Friday, 4 July 2025
Hard News Team

ไทยติดเชื้อ 1,911 ราย ดับ 18 ราย ข่าวดี วันนี้คนหายป่วย มากกว่าคนป่วย เร่งค้นหาเชิงรุกในชุมชน สัปดาห์ละ 2.6 หมื่นราย ยัน ตั้งศูนย์บูรณาการฯไม่ซ้ำซ้อนศบค. ปรับเวลาแถลงข่าวประจำวัน เป็น 12.30 น.

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน ว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,911 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 1,902 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,749 ราย  มาจากการค้นหาเชิงรุก 153 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 9 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 76,811 ราย หายป่วยสะสม 46,795 ราย เฉพาะวันนี้หายป่วยถึง 2,435 ราย ซึ่งมากกว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่วันเดียวกัน ทำให้มีเตียงว่างมากขึ้น อยู่ระหว่างรักษา 29,680 ราย อาการหนัก 1,073 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 356 ราย มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 18 ราย อยู่ใน กทม. 6 ราย สมุทรปราการ 3 ราย นนทบุรี เชียงใหม่ สมุทรสาคร จังหวัดละ 2 ราย ปทุมธานี ยะลา สิงห์บุรี จังหวัดละ 1 ราย เป็นชาย 5 ราย หญิง 13 ราย มี 1 รายที่อายุ 100 ปี สาเหตุส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ไม่ว่าจะเป็นความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจ ไขมันในเลือดสูง ภาวะอ้วน ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 336 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 155,820,246 ราย เสียชีวิตสะสม 3,255,270 ราย 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับ 5 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดในวันที่ 6 พ.ค. ได้แก่ กทม. 739 ราย นนทบุรี 273 ราย สมุทรปราการ 143 ราย ชลบุรี 76 ราย สมุทรสาคร 65 ราย และถ้าดูเฉพาะตัวเลข กทม.และปริมณฑล ยังไม่น่าไว้วางใจ กราฟตัวเลขผู้ติดเชื้อยังสูง ส่วนใหญ่อยู่ในชุมชนแออัด ตลาด โดยศูนย์บูรณาการแก้ไขโควิด-19 ในพื้นที่กทม.และปริมณฑล ได้มีการวิเคราะห์ข้อมูลยอดผู้ติดเชื้อระลอกเดือน เม.ย. ซึ่งดูแนวโน้มแล้วยังสูงขึ้น โดย 10 เขตที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ ห้วยขวาง ดินแดง บางเขน วัฒนา จตุจักร ลาดพร้าว วังทองหลาง สวนหลวง บางกะปิ และบางแค โดยในที่ประชุมมีการพูดคุยถึงชุมชนที่เป็นคลัสเตอร์ใหญ่ 3 ชุมชน คือ ชุมชนคลองเตย ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ ปทุมวัน และชุมชนบ้านขิง บางแค โดยเฉพาะชุมชนบ้านขิง ที่ระหว่างวันที่ 28 เม.ย. -  1 พ.ค. มีการตรวจเชิงรุกในห้างสรรพสินค้าบางแห่งในเขตดังกล่าว จำนวน 1,413 ราย พบติดเชื้อ 68 ราย คิดเป็น 4.8% และยังมีท่าปล่อยรถเมล์ที่มีพนักงาน 100 คน พบติดเชื้อ 4 ราย โดยเมื่อวันที่ 4 พ.ค. มีการตรวจหาเชื้อพนักงาน 70 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผล ซึ่งพนักงานเหล่านี้เชื่อมโยงไปยังชุมชนบ้านขิงที่มีประชากรกว่าพันคน โดยเมื่อวันที่ 28 เม.ย. มีการรับแจ้งว่าคนในชุมชนพบเชื้อ 30 ราย วันที่ 30 เม.ย.พบเชื้ออีก 24 ราย วันที่ 3 พ.ค. มีการค้นหาเชิงรุกในชุมชนพบติดเชื้ออีก 25 ราย 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า หลังจากนี้จะมีการตรวจพื้นที่เชิงรุกมากยิ่งขึ้น เนื่องจากถ้าดูตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันแล้ว จำนวนที่พบจากการตรวจเชิงรุกถือว่าน้อยกว่าระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ จึงคุยกันว่าต้องเพิ่มการตรวจเชิงรุกหรือไม่ ทั้งนี้ ข้อมูลระหว่างวันที่ 5 เม.ย.-5 พ.ค. มีการตรวจเชิงรุกในพื้นที่ กทม. ทั้งสถานบันเทิง สถานประกอบการ ตลาด ชุมชน และห้างสรรพสินค้า รวม 49 แห่ง 69 ครั้ง ตรวจไปแล้ว 42,251 ราย พบติดเชื้อ 1,677 ราย คิดเป็น 3.97% และยังรอผลอีก 559 ราย โดย กทม.มีแผนตรวจเชิงรุกให้ได้ 26,850 รายต่อสัปดาห์ แบ่งเป็นการตรวจเชิงรุกในคลัสเตอร์สำคัญ 8,300 รายต่อสัปดาห์ เฝ้าระวังเชิงรุกใน 6 โซน กทม. วันละ 3,000 ราย หรือ 15,000 รายต่อสัปดาห์ การสุ่มตรวจในผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 250 ตัวอย่างต่อวัน หรือ 1,750 รายต่อสัปดาห์ และการตรวจในสถานกักตัวของรัฐ ที่มีการจัดเป็นที่พักให้ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงแยกตัวออกมาอยู่ในโรงแรม 3 แห่ง คือ โรงแรมธำรงอินน์ จรัญสนิทวงศ์ โรงแรมมายโฮเทล ห้วยขวาง และโรงแรมแอมบาสเดอร์ สุขุมวิท วันละ 600 คนต่อวัน หรือ 1,800 รายต่อสัปดาห์ ขณะเดียวกัน จะมีการจัดเตรียมเตียงรองรับไว้ให้ได้ 1,343 เตียงต่อสัปดาห์ เพื่อรองรับคนที่ตรวจแล้วพบว่าติดเชื้อโควิด-19

เมื่อถามถึงกรณีคณะกรรมการ 3 ชุดที่นายกรัฐมนตรีได้ตั้งขึ้นเพื่อบูรณาการงานในส่วนของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะทำงานอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดความทับซ้อนกับงานของศบค. นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ในที่ประชุมเมื่อช่วงเช้าวันเดียวกันนี้พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาฯ สมช. ได้ชี้แจงในที่ประชุมให้เห็นภาพของความเชื่อมโยงการทำงานกับศบค.ที่มีนายกฯเป็นผอ.โดยเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารงานเพื่อกรุงเทพมหานครและปริมณฑล คือเป็นส่วนหนึ่งในศบค. ทำงานประสานงานเชื่อมโยงระหว่างคณะทำงานชุดต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องและเชื่อมโยงข้อมูลขึ้นมาสู่การบริหารจัดการในระดับที่นายกรัฐมนตรีจะได้เข้ามารับรู้ข้อมูลเป็นรายวันโดยเร็วเพื่อบริหารสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว สำหรับภาคส่วนอื่นๆก็ยังดูแลกันเหมือนเดิม 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวในช่วงท้ายว่าขอย้ำว่าตั้งแต่ วันที่ 7 พ.ค. เป็นต้นไปศบค. จะบูรณาการงานด้านการข่าวเพื่อสื่อสารไปยังพี่น้องประชาชน เพื่อนำชุดข้อมูลที่มีจำนวนมากกลั่นกรองก่อนนำเสนอ โดยทีมโฆษกศบค. จะได้ช่วยกันชี้แจงทั้งข้อเท็จและข้อจริง ที่จะชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบ โดยตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค.เป็นต้นไป จะมีการปรับเวลาแถลงข่าวของ ศบค.เป็นเวลา 12.30 น. เนื่องจากในช่วงเช้าจะมีการประชุมหลายคณะ ต้องใช้เวลาสรุปก่อนนำมาแถลงต่อประชาชน นอกจากนี้ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จะตอบคำถามผ่านไลฟ์สดในบางวัน

รมว.พม. ลงพื้นที่ศูนย์พักคอยนำผู้ติดเชื้อโควิด-19 พื้นที่เขตคลองเตย (วัดสะพาน) กทม. ช่วยเหลือประชาชนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ด้านนายกฯ กำชับให้ดูแลประชาชนทุกคนอย่างดีที่สุด

วันนี้ 6 พฤษภาคม 2564 นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ลงพื้นที่ ณ ศูนย์พักคอยนำผู้ติดเชื้อโควิด-19 พื้นที่เขตคลองเตย (วัดสะพาน) กรุงเทพฯ เพื่อพบปะให้กำลังใจเครือข่ายกระทรวง พม. และมอบเครื่องอุปโภคบริโภค จำนวน 200 ชุด พร้อมเวชภัณฑ์ป้องกันการแพร่รระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ให้แก่ผู้แทนศูนย์ฯ เพื่อนำไปช่วยเหลือประชาชนผู้ติดเชื้อโควิด-19  โดยมี นายอนุกูล  ปีดแก้ว รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รองปลัด พม.) นายโชคชัย วิเชียรชัยยะ รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (อธิบดี พส.) ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร.1300 หน่วยงานกระทรวงสาธารณสุข และอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ลงพื้นที่บูรณาการความช่วยเหลือร่วมกัน 

นายจุติ กล่าวต่อไปว่า วันนี้ หน่วยงานของรัฐบาลและกระทรวง พม. มาช่วยกันระดมการดูแลในเขตกรุงเทพฯ โดยเราต้องการให้พี่น้องประชาชนมั่นใจว่ารัฐบาลตั้งใจและไม่ประมาท ซึ่งเราลงพื้นที่ทำทุกอย่างเพื่อให้ประชาชนได้ปลอดภัยจากโรคโควิด-19  และวันนี้ได้รับความอนุเคราะห์จากวัดสะพาน โดยท่านเจ้าอาวาส และตัวแทนชุมชนเป็นอย่างดี จะเห็นว่าภาคประชาชนได้นำความช่วยเหลือมาสนับสนุนอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้รองปลัดกระทรวง พม. และรองอธิบดี พส.  มาร่วมกันทำงานกับตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุข เพื่อช่วยเหลือประชาชน นอกจากชุมชนแห่งนี้แล้ว ยังมีชุมชนอื่นที่เราจะต้องเข้าไปดูแล  และขอให้มั่นใจว่าเราจะทำงานอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ควบคุมโรคโควิด-19 ในพื้นที่แห่งนี้ได้แล้ว เราจะต้องพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งต่อไป

นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้ ตนเห็นว่าประชาชนมีความพอใจและมั่นใจกับความปลอดภัยในสุขภาพอนามัยและการบริการดีขึ้น ซึ่งการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามทำให้ทุกคนแบ่งหน้าที่กันหมด ทั้งนี้ อยากให้ประชาชนเข้าใจว่าปัญหาที่เคยติดขัดในช่วงแรก ได้รับการแก้ไขแล้ว ซึ่งต้องขอขอบคุณหน่วยหน้าทั้งแพทย์ พยาบาล ทหาร ตำรวจ และ อพม. ของชุมชน ที่ทำให้ปัญหาต่าง ๆ ผ่านไปได้ด้วยดี ในส่วนของกระทรวง พม. ทำหน้าที่เป็นตัวเสริม เรามีความใกล้ชิดกับชุมชน เพราะทำงานกับชุมชนมานาน และมีองค์กรที่เข้าใจสามารถสื่อสารกับประชาชนได้รวดเร็ว ในเรื่องการรักษาพยาบาลและอนามัยเป็นหน้าที่ของแพทย์ โดยเราจะคอยประสานให้ความช่วยเหลืออยู่ข้างหลังกระทรวงสาธารณสุข โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายและกำชับให้ดูแลประชาชนทุกคนอย่างดีที่สุด และขอให้ประชาชนมีความมั่นใจในสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการในขณะนี้ 

“บิ๊กช้าง” นั่งหัวโต๊ะ ประชุมเร่งเหล่าทัพ เข้าไปสนับสนุนศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์ โควิด-19 ที่จัดตั้งขึ้น เพื่อควบคุมจำกัด COVID ในพื้นที่กทม.และปริมณฑล 

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 ที่กระทรวงกลาโหม พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม พร้อม พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม ได้ประชุมร่วมกับหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก เหล่าทัพ กอ.รมน.และ ตำรวจ ผ่านระบบทางไกล โดยในที่ประชุมได้กำชับให้ทุกหน่วยงาน เร่งเข้าไปสนับสนุนการทำงานของ “ศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์ โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล” เพื่อควบคุมและจำกัดการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่กำลังเกิดขึ้นให้เร็วที่สุด

ทั้งนี้ พล.อ.ชัยชาญ ได้ย้ำขอให้ทุกส่วน ร่วมถึงเหล่าทัพ สนับสนุนการปฏิบัติงานของศูนย์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยให้นำกำลังพลและทรัพยากรของกองทัพที่มีอยู่ เข้าไปช่วยเหลือประชาชน และสนับสนุนการบริหารจัดการคลี่คลายสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่เสี่ยงโดยเฉพาะชุมชนแออัดในหลายพื้นที่ พร้อมกับช่วยติดตามตรวจสอบข่าวสารที่มีการบิดเบือนและอาจสร้างความสับสนกับประชาชนซึ่งปัจจุบันพบมากขึ้น โดยขอให้สนับสนุนประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ความเข้าใจและขอความร่วมมือประชาชนในมาตรการที่ศูนย์กำหนด พร้อมทั้ง ขอให้ทาง ตำรวจเข้าไปช่วยดูแลความปลอดภัยของพื้นที่ในภาพรวม 

โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวอีกว่า ภาพรวมการสนับสนุนที่สำคัญของ กห.โดยทุกเหล่าทัพ อยู่ระหว่างการประเมินสถานการณ์ กับ สาธารณสุข เพื่อสนับสนุนจัดทำ รพ.สนาม เพิ่มให้มีเพียงพอกับปริมาณผู้ป่วยที่อาจเพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งได้จัดกำลังพลสายแพทย์สนับสนุน กระทรวงสาธารณสุข ในการรับและบันทึกข้อมูลผู้ป่วยที่แจ้งผ่านสายด่วน และจัดยานพาหนะรวมการ สนับสนุนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ตกค้างในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล เข้ารับการรักษาแล้ว รวม 659 ราย  ขณะเดียวกัน  กองทัพบก ได้เข้าไปช่วยเหลือเรือนจำกลางจังหวัดเชียงใหม่ สนับสนุนการจัดตั้ง รพ.สนาม และการบริหารจัดการทางการแพทย์เชิงรุก เพื่อควบคุมและคลี่คลายสถานการณ์การแพร่ระบาดในสถานควบคุมดังกล่าว

หอการค้า ระบุ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย.อยู่ที่ 46.0 ลดลงจากเดือน มี.ค.64 ซึ่งอยู่ที่ 48.5 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 22 ปี 7 เดือน

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย.อยู่ที่ 46.0 ลดลงจากเดือนมี.ค.64 ซึ่งอยู่ที่ 48.5 โดยลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 22 ปี 7 เดือน ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 40.3 จาก 42.5 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ 42.9 จาก 45.3 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 54.7 จาก 57.7ปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่ ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังมีการระบาดอยู่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจและภาวะเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการต่าง ๆ, รัฐบาลออกมาตรการควบคุมการระบาดของโรคให้เข้มข้นและมาตรการควบคุมแบบบูรณาการจำแนกตามเขตพื้นที่ ภายใต้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น การปิดสถานบันเทิง ควบคุมเวลาการเปิดปิดห้างสรรพสินค้า/ร้านสะดวกซื้อ ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม เป็นต้น พร้อมขอความร่วมมือประชาชนงดออกนอกเคหสถานในยามค่ำคืน, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยเหลือโต 2.3% จากเดิมคาด 2.8%

ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ ภาครัฐดำเนินการออกมาตรการเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ ประกอบด้วย โครงการ "เราชนะ" "ม.33เรารักกัน" "คนละครึ่ง" "เราเที่ยวด้วยกัน" ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ปรับดีขึ้นทั่วประเทศ, การส่งออกเดือนมี.ค. ขยายตัว 8.47% ทำให้ช่วง 3 เดือนแรกส่งออกโต 2.27%, ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น หรือทรงตัวในระดับที่ดี โดยเฉพาะข้าวและยางพารา ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น

"การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงอีกครั้งท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิดรอบใหม่ แสดงว่าผู้บริโภคยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดในประเทศไทยและในโลกว่าจะส่งผละกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้ผู้บริโภคจะระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยในช่วงนี้ อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามการแพร่กระจายของโควิดรอบใหม่ว่าจะเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน รุนแรงเพียงใด และรัฐบาลจะมีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างไร รวมถึงจะมีการ Lockdown ในจังหวัดต่าง ๆ มากน้อยเพียงใด จะคลี่คลายลงเมื่อไร และจะมีการฉีดวัคซีนได้รวดเร็วแค่ไหน จะมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคตได้  และอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัว 0.0-1.5% ได้”

ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวในปากีสถาน เผยหน่วยงานท่องเที่ยวท้องถิ่น สั่งยกเลิกการจองโรงแรมทุกประเภท ตั้งแต่ 8-16 พ.ค. 64 ทั้งที่เป็นช่วงไฮ-ซีซัน โอดกระทบรายได้หนัก แถมไม่ได้รับการเยียวยา เหตุไม่อยู่ในโซนระบาด

ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวชาวไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Pakistan By Lukpla:เพราะลูกปลารัก..ปากี’ โดยระบุว่า

หน่วยงานการท่องเที่ยว Gilgit-Baltistan สั่งให้เจ้าของโรงแรมใน Gilgit-Baltistan ยกเลิกการจองทุกประเภทในช่วงวันที่ 8 พฤษภาคมถึง 16 พฤษภาคม

ถ้าเป็นที่ไทย จะเป็นยังไงน้อ??

ทั้งที่โซนนี้ไม่มีโควิด และเป็นช่วงที่ที่พักจองยากมากในช่วง Eid บางที่ปลาจองมา 3 เดือน !!

นี่คือช่วงไฮที่สุด โรงแรมเต็มทุกที่ ร้านอาหารด้วย บางคนไม่มีที่พักต้องนอนในรถ

แต่ปีนี้จบด้วยการปิดเมือง...เข้าปีที่ 2 ละ

อย่าคิดว่าโซนที่ไม่มีโควิด จะไม่มีผลกระทบนะคะ และเพราะเราไม่มีโควิด รัฐบาลไม่เคยช่วยเยียวยาอะไรโซนเราเลย

น้องชายบอกว่า ถ้าร้านปิด เราก็เอามันฝรั่งมาต้มกิน กันตาย (เพิ่งปลูกไปได้ไม่กี่วัน มันยังไม่ขึ้นเล๊ย 55)

เป็นช่วงที่พวกเรามั่นใจว่าจะมีทัวร์ จะมีงานล้นที่ร้านอาหาร เป็นช่วงเฉลิมฉลอง

เป็นช่วงที่ปลาคิดว่าจะได้เก็บเงินไว้ให้ลูกช่วงคลอด โธ่เว๊ยชีวิต!!!

Gilgit-Baltistan Tourism Department directs the hotel owners in Gilgit-Baltistan to cancel all kinds of booking for the period May 8 to May 16.


https://www.facebook.com/lukpla.in.pakiii/photos/a.248223898855059/1455624551448315/

ศบค.มท.สั่งการทุก จว. เตรียมความพร้อมกำหนดแผนการจัดสรรวัคซีนทั่วประเทศให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) เปิดเผยว่า ด้วยในการประชุมศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เมื่อวันที่ 4 พ.ค.โดยมีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นประธาน ได้มีข้อสั่งการ/ข้อเสนอแนะให้กระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพฯ นำเสนอความพร้อมการเตรียมการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของพื้นที่ ตามแนวทางการเตรียมพร้อมการสนับสนุนการฉีดวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาของ ศปก.ศบค.ในประเด็นการเตรียมและจัดลำดับความสำคัญของกลุ่มเป้าหมาย การเตรียมทีมบุคลากร วัสดุอุปกรณ์ และสถานที่ฉีดวัคซีน การประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มเป้าหมายลงทะเบียนจองฉีดวัคซีน และการกำกับติดตามการฉีดวัคซีน เพื่อให้การกำหนดแผนการเตรียมการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในระดับพื้นที่เป็นไปตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข และเป็นข้อมูลในการประกอบการพิจารณาของ ศปก.ศบค.

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าฯ และผู้ว่าฯ กทม.ได้สั่งการไปยังผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หารือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่ จัดทำแผนการจัดสรรวัคซีนในพื้นที่ ครอบคลุมด้านต่าง ๆ คือ

1.) การเตรียมและจัดลำดับความสำคัญของกลุ่มเป้าหมายในการฉีดวัคซีน ได้แก่

(1.) บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า

(2.) เจ้าหน้าที่อื่นด่านหน้าที่เสี่ยงสัมผัสโรค เช่น ทหาร ตำรวจ

(3.) ผู้ทำงานสถานกักกันตัว

(4.) กลุ่มอาชีพเสี่ยง เช่น พนักงานขับรถสาธารณะ ครู

(5.) ผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรัง

(6.) โรค

(7.) ประชาชนทั่วไป 

ศบค.มท. ระบุว่า

2.) การเตรียมทีมบุคลากร วัสดุอุปกรณ์ และสถานที่ในการฉีดวัคซีนให้เพียงพอต่อจำนวนวัคซีนที่ได้รับ และแล้วเสร็จในเวลาที่กำหนด โดยให้มีความพร้อมสามารถเริ่มให้บริการฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.เป็นต้นไป สำหรับในด้านสถานที่ ให้พิจารณาจัดสถานที่ในการฉีดวัคซีนให้กระจายจุดอย่างทั่วถึง โดยประสานขอความร่วมมือจากภาคราชการและภาคเอกชนในพื้นที่ได้ตามความเหมาะสม

3.) ประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มเป้าหมายให้ลงทะเบียนจองฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่เดือน พ.ค.เป็นต้นไป โดยกำหนดระยะเวลาการฉีดวัคซีนแต่ละกลุ่มเป้าหมายเป็นไปตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด นอกจากนี้ ให้ผู้ว่าฯ เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ (Incident Commander : IC) บูรณาการแบ่งมอบภารกิจให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่ ให้ปฏิบัติตามแผนการจัดสรรวัคซีนในพื้นที่ วางระบบการซักซ้อมแผน กำกับ ติดตาม เพื่อให้การปฏิบัติตามแผนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว ไม่เกิดความสับสน 

เลิกจ้างเพราะเหตุโควิด ลูกจ้างมีสิทธิได้ค่าชดเชย 

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานชี้แจงประเด็นข้อสงสัย กรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเพราะสาเหตุติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มิได้ถือเป็นความผิดร้ายแรงที่เกิดจากการกระทำของลูกจ้าง ลูกจ้างจึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชย 

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวชี้แจงว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ที่ขยายวงกว้างเข้าสู่สถานประกอบกิจการ เป็นความห่วงใยที่พลเอก ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน กำชับให้ความคุ้มครองดูแลให้ความเป็นธรรมแก่ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างเนื่องจากติดเชื้อไวรัสดังกล่าว หรือมีความเสี่ยงที่ต้องกักตัวเพื่อเฝ้าดูอาการ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้รับความช่วยเหลือ รักษา เยียวยา

โดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทำความเข้าใจกับนายจ้าง เจ้าของสถานประกอบกิจการให้ทราบว่า กรณีที่สถานประกอบกิจการออกประกาศห้ามลูกจ้างเดินทางข้ามจังหวัดหรือเดินทางเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงที่อาจเกิดการติดเชื้อไวรัสโควิด+19 แต่ภายหลังทราบว่าลูกจ้างฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าว จนเป็นเหตุให้นายจ้างสงสัยได้ว่าลูกจ้างเสี่ยงต่อการติดเชื้อ 

จึงมีคำสั่งไม่ให้ลูกจ้างมาทำงานและให้กักตัว ณ ที่พักอาศัยเป็นเวลา 14 วัน เพื่อเฝ้าดูอาการ นายจ้างก็ต้องจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้าง เพราะคำสั่งให้ลูกจ้างกักตัวเป็นคำสั่งให้หยุดงานเพื่อประโยชน์ของนายจ้าง จะถือว่าการปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้างดังกล่าวเป็นการขาดงานหรือละทิ้งหน้าที่ของลูกจ้างไม่ได้ ทั้งนี้ นายจ้างอาจตกลงกับลูกจ้างให้ใช้สิทธิการลาป่วย หรือการหยุดพักผ่อนประจำปี และหากนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุลูกจ้างติดเชื้อโรคดังกล่าวหรือสงสัยว่าลูกจ้างติดเชื้อ มิได้ถือเป็นความผิดร้ายแรงที่เกิดจากการกระทำของลูกจ้าง เพราะการเจ็บป่วยเป็นเหตุที่เกิดขึ้นตามสภาพของร่างกายโดยธรรมชาติมิใช่การกระทำผิดวินัยของลูกจ้างและเป็นการติดเชื้อจากโรคระบาดที่แพร่กระจายในวงกว้าง ลูกจ้างจึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชย 

อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นภัยร้ายแรงที่กระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม ในวงกว้าง นายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ที่เกี่ยวข้อง ควรจะต้องให้ความร่วมมือกันในการป้องกันการแพร่ระบาดดังกล่าวให้ยุติโดยเร็ว ซึ่งจะส่งผลดีต่อสังคมโดยรวม ทั้งนี้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ออกประกาศ เรื่องแนวทางในการเฝ้าระวังการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในสถานประกอบกิจการ ลงวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ.2563 เพื่อเป็นแนวทางการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นายจ้างและลูกจ้างควรร่วมมือปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวเพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมมิให้มีการแพร่ระบาดต่อไป

ลุงป้อม ช่วยเกษตรกรไม้สัก/ไม้ผล ประชุม คปช. สนับสนุนเอกชน ร่วมภาครัฐ ส่งออกไม้สัก ส่งเสริมเศรษฐกิจ เห็นชอบไม้ผลทุกชนิด แปรรูปเพิ่มรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิต ชดเชยผลกระทบโควิด-19

เมื่อ 6 พฤษภาคม 2564  พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผช.โฆษกประจำรอง นรม. เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นรม. ได้เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ (คปช.) ครั้งที่ 2/2564  ผ่านระบบ Video Conference ทางไกล โดยมี นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทส.

ที่ประชุม ได้มีการพิจารณาเห็นชอบ การขอทบทวนมติ ครม.เกี่ยวกับการขออนุญาตส่งออกไม้สักสวนป่า จากเดิมที่มีการอนุญาตให้เฉพาะองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เป็นผู้ส่งออกจำหน่ายต่างประเทศ เป็นการให้หน่วยงานของภาครัฐ และภาคเอกชน สามารถส่งไม้สักออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้ด้วย นอกจากนี้ คปช. ยังได้เห็นชอบให้ทบทวนมติ ครม. ซึ่งเดิมให้เฉพาะไม้ผลบางชนิดเท่านั้น ที่สามารถนำป้อนเข้าโรงงานแปรรูปไม้ (โรงเลื่อย) ผลิตเป็นไม้แปรรูปหรือชิ้นไม้สับได้  เป็นการเสนอให้เพิ่มไม้ผลทุกชนิด สามารถนำเข้าป้อนโรงงานแปรรูปไม้ (โรงเลื่อย) ผลิตเป็นไม้แปรรูปหรือชิ้นไม้สับได้ ได้แก่ ยางพารา,สะเดาเทียม,สนประดิพัทธ์,กระถินเทพา,มะพร้าว,มะไฟบ้าน,จามจุรี,ยูคาลิปตัส,สนทะเล,กระถินณรงค์,กระถินยักษ์,มะขาม,มะปรางบ้าน และไม้ตาล ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์จากต้น หรือกิ่งของไม้ผลชนิดต่าง ๆ ที่ตัดหรือฟันออก ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แทนการทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ และสามารถสร้างรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกร ได้อีกทางหนึ่งด้วย

พล.อ.ประวิตร ยังได้กำชับ ทส. และหน่วยงานอื่น ๆ ที่รับผิดชอบให้เร่งรัดปฏิบัติตามมติของ คปช. ที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด เพื่อให้นำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ส่งเสริมการอนุรักษ์ป่า และเพิ่มรายได้ภาคส่งออก และเกษตรกร ชดเชยผลกระทบจากภาวะโควิด-19 สำหรับการแก้ไขปัญหาที่ทำกินของพี่น้องประชาชน ให้ ทส.เร่งสำรวจการถือครองที่ดิน เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ยังไม่มีที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัยภายใต้กรอบกฎหมาย อย่างถูกต้อง เหมาะสม และเป็นธรรมต่อไป

“ประยุทธ์” เน้นย้ำแผนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยในที่ประชุม Microsoft APAC Public Sector Summit “เผย” ใช้ช่องทางดิจิทัลมาประยุกต์ใช้แก้ไขการแพร่ระบาดโควิด “ลั่น” รัฐบาลไทยตั้งเป้าจัดหาวัคซีนจำนวน 100 ล้านโดส เพื่อฉีดให้ประชาชน 50 ล้านคนในสิ้นปีนี้

วันที่ 6 พฤษภาคม 2564 ตามเวลาประเทศไทย (09.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น) ณ สำนักงานใหญ่ Microsoft ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประเทศสิงคโปร์ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวปาฐกถาผ่านระบบวีดิทัศน์ในพิธีเปิดการประชุม Microsoft APAC Public Sector Summit ซึ่งจัดในรูปแบบออนไลน์ ภายใต้หัวข้อ Empowering Nations for a Digital Society ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-7 พฤษภาคม เพื่อหารือเกี่ยวกับบทบาทดิจิทัลและฐานข้อมูลในการช่วยฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจ สนับสนุนการเปลี่ยนถ่ายไปสู่ยุคดิจิทัลของภาคอุตสาหกรรม ภาคการศึกษา และภาคธุรกิจพลังงาน โดยมีผู้บริหารระดับสูงของบริษัทไมโครซอฟต์ และผู้แทนจากภาครัฐและรัฐวิสาหกิจกว่า 20 คน ร่วมอภิปราย

นายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่ง ว่ายินดีที่ได้แลกเปลี่ยนต่อที่ประชุมฯ ถึงความคืบหน้าของการตอบสนอง การฟื้นฟู และการปฏิรูป ของประเทศไทยเพื่อสร้างสังคมดิจิทัลที่ครอบคลุมในทุกมิติ พร้อมระบุว่า การระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ก่อให้เกิดความท้าทาย แต่ได้สร้างโอกาสในหลายมิติ อาทิ การปรับตัวเข้ากับวิถีการทำงานรูปแบบใหม่ มาตรฐานสุขอนามัยรูปแบบใหม่ และการเกิดโมเดลธุรกิจใหม่ อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะมีศักยภาพในการรับมือและปรับตัวท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาด โดยตัวเลขผู้ป่วยที่ควบคุมไว้ได้ในระดับหนึ่ง และประชาชนยังสามารถใช้ชีวิตได้ค่อนข้างปกติ แต่จากจำนวนยอดผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น รัฐบาลได้ทำทุกอย่างเพื่อให้ผ่านวิกฤตระลอกนี้ไปด้วยกัน มีการเตรียมการและวางแผนฟื้นฟูประเทศหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ผ่านพ้นไป มีมาตรการฟื้นฟูสถานการณ์โควิด-19 โดยใช้ช่องทางดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการแก้ไขการแพร่ระบาดในด้านต่างๆ รวมทั้งแจกจ่ายเงินเยียวยาให้แก่ประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาได้ผลเป็นอย่างดี มีการเข้าถึงอย่างรวดเร็ว โปร่งใส ทั่วทั้งประเทศ ประชาชนไทยมีความพึงพอใจ และรัฐบาลตั้งเป้าจัดหาวัคซีนจำนวน 100 ล้านโดส เพื่อฉีดให้ประชาชน 50 ล้านคนในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ ภาครัฐจะฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยแก้ปัญหาภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด คือ ภาคการท่องเที่ยว โดยประเทศไทยจะเปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกอีกครั้ง โดยมีภูเก็ตเป็นจุดหมายนำร่องแห่งแรก เริ่มต้นในเดือนกรกฎาคมนี้

“ความท้าทายต่อไปคือการวาดภาพยุทธศาสตร์การเติบโตในโลกใหม่หลังวิกฤตโควิด-19 ซึ่งดิจิทัลเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกในฐานะที่เป็นปัจจัยสนับสนุนสำหรับทุกภาคส่วน เช่น เทคโนโลยี Internet of Things (IOT) และระบบอัตโนมัติทั้งหลายที่จำเป็นต่อภาคยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งยังช่วยสนับสนุนการค้า การบริการ และการท่องเที่ยว ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ นอกจากนี้ รัฐบาลได้ลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้พร้อมสำหรับอนาคต สิ่งเหล่านี้คือเส้นทางที่ไทยจะดำเนินต่อไป และมุ่งหวังที่จะทำงานร่วมกับพันธมิตร เช่น การวางบทบาทของประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางภูมิภาคอินโดจีนของดาต้าเซ็นเตอร์สีเขียวและบริการคลาวด์ ด้วยการใช้พลังงานทดแทนเพื่อบรรลุเป้าหมายให้ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ ในอนาคตอันใกล้นี้” นายกรัฐมนตรี กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การดำเนินการตามเส้นทางสู่ความสำเร็จของเศรษฐกิจดิจิทัล จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน รัฐบาลตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางภูมิภาคสำหรับบริษัทนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งรวมถึงการเปิดตัวโครงการริเริ่มนำร่องต่าง ๆ เพื่อดึงดูดบริษัทเทคโนโลยีและบุคลากรที่มีความสามารถสูง การพัฒนานโยบายเพื่ออำนวยความสะดวกให้เกิดระบบนิเวศด้านนวัตกรรม ตลอดจนปรับปรุงความง่ายในการประกอบธุรกิจของไทย ซึ่งรัฐบาลกำลังวางแผนการพัฒนาทั้งในระยะเร่งด่วนและในระยะยาวและกล่าวขอบคุณที่ให้โอกาสรัฐบาลไทยได้มาแบ่งปันวาระแห่งชาติด้านดิจิทัลในวันนี้ และรัฐบาลหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ทำงานร่วมมือกันในอนาคต

‘หมอโอภาส พุทธเจริญ’ แนะลูกหลานจองฉีดวัคซีนให้พ่อแม่ หลังพบคนไข้ในไอซียูหลายรายเป็นผู้สูงอายุ ชี้วัคซีนช่วยลดการป่วยและเสียชีวิตจากโควิด-19 ในขณะที่ผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้น้อย

6 พฤษภาคม พ.ศ.2564 ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โพสต์แสดงความคิดเห็นส่วนตัว ผ่านเฟซบุ๊ก Opass Putcharoen ระบุว่า...

ลงทะเบียนฉีดวีคซีนกันหรือยัง

โดยเฉพาะผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคเรื้อรัง

ลงให้คุณพ่อ คุณแม่ได้เลย

ตอนนี้คนไข้ป่วยหนักที่โรงพยาบาลจุฬามีแต่ผู้สูงอายุหรือพวกที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง นอนใส่ท่อช่วยหายใจในไอซียูหลายราย

มีข้อมูลชัดเจนว่าวัคซีนลดการป่วยและเสียชีวิตจากโควิด-19 ในขณะที่ผลข้างเคียงเกิดขึ้นน้อยกว่ามาก ๆ ครับ


ที่มา : https://www.facebook.com/opass.putcharoen


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top