'อ.พงษ์ภาณุ' หวั่น!! นโยบายการเงินแบงก์ชาติซ้ำเติมเศรษฐกิจไทย หลังเงินเฟ้อตุลาติดลบ และเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเงินฝืดตามประเทศจีน

(11 พ.ย. 66) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ให้มุมมองต่อภาวะความเสี่ยงเงินฝืดกับอิสรภาพธนาคารกลาง ไว้ว่า...

สมัยก่อนระบบการเงินโลกตั้งอยู่บนมาตรฐานทองคำ (Gold Standard) เงินตราสกุลต่าง ๆ มีค่าคงที่อิงอยู่กับน้ำหนักทองคำ ต่อมาหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 มีการใช้ระบบ Bretton Woods ค่าเงินก็ยังคงที่แต่อิงกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ นโยบายการเงิน (Monetary Policy) มักจะไม่ค่อยมีบทบาททางเศรษฐกิจเท่าไหร่ 

หน้าที่หลักของนโยบายการเงินคือ การรักษาระดับคงที่ (Parity) ของอัตราแลกเปลี่ยน ต่อเมื่อระบบการเงินโลกเปลี่ยนมาเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา นโยบายการเงินจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและระดับราคา และเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าธนาคารกลางจะต้องมีอิสรภาพในการทำหน้าที่นี้โดยปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง ความเชื่อในอิสรภาพของธนาคารกลางและการใช้ Inflation Targeting มาเป็นกรอบในการดำเนินนโยบายการเงิน ได้ช่วยให้เงินเฟ้อของโลกที่เคยสูงถึงกว่า 20% ลดลงมาอยู่ระดับไกล้ศูนย์มาเป็นเวลานาน

ประเทศไทยก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ยึดมั่นในหลักความเป็นอิสระของธนาคารกลาง โดยเฉพาะหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 ได้มีการแก้กฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อประกันความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินและทำให้การปลดผู้ว่าการฯ ยากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะกระทำไม่ได้หากผู้ว่าการฯ บกพร่องต่อหน้าที่อย่างร้ายแรง

1 ปีครึ่งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่านโยบายการเงินได้สร้างความผันผวนอย่างรุนแรงให้กับเศรษฐกิจไทย เมื่อโลกมีเงินเฟ้อสูงเมื่อไตรมาสที่ 2 ของปีที่แล้ว ธนาคารกลางทุกประเทศได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็วตามกรอบ Inflation Targeting ขณะที่ทางการไทยกลับรี ๆ รอ ๆ ปรับดอกเบี้ยช้ากว่าประเทศอื่น จนอัตราเงินเฟ้อของไทยในปีที่แล้วขึ้นไปสูงถึงกว่า 6% ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในอาเซียนและสูงกว่ากรอบ Inflation Targeting ที่เห็นชอบร่วมกับรัฐบาล ถึงกว่า 2 เท่า 

พอมาถึงปีนี้ ภายหลังการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงมาเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่ดูเหมือนว่าการดำเนินการนี้จะสายเกินไปและผิดที่ผิดเวลา จนซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยให้เงินเฟ้อมีอัตราติดลบในเดือนตุลาคม และมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดตามประเทศจีนไป และก็ถือเป็นการหลุดกรอบ Inflation Targeting 2 ปีติดต่อกัน เราไม่เคยได้ยินคำขอโทษของธนาคารแห่งประเทศไทยสักครั้งเดียว

เรายังเชื่อในอิสรภาพของธนาคารกลาง แต่อิสรภาพนี้จะต้องมีควบคู่ไปกับ Accountability ฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งต้อง Accountable ต่อประชาชนที่เลือกตั้งเข้ามา แต่ธนาคารกลาง ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและได้รับการคุ้มครองอิสรภาพตามกฎหมาย ควรจะต้องมี Accountability มากกว่านี้ อย่างน้อยก็ควรจะต้องเคารพเป้าหมายเงินเฟ้อ ซึ่งเปรียบเสมือนสัญญาประชาคม


อ่านบทความเกี่ยวเนื่อง: 'เงินฝืดจ่อไทย' >> https://www.facebook.com/100064606066871/posts/pfbid02UjG5nDK1oHfcZqdWee1KWQp963cCQoZ7K29Z5W5tsfz4ShNBBq5qhHKeUdXy4xM4l/ 

อย่าเสี่ยงฝาเงินฝืด >> https://www.facebook.com/100064606066871/posts/pfbid0tDfDUf63zv6RJY1Rh7Z5MmRSJWCMzs6xPNsC4ohME8upiuznAcHHKg1vn2oxJSg9l/