Wednesday, 21 May 2025
แบงก์ชาติ

หวั่นใจ!! 'คลังชาติ' ใต้ความพยายามครอบงำ 'ธนาคารแห่งประเทศไทย' การกระทำที่แม้แต่จอมเผด็จการตัวจริงของไทย 'ยังไม่เคยคิดจะทำ'

จากคำปราศรัยของ 'อุ๊งอิ๊ง' แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยในงาน '10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10' จัดโดยพรรคเพื่อไทย โดยเธอกล่าวถึงปัญหา 3 เรื่องของธนาคารชาติคือ...

1. ความเป็นอิสระของแบงก์ชาติเป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
2. กฎหมายที่กำหนดให้แบงก์ชาติเป็นอิสระเป็นต้นเหตุของปัญหา
3. หากแบงก์ชาติไม่ยอมทำความเข้าใจและร่วมมือกับรัฐบาล จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจ

ด้วยเหตุที่ 'อุ๊งอิ๊ง' อ่านตามโพย จึงเกิดกระแสวิจารณ์ว่า เธอพูดโดยไม่ได้เข้าใจบทบาทและหน้าที่ของธนาคารชาติจริง ๆ แต่พูดตามที่มีคนเขียนบทให้ และทำให้คิดว่า พรรคเพื่อไทยใช้ 'อุ๊งอิ๊ง' และการปราศรัยในงานนี้ โจมตีธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งแสดงท่าทีที่ไม่ยอมตามนโยบายของรัฐบาลมาโดยตลอด โดยเฉพาะเรื่องการลดดอกเบี้ย และการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

ทั้งนี้ ธนาคารกลาง หรือ ธนาคารชาติเป็นองค์กรอิสระที่มีความเฉพาะตัว โดยทั่วไป แม้ว่าหน่วยงานเหล่านี้จะเป็นองค์กรของรัฐ ได้รับงบประมาณจากรัฐบาล และผู้ว่าการได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาล แต่จะต้องเป็นอิสระจากรัฐบาล เพราะหากไม่เป็นอิสระแล้ว ก็จะเกิดความเสี่ยงร้ายแรงจากการบิดเบือนและการแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมืองที่รออยู่อย่างแน่นอน ซึ่งส่งผลอย่างสำคัญให้เกิดภัยร้ายแรงที่คุกคามต่อเศรษฐกิจและโครงสร้างทางสังคมของประเทศ

ความเป็นอิสระของธนาคารชาติ และปฏิสัมพันธ์ระหว่างธนาคารชาติกับนโยบายของรัฐบาล มีข้อดีสำหรับทั้งสองฝ่าย 

***ในด้านหนึ่ง รัฐบาลสามารถได้รับประโยชน์จากคำแนะนำด้านเทคนิคจากธนาคารชาติ (ที่มีความเป็นอิสระ) ในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบทางการเงินจากโครงการเศรษฐกิจและการคลังที่เสนอโดยรัฐบาล 

นอกจากนี้ ธนาคารชาติอาจอำนวยความสะดวกในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลได้ด้วยการใช้มาตรการทางการเงินและสินเชื่อที่เหมาะสม และธนาคารชาติยังสามารถช่วยเหลือรัฐบาลได้โดยใช้ชื่อเสียงในฐานะสถาบันอิสระเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับจุดยืนของรัฐบาลในกรณีที่นโยบายทางเศรษฐกิจหรือการคลังที่รัฐบาลดำเนินการถูกมองว่าไม่มั่นคง ขาดเสถียรภาพ 

ดังนั้น ความเป็นอิสระของธนาคารชาติ จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการทำงานที่เป็นกลางและการดำเนินงานด้วยความยุติธรรมในระบบเศรษฐกิจ เมื่อธนาคารชาติเป็นอิสระจากกระทรวงการคลัง ธนาคารชาติก็สามารถตัดสินใจโดยพิจารณาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจมากกว่าแรงกดดันทางการเมือง เพราะความเป็นอิสระนี้ จะช่วยรักษาเสถียรภาพด้านราคา ควบคุมอัตราเงินเฟ้อ และส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน 

***ในอีกมุมหนึ่ง มีหลายสถานการณ์ที่ธนาคารชาติต้องการหรืออย่างน้อยก็จะได้รับอานิสงส์จากมาตรการเสริมของรัฐบาล ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่จะพบว่าวัตถุประสงค์ของนโยบายการเงินที่กำหนดสามารถบรรลุผลได้ง่ายขึ้น หากมีการใช้มาตรการทางการคลังและมาตรการอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ทางการเงินร่วมกับมาตรการทางการเงินและสินเชื่อ 

สรุปแล้ว นโยบายการเงินและสินเชื่อสามารถช่วยเหลือรัฐบาลในการดำเนินโครงการของตนได้ แต่ถ้าธนาคารชาติมีความเห็นที่แตกต่าง ก็อาจเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการคลังของรัฐบาล อย่างเช่น โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งรัฐบาลย่อมไม่เต็มใจที่จะให้ธนาคารชาติดำเนินการอย่างอิสระอีกต่อไป และอยากให้ธนาคารชาติอยู่ภายใต้ขอบเขตอิทธิพลของตน

แน่นอนว่า แนวคิดและมุมมองเช่นนี้ แม้แต่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรัฐประหาร ผู้ที่สังคมไทยมองว่าเป็น ‘จอมเผด็จการ’ ตัวจริงของไทยยังไม่เคยทำเลย เพราะจอมพลสฤษดิ์ไม่เคยเข้าไปวุ่นวายยุ่งเกี่ยวกับการทำงานของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 

ดังนั้นแนวคิดเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นของพรรคเพื่อไทยหรือตัวหัวหน้าพรรคเพื่อไทย จึงเป็นเรื่องที่น่าห่วงใยและเป็นกังวลในผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจ การเงิน และการคลังของชาติในอนาคตเป็นอย่างยิ่ง

‘อนุทิน’ ชี้ ‘แบงก์ชาติ’ ต้องมีอิสระในการทำงานเพื่อบ้านเมือง ยัน!! พรรคร่วมพร้อมหนุนทุกนโยบายที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

(7 พ.ค. 67) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกระแสวิจารณ์ถึงความเป็นกลางของแบงก์ชาติ ระบุว่า “ทุกหน่วยงานต้องมีอิสระในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระ หรือหน่วยงานใดก็ตาม เราก็ต้องทำตามสิ่งที่เป็นประโยชน์กับชาติบ้านเมือง และทำตามนโยบายของรัฐบาล ตราบใดที่นโยบายนั้นเป็นนโยบายที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย ก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศ และประชาชน หลักการมีแค่นี้”

“ในฐานะพรรคร่วม ย้ำว่านโยบายของรัฐบาล อย่าง เงินดิจิทัล 10,000 บาท นั้น เป็นนโยบายหรือไม่ อยู่ในสมุดปกขาวใช่หรือไม่ ก็ถือเป็นนโยบายรัฐบาล คือการที่จะทำนโยบายนี้ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ แน่นอนจะต้องถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ถ้าหลักสำคัญเรื่องนี้ถูกพิสูจน์ได้ เช่นได้รับคำยืนยันจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งถือเป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาลหรือจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสิ่งเหล่านี้ก็ต้องถือว่าพรรคร่วม ก็ต้องสนับสนุน” นายอนุทินกล่าว

นายอนุทิน กล่าวเสริมว่า “ทั้งนี้ตนไม่ใช่นักกฎหมาย เราก็ต้องให้คนที่มีความชำนาญด้านกฎหมาย เป็นผู้ชี้แจงต่อรัฐบาล และประชาชน ในกรณีนี้รัฐบาลทุกรัฐบาล เรามีสำนักงานกฤษฎีกา ซึ่งเปรียบเหมือนเป็นที่ปรึกษากฎหมายแห่งรัฐ เราต้องฟังความเห็น”

‘สมาคมเศรษฐศาสตร์ฯ’ ออกแถลง ‘ความขัดแย้ง ธปท.-ฝ่ายการเมือง’ ชี้!! ฝ่ายการเมืองไม่ควรข่มขู่แบงก์ชาติในที่สาธารณะอย่างโจ่งแจ้ง

(8 พ.ค.67) ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย TDRI ในฐานะนายกสมาคมเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทย และนายวิศาล บุปผเวส เลขาธิการสมาคมเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทย รวบรวมรายชื่อเตรียมออกแถลงการณ์เรื่อง ความขัดแย้งระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กับ ฝ่ายการเมือง ดังนี้…

‘แถลงการณ์ เรื่องความขัดแย้งระหว่าง ธปท. กับ ฝ่ายการเมือง’

ในห้วงเวลาที่ผ่านมา มีการตั้งคำถามถึงความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะจากฝ่ายการเมือง ว่าเป็นสิ่งที่สมควรหรือไม่ เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศหรือไม่ จนนำไปสู่วิวาทะระหว่างฝ่ายที่ต้องการปกป้องความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย กับฝ่ายที่สนับสนุนความเห็นของภาคการเมือง

เนื่องจากวิวาทะเรื่องนี้มีความสำคัญยิ่งต่อการดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งเป็นเสาหลักหนึ่งของนโยบายเศรษฐกิจมหภาคควบคู่กับนโยบายการคลังในทุกประเทศทั่วโลก ในขณะเดียวกันสังคมยังมีความเข้าใจค่อนข้างน้อยในเรื่องความจำเป็นที่ธนาคารกลางต้องมีความเป็นอิสระเพื่อให้สามารถดำเนินนโยบายการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน คณะผู้แถลงการณ์จึงขอแสดงความเห็น ดังนี้...

ความเป็นอิสระของธนาคารกลางมีความจำเป็นด้วยเหตุผลอย่างน้อยสองเหตุผล

ประการแรก ธนาคารกลางควรมีความเป็นอิสระจากอิทธิพลทางการเมืองในระดับหนึ่ง เพื่อป้องกันมิให้การดำเนินนโยบายการเงินเป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการทางการเมืองระยะสั้น ที่อาจส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจในระยะยาวได้ ไม่ว่าจะเป็นเสถียรภาพด้านราคา เสถียรภาพของระบบการเงิน และเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน หากอำนาจในการกำหนดปริมาณเงิน หรืออัตราดอกเบี้ยอยู่ในมือของรัฐบาลผู้ใช้เงิน ก็จะเกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะรัฐบาลมีแรงจูงใจที่จะให้ต้นทุนการใช้เงินหรืออัตราดอกเบี้ยต่ำลง

ประการที่สอง การดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ (inflation targeting) จะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อสาธารณชน ตลาดการเงิน ตลาดทุน ตลาดเงินตราระหว่างประเทศ มีความเชื่อใจธนาคารกลางว่าจะแน่วแน่ในการรักษาเสถียรภาพสามประการที่กล่าวถึงก่อนหน้า จนทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้อ (inflation expectation) อยู่ในกรอบเป้าหมายจริง ซึ่งจะส่งผลให้พฤติกรรมการใช้จ่าย การลงทุน ปริมาณและการหมุนเวียนของเงิน การสร้างสินทรัพย์ทางการเงิน เป็นไปในทิศทางที่เอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพจริง ทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว หากความเชื่อมั่นดังกล่าวถูกทำลายไป หน่วยเศรษฐกิจก็จะมีพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไป จนอาจทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรง ฟองสบู่ อันจะนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงในที่สุด ดังตัวอย่างประเทศตุรกีในปัจจุบัน

ความสำคัญของเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้รับการรับรองจากงานวิชาการจำนวนมากรวมทั้ง ประสบการณ์ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกตลอดระยะเวลาหลายสิบปีหรือมากกว่านั้น ที่แสดงให้เห็นว่าการมีเสถียรภาพของราคา ของระบบการเงิน และของระบบสถาบันการเงินส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ผ่านหลากหลายช่องทาง เช่น การที่ราคามีเสถียรภาพทำให้หน่วยเศรษฐกิจ (ประชาชน ธุรกิจ ภาคการเงิน และอื่น ๆ) สามารถวางแผนการจับจ่าย วางแผนธุรกิจ และแผนการเงิน ได้อย่างเหมาะสม ไม่ต้องกังวลกับความผันผวนของราคา ทำให้การใช้จ่าย การลงทุน การออม เป็นไปตามแผนระยะยาวได้ดีกว่า ส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัว และที่สำคัญคือ การป้องกันวิกฤติเศรษฐกิจ เช่น ฟองสบู่และการหดตัวรุนแรงที่กล่าวถึงข้างต้น

ความสำคัญชองความเป็นอิสระของธนาคารกลางอันนำไปสู่ความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ นำไปสู่ ‘หลักปฏิบัติ’ ที่ได้รับการยอมรับกันทั่วโลกหลายประการ เช่น ฝายการเมืองไม่ควรแสดงท่าทีกดดันหรือข่มขู่ธนาคารกลางในที่สาธารณะอย่างโจ่งแจ้ง แต่สามารถแสดงความคิดเห็นที่ต่างออกไปอย่างสุภาพ มีการพูดคุยที่อิงบนหลักการ หลักฐานเชิงประจักษ์และข้อมูลสนับสนุนอย่างรอบด้าน ไม่ใช่นำเสนอข้อมูลด้านเดียว เป็นต้น ส่วนธนาคารกลางเองก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อภารกิจของตนให้เป็นไปตามกรอบนโยบายเงินเฟ้อที่ตกลงกับรัฐบาลและรัฐสภา เหตุผลสำคัญสำคัญคือ ธนาคารกลางต้องมีความรับผิดชอบต่อสาธารณชน เช่นการออกจดหมายเปิดผนึกอธิบายเหตุผลกรณีที่เงินเฟ้อไม่อยู่ในกรอบเป้าหมาย เป็นต้น

นโยบายการคลังเองก็ต้องรักษาเสถียรภาพด้วยเช่นกัน ผ่านการมีวินัยการคลังที่เหมาะสม เพื่อป้องกันมิให้หนี้สาธารณะ (ทั้งทางการและหนี้ที่เกิดจากนโยบายกึ่งการคลัง) และรายจ่ายในการบริหารหนี้สูงเกินไป ต้องมีนโยบายด้านภาษีที่เหมาะสมกับการพัฒนาประเทศ มีการใช้จ่ายด้านการคลังที่มีประสิทธิภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสประเทศในการก้าวทันพัฒนาการสำคัญ ๆ เช่นพัฒนาการด้านเทคโนโลยี การรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นต้นคณะผู้แถลงการณ์ขอเรียกร้องให้ผู้รับผิดชอบนโยบายการเงินและนโยบายการคลังร่วมมือกันในการรักษาเสถียรภาพในด้านที่ตัวเองรับผิดชอบ และทำการประสานเชิงนโยบายอย่างเหมาะสม ผ่านการพูดคุยถกเถียงที่ตั้งอยู่บนฐานวิชาการ และมีข้อมูลสนับสนุน พร้อมกับการรักษาระดับความอิสระของธนาคารกลางอย่างที่ควรเป็น ประเทศไทยโชคดีที่มีสถาบันและกระบวนการให้หน่วยงานด้านการเงินการคลังร่วมกันจัดทำกรอบงบประมาณประจำปีตามหลักวินัยการ

เงินการคลังอยู่แล้ว รัฐบาลจึงควรใช้กระบวนการนี้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด

อนึ่ง เพื่อหาทางออกร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ คณะผู้แถลงการณ์ขอแจ้งว่านักเศรษฐศาสตร์กลุ่มหนึ่งจะจัดงานเสวนาเรื่อง ‘การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเพื่อสร้างการเจริญเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน’ วัตถุประสงค์เพื่อระดมความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ทุกรุ่นในการหาทางออกให้กับประเทศไทยที่ติดกับดักประเทศรายได้ปานกลางเป็นเวลานาน จนทำให้กลายเป็นผู้ป่วยแห่งอาเซียน งานเสวนาจะมีขึ้นในเร็ว ๆ นี้ โดยจะจัดให้มีการถ่ายทอดผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย

แถลงการณ์ ยังเชิญชวนลงชื่อ ระบุว่า...

เรียน เพื่อนนักเศรษฐศาสตร์ทุกท่าน

สิ่งที่ส่งมาด้วย แถลงการณ์เรื่องความขัดแย้งระหว่าง ธปท. กับ ฝ่ายการเมือง และใบร่วมลงนาม

ตามที่มีความขัดแย้งระหว่างธปท. และฝ่ายการเมืองเรื่องความเป็นอิสระของธนาคารกลาง ผมและเพื่อนนักเศรษฐศาสตร์บางคนมีความเป็นห่วงกังวลมาก และต้องการระดมสมองหาทางออกให้สังคม จึงตกลงร่วมกันดำเนินการ 2 เรื่อง...

เรื่องแรก คือ ออกแถลงการณ์ขอให้ “ผู้รับผิดชอบนโยบายการเงินและนโยบายการคลังร่วมมือกันในการรักษาเสถียรภาพในด้านที่ตัวเองรับผิดชอบ และทำการประสานเชิงนโยบายอย่างเหมาะสม ผ่านการพูดคุยถกเถียงที่ตั้งอยู่บนฐานวิชาการ และมีข้อมูลสนับสนุน พร้อมกับการรักษาระดับความอิสระของธนาคารกลางอย่างที่ควรเป็น” ถ้าท่านเห็นด้วยกับแถลงการณ์นี้ กรุณาลงนามร่วมกันครับ

เรื่องที่สอง คือ เพื่อนนักเศรษฐศาสตร์ที่เป็นกรรมการสมาคมเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทยและผมในฐานะนายกสมาคมฯ ตกลงจะจัดการเสวนาหาทางออกด้านการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะกลาง/ระยะยาว เพื่อเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคง และยกระดับความเป็นอยู่ของคนไทย โดยการระดมความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ทุกรุ่น ในเร็ว ๆ นี้ เบื้องต้นกำหนดจัดการเสวนาในวันที่ 28 มิถุนายน 2567 เวลา 13.00-17.00 น. ที่ศูนย์เรียนรู้ ธปท. สมาคมฯ จะ Confirm วันเวลาที่แน่นอนภายในสัปดาห์นี้ และจะรีบประกาศให้ทราบเพื่อให้นักเศรษฐศาสตร์ทุกรุ่นมีโอกาสร่วมแสดงความเห็นเพื่อหาทางออกให้ประเทศ

จึงเรียนมาเพื่อขอความกรุณาลงนามในแถลงการณ์ (หากท่านเห็นด้วย) และกรุณาส่งใบร่วมลงนาม มายัง คุณนุชนารถ [email protected] โทร 081-442-0052 ภายในวันเสาร์ 11 พฤษภาคม 2567

ผมขอขอบคุณในความร่วมมือครับ
นิพนธ์ พัวพงศกร [email protected]

'อ.พงษ์ภาณุ' ชี้!! เงื่อนไขความเป็นอิสระของธนาคารกลาง ควรอยู่ใต้กรอบนโยบายรัฐและโฟกัสเฉพาะนโยบายการเงิน

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'ความเป็นอิสระของธนาคารกลาง' เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

คงไม่มีใครที่ไม่เห็นด้วยกับหลักการที่ว่า ธนาคารกลางควรมีอิสระในการดำเนินนโยบายการเงิน ภายใต้กรอบอัตราเงินเฟ้อที่ตกลงร่วมกับรัฐบาล

สำหรับประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทยก็สมควรมีอิสระในการทำงาน แต่ต้องอยู่ในเงื่อนไข 2 ประการ คือ (1) focus เฉพาะนโยบายการเงิน และ (2) อยู่ภายใต้กรอบเป้าหมายทางนโยบายของรัฐบาล

ประการแรก ธนาคารกลางที่สำคัญทั่วโลกทำหน้าที่หลักของธนาคารกลาง ซึ่งได้แก่การดำเนินนโยบายการเงินเท่านั้น นโยบายการเงินคือการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อ แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยทำทุกอย่าง ตั้งแต่การกำกับตรวจสอบสถาบันการเงิน จนถึงการแก้ปัญหาโลกร้อน เมื่อทำหลายอย่างก็ย่อมเกิด Conflict of Interest การเข้าไปกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ ก็อาจทำให้เกิดความสัมพันธ์ส่วนตัวกับนายธนาคารจนนำไปสู่ความเกรงอกเกรงใจ จนไม่กล้าที่จะลดดอกเบี้ย เพราะการลดดอกเบี้ยทำให้ธนาคารพาณิชย์มีกำไรลดลง

การทำหน้าที่แบบจับฉ่ายของธนาคารแห่งประเทศไทย ยังนำมาซึ่งการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากรและการใช้เงินภาษีอากร ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของธนาคารกลาง แต่เป็นหน้าที่ทางการคลังของรัฐบาล เมื่อธนาคารกลางเข้ามาทำหน้าที่รัฐบาล แล้วจะไม่ให้รัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายการเมืองเข้ามายุ่งกับธนาคารกลางได้อย่างไร?

ดังนั้นหากต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอิสระ มีความจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายอย่างเร่งด่วนเพื่อจำกัดบทบาทธนาคารแห่งประเทศไทยให้อยู่เฉพาะการดำเนินนโยบายการเงินเท่านั้น ไม่ใช่ทำแบบไม้จิ้มฟันยันเรือรบเช่นในปัจจุบัน

ประการที่สอง ความเป็นอิสระย่อมต้องมาควบคู่กับความรับผิดชอบต่อเป้าหมายและสังคม (Accountability) 'การพลาดเป้า' ของธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ได้เกิดขึ้นวันนี้เป็นครั้งแรก เราคงจำวิกฤตต้มยำกุ้งที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2540 กันได้ ความผิดพลาดของธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้รัฐบาลต้องเข้าให้ความช่วยเหลือผ่านกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จนกลายเป็นหนี้สาธารณะจำนวน 1.4 ล้านล้านบาท และยังใช้หนี้ไม่หมดจนทุกวันนี้

มาถึงวันนี้ นโยบายการเงินพลาดเป้าเงินเฟ้อมา 2 ปีติดต่อกัน และกำลังจะพลาดเป้าอีกครั้งในปีนี้ ปี 2565 เงินเฟ้อไทยขึ้นไปสูงถึงกว่า 6% สูงที่สุดในอาเซียน พอปี 2566 เงินเฟ้อติดลบจนเข้าใกล้ภาวะเงินฝืดประเทศเดียวในอาเซียน ความผันผวนทางการเงินยังความเสียหายแก่ประเทศเป็นอย่างมาก ในภาวะที่นโยบายการเงินพลาดเป้าอย่างน่าอับอายขายหน้าเช่นนี้ คนไทยยังจะยอมให้แบงก์ชาติเป็นรัฐอิสระอยู่อีก หรือจะรอให้เกิดต้มยำกุ้ง ภาค 2 ก่อนจึงค่อยแก้ไข?

'ผู้ว่าแบงก์ชาติไทย' จับมือ 'แบงก์ชาติจีน' เซ็น MOU ลดพึ่งดอลลาร์ฯ ส่งเสริมทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินท้องถิ่น

(23 พ.ค. 67) สำนักข่าวซินหัว ได้รายงานว่าเมื่อวันที่ 21 พ.ค.67 ผู้ว่าการธนาคารกลางของจีน และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือของธนาคารกลางทั้งจีนและไทยเพื่อส่งเสริมการทำธุรกรรมทวิภาคีด้วยสกุลเงินท้องถิ่น 

สอดคลัองกับธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประชาสัมพันธ์การเดินทางไปของนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย พร้อมคณะผู้บริหาร ธปท. ไปยังประเทศจีน ระบุว่านายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย พร้อมคณะผู้บริหาร ธปท. ได้พบปะกับ นายพาน กงเชิ่ง ผู้ว่าการธนาคารกลางจีน (People’s Bank of China) ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 โดยมีการหารือแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือด้านการเงินและธนาคารระหว่างสองประเทศ รวมถึงการสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่น และการเชื่อมโยงการชำระเงินระหว่างกัน

ในโอกาสนี้ ผู้ว่าการธนาคารกลางทั้งสองแห่งได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ว่าด้วยการส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่น ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและการเข้าถึงการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการชำระค่าสินค้าและบริการ ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายของ ธปท. ที่มุ่งสร้างระบบนิเวศทางการเงินให้เอื้อต่อการค้าและการลงทุนในภูมิภาค

ทั้งนี้ ในช่วงหลายเดือนผ่านมานั้น สำนักข่าวชั้นนำทั่วโลก ได้รายงานว่ารัฐมนตรีกระทรวงคลัง และผู้ว่าการธนาคารกลางในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แสดงท่าทีในการหาทางออกที่แต่ละประเทศสมาชิกจะลดการพึ่งพิงการใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ในขณะเดียวกันก็เป็นการส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นเพื่อทำธุรกรรมในการชำระเงินด้านการค้าระหว่างกันด้วย

ที่ผ่านมา รัฐบาลประเทศจีน พยายามผลักดันการใช้สกุลเงินหยวนในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศมากขึ้น เพื่อที่จะลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และผลักดันให้เงินหยวนขึ้นไปเป็นสกุลเงินหลักของโลก พร้อมกันนั้นก็ได้ส่งเสริมให้พันธมิตรและคู่ค้าของจีนใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการทำธุรกรรมมากขึ้น อย่างเช่น รัสเซีย, อินเดีย และประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มบริกส์ (BRICS) สำหรับการลงนามความร่วมมือระหว่างจีนกับไทยในครั้งนี้ คาดว่าเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของจีนเพื่อวัตถุประสงค์เดียวกันนั้น

'อ.พงษ์ภาณุ' สวด!! 'แบงก์ชาติ' มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ ขัด 'นโยบายการเงิน-การคลัง' บั่นทอนความเชื่อมั่นนักลงทุน

(7 ก.ค. 67) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ กล่าวถึงธนาคารแห่งประเทศไทย ว่า...

ดูเหมือนว่าช่วงนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะขยันออกข่าวเป็นพิเศษ และการออกข่าวแต่ละครั้งมีลักษณะขวางโลก ย้อนแย้งความรู้สึกของประชาชน และมุ่งสร้างความขัดแย้งกับนโยบายการคลังของรัฐบาล

มุมมองของ ธปท.ขวางโลก เพราะตั้งแต่เดือนที่แล้วธนาคารกลางทั่วโลกได้ประสานเสียงกันลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank-ECB) ธนาคารแห่งอังกฤษ (Bank of England) ธนาคารแห่งแคนาดา (Bank of Canada) ธนาคารแห่งชาติสวิส (Swiss National Bank) และแม้แต่ Federal Reserve ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งแม้ว่าจะยังไม่ลดแต่ก็มีแนวโน้มจะลดดอกเบี้ยนโยบายเร็วๆ นี้

ความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางทั่วโลกในครั้งนี้ถือเป็นจุดหักเห (Turning Point) ที่สำคัญของนโยบายการเงิน นับจากวงจรการขึ้นดอกเบี้ยโลก ซึ่งเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2565 เป็นต้นมา แต่ ธปท. มักจะอ้างเหตุผลของการไม่ลดดอกเบี้ยว่าดอกเบี้ยไทยอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น และประเทศไทยเริ่มขึ้นดอกเบี้ยรอบที่แล้วล่าช้ากว่าประเทศอื่น 

ทว่าความจริงแล้ว เป็นการหลอกลวงประชาชน เพราะเราต้องดูอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest Rate) ซึ่งก็คืออัตราดอกเบี้ยหักด้วยอัตราเงินเฟ้อ ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยถือได้ว่าสูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง บ่งบอกว่านโยบายการเงินไทยมีความตึงตัวมากกว่าประเทศอื่น 

ฉะนั้น ประการแรก การที่ ธปท. เริ่มขึ้นดอกเบี้ยรอบที่แล้วช้ากว่าธนาคารกลางอื่น น่าจะมีจุดประสงค์ที่จะเอาใจฝ่ายการเมืองสมัยนั้นมากกว่าเหตุผลทางเศรษฐกิจ เพราะเงินเฟ้อของไทยในปี 2565 ขึ้นไปถึงกว่า 8% สูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง

ประการต่อมา มุมมองของ ธปท. ย้อนแย้งกับมุมมองทั่วไปของประชาชนและสำนักเศรษฐกิจแทบจะทุกสำนักที่เห็นตรงกันว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะคับขันและจำเป็นต้องมีการเยียวยาอย่างเร่งด่วน ซึ่งเป็นที่มาของการออกมาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิเช่น การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของงบประมาณปี 2567 การตั้งงบประมาณปี 2568 ที่มีอัตราเติบโตของการใช้จ่ายสูงเป็นประวัติการ การผ่อนคลายการถือครองอสังหาริมทรัพย์ของต่างชาติ การออกมาตรการกระตุ้นตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น คงจะมี ธปท.อยู่หน่วยงานเดียวที่มัวหลงระเริงอยู่กับความฝันลมๆ แล้งๆ ที่ว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นแล้ว

ประการสุดท้าย การสร้างความขัดแย้งกับนโยบายการคลัง ซึ่ง ธปท. กำลังสร้างขึ้นมาผ่านสื่อต่าง ๆ โดยไม่จำเป็น เป็นต้นเหตุของการบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน การปรับกรอบเงินเฟ้อตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง เป็นทางออกที่ดีที่จะช่วยประสานการทำงานของนโยบายการคลังและนโยบายการเงินให้ไปด้วยกันได้ราบรื่นขึ้น ขณะที่ยังรักษาความเป็นอิสระของการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบที่ปรับปรุงใหม่ได้เป็นอย่างดี แต่กลับได้รับการคัดค้านผ่านสื่อ ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องที่สมควรหารือเป็นการภายในระหว่างสองหน่วยงาน

ขณะนี้โลกกำลังมีสัญญาณการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น อังกฤษได้ผู้นำรัฐบาลใหม่จากพรรคแรงงาน ซึ่งมีนโยบายกระตุ้นการเติบโต (Pro Growth) อย่างชัดเจน ธนาคารกลางชั้นนำทั่วโลกร่วมมือกันประสานนโยบายดอกเบี้ยขาลงอย่างเป็นระบบ รัฐบาลลาวมีมติปลดผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งลาวไปเมื่อเร็วๆ นี้ เพราะทำงานไม่ได้เรื่อง น่าเสียดายที่ไทยไม่สามารถเติบโตไปพร้อมๆ กับโลกจากสาเหตุที่มีธนาคารกลางที่มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ

'อ.พงษ์ภาณุ' มอง!! รัฐคลอด Digital Wallet ในจังหวะ ศก.ตกต่ำ ถูกช่วง!! ห่วง!! อาจเกิดภาระการคลังเพิ่มเติม แต่ก็ต้องยอมในยามแบงก์ชาตินิ่งเฉย

(28 ก.ค. 67) ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ในมุมมองของ 'ความชัดเจนจากภาครัฐในโครงการ Digital Wallet' โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ในที่สุดข่าวดีที่คนไทยรอคอยก็มาถึง ขณะนี้มาตรการ Digital Wallet มีความชัดเจนมากที่สุด ทั้งในเรื่องของหลักเกณฑ์ ขนาดวงเงิน คุณสมบัติของผู้ได้รับสิทธิและร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ กำหนดการลงทะเบียน ตลอดจนแหล่งที่มาของเงินที่จะใช้ในโครงการ

แม้ว่าเม็ดเงินจริงจะยังไม่ออกมาจนกระทั่งเดือนธันวาคม แต่ผลจากการประกาศความชัดเจนก็ได้ก่อเกิด Announcement Effect ขึ้นมาแล้ว ประชาชนผู้บริโภคเริ่มมีความคาดหวังจากกำลังซื้อที่จะมีมากขึ้น ผู้ผลิต/ผู้ประกอบการเริ่มเตรียมแผนเพิ่มกำลังการผลิตและแผนโปรโมชันต่าง ๆ นักลงทุนเริ่มมีความมั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ/การลงทุนที่กำลังจะฟื้นตัวขึ้น แม้ว่าหน่วยงานสำคัญอย่างธนาคารแห่งประเทศไทยจะทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อน แถมยังออกมาแย้งและค้านอยู่เนือง ๆ เข้าทำนองมือไม่พายเอาเท้าราน้ำ

ในแง่จังหวะเวลา (Timing) Digital Wallet ออกมาในช่วงที่เศรษฐกิจไทยตกต่ำที่สุด แม้ว่าจะมีสัญญาณดีจากการท่องเที่ยวและการส่งออกที่เริ่มขยายตัวจากเศรษฐกิจโลกที่ยังดีอยู่ แต่อุปสงค์ในประเทศกลับหดตัวจากนโยบายการเงินที่ไม่มีทีท่าว่าจะผ่อนคลายแต่อย่างใด

ในแง่เป้าหมาย (Target) Digital Wallet มุ่งส่งเสริมการบริโภคและการผลิตสินค้าภายในประเทศอย่างชัดเจน มีการกำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายเงิน และมีการควบคุมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและ Blockchain ซึ่งป้องกันการรั่วไหล (Leakage) ออกจากการหมุนเวียนในประเทศ ซึ่งจะทำให้การใช้จ่ายของภาครัฐครั้งนี้มีพลังทวีคูณ (Multiplier) มากกว่าการใช้จ่ายทั่วไปของรัฐ

ในแง่ความโปร่งใส (Transparency) ต้องถือว่าการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้ถูกควบคุมด้วยเทคโนโลยี Blockchain ข้อมูล/สถิติการใช้จ่ายเงินแผ่นดินสามารถติดตามตรวจสอบได้แบบ realtime และ online ไม่เพียงแต่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน แต่ประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบการใช้จ่ายของรัฐบาลได้ว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่

สุดท้าย ความห่วงใยเกี่ยวกับความคุ้มค่าและภาระทางการคลัง ก็ไม่น่าจะเป็นประเด็นอีกต่อไป ต้องยอมรับว่า การใช้จ่ายที่มี Impact ตรงต่อการผลิต/การจ้างงานสูงสุดคือ การลงทุนภาครัฐ แต่เมื่อคำนึงถึงความเร่งด่วนแล้ว คงไม่มีอะไรที่ทำได้เร็วกว่าการแจกเงินตรงถึงประชาชน แล้วให้ประชาชนเป็นผู้ใช้จ่ายเองตามเงื่อนไขที่รัฐกำหนด นอกจากนี้ Application ที่สร้างขึ้นมาเพื่อโครงการนี้ ก็น่าจะถือเป็นนวัตกรรม ซึ่งสามารถนำไปใช้กับโครงการอื่นๆของรัฐในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

ในด้านภาระการคลัง ก็ต้องยอมรับว่ามาตรการนี้ก่อเกิดภาระการคลังเพิ่มเติมอยู่บ้าง รัฐบาลเองก็ยอมรับว่าหนี้สาธารณะจะกระเถิบสูงขึ้นบ้าง จาก 62% ของ GDP ในปัจจุบัน เป็นใกล้ ๆ 70% เมื่อจบโครงการ แต่ก็เป็นภาระที่คนไทยต้องยอมรับ ในภาวะที่ธนาคารกลางและนโยบายการเงินไม่ทำหน้าที่ของตนเองที่ควรจะทำ

'กนง.' มีมติคงอัตราดอกเบี้ย 2.50% ต่อปี ชี้!! เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวตามเป้า

(21 ส.ค. 67) นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 4/67ว่า คณะกรรมการฯ มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี โดย 1 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวตามที่ประเมินไว้ จากการท่องเที่ยวและอุปสงค์ในประเทศ ขณะที่การส่งออกโดยรวมฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป สำหรับอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2567 กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่โน้มเข้าสู่ศักยภาพและการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ 

อย่างไรก็ดี ต้องติดตามผลกระทบของคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงต่อภาวะการเงินและเศรษฐกิจโดยรวม ขณะที่กรรมการ 1 ท่าน เห็นว่าควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ชัดเจนขึ้น และจะมีส่วนช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ได้บ้าง

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการท่องเที่ยวและอุปสงค์ในประเทศ แม้แรงส่งจากการบริโภคภาคเอกชนในระยะต่อไปจะชะลอลงบ้างหลังขยายตัวดีในช่วงก่อนหน้า ขณะที่การส่งออกสินค้าและภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยการส่งออกสินค้าบางกลุ่มยังถูกกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง 

ทั้งนี้ เศรษฐกิจในแต่ละภาคส่วนยังฟื้นตัวแตกต่างกันโดยรายได้แรงงานในภาคการผลิตและผู้ประกอบอาชีพอิสระมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่ากลุ่มอื่น ในระยะต่อไป ต้องติดตามความเสี่ยงด้านต่ำจากการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับลดลงกว่าที่ประเมินไว้ โดยราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มชะลอลงตามผลผลิตที่ขยายตัวดีจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ส่งผลให้แนวโน้มราคาหมวดพลังงานและอาหารสดไม่เร่งสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับอดีต ประกอบกับการแข่งขันที่สูงขึ้นจากสินค้านำเข้า 

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับกรอบเป้าหมาย และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2567 แต่ต้องติดตามการขยายมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ

ภาวะการเงินโดยรวมตึงตัวขึ้นบ้าง โดยตลาดการเงินเคลื่อนไหวผันผวนจากมุมมองผู้ร่วมตลาดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. ปรับแข็งค่า ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยปรับลดลงตามการเคลื่อนไหวของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ด้านต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนผ่านธนาคารพาณิชย์และตลาดตราสารหนี้ยังทรงตัวใกล้เคียงเดิม สินเชื่อภาคธุรกิจโดยรวมทรงตัว โดยสินเชื่อในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์หดตัวส่วนหนึ่งจากปัญหาเชิงโครงสร้าง 

ขณะที่สินเชื่อ SMEs หดตัวจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงขึ้น ด้านสินเชื่อครัวเรือนชะลอลงและคุณภาพสินเชื่อปรับด้อยลง ส่วนหนึ่งจากความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนกลุ่มเปราะบางที่ปรับลดลงจากรายได้ที่ฟื้นตัวช้า คณะกรรมการฯ เห็นว่าควรติดตามผลกระทบของคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงต่อต้นทุนการกู้ยืมและการขยายตัวของสินเชื่อในภาพรวม รวมถึงนัยต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 

คณะกรรมการฯ ตระหนักถึงปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs จึงสนับสนุนมาตรการเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว เช่น มาตรการค้ำประกันสินเชื่อ รวมทั้งยังสนับสนุนนโยบายของ ธปท. ที่ให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดและมีส่วนช่วยให้กระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ (debt deleveraging) เกิดขึ้นต่อเนื่อง 

ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ และเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจและภาวะการเงินที่มีความเชื่อมโยงกัน โดยจะพิจารณานโยบายการเงินให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า

'อ.พงษ์ภาณุ' แนะ!! เมื่อนายกแพทองธารรับตำแหน่งแล้ว ก็สมควรจะต้องแก้อุปสรรคของการพัฒนาประเทศอย่างเร่งด่วน

(25 ส.ค. 67) ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ได้พูดคุยถึงคำกล่าวของ นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ซึ่งได้กล่าวไว้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ก่อนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ว่า...

"น่าจะตรงและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันที่สุด เพราะที่ผ่านมาหลายท่านคงจะรู้สึกเหมือนว่าประเทศไทยไม่มีธนาคารกลาง หรือหากมี ก็เป็นธนาคารกลางที่ไม่แคร์ความรู้สึกและความเดือดร้อนของประชาชน

"ดังนั้น เมื่อนายกแพทองธารรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการแล้ว ก็สมควรจะต้องแก้อุปสรรคของการพัฒนาประเทศอย่างเร่งด่วน เพราะหากปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไป ก็ยากที่จะเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศกลับคืนมา รวมทั้งการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและลูกหนี้รายเล็กรายน้อยที่กำลังกลายเป็น NPL และจะถูกยึดทรัพย์สินในเร็ว ๆ นี้"

อ.พงษ์ภาณุ กล่าวอีกว่า "ไม่มีใครไม่เห็นด้วยว่าธนาคารกลางต้องมีความเป็นอิสระ แต่ความเป็นอิสระดังกล่าวต้องอยู่ภายในขอบเขตแห่งการดำเนินนโยบายการเงิน (Monetary Policy Independence) เท่านั้น 

ทั้งนี้ อ.พงษ์ภาณุ มองว่า ความเป็นอิสระของธนาคารกลางต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข 2 ประการ...

ประการแรก ธปท. ต้องมี Focus ที่การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพของระดับราคาเท่านั้น มิใช่ทำงานแบบจับฉ่ายเช่นที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการกำกับดูแลสถาบันการเงิน การแก้ไขหนี้นอกระบบ การแก้ไขปัญหาโลกร้อน เป็นต้น ซึ่งล้วนนำมาซึ่ง Conflict of Interest กับนโยบายการเงินและความเกรงอกเกรงใจเจ้าของและผู้บริหารสถาบันการเงิน การตัดสินใจลดดอกเบี้ยแต่ละคร้้งก็มัวแต่กลัวว่าแบงก์จะมีกำไรลดลง แทนที่จะคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง

ประการที่สอง การดำเนินนโยบายการเงินต้องมีความรับผิดชอบ (Accountability) และอยู่ในกรอบ Inflation Targeting อย่างเคร่งครัด ซึ่งมีเป้าหมายเงินเฟ้อที่ตกลงกับรัฐบาลไว้อย่างชัดเจน และจะต้องมีการติดตามและประเมินการทำงานของ ธปท. อย่างใกล้ชิด เมื่อมีผลประกอบการผิดเป้าหมาย เช่นที่เกิดขึ้นตลอด 2 ปีที่ผ่านมา และปีนี้จะเป็นปีที่สามที่นโยบายการเงินพลาดเป้า จะต้องมีผู้รับผิดชอบ เพราะได้สร้างความเสียหายร้ายแรงต่อประเทศชาติ รวมทั้งจะต้องมีการปรับกรอบเงินเฟ้อให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้นตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอไว้ด้วย

เงื่อนไขความเป็นอิสระของธนาคารกลางดังกล่าวข้างต้น อาจจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายธนาคารแห่งประเทศ และอาจไม่สามารถทำได้รวดเร็วนัก แต่มีบางสิ่งบางอย่างที่ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สามารถทำได้ทันที เช่น การปรับกรอบเงินเฟ้อให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลมากยิ่งขึ้น การปรับปรุงตัวบุคคลในองค์ประกอบคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ให้มีความเป็นอิสระและเป็นมืออาชีพ แทนที่จะเป็นกลุ่มคนที่อยู่ใต้การควบคุมของผู้ว่าการ ธปท. รวมทั้งการเปลี่ยนตัวผู้ว่าการ ธปท. บางคน ที่ทำตัวเสมือนเจ้าอาณาจักรที่แฝงตัวอยู่ในประเทศไทย

ข้อเสนอแก้หนี้ครัวเรือน กับผลงานชิ้นโบแดงของแบงก์ชาติ

(1 ก.ย. 67) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ

ในบรรดาหลายมาตรการที่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เสนอในเวที Vision for Thailand เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าข้อเสนอปรับโครงสร้างหนี้ภาคประชาชน โดยแบ่งเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ครึ่งหนึ่ง (0.23% ของฐานเงินฝากของธนาคารพาณิชย์) มาสมทบกับเงินของสถาบันการเงินเอง เพื่อ Haircut หนี้ของลูกหนี้ที่มีปัญหา เป็นข้อเสนอที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษและมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติสูง

ข้อเสนอดังกล่าวเป็นการคิดนอกกรอบอีกครั้งหนึ่งของท่านนายกทักษิณ ซึ่งหากทำสำเร็จ ก็จะผ่อนคลายความเดือดร้อนของประชาชนที่ต้องแบกรับภาระหนี้ที่มีจำนวนสูงถึงกว่า 16 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 91% ของ GDP และเป็นตัวเหนี่ยวรั้งการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยมายาวนาน

ทันทีที่ข้อเสนอถูกเผยออกมา ผู้บริหารแบงก์ชาติถึงกับเกิดอาการอึ้ง เมื่อถูกสื่อสอบถามความเห็น แต่ก็ได้ให้ลิ่วล้อออกมาส่งเสียงคัดค้านว่าจะเกิดผลเสียต่อการบริหารหนี้ FIDF (Financial Institutions Development Fund) ต่าง ๆ นานา ทั้ง ๆ ที่หนี้ FIDF ก้อนนี้ ซึ่งยังคงค้างอยู่ประมาณ 600,000 ล้านบาท เป็นหนี้สาธารณะที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการคลัง ไม่ใช่หน้าที่ของ ธปท. แต่ ธปท. ในฐานะธนาคารกลางที่เป็นอิสระ เป็นผู้สร้างขึ้นมาจากน้ำมือของ ธปท. เองล้วน ๆ

ย้อนหลังไปเมื่อปี 2540 หลายท่านอาจจำไม่ได้แล้วว่า ประเทศไทยมีอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ (Fixed Exchange Rate) ธปท. ในฐานะผู้รับผิดชอบนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน จึงออกไป Defend ค่าเงินบาท ปกป้องไปปกป้องมาจนผลาญเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเสียเกลี้ยง จึงต้องประกาศลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 พร้อม ๆ กับการเข้าโปรแกรม IMF การปิดสถาบันการเงิน และการให้รัฐบาลประกาศรับประกันเงินฝากของประชาชนที่สถาบันการเงิน จึงเป็นที่มาของหนี้จำนวนมากมายมหาศาล ซึ่งในที่สุด ธปท. ต้องร้องขอให้รัฐบาลแปลงจากหนี้ของกองทุน FIDF มาเป็นหนี้สาธารณะ (Fiscalization)

เนื่องจากหนี้ FIDF มีที่มาจากระบบสถาบันการเงิน จึงไม่เหมาะสมที่จะให้คนไทยผู้เสียภาษีทั้งประเทศรับภาระหนี้ก้อนนี้ ซึ่งมีจำนวนสูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท จึงมีความตกลงกันให้ ธปท. รับผิดชอบชดใช้เงินต้น และกระทรวงการคลังรับภาระดอกเบี้ย แต่จนแล้วจนรอด ธปท. ก็ไม่ทำตามสัญญา โดยอ้างว่าไม่มีกำไร ในขณะที่ยังคงจ่ายโบนัสพนักงานอยู่เป็นปกติ 

เมื่อหนี้ไม่ลด การชำระดอกเบี้ย จึงไม่ลดไปด้วย โดยกระทรวงการคลังต้องขอตั้งงบประมาณชำระดอกเบี้ยเป็นจำนวนสูงถึงปีละกว่า 60,000 ล้านบาท

เมื่อ ธปท. ไม่ชำระหนี้เงินต้นตามที่ตกลงกันไว้ จึงเป็นที่มาของการออกกฎหมายกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์นำส่งเงินเพื่อชำระหนี้ FIDF จำนวน 0.46% ของฐานเงินฝาก ในสมัยที่คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาหนี้ FIDF อย่างเบ็ดเสร็จและตรงจุด และผลจากการดำเนินการดังกล่าวได้ทำให้รัฐบาลสามารถลดภาระงบประมาณได้อย่างมากและลดยอดหนี้ FIDF คงค้างเหลือไม่ถึง 600,000 ล้านบาทในปัจจุบัน

ดังนั้นข้อเสนอของอดีตนายกทักษิณ แม้จะทำให้การชำระหนี้ FIDF ล่าช้าไปบ้าง แต่ก็เป็นทางออกที่เหมาะสมในการบรรเทาปัญหาหนี้ภาคประชาชน ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนที่รุมเร้าสังคมไทยอยู่ทุกวันนี้ ส่วนคนที่ควรรักษามารยาท ก็น่าจะเป็น ธปท. เพราะเป็นผู้สร้างปัญหามาแต่ต้น และก็ไม่สามารถแก้ปัญหาที่ตัวเองก่อขึ้นได้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top