดยคุณสุทธิชัย หยุ่น ในหลายประเด็น โดยระบุว่า วิกฤตเศรษฐกิจในรอบนี้ จะฟื้นตัวได้ช้า โดยเหตุผลสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจฟื้นช้าเพราะประเทศไทยพึ่งพาเรื่องการท่องเที่ยวที่ไม่ใช่จะมองว่าภาคการท่องเที่ยวของไทยคิดเป็นสัดส่วนแค่ 11-12% ของจีดีพี เมื่อเทียบกับเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจอื่น ๆ อย่างการส่งออก การบริโภค และการลงทุน แต่ภาคการท่องเที่ยวยังมีอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีสัดส่วนการจ้างงานถึง 20%

ดังนั้นแล้ว ผลข้างเคียงกับแรงงานใน 20% นี้ คือ ไม่มีงานทำ รายได้หาย ส่งผลไปถึงการบริโภค การจับจ่ายระดับล่างถึงกลางสะดุด ซึ่งถ้าโฟกัสแต่ตัวจีดีพีในระยะต่อไปอาจกลับมาใกล้เคียงเดิม เพราะภาคการส่งออกเริ่มกลับมา แต่ถ้ามองเฉพาะภาคการท่องเที่ยว จะเห็นตัวเลขนักท่องเที่ยวกลับมา 40 ล้านคน ดร.เศรษฐพุฒิ ยอมรับว่า ‘ยาก’

“ประมาณการณ์ของตัวเลขท่องเที่ยวต้องปรับลงกันอย่างมีนัยสำคัญ เดิมปีนี้ (2564) ไม่ได้มองไว้เยอะแต่ก็คิดว่าไตรมาส 4 อาจจะมีบ้าง แต่ปีหน้ามองไว้ที่ 20 ล้านคน”

เหตุผลที่ประมาณการณ์ของตัวเลขท่องเที่ยวจะต้องปรับลงกันอย่างมีนัยสำคัญ ดร.เศรษฐพุฒิ มองภาพสะท้อนจากการแพร่ระบาดในระลอก 3 ว่า ด้วยตัวของเชื้อโควิด-19 ที่เป็นสายพันธุ์อังกฤษ ที่แพร่ได้เร็ว เรื่องของการกลายพันธุ์ ไปจนถึงความมั่นใจในตัววัคซีนโควิด-19 ก็อาจจะยังมีคำถามจากสังคม ไปจนถึงแผนการฉีดวัคซีน ดังนั้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมันจึงไม่ได้มีความราบรื่นในทีเดียว

ดร.เศรษฐพุฒิ มองว่า ถ้ามองลงไปที่ผู้ได้รับผลกระทบจริง ๆ ของสถานการณ์การแพร่ระบาดนี้ แบ่งเป็น มนุษย์เงินเดือน พนักงานออฟฟิศ จะเป็นการปรับรูปแบบการทำงานมาเป็น Work From Home แต่ก็ไม่ถึงกับเลิกจ้าง แต่ในกลุ่มของแรงงาน พนักงานบริการ กระทบจากการปิดกิจการ เลิกจ้าง ขาดรายได้ ตรงนี้ก็ยิ่งซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นการฟื้นตัวจึงไม่ใช่แบบเดิม

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ นำไปสู่การพิจารณาเพื่อออกมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ต้องตรงจุดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากวิกฤตรอบนี้ การฟื้นตัวไม่เท่าเทียมกันทุกจุด ภาคการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เริ่มกลับมา แต่ภาคการท่องเที่ยวยังมืดมน ธนาคารแห่งปนะเทศไทยจึงต้องเปลี่ยนแนวมาตรการ โครงการต่าง ๆ จากช่วงแรกเน้นไปที่การ ‘พักหนี้’ ทุกคนถูกดึงเข้าสู่มาตรการพักหนี้ ปรากฏว่า ยาตัวเดียวไม่สามารถใช้ได้กับทุกคน

เพราะคนกลุ่มนี้เขาต้องการหยุด ‘หนี้เดิม’ หนี้ก้อนที่ไม่สามารถจ่ายได้เพราะขาดรายได้ การพักหนี้ พักจริงเฉพาะเงินต้น แต่ดอกเบี้ยไม่ได้พักตาม ดังนั้นจึงนำมาสู่ การปรับโครงสร้างหนี้ในรูปแบบของการยืดระยะเวลาของหนี้และลดการจ่ายต้น

“ที่กังวลมากคือ ภาระหนี้เดิมของรายย่อย ครัวเรือน กลุ่มนี้คือหนี้เดิมเยอะอยู่แล้ว ภาระหนี้เก่า ตอนแรกทำพักหนี้ แต่ไม่ใช้ทางที่ยั่งยืน แต่เมื่อเข้าปรับโครงสร้างหนี้ ยืดระยะหนี้ให้ยาวขึ้นแล้วให้ดอกเบี้ยที่ต่ำ”

นอกจากนั้นยังมีมาตรการที่เกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ จากเดิมธนาคารพาณิชย์เคยคิดกับลูกหนี้ก็ให้หยุดดอกเบี้ยไว้ โดยไม่ให้คิดดอกเบี้ยในฐานเงินต้นทั้งหมด แต่ให้คิดดอกเบี้ยในฐานของงวดที่ผิดนัดชำระหนี้จริง ๆ ตรงนี้ก็เป็นอีกมาตรการหนึ่ง

หากเปรียบเทียบสถานการณ์นี้ กับ วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ปี 2540 ดร.เศรษฐพุฒิ ยอมรับว่า ยากกว่า ด้วยความต่างกันมาก หากย้อนกลับไปปี 2540 เป็นเรื่องของค่าเงิน เรื่องหนี้ต่างประเทศ บริษัทใหญ่ กลุ่มธนาคาร นักลงทุน ผู้ประกอบการรายใหญ่ นักธุรกิจ จะได้รับผลกระทบหนัก แต่ขณะเดียวกัน ก็มีทางแก้ที่ชัดจน มีวิธีอยู่ในตำราชัดเจน แต่รอบนี้ไม่ใช่ เป็นสิ่งที่โลกและประเทศไม่เคยเจอ ถือว่า ‘ยากกว่า’ ที่สำคัญคือ กระทบรายย่อย แรงงาน ธุรกิจขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ซึ่งขยายวงกว้าง ที่สำคัญคือโดนจุดสำคัญของไทย ‘ภาคการท่องเที่ยว’

อย่างไรก็ตาม ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ในท้ายที่สุดมาตรการต่าง ๆ เหล่านี้ ต่อให้ออกมามากมายก็ยังถือว่าเป็น ‘พระรอง’ เพราะพระเอกของการแก้ปัญหาครั้งนี้ คือ วัคซีน ซึ่งจะหยุดวงจรการระบาดได้


ที่มา : https://www.pptvhd36.com/news

กรมการค้าภายใน ถกแพลตฟอร์ม ‘เดลิเวอรี่’ ทั้งส่งอาหารและขายสินค้าออนไลน์ ห้ามขึ้นค่าบริการ หวั่นซ้ำเติมเพิ่มภาระให้ประชาชนช่วงไวรัสโควิดระบาด

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้หารือร่วมกับผู้ให้บริการส่งอาหารและแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ ทั้ง 11 แพลตฟอร์ม ได้แก่ Lineman, GRAB, Foodpanda, Robinhood, Gojek, Lazada, Shopee, JJmall, ไปรษณีย์ไทย, Ohlala Shopping และ Lalamove เพื่อร่วมกันพิจารณาและขอความร่วมมือดูแลประชาชนในช่วงที่เกิดไวรัสโควิด-19 ระบาดหนัก โดยจากหารือผู้ให้บริการยืนยันว่า ไม่มีการปรับขึ้นราคาค่าบริการขนส่งเดลิเวอรี่อย่างแน่นอน และหลายแพลตฟอร์มมีการจัดโปรโมชั่น เพื่อช่วยเหลือประชาชนอยู่แล้ว

ส่วนการเก็บค่าค่าคอมมิชชั่น บางรายให้ร้านค้าเลือกที่จะจ่ายค่าค่าคอมมิชชั่นหรือไม่ ขณะที่บางรายก็ไม่มีการเก็บค่าค่าคอมมิชชั่น หรือเก็บแค่เฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น อย่างไรก็ตามได้ขอให้แพลตฟอร์มที่มีการเก็บค่าค่าคอมมิชชั่น กรมฯ ได้ขอให้พิจารณาปรับลดค่าค่าคอมมิชชั่น เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารที่ไม่สามารถให้บริการนั่งทานในร้านได้ในช่วงนี้

นายวัฒนศักย์ กล่าวว่า ได้เน้นย้ำให้แพลตฟอร์มพยายามรักษามาตรฐานสุขอนามัยของพนักงานส่งสินค้า เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน รวมทั้งให้แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ดูแลร้านค้าที่จำหน่ายหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ห้ามขายเกินราคาที่กำหนด และต้องแสดงราคาให้ชัดเจนอีกด้วย

พาณิชย์ คุมเดลิเวอรี่ สั่งห้ามขึ้นค่าบริการช่วงโควิด 

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯ ได้หารือร่วมกับผู้ให้บริการส่งอาหารและแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ ทั้ง 11 แพลตฟอร์ม ได้แก่ Lineman, GRAB, Foodpanda, Robinhood, Gojek, Lazada, Shopee, JJmall, ไปรษณีย์ไทย, Ohlala Shopping และ Lalamove เพื่อร่วมกันพิจารณาและขอความร่วมมือดูแลประชาชนในช่วงที่เกิดไวรัสโควิด-19 ระบาดหนัก โดยจากหารือผู้ให้บริการยืนยันว่า ไม่มีการปรับขึ้นราคาค่าบริการขนส่งเดลิเวอรี่อย่างแน่นอน และหลายแพลตฟอร์มมีการจัดโปรโมชั่น เพื่อช่วยเหลือประชาชนอยู่แล้ว 

ส่วนการเก็บค่าค่าคอมมิชชั่น บางรายให้ร้านค้าเลือกที่จะจ่ายค่าค่าคอมมิชชั่นหรือไม่ ขณะที่บางรายก็ไม่มีการเก็บค่าค่าคอมมิชชั่น หรือเก็บค่าเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น อย่างไรก็ตามได้ขอให้แพลตฟอร์มที่มีการเก็บค่าค่าคอมมิชชั่น กรมฯได้ขอให้พิจารณาปรับลดค่าค่าคอมมิชชั่น เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารที่ไม่สามารถให้บริการนั่งทานในร้านได้ในช่วงนี้

นายวัฒนศักย์ กล่าวว่า ได้เน้นย้ำให้แพลตฟอร์มพยายามรักษามาตรฐานสุขอนามัยของพนักงานส่งสินค้า เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน รวมทั้งให้แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ดูแลร้านค้าที่จำหน่ายหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ห้ามขายเกินราคาที่กำหนด และต้องแสดงราคาให้ชัดเจนอีกด้วย

สปสช.พร้อมเยียวยา! ผู้ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิดทุกคน

ประชาชนที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 และมีอาการไม่พึงประสงค์ แม้จะพบในสัดส่วนที่น้อย รัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือทุกกรณี

ล่าสุด บอร์ด สปสช. แจ้งว่าพร้อมช่วยเหลือดูแลคนไทยทุกสิทธิ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิประกันสังคม บัตรทอง สิทธิข้าราชการ และบุคลากรสาธารณสุข ที่เป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการฉีดวัคซีนโควิด-19

โดยจะเริ่มคุ้มครอง ตั้งแต่วัคซีนเข็มแรกที่ฉีดให้คนไทยเมื่อวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา ดำเนินการช่วยเหลือตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545

ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 สามารถยื่นเรื่องได้ที่โรงพยาบาล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และเขต สปสช. ซึ่งจะมีคณะกรรมการพิจารณาอัตราช่วยเหลือเยียวยาภายใน 5 วัน


ที่มา : https://www.facebook.com/154553218343826/posts/1169099976889140/

กองทัพอากาศจัดเที่ยวบินพิเศษ เชิญสิ่งของพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปช่วยเหลือชาวอินเดียที่ติดเชื้อ COVID-19

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการจัดหาเครื่องผลิตออกซิเจนและถังบรรจุก๊าซออกซิเจนพร้อมอุปกรณ์ เพื่อพระราชทานสำหรับช่วยเหลือชาวอินเดียที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ณ สาธารณรัฐอินเดีย

กองทัพอากาศได้จัดเที่ยวบินพิเศษเชิญสิ่งของพระราชทานดังกล่าว โดยจัดเครื่องบินลำเลียงแบบที่ 19 (A 340-500) จำนวน 1 เครื่อง เพื่อเชิญเครื่องผลิตออกซิเจนและถังบรรจุก๊าซออกซิเจนพร้อมอุปกรณ์พระราชทาน ในการช่วยเหลือชาวอินเดียที่ประสบภัยจากการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ไปยังสถานเอกอัครรราชทูต ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย กำหนดเดินทางในวันเสาร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ.2564 เวลา 07.00 น. เดินทางไปกลับในวันเดียวกัน (สำรองวันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2564)

พร้อมกันนี้ได้รวบรวมสิ่งของช่วยเหลือชาวอินเดียจาก สมาคมอินเดียในประเทศไทย, หอการค้าไทยอินเดียและสมาคมศิษย์เก่าสถาบันเทคโนโลยีอินเดียในประเทศไทย โดยสิ่งของที่ลำเลียงไปช่วยเหลือชาวอินเดียที่ติดเชื้อ COVID-19 ทั้งหมด ประกอบด้วย เครื่องผลิตออกซิเจน 70 เครื่อง ถังออกซิเจน 300 ถัง และอุปกรณ์ควบคุมปริมาณออกซิเจน 200 ชุด

โดยในการเดินทางกลับจะนำข้าราชการของสถานเอกอัครราชทูตที่ติดเชื้อ COVID-19 กลับมารักษาพยาบาลที่ประเทศไทย และรับคนไทยที่มีความประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทยตามที่ได้รับการประสานจากกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้คำแนะนำการปฏิบัติและสนับสนุนแพทย์และพยาบาลในการปฏิบัติภารกิจนี้ด้วย

รมว.สุชาติ สั่ง ปูพรมตรวจโควิด-19 เชิงรุก แก่แรงงานในโรงงาน 7 จังหวัดพื้นที่เสี่ยง

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผย นายกรัฐมนตรีห่วงใยพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ในสถานประกอบการในพื้นที่สีแดงเข้ม เช่น นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง สมุทรสาคร และพระนครศรีอยุธยา ร่วมมือกับโรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคมบูรณาการทำงานเชิงรุก จัดรถโมบายตู้ตรวจโรคไปให้ลูกจ้างที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อได้รับการตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 ถึงสถานประกอบการ

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีความห่วงใยพี่น้องผู้ใช้แรงงานถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากสภาพปัญหาในปัจจุบันได้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้าง และมีอัตราการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงได้มีดำริกำชับให้กระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เพิ่มจุดตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุกแก่แรงงานในสถานประกอบการเพื่อเร่งควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดในจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม เช่น นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง สมุทรสาคร และพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า ผมได้สั่งการให้สำนักงานประกันสังคมจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม ร่วมมือกับโรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคมในพื้นที่ เพื่อบูรณาการทำงานเชิงรุก จัดรถโมบาย ตู้ตรวจโรคไปตั้งยังสถานประกอบการให้ลูกจ้างที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อได้รับการตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 เพื่อให้ทราบผลภายใต้ 24 – 48 ชั่วโมง ซึ่งหากตรวจพบเชื้อก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการควบคุมดูแลรักษาตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยลูกจ้างในสถานประกอบการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจ

"ผมได้กำชับให้ทุกส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงานทุกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่สีแดงเข้มได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับนายจ้างสถานประกอบการ เพื่อให้ลูกจ้างรู้จักวิธีการป้องกันจากการแพร่ระบาดของโควิด -19 รวมทั้งให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในกลุ่มแรงงานไทย แรงงานต่างด้าวในสถานประกอบการ รวมทั้งการออกประกาศห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวในทุกกรณีและจัดให้มีมาตรการเฝ้าระวังและตรวจสอบคัดกรองโรค เช่น การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ " นายสุชาติ กล่าวในท้ายสุด

ผู้บริหาร ธุรกิจอาหาร ฟู้ดแพชชั่น เจ้าของแบนด์ บาร์บีคิว พลาซ่า โอด ระบาดระลอก 3 แสนสาหัส ฝากถึงผู้รับผิดชอบ หลังพบยอดขายในหนึ่งวันของร้านอาหารในเครือ ตกต่ำสุด ๆ ปิดยอด 0 บาท เชื่อร้านอื่น ๆ ก็เจอวิกฤติเหมือนกัน

นางสาวบุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ด้านการสร้างโอกาสทางการตลาดกลุ่มธุรกิจอาหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด เจ้าของแบรนด์ร้านอาหารบาร์บีคิว พลาซ่า, จุ่มแซ่บฮัท, ฌานา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เปิดเผยถึงยอดสั่งซื้ออาหารในเครือ 0 บาท และยังฝากถึงผู้มีส่วนรับผิดชอบในประเทศไทย ว่า...

หลายวันที่ผ่านมา ถูกชวนคุยเรื่องสถานการณ์ร้านอาหารเยอะไปหมด บางเรื่องก็ตอบได้ บางเรื่องก็ตอบไม่ได้

Covid 3 ครั้งนี้ ไม่ต่างกับซูนามิ!! กระหน่ำซ้ำในที่เดิมแบบที่ผู้คนรู้ทั้งรู้ว่า...ซูนามิมา แต่ไม่รู้จะหนีตายไปทางไหน...

Food passion เองก็โดนซูนามิครั้งนี้ไม่ต่างกับพี่น้องร้านอาหารอื่น ๆ เมื่อวาน 1 ในสาขา 1 ในแบรนด์ในเครือ 0 บาทคะ!!

แต่บอกตรง ๆ เราที่เจอแบบนี้ อาจเป็นแค่ 1 ในตัวอย่างของร้านอาหารที่เจอแบบนี้ ยังมีร้านเล็ก ๆ ร้านกลาง ๆ หรือร้านใหญ่ ๆ ก็คงไม่ต่างกัน

ขอฝากโพสนี้ไปถึงผู้มีส่วนรับผิดชอบในประเทศไทย หากยังดำเนินแบบนี้ธุรกิจรายย่อย ๆ ที่ไม่มีสายป่าน ไม่มี connection เขาจะอยู่อย่างไร...ไม่ใช่แค่ธุรกิจร้านอาหาร แต่ยังมีอีกหลายธุรกิจที่กำลังนับถอยหลังระเบิดเวลา...กับถังออกซิเจนถังสุดท้าย

มาถึงบรรทัดนี้ ไม่ใช่แค่คิดให้บริษัทตัวเองรอด ยังคิดเผื่อผู้คนที่เดือดร้อน ผ่านทั้งตัวเองและผ่านไปยังบริษัท

แม้ไม่ได้อยู่ในบทบาทนั้น แต่คิดว่าในฐานะคนไทยคนนึงที่ยังมีสมอง สองมือ ใจที่แข็งแกร่ง ก็คงยังเป็นสิ่งที่ควรทำต่อไป...

“นายกฯ ห่วงประชาชนหลังสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง สั่งด่วนทุกหน่วยงานเตรียมพร้อมดูแลช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 


มีความห่วงใยประชาชนจากสภาพอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงนี้  ส่งผลให้อาจมีภัยอันตรายที่เกิดจากน้ำท่วมและจากพายุได้ จึงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อม เพื่อเข้าไปดูแลและให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนด้วยความเร่งด่วน อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกจะมีพายุฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงและมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและฝนตกหนักบางแห่ง และสำหรับกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงได้ จึงขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองที่จะเกิดขึ้นไว้ด้วย โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณาและสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย

นายอนุชา กล่าวว่า สำหรับในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล หากมีฝนตกหนัก อาจมีปัญหาการจราจรติดขัดได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาในแต่ละพื้นที่อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในส่วนของกรุงเทพมหานคร ได้รับทราบว่ามีการจัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ ยานพาหนะ และเจ้าหน้าที่ให้มีความพร้อมสำหรับการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะจุดเสี่ยงที่มีน้ำท่วมขังและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วมขัง อย่างไรก็ตาม หากมีฝนตกในปริมาณมากซึ่งอาจส่งผลให้มีน้ำท่วมขังบนผิวจราจรในบางพื้นที่ ซึ่งกรุงเทพมหานครได้เตรียมจัดเจ้าหน้าที่หน่วยเบสของสำนักการระบายน้ำ และของสำนักงานเขตพื้นที่เข้าเร่งระบายน้ำเพื่อบรรเทาความดือดร้อนของประชาชนโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะสามารถดำเนินการได้ 

“ทั้งนี้ ในช่วงวันที่ 8 - 10 พ.ค. 64  กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์อากาศภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ยังคงมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบางแห่ง ภาคใต้มีฝนน้อยในระยะนี้ ส่วนในช่วงวันที่ 11 - 13 พ.ค. 64 ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น สำหรับภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะมีฝนเพิ่มมากขึ้น จึงขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงด้วย” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว

บอร์ด ธอส. เคาะ 2 มาตรการพักหนี้รายย่อย 3 เดือน

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ธอส. เห็นชอบให้ จัดทำมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยจะออก 2 มาตรการใหม่ พักชำระเงินต้น และจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน สำหรับลูกค้าที่มีสถานะบัญชีปกติ และ พักชำระเงินต้นและจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน พร้อมลดดอกเบี้ยลงเหลือ 3.90% ต่อปี สำหรับลูกหนี้ที่สถานะ NPL และลูกหนี้ NPL ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ เปิดให้ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ผ่านแอปพลิเคชั่น GHB ALL ระหว่างวันที่ 11-29 พ.ค. 2564 

สำหรับมาตรการพักชำระเงินต้น และจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน ระยะแรกเป็นเวลา 3 เดือน (1 พ.ค. – 31 ก.ค. 2564) สำหรับลูกค้าที่มีสถานะบัญชีปกติ (ไม่เป็น NPL ไม่อยู่ขั้นตอนของกฎหมาย และไม่อยู่ระหว่างทำข้อตกลงประนอมหนี้) ครอบคลุมทั้งลูกค้าที่ไม่เคย หรือเคยใช้ หรืออยู่ระหว่างใช้มาตรการความช่วยเหลือเดิมของธนาคาร และต้องเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จากโควิด-19 รวมถึงยังไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ตามสัญญาเงินกู้ 

ส่วนมาตรการพักชำระเงินต้นและจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน พร้อมลดดอกเบี้ยลงเหลือ 3.90% ต่อปี ระยะแรกเป็นเวลา 3 เดือน (1 พ.ค. – 31 ก.ค. 2564) สำหรับลูกหนี้ที่สถานะ NPL และลูกหนี้ NPL ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งจะพ้นสิทธิการปรับโครงสร้างหนี้ที่ใช้อยู่หากใช้มาตรการที่ 14 และต้องเป็น ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบอาชีพ หรือทำธุรกิจ หรือการค้า เนื่องจากโควิด-19 และไม่สามารถผ่อนชำระเงินงวดให้ธนาคารได้ตามสัญญาเงินกู้หรือข้อตกลงปรับโครงสร้างหนี้หรือตามคำพิพากษา

ยก ราชกิจจาฯ “เสรีพิสุทธ์” ตรวจบ้านหลวง “นายกฯ” ต้องขออนุญาต “สำนักงานพระราชวัง” ผ่านทาง หลังราชกิจจา ประกาศโอนกำลังพล-หน่วย สังกัดหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ ปี 2562

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 จากกรณี กรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร ที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส  ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย (สร.) ในฐานะประธาน จะลงพื้นที่ด้วยตัวเอง เพื่อตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม กรณีการอยู่บ้านพักรับรองในค่ายทหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม

ตามที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ ยื่นเรื่องให้ กมธ.ตรวจสอบตามความผิดฝ่าฝืน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 128 ที่รับผลประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่าเกิน 3,000 บาท พร้อมทำหนังสือขออนุญาตจากกองทัพบกนั้น

รายงานข่าวแจ้งว่า การเดินทางไปยังบ้านพักรับรอง พล.อ.ประยุทธ์  ต้องใช้ทางผ่านเข้า-ออก กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นเขตพระราชฐานและเป็นพื้นที่ปิด ต้องทำหนังสือขออนุญาตไปยังสำนักพระราชวังเพื่อขอผ่านทาง  ส่วนรายละเอียดการเข้าพักบ้านหลวงของ พล.อ.ประยุทธ์ รวมถึง ค่าน้ำ-ค่าไฟ  กองทัพบก เคยส่งข้อมูล ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และ สำนักงาน ป.ป.ช. ก่อนหน้านั้นแล้ว 

รายงานข่าวแจ้งว่าเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2562 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชกำหนด โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562
              
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
 
โดยที่เป็นการสมควรโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์
              
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชกำหนดนี้เรียกว่า “พระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562”

 มาตรา 2 พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้โอนบรรดาอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมประกาศกำหนด ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการในพระองค์

มาตรา 4 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชกำหนดนี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top