Wednesday, 8 May 2024
แบงก์ชาติ

'อ.พงษ์ภาณุ' ซัด!! ไทยเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเงินฝืด  หลังแบงก์ชาติดำเนินนโยบายพลาดเป้า

(30 พ.ย. 66) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ให้มุมมองต่อภาวะความเสี่ยงเงินฝืดของประเทศไทย ตอนจบ ไว้ว่า…

ธนาคารแห่งประเทศไทยตัดสินใจหยุดขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เมื่อ 29 พฤศจิกายน น่าจะถือเป็นการยอมรับความผิดพลาดทางนโยบาย (Policy Blunder) ที่เกิดจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยแบบไม่ลืมหูลืมตาภายหลังการเลือกตั้ง แม้ว่าจะไม่ยอมรับความผิดอย่างสง่าผ่าเผยแบบลูกผู้ชาย แต่กลับโยนความผิดให้รัฐบาลหรือฝ่ายการเมือง ซึ่งสังเกตได้จากแถลงการณ์ที่ออกมาหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีการอ้างถึงการไม่มี Digital Wallet เป็นเหตุให้เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้

การเร่งขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในการประชุม กนง. 2-3 ครั้งที่ผ่านมาได้สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงแก่ประเทศไทย เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจหลายตัวได้บ่งบอกมาระยะหนึ่งแล้วว่าเศรษฐกิจไทยกำลังดิ่งลงเหวอย่างรวดเร็ว และมีโอกาสเข้าสู่ภาวะเงินฝืดค่อนข้างสูง ซึ่งก็ได้รับการยืนยันจากตัวเลขจริงที่มีการทยอยประกาศออกมา อัตราเงินเฟ้อลดลงอย่างแรงและต่อเนื่องจนถึงระดับติดลบในเดือนตุลาคม และน่าจะติดลบต่อเนื่องในเดือนพฤศจิกายนด้วยเมื่อมีการประกาศออกมาในอีกไม่กี่วันข้างหน้า สภาพัฒน์ฯ ประกาศ GDP ไตรมาส 3 มีอัตราเติบโตเพียง 1.5% ทั้งๆ ที่การส่งออกและการท่องเที่ยวเริ่มกลับมา 

ทั้งนี้เพราะอุปสงค์ในประเทศเหือดหาย และถูกกดโดยนโยบายการเงิน ซึ่งยืนยันจากปริมาณสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่มีอัตราเติบโตติดลบต่อเนื่องมาตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา สิ่งต่างๆ เหล่านี้ดูเหมือนตรงกันข้ามกับข้ออ้างของธนาคารแห่งประเทศไทยและนักวิชาการ รวมทั้งอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยหลายคน ว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวและไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลอดจนต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

ความเป็นอิสระของธนาคารกลางต้องมีควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสังคมและกรอบนโยบาย เมื่อมีการดำเนินนโยบายผิดพลาดจากเป้าหมายอย่างมากมายจนเกิดความเสียหายในวงกว้าง น่าจะถึงเวลาที่ต้องมีคนรับผิดชอบแล้ว ถ้าเป็นธนาคารกลางอื่นผู้ว่าการฯ คงจะลาออกไปนานแล้วครับ

'แบงก์ชาติ' เปิดให้บริการชำระเงินข้ามพรมแดน 'ไทย-ฮ่องกง' ผ่าน QR เอื้อประโยชน์ผู้ที่เดินทางระหว่าง 2 ประเทศกว่า 1.5 ล้านคนต่อปี

(4 ธ.ค.66) ธนาคารกลางฮ่องกง (Hong Kong Monetary Authority: HKMA) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดตัวการให้บริการชำระเงินข้ามพรมแดนผ่าน QR ระหว่างฮ่องกงและประเทศไทย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่เดินทางระหว่างฮ่องกงและประเทศไทยได้รับบริการชำระเงินที่รวดเร็ว ปลอดภัย และเข้าถึงได้ง่าย

บริการชำระเงินข้ามพรมแดนผ่าน QR ดังกล่าว จะทำให้ผู้ที่เดินทางระหว่างฮ่องกงและประเทศไทยสามารถทำรายการชำระเงินกับร้านค้าได้โดยง่าย โดยผู้ใช้บริการที่มาจากฮ่องกงสามารถใช้แอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือสแกน QR มาตรฐานของไทย (Thai QR code) และผู้ใช้บริการที่มาจากไทยสามารถใช้แอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือสแกน QR ของฮ่องกง (Hong Kong FPS QR code) ที่ร้านค้าได้แสดงไว้ ทำให้ผู้ใช้บริการมีช่องทางชำระเงินที่สะดวกและมีประสิทธิภาพ ขณะที่ร้านค้าจะได้รับเงินค่าสินค้าในทันที ทั้งยังเป็นการสนับสนุนธุรกิจการท่องเที่ยวและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของฮ่องกงและประเทศไทยด้วย

นาย Eddie Yue ผู้ว่าการธนาคารกลางฮ่องกง กล่าวว่า ธนาคารกลางฮ่องกงมีความยินดีอย่างยิ่งต่อความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายในการพัฒนาช่องทางการชำระเงินข้ามพรมแดนรายย่อย ที่สะดวก ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ โดยการเปิดตัวบริการในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของระบบ Fast Payment System ในการขยายบริการชำระเงินข้ามพรมแดนในภูมิภาค

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ความร่วมมือกับฮ่องกงในครั้งนี้ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการพัฒนาด้านดิจิทัลของไทย และสะท้อนความมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างการชำระเงินข้ามพรมแดนในภูมิภาค ให้มีประสิทธิภาพ และครอบคลุมทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เดินทางระหว่างฮ่องกงและไทยจำนวนประมาณ 1.5 ล้านคนต่อปี และต่อร้านค้าที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรม

โครงการนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน ทั้งการผลักดันจากธนาคารกลาง คือ HKMA และ ธปท. ผู้ให้บริการระบบการชำระเงิน ได้แก่ Hong Kong Interbank Clearing Limited (HKICL) และ บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ็กซ์ (NITMX) ผู้ให้บริการชำระดุลระหว่างประเทศ ได้แก่ HSBC Hong Kong และธนาคารกรุงเทพ รวมทั้งผู้ให้บริการชำระเงินหลายรายที่เข้าร่วมให้บริการแอปพลิเคชัน ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ 7 แห่ง และ Non-bank 2 แห่งของฮ่องกง และธนาคารพาณิชย์ 3 แห่งของไทย และอีกหลายแห่งของทั้งสองฝ่ายที่ร่วมให้บริการ QR แก่ร้านค้า โดยมีรายชื่อตามเอกสารแนบ

ธนาคารกลางทั้ง 2 แห่งเชื่อว่าการเชื่อมโยงการชำระเงินข้ามพรมแดนครั้งนี้ ให้ทางเลือกการชำระเงินที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสม และจะส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือด้านนวัตกรรมทางการเงินในภูมิภาคมากยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต

‘อ.พงษ์ภาณุ’ ชี้!! ฤๅไทยจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดจริงๆ แล้วเรื่องนี้ ‘แบงก์ชาติ’ จะมี ‘คำอธิบาย-แก้ตัว’ ใด?

(9 ธ.ค.66) ทีมข่าว THE STATES TIMES  ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ในประเด็น 'ฤๅไทยจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด (Deflaion) จริงๆ' โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

อาจจะยังเร็วเกินไปที่จะกล่าวว่าประเทศไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดแล้ว แต่ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index-CPI) ของเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศเมื่อ 7 ธันวาคม ได้ติดลบ 0.44% แบบ Year on Year ซึ่งถือเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และเมื่อประกอบกับการดำเนินนโยบายการเงินที่ผิดพลาด (Policy Blunder) ของธนาคารแห่งประเทศไทย น่าจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงเป็นอย่างมากให้กับประเทศที่จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด

หลายท่านอาจจะคิดว่าระดับราคาสินค้าและบริการลดลงเป็นผลดีต่อประชาชน แต่ในทางเศรษฐศาสตร์การเงินแล้ว ถือว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัวกว่าภาวะเงินเฟ้อเสียอีก ระดับราคาที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจะทำให้ครัวเรือนและธุรกิจชะลอการจับจ่ายใช้สอยเนื่องด้วยคาดการณ์ว่าราคาจะลดลงต่อไปเรื่อยๆ ภาระหนี้ (Debt Burden) จะสูงขึ้น เพราะมูลหนี้ที่แท้จริงรวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest Rate) สูงขึ้น และอาจนำไปสู่วิกฤตหนี้ได้ ขณะนี้หนี้ของประเทศ โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนและหนี้สาธารณะ อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ และอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยก็อาจถือว่าอยู่ในระดับที่สูงที่สุดในโลก

ภาวะเงินฝืดไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วแก้ไขได้ยากกว่าเงินเฟ้อ อย่างประเทศญี่ปุ่น ตอนเข้าสู่ภาวะเงินฝืดราวปี 1990 หลังฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้นแตก ต้องใช้เวลาแก้ไขนานกว่า 25 ปีจึงเริ่มที่จะเห็นสัญญาณหลุดพ้นในปัจจุบัน ด้วยการดำเนินนโยบายการเงินที่ตรึงดอกเบี้ยไว้ต่ำ ไม่ขึ้นตามธนาคารกลางอื่น และปล่อยให้ค่าเงินเยนอ่อนลงอย่างมาก 

ประเทศสหรัฐฯ และยุโรป ก็เคยประสบปัญหาเงินฝืดจนต้องลดดอกเบี้ยลงใกล้ศูนย์ เท่านั้นยังไม่พอต้องใช้มาตรการ Quantitative Easing (QE) พิมพ์เงินอัดฉีดเข้าระบบ จีนก็ได้เข้าสู่ภาวะเงินฝืดมาสักระยะแล้วหลังจากฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์แตกและมีบริษัทขนาดใหญ่ล้มละลายไปหลายบริษัท

ผมได้เคยเตือนมาเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้วว่า ประเทศไทยอาจเดินตามจีนเข้าสู่ Deflation แต่กลับตกใจที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายการเงินที่ผิดพลาดมาโดยตลอด ตั้งแต่ปีที่แล้วที่ Delay การขึ้นดอกเบี้ยด้วยความเกรงใจรัฐบาลก่อนที่แต่งตั้งผู้ว่าการฯ เข้ามา จนทำให้ประเทศไทยมีเงินเฟ้อสูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง และหลุดกรอบ Inflation Targeting ไปกว่าเท่าตัว 

แต่พอมาปีนี้กลับมาเร่งขึ้นดอกเบี้ยหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤษภาคม แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดต่ำลงแรงจนหลุดกรอบล่างของเป้าหมายเงินเฟ้อเป็นเวลา 6 เดือนติดต่อกัน โดยเฉพาะการประชุม กนง. 2-3 ครั้งที่ผ่านมา การหยุดขึ้นดอกเบี้ยครั้งหลังดูเหมือนจะเป็นการยอมรับความผิดพลาด แต่ก็ไม่วายโทษรัฐบาลว่า ความไม่แน่นอนของมาตรการ Digital Wallet ทำให้การคาดการณ์เศรษฐกิจต่ำกว่าเป้าเป็นอย่างมาก 

การที่ CPI ติดลบ 2 เดือนติดต่อกันครั้งนี้ ก็เชื่อว่าคงจะไม่ยอมรับผิด แล้วก็คงจะโทษคนอื่นตามฟอร์ม ว่ามีการออกมาตรการบรรเทาค่าครองชีพให้ประชาชน

อยากขอให้สำนึกว่าหน้าที่หลักของธนาคารกลางคือการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน ความเป็นอิสระของธนาคารกลางมาพร้อมกับความรับผิดชอบ (Accountability) ต่อเป้าหมาย

'อ.พงษ์ภาณุ' เชื่อ!! Fed เตรียมลดดอกเบี้ย ส่งผลดี 'ยุโรป-ไทย' แนะ!! แบงก์ชาติไทย ลดดอกเบี้ยได้ทันที 0.50 โดยไม่ต้องรอ

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'Fed เตรียมลดดอกเบี้ย เปิดทาง ธปท. ลดดอกเบี้ยไทย' เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

การประชุม Fed เมื่อวัน 13 ธันวาคมที่ผ่านมา ส่งสัญญาณการยุติวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นอย่างชัดเจน และเตรียมพร้อมที่จะลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2024 ถึงประมาณ 0.75% ส่งผลให้ดัชนีตลาดนิวยอร์กทะยานสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ วงจรดอกขาขึ้นรอบที่ผ่านมาที่ได้เริ่มต้นเมื่อเดือนมีนาคม 2022 ถือเป็นการขึ้นดอกเบี้ยที่เร็วและรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์นโยบายการเงิน

ความจริงแล้ว อาจจะเร็วไปสักนิดที่ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาจะเริ่มลดดอกเบี้ย เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงมีความร้อนแรงอยู่มาก แม้ว่าเงินเฟ้อจะลดลงค่อนข้างรวดเร็ว การลดดอกเบี้ยเร็วเกินไปอาจไปกระตุกเงินเฟ้อให้ผงกหัวขึ้นมาได้ แต่การส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยครั้งนี้น่าจะเป็นผลดีและลดแรงกดดันต่อประเทศที่มีเศรษฐกิจอ่อนแอกว่า เช่น ยุโรป และรวมถึงประเทศไทย ซึ่งมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะเงินฝืดและเศรษฐกิจถดถอยจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา

ขณะนี้ จึงเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะเริ่มลดดอกเบี้ย หลังจาก ธปท. โดย กนง.ตัดสินใจผิดพลาดในการประชุมที่ผ่านมาอย่างน้อย 2 ครั้ง ที่ได้มีการประกาศขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% ทั้ง ๆ ที่อัตราเงินเฟ้อติดลบ 

ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องรอให้ Fed ลดดอกเบี้ยก่อนแล้วค่อยทำตาม ธนาคารกลางประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ รวมทั้งจีน ได้เริ่มลดดอกเบี้ยแล้ว ธปท. จึงควรเลิกดื้อรั้นไม่มีเหตุผลและประกาศลดดอกเบี้ยทันทีอย่างน้อย 0.50% ก่อนที่จะสายเกินไปเหมือนกับการขึ้นดอกเบี้ยล่าช้าเมื่อปีก่อน หากผิดพลาดอีกคราวนี้คนไทยคงไม่ยกโทษให้แน่นอน

การผ่อนคลายนโยบายการเงิน ที่จะดำเนินการไปพร้อมๆ กับมาตรการกระตุ้นทางการคลัง (Fiscal Stimulus) จะช่วยหยุดเศรษฐกิจขาลงของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภาคครัวเรือนจะมีภาระหนี้ลดลงและกลับมาจับจ่ายใช้สอย ภาคธุรกิจหลังจากหยุดการผลิตและลดสินค้าคงคลังมาสักระยะก็จะกลับมาลงทุนและผลิตใหม่ ส่วนภาครัฐจะสามารถจัดงบประมาณที่ประหยัดได้จากภาระหนี้ที่ลดลงมาใช้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานได้เพิ่มขึ้น

กองทุนรวม ESG ซึ่งเป็นการลงทุนที่ได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้และรัฐบาลได้ผลักดันให้ออกมาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจให้กับประชาชนเพื่อออมเงินระยะยาว โดยผ่านกลไกกองทุนรวมที่จะเข้าไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยเฉพาะตราสารทุนและตราสารหนี้ของบริษัทจดทะเบียนที่ผ่านการประเมินตามมาตรฐาน ESG แม้ว่าจะหักลดหย่อนได้เพียง 100,000 บาท แต่ก็ออกมาในจังหวะเวลาที่เหมาะสมและน่าจะช่วยกระตุ้นการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

อำนาจละมุนหรือ Soft Power กำลังเป็นวาระแห่งชาติ การท่องเที่ยวและการกีฬาเป็นองค์ประกอบสำคัญของ อำนาจละมุน แม้ว่าการท่องเที่ยวในปีนี้อาจจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แต่ปี 2567 เชื่อว่าการท่องเที่ยวจะกลับมาสู่ระดับเดิมก่อนเกิดโควิด ทั้งนี้จะต้องมีการปรับปรุงด้าน Supply อย่างขนานใหญ่ ในเรื่องความปลอดภัย ความสะดวก ความสะอาด รวมทั้งการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่เป็น Man-made Attractions ซึ่งขาดการพัฒนามานาน ไม่ว่าจะเป็น Theme Park, Casino หรือสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และอาจใช้รูปแบบการร่วมทุนกับเอกชนในลักษณะ PPP เพื่ออาศัยความสามารถด้านการบริหารจัดการของธุรกิจเอกชน 

ส่วนด้านการกีฬานั้น ต้องปรับทัศนคติต่อการกีฬาให้มีลักษณะเชิงพาณิชย์มากขึ้น ปัจจุบันกีฬายังอาศัยเงินงบประมาณภาครัฐเป็นหลัก หากสามารถเปิดให้ทุนเอกชนเข้ามาพัฒนากีฬาในเชิงพาณิชย์มากขึ้น โดยเฉพาะกีฬาฟุตบอล มวยไทย และกอล์ฟ เชื่อว่าการกีฬาจะกลายเป็น Soft Power ที่สำคัญและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้มากขึ้น

'อ.พงษ์ภาณุ' กระตุก 'แบงก์ชาติ' ถึงเวลาลดดอกเบี้ย เตือน!! หยุดดื้อรั้น ก่อนพาเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ความเสี่ยง

(7 ม.ค. 67) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ได้กล่าวถึงประเด็นดอกเบี้ยในเมืองไทยที่ควรถึงเวลาลดลงได้แล้ว ว่า...

ธนาคารกลางเป็นสถาบันที่มีความสำคัญที่สุดสถาบันหนึ่ง ทุกคนเห็นตรงกันว่าธนาคารกลางควรจะเป็นอิสระจากฝ่ายการเมืองในการดำเนินนโยบายการเงิน หากธนาคารกลางมีการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ

วันนี้ น่าจะต้องทบทวนความคิดดังกล่าวแล้ว เพราะช่วงเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย ดำเนินนโยบายการเงินผิดพลาดมาโดยตลอด ก่อให้เกิดวงจรอุบาทว์ในลักษณะวัฏจักรธุรกิจการเมือง (Political Business Cycle) 

เริ่มตั้งแต่วงจรดอกเบี้ยขาขึ้นของโลกรอบที่แล้ว ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 ที่ FED ปรับดอกเบี้ยขึ้นจากระดับเกือบศูนย์มาเป็น 5.5% แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยกลับรีรอไม่ยอมปรับดอกเบี้ยในประเทศ ด้วยความเกรงใจรัฐบาลที่แล้ว จนเงินเฟ้อของไทยพุ่งสูงขึ้นเป็นกว่า 6% ในปี 2565 ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก พอการเลือกตั้งทั่วไปเสร็จสิ้นและมีการตั้งรัฐบาลใหม่ ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงมาเร่งขึ้นดอกเบี้ย ทั้งๆ ที่อัตราเงินเฟ้อติดลบและหลุดกรอบล่างของ Inflation Targeting ไปเสียแล้ว ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนธันวาคม 2566 ก็น่าจะติดลบเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน เป็นการสร้างความผันผวนทางการเงินและต้นทุนทางเศรษฐกิจแก่ประเทศอย่างไม่จำเป็น

ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 2.5% เงินเฟ้อติดลบส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest) ของไทยสูงเป็นประวัติการณ์และสูงกว่าประเทศอื่นๆ เงินบาทเริ่มแข็งค่าขึ้น ระบบธนาคารในประเทศตึงตัวและสินเชื่อหดตัวมาระยะหนึ่งแล้ว ขณะที่ธนาคารกลางหลายประเทศเริ่มส่งสัญญาณลดดอกเบี้ย ประกอบกับดอกเบี้ยตลาดพันธบัตรก็ปรับตัวลดลง 

ภายใต้ภาวะเช่นนี้ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะดึงดันคงดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง เพราะจะเป็นการสร้างความเสี่ยงที่ไม่จำเป็นแก่เศรษฐกิจไทย และนโยบายของรัฐบาลที่กำลังประคับประคองให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว ขอชื่นชมท่านนายกรัฐมนตรีที่ออกมาเตือนแบงก์ชาติให้พิจารณาความเสี่ยงต่างๆ อย่างรอบคอบ ได้แก่ ปัญหาหนี้ครัวเรือน, การชะลอตัวของเศรษฐกิจการค้าโลก รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ธปท. อย่ามัวแต่ไปด่าคนอื่น เอาเรื่องเงินเฟ้อเงินฝืดของตัวเองให้รอดเสียก่อน แล้วก็หยุดดื้อรั้นเถิดครับ หันกลับมาทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชนอย่างมืออาชีพ ก่อนที่ประชาชนจะทวงคืนความเป็นอิสระของท่าน

กมธ.งบ 67 เดือด!! ที่ประชุมรุมฉะแบงก์ชาติ โวย 'ผู้ว่า ธปท.' ไม่มาชี้แจงเอง หลังติดภารกิจด่วน

(10 ม.ค. 67) ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 2 มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานกมธ. เป็นประธานในที่ประชุม ซึ่งได้พิจารณาภาพรวมเศรษฐกิจ

โดยเชิญผู้แทนจากกระทรวงการคลัง สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงบประมาณ มาให้ข้อมูล

ในช่วงแรกของการประชุม กมธ. จากพรรคเพื่อไทย ได้แก่ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล สส.แพร่ และนายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ อดีตสส.เชียงราย แสดงความไม่พอใจ ต่อผู้แทน ธปท. หลังจากนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯ ธปท. ไม่มาชี้แจงด้วยตัวเอง ทั้งที่การประชุมกมธ.ในวาระนี้ ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งผู้แทนของ ธปท. ยืนยันว่านายเศรษฐพุฒิ มีภารกิจเร่งด่วน แต่ยืนยันว่าตนได้รับมอบหมาย จากผู้ว่าฯ ธปท. ให้มาชี้แจงต่อ กมธ. อย่างเป็นทางการ

จากนั้น กมธ.ในสัดส่วนพรรคเพื่อไทย หลายคนได้ท้วงติงการทำงานของ ธปท.หลายเรื่อง โดยเฉพาะการปล่อยให้เกิดช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้กับดอกเบี้ยเงินฝาก ห่างกันมาก จนสร้างภาระให้กับประชาชนที่เป็นหนี้จำนวนมาก ซึ่งต้องประสบปัญหามาตั้งแต่การระบาดของโควิด-19

ดังนั้น แม้ ธปท. จะมีหน้าที่ดูแลธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้สถานะของธนาคารมีความมั่นคง เพื่อไม่ให้กระทบต่อการเงินของประเทศ แต่อีกด้านหนึ่งควรพิจารณาถึงความเดือดร้อนของประชาชนด้วย หลังจากธนาคารพาณิชย์ ทำกำไรได้มากถึง 2 แสนล้านบาท

ขณะที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้สอบถามผู้แทน ทั้ง 4 หน่วยงาน ถ้าจะนิยามความหมายของคำว่า วิกฤตเศรษฐกิจ จะต้องนิยามว่าอย่างไร และจะต้องมีปัจจัยอะไรบ้างที่แสดงให้เห็นถึงความเป็น วิกฤตเศรษฐกิจ

ด้านผู้แทน ธปท. ยืนยันว่า ธปท.โดยเฉพาะคณะกรรมการนโยบายทางการเงิน (กนง.) เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชน จากการปรับตัวที่สูงขึ้นของดอกเบี้ย กนง. จึงมีมาตรการไปยังธนาคารเอกชน ให้ลงไปดูแลลูกหนี้ เพื่อให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งก่อนและหลังเป็นลูกหนี้เอ็นพีแอล นอกจากนี้การปรับดอกเบี้ย นโยบายในปัจจุบัน กนง.มองว่ามีความเหมาะสม กับศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศ และสอดคล้องกับการเจริญเติบโตเศรษฐกิจ

ตัวแทน ธปท. กล่าวว่า ส่วนการนิยามคำว่า วิกฤตเศรษฐกิจ จะต้องพิจารณาข้อมูลรอบด้าน และหลายปัจจัยที่เกิดขึ้น เช่น สถาบันการเงินที่มีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้จำนวนมาก จนกระทบต่อสถานะธนาคาร การเกิดภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วและเป็นเวลานาน หรือการเกิดวิกฤตจากสถานการณ์ไม่คาดคิด เช่น โควิด-19 พอจะเห็นได้ว่าเป็นตัวอย่างของคำว่า ‘วิกฤตเศรษฐกิจ’ หรือแม้แต่ปัญหาอุทกภัยที่เคยทำให้การเจริญเติบโตเศรษฐกิจของประเทศติดลบ จนต้องออก พ.ร.ก. ในช่วงเวลาขณะนั้น

'หนุ่มเมืองจันท์' ยกคำคนแบงก์ชาติ เปรียบตัวเองเป็น 'ผู้รักษาประตู' ชี้!! ไม่เข้าใจเกมฟุตบอลสมัยใหม่ที่นายทวารมีดีกว่าป้องกันประตู

(17 ม.ค. 67) สรกล อดุลยานนท์ หรือ หนุ่มเมืองจันท์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

คุยแบบคนชอบดูฟุตบอลนะครับ

เมื่อวานฟังผู้บริหารแบงก์ชาติเปรียบตัวเองเป็น 'ผู้รักษาประตู' มีหน้าที่รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว  

ไม่ได้เป็น 'กองหน้า' กระตุ้นเศรษฐกิจ

ฟังแล้วรู้เลยว่าท่านไม่เข้าใจเกมฟุตบอลสมัยใหม่

เพราะฟุตบอลยุคนี้ 'ผู้รักษาประตู' จะไม่ได้มีหน้าที่ป้องกันประตูเก่งเพียงอย่างเดียว

เขาจะขึ้นสูงตอนทีมกำลังบุก ทำตัวเป็นกองหลังคนสุดท้าย ผู้รักษาประตูไม่ต้องขึ้นไปเป็นกองหน้าเพื่อยิงประตูเอง

แต่ฟุตบอลยุคใหม่ไม่ว่าแมนเชสเตอร์ ซิตี้, ลิเวอร์พูล, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, สเปอร์ ฯลฯ

จุดเริ่มต้นของ 'เกมรุก' จะมาจาก 'ผู้รักษาประตู'

ค่อยๆ ต่อบอลขึ้นไปจากแดนหลัง

ผู้รักษาประตูยุคนี้ จึงต้องเล่นบอลด้วยเท้าได้ดี ไม่มองแต่ลูกบอลบนฟ้า ต้องก้มหน้ามองดิน มองลูกฟุตบอล ทำความเข้าใจกับผืนหญ้า และเข้าใจพื้นดิน #อลิสซอนเบ็กเกอร์ #เอแดร์สัน ไม่ใช่ 'โอนาน่า' 555

'อ.พงษ์ภาณุ' ซัด!! แบงก์ชาติไม่ลดดอกเบี้ย เหมือนตบหน้ารัฐบาล-คนไทยทั้งประเทศ

(17 ม.ค. 67) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ได้เผยถึงกรณีแบงก์ชาติไม่ลดดอกเบี้ย ถือเป็นการตบหน้ารัฐบาลและคนไทยทั้งประเทศผ่าน THE STATES TIMES ว่า...

การปฏิเสธไม่ลดดอกเบี้ยเมื่อวานนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่มีการระบุเหตุผลที่น่าเชื่อถือ เพียงแต่กล่าวว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันเหมาะสมแล้ว ถือเป็นการไม่ให้เกียรติคนไทยและรัฐบาล ทั้ง ๆ ที่ขณะนี้เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจหลายตัวบ่งบอกว่าเศรษฐกิจไทยกำลังดิ่งลงสู่ภาวะเงินฝืด (Deflation) และถดถอย (Recession) ไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อติดลบ 3 เดือนติดต่อกัน อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Innterest Rate) สูงสุดเป็นประวัติการณ์และอาจจะสูงที่สุดในโลก อัตราเติบโตของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ติดลบต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี

"เราไม่สามารถหาคำอธิบายอื่นที่เหมาะสมกว่าที่จะกล่าวว่าธนาคารแห่งประเทศไทยไม่มีความรับผิดชอบ และบกพร่องต่อหน้าที่อย่างร้ายแรง การที่แบงก์ชาติกล่าวอ้างปัญหาโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย เป็นเพียงความพยายามที่จะบิดเบือนประเด็นเพื่อโยนความผิดให้กับคนอื่น ทั้ง ๆ ที่เป็นที่ยอมรับในทางวิชาการว่าเสถียรภาพของราคาเป็นเรื่องของนโยบายการเงิน ภายใต้กรอบ Inflation Targeting โดยตรง และผลการทำงานที่ผ่านมา 2 ปีพิสูจน์แล้วว่าธนาคารแห่งประเทศไทยล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการดูแลเสถียรภาพราคา จากเงินเฟ้อสูงสุดในโลกในปี 2565 มาเป็นเงินฝืดในปี 2566 การปัดความรับผิดชอบออกไปจากนโยบายการเงิน ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงตามกฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทย จึงเป็นการแสดงถึงความไม่เป็นมืออาชีพเอาเสียเลย"

อ.พงษ์ภาณุ กล่าวอีกว่า สถานการณ์เช่นนี้ ถือเป็นการตอกย้ำความขัดแย้งระหว่างนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง ซึ่งไม่เป็นผลดีกับประเทศเลย และควรถึงเวลาแล้ว ที่จะต้องอ้างความบกพร่องต่อหน้าที่อย่างร้ายแรงตามกฎหมาย เพื่อเปลี่ยนตัวผู้รับผิดชอบนโยบายการเงิน ก่อนที่จะสายเกินไป จนบ้านเมืองเสียหายไปกว่านี้

'แบงก์' ป้อง!! 'ธปท.' ทำหน้าที่นายประตูที่ดี เน้นคุมเสถียรภาพ ลั่น!! อยากให้ ศก.ดี ต้องมีผู้เล่นกองหน้า 'ชัดเจน-เหมาะสม'

(19 ม.ค.67) นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า การทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถ้าจะมองว่าเป็นกองหน้า หรือฝั่งของกระทรวงการคลังจะเป็นกองหลัง ก็ต้องทำงานเป็นทีม ดังนั้นทั้งนโยบายการเงินและการคลังก็ต้องทำงานร่วมกัน ซึ่งก็ถูกต้องที่นโยบายการเงินเป็นกองหลัง และเป็นผู้รักษาประตู

“ถ้าบอกว่าอยากให้เศรษฐกิจดีต้องลดดอกเบี้ยนั้น เรื่องนี้จะไม่ใช้ปัจจัยที่จะฟื้นเศรษฐกิจได้โดยใช้เครื่องมือนี้เพียงอย่างเดียว เพราะนโยบายทางการเงินมีหน้าที่รักษาเสถียรภาพ ทั้งอัตราแลกเปลี่ยน เงินเฟ้อ เสถียรภาพตลาดเงินและตลาดทุน ซึ่งเป็นเรื่องการเงินภาพใหญ่ที่ ธปท.ต้องให้ความสำคัญ” นายอมรเทพ กล่าว

นายอมรเทพ กล่าวว่า ขณะนี้โจทย์การแก้เศรษฐกิจนั้นจะให้น้ำหนักไปที่ใด ถ้าจะให้ทุกผู้เล่นเทน้ำหนักไปอยู่กองหลังและดูแต่เสถียรภาพมันก็ไม่มีทางที่จะทำประตูได้ ซึ่งถือเป็นโจทย์หนึ่งที่กำลังติเตียนกันว่ามันจะดีหรือไม่ ที่เทน้ำหนักให้ตรงนี้มากเกินไป ขณะเดียวกัน ทรัพยากรที่เป็นผู้เล่นกองหน้า หรือเรื่องงบประมาณปี 2567 ยังไม่มีการดำเนินการ รวมถึงหลายๆ อย่างที่จะมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังไม่ชัดเจน และถ้ามองว่าจะยืมตัวผู้เล่นจากกองหลังมาเป็นกองกลาง หรือกองหน้าอย่างไร สุดท้ายก็อยู่ที่การเจรจาระหว่างกัน

อย่างไรก็ตาม หน้าที่ของ ธปท. ไม่ได้ทำผิดพลาดอยู่แล้ว เพราะหน้าที่คือรักษาเสถียรภาพ แต่ปัญหาขณะนี้อยู่ที่กองหน้าขาดผู้เล่น (งบประมาณ) มากกว่า ดังนั้น อาจต้องผลักดันการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างอื่นที่ไม่ใช้งบประมาณมาช่วยสนับสนุนและแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เพราะนโยบายที่ใช้กับเศรษฐกิจไม่ได้มีเพียงนโยบายทางการเงิน เช่น การผลักดันเรื่องนโยบายอุตสาหกรรม เรื่องการค้าโดยเร่งเจรจาการค้าเสรี หรือภาคการท่องเที่ยวที่จะใช้นโยบายดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าไทย เป็นต้น

“ปัญหาอาจเพราะผู้เล่น หรือเครื่องยนต์อื่นๆ ทำไม่ได้เลยเหลือความหวังกับฝั่งนโยบายการเงิน แต่หากพิจารณาประเทศอื่นๆ เขาไม่ได้หวังเรื่องการเงินอย่างเดียว เพราะถ้าใช้การเงินโดยการลดดอกเบี้ยก็เป็นความเสี่ยง แต่หากต้องทำจริงๆ ก็ทำได้ แต่จะมีผลข้างเคียงตามมา เช่น เงินเฟ้อขยับขึ้น เงินบาทอ่อนค่า ถ้าพิจารณา 2-3 วันที่ผ่านมา กรณีนักลงทุนอาจผิดหวังที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะลดดอกได้เร็ว ถ้าไทยทำนโยบายสวนทางจะมีความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งหมดนี้ทีมเศรษฐกิจต้องพูดคุยกัน” นายอมรเทพ กล่าว

‘อ.พงษ์ภาณุ’ ชี้!! ปัญหาในตลาดหุ้นกู้-เงินเฟ้อติดลบ ความผิดพลาดเชิงนโยบายที่แบงก์ชาติไม่ควรปฏิเสธ

(8 ก.พ. 67) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ได้เผยถึง ปัญหาในตลาดหุ้นกู้ เงินเฟ้อติดลบ และความผิดพลาดเชิงนโยบายของแบงก์ชาติ ไว้ว่า...

หุ้นกู้ก็คือ ตราสารหนี้ประเภทหนึ่ง ต่างจากตราสารทุน (Equity) ตรงที่มีกำหนดเวลาชำระดอกเบี้ยคงที่และชำระคืนเงินต้นที่แน่นอน ในมุมมองของผู้ลงทุนจึงดูเหมือนไม่มีความเสี่ยงหรือมีความเสี่ยงน้อยกว่าหุ้นหรือตราสารทุน แต่ในความเป็นจริงแล้ว หุ้นกู้มีความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกหุ้นกู้ ( Risk of Default) และความเสี่ยงอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Risk) ซึ่งมีอยู่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจถดถอยและภาวะการเงินมีความผันผวนสูงอย่างเช่นในปัจจุบัน

ขอชื่นชมผู้วางนโยบายที่กระทรวงการคลังและ ก.ล.ต.ในอดีตที่ได้ร่วมมือกันพัฒนาตลาดตราสารหนี้ ภายหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง จนกลายเป็นหนึ่งในสามเสาหลักของการระดมทุนหล่อเลี้ยงภาคเศรษฐกิจจริงในประเทศไทย อีกสองเสาหลักได้แก่ ตลาดหุ้นและเงินกู้ธนาคาร ซึ่งเสาหลักแต่ละแท่งมียอดคงค้างของการระดมทุนอยู่ที่ประมาณ 100% ของ GDP รวมทั้ง 3 เสาก็อยู่ที่ 300% ของ GDP หรือประมาณกว่า 50 ล้านล้านบาท

ปัจจุบันหลังจากที่แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยแบบไม่บันยะบันยังมาเป็นเวลาเกือบ 2 ปี และสร้างความผันผวนทางการเงินขึ้นมาด้วยน้ำมือของตัวเองอย่างไม่จำเป็น ตลาดหุ้นกู้เริ่มปรากฏร่องรอยของความปริร้าวขึ้นมา ซึ่งเป็นที่น่าวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากไม่สามารถหยุดการไหลของเลือด อาจลุกลามไปยังเสาหลักอีก 2 เสาได้ ผู้ออกหุ้นกู้ที่ออกมาก่อน 2 ปีที่แล้ว เมื่ออัตราดอกเบี้ยอยู่ใกล้ศูนย์ กำลังถึงกำหนดเวลาไถ่ถอนจำนวนมาก และจำเป็นต้องออกหุ้นกู้ใหม่มาเพื่อชำระคืนของเดิม (Roll over) ต้องประสบปัญหาตลาดการเงินขาดสภาพคล่อง และดอกเบี้ยสูงขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีการปรับสูงขึ้นกว่า 5 เท่าตัว (500%) ในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา

เมื่อตอนที่ประเทศไทยมีการแพร่ระบาดของโควิด เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ตลาดหุ้นกู้ก็ส่อเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องทำนองเดียวกัน แต่ต่างกันที่สาเหตุมาจากด้านรายได้ของธุรกิจที่เหือดหายไปจากการหยุดจับจ่ายใช้สอยของประชาชน รัฐบาลจึงยอมให้แบงก์ชาติตั้งกองทุนรักษาสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้ (Bond Market Stabilization Fund-BSF) วงเงิน 400,000 ล้านบาท โดยออกพระราชกำหนดให้แบงค์ชาติสามารถเข้าไปซื้อตราสารหนี้ออกใหม่ได้ในระยะสั้นๆและกระทรวงการคลังรับประกันความเสียหายจากการลงทุนของแบงก์ชาติ (น่าจะถือว่าถูกแบงก์ชาติหลอกให้เอาเงินผู้เสียภาษีมาค้ำประกัน) 

มาคราวนี้สถานการณ์เริ่มสุกงอม แลอาจยังความจำเป็นให้ตั้งกองทุนทำนองดังกล่าวขึ้นอีก เพื่อพยุงตลาดตราสารหนี้ แต่เชื่อว่าครั้งนี้กระทรวงการคลังคงไม่ยอมให้แบงก์ชาติหลอกให้เอาเงินผู้เสียภาษีมาค้ำประกันอีก  เพราะปัญหาครั้งนี้เกิดมาจากความผิดพลาดของแบงก์ชาติเองล้วนๆ หลายฝ่ายรวมทั้งกระทรวงการคลังได้ออกมาเตือนแบงก์ชาติหลายครั้งหลายครา แต่แบงค์ชาติกลับเอาหูทวนลม ดังนั้นจึงไม่อาจงอแงปฏิเสธความรับผิดชอบเหมือนครั้งก่อน โดยเอาเงินผู้เสียภาษีมาค้ำประกันความผิดพลาดของตนเองไม่ได้อีกแล้ว

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ประกาศตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมกราคม 2567 ติดลบเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย 

ธนาคารแห่งประเทศไทยคงจะปฏิเสธไม่ได้อีกแล้ว เหมือนที่ผ่านมาว่าไทยยังไม่มีภาวะเงินฝืด (Deflation) และมักจะบอกว่าไม่เกี่ยวกับแบงก์ชาติและโยนความผิดให้คนอื่นว่าเป็นปัญหาโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย

ในสถานการณ์เช่นนี้ แบงก์ชาติคงจะมีทางเลือกอยู่ 2 ทาง ประการแรกลดดอกเบี้ยและยอมรับความผิดพลาดของตนเองที่ทำให้เศรษฐกิจชาติเสียหาย แต่เชื่อว่าแบงก์ชาติคงจะเสียหน้าอย่างมาก และโดยธรรมชาติแล้วมักจะไม่กล้าทำ ประการที่สอง ไม่ทำอะไร คงดอกเบี้ยไว้ตามเดิม เพื่อรักษาหน้าของตัวเอง แล้วก็โยนเคราะห์กรรมให้กับคนไทยทั้งประเทศ 

แต่ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง) ประชุมเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์แล้ว มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ (5 ต่อ 2 เสียง) เลือกแนวทางที่ 2 คือปัดความรับผิดชอบ และโยนขี้ให้ประชาชน ตามแบบฉบับแบงก์ชาติที่สืบทอดกันมา แม้จะมีกรรมการเสียงข้างน้อยที่เริ่มยอมรับความผิดพลาดของนโยบายการเงิน 

สถานการณ์น่าเป็นห่วงครับ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top