'อ.พงษ์ภาณุ' ชี้!! เงื่อนไขความเป็นอิสระของธนาคารกลาง ควรอยู่ใต้กรอบนโยบายรัฐและโฟกัสเฉพาะนโยบายการเงิน

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'ความเป็นอิสระของธนาคารกลาง' เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

คงไม่มีใครที่ไม่เห็นด้วยกับหลักการที่ว่า ธนาคารกลางควรมีอิสระในการดำเนินนโยบายการเงิน ภายใต้กรอบอัตราเงินเฟ้อที่ตกลงร่วมกับรัฐบาล

สำหรับประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทยก็สมควรมีอิสระในการทำงาน แต่ต้องอยู่ในเงื่อนไข 2 ประการ คือ (1) focus เฉพาะนโยบายการเงิน และ (2) อยู่ภายใต้กรอบเป้าหมายทางนโยบายของรัฐบาล

ประการแรก ธนาคารกลางที่สำคัญทั่วโลกทำหน้าที่หลักของธนาคารกลาง ซึ่งได้แก่การดำเนินนโยบายการเงินเท่านั้น นโยบายการเงินคือการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อ แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยทำทุกอย่าง ตั้งแต่การกำกับตรวจสอบสถาบันการเงิน จนถึงการแก้ปัญหาโลกร้อน เมื่อทำหลายอย่างก็ย่อมเกิด Conflict of Interest การเข้าไปกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ ก็อาจทำให้เกิดความสัมพันธ์ส่วนตัวกับนายธนาคารจนนำไปสู่ความเกรงอกเกรงใจ จนไม่กล้าที่จะลดดอกเบี้ย เพราะการลดดอกเบี้ยทำให้ธนาคารพาณิชย์มีกำไรลดลง

การทำหน้าที่แบบจับฉ่ายของธนาคารแห่งประเทศไทย ยังนำมาซึ่งการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากรและการใช้เงินภาษีอากร ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของธนาคารกลาง แต่เป็นหน้าที่ทางการคลังของรัฐบาล เมื่อธนาคารกลางเข้ามาทำหน้าที่รัฐบาล แล้วจะไม่ให้รัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายการเมืองเข้ามายุ่งกับธนาคารกลางได้อย่างไร?

ดังนั้นหากต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอิสระ มีความจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายอย่างเร่งด่วนเพื่อจำกัดบทบาทธนาคารแห่งประเทศไทยให้อยู่เฉพาะการดำเนินนโยบายการเงินเท่านั้น ไม่ใช่ทำแบบไม้จิ้มฟันยันเรือรบเช่นในปัจจุบัน

ประการที่สอง ความเป็นอิสระย่อมต้องมาควบคู่กับความรับผิดชอบต่อเป้าหมายและสังคม (Accountability) 'การพลาดเป้า' ของธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ได้เกิดขึ้นวันนี้เป็นครั้งแรก เราคงจำวิกฤตต้มยำกุ้งที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2540 กันได้ ความผิดพลาดของธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้รัฐบาลต้องเข้าให้ความช่วยเหลือผ่านกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จนกลายเป็นหนี้สาธารณะจำนวน 1.4 ล้านล้านบาท และยังใช้หนี้ไม่หมดจนทุกวันนี้

มาถึงวันนี้ นโยบายการเงินพลาดเป้าเงินเฟ้อมา 2 ปีติดต่อกัน และกำลังจะพลาดเป้าอีกครั้งในปีนี้ ปี 2565 เงินเฟ้อไทยขึ้นไปสูงถึงกว่า 6% สูงที่สุดในอาเซียน พอปี 2566 เงินเฟ้อติดลบจนเข้าใกล้ภาวะเงินฝืดประเทศเดียวในอาเซียน ความผันผวนทางการเงินยังความเสียหายแก่ประเทศเป็นอย่างมาก ในภาวะที่นโยบายการเงินพลาดเป้าอย่างน่าอับอายขายหน้าเช่นนี้ คนไทยยังจะยอมให้แบงก์ชาติเป็นรัฐอิสระอยู่อีก หรือจะรอให้เกิดต้มยำกุ้ง ภาค 2 ก่อนจึงค่อยแก้ไข?