ข้อเสนอแก้หนี้ครัวเรือน กับผลงานชิ้นโบแดงของแบงก์ชาติ
(1 ก.ย. 67) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ
ในบรรดาหลายมาตรการที่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เสนอในเวที Vision for Thailand เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าข้อเสนอปรับโครงสร้างหนี้ภาคประชาชน โดยแบ่งเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ครึ่งหนึ่ง (0.23% ของฐานเงินฝากของธนาคารพาณิชย์) มาสมทบกับเงินของสถาบันการเงินเอง เพื่อ Haircut หนี้ของลูกหนี้ที่มีปัญหา เป็นข้อเสนอที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษและมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติสูง
ข้อเสนอดังกล่าวเป็นการคิดนอกกรอบอีกครั้งหนึ่งของท่านนายกทักษิณ ซึ่งหากทำสำเร็จ ก็จะผ่อนคลายความเดือดร้อนของประชาชนที่ต้องแบกรับภาระหนี้ที่มีจำนวนสูงถึงกว่า 16 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 91% ของ GDP และเป็นตัวเหนี่ยวรั้งการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยมายาวนาน
ทันทีที่ข้อเสนอถูกเผยออกมา ผู้บริหารแบงก์ชาติถึงกับเกิดอาการอึ้ง เมื่อถูกสื่อสอบถามความเห็น แต่ก็ได้ให้ลิ่วล้อออกมาส่งเสียงคัดค้านว่าจะเกิดผลเสียต่อการบริหารหนี้ FIDF (Financial Institutions Development Fund) ต่าง ๆ นานา ทั้ง ๆ ที่หนี้ FIDF ก้อนนี้ ซึ่งยังคงค้างอยู่ประมาณ 600,000 ล้านบาท เป็นหนี้สาธารณะที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการคลัง ไม่ใช่หน้าที่ของ ธปท. แต่ ธปท. ในฐานะธนาคารกลางที่เป็นอิสระ เป็นผู้สร้างขึ้นมาจากน้ำมือของ ธปท. เองล้วน ๆ
ย้อนหลังไปเมื่อปี 2540 หลายท่านอาจจำไม่ได้แล้วว่า ประเทศไทยมีอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ (Fixed Exchange Rate) ธปท. ในฐานะผู้รับผิดชอบนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน จึงออกไป Defend ค่าเงินบาท ปกป้องไปปกป้องมาจนผลาญเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเสียเกลี้ยง จึงต้องประกาศลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 พร้อม ๆ กับการเข้าโปรแกรม IMF การปิดสถาบันการเงิน และการให้รัฐบาลประกาศรับประกันเงินฝากของประชาชนที่สถาบันการเงิน จึงเป็นที่มาของหนี้จำนวนมากมายมหาศาล ซึ่งในที่สุด ธปท. ต้องร้องขอให้รัฐบาลแปลงจากหนี้ของกองทุน FIDF มาเป็นหนี้สาธารณะ (Fiscalization)
เนื่องจากหนี้ FIDF มีที่มาจากระบบสถาบันการเงิน จึงไม่เหมาะสมที่จะให้คนไทยผู้เสียภาษีทั้งประเทศรับภาระหนี้ก้อนนี้ ซึ่งมีจำนวนสูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท จึงมีความตกลงกันให้ ธปท. รับผิดชอบชดใช้เงินต้น และกระทรวงการคลังรับภาระดอกเบี้ย แต่จนแล้วจนรอด ธปท. ก็ไม่ทำตามสัญญา โดยอ้างว่าไม่มีกำไร ในขณะที่ยังคงจ่ายโบนัสพนักงานอยู่เป็นปกติ
เมื่อหนี้ไม่ลด การชำระดอกเบี้ย จึงไม่ลดไปด้วย โดยกระทรวงการคลังต้องขอตั้งงบประมาณชำระดอกเบี้ยเป็นจำนวนสูงถึงปีละกว่า 60,000 ล้านบาท
เมื่อ ธปท. ไม่ชำระหนี้เงินต้นตามที่ตกลงกันไว้ จึงเป็นที่มาของการออกกฎหมายกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์นำส่งเงินเพื่อชำระหนี้ FIDF จำนวน 0.46% ของฐานเงินฝาก ในสมัยที่คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาหนี้ FIDF อย่างเบ็ดเสร็จและตรงจุด และผลจากการดำเนินการดังกล่าวได้ทำให้รัฐบาลสามารถลดภาระงบประมาณได้อย่างมากและลดยอดหนี้ FIDF คงค้างเหลือไม่ถึง 600,000 ล้านบาทในปัจจุบัน
ดังนั้นข้อเสนอของอดีตนายกทักษิณ แม้จะทำให้การชำระหนี้ FIDF ล่าช้าไปบ้าง แต่ก็เป็นทางออกที่เหมาะสมในการบรรเทาปัญหาหนี้ภาคประชาชน ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนที่รุมเร้าสังคมไทยอยู่ทุกวันนี้ ส่วนคนที่ควรรักษามารยาท ก็น่าจะเป็น ธปท. เพราะเป็นผู้สร้างปัญหามาแต่ต้น และก็ไม่สามารถแก้ปัญหาที่ตัวเองก่อขึ้นได้