Thursday, 22 May 2025
นโยบายการเงิน

'อ.พงศ์พาณุ' ชี้!! ความขัดแย้งระหว่างนโยบายการเงินกับการคลัง กำลังก่อ 'ปัญหา-เหนี่ยวรั้ง' ความก้าวหน้าของเศรษฐกิจไทย

(1 ก.พ. 67) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ได้กล่าวว่า...

ต้นปี 2567 ความขัดแย้งระหว่างนโยบายการเงินกับนโยบายการคลังยังคงเป็นปัญหาเหนี่ยวรั้งความก้าวหน้าของเศรษฐกิจไทยอยู่ ในขณะที่นโยบายการคลังพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ผ่านพ้นจากวิกฤตที่กำลังเผชิญอยู่ แต่นโยบายการเงินกลับสวนทางและฉุดให้เศรษฐกิจไทยถอยหลังลงเหวอย่างไร้ความรับผิดชอบ ความขัดแย้งดังกล่าวบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนและไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติเลย กระทรวงการคลังรายงานคณะรัฐมนตรีเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 เติบโตเพียง 1.8% วันรุ่งขึ้นธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาบอกว่าประมาณการนี้ไม่ถูกต้อง จึงควรต้องตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับองค์กรที่รับผิดชอบนโยบายการเงิน

เป็นที่ยอมรับในสากลว่านโยบายการเงินมีหน้าที่หลักในการรักษาเสถียรภาพของระดับราคา ผ่านกลไกอัตราดอกเบี้ยนโยบายในกรอบ Inflation Targeting และธนาคารกลางสมควรมีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงิน แต่ทั้งนี้ก็ต้องอยู่ภายในกรอบเงินเฟ้อที่รัฐบาลเห็นชอบ 

ในกรณีของประเทศไทย กรอบเงินเฟ้อกำหนดไว้ที่ 1-3% เมื่อปี 2565 มีแรงกดดันเงินเฟ้อ แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้นดอกเบี้ยล่าช้าไม่ทันการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางอื่นทั่วโลก อาจด้วยเหตุผลทางการเมือง เป็นเหตุให้ภาวะเงินเฟ้อในไทยพุ่งทยานขึ้นสูงถึง 6.1% ซึ่งเป็นระดับที่เกือบจะสูงที่สุดในโลกและเกินกรอบเงินเฟ้อที่ตกลงกับรัฐบาลกว่าเท่าตัว 

พอมาปี 2566 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ธนาคารแห่งประเทศไทยกลับมาเร่งขึ้นดอกเบี้ยหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มถดถอยและอัตราเงินเฟ้อจะหลุดกรอบล่างไปแล้ว ทำให้ไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืด (Deflation) โดยมีเงินเฟ้อติดลบ 3 เดือนติดต่อกันในไตรมาสสุดท้าย ประเทศไทยจึงอาจเป็นประเทศที่มีความผันผวนทางการเงินสูงที่สุดประเทศหนึ่ง

น่าแปลกใจที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยไม่เคยออกมาแสดงความรับผิดชอบอย่างลูกผู้ชาย แต่กลับแก้ตัวแบบข้างๆ คูๆ ว่า ไม่ใช่เรื่องของแบงก์ชาติ แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศไทย คงต้องทำใจแล้วว่าเรามีธนาคารกลางที่มีความสามารถในการโยนความผิดให้ผู้อื่น และเก่งในทุก ๆ เรื่อง ยกเว้นเรื่องนโยบายการเงิน ถ้าผู้ก่อตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีชีวิตอยู่ก็คงจะเสียใจมิใช่น้อย

'อ.พงษ์ภาณุ' ชี้!! เงื่อนไขความเป็นอิสระของธนาคารกลาง ควรอยู่ใต้กรอบนโยบายรัฐและโฟกัสเฉพาะนโยบายการเงิน

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'ความเป็นอิสระของธนาคารกลาง' เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

คงไม่มีใครที่ไม่เห็นด้วยกับหลักการที่ว่า ธนาคารกลางควรมีอิสระในการดำเนินนโยบายการเงิน ภายใต้กรอบอัตราเงินเฟ้อที่ตกลงร่วมกับรัฐบาล

สำหรับประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทยก็สมควรมีอิสระในการทำงาน แต่ต้องอยู่ในเงื่อนไข 2 ประการ คือ (1) focus เฉพาะนโยบายการเงิน และ (2) อยู่ภายใต้กรอบเป้าหมายทางนโยบายของรัฐบาล

ประการแรก ธนาคารกลางที่สำคัญทั่วโลกทำหน้าที่หลักของธนาคารกลาง ซึ่งได้แก่การดำเนินนโยบายการเงินเท่านั้น นโยบายการเงินคือการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อ แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยทำทุกอย่าง ตั้งแต่การกำกับตรวจสอบสถาบันการเงิน จนถึงการแก้ปัญหาโลกร้อน เมื่อทำหลายอย่างก็ย่อมเกิด Conflict of Interest การเข้าไปกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ ก็อาจทำให้เกิดความสัมพันธ์ส่วนตัวกับนายธนาคารจนนำไปสู่ความเกรงอกเกรงใจ จนไม่กล้าที่จะลดดอกเบี้ย เพราะการลดดอกเบี้ยทำให้ธนาคารพาณิชย์มีกำไรลดลง

การทำหน้าที่แบบจับฉ่ายของธนาคารแห่งประเทศไทย ยังนำมาซึ่งการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากรและการใช้เงินภาษีอากร ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของธนาคารกลาง แต่เป็นหน้าที่ทางการคลังของรัฐบาล เมื่อธนาคารกลางเข้ามาทำหน้าที่รัฐบาล แล้วจะไม่ให้รัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายการเมืองเข้ามายุ่งกับธนาคารกลางได้อย่างไร?

ดังนั้นหากต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอิสระ มีความจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายอย่างเร่งด่วนเพื่อจำกัดบทบาทธนาคารแห่งประเทศไทยให้อยู่เฉพาะการดำเนินนโยบายการเงินเท่านั้น ไม่ใช่ทำแบบไม้จิ้มฟันยันเรือรบเช่นในปัจจุบัน

ประการที่สอง ความเป็นอิสระย่อมต้องมาควบคู่กับความรับผิดชอบต่อเป้าหมายและสังคม (Accountability) 'การพลาดเป้า' ของธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ได้เกิดขึ้นวันนี้เป็นครั้งแรก เราคงจำวิกฤตต้มยำกุ้งที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2540 กันได้ ความผิดพลาดของธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้รัฐบาลต้องเข้าให้ความช่วยเหลือผ่านกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จนกลายเป็นหนี้สาธารณะจำนวน 1.4 ล้านล้านบาท และยังใช้หนี้ไม่หมดจนทุกวันนี้

มาถึงวันนี้ นโยบายการเงินพลาดเป้าเงินเฟ้อมา 2 ปีติดต่อกัน และกำลังจะพลาดเป้าอีกครั้งในปีนี้ ปี 2565 เงินเฟ้อไทยขึ้นไปสูงถึงกว่า 6% สูงที่สุดในอาเซียน พอปี 2566 เงินเฟ้อติดลบจนเข้าใกล้ภาวะเงินฝืดประเทศเดียวในอาเซียน ความผันผวนทางการเงินยังความเสียหายแก่ประเทศเป็นอย่างมาก ในภาวะที่นโยบายการเงินพลาดเป้าอย่างน่าอับอายขายหน้าเช่นนี้ คนไทยยังจะยอมให้แบงก์ชาติเป็นรัฐอิสระอยู่อีก หรือจะรอให้เกิดต้มยำกุ้ง ภาค 2 ก่อนจึงค่อยแก้ไข?

ได้เวลา 'รัฐบาล' ปรับกรอบเงินเฟ้อ เปิดทางลดดอกเบี้ย ช่วยถ่วงดุลนโยบายการเงินที่พลาดเป้าอย่างเหมาะสม

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ในประเด็น 'การปรับกรอบเงินเฟ้อ เปิดทางลดดอกเบี้ย' โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ครม.เศรษฐกิจของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เป็นนิมิตหมายที่ดีและแสดงออกถึงความเป็นเอกภาพของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่นักลงทุนจับตามอง การที่เศรษฐกิจไทยเติบโตได้เพียง 1.5% แม้ว่าทางเทคนิคจะยังไม่ถือว่าเป็นภาวะถดถอย แต่ก็เป็นสัญญาณเตือนภัยว่าความไม่เป็นเอกภาพของนโยบายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน กำลังบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างรุนแรง

หลายสำนักเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะเติบโตได้เพียงประมาณ 2.5-3.0% แต่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ซึ่งกำลังทยอยออกมา อาจทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ถึง 3.5% ตามที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตั้งเป้าไว้ มาตรการช่วยให้ธุรกิจรายย่อย และ SME เข้าถึงสินเชื่อของสถาบันการเงิน มีความจำเป็นเพราะสินเชื่อโดยรวมของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีแนวโน้มหดตัวมาโดยตลอด แม้ว่าสภาพคล่องของธนาคารจะยังคงสูง แต่ธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อเพราะนโยบายการเงินมีความตึงตัวเกินกว่าเหตุ 

ต้องขอชมเชยการเสนอให้ใช้มาตรการกึ่งการคลัง (Quasi-fiscal) ในการค้ำประกันสินเชื่อให้กับธุรกิจรายย่อยผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) แต่จะต้องทำอย่างกว้างขวางและรับความเสี่ยงด้านเครดิตแทนธนาคารพาณิชย์ ซึ่งในที่สุดก็จะเป็นภาระทางการคลังและผู้เสียภาษีในที่สุด 

นอกจากนี้ เนื่องจากงบประมาณแผ่นดินปี 2567 ออกมาช้า เหลือเวลาอีกเพียง 2 ไตรมาสก็จะสิ้นปีงบประมาณแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจจะต้องเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณอย่างเร็วที่สุด โดยเฉพาะงบลงทุน ซึ่งมีการเบิกจ่ายติดลบใน 2 ไตรมาสแรก กระทรวงการคลังคงจะต้องตามจี้ทุกหน่วยงานให้เร่งเบิกจ่ายตามเป้าหมาย

น่าเสียดายที่มาตรการดิจิทัลวอลเล็ตไม่สามารถออกมาได้รวดเร็วตามกำหนดเวลา มิเช่นนั้นคงจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี แต่ขณะนี้ก็เริ่มมีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับกำหนดเวลาและแหล่งเงิน ส่วนการท่องเที่ยว ซึ่งที่ผ่านมาเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพียงตัวเดียว ก็ยังมีช่องทางเติบโตแต่น่าจะมีอัตราที่ช้าลง

ภาระตกอยู่กับนโยบายการคลังค่อนข้างมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งในที่สุดก็จะเป็นภาระของผู้เสียภาษีอากร สังคมคงไม่ปล่อยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยนั่งกระดิกเท้าเป็น Free Rider อยู่เฉย ๆ และไม่ใส่ใจที่จะใช้นโยบายการเงินเข้ามาร่วมทำงานกับรัฐบาล

หลังการประชุม ครม.เศรษฐกิจ มีการกล่าวถึงความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะปรับกรอบเงินเฟ้อ (Inflation Targets) ซึ่งจะช่วยปลดล็อกการลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อคำนึงว่า ธปท.พลาดเป้าเงินเฟ้อที่กำหนดไว้ระหว่าง 1-3% ติดต่อกัน 2 ปีและทำท่าว่าจะพลาดอีกในปีนี้ 

นี่จึงเป็นโอกาสอันเหมาะสมที่รัฐบาลจะต้องทบทวนกรอบเงินเฟ้อเสียที ที่ผ่านมากระทรวงการคลังอาจจะใจดีหรืออาจจะตาม ธปท. ไม่ทัน แต่การพลาดเป้าเงินเฟ้อแบบหมดท่า น่าจะถือเป็นการผิดสัญญาประชาคม และธนาคารแห่งประเทศไทยสมควรต้องรับผิดชอบ การที่รัฐบาลทบทวนกรอบเงินเฟ้อจึงเป็นการถ่วงดุลนโยบายการเงินที่พลาดเป้าอย่างเหมาะสมและไม่ถือเป็นการแทรกแซงนโยบายการเงินแต่อย่างใด 

อย่างไรก็ดีการทบทวนกรอบเงินเฟ้อดังกล่าว พึงต้องกระทำอย่างระมัดระวัง และแสดงหลักการและเหตุผลอย่างชัดเจนโปร่งใส เพื่อรักษาไว้ซึ่งความเชื่อมั่นในนโยบายการเงินและความสามารถในการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศในระยะยาว

'อ.พงษ์ภาณุ' สวด!! 'แบงก์ชาติ' มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ ขัด 'นโยบายการเงิน-การคลัง' บั่นทอนความเชื่อมั่นนักลงทุน

(7 ก.ค. 67) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ กล่าวถึงธนาคารแห่งประเทศไทย ว่า...

ดูเหมือนว่าช่วงนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะขยันออกข่าวเป็นพิเศษ และการออกข่าวแต่ละครั้งมีลักษณะขวางโลก ย้อนแย้งความรู้สึกของประชาชน และมุ่งสร้างความขัดแย้งกับนโยบายการคลังของรัฐบาล

มุมมองของ ธปท.ขวางโลก เพราะตั้งแต่เดือนที่แล้วธนาคารกลางทั่วโลกได้ประสานเสียงกันลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank-ECB) ธนาคารแห่งอังกฤษ (Bank of England) ธนาคารแห่งแคนาดา (Bank of Canada) ธนาคารแห่งชาติสวิส (Swiss National Bank) และแม้แต่ Federal Reserve ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งแม้ว่าจะยังไม่ลดแต่ก็มีแนวโน้มจะลดดอกเบี้ยนโยบายเร็วๆ นี้

ความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางทั่วโลกในครั้งนี้ถือเป็นจุดหักเห (Turning Point) ที่สำคัญของนโยบายการเงิน นับจากวงจรการขึ้นดอกเบี้ยโลก ซึ่งเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2565 เป็นต้นมา แต่ ธปท. มักจะอ้างเหตุผลของการไม่ลดดอกเบี้ยว่าดอกเบี้ยไทยอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น และประเทศไทยเริ่มขึ้นดอกเบี้ยรอบที่แล้วล่าช้ากว่าประเทศอื่น 

ทว่าความจริงแล้ว เป็นการหลอกลวงประชาชน เพราะเราต้องดูอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest Rate) ซึ่งก็คืออัตราดอกเบี้ยหักด้วยอัตราเงินเฟ้อ ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยถือได้ว่าสูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง บ่งบอกว่านโยบายการเงินไทยมีความตึงตัวมากกว่าประเทศอื่น 

ฉะนั้น ประการแรก การที่ ธปท. เริ่มขึ้นดอกเบี้ยรอบที่แล้วช้ากว่าธนาคารกลางอื่น น่าจะมีจุดประสงค์ที่จะเอาใจฝ่ายการเมืองสมัยนั้นมากกว่าเหตุผลทางเศรษฐกิจ เพราะเงินเฟ้อของไทยในปี 2565 ขึ้นไปถึงกว่า 8% สูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง

ประการต่อมา มุมมองของ ธปท. ย้อนแย้งกับมุมมองทั่วไปของประชาชนและสำนักเศรษฐกิจแทบจะทุกสำนักที่เห็นตรงกันว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะคับขันและจำเป็นต้องมีการเยียวยาอย่างเร่งด่วน ซึ่งเป็นที่มาของการออกมาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิเช่น การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของงบประมาณปี 2567 การตั้งงบประมาณปี 2568 ที่มีอัตราเติบโตของการใช้จ่ายสูงเป็นประวัติการ การผ่อนคลายการถือครองอสังหาริมทรัพย์ของต่างชาติ การออกมาตรการกระตุ้นตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น คงจะมี ธปท.อยู่หน่วยงานเดียวที่มัวหลงระเริงอยู่กับความฝันลมๆ แล้งๆ ที่ว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นแล้ว

ประการสุดท้าย การสร้างความขัดแย้งกับนโยบายการคลัง ซึ่ง ธปท. กำลังสร้างขึ้นมาผ่านสื่อต่าง ๆ โดยไม่จำเป็น เป็นต้นเหตุของการบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน การปรับกรอบเงินเฟ้อตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง เป็นทางออกที่ดีที่จะช่วยประสานการทำงานของนโยบายการคลังและนโยบายการเงินให้ไปด้วยกันได้ราบรื่นขึ้น ขณะที่ยังรักษาความเป็นอิสระของการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบที่ปรับปรุงใหม่ได้เป็นอย่างดี แต่กลับได้รับการคัดค้านผ่านสื่อ ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องที่สมควรหารือเป็นการภายในระหว่างสองหน่วยงาน

ขณะนี้โลกกำลังมีสัญญาณการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น อังกฤษได้ผู้นำรัฐบาลใหม่จากพรรคแรงงาน ซึ่งมีนโยบายกระตุ้นการเติบโต (Pro Growth) อย่างชัดเจน ธนาคารกลางชั้นนำทั่วโลกร่วมมือกันประสานนโยบายดอกเบี้ยขาลงอย่างเป็นระบบ รัฐบาลลาวมีมติปลดผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งลาวไปเมื่อเร็วๆ นี้ เพราะทำงานไม่ได้เรื่อง น่าเสียดายที่ไทยไม่สามารถเติบโตไปพร้อมๆ กับโลกจากสาเหตุที่มีธนาคารกลางที่มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ

รู้จัก FOMC การประชุมของ FED ที่ผู้กุมนโยบายการเงินทั่วโลกต่างจับตา เพราะทุกทีท่า ล้วนกระทบเสถียรภาพทาง ศก. 'ระดับชาติ-ระดับโลก'

ถ้าใครติดตามข่าวการลงทุนอยู่เรื่อย ๆ ก็คงสังเกตได้ว่า ช่วงไหนที่มีข่าวการประชุม FOMC หรือการประชุมคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Open Market Committee - FOMC) ตลาดสินทรัพย์ทุกประเภทก็มักจะมีความผันผวน โดยนักลงทุนบางส่วนก็มีการขายสินทรัพย์ออกมาเพื่อลดความเสี่ยงลง เพื่อรอดูผลของการประชุมเสมอ

การประชุมนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญของระบบธนาคารกลางของสหรัฐฯ ซึ่งคณะกรรมการนี้ประกอบไปด้วยสมาชิกทั้งหมด 12 คน ได้แก่ สมาชิก 7 คนจากคณะกรรมการผู้ว่าการของธนาคารกลางสหรัฐฯ, 1 คนเป็นผู้ว่าการธนาคารกลาง New York และอีก 4 คนจะหมุนเวียนกันมาจากผู้ว่าการธนาคารกลางอีก 11 เขตที่เหลือในแต่ละปีค่ะ

โดยวัตถุประสงค์หลักของ FOMC คือ การดูแลและกำหนดนโยบายการเงินเพื่อบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจในระดับมหภาค, ทบทวนสภาพเศรษฐกิจและการเงิน, ประเมินความเสี่ยงต่อเป้าหมายระยะยาว และหารือเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการเงินที่เหมาะสม เช่น ราคาที่มีเสถียรภาพ, ระดับอัตราการจ้างงานสูงสุด และอัตราดอกเบี้ย ซึ่งคณะกรรมการนี้จะประชุมกัน 8 ครั้งต่อปี เพื่อหารือและตัดสินใจในมาตรการและนโยบายต่าง ๆ ร่วมกัน

โดยหัวข้อสำคัญ ๆ ที่มักจะถูกพูดถึง คือ...

1. อัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม: ในการประชุมจะมีการตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระหว่างธนาคารกลาง ซึ่งมีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และการจ้างงาน

2. ตัวชี้วัดเศรษฐกิจต่าง ๆ: จะมีการนำเอาตัวเลขที่ใช้การชี้วัดเช่น การเติบโตของ GDP อัตราการว่างงาน อัตราเงินเฟ้อ และการใช้จ่ายของผู้บริโภคมาพิจารณา 

ส่วนหัวข้อสำคัญรองลงมาจะเป็น...

3. สภาพตลาดการเงิน: การประเมินสภาพในตลาดการเงินและผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วไป

4. พัฒนาการเศรษฐกิจทั่วโลก: การพิจารณาสภาพเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ

เมื่อพิจารณาหัวข้อดังกล่าวแล้ว ก็จะนำมาซึ่งการกำหนดนโยบายการเงิน โดยการตัดสินใจที่เกิดขึ้นในการประชุม FOMC นั้น จะมีผลโดยตรงต่อทิศทางของนโยบายการเงินของสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระหว่างธนาคารกลาง ซึ่งการปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงของอัตราดอกเบี้ยนี้ ก็จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และอัตราการจ้างงานต่อไป

ไม่เพียงเท่านี้ ผลกระทบต่อการตัดสินใจดังกล่าว จะส่งผลต่อตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ และตลาดการเงินทั้งในสหรัฐฯ เองและทั่วโลก รวมไปถึงการเคลื่อนย้ายของแหล่งเงินทุนทั่วโลกอีกด้วย

ดังนั้น ผลการประชุมนี้ จึงถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดโดยตลาดและผู้กำหนดนโยบายทั่วโลก ภายใต้บทบาทสำคัญของ FOMC ที่จะส่งผลต่อการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจทั้งในระดับชาติและระดับโลก 

อ้อ!! แล้วนอกจากการประชุมของธนาคารสหรัฐฯ แล้ว ในโลกก็ยังมีการประชุมธนาคารประเทศอื่น ๆ ที่สำคัญระดับโลกอีกด้วย อย่างเช่น การประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE), การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ขณะที่ไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT) ก็จะมีการประชุมเพื่อกำหนดกรอบนโยบายและสร้างเสถียรภาพทางการเงินเช่นเดียวกัน

สำหรับการประชุม FOMC รอบที่ผ่านมามีขึ้นในวันที่ 30-31 กรกฎาคม แม้จะมีการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.25-5.50% แต่ผู้ว่าการธนาคารกลางอย่างนายเจอโรม พาวเวล ก็ได้แสดงท่าทีที่อ่อนโยนลง และระบุว่า ถ้าเงินเฟ้อกำลังมีทิศทางที่ชะลอตัวลง, ตลาดแรงงานลดความร้อนแรงลง 'เฟด' (FED) เอง ก็พร้อมที่จะปรับลดดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในการประชุมครั้งหน้า ซึ่งจะเกิดขึ้นในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ค่ะ

'อ.พงษ์ภาณุ' แนะ!! เมื่อนายกแพทองธารรับตำแหน่งแล้ว ก็สมควรจะต้องแก้อุปสรรคของการพัฒนาประเทศอย่างเร่งด่วน

(25 ส.ค. 67) ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ได้พูดคุยถึงคำกล่าวของ นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ซึ่งได้กล่าวไว้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ก่อนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ว่า...

"น่าจะตรงและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันที่สุด เพราะที่ผ่านมาหลายท่านคงจะรู้สึกเหมือนว่าประเทศไทยไม่มีธนาคารกลาง หรือหากมี ก็เป็นธนาคารกลางที่ไม่แคร์ความรู้สึกและความเดือดร้อนของประชาชน

"ดังนั้น เมื่อนายกแพทองธารรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการแล้ว ก็สมควรจะต้องแก้อุปสรรคของการพัฒนาประเทศอย่างเร่งด่วน เพราะหากปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไป ก็ยากที่จะเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศกลับคืนมา รวมทั้งการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและลูกหนี้รายเล็กรายน้อยที่กำลังกลายเป็น NPL และจะถูกยึดทรัพย์สินในเร็ว ๆ นี้"

อ.พงษ์ภาณุ กล่าวอีกว่า "ไม่มีใครไม่เห็นด้วยว่าธนาคารกลางต้องมีความเป็นอิสระ แต่ความเป็นอิสระดังกล่าวต้องอยู่ภายในขอบเขตแห่งการดำเนินนโยบายการเงิน (Monetary Policy Independence) เท่านั้น 

ทั้งนี้ อ.พงษ์ภาณุ มองว่า ความเป็นอิสระของธนาคารกลางต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข 2 ประการ...

ประการแรก ธปท. ต้องมี Focus ที่การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพของระดับราคาเท่านั้น มิใช่ทำงานแบบจับฉ่ายเช่นที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการกำกับดูแลสถาบันการเงิน การแก้ไขหนี้นอกระบบ การแก้ไขปัญหาโลกร้อน เป็นต้น ซึ่งล้วนนำมาซึ่ง Conflict of Interest กับนโยบายการเงินและความเกรงอกเกรงใจเจ้าของและผู้บริหารสถาบันการเงิน การตัดสินใจลดดอกเบี้ยแต่ละคร้้งก็มัวแต่กลัวว่าแบงก์จะมีกำไรลดลง แทนที่จะคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง

ประการที่สอง การดำเนินนโยบายการเงินต้องมีความรับผิดชอบ (Accountability) และอยู่ในกรอบ Inflation Targeting อย่างเคร่งครัด ซึ่งมีเป้าหมายเงินเฟ้อที่ตกลงกับรัฐบาลไว้อย่างชัดเจน และจะต้องมีการติดตามและประเมินการทำงานของ ธปท. อย่างใกล้ชิด เมื่อมีผลประกอบการผิดเป้าหมาย เช่นที่เกิดขึ้นตลอด 2 ปีที่ผ่านมา และปีนี้จะเป็นปีที่สามที่นโยบายการเงินพลาดเป้า จะต้องมีผู้รับผิดชอบ เพราะได้สร้างความเสียหายร้ายแรงต่อประเทศชาติ รวมทั้งจะต้องมีการปรับกรอบเงินเฟ้อให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้นตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอไว้ด้วย

เงื่อนไขความเป็นอิสระของธนาคารกลางดังกล่าวข้างต้น อาจจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายธนาคารแห่งประเทศ และอาจไม่สามารถทำได้รวดเร็วนัก แต่มีบางสิ่งบางอย่างที่ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สามารถทำได้ทันที เช่น การปรับกรอบเงินเฟ้อให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลมากยิ่งขึ้น การปรับปรุงตัวบุคคลในองค์ประกอบคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ให้มีความเป็นอิสระและเป็นมืออาชีพ แทนที่จะเป็นกลุ่มคนที่อยู่ใต้การควบคุมของผู้ว่าการ ธปท. รวมทั้งการเปลี่ยนตัวผู้ว่าการ ธปท. บางคน ที่ทำตัวเสมือนเจ้าอาณาจักรที่แฝงตัวอยู่ในประเทศไทย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top