‘อ.พงษ์ภาณุ’ หวั่น!! หากภาวะ ‘เงินฝืด’ เกิดขึ้นในเมืองไทย ก่อผลกระทบ ‘รุนแรง-กว้างขวาง’ แก้ไขได้ยากกว่า ‘เงินเฟ้อ’

(11 พ.ย. 66) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ให้มุมมองต่อภาวะความเสี่ยงเงินฝืดกับประเทศไทย ภาคต่อ ไว้ว่า…

‘ภาวะเงินฝืด’ (Deflation) เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เพราะเรามักคุ้นเคยกับ ‘เงินเฟ้อ’ (Inflation) มากกว่า แต่เมื่อเกิดภาวะเงินฝืดขึ้นแล้ว จะก่อเกิดผลกระทบรุนแรง กว้างขวาง และแก้ไขได้ยากกว่า 

เนื่องจากผู้บริโภคจะชะลอการจับจ่ายใช้สอยและธุรกิจชะลอการลงทุน เพราะภาระหนี้ที่แท้จริงจะสูงขึ้น ดังเช่นที่เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่นเป็นเวลากว่า 20 ปี และที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศจีนขณะนี้ หรือในประเทศตะวันตกหลังวิกฤตการเงินแฮมเบอร์เกอร์ ธนาคารกลางต้องใช้นโยบายดอกเบี้ย 0% ร่วมกับ Quantitative Easing (QE) เพื่ออัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเป็นเวลากว่า 10 ปี

อาจจะเร็วเกินไปที่จะกล่าวว่าไทยเริ่มเข้าภาวะเงินฝืด แต่ก็มีความเสี่ยงสูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อของไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง จากปีที่แล้วที่มีเงินเฟ้อสูงสุดในโลกประเทศหนึ่ง จนกลายเป็นอัตราเงินเฟ้อติดลบเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา 

แน่นอนไทยได้รับผลกระทบจากจีนที่เข้าสู่ภาวะเงินฝืดตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เนื่องจากจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทย แต่ภาวะเงินฝืดในไทยมีสาเหตุอีกส่วนหนึ่งจากการดำเนินนโยบายการเงินผิดพลาดของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ได้มีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในจังหวะเวลาที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะได้มีการเร่งขึ้นดอกเบี้ยที่ล่าช้ากว่าประเทศอื่นในระยะที่เงินเฟ้ออยู่ในช่วงขาลงแล้ว ซึ่งเป็นการซ้ำเติมวัฏจักรธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม ก็ยังถือเป็นความโชคดีของประเทศไทยที่ขณะนี้รัฐบาลได้เริ่มทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะต้องมีการก่อหนี้เพื่อระดมเงินมาใช้จ่าย แต่ส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายครั้งเดียวจบและไม่ผูกพันงบประมาณแผ่นดินในอนาคต 

อีกทั้งขนาดและความเร็วในการอัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ภาคเศรษฐกิจจริงๆ เหล่านี้ ก็จะมีความสำคัญอย่างมากต่อการฟื้นเศรษฐกิจไทยให้ผ่านพ้นภาวะเงินฝืดได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ที่แม้จะใช้ได้จริงก็เป็นเดือนพฤษภาคมปีหน้า แต่ความชัดเจนจากคำแถลงของนายกรัฐมนตรี ย่อมสร้างผลที่เรียกว่า Announcement Effect ในทันที และกระตุ้นให้ภาคธุรกิจลงทุนเพื่อผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครองรับการใช้จ่ายที่กำลังจะเพิ่มขึ้นในปีหน้าด้วยความมั่นใจต่อไป...

อ่านบทความเกี่ยวเนื่อง : ‘เงินฝืดจ่อไทย’ >> https://www.facebook.com/100064606066871/posts/pfbid02UjG5nDK1oHfcZqdWee1KWQp963cCQoZ7K29Z5W5tsfz4ShNBBq5qhHKeUdXy4xM4l/