Sunday, 19 May 2024
Hard News Team

ธนาคารแห่งประเทศไทย เตรียมปล่อยกู้สินเชื่อซอฟต์โลน และโครงการพักหนี้ตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย.นี้

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย.นี้เป็นต้นไป ธปท.จะเริ่มให้สถาบันการเงินมาขอเงินกู้ ตาม พ.ร.ก.ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ทั้ง มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) และมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ (โครงการพักทรัพย์ พักหนี้) วงเงินรวม 3.5 แสนล้านบาท เพื่อนำไปปล่อยกู้ภาคธุรกิจต่อ หลังจากได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.64

ล่าสุด ธปท. ได้ออกประกาศจำนวน 2 ฉบับ เพื่อกำหนดขอบเขตคุณสมบัติของผู้ประกอบธุรกิจที่สามารถเข้าร่วมโครงการ หลักการ และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจภายใต้ พ.ร.ก. ดังกล่าว โดยกระทรวงการคลังและ ธปท. ได้เตรียมความพร้อมกับสถาบันการเงิน เพื่อให้สามารถกระจายเม็ดเงินไปสู่ลูกหนี้ได้อย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ ขอให้สถาบันการเงินรับคำขอเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือจากลูกหนี้ได้ตั้งแต่ พ.ร.ก. ฟื้นฟูฯ มีผลบังคับใช้ นอกจากนี้ ลูกหนี้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ ธปท. และติดต่อสถาบันการเงินที่ใช้บริการได้ทันที


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม ""บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!"" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit
คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

“ประวิตร” ระบุมาเลฯ ยังไม่ประสานทางการไทย กรณีเตรียมผลักดันคนไทยลักลอบเข้าเมืองกลับประเทศ พร้อม โยนจนท. เอาผิดผู้ประกอบการย่านทองหล่อ ปล่อยคนแออัดจนโควิดระบาด

วันที่ 20 เมษายน พ.ศ.2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี  ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โควิด-19 ตามแนวชายแดน ว่า ขณะนี้ไม่มีอะไร เมื่อมีการเข้ามาก็ตรวจสอบและรับ ซึ่งต้องยอมรับว่าถึงขณะนี้มีการผลักดันคนที่ลักลอบเข้าเมืองไม่ถูกต้องตามกฎหมายออกมา อาทิ คนที่ไม่มีพาสปอร์ต วีซ่า หรือพวกหลบหนีเข้าเมืองก็ต้องผลักดันออกมา ทั้งนี้ ในส่วนของประเทศไทยถ้ามีการทำผิดกฎหมายก็ต้องจับกุม ซึ่งยังไม่ได้รับรายงานและตัวเลขคนที่หลบหนีเข้าเมือง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเมียนมา ส่วนทางมาเลเซียและกัมพูชา ยังไม่มีรายงานเข้ามา

ผู้สื่อข่าวถามว่าทางประเทศมาเลเซียได้มีการประสานทางการไทยเข้ามาแล้วหรือยัง ในการผลักดันคนไทยที่หลบหนีเข้าเมืองกลับประเทศ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ยังไม่มีการประสานอะไรเข้ามา ทั้งนี้พลโทเกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาค4 ลงไปดูพื้นที่ตั้งแต่เมื่อวานนี้แล้ว

นอกจากนี้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ยังให้สัมภาษณ์ถึงกรณีประชาชนเรียกร้องให้เอาผิดกับเจ้าหน้าที่ที่ปล่อยปละละเลยให้มีการเปิดผับผิดกฎหมายย่านทองหล่อ รวมทั้งเอาผิดกับประกอบการด้วย ว่า ต้องให้เป็นเรื่องของทางเจ้าหน้าที่ว่าทำผิดหรือทำถูกอย่างไร ส่วนเรื่องการเอาผิดผู้ประกอบการที่ปล่อยให้มีคนเข้าไปอยู่อย่างแออัดนั้นเจ้าหน้าที่ต้องแล และดูว่าอันไหนผิดกฎหมายก็ทำตามขั้นตอน ซึ่งเจ้าหน้าที่ดูแลอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามในส่วนการดูแลเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติในพื้นที่ ก็มีการดูแลอยู่แล้ว

‘บิ๊กป้อม’ บอก โควิดหายค่อยประชุม พปชร ‘ยัน’ ยังไม่มีความเร่งด่วน

วันที่ 20 เมษายน พ.ศ.2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึง การเลื่อนกำหนดการประชุมใหญ่พรรคพลังประชารัฐ ว่า ยังไม่รู้ว่าจะประชุมเมื่อไหร่ โควิด-19 เลิกเมื่อไหร่ก็ประชุมเมื่อนั้น ตอนนี้ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนอะไรที่ต้องประชุมพรรค

รมช.แรงงาน มอบ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ปรับแผนการประชุมสัมมนาผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ทำงานต่อเนื่องไม่หวั่นพิษโควิด-19 เดินหน้าจัดงานหาแนวร่วมช่วยคนพิการ

ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากมาตรการที่รัฐบาลได้ประกาศขอความร่วมมือให้หน่วยงานภาครัฐ จัดเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ จนถึง 30 เมษายน พ.ศ.2564 และงดการจัดงานประชุม สัมมนา ที่มีการรวมคนเกินกว่า 50 คน นั้น เพื่อให้การปฏิบัติงานการให้ความช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง เช่น คนพิการ ควรมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน มีกำหนดจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ภายใต้ชื่องาน “เสริมฝีมือ สร้างสุข ให้อาชีพคนพิการ” และเชิญชวนให้สถานประกอบกิจการให้ความร่วมมือดำเนินการมาตรา 33 และมาตรา 35 ให้มากยิ่งขึ้น จึงมีการปรับแผนการสัมมนาเชิงปฏิบัติการดังกล่าว ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2564

ศาสตราจารย์ นฤมล กล่าวต่อว่า การจัดงานในครั้งนี้ต้องการเชิญชวนให้สถานประกอบกิจการจ้างคนพิการเข้าทำงานตามมาตรา 33 และดำเนินการตามมาตรา 35 ให้มากขึ้น ซึ่งการปฏิบัติตามมาตรา 35 มีหลายกิจกรรมที่สถานประกอบกิจการสามารถทำได้ เช่น จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการโดยวิธีกรณีพิเศษ ฝึกงาน จัดให้มีอุปกรณ์ หรือสิ่งอำนวยความสะดวก ล่ามภาษามือ ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ เป็นต้น เพื่อลดการจ่ายเงินมาตรา 34 ให้น้อยลง

ปัจจุบัน มีสถานประกอบกิจการที่กระทรวงแรงงานมีข้อมูลหรือดำเนินการตามมาตรา 34 มีประมาณ 10,000 กว่าแห่ง จึงต้องการเชิญชวนสถานประกอบกิจการในกลุ่มนี้ ดำเนินการตามมาตรา 33 หรือ มาตรา 35 นอกจากนี้ ได้ร่วมมือกับมูลนิธิฯ สมาคมคนพิการทั้งหลายในการขับเคลื่อนการทำงานในครั้งนี้ด้วย

การสัมมนาในครั้งนี้ จัดสัมมนาผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ดังนั้นสถานประกอบกิจการที่สนใจเข้าร่วมรับฟังข้อมูล สามารถแจ้งเข้าร่วมงานดังกล่าวได้ที่กองพัฒนาศักยภาพแรงงานและผู้ประกอบกิจการ 022453705 และติดตามการไลฟ์สด ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

“ปัจจุบันมีหลายบริษัทดำเนินการแล้ว แต่ต้องการกระจายความร่วมมือนี้ออกไปให้มากยิ่งขึ้น ตามแนวทาง “เพิ่มการจ้าง มีการจัดและลดการจ่าย” เพื่อนำไปสู่การพัฒนาทักษะและคุณภาพชีวิตคนพิการได้อย่างยั่งยืน การช่วยเหลือคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ 1 คน ถือว่าได้ช่วยคนในครอบครัวนั้นได้ 3-4 คน และจะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ” รมช.แรงงาน กล่าวในท้ายสุด


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าในเทศกาลตะจ่านหรือสงกรานต์ในเมียนมาปีนี้ ไม่ได้มีการจัดและฝั่งกองทัพก็ไม่ได้จัดทำเวทีขึ้นในแต่ละเมืองเหมือนที่เคยทำมาในครั้งก่อนที่จะเกิดวิกฤตโควิด-19 ระบาด

ในขณะที่ฝั่งผู้เรียกร้องประชาธิปไตยก็รณรงค์ว่าช่วงวันหยุดสงกรานต์ครั้งนี้ให้งดการเล่นน้ำเพื่อเป็นการไว้อาลัยให้แก่ผู้เสียชีวิต โดยบางกระแสถึงขั้นพูดว่าหากใครเล่นน้ำหรือครอบครัวไหนเล่นน้ำ ครอบครัวนั้นเข้าข้างกองทัพ เดือดร้อนเอาผู้ปกครองที่มีเด็กเล็กๆ ที่ต้องหาเหตุผลอีกทีว่าทำไมปีนี้พวกเขาถึงเล่นน้ำไม่ได้

แต่ในขณะเดียวกัน ณ บรรยากาศบริเวณชายหาดอิรวดีไม่ว่าจะเป็นชายหาดงุยเซา หรือ ชายหาดชองตา ต่างคลาคล่ำไปด้วยผู้ที่เดินทางมาท่องเที่ยวจนการจราจรติดขัด หาดเนืองแน่นไปด้วยผู้คนที่หลั่งไหลมาเที่ยวจากทุกสารทิศ สวนกระแสกับสงกรานต์เงียบจนมีคนออกมาบอกว่าก็ไม่เล่นน้ำแล้วไง Beach Strike แทน

 

บรรยายกาศที่ชายหาดงุยเซาในช่วงเทศกาลตะจ่านที่ผ่านมา

 

เส้นทางการจราจรในบริเวณชายหาดงุยเซาคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวจนจราจรติดขัด

 

ในเทศกาลตะจ่านหรือสงกรานต์ในเมียนมาทุกปีนั้น ถ้าหากตัดงานกิจกรรมการเล่นน้ำออกไปแล้วละก็ ในอดีตย่างกุ้งหรือเมืองใหญ่ๆ หลายเมืองก็แทบเป็นเมืองร้าง เพราะห้างร้านเกือบ 100% จะปิดบริการหมด เนื่องจากพนักงานในร้านกลับบ้านต่างจังหวัดก็ดี หรือเจ้าของร้านเดินทางกลับต่างจังหวัดที่เป็นบ้านเกิดภูมิลำเนาของตนเองก็ดี

ซึ่งการเปิดบริการของร้านค้าจะเริ่มมีมากขึ้นในช่วงวันหยุดหลังรัฐบาลพรรคเอ็นแอลดีได้เข้ามาบริหารประเทศ แล้วปรับเปลี่ยนวันหยุดยาวช่วงสงกรานต์จากในอดีตที่เคยกำหนดให้หยุด 10 วัน แต่ตอนหลังให้เหลือเพียง 7 วัน แล้วนำวันที่เหลือไปหยุดชดเชยในวันหยุดอื่น ๆ แทน

ในอดีตในเมียนมาไม่มีวันหยุดสากลอย่างวันที่ 31 ธันวาคมเป็นวันหยุดวันสิ้นปีและวันที่ 1 มกราคมเป็นวันหยุดวันขึ้นปีใหม่

ดังนั้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์รัฐบาลเมียนมาในอดีตจะกำหนดให้วันที่ 11 - 16 เมษายนเป็นวันหยุดในเทศกาลสงกรานต์ หรือ ตะจ่าน และวันที่ 17 - 20 เมษายน เป็นวันหยุดวันขึ้นปีใหม่ รวม 10 วัน เพื่อให้คนเมียนมาที่ทำงานไกล จากบ้านเกิดมีโอกาสได้เดินทางกลับไปยังบ้านเกิดเพื่ออยู่สังสรรค์กับครอบครัว เช่น คนที่มีบ้านเกิดในรัฐคะฉิ่น แต่มาทำงานที่ทวาย จะต้องเดินทางโดยรถบัสประมาณเกือบ 30 ชั่วโมงบนเส้นทางมากกว่า 1,600 กิโลเมตร แต่มาเปลี่ยนแปลงโดยเริ่มมีวันหยุดวันปีใหม่ในวันที่ 1 มกราคม เมื่อปี 2018 และเพิ่มวันหยุดวันสิ้นปีในวันที่ 31 มกราคม 2019 เมื่อเปรียบเทียบจำนวนวันหยุดราชการในอดีตของเมียนมาในยุคของรัฐบาลเต็งเส่งจะมีวันหยุด 23 วัน แต่ปัจจุบันมีการเพิ่มวันหยุดและวันหยุดชดเชยในกรณีที่หากวันหยุดนั้นตรงกับวันเสาร์หรืออาทิตย์เป็นจำนวนทั้งหมด 33 วันตามลำดับ


ที่มา: AYA IRRAWADEE

‘เจ้าสัวซีพี’ ทุ่ม 200 ล้าน มอบน้ำดื่ม-อาหาร-อุปกรณ์แพทย์ ให้ใช้เน็ตทรูฟรี หนุน รพ.สนามรักษาโควิด ฝากนายกฯ ต้องช่วยเอกชนนำเข้าวัคซีนแบ่งเบาภาระรัฐ

นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวผ่านระบบทรู วีรูม ถึงแนวทางให้การสนับสนุนวงการแพทย์ในการดูแลและป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสวิด-19 ว่า การกลับมาระบาดของโควิดรอบ 3 ในประเทศ พบว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งอย่างรุนแรงกว่า 10 เท่า เมื่อเทียบกับรอบก่อน ๆ จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยเหลือกัน ในทางการแพทย์ ถือว่าประเทศไทยสามารถทำได้ดีที่สุด ทั้งในด้านโรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ที่มีความเสียสละเพื่อประชาชน

ดังนั้น เพื่อให้การติดเชื้อโควิดรายใหม่ มีจำนวนน้อยที่สุด ก็อยากให้ทุกคนร่วมมือกัน โดยในส่วนของเครือซีพี ที่เรามีความสามารถในเรื่องของการผลิตอาหาร ก็จะให้การสนับสนุน ทีมบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยในโรงพยาบาล ที่ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งไม่ได้มีการเตรียมพร้อมในเรื่องอาหารและน้ำไว้รองรับ แต่ต้องใช้เวลาในการกักตัวดูอาการกว่า 10 วัน จึงจัดตั้งงบประมาณกว่า 200 ล้านบาท ในการสนับสนุนด้านน้ำดื่ม อาหาร และอุปกรณ์ที่จำเป็น ให้กับโรงพยาบาล

ทั้งนี้ ในจำนวนงบประมาณทั้ง 200 ล้านบาท จะให้การสนับสนุนโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มูลค่า 50 ล้านบาท รวมถึงโรงพยาบาลอื่นๆ ต่อไป อาทิ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลรามาธิบดี และวิทยาลัยพยาบาลกองทัพบก เรือ อากาศ เพื่อเป็นกำลังใจให้หมอและพยาบาล ที่สู้กับศัตรูที่ไม่มีตัวตน เนื่องจากหมอและพยาบาลสูงมาก มีความอันตรายถึงชีวิต แต่ไม่ย่อท้อในการทำงาน โดยมองว่าการทำงานของหมอและพยาบาลดีอยู่แล้ว รวมถึงรัฐบาลที่มีความกระตือรือร้นในการควบคุมการระบาดโควิด-19 แต่อาจยังไม่เพียงพอ เครือซีพีจึงต้องการมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือครั้งนี้ ในการช่วยออกแรงคืนประโยชน์สู่สังคม

“ฝากถึงรัฐบาลให้การส่งเสริมและสนับสนุนเอกชนนำเข้าวัคซีนต้านโควิด อย่างน้อยก็เพื่อให้แต่ละบริษัทสามารถนำวัคซีนเข้ามาดูแลพนักงาน หรือลูกค้าของตัวเองได้ ซึ่งจะเป็นการแบ่งเบาภาระงบประมาณของรัฐบาลอีกทางหนึ่ง โดยอยากฝากถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยตรง” นายธนินท์กล่าว

นายธนินท์กล่าวว่า หากรัฐบาลจะมีการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ จะสร้างความเสียหายให้กับภาคธุรกิจในมูลค่าที่สูง ดังนั้นควรใช้วิธีการร่วมมือเพื่อสกัดการแพร่ระบาดไวรัส ขณะที่ธุรกิจยังสามารถดำเนินต่อไปได้ เนื่องจากมองว่า ไม่ว่าจะเป็นคนตัวใหญ่หรือตัวเล็กก็ต้องช่วยกัน อาทิ คนตัวเล็กแบบประชาชน ก็ต้องป้องกันตัวเอง ใส่หน้ากากอนามัย พยายามไม่ออกจากบ้าน ส่วนตัวใหญ่อย่างบริษัท ก็ต้องช่วยเหลือตัวเองและพนักงานให้ปลอดภัยด้วย นอกจากนี้ บริษัท ทรูมูฟ จำกัด จะสนับสนุนสัญญาณอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ใช้ในโรงพยาบาลสนาม ที่สามารถใช้ได้ฟรี เพื่อให้ผู้กักตัวที่ติดเชื้อโควิด สามารถทำงานได้ ซึ่งถือเป็นการใช้ชีวิตได้ตามปกติ ทั้งการติดต่อกับที่บ้าน รวมถึงการสื่อสารระหว่างกันของแพทย์และพยาบาลด้วย

กลายเป็นกระแสร้อนแรงในเกาหลีใต้ เมื่อบริษัท Namyang Dairy Products หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตนมที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ได้เปิดตัวโยเกิร์ตรุ่นใหม่ Bulgaris ออกวางตลาด โดยเคลมว่าโยเกิร์ตรุ่นนี้มีสรรพคุณต้านไวรัส Covid-19 ได้ผลดีถึง 77.8%

มีการอ้างผลการทดลองจากห้องแล็บ โดย ปาร์ค จุง-ซู หัวหน้าศูนย์วิจัยผลิตภัณฑ์ของบริษัท Namyang ยืนยันว่า Bulgaris เป็นโยเกิร์ตโปรไบโอติคส์ที่คิดค้นขึ้นจากทีมวิจัยของบริษัท และมีการทดสอบพบว่าจะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย สามารถยับยั้งโอกาสการติดเชื้อไขหวัดใหญ่ H1N1 ได้ถึง 99.999% และเชื้อ Covid-19 ได้ถึง 77.8% เจ๋งกว่าวัคซีน Covid-19 บางตัวที่กำลังฉีดอยู่ตอนนี้เสียอีก

พอเคลมแรงด้วยผลการวิจัยของบริษัทเช่นนี้ ก็ทำให้โยเกิร์ตรุ่น Bulgaris ของ Namyang ฮิตเปรี้ยงทันทีที่วางจำหน่าย ชาวเกาหลีใต้รีบมากว้านซื้อหมดเกลี้ยงทุกชั้นวางในซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้ออย่างรวดเร็ว จนบางแห่งต้องจำกัดปริมาณการซื้อต่อคนกันเลยทีเดียว

และส่งผลให้หุ้นของบริษัท Namyang พุ่งแรงตลอดสัปดาห์ตามกระแสฮือฮาของสินค้าใหม่ ที่มากับคำวิจารณ์มากมายว่าโยเกิร์ตจะสามารถป้องกัน Covid-19 ได้จริงอย่างที่กล่าวอ้างหรือไม่

แล้วในที่สุดองค์การควบคุมโรคแห่งเกาหลีใต้ และเจ้าหน้าที่ด้านอาหาร และยา กระทรวงสาธารณสุข (อย.เกาหลี) ก็ออกมาแถลงข่าว เอาผิดบริษัท Namyang ในการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงในผลิตภัณฑ์อาหาร ว่ามีคุณสมบัติคล้ายยา ซึ่งเป็นไปไม่ได้ และเป็นเพียงการเสนอผลการวิจัยเพื่อการตลาด ที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด

นักวิทยาศาสตร์ด้านอาหารจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในเกาหลีใต้ได้ออกมาหักล้างคำกล่าวอ้างของทีมวิจัยของ Namyang ว่า เป็นเพียงการทดลองจากการนำผลิตภัณฑ์ไปใช้กับตัวเชื้อไวรัสตรง ๆ โดยไม่ได้มีการทดลองกับกลุ่มทดลองที่เป็นมนุษย์

และมีการเปิดเผยการทดลองที่ทีมวิจัย Namyang กล่าวอ้างว่า เป็นการทดลองด้วยการเทโยเกิร์ต Bulgaris ลงบนเซลส์จากปอดของลิง ที่ทำขึ้นที่ห้องแล็บของคณะสัตวแพทย์ของมหาวิทยาลัย Chungnam National University ที่บริษัท Namyang เป็นผู้ให้ทุนสนับสนุน และพบว่ากรดจุลินทรีย์ในโยเกิร์ตสามารถทำลายเชื้อไวรัสได้

โดยผู้เชี่ยวชาญได้อธิบายว่า ในโลกนี้มีงานวิจัยของบริษัทยาเป็นจำนวนมากที่ทดลองยากับเชื้อไวรัสโดยตรงแบบนี้ และได้ผลดี แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อนำตัวยามาใช้โดยผ่านร่างกายมนุษย์ จะสามารถต้านทานไวรัสได้อย่างในห้องทดลอง และไม่สามารถสรุปสรรพคุณของยาด้วยลักษณะนี้หากยังไม่เคยทำการทดลองกับคนจริงๆ

นั่นคือมุมมองของนักวิทยาศาสตร์ แต่สำหรับส่วนหน่วยงานด้านอาหารและยาของรัฐบาลเกาหลีใต้ ก็มีความเห็นในอีกแง่มุมหนึ่งว่าการที่ Namyang ออกสินค้าที่เป็นอาหาร แต่ทำแผนการตลาด และโฆษณาว่ามีสรรพคุณเหมือนยานั้นผิดกฏหมาย เพราะอาหารไม่ใช่ยา เบื้องต้นจึงออกคำสั่งห้ามจำหน่าย โยเกิร์ตรุ่น Bulgaris ชั่วคราว และต้องนำสินค้าออกจากชั้นวางทุกแห่งทันที

แต่นั่นยังไม่จบ เพราะบริษัท Namyang อาจโดนข้อหาหนักอีกกระทงจากการทำผลิตกฏหมายโฆษณามาตรา 8 ของเกาหลีใต้ ด้วยการจัดงานสัมนาวิชาการที่มีเป้าหมายในเชิงธุรกิจพาณิชย์ และเคลมอวดอ้างสรรพคุณของ ผลิตภัณฑ์กลุ่ม Bulgaris ที่มีถึง 8 ประเภท แต่ใช้ผลลัพธ์จากการทดลองผลิตภัณฑ์เพียงแค่ 1 ประเภทเท่านั้น ก็อาจเข้าข่ายผิดกฏหมายที่จะทำให้บริษัทต้องยุติกิจการชั่วคราวนาน 2 เดือน และทีมงานผู้รับผิดชอบอาจมีโทษปรับสูงถึง 100 ล้านวอน หรือ จำคุกนานถึง 10 ปี อีกด้วย

และเมื่อมีข่าวเช่นนี้ออกมา ก็ทำให้หุ้น Namyang ที่เคยรุ่ง ก็ร่วงกราวรูด และกลายเป็นอุทธาหรณ์สำหรับคนทำธุรกิจว่า อย่าใจเร็วด่วนได้ เห็นเพียงแค่กระแส และยอดขาย จะโฆษณาอย่างไรก็ได้


อ้างอิง:

https://m.mk.co.kr/news/english/view/2021/04/367550/

http://m.koreaherald.com/view.php?ud=20210414001025

https://koreajoongangdaily.joins.com/2021/04/15/business/industry/namyang-dairy-covid19/20210415181200286.html

https://m.pulsenews.co.kr/view.php?year=2021&no=363354

พานทองแท้ ชินวัตร ลูกชาย นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 19 เม.ย. 64 ถึงการแถลงข่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับการรับมือสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19

เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ.2564 นายพานทองแท้ ชินวัตร ลูกชาย นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว "Oak Panthongtae Shinawatra" ระบุว่า ลุงบอกจะแถลงข่าว... คนทั้งประเทศก็รอฟัง นึกว่าจะนำเสนอทางรอด จาก #Covid19

ลุงพูดไปบ่นไป ฟังก็ไม่รู้เรื่อง วัคซีนก็ไม่มา สาระก็ไม่มี ลุงนำพาประเทศฝ่าโควิด เหมือนตาบอดคลำทาง ไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์

ประเทศไทย อยากมีบัณฑิต ทำได้ง่ายนิดเดียว ลุงก็ลุกจากเก้าอี้สิครับ ลาออกไปซะ จะได้มีบัณฑิต มาบริหารประเทศบ้าง

#ผนงรจตกม คำ ๆ นี้ ใกล้จะเป็นความจริง ขึ้นมาทุกทีแล้วครับ


ที่มา : https://www.facebook.com/oakpanthongtae/posts/307193384109060

“บิ๊กป้อม” มาแล้ว ขอเป็นกำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ สู้โควิด-19 ดูแลปชช.ทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์ข้อความว่า พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และในฐานะห้วหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ขอร่วมเป็นกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร พลเรือน และเจ้าหน้าที่ทุกคนซึ่งเป็นด่านหน้าช่วยเหลือประชาชน
ที่ร่วมมือปฎิบัติหน้าที่ดูแลและเฝ้าระวังเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในทุกพื้นที่ของประเทศอย่างเข้มแข็ง แม้จะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสก็ตาม

เชื่อว่าด้วยความเข้มแข็งในการปฎิบัติหน้าที่ของทุกฝ่ายมั่นใจว่าจะทำให้ประเทศไทยสามารถก้าวผ่านสถานการณ์ครั้งนี้ไปได้ ประชาชนทุกคน ถือเป็นส่วนสำคัญที่สามารถสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ และให้ประเทศไทยสามารถรอดพ้นจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ไปได้โดยการปฎิบัติตนตามคำแนะนำทางการแพทย์ไม่ว่าจะเป็น เว้นระยะห่างทางสังคม งดกิจกรรมการรวมตัวกัน ล้างมือบ่อย ๆ การใส่หน้ากากทุกครั้งที่ออกจากบ้าน ลดการเดินทาง เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อและการแพร่ระบาดไปสู่บุคคลอื่น ๆ

รัฐบาลมีเป้าหมายที่ชัดเจน ในการสนับสนุนบุคคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่เข้าไปช่วยเหลือประชาชนทั้งเป็นผู้ป่วยที่แสดงอาการและไม่แสดงอาการ ให้สามารถเข้าสู่ระบบการรักษาสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง ทั้งการจัดหาเตียงรักษาผู้ป่วยให้เพียงพอ รวมทั้งการจัดโรงพยาบาลสนามทั่วประเทศที่พร้อมให้บริการผู้ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ อย่างไรก็ตามรัฐบาลยังมีแผนเร่งการนำเข้าวัคซีน และเร่งผลิตวัคซีนในประเทศ เพื่อดำเนินการฉีดป้องกันให้กับประชาชนให้ได้ตามแผนทางการแพทย์ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ตามมาตรฐานสาธารณสุขสากล ซึ่งจะนำไปสู่การเปิดประเทศได้อย่างเป็นทางการได้อย่างรวดเร็วที่สุด

กรมเจ้าท่า ประกาศมาตรการคุมเข้มลดจำนวนการเดินเรือเข้าพื้นที่เสี่ยงในเขตควบคุมสูงสุด 18 จังหวัด และลดให้บริการช่วงเวลา 23.00-04.00 น. ตั้งแต่ 18 เม.ย. 2564 เป็นต้นไป

นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยหลังลงนามในประกาศกรมเจ้าท่าที่ 75/2564 เรื่อง การปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2564 และต่อมาได้มีการขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2564 และข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 20) ได้กำหนดให้ส่วนราชการปฏิบัติตามมาตรการเพื่อยับยั้งและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่อย่างเร่งด่วน

กรมเจ้าท่าได้ออกประกาศกำหนดแนวทางในการเดินทางเข้าประเทศไทยสำหรับเจ้าของเรือ ผู้ครอบครองเรือ ผู้ประกอบการเดินเรือ ผู้ประกอบการท่าเรือ นายเรือ ผู้ควบคุมเรือ คนประจำเรือ และผู้โดยสาร เพื่อปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) ดังนี้

1.) ประกาศของกรมเจ้าท่าฉบับใดที่เกี่ยวกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ขัดหรือแย้งกับประกาศฉบับนี้ให้ใช้ประกาศนี้บังคับ

2.) มาตรการสำหรับผู้ประกอบการเดินเรือ เจ้าของเรือ นายเรือ ผู้ควบคุมเรือ

(1.) พิจารณาปรับลดจำนวนเที่ยวการเดินเรือตามความจำเป็นให้เหมาะสมต่อสถานการณ์ ในการให้บริการผู้โดยสารระหว่างจังหวัดในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 20) ลงวันที่ 16 เมษายน 2564

(2.) ควบคุมดูแลให้ผู้ควบคุมเรือ คนประจำเรือ และผู้โดยสาร ปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข D-M-H-T-T-A โดยเว้นระยะห่างและหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้อื่น (D-Distancing) สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย (M-Mask wearing)

(3.) ตั้งจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ล้างมือให้เพียงพอและทั่วถึง พร้อมควบคุมดูแลผู้ควบคุมเรือ คนประจำเรือ และผู้โดยสารต้องทำความสะอาดด้วยเจลแอลกอฮอล์หรือล้างมือบ่อยๆ (H-Hand washing)

(4.) จัดให้มีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย (T-Temperature) และตรวจหาเชื้อ (T-Testing) แอปพลิเคชันไทยชนะ และหมอชนะ (A-Application) แก่ผู้ควบคุมเรือ คนประจำเรือ และผู้โดยสาร ก่อนลงเรือโดยสาร

(5.) ผู้ควบคุมเรือ คนประจำเรือ และผู้โดยสารต้องปฏิบัติตามประกาศกรมเจ้าท่าที่ 8/2564 เรื่องกำหนดให้ผู้ประกอบการเรือ ผู้ประกอบการท่าเรือ เจ้าของเรือ นายเรือ ผู้ควบคุมเรือ และผู้โดยสารปฏิบัติ กรณีมีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ลงวันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2564 ที่ไม่ได้กำหนดไว้ในประกาศนี้อย่างเคร่งครัด

3.) มาตรการสำหรับผู้ประกอบการท่าเรือ

(1.) ขอความร่วมมือให้ประชาชนงดหรือชะลอการเดินทางในช่วงนี้โดยไม่จำเป็น หลีกเลี่ยงเสี่ยงเดินทางเข้าไปในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด 18 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ขอนแก่น ชลบุรี เชียงใหม่ ตาก นครปฐม นครราชสีมา นนทบุรี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ ภูเก็ต ระยอง สงขลา สมุทรปราการ สมุทรสาคร สระแก้ว สุพรรณบุรี และอุดรธานี

(2.) ดำเนินการตรวจสอบและกำกับดูแลผู้โดยสารให้ปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขและมาตรการอื่นๆ

4.) มาตรการสำหรับผู้โดยสาร

(1.) ขอความร่วมมือประชาชนงดหรือชะลอการเดินทางทางน้ำหรือโดยสารระบบขนส่งสาธารณะทางน้ำในช่วงเวลานี้ และหลีกเลี่ยงไปในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด

(2.) ขอความร่วมมือให้ผู้โดยสารปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขและมาตรการอื่น ๆ

5.) ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองเรือ ผู้ประกอบการเดินเรือ ผู้ประกอบการท่าเรือ นายเรือ ผู้ควบคุมเรือ คนประจำเรือและผู้โดยสาร ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่จังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดของแต่ละจังหวัดกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด

6.) ขอให้ผู้ประกอบการเรือโดยสาร เจ้าของเรือ นายเรือ ผู้ควบคุมเรือที่ให้บริการในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และในเขตอำเภอเมืองในจังหวัดและส่วนภูมิภาค พิจารณาปรับลดการให้บริการในช่วงเวลาตั้งแต่ 23.00-04.00 น.

ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2564 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่จะคลี่คลายลง หรือมีประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top