Saturday, 10 May 2025
Hard News Team

สกพอ.ร่วมกับกลุ่มสตรีอีอีซีฉะเชิงเทรา ส่งมอบน้ำใจช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด -19 ในฉะเชิงเทรา

(24 กรกฎาคม 2564) ที่ร้านอาหารบลูม ต.บางตีนเป็ด อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา นายกำพล เลิศเกียรติดำรง สมาชิกวุฒิสภา และนางสาวทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ รองเลขาธิการสายงานเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ สกพอ. ร่วมกับกลุ่มสตรีอีอีซี ฉะเชิงเทรา

ส่งมอบถุงยังชีพจำนวน 250 ถุง และหน้ากากอนามัย 15,000 ชิ้น ที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารและพนักงาน สายงานนโยบายและแผน และสายงานเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ สกพอ. ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดฉะเชิงเทรา ใน 5 อำเภอได้แก่...

อำเภอเมือง, บางปะกง, บ้านโพธิ์, บางคล้า และบางน้ำเปรี้ยว เพื่อเป็นนำไปแจกจ่ายช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ซึ่งกำลังแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่เป็นจำนวนมาก

โดยสิ่งของที่บรรจุในถุง​ จะเน้นของที่เป็นผลิตภัณฑ์ใน อีอีซี เช่น ข้าวสารจากชลบุรี รวมกว่า 1,200 กิโลกรัม น้ำปลา กะปิและอาหารทะเลจากวิสาหกิจชุมชน จ.ระยอง

นอกจากนี้ นายธนวัฒน์ สันตินรนนท์ กรรมการผู้จัดการบริษัทอินดัสเตรียล วอเตอร์ รีซอร์ท แมนเนจเม้นท์ จำกัด (IWRM) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการด้านการจัดหาน้ำเพื่ออุปโภค บริโภคและน้ำเพื่ออุตสาหกรรมในอีอีซี ได้ร่วมบริจาคน้ำดื่มขนาด 1.5 ลิตร จำนวน 3,600 ขวด เพื่อร่วมเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้ผ่านพ้นวิกฤต COVID-19 ไปด้วยกัน

​​​​​​

ผบ.ตร.​ เข้ม!! กวดขันจับกุมผู้มีเจตนาฝ่าฝืนกฎหมายชัด​ ทั้ง Fake News ก่อความสับสน ตื่นตระหนก​ และอาชญากรรมที่ซ้ำเติมความเดือดร้อนประชาชน

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สั่งการตำรวจทุกหน่วยขับเคลื่อนตามนโยบายรัฐบาล หลังประกาศต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปจนถึงสิ้นเดือน ก.ย.64 เน้นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ พร้อมเข้มงวดกวดขันจับกุมผู้ที่มีเจตนาฝ่าฝืนกฎหมายชัดเจน อาชญากรรมที่ซ้ำเติมความเดือดร้อนประชาชน เน้นหนักการสร้าง Fake News ก่อความสับสน ตื่นตระหนก

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆกษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ​ กล่าวว่า​ ตามที่เว็บไชต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ ลงวันที่ 23 ก.ค.64 เรื่อง 'การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร'​ (คราวที่13) โดยให้ขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีกคราวหนึ่งสำหรับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป ทั้งนี้ตั้งแต่ 1 ส.ค.64 – 30 ก.ย.64 นั้น

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ห้วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมกำชับการปฏิบัติของหน่วยงานความมั่นคง สาธารณะสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส
พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงขับเคลื่อนตามนโยบายของทางรัฐบาลและศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19​ (ศบค.) อย่างจริงจัง ต่อเนื่อง 

โดยสั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปม.ตร.) ลงไปขับเคลื่อนกำชับทุกหน่วยงานในสังกัด ประสานการปฏิบัติหน้าที่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ สนับสนุนภารกิจเมื่อมีการร้องขอ

การจำกัดการเคลื่อนย้ายของบุคคลเพื่อสกัดกั้นป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสให้อยู่ในวงจำกัด​ การตรวจคัดกรองการ เข้า-ออกพื้นที่จังหวัดที่มีการควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ตามที่รัฐบาลได้ประกาศข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 28) 

พร้อมเน้นสร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ เพื่อปฎิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประกาศ คำสั่ง ข้อกำหนด ของ ศบค. และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกพื้นที่ และกวดขันบังคับใช้กฎหมายในกรณีที่มีเจตนาฝ่าฝืนหรือท้าทายกฎหมาย โดยเฉพาะการผลิตและแชร์ Fake News ต่างๆ​ สร้างความสับสนตื่นตระหนกให้กับประชาชน

การรวมกลุ่มกัน การมั่วสุม การลักลอบจัดกิจกรรม  การมั่วสุม ลักลอบจำหน่ายสุราและยาเสพติด การลักลอบเล่นการพนัน อบายมุขในรูปแบบต่างๆ​ การแข่งรถ หรือกิจกรรมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรค รวมทั้งดำเนินคดีอาชญากรรมที่ซ้ำเติมความเดือดร้อนประชาชนห้วงการแพร่ระบาดโควิด19 

รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวต่ออีกว่า ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ฝากขอบคุณเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกหน่วยที่ร่วมกันปฎิบัติหน้าที่และมีผลการจับกุมผู้ที่มีเจตนาฝ่าฝืนกฎหมายอย่างต่อเนื่อง โดยในห้วงที่ผ่านมามีผลจับกุมการรวมกลุ่มมั่วสุม ลักลอบจัดกิจกรรมสังสรรค์ เสพยาเสพติด เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ส่งดำเนินคดีไปแล้วหลายราย 

อีกทั้งยังได้กำชับให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ ฝ่ายปกครอง หน่วยสาธารณะสุข และหน่วยที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด สนับสนุนกำลังพลในการปฏิบัติภารกิจเมื่อมีการร้องขอ ออกตรวจสอบ ดำเนินคดีกับผู้ที่มีเจตนาฝ่าฝืนหรือท้าทายกฎหมาย ประกาศ คำสั่ง ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อาทิ การมั่วสุม จัดงานสังสรรค์ ลักลอบเล่นการพนัน การแข่งรถหรืออบายมุขในรูปแบบต่างๆที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โดยเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนายยึดการปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด หากพื้นที่ใดมีการปล่อยปละละเลย ก็จะพิจารณาความบกพร่องทางวินัยและอาญาอย่างเด็ดขาดต่อไป 

นอกจากนี้หากพบเบาะแสการกระทำความผิด สามารถแจ้งมายังสายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติหมายเลข 191 และ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

​​​​​

"โควิด-19 วัคซีนซีรีส์ เรื่องนี้เมืองไทยไม่มีจบ” | MEET THE STATES TIMES EP.1

???? ชวนคุยปัญหาวัคซีน ที่ยืดยาวกันแบบซีรีส์ เรื่องนี้ควรไปทางไหน!

???? ห้ามพลาด! โควิด-19 วัคซีนซีรีส์ เรื่องนี้เมืองไทยไม่มีจบ!

ในรายการ MEET THE STATES TIMES

ในหัวข้อ "โควิด-19 วัคซีนซีรีส์ เรื่องนี้เมืองไทยไม่มีจบ”

ดำเนินรายการโดย หยกTHE STATES TIMES

.

.


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ร่วมหารือ กระทรวงแรงงาน และบีโอไอ ขอรับการจัดสรรโควตาฉีดวัคซีนให้กับชาวต่างชาติที่ปฏิบัติงานในนิคมอุตสาหกรรม หวังเร่งกระตุ้นภูมิคุ้มกันนักลงทุนเดินหน้าเศรษฐกิจได้อย่างไม่สะดุด!

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ตนได้รับมอบหมายจากนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เข้าประชุมหารือร่วมกับนายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้นักลงทุนและผู้ปฏิบัติงานที่เป็นชาวต่างชาติในประเทศไทย

โดยก่อนหน้านี้ มีนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับการสนับสนุนวัคซีนจากความร่วมมือของกระทรวงแรงงานและคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ประมาณ 36,000 คน ในการนี้ตนได้แจ้งว่า ยังมีชาวต่างชาติที่ปฏิบัติงานในนิคมอุตสาหกรรมที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มของนักลงทุนบีโอไออีกประมาณ 8,000 คน จึงขอให้กระทรวงแรงงานและบีโอไอนำไปพิจารณาเพื่อขอโควตาเพิ่มเติมจากกระทรวงสาธารณสุขให้แก่นักลงทุนและผู้ปฏิบัติงานในกลุ่มนี้เพิ่มเติม เนื่องจากเป็นบุคลากรกลุ่มสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้ กนอ.มีความประสงค์ขอรับการจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ผู้ประกอบการ ผู้ปฏิบัติงานชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในไทย ซึ่งกระทรวงแรงงานเห็นควรให้ กนอ.ประสานข้อมูลการขอรับการจัดสรรวัคซีนร่วมกับบีโอไอในคราวเดียว เพื่อให้การจัดสรรวัคซีนเป็นไปอย่างรวดเร็วและทันท่วงที สำหรับหลักเกณฑ์การสนับสนุนวัคซีนแก่นักลงทุนต่างชาติของ กนอ. คือ ผู้บริหารและผู้ชำนาญการจากต่างประเทศ กลุ่มสมาร์ทวีซ่าที่อยู่ในไทยเกิน 6 เดือน และครอบครัวอายุ 18 ปีขึ้นไปที่ไม่เคยได้รับวัคซีนเข็มแรกที่อื่นมาก่อน

ส่วนวัคซีนที่จะนำมาฉีดให้กับกลุ่มดังกล่าวคือ วัคซีนแอสตร้าเซเนก้าที่ได้รับบริจาคจากประเทศญี่ปุ่น สถานที่ฉีดจะใช้จุดบริการที่มีอยู่แล้วของกระทรวงแรงงาน โดยกำหนดจุดในกรุงเทพมหานคร 10 จุด และในต่างจังหวัดที่ระยอง ชลบุรี สมุทรปราการ จังหวัดละ 1 จุด คาดว่าจะเริ่มทยอยฉีดได้ประมาณเดือนสิงหาคมนี้

“กนอ.จะพยายามติดตามความคืบหน้าในการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ให้กับบุคลากรภายใต้การกำกับดูแลให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ผู้ปฏิบัติงานในนิคมฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคนเหล่านี้จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคการผลิตและการส่งออก และช่วยนำพาเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศให้มีความแข็งแกร่งตามไปด้วย เมื่อปัญหาโควิดบรรเทาลง” นายวีริศ กล่าว


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

คณะกรรมการบริหารของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) มีมติอนุมัติการปฏิรูปนโยบายการจัดหาเงินกู้เพื่อสนับสนุนกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำให้สามารถฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดียิ่งขึ้น

แถลงการณ์ของไอเอ็มเอฟ ระบุว่า "การปฏิรูปนโยบายการจัดหาเงินกู้ให้กลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำนั้น มีเป้าหมายที่จะสร้างความเชื่อมั่นว่า ในระยะกลางนี้ไอเอ็มเอฟมีศักยภาพในการตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มประเทศรายได้ต่ำ โดยไอเอ็มเอฟจะจัดหาเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยให้กับประเทศกลุ่มนี้

นอกจากนี้ ไอเอ็มเอฟจะขยายเพดานการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ตามปกติเพิ่มขึ้นอีก 45% และจะลดข้อจำกัดที่เข้มงวดเพื่อให้ประเทศที่ยากจนที่สุดสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้"

นายฌอน โนแลน รองผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายของไอเอ็มเอฟ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า “การตัดสินใจปรับเพิ่มเพดานการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในครั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าคณะกรรมการไอเอ็มเอฟ อนุมัติการปล่อยกู้เพิ่มขึ้นในทุก ๆ โครงการ แต่จะเน้นไปที่การให้ความช่วยเหลือกลุ่มประเทศรายได้ต่ำ ด้วยการจัดหาเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย เพื่อให้ประเทศกลุ่มนี้มีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเพียงพอในการรับมือกับวิกฤตโควิด-19 และพยุงเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอย่างเต็มศักยภาพในวันข้างหน้า”

ไอเอ็มเอฟ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะมีการขยายตัว 6% ในปีนี้ อย่างไรก็ดี นางคริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟ กล่าวว่า อัตราการขยายตัวในแต่ละประเทศยังคงมีความแตกต่างกัน โดยบางประเทศเติบโตอย่างรวดเร็ว ขณะที่บางประเทศเป็นไปอย่างล่าช้า

นอกจากนี้ นางจอร์เจียวาเตือนว่า เศรษฐกิจโลกจะไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ หากอัตราการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ไม่เพิ่มขึ้นมากกว่านี้ และหากอัตราการฉีดวัคซีนยังคงอยู่ในระดับปัจจุบันต่อไป โลกจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในการยุติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในสิ้นปี 2565


ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/950641

บก.ทท. แจ้งผลสอบ เอกสารขอสนับสนุนวัคซีนโมเดอร์นาจริง ชี้ เป็นการทำโดยพลการ ระบุไม่ได้รับมอบจากทางผบ.ทสส. จึงไม่ถือเป็นหนังสือที่ถูกต้อง พร้อมพิจารณาโทษทางวินัยกำลังพลดังกล่าว

พล.ต.ธีรพงศ์ ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา รองโฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย กล่าวถึงกรณีที่มีการเผยแพร่ภาพหนังสือ กรมสารบรรณทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย ที่ กห 0312.3/218 ลง 23 ก.ค.64 เรื่อง ขอรับการสนับสนุนวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 Moderna ให้กับกำลังพลและครอบครัว นั้นทางกองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเป็นการเร่งด่วน โดยผลการสอบสวนพบว่า ผู้อำนวยการกองพิธีการ กรมสารบรรณทหาร ได้ทำหนังสือเพื่อขอรับการสนับสนุนวัคซีนจริง เป็นการกระทำโดยพลการ ซึ่งผู้ที่ลงนามในหนังสือดังกล่าว ไม่ได้รับมอบอำนาจจาก ผู้บัญชาการทหารสูงสุด จึงไม่ถือเป็นหนังสือที่ถูกต้อง และไม่ได้ส่งไปยังสภากาชาดไทย ซึ่งได้ถูกยกเลิกหนังสือดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้กองบัญชาการกองทัพไทยได้พิจารณาลงโทษทางวินัยแก่กำลังพลดังกล่าว

“บิ๊กตู่” เคาะโครงการนำร่อง 5G ต้นแบบบริการประชาชน

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ขณะนี้ที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธาน เห็นชอบการดำเนินโครงการนำร่องการพัฒนาย่านเทคโนโลยี 5G ต้นแบบสำหรับให้บริการประชาชน (5G District) จังหวัดเชียงใหม่ 

โดยโครงการนี้จะทำใน  2 ด้าน คือ ด้านการเดินทาง เน้นสร้างบริการผ่านการให้บริการในแอปพลิเคชันเดียว ทั้ง รถเมล์ รถแดง รถแท็กซี่รถตู้รับจ้าง รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถเช่า และรถรับจ้างอื่นๆ และด้านสุขภาพจัดตั้ง 5G Hospital ยกระดับอุปกรณ์การบริการทางการแพทย์พื้นที่ห่างไกลให้รองรับเทคโนโลยี 5G และใช้อุปกรณ์ Digital Health ต่าง ๆ เพื่อช่วยให้แพทย์ หรือ บุคลากรทางการแพทย์สามารถทำการวินิจฉัยอาการทางไกลได้

ขณะเดียวกันยังเห็นชอบโครงการ 5G Use Case ระบบในการคัดกรองและแจ้งเตือน สำหรับภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เตรียมความพร้อมในการเปิดเศรษฐกิจท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต โดยมอบหมายให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นผู้ดําเนินการ พร้อมมอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานการบูรณาการระบบการลงทะเบียนนักท่องเที่ยวให้เป็นจุดเดียว เพื่อลดการกรอกข้อมูลซ้ำซ้อน

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบและติดตามความคืบหน้าโครงการนำร่องการใช้ประโยชน์ 5G ของประเทศไทยในระระยะสั้น ได้แก่ โครงการนำร่องเกษตรดิจิทัลด้วยเทคโนโลยี 5G ณ ศูนย์ฝึกอบรมผาหมี จ.เชียงราย และโครงการนำร่องโรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) ณ โรงพยาบาลศิริราช  โครงการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ในภาคอุตสาหกรรม 

“กรณ์” กระตุก สธ.-ดีอีเอส บริหารข้อมูลผู้ป่วยโควิดล้มเหลว แนะปลดล็อคระบบราชการ ดึงสกิลเอกชน ใช้ดาต้า เร่งช่วยชีวิตคน 

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า ไลฟ์สด บอกเล่าถึงประสบการณ์การทำงานของพรรคกล้า โครงการ กล้าหาเตียง โดยระบุว่า พบปัญหาอุปสรรคมากมาย เชื่อว่าภาระต่างจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละวัน กว่าที่ผู้ป่วยจะสามารถเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาลในระดับต่างๆ ได้ ทั้งนี้ จากสถิติการฉีดวัคซีนวันละ 250,000 โดส ถือว่ามากขึ้นเรื่อย ๆ โดยขณะนี้สามารถฉีดให้กับประชาชนแล้ว 15 ล้านคน แต่ก็ยังห่างไกลจากเป้าหมายที่รัฐบาลประกาศไว้จะฉีดให้ครบ 100 ล้านโดส ภายในสิ้นปี หมายความว่าในอีก 160 วันที่เหลือ จะต้องฉีดให้ได้วันละ 500,000 โดส จึงจะสามารถครอบคลุมได้ตามเป้าหมาย  

นายกรณ์ บอกว่า จากที่ได้รับการติดต่อขอความช่วยเหลือจากผู้ป่วยท่านหนึ่ง เมื่อกลางดึกวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา ผู้ป่วยสูงวัยมีโรคประจำตัวทั้งโรคไตและเบาหวาน ทีมอาสาพรรคกล้าาพยายามช่วยเต็มที่ แต่ถูกโรงพยาบาลประจำของผู้ป่วยปฏิเสธที่จะรับดูแล เราพยายามหาช่องทางอื่น และโทรเบอร์ 1669 ตามคำแนะนำของโรงพยาบาล แต่ถูกตัดสายทุก 4 นาที ส่วนเบอร์ 02-2705685-9 ของกองทัพบกที่แจ้งว่าเปิดรับสายตลอด 24 ชั่วโมง ก็โทรไม่เคยติด วันต่อมาผู้ป่วยอาการผู้ป่วยทรุดลงอย่างรวดเร็ว จึงตัดสินใจส่งรถไปรับเพื่อจะพาไปโรงพยาบาลแต่รถไปไม่ทัน จนเช้าตรู่วันที่ 23 กรกฎาคม ทราบว่าผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว และได้ทำการฌาปณกิจในทันที สร้างความสลดหดหู่ใจของกลุ่มอาสา แต่ก็เทียบไม่ได้กับความรู้สึกของครอบครัวที่ต้องสูญเสียคนที่รัก  

“ผมต่อสายไปคุยกับภรรยาผู้เสียชีวิต ท่านไม่ได้ติดใจกับระบบการช่วยเหลือ ท่านเข้าใจว่าเป็นช่วงสถานการณ์วิกฤต หากระบบดี เชื่อว่าวันนี้ผู้ป่วยก็ยังคงมีชีวิตอยู่ เรื่องราวเหล่านี้กำลังกลายเป็นเรื่องปกติ ที่เรารับทราบทุกวัน พวกเรามานั่งสุมหัวกัน เพื่อทบทวนถึงระบบระเบียบราชการ และขั้นตอนที่เป็นอุปสรรคมากมาย ที่อาจใช้ได้ในภาวะปกติ แต่ในภาวะวิกฤตควรจะปรับปรุง โดยเฉพาะเมื่อผู้ป่วยมีการตรวจ Rapid Antigen แล้วพบว่าติดโควิด หลังตรวจวัดค่าออกซิเจนแล้ว ก็ควรให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาพยาบาลในทันที ไม่ต้องมาตรวจ PCR ตามเงื่อนไขของทางราชการอีก ตอนนี้การตรวจก็ยาก ผู้ตรวจออกไปหาพื้นที่ที่ต้องตรวจ นอกจากเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยเองแล้ว ยังเป็นอันตรายต่อผู้ที่เดินทางมาตรวจด้วย ตอนนี้การตรวจเริ่มผ่อนคลาย แต่ก็มีผลแค่การรู้เท่านั้น แต่ยังไม่มีผลกับการใช้สิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล  เราก็ยังขอเรียกร้องว่าการตรวจให้กับประชาชนในพื้นที่เสียง ต้องฟรี” หัวหน้าพรรคกล้า กล่าว 

นายกรณ์ กล่าวว่า อีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขคือ การเข้าถึงระบบการรักษา ผ่านช่องทาง Call Center รัฐบาลควรเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มจำนวนผู้รับสาย เพิ่มข้อมูลให้กับผู้รับสายให้เขามีข้อมูลเพียงพอให้คำปรึกษากับผู้ป่วย เช่นเดียวกับประเด็นยา ที่ยังถกเถียงกัน ข้อเท็จจริงวันนี้คือ ระบบสาธารณสุขของรัฐ ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนามได้  ผู้ป่วยที่ติดค้างอยู่ตามวัด ตามชุมชน จำนวนมากเข้าไม่ถึงยา วันนี้รัฐบาลมีนโยบายแยกตัวผู้ป่วยออกจากครอบครัว โดยให้ สปสช.ดูแลเรื่องยา อาหารสามมื้อ และให้คำปรึกษาทางการแพทย์ แต่หลังจากตรวจสอบพบว่า ผู้ที่เข้าระบบของเราแทบไม่เจอใครได้รับยา หรือรับการช่วยเหลือจากราชการ ตามนโยบายที่กำหนดไว้  นโยบายก็เรื่องหนึ่ง แต่ผลในทางปฏิบัติ เป็นหนังคนละม้วน จึงขอให้ผู้มีอำนาจช่วยลงมาดูด้วยตัวเอง ว่านโยบายของท่านนำไปสู่การปฏิบัติได้ไหม และที่ยังทำไม่ได้มันติดอะไร สามารถปลดล็อค ปลดแอกได้ไหม เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงนโยบายที่ท่านกำหนดให้โดยสะดวกมากขึ้น อีกเรื่องคือศูนย์พักคอย พรรคกล้าได้ให้ความร่วมมือสร้างศูนย์พักคอย  2 แห่ง เพราะเรามองว่าแนววิธีนี้เป็นประโยชน์ต่อการตัดวงจรการแพร่เชื้อในชุมชนกันเอง เนื่องจากส่วนใหญ่อยู่กันอย่างแออัดในครอบครัว ดังนั้นจึงให้คำแนะนำกับชุมชน ในการใช้พื้นที่ส่วนกลาง สร้างศูนย์พักคอย แยกตัวผู้ป่วยมาได้อย่างปลอดภัย  แต่ศูนย์พักคอยที่มีอยู่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ 

“วันนี้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเกือบ 150,000 คน ทั่วประเทศ รักษาหาย 7,500 คน ขณะที่เรามีผู้ป่วยต่อวันเกือบหมื่นคน ที่ต้องเข้ารับการรักษา จึงต้องเร่งสร้างศูนย์พักคอยเพิ่มขึ้น กทม. ประกาศจะสร้างศูนย์พักคอยทั้ง 50 เขต จำนวน 5,000 เตียง มันไม่พออยู่แล้ว เราต้องเผื่อไว้อย่างน้อย 100,000 เตียง คำนวณง่าย ๆ  ในแต่ละวันมีผู้ป่วย 5,000 คน ใช้เวลารักษาฟื้นตัว 20 วัน ถึงจะออกไป และให้ผู้ป่วยท่านใหม่เข้ามาแทนที่ จำนวนเตียงที่ต้องเตรียมคือ 100,000 เตียง วันนี้แถวบ้านผม ทราบว่ามีคนงาน  20 คนนอนติดเชื้อโควิด ไม่ได้อยู่ในระบบการรักษา และเราไม่รู้เลยว่า ทั้ง 20 คนนั้นสลับกันไปจ่ายตลาดเพื่อหาอาหารสิ่งของจำเป็นประทังชีวิต ผมรู้สึกอึดอัดกับเรื่องราวที่รับทราบในแต่ละวัน” นายกรณ์ กล่าว  

หัวหน้าพรรคกล้า กล่าวว่า จากข้อเสนอข้างต้นนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายที่หน่วยราชการจะทำ แต่อยู่ในวิสัยที่ปรับปรุงแก้ไขได้และต้องเร่งทำ โดยเฉพาะกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ล้มเหลวเรื่องระบบการจัดการข้อมูล วันนี้เราไม่รู้เลยว่า ผู้ป่วยอยู่ไหน ใครอยูในพื้นที่เสี่ยงที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนกี่คน เขาเหล่านั้นอยู่ที่ไหน โรงพยาบาลมีเตียงว่างกี่เตียงและอยู่ที่ไหน การบริหารจัดการที่ดีเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่ปรับปรุงระบบการจัดการและนี่คือภาระสำคัญเร่งด่วน ของ กระทรวงดีอีเอส ที่ต้องสร้างอีโคซิสเต็มให้ผู้ป่วยแบบเรียลไทม์ ต้องรู้ว่าผู้ป่วยอยู่ไหน เตียงว่างกี่เตียงและอยู่ที่ไหน กลุ่มเสี่ยงรอการฉีดวัคซีนกี่คน อยู่ที่ไหนบ้าง ข้อมูลเหล่านี้รัฐต้องมีอยู่ในมือ และต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย 

นอกจากนี้ เรื่องการทำมาหากิน เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการเยียวยา ควรสร้างแพลตฟอร์มอีโคซิสเต็ม สร้างโอกาสการทำมาหากินในช่วงล็อคดาวน์ วันนี้กระทรวงดีอีเอสทำน้อยไป ทั้งที่มีเครื่องมือในมือ วันก่อนได้พูดคุยกับ คุณเชาว์ หรือนายสมคิด จิรานันตรัตน์ ผู้ออกแบบแอป 'เป๋าตัง' วันนี้ประชาชนโหลดแอปเป๋าตังอยู่ในมือถือจำนวน  30 ล้านคน เป็นแพลตฟอร์มที่ควรจะขยายผลให้มีการจองวัคซีน โดยไม่จำเป็นต้องไปออกแบบแอปใหม่ให้ยุ่งยาก วันนี้ร้านอาหารที่ถูกสั่งปิด ผู้ประกอบการจำนวนมากไม่อยู่ในระบบดิลิเวอรี่ เพราะเขาทำไม่เป็น กระทรวงดีอีเอส ก็ควรจะทำให้เขาเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มนี้ 

“ท่านนายกรัฐมนตรี เชิญ 40 ซีอีโอ รวมถึงประธานหอการค้า ประธานสภาอุตสาหกรรม เข้ามาพูดคุยปรึกษาที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันก่อน เป็นเรื่องที่ดี แต่คิดว่าการพูดคุยทำมาแล้วหลายครั้ง เขาก็ฝากรัฐหลายครั้ง สุดท้ายรัฐก็ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง พวกเราทุกคนที่อยู่หน้าด่าน เราพบขีดจำกัดของระบบราชการ นายกฯ ควรมองข้ามระบบราชการ ไปสู่เครื่องมืออื่น ๆ ที่มีอยู่ในประเทศ ว่ามีภารกิจอะไรบ้างที่มอบให้หน่วยราชการไปทำ แต่ไม่สามารถทำได้ ยกตัวอย่าง call center เบอร์ที่จัดมา หลักการมันดีอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริงไม่สามารถจัดการให้รองรับความต้องการของประชาชนได้ ถึงเวลาแล้ว ที่ทาจะไปปรึกษาผู้ประกอบการว่า เอกชนรับไปทำได้ไหม ยกตัวอย่าง AIS TRUE รับภาระไปได้ไหม ศูนย์พักคอย หน่วยราการ อาจสร้างไม่ทัน กลุ่ม เอสซีจี ทำได้ไหม เขาก็ทำเตียงกระดาษบริจาคให้รัฐอยู่แล้ว ลองดูทักษะการบริหารจัดการของเขา สามารถช่วยสมทบ หรือ ทำหน้าที่แทนระบบสาธารณสุขของรัฐ ได้แค่ไหน ศูนย์พักคอย ขณะนี้มีหลักแสนเตียง หามรุ่งหามค่ำ ประเด็นอาหาร ท่านมอบให้ซีพีเลยได้ไหม เซเว่นมี 10,000 สาขา ทั่วประเทศเขามีอาหารอยู่แล้ว เขาสามารถจัดส่งได้ถึงมือผู้ป่วยได้ทันที  สถานการณ์วันนี้จึงไม่ใช่แค่รับฟังข้อเสนอแนะ แต่ต้องเป็นการระดมผู้รู้ ที่มีความสามารถ มีทรัพยากรในมือ เพื่อช่วยกันนำพาพวกเราผ่านด่านอุปสรรคนี้ไปให้ได้ เชื่อว่า กว่าที่จะถึงวันที่เราประกาศเอาชนะโควิด คงต้องมีการสูญเสียคนอีกหลายร้อยหลายพันชีวิต แต่จะสูญเสียมากน้อยแค่ไหน ต้องขึ้นอยู่กับการทำงานของทางราชการเป็นหลัก วันนี้ต่อให้มีเงินหลักแสน ก็ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ ขอเป็นกำลังให้ทุกคน อย่าป่วย อย่าเสี่ยงต่อการติดเชื้อ สตางค์ไม่สามารถซื้อความปลอดภัยได้ ” นายกรณ์ กล่าวพร้อมกับย้ำว่า พรรคกล้ายังคงเป็นหน่วยประสานงานช่วยเหลือผู้ป่วยหาเตียง สามารถติดต่อไปได้ที่เพจ Kla party  จะมีกลุ่มอาสารอรับเรื่องตลอด 24 ชั่วโมง

องค์การเภสัชกรรม กับ บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จํากัด ลงนามสัญญา ชื้อ-ขาย วัคซีนโมเดอร์นา 5 ล้านโดสแล้ว ทยอยส่งมอบให้ไทยได้ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีนี้

นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า วันนี้ ( 23 กรกฎาคม 2564 ) องค์การเภสัชกรรม และบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จํากัด ในนามบริษัท แซดพี เทอราพิวติกส์ ซิลลิค ฟาร์มา ประเทศไทย โดยมีนายแพทย์เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ร่วมเป็นสักขีพยาน ได้ลงนามในสัญญาซื้อ-ขาย อย่างเป็นทางการในการจัดหาและกระจายวัคซีนโควิด-19 ของโมเดอร์นา จำนวนประมาณ 5 ล้านโดส โดยวัคซีนทั้งหมดจะทยอยนำเข้ามาในประเทศไทย ตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2564 ต่อเนื่องไตรมาสที่ 1 ปี 2565 เป็นไปตามช่วงเวลาเดิมที่กำหนดไว้

ขณะเดียวกันโรงพยาบาลต่าง ๆ รวมทั้งสภากาชาดไทย ได้ทำการชำระเงินค่าวัคซีนครบถ้วนตามที่ได้รับการจัดสรร หลังจากนี้องค์การฯ จะได้ทำการชำระเงินให้แก่ บริษัท ซิลลิก ฟาร์มา จํากัด ต่อไป เพื่อให้ความมั่นใจว่าวัคซีนทางเลือกโมเดอร์นา จำนวนประมาณ 5 ล้านโดสนี้ จะเข้ามาประเทศไทยอย่างแน่นอน

“องค์การเภสัชกรรม ได้ปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ในการเป็นหน่วยงานภาครัฐทำหน้าที่จัดซื้อจัดหาวัคซีนทางเลือกโมเดอร์นา เพื่อให้ประชาชนได้มีวัคซีนทางเลือกเพิ่มขึ้น โดยนับตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 องค์การเภสัชกรรม ได้มุ่งมั่น ทุ่มเท ดำเนินการในทุกภารกิจทั้งด้านยา วัคซีน และเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ในการป้องกันต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนระบบสาธารณสุขไทย เพื่อให้ประเทศไทยได้ผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้” ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวในตอนท้าย


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

กรมควบคุมโรคเผย ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา 1 คน สามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นได้ 5-8 คน ผู้สัมผัสใกล้ชิดมีอัตรการติดเชื้อร้อยละ 11.83

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ถึงวิธีการกักตัวที่บ้านว่า ในช่วงนี้ประเทศไทย ยังคงพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในหลายพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทั้งที่แสดงอาการป่วยและไม่แสดงอาการป่วย แต่สามารถแพร่เชื้อติดต่อไปยังคนอื่นได้ ทำให้จำนวนผู้สัมผัสกับผู้ติดเชื้อมีมากขึ้นตามไปด้วย

ทั้งนี้ ผลจากการดำเนินการสอบสวนเพื่อควบคุมโรคในพื้นที่ หลังจากมีรายงานผู้ป่วยรายใหม่จากทั่วประเทศจนถึงปัจจุบัน พบว่าผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด-19 มีอัตราการติดเชื้อร้อยละ 11.83 ซึ่งยังอยู่ในอัตราที่สูง โดยเชื้อที่เป็นปัญหาหลักของไทยขณะนี้ คือสายพันธุ์เดลตาและอัลฟา ที่ติดต่อกันได้ง่าย ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา 1 คน สามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นได้ 5-8 คน ส่วนเชื้อสายพันธุ์อัลฟาแพร่ได้ 4-5 คน

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า มาตรการที่จะสกัดกั้นการแพร่ระบาดให้ยุติโดยเร็วที่สุด เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ลดการเสียชีวิตและผลกระทบอื่น ๆ คือ การป้องกันการติดเชื้อและควบคุมไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปมากกว่านี้ จะต้องดำเนินการร่วมกันทุกฝ่ายไปในแนวทางเดียวกันอย่างเข้มข้น กรมควบคุมโรคจึงขอความร่วมมือประชาชนที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ติดเชื้อโควิดระหว่างที่ใช้ชีวิตประจำวัน ขอให้กักตัวเองที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน เป็นช่วงที่เชื้อฟักตัวเพื่อสังเกตอาการว่าติดเชื้อหรือไม่ สามารถดำเนินการได้ทั้งในบ้าน ทาวน์เฮ้าส์ อาคารชุด เช่น หอพักคอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนต์ต่าง ๆ ทั้งประเภทอยู่คนเดียว หรืออยู่ร่วมกับครอบครัวหรือพักร่วมกับผู้อื่น สร้างความปลอดภัย ทั้งตนเองและคนในครอบครัว

นพ.โอภาส ให้ข้อแนะนำให้ปฏิบัติ ประกอบด้วย

1.) ให้จัดสถานที่พัก และอุปกรณ์เครื่องใช้ให้พร้อม เน้นแยกที่พักให้เป็นสัดส่วน เช่น ห้องนอน ที่นอน หากแยกไม่ได้ อาจใช้แผ่นกระดาษหรือพลาสติกกั้นห้องเพื่อแบ่งสัดส่วนชั่วคราว เปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทสะดวก แยกของใช้ส่วนตัว แยกห้องน้ำ หากแยกไม่ได้ ให้ใช้เป็นคนสุดท้ายและทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทันที ทำความสะอาดฆ่าเชื้ออุปกรณ์ภายในบ้านด้วยน้ำผสมผงซักฟอก น้ำผสมน้ำยาฟอกขาว หรือแอลกอฮอล์ 70%

2.) เน้นการดูแลอนามัยส่วนบุคคล โดยล้างมือฟอกด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล 70 % ทุกครั้งก่อนและหลังสัมผัสสิ่งของที่ต้องใช้ร่วมกับคนอื่น ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ไม่คลุกคลีกับคนอื่น แยกซักเสื้อผ้าเอง และให้งดการสัมผัสหรือเล่นกับสัตว์เลี้ยงชั่วคราว เนื่องจากเชื้อไวรัสสามารถติดไปกับขนสัตว์ได้เช่น แยกทานอาหาร หากให้ผู้อื่นจัดหาอาหารให้ ควรกำหนดจุดรับอาหารเพื่อป้องกันการสัมผัสโดยตรง กรณีใช้ชักโครก ให้ปิดฝาทุกครั้งก่อนกดชักโครก เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ทิ้งขยะในถุงและมัดปากถุงให้แน่นก่อนนำไปทิ้งรวมกับขยะทั่วไป

3.) เฝ้าระวังอาการป่วยตนเองระหว่างกักตัว โดยใช้ปรอทตรวจวัดไข้ทุกวัน และสังเกตอาการผิดปกติ หากพบว่ามีไข้เกิน 37.5 องศาเซลเซียส และมีอาการไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจลำบาก หอบเหนื่อย ตาแดง จมูกไม่ได้กลิ่นหรือลิ้นไม่รับรส มีผื่นขึ้น ปวดหัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ท้องเสีย อาเจียน ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านหรืออาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ทันที เพื่อเข้าสู่ระบบการดูแลตามขั้นตอนต่อไป หากมีข้อสงสัยสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนควบคุมโรค โทร. 1422


ที่มา : https://www.thaipost.net/main/pdetail/110829


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top