Saturday, 10 May 2025
Hard News Team

“วิโรจน์” แนะ ศบค.เร่งทำ 3 ข้อ เพื่อประคับประคองสถานการณ์ ซัด บริหารสถานการณ์บกพร่องร้ายแรง ย้ำ ต้องอย่าทำให้ระเบียบราชการและการรอคอยทำปชช.เสียชีวิต 

เมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ทำการพรรคก้าวไกล นายวิโรจน์ ลักขณาอดิสร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล แถลงข่าวกรณีที่รัฐบาลบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดที่บกพร่องอย่างร้ายแรง โดยข้อเสนอดังกล่าวส่งตรงไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ล่าสุด มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นวันละ 14,000-15,000 ราย และเป็นการเพิ่มขึ้นมากกว่า 10,000 รายต่อวัน ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาถึง 10 วันแล้ว โดยการระบาดเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพียงแค่ระยะเวลา 15 วัน จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จากระดับ 7,000 เป็น 14,000 รายต่อวัน

นายวิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการบริหารจัดการ การจัดหา และจัดฉีดวัคซีน แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ได้กล้าหาญที่จะออกมากล่าวคำขอโทษกับประชาชนด้วยตนเอง แต่เหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าการออกมาขอโทษประชาชนของผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และเปลี่ยนการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ COVAX Facility เมื่อวันที่ 21 ก.ค. การที่คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ มีมติให้จัดหาวัคซีนที่สามารถตอบสนองต่อเชื้อกลายพันธุ์ได้จำนวน 120 ล้านโดส ในปี 2565 พร้อมกับเร่งรัดให้จัดหาวัคซีนภายในปีนี้ ให้ได้ 100 ล้านโดส เมื่อวันที่ 14 ก.ค. การที่ อนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทำหนังสือถึง AstraZeneca เพื่อขอให้เขาส่งมอบวัคซีนให้ได้เดือนละ 10 ล้านโดส เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา ตลอดจนการยื่นข้อเสนอซื้อวัคซีน Pfizer เพิ่มเติมอีก 50 ล้านโดส เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ก็คือ การที่รัฐบาลได้สารภาพผิดโดยพฤตินัย เพราะจำนนต่อหลักฐาน ซึ่งประชาชนและสังคมก็ได้พิพากษา พล.อ.ประยุทธ์ ,นายอนุทิน และรัฐบาลนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“การบริหารจัดการด้านวัคซีน ผมก็ได้แต่หวังว่ารัฐบาลจะสำนึกในบาปบุญคุณโทษ ที่ได้ก่อกรรมทำเข็ญเอาไว้กับประชาชน และเร่งใช้ความสามารถทางการทูต และการเร่งรัดติดตามอื่นๆ เพื่อนำเอาวัคซีนที่มีประสิทธิผลต่อสถานการณ์การระบาด มาฉีดให้กับประชาชนโดยเร็วที่สุด การดำเนินการดังกล่าว แม้ว่ารัฐบาลจะกลับเนื้อกลับตัวได้แล้ว ก็ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ สิ่งที่สำคัญที่สุดในเวลานี้ ท่ามกลางสถานการณ์ที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ มีมากกว่าผู้ที่หายป่วยกลับบ้านถึงวันละ 5,000-8,000 ราย สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ การประคับประคองให้จำนวนผู้ติดเชื้อชะลอตัวลง และลดอัตราการเสียชีวิตของประชาชนให้น้อยลงกว่าที่เป็นอยู่นี้ให้ได้”โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าว 

นายวิโรจน์ กล่าวว่า ตนมีข้อเสนอแนะต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. จำนวน 3 ข้อ คือ 1.เร่งใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit ตรวจประชาชนให้มากที่สุด และจัดสรรให้ประชาชนทุกคน โดยเฉพาะประชาชนที่พักอาศัยในพื้นที่สีแดง สามารถนำเอาบัตรประชาชนมาขอรับ เพื่อนำไปใช้ตรวจวินิจฉัยตนเองโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ได้สัปดาห์ละ 1 ชุด โดยสามารถลงทะเบียนขอรับผ่านทางไปรษณีย์ หรือขอรับด้วยตนเอง ได้ที่หน่วยงานท้องถิ่น หรือหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย  เช่น สำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุข พร้อมจุดบริการเสริมต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล องค์กาบริหารส่วนจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ ในต่างจังหวัด ทั้งนี้เพื่อลดภาระของกระทรวงสาธารณสุขลง พร้อมให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณมาอุดหนุน เพื่อให้ราคาของชุดตรวจ Antigen Test Kit อยู่ที่ไม่เกินชุดละ 50 บาท และเร่งจัดหามาให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน เพื่อให้ประชาชนสามารถซื้อได้ตามร้านขายยามาตรฐานทั่วไป

2.ให้รัฐบาลกระจายอำนาจจากกระทรวงสาธารณสุขให้กับหน่วยงานท้องถิ่น และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มสีเขียว และเหลืองอ่อน เพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขสามารถทุ่มเท ดูแลรักษาผู้ติดป่วยในกลุ่มสีเหลือง สีแดง และผู้ป่วยในภาวะวิกฤติได้ โดยให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ คือ เร่งจัดทำศูนย์พักคอยเพื่อติดตามอาการ หรือ Community Isolation Center ให้มากที่สุด โดยใช้พื้นที่วัด ศาสนสถาน โรงเรียน ค่ายทหาร และสวนสาธารณะ ตลอดจนสถานที่ราชการต่างๆ เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียว และเหลืองอ่อน ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 70-75% ที่ไม่สามารถกักตัวรักษาตนเองที่บ้านได้ ระจายเป็นจุดต่างๆ อย่างครอบคลุม ในระดับแขวงเขต ตำบล และอำเภอ

ให้รัฐบาลกระจายอำนาจให้กับหน่วยงานท้องถิ่น หรือหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ในการดูแลศูนย์พักคอยเพื่อติดตามอาการ เช่น ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้สำนักอนามัย ศูนย์บริการสาธารณสุข และสำนักเทศกิจ ทำหน้าที่ดูแล และในพื้นที่ต่างจังหวัดให้ อบต. และอบจ. เป็นผู้ดูแล เป็นต้น

สำหรับผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียว ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ และไม่ได้อยู่ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ที่พักรักษาตัวที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาล หากพบว่ากักตัวมาเป็นระยะเวลา 10 วันแล้ว ไม่มีอาการของโรค และสภาพปอดปกติ ให้ผู้ป่วยกลับไปกักตัวรักษาตนเอง หรือทำ Home Isolation ที่บ้าน ให้โรงพยาบาลรับผู้ป่วยในกลุ่มที่เปลี่ยนจากสีเขียว เป็นสีเหลือง จากศูนย์พักคอยติดตามอาการ Community Isolation Center หรือ Home Isolation หรือกรณีใดๆ มารักษาตัวต่อที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel ภายใต้การกำกับดูแลของโรงพยาบาล โดยห้ามมิให้ปฏิเสธ

และ 3.ให้รัฐบาลตรวจสอบอุปสรรคหน้างานอย่างเร็วที่สุด โดยเฉพาะข้อจำกัดที่ทำให้ผู้ติดเชื้อเข้าถึงยาต้านไวรัสอย่างล่าช้า เร่งแก้ไขระเบียบ ลดขั้นตอน และลดงานเอกสารงานธุรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลและการเข้าถึงยาลง ในกรณีที่จำเป็น ก็ต้องใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในการแก้ไขปัญหาคอขวดที่เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ที่เริ่มมีอาการ ตลอดจนผู้ติดเชื้อที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้มีโรคประจำตัว ได้เข้าถึงยา Favipiravir ได้เร็วที่สุด โดยการวินิจฉัยของแพทย์ ภายใน 4 วันนับจากวันที่เริ่มมีอาการ ซึ่งเป็นไปตามแนวเวชปฏิบัติ ของกรมการแพทย์ ฉบับวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 แต่ในทางปฏิบัติยังไม่สามารถทำได้เป็นการทั่วไป นี่คือ สิทธิการมีชีวิตรอดของประชาชน ซึ่งไม่ควรต้องสูญเสียไป จากระบบงานธุรการ ที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์วิกฤติ

โดยให้ผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียว และสีเหลืองอ่อน ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 75% ควรลงทะเบียน โดยได้รับหมายเลขผู้ป่วยนอก (HN) หรือหมายเลขผู้ป่วยใน (AN) โดยเร็วที่สุด ลดเรื่องงานเอกสารธุรการลงทั้งหมด สำคัญที่สุด เมื่อประชาชนพบว่าตนเองติดเชื้อ จากการตรวจโดยใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit ประชาชนควรเข้าถึงการรักษาได้ทันที แพทย์สามารถจ่ายยา Favipiravir และยารักษาตามอาการได้โดยทันที การตรวจยืนยันด้วยวิธี RT-PCR และการตรวจวินิจฉัยอื่นๆ ตลอดจนการตระเตรียมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำ Home Isolation การทำ Community Isolation หรือการรับเข้ารักษาที่โรงพยาบาล
.
นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า  รัฐบาลควรจะแก้ไขกฎระเบียบ ให้อาสาสมัครต่างๆ ที่ช่วยประสานหาเตียงให้กับผู้ติดเชื้อ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ศูนย์พักคอยติดตามอาการ Community Isolation Center สามารถที่จะประสานงานกับโรงพยาบาล เพื่อลงทะเบียนให้กับผู้ติดเชื้อได้ และสามารถรับยาที่แพทย์สั่ง มาจ่ายให้กับผู้ป่วยที่อยู่ในศูนย์พักคอยติดตามอาการ รวมทั้ง ‘นำส่งยาที่แพทย์สั่ง’ ให้กับผู้ติดเชื้อที่ทำ Home Isolation หรืออยู่ระหว่างการรอเตียง เพื่อลดโอกาสการเสียชีวิต ให้น้อยลงที่สุดเท่าที่จะทำได้

ทั้งนี้ ตนข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาศูนย์ล้างไตให้กับผู้ป่วยโควิด-19 การหารือกับ กสทช. ร่วมกับค่ายโทรศัพท์มือถือต่างๆ ให้งดเว้นการตัดสัญญาณโทรศัพท์ และสัญญาณอินเตอร์เน็ต ที่ค้างชำระค่าบริการในช่วงนี้ ซึ่งการระบาดของโรคอย่างรุนแรง เนื่องจาก กระบวนการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การประสานงานเพื่อหาเตียง หรือการติดตามอาการผู้ป่วยที่ทำ Home Isolation ล้วนจำเป็นต้องใช้สัญญาณโทรศัพท์ หรือสัญญาณอินเตอร์เน็ต ทั้งสิ้น

“ผมขอฝากไปถึงรัฐบาลก็คือ ยา และเวชภัณฑ์ต่างๆ ที่จำเป็น เช่น ยา Favipiravir ยา Remdesivir หรือยาที่จำเป็นต้องใช้ในห้อง ICU เช่น ยา Nimbex, Propofol หรือ Midazolam รัฐบาลต้องดูแลไม่ให้สต๊อกยา และเวชภัณฑ์เหล่านี้ขาดแคลน และถ้าเป็นไปได้ รัฐบาลต้องมีวิสัยทัศน์ ในการพิจารณานำเข้ายาต้านไวรัสประเภทอื่นที่ผ่านการรับรองมาแล้ว เช่น ภูมิคุ้มกันสังเคราะห์ ที่เรียกว่า Monoclonal Antibody เพื่อให้แพทย์เลือกใช้ในการรักษาชีวิตของประชาชน นี่ไม่ใช่เวลาที่รัฐบาลจะมาประหยัดงบประมาณในส่วนนี้ ”นายวิโรจน์ กล่าว

สายพันธุ์เดลตาถล่มย่านอาเซียนสาหัส มาเลเซียมียอดผู้ติดเชื้อใหม่กว่า 17,045 ราย

Covid-19 สายพันธุ์เดลตา ยังถล่มย่านอาเซียนสาหัส ที่มาเลเซียมียอดผู้ติดเชื้อรอบ 24 ชั่วโมง ทำ New High อีกครั้ง ที่ 17,045 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมในประเทศทะลุ 1 ล้านคน

ศูนย์กลางการระบาดหนัก ยังคงอยู่ที่ รัฐสลังงอร์และกรุงกัลลาลัมเปอร์ ที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่รวมกันในวันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม ถึง 10,500 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตเพิ่มอีกกว่า 180 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตรวมในมาเลเซียถึงกว่า 8 พันรายแล้ว

การระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ เดลตา ยังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่อง แม้รัฐบาลจะพยายามออกมาตรการเข้มงวด จนถึงระดับล็อกดาวน์ทั่วประเทศในเดือนมิถุนายน แต่ยอดผู้ติดเชื้อยังพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง จนโรงพยาบาลในมาเลเซียต้องรับมือกับผู้ป่วยที่ยังติดเชื้อรอการรักษาอยู่ถึง 1.6 แสนราย และผู้ป่วย ICU มากกว่า 1,000 เคส

จากวิกฤติโรคระบาดครั้งรุนแรงนี้ ทำให้ฝ่ายค้านได้ยื่นแจ้งความฟ้องรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี มูห์ยิดดิน ยัสซิน ในข้อหาละเลยการจัดการแก้ไขปัญหา Covid-19 ที่สร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อประชาชน

ทางด้านรัฐบาลมาเลเซียก็เร่งเดินหน้าฉีดวัคซีนให้กับประชาชนอย่างเร่งด่วน ซึ่งจนถึงตอนนี้มีชาวมาเลเซียในกลุ่มผู้ใหญ่ ได้รับวัคซีนครบโดสไปแล้วถึง 23% และคาดว่าจะสามารถฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มให้กับกลุ่มผู้ใหญ่ทั้งหมดในแถบกรุงกัลลาลัมเปอร์ และปริมณฑลได้ภายในสิ้นเดือนสิงหาคม

รัฐบาลมาเลเซียคาดหวังว่า หลังเร่งกระจายฉีดวัคซีนได้ทั่วประเทศแล้ว น่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ และจะเริ่มคลายมาตรการล็อกดาวน์ได้ภายในเดือนตุลาคมนี้

และนอกเหนือจากมาเลเซีย ที่ทำสถิติ New High เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ทั้งไทย, เวียดนาม, พม่า ต่างมียอดผู้ติดเชื้อทุบสถิติเช่นเดียวกัน

ดังนั้นสถานการณ์การระบาดของ Covid-19 ในย่านอาเซียนจัดว่าน่าเป็นห่วงมาก โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย ที่ขยับขึ้นมาเป็นประเทศศูนย์กลางการแพร่ระบาดแห่งใหม่ในเอเชียไปแล้วเช่นกัน


ผู้เขียน : ยีนส์ อรุณรัตน์
อ้างอิง : The Straits Time / The Star Malaysia


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

นายกฯ สั่ง ทุกส่วนบูรณาการการทำงานร่วมกัน ให้ เร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ประชาชน รวดเร็ว-ทั่วถึง เน้น ผู้สูงอายุ-กลุ่มเปราะบาง-หญิงตั้งครรภ์ - ขอบคุณบุคลากร ทำงาน อดทน เสียสละ ช่วยคนไทย ต่อสู้กับความท้าทาย

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยและได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์ เพื่อลดอัตราการป่วยหนัก และเสียชีวิต 

นายอนุชา กล่าวว่า โดยในช่วงที่ผ่านมา กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) สำนักอนามัย กทม. สำนักงานเขตในพื้นที่ ทหาร ตำรวจ และ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) จัดทีมลงพื้นที่เร่งบริการฉีดวัคซีนให้แก่ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์ เป็นลำดับแรกก่อน ในชุมชนต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ รวมทั้งได้ให้คำแนะนำแนวทางการป้องกันโรคโควิด-19 ตามมาตรการ D-M-H-T-T ของสาธารณสุข เพื่อลดอัตราการแพร่กระจายของเชื้อ

“จํานวนยอดสะสมการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของไทยถึงวันที่ 25 ก.ค. 2564 รวมทั้งสิ้น 15,994,842 ราย จําแนกเป็น ผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จํานวน 12,339,985 ราย และผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 จํานวน 3,654,857 ราย สำหรับการฉีดวัคซีนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มียอดสะสม 5,318,434โดส แบ่งเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 3,341,846 ราย และผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มจำนวน 988,294 ราย” นายอนุชา กล่าว

นายอนุชา กล่าวว่า เนื่องจากสถิติของผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า กลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำและมักมีโรคประจำตัว ถือเป็นกลุ่มเปราะบางอาจทำให้เมื่อรับเชื้อแล้วมีอาการหนัก มีความเสี่ยงจากการเสียชีวิต หน่วยงานภาครัฐและภาคส่วนต่างๆ ภายใต้การดำเนินนโยบายของรัฐบาล จึงได้เร่งสำรวจเชิงรุกและฉีดวัคซีนให้อย่างครอบคลุม เพื่อปกป้องประชาชนกลุ่มนี้ และนอกจากนี้ โฆษกรัฐบาลกล่าวถึงคำแนะนำเพื่อดูแลผู้สูงอายุ 

นายอนุชา กล่าวว่า โดยให้ยึดหลัก 5 อ. ของ กระทรวงสาธารณสุข ที่ประกอบไปด้วย 1. อาหาร สะอาด ปรุงสุกใหม่ๆ เลี่ยงอาหารหวาน หรือเค็มจนเกินไป โปรตีนสูง เสริมภูมิคุ้มกัน และรักษาสุขภาพช่องปาก 2. อารมณ์ อย่ารับข่าวสารมากเกินไป ทำกิจกรรมที่ผู้สูงอายุชื่นชอบ 3. ออกกำลังกาย ออกกำลังกายในบ้านอย่างสม่ำเสมอ หรือเท่าที่ทำได้ตามสภาพร่างกาย 4. เอนกายพักผ่อน นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 7-9 ชั่วโมง 5. ออกห่างจากสังคมนอกบ้าน ทั้งผู้สูงอายุและผู้ดูแลควรเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน เว้นระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือแอลกอฮอล์เจลบ่อยๆ 

นายอนุชา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีรับทราบ และขอบคุณการทำงานของทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน เเละ ภาคประชาสังคม ที่เป็นกำลังสำคัญร่วมกัน อดทน เสียสละ และมีส่วนร่วมในการดำเนินการเพื่อช่วยประชาชนคนไทยต่อสู้กับความท้าทายในครั้งนี้ 

ทบ. ปรับรูปแบบการฝึกทหารใหม่ พร้อมดูแลความเป็นอยู่ของทหารใหม่อย่างใกล้ชิด สอดคล้องแนวทาง ศบค. สู่การเป็นหน่วยทหารปลอดโควิด

พ.ท.หญิง นุชระวี แจ่มจำรัส ผู้ช่วยโฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า ทหารกองประจำการผลัด 1/64 ที่เข้าประจำการเมื่อต้นเดือน ก.ค. 64 ที่ผ่านมาได้ทำการกักตัวเป็นเวลา 14 วัน และได้รับการฉีดวัคซีนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งหลังจากนี้ไปตลอดทั้ง 6 สัปดาห์ หน่วยฝึกจะเริ่มดำเนินการฝึกควบคู่การดำเนินชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ภายใต้แนวทางการควบคุมโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ด้วยมาตราการ Bubble and Seal โดยครูฝึกและทหารใหม่ ตลอดจนเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องทุกนายจะถูกจำกัดให้อยู่แต่ภายในหน่วยฝึกที่เป็นระบบปิด เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและปลอดเชื้อภายในหน่วยทหารอย่างสูงสุด 
  
ในส่วนของการฝึกจะทำการแยกฝึกเป็นกลุ่มย่อยในที่ร่มที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก โดยจะฝึกจากขั้นพื้นฐานในเรื่องระเบียบวินัย แบบธรรมเนียมทหาร การฝึกบุคคลท่ามือเปล่า การฝึกทางยุทธวิธี หน้าที่พลเมือง การบรรเทาสาธารณภัย และการปฐมพยาบาลเบื้องต้น พร้อมสร้างการรับรู้เกี่ยวกับโควิด-19 ควบคู่กับการออกกำลังพัฒนาสมรรถภาพร่างกายให้แข็งแรงสมบูรณ์เพื่อให้มีความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจ
  
สำหรับการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ด้านปัจจัย 4 ของทหารใหม่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 นอกจากทหารใหม่จะได้รับแจกจ่ายเครื่องแต่งกาย เครื่องนอน และของใช้ทั่วไป อาทิ เครื่องแบบสนามฯ ชุดนอน เสื้อยืด รองเท้าผ้าใบ รองเท้าแตะ ที่นอน หมอน มุ้ง หน่วยฝึกยังได้จัดเตรียมหน้ากากอนามัย และเจลแอลกออฮล์แจกจ่ายเป็นอุปกรณ์สำหรับดูแลและป้องกันตัวระดับบุคคลด้วย 

หน่วยฝึกได้ปรับอาคาร สถานที่ รวมถึงรูปแบบการดำเนินกิจวัตรประจำวันให้สอดรับกับมาตราการป้องกันโควิด-19 ในการแยกรับประทานอาหารด้วยถาดหลุม กระบอกน้ำและช้อนส้อมส่วนตัว ควบคุมการประกอบเลี้ยงให้ถูกสุขอนามัย และเน้นอาหารที่มีประโยชน์ครบ5หมู่ เสริมด้วยเครื่องดื่มหรืออาหารเสริมที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ไข่ต้ม น้ำเต้าหู้ น้ำกระชาย น้ำผึ้งมะนาว และผักผลไม้ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย พร้อมจัดรายการอาหารพิเศษสัปดาห์ละหนึ่งครั้งเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับทหารใหม่ในห้วงการฝึก 

และในห่วงการฝึกได้ขอความร่วมมือผู้ปกครองงดเยี่ยมเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค โดยหน่วยฝึกได้เปิดช่องทางการติดต่อสื่อสารผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์ระหว่างหน่วยฝึก ทหารใหม่และผู้ปกครอง เพื่อให้ผู้ปกครองได้ทราบถึงชีวิตและความเป็นอยู่อย่างใกล้ชิด คลายความกังวลใจและความห่วงใยที่มีต่อบุตรหลาน 
  
ทั้งนี้ การเตรียมความพร้อมในการดูแลทหารกองประจำการผลัด 1/64 ในเรื่องการฝึกและคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ ควบคู่กับแนวทาง ศบค. นั้น เป็นนโยบายที่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้ความสำคัญและเน้นย้ำมาโดยตลอดสู่การเป็นหน่วยทหารปลอดโควิด เพื่อสร้างความปลอดภัย เสริมความมั่นใจให้กับทหารใหม่และครอบครัวอย่างดีที่สุด เพราะเราคือครอบครัวเดียวกัน 

“บิ๊กป้อม” กำชับ สทนช.เตรียมรับมือ ฝนตกหนัก 22 จว. รองรับประกาศกรมอุตุฯ  สั่ง ปภ.เตรียมช่วยเหลือปชช.ทันที  จี้กรมชลฯเตรียม ระบายน้ำ ป้องกันน้ำหลาก-น้ำท่วม  ควบคู่ แผนกักเก็บน้ำใช้ฤดูแล้ง

พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.กอนช. ได้สั่งการไปยัง สทนช. ,มหาดไทย ,กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหน่วยงานทหารในพื้นที่ต่างๆ ให้เตรียมการรับมือจากสถานการณ์น้ำ กรณี การพยากรณ์อากาศ ของกรมอุตุนิยมวิทยา ล่าสุดวันนี้ ( 26 ก.ค.) เกี่ยวกับการแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ 22 จังหวัด ของไทย ที่อาจได้รับผลกระทบ จากสภาพอากาศที่จะมีฝนตกหนัก และอาจจะเกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก  อันเนื่องมาจาก ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง บริเวณชายฝั่งทะเลเวียดนามตอนบน ประกอบกับ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันประเทศไทย และอ่าวไทย ยังคงมีกำลังแรง ซึ่งจะส่งผลให้เกิด ภาวะฝนตกหนักบางแห่งบริเวณ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ภาคตะวันออก ของประเทศไทย รวม 22 จังหวัด และ พื้นที่บางแห่งใน กทม.-ปริมณฑล

ทั้งนี้พล.อ.ประวิตร  ได้กำชับสั่งการให้ กระทรวงมหาดไทย หน่วยทหารในพื้นที่ เตรียมความพร้อมในการป้องกัน ให้ความช่วยเหลือประชาชนในทุกพื้นที่ ทันที ที่อาจได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม รวมทั้งได้สั่งการกรมชลประทาน ให้ตรวจ ติดตามพื้นที่เตรียมระบายน้ำทุกสาย ทุกจังหวัด พร้อมสั่งการให้ กอนช.และสทนช. เร่ง กำกับ ติดตามการบริหารจัดการน้ำในภาพรวม จากสถานการณ์ดังกล่าว รวมถึงการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ซึ่งมีแผนรองรับไว้แล้ว และให้รายงานให้ พล.อ.ประวิตร  ทราบความคืบหน้า อย่างต่อเนื่องด้วย ต่อไป

“ยุทธพงศ์” ซัด กลับ “เรืองไกร” ตักน้ำใส่กระโหลกชะโงกดูเงาดีจริงหรือยัง พรุ่งนี้จ่อยื่นเพียบ ขอให้ตรวจสอบที่มาเงินซื้อเบนซ์   

ที่พรรคเพื่อไทย นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 มีผู้ใหญ่ใจดีซื้อรถเมอร์เซเดสเบนซ์ s class ให้ ว่า สภาฯแต่งตั้งนายเรืองไกร เป็นกมธ.งบฯ เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.2564  ต่อมาวันที่ 1 ก.ค. นายเรืองไกร หิ้วเงินสด 5 ล้านบาท ไปซื้อรถหรูป้ายแดงที่โชว์รูมตรงสถานีรถไฟฟ้าอารีย์ ถ.พหลโยธิน เรื่องนี้นายเรืองไกร ต้องชี้แจงว่าเอาเงินสด 5 ล้านบาท ไปซื้อรถได้แจ้งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) หรือไม่ เพราะเป็นการถอนเงินเกิน 2 ล้านบาท และผู้ใหญ่ใจดีคนนั้นเป็นใครถึงได้ให้เงินนายเรืองไกร 5 ล้านบาท ถามว่านายเรืองไกร ได้เงินดังกล่าวมาด้วยความโปร่งใสหรือไม่ หรือเกี่ยวข้องอะไรกับการที่นายเรืองไกร เป็นกมธ.งบฯ หรือไม่ เรื่องนี้นายเรืองไกรต้องชี้แจง ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 ระบุว่า ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือคณะกมธ. จะเสนอหรือกระทำการใดๆที่มีผลให้ ส.ส. ส.ว. หรือกมธ. มีส่วนไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม ในการใช้จ่ายงบประมาณจะกระทำมิได้ ซึ่งนายเรืองไกร เป็นกมธ. และเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ รับเบี้ยประชุม จึงต้องชี้แจงที่มาที่ไปของเงิน 5 ล้านบาท ขณะเดียวกัน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ท่านห้ามรับเงินเกิน 3,000 บาท เพราะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 

“ผมไม่ได้บอกว่านายเรืองไกร ทุจริตแต่เรียกร้องให้นายเรืองไกร ชี้แจง ซึ่งพรุ่งนี้ (27 ก.ค.) ผมจะยื่นหนังสือถึงนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ในฐานะประธานคณะกมธ.งบฯ และยื่นต่อนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะรองประธานคณะกมธ.งบฯ เพราะนายวิรัช เป็นหัวหน้าทีมงบประมาณของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งนายเรืองไกร มาในนามของพรรคพลังประชารัฐ จึงจะให้ตรวจสอบว่ามีส่วนได้เสียหรือไม่ นอกจากนี้ จะยื่นต่อปปง. และป.ป.ช. เพื่อให้ตรวจสอบที่มาที่ไปของเงิน 5 ล้านบาท ในวันที่ 27 ก.ค.นี้ ด้วยเช่นกัน นายเรืองไกรต้องชี้แจง เพราะเป็นนักตรวจสอบ ดังนั้น ต้องโปร่งใส ต้องตักน้ำใส่กระโหลกชะโงกดูเงาตัวเองก่อนว่าโปร่งใสหรือไม่และดีจริงหรือไม่” นายยุทธพงศ์ กล่าว

“ยุทธพงศ์” แจงที่ดินที่ทำการส.ส. อ.พยัคฆพิสัย ใช้ทำรพ.สนาม เป็นของแม่ ลั่น พร้อมให้ตรวจสอบไม่มีอะไรปกปิด ท้า “เรืองไกร” เจอกัน 5 ส.ค. หน้าไทยเบฟฯ เตรียมเสนอขายที่ดิน 100 ไร่ “เสี่ยเจริญ” หวังนำเงินช่วยปชช.ติดโควิด – 19   

ที่พรรคเพื่อไทย นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงตอบโต้กรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 65 เตรียมยื่นร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบตนกรณีบริจาคหน้ากากอนามัยให้ประชาชน และยกที่ทำการ ส.ส. ที่ อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม ให้ทางราชการไปทำ รพ.สนาม ว่า กรณีหน้ากากอนามัย มีเจ้าสัวใหญ่จิตใจเป็นกุศลให้เอาไปบริจาคช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ คนทางบ้านตนยากจนเงินจะกินยังไม่มี แต่มีเจ้าสัวใหญ่ที่มีเมตตาได้มอบให้ซึ่งไม่มีมูลค่า เพราะหน้าซองก็เขียนว่าฟรี
 
นายยุทธพงศ์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีใช้ที่ทำการ ส.ส. พรรคเพื่อไทย เขต 3 อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม ทำรพ.สนาม ขอชี้แจงว่า ได้ใช้ที่ทำการส.ส. เป็นศูนย์ประสานงานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด กระทรวงมหาดไทย และจังหวัด มาร่วมดูแล เพราะถือว่าเป็นรพ.สนาม ที่เปิดไว้รองรับผู้ป่วยโควิด – 19 ที่มาจากกทม. แล้วไม่มีที่รักษา ส่วนค่าใช้จ่ายต่างๆ นางเตือนใจ จรัสเสถียร มารดาของตน บริจาคให้กับรพ.พยัคฆภูมิพิสัย ซึ่งมีหน้าที่ดูแลศูนย์แห่งนี้ ทั้งนี้ มารดาของตนเป็นเจ้าของโรงสีที่ใหญ่ที่สุดใน จ.มหาสารคาม ซึ่งมีมานานแล้ว ได้ร่วมกับผู้มีจิตศรัทธาทำเตียงต่างๆ 
 
“ที่ต้องเอาที่ทำการพรรคมาเป็นรพ.สนาม เนื่องจากตอนนี้คนมาจากกทม.ทำให้เตียงในรพ.ล้น แล้วใครจะยอมเสียสละบ้าน เสียสละที่ทำงานของตัวเองให้ แต่มารดาของผมบอกว่าคนเหล่านี้มีบุญคุณ สนับสนุนให้เราได้เป็นส.ส. แม่ทำธุรกิจโรงสี ชาวนาก็เอาข้าวมาขายส่งให้ผมได้เรียนหนังสือ เราจะไปทิ้งเขาได้อย่างไร จึงเสียสละพื้นที่ทำรพ.สนาม ไม่ได้มีความลับอะไร และเป็นที่ดินที่มีมานานแล้ว ตั้งแต่ปี 2516 เป็นที่ดินมีโฉนด ไม่ได้บุกรุกที่หลวง ที่ดินแปลงนี้ได้มาครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2533 เป็นชื่อของบิดาผม ต่อมาโอนเปลี่ยนเป็นชื่อมารดาของผม เมื่อวันที่ 28 ก.ย.2543 กระทั่งถึงทุกวันนี้ไม่มีอะไรปกปิด และที่ทำการ ส.ส. มีมาตั้งแต่ผมยังไม่เป็น ส.ส. ผมได้บารมีของบิดา มารดา ที่สั่งสมไว้ จึงใช้ที่ตรงนี้ใครจะไปตรวจสอบก็ไปได้ ไม่มีอะไรปกปิด” นายยุทธพงศ์ กล่าว 
  
นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า วันนี้ตนปรึกษามารดาขอให้ขายที่สักแปลง 100 ไร่ ให้เจ้าสัวเจริญ โดยเสนอขายราคา 600 ล้านบาท เพื่อเอาเงินไปช่วยประชาชนที่ติดโควิด - 19 ต้องดูว่าเจ้าสัวเจริญจะช่วยหรือไม่ แล้วขอท้านายเรืองไกร ว่าวันที่ 5 ส.ค.นี้ เวลา 10.00 น. แน่จริงขอให้มาเจอกันหน้า บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ว่าปู่ของภรรยาตนเป็นหุ้นส่วนกับเจ้าสัวเจริญ ชื่อเจ้าสัวโกเมน เคยมีบุญคุณกับเจ้าสัวเจริญด้วย วันนี้ลูกหลานเจ้าสัวโกเมนเดือดร้อนดูว่าเจ้าสัวเจริญจะช่วยเหลือหรือไม่

“องอาจ” เสนอใช้โรงเรียน-มหาวิทยาลัย ทั้งรัฐและเอกชน ทำโรงพยาบาลสนาม จุดพักคอย สกัดการแพร่เชื้อ ดีกว่าให้กักตัวที่บ้านหรือชุมชน 

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และประธาน ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เพิ่มมากขึ้นทั่วประเทศว่า จากการลงพื้นที่ช่วยเหลือดูแลประชาชนของตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์พบว่าการตรวจหาเชื้อเชิงรุกทำให้พบผู้ป่วยติดเชื้อมากขึ้น ส่วนมากที่พบอาจจะยังไม่มีอาการ แต่ถ้าไม่บริหารจัดการแยกผู้ป่วยติดเชื้อออกจากบ้าน หรือออกจากชุมชน โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อที่อยู่ในชุมชนแออัดของ กทม. ก็มีโอกาสที่จะเป็นผู้เชื้อต่อไปอีก ถึงแม้ทางราชการจะพยายามมีมาตรการโฮมไอโซเลชั่น (Home isolation)  หรือ คอมมูนิตี้ไอโซเลชั่น (Community isolation) คือให้แยกกักตัวอยู่บ้านหรืออยู่ที่ชุมชน แต่การจัดการเรื่องนี้ในเชิงระบบก็ยังไม่สมบูรณ์เพียงพอ หรือพวกที่พักอาศัยอยู่ในชุมชนแออัดหนาแน่นของ กทม. ก็ไม่สามารถกักตัวอยู่บ้านได้ เพราะบ้านเป็นห้องที่อยู่รวมกันหลายคน

นายองอาจ กล่าวต่อว่า การช่วยเหลือให้ผู้ป่วยติดเชื้อแยกตัวออกจากบ้านหรือชุมชนจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยติดเชื้อนำเชื้อไปแพร่ระบาดกระจายต่อไป ทางราชการจึงจำเป็นต้องมีโรงพยาบาลสนามและจุดพักคอยเพื่อมากขึ้นใน กทม. ซึ่งทาง ศบค.กทม. พยายามให้มีจุดพักคอยเขตละ 1 จุดรวม 50 เขต 50 จุด แต่ก็ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการให้ครบตามเป้าหมาย เพื่อให้การจัดตั้งจุดพักคอยและโรงพยาบาลสนามทันต่อความต้องการของผู้ป่วยติดเชื้อที่กักตัวอยู่ที่บ้านหรือที่ชุมชนไม่ได้ จึงขอเสนอดังนี้ 1.ควรประสานขอใช้โรงเรียน สถานศึกษา มหาวิทยาลัย ทั้งของรัฐและเอกชน โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดสีแดงเข้มทำเป็นจุดพักคอยและโรงพยาบาลสนาม 2.ประสานกระทรวงสาธารณสุขและท้องถิ่นช่วยสนับสนุนให้ดำเนินการเป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์และสาธารณสุข 3.ขอความร่วมมือจากชุมชนและคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ 4.ขอสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างคล่องตัวมีประสิทธิภาพ

“การทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อมีสถานที่ที่เหมาะสมในการกักตัว ไม่ว่าจะเป็นกักตัวที่บ้าน ที่ชุมชน หรือที่จุดพักคอย ที่โรงพยาบาลสนาม นับเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ควรเร่งดำเนินการ จึงขอให้รัฐบาล ศบค. และ ศบค.กทม. เร่งช่วยกัน ทำให้เป็นจริงโดยเร็วด้วย จะได้ช่วยกันทำให้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทุเลาเบาบางลงซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเราคนไทยทุกคนอยากเห็นในเร็ววันนี้” นายองอาจ กล่าว

'เกษตรฯ-พาณิชย์'​ เดินหน้า 7 มาตรการล่าสุด​ 'แก้ปัญหาลำไยเหนือ-ผลไม้ใต้'​ หลัง 'จีน-เวียดนาม'​ ออกมาตรการโควิดใหม่กระทบส่งออกทำมังคุดใต้ราคาตก

'อลงกรณ์'​ แนะผู้ส่งออกใช้ด่าน 'ตงชิง-ผิงเสียง' แก้ปัญหาด่านโหยวอี้กวน-โมฮ่านติดขัดจนคอนเทนเนอร์ขาดแคลน พร้อมประสาน​ 900 ล้งภาคตะวันออกลงใต้ เร่งกลยุทธ์ขยายการค้าออนไลน์ทุแพลตฟอร์มเพิ่มการบริโภคในประเทศ

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษาและมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยวันนี้ว่า คณะกรรมการบริหารและจัดการผลไม้​ (Fruit Board) ได้ติดตามสถานการณ์ตั้งแต่เข้าฤดูกาลลำไยภาคเหนือและผลไม้ภาคใต้อย่างใกล้ชิดตามข้อสั่งการของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพาณิชย์และ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารและจัดการผลไม้ซึ่งผลผลิตออกมาเร็วกว่ากำหนด 1 เดือน ซึ่งราคาลำไยและมังคุดในเดือนมิถุนายนอยู่ในเกณฑ์ดีส่งออกได้มากขึ้น

แต่หลังจากเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่โดยเฉพาะเดือนกรกฎาคมทำให้มีการออกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เข้มข้นมากกว่าเดิมโดยทางการจีน เวียดนามรวมทั้งไทยส่งต่อการค้าการขนส่งและการส่งออกผลไม้ไทยไปจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของไทยจึงได้จัดประชุมทางไกลเร่งด่วนและประสานการทำงานกับสำนักงานเกษตรของไทยในจีนรวมทั้งสมาคมผู้ประกอบการค้าผลไม้ที่มีสมาชิกกว่า​ 900 ล้งและผู้ให้บริการโลจิสติกส์เพื่อรับมือกับสถานการณ์ใหม่เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาโดยสรุปปัญหาล่าสุดและกำหนดมาตรการเพิ่มเติม​ 7​ ประการดังนี้... 

1.​ เร่งการนำเข้าตู้คอนเทนเนอร์กลับจากจีนและเวียดนามทั้งการขนส่งทางบกและทางเรือให้หมุนเวียนกลับมาไทยเร็วที่สุด

2.​ ขอการสนับสนุนจาก​ 'ศบค.'​ จัดหาวัคซีนจำนวนอย่างน้อย 30,000 โดสให้แก่พนักงานและแรงงานของบริษัทส่งออกและล้งตลอดห่วงโซ่ผลไม้เป็นการเร่งด่วน เพื่อให้สามารถกลับมาดำเนินงานได้ตามปกติเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานของล้งและบริษัทส่งออก

3.​ ผ่อนปรนมาตรการควบคุมโควิดและอำนวยความสะดวกให้ผู้ค้าและล้งจากภาคตะวันออกซึ่งมีกว่า 900 ล้ง สามารถเข้าไปรับซื้อผลไม้ในพื้นที่จังหวัดชุมพรสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช เป็นต้น

4.​ เร่งรณรงค์การบริโภคผลไม้ภายในประเทศ

5.​ ขยายการค้าออนไลน์ทุกแพลตฟอร์ม​ (B2C / B2B / B2F / B2G)

6.​ เร่งระบายจำหน่ายผลไม้ออกจากพื้นที่กระจายทุกช่องทางโดยขอความร่วมมือภาคเอกชนและภาครัฐ

7.​ ส​นับสนุนคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) และหน่วยงานภาครัฐเร่งขับเคลื่อนมาตรการตามที่ได้รับการอนุมัติไปก่อนหน้านี้จากคณะกรรมการบริหารจัดการผลไม้ ทั้งแผนงานและงบประมาณตามแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคเหนือและภาคใต้

นายอลงกรณ์ย้ำเป็นข้อแนะนำด้วยว่า ขอให้ผู้ประกอบการส่งออกเข้าจีนทางเขตปกครองตนเองกว่างสีจ้วงใช้ด่านตงชิงและด่านผิงเสียงเพิ่มขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความแออัดของด่านโหยวอี้กวนและปรับแผนการขนส่งที่จะผ่านเวียดนามเพราะประกาศล่าสุดของทางการเวียดนามเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาห้ามผ่านเขตกรุงฮานอยทำให้ต้องเปลี่ยนเส้นทางขนส่งมีระยะทางเพิ่มขึ้นอีก​ 150 กิโลเมตร

“การขนส่งทุกเส้นทางยากลำบากมากเพราะเป็นฤดูฝนทั้งเส้นเชียงของผ่านด่านบ่อเตนของลาวไปผ่านด่านโมฮ่านในสิบสองปันนาของมณฑลยูนนานและเส้นทางจากนครพนมผ่านลาวเวียดนามไปจีนที่กว่างสีจ้วงฝนตกหนักตลอดและมีการตรวจโควิดเข้มข้นทุกด่านและบทลงโทษหากพบการปนเปื้อนโควิดก็รุนแรงมากขึ้นถึงขั้นถอนใบอนุญาตนำเข้านอกจากนี้ยังเป็นช่วงฤดูกาลผลไม้เวียดนามที่มีผลผลิตออกมามากทำให้การขนส่งผ่านด่านจีนเพิ่มมากขึ้น​ ซึ่งเราก็ให้ทีมเกษตรและพาณิชย์ไทยในจีนช่วยดูแลหน้างานอย่างใกล้ชิดเร่งคลี่คลายความแออัดโดยทางการจีนให้ความร่วมมืออย่างดีพร้อมกับให้กำลังใจผู้ประกอบการอย่าท้อเพราะรัฐบาลพร้อมสนับสนุนการทำงานโดยเฉพาะ7มาตรการเพิ่มเติมซึ่งได้รายงานต่อท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเกษตรฯ​ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาและท่านได้สั่งการทันทีให้ทุกภาคส่วนเร่งคลี่คลายแก้ปัญหา 

"ล่าสุด​ คพจ.นครศรีธรรมราช​ ซึ่งมีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานร่วมกับพาณิชย์จังหวัดและเกษตรและสหกรณ์จังหวัดได้ผ่อนปรนให้ล้งเข้ารับซื้อมังคุดเพิ่มขึ้น พร้อมกันนั้นได้ขยายการค้าออนไลน์และเพิ่มบริการขนส่งโดยความร่วมมือกับบริษัทไปรษณีย์ไทยคณะอนุกรรมการอีคอมเมิร์ซและคณะอนุกรรมการธุรกิจเกษตรของกระทรวงเกษตรฯ​ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์พร้อมกันนี้ได้ประสานความร่วมมือกับกรมประชาสัมพันธ์ อสมท.และสื่อมวลชนทุกแขนงช่วยรณรงค์บริโภคผลไม้ไทยเช่นลำไย มังคุด เงาะ ลองกองเป็นต้น 

"เมื่อการส่งออกเริ่มติดขัดก็ปรับกลยุทธ์เพิ่มอุปสงค์ในประเทศ ตัวอย่างเช่นปีนี้มังคุดภาคใต้มีผลผลิต​ 165,000 ตัน​ เพิ่มขึ้นกว่า​ 20% สัดส่วนส่งออก​ 60% บริโภคในประเทศ​ 40% และผลผลิตออกเร็วกว่าปกติ​ 1​ เดือนจนชนกับผลไม้ปลายฤดูของภาคตะวันออก แถมล้งก็ข้ามเขตไปใต้แทบไม่ได้เลยเพราะมาตรการโควิดต้องตรวจโรคและไม่มีวัคซีนฉีดแรงงานชำนาญงานขาดแคลน ปัญหารุมเร้ามากตั้งแต่ต้นทางถึงด่านส่งออกรวมทั้งฝนที่ตกกระหน่ำในลาวและเวียดนามไม่เว้นแต่ละวันแต่เราก็สู้เต็มกำลังทุกวันเพื่อเกษตรกรของเรา เราจะฝ่าวิกฤตไปด้วยกันไม่ทอดทิ้งกัน” นายอลงกรณ์กล่าวในที่สุด

นอกจากมาตรการเพิ่มเติม​ 7​ ประการ​ ยังมีการพัฒนาคุณภาพผลผลิตตามความเหมาะสมของพื้นที่ การเชื่อมโยงตลาด ภายใต้โครงการส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรตามอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น การถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีโดยศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม​ (AIC) และหน่วยงานส่งเสริมต่างๆ 

การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผลไม้และผลไม้อัตลักษณ์ตลอดจนการจัดทำแปลงเรียนรู้การส่งเสริมการผลิตตามระบบมาตรฐาน GAP GMP เกษตรอินทรีย์​ (Organic) และ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์​ (GI) การพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งขององค์กรตามระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ สหกรณ์ และศูนย์คัดแยกผลไม้ชุมชน การแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม การตรวจสอบย้อนกลับโดยใช้ QR Code และการสร้างแบรนด์​ (Branding) เป็นต้น​ ภายใต้โมเดลเกษตรผลิตพาณิชย์ตลาดตามยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตและ​ '5 ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย'​ ของ​ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์​ เป็นแนวทางในการบริหารจัดการผลไม้ในสถาวะวิกฤติโควิด-19​ เน้นร่วมบูรณาการทุกภาคส่วน และการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมจากศูนย์ AIC เพื่อยืดอายุผลผลิต และแปรรูปยกระดับสู่อุตสาหกรรมเกษตรอาหารเพิ่มมูลค่ารายได้ให้มากขึ้นต่อไป

ทั้งนี้​ จากข้อมูลกรมส่งเสริมการเกษตร (23 ก.ค. 64) ได้เผยถึงสถานการณ์การเก็บเกี่ยวผลไม้ภาคใต้ มีดังนี้... 

ทุเรียน ผลผลิตเก็บเกี่ยวแล้ว ร้อยละ 32.83
เงาะ ผลผลิตเก็บเกี่ยวแล้ว​ ร้อยละ 33.46
มังคุด ผลผลิตเก็บเกี่ยวแล้ว​ ร้อยละ 23.16
ลองกอง ผลผลิตเก็บเกี่ยวแล้ว​ ร้อยละ 0.2

ไม่ต้องกังวล!! 'สุริยะ'​ ย้ำปริมาณก๊าซออกซิเจนมีเพียงพอ ด้าน กรอ.เตือนท่อก๊าซออกซิเจนมีความดันสูงหากเก็บ-ใช้งานผิดวิธีเกิดอุบัติเหตุได้!! 

'สุริยะ'​ เผยข่าวดีการผลิตก๊าซออกซิเจนยังมีเพียงพอประชาชนไม่ต้องกังวล โดยเอกชนผู้ผลิต 4 กลุ่ม ยืนยันศักยภาพการผลิตของโรงงานมีเพียงพอ ขณะที่ กรอ.เตือนผู้ที่มีและใช้ท่อก๊าซออกซิเจนให้ตรวจสอบอุปกรณ์และวิธีการใช้งาน เนื่องจากท่อที่ใช้มีความดันสูงหากจัดเก็บหรือใช้งานผิดวิธีจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้!! 



นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงกรณีมีรายงานข่าวว่าประชาชนเริ่มวิตกกังวลจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ขยายเป็นวงกว้าง ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องทุกวัน และเกรงว่าการผลิตก๊าซออกซิเจนทางการแพทย์อาจไม่เพียงพอหรือขาดตลาด จึงได้มีการจัดหาและเก็บท่อออกซิเจนไว้ที่บ้าน กรณีที่เกิดขึ้นนี้ได้ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ประสานไปยังกลุ่มก๊าซอุตสาหกรรมจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยสมาคมก๊าซอุตสาหกรรมสยาม โรงงานผู้บรรจุก๊าซ และผู้ผลิตภาชนะบรรจุก๊าซ เพื่อสอบถามถึงความพร้อมในเรื่องของกำลังการผลิต ซึ่งได้รับการยืนยันว่าภาพรวมศักยภาพการผลิตของโรงงานยังมีเพียงพอที่จะรองรับกับความต้องการของพี่น้องประชาชน

“ผมเข้าใจว่าพี่น้องประชาชนอาจจะวิตกกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงขอย้ำตรงนี้ว่าไม่ต้องวิตกกังวลว่าจะไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ในอนาคต เพราะจากการประสานงานไปยังเอกชนทั้ง 4 กลุ่ม ทั้งกลุ่มก๊าซอุตสาหกรรมจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมก๊าซอุตสาหกรรมสยาม โรงงานผู้บรรจุก๊าซ และผู้ผลิตภาชนะบรรจุก๊าซ ได้รับคำตอบยืนยันว่าศักยภาพการผลิตของโรงงานแต่ละกลุ่มยังมีเพียงพอรองรับความต้องการของประชาชนได้” นายสุริยะ กล่าว 

ด้านนายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า จากการประสานกับทางกลุ่มก๊าซอุตสาหกรรม สมาคมก๊าซอุตสาหกรรมสยาม และผู้ผลิตภาชนะบรรจุก๊าซ ได้รับการยืนยันถึงศักยภาพการผลิตของโรงงาน โดยภาพรวมทั้งประเทศกำลังการผลิตรวมทั้งหมด 1,860 ตันต่อวัน จากจำนวนโรงงาน 15 โรงงาน ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สระบุรี ชลบุรี ระยอง สงขลา ลำพูน และเชียงใหม่ โดยในปลายเดือนสิงหาคมนี้จะมีเพิ่มอีก 1 แห่งที่จังหวัดระยอง โดยจะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 150 ตันต่อวัน ซึ่งหากมีกรณีฉุกเฉินสามารถเพิ่มกำลังการผลิตออกซิเจนได้ถึง 2,200 ตันต่อวัน ทั้งนี้ ปริมาณการใช้ก๊าซออกซิเจนทั้งทางการแพทย์และอุตสาหกรรมปัจจุบันประมาณ 1,260 ตันต่อวัน แบ่งเป็น ปริมาณความต้องการออกซิเจนทางการแพทย์ ประมาณ 400-600 ตัน/วัน และความต้องการก๊าซออกซิเจนในภาคอุตสาหกรรม ประมาณ 660 ตัน/วัน 

“จากตัวเลขประมาณการข้างต้น จึงมั่นใจได้ว่าศักยภาพของโรงงานด้านการผลิตสามารถรองรับความต้องการของพี่น้องประชาชนในอนาคตได้ ขณะเดียวกันทราบว่ามีประชาชนบางส่วนได้จัดหาและเก็บท่อก๊าซออกซิเจนไว้ที่บ้าน ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจก่อให้เกิดอันตราย เนื่องจากท่อก๊าซออกซิเจนเป็นท่อที่มีความดันสูง หากจัดเก็บหรือใช้งานอย่างผิดวิธีอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ 

"ทั้งนี้ กรอ.จะประสานเอกชนทั้ง 4 กลุ่ม เพื่อติดตามการใช้ก๊าซออกซิเจนและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป” อธิบดีกรมโรงงานฯ กล่าวปิดท้าย 

ที่มา: กองส่งเสริมเทคโนโลยีความปลอดภัยโรงงาน 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top