พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 พระองค์จะทรงเป็นกษัตริย์แบบไหน ภายใต้ความท้าทายของอังกฤษยุคใหม่

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ ของอังกฤษ ที่เพิ่งจะเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติเมื่อเดือนกันยายนปี พ.ศ. ๒๕๖๕ นี้จะมีทิศทางในการเป็นพระมหากษัตริย์อย่างไร ท่านจะดำเนินตามแนวทางของสมเด็จพระมารดาคือสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒ หรือจะทรงมีแนวทางของพระองค์เอง

จากที่ได้อ่านข่าวและบทความภาษาอังกฤษมา พอจะประมวลได้ว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ นี่ท่านคงจะมีกุศโลบายของพระองค์เองเป็นหลัก และดำเนินรอยตามพระมารดาในสิ่งที่ทรงเห็นว่าเป็นผลดีอยู่แล้ว เห็นมีการวิเคราะห์กันว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ นี่คงจะทรงงานในฐานะพระประมุขได้อย่างราบรื่น ไม่น่าจะมีปัญหามากนัก เพราะทรงรั้งตำแหน่งมกุฎราชกุมารมาอย่างยาวนานที่สุดถึง ๕๒ ปี อย่าลืมกันนะคะว่า ปีนี้พระชนมายุ ๗๓ พรรษาแล้ว ทรงรู้ทรงเห็นและทรงเจอกับปัญหาทั้งบวกและลบมาพอสมควร 

ประกอบกับระยะเวลาอันยาวนานที่พระมารดาดำรงฐานะพระประมุขของประเทศถึง ๗๐ ปี ทรงพบปะเจอะเจอกับนายกรัฐมนตรีของอังกฤษเองถึง ๑๕ คนและประธานาธิบดีสหรัฐถึง ๑๔ คน และผู้นำของประเทศอื่นๆอีกทั่วโลก เพราะฉะนั้นพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ คงทรงได้เรียนรู้การงานภายในประเทศและการเมืองระหว่างประเทศมาอย่างเต็มที่แล้วและจากนี้ต่อไปการที่จะต้องทรงงานด้วยพระองค์เอง คงทรงทำได้และอาจทำได้ดีอีกด้วย

แต่มีสิ่งหนึ่งที่คนทั่วไปได้ทราบหรือคนที่ใกล้ชิดและเกี่ยวข้องกับพระองค์ท่านทราบกันดีคือ พระนิสัยที่ทรงชอบวิจารณ์หรือเสนอแนะในเรื่องต่างๆต่อรัฐบาลอังกฤษ มีหลายเรื่องหลายประเด็นเช่นการเกษตร ท่านสนับสนุนการเกษตรอินทรีจนมีโครงการของตัวเอง,เรื่องผังเมือง,สถาปัตยกรรม,การศึกษา หรือแม้แต่เรื่องการสงวนรักษาพันธุ์ปลา ดังนั้นเมื่อทรงได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้วจะยังมีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานรัฐบาลอีกหรือไม่

แน่นอน แต่อาจจะเปลี่ยนจากการส่งโน๊ตไปถึง แต่ท่านจะสามารถพูดโดยตรงกับนายกรัฐมนตรีของอังกฤษได้เลย เพราะมีธรรมเนียมปฏิบัติที่นายกรัฐมนตรีจะเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินทุกสัปดาห์ ในการเข้าเฝ้านั้นพอที่จะทราบกันว่าจะต้องเป็นการหารือข้อราชการงานเมืองทั้งหลาย นายกรัฐมนตรีอาจจกราบทูลในเรื่องต่างๆ ที่พระเจ้าแผ่นดินควรทรงทราบและพระองค์ท่านก็จะทรงแสดงความคิดเห็น ส่วนรัฐบาลจะทำตามหรือไม่ ก็ได้เพราะอำนาจในการบริหารเป็นของรัฐบาล และที่ผ่านมาไม่มีการเปิดเผยเนื้อหาของการหารือนะคะ ไม่มีใครทราบ

ทีนี้สำหรับพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ ในครั้งที่ทรงเป็นมกุฎราชกุมารท่านกล้าที่จะแสดงความเห็นต่อรัฐบาลว่าควรทำหรือจัดการกับเรื่องนั้นหรือทำให้ดีขึ้นอย่างไร เป็นที่ทราบกันดีว่าเมื่อทรงอยากจะเสนอแนะในเรื่องใดจะทรงส่งลายพระหัตถ์ส่วนพระองค์ไปถึงรัฐมนตรีคนนั้นจนมีการเอ่ยกันในรัฐบาลว่ามีใครได้รับ “Black Spider Memos” บ้าง

อันหมายถึงลายพระหัตถ์ยุ่งๆเหมือนใยแมงมุมนั่นเอง คือ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์จะทรงมีลายพระหัตถ์ไปถึงรัฐมนตรีโดยตรงอันแสดงให้เห็นว่าพระองค์ท่านมีความมั่นพระทัยมากทีเดียวที่ทำเช่นนั้น ทีนี้มี reaction ต่อ Black Spider Memos นี้กันอย่างไร ตามที่บทความบีบีซีภาษาอังกฤษเขาเขียนไว้ อดีตรัฐมนตรีคนหนึ่งเขาบอกว่า การที่ได้รับจดหมายข้อความจากท่าน เขาไม่รู้สึกว่าถูกกดดัน แต่เห็นว่าเป็นเพียงความต้องการที่อยากจะให้เกิดการกระทำในเรื่องนั้นเท่านั้น และไม่ใช่การที่จะนำไปสู่การขัดแย้งใด เป็นเพียงการเสนอความเห็นของพระองค์และ ไม่เป็นการแทรกแซงหรือบังคับ

ในตอนนั้นเมื่อมีการกล่าวถึงพระองค์ว่าทรงเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการบริหารของรัฐบาล เมื่อนักข่าวทูลสัมภาษณ์ท่านประเด็นนี้ ท่านตอบดีมาก คือ “ถ้าหากเขาเห็นว่าเป็นการแทรกแซง ฉันก็ภูมิในทีเดียว”

“If that's meddling, I'm very proud of it." But he acknowledged that he was in "a no-win situation.”

แต่ก็ทรงยอมรับว่าท่านไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะชนะได้ คำตอบเช่นนี้ทำให้เห็นว่าเจ้าฟ้าชายหรือพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ ทรงทราบดีว่าพระองค์อยู่ในฐานะพระประมุขเท่านั้น แต่ท่านก็พูดเหมือนจะประชดประชันในทีครั้งหนึ่งว่า “ถ้าไม่ทำอะไรเลย คนก็จะบ่นว่าไม่ทำอะไร แต่ถ้าพยายามหรือยืนกรานที่จะช่วยทำอะไรในสิ่งที่เห็น อีกนั่นแหละก็จะถูกบ่นว่าเช่นกัน”

ในการประทานสัมภาษณ์อีกครั้งหนึ่งคนละเวลานะคะ ทรงบอกว่า พระองค์พยายามที่จะหลีกเลี่ยงการเมืองของพรรคต่างๆ คือไม่สนับสนุนหรือติเตียนพรรคใด แต่ในบางครั้งก็รู้สึกว่าถูกบังคับให้ต้องพูดออกไปในปัญหาที่เกี่ยวกับชีวิตการเป็นอยู่ของประชาชน ทรงเข้าใจสังคมอย่างดี

ถึงอย่างไรก็ดีก็มีนักการเมืองบางคนที่เข้าใจในความคิดของเจ้าชายอยู่เหมือนกัน  อดีตรัฐมนตรีของพรรคเลเบอ คนหนึ่งเล่าว่าหลังจากที่เขาได้สนทนากับพระองค์แล้ว เขาเห็นว่าท่านมีจิตใจที่แน่วแน่และมุ่งมั่นในเรื่องที่คิดและยินดีที่จะเสี่ยงที่จะแหย่เท้า (พระบาท)เข้าไปในเรื่องที่ทรงเห็นว่าจำเป็นและสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการช่วยเหลือวัยรุ่นที่โชคไม่ดีมีปัญหา, ไม่พอใจกับชีวิตหรือการสิ้นหวัง มีพระประสงค์ที่จะช่วยคนหนุ่มสาวเหล่านี้อย่างจริงจัง ซึ่งอดีตรัฐมนตรีพรรคเลเบอคนนี้บอกว่า เขาประทับใจกับการใส่พระทัยในปัญหาวัยรุ่นของพระองค์มากทีเดียว ซึ่งอันที่จริงเขาบอกว่าในตำแหน่งมกุฎราชกุมารอาจจะไม่ต้องสนใจในเรื่องเหล่านี้ก็ได้สามารถดำรงตำแหน่งสบายๆ ไปเรื่อยๆ ปล่อยให้เป็นเรื่องของรัฐบาลแก้ไขไป
แต่ท่านก็ไม่ยอมอยู่สบายๆ ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์หรือองค์ประธานองค์กรต่างๆ ถึง ๔๐๐ กว่าแห่ง และองค์กรที่สร้างชื่อเสียงให้พระองค์อย่างมากคือ การตั้ง the Prince’s Trust อันเป็นองค์กรการกุศลช่วยเหลือวัยรุ่นโดยเฉพาะขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ทรงใช้เงินส่วนพระองค์ที่ได้จากกองทัพเรือมาตั้งกองทุนนี้

The Prince’s trust ช่วยวัยรุ่นด้อยโอกาสจากพื้นที่ที่ยากจนทั่วประเทศในด้านการประกอบอาชีพ มาแล้ว ๙ แสนกว่าคน การตั้งองค์กรนี้ทำให้เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ พระอิสริยยสในขณะนั้นเห็นปัญหาที่หลากหลายของสังคมของประเทศของพระองค์โดยตรง แต่ทรงเล่าว่าเรื่องนี้กลับไม่ได้ความเห็นดีเห็นงามจากกระทรวงมหาดไทยนัก เพราะมหาดไทยเห็นว่าเป็นเรื่องยากที่จะทำให้การช่วยเหลือนี้สำเร็จได้เพราะเป็นปัญหาที่ยากที่จะแก้ไข

แต่ความเห็นดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้พระองค์ทรงท้อถอย ในการประทานสัมภาษณ์อีกครั้งในปีพ.ศ. ๒๕๔๘ ทรงบอกว่า ท่านประสูติในฐานะเจ้าฟ้าชายและต่อมาเป็นมกุฎราชกุมาร ดังนั้นจึงทรงตั้งพระทัยอย่างแน่วแน่ว่า จะทรงทำหน้าที่อย่างดีที่สุดและจะทำทุกอย่างที่ทรงทำได้

แน่นอนคนอาจจะเห็นว่า คำพูดจะพูดอย่างไรก็ได้ แต่ท่านทำจริง ตามที่เป็นข่าวจะเห็นว่าทรงแสดงความเห็นถึงการเป็นนักปฏิรูปที่อึดอัดกับการที่เห็นบางชุมชนถูกปล่อยปละละเลยหรือทอดทิ้งให้ล้าหลังไม่มีการพัฒนา ซึ่งการที่ท่านพูดแต่ละทีก็เป็นข่าวกระตุ้นได้บ้างเหมือนกัน

การให้ความสำคัญต่อส่วนรวมไม่ใช่จะเกิดขึ้นเฉพาะภายในประเทศอังกฤษเท่านั้น มีคนที่ทำงานกับท่านคนหนึ่งเล่าว่าได้รับโทรศัพท์จากท่านตอนราว ๓ ทุ่มเมื่อทรงทราบข่าวน้ำท่วมในปากีสถาน
Hitan Mehta, ฮิทาน เมตตา เป็นเจ้าหน้าที่ที่ช่วยท่านตั้งองค์กรที่เรียกว่า The British Asian Trust คือองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือระหว่างอังกฤษกับประเทศในเอเชีย เธอเล่าว่าในคืนวันศุกร์วันหนึ่ง ราวสามทุ่มได้รับโทรศัพท์จากเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ทรงบอกว่าพระองค์ทราบข่าวเกิดน้ำท่วมในปากีสถานและถามเธอว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง เมตตาบอกว่าท่านมีงานอื่นมากมายแต่ก็ยังเมื่อทรงทราบถึงความเดือดร้อนในปากีสถานและแม้จะมืดค่ำก็ยังทรงถามไถ่เธอมาว่าจะให้ความช่วยเหลืออย่างไร ท่านเป็นคนที่มีมนุษยธรรมอย่างจริงใจ

ความจริงจังและจริงใจนี้เมื่อฟังเจ้าชายแฮรี่พระโอรสเล่าถึงพระบิดาได้ฟังแล้วก็อดที่จะอมยิ้มไม่ได้ เจ้าชายแฮรี่บอกว่า พระบิดามักจะเสวยพระกระยาหารค่ำค่อนข้างดึก หลังจากเสวยเสร็จก็จะเสด็จไปที่โต๊ะทรงงาน แล้วก็จะหลับคาสมุดโน้ตของพระองค์

อีกด้านหนึ่ง  พระราชินีคามิล่าได้เล่าในการให้สัมภาษณ์โทรทัศน์ในวันครบรอบวันประสูติ ๗๐ ชันษาของพระเจ้าชาร์ลส์ ที่ ๓ ว่า ท่านเป็นคนที่พระทัยร้อนมาก ถ้ามีพระประสงค์จะทรงงานอันใดแล้ว คืองานนั้นต้องเสร็จตั้งแต่เมื่อวานนี้ คือใจร้อนจนรอให้งานเสร็จวันนี้ไม่ได้ อยากทำอะไรให้เสร็จโดยเร็วนั่นเอง
แต่ว่าเมื่ออยู่กับหลานๆ คือพระโอรสธิดาของเจ้าชายวิลเลี่ยมจะทรงหลอกล้อกับเด็กๆ หรืออ่านแฮรี่ พอตเตอร์ให้ฟัง ทรงทำเสียงตามตัวละครให้ด้วย

อังกฤษในช่วง ๗๐ ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมหลายอย่าง มีประชากรหลายเชื้อชาติอพยพเข้ามาอยู่มากขึ้น มีการตั้งคำถามว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างไร ศาสตราจารย์ เวอร์นอน บร็อคดานอร์ Vernon Bogdanor ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญ คาดว่า พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ จะสามารถเข้าถึงประชาชนหลากหลายเชื้อชาติและหลากหลายความเชื่อถือได้อย่างดีเพราะทรงคุ้นเคยกับเรื่องนี้มานานและจะทรงพยายามสร้างความเป็นหนึ่งเดียวให้เกิดขึ้นในประเทศได้ และจะสามารถเชื่อมกลุ่มชนที่ด้อยทางสังคมหรือประชาชนที่เป็นกลุ่มเล็กๆ ให้มีชีวิตที่ดีขึ้นได้

นอกจากนี้ก้อมีการคาดหวังอีกด้วยว่าในฐานะที่ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์งานศิลปะ, ด้านดนตรีและวัฒนธรรม งานเหล่านี้คงอยู่ในสายพระเนตรที่จะได้รับความสนใจและสนับสนุน แต่คาดกันว่าเรื่องม้าแข่งอาจจะไม่มากเท่ากับสมเด็จพระมารดาค่ะ

เรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่คาดว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ จะไม่ทอดทิ้งเพราะอยู่ในความสนพระทัยมากและมานานแล้วคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก หรือ Climate Change เรื่องนี้พูดกันว่าพระองค์ได้แสดงความห่วงใยและพูดถึงปัญหาความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกมาก่อนคนอื่นๆ ทรงเป็นเสียงสำคัญที่ทำให้คนทั่วไปหันมาร่วมมือกันแก้ไข เมื่อปีที่แล้วได้ทรงเข้าร่วมการประชุมใหญ่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก หรือ COP 26 ที่เมืองกลาสโกว์ในสกอตแลนด์ ทรงพบกับประธานาธิบดีไบเดน ของสหรัฐฯ ซึ่งได้ทูลว่าให้พระองค์ช่วยแก้ไขเรื่องนี้ต่อไป

Sir Lloyd Dorfman ผู้ที่ถวายงานมานานเห็นว่าเรื่อง Climate change นี่พระองค์อาจจะยังคงผลักดันต่อไปแต่อาจจะไม่เป็นตัวตั้งตัวตีเหมือนที่ผ่านมา

หลังจากที่ทรงขึ้นครองราชย์อย่างเป็นทางการไม่นานนักสื่อในอังกฤษก็พูดกันว่า พระองค์ท่านอาจจะ down side หรือลดการใช้บรรดาพระราชวังต่างๆและจำนวนข้าราชบริพารให้น้อยลง เรื่องนี้ก็ขออ้างถึงคำพูดของนักวิจารณ์สายวัง ที่ชื่อ Victoria Murphy เธอบอกว่าเรื่องลด นี่อาจจะเป็นเรื่องของพระราชวงศ์ที่จะเข้ามาทรงงานช่วยพระองค์มากกว่า คือ จะเน้นเฉพาะ พระเจ้าชาร์ลส์,พระราชินี และ เจ้าชายวิลเลี่ยม และแคนเธอลีนพระชายา ซึ่งตอนนี้ก็เป็นเจ้าชายมกุฎราชกุมารแล้ว โดยทั้ง ๔ พระองค์นี้จะทรงงานเป็นหลัก แต่วิคตอเรียก็บอกว่า เธอคิดว่า อาจจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรมากมายทันทีค่ะ

ก่อนหน้านั้นเคยมีรายงานข่าวว่าในบรรดาพระราชวงศ์ที่ทรงงานหรือออกงานต่างๆมากที่สุดคือ เจ้าฟ้าหญิงแอนค่ะ คือฝ่ายไหนทูลเชิญมาก็รับหมด จะมีการนับจำนวนงานที่พระราชวงศ์ แต่ละพระองค์ทรงงานด้วย ว่าในแต่ละปีพระองค์ไหนเสด็จที่ไหนบ้าง

และก็มาถึงคำถามสุดท้ายที่สำคัญอย่างมากคือ และพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ จะทรงได้รับการสนับสนุนจากประชาชนมากน้อยเพียงใด ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องนี้กัน มาฟังความคิดเห็นขององค์พระมหากษัตริย์เองว่าท่านเห็นอย่างไร

“มีข้อสงสัยถามไถ่กันบ่อยๆ ว่า สถาบันพระมหากษัตริย์อาจจะอยู่ไม่รอด จะรอดหรือไม่อยู่ขึ้นอยู่กับท่าทีของประชาชน ในที่สุดถ้าประชาชนไม่ต้องการก็ไม่มีสถาบัน”

คำตอบสองประโยคสั้นๆ นี่แสดงว่า ทรงตระหนักดีในฐานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ว่าประชาชนเป็นผู้เลือก

จากการสำรวจโดยองค์กรที่เรียกว่า You Gov ในปลายปีที่แล้ว You Gov มักจะสำรวจความคิดเห็นในอังกฤษในประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจ ปลายปี ๒๕๖๔ พระเจ้าชาร์ลส์ทรงได้รับความนิยมมากขึ้นเกือบ ๒ ใน ๓ ของประชาชน เป็นรองแต่สมเด็จพระมารดาและพระโอรสเจ้าชายวิลเลี่ยม และยังไม่เป็นที่นิยมของวัยรุ่นคนหนุ่มสาวนักทั้งนี้อาจมาจากเรื่องการหย่าร้างกับเจ้าหญิงไดอาน่า พระชายาพระองค์แรก  หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์แล้วจากนี้ต่อไปก็มาดูกันว่าเมื่อเสด็จขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว การทรงงานและความนิยมจะเพิ่มขึ้นเพียงใด

สุดท้ายนี้ขอฝากข้อสังเกตเกี่ยวกับพระนามของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ เมื่อตอนประสูติได้รับการถวายพระนามว่า “Charles Philip Arthur George” ประสูติในวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๘ หรือ พ.ศ. ๒๔๙๑
ในพระราชพิธีสถาปนาพระเจ้าแผ่นดินที่พระราชวังเซนต์เจมส์ ได้มีการกราบทูลถามว่าจะทรงเลือกพระนามใดที่จะใช้เรียกพระองค์ในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ ทรงเลือก ชาร์ลส์ พระนามแรก ก่อนหน้านั้นมีพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๑ และ ที่ ๒ อยู่แล้ว จึงทรงเป็นพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ ในครั้งต่อไปเราจะมาพูดกันถึงพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๑ และ ที่ ๒ ให้ท่านฟังกันค่ะ ซึ่งทั้งสองพระองค์มีพระประวัติที่น่าสนใจอย่างมากในประวัติศาสตร์ของประเทศอังกฤษค่ะ


อ้างอิง:  What kind of king will Charles be? By Sean Coughlan, BBC Royal correspondent
: King Charles III, the new monarch, BBC News

เรื่อง: อนุดี เซียสกุล