Thursday, 24 April 2025
Hard News Team

‘วินท์ สุธีรชัย‘ ชี้ สัญญารับซื้อไฟสีเขียวบางส่วนทำก่อน ’พีระพันธุ์‘ คุมพลังงาน เชื่อมั่น ปัญหาพลังงานจะถูกแก้ไขอย่างเต็มที่ตามกฎหมายให้อำนาจ

(18 เม.ย. 68) จากกรณีที่นายศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน จึงตั้งกระทู้ถามสดถึงแนวทางการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจำนวน 5,200 เมกะวัตต์ ที่กำลังจะเซ็นสัญญาเร็วๆ นี้ ว่าเหตุใดจึงไม่ยกเลิกโครงการเหมือนกับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรอบสองจำนวน 3,600 เมกะวัตต์ที่ถูกเบรกโครงการไว้ เนื่องจากมองว่ามีปัญหาเรื่องความโปร่งใสและไม่คุ้มค่าเหมือน ๆ กัน  

ล่าสุดนายวินท์ สุธีรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะ สตีล จำกัด (มหาชน) และกรรมการปรับปรุงและยกร่างกฎหมาย กระทรวงพลังงาน ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีดังกล่าว ว่า นั่งฟังที่ พี่ตุ๋ย (ท่าน พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน) ตอบกระทู้สดในสภาเรื่องเกี่ยวกับสัญญาซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาด เข้าใจได้ว่า: 

กฎหมายที่เกี่ยวกับประชาชน (เช่น กฎหมายอาญา) และ กฎหมายที่เกี่ยวกับหน่วยงานของรัฐ (เช่น กฎหมายมหาชน) จะมีความแตกต่างกัน โดยกฎหมายที่เกี่ยวกับประชาชนจะระบุสิ่งที่ห้ามทำ เช่น ทิ้งขยะผิดกฎหมาย ดังนั้นอะไรที่ไม่ได้ระบุไว้ในกฎหมายเกี่ยวกับประชาชน ประชาชนสามารถทำได้ แต่กฎหมายที่เกี่ยวกับหน่วยงานรัฐ หากไม่ได้ให้อำนาจไว้ หน่วยงานรัฐไม่สามารถใช้อำนาจเกินที่กฎหมายระบุไว้ได้เพราะถือว่ามีความผิด 

ดังนั้นการที่กฎหมายให้อำนาจองค์กรอิสระในการจัดซื้อจัดจ้างพลังงานสะอาด แต่ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในการกำกับพลังงานไฟฟ้าไว้เพียงน้อยนิด จึงทำให้การแก้ปัญหาพลังงานไฟฟ้าเป็นไปได้ด้วยความยากลำบาก (อาจจะเป็นเพราะในอดีตเคยมีแผนจะทำให้ กฟผ. กฟภ. และ กฟน. กลายเป็นเอกชนและเข้าตลาดหลักทรัพย์ จึงมีการลดอำนาจการกำกับพลังงานไฟฟ้าของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานลง) 

อย่างไรก็ดี พี่ตุ๋ย รู้ถึงความน่าสงสัยในการจัดซื้อจัดจ้างพลังงานสะอาดที่เกิดขึ้นโดยการเซ็นสัญญาจากองค์กรอิสระซึ่งเกิดก่อนท่านจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และได้พยายามแก้ปัญหาอย่างเต็มที่เท่าที่ทำได้ตามที่กฎหมายมอบอำนาจไว้ให้: 

1. แก้ปัญหาระยะสั้น ได้ระงับการจัดซื้อจัดจ้างพลังงานสะอาด 2,100 เมกะวัตต์ ที่ัยังไม่ได้มีการเซ็นสัญญา ผ่านการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)  

2. แก้ปัญหาระยะกลาง ทางกฤษฎีกามีความเห็นไม่ให้ระงับการจัดซื้อจัดจ้างพลังงานสะอาด 5,203 เมกะวัตต์ เนื่องจากในส่วนที่ไม่ใช่ชีวมวลเซ็นต์สัญญาเสร็จสิ้นไปแล้ว 83 สัญญา เหลือเพียง 19 สัญญา ที่ยังไม่ได้เซ็น ดังนั้น รมว.พลังงาน จึงต้องหาทางระงับสัญญาด้วยวิธีอื่นโดยใช้วิธีตรวจสอบหาข้อผิดกฎหมายในสัญญาซึ่งจะทำให้สัญญาทั้งหมด ทั้งที่เซ็นไปแล้วและยังไม่ได้เซ็นเป็นโมฆะไปตามกฎหมาย 

3. แก้ปัญหาระยะยาว ปัญหาหลักๆ อยู่ที่กฎหมายซึ่งเขียนในช่วงที่มีแผนจะนำ สามการไฟฟ้า(กฟผ. กฟภ. และ กฟน.) เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์กลายเป็นเอกชน ดังนั้นการแก้ปัญหาจึงต้องมีการแก้กฎหมายใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะปัจจุบันที่ หน่วยงานต่างๆยังเป็นของรัฐไทย เพื่อให้รัฐบาลสามารถเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าจากธุรกิจของเอกชนกลายมาเป็นความมั่นคงของรัฐไทยและให้ประชาชนมีพลังงานในราคาต่ำที่สุดใช้ ไม่ใช่เพื่อให้เอกชนไม่กี่รายสร้างกำไรให้กับตนเอง 

ขอเป็นกำลังใจให้พี่ตุ๋ยในการทลายทุนผูกขาดพลังงานไฟฟ้า(ซึ่งทำให้ท่านถูกโจมตีจากทุกทิศทาง) และเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าจากธุรกิจเอกชนให้กลับมาเป็นความมั่นคงของรัฐไทยและประชาชนให้ได้นะครับ 

สมุทรปราการ-คุณแม่ณัฐรดา ทองเหม เศรษฐีใจบุญถวายเงินสร้างศาลา 'โชติธนบดี' ณ วัดบางพลีใหญ่กลาง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้บริหารบริษัท โชติธนบดีทรานสปอร์ต จำกัด โดยคุณแม่ณัฐรดา ทองเหม ได้ถวายปัจจัยในการสร้างศาลาโชติธนบดี เพื่อให้ทางวัดได้ใช้ประโยชน์ทางพระพุทธศาสนา

เมื่อวันที่ (17 เม.ย.68) ท่านพระครูปลัดสุวัฒนศีลคุณ (พระครูแจ้) ดร. เจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่กลาง ประธานฝ่ายสงฆ์ นำคณะสงฆ์วัดบางพลีใหญ่กลาง จำนวน 16 รูป ร่วมประกอบพิธี เจริญชัยมงคลคาถาในพิธีฉลองศาลาการเปรียญหลังใหม่ โชติธนบดี 

สืบเนื่องจาก คุณแม่ณัฐรดา ทองเหม พร้อมด้วย พ.ต.อ.วัชระ เทพเสน ผกก.สภ.บางปู สมุทรปราการ และครอบครัว ในนามบริษัท โชติธนบดีทรานสปอร์ต จำกัด มีความเลื่อมใสศรัทธาจึงได้เป็นเจ้าภาพถวายปัจจัยแด่ท่านพระครูปลัดสุวัฒนศีลคุณ เจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่กลาง เพื่อนำไปสร้างศาลาการเปรียญและเพื่อให้ทางวัดได้ใช้ประโยชน์ทางพุทธศาสนา มูลค่าในการก่อสร้างศาลาหลังนี้ กว่า 6 ล้านบาท

ซึ่งในวันนี้ทางคุณแม่ณัฐรดา ทองเหม พร้อมด้วย พ.ต.อ.วัชระ เทพเสน ผกก.สภ.บางปู สมุทรปราการ และครอบครัว โชติธนบดี ได้เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในพิธีฉลองศาลาการเปรียญหลังใหม่ พระสงฆ์ จำนวน 16 รูป เจริญชัยมงคลคาถาและเจริญพระพุทธมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่คณะเจ้าภาพ

โดยมี ดร.วีร์สุดา รุ่งเรือง นายก อบต.บางพลีใหญ่ พร้อมด้วย พ.ต.อ.กรวัฒน์ หันประดิษฐ์ อดีตรอง ผบก.ภ.จว.ชลบุรี เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางพลี เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางปู เจ้าหน้าที่สำนักพุทธศาสนาจังหวัดสมุทรปราการ ตลอดจนแขกผู้มีเกียรติ ร่วมถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระภิกษุสงฆ์ ทั้ง 16 รูป

จากนั้น พระสงฆ์ให้ศีล กรวดน้ำ รับพร เจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่กลาง โดยท่านพระครูปลัดสุวัฒนศีลคุณ ประพรมน้ำพระพุทธมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่เข้าร่วมในพิธี

18 เมษายน พ.ศ. 2398 ‘รัชกาลที่ 4’ ลงนามสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษ เปิดประตูการค้าสู่โลกตะวันตก จุดเริ่มต้นเศรษฐกิจยุคใหม่ของสยาม

ในประวัติศาสตร์ของราชอาณาจักรสยาม หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลอย่างลึกซึ้งต่อการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและการทูตระหว่างประเทศ คือการลงนามใน “สนธิสัญญาเบาว์ริง” (Bowring Treaty) กับสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2398 (ค.ศ. 1855) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4)

ก่อนการลงนามในสนธิสัญญา สยามยังมีระบบการค้าแบบผูกขาดภายใต้การควบคุมของพระคลังสินค้า โดยการค้าระหว่างประเทศถูกจำกัดอยู่เฉพาะกับบางชาติ และถูกควบคุมอย่างเข้มงวดทั้งด้านภาษีและระเบียบราชการ

ในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 อังกฤษซึ่งเป็นมหาอำนาจทางทะเลของโลกในขณะนั้น ได้เร่งขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการค้าไปทั่วภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะหลังจากที่อังกฤษประสบความสำเร็จในการเปิดประเทศจีนให้ทำการค้ากับชาติตะวันตกผ่าน “สงครามฝิ่น” ซึ่งนำไปสู่การลงนามใน “สนธิสัญญานานกิง” กับจีน ทำให้อังกฤษมองเห็นโอกาสในการขยายเครือข่ายการค้าไปยังภูมิภาคอื่น ๆ

สยามในขณะนั้นถือเป็นประเทศที่มีความมั่นคงและเป็นอิสระจากการตกเป็นอาณานิคม แตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้านหลายแห่ง อีกทั้งยังตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นจุดเชื่อมต่อทางการค้าระหว่างอินเดีย จีน และกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก ด้วยเหตุนี้ อังกฤษจึงมีความสนใจที่จะสานสัมพันธ์กับสยามในเชิงเศรษฐกิจและการทูต เพื่อให้สามารถเข้าถึงทรัพยากร ท่าเรือ และตลาดการค้าในภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้วยบริบทของการล่าอาณานิคมและการแข่งขันระหว่างชาติมหาอำนาจในยุคนั้น การทำสนธิสัญญาทางการค้ากับสยามจึงเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของอังกฤษในการสร้างอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยไม่ต้องใช้กำลังทหาร

สนธิสัญญาเบาว์ริง มีชื่อเรียกตาม เซอร์จอห์น เบาว์ริง (Sir John Bowring) ข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำฮ่องกง ซึ่งเป็นผู้แทนของอังกฤษในการเจรจา มีสาระสำคัญหลายประการ ได้แ

1.  ยกเลิกการผูกขาดการค้า โดยพระคลังสินค้า เปิดโอกาสให้พ่อค้าต่างชาติสามารถค้าขายกับเอกชนในสยามโดยตรง
2. กำหนดอัตราภาษีนำเข้า-ส่งออกแบบคงที่ ช่วยให้การค้าระหว่างประเทศมีความแน่นอนและโปร่งใส
3. อนุญาตให้พ่อค้าอังกฤษตั้งถิ่นฐานและมีสถานกงสุลในกรุงเทพฯ
4. กำหนดสิทธิ “เอกสิทธิ์ทางกฎหมาย” (extraterritoriality) ที่ให้อังกฤษมีอำนาจพิจารณาคดีความของชาวอังกฤษในสยามด้วยตนเอง

การรลงนามในสนธิสัญญาครั้งนั้น ช่วยให้สยามเติบโตอย่างรวดเร็วในด้านเศรษฐกิจ สามารถส่งออกสินค้า เช่น ข้าว น้ำตาล และไม้สัก ไปยังตลาดโลก รวมถึงการปฏิรูประบบราชการและเศรษฐกิจ รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 มีการปรับปรุงโครงสร้างการจัดเก็บภาษี การศึกษา และระบบเงินตราให้ทันสมัยยิ่งขึ้น และเป็นการเปิดประตูสู่โลกตะวันตก สนธิสัญญานี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดประเทศ และการมีปฏิสัมพันธ์กับชาติตะวันตกในระดับที่ลึกซึ้งขึ้น

ทั้งนี้ สนธิสัญญาเบาว์ริงไม่เพียงแต่เป็นข้อตกลงทางการค้าที่สำคัญ แต่ยังเป็นหมุดหมายแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลระยะยาวต่อการพัฒนาและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสยาม แม้ว่าสนธิสัญญานี้จะถูกวิจารณ์ในภายหลังว่าเอื้อประโยชน์ต่อชาติตะวันตกมากกว่าสยาม แต่ในบริบทของยุคสมัย ก็ถือว่าเป็นก้าวแรกของการปรับตัวเพื่อธำรงเอกราชและเข้าสู่ยุคสมัยใหม่อย่างสง่างาม

‘สหรัฐฯ’ ประกาศคว่ำบาตรน้ำมัน ‘อิหร่าน’ มุ่งเป้าสกัดโรงกลั่นน้ำมันขนาดเล็กของจีน

(17 เม.ย. 68) รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ โดยมุ่งเป้าไปที่การส่งออกน้ำมันของอิหร่าน ซึ่งคราวนี้รวมถึงการคว่ำบาตรโรงกลั่นน้ำมันขนาดเล็กของจีน หรือที่รู้จักกันในชื่อ "Teapot Refinery" เป็นครั้งแรก

กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุว่า โรงกลั่นน้ำมันขนาดเล็กแห่งหนึ่งของจีนได้ซื้อน้ำมันดิบจากอิหร่านมูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นการละเมิดมาตรการคว่ำบาตร และนับเป็นโรงกลั่นน้ำมันจีนแห่งที่สองที่ถูกดำเนินมาตรการลงโทษจากฝั่งสหรัฐฯ

ที่ผ่านมา โรงกลั่นน้ำมันขนาดเล็กของจีนมักไม่ถูกรวมอยู่ในรายชื่อเป้าหมายของการคว่ำบาตร เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับระบบการเงินของสหรัฐฯ ค่อนข้างน้อย ต่างจากบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ของรัฐบาลจีนที่ได้หยุดซื้อน้ำมันจากอิหร่านไปก่อนหน้านี้ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบ

ที่ผ่านมา โรงกลั่นน้ำมันขนาดเล็กของจีนมักไม่ถูกรวมอยู่ในรายชื่อเป้าหมายของการคว่ำบาตร เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับระบบการเงินของสหรัฐฯ ค่อนข้างน้อย ต่างจากบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ของรัฐบาลจีนที่ได้หยุดซื้อน้ำมันจากอิหร่านไปก่อนหน้านี้ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบ

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังได้คว่ำบาตร บริษัทและเรือบรรทุกน้ำมันหลายแห่ง ที่มีบทบาทในการขนส่งน้ำมันของอิหร่านไปยังจีน ผ่านเครือข่ายลับที่เรียกว่า “กองเรือเงา (Shadow Fleet)” ซึ่งถูกใช้ในการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบและเลี่ยงมาตรการจากนานาชาติ

จีนในฐานะ ผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของอิหร่าน ยังคงมีบทบาทสำคัญในตลาดพลังงานโลก โดยเฉพาะโรงกลั่นน้ำมันขนาดเล็กที่ยังคงเป็นลูกค้าหลักของอิหร่านผ่านระบบการค้าทางเลือกที่ใช้ เงินหยวน แทนดอลลาร์สหรัฐ และอาศัยเครือข่ายตัวกลางเพื่อลดการตรวจสอบจากสหรัฐฯ

สำหรับมาตรการล่าสุดนี้สะท้อนถึงความพยายามของรัฐบาลวอชิงตันในการปิดช่องโหว่ทางเศรษฐกิจของอิหร่าน และกดดันจีนให้ร่วมมือในประเด็นการบังคับใช้คว่ำบาตรระดับโลก

สหรัฐฯ ขีดเส้นตาย ‘ม.ฮาร์วาร์ด’ 30 เม.ย. นี้ หากไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลวีซ่า เสี่ยงถูกตัดสิทธิ์รับนักศึกษาต่างชาติ และระงับเงินหนุน 2.7 ล้านดอลลาร์

(17 เม.ย. 68) คริสตี โนเอม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่า มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดอาจถูกตัดสิทธิ์ในการรับนักศึกษาต่างชาติ หากไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของรัฐบาลกลางเกี่ยวกับการแบ่งปันข้อมูลผู้ถือวีซ่าบางราย ซึ่งทางการอ้างว่าเกี่ยวข้องกับ “กิจกรรมที่ผิดกฎหมายและรุนแรง”

โนเอมเปิดเผยว่าเธอได้ส่งจดหมายถึงมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยกำหนดให้ตอบกลับและยืนยันการให้ข้อมูลอย่างครบถ้วนภายในวันที่ 30 เมษายนนี้ มิเช่นนั้น ฮาร์วาร์ดจะเสี่ยงต่อการสูญเสีย “สิทธิพิเศษในการรับนักศึกษาต่างชาติ” ซึ่งถือเป็นมาตรการกดดันที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

พร้อมกันนี้ กระทรวงฯ ยังได้ระงับเงินอุดหนุน 2 รายการที่จัดสรรให้กับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 2.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 99.9 ล้านบาท)

“บางทีมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดควรสูญเสียสถานะยกเว้นภาษีและถูกเรียกเก็บภาษีในฐานะหน่วยงานทางการเมือง หากยังคงสนับสนุนหรือส่งเสริมความผิดปกติทางการเมือง อุดมการณ์ และการก่อการร้าย จำไว้ว่าสถานะยกเว้นภาษีขึ้นอยู่กับการกระทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ!” ทรัมป์โพสต์บน Truth Social เมื่อวันอังคาร

ทางด้านโฆษกของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดระบุว่า ทางมหาวิทยาลัยได้รับจดหมายจากกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิแล้ว และยืนยันจุดยืนว่า ฮาร์วาร์ดจะไม่ยอมลดทอนความเป็นอิสระ หรือสละสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แม้จะเผชิญแรงกดดันทางการเมืองก็ตาม โดยจะยังคงปฏิบัติตามกฎหมายของสหรัฐฯ อย่างเคร่งครัด

ก่อนหน้านี้ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ออกแถลงการณ์ว่ามหาวิทยาลัยกำลังพยายามรับมือกับกระแสต่อต้านชาวยิว รวมถึงแนวคิดอคติในรูปแบบอื่น ๆ ภายในรั้วมหาวิทยาลัย ขณะเดียวกันก็ยังให้ความสำคัญกับเสรีภาพทางวิชาการและสิทธิในการชุมนุมอย่างสงบ

ทั้งนี้ รัฐบาลทรัมป์เคยประกาศแนวทางเข้มงวดต่อมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่เปิดพื้นที่ให้กับการชุมนุมประท้วง โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาที่แสดงจุดยืนสนับสนุนสิทธิของชาวปาเลสไตน์และวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอิสราเอล โดยมองว่าการประท้วงบางส่วนมีลักษณะต่อต้านชาวยิวและสนับสนุนกลุ่มฮามาส ซึ่งสหรัฐฯ ระบุว่าเป็นองค์กรก่อการร้าย

ขณะที่นักเคลื่อนไหวและกลุ่มผู้ชุมนุมแย้งว่า รัฐบาลกำลังพยายามผูกโยงการสนับสนุนสิทธิมนุษยชนของชาวปาเลสไตน์เข้ากับความรุนแรงหรือแนวคิดสุดโต่ง เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการควบคุมการแสดงออกทางการเมืองในสถาบันการศึกษา

สถานการณ์ดังกล่าวจึงสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านของนโยบายภายใต้การนำของทรัมป์ ที่กำลังเดินหน้ากดดันมหาวิทยาลัยชั้นนำ โดยเฉพาะผู้ที่มีจุดยืนและท่าทีไม่สอดคล้องกับนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐฯ ในบริบทของตะวันออกกลาง

‘นิกิตา ครีลอฟ’ นักสู้ UFC ขอเปลี่ยนสัญชาติ จาก ‘ยูเครน’ เป็น ‘รัสเซีย’ จุดชนวนดราม่าระอุโลก MMA

(17 เม.ย. 68) นิกิตา ครีลอฟ (Nikita Krylov) นักสู้ MMA ชื่อดังชาวยูเครน ประกาศยินดีเปลี่ยนสัญชาติเป็นรัสเซีย พร้อมระบุว่าเขา “ภูมิใจที่ได้เป็นตัวแทนของรัสเซีย” ขึ้นชกในรายการ UFC 314 ซึ่งคำดังกล่าวกลายเป็นที่จุดชนวนความไม่พอใจและความโกรธเกรี้ยวในหมู่ชาวยูเครน และแฟนกีฬาทั่วโลกที่ติดตามความขัดแย้งระหว่างสองประเทศอย่างใกล้ชิด

ครีลอฟ ซึ่งมีพื้นเพจากเมืองคราสนีย์ลุค ในภูมิภาคดอนบาสของยูเครน และมีครอบครัวเชื้อสายรัสเซีย เคยใช้ชีวิตอยู่ในกรุงมอสโกมานาน เขาเคยต่อสู้ภายใต้ธงชาติรัสเซียมาแล้วก่อนหน้านี้ แต่การประกาศอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ถือเป็นการยืนยันจุดยืนอย่างชัดเจน ในขณะที่รัสเซียและยูเครนยังคงอยู่ในภาวะสงคราม

“เราคุยเรื่องนี้กับ UFC แม้กระทั่งสองงานก่อนที่ได้ถามเกี่ยวกับการเลือกเมืองคิสโลวอดสค์ รัสเซียเป็นสถานที่สำหรับการต่อสู้ของผม” ครีลอฟกล่าว “ผมอาศัยอยู่ที่นั่น 2-3 ปีแล้ว และคิดว่าตอนนี้ผมได้รับเกียรติในการเป็นตัวแทนของพวกเขา”

บนโซเชียลมีเดียของยูเครน การตัดสินใจของครีลอฟถูกมองว่าเป็น “การทรยศ” อย่างรุนแรง หลายคนโจมตีว่าเขาหันหลังให้กับชาติบ้านเกิดในช่วงที่ประเทศกำลังเผชิญวิกฤตการณ์อย่างหนักจากการรุกรานของรัสเซีย บางคนถึงกับเรียกร้องให้ UFC พิจารณาถอดเขาออกจากการแข่งขัน

ครีลอฟมีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับภูมิภาคดอนบาส ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน โดยในอดีตเขาเคยแสดงออกถึงการสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในลูฮันสค์ และกล่าวว่าเขายินดีรับหนังสือเดินทางของสาธารณรัฐประชาชนลูฮันสค์ หากได้รับการรับรองในระดับสากล

สำหรับ ลูฮันสค์ (Luhansk) เป็นเมืองหลักในแคว้นลูฮันสค์ ทางตะวันออกของประเทศยูเครน ตั้งอยู่ใกล้ชายแดนรัสเซีย และถือเป็นหนึ่งในศูนย์กลางอุตสาหกรรมของภูมิภาค ดอนบาส (Donbas) ซึ่งรวมถึงแคว้นลูฮันสค์และโดเนตสค์

หลังเหตุการณ์การปฏิวัติยูเครนปี 2014 (Euromaidan) และการผนวกไครเมียโดยรัสเซีย กลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่สนับสนุนรัสเซียในลูฮันสค์และโดเนตสค์ ได้ลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลยูเครน ทำให้พวกเขาประกาศจัดตั้ง “สาธารณรัฐประชาชนลูฮันสค์” (Luhansk People's Republic – LPR) และแยกตัวจากยูเครน ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

ทั้งนี้ นิกิตา ครีลอฟ เป็นนักสู้ MMA วัย 33 ปี เจ้าของฉายา "The Miner" มีสถิติการชกอาชีพที่น่าประทับใจ โดยมีชัยชนะ 30 ครั้ง (ชนะน็อก 12 ครั้ง, ชนะซับมิชชัน 16 ครั้ง) และแพ้ 10 ครั้ง 

เขาเคยสร้างชื่อจากการเอาชนะนักสู้ชื่อดังอย่าง อเล็กซานเดอร์ กุสตาฟส์สัน และ ไรอัน สแปน ด้วยการน็อกเอาต์และซับมิชชันในยกแรก อย่างไรก็ตาม ในไฟต์ล่าสุดที่ UFC 314 เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2025 ที่ไมอามี ครีลอฟพ่ายแพ้ให้กับ โดมินิค เรเยส (Dominick Reyes) ด้วยการน็อกเอาต์ในยกแรก หลังจากถูกหมัดซ้ายตรงของเรเยสส่งลงไปนอนบนพื้นเวที

อย่างไรก็ตาม ณ ขณะนี้ยังไม่มีการแถลงอย่างเป็นทางการจาก UFC หรือองค์กร MMA อื่นๆ เกี่ยวกับการเปลี่ยนสัญชาติของ นิกิตา ครีลอฟ จากยูเครนเป็นรัสเซีย เนื่องจากเหตุการณ์นี้ไม่ใช่แค่เรื่องของ “สัญชาติในพาสปอร์ต” แต่เป็นบทสะท้อนความซับซ้อนของกีฬาในโลกที่การเมืองและอุดมการณ์ไม่อาจแยกจากกันได้อีกต่อไป

การบินไทยแจง 6 ข้อ ปมเหมาซื้อ ‘Boeing 787’ กว่า 80 ลำ ลั่นโปร่งใสตามแผนฟื้นฟู ไม่มีคอมมิชชั่นแอบแฝง พร้อมเปิดรับการตรวจสอบ

(17 เม.ย. 68) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ออกหนังสือชี้แจงอย่างเป็นทางการจำนวน 6 ประเด็นหลัก เพื่อตอบข้อสงสัยกรณีจัดซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 787 (Boeing  787) รวมกว่า 80 ลำ ซึ่งถูกหยิบยกในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” เมื่อวันที่ 6 เมษายน โดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล ได้ตั้งข้อสังเกตถึงความเหมาะสม ความปลอดภัย และแรงจูงใจในการจัดซื้อ

การบินไทยระบุชัดเจนว่า การจัดซื้อเครื่องบินรุ่น Boeing 787-9 Dreamliner จำนวน 45 ลำ พร้อมสิทธิ์จัดซื้อเพิ่มเติมอีก 35 ลำ ภายในปี 2576 เป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการอย่างเคร่งครัด ซึ่งมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพฝูงบิน รักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน และสนับสนุนการเติบโตในเส้นทางการบินระยะไกล พร้อมทั้งยืนยันว่าไม่มีบุคลากรของบริษัทฯ คนใดได้รับผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนใด ๆ จากผู้ผลิตเครื่องบิน

ในจดหมายดังกล่าว ฝ่ายสื่อสารองค์กรของการบินไทย ชี้แจงโดยละเอียดว่า

1. เครื่องบินโบอิ้ง 787-9 พร้อมเครื่องยนต์ GEnx ของ GE Aerospace ถูกเลือกจากเหตุผลด้านสมรรถนะ ความประหยัดพลังงาน และความสามารถในการบำรุงรักษา อีกทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

2. กระบวนการจัดซื้อเป็นไปตามมาตรฐานสากล ที่สายการบินชั้นนำทั่วโลกใช้อย่างแพร่หลาย พร้อมย้ำว่าไม่มีการแทรกแซงจากกลุ่มผลประโยชน์ใด

3. เครื่องยนต์ GEnx ของ GE มีชั่วโมงบินสะสมมากกว่า 50 ล้านชั่วโมงทั่วโลก เป็นหนึ่งในเครื่องยนต์ที่น่าเชื่อถือที่สุดในอุตสาหกรรมการบิน

4. การบินไทยเลือกใช้เครื่องบินและเครื่องยนต์ที่ผ่านการรับรองจาก FAA (สหรัฐฯ), EASA (ยุโรป) และ กพท. (ไทย) รวมถึงอยู่ภายใต้การตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ

5. บริษัทเลือกใช้ Boeing 787-9 รุ่นล่าสุด ซึ่งต่างจากรุ่น 787-8 ที่เคยมีปัญหาในอดีต โดยนำบทเรียนครั้งนั้นมาใช้ในการตัดสินใจในครั้งนี้

6. ย้ำว่าการจัดซื้อครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเสริมสร้างศักยภาพฝูงบินของประเทศ และช่วยผลักดันกรุงเทพฯ สู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค

การบินไทยยังกล่าวขอบคุณนายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่เป็นสื่อกลางสะท้อนข้อสงสัยจากสาธารณชน พร้อมเชิญชวนหากมีข้อมูลเพิ่มเติมโดยเฉพาะเรื่องคอมมิชชัน ให้แจ้งหรือเปิดเผยต่อบริษัทฯ เพื่อการตรวจสอบโดยโปร่งใส ยืนยันว่าบริษัทเปิดรับข้อมูลจากทุกฝ่าย และมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจภายใต้จริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสาธารณะ

ผบ.ตร.จวกพฤติกรรมชายซิ่ง BMW ชนกระบะ 'น่ารังเกียจ-ไร้วุฒิภาวะ' สั่งดำเนินคดีทุกข้อหา แม้เป็นลูกหลานนักการเมืองดังไม่มีละเว้น 

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เปิดเผย กรณีโลกโซเชียลแชร์คลิปเหตุการณ์รถยนต์ BMW ป้ายแดง ขับปาดหน้ากับรถกระบะ ก่อนรถกระบะเสียหลักพุ่งชนขอบทางบนถนนมอเตอร์เวย์ ช่วงทางออกรังสิต-นครนายก ส่งผลให้คนขับกระบะเป็นชายสูงอายุ ได้รับบาดเจ็บซี่โครงหัก ต้องเข้ารักษาตัวในห้องไอซียู ขณะที่ผู้โดยสารหญิงได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางกระแสวิจารณ์อย่างรุนแรง โดยผู้ขับ BMW มีรายงานว่าเป็นผู้สมัครสมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) และมีความเกี่ยวข้องกับนักการเมืองท้องถิ่นชื่อดัง

ผบ.ตร.กล่าวถึงกรณีนี้ โดยกล่าวว่า ได้ดูคลิปเหตุการณ์ที่เผยแพร่ในสื่อโซเชียลแล้ว และเห็นว่าพฤติกรรมของผู้ขับรถ BMW เป็นสิ่งที่ “น่ารังเกียจ” และไม่สมควรเกิดขึ้นในสังคม “ผมเสียใจที่ยังมีคนขับรถแบบนี้บนถนน ถ้ารถคันที่เสียหายมีเด็กเล็กอยู่ จะเกิดอะไรขึ้น? พฤติกรรมเช่นนี้อยู่ในสังคมยาก” ผบ.ตร. กล่าว

พร้อมย้ำว่า ก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ตนเคยฝากประชาชนให้มีสติและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันในการใช้รถใช้ถนน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงแบบนี้ ซึ่งเหตุการณ์นี้เป็นสิ่งที่สังคมรับไม่ได้ ต้องดำเนินคดีทุกข้อหาที่เกี่ยวข้องอย่างเด็ดขาด 

ผบ.ตร. ยังกล่าวถึงผู้กระทำผิดว่า ไม่เพียงแต่ทำผิดกฎหมาย แต่ยังแสดงออกถึงความไร้จิตสำนึก โดยเฉพาะการอวดอ้างความสัมพันธ์กับนักการเมืองชื่อดังในพื้นที่ เพื่อหวังให้ตนเองดูมีอิทธิพล ผู้กระทำผิดยังไม่สำนึกผิด ยังแอบอ้างโอ้อวดไปทั่ว แสดงให้เห็นว่าไม่มีวุฒิภาวะและจิตสำนึกที่ดีเลย ถ้าเป็นลูกชายผมเอง ทำผิดผมก็ไม่ช่วย ทุกคนต้องอยู่ใต้กฎหมาย ไม่ใช่ทำตัวใหญ่กร่างอวดอ้างไปเรื่อย พร้อมย้ำว่าการบังคับใช้กฎหมายต้องเป็นธรรมและเท่าเทียม ไม่มีข้อยกเว้นสำหรับผู้ที่มีชื่อเสียงหรือมีสายสัมพันธ์ทางการเมือง

ขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานจากคลิปวิดีโอและคำให้การพยาน เพื่อเตรียมดำเนินคดีต่อผู้ขับ BMW รายนี้ในทุกข้อหาที่เกี่ยวข้อง โดยสังคมกำลังจับตามองว่า คดีนี้จะเป็นบททดสอบความยุติธรรมและความโปร่งใสของกระบวนการยุติธรรมไทยอีกครั้ง

 

‘จีน-มาเลเซีย’ ประกาศจุดยืนร่วมหนุนอาเซียนเป็นกลไกขับเคลื่อนหลัก ย้ำจุดยืนปาเลสไตน์-ค้านย้ายถิ่นกาซา หวังฟื้นฟูสันติภาพในเอเชียและตะวันออกกลาง

(17 เม.ย. 68) จีนและมาเลเซียออกแถลงการณ์ร่วมกัน ระหว่างการเยือนอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ผู้นำจีน โดยแสดงจุดยืนสนับสนุนความเป็นแกนกลางของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) พร้อมยืนยันความร่วมมือระดับทวิภาคีในหลายด้าน ท่ามกลางภูมิทัศน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจที่กำลังเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคเอเชียและทั่วโลก

แถลงการณ์ร่วมที่เผยแพร่ในวันเดียวกันระบุว่า จีนและมาเลเซียเห็นพ้องที่จะส่งเสริมกลไกความร่วมมือที่นำโดยอาเซียน เพื่อสร้างสถาปัตยกรรมระดับภูมิภาคที่เปิดกว้าง ครอบคลุม และตั้งอยู่บนพื้นฐานของสันติภาพ เสถียรภาพ และการพัฒนาร่วมกัน โดยเน้นการสร้าง “บ้านที่สงบสุข ปลอดภัย เจริญรุ่งเรือง สวยงาม และเป็นมิตร”

ทั้งสองประเทศยังเน้นย้ำเป้าหมายในการยกระดับความสัมพันธ์จีน-อาเซียนให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการส่งเสริมประชาคมจีน-อาเซียนที่มีอนาคตร่วมกัน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของปักกิ่งในการสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในแถลงการณ์ มาเลเซียยังได้ สนับสนุนการเป็นเจ้าภาพของจีนในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC) ปี 2026 รวมถึงแสดงการสนับสนุนเขตบริหารพิเศษฮ่องกงของจีนในการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งถือเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก

นอกจากความร่วมมือด้านภูมิภาคแล้ว แถลงการณ์ร่วมยังสะท้อนจุดยืนของจีนและมาเลเซียในประเด็นระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสถานการณ์ในฉนวนกาซา ซึ่งกำลังเผชิญวิกฤตมนุษยธรรมอย่างรุนแรง

จีนและมาเลเซียร่วมกันคัดค้านการบังคับให้ประชาชนในกาซาย้ายถิ่นฐาน และย้ำว่า “กาซาเป็นของประชาชนชาวปาเลสไตน์ และเป็นส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถแบ่งแยกได้จากดินแดนปาเลสไตน์” ทั้งสองประเทศยังยึดมั่นในหลักการ “ชาวปาเลสไตน์ปกครองปาเลสไตน์” ในฐานะหลักการสำคัญสำหรับการบริหารฉนวนกาซาในยุคหลังความขัดแย้ง

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังสนับสนุนแนวทางการแก้ไขปัญหาแบบ “สองรัฐ” (Two-State Solution) ที่เรียกร้องให้มีการจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์อิสระซึ่งดำรงอยู่ร่วมกับรัฐอิสราเอลอย่างสันติ และสนับสนุนให้ ปาเลสไตน์ได้รับสถานะสมาชิกเต็มรูปแบบขององค์การสหประชาชาติ (UN)

การเยือนของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ยังแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของจีนในการกระชับความสัมพันธ์กับมาเลเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนยุทธศาสตร์สำคัญในภูมิภาค และเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีบทบาทสำคัญในเวทีระหว่างประเทศ

ทั้งสองประเทศได้หารือถึงความร่วมมือในหลายมิติ ตั้งแต่การค้า การลงทุน การพัฒนาที่ยั่งยืน ความมั่นคงทางพลังงาน ไปจนถึงความร่วมมือทางวัฒนธรรมและการศึกษา โดยคาดว่าในอนาคตอันใกล้ ความร่วมมือต่างๆ ที่หารือกันในครั้งนี้จะได้รับการผลักดันเป็นรูปธรรมมากขึ้นภายใต้แผนยุทธศาสตร์ทวิภาคี

ผบ.ตร. สั่งเด็ดขาดคดีรถ BMW ชนลุงป้าบาดเจ็บบนทางหลวง ให้ดำเนินคดีทุกข้อหาอย่างตรงไปตรงมา ถือเป็นพฤติกรรมที่ขาดวุฒิภาวะ ขาดวินัยจราจร ขาดสำนึกความรับผิดชอบต่อชีวิตและทรัพย์สินผู้อื่น ให้ ผบก.ภ.จว.ปทุมธานี ประสานกับตำรวจทางหลวงเร่งดำเนินการเด็ดขาด

วันนี้ (17 เม.ย.68) พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยถึงกรณีถึงเหตุการณ์ที่ปรากฏภาพคลิปลงในโซเชียล รถหรู BMW ปาดเบียดรถกระบะคันหนึ่งเป็นเหตุทำให้เสียหลักจนเกิดอุบัติเหตุ ทำให้ลุงกับป้าที่เป็นผู้ขับและผู้โดยสารภายในรถได้รับบาดเจ็บสาหัสนั้น 

ตำรวจทางหลวงได้รายงานเหตุเบื้องต้นทราบว่า เหตุเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2568 เวลา 08.32 น. บริเวณบนถนนกาญจนาภิเษก ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 ช่วง กม.23+400 ต.บึงคำพร้อย อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี เจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวงพื้นที่รับผิดชอบได้เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุทันที แต่ขณะนั้นพบว่าเป็นเหตุอุบัติเหตุรถชนกันจำนวน 2 คัน เป็นรถกระบะ อีซูซุ สีดำ ทะเบียนลำปาง โดยมี นายประจักษ์ฯ อายุ 65 ปี เป็นผู้ขับขี่ และนางสาว สมศรีฯ อายุ 64 ปี เป็นผู้โดยสาร ทั้งคู่ได้รับบาดเจ็บ และรถเก๋ง BMW สีขาว ทะเบียนป้ายแดง โดยมี นายสมิทธิพัฒน์ฯ อายุ 28 ปี เป็นผู้ขับขี่ ตำรวจได้นำส่งผู้บาดเจ็บไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลบางปะกอกรังสิต 2 แล้วได้นำรถทั้งสองคันไปเก็บรักษาไว้ยังหน่วยสอบสวนตำรวจทางหลวงลำลูกกา เพื่อตรวจสภาพรถ พร้อมตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ นายสมิทธิพัฒน์ฯ ผู้ขับขี่รถ BMW ไม่พบปริมาณแอลกอฮอลล์ในกระแสเลือด ซึ่งนายสมิทธิพัฒน์ฯ ได้แจ้งว่าขับรถปาดหน้ากัน จึงสอบสวนปากคำไว้ 

ต่อมาวันนี้ตำรวจทางหลวงได้รับคลิปพยานหลักฐานเพิ่มเติมจากกล้องหน้ารถของประชาชน ทำให้ทราบว่าอาจจะไม่ได้เป็นการเฉี่ยวชนแบบธรรมดา อาจะเข้าข่ายเป็นความผิดทางอาญา ซึ่งตำรวจทางหลวงจะไม่ได้รับผิดชอบ จะรับเพียงคดีจราจรบนทางหลวงเท่านั้น ส่วนคดีอาญาทาง สภ.ลำลูกกา จะเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป 

โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้รับทราบรายงานแล้ว และได้ดูคลิปภาพในสื่อโซเชียลแล้ว ยืนยันว่าไม่ได้มีความเกี่ยวข้องเป็นญาติกัน ถือเป็นพฤติกรรมที่ขาดวุฒิภาวะ ขาดวินัยจราจร ขาดความสำนึก ขาดความรับผิดชอบต่อชีวิตและทรัพย์สินผู้อื่น เป็นเรื่องที่น่าเสียใจที่มีบุคคลทำพฤติกรรมการขับรถยนต์เช่นนี้บนถนน หากรถคันที่เสียหายมีเด็กเล็กอยู่ในรถจะเป็นอย่างไร แบบนี้อยู่ในสังคมยาก โดยการใช้รถใช้ถนนนั้น ผบ.ตร เคยพูดก่อนสงกรานต์แล้วว่า ขอให้ทุกคนมีสติและเอื้ออาทรในการใช้รถใช้ถนนร่วมกัน จะได้ไม่มีเหตุอะไรเกิดขึ้นจนบานปลาย เป็นเรื่องใหญ่โต เรื่องนี้ถือเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ทำให้สังคมรับไม่ได้ ดังนั้น ต้องถูกดำเนินคดีอย่างเด็ดขาดทุกข้อหาที่เกี่ยวข้อง ผู้กระทำผิดนอกจากกระทำผิดแล้วยังไม่สำนึกผิด ยังแอบอ้างโอ้อวดไปทั่ว เช่นนี้ถือว่าเป็นผู้ไม่มีวุฒิภาวะ หรือจิตสำนึกที่ดี 

นอกจากนี้ ผบ.ตร. กล่าวว่า “แม้หากเป็นลูกชายแท้ๆ ถ้าทำผิดอะไร ก็ต้องรับผิด จะไม่มีช่วยเหลือ ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายที่ทำให้สังคมเป็นระเบียบเรียบร้อย มิใช่ทำตัวใหญ่กร่างอวดอ้างไปเรื่อยๆ เช่นนี้” 

ทั้งนี้ เนื่องจากเหตุเกิดบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เบื้องต้นคดีนี้เป็นคดีจราจร ที่สถานีตำรวจทางหลวง 2 กองกำกับการ 8 กองบังคับการตำรวจทางหลวง ต้องรับผิดชอบ ทำการสอบสวนก่อน และหากเป็นอาญาตำรวจพื้นที่ คือ สภ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี จะรับผิดชอบ ซึ่ง ผบ.ตร.ได้เน้นย้ำไปทางตำรวจทางหลวงและตำรวจพื้นที่ใน จ.ปทุมธานี แล้วว่าการดำเนินคดีต้องเป็นไปตามพยานหลักฐานอย่างตรงไปตรงมา จะไม่มีการช่วยเหลือใครเด็ดขาดเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างของสังคม


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top