'แบงก์ชาติ' ร่วม 3 เอกชนเตรียมทดสอบสกุลเงินดิจิทัล คัดประชาชนร่วมเทสต์ 10,000 ราย ช่วงปลายปีนี้

ธนาคารแห่งประเทศไทยเตรียมจับมือกับเอกชน 3 ราย เตรียมทดสอบสกุลเงินดิจิทัลช่วงปลายปี 2565 ถึงกลางปี 2566 ขณะเดียวกันก็เตรียมทดสอบในด้านนวัตกรรมเพื่อที่ธนาคารแห่งประเทศไทยนำมาปรับปรุงการออกแบบสกุลเงินดิจิทัลที่เหมาะสมกับบริบทของไทยในอนาคต

วชิรา อารมย์ดี รองผู้ว่าการ ด้านบริหาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางเพื่อให้ประชาชนใช้งาน (Retail Central Bank Digital Currency: Retail หรือ CBDC สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศ) เป็นเรื่องที่ธนาคารกลางทั่วโลกให้ความสนใจ และอยู่ระหว่างศึกษาและพัฒนา เนื่องจากมีศักยภาพที่จะช่วยพัฒนาระบบการเงินในอนาคต

โดย ธปท. เตรียมจะขยายขอบเขตการศึกษาและพัฒนา Retail CBDC ไปสู่การใช้งานจริงในวงจำกัดร่วมกับภาคเอกชน โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ...

การทดสอบระดับพื้นฐาน เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของระบบ รวมถึงรูปแบบของการนำเทคโนโลยีมาใช้งานจริงกับประชาชนรายย่อย โดยจะทดสอบการนำมาใช้ชำระค่าสินค้าบริการในพื้นที่เฉพาะ และในกลุ่มผู้ใช้งานประมาณ 10,000 ราย ที่กำหนดโดย ธปท. และภาคเอกชนที่ร่วมทดสอบ 3 ราย ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารไทยพาณิชย์ และบริษัท ทูซีทูพี (ประเทศไทย) จำกัด โดยจะเริ่มตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 ไปจนถึงกลางปี 2566

สำหรับการทดสอบระดับนวัตกรรมในด้านนี้ จะเอื้อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมต่อยอดบน Retail CBDC ทำให้เกิดบริการทางการเงินใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการที่หลากหลาย และช่วยให้ ธปท. นำมาปรับปรุงการออกแบบ CBDC ที่เหมาะสมกับบริบทของไทยในอนาคต 

ทั้งนี้ ธปท. จะเปิดให้ภาคเอกชนและบุคคลทั่วไปเข้าร่วมนำเสนอรูปแบบทางธุรกิจ ผ่านโครงการ CBDC Hackathon ซึ่งผู้สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมได้ระหว่างวันที่ 5 สิงหาคม – 12 กันยายน 2565 โดยทีมหรือผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้ารอบ จะได้รับคำปรึกษาจากสถาบันการเงินที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในโครงการอินทนนท์ ซึ่งเป็นโครงการทดสอบ CBDC ของ ธปท. เอง

อย่างไรก็ดีทาง ธปท. ได้ย้ำว่าการทดสอบ Retail CBDC นี้ เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาและพัฒนา Retail CBDC เพื่อประเมินความเหมาะสมของเทคโนโลยีและการออกแบบ รวมถึงการนำไปต่อยอดบริการให้กับประชาชน โดย ธปท. ยังไม่มีแผนที่จะออก Retail CBDC เนื่องจากการออก CBDC ต้องพิจารณาประโยชน์และความเสี่ยงอย่างรอบด้านก่อน เพราะอาจส่งผลต่อระบบการเงินของประเทศได้