Thursday, 15 May 2025
Hard News Team

‘บิ๊กบี้’ นำถก ผบ.หน่วยฯ สรุปผลงาน 1 ปี ช่วยเหลือ ปชช. ปรับขีดความสามารถ ทบ. รับมือโควิดควบคู่การ ‘พิทักษ์พล’ ไม่ให้ติดเชื้อ พร้อมขอบคุณทหารเกษียณฯ ก.ย.64ทำงานเพื่อ ทบ.-ประเทศ ยาวนาน เป็นผู้มีความรู้มีประสบการณ์ ให้คำแนะนำแก่หน่วยทหารได้

พล.ท. สันติพงศ์ ธรรมปิยะ โฆษกกองทัพบก เปิดเผยถึงผลการประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบกในวันนี้ (6 ก.ย. 64) ซึ่งพล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เป็นประธานการประชุมผ่านระบบออนไลน์ โดยได้กล่าวถึงการปฏิบัติงานของกองทัพบกในรอบปีที่ผ่านมา พร้อมขอบคุณผู้บังคับหน่วยและกำลังพลทุกนายที่ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนภารกิจของรัฐบาล ดูแลประชาชนได้อย่างเรียบร้อย ถือเป็นสิ่งที่ยืนยันในความพร้อมจากการฝึกฝนและเตรียมการของกองทัพบกภายใต้สถานการณ์ที่มีความท้าทายเป็นอย่างมาก 

ทั้งการช่วยเหลือประชาชนจากภัยพิบัติ การช่วยเหลือเกษตรกร การแก้ไขสถานการณ์ภัยแล้งและไฟป่า การสกัดกั้นยาเสพติดสิ่งผิดกฎหมายในพื้นที่ชายแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กองทัพบกได้ปฏิบัติอย่างเต็มที่ ในการช่วยเหลือประชาชน การสนับสนุนการปฏิบัติงานของกระทรวงสาธารณสุข ได้นำทรัพยากรทุกอย่างที่มีทั้งกำลังพล สิ่งอุปกรณ์ ความรู้ขีดความสามารถทางทหารมาประยุกต์ใช้ในสถานการณ์โควิด สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในความช่วยเหลือจากภาครัฐ 

ซึ่งกองทัพบกยังคงดำรงการปฏิบัติในเรื่องดังกล่าวให้สอดคล้องตามสถานการณ์ต่อไป ควบคู่ไปกับมาตรการพิทักษ์พลเพื่อป้องกันการติดเชื้อภายในหน่วยทหารและกำลังพล ที่หน่วยทหารของกองทัพบกจะยังคงมีความเข้มงวดและไม่ผ่อนปรนมาตรการเร็วเกินไป เพื่อรักษาระดับการป้องกันโควิด-19 และคงความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจ การดำเนินชีวิต รวมทั้งการนำบทเรียนจากการปฏิบัติงานในช่วงโควิดที่ผ่านมาเพื่อประยุกต์ใช้ในการฝึกศึกษาทางทหารภายใต้สถานการณ์โรคอุบัติใหม่ที่ยังคงมีอยู่  

การประชุมในวันนี้ ผู้บัญชาการทหารบกให้ความสำคัญกับการปฏิบัติงานในพื้นที่ชายแดน เน้นย้ำภารกิจสกัดกั้นสิ่งผิดกฎหมาย ยาเสพติด แรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมือง รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นไปตามขั้นตอน ภายใต้ความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งการดูแลพื้นที่ชายแดนด้วยเครื่องมือและระบบเฝ้าตรวจอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ความมั่นคงและสงบสุขในพื้นที่ชายแดนจะนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนและสนับสนุนการป้องกันโรคได้อีกทางหนึ่ง โดยให้กองกำลังป้องกันชายแดนกองทัพบกดำเนินการควบคู่ไปกับการติดตามสถานการณ์ด้านความมั่นคงในภูมิภาค และความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน

สำหรับการทำงานของกองทัพบกในรอบปีที่ผ่านมาที่ได้มีการพัฒนาระบบคัดเลือกกำลังพลเข้าปฏิบัติราชการ โดยเฉพาะให้โอกาสทหารกองประจำการและผู้ที่มีใจรักในอาชีพทหาร ได้เข้ามาสู่ระบบการคัดสรรอย่างทั่วถึง ซึ่งนโยบายดังกล่าวจะยังคงเดินหน้าต่อโดยจะเพิ่มระบบการคัดเลือกเข้าเป็นทหารแบบรวมการ เพื่ออำนวยความสะดวกการสมัครสอบเป็นกำลังพลประเภทต่างๆ ได้ในครั้งเดียว สอดรับกับนโยบายให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลได้มีโอกาสเข้าถึงระบบการคัดเลือกมากขึ้น 

ส่วนในช่วงฤดูฝนนี้ ผู้บัญชาการทหารบกกำชับให้หน่วยทหารได้ติดตามสถานการณ์น้ำและเตรียมแผนการช่วยเหลือประชาชนทั้งในด้านกำลังพล เครื่องมือ รวมถึงการประสานและสนับสนุนหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ย้ำว่าการดำเนินการบรรเทาสาธารณภัยใดๆ ต้องตระหนักถึงความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ ภายใต้มาตรการป้องกันการติดเชื้อ ทั้งกับประชาชนและผู้ปฏิบัติงานเป็นสำคัญ  

ผู้บัญชาการทหารบกได้ใช้วาระการประชุมในครั้งนี้กล่าวขอบคุณผู้ที่เกษียณอายุราชการในเดือนกันยายน 2564 ถือว่าเป็นผู้ที่ทำคุณประโยชน์และได้ใช้ช่วงเวลาของการรับราชการปฏิบัติงานเพื่อกองทัพบก ประชาชนและประเทศชาติมาอย่างยาวนาน ขอให้ทุกหน่วยดูแลให้ทุกท่านเกษียณอย่างมีสุขภาพที่ดี ทั้งนี้ ผู้เกษียณอายุราชการเป็นผู้มีความรู้มีประสบการณ์ สามารถที่จะให้คำแนะนำคำปรึกษาแก่หน่วยทหาร และถือว่าเป็นครอบครัวของกองทัพบกตลอดไป

บราซิลประกาศระงับการใช้วัคซีนซิโนแวคกว่า 12 ล้านโดส หลังตรวจพบว่าผลิตจากโรงงานที่ไม่ได้รับอนุญาต

อันวิซา (Anvisa) ผู้ควบคุมกฎระเบียบด้านสาธารณสุขแห่งรัฐบาลกลางบราซิล เมื่อวันเสาร์ (4 ก.ย.) ระงับใช้วัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาโดยซิโนแวค ไบโอเทค บริษัทสัญชาติจีนกว่า 12 ล้านโดส หลังพบว่ามันผลิตโดยโรงงานที่ไม่ได้อนุญาตแห่งหนึ่ง

ถ้อยแถลงของอันวิซา ระบุว่า พวกเขาได้รับแจ้งจากสถาบันบูตันตัน ของรัฐเซาเปาลู ศูนย์ชีวการแพทย์ที่ร่วมมือกับซิโนแวค ในการผลิตและทดสอบวัคซีนโควิด-19 ในบราซิล ว่ามีวัคซีนจากโรงงานดังกลาวส่งมายังบราซิล 25 ล็อต หรือ 12.1 ล้านโดส

"แผนกการผลิตไม่ได้ผ่านการตรวจสอบและไม่ได้รับการรับรองจากอันวิซา ในการอนุมัติใช้วัคซีนที่กล่าวถึงในกรณีฉุกเฉิน" คณะผู้ควบคุมกฎระเบียบด้านสาธารณสุขแห่งรัฐบาลกลางบราซิลระบุ พร้อมบอกว่า "คำสั่งแบนเป็นมาตรการป้องกันไว้ก่อน เพื่อหลีกเลี่ยงความเป็นไปได้ที่จะก่อความเสี่ยงแก่ประชาชน"

สถาบันบูตันตันยังได้แจ้งต่ออันวิซาด้วยว่าวัคซีนอีก 17 ล็อต รวมแล้ว 9 ล้านโดส ที่ผลิตในโรงงานเดียวกันกำลังมุ่งหน้ามายังบราซิล

ระหว่างคำสั่งแบนเป็นเวลา 90 วัน อันวิซาจะดำเนินการตรวจสอบโรงงานและหาคำตอบเพิ่มเติมเกี่ยวกับความปลอดภัยของกระบวนการผลิตในโครงการจ่ายวัคซีนของบราซิลในช่วงต้นปี วัคซีนส่วนใหญ่ที่ดำเนินการฉีดให้แก่ประชาชนก็คือจากซิโนแวค ก่อนจะเข้าถึงวัคซีนจากผู้ผลิตอื่น ๆ หลังจากนั้น

เมื่อวันเสาร์ (4 ก.ย.) บราซิล รายงานพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จำนวน 21,804 ราย และเสียชีวิตเพิ่ม 692 คน


(ที่มา : รอยเตอร์)
https://mgronline.com/around/detail/9640000087980

ชงกระทรวงแรงงานขยายเวลาหักเงินสมทบประกันสังคมอีก 3 เดือน

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า ได้จัดทำหนังสือข้อเสนอเป็นการเร่งด่วนไปยังนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เพื่อให้สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้ขยายมาตรการช่วยเหลือการหักเงินสมทบประกันสังคมต่อไปอีก 3 เดือน ระหว่างเดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2564 หรือจนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะดีขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและประคองการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการในสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ขณะนี้

ทั้งนี้ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงาน ได้พิจารณาข้อเสนอของหอการค้าไทยไปแล้วหลายเรื่อง โดยเฉพาะมาตรการด้านแรงงานในสถานการณ์โควิด-19 ทั้ง 1.มาตรการเชิงรุกในการตรวจคัดกรองความเสี่ยงแรงงานทั้งคนไทยและต่างด้าว 2.มาตรการเร่งรัดจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับผู้ประกันตน 3.มาตรการเยียวยาผู้ประกันตนและนายจ้างได้รับความช่วยเหลือในพื้นที่ 29 จังหวัด 4.มาตรการ Factory Sandbox 

5.มาตรการผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ กลุ่มมติ 20 สิงหาคม 2562 และกลุ่มมติ 4 สิงหาคม 2563 ให้สามารถทำงานต่อในราชอาณาจักรไทยได้ และ  6.มาตรการลดหย่อนการส่งเงินสมทบประกันสังคมของนายจ้าง ลูกจ้างกลุ่มผู้ประกันตน ตั้งแต่มีนาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการจ้างงานจากการได้รับผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 
……….

อดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความ 'ระวังบาป!' กรณีมีคนกล่าวหา 'มหาสมปอง-มหาไพรวัลย์' อลัชชี

6 ก.ย. 64 นายไพศาล พืชมงคล อดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า การกล่าวหา พระมหาสมปองและพระมหาไพรวัลย์ว่าเป็นอลัชชีนั้น เป็นบาป 

ที่ท่านมหาทั้งสอง พูดจาในเชิงตลกโปกฮาบ้าง ก็เป็นบุคลิกส่วนตัวของท่าน 

ยังไม่ปรากฏว่าท่านล่วงละเมิดพระวินัย โดยเฉพาะในข้อปาราชิก ท่านจึงดำรงฐานะเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา อันควรต้องให้ความเคารพ

อัธยาศัยของพระภิกษุแต่ละรูปนั้น เป็นวิบากของแต่ละท่านที่ตกทอดมา บางรูปก็มีอุปนิสัยออกไปทางโลภะ บ้างก็โทสะ บ้างก็โมหะ บ้างก็ฟุ้งไป

แต่ตราบใดที่ท่านยังประพฤติพรหมจรรย์ ดำรงตนอยู่ในพระวินัยแห่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านก็ยังเป็นพระภิกษุ และหลายรูปก็บรรลุมรรคผลภูมิธรรมขั้นสูงในพระศาสนาให้ปรากฏมาแล้ว สำหรับท่านพระมหาสมปองและพระมหาไพรวัลย์เอง เมื่อได้ยินเสียงติเตียนแล้ว ก็พึงพิจารณาด้วยปัญญาของท่านเถิดว่า การใดเป็นโลกาวัชชะ การใดเป็นที่ตั้งแห่งความเคารพสักการะศรัทธา ในพระพุทธศาสนา ตอนนั้นท่านพึงทำเถิด

ถ้าท่านมหาทั้ง 2 รูป สนใจจะสนทนาธรรมกันก็ขอนิมนต์ไว้ ณ ที่นี้


ที่มา : https://www.thaipost.net/main/detail/115756

กอช. เผย สร้างผลตอบแทนการลงทุนใน 7 เดือนให้สมาชิกได้มากกว่าฝากแบงก์

6 ก.ย. 64 นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานล่าสุดในช่วง 7 เดือนของปีนี้ (ถึง 31 กรกฎาคม 2564) โดย กอช. สร้างผลตอบแทนการลงทุนให้สมาชิกได้ร้อยละ 1.14 ต่อปี ซึ่งยังสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำกับธนาคารอยู่ที่ร้อยละ 0.59 ต่อปี

การบริหารเงินลงทุนของ กอช. ยังคงมุ่งเน้นไปที่ความมั่นคงของเงินลงทุน โดยที่ผ่านมา กอช. สร้างผลตอบแทนให้กับสมาชิกอย่างสม่ำเสมอ อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยตั้งแต่ตั้งกองทุนอยู่ที่ร้อยละ 2.90 ต่อปีโดยประมาณ ดีกว่าค่าเฉลี่ยของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำกับธนาคารซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.30 ต่อปีโดยประมาณ

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 การลงทุนของ กอช. ยังคงต้องใช้ความระมัดระวัง โดยเน้นการลงทุนไปที่สินทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล เงินฝาก และหุ้นกู้ภาคเอกชนที่มีความน่าเชื่อถือด้านเครดิตที่ดี ถึงแม้สภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ แต่ทาง กอช. เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นหลายประการ อันบ่งบอกถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งนโยบายทางการคลังของรัฐบาลที่พยายามจะกระตุ้นและประคับประคองเศรษฐกิจ 

ดังนั้น สินทรัพย์ที่มีการเติบโตสูงและให้รายได้ที่สม่ำเสมอ อาทิ ตราสารทุน และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ จึงมีความน่าสนใจ และเป็นโอกาสที่ กอช. น่าจะเข้าสะสมลงทุนต่อไป

ทั้งนี้ สมาชิกมั่นใจได้ว่า จะได้รับเงินบำนาญรายเดือนจาก กอช. เมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ซึ่งจะได้รับเงินคืนทั้งส่วนที่เป็นเงินออมสะสมของสมาชิก และเงินสมทบเพิ่มจากรัฐบาล พร้อมผลตอบแทนการลงทุนของเงินทั้งหมดได้รับการค้ำประกัน ไม่ต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคาร วันที่สมาชิกครบอายุ 60 ปี


ที่มา : https://www.thaipost.net/main/detail/115757

รมว.เฮ้ง ย้ำ ผู้ประกันตน ม.39,40 กลุ่มตกหล่น 29 จังหวัด เร่งเช็คสิทธิรับเงินเยียวยา ตั้งแต่ 1-31 ต.ค.นี้

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า หลังจากที่สำนักงานประกันคม (สปส.) ได้ทยอยโอนเงินเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 40 ที่เดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ใน 29 จังหวัดได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา นครราชสีมา ระยอง ราชบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ลพบุรี เพชรบูรณ์ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี เพชรบุรี ตาก อ่างทอง นครนายก สมุทรสงคราม และสิงห์บุรี ตามกำหนดไทมไลน์ของแต่ละกลุ่มจังหวัด

พบว่า ผู้ประกันตนที่มีสิทธิตามเงื่อนไข ส่วนใหญ่ได้รับเงินโอนเข้าบัญชีพร้อมเพย์เรียบร้อยแล้ว แต่ยังมีผู้ประกันตนบางส่วนที่พบว่าตนเองมีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ ครบถ้วน คือ สัญชาติไทย ประกอบอาชีพ หรือพักอาศัยอยู่ในจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม ใน 29 จังหวัด แต่เข้าไปตรวจสอบสถานะตนเองในระบบเว็บไซต์ www.sso.go.th ของสำนักงานประกันสังคม แจ้งว่า “ไม่ได้รับสิทธิ” จึงพลาดการโอนเงินเยียวยาที่ผ่านมา โดยขณะนี้สำนักงานประกันสังคมได้เปิดให้โอกาสให้ “กลุ่มผู้ประกันตนที่ตกหล่น” สามารถยื่นทบทวนสิทธิรับเงินเยียวยาได้แล้วตั้งแต่วันที่ 1-31 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อไปว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้มีความห่วงใยกลุ่มพี่น้องแรงงานที่ได้รับความลำบากในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ได้กำชับให้ตนเร่งให้ความช่วยเหลือเยียวยาเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแก่ผู้ประกันตน ซึ่งตนได้มอบหมายให้นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมตรวจสอบข้อมูล เพื่อโอนเงินช่วยเหลือกลุ่มที่มีสิทธิแต่ยังตกหล่นอยู่ ให้ยื่นแบบทบทวนสิทธิ สำหรับขั้นตอนผู้ทบทวนสิทธิสามารถดาวน์โหลดเอกสารแบบคำขอทบทวนสิทธิเยียวยา ได้ที่ www.sso.go.th พร้อมกรอกแบบ ลงลายมือชื่อ ระบุเลขบัตรประชาชนให้ชัดเจน หรือแนบสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาใบเสร็จ สลิปชำระเงินสมทบ (ถ้ามี) พร้อมหมายเลขโทรศัพท์เพื่อให้เจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมติดต่อกลับได้ นำแบบที่กรอกครบถ้วนแล้วส่งมาทางไปรษณีย์ลงทะเบียนถึงสำนักงานประกันสังคมที่สะดวก 29 จังหวัดสีแดงเข้ม (ยึดวันประทับตามไปรษณีย์เป็นสำคัญ) ทั้งนี้ เพื่อลดการเดินทางมาติดต่อยังสำนักงานประกันสังคมในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ถึง 31 ตุลาคม 2564 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1506 ให้บริการไม่เว้นวันหยุดราชการตลอด 24 ชั่วโมง

“ผบ.ทบ.”ย้ำแนวทาง“ดับไฟใต้”คำนึงหลักสิทธิมนุษยชน ให้ทหารระมัดระวังพลิกแพลงตามสถานการณ์ลดความสูญเสีย กำชับนโยบาย”บิ๊กตู่”ต้องชัดเจนบังคับใช้ กม.ทุกกรณี /พร้อมขอบคุณช่วยเหลือประชาชื่นนทุกบทบาท

กองทัพภาคที่4 ได้เผยแพร่ผลการประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก (นขต.ทบ.) ที่มี พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เป็นประธานการประชุม ผ่านระบบ VTC เพื่อมอบนโยบาย และสั่งการ และนำไปปฏิบัติ ปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่หน่วย กำลังพล ตลอดจนพี่น้องประชาชนในสถานการณ์และภัยคุกคามต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยก่อนวาระการประชุม พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เป็นผู้แทนผู้บัญชาการทหารบกมอบใบประกาศเกียรติคุณ และประกาศชมเชยให้กับหน่วยในพื้นที่กองทัพภาคที่ 4 ที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่น มีประสิทธิภาพเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาพี่น้องประชาชน

ได้แก่ หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 46 และกองร้อยเสนารักษ์ที่ 1 กองพันเสนารักษ์ กรมสนับสนุน กองพลทหารราบที่ 15 เพื่อเป็นการแสดงความชื่นชม สร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ของกำลังพล สมควรได้รับการยกย่องและเชิดชูให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่กำลังพลของกองทัพบกต่อไป ที่ห้องประชุม 1 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ทั้งนี้ได้เน้นย้ำแก่หน่วยขึ้นตรงกองทัพบกให้ประเมินสถานการณ์ ดำเนินการตามพันธกิจและนโยบาย พร้อมช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในทุกโอกาส

โดย พล.อ.ณรงค์พันธ์ ได้กล่าวขอบคุณทุกส่วนถึงการปฏิบัติงานให้ห้วงที่ผ่านมา ทั้งในด้านการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในห้วงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ขอให้ดำรงความมุ่งหมาย และคงประสิทธิภาพการทำงานต่อไป นำทรัพยากรต่างๆที่มีอยู่ทั้งกำลังพล และยุทโธปกรณ์ให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มกำลัง คงความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ระหว่างการปฏิบัติงานเป็นสำคัญ หน่วยต้องดูแลเรื่องสิทธิ และสวัสดิการแก่กำลังพลอย่างดีที่สุด 

สำหรับภารกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เน้นย้ำกำลังพลให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง พลิกแพลงสถานการณ์เพื่อลดความสูญที่อาจจะเกิดขึ้น การจับกุมยาเสพติด และการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ยังคงต้องเพิ่มมาตรการคุมเข้ม ตามแนวชายแดน เพื่อสกัดกั้นสิ่งผิดกฎหมายทุกชนิดเข้ามาภายในประเทศ ขอขอบคุณกองกำลังชายแดนที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ 

ในส่วนเรื่องการบังคับใช้กฎหมายต่อกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักมนุษยธรรมเน้นการมีส่วนร่วม ที่ผ่านมาพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำมาตลอดให้ดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอน และมีความชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมายทุกกรณี สำหรับการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในด้านสาธารณภัยอื่นๆ ห้วงเดือนกันยายนถึงธันวาคมของทุกปี พื้นที่ภาคใต้เป็นช่วงของฤดูมรสุมขอให้ทุกหน่วยเตรียมความพร้อมในการบรรเทาสาธารณภัยเข้าช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างทันท่วงที โดยไม่ต้องรอคำสั่ง ชื่นชมกำลังพลที่ได้มีจิตอาสาช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของหน่วย และกองทัพบก อันแสดงให้เห็นถึงกำลังพลของกองทัพบกสามารถเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนได้ทุกโอกาส  

จี้ ศธ. จริงจังปรับหลักสูตรเรียนออนไลน์ ‘วิโรจน์’ แนะประกาศจำกัดการบ้านให้ชัด ตัดวิชาไม่เหมาะออก จัดงบใหม่ เยียวยาความสูญเสีย เพื่อสร้างความปกติใหม่ในระบบการศึกษาจี้ ศธ. จริงจังปรับหลักสูตรเรียนออนไลน์ ‘วิโรจน์’ แนะประกาศจำกัดการบ้านให้ชัด ตัดวิชาไม่เหมาะ

ต่อกรณีที่มีเสียงสะท้อนถึงปัญหาการเรียนออนไลน์ที่ไม่มีประสิทธิภาพ สร้างภาระให้กับผู้ปกครอง โรงเรียนและครูในหลายด้าน แต่ไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้น 

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ระบุว่า ต้องยอมรับว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่รุนแรง ยืดเยื้อ ยาวนาน และมีความเป็นไปได้สูงว่า การระบาดของโรคยังคงต้องทอดยาวในระดับที่ไม่สามารถวางใจได้ต่อไปอีกหลายเดือน มาตรการการเรียนออนไลน์ที่ทำอยู่ในปัจจุบัน เป็นเพียงมาตรการในระยะสั้นเท่านั้น เพราะด้วยปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เกิดขึ้นกับทั้งโรงเรียน และครอบครัวของนักเรียน การเรียนออนไลน์ภายใต้หลักสูตรที่ไม่ได้ปรับปรุงอะไรเลย นอกจากจะไม่ได้ประสิทธิผลอย่างที่ควรจะเป็นและส่งผลเสียต่อเจตคติต่อการเรียนรู้แล้ว ยังจะเป็นการซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย นักเรียนที่เข้าไม่ถึงทรัพยากรกร ก็จะยิ่งถูกทิ้งห่างมากขึ้น เมื่อเทียบกับนักเรียนที่มีเศรษฐสถานะที่ดีกว่า 

ทั้งนี้ วิโรจน์ จึงมีข้อเสนอแนะต่อกระทรวงศึกษาธิการว่า กระทรวงศึกษาธิการ ควรปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนแบบออนไลน์ เพื่อให้มีความเหมาะสมต่อการเป็นมาตรการในระยะยาว ที่ตอบโจทย์กับปัญหาความเหลื่อมล้ำได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็น

1. ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนเป็นกรณีเฉพาะ โดยให้สอนเฉพาะวิชาหลักเท่านั้น ได้แก่ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และวิทยาศาสตร์ สำหรับวิชาอื่นๆ ที่การเรียนการสอนไม่เหมาะกับการเรียนแบบออนไลน์ เช่น สังคมศึกษา ศิลปะ ดนตรี พลศึกษา สุขศึกษา การงานอาชีพ พระพุทธศาสนา หน้าที่พลเมือง ลูกเสือ และเนื้อหาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการทดลองในห้องปฏิบัติการ และการฝึกปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายอาชีวศึกษา ให้พิจารณาพักการเรียนการสอนไว้ก่อน แล้วให้ปรับรูปแบบการเรียนการสอน ให้อยู่ในรูปแบบที่บูรณาการวิชาเหล่านี้เข้าด้วยกัน แล้วจัดการเรียนการสอนที๋โรงเรียน ในรูปแบบกิจกรรม เมื่อโรงเรียนสามารถเปิดได้ สำหรับนักเรียนที่เรียนในระดับชั้นที่เป็นปลายช่วงชั้นที่ไม่สามารถเลื่อนการเรียนการสอนได้ อาจจำเป็นต้องเรียนแบบออนไลน์ แต่ก็ควรปรับการเรียนการสอนให้อยู่ในรูปแบบบูรณาการหลายวิชาเข้าด้วยกัน เพื่อลดเวลาเรียนลง

2. กระทรวงศึกษาธิการ ควรมีออกประกาศอย่างจริงจัง เพื่อให้โรงเรียนจำกัดการสั่งการบ้าน และรายงาน ที่เป็นภาระแก่นักเรียน โดยการบ้านควรมีเฉพาะในวิชาหลักเท่านั้น และไม่ควรสั่งการบ้านที่เป็นภาระแก่นักเรียน และไม่ตอบวัตถุประสงค์การเรียนรู้ อาทิ การให้นักเรียนถ่ายคลิปการเดาะลูกตระกร้อ ถ่ายคลิปการรำต่างๆ ซึ่งเป็นภาระแก่พ่อแม่ ผู้ปกครองเป็นอย่างมาก

3. ปรับเปลี่ยนรูปแบบการประเมินผล ให้ใช้การสอบ กับเฉพาะวิชาหลัก เช่น คณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และวิทยาศาสตร์ เท่านั้น สำหรับวิชาอื่นๆ ไม่ได้พักการเรียนเอาไว้สอนในเทอมหน้า ให้ใช้การประเมินผลด้วยวิธีอื่น เช่น การตอบคำถามท้ายคาบ การมีส่วนร่วมในชั้นเรียน หรือวิธีการอื่นๆ ที่ไม่ใช่การสอบ และไม่ใช่การมอบหมายรายงาน ที่เป็นสร้างภาระให้กับนักเรียน

4. กระทรวงศึกษาธิการ ควรจัดทำสื่อการเรียนรู้กลางที่มีคุณภาพ พร้อมเอกสารประกอบการเรียนการสอนที่ครบถ้วน ในทุกรายวิชา ทุกระดับชั้น ที่นักเรียนทุกคนทั่วประเทศ สามารถใช้ในการเรียนรู้ด้วยตนเองได้ ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันโรงเรียนที่มีเงินทุนสนับสนุน ก็สามารถพัฒนาสื่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพได้ แต่จะจำกัดให้แต่นักเรียนของตนเท่านั้น ที่จะเข้าถึงสื่อการเรียนรู้นั้นได้ สำหรับสื่อการเรียนรู้ DLTV และ DLIT ที่มีอยู่ ก็ไม่มีคุณภาพที่มากพอ นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการยังควรจัดสรรงบประมาณ เพื่อจัดซื้อแท็บเล็ต พร้อมซิมอินเตอร์เน็ต เอาไว้จำนวนหนึ่ง สำรองไว้ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อจ่ายแจกให้กับนักเรียนที่ขาดแคลนได้ใช้เรียนแบบออนไลน์อย่างเท่าเทียมกัน รวมทั้งจัดสรรงบประมาณรายหัวใหม่ โดยเพิ่มเติมค่าใช้จ่ายด้านอุปกรณ์การศึกษา และอาจโอนเงินในส่วนของค่าชุดนักเรียนให้มาเป็นค่าอุปกรณ์ทางการศึกษาแทน เพื่อให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง สามารถนำเงินดังกล่าวไปจัดซื้อแท็บเล็ต พร้อมกับชำระค่าอินเตอร์เน็ตได้

5. ต้องยอมรับว่า เงินเยียวยานักเรียน 2,000 บาท เป็นเพียงเงินเยียวยาเบื้องต้นเท่านั้นปัจจุบันนักเรียนจำนวนไม่น้อยกำลังประสบกับภาวะทุพโภชนาการ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการในระยะยาว ในสถานการณ์โรคระบาด ที่โรงเรียนไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติ กระทรวงศึกษาธิการ จึงควรหารือกับนายกรัฐมนตรี ในการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จัดสรรเงินรายหัวที่อุดหนุนโรงเรียนส่วนหนึ่ง จ่ายเป็นค่ายังชีพให้แก่นักเรียน สำหรับโรงเรียนเอกชนที่รับเงินอุดหนุนรายหัว ซึ่งเงินอุดหนุนดังกล่าวมีเงินเดือนของครูผู้สอนรวมอยู่ในนั้นด้วย ให้รัฐบาลพิจารณาใช้งบกลาง หรืองบประมาณจากเงินกู้ อุดหนุนเพิ่มเติม โดยให้ใช้มาตรการนี้ทั้งในเทอมนี้ และเทอมถัดไป จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะคลี่คลาย

6. กระทรวงศึกษาธิการควรเสนอต่อรัฐบาล ให้พิจารณาตรา พ.ร.ก. กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยให้ผู้ปกครอง นักเรียน นิสิต นักศึกษา สามารถกู้ยืมเงินในระยะสั้น แบบปลอดดอกเบี้ย เพื่อการศึกษา ผ่านธนาคารพาณิชย์ โดยให้รัฐบาลรับผิดชอบดอกเบี้ย และค้ำประกันเงินกู้ให้

7. กระทรวงศึกษาธิการควรเสนอต่อรัฐบาล ให้พิจารณออก พ.ร.ก. ชดเชยเยียวยาแก่เด็ก และเยาวชนที่สูญเสียพ่อแม่ หรือผู้ปกครอง จากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2010 (COVID-19) โดยให้รัฐบาลอุดหนุนงบประมาณเพื่อเลี้ยงดู และส่งเสริมการศึกษา ให้กับเด็กเหล่านี้ โดยให้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เป็นผู้จ่ายเงิน และติดตามผล

8. เร่งจัดหาวัคซีนที่มีความปลอดภัย และมีประสิทธิผลต่อเชื้อกลายพันธุ์ มาฉีดให้กับนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา โดยมีกำหนดการ และแผนการฉีดวัคซีนที่ชัดเจน เพื่อให้โรงเรียนสามารถกลับมาเปิดการเรียนการสอนได้ตามปกติ ให้เร็วที่สุด

“สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ณ วันนี้ เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับแล้ว เราอาจจะไม่สามารถกำจัดให้โรคๆ นี้ออกไปจากโลกใบนี้ได้ อย่างไรก็ตาม พัฒนาการ และการเรียนรู้ของเด็กๆ และประชาชนคนไทย มีความจำเป็นต้องเดินหน้าต่อ กระทรวงศึกษาธิการ มีความจำเป็นต้องวางกลยุทธ์ใหม่ วางหลักสูตรใหม่ กำหนดแผนการเรียนการสอนใหม่ จัดสรรงบประมาณใหม่ เพื่อสร้างความเป็นปกติใหม่ (New Normal) ของระบบการศึกษาไทยได้แล้ว” วิโรจน์ ระบุ

'สี จิ้นผิง' ดันนโยบาย Common Prosperity บีบคนรวยช่วยคนจน ลดความเหลื่อมล้ำ บริษัทยักษ์ใหญ่ในจีนต่างขานรับแบบไม่อิดออด

รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน แห่ง วช. ได้โพสต์ลงเฟซบุ๊กว่า... 

#บีบคนรวยช่วยคนจน แนวคิด Common Prosperity #ลดเหลื่อมล้ำแบบจีน แนวคิดนี้ริเริ่มโดยเหมาเจ๋อตงถูกนำมาลงมือทำอย่างจริงจังในยุคสีจิ้นผิง #จัดระเบียบความรวย เพื่อให้ “มั่งคั่งร่วมกัน” ได้รับการขานรับจากมหาเศรษฐีจีนผู้ก่อตั้งบริษัทยักษ์ใหญ่และบรรดาบิ๊กเทคในจีนเป็นอย่างดี #น้อมรับไม่งอแง  

#รวยแล้วต้องแทนคุณแผ่นดิน การตั้งโครงการหรือกองทุนเพื่อช่วยเหลือสังคมด้านต่าง ๆ ของบริษัทที่รวยแล้วของจีน เพื่อหันมาช่วยคนจีนที่ด้อยโอกาสมากขึ้น โดยเน้นช่วยใน 3 หลักประกันขั้นพื้นฐานและจำเป็นที่สีจิ้นผิงประกาศให้คนจีนต้องเข้าถึงและรับบริการได้ครบ คือ การศึกษาขั้นพื้นฐาน Education การเข้าถึงสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน Healthcare และที่อยู่อาศัย Housing 

ตัวอย่างโครงการ/นโยบายช่วยเหลือสังคมของมหาเศรษฐีจีนหรือบริษัทมั่งคั่ง #รวยแล้วต้องแบ่งปัน เช่น... 

-- #Alibaba ตั้งงบ 100,000 ล้านหยวน (US$15.5 billion) เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมกันในจีน ระยะโครงการถึงปี 2025 ผ่านการโปรโมทการลงทุนในเทคโนโลยี ช่วยสนับสนุนบริษัทขนาดเล็ก ช่วยพัฒนาชนบท ช่วยบริษัทขนาดเล็กขยายกิจการไปต่างประเทศ จ้างงานให้เสริมรายได้พิเศษสำหรับผู้ไม่ได้ทำงานประจำ รวมทั้งพนักงานส่งของหรือคนขับรถ

-- #Pinduoduo นาย Chen Lei ประธานและซีอีโอของบริษัทฯ ประกาศว่า บริษัทจะตั้งงบ 10,000 ล้านหยวน​ (US$1.5 billion) เพื่อสนับสนุนโครงการด้านการเกษตรเพื่อช่วยคนชนบทที่มีรายได้ต่ำกว่าคนเมือง มี income gap ห่างกัน 3 เท่า

-- #Tencent ประกาศตั้งกองทุนอีก 7,700 ล้าน US$ เพื่อช่วยคนมีรายได้น้อย ให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาพ สนับสนุนการพัฒนาของชนบท และการศึกษาของชาวบ้านชนบท

-- #Geely บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของจีน จะแจกหุ้น 1.67ล้าน ให้กับพนักงาน 10,884 คน

รวมทั้งมหาเศรษฐีผู้ก่อตั้ง #Meituan บริษัทจัดส่งอาหารรายใหญ่ของจีนก็ขานรับที่จะทำโครงการช่วยผู้อื่นและยกย่องชื่นชมนโยบาย Common Prosperity ของสีจิ้นผิง

สีจิ้นผิงใช้แนวคิด #CommonProsperity หวังจะบีบคนรวยช่วยคนจน เพื่อลดปัญหารวยกระจุก #IncomeGap และเพื่อบีบคนรวยแล้วต้องแบ่งปัน #รวยแล้วต้องมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อสร้างเสถียรภาพทางสังคมในระยะยาว จะสำเร็จหรือไม่ เกาะติดกันค่ะ

共同繁荣  gong tong fan rong อ่านว่า “ก้ง ถง ฝัน หรง” #มั่งคั่งไปด้วยกัน

#เหมาเจ๋อตงริเริ่ม #สีจิ้นผิงลงมือทำ 
"Common prosperity" was first mentioned in the 1950s by Mao Zedong, founding leader of what was then an impoverished country, and repeated in the 1980s by Deng Xiaoping, who modernized an economy devastated by the Cultural Revolution.

#ใครรวยได้รวยก่อน ยุคเติ้งเสี่ยวผิง
Deng said that allowing some people and regions to get rich first would speed up economic growth and help achieve the ultimate goal of common prosperity.

China became an economic powerhouse under a hybrid policy of "socialism with Chinese characteristics", but it also deepened inequality, especially between urban and rural areas, a divide that threatens social stability.


Credit : 
https://www.scmp.com/tech/big-tech/article/3147185/chinas-big-tech-answers-xis-call-common-prosperity-tencent-meituan
และ
https://www.reuters.com/world/china/what-is-chinas-common-prosperity-drive-why-does-it-matter-2021-09-02/


ที่มา: ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น
https://www.facebook.com/1037140385/posts/10223890601746410/?d=n

มาตรการรัฐช่วยรายจ่ายประชาชนหนุนเงินเฟ้อเริ่มลดลง

นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า เงินเฟ้อทั่วไปเดือนส.ค.ลดลง 0.02 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว เนื่องจากมาตรการลดภาระค่าครองชีพของรัฐ โดยเฉพาะการลดค่าเล่าเรียน-ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่ากระแสไฟฟ้า และค่าน้ำประปา ประกอบกับราคาสินค้ากลุ่มอาหารสดบางชนิดมีราคาลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะข้าว เนื้อสัตว์ ผักสด และผลไม้สด 

ขณะเดียวกัน ราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานแม้จะยังขยายตัวต่อเนื่อง แต่เป็นอัตราที่ชะลอลงจากเดือนที่ผ่านมา ขณะที่สินค้าอื่น ๆ บางชนิดมีราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะไข่ไก่และเครื่องประกอบอาหาร และบางชนิดราคาทรงตัว ซึ่งเคลื่อนไหวสอดคล้องกับสถานการณ์ ส่งผลให้เงินเฟ้อในเดือนนี้ปรับลดลง ส่วน เงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว ขยายตัว 0.07 %  ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 0.14 % เฉลี่ย 8 เดือน (ม.ค.- ส.ค.) ปี 2564 สูงขึ้น 0.73 %

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเงินเฟ้อในเดือนนี้จะปรับตัวลดลง แต่เครื่องชี้วัดเศรษฐกิจสำคัญที่เกี่ยวข้องหลายตัวยังมีสัญญาณที่ดี เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการใช้จ่ายภายในประเทศและจากการนำเข้า ยังคงขยายตัว ภาคการส่งออกยังได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญที่ฟื้นตัว

นอกจากนี้ยังประเมินว่า เงินเฟ้อในเดือนก.ย.นี้ มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวในระดับที่ไม่สูงมากนัก โดยมีปัจจัยสำคัญจากการสิ้นสุดมาตรการลดค่ากระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประปา ซึ่งสิ้นสุดในเดือนส.ค.นี้ อีกทั้งราคาพลังงานมีแนวโน้มทรงตัวหรือลดลงเล็กน้อยจากการเพิ่มกำลังการผลิตของผู้ผลิตโลก ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ที่มีแนวโน้มเริ่มคลี่คลาย ซึ่ง ราคาอาหารสดและการต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐเป็นปัจจัยผันแปรสำคัญที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อในเดือนก.ย. โดยกระทรวงพาณิชย์คาดว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2564 จะอยู่ระหว่าง 0.7 – 1.7 % 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top