Wednesday, 14 May 2025
World

73% นศ.มะกัน ตะลุย 'ช้อปหรู-เที่ยวสนั่น' หลังรัฐบาล 'ไบเดน' ยกหนี้ กยศ. ให้

นักศึกษาอเมริกันทั่วประเทศเริงร่า หลังจากที่โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ประกาศว่ายกหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษาให้นักศึกษาทั่วประเทศสูงสุดถึง 20,000 ดอลลาร์ต่อคน รอเพียงการพิจารณาจากศาลสูงของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ เท่านั้น 

ด้วยนโยบายนี้ นักศึกษาในระบบกู้ยืมเงินด้านการศึกษาจะได้รับสิทธิ์ และมีการคำนวนยอดหนี้กันใหม่ทั้งหมด ที่จะทำให้มีภาระการผ่อนชำระหนี้ต่อเดือนน้อยลงสูงสุดถึง 300 ดอลลาร์ต่อเดือน ซึ่งรัฐบาลคาดหวังว่านักศึกษาเหล่านี้จะมีเงินเหลือไว้ใช้เป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในชีวิตประจำวันมากขึ้นกว่าเดิม 

แต่ทว่า จากการสำรวจพบว่า มีนักศึกษา กยศ. สหรัฐฯ มากถึง 73% ตอบว่า เขาตั้งใจจะใช้จ่ายเงินที่เหลือจากการยกหนี้กู้ยืมเรียนของรัฐบาลไปช้อปปิ้ง ซื้อของฟุ่มเฟือย ดินเนอร์หรู ซื้อสินค้าไอทีใหม่ๆ หรือไม่ก็เอาเงินไปเที่ยวกันเสียมากกว่า แม้จะรู้ตัวว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ และรู้สึกผิดก็ตาม แต่ก็จะเอาเงินไปใช้ในเรื่องกิน-เที่ยวอยู่ดี 

ขณะที่มีนักศึกษาเพียง 37% เท่านั้น ที่วางแผนว่าจะสำรองเงินส่วนนี้ไว้สำหรับค่าเช่าบ้าน และ ค่ากินอยู่ เพราะถึงแม้ว่าเงินกู้ยืมจะลดลง แต่ค่าครองชีพนั้นสูงขึ้นมาก การใช้ชีวิตประจำวัน จึงไม่ได้สบายกว่าเดิมสักกี่มากน้อย 

นี่จึงเป็นสาเหตุให้ชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายยกหนี้ กยศ. ของโจ ไบเดน ด้วยเหตุผลว่า เป็นการใช้ภาษีประชาชนชาวอเมริกันในทางที่ผิด เพราะเป็นการผลักภาระหนี้สินของคนกู้เงิน มาใช้ชาวอเมริกันผู้เสียภาษีส่วนใหญ่ที่ไม่ได้กู้เป็นผู้จ่าย 

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 พระองค์จะทรงเป็นกษัตริย์แบบไหน ภายใต้ความท้าทายของอังกฤษยุคใหม่

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ ของอังกฤษ ที่เพิ่งจะเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติเมื่อเดือนกันยายนปี พ.ศ. ๒๕๖๕ นี้จะมีทิศทางในการเป็นพระมหากษัตริย์อย่างไร ท่านจะดำเนินตามแนวทางของสมเด็จพระมารดาคือสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒ หรือจะทรงมีแนวทางของพระองค์เอง

จากที่ได้อ่านข่าวและบทความภาษาอังกฤษมา พอจะประมวลได้ว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ นี่ท่านคงจะมีกุศโลบายของพระองค์เองเป็นหลัก และดำเนินรอยตามพระมารดาในสิ่งที่ทรงเห็นว่าเป็นผลดีอยู่แล้ว เห็นมีการวิเคราะห์กันว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ นี่คงจะทรงงานในฐานะพระประมุขได้อย่างราบรื่น ไม่น่าจะมีปัญหามากนัก เพราะทรงรั้งตำแหน่งมกุฎราชกุมารมาอย่างยาวนานที่สุดถึง ๕๒ ปี อย่าลืมกันนะคะว่า ปีนี้พระชนมายุ ๗๓ พรรษาแล้ว ทรงรู้ทรงเห็นและทรงเจอกับปัญหาทั้งบวกและลบมาพอสมควร 

ประกอบกับระยะเวลาอันยาวนานที่พระมารดาดำรงฐานะพระประมุขของประเทศถึง ๗๐ ปี ทรงพบปะเจอะเจอกับนายกรัฐมนตรีของอังกฤษเองถึง ๑๕ คนและประธานาธิบดีสหรัฐถึง ๑๔ คน และผู้นำของประเทศอื่นๆอีกทั่วโลก เพราะฉะนั้นพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ คงทรงได้เรียนรู้การงานภายในประเทศและการเมืองระหว่างประเทศมาอย่างเต็มที่แล้วและจากนี้ต่อไปการที่จะต้องทรงงานด้วยพระองค์เอง คงทรงทำได้และอาจทำได้ดีอีกด้วย

แต่มีสิ่งหนึ่งที่คนทั่วไปได้ทราบหรือคนที่ใกล้ชิดและเกี่ยวข้องกับพระองค์ท่านทราบกันดีคือ พระนิสัยที่ทรงชอบวิจารณ์หรือเสนอแนะในเรื่องต่างๆต่อรัฐบาลอังกฤษ มีหลายเรื่องหลายประเด็นเช่นการเกษตร ท่านสนับสนุนการเกษตรอินทรีจนมีโครงการของตัวเอง,เรื่องผังเมือง,สถาปัตยกรรม,การศึกษา หรือแม้แต่เรื่องการสงวนรักษาพันธุ์ปลา ดังนั้นเมื่อทรงได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้วจะยังมีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานรัฐบาลอีกหรือไม่

แน่นอน แต่อาจจะเปลี่ยนจากการส่งโน๊ตไปถึง แต่ท่านจะสามารถพูดโดยตรงกับนายกรัฐมนตรีของอังกฤษได้เลย เพราะมีธรรมเนียมปฏิบัติที่นายกรัฐมนตรีจะเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินทุกสัปดาห์ ในการเข้าเฝ้านั้นพอที่จะทราบกันว่าจะต้องเป็นการหารือข้อราชการงานเมืองทั้งหลาย นายกรัฐมนตรีอาจจกราบทูลในเรื่องต่างๆ ที่พระเจ้าแผ่นดินควรทรงทราบและพระองค์ท่านก็จะทรงแสดงความคิดเห็น ส่วนรัฐบาลจะทำตามหรือไม่ ก็ได้เพราะอำนาจในการบริหารเป็นของรัฐบาล และที่ผ่านมาไม่มีการเปิดเผยเนื้อหาของการหารือนะคะ ไม่มีใครทราบ

ทีนี้สำหรับพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ ในครั้งที่ทรงเป็นมกุฎราชกุมารท่านกล้าที่จะแสดงความเห็นต่อรัฐบาลว่าควรทำหรือจัดการกับเรื่องนั้นหรือทำให้ดีขึ้นอย่างไร เป็นที่ทราบกันดีว่าเมื่อทรงอยากจะเสนอแนะในเรื่องใดจะทรงส่งลายพระหัตถ์ส่วนพระองค์ไปถึงรัฐมนตรีคนนั้นจนมีการเอ่ยกันในรัฐบาลว่ามีใครได้รับ “Black Spider Memos” บ้าง

อันหมายถึงลายพระหัตถ์ยุ่งๆเหมือนใยแมงมุมนั่นเอง คือ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์จะทรงมีลายพระหัตถ์ไปถึงรัฐมนตรีโดยตรงอันแสดงให้เห็นว่าพระองค์ท่านมีความมั่นพระทัยมากทีเดียวที่ทำเช่นนั้น ทีนี้มี reaction ต่อ Black Spider Memos นี้กันอย่างไร ตามที่บทความบีบีซีภาษาอังกฤษเขาเขียนไว้ อดีตรัฐมนตรีคนหนึ่งเขาบอกว่า การที่ได้รับจดหมายข้อความจากท่าน เขาไม่รู้สึกว่าถูกกดดัน แต่เห็นว่าเป็นเพียงความต้องการที่อยากจะให้เกิดการกระทำในเรื่องนั้นเท่านั้น และไม่ใช่การที่จะนำไปสู่การขัดแย้งใด เป็นเพียงการเสนอความเห็นของพระองค์และ ไม่เป็นการแทรกแซงหรือบังคับ

ในตอนนั้นเมื่อมีการกล่าวถึงพระองค์ว่าทรงเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการบริหารของรัฐบาล เมื่อนักข่าวทูลสัมภาษณ์ท่านประเด็นนี้ ท่านตอบดีมาก คือ “ถ้าหากเขาเห็นว่าเป็นการแทรกแซง ฉันก็ภูมิในทีเดียว”

“If that's meddling, I'm very proud of it." But he acknowledged that he was in "a no-win situation.”

แต่ก็ทรงยอมรับว่าท่านไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะชนะได้ คำตอบเช่นนี้ทำให้เห็นว่าเจ้าฟ้าชายหรือพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ ทรงทราบดีว่าพระองค์อยู่ในฐานะพระประมุขเท่านั้น แต่ท่านก็พูดเหมือนจะประชดประชันในทีครั้งหนึ่งว่า “ถ้าไม่ทำอะไรเลย คนก็จะบ่นว่าไม่ทำอะไร แต่ถ้าพยายามหรือยืนกรานที่จะช่วยทำอะไรในสิ่งที่เห็น อีกนั่นแหละก็จะถูกบ่นว่าเช่นกัน”

ในการประทานสัมภาษณ์อีกครั้งหนึ่งคนละเวลานะคะ ทรงบอกว่า พระองค์พยายามที่จะหลีกเลี่ยงการเมืองของพรรคต่างๆ คือไม่สนับสนุนหรือติเตียนพรรคใด แต่ในบางครั้งก็รู้สึกว่าถูกบังคับให้ต้องพูดออกไปในปัญหาที่เกี่ยวกับชีวิตการเป็นอยู่ของประชาชน ทรงเข้าใจสังคมอย่างดี

ถึงอย่างไรก็ดีก็มีนักการเมืองบางคนที่เข้าใจในความคิดของเจ้าชายอยู่เหมือนกัน  อดีตรัฐมนตรีของพรรคเลเบอ คนหนึ่งเล่าว่าหลังจากที่เขาได้สนทนากับพระองค์แล้ว เขาเห็นว่าท่านมีจิตใจที่แน่วแน่และมุ่งมั่นในเรื่องที่คิดและยินดีที่จะเสี่ยงที่จะแหย่เท้า (พระบาท)เข้าไปในเรื่องที่ทรงเห็นว่าจำเป็นและสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการช่วยเหลือวัยรุ่นที่โชคไม่ดีมีปัญหา, ไม่พอใจกับชีวิตหรือการสิ้นหวัง มีพระประสงค์ที่จะช่วยคนหนุ่มสาวเหล่านี้อย่างจริงจัง ซึ่งอดีตรัฐมนตรีพรรคเลเบอคนนี้บอกว่า เขาประทับใจกับการใส่พระทัยในปัญหาวัยรุ่นของพระองค์มากทีเดียว ซึ่งอันที่จริงเขาบอกว่าในตำแหน่งมกุฎราชกุมารอาจจะไม่ต้องสนใจในเรื่องเหล่านี้ก็ได้สามารถดำรงตำแหน่งสบายๆ ไปเรื่อยๆ ปล่อยให้เป็นเรื่องของรัฐบาลแก้ไขไป
แต่ท่านก็ไม่ยอมอยู่สบายๆ ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์หรือองค์ประธานองค์กรต่างๆ ถึง ๔๐๐ กว่าแห่ง และองค์กรที่สร้างชื่อเสียงให้พระองค์อย่างมากคือ การตั้ง the Prince’s Trust อันเป็นองค์กรการกุศลช่วยเหลือวัยรุ่นโดยเฉพาะขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ทรงใช้เงินส่วนพระองค์ที่ได้จากกองทัพเรือมาตั้งกองทุนนี้

The Prince’s trust ช่วยวัยรุ่นด้อยโอกาสจากพื้นที่ที่ยากจนทั่วประเทศในด้านการประกอบอาชีพ มาแล้ว ๙ แสนกว่าคน การตั้งองค์กรนี้ทำให้เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ พระอิสริยยสในขณะนั้นเห็นปัญหาที่หลากหลายของสังคมของประเทศของพระองค์โดยตรง แต่ทรงเล่าว่าเรื่องนี้กลับไม่ได้ความเห็นดีเห็นงามจากกระทรวงมหาดไทยนัก เพราะมหาดไทยเห็นว่าเป็นเรื่องยากที่จะทำให้การช่วยเหลือนี้สำเร็จได้เพราะเป็นปัญหาที่ยากที่จะแก้ไข

แต่ความเห็นดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้พระองค์ทรงท้อถอย ในการประทานสัมภาษณ์อีกครั้งในปีพ.ศ. ๒๕๔๘ ทรงบอกว่า ท่านประสูติในฐานะเจ้าฟ้าชายและต่อมาเป็นมกุฎราชกุมาร ดังนั้นจึงทรงตั้งพระทัยอย่างแน่วแน่ว่า จะทรงทำหน้าที่อย่างดีที่สุดและจะทำทุกอย่างที่ทรงทำได้

แน่นอนคนอาจจะเห็นว่า คำพูดจะพูดอย่างไรก็ได้ แต่ท่านทำจริง ตามที่เป็นข่าวจะเห็นว่าทรงแสดงความเห็นถึงการเป็นนักปฏิรูปที่อึดอัดกับการที่เห็นบางชุมชนถูกปล่อยปละละเลยหรือทอดทิ้งให้ล้าหลังไม่มีการพัฒนา ซึ่งการที่ท่านพูดแต่ละทีก็เป็นข่าวกระตุ้นได้บ้างเหมือนกัน

การให้ความสำคัญต่อส่วนรวมไม่ใช่จะเกิดขึ้นเฉพาะภายในประเทศอังกฤษเท่านั้น มีคนที่ทำงานกับท่านคนหนึ่งเล่าว่าได้รับโทรศัพท์จากท่านตอนราว ๓ ทุ่มเมื่อทรงทราบข่าวน้ำท่วมในปากีสถาน
Hitan Mehta, ฮิทาน เมตตา เป็นเจ้าหน้าที่ที่ช่วยท่านตั้งองค์กรที่เรียกว่า The British Asian Trust คือองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือระหว่างอังกฤษกับประเทศในเอเชีย เธอเล่าว่าในคืนวันศุกร์วันหนึ่ง ราวสามทุ่มได้รับโทรศัพท์จากเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ทรงบอกว่าพระองค์ทราบข่าวเกิดน้ำท่วมในปากีสถานและถามเธอว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง เมตตาบอกว่าท่านมีงานอื่นมากมายแต่ก็ยังเมื่อทรงทราบถึงความเดือดร้อนในปากีสถานและแม้จะมืดค่ำก็ยังทรงถามไถ่เธอมาว่าจะให้ความช่วยเหลืออย่างไร ท่านเป็นคนที่มีมนุษยธรรมอย่างจริงใจ

ความจริงจังและจริงใจนี้เมื่อฟังเจ้าชายแฮรี่พระโอรสเล่าถึงพระบิดาได้ฟังแล้วก็อดที่จะอมยิ้มไม่ได้ เจ้าชายแฮรี่บอกว่า พระบิดามักจะเสวยพระกระยาหารค่ำค่อนข้างดึก หลังจากเสวยเสร็จก็จะเสด็จไปที่โต๊ะทรงงาน แล้วก็จะหลับคาสมุดโน้ตของพระองค์

อีกด้านหนึ่ง  พระราชินีคามิล่าได้เล่าในการให้สัมภาษณ์โทรทัศน์ในวันครบรอบวันประสูติ ๗๐ ชันษาของพระเจ้าชาร์ลส์ ที่ ๓ ว่า ท่านเป็นคนที่พระทัยร้อนมาก ถ้ามีพระประสงค์จะทรงงานอันใดแล้ว คืองานนั้นต้องเสร็จตั้งแต่เมื่อวานนี้ คือใจร้อนจนรอให้งานเสร็จวันนี้ไม่ได้ อยากทำอะไรให้เสร็จโดยเร็วนั่นเอง
แต่ว่าเมื่ออยู่กับหลานๆ คือพระโอรสธิดาของเจ้าชายวิลเลี่ยมจะทรงหลอกล้อกับเด็กๆ หรืออ่านแฮรี่ พอตเตอร์ให้ฟัง ทรงทำเสียงตามตัวละครให้ด้วย

อังกฤษในช่วง ๗๐ ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมหลายอย่าง มีประชากรหลายเชื้อชาติอพยพเข้ามาอยู่มากขึ้น มีการตั้งคำถามว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างไร ศาสตราจารย์ เวอร์นอน บร็อคดานอร์ Vernon Bogdanor ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญ คาดว่า พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ จะสามารถเข้าถึงประชาชนหลากหลายเชื้อชาติและหลากหลายความเชื่อถือได้อย่างดีเพราะทรงคุ้นเคยกับเรื่องนี้มานานและจะทรงพยายามสร้างความเป็นหนึ่งเดียวให้เกิดขึ้นในประเทศได้ และจะสามารถเชื่อมกลุ่มชนที่ด้อยทางสังคมหรือประชาชนที่เป็นกลุ่มเล็กๆ ให้มีชีวิตที่ดีขึ้นได้

นอกจากนี้ก้อมีการคาดหวังอีกด้วยว่าในฐานะที่ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์งานศิลปะ, ด้านดนตรีและวัฒนธรรม งานเหล่านี้คงอยู่ในสายพระเนตรที่จะได้รับความสนใจและสนับสนุน แต่คาดกันว่าเรื่องม้าแข่งอาจจะไม่มากเท่ากับสมเด็จพระมารดาค่ะ

เรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่คาดว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ จะไม่ทอดทิ้งเพราะอยู่ในความสนพระทัยมากและมานานแล้วคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก หรือ Climate Change เรื่องนี้พูดกันว่าพระองค์ได้แสดงความห่วงใยและพูดถึงปัญหาความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกมาก่อนคนอื่นๆ ทรงเป็นเสียงสำคัญที่ทำให้คนทั่วไปหันมาร่วมมือกันแก้ไข เมื่อปีที่แล้วได้ทรงเข้าร่วมการประชุมใหญ่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก หรือ COP 26 ที่เมืองกลาสโกว์ในสกอตแลนด์ ทรงพบกับประธานาธิบดีไบเดน ของสหรัฐฯ ซึ่งได้ทูลว่าให้พระองค์ช่วยแก้ไขเรื่องนี้ต่อไป

Sir Lloyd Dorfman ผู้ที่ถวายงานมานานเห็นว่าเรื่อง Climate change นี่พระองค์อาจจะยังคงผลักดันต่อไปแต่อาจจะไม่เป็นตัวตั้งตัวตีเหมือนที่ผ่านมา

แซนด์วิชแห่งเสรีภาพ เมื่อแฮมเบอร์เกอร์ เมนูเด็ดของประเทศสหรัฐฯ เจอข้อหาไม่เป็นอเมริกัน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1

ใครๆ ก็รู้จักแฮมเบอร์เกอร์ อาหารยอดนิยมของอเมริกัน แต่น้อยคนจะรู้ว่าครั้งหนึ่งแฮมเบอร์เกอร์เจอข้อหาว่า ‘ไม่เป็นอเมริกัน’ ช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง รัฐบาลอเมริกันพยายามเปลี่ยนชื่อแฮมเบอร์เกอร์เป็น 'แซนด์วิชแห่งเสรีภาพ'

ช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โลกถูกฉีกออกเป็นสองฝั่งแล้วยกพวกตีกัน ฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายมหาอำนาจกลางหรือฝ่ายอักษะ มีเยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี, ตุรกี และบัลแกเรีย ส่วนฝ่ายพันธมิตรมีฝรั่งเศส, รัสเซีย, อังกฤษ, เซอร์เบีย, อิตาลี, อเมริกา, จีน, ญี่ปุ่น เป็นหลัก  

ลุงแซมโกรธแค้นเยอรมันอยู่ก่อนแล้ว เพราะเยอรมันเปิดศึกใต้มหาสมุทร ส่งเรือดำน้ำถล่มชาติอื่นอย่างเมามัน หนหนึ่งโจมตีเรือโดยสารลูสิตาเนีย ซึ่งเป็นเรือโดยสารที่ไม่ติดอาวุธของอังกฤษ จมลงใกล้ฝั่งทะเลของไอร์แลนด์ ในเรือมีคนอเมริกันรวมอยู่ด้วยและเสียชีวิต 139 คน ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1915 อเมริกาจึงประท้วงเยอรมนีรัวๆ

ความแค้นฝังหุ่นยังไม่จบง่ายๆ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีชวนเม็กซิโกกับญี่ปุ่นให้ร่วมทำสงครามกับอเมริกา โดยเม็กซิโกจะได้รับผลตอบแทนคือรัฐนิวเม็กซิโก, เท็กซัส และแอริโซนาคืนจากอเมริกา จึงทำให้อเมริกาไม่พอใจถึงขั้นหนวดกระดิก  

อเมริกานั้นชำนาญเรื่องการโฆษณาชวนเชื่อมานานแล้ว เลยใช้โอกาสนี้เปลี่ยนชื่อทุกสิ่งทุกอย่างที่มีสำเนียงหรือสุ้มเสียงไปทางเยอรมันให้เป็นอเมริกันให้หมด สุดท้ายแฮมเบอร์เกอร์เลยกลายเป็น 'แซนด์วิชเสรีภาพ'
 

‘แซม แบงก์แมน-ฟรายด์’ เจ้าของ FTX บริจาคเงินหนุน ‘เดโมแครต’ มากเป็นอันดับ 2

(14 พ.ย. 65) เมื่อไม่นานมานี้ เพจ ‘The Structure’ ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ Sam เจ้าของ FTX โดยระบุว่า…

รู้หรือไม่? Sam เจ้าของ FTX คือผู้บริจาคเงินให้กับพรรคเดโมแครตมากเป็นอันดับ 2 รองจาก George Sors มหาเศรษฐีเฮดจ์ฟันด์

จากข้อมูลที่เปิดเผยโดย Forbes และ Financial Times ระบุว่า แซม แบงก์แมน-ฟรายด์ (Sam Bankman-Fried) เจ้าของแพลตฟอร์มเทรดคริปโตชื่อดัง FTX ที่เพิ่งยื่นล้มละลาย ถือเป็นอีกหนึ่งบุคคลที่มีบทบาทสำคัญกับการเมืองในสหรัฐอเมริกา 

เนื่องจากเขาคือคนที่บริจาคเงินให้กับพรรคเดโมแครตในศึกเลือกตั้งกลางเทอมเป็นเงินจำนวนถึง 40 ล้านดอลลาร์หรือราว 1.4 พันล้านบาท โดยเป็นการบริจาคผ่านคณะกรรมาธิการ 3 ชุด 

นอกจากนี้เพื่อนร่วมทีมของแซมในบริษัท FTX ยังบริจาคให้อีก 29 ล้านดอลลาร์ ทำให้ FTX เป็นผู้บริจาคเงินถึง 69 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2.48 พันล้านบาท) ให้กับพรรคเดโมแครต

COP 27 เวทีสำคัญถกแก้วิกฤตโลกร้อน มุ่งรักษาอุณภูมิโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

โลกร้อนที่กำลังคุกคามชีวิตกับ COP 27 จะมีผลเพียงใด

"We are on a highway to climate hell with our foot on the accelerator," UN Secretary General Antonio Guterres told the summit.

เรากำลังเหยียบคันเร่งบนถนนไฮเวย์ไปสู่ภูมิอากาศที่เลวร้ายราวนรกในขณะนี้ (นายกูเตอเรสกำลังบอกว่าโลกของเรากำลังพุ่งไปสู่ปัญหาภูมิอากาศที่ร้ายแรงในขณะนี้ ถ้าไม่ร่วมมือกันแก้ไข-ผู้เขียน)

นั่นคือคำเตือนของนายอันโตนิโอ กูเตอเรส เลขาธิการสหประชาชาติที่พูดในการประชุม COP 27 ที่จัดขึ้นในอียิปต์ระหว่างวันที่ ๖ – ๑๘ พฤศจิกายนนี้

COP ย่อมาจาก Conference of the Parties เป็นการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจัดขึ้นทุกปีในช่วง ๒๖ ปีที่ผ่านมาและถือเป็นเครื่องมือที่จะแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกไปสู่ความร่วมมือระหว่างประเทศ

เรื่องภูมิอากาศโลกนี่เราคงคิดว่ายังอยู่ไกลตัว แต่ถ้าท่านลองใช้เวลาอ่านบทความนี้สักนิดจะเห็นว่าการประชุม COP ที่อียิปต์ในขณะนี้ มันกำลังใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกทีและน่าวิตกยิ่ง เพราะ ปัญหาโลกร้อนที่เพิ่มดีกรีขึ้นเรื่อย ๆ กำลังคุกคามชีวิตทุกชีวิตบนโลกนี้

COP27 opened on Sunday with a warning from the UN that our planet is "sending a distress signal".

การประชุม COP 27 ที่เปิดไปเมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายนที่ผ่านมาสหประชาชาติได้ส่งคำเตือนที่น่าตกใจว่าโลกที่เราอาศัยอยู่กำลังส่งสัญญาเตือนภัยออกมาบ่อยครั้งขึ้น และประเทศต่างๆพึงจะได้ช่วยกันแก้ไขก่อนที่จะสายเกินไปจนแก้ไม่ได้

ก่อนที่เราจะไปดูการประชุม COP 27 ของปีนี้หรือความพยายามของประเทศต่างๆที่จะลดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ climate change ขอพูดถึงคำ ๆนี้ ก่อนว่าส่งผลต่อ changing the weather อย่างไร

Climate change หรือการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศเกิดจากการกระทำของมนุษย์ส่วนใหญ่ โดยมาจากการเผาไหม้ถ่านหิน, การใช้น้ำมันและก๊าซ เพื่อเป็นพลังงานที่มนุษย์ใช้เพื่อการดำรงชีวิตและทำธุรกิจต่างๆ การเผาไหม้พลังงานเหล่านี้ทำให้โลกร้อนขึ้นทุกปีเพราะมนุษย์เพิ่มการใช้พลังงานนี้ขึ้นทุกปี เมื่อโลกร้อนขึ้นได้ส่งผลต่อสภาพอากาศของโลก ๔ อย่างคือ ๑. อุณหภูมิโลกสูงขึ้น คลื่นความร้อนแผ่กระจายนานขึ้น ๒. แผ่นดินแห้งแล้งนานขึ้น ๓. ไฟป่าเกิดบ่อยขึ้น และ ๔. ฝนตกหนักมากขึ้น

สิ่งเหล่านี้คงไม่ต้องอธิบายเพราะเราคงรู้ดีว่ามีผลต่อชีวิตอย่างไร ตัวอย่างเช่นอินเดียและปากีสถานเผชิญกับคลื่นความร้อนติดต่อกันมาห้าปีแล้ว  ปีที่แล้วในแคนาดาเมืองๆหนึ่งเกิดไฟไหม้เมื่ออุณหภูมิสูงถึง ๔๙.๖ องศาเซลเซียส เกิดไฟป่าอย่างรุนแรงในฝรั่งเศส สเปน และกรีซเป็นต้น ไฟป่าในสหรัฐกินพื้นที่กว้างขึ้นกว่าเดิม ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำคนหนึ่งของสหรัฐบอกว่า ถ้าเกิดความแห้งแล้งอย่างรุนแรงในที่หนึ่งและในอีกที่หนึ่งของโลกจะเกิดฝนตกอย่างรุนแรง

องค์กรระหว่างประเทศคือ Intergovernmental Panel on Climate change (IPCC) คาดว่าประชากรราว ๒๐ ล้านคนในอัฟริกาตะวันออกจะเผชิญกับความอดอยากจากปัญหาความแห้งแล้ง

สภาพอากาศที่รุนแรงที่เกิดขึ้นเหล่านี้คือที่มาของการประชุม COP ที่สหประชาชาติพยายามขอความร่วมมือจากประเทศต่างๆ แต่ก็ยังไม่ได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วยนักตัวอย่างง่าย ๆ บีบีซีภาษาอังกฤษรายงานว่าก่อนการประชุมใหญ่สหประชาชาติขอให้ประเทศที่จะเข้าประชุม (๒๐๐ ประเทศ) เสนอแผนการภูมิอากาศที่ประเทศนั้น ๆ มุ่งมั่นว่าจะพยายามทำแต่ปรากฏว่ามีเพียง ๒๕ ประเทศเท่านั้นที่เสนอมา 

ทีนี้มาดูกันว่าที่ประชุม COP 27 ที่อียิปต์เขาจะมีประเด็นสำคัญอะไรกันบ้าง มีอยู่ ๓ เรื่องสำคัญคือ ๑. ลดพฤติกรรมทั้งหลายที่จะทำให้เกิดมลพิษลง ๒. ให้ความช่วยเหลือต่อประเทศต่างๆในการเตรียมการหรือรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และ ๓.ให้ความมั่นใจในความช่วยเหลือทางเทคนิคและให้เงินกับประเทศที่กำลังพัฒนาในสองประเด็นแรกที่กล่าวถึง

พร้อมกันนี้จะยังนำประเด็นจากการประชุม COP 26 เมื่อปีที่แล้วที่ยังทำไม่สำเร็จมาหารือกันอีก เช่น การให้ความช่วยเหลือด้านการเงินต่อประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศเช่นน้ำท่วม น้ำแล้งให้ฟื้นคืนตัว แต่มิใช่จะให้เงินเฉพาะการป้องกันเท่านั้นหากแต่จะพยายามให้ประเทศเหล่านั้นลดการใช้ถ่านหินลงด้วย (เพราะเป็นเชื้อเพลิงราคาถูก แต่ก่อให้เกิดมลพิษสูง)

ความสำคัญของการประชุม COP 27 ปีนี้ไม่ได้จำกัดวงแต่เพียงสิ่งที่กล่าวมาเท่านั้น แต่หัวใจที่รัฐบาลทุกประเทศและประชากรโลกต้องทำคือ พยายามที่จะไม่ให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นถึง ๑.๕ องศาเซลเซียสให้ได้  IPCC ชี้ว่าหลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมาอุณหภูมิโลกได้เพิ่มขึ้นไปแล้ว ๑.๑ องศาและถ้าหาก อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นในระดับ ๑.๗-๑.๘ องศาเซลเซียส IPCC คาดว่าประชากรโลกราวครึ่งหนึ่งจะผจญกับระดับความร้อนและความชื้นที่มีผลต่อชีวิตได้เลยและด้วยความตระหนักถึงอันตรายของความร้อนนี้จึงมีการลงนามในข้อตกลงปารีส  the Paris Agreement ในปี ค.ศ. ๒๐๑๕ โดยประเทศต่าง ๆ ถึง ๑๙๔ ประเทศให้คำมั่นสัญญาว่าจะพยายามช่วยกันจำกัดไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น ๑.๕ องศา ซึ่งนักวิทยาศาสตร์บอกว่าจะต้องทำให้ได้ภายในปี ๗๘ ปีข้างหน้า (ค.ศ. ๒๑๐๐)

'รถเทสลา' ซิ่งสยองในเมืองจีน ชนดับ 2 เจ็บ 3 คนขับอ้างเบรกไม่ทำงาน เทสลาสวนไม่เห็นไฟเบรกขึ้น

คลิปที่แชร์ในโลกออนไลน์ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนถนนเมือง Chaozhou มณฑลกวางตุ้ง ทางตอนใต้ของจีน เมื่อวันที่ (5 พ.ย.) ที่ผ่านมา เป็นนาทีที่รถไฟฟ้าเทสลา โมเดล Y สีขาว กำลังจะจอดข้างทาง จู่ ๆ รถกลับเบนออกไปบนถนน และวิ่งด้วยความเร็วสูงอย่างไม่สามารถควบคุมได้ เป็นระยะทาง 2.6 กม. แม้คนขับพยายามคุมพวงมาลัยและบีบแตรไปตลอดทาง แต่ก็พุ่งชนรถมอเตอร์ไซค์ 2 คัน และจักรยานสองคัน ทั้งยังชนกับรถบรรทุกเล็ก เป็นเหตุให้เศษชิ้นส่วนกระจายว่อน ก่อนหยุดในที่สุดเมื่อชนกับด้านข้างตึกหลังหนึ่งจนฝุ่นฟุ้งปกคลุมไปทั่ว

สื่อท้องถิ่นรายงานว่า ผู้เสียชีวิต 2 คน เป็นคนขี่รถจักรยานยนต์ กับ นักเรียนมัธยมปลาย นอกจากนี้ ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 ราย ตำรวจเปิดเผยว่ารถวิ่งด้วยความเร็ว 150 กม./ชม. ขณะเกิดอุบัติเหตุ 

ต่อมา เมื่อวันที่ 12 พ.ย. ที่ผ่านมา ญาติของคนขับรถเทสลา นำคลิปมาโพสต์บนสื่อสังคมออนไลน์ พร้อมระบุว่า คนขับ วัย 55 เป็นคนขับรถบรรทุกอาชีพ ได้รับโอนรถคันนี้มาจากเพื่อนเมื่อต้นเดือนพ.ย. ขณะพยายามจอดรถที่หน้าร้านค้าของครอบครัว คนขับอ้างว่าระบบเบรคไม่ตอบสนอง เมื่อตั้งค่าจอดรถ ก็หยุดรถไม่สำเร็จ พอรถเคลื่อนไปข้างหน้า รถก็เร่งความเร็วทันที กล้องวงจรปิดแสดงให้เห็นไฟเบรกหลังรถหลายจังหวะ แต่รถไม่ลดความเร็วลง ส่วนประเด็นคนขับใช้ยาเสพติดหรือดื่มแอลกอฮอล์ ถูกตัดออกไป

‘หนุ่มมะกัน’ ทำร้ายหลานเจ้าของร้านอาหารไทย หลังถูกเจ้าของร้านปฏิเสธ ‘ไม่ให้กินฟรี’

‘ชายชาวอเมริกัน’ ลงมือทำร้ายร่างกาย ‘หลานชายเจ้าของร้านอาหารไทย’ แห่งหนึ่งในรัฐแคลิฟอร์เนีย หลังถูกเจ้าของร้านปฏิเสธไม่ให้ ‘กินฟรี’

เหตุระทึกดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 พ.ย. เวลาประมาณ 17.15 น. ที่ร้านอาหารไทยแห่งหนึ่งในเมืองเบิร์กลีย์ (Berkeley) โดยตามรายงานของสถานีโทรทัศน์ ABC7 ระบุว่า หลานชายเจ้าของร้านพยายามเข้าไปเจรจากับลูกค้าที่มีปัญหา ก่อนจะถูกอีกฝ่ายใช้กำลังทำร้าย

ภาพจากกล้องวงจรปิดในร้านเผยให้เห็นว่า ชายคนดังกล่าวลุกขึ้นจากเก้าอี้ และเตะหลานเจ้าของร้านจนล้มหงายหลังไปกับพื้นก่อนจะกระทืบเข้าที่ท้อง และพยายามวิ่งหนีไปที่ประตู ทว่าถูกลูกค้าพลเมืองดีหลายคนช่วยกันล็อกตัวเอาไว้ได้จนกระทั่งตำรวจมาถึง

“นี่เป็นครั้งแรกที่เราเจอเหตุการณ์แบบนี้ มันน่าตกใจ และทุกคนก็กลัวมาก” หนึ่งในเจ้าของร้านที่ชื่อ ซาราห์ (Sarah) ให้สัมภาษณ์กับ ABC7

ชาติสมาชิกยูเอ็นแสดงจุดยืน ‘ไม่เลือกข้าง’ ถอนวาระ ‘รมต.NUG’ เข้าร่วมงาน GTH 2022

เป็นอะไรที่เซอร์ไพรส์มากกับข่าวของ Daw Zin Mar Aung รัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเงาของเมียนมา (NUG) และทีมของเธอได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุม Global Town Hall 2022 (GTH 2022) เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา

แต่ในงานกลับเซอร์ไพรส์กว่า เมื่อมีการถอนวาระของเธอออกจากการประชุมในนาทีสุดท้าย ด้วยเหตุผลที่ทางตัวแทนชาติสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้กล่าวกับผู้จัดงานว่า หากให้ Daw Zin Mar Aung และทีมงานของเธอเข้าร่วมในงานครั้งนี้ ก็เท่ากับเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในเมียนมา ซึ่งเพียงแค่นี้ก็แสดงให้เห็นจุดยืนของตัวแทนชาติสมาชิกในงานประชุมครั้งนี้ในระดับหนึ่งแล้ว 

ทั้งนี้หากวิเคราะห์ว่าทำไมทางสหประชาติถึงไปกล่าวกับผู้จัดงาน จนทำให้เกิดการถอนวาระนี้ในที่สุด ก็เพราะว่า…

1.) ประเทศสมาชิกของสหประชาติมีทั้งฝ่ายที่สนับสนุน NUG ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับ NUG และฝ่ายที่วางตัวเป็นกลาง หากการที่ตัวแทนชาติสมาชิกในงานประชุมครั้งนี้ยอมรับให้ทาง NUG เข้าร่วมอาจจะส่งผลในบทบาทบนเวที UN ได้

2.) ทางตัวแทนชาติสมาชิกที่เข้าร่วมการประชุมนี้ น่าจะได้ประเมินแล้วว่าการให้ NUG มากล่าวโดยไม่มีฝ่ายกองทัพมาพูดเป็น ก็เสมือนสนับสนุนการกระทำของฝ่าย NUG นั้นว่าถูกต้อง

3.) ฝ่าย NUG นั้นยอมรับว่าเป็นกลุ่มที่ขับเคลื่อนการต่อสู้ของ PDF ที่ก่อความไม่สงบและเข่นฆ่าผู้คนในเมียนมาในขณะนี้ด้วยเช่นกัน

ทารกหญิงจากฟิลิปปินส์ ประชากรโลกคนที่ 8 พันล้าน ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2022 เวลา 01.29 น.

(16 พ.ย. 65) องค์การสหประชาชาติประกาศให้วันที่ 15 พฤศจิกายน 2022 เป็นวันที่ประชากรโลกมีครบ 8,000 ล้านคน โดยมีทารกน้อยเพศหญิง ชื่อว่า Vinice Mabansag เกิดที่โรงพยาบาล Dr. Jose Fabella Memorial ในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อคืนวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เวลา 01.29 น. เธอได้รับเลือกให้เป็นบุคคลที่ 8,000 ล้านของโลกอย่างเป็นทางการ

การเพิ่มขึ้นของประชาการโลก จาก 7,000 ล้านคน เป็น 8,000 ล้านคน ใช้เวลาทั้งสิ้น 11 ปี (ค.ศ.2011 หรือ พ.ศ.2554 ถึง ค.ศ.2022 หรือ พ.ศ. 2565) นอกจากนี้ องค์กรสหประชาชาติยังได้คาดการณ์ไว้ว่า ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 ล้านคนในอีก 58 ปีข้างหน้า หรือประมาณปี ค.ศ.2088

ทั้งนี้ ตามรายงานใหม่ของสหประชาชาติผู้คนทั่วโลกมีอายุยืนยาวขึ้นและมีลูกน้อยลง โดยอายุขัยของคนโดยเฉลี่ยคาดว่าจะอยู่ที่ 77.2 ปี ในปี 2050 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 72.98 ปี ในปี 2019 ส่วนอัตราการเกิดทั่วโลกก็ชะลอลง

‘คิชิดะ - สี จิ้นผิง’ ไว้ใจ ‘ประเทศไทย’ ล็อกหมุดหมายจัดประชุมซัมมิต ‘ญี่ปุ่น-จีน’

ไม่เพียงแค่การประชุม APEC 2022 ที่ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพ ที่ถือเป็นอีกความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ ที่ได้โชว์ศักยภาพและความเป็นไทยออกสู่สายตาชาวโลก

แต่ข่าวใหญ่ที่น่าจะเป็นข่าวดีอีกระลอก คือ ประเทศไทยได้รับความไว้วางใจจาก ‘ญี่ปุ่น-จีน’ ให้เป็นเวทีในการจัดประชุมซัมมิตสุดยอดผู้นำระหว่าง ‘ญี่ปุ่น-จีน’ ครั้งแรกในรอบ 3 ปี ในอนาคตอันใกล้อีกด้วย

ทั้งนี้ต้องบอกก่อนว่า ระยะหลังความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและจีนนั้นไม่ค่อยสู้ดีเท่าไหร่นัก หรือเรียกอีกอย่างคือ ‘ร้าวฉาน’ สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เกิดจากการที่จีนแผ่อิทธิพลและเพิ่มมาตราการทางการทหารอย่างแข็งกร้าวต่อไต้หวัน ประเทศในภูมิภาค รวมถึงแถบโพ้นทะเล

หนำซ้ำ หนึ่งในมิสไซล์ของจีนที่ยิงออกไปเพื่อตอบโต้การเยือนไต้หวันครั้งสำคัญของแนนซี เพโลซี ดันไปตกในเขตเศรษฐกิจจำเพาะทางทะเลญี่ปุ่นอีกด้วย 

นอกจากนี้ จีนยังได้มีการเคลื่อนไหวรอบๆ หมู่เกาะพิพาทเซ็งกากุ (Senkaku Islands) หรือหมู่เกาะเตียวหยูในภาษาจีน ซึ่งหมู่เกาะนี้อยู่ในการครอบครองของญี่ปุ่น แต่จีนกลับอ้างสิทธิ

เท่านั้นยังไม่พอ จุดยืนในการเมืองโลกของทั้งสองประเทศก็ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากญี่ปุ่นสนับสนุนยูเครนร่วมกับพันธมิตรชาติตะวันตก แต่จีนยืนหยัดเคียงข้าง ‘รัสเซีย’ ซึ่งถือเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงของยูเครนและชาติตะวันตก 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top