'อ.พงษ์ภาณุ' แนะ!! เมื่อนายกแพทองธารรับตำแหน่งแล้ว ก็สมควรจะต้องแก้อุปสรรคของการพัฒนาประเทศอย่างเร่งด่วน
(25 ส.ค. 67) ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ได้พูดคุยถึงคำกล่าวของ นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ซึ่งได้กล่าวไว้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ก่อนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ว่า...
"น่าจะตรงและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันที่สุด เพราะที่ผ่านมาหลายท่านคงจะรู้สึกเหมือนว่าประเทศไทยไม่มีธนาคารกลาง หรือหากมี ก็เป็นธนาคารกลางที่ไม่แคร์ความรู้สึกและความเดือดร้อนของประชาชน
"ดังนั้น เมื่อนายกแพทองธารรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการแล้ว ก็สมควรจะต้องแก้อุปสรรคของการพัฒนาประเทศอย่างเร่งด่วน เพราะหากปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไป ก็ยากที่จะเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศกลับคืนมา รวมทั้งการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและลูกหนี้รายเล็กรายน้อยที่กำลังกลายเป็น NPL และจะถูกยึดทรัพย์สินในเร็ว ๆ นี้"
อ.พงษ์ภาณุ กล่าวอีกว่า "ไม่มีใครไม่เห็นด้วยว่าธนาคารกลางต้องมีความเป็นอิสระ แต่ความเป็นอิสระดังกล่าวต้องอยู่ภายในขอบเขตแห่งการดำเนินนโยบายการเงิน (Monetary Policy Independence) เท่านั้น
ทั้งนี้ อ.พงษ์ภาณุ มองว่า ความเป็นอิสระของธนาคารกลางต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข 2 ประการ...
ประการแรก ธปท. ต้องมี Focus ที่การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพของระดับราคาเท่านั้น มิใช่ทำงานแบบจับฉ่ายเช่นที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการกำกับดูแลสถาบันการเงิน การแก้ไขหนี้นอกระบบ การแก้ไขปัญหาโลกร้อน เป็นต้น ซึ่งล้วนนำมาซึ่ง Conflict of Interest กับนโยบายการเงินและความเกรงอกเกรงใจเจ้าของและผู้บริหารสถาบันการเงิน การตัดสินใจลดดอกเบี้ยแต่ละคร้้งก็มัวแต่กลัวว่าแบงก์จะมีกำไรลดลง แทนที่จะคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง
ประการที่สอง การดำเนินนโยบายการเงินต้องมีความรับผิดชอบ (Accountability) และอยู่ในกรอบ Inflation Targeting อย่างเคร่งครัด ซึ่งมีเป้าหมายเงินเฟ้อที่ตกลงกับรัฐบาลไว้อย่างชัดเจน และจะต้องมีการติดตามและประเมินการทำงานของ ธปท. อย่างใกล้ชิด เมื่อมีผลประกอบการผิดเป้าหมาย เช่นที่เกิดขึ้นตลอด 2 ปีที่ผ่านมา และปีนี้จะเป็นปีที่สามที่นโยบายการเงินพลาดเป้า จะต้องมีผู้รับผิดชอบ เพราะได้สร้างความเสียหายร้ายแรงต่อประเทศชาติ รวมทั้งจะต้องมีการปรับกรอบเงินเฟ้อให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้นตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอไว้ด้วย
เงื่อนไขความเป็นอิสระของธนาคารกลางดังกล่าวข้างต้น อาจจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายธนาคารแห่งประเทศ และอาจไม่สามารถทำได้รวดเร็วนัก แต่มีบางสิ่งบางอย่างที่ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สามารถทำได้ทันที เช่น การปรับกรอบเงินเฟ้อให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลมากยิ่งขึ้น การปรับปรุงตัวบุคคลในองค์ประกอบคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ให้มีความเป็นอิสระและเป็นมืออาชีพ แทนที่จะเป็นกลุ่มคนที่อยู่ใต้การควบคุมของผู้ว่าการ ธปท. รวมทั้งการเปลี่ยนตัวผู้ว่าการ ธปท. บางคน ที่ทำตัวเสมือนเจ้าอาณาจักรที่แฝงตัวอยู่ในประเทศไทย