Friday, 26 April 2024
แบงก์ชาติ

แบงก์ชาติยันสถานะการเงินแบงก์พาณิชย์ยังแกร่ง

นางสาว สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 3 ปี 2564 ว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีความเข้มแข็ง โดยมีเงินกองทุน เงินสำรองและสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้และสนับสนุนความต้องการสินเชื่อเพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไปที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงจากผลกระทบของโควิด-19 ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นช่วยชะลอการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ผลประกอบการปรับดีขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน โดยหลักจากค่าใช้จ่ายสำรองที่ลดลงเนื่องจากระบบธนาคารพาณิชย์
ได้กันสำรองในระดับสูงในปีก่อน รวมถึงการควบคุมค่าใช้จ่าย 

สำหรับระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 3.02 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง ที่ 19.9% เงินสำรองอยู่ในระดับสูงที่ 8.72แสนล้านบาท โดยอัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ อยู่ที่ 155% และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต อยู่ที่ 186.8%

ขณะที่ภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3 ปี 2564 ขยายตัวที่ 5.6% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 3.7% โดยสินเชื่อยังคงขยายตัวต่อเนื่องแม้หักผลของสินเชื่อที่ให้แก่ภาครัฐและมาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.3% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากการขยายตัวของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ในเกือบทุกประเภทธุรกิจ รวมถึงสินเชื่อที่ให้แก่ภาครัฐ สะท้อนความต้องการเงินทุนของภาคธุรกิจภายหลังการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังการเปิดประเทศ 

ลูกหนี้เฮ! แบงก์ชาติเคาะมาตรการแก้หนี้ระยะยาว ทั้ง รีไฟแนนซ์-รวมหนี้ 

น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ออกมาตรการแก้หนี้ระยะยาวคือ 1. ห้ามเรียกเก็บค่าปรับจากการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนครบกำหนด สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับและสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ เป็นการชั่วคราว โดยให้มีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 31 ธ.ค.2566 และ 2. ปรับปรุงแนวทางการรวมหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่น โดยขยายขอบเขตให้สามารถรวมหนี้ข้ามสถาบันการเงิน หรือผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นได้ จากเดิมที่สามารถรวมหนี้ได้เฉพาะหนี้ในสถาบันการเงินเดียวกัน  

ทั้งนี้คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมมาตรการ คือ 1. ต้องเป็นลูกหนี้ไม่เสียประวัติข้อมูลเครดิต หากเจรจาปรับโครงสร้างหนี้สำเร็จตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้เสีย 2. ลูกหนี้ต้องให้คำยินยอมเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นแก่สถาบันการเงินที่ทำการรวมหนี้ เช่น ชื่อเจ้าหนี้ ยอดหนี้คงค้าง 3. ลูกหนี้อาจถูกพิจารณาปรับลดวงเงินส่วนที่นำไปรวมหนี้ เพื่อให้อยู่ในระดับที่ลูกหนี้สามารถบริหารจัดการได้ 4. หากผิดนัดชำระหนี้สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ถึงแม้จะไม่ได้รวมหนี้ ก็อาจเป็นเหตุให้ถูกฟ้องร้องบังคับหลักประกันสินเชื่อบ้านได้ในที่สุด

สำหรับประโยชน์ที่ลูกหนี้จะได้รับ คือ ดอกเบี้ยลดลง สินเชื่อบ้านให้คิดดอกเบี้ยเท่าเดิม ส่วนสินเชื่ออื่นที่เข้ามารวมหนี้เช่น บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคล เมื่อนำมารวมหนี้สินเชื่อบ้านแล้ว จะบวกดอกเบี้ยจากสินเชื่อบ้านที่ใช้เป็นหลักประกันได้ไม่เกิน 2% เช่น ดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน 6% และดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคล 25% ถ้านำมารวมหนี้ดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 6% บวกกับ 2% เท่ากับ 8% เท่านั้น และดอกเบี้ยจะคิดอัตรานี้อัตราเดียวในบิลใบเดียว

คริปโต x K-Pop Binance จับมือ YG Entertainment ลุยตลาด NFT และโลก Metaverse | NEWS GEN TIMES ชวนคิด กับ กิตติธัช EP.41

✨ คริปโต x K-Pop Binance จับมือ YG Entertainment ลุยตลาด NFT และโลก Metaverse

✨ ธนาคารไร้สาขา!! แบงก์ชาติประกาศลุย กลางปีนี้ Virtual Bank มาแน่

✨ กระทรวงการคลังสหรัฐฯ เตือน ศิลปะ NFT อาจเป็นแหล่งฟอกเงิน

NEWS GEN TIMES ชวนคิด กับ กิตติธัช

โดย อ.ต้อม - กิตติธัช ชัยประสิทธิ์ นักวิชาการอิสระและอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
.

.

'แบงก์ชาติ' ร่วม 3 เอกชนเตรียมทดสอบสกุลเงินดิจิทัล คัดประชาชนร่วมเทสต์ 10,000 ราย ช่วงปลายปีนี้

ธนาคารแห่งประเทศไทยเตรียมจับมือกับเอกชน 3 ราย เตรียมทดสอบสกุลเงินดิจิทัลช่วงปลายปี 2565 ถึงกลางปี 2566 ขณะเดียวกันก็เตรียมทดสอบในด้านนวัตกรรมเพื่อที่ธนาคารแห่งประเทศไทยนำมาปรับปรุงการออกแบบสกุลเงินดิจิทัลที่เหมาะสมกับบริบทของไทยในอนาคต

วชิรา อารมย์ดี รองผู้ว่าการ ด้านบริหาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางเพื่อให้ประชาชนใช้งาน (Retail Central Bank Digital Currency: Retail หรือ CBDC สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศ) เป็นเรื่องที่ธนาคารกลางทั่วโลกให้ความสนใจ และอยู่ระหว่างศึกษาและพัฒนา เนื่องจากมีศักยภาพที่จะช่วยพัฒนาระบบการเงินในอนาคต

โดย ธปท. เตรียมจะขยายขอบเขตการศึกษาและพัฒนา Retail CBDC ไปสู่การใช้งานจริงในวงจำกัดร่วมกับภาคเอกชน โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ...

การทดสอบระดับพื้นฐาน เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของระบบ รวมถึงรูปแบบของการนำเทคโนโลยีมาใช้งานจริงกับประชาชนรายย่อย โดยจะทดสอบการนำมาใช้ชำระค่าสินค้าบริการในพื้นที่เฉพาะ และในกลุ่มผู้ใช้งานประมาณ 10,000 ราย ที่กำหนดโดย ธปท. และภาคเอกชนที่ร่วมทดสอบ 3 ราย ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารไทยพาณิชย์ และบริษัท ทูซีทูพี (ประเทศไทย) จำกัด โดยจะเริ่มตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 ไปจนถึงกลางปี 2566

‘แบงก์ชาติ’ แจง!! สื่อปั่นเงินทุนสำรองลดลงมาก เพราะต้องใช้พยุงค่าเงินบาท ‘ไม่เป็นความจริง’

(16 ก.ย. 65) จากเฟซบุ๊ก Warat Karuchit ของ ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนาคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้โพสต์ข้อความในหัวข้อว่า... ‘แบงก์ชาติชี้แจงข่าวลือ จากการออกข่าวของสำนักข่าวบางสำนัก เกี่ยวกับกรณีเงินสำรองลดลง’

คำถาม: เงินทุนสำรองลดลงมาก เพราะต้องใช้พยุงค่าเงินบาท?
คำตอบ: “ไม่จริง”

>> ต้นเหตุคือ สหรัฐฯ เกิดเงินเฟ้อต่อเนื่อง จึงเลือกใช้นโยบายการเงินที่ทำให้ เงินดอลลาร์แข็งตัวขึ้น 14.6% กระทบการตีค่าสินทรัพย์ทั่วโลก และอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราด้วย เป็นเหตุให้การตีค่า ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยลดลง จาก 2.78 แสนล้านดอลลาร์ เหลือ 2.4 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเงินทุนสำรองของประเทศอื่นๆ ก็ปรับลดเช่นกัน จีน, สวิส, สิงคโปร์, ญี่ปุ่น, อินเดีย ลดลงมากกว่าไทยทั้งสิ้น

คำถาม: เงินทุนสำรองที่ลดลง จะกระทบเสถียรภาพการเงินไทย จนเกิดวิกฤตแบบปี 40?
คำตอบ: “ไม่จริง”

>> เงินทุนสำรองของไทยสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก (มูลค่าอันดับ 12 ของโลก คิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP อันดับ 8 ของโลก) สถานะการเงินไทยยังแข็งแกร่ง และแข็งแกร่งเพิ่มขึ้นมากจากปี 40

นักข่าวท่านใดสงสัย ธปท. มีสายด่วน 1213 นะครับ โทรไปสอบถามได้ก่อนลงข่าว จะได้ไม่ผิดพลาด และก่อให้เกิดความตื่นตระหนกโดยไม่จำเป็นครับ


ที่มา : https://www.facebook.com/warat.karuchit/posts/pfbid0PgLqib4yWquJeAuQR9UJNFbh3KKSyfweaFv9grqEbdnuPVQpsp2z5SMxahjuZKCQl

ธนาคารไทย แข็งแกร่งแค่ไหน? ภาพรวมสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์

แข็งแกร่ง!! ‘ธนาคารแห่งประเทศไทย’ ชี้!! ระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ยังมีเสถียรภาพและความเข้มแข็ง เผย ตัวเลขผลประกอบการไตรมาส 1/66 มีเงินกองทุน เงินสำรองและสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง

‘ประชัย’ แนะรัฐบาล ออก ‘พรก.กู้เงินสาธารณะ’ ใช้แจกเงินดิจิทัล เงินหมุน 8 รอบ GDP อาจโตถึง 5% ยัน!! วิธีนี้เป็นประโยชน์ต่อชาติ 

(12 ก.ย. 66) ในช่วงรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กำลังอยู่ระหว่างแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งประเดิมที่มีการพูดถึงกันมากที่สุด ก็คือนโยบายการแจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาท

คำถามก็คือ รัฐบาลจะเอาเงินมาจากไหน สถานะการเงินการคลังของประเทศจะเป็นอย่างไร เพราะการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งเป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทยนั้น จะต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านบาท

มีความเห็นจากกกูรูเศรษฐกิจ นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่าง ‘คุณประชัย เลี่ยวไพรัตน์’ บอสใหญ่แห่งทีพีไอ ให้ข้อคิดเห็นและเสนอแนะถึงนโยบายนี้เอาไว้อย่างเฉียบคม ว่า…

“รัฐบาลต้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ‘แบงก์ชาติ’ ออกบัตร 500,000 ล้าน โดยรัฐบาลต้องออกเป็นพระราชกำหนดให้สามารถกู้เงินสาธารณะ เป็นหนี้สาธารณะได้มากกว่า 60% จากนั้นรัฐบาลก็สามารถกู้เงินจากแบงก์ชาติ โดยดอกเบี้ยอาจจะอยู่ที่ 0% หรือ จุด 1% เพื่อนำเงินไปชำระหนี้ในการนี้โดยตรง”

คุณประชัย ยืนยันว่า ถ้ารัฐบาลเลือกตั้งใช้วิธีนี้ ก็จะถือเป็นประโยชน์กับประเทศไทยอย่างมหาศาล

“เงิน 500,000 ล้านบาท จะหมุนไป 8 รอบ มูลค่าจะเพิ่มเป็น 4 ล้านล้านบาท ทำให้รัฐบาลเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้ 280,000 ล้านบาท บวกภาษีเงินได้ของประชาชน บริษัท ห้างร้าน โรงงาน รวมแล้วได้มากกว่า 500,000 ล้านบาท รัฐบาลจึงไม่เสียหาย หนี้สาธารณะอาจไม่ถึง 60% ก็ได้ เพราะ GDP อาจเพิ่มจาก 3% เป็น 4%-5% ทำให้ไม่เสียวินัยการเงินการคลังเลยแม้แต่น้อย”

นอกจากนี้ คุณประชัย ยังย้ำเตือนว่า “ถ้ารัฐบาลยังยึกยักคิดหาช่องทางอื่น ก็อาจจะเป็นช่องทางที่ทำให้เกิดขบวนการคอร์รัปชันโกงกินได้ เงินดิจิทัล 10,000 บาท เมื่อนำไปแลกค่าเงินอาจไม่ถึง 5,000 บาท… ระวังกันไว้”

'อ.พงษ์ภาณุ' ชี้!! ไทยกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะเงินฝืด ผลพวงความผิดพลาดเชิงนโยบายของแบงก์ชาติ

(10 พ.ย.66) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ให้มุมมองต่อภาวะความเสี่ยงเงินฝืดกับประเทศไทย ไว้ว่า...

ขณะนี้สัญญาณเริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะเงินฝืด (Deflation) ดังที่ผมมักจะพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ไว้เสมอ โดยได้เคยส่งสัญญาณเตือนไว้กว่า 6 เดือนมาแล้ว ว่า...

ไทยอาจจะตามจีนเข้าสู่ภาวะเงินฝืด โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนตุลาคม ที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศออกมาที่ -0.31% น่าจะถือเป็นการตบหน้าธนาคารแห่งประเทศไทย ที่อ้างเงินเฟ้อสูงในการปรับดอกเบี้ยขึ้นจาก 2.25% เป็น 2.50% เมื่อเดือนที่แล้ว ท่ามกลางความตกใจและถือเป็นการกระทำที่สวนทางกับการคาดการณ์ของตลาด 

ดังนั้นเงินฝืดที่กำลังจะเกิดขึ้นในครั้งนี้ จึงมิใช่เป็นผลกระทบจากโลก แต่มีสาเหตุมาจากความผิดพลาดทางนโยบายเป็นหลัก และเป็นความผิดพลาดที่สร้างความเสียหายสูงมากกับเศรษฐกิจไทย ซึ่งควรจะต้องมีผู้รับผิดชอบและน่าจะยังความจำเป็นให้รัฐบาลต้องมี Fiscal Stimulus ออกมาแก้ไขความผิดพลาดของแบงก์ชาตินี้

‘อ.พงษ์ภาณุ’ หวั่น!! หากภาวะ ‘เงินฝืด’ เกิดขึ้นในเมืองไทย ก่อผลกระทบ ‘รุนแรง-กว้างขวาง’ แก้ไขได้ยากกว่า ‘เงินเฟ้อ’

(11 พ.ย. 66) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ให้มุมมองต่อภาวะความเสี่ยงเงินฝืดกับประเทศไทย ภาคต่อ ไว้ว่า…

‘ภาวะเงินฝืด’ (Deflation) เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เพราะเรามักคุ้นเคยกับ ‘เงินเฟ้อ’ (Inflation) มากกว่า แต่เมื่อเกิดภาวะเงินฝืดขึ้นแล้ว จะก่อเกิดผลกระทบรุนแรง กว้างขวาง และแก้ไขได้ยากกว่า 

เนื่องจากผู้บริโภคจะชะลอการจับจ่ายใช้สอยและธุรกิจชะลอการลงทุน เพราะภาระหนี้ที่แท้จริงจะสูงขึ้น ดังเช่นที่เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่นเป็นเวลากว่า 20 ปี และที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศจีนขณะนี้ หรือในประเทศตะวันตกหลังวิกฤตการเงินแฮมเบอร์เกอร์ ธนาคารกลางต้องใช้นโยบายดอกเบี้ย 0% ร่วมกับ Quantitative Easing (QE) เพื่ออัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเป็นเวลากว่า 10 ปี

อาจจะเร็วเกินไปที่จะกล่าวว่าไทยเริ่มเข้าภาวะเงินฝืด แต่ก็มีความเสี่ยงสูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อของไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง จากปีที่แล้วที่มีเงินเฟ้อสูงสุดในโลกประเทศหนึ่ง จนกลายเป็นอัตราเงินเฟ้อติดลบเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา 

แน่นอนไทยได้รับผลกระทบจากจีนที่เข้าสู่ภาวะเงินฝืดตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เนื่องจากจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทย แต่ภาวะเงินฝืดในไทยมีสาเหตุอีกส่วนหนึ่งจากการดำเนินนโยบายการเงินผิดพลาดของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ได้มีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในจังหวะเวลาที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะได้มีการเร่งขึ้นดอกเบี้ยที่ล่าช้ากว่าประเทศอื่นในระยะที่เงินเฟ้ออยู่ในช่วงขาลงแล้ว ซึ่งเป็นการซ้ำเติมวัฏจักรธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม ก็ยังถือเป็นความโชคดีของประเทศไทยที่ขณะนี้รัฐบาลได้เริ่มทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะต้องมีการก่อหนี้เพื่อระดมเงินมาใช้จ่าย แต่ส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายครั้งเดียวจบและไม่ผูกพันงบประมาณแผ่นดินในอนาคต 

อีกทั้งขนาดและความเร็วในการอัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ภาคเศรษฐกิจจริงๆ เหล่านี้ ก็จะมีความสำคัญอย่างมากต่อการฟื้นเศรษฐกิจไทยให้ผ่านพ้นภาวะเงินฝืดได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ที่แม้จะใช้ได้จริงก็เป็นเดือนพฤษภาคมปีหน้า แต่ความชัดเจนจากคำแถลงของนายกรัฐมนตรี ย่อมสร้างผลที่เรียกว่า Announcement Effect ในทันที และกระตุ้นให้ภาคธุรกิจลงทุนเพื่อผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครองรับการใช้จ่ายที่กำลังจะเพิ่มขึ้นในปีหน้าด้วยความมั่นใจต่อไป...

อ่านบทความเกี่ยวเนื่อง : ‘เงินฝืดจ่อไทย’ >> https://www.facebook.com/100064606066871/posts/pfbid02UjG5nDK1oHfcZqdWee1KWQp963cCQoZ7K29Z5W5tsfz4ShNBBq5qhHKeUdXy4xM4l/

'อ.พงษ์ภาณุ' หวั่น!! นโยบายการเงินแบงก์ชาติซ้ำเติมเศรษฐกิจไทย หลังเงินเฟ้อตุลาติดลบ และเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเงินฝืดตามประเทศจีน

(11 พ.ย. 66) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ให้มุมมองต่อภาวะความเสี่ยงเงินฝืดกับอิสรภาพธนาคารกลาง ไว้ว่า...

สมัยก่อนระบบการเงินโลกตั้งอยู่บนมาตรฐานทองคำ (Gold Standard) เงินตราสกุลต่าง ๆ มีค่าคงที่อิงอยู่กับน้ำหนักทองคำ ต่อมาหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 มีการใช้ระบบ Bretton Woods ค่าเงินก็ยังคงที่แต่อิงกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ นโยบายการเงิน (Monetary Policy) มักจะไม่ค่อยมีบทบาททางเศรษฐกิจเท่าไหร่ 

หน้าที่หลักของนโยบายการเงินคือ การรักษาระดับคงที่ (Parity) ของอัตราแลกเปลี่ยน ต่อเมื่อระบบการเงินโลกเปลี่ยนมาเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา นโยบายการเงินจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและระดับราคา และเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าธนาคารกลางจะต้องมีอิสรภาพในการทำหน้าที่นี้โดยปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง ความเชื่อในอิสรภาพของธนาคารกลางและการใช้ Inflation Targeting มาเป็นกรอบในการดำเนินนโยบายการเงิน ได้ช่วยให้เงินเฟ้อของโลกที่เคยสูงถึงกว่า 20% ลดลงมาอยู่ระดับไกล้ศูนย์มาเป็นเวลานาน

ประเทศไทยก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ยึดมั่นในหลักความเป็นอิสระของธนาคารกลาง โดยเฉพาะหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 ได้มีการแก้กฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อประกันความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินและทำให้การปลดผู้ว่าการฯ ยากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะกระทำไม่ได้หากผู้ว่าการฯ บกพร่องต่อหน้าที่อย่างร้ายแรง

1 ปีครึ่งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่านโยบายการเงินได้สร้างความผันผวนอย่างรุนแรงให้กับเศรษฐกิจไทย เมื่อโลกมีเงินเฟ้อสูงเมื่อไตรมาสที่ 2 ของปีที่แล้ว ธนาคารกลางทุกประเทศได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็วตามกรอบ Inflation Targeting ขณะที่ทางการไทยกลับรี ๆ รอ ๆ ปรับดอกเบี้ยช้ากว่าประเทศอื่น จนอัตราเงินเฟ้อของไทยในปีที่แล้วขึ้นไปสูงถึงกว่า 6% ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในอาเซียนและสูงกว่ากรอบ Inflation Targeting ที่เห็นชอบร่วมกับรัฐบาล ถึงกว่า 2 เท่า 

พอมาถึงปีนี้ ภายหลังการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงมาเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่ดูเหมือนว่าการดำเนินการนี้จะสายเกินไปและผิดที่ผิดเวลา จนซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยให้เงินเฟ้อมีอัตราติดลบในเดือนตุลาคม และมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดตามประเทศจีนไป และก็ถือเป็นการหลุดกรอบ Inflation Targeting 2 ปีติดต่อกัน เราไม่เคยได้ยินคำขอโทษของธนาคารแห่งประเทศไทยสักครั้งเดียว

เรายังเชื่อในอิสรภาพของธนาคารกลาง แต่อิสรภาพนี้จะต้องมีควบคู่ไปกับ Accountability ฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งต้อง Accountable ต่อประชาชนที่เลือกตั้งเข้ามา แต่ธนาคารกลาง ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและได้รับการคุ้มครองอิสรภาพตามกฎหมาย ควรจะต้องมี Accountability มากกว่านี้ อย่างน้อยก็ควรจะต้องเคารพเป้าหมายเงินเฟ้อ ซึ่งเปรียบเสมือนสัญญาประชาคม


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top