(2 ธ.ค. 67) สำนักข่าวบีบีซีภาคภาษาเวียดนาม รายงานว่าบรรดานักวิเคราะห์บางส่วนกำลังติดตามความเคลื่อนไหวของบรรดามหาเศรษฐีนักลงทุนจากไทยอย่างใกล้ชิด เนื่องจากพบว่าตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีบริษัทกลุ่มทุนใหญ่จากไทยหลายรายแห่เข้าไปลงทุนในเวียดนามอย่างต่อเนื่อง
บีบีซีระบุว่า ช่วงเดือนกันยายน 2024 รัฐบาลเวียดนามและไทยประกาศแผนปฏิบัติการภายใต้ความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็ง เพื่อผลักดันมูลค่าการค้าทวิภาคีให้ถึง 25,000 ล้านดอลลาร์ ข้อมูลจากกระทรวงแผนและการลงทุนเวียดนามเผยว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2024 มีนักลงทุนไทยลงทุนในเวียดนามกว่า 141.42 ล้านดอลลาร์ (ราว 4,800 ล้านบาท) ทำให้ไทยอยู่อันดับที่ 15 จาก 106 ประเทศที่นิยมลงทุนในเวียดนาม
เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2024 ที่ผ่านมา บริษัท WHA ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์และพัฒนานิคมอุตสาหกรรม ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลเวียดนามให้ลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดทัญฮว้า ด้วยเงินทุน 55 ล้านดอลลาร์ ขณะเดียวกัน บริษัททานตะวันอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) ลงนามสัญญาเช่าโรงงานในเตยนินห์เป็นเวลา 30 ปี
ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เวียดนามรับเม็ดเงินลงทุนมหาศาลจากกลุ่มทุนไทยที่มักใช้กลยุทธ์เข้าซื้อกิจการในเวียดนามเพื่อทำกำไรอย่างต่อเนื่อง เช่น ช่น บริษัท SCBX เข้าซื้อ Home Credit Vietnam ในราคา 860 ล้านดอลลาร์ และ SCG ลงทุนในโครงการปิโตรเคมี Long Son มูลค่า 5.4 พันล้านดอลลาร์ ทั้งยังถือหุ้นอีก 55% ในบริษัท Binh Minh Plastic หนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกพลาสติกรายใหญ่ของเวียดนาม
ขณะที่ภาคธุรกิจอาหารและค้าปลีก ในปี 2015 กลุ่ม Central Group ขยายการลงทุนในเวียดนามกว่า 1.45 พันล้านดอลลาร์ และดำเนินธุรกิจค้าปลีกในห้างสรรพสินค้าและห้างค้าปลีก 41 แห่งทั่วเวียดนาม เช่น Big C และ อีคอมเมิร์ซ Nguyễn Kim และในปีเดียวกันนี้กลุ่มเซ็นทรัลยังประสบความสำเร็จในการเข้าซื้อกิจการบิ๊กซีเวียดนามจากกลุ่มคาสิโน (ฝรั่งเศส) ด้วยมูลค่าข้อตกลงมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในปี 2017 กลุ่มไทยเบฟเวอเรจของมหาเศรษฐีเจริญ สิริวัฒนภักดีใช้เงินเกือบ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อซื้อบริษัท Saigon Beer Alcohol Beverage Corporation (Sabeco) โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ 54% เช่นเดียวกับบริษัทในเครือสองแห่งของ Fraser & Neave Ltd. (F&N) ในเครือของเจ้าสัวเจริญ ปัจจุบันถือหุ้นมากกว่า 20% ใน Vinamilk ผู้ผลิตนมสัญชาติเวียดนาม
เช่นเดียวกับกลุ่ม TCC Group ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยที่ดำเนินงานในภาคการค้าปลีก ในปี 2016 ได้ทุ่มเงิน 655 ล้านยูโรเพื่อซื้อกิจการค้าส่ง Metro Cash & Carry Vietnam ที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น MM Mega Market ขณะที่บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส แห่งประเทศไทย ถือหุ้นประมาณ 98% ใน Ngoc Nghia Plastic
ความเคลื่อนไหวดังกล่าว ส่งผลให้บรรดานักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า การเข้าซื้อกิจการของกลุ่มบริษัทไทยในภาคการผลิตและการค้าส่งของเวียดนาม อาจทำให้บริษัทเวียดนามเสียเปรียบในตลาด อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายมองว่านี่เป็นแนวโน้มปกติของโลกธุรกิจที่บริษัทเวียดนามต้องพัฒนาตัวเองเพื่อแข่งขันต่อไป อีกทั้งมีความเห็นในแนวโน้มที่ว่า การเข้ามาของทุนใหญ่ไทยเป็นสถานการณ์ทางธุรกิจแบบ "ปลาใหญ่กินปลาเล็ก" ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ตามโลกทุนยิม ซึ่งบริษัทท้องถิ่นในเวียดนามมีทางเลือกไม่มากนอกจากต้องหาทางดิ้นรนด้วยตนเองในแบบเท่าที่จะทำได้