Wednesday, 21 May 2025
แบงก์ชาติ

'แบงก์ชาติ' จ่อยกร่างกฎหมายให้แบงก์พาณิชย์รับผิดชอบ 100% หากลูกค้าถูกมิจฉาชีพหลอกโอนเงินจากช่องโหว่ในระบบ

(5 ก.ย. 67) ไม่นานมานี้ น.ส.ดารณี แซ่จู ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบชำระเงิน และคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ขณะนี้ แบงก์ชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยู่ระหว่างยกร่างกฎหมายกำหนดสถาบันการเงิน พัฒนาและออกแบบระบบ ที่สามารถปิดช่องโหว่ ป้องกันแอปพลิเคชันแปลกปลอมบนโมบายแบงก์กิ้ง รวมทั้งกำหนดแนวทางปฏิบัติของสถาบันการเงินที่ชัดเจนมากขึ้น หากเกิดความเสียหายจากกรณีแอปฯ ดูดเงิน

หากแบงก์ไม่สามารถทำได้หรือมีช่องโหว่ในระบบแล้วเกิดความเสียหาย แบงก์ต้องเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหาย คืนเงินแก่เจ้าของบัญชี 100% จากปัจจุบัน เป็นการเฉลี่ยเงินคืน ตามสัดส่วน จากเงินกองทุนเยียวยาผู้เสียหาย ที่ยึดคืนจากผู้กระทำความผิด

พร้อมยกกรณีศึกษา ของสิงคโปร์ หากมีเงินโอนออกจากบัญชี โดยไม่มีข้อความ SMS แจ้งเตือนไปยังมือถือเจ้าของบัญชี ธนาคาร ต้องรับผิดชอบ ใช้เงินคืนตามจำนวน หากแต่แจ้งเตือนไปแล้ว แบงก์ก็ไม่ต้องรับผิดชอบ เป็นต้น

ผู้บริหารแบงก์ชาติกล่าวอีกว่า มิจฉาชีพ ปรับตัวหลบเลี่ยงมาตรการป้องกันต่างๆ อยู่ตลอดเวลา จึงเห็นว่าทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือ แก้ปัญหาอย่างจริงจัง เช่น การป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพ ส่งข้อความ SMS ถึงประชาชนได้เหมือนทุกวันนี้

‘ผู้ว่าแบงก์ชาติ’ ชี้!! ถึงเฟดปรับลดดอกเบี้ย ก็ไม่ใช่ว่าไทยต้องลดตาม แจง!! การลดดอกเบี้ยของไทยควรขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก

(20 ก.ย. 67) นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.50% ว่า กรณีเฟดไม่ใช่ว่าเฟดลดแล้วเราต้องลด การที่เฟดลดดอกเบี้ยมีผลกระทบต่อปัจจัยหลายด้าน ซึ่งเป็นตัวแปรที่เราต้องตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ย

การดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. ยังคงเน้นจากปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก ใน 3 ปัจจัย กล่าวคือ แนวโน้มเศรษฐกิจว่าสามารถเติบโตได้ถึงศักยภาพหรือไม่ อัตราเงินเฟ้อ จะเข้ากรอบเป้าหมายหรือไม่ และเสถียรภาพด้านการเงิน แต่การพิจารณาจากสิ่งเหล่านี้ ก็หนีไม่พ้นต้องคำนึงถึงภาพรวมด้วย

ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ การปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของธนาคารกลางรายใหญ่ของโลกควบคู่กันด้วย เพราะการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางในประเทศขนาดใหญ่ ย่อมมีผลกระทบในภาพรวม ที่ต้องคำนึงถึงผ่าน 3 ปัจจัยนี้

อย่างไรก็ดี สำหรับการตัดสินใจต่อนโยบายดอกเบี้ยของไทยจาก 3 ปัจจัยดังกล่าว ในปัจจุบัน ยังไม่เห็นสิ่งที่ทำให้ภาพการประเมินเศรษฐกิจต่างไปจากที่ ธปท.ได้เคยประเมินไว้ โดยยังคง Outlook Dependent ซึ่งเชื่อว่าเป็นกรอบการตัดสินใจที่เหมาะสม ถูกต้อง

นอกเหนือจากนี้ต้องคำนึงว่าการลดดอกเบี้ยจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงแค่ไหน ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างภาระหนี้เดิม กับสินเชื่อใหม่ที่จะเกิดขึ้น และอยากฝากว่า การลดดอกเบี้ยนั้น ผลที่จะส่งต่อไปยังการลดภาระหนี้อาจจะไม่ได้เต็มที่ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง การปรับลดดอกเบี้ย ผลที่จะได้รับอาจไม่มากเท่ากับการปรับโครงสร้างหนี้ และจะคาดหวังว่าดอกเบี้ยลงแล้ว ภาระหนี้จะลดลงทันที คงไม่ใช่

'แบงก์ชาติ' แถลง!! พร้อมแทรกแซงหากผันผวนเกินไป หลังเงินบาทแข็งลงมาเหลือ 32.6 บาทต่อดอลลาร์

(25 ก.ย. 67) น.ส.พิมพ์พันธ์ เจริญขวัญ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมาเงินบาทผันผวนมากขึ้น โดยปรับแข็งค่าขึ้น 3.8% ตั้งแต่ต้นปี และปรับแข็งค่าเร็วอยู่ในกลุ่มนำสกุลภูมิภาคในไตรมาส 3 จากปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมากกว่าการคาดการณ์ของตลาด ประกอบกับการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนที่ส่งผลเชิงบวกต่อทิศทางเงินสกุลภูมิภาค

นอกจากนี้ ค่าเงินบาทยังมีแรงกดดันด้านแข็งค่าเพิ่มเติมจากปัจจัยในประเทศ ทั้งเงินลงทุนต่างชาติที่เริ่มไหลกลับเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ไทยตั้งแต่ช่วงปลายเดือนสิงหาคม รวมถึงราคาทองคำที่ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดใหม่ที่ 2,670 ดอลลาร์ สรอ. ต่อออนซ์

ทั้งนี้ ธปท. ติดตามสถานการณ์การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด และพร้อมเข้าดูแลเมื่อเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนมากผิดปกติเพื่อลดผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเศรษฐกิจจริง

‘อัครเดช’ ออกลูกอ้อน ครม.-แบงก์ชาติ เร่งหารือสางปัญหาเงินบาทแข็งค่า หลังกระทบอุตสาหกรรมส่งออก หวั่นทำลายขีดความสามารถในการแข่งขัน

‘อัครเดช’ ในฐานะประธานกรรมาธิการการอุตสาหกรรม เสนอรัฐบาล-แบงก์ชาติ เร่งออกมาตรการสางปัญหาเงินบาทแข็งค่า หวั่นหากทิ้งไว้เรื้อรังทำเศรษฐกิจชะลอตัว ความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมส่งออกถดถอยส่งผลกระทบทางลบเศรษฐกิจหลายมิติ

(7 ต.ค. 67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎรได้แสดงถึงความห่วงใยต่ออุตสาหกรรมส่งออกจากปัจจัยเงินบาทแข็งค่า ว่า 

จากที่ปัจจุบันอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินสกุลบาทไทยกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ อยู่ที่ 33.33 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ และเคยมีอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 32.15 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐเมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา จากที่เคยอ่อนค่าที่สุดในช่วงเดือนเมษายน 2567 ที่อัตราแลกเปลี่ยน 37.17 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ 

การแข็งค่าของค่าเงินบาทเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากภายในระยะเวลาประมาณ 5 เดือนเท่านั้น และจากอัตราค่าเงินบาทแข็งค่านี้ตนได้รับทราบความเดือดร้อนของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมส่งออก เนื่องจากด้วยเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทำให้การแลกเงินที่ได้รับจากการส่งออกกลับเป็นเงินบาทแลกได้น้อยลง 

ยกตัวอย่าง จากแต่เดิมส่งออกปลาทูน่ากระป๋อง 1 กระป๋องราคา 100 ดอลลาร์ เมื่อค่าเงินบาทอ่อนที่สุดสามารถแลกเป็นเงินบาทได้ 3,717 บาท แต่เมื่อเงินบาทแข็งค่าที่สุดจะสามารถแลกเป็นเงินบาทได้เพียง 3,215 บาทเท่านั้น 

การที่รายได้ของผู้ประกอบการที่ลดน้อยลง ย่อมส่งผลกระทบในอุตสาหกรรมหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นศักยภาพการแข่งขันที่ลดลงส่งผลการชะลอตัวของการจ้างงานในอุตสาหกรรม, การลดการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ และการตัดลดงบพัฒนาและวิจัย(R&D)ในอุตสาหกรรมลง ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยในอนาคตลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และจากการที่การส่งออกเป็นหนึ่งใน 4 เครื่องยนต์ของเศรษฐกิจไทย การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าเช่นนี้ย่อมทำให้เครื่องยนต์ส่งออกอ่อนกำลังลงอย่างชัดเจนส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงโดยเฉพาะการจ้างงานที่ลดลงจะส่งผลกระทบเศรษฐกิจในประเทศทำให้ประชาชนขาดกำลังซื้อนอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องจากอุตสาหกรรมส่งออกอีกด้วย

ตนในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรมจึงขอส่งเสียงไปยังธนาคารแห่งประเทศไทยผู้กำหนดนโยบายทางการเงิน ให้พิจารณาทบทวนอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่เหมาะสมทั้งต่อเสถียรภาพทางเงินของประเทศ และลดผลเสียที่จะเกิดต่อระบบเศรษฐกิจไทย 

รวมถึงรัฐบาลในฐานะผู้กำหนดนโยบายทางการคลังของประเทศต้องมีมาตรการที่เหมาะสมเพื่อประคับประคองอุตสาหกรรมส่งออก ให้สามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันในระดับสากลได้ต่อไป และที่ดีที่สุดทั้งรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องเร่งหารือเพื่อหาทางออกของปัญหาค่าเงินแข็งตัวโดยเร็ว

หากประธานกรรมการ หรือกรรมการแบงก์ชาติ ใช้อำนาจที่มีตอบสนองผลประโยชน์ของฝ่ายการเมือง จะส่งผลเสียต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และอาจเกิดความเสียหายที่ไม่สามารถแก้ไข หรือย้อนกลับได้

(4 พ.ย. 67) ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวถึงการแต่งตั้ง “ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ” ที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้ ว่า

เรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของแบงก์ชาติ แต่เป็นเรื่องอนาคตของชาติ

รัฐบาลจะอยู่ได้นานแค่ไหน ไม่มีใครทราบ แต่ถ้าคนการเมืองได้รับเลือกเป็นประธานกรรมการ หรือกรรมการแบงก์ชาติแล้วจะอยู่ได้ครบเทอม

หากประธานกรรมการ หรือกรรมการแบงก์ชาติ ใช้อำนาจที่มีตอบสนองผลประโยชน์ของฝ่ายการเมือง จะส่งผลเสียต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และอาจเกิดความเสียหายที่ไม่สามารถแก้ไข หรือย้อนกลับได้

นึกยังไงก็นึกไม่ออกว่า เคยมีประธานบอร์ดคนไหน แสดงอำนาจใหญ่โต สร้างความเสียหายให้แบงก์ชาติ ก่อความพินาศให้เศรษฐกิจไทย จะมีก็แต่ผู้บริหารแบงก์ชาติทำพังเอง เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ 2540

(6 พ.ย. 67) นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊ก ส่วนตัว ระบุว่า ความเคลื่อนไหวต่อต้านการแต่งตั้งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ซึ่งปรากฏขึ้นพร้อมกัน ทั้งในกลุ่มอดีตผู้ว่าฯ นักวิชาการ นักธุรกิจ และกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ในวิถีประชาธิปไตย

แบงก์ชาติต้องดำเนินการโดยอิสระเป็นหลักสากล ผมเห็นด้วย แต่เท่าที่ตามดูทั้งข้อกฎหมายและแนวปฏิบัติ ผมยังชั่งใจอยู่ว่าประธานบอร์ดแบงก์ชาติ จะมีฤทธิ์เดชขนาดที่บางฝ่ายกำลังวาดภาพหรือไม่

ผู้ว่าฯคนปัจจุบันจะหมดวาระกลางปีหน้า การแต่งตั้งคนใหม่ทำโดยกรรมการอีกคณะหนึ่ง ซึ่งตั้งโดยรมว.คลัง จากบุคคลที่มีคุณสมบัติตามกฎหมาย บอร์ดไม่มีอำนาจเกี่ยวข้องแต่อย่างใด

อาจมีข้อสังเกตว่าผู้ว่าฯ มีข้อเห็นต่างกับรัฐบาลหลายครั้ง จะตั้งประธานบอร์ดเพื่อปลดผู้ว่าฯหรือไม่ กฎหมายก็เขียนว่าการปลดเป็นอำนาจครม.โดยคำแนะนำของรมว.คลัง เพราะประพฤติเสื่อมเสียร้ายแรง หรือทุจริต หรือครม.ปลดออกโดยการเสนอของรัฐมนตรี โดยคำแนะนำของบอร์ด ซึ่งถ้าดูจากข้อเท็จจริงก็ยังไม่มีเหตุถึงขั้นนั้น และอีกไม่กี่เดือนจะมีผู้ว่าฯคนใหม่อยู่แล้ว รัฐบาลจะหาเรื่องปลดให้ยุ่งไปทำไม

กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจบอร์ดไปก้าวก่ายนโยบายการเงิน นโยบายสถาบันการเงิน และระบบชำระเงิน เรื่องพวกนี้มีกรรมการที่มีผู้ว่าแบงก์ชาติเป็นประธาน ทำงานโดยอิสระ อำนาจหน้าที่หลักของบอร์ดคือการควบคุมดูแลโดยทั่วไป ไม่ใช่ล้วงลูกลงลึก 

ผมนั่งนึกยังไงก็นึกไม่ออกว่า เคยมีประธานบอร์ดคนไหน แสดงอำนาจใหญ่โต สร้างความเสียหายให้แบงก์ชาติ ก่อความพินาศให้เศรษฐกิจไทย

จะมีก็แต่ผู้บริหารแบงก์ชาติทำพังเอง เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ที่เอาเงินทุนสำรองซึ่งกู้ IMF มา ไปสู้ค่าเงินกับกองทุนต่างชาติจนเจ๊งกันระเนระนาดทั้งประเทศ นายกรัฐมนตรีเผชิญแรงเสียดทานต้องลาออก แต่จนบัดนี้ยังไม่มีการแสดงความรับผิดชอบใดๆจากแบงก์ชาติ ทั้งในนามบุคคลและองค์กร หรือก่อน 2540 ก็เคยมีเหตุความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ถูกบันทึกว่าเกิดจากแบงก์ชาติมาแล้ว 

แบงก์ชาติต้องอิสระจากรัฐบาลแน่นอน แต่ดูไปบางมุมคล้ายอิสระจากสังคมและประชาชนด้วยหรือไม่

ผมพยายามค้นระเบียบ หลักเกณฑ์ภายใน พบว่าหายากมาก ทั้งที่หลายเรื่องน่าจะสัมผัสได้ เช่น มีส.ส.ฝ่ายค้านท่านหนึ่ง บอกว่าตั้งประธานบอร์ดแล้วก็จะใช้อำนาจตั้งกรรมการกนง. แทนคนเก่าซึ่งจะหมดวาระ 2 คน พูดจนคนเข้าใจไปว่างานนี้บอร์ดชงเองกินเอง ตั้งพวกตัวเองแน่ ๆ

ทั้งที่สอบถามจากผู้อาวุโสที่เคยเป็นบอร์ดเขายืนยันว่าไม่ใช่ บอร์ดต้องตั้งกนง.จริง แต่ตั้งตามชื่อที่แบงก์ชาติเสนอไม่ใช่คิดเอาเอง เช่น ถ้าว่าง 2 ที่ แบงก์ชาติจะเสนอชื่อมา 3 คนขึ้นไปแล้วบอร์ดพิจารณา ยังไงก็ต้องเป็นคนในโผจากผู้ว่าฯ

เรื่องนี้ก็หาระเบียบไม่พบ แต่ได้รับคำยืนยันว่าเป็นแนวปฏิบัติที่ทำกันมา

การเสนอชื่อประธานบอร์ดขณะนี้มี 3 คน กระทรวงการคลังเสนอชื่อ 1 คน แบงก์ชาติ 2 คน หนึ่งในสองคนที่เสนอมาเป็นนักกฎหมาย ไม่เคยปรากฏว่าเชี่ยวชาญเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง 

อดีตผู้บริหารแบงก์ชาติและกลุ่มต่างๆค้านชื่อจากกระทรวงการคลัง แบบนี้ประชาชนมีสิทธิ์คิด
ว่าจะล็อคเป้าให้เข้าทางเฉพาะชื่อที่แบงก์ชาติเสนอเท่านั้นหรือไม่

ถ้าชื่อจากกระทรวงการคลังถูกมองว่าเป็นฝ่ายการเมือง แล้วชื่อจากแบงก์ชาติเป็นฝ่ายทางการเมือง หรือเคยเลือกข้างทางการเมืองมาบ้างหรือไม่

หลักคิดของผมคือ เรื่องนี้อย่าเอาการเมืองเป็นตัวตั้ง เสียงค้านรัฐบาลต้องฟัง แต่ฝ่ายเห็นต่างก็ต้องใช้เหตุผลด้วย ว่ากันที่คุณสมบัติก่อน ถ้ามีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์ และคุณสมบัติตามกฎหมาย ทุกคนย่อมมีสิทธิ์เข้ารับการคัดเลือกได้ 

องค์กรที่ต้องเป็นอิสระย่อมต้องอิสระ แต่ความอิสระก็ไม่ควรล้นเกิน จนอาจถูกมองเป็นแดนสนธยา ที่ซึ่งตาเปล่าของประชาชนยากจะมองเห็นได้

‘ทนายเชาว์’ แนะฟ้องศาลเอาผิด คกก. คัดเลือกฯ เหตุเลือก ‘กิตติรัตน์’ นั่ง ปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ ทั้งที่มีลักษณะต้องห้าม

(12 พ.ย.67) ‘ทนายเชาว์’ ชี้ ‘กิตติรัตน์’ ขาดคุณสมบัตินั่ง ปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ แนะฟ้องศาลฯ เอาผิด คกก.คัดเลือก ฐานจงใจเลือกคนมีลักษณะต้องห้าม เหตุพ้นตำแหน่งทางการเมืองไม่ถึง 1 ปี เชื่อส่งผลทำคนติดคุกได้ ชี้ตำแหน่ง 'ที่ปรึกษาของนายกฯ' แม้ไม่ใช่ ขรก.การเมือง แต่ถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

นายเชาว์ มีขวด ทนายความ โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก ระบุว่า 'กิตติรัตน์' ขาดคุณสมบัตินั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ผมไม่เข้าใจว่าเหตุใดคณะกรรมการคัดเลือก 7 คน จึงมีมติเลือกนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ และเตือนไว้เลยว่า ใครก็ตามที่ลงคะแนนให้นายกิตติรัตน์ นั่งเก้าอี้ตัวนี้ ท่านเตรียมสู้คดีในชั้นศาล ที่อาจต้องจบที่เรือนจำได้เลย

ที่พูดแบบนี้ก็เพราะ ระเบียบว่าด้วยการประชุมของคณะกรรมการคัดเลือก การเสนอชื่อ การพิจารณาและการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 กำหนดไว้ชัดเจนในหมวดที่ 2 การเสนอชื่อ การพิจารณาและการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ไว้ในข้อ 16 (4) ว่า ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี

โดยเจตนารมณ์ของระเบียบฯ ที่กำหนดไว้เช่นนี้

ต้องการให้ บุคคลที่จะได้รับคัดเลือกเป็น ประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย มีความเป็นกลาง ไม่มีส่วนได้เสีย หรือ เกี่ยวข้อง กับการเมือง 

แต่นายกิตติรัตน์ เคยเป็นประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี  ตามคำสั่ง สำนักนายกรัฐมนตรีที่ 214 / 2566 เรื่องแต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี  โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินพ.ศ. 2535 มีทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษา และพิจารณาเสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่าง ๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย

โดยให้ส่วนราชการสนับสนุนงานของที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีตามที่ได้รับการร้องขอและให้สำนักเลขาธิการนายกดนตรีอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามระเบียบของราชการโดยให้เบิกจ่ายจากสำนักเลขานายกรัฐมนตรี

เห็นได้ชัดว่าตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีของนายกิตติรัตน์ แม้โดยนิตินัยจะไม่ได้เป็นข้าราชการการเมือง โดยเลี่ยงใช้คำว่าที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี แต่โดยพฤตินัย ตามคำสั่ง สำนักนายกรัฐมนตรีที่ 214 / 2566 ระบุให้ นายกิตติรัตน์ ทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษา และพิจารณาเสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่าง ๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย และให้ส่วนราชการสนับสนุนงานของที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีตามที่ได้รับการร้องขอและให้สำนักเลขาธิการนายกฯ อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามระเบียบของราชการโดยให้เบิกจ่ายจากสำนักเลขานายกรัฐมนตรี

ตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ของนายกิตติรัตน์ จึงอยู่ในความหมายของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามความใน ข้อ 16 (4) ของระเบียบว่าด้วยการประชุมของคณะกรรมการคัดเลือกฯ เพราะนายกิตติรัตน์ ยังพ้นตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกฯ ไม่ถึงหนึ่งปี โดยพ้นตำแหน่งไปในวันที่นายเศรษฐา ทวีสิน หลุดตำแหน่งนายกฯ เมื่อวันที่ 14 ส.ค.67 เท่ากับเพิ่งพ้นหน้าที่มาเพียงแค่ไม่ถึงสามเดือน

ถ้าเราปล่อยให้นายกิตติรัตน์ ได้เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ด้วยข้ออ้างว่าตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกฯ ไม่ใช่ข้าราชการการเมือง จึงไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย ต่อไประเบียบฯ เรื่องห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาเป็นประธานหรือกรรมการแบงก์ชาติ เว้นพ้นตำแหน่งแล้ว 1 ปี จะกลายเป็นหมันใช้บังคับในทางปฏิบัติไม่ได้ เพราะการเมืองใช้วิธีศรีธนญชัยเล่นแร่แปรธาตุทางกฎหมาย

ผมยืนยันว่าในทางกฎหมายแม้ตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกฯ จะไม่ใช่ข้าราชการการเมือง แต่หน้าที่ที่ทำตามคำสั่งนายกฯ ถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างแน่นอน กรณีนี้ผมเสนอให้มีการฟ้องศาลฯ เอาผิดคณะกรรมการคัดเลือก จงใจเลือกคนที่ไม่มีคุณสมบัติเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ไปให้สุดจะได้รู้ว่าต้องไปหยุดที่คุกหรือไม่

ต้องรีบซื้อ!! ท๊อป จิรายุส ชี้!! แบงก์ชาติ ควรเร่งเก็บ Bitcoin เป็นทุนสำรองของประเทศ ก่อนจะสายเกินไป

ท๊อป จิรายุส แนะแบงก์ชาติ!! ควรเร่งเก็บ ‘Bitcoin’ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของทุนสำรองของประเทศโดยเร็ว ก่อนที่จะสายเกินไป

‘อ.สุวินัย’ ย้ำ ทุนสำรองฯ มีไว้เพื่อความมั่นคงทางการเงิน หลังฝ่ายการเมืองส่อใช้ทำนโยบายประชานิยมสร้างคะแนนเสียง

(3 ม.ค.68) รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก หัวข้อ ทุนสำรองเงินตราฯ เป็นของประชาชน : นักการเมืองห้ามแตะ! มีเนื้อหาดังนี้

ถ้าดูในงบดุลของธนาคารกลางในด้านทรัพย์สินจะประกอบด้วย เงินตราระหว่างประเทศ ทองคำ และพันธบัตรรัฐบาล เป็นทรัพย์สินหลัก ขณะที่หนี้สินหลักคือปริมาณเงินที่เศรษฐกิจใช้อยู่

เงินตราต่างประเทศนี้มาจากการค้าขายระหว่างประเทศ ถ้าขายสินค้า/บริการ(ส่งออก)มากกว่านำเข้าหรือซื้อสินค้า/บริการจากต่างประเทศ ประเทศไทยจะมีส่วนเกินเป็นเงินตราระหว่างประเทศที่ปราศจากพันธะผูกพันไม่ต้องจ่ายให้ใครอีก

เงินตราต่างประเทศส่วนนี้จึงถูกนำเข้ามาบันทึกไว้ในบัญชี ทุนสำรองเงินตราต่างระหว่างประเทศเพื่อเอาไว้ใช้ออกเงินอันเป็นหนี้สินของธนาคารกลางอีกด้วย

ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงต้องนำสินทรัพย์ต่างประเทศมูลค่าเท่ากับธนบัตรที่จะออกใช้ใหม่เก็บแยกไว้หนุนหลังธนบัตร ดังที่มาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ. เงินตรา ระบุไว้ว่า

“เพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพของเงินตราให้ ธปท. รักษาทุนสำรองเงินตราไว้กองหนึ่งเรียกว่า ทุนสำรองเงินตรา”

เหตุสำคัญก็เพราะเมื่อขายสินค้า/บริการได้เงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ธนาคารแห่งประเทศไทยก็เก็บเอาไว้ที่บัญชีทุนสำรองเงินตราฯ และแลกเปลี่ยนจ่ายเป็นเงิน 32 บาทให้ ทุนสำรองเงินตราฯนี้จึงเป็นต้นทางของการเพิ่ม/ลดเงินบาทในระบบเศรษฐกิจไทย

ถ้านับจากวิกฤตเศรษฐกิจการเงินเมื่อปี พ.ศ.2540 ที่เราสูญเสียทุนสำรองเงินตราฯนี้ไปเกือบเกลี้ยง คนไทยจึงแก้ไขปัญหา ยอมออมด้วยการซื้อสินค้า/บริการน้อยกว่าที่ขายได้ ทำให้มีเงินตราต่างประเทศสะสมในปัจจุบันถึงกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมากกว่าร้อยละ 90 ของทรัพย์สินรวมในงบดุลธนาคารกลางทั้งหมด ส่วนที่เหลือคือทองคำและพันธบัตรรัฐบาล

เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นเรื่องของคนไทยโดยแท้ที่ทำให้เงินทุนส่วนนี้งอกเงยขึ้นมา

ดังนั้นทุนสำรองเงินตราฯนี้จึงมิใช่เป็นทรัพย์สินของทางการแต่อย่างใดไม่

เพียงแต่ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดูแล และหาใช่นักการเมืองคนใดจะมาอวดอ้างว่าเป็นผลงานของตนเองไม่

การเกินดุลการค้าและเกินดุลบริการ เช่น การท่องเที่ยว หรือ การไปทำงานต่างประเทศจึงเป็นต้นทางที่มาของเงินตราต่างประเทศที่มั่นคง

ส่วนการกู้ยืมเงินหรือนำเงินมาลงทุนในตลาดหุ้นแม้จะเป็นการนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาเช่นกันแต่มันสร้างความผันผวนเสียมากกว่าจากที่ต้องส่งคืนเมื่อครบกำหนดกู้ยืมและจากการเก็งกำไร

● ทำไมต้องเก็บเอาไว้ และเก็บเอาไว้มากเกินไปหรือไม่?

แม้ว่าในปัจจุบันเราจะใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวที่ไม่จำเป็นต้องมีเงินทุนสำรองเงินตราฯเอาไว้แทรกแซงเพื่อรักษาอัตราแลกเปลี่ยนให้มันคงที่เหมือนเมื่อก่อนปีพ.ศ.2540 ที่ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ แต่การมีเงินทุนสำรองฯเอาไว้มันช่วยสร้างความมั่นคงให้ประเทศได้

มันทำให้คู่ค้าหรือนักลงทุนจะมั่นใจได้ว่าเมื่อขายสินค้าหรือนำเงินลงทุนเข้ามาแล้วจะมีเงินตราต่างประเทศเอาไว้พอเพียงชำระค่าสินค้าหรือให้แลกคืนเมื่อเสร็จสิ้นธุรกรรม

ใครก็อยากค้าขายหรืออยากมาลงทุนด้วย มันดีและได้ผลมากกว่าเอานายกฯคนใดไป โฆษณา “โชว์ตัว” เสียอีก

ทุนสำรองเงินตราฯจึงมิใช่ทรัพย์สินทางราชการที่นักการเมืองแม้จะชนะเลือกตั้งจะมาอ้างว่าตนเองมีอำนาจจัดการได้

เพราะแม้แต่สัก 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ นักการเมืองก็มิได้หามาแต่อย่างใด

ขณะนี้ฝ่ายการเมืองกำลัง 'หน้ามืด' อับจนปัญญาหาเงินมาทำนโยบายประชานิยม “แจกเงิน(คนอื่น) ซื้อเสียง(เพื่อตนเอง)” เพื่อเอาชนะการเลือกตั้งในครั้งต่อไป

เมื่อไม่กล้าขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ทุนสำรองเงินตราฯนี้จึงถูกมองเป็นแหล่งเงินสำคัญที่สามารถนำมาใช้สนองเป้าหมายชนะเลือกตั้งด้วยนโยบายประชานิยม

ดังนั้นหากสามารถบังคับให้ธนาคารกลางกู้ยืมกับรัฐบาลด้วยการซื้อพันธบัตรรัฐบาล มันจะส่งผลถึงค่าเงินบาทและความมั่นใจของคู่ค้า/ผู้ลงทุน

เพราะหากในด้านทรัพย์สินธนาคารกลางมีพันธบัตรรัฐบาลไทย (ที่แสดงอำนาจซื้อของเจ้าหนี้ผู้ถือภายในรัฐไทย) เป็นองค์ประกอบสำคัญแทนที่จะเป็นเงินตราต่างประเทศที่เป็นตัวแทนอำนาจซื้อของรัฐไทยในต่างแดน สถานะสัดส่วนพันธบัตรที่มีมากในงบดุลจะตรงกันข้ามกับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

การโยนหินถามทางว่าจะเอาเงินทุนสำรองฯนี้มาใช้หรือพยายามส่งคนที่มีประวัติเสียเข้ามาเป็นฝ่ายบริหารในธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อนำเงินก้อนนี้มาใช้จึงเป็นก้าวย่างสำคัญของหายนะ เฉกเช่นในประเทศที่ล้มเหลวทางด้านการคลังและลามที่ภาคการเงิน เช่น อาร์เจนติน่า หรือ เวเนซูเอลา

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่คนเสียภาษีต้องออกมาเรียกร้อง “ไม่ยื่นแบบ ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง” เพื่อแก้ไขที่ต้นตอ ไม่ให้นักการเมืองใช้นโยบายประชานิยมมาหาเสียงเข้าสภา

‘แบงก์ชาติ’ สั่ง ธ.พาณิชย์คืนเงินผู้เสียหายทุกราย จากกรณีลูกค้าถูกขโมยบัตรเครดิต - เดบิตไปใช้

(10 ม.ค.68) นางสาวดารณี แซ่จู ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า กรณีมีผู้เสียหายจากการถูกมิจฉาชีพขโมยบัตรเครดิตไปชำระค่าสินค้าและบริการนั้น ธปท. ได้สั่งการให้ธนาคารพาณิชย์และผู้ให้บริการบัตรเครดิตเร่งตรวจสอบ ดูแล และชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ลูกค้าทุกรายในกรณีดังกล่าว โดยกรณีบัตรเครดิต ผู้ถือบัตรจะไม่ต้องชำระเงินและดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น

ส่วนกรณีบัตรเดบิต ธนาคารจะคืนเงินให้ผู้ถือบัตรตามยอดที่ถูกตัดชำระภายใน 5 วัน นับแต่วันที่มีเหตุอันเชื่อได้ว่าไม่ได้เกิดจากความผิดของผู้ถือบัตรหรือผู้ถือบัตรไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งธนาคารพาณิชย์และผู้ให้บริการบัตรเครดิตจะต้องเข้มงวดในการปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าว

นอกจากนี้ ธปท. ได้กำชับให้ผู้ให้บริการติดตามร้านค้าที่มีความเสี่ยง เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกใช้เป็นช่องทางรับชำระเงินของธุรกิจที่ผิดกฎหมาย ซึ่งผู้ให้บริการต้องมีกระบวนการรู้จักและพิสูจน์ตัวตน เพื่อคัดกรองร้านค้า ประเมินความเสี่ยง รวมทั้งติดตามความเสี่ยงและพฤติกรรมของร้านค้าอย่างต่อเนื่อง โดยต้องยุติการบริการทันทีเมื่อพบร้านค้าที่อาจเข้าข่ายให้บริการที่ไม่ถูกกฎหมาย รวมถึงพิจารณาดำเนินคดีกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องตามความเหมาะสมต่อไป

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดต่อสอบถาม ขอคำปรึกษาและร้องเรียนปัญหาการใช้บริการทางการเงินได้ที่ BOT contact center 1213


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top